- Details
- Category: กรมสรรพากร
- Published: Friday, 29 April 2022 16:52
- Hits: 12276
สรรพากร โชว์ผลงานหาเงินเข้าประเทศ จากภาษี e - Service ทำให้ 6 เดือนแรกรายได้ภาษีสรรพากรทะลุเป้า 14%
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า “ตามที่กรมสรรพากร ได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ (VAT for Electronic Service: VES) ที่ให้บริการกับผู้ใช้บริการในประเทศไทยตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมานั้น ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียน VES รวม 127 ราย และมียอดมูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์รวม 60,874.98 ล้านบาท คิดเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,261.25 ล้านบาท
ทั้งนี้ คาดว่า ทั้งปีงบประมาณ 2565 กรมสรรพากรจะเก็บ VES ได้ใกล้เคียงหนึ่งหมื่นล้านบาท ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ประมาณ 5,000 ล้านบาท”
กฎหมายภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบริการอิเล็กทรอนิกส์ (VAT for Electronic Service : VES) ที่มีผลบังคับกับแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการที่อยู่ต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งปัจจุบันมีแพลตฟอร์มและผู้ให้บริการต่างประเทศที่ให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ บริการโฆษณาออนไลน์ (Online Advertising) บริการขายสินค้าออนไลน์ (E-Commerce) บริการแพลตฟอร์มสมัครสมาชิก เช่น ดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกมส์ (Subscription) บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง เช่น บริการขนส่ง (Peer to Peer) และบริการแพลตฟอร์มจองที่พัก โรงแรม ตั๋วเดินทาง (Online Travel Agency) ที่ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อย (ที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม) ในประเทศไทย ดังนี้
ผลการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการบริการอิเล็กทรอนิกส์จากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศ
แยกตามประเภทแพลตฟอร์มและบริการสะสม 6 เดือน
(เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565)
ประเภทแพลตฟอร์มและการบริการ
มูลค่าบริการอิเล็กทรอนิกส์
(ล้านบาท)
ภาษีมูลค่าเพิ่ม
(ล้านบาท)
บริการโฆษณาออนไลน์ 38,421.59 2,689.51
บริการขายสินค้าออนไลน์ 15,904.13 1,113.29
บริการสมาชิก เพลง หนัง เกมส์ฯลฯ 5,718.61 400.30
บริการแพลตฟอร์มที่เป็นตัวกลาง 528.96 37.03
บริการแพลตฟอร์มจองที่พัก ตั๋วเดินทาง ฯลฯ 301.68 21.12
รวม 60,874.98 4,261.25
หมายเหตุ: ข้อมูล ณ วันที่ 25 เมษายน 2565
กฎหมายภาษี e - Service นี้ ได้เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการต่างประเทศที่ให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์แก่ผู้ใช้บริการที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในประเทศไทยและมีรายได้จากการให้บริการเกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบ VES (VAT for Electronic Service) บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร
ภาษี e – Service นี้ ช่วยสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการไทยกับผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไทยที่ทำธุรกิจบริการออนไลน์และมีรายได้เกิน 1.8 ล้านบาท จะต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ในขณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติที่ให้บริการออนไลน์เหมือนกันไม่ต้องจดทะเบียนและเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม นอกจากภาษีนี้จะทำให้เกิดความเป็นธรรม ในการแข่งขันแล้ว ภาษี e - Service ยังเป็นการเพิ่มรายได้ทางหนึ่งให้กับประเทศไทยอีกทางหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ การเก็บภาษี e - Service จะช่วยให้ประเทศไทยมีฐานข้อมูลรายได้ของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างชาติ ที่จะสามารถนำไปใช้ในการคำนวณเป็นฐานภาษีใหม่ที่จะเป็นรายได้อีกทางหนึ่งของประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวสรุปว่า “การจัดเก็บภาษี e - Service ซึ่งเป็นภาษีประเภทใหม่ เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กรมสรรพากรสามารถจัดเก็บรายได้ครึ่งแรกของปีงบประมาณ (เดือนตุลาคม 2564 – มีนาคม 2565) ได้เกินเป้าตามเอกสารงบประมาณ จำนวน 101,695 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 14 แต่อีกส่วนมาจากเครื่องมืออื่น ๆ เช่น data analytics ซึ่งมีการนำมาใช้เต็มรูปแบบในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งทำให้กรมสรรพากรสามารถระบุกลุ่มสาขาเป้าหมายที่มีศักยภาพ
ได้เพิ่มเติมและตรงเป้ามากขึ้น”
สอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161