BOAดอน นาครทรรพ copyธปท.'จ่อขยับจีดีพีแตะ 4% ดัชนี MPI ขยายตัว 4.21% ศุลกากรรีดภาษีหลุดเป้า

     ไทยโพสต์ * ธปท.จ่อขยับจีดีพีแตะ 4% มอง 2 เดือนที่เหลือของปีมีสัญญาณบวก ส่งออกขยายตัวดีเกินคาด สศอ.ปลื้มเอ็มพีไองวด ก.ย.โต 5.21% ที่ระดับ 114.59 มั่นใจปรับเป้าใหม่ทั้งปี 60 เป็นบวกที่ 1.5-2% ศุลกากรมือตกประเดิมรีดรายได้เดือนแรกต่ำเป้า

     นายดอน นาครทรรพ ผู้ อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจ มหภาค ธนาคารแห่งประเทศ ไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.จะทบทวนประมาณการเศรษฐกิจและคาดการณ์ส่งออกใหม่ในเดือน ธ.ค.นี้ หลังจากเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2560 มีแนวโน้มขยายตัวได้ในระดับ 4% เพิ่ม ขึ้นจากไตรมาส 2/2560 ที่ 3.7% และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังเศรษฐ กิจไทยจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่า 4.1% เพื่อให้ทั้งปีขยายตัวได้ตามเป้าหมายเดิมที่ 3.8% ส่วนทั้งปีจะขยายตัวได้ถึง 4% หรือไม่ จะต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วง 2 เดือนที่เหลือ แต่จากการติดตามมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น

     "ช่วง 2 เดือนที่เหลือของปีนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจดูดีขึ้นชัด เจนเมื่อเทียบกับปีก่อน เพราะฐานปีก่อนต่ำ ส่วนถ้าเทียบการขยายตัวจากเดือนก่อนก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเรื่อยๆ คาดว่าตัวเลขที่ออกมาน่าจะโอเค จากคาดการณ์ จีดีพีปีนี้ที่ 3.8% ไม่น่าเป็นห่วงแล้ว ซึ่งหากตัวเลข 2 เดือนสุดท้ายออกมาดีกว่าที่คาด โอกาสที่จีดีพีจะเกินกว่านั้นก็มี"นายดอนกล่าว

    ทั้งนี้ มองว่าเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องมีมาตรการมากระตุ้น สำหรับอัตราเงินเฟ้อยังต่ำกว่า กรอบเป้าหมายที่วางไว้ แต่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับขึ้นจากราคาพลังงาน แต่อัตราเงินเฟ้อฟื้นฐานยังอยู่ในระดับใกล้เคียงจากไตรมาสก่อนหน้า และทั้งสองฝ่ายเห็นร่วมกันว่าจะใช้เป้าเงินเฟ้อทั่วไปเดิมที่ 2.5% (ในกรอบเป้าหมาย 1-4%) สำหรับเป็น เป้าหมายในการดำเนินนโยบายการเงินในปี 2561

     ด้าน นายวีรศักดิ์ ศุภประ เสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือน ก.ย.2560 ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.21% อยู่ที่ระดับ 114.59 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ดัชนีเอ็มพีไอไตรมาส 3/2560 ขยายตัว 4% และทำให้ภาพรวมดัชนีเอ็มพีไอ 9 เดือนของปีนี้ขยายตัว 1.4% เข้าใกล้เป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ 1.5% ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิต 63.56%

    "ล่าสุดเท่าที่ประเมินเอ็มพีไอปีนี้น่าจะขยายตัวในอัตราใกล้เคียง 1-2% เพิ่มขึ้นจากเดิมที่คาดไว้ 0.5-1.5% โดยเฉพาะช่วงที่เหลือของปีนี้ซึ่งโดยปกติจะมีบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในเทศกาลต่างๆ ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ"นายวีรศักดิ์กล่าว

    นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า การเก็บรายได้ของกรมศุลกากรเดือน ต.ค.2560 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2561 เก็บได้สุทธิ 7,246 ล้านบาท สูงกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน 8.8% แต่ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ 10% เนื่องจากยังมีการชะลอนำเข้าสินค้าบางตัว เช่น รถยนต์ ส่วนหนึ่งมาจากการใช้ พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิตใหม่เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2560 ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงเก็บภาษีจากฐานราคาสำแดงนำเข้า หรือซีไอเอฟ มาเป็นราคาขายปลีกแนะนำ ทำให้ผู้ประกอบการชะลอนำเข้าในระยะสั้น

     นอกจากนี้ การเก็บภาษีของกรมศุลกากรยังได้รับผล กระทบจากสิทธิ์ทางภาษีจากข้อตกลงเสรีการค้า หรือเอฟทีเอ กับประเทศต่างๆ ที่มีการใช้สิทธิ์เพิ่มมากขึ้น เหมือนปีงบประมาณ 2560 ที่ผ่านมา.

กนง.เล็งปรับ GDP หลังส่งออก 9 เดือนกระฉูด

     แนวหน้า : นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.แถลงข่าวเศรษฐกิจ และการเงินเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ปี 2560 โดยระบุว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) หรืออัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในไตรมาส 3 ปีนี้ คาดว่าขยายตัวได้สูงกว่าไตรมาส 2 ที่เติบโตร้อยละ 3.7 โดยอาจจะสูงเกินร้อยละ 4 และครึ่งปีหลัง เศรษฐกิจไทยต้องขยายตัวที่ระดับร้อยละ 4.1 เพื่อให้เศรษฐกิจทั้งปี โตร้อยละ 3.8 ขณะที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะมีการปรับประมาณการอัตราการขยายตัว ปีนี้ใหม่ในช่วงปลายปี

    "เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีขึ้นมาจากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ซึ่ง 9 เดือนแรก การส่งออกขยายตัวได้สูงถึงร้อยละ 9.1 โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ที่การส่งออกขยายตัวสูงเป็นประวัติการณ์ที่ร้อยละ 13.4 ทำให้คาดว่าปีนี้การส่งออกจะขยายตัวได้มากกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ที่ร้อยละ 8"

     นายดอน กล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้น เศรษฐกิจในช่วงปลายปีนั้น เห็นว่ายังไม่มีความจำเป็นมากนัก เพราะธปท.พอใจต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เริ่มกระจายตัวมากขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะต้องการเร่งให้เศรษฐกิจขยายตัว มากขนาดไหน แต่ถ้ารัฐบาลต้องการดูแลผู้มี รายได้น้อยก็สามารถออกมาตรการมาดูแลผู้มีรายได้น้อยเป็นการเฉพาะ เหมือนการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เป็นต้น

     สำหรับ มาตรการ 'ช็อปช่วยชาติ' เห็นว่า เป็นการกระตุ้นซื้อสินค้าคงทนมากกว่า เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งขณะนี้สินค้าคงทนมีการขยายตัวดีขึ้นแล้ว เพราะเป็นกำลังซื้อจากคนรวย หากจะกระตุ้นมองว่าควรจะเน้นการ จับจ่ายของผู้มีรายได้น้อย ที่จะซื้อสินค้าไม่คงทน เช่น เสื้อผ้า สินค้าอุปโภคบริโภค มากกว่า" นายดอน กล่าว

      ส่วนอัตราเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าจะยังไม่เข้ากรอบเป้าหมายที่ร้อยละ 1-4 เนื่องจากเศรษฐกิจยังไม่ได้ฟื้นตัวเต็มที่ แต่แนวโน้ม เงินเฟ้อมีทิศทางปรับดีขึ้นตามราคาพลังงาน ที่ปรับตัวดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ธปท. หารือกับกระทรวงการคลัง ในการกำหนดกรอบเงินเฟ้อปี 2561 ยังคงไว้ที่ร้อยละ 1-4