โหวตเอกฉันท์งบ 58 5 ชม.ฉลุย ฉัตรชัยประธานกมธ.'บิ๊กตู่'ใส่สูทนำคสช.แจง วิป'สนช.'ถกเลือกนายกฯ ผู้ว่าอุตรดิตถ์ล้มทาบสปช. 5 วันสมัครปฏิรูป 472 คน

โปรดเกล้าฯ - นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน 

สนช.คนที่ 2 ทำพิธีรับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ที่ห้องรับรอง อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม

แจงงบ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พร้อมคณะ เข้าชี้แจงร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2558 วงเงิน 2.57 ล้านล้านบาท ต่อที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม

        สนช.ลงมติผ่านฉลุย 183 เสียง เห็นชอบรับหลักการวาระแรกร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปีྲྀ วงเงิน 2.57 ล้านล้าน วิป สนช.เรียกประชุมจัดวาระเตรียมเลือกนายกรัฐมนตรี ผู้คนหลากอาชีพแห่สมัครสรรหา สปช. 5 วันทั่วประเทศรวม 472 คน

@ ร่วมพิธีรับสนองโปรดเกล้าฯ

       เมื่อเวลา 09.19 น. วันที่ 18 สิงหาคม ที่ห้องประชุม 2 อาคารรัฐสภา 2 มีพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายพรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย เป็นรองประธาน สนช.คนที่ 1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต เป็นรองประธาน สนช.คนที่ 2 โดยมีสมาชิก สนช.และข้าราชการประจำสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง จากนั้นประธาน สนช.และรองประธาน สนช.ทั้งสองเข้าสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 พระเสื้อเมือง พระทรงเมือง พระสยามเทวาธิราช และพระภูมิเจ้าที่ เพื่อความเป็นสิริมงคลในการปฏิบัติหน้าที่

      เวลา 09.30 น. นายพรเพชรกล่าวว่า ถือเป็นวันที่รู้สึกปลาบปลื้มในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯตำแหน่งประธานและรองประธานสภา สนช. ซึ่ง สนช.จะเริ่มปฏิบัติงานเพื่อให้องค์กรนี้เป็นส่วนหนึ่งของการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ทั้งนี้ สนช.เป็นองค์กรที่มีความสำคัญ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิติรัฐที่ปกครองด้วยกฎหมาย หลายคนจะมองว่าสถานะของประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง เพราะสภานี้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ขอเรียนว่า สนช.จะทำหน้าที่สร้างนิติรัฐหรือกฎหมายขึ้นมา สนช.จะยึดหลักนิติรัฐและนิติธรรมในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อนำไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยต่อไป

      ด้านนายสุรชัยกล่าวว่า จะทำหน้าที่ร่วมกับประธานและรองประธาน สนช.คนที่ 2 อย่างซื่อสัตย์สุจริต นำพาประเทศไปสู่การปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง สมาชิก สนช.ทั้ง 197 คนจะอุทิศตนทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ 

      นายพีระศักดิ์ กล่าวด้วยว่า จะปฏิบัติหน้าที่ให้สมบูรณ์ที่สุด ขอเรียนว่า สนช.โดยการนำของประธานและรองประธาน สนช.คนที่ 1 จะทำหน้าที่ให้เป็นที่น่าเชื่อถือแก่พี่น้องประชาชนทั้งประเทศ

@ เปิดการประชุมสนช.นัดสอง

    ต่อมาเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม สนช.ครั้งที่ 2 โดยมีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม และมีสมาชิก สนช.ลงชื่อเข้าประชุม 178 คน จากทั้งหมด 197 คน ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายพรเพชรได้นำสมาชิก สนช.รับทราบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธานและรองประธาน สนช.คนที่ 1 และคนที่ 2 

     จากนั้นนายพรเพชรได้นำสมาชิก สนช.ทั้ง 4 ประกอบด้วย พล.ต.กลชัย สุวรรณบูรณ์ นายบุญทักษ์ หวังเจริญ นายรัชตะ รัชตะนาวิน และ พล.ท.วลิต โรจนภักดี ปฏิญาณตนก่อนปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากในการประชุม สนช.นัดแรก เมื่อวันที่ 8 สิงหาคมที่ผ่านมา ไม่ได้เข้าร่วมประชุม

@ "ตวง"ชงกมธ.ยกร่าง 20 คน 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างการประชุมนายพรเพชรได้กล่าวกำชับให้สมาชิก สนช.อยู่ร่วมการประชุมทุกครั้ง ไม่ควรออกนอกห้องประชุม เนื่องจากมีข้อบังคับเรื่องการแสดงตนการลงมติที่จะเชื่อมโยงถึงการสิ้นสุดสมาชิกสภาพของสมาชิกที่แสดงตนลงมติไม่ครบตามที่ข้อบังคับกำหนด 

     "หากสมาชิกคนใดสงสัยเรื่องการลงมติก็ตรวจสอบผลลงมติได้ หากผิดพลาดจะโต้แย้งและซักถามสำนักการประชุมได้ ระหว่างนี้ยังไม่มีข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2557 จึงขอนำข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 มาอนุโลมบังคับใช้ก่อน" นายพรเพชรกล่าว

      จากนั้นเข้าสู่วาระการประชุมเรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญ ยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช. โดยนายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. เสนอคณะ กมธ.ดังกล่าว 20 คน ที่ประชุมเห็นชอบตามที่เสนอ และให้ทำงานแล้วเสร็จภายใน 15 วัน ต่อมาเข้าสู่วาระการตั้งคณะ กมธ.สามัญกิจการสภา สนช. (ชั่วคราว) หรือวิป สนช.ชั่วคราว โดยนายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ได้เสนอชื่อสมาชิกวิป สนช.ชั่วคราว จำนวน 23 คน ที่ประชุมรับรอง

@ "ประยุทธ์"ขึ้นแถลงงบประมาณ

     เวลา 10.35 น. ที่ประชุมเข้าสู่วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้กล่าวนำเสนอหลักการและเหตุผลร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯว่า ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2558 พิจารณาความต่อเนื่องแผนงานโครงการทุกกระทรวง ทบวง กรม ลักษณะบูรณาการ ทำให้เกิดความยั่งยืนขึ้น ต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ตั้งแต่ปี 2555-2559 โดยการบูรณาการกลุ่มงานเดียวกันที่มีงบประมาณอยู่หลายกระทรวง แต่ต้องแบ่งแยก เพราะไม่สามารถทำงานใดในกระทรวงเดียวได้ 

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ความต่อเนื่องเชื่อมโยงควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง ส่วนการทำยุทธศาสตร์ดูว่าประเทศไทยจะมียุทธศาสตร์อย่างไร เดินหน้าประเทศทางไหน แต่เห็นว่าต้องเน้นทั้งเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมไปด้วยกัน ขณะที่มาตรการควบคุม ให้ทุกกระทรวง ทบวง กรม รายงานใช้งบประมาณรายไตรมาส การเดินหน้าต้องมีแผนงานโรดแมป 3 เดือนจะทำอะไร แล้วให้รายงาน 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อด้วยว่า "ขอโทษที่เสียงอาจจะดัง เป็นอย่างนี้ ไม่ได้ดุเดือดอะไร เขาเตือนให้ผมใจเย็นๆ แต่ตื่นเต้นปวดท้องตั้งแต่เช้า เพราะทุกคนยังไม่มีความสุข"

@ วงเงินงบรายจ่าย 2.57 ล้านล้าน

    พล.อ.ประยุทธ์ชี้แจงต่อว่า กรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 มีวงเงินงบประมาณจำนวน 2.57 ล้านล้านบาท แยกเป็นส่วนค่าใช้จ่ายรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นๆ จำนวน 2,533,034,659,800 บาท และเพื่อชดใช้เงินคงคลังจำนวน 41,965,340,200 บาท เหตุผลเพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นมีงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ใช้เป็นหลักในการจ่ายเงินแผ่นดิน และเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลังที่กำหนดให้ตั้งงบประมาณรายจ่าย เพื่อชดใช้เงินคงคลังตามที่จ่ายไปแล้ว

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2558 คาดว่า จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกและปริมาณการค้าโลก เป็นปัจจัยสนับสนุนให้มูลค่าส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น อุปสงค์ภายในประเทศ ยังมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากปี 2557 สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจปี 2558 คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำ 1.8-2.8 ใกล้เคียงปี 2557 แม้จะมีแรงกดดันจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัว แต่คาดว่าระดับราคาน้ำมันจะค่อนข้างทรงตัว ขณะเดียวกันดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลต่อเนื่องจากปีก่อน เนื่องจากมูลค่าการส่งออกที่เร่งตัวขึ้น และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว 

@ จัดสรรตามกรอบยุทธศาสตร์

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า กรอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณ ได้แก่ 1.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ 186,240.7 ล้านบาท 2.ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 222,762.7 ล้านบาท 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม 169,112.6 ล้านบาท 4.ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรม และคุณภาพชีวิต 955,921 ล้านบาท 5.ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 135,121.8 ล้านบาท 6.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 24,741.4 ล้านบาท 7.ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 9,594.9 ล้านบาท 8.ยุทธศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 354,484.6 ล้านบาท และ 9.รายการค่าการดำเนินการภาครัฐ 517,020.3 ล้านบาท

@ สมาชิกสนช.แค่ 17 ขออภิปราย

     หลัง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้เข้าสู่การอภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม มีสมาชิกลงชื่ออภิปราย 17 คน อภิปรายได้คนละ 10 นาที แต่นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.ได้เสนอว่า ให้สมาชิก สนช.ที่จะอภิปรายสามารถยกมือขออภิปรายได้ตลอดเวลา เพราะไม่แน่ใจว่ากระบวนการได้มาซึ่งรายชื่อของสมาชิกที่ขออภิปรายเป็นไปตามข้อบังคับหรือไม่ พร้อมขอเพิ่มเวลาการอภิปราย เห็นว่า 10 นาที น้อยเกินไป 

      นายสุรชัยชี้ แจงว่า สมาชิกที่ขออภิปรายได้มาจากการให้สมาชิกแสดงความจำนงล่วงหน้า สิ้นสุดการลงชื่อเมื่อเวลา 10.00 น. และจะไม่เพิ่มเวลาการอภิปราย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อกรอบเวลาการประชุมที่ค่อนข้างเร่งรัด 

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในครั้งนี้ จากจำนวนสมาชิก สนช. 200 คน ได้ร่วมลงชื่อเพื่อขึ้นอภิปราย 17 คน โดยไม่มีสมาชิก สนช.ที่เป็นข้าราชการตำรวจและทหารที่มีประมาณ 100 กว่านาย เข้าร่วมอภิปรายแต่อย่างใด 

@ "ครูหยุย"ติงงบปรองดอง

       นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ได้ลุกขึ้นอภิปรายถึงยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่น ด้านแผนงานปรองดอง หยิบยกการใช้งบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม จำนวน 54 ล้านบาท กระทรวงมหาดไทย 296 ล้านบาท และกระทรวงแรงงาน 26 ล้านบาท เห็นว่ากลไกสำคัญอีกส่วนในการสร้างความปรองดองที่ถูกลืมในการจัดสรรงบประมาณคือกรมการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่ดูแลประชากรถึง 1.6 ล้านคน จะช่วยสร้างความปรองดองในระดับรากหญ้าได้อีกทางหนึ่ง

@ "สมชาย"ชี้อย่าตั้งงบเกินจริง

     ต่อมา นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.ขึ้นอภิปรายว่า จากนี้จะทำอย่างไรให้ประเทศเดินต่อไปได้ อยู่ที่งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2558 เป็นโจทย์ที่ตอบได้ดี การที่หัวหน้า คสช.พูดถึงความโปร่งใส สุจริต ซึ่งคนทำงบฯทราบดี ทุกปีมีปัญหาเพราะข้าราชการประจำมาจากกรม กระทรวง ต้องตั้งงบประมาณเผื่อสำหรับนักการเมืองไปทุจริตคอร์รัปชั่น อยากฝากไม่ต้องตั้งงบประมาณเผื่อนักการเมือง ส.ส. และ ส.ว.อีก งบประมาณที่ขอไม่ควรตั้งเกินจริง อย่างไรก็ตาม ดีใจงบประมาณคราวนี้ถูกส่งต่อไปยังกระทรวงโดยไม่ต้องตัดงบประมาณและไม่ต้องโยกไปไว้ตามจังหวัดต่างๆ การจัดการงบประมาณปีนี้น่าชื่นชม คือ นำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ ที่ผ่านมาปล่อยให้เศรษฐกิจนำพาประเทศฟุ่มเฟือยจนต้องแก้โดยการกู้หรือแม้กระทั่งการทั้งการทำโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงที่ใช้งบกว่า 2 ล้านล้านบาท 

    นายสมชาย กล่าวว่า การจัดทำงบฯที่จะไปพิจารณาในวาระที่ 2-3 เกี่ยวกับเรื่องการป้องกันปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบของภาครัฐ หากต้องการทำอย่างจริงจัง ควรสนับสนุนงบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มากกว่านี้ และให้การสนับสนุนเรื่องกำลังคน นอกจากนี้ ควรพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้เกษตรกรได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากขึ้น ลดความเหลื่อมล้ำ และด้านโลจิสติกส์ เห็นด้วยกับการทำรถไฟฟ้าทางคู่มาตลอดเพื่อช่วยขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนรถไฟฟ้าความเร็วสูงหากมีการทำในอนาคตต้องศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม

@ ศธ.ได้เงินบริหารเยอะแต่เหลว 

    นายสมพร เทพสิทธา สมาชิก สนช. ได้ขึ้นอภิปรายต่อมาว่า ทุกรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ได้ให้ความสำคัญเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง อยากให้มีการนำมาขับเคลื่อนทุกภาคส่วน ให้ไทยเป็นประเทศแห่งเศรษฐกิจพอเพียง ในส่วนงบประมาณที่กระทรวงศึกษาธิการได้รับมากที่สุด แต่สิ่งที่เกิดขึ้น คือคุณภาพการศึกษาไทยยังตกต่ำ หากเปรียบเทียบในอาเซียนการศึกษาไทยอยู่ที่ 8 ตรงนี้ต้องปฏิรูปการศึกษาใหม่ และต้องการให้คืนความเป็นธรรมแก่วิธีพุทธ ส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรม อบรมเยาวชนให้มีคุณธรรม จิตสำนึก เพราะปัจจุบัน สถาบันด้านพุทธศาสนาเราอ่อนแอไม่ได้รับการส่งเสริมเท่าที่ควร

@ "ตวง"ระบุต้องตอบโจทย์

     เมื่อเวลา 14.50 น. นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช. ขึ้นอภิปรายว่า งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ปกติแต่อยู่ในช่วงวิกฤต ทาง คสช.พูดชัดเจน งบก้อนนี้ต้องตอบโจทย์ คือการบริหารราชการแผ่นดิน แก้วิกฤตของชาติให้ได้ เพราะการคอร์รัปชั่นปีนี้ทวีความรุนแรง เปลี่ยนความคิดของคนว่า หากโกงแล้วบริหารราชการแผ่นดินได้ โกงก็ไม่ผิด ทำให้สังคมเป๋ ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของคนในสังคม และให้คนคอร์รัปชั่นไม่มีพื้นที่ยืน โดยกระทรวง ทบวง กรม ควรมีบทบาทมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงยืนปรบมือเพื่อคืนความสุข 

     นายตวง กล่าวว่า การแก้ปัญหาชาติที่สลับซับซ้อนจะแก้ได้ เชื่อว่าการปฏิรูปการศึกษาจะเป็นแนวทางหนึ่ง ปัจจุบันการศึกษาไทยในระดับอาเซียนอยู่อันดับที่ 8 แต่ไม่แปลกเพราะไทยยึดคะแนนโอเน็ต เน้นความรู้ ความจำ ติวอย่างบ้าคลั่ง ไม่เน้นคุณภาพ กาย อารมณ์ สติ ปัญญา ก็เหมือนนักการเมืองติวได้คะแนนเสียง ได้รับเลือกแต่ไม่ได้ตอบโจทย์ ดังนั้น ต้องปฏิรูปจากห้องเรียน และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนเป็นเพียงกระพี้เท่านั้น โดยเฉพาะไม่เข้าใจภาษาอาเซียนหรือแม้แต่ภาษาอังกฤษ ถึงเวลาปฏิรูปการศึกษาแก้ปัญหาชาติ แสวงหาทางออกแล้วสันติสุขจะเกิดได้เอง

@ "บิ๊กตู่"ลั่นไม่กู้เงินเพิ่มภาระ

    จากนั้นเวลา 15.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวชี้แจงปิดท้ายการประชุม ว่าผมและคณะ คสช.ได้รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกหลายประการ ปัญหาทุกอย่างเกิดมานานจะแก้ปัญหาทุกอย่างให้หมดคงทำไม่ได้ เมื่อเดินมาถึงตรงนี้แล้วก็ต้องทำให้ได้มากที่สุด ถ้าปฏิรูปไม่ได้ เรื่องอื่นก็คงเดินต่อไปไม่ได้ พวกเราต้องปรับโครงสร้างการปฏิรูปด้านต่างๆ กันต่อไป อะไรที่ทำได้ก็ต้องทำโดยเฉพาะเรื่องงบประมาณ อยากได้อะไรลดเพิ่มก็ต้องช่วยกันปรับแก้เอาในขั้นกรรมาธิการ อยากให้ทำอะไรขอให้เสนอมา แต่สุดท้ายแล้วก็ต้องร่วมกันรับผิดชอบ ปัญหาที่เกิดขึ้นมาทั้งหมด 20 ปี ขอให้เปิดช่องว่างปีนี้ไว้ให้ผมได้แก้ปัญหา แนวทางทุกอย่างคิดไว้หมดแล้วโดยสมองทหาร ผมไม่อยากสร้างภาระด้วยการกู้เงิน เพราะเราต้องช่วยกันหารายได้ด้วย ส่วนการปฏิรูปภาษีนั้นกระทรวงการคลังเสนอมาแล้ว แต่ยังไม่อนุมัติ เพราะหากอนุมัติไปเกรงว่าจะโดนอีก"

@ ลงเรือลำเดียวกันต้องช่วยกัน

      "วันนี้การต่อต้านยังมีทุกที่ เพียงแต่รอเวลาว่าเมื่อไหร่มันจะไปไม่ได้ วันนี้เราต้องหยุดของเดิมไว้ตรงนี้ให้ผม 1 ปี ให้แก้ปัญหา สิ่งที่ทุกคนต้องทำคือหาปัญหาและวิธีแก้ปัญหา กำหนดแนวทางแก้ปัญหาตามโรดแมปว่าจะทำอะไรก่อน และส่งต่อให้รัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งแก้ปัญหาต่อไป อย่าบอกว่า คสช.ต้องแก้ให้หมด ผมไม่ใช่เทวดาที่จะแก้ปัญหาทั้งหมดได้ เรื่องทุจริต ผิดกฎหมายวันนี้ยังไม่ได้ทุจริตสักสลึงนึง ต้องแบกภาระ แบกครอบครัว สมาชิก สนช.ทุกคนที่เสนอแนะต้องช่วยกันทำให้ได้ ต้องช่วยกันแก้ปัญหาทั้งหมด ไม่ใช่ว่าโยนปัญหาให้ผมคนเดียว วันนี้ทุกคนลงเรือลำเดียวกันแล้ว ใครมีปัญหาอะไรหรือไม่ หรือใครไม่เห็นชอบอย่างไรก็ต้องช่วยกัน รวมถึงปัญหาทางการศึกษาและขับเคลื่อนภายในประเทศและต่างประเทศในการเข้าสู่เออีซี สิ่งแรกที่ต้องแก้คือ ทรัพยากรมนุษย์ ประชากรต้องเข้มแข็งทั้งร่างกายและจิตใจ" หัวหน้าคณะ คสช.กล่าว

@ โหวตผ่าน 183-0/งดออกเสียง 3

     จากนั้น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ประธานการประชุม แจ้งให้ที่ประชุมลงมติ โดยที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์เห็นชอบรับหลักการวาระแรก ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท ด้วยคะแนน 183 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 ทั้งนี้ ผู้ที่งดออกเสียงทั้ง 3 เสียงคือ ประธาน สนช. และรองประธาน สนช.คนที่ 1 และ 2

@ ตั้งกมธ.งบ 50 คนพิจารณา

    หลังมีมติรับหลักการวาระแรก ที่ประชุมเห็นชอบแต่งตั้ง คณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 จำนวน 50 คน แบ่งเป็นสัดส่วนของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 10 คน และสัดส่วนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 40 คน กำหนดให้สมาชิก สนช.เสนอแปรญัตติได้ภายใน 7 วัน ต้องจัดทำรายงานให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 5 กันยายน เพื่อนำเข้าสู่การประชุมวาระ 2 ในวันที่ 17 กันยายน 2557 ต่อไป 

     นายพรเพชร ยังได้นัดประชุมครั้งถัดไป ในวันที่ 21 สิงหาคมนี้ แต่ไม่ได้ระบุว่าจะให้ที่ประชุมพิจารณาในเรื่องใด พร้อมกล่าวขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ที่สละเวลาเข้าร่วมการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยสมาชิก สนช.ได้ปรบมือขอบคุณ พล.อ.ประยุทธ์ กันกึกก้อง ก่อนจะสั่งปิดประชุมในเวลา 15.40 น. รวมใช้เวลาการประชุมพิจารณาประมาณทั้งสิ้นเกือบ 6 ชั่วโมง

@ วิปสนช.เคาะ"สุรชัย"นั่งปธ.วิป

     เมื่อเวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุม 301 อาคารรัฐสภา 2 มีการประชุมคณะ กมธ.สามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ชั่วคราว) หรือวิป สนช. จำนวน 23 คน ที่ประชุมมีมติให้นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 เป็นประธานวิป สนช. ตามด้วย พล.อ.มารุต ปัชโชตะสิงห์ เป็นรองประธานวิป สนช.คนที่ 1 พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล เป็นรองประธานคนที่ 2 พล.ร.อ.สุรศักดิ์ หรุ่นเริงรมย์ เป็นรองประธานคนที่ 3 และ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ เป็นรองประธานคนที่ 4

     ที่ประชุมยังมีมติให้ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ เป็นโฆษกวิป สนช. นายสมชาย แสวงการ เป็นเลขาธิการวิป สนช. และ พล.อ.อ.อิทธพร 

ศุภวงศ์ เป็นที่ปรึกษา ซึ่งยังมีมติให้วิป สนช.ประชุมร่วมกันทุกวันพุธ เวลา 09.30 น. เริ่มประชุมตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคมเป็นต้นไป เริ่มจากการพิจารณาร่างกฎหมาย 10 ฉบับ ที่ คสช.ส่งมาก่อนเป็นอันดับแรก 

@ รอวิปสนช.ถกก่อนเลือกนายกฯ

      เวลา 16.45 น. นายสุรชัยให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี ว่า การเลือกนายกฯต้องใช้วิธีการขานชื่อ ทำเหมือนสภาผู้แทนราษฏร คาดว่าจะได้นายกฯภายในเดือนสิงหาคมนี้ แต่จะนำเข้าประชุมเพื่อเลือกในวันที่ 21 สิงหาคมหรือไม่ ให้รอดูการประชุมวิป สนช.นัดแรกในวันที่ 20 สิงหาคม ก่อนว่าจะมีเรื่องนี้เข้าที่ประชุมหรือไม่ 

เมื่อถามว่า มีข้อเสนอว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ควรนั่งตำแหน่งนายกฯ ควบกับตำแหน่งหัวหน้า คสช. อาจมีปัญหาเรื่องการตรวจสอบ นายสุรชัยกล่าวว่า เป็นประเด็นที่ สนช.ต้องไปพิจารณา สนช.จะต้องฟังเสียงประชาชนอยู่แล้ว เมื่อดูจากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ หน้าที่ของนายกฯกับ คสช.ไม่ได้ทำงานสัมพันธ์กันอยู่แล้ว เมื่อมีนายกฯ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว บทบาทของ คสช.ก็จะลดลง คสช.จะไปดูเรื่องของความมั่นคง นายกฯจะดูเรื่องบริหารเป็นหลัก ส่วนการตรวจสอบเป็นหน้าที่ของ สนช. ทำหน้าที่คล้ายกับ ส.ส. และ ส.ว.ในสภา

มีรายงานข่าวว่า การประชุม สนช. วันที่ 21 สิงหาคม ที่ยังไม่ได้กำหนดวาระการประชุม คาดว่าอาจมีการบรรจุวาระลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี จากนั้นจะพิจารณากฎหมายเร่งด่วนหลายฉบับ

@ เคาะ"ฉัตรชัย"นั่งปธ.กมธ.งบ

ขณะเดียวกันเมื่อเวลา 16.00 น. มีการประชุมของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณที่มี พล.อ.ธีรเดช มีเพียร สมาชิก สนช.ในฐานะผู้อาวุโสสูงสุด ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมชั่วคราว เพื่อเลือกประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ 

นางนิพัทธา อมรรัตนเมธา สมาชิก สนช. เสนอชื่อ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร ขณะที่ พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ เสนอชื่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ 

ต่อมา พล.อ.ธีรเดชขอถอนตัวจากที่มีผู้เสนอชื่อ อ้างว่าไม่พร้อมทำหน้าที่ ทำให้มติที่ประชุมเห็นชอบให้ พล.อ.ฉัตรชัย ดำรงตำแหน่งประธานคณะ กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ

พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า ได้แจ้งนัดการประชุมอีกครั้ง ระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม-3 กันยายน 2557 ให้ประชุมทุกวันจันทร์ถึงวันเสาร์ เวลา 10.00-21.00 น. และในวันที่ 4 กันยายน ให้สมาชิกที่ขอแปรญัตติเข้าชี้แจง เพื่อให้ทันกรอบการพิจารณาให้แล้วเสร็จ ภายในวันที่ 5 กันยายน 2557 เพื่อตรวจรายงานของคณะกรรมาธิการ ก่อนจัดพิมพ์เอกสารเสนอเอกสารต่อ สนช. ในวันที่ 11 กันยายน 2557 ต่อไป

@ เลือกปธ.กมธ.ยกร่างข้อบังคับ 

เวลา 16.00 น. ที่ห้องประชุมคณะกรรมาธิการ 310 ชั้น 3 อาคารรัฐสภา 2 คณะ กมธ.สามัญยกร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรียกประชุมครั้งที่ 1/2557 โดยมีนายประมุท สูตะบุตร เป็นกรรมาธิการที่มีอาวุโวสูงสุดทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม ที่ประชุมมีมติแต่งตั้ง นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช. คนที่ 2 เป็นประธานกรรมาธิการยกร่าง และ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม เป็นรองประธานคนที่ 1 นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน เป็นรองประธานคนที่ 2 ส่วน พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นเลขาธิการ นายตวง อันทะไชย เป็นโฆษกกรรมาธิการยกร่าง

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ได้หารือประธานและรองประธาน สนช.คนที่ 1 ในการตั้งคณะ กมธ.ไม่ควรจะมีเกิน 20 คณะ ส่วนใหญ่ข้อบังคับนำมาจากข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 แต่มีบางภารกิจที่ปี 2549 ไม่มี ทั้งนี้ ข้อบังคับ สนช.ปี 2557 มีการร่างให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวและของ คสช. มีผลต่อเนื่องถึงจำนวนคณะและสมาชิก กรรมาธิการ จะต้องหมุนกัน โดยให้สมาชิก สนช.เป็นคณะกรรมาธิการได้ 2 คณะต่อ 1 คน หากใครเป็นประธาน กมธ.จะเป็นได้เพียงคณะเดียว เพราะประธานแต่ละคณะ กมธ.ต้องอยู่ในวิป สนช. ส่วนอนุ กมธ. 1 คณะไม่ควรมีเกิน 3 อนุ กมธ.

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า คณะ กมธ.ยกร่างจะต้องพิจารณาข้อบังคับการประชุม สนช. ให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน พร้อมกันนี้จะต้องกลับไปศึกษาร่างข้อบังคับหมวด 8 หน้า 38 ว่าด้วยการเลือกนายกรัฐมนตรีเผื่อไว้สำหรับการประชุมในวันที่ 21 สิงหาคมด้วย เพราะการนัดประชุมในวันที่ 21 สิงหาคม ยังไม่ได้มีวาระพิจารณากฎหมายอื่น โดยประธานที่ประชุมอาจจะหยิบยกประเด็นเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรี ขึ้นมาพิจารณา

@ เปิดรับสรรหาสปช.วันที่ 5 

เมื่อเวลา 08.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีการเปิดรับเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จำนวน 11 ด้าน ต่อเนื่องเป็นวันที่ 5 ตั้งแต่ช่วงเช้ามีองค์กรนิติบุคคลไม่แสวงหากำไรทยอยเข้าเสนอรายชื่อ อาทิ ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ได้ยื่นเสนอ พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เข้าสรรหาเป็น สปช.ด้านการเมือง ส่วนพรรคเพื่อประชาชนไทยยื่นเสนอชื่อ

นายพรหมชาติ กองสินหลาก เข้าสรรหาด้านการเมืองเช่นกัน ขณะที่พรรคเพื่อประชาชนไทย เสนอนายเสน่ห์ ปุริสาย สรรหาเป็น สปช.ด้านสังคม เป็นต้น 

ต่อมาเวลา 17.30 น. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. สรุปยอดการเปิดรับเสนอรายชื่อของวันที่ 5 ว่า มีองค์กรนิติกรบุคคลเสนอชื่อผู้รับการสรรหาเป็น สปช.จำนวน 9 ด้าน ยกเว้นด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและด้านพลังงาน เป็นการมายื่นโดยตรงที่สำนักงาน กกต. 29 คน และส่งเอกสารทางไปรษณีย์ 3 คน รวมจำนวน 32 คน ส่วนที่เสนอชื่อต่อระดับจังหวัดมี 150 คน รวมจำนวน 182 คน และสรุป 5 วัน มีองค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อเข้ามา 126 คน เสนอทางจังหวัด 346 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 472 คน

@ กกต.เคลียร์ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า

กกต.ได้ทำหนังสือแจ้งผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด (ผอ.กต.จว.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด เพื่อแจ้งต่อประธานคณะกรรมการสรรหาว่าขอให้ระมัดระวัง สรรหาด้วยความรอบคอบ เนื่องจากมีกระแสข่าวการล็อกตัวบุคคลเพื่อเป็น สปช.เกิดขึ้น หากเป็นจริงคงต้องรายงานให้ คสช. รับทราบ เชื่อว่า คสช.จะเอาจริง 

"ยอมรับว่ากระแสข่าวการล็อกตัวบุคคลเป็น สปช.อาจทำให้องค์กรนิติบุคคลไม่อยากเสนอชื่อ ส่วนตัวได้พูดคุยกับผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ ที่ได้แจ้งกลับมาว่า ทางจังหวัดเปิดกว้างให้ผู้ที่สนใจเข้ารับการสรรหาได้เลย ทราบว่ามีคณะกรรมการสรรหาในหลายจังหวัดใช้วิธีการแบบนี้เช่นเดียวกัน" เลขาธิการ กกต.กล่าว และว่า ช่วง 3 วันสุดท้ายก่อนการปิดรับการเสนอชื่อจะมีองค์กรนิติบุคคลเดินทางมาเสนอชื่อจำนวนมาก อาจมีการปรับวิธีการรับการเสนอชื่อ เพิ่มบุคลากรแจกบัตรคิวให้กับผู้มาเสนอชื่อ รวมถึงจุดรับการเสนอชื่อให้มากขึ้นด้วย

@ ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ยอมเลิกทาบทาม

เมื่อเวลา 10.00 น. ที่ห้องประชุมสวางคบุรี ชั้น 5 อาคารศูนย์ราชการ จ.อุตรดิตถ์ นายชัช กิตตินภดล ผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ ได้เชิญคณะกรรมการสรรหา สปช.อุตรดิตถ์ ประชุมด่วนเพื่อยกเลิกหลักเกณฑ์เดิมที่ให้กรรมการ 1 คนทาบทามบุคคลเหมาะสมได้ 2 คน โดยเสนอให้ใครก็ได้ที่คิดว่าเหมาะสมสามารถยื่นใบเสนอตัวเองเป็น สปช.อุตรดิตถ์ ได้ที่ กกต.อุตรดิตถ์ ตั้งแต่วันที่ 20-24 สิงหาคมนี้

นายชัชกล่าวว่า เนื่องจากมีการท้วงติงจากผู้ประสงค์จะเสนอตัวเองเข้าร่วมการสรรหาเป็น สปช.อุตรดิตถ์จำนวนมาก รวมถึงนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 จึงต้องเปิดโอกาสให้คนทั่วไปมายื่นเสนอตัวเองได้ จะไม่มีการแสดงวิสัยทัศน์ โดยวันที่ 29 สิงหาคม จะลงมติทางลับให้เหลือ 5 คน ก่อนเสนอชื่อให้ คสช.คัดเลือกเหลือ 1 คน เป็น สปช.อุตรดิตถ์

"ขอยืนยันว่า กรรมการสรรหา สปช.อุตรดิตถ์ทั้ง 5 คน ไม่ได้ล็อกสเปก จะมีว่าที่ สปช.อุตรดิตถ์ 5 คนเป็นใครบ้าง รู้สึกเสียดายที่ พล.ท.จำลอง โพธิ์ทอง ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความสงบภายใน (กอ.รมน.) กองทัพภาคที่ 3 ไปสมัครที่ส่วนกลาง ตามหลักเกณฑ์เดิม พล.ท.จำลองเป็นคนที่ผมจะทาบทามให้มาสมัคร สปช.อุตรดิตถ์ แต่ พล.ท.จำลองต้องการเลี่ยงให้นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าฯอุตรดิตถ์มากกว่า" นายชัชกล่าว

มีรายงานว่า มีผู้เสนอตัวสรรหาเป็น สปช.อุตรดิตถ์แล้ว 1 รายคือ นายชลิต แก้วจินดา อดีต ส.ว. สรรหาปี"51 

ที่ จ.เชียงราย ตั้งแต่เปิดรับสมัครเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม มีผู้ยื่นเอกสารสมัครแล้ว 7 คน รวมทั้ง จ.สงขลา มีผู้เสนอชื่อ 5 ราย ส่วนที่ จ.พะเยา มีผู้ที่ยื่นใบสมัคร 3 ราย ประกอบด้วย นายวิจารณ์ ไชยนันทน์ อดีตผู้ว่าราชการจังหวัด 2.พล.ต.ต.ชูชัย ขุนคลังมีวน อดีต ผบก.ภ.จว.พะเยา และ 3.นายสุรเกียรติ เพชรประดับ อดีตนายกเทศมนตรี ตำบลแม่ใจ อ.แม่ใจ 

ที่ จ.พิจิตร มีผู้สมัครเพิ่ม 1 รายคือ พ.ต.อ.จำเริญ หวลธรรม ผกก.สภ.ปัว จ.น่าน ส่วน ที่ จ.ชัยนาท มียื่นเอกสารเพื่อร่วมสรรหาแล้ว 6 ราย อาทิ นายสนั่น ทองปาน นางจรรยา กลัดล้อม นายจำลอง โพธิ์สุข อดีต ผวจ.ชัยนาท และนายสาธิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดชัยนาท เป็นต้น 

@ ป.ป.ช.เสนอ"วิชา-สรรเสริญ"

เมื่อเวลา 08.50 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวถึงการเสนอตัวบุคคลเข้าสรรหาเป็น สปช.ว่า ป.ป.ช.ได้เสนอ 2 รายชื่อ ได้แก่ ด้านกฎหมาย เสนอนายวิชา มหาคุณ ส่วนด้านการเมือง เสนอ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช.

นายปานเทพยังกล่าวถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของ คสช.ว่า ต้องเป็นไปตามกฎหมายและประกาศของ ป.ป.ช. ประกาศดังกล่าวจะใช้ตามความจำเป็นและเหตุผล แต่ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นให้พิจารณา คสช.ยื่นบัญชีทรัพย์สิน ยกเว้นมีการเข้ารับตำแหน่งทางการเมืองในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

ด้านนายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการ ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์กรณี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) และหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ระบุ คสช.พร้อมแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ว่า กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า คสช.จะต้องยื่นแสดง ขึ้นอยู่กับเจ้าตัวที่ต้องการแสดงความบริสุทธิ์ใจสามารถทำได้ เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่รัฐอื่นๆ ที่ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องยื่น แต่กรณีนี้เมื่อมีการยื่นแสดงรายการ

บัญชีทรัพย์สิน แล้วคงจะไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน กฎหมายกำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และเจ้าหน้าที่รัฐตำแหน่งใดบ้างที่จะต้องยื่นและที่จะต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน

นายสรรเสริญกล่าวอีกว่า กรณี สปช.มีหน้าที่จะต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน ต่อ ป.ป.ช.หรือไม่นั้น ต้องไปดูแนวทางการปฏิบัติเก่าเพื่อนำมาเปรียบเทียบกัน โดยรอหารือกับสำนักงานเลขาธิการ สปช.ก่อน