ประมวลเหตุการณ์ บันทึกหน้าประวัติศาสตร์ วันเลือก 'พลเอกประยุทธ์' นั่งนายกฯคนที่ 29

มติชนออนไลน์

 

 




















      ประเด็นการเมืองร้อนแรงในวันนี้ คงจะหนีไม้พ้น ที่ประชุม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีมติด้วยคะแนนเสีงท่วมท้น ขานชื่อเรียงคน เห็นชอบ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย มติชนออนไลน์ จึงขอประมวลเหตุการณ์ภาพรวมทั้งหมด บันทึกเป็นอีกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย

 

  

เช้าตรู่ของวันพฤหัสบดีที่ 21 สิงหาคม "พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา" ผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์ มาเป็นประธานในพิธีวันสถาปนา ครบรอบ 64 ปี กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี พร้อมด้วยภริยา รศ.ดร.นราพร จันทร์โอชา โดยมีนายทหารระดับสูง และกลุ่มแม่บ้านทหารบกในกองทัพภาคที่ 1 ให้การต้อนรับ เมื่อมาถึงพลเอกประยุทธ์ ได้ตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ ต่อด้วยการสักการะพระพุทธชินราชจำลอง ถวายความเคารพพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช จากนั้นได้ทักทายกับนายทหารและกลุ่มแม่บ้านที่มารอต้อนรับ ก่อนจะไปเป็นประธานในพิธีสงฆ์

 

    สำหรับกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ กรมทหารเสือนวมินทราชินี ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นหน่วยทหารสนับสนุนยับยั้งการรุกรานของคอมมิวนิสต์ ในสงครามเกาหลี ก่อนจะแปรสภาพมาเป็น กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งองค์ผู้บังคับการพิเศษ เมื่อ วันที่ 1 ธันวาคม 2502 โดยในอดีตที่ผ่านมามีนายทหารคนสำคัญเริ่มต้นรับราชการและเติบโตที่นี่หลายคน อาทิ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีต ผบ.ทบ. พลเอกนิพัทธ์ ทองเล็ก อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม พลเอกอุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. รวมถึง พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.

 

ด้านหนึ่งในเวลาใกล้เคียงกัน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติ ได้มีการประชุม วาระสำคัญเพื่อ ลงมติ เลือก นายกรัฐมนตรี ตามเวลาดังนี้

 

  

10.00 น. ที่ประชุม สนช. เตรียมโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คนใหม่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ออกนั่งบัลลังก์ประธาน ทำหน้าที่ชี้แจงขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี

 

 

 10.21 น. นายตวง อันทะไชย สนช. เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีสมาชิกรับรอง 188 คน ในการเสนอชื่อ ก่อนขานชื่อเรียงบุคคล ไม่มีผู้ใดเสนอชื่อแข่ง

 

10.32 น.หลังจากที่มีการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีผู้รับรองครบถ้วนแล้ว ขั้นตอนการคัดเลือกจะให้เลขาธิการวุฒิสภาขานรายชื่อสมาชิก สนช. เพื่อให้ลงมติโดยเปิดเผยว่า "เห็นชอบ" "ไม่เห็นชอบ" หรืองดออกเสียง โดยผู้ที่จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับคะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของ สนช.ที่มีอยู่ หรือ 99 คะแนนขึ้นไปนั้น ทั้งนี้สมาชิกสนช.ส่วนใหญ่ กล่าว "เห็นชอบ" ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี มีเพียง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช.ที่งดออกเสียง เนื่องจากเป็นประธานที่ประชุม สำหรับการประชุมในวันนี้มีสมาชิก สนช.ทั้งหมด 197 คน มีสมาชิกเข้าร่วมประชุม(ลงลายมือชื่อ) 194 คน ลาป่วย 3 คน

 

มติสภา 191 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 ลงคะแนนให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. นั่งนายกฯ

      ทั้งนี้เมื่อที่ประชุมมีผู้เสนอชื่อเพียงคนเดียวที่ประชุมจึงใช้การขานชื่อเพื่อลงมติให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีโดยมีผู้ขานชื่อให้พลเอกประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีทั้งสิ้น 191 คน งดออกเสียง 3 คน โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานคนที่ 2 และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานคนที่ 1 ที่งดออกเสียงในครั้งนี้ ก่อนประธานจะกล่าวปิดประชุมทันทีส่งผลให้ พลเอกประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย

 

เส้นทาง "ประยุทธ์" สู่นายกรัฐมนตรี

 

      สำหรับเส้นทางชีวิตราชการของพลเอกประยุทธ์ เริ่มต้นรับราชการที่หน่วย กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ หรือ ร.21 รอ. ตั้งแต่เป็นผู้บังคับกองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จนเติบโตขึ้นเป็นผู้บังคับการกรมฯตามลำดับ ก่อนจะย้ายมาเป็นรองผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ ( พล.ร.2 รอ.) และเป็นผู้บัญชาการกองพลฯ ต่อจากนั้นได้รับตำแหน่งเป็นรองแม่ทัพภาคที่ 1 ในสมัยที่ พลโทอนุพงษ์ เผ่าจินดา ( ยศในขณะนั้น) เป็นแม่ทัพภาคที่1 ก่อนจะเข้าสู่เส้นทาง 5 เสือ ทบ. เริ่มจากการเป็นเสนาธิการทหารบก ต่อมาเป็นรองผู้บัญชาการทหารบก และได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก ในปัจจุบัน ก่อนผงาดนั่งแท่น เป็น นายกรัฐมนตรีไทย

     ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) เปิดเผยผลการสำรวจ ประชาชนให้คะแนนความพึงพอใจการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศของหัวหน้า คสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยได้คะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 7.76 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน  โดยมีรายละเอียดในแต่ละด้านที่ทำการประเมิน

 

     ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการทำหน้าที่นายกรัฐมนตรีในสมัยของนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อตอนบริหารประเทศครบ 2 ปี พบว่า นายกฯ ยิ่งลักษณ์ ได้คะแนนเพียง 4.49 คะแนน (ส.ค.56) ส่วนนายกฯ อภิสิทธิ์ ได้คะแนนเพียง 4.44 คะแนน (ธ.ค.53) เท่านั้น และเมื่อเปรียบเทียบในแต่ละด้านที่ทำการประเมินพบว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนความพึงพอใจในการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะผู้นำประเทศมากกว่าอดีตนายกรัฐมนตรี ทั้ง 2 ท่าน ในทุกๆด้าน

     เมื่อถามต่อด้วยข้อคำถามที่ว่า “หากวันนี้ท่านมีสิทธิโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ท่านจะโหวตสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่"พบว่า ประชาชน ร้อยละ 80.5 จะโหวตสนับสนุน มีเพียงร้อยละ 8.0 เท่านั้น ที่โหวตไม่สนับสนุน ที่เหลือร้อยละ 11.5 งดออกเสียง

     ในห้วงเวลาที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ โหวตเลือก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อเวลา 10.45 น. ตลาดหุ้นไทย ขยับขึ้นเล็กน้อย ประมาณ บวก 1-2   จุด

 

      ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่ กรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์ จังหวัดชลบุรี ภายหลังจากที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ สนช. ลงมติเห็นชอบให้แต่งตั้ง พลเอกประยุทธ์ ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี นักข่าวพยายามถาม พลเอกประยุทธ์ ซึ่งยิ้มและพยายามเดินหนีว่า พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีไหม หัวหน้า คสช.ตอบว่า

 

"ให้ประเทศชาติไปได้ก่อนแล้วค่อยว่ากัน" เมื่อถามต่อว่า มีการทาบทามมาก่อนไหม

       พลเอกประยุทธ์ ตอบเพียงว่า "ไม่มีใครทาบทาม" จากนั้นยิ้มให้กับผู้สื่อข่าวและขึ้นรถเพื่อตรวจเยี่ยมกิจการภายในกรมทหารราบที่ 21 รักษาพระองค์

      ทั้งนี้ หลังตรวจเยี่ยมกำลังพล นักข่าวที่ติดตามถาม พลเอกประยุทธ์ อีกครั้งว่า พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีไหม คำตอบที่ได้คือ "ยังเป็น ผบ.ทบ.อยู่ ต้องรอการโปรดเกล้าฯ"

      ก่อนจะขึ้นรถไป แต่ พลเอกประยุทธ์ เปิดกระจก พูดกับผู้สื่อข่าวเพิ่มเติมว่า "พร้อมทำหน้าที่ ไม่มีกังวลอะไร"

 

     นายตวง อันทะไชย สนช. ผู้เสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อที่ประชุมสนช. ให้สัมภาษณ์ถึงสาเหตุในการเสนอชื่อว่า เสนอชื่อตามมติของคณะกรรมาธิการสามัญกิจการสภาสนช. (ชั่วคราว) หรือวิปสนช. ซึ่งเป็นหน้าที่ทำได้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 19

     โดยเห็นว่าพล.อ.ประยุทธ์ มีความเหมาะสมกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะจากผลการสำรวจของโพลล์สำนักต่าง ๆ จะเห็นว่า ประชาชนให้การสนับสนุน รวมถึงสถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเอาประเทศเป็นตัวตั้ง เพื่อให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้ จึงเห็นว่านี่คือสิ่งที่ถูกต้อง

 

"ศรีสุวรรณ จรรยา" จ่อยื่นศาลรธน. หากเสนอชื่อ "ประยุทธ์" นั่งนายกฯ ชี้ขัดต่อกฎหมายชัดเจน

 

      นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย เปิดเผยว่า ทางสมาคมฯ เตรียมยื่นคำร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้นำความเสนอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ในวันพรุ่งนี้ (22 ส.ค.) เวลา 11.00 หากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ เนื่องจากจะถือเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรธน.ฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557และประมวลจริยธรรมของนักการเมืองโดยชัดแจ้ง

 

      ขณะเดียวกัน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) กล่าวถึงกรณีที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญ เตรียมจะยื่นผู้ตรวจการแผ่นดินให้พิจารณาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผลประโยชน์ทับซ้อน ในการเป็นนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. ว่าไม่ขอตอบเรื่องของบุคคลภายนอก และขอความกรุณาสื่ออย่านำเรื่องบุคคลอื่นมาถามตน

 

      ภายหลังเป็นประธานเป็นประธานการจัดงานวันสถาปนาครบรอบ 64 ปี กรมทหารราบที่ 21รอ. จ.ชลบุรี  ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประชุมสภานิติบัญญัติ หรือ สนช.ลงมติเอกฉันท์ 191 เสียงให้ พลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไท พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ คสช.โบกมือทักทายทหารและครอบครัวทหารกรมทหารราบที่ 21 ก่อนขึ้นเฮลิคอปเตอร์กลับกทม.

 

ครู "ประยุทธ์" ปลื้ม ลูกศิษย์ เป็นว่าที่นายกฯ เผยซื่อสัตย์ พูดน้อย เดาใจยาก

       นางธานี คุ้มชนะ อดีตครูวิชาภาษาไทยและสังคมวัย 74 ปี และอดีตหัวหน้าหมวดวิชาภาษาไทย โรงเรียนวัดนวลนรดิศ อดีตครูสอนวิชาสังคมให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และว่าที่นายกรัฐมนตรี ว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นนักเรียนรุ่นที่ 77  ของโรงเรียน ในรุ่นนี้มีคนเก่งหลายคน นอกจาก พล.อ.ประยุทธ์แล้ว ยังมีศาสตราจารย์อีก 2 คน ได้แก่นายสุชาติ ธาดาธำรงค์เวช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และ นายสิทธิชัย ขุนทองแก้ว คณบดีคณะทันตแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ซึ่งค่อนข้างสนิทกับ พล.อ.ประยุทธ โดย พล.อ.ประยุทธ เป็นคนสุขุมมาตั้งแต่เด็ก พูดน้อย เดาใจยาก  เป็นคนที่เรียนเก่ง มีความมุมานะในการเรียน เอาใจใส่การเรียนอย่างสม่ำเสมอ เป็นคนใจซื่อ มือสะอาด โปร่งใส ฉายแสงความซื่อสัตย์มาตั้งแต่เด็ก

 

นายประเสริฐ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดนวลนรดิศ กล่าวว่า ได้ข้อมูลจากเพื่อนร่วมรุ่นของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และว่าที่นายกรัฐมนตรีว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นคนเงียบๆ เรียนเก่ง ชอบอ่านหนังสือ และเอาจริงเอาจังตั้งแต่ยังเป็นเด็ก อีกทั้งยังเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬาฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ

 

เอกชนหนุน "ประยุทธ์" นั่งนายกฯ ชี้งานเร่งด่วนขับเคลื่อนศก.-ยกเลิกกฎอัยการศึก

      ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและหอการค้าไทย กล่าวว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของไทยนั้น เห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจากขณะนี้ประเทศไทย ต้องการผู้นำที่เข้มแข็ง มีวินัย นำประเทศไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดี และช่วง 3 เดือนที่เข้าบริหารประเทศ แสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำ ทำงานหนัก สามารถปลดล็อคปัญหาต่างๆได้เห็นเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะในด้านของเศรษฐกิจ โดยหลังตั้งรัฐบาลใหม่ งานเร่งด่วนที่เอกชนอยากเห็น คือ  การขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เข้มแข็ง และอยากให้ยกเลิกกฎอัยการศึกในบางจังหวัด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักท่องเที่ยว และกระตุ้นความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวเข้าไทย เพื่อชดเชยรายได้จากราคาพืชผลที่ยังไม่ดีนัก 

 

"กล้านรงค์" ไม่หวั่น! สนช.สายทหาร-ตำรวจ ก็ตรวจสอบรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ได้ ลั่น!ต้องทำงานเพื่อศักดิ์ศรี

 

       นายกล้านรงค์ จันทิก สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ตอบคำถามผู้สื่อข่าว เมื่อถูกถามว่า กังวลเรื่องการตรวจสอบรัฐบาลชุดใหม่จะทำได้ไม่เต็มหรือไม่ เพราะสนช.ส่วนใหญ่มาจากสายทหาร, ตำรวจ นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ตนไม่คิดว่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะ สนช. ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้นต้องทำงานให้สมกับความได้รับการไว้วางพระราชหฤทัย ที่สำคัญ สนช.ส่วนใหญ่อยู่ในวัยเกษียณ ดังนั้นระยะเวลาในการดำรงตำแหน่งก็ถือเป็นการใช้โอกาสทำงานเพื่อเกียรติและศักดิ์ศรีของตนเอง ส่วนพฤติกรรมทุจริตคอร์รัปชั่นนั้น หากจะทำถือว่าต้องคิดให้หนัก เพราะสนช. ถูกจับตาจากสังคมหลายฝ่าย ประชาชนตื่นตัวและไม่ยอมรับพฤติกรรมดังกล่าว 

"สมชาย" ทำเข้ม! ฮึ่มครม.“บิ๊กตู่” ต้องถูกตรวจสอบ หากพบเรื่องไม่โปร่งใส

 

     ขณะเดียวกัน นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)ฐานะวิป สนช.กล่าวถึงการตรวจสอบฝ่ายบริหาร หลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี ว่า ต้องเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ โดยรูปแบบนั้นจะคล้ายกับช่วงที่มีวุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่ คือ ใช้คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ที่เตรียมตั้งขึ้นมา จำนวน 15 - 20 คณะ  หากพบว่าในประเด็นใดความไม่โปร่งใสที่เกี่ยวกับโครงการ ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะ กมธ.ชุดใดก็จะตรวจสอบ รวมถึง กมธ.จะมีหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์ ข้อร้องเรียนจากประชาชนด้วย ส่วนบทบาทตรวจสอบฝ่ายบริหารนั้นที่ผ่านมาไม่ว่ารัฐบาลชุดใด อาทิ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ ฝ่ายตรวจสอบไม่ได้ตั้งธงว่ารัฐบาลนั้นเข้ามาเพื่อโกง ดังนั้น ในรอบนี้จะถูกพิจารณาเช่นเดียวกัน แต่หากพบประเด็นไม่โปร่งใส ซึ่งคาดว่าจะเกี่ยวข้องกับรัฐมนตรี หรือ ข้าราชการ ก็ต้องถูกตรวจสอบเหมือนที่ผ่านมา

 

‘จาตุรนต์’ชี้ ต่อไป บิ๊กตู่จะเข้าใจ ลดบทบาทหัวหน้า คสช. ยกเลิกกฎอัยการศึกต้องซาวด์เสียงประชาชน

     ด้าน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวถึง การนั่งควบสองตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า เรื่องนี้เป็นไปตามที่มีการวางแผนไว้ แต่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว และเท่าที่ทราบกันดีผู้ที่มีอำนาจสูงสุด คือ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ การเป็นนายกรัฐมนตรีเป็นเพียงการเสริมอำนาจเท่านั้น  ให้มีทั้งอำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ

      ทั้งนี้ การเป็นทั้งสองตำแหน่งก็มีข้อดี ตรงที่ ไม่ต้องเกี่ยงความรับผิดชอบว่าเป็นของ หัวหน้า คสช.หรือนายกรัฐมนตรี เพียงแต่การควบสองตำแหน่งอาจทำให้บุคคลทั่วไป เข้าใจยากและหลายครั้งไม่เข้าใจ พล.อ ประยุทธ พูดหรือทำอะไรในฐานะใด ในเวลานั้น ทำให้ผู้ที่ต้องทำงานด้วยรวมทั้งประชาชนเกิดความสับสน

 

     แต่เมื่อผ่านไประยะสั้น ผู้ที่เห็นความจำเป็นการแบ่งอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนขึ้น คือตัว พล.อ.ประยุทธ์ เพราะนายกฯและคณะรัฐมนตรี(ครม.) ย่อมต้องการความเป็นอิสระเป็นธรรมดา ในการปกครองทั่วไป ไม่ใช่อยู่ภายใต้การกำกับของใคร ความเข้าใจหน้าที่จะชัดเจนมากขึ้น นั่นหมายถึงหัวหน้า คสช. และคสช.ก็จำเป็นต้องลดบทบาทลง เมื่อมีรัฐมนตรี และจะต้องเข้าใจต่างประเทศ คงต้องการคุยกับนายกรัฐมนตรีมากกว่าหัวหน้า คสช.

 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนปัญหาที่รัฐบาลควรเร่งแก้ไข คือ

    1.เรื่องความเดือดร้อนของประชาชน เช่น ปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจ  รายได้ประชาชน ปัญหาราคาพืชผล

    2.เรื่องที่จะต้องแก้ปัญหาบ้านเมืองที่คั่งค้าง โดยเฉพาะการทำให้บ้านเมืองพ้นวิกฤติความขัดแย้ง ต้องทำให้เกิดความชัดเจนมากพอสมควร ซึ่งอาจจะเป็นโอกาสดีที่มาพิจารณาทบทวนปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นในรัฐบาลที่มาจากการแต่งตั้งนี้ โดยในช่วง 2 –3 เดือน ที่ผ่านมานี้ กระแส คือการทำให้เกิดความปรองดอง การกำหนดอำนาจกติกาประชาธิปไตย ต้องรีบทำ ถ้าช้าหาผลสำเร็จยาก เวลาก็จะเหลือน้อยไม่พอ และหากทบทวนกันให้ดีปัญหาใหญ่ที่ไทยเจอ คือ กฎกติการบ้านเมืองและจะทำอย่างไรให้คนที่เห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ ภายใต้กฎกติที่เป็นธรรม ส่วนเรื่องการปฏิรูปอย่างมากในช่วงนี้ทำได้เพียงรวบรวมหัวข้อความคิดเห็นฝ่ายต่างๆเพื่อส่งต่อให้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดำเนินการและองค์กรที่เกิดขึ้น แก้ทุกเรื่องทุกด้าน

      เมื่อถามว่า หากมีรัฐบาลควรมีการยกเลิกกฎอัยการศึกหรือไม่ นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ พล.อ.ประยุทธ์สวมหมวกสองใบต้องชั่งน้ำหนัก โดยในฐานะหัวหน้า คสช.มองว่าต้องคงไว้ แต่ในฐานะที่เป็นรัฐบาลคงต้องคุยหลายฝ่ายโดยเฉพาะผู้ที่เดือดร้อน เช่น ผู้ที่ต้องทำงานกับร่วมกับต่าง หรือต้องเชิญให้คนต่างมาลงทุน เที่ยวเมืองไทย คนเหล่านี้คงต้องการเรียกร้องให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ซึ่งเรื่องนี้ต้องชั่งน้ำหนัก ทางที่ดีควรรับฟังคามคิดเห็นหลายฝ่าย ทั้งนี้ตนคาดว่า ความคาดหวังของประชาชนคงจะแตกต่างๆจากช่วงที่ยังไม่มีรัฐบาล

 

อดีตส.ส.ปชป.เชื่อบิ๊กตู่ไม่ตั้งใจเป็นนายกฯตั้งแต่ต้น แต่เปลี่ยนใจเพราะกระแสสังคม

 

      ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายนริศ ขำนุรักษ์ อดีตส.ส.พัทลุง พรรคปชป. กล่าวถึงการที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.มีมติเลือกพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ว่าส่วนตัวเชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ คงไม่ตั้งใจจะเป็นนายกรัฐมนตรีแต่ต้นแต่มากลับใจในภายหลัง เมื่อมีกระแสผลักดันอย่างกว้างขวางให้เป็นนายกฯเสียเอง เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดให้อำนาจหัวหน้า คสช. ว่า นอกจากให้ดำเนินการปฏิรูปในด้านต่างฯ แล้วให้ส่งเสริมความสามัคคีและสมานฉันท์และ เพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำที่บ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ ทั้งที่เกิดในและต่างประเทศแล้ว ให้หัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช.มีอำนาจสั่งการยับยั้งเพียงให้รายงานประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และนายกรัฐมนตรีเพื่อทราบเท่านั้น ซึ่งถ้าคิดเป็นนายกฯมาแต่ต้นคงไม่เขียนรัฐธรรมนูญชั่วคราวไว้เช่นนี้ และเมื่อหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีเป็นคนคนเดียวกันแล้วจึงไม่มีปัญหาใดในการใช้อำนาจทั้งหมดตามมาตราที่ 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว

 

เร่งปรับปรุง "ทำเนียบรัฐบาล" ต้อนรับการทำงานนายกรัฐมนตรี คนใหม่

 

     บรรยากาศที่ทำเนียบรัฐบาลภายหลังจากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.มีมติให้พลเอกประยุทธ์จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 29 ของประเทศไทย เจ้าหน้าที่จากกรมยุทธโยธาและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องได้ทำการปรับภูมิทัศน์ภายมนทำเนียบรัฐบาลอย่างคึกคักที่แบ่งหน้าที่ในการปรับปรุงหลายส่วนโดยเฉพาะตึกไทยคู่ฟ้าที่มีเจ้าหน้าที่ระดมกำลังปรับปรุงทั้งภายนอกภายในอาคารซ่อมแซมบานประตูที่ชำรุด ทำความสะอาดบานกระจกและเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ภายใน รวมทั้งการทาสีใหม่ ขณะที่อาคารสันติไมตรี ก็มีการซ่อมแซมอุปกรณ์ที่ชำรุด และขัดพื้นหินอ่อน รวมทั้งทาสีและขนย้ายเฟอร์นิเจอร์ ภายในเช่นกัน

      ด้านตึกบัญชาการ 1 และ 2 ที่อยู่ติดกันก็มีความคืบหน้าอย่างมากด้วยปริมาณเจ้าหน้าที่ที่มีมากกว่าเดิม มีการรื้อไม้ของเดิมที่ผุพังออกมากองไว้ และนำของใหม่ไปเสริมและเปลี่ยนบานกระจกจำนวนมาก นอกจากนี้บริเวณรั้วหน้าทำเนียบก็มีการซ่อมแซมและทาสีใหม่ให้ดูสะดุดตายิ่งขึ้น จากของเดิมที่เป็นสนิมและข้อต่อฝืดก็มีการหยอดน้ำมันหล่อลื่นเพื่อยืดอายุการทำงาน ส่วนพื้นถนนภายในทำเนียบรัฐบาลมีการใช้เครื่องมือขูดพื้นถนนทิ้งไว้เพื่อรอการปรับปรุงอีกครั้ง

 

    อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่จัดสวนของทำเนียบรัฐบาลได้นำกระถางต้นดอกพุดและดอกเข็มสีเหลืองมาลงปลูกที่บริเวณด้านหน้าศาลพระภูมิศาลตา-ยายและหน้าห้องปฏิบัติงานสื่อมวลชน2และได้ทำการถอนต้นดอกเข็มสีแดงออกไป และนำต้นดอกเข็มสีเหลืองปลูกแทนที่ ซึ่งจากการสอบถามเจ้าหน้าที่ทราบว่าตามความเชื่อเชื่อว่าต้นดอกเข็มสีเหลือง เป็นต้นไม้มงคลเหมาะสำหรับผู้ที่เกิดวันอาทิตย์ ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบประวัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 จึงได้ทราบว่ามีวันเกิดตรงกับวันอาทิตย์ที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2497

 

เลขาธิการวุฒิสภาเผย ส่งรายชื่อ "นายกคนใหม่" เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าแล้ว

 

     นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ขณะนี้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ตรวจสอบคุณสมบัติของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)ให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรีเสร็จเรียบร้อยแล้ว และได้ส่งหนังสือไปยังสำนักราชเลขาธิการแล้ว เพื่อนำความกราบบังคมทูลทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯแต่งตั้งต่อไป