วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8661 ข่าวสดรายวัน


ลุยชน'สนช.'ปปช.สั่งโชว์บัญชี 
บิ๊กตู่เลื่อนรายการคืนสุข หนีถ่ายสดแข่งวอลเลย์ หั่นทั้ง'56 รัฐวิสาหกิจ' สิทธิประโยชน์'บอร์ด'


"ลีน่า"แจม - นางลีนา จังจรรจา หัวหน้าพรรคมหาประชาชน เดินทางมาเสนอชื่อ ตนเองเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 14 ส.ค.

         'บิ๊กตู่' หลีกทางให้นักตบสาวไทย เลื่อนออกทีวีไปเป็นหลัง 2 ทุ่มวันนี้ ด้านมติป.ป.ช.ให้สนช.ยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อป.ป.ช. ให้ถือวันปฏิญาณตนคือ 8 ส.ค.เป็นวันยื่น และให้ประกาศเปิดเผยบัญชีพร้อมเอกสารประกอบ หากครบ 30 วันแล้วไม่ดำเนินการจะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปีเช่นเดียวกับส.ส.-ส.ว. ด้านสนช.ผ่านร่างข้อบังคับการประชุมตั้ง นายกฯ แล้วคาดวันที่ 21 ส.ค. ใช้เคาะชื่อ ได้ 'บิ๊กจิน'แย้มนั่งรมว.พลังงานไม่ใช่รมว.คมนาคมที่คาดไว้ มติคนร.ตัดสิทธิประโยชน์เหี้ยนบอร์ดรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เหลือเพียงเบี้ยประชุมและค่าตอบแทนรายเดือนเท่านั้น

สุรชัย ยันศุกร์นี้ไม่มีประชุมสนช.

      เมื่อเวลา 13.00 น.วันที่ 14 ส.ค. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตำแหน่งประธานและรองประธานสนช. ดังนั้น วันที่ 15 ส.ค.นี้จะไม่มีการประชุม สนช. เพราะถึงแม้จะมีการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมาวันเดียวกันนี้ ประธาน สนช.ก็ออกหนังสือเชิญประชุมไม่ทัน อีกทั้งจะกระชั้นชิดเกินไป เกรงว่าสมาชิกจะไม่พร้อม จึงทำให้ตารางเวลาการประชุมของ สนช.เพื่อพิจารณาเรื่องต่างๆ ต้องเลื่อนออกไป คาดว่า สนช.จะเปิดประชุมได้ในสัปดาห์หน้าประมาณวันที่ 18 ส.ค. ซึ่งทันทีที่เปิดประชุมได้วันแรกจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 พร้อมตั้งกรรมาธิการงบประมาณ กรรมาธิการยกร่างข้อบังคับ และการตั้งคณะกรรมการประสานงานกิจการ สนช. (วิป สนช.) และในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนส.ค. คาดว่าจะโหวตเลือกนายกฯ ได้ จากนั้นจะพิจารณากฎหมายสำคัญที่ต้องพิจารณาก่อนประมาณ 11 ฉบับ

ร่างข้อบังคับการประชุมเสร็จแล้ว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 13 ส.ค. ที่ผ่านมามีการประชุมพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พ.ศ.... โดยมีนายสุรชัยเป็นประธาน พร้อมนาย พีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธาน สนช. คน ที่ 2 และนางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สนช. พร้อมผู้บริหารสำนักงาน เข้าร่วมประชุม โดยสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภานำร่างข้อบังคับการประชุมสนช. พ.ศ.... ฉบับใหม่ที่นำข้อบังคับการประชุม สนช.ปี 2549 มาปรับปรุงเบื้องต้นตามมติที่ประชุมผู้บริหาร หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มีผลบังคับใช้ มาให้ที่ประชุมได้พิจารณา โดยใช้เวลาประชุม 30 นาที ทั้งนี้ ร่างข้อบังคับดังกล่าวจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.ในสัปดาห์หน้า เพื่อตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาข้อบังคับดังกล่าว ก่อนเสนอให้ที่ประชุม สนช.มีมติเห็นชอบ ต่อไป

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างข้อบังคับการประชุม สนช.ฉบับใหม่นี้มี 12 หมวดและมีบทเฉพาะกาล โดยมีจำนวน 169 ข้อเท่ากับฉบับเดิม แต่มีการแก้ไขถ้อยคำให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 เช่น เปลี่ยนคำว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ เป็นคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

คงกมธ. 21 คณะ-ลดเหลือ 11 คน

       สำหรับ การลงมติของ สนช.ในข้อบังคับ ที่ 60 จะเกี่ยวข้องและมีผลต่อการขาด สมาชิกภาพ สนช. ในกรณีต้องมีการลงมติ ให้ประธานขอให้ที่ประชุมมีสัญญาณให้สมาชิกทราบเพื่อแสดงตนก่อนลงมติ ได้ ยกร่างไว้ 3 แบบ ให้สนช.พิจารณา คือ แบบที่ 1 หากสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติใน ที่ประชุมสภา เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนครั้ง ที่ลงมติทั้งหมดในรอบเวลา 120 วัน ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลงตามมาตรา 9 (5) ของรัฐธรรมนูญ

       แบบที่ 2 หากสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติเกิน 1 ใน 4 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดต่อการประชุมครั้งหนึ่ง ให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง และแบบที่ 3 หากสมาชิกไม่แสดงตนเพื่อลงมติในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.หรือพ.ร.ก.เกิน 1 ใน 4 ของจำนวนครั้งที่มีการลงมติทั้งหมดต่อการประชุมครั้งหนึ่งให้สมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง

       ส่วนการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. กระทำกิจการ พิจารณาสอบสวน หรือศึกษาเรื่องใดๆ นั้น ยังคงมี 21 คณะ แต่ลดจำนวน กมธ.จากไม่เกิน 13 คน เป็นไม่เกิน 11 คน รวมทั้งยังให้มี กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่เกิน 35 คน นอกจากนี้ในการตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ. มีการเพิ่ม สัดส่วนของสปช. หรือผู้รักษาการตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้อง สามารถเสนอชื่อบุคคลเข้าเป็น กมธ.ได้ไม่เกิน 1 ใน 5 ของ กมธ.ทั้งหมด

เล็งโหวตตั้งนายกฯวันที่ 21 ส.ค.

       นอกจากนี้ ยังเพิ่มหมวด 7/1 เรื่องการเสนอและพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับขั้นตอนวิธีการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่ครม.และ คสช.มีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ได้ โดยได้ส่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อ สนช.ให้ความเห็นชอบ และยังเพิ่มหมวด 8/1 การพิจารณาให้ความเห็นชอบนายกฯ เป็นข้อบังคับที่ 150/1-150/4 โดยให้สมาชิกมีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ ได้ 1 ชื่อ ซึ่งบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภา จึงได้รับความเห็นชอบให้เป็นนายกฯ ส่วนการออกเสียงลงคะแนนด้วยวิธีเปิดเผยโดยให้เรียกชื่อสมาชิกตามลำดับตัวอักษรให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นรายคน แต่หากว่าไม่มีบุคคลใดได้คะแนนเห็นชอบมากกว่ากึ่งหนึ่งให้ลงคะแนนต่อ โดยผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดจะได้รับ แต่งตั้งเป็นนายกฯ 

       รายงานข่าวแจ้งว่า วันที่ 18 ส.ค. จะมีการประชุมสนช. มีวาระ 3 เรื่อง คือตั้ง กมธ.ยกร่างข้อบังคับ ตั้ง กมธ.กิจการสภา และพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 วาระแรก จากนั้นวันที่ 19 ส.ค. ที่ประชุม สนช.จะพิจารณาเห็นชอบยกร่างข้อบังคับการประชุม สนช.เป็น 3 วาระรวด ตามที่คณะทำงานเสนอร่างฯ ให้มีผลบังคับใช้วันที่ 20 ส.ค. เพื่อรองรับการให้ความเห็นชอบเสนอชื่อนายกฯ ในการประชุมวันที่ 21 ส.ค. พร้อมตั้ง กมธ.สรรหาสมาชิกเป็น กมธ.สามัญ ทั้ง 21 คณะด้วย

'พรเพชร'ไร้ปัญหาแสดงบัญชี

       ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธานสนช. กล่าวถึงป.ป.ช.มีมติให้สนช.แสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะว่า ไม่มีปัญหา สนช.ต้องปฏิบัติตามมติป.ป.ช. ตนก็พร้อมแสดงบัญชีทรัพย์สินอยู่แล้ว แต่มีข้อสงสัยส่วนตัวบางประการเกี่ยวกับเงื่อนเวลาการแสดงบัญชีของตนที่ยื่นเมื่อพ้นจากผู้ตรวจการแผ่นดินอยู่แล้ว จึงต้องสอบถามป.ป.ช.อีกครั้ง ส่วนสนช.คนใดที่สงสัยก็สอบถามจากป.ป.ช.ได้ ขณะที่สนช.ที่เป็นทหารก็ไม่มีใครพูดอะไร และเชื่อว่าไม่มีปัญหา ซึ่งถ้าดูตามรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญก็ต้องปฏิบัติตามที่ป.ป.ช.กำหนด 

        ด้านพล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการ ทหารบก ในฐานะสนช. กล่าวว่า ป.ป.ช.มีมติอย่างไรก็ว่าตามนั้น ทหารไม่มีข้อขัดข้อง พร้อมแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อสาธารณะอยู่แล้ว ทุกคนก็คิดแบบนี้ กฎหมายว่าอย่างไรเราต้องทำอย่างนั้น

กกต.พร้อมสอบคุณสมบัติสปช.

       เมื่อเวลา 07.30 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายบุณยเกียรติ รักชาติเจริญ รองเลขาธิการ กกต. เปิดเผยถึงการรับเสนอรายชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นวันแรกว่า ตามที่ คสช.มอบให้สำนักงาน กกต.เป็นฝ่ายเลขานุการของการสรรหาสปช. ขณะนี้เจ้าหน้าที่ กกต.มีความพร้อมเต็มที่ โดยกระบวนการสรรหานั้นจะใช้เวลาทั้งหมด 50 วัน แบ่งเป็นช่วงเวลาเปิดรับการเสนอชื่อ 20 วัน ช่วงตรวจสอบคุณสมบัติ 10 วัน และเมื่อตรวจสอบเสร็จสำนักงาน กกต.จะส่งรายชื่อให้คณะกรรมการสรรหา สปช. ที่ คสช.แต่งตั้งให้คัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมอย่างน้อยด้านละ 50 คน แล้วส่งให้ คสช.พิจารณาคัดเลือก ซึ่งสมาชิกทั้งหมด 11 ด้านจะต้องไม่เกิน 173 คน และเมื่อรวมกับการสรรหาแบบจังหวัดทั้ง 77 จังหวัด จังหวัดละ 1 คน จะได้ สปช.ในจำนวนไม่เกิน 250 คน เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมต่อไป 

        นายบุณยเกียรติกล่าวว่า การตรวจสอบคุณสมบัติต้องห้ามนอกจาก กกต.จะร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ แล้ว จะประชาสัมพันธ์แบบรายวันให้ข้อมูลแก่ประชาชนทราบว่ามีบุคคลใดเสนอชื่อเข้ามาบ้าง ส่วนการร้องเรียนคัดค้านบุคคลไม่ได้กำหนดในพ.ร.ฎ.ว่าด้วยการสรรหา สปช. จึงเป็นเรื่องที่ คสช.ต้องพิจารณา 

"อาณันย์-ลีน่า จัง"รุดสมัครทันที

        ด้านนายประวิช รัตนเพียร กกต.ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวว่า ยืนยันว่า กกต.พร้อมทำหน้าที่ด้วยความรอบคอบ โดยเฉพาะการตรวจสอบคุณสมบัติ ส่วนสำนักงาน กกต.จะหารือร่วมกันในวันที่ 20 ส.ค. เพื่อพิจารณาว่าจะเสนอ กกต.คนใดเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. แต่ส่วนตัวมองว่า กกต.ทั้ง 5 คนมีคุณสมบัติเหมาะสมทุกคนหรืออาจเป็นอดีต กกต. ขึ้นอยู่กับที่ประชุมจะเห็นชอบบุคคลใด แต่เห็นว่ายังไม่ใช่เรื่องรีบร้อน ขอทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการให้เต็มที่ก่อน 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นสำนักงาน กกต.เปิดให้องค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงกำไรเสนอชื่อบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. จนถึงวันที่ 2 ก.ย. ปรากฏว่า พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้มายื่นเอกสารเข้ารับการสรรหาเป็นคนแรก โดยเป็นตัวแทนของมูลนิธิคนไทยรักษ์แผ่นดินที่เสนอชื่อเข้ามาในด้านการปกครองท้องถิ่น โดยพ.ต.อาณันย์ระบุว่า ตนมาในฐานะตัวแทนมูลนิธิคนไทยรักษ์แผ่นดิน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคเพื่อไทย เพราะลาออกจากพรรคเมื่อวันที่ 26 พ.ค. สาเหตุที่มาเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.เพราะต้องการมีส่วนร่วมปฏิรูปประเทศ

       จากนั้นนางลีนา จังจรรจา หัวหน้าพรรคมหาประชาชน เสนอชื่อตนเองเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ด้านกฎหมายและกระบวน การยุติธรรม โดยกล่าวว่า ตั้งแต่ที่มีการยึดอำนาจและ คสช.ปิดสถานีโทรทัศน์ของตน ทำให้ไม่มีรายได้ จึงเข้ามาเป็น สปช.เพื่อให้มีเงินเดือนไปใช้หนี้ เชื่อว่าตนมีความรู้ความสามารถที่จะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูป 

"บรรจง-โหรเก่งกาจ"ก็โผล่

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศการเสนอชื่อ สปช.เป็นไปอย่างคึกคัก มีตัวแทนองค์กรนิติบุคคลทยอยเข้ามาเสนอชื่อโดยมีบุคคลที่มีชื่อเสียง อาทิ มูลนิธิเพื่อคุณธรรมเสนอชื่อนายบรรจง โซ๊ะมณี ในด้านการศึกษา มหา วิทยาลัยปทุมธานี เสนอชื่อนายศิวาวิทย์ สำเร็จผล อดีตที่ปรึกษากรรมาธิการกิจการองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ในด้านสังคม พรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า เสนอชื่อนายวิชิต ดิษฐประสพ หัวหน้าพรรค ในด้านการเมือง และมูลนิธิเก่งกาจโหราศาสตร์ เสนอชื่อนายเก่งกาจ จงใจพระ นักโหราศาสตร์ชื่อดัง ในด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม และยังคงมีมูลนิธิต่างๆ เดินทางเข้าเสนอชื่อบุคคลอย่างต่อเนื่อง

       เวลา 11.30 น. นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขา ธิการ กกต.แถลงว่า ในภาคเช้าของวันแรกบรรยากาศเรียบร้อย ไม่มีปัญหาอุปสรรค มีองค์กรนิติบุคคลเสนอชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาแล้วรวม 15 คนใน 11 ด้าน ถือว่าน่าพอใจ คิดว่าเจ้าหน้าที่เพียงพอแต่อาจจะเพิ่มในช่วง 5 วันสุดท้ายก่อนปิดรับการเสนอชื่อที่คาดว่าจะมีจำนวนมาก ส่วนต่างจังหวัดคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดได้เลือกผู้ว่าฯ เป็นประธานและได้รับรายงานว่า จ.มหาสาร คาม มีผู้ให้ความสนใจมาขอรับเอกสารจากสำนักงาน กกต.ประจำจังหวัดจำนวนมาก ขณะที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ทางผู้ว่าฯ ระบุว่าผู้ที่ได้รับการทาบทามจากคณะกรรมการจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ให้ทราบด้วย

ภุชงค์เผยสมัครทั้ง11ด้าน-72คน

        เมื่อเวลา 17.00 น. นายภุชงค์แถลงผลการเปิดรับการเสนอชื่อเป็นสปช. วันแรกว่า ข้อมูลเมื่อเวลา 17.00 น. พบว่ามีองค์กรนิติบุคคลเสนอรายชื่อบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสปช.ครบทั้ง 11 ด้าน รวม 29 คน แบ่งเป็นด้านการเมือง 5 คน ด้านบริหารราชการแผ่นดิน 2 คน ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม 2 คน ด้านการปกครองท้องถิ่น 2 คน ด้านการศึกษา 1 คน ด้านเศรษฐกิจ 1 คน ด้านพลังงาน 1 คน ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม 1 คน ด้านสื่อสารมวลชน 2 คน ด้านสังคม 7 คน และด้านอื่น 5 คน

        นายภุชงค์ กล่าวว่า ขณะที่ระดับจังหวัด มี 14 จังหวัดที่คณะกรรมการสรรหาเปิดให้บุคคลยื่นแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็นสปช. และมีผู้ยื่นเอกสารหลักฐานขอเข้ารับการสรรหารวม 43 คน ประกอบด้วย จ.กำแพงเพชร 3 คน จันทบุรี 2 คน ชัยนาท 2 คน ชัยภูมิ 1 คน เชียงราย 3 คน นครปฐม 2 คน นครสวรรค์ 7 คน พังงา 6 คน พิจิตร 1 คน เพชรบูรณ์ 1 คน มหาสารคาม 4 คน มุกดาหาร 2 คน ระนอง 2 คน สมุทรสงคราม 1 คน และหนองบัวลำภู 6 คน ดังนั้น เมื่อรวมการยื่นแสดงความจำนงเข้ารับการสรรหาทั้งส่วนกลางและภูมิภาคมีทั้งสิ้น 72 คน หลังจากนี้กกต.จะทยอยส่งรายชื่อไปยัง 15 หน่วยงานให้ตรวจสอบคุณสมบัติ และแจ้งไปยังคณะกรรมการสรรหาในแต่ละด้าน

พรรคใหญ่ยังไม่ส่งผู้สมัครสปช.

        นายภุชงค์ กล่าวว่า ส่วนการคัดเลือกบุคคลเป็นสปช.ของคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดนั้น กฎหมายเปิดกว้างให้คณะกรรมการฯ ใช้ได้หลายวิธีเพื่อให้ได้บุคคลที่เหมาะสม ทั้งการเปิดรับการเสนอชื่อและการทาบทาม โดยแต่ละจังหวัดเป็นอิสระต่อกัน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาคัดเลือกคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดอาจเลือกบุคคลที่ไปแจ้งความจำนง หรือบุคคลที่คณะกรรมการฯ ไปทาบทามเองก็ได้ แต่คณะกรรมการฯ ต้องคัดเลือกมา 5 คนเพื่อเสนอให้คสช. คัดเลือกเหลือ 1 คน 

        นายภุชงค์ กล่าวว่า ถึงขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานจากพรรคขนาดใหญ่ว่าจะเสนอบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. คิดว่าเมื่อคสช.เปิดกว้างให้ทุกพรรคมีส่วนช่วยปฏิรูปแล้ว แต่หากพรรคการเมืองไม่ประสงค์ก็ไม่เป็นไร ถือเป็นดุลยพินิจของพรรคนั้นๆ แต่ยังพรรคขนาดเล็กและขนาดกลางให้ความสนใจเข้าร่วมเสนอบุคคลเข้ารับการสรรหาแล้ว 5 พรรค

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ถูกเสนอชื่อเป็นสปช.วันแรก 11 คณะ ได้แก่ 1.ด้านการเมือง ได้แก่ นายวิชิต ดิษฐประสพ เสนอโดยพรรคชาติประชาธิปไตยก้าวหน้า นาย นราวิชญ์ ชะยะ เสนอโดยพรรคไทยรักธรรม นายทวีศักดิ์ อิ่มจิตต์ เสนอโดยสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ครูจังหวัดปราจีนบุรี นายสุรทิน พิจารณ์ เสนอโดยพรรคประชาธิปไตยใหม่ นายพูลเดช กรรณิการ์ เสนอโดยพรรคอนาคต

       2.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน นายคัมภีร์ ดิษฐากรณ์ เสนอโดยมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลามเพื่อการศึกษาและพัฒนา นายประมวล รุจนเสรี เสนอโดยมูลนิธิพ่อค้าไทย 3.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นางลีนา จังจรรจา เสนอโดยพรรคมหาประชาชน นายวัส ติงสมิตร เสนอโดยสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค 4.ด้านการปกครองท้องถิ่น พ.ต.อาณันย์ วัชรโรทัย เสนอโดยมูลนิธิไทยรักแผ่นดิน นายสรณะ เทพเนาว์ เสนอโดยสมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย

เสี่ยแพรนด้าฯ-เจ้าของสื่อสมัครด้วย

        5.ด้านการศึกษา นายบรรจง โซะมณี เสนอโดยมูลนิธิเพื่อคุณธรรม 6.ด้านเศรษฐกิจ นายปรีดา เตียสุวรรณ์ เสนอโดยมูลนิธิเครือข่ายธุรกิจเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม 7.ด้านพลังงาน นายวชิระ เปล่งปลั่ง เสนอโดยมูลนิธิสถาบันโลจิสติกส์แห่งเอเชีย 8.ด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม นายเก่งกาจ จงใจพระ เสนอโดยมูลนิธิเก่งกาจโหราศาสตร์ 9.ด้านสื่อมวลชน นายคิด จินดากุล เสนอโดยสมาคมสื่อสารมวลชนจังหวัดยโสธร นางประภา เหตระกูล ศรีนวลนัด เสนอโดยมูลนิธิสถาบันวิจัยบทบาทหญิงชายและการพัฒนา

        10.ด้านสังคม นายชัญปรวิชญ์ อิ่มใจ เสนอโดยพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า นางสุภาวดี บางใหญ่เทะมะ เสนอโดยสมาคมพลังแผ่นดินต้านภัย นางพิมพ์ศิริ ดุรงค์ฤทธิ์ชัย เสนอโดยมูลนิธิสงเคราะห์เด็กหญิงบ้านสระบุรี นาย วิสิทธิ์ ช่วยดู เสนอโดยอบต.โนนดินแดง นายณัฐกฤตย์ แก้วโสวัฒนะ เสนอโดยพรรคเพื่ออนาคต นายพิมาน บินตำมะหงง เสนอโดยมูลนิธิอิสลามศาสนูปถัมภ์ นายเสกสรร ประเสริฐ เสนอโดยมูลนิธิเบาะแส

       11.ด้านอื่นๆ นายยงยุทธ หมอยาดี เสนอโดยวัดร้อยไร่ นายสนธยา กาวิใจ เสนอโดยพรรคไทยรักธรรม นายนิรันดร์ นันทรกิจ เสนอโดยมูลนิธิมัจลิซุดีนี ว่าที่พ.ต.อาชร์ โครงกาพย์ เสนอโดยสมาคมสถาบันคุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้บริโภค นายสมมาต ขุนเศษฐ เสนอโดยสมาคมนายจ้างประกอบการเครื่องนุ่งห่มแห่งประเทศไทย

บรรยากาศตจว.ไม่ค่อยคึกคัก

       ขณะที่การเคลื่อนไหวของคณะกรรมการสรรหาสปช.ประจำจังหวัดต่างๆ นั้น บางจังหวัดจะใช้วิธีพิจารณาคัดเลือกตัวบุคคลที่เหมาะสมเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. ขณะที่บางจังหวัดเปิดให้ผู้สนใจเสนอรายชื่อเข้ารับการสรรหา จึงทำให้บรรยากาศโดยรวมในต่างจังหวัดค่อนข้างเงียบเหงา อาทิ ที่สำนักงาน กกต.จ.ศรีสะเกษ แม้เจ้าหน้าที่เตรียมพร้อมรับสมัครอย่างเต็มที่แต่ไม่มีผู้มายื่นใบสมัคร มีเพียงมาขอรับเอกสารประกาศการรับสมัครเพียง 3 รายเท่านั้น อาทิ ผู้แทนของนายณรงค์ ระฆังทอง อดีตผู้สมัครส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ นายอดิศักดิ์ มีชัยดำรงกิจ กรรมการธรรมา ภิบาล จ.ศรีสะเกษ และพล.ต.ต.พินิจ ศรีสรา นุกรม อดีตประธานกกต.ศรีสะเกษ 

        ส่วนที่จ.ขอนแก่นก็มาขอเอกสารไปศึกษาเท่านั้น อาทิ นายตุลย์ ประเสริฐศิลป์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นภาคพลเมืองจังหวัดขอนแก่น นายวัน สุวรรณพงษ์ ทนายความ อดีตส.ว.ขอนแก่น นายภราดร โพธิ์ศรี นายกสมาคมรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำพองเพื่อคุณภาพชีวิต นายบุญสนอง แก้วบ่อ กรรมการสมาคมรักษ์สิ่งแวดล้อมลุ่มแม่น้ำพองเพื่อคุณภาพชีวิต

เปิดร่างพรบ.งบฯ-8ยุทธศาสตร์

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขา ธิการสนช. ได้แจกจ่ายเอกสารและรายละเอียดร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2558 วงเงิน 2,575,000 ล้านบาท ให้สนช.นำไปศึกษาก่อนมีการ ประชุมสนช.เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ในสัปดาห์หน้า หลังมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมตำแหน่งประธานและรองประธานสนช. 

       สำหรับ เอกสารดังกล่าวระบุถึงยุทธศาสตร์การจัดทำงบประมาณและการคาดการณ์ทางเศรษฐกิจของไทย ดังนี้ 1.ยุทธศาสตร์การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานที่ดีของประเทศ 186,240.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 7.2 ของงบทั้งหมด 2.ยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งรัฐ 222,762.7 ล้านบาท หรือร้อยละ 8.6 ของงบทั้งหมด 3.ยุทธศาสตร์การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม 169,112.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.6 ของงบทั้งหมด 4.ยุทธศาสตร์การศึกษา สาธารณสุข คุณธรรม จริยธรรมและคุณภาพชีวิต 955,921 ล้านบาทหรือร้อยละ 37.1 ของงบทั้งหมด 

        5.ยุทธศาสตร์การจัดการทรัพยากร ธรรม ชาติและสิ่งแวดล้อม 135,121.8 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.2 ของงบทั้งหมด 6.ยุทธศาสตร์การพัฒนาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรม 24,741.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 1 ของงบทั้งหมด 7.ยุทธศาสตร์การต่างประเทศและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ 9,594.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.4 ของงบทั้งหมด 8.ยุทธ ศาสตร์การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี 354,484.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 13.8 ของงบทั้งหมด

ปปช.สรุปให้สนช.ยื่นทรัพย์สิน 

       ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. แถลงผลการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมหารือกรณีสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ในฐานะเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หารือว่าสนช.มีหน้าที่ยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินหรือไม่ โดยป.ป.ช. พิจารณาเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 บัญญัติให้สนช.ทำหน้าที่ส.ส. ส.ว.และทำหน้าที่รัฐสภา จึงเห็นว่าสนช.เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อยู่ในสถานะและทำหน้าที่เช่นเดียวกัน สนช.จึงต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช.ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 32 โดยยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ปฏิญาณตนเข้ารับตำแหน่งวันที่ 8 ส.ค. ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 7 ก.ย.นี้

ไม่ทำเจอตัดสิทธิ์ทางการเมือง5ปี

       นายสรรเสริญ กล่าวว่า กรณีสนช.ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ แล้วจะมีการเปิดเผยหรือไม่นั้น ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ประกอบกับพ.ร.บ. ว่าด้วยป.ป.ช. พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 กำหนดให้ต้องประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ ของส.ส.และส.ว. ดังนั้น ป.ป.ช.เห็นว่าเมื่อสนช.ปี 2557 ทำหน้าที่ส.ส. ส.ว. และมีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯต่อป.ป.ช.เช่นเดียวกับส.ส.และส.ว. จึงเห็นควรเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ และเอกสารประกอบของสมาชิกสนช. ต่อสาธารณชนตามมาตรา 35 แห่งพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. 

"ที่ประชุมป.ป.ช.มีมติ 3 ข้อคือ 1.กำหนดให้สนช.มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช. 2.การยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ ให้ถือเอาวันปฏิญาณตนคือ 8 ส.ค.เป็นวันยื่น และ 3.ให้ประกาศเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ พร้อมเอกสารประกอบ โดยป.ป.ช.จะกำหนดวันเปิดเผยอีกครั้ง แต่ไม่เกินวันที่ 7 ต.ค. 57 เป็นไปตามมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช." นายสรรเสริญ กล่าวและว่า หากครบ 30 วันแล้วสมาชิกสนช.ไม่ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช. จะมีความผิดเหมือนส.ส. และส.ว.คือถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 5 ปี

สปช.ยังไม่ชัดเจน-รอเคาะอีกที

เมื่อถามว่าสนช.บางส่วนถือครองหุ้นที่เป็นสัมปทานของรัฐ รัฐวิสาหกิจและสื่อสารมวลชน ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. สามารถทำได้หรือไม่ นายสรรเสริญกล่าวว่า สามารถถือครองหุ้นต่อไปได้โดยไม่ต้องโอนหรือเปลี่ยนมือ เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 มาตรา 41 คุ้มครองอยู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของป.ป.ช.จะไปให้ข้อมูลกับสนช.อีกครั้งที่รัฐสภา เพื่อทำความเข้าใจไม่ให้เกิดปัญหาในการยื่น ซึ่งจะนัดหมายกันอีกครั้งว่าเป็นวันใด

เลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช.กล่าวว่า ส่วนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เดิมไม่มีการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ เนื่องจากทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับสมัชชาปฏิรูปประเทศ ซึ่งไม่ได้ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ แต่ครั้งนี้ สปช.จะต้องยื่นหรือไม่นั้นยังไม่ชัดเจน ต้องรอให้ตั้งสปช.เรียบร้อยก่อนแล้วถ้ามีการหารือมาถึงป.ป.ช. จึงจะพิจารณาว่าจะต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯหรือไม่

นายสรรเสริญกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมพิจารณารายชื่อบุคคลที่จะเสนอเข้ารับการสรรหาเป็นสปช. เนื่องจากสำนักงานป.ป.ช.ในฐานะนิติบุคคลที่ไม่ได้แสวงหากำไร โดยที่ประชุมเห็นว่าสมควรเสนอรายชื่อบุคคล 2 คน และมีมติเสนอชื่อนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เข้ารับการสรรหาเป็นสปช. ในด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และเสนอชื่อนายสรรเสริญเข้ารับการสรรหาเป็นสปช.ในด้านการเมือง

"บิ๊กตู่"ประชุมซูเปอร์บอร์ด

เมื่อเวลา 13.00 น. ที่บก.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (ซูเปอร์บอร์ด) มีพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจมีความสำคัญทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ เพราะต้องสร้างความพึงพอใจให้กับประชาชน ผู้มีรายได้น้อยที่ได้รับผลประโยชน์จากกิจการรัฐวิสาหกิจทั้งข้าราชการ ประชาชน ผู้ถือหุ้น ประเด็นสำคัญคือรัฐวิสาหกิจต้องมุ่งสู่การบริการอย่างแท้จริง โดยการจัดระเบียบกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีกำไรเพื่อนำไปสนับสนุนงานด้านอื่นๆ ให้มากขึ้น เพื่อให้กลุ่มรัฐวิสาหกิจที่มีรายได้น้อยหรือขาดทุน สามารถเลี้ยงตัวเองได้เพื่อไม่ให้เกิดสภาวการณ์หยุดชะงัก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การให้บริการประชาชนนั้น ต้องทันเหตุการณ์และสภาวะโลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ในด้านเศรษฐกิจ ปลายปีหน้าเพื่อเชื่อมต่อกับการขนส่งการบริการสาธารณูปโภค ด้านพื้นฐาน พร้อมทั้งแผนการพัฒนาในทุกด้าน "ผมมุ่งหวังให้พวกเราเป็นหลัก อยากให้ทุกคนทำตามเจตนารมณ์ และนโยบายที่ผมวางไว้ คาดหวังว่าจะมีการ ขับเคลื่อนในทุกๆ รัฐวิสาหกิจ เพื่อดำเนินการต่อไป" 

คนร.ให้ 4 รัฐวิสาหกิจส่งแผนฟื้นฟู

นายกุลิศ สมบัติศิริ ผอ.สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมซูเปอร์บอร์ดหรือคนร. มีมติให้รัฐวิสาหกิจ 4 แห่งที่ส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ คนร.พิจารณา ประกอบด้วย บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศ ไทย (ธพว.) และธนาคารอิสลามแห่งประเทศ ไทย กลับไปตรวจสอบสถานะหนี้สินและทรัพย์สินขององค์กร รวมทั้งทรัพย์สินที่รอการรับโอนว่ามีเท่าใด มีอยู่จริงหรือไม่ โดยตรวจสอบให้เสร็จภายใน 3 เดือน ก่อนจะพิจารณาแก้ปัญหาขององค์กรตามแผนฟื้นฟูต่อไป

นายกุลิศกล่าวว่า ขณะที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังไม่ได้ส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ คนร.พิจารณา ซึ่งทั้ง 2 องค์กรจะต้องจ้างบริษัทที่ปรึกษามาตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สิน สถานะขององค์กรเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีมติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีแผนจัดหารถเมล์ใหม่มาแทนของเดิมแต่ยังมีผลขาดทุนอยู่ ให้ส่งแผนฟื้นฟูกิจการให้ คนร.พิจารณาเพิ่มเติมอีก 1 แห่ง รวมเป็น 7 แห่ง จากเดิมให้ส่งแผนฟื้นฟู 6 แห่ง ซึ่งการจะให้ผ่าตัดองค์กรก็ต้องตรวจสุขภาพก่อนว่าเป็นอย่างไร ถ้ายังไม่รู้ว่ามีหนี้สิน ทรัพย์สินหรือสินทรัพย์ที่ยังติดค้างรอโอนตามข้อพิพาททางกฎหมายอีกเท่าใดก็คงผ่าตัดไม่ได้

ตัดสิทธิประโยชน์เหี้ยนทั้ง56แห่ง

นายกุลิศกล่าวว่า ที่ประชุมยังพิจารณาเรื่องการปรับลดสิทธิประโยชน์ของกรรมการรัฐวิสาหกิจบางแห่งที่เสนอปรับลดสิทธิประโยชน์ของตัวเอง เช่น การบินไทย ขอยกเลิกใช้สิทธิ์ตั๋วฟรี รวมทั้งการตัดเรื่องค่ารับรองออก ซึ่งที่ประชุมเห็นว่าควรให้ทั้งรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง ตัดสิทธิประโยชน์ออกให้เหมือนกัน เหลือเฉพาะค่าเบี้ยประชุมกับค่าตอบแทนรายเดือนเท่านั้น

นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคนร.พิจารณาเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ระหว่างปี 2557 ของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง โดย คนร.ได้กำหนดหลักการและแนวทางการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบฯ ลงทุนระหว่างปีของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้ 1.การทำโครงการใหม่จะต้องสอดคล้องกับนโยบายและภารกิจหน้าที่ ความพร้อมดำเนินงานและความจำเป็นเร่งด่วน 2.การปรับเพิ่มงบฯ ลงทุนจากรายการเดิม จะพิจารณากรณีผูกพันสัญญาแล้วหรือเริ่มกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างแล้ว 3.การปรับลดงบประมาณ จะพิจารณาให้สำหรับการประหยัดงบประมาณ ผลกระทบจากปัจจัยภายนอก หรือไม่จำเป็นแล้วหรือซ้ำซ้อนกับรายการอื่นๆ

นายรังสรรค์กล่าวว่า จากการพิจารณาข้อเสนอของรัฐวิสาหกิจ 10 แห่ง คนร.เห็นชอบให้ปรับลดวงเงินเบิกจ่ายจาก 54,100 ล้านบาท เป็น 46,333 บ้านบาท หรือปรับลด 7,767 ล้านบาท พร้อมทั้งเร่งรัดให้รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หากมีการเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมงบฯ ลงทุนระหว่างปี ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เป็นผู้พิจารณางบฯ ลงทุนต่อไป

"บิ๊กจิน"แย้มนั่งรมว.พลังงาน

พล.อ.อ.ประจินเปิดเผยว่า ตนแจ้งขอลาออกจากประธานบอร์ดและกรรมการบริษัท การบิน ไทย จำกัด (มหาชน) มีผลตั้งแต่วันที่ 20 ส.ค. นี้ และบอร์ดได้แต่งตั้งนายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน รักษาการประธานบอร์ดการบินไทยแทนจนกว่าจะแต่งตั้งประธานบอร์ดคนใหม่ และแต่งตั้ง พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เป็นรองประธาน ให้มีผลวันที่ 14 ส.ค.นี้

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เหตุผลที่ยื่นลาออกเนื่องจากต้องรับผิดชอบและกำกับดูแลงานด้านรัฐวิสาหกิจและเสนอแนวทางปรับแก้ไขปัญหา และขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการปรับปรุงโครง สร้าง ตลอดจนกำหนดกฎกติกาให้กับรัฐวิสาห กิจ จึงจำเป็นต้องออกมาอยู่ข้างนอก และตนเป็นกรรมการในซูเปอร์บอร์ด มีหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ทำให้มีเวลาดูแลการบิน ไทยได้น้อยลง เพราะต้องดูแลรัฐวิสาหกิจอื่นๆ ด้วย "ส่วนหนึ่งที่ผมเป็นประธานบอร์ดการบินไทย เพื่อขับเคลื่อนแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยให้เข้มแข็งได้อีกครั้ง และขณะนี้แผนเริ่มชัดเจนแล้วและดำเนินการงานได้"

เมื่อถามว่าลาออกเพื่อเตรียมไปรับตำแหน่งในคณะรัฐมนตรีหรือไม่ พล.อ.ประจินกล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องตำแหน่ง ครม. ส่วนที่มีข่าวจะมาเป็นรมว.คมนาคมนั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า เท่าที่ทราบน่าจะเป็นกระทรวงพลังงาน เพราะมีงานสำคัญและประเด็นน่าสนใจกว่า แต่ก็ไม่แน่ เพราะบางทีปากกับใจอาจไม่ตรงกัน

ศาลทหารสั่งจำคุก 3ด.-ต้านปฏิวัติ

เฟซบุ๊กเพจข่าวบีบีซีไทย อ้างข้อมูลจากกลุ่มทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า วันที่ 14 ส.ค. ศาลทหารจ.เชียงรายได้อ่านคำพิพากษาคดีที่ถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนกฎอัยการศึกที่ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน คดีนี้นับเป็นคดีแรกที่ศาลทหารมีคำพิพากษาแล้วสำหรับกรณีพลเรือนที่ประท้วงการยึดอำนาจและถูกจับนำตัวขึ้นศาลทหาร

จำเลยในคดีนี้คือนายสราวุทธิ์ ถูกตัดสินจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษลงกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 3 เดือน ปรับ 5,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องให้ศาลรอการลงโทษ เพราะมีครอบครัวต้องเลี้ยงดู และได้แนบหนังสือรับรองความประพฤติจากผู้ใหญ่บ้านที่รับรองที่อยู่ การประกอบอาชีพที่สุจริต มีความประพฤติดี และไม่เคยต้องโทษจำคุกมาก่อน ศาลจึงให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 1 ปี

จากข้อมูลของกลุ่มไอลอว์เกี่ยวกับคดีนี้ระบุว่า จำเลยมีร้านขายของในเชียงราย และรณรงค์เคลื่อนไหวผ่านทางอินเตอร์เน็ต เคยร่วมกับกลุ่มที่ฟ้องร้องนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ว่าปราศรัยปลุกระดมให้ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย หลังมีรัฐประหาร ได้ออกไปชูป้ายประท้วงตามสถานที่ต่างๆ หลายแห่งในเมือง ต่อมามีเจ้าหน้าที่ทหารไปตามหาตัวที่บ้าน เมื่อไม่พบก็ประกาศเรียกตัว นายสราวุทธิ์ถูกจับและกักตัวไว้นาน 7 วัน จากนั้นทหารได้ส่งตัวให้ตำรวจเพื่อให้ดำเนินคดี ถูกขังต่ออีก 13 วัน ก่อนยื่นขอประกันตัว พร้อมโพสต์ในเฟซบุ๊กว่าจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

แม้วส่งทนายฟ้อง-กล่าวหาล้มเจ้า

วันเดียวกัน นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความผู้รับมอบอำนาจจากพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เปิดเผยว่า พ.ต.ท.ทักษิณมอบอำนาจให้ตนแจ้งความดำเนินคดีกับสำนักข่าวออนไลน์แห่งหนึ่ง ที่ใช้ภาพและข้อมูลบิดเบือนข้อเท็จจริง รายงานข่าวโจมตีพ.ต.ท.ทักษิณเป็นเครือข่ายล้มเจ้า เผยแพร่เมื่อวันที่ 6 ส.ค. และวันที่ 9 ส.ค. โดยภาพที่ปรากฏในข่าวเป็นภาพเก่า พ.ต.ท.ทักษิณไม่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำของผู้ใดที่กล่าวหาว่าหมิ่นเบื้องสูง และเป็นเรื่องปกติที่อดีต นายกฯ ซึ่งเป็นบุคคลสาธารณะจะมีคนมาขอถ่ายรูปด้วย ทั้งที่ข้อเท็จจริงแล้วพ.ต.ท.ทักษิณคือผู้มีความจงรักภักดีต่อสภาบัน ดังนั้น ตนจะแจ้งความดำเนินคดีอาญากับสำนักข่าวออนไลน์ดังกล่าว ฐานหมิ่นประมาทและพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในสัปดาห์หน้า

"การกระทำใดของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่าย่อมเป็นการกระทำของแต่ละบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ ไม่เกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ และขอเรียกร้องขบวนการทำลายพ.ต.ท.ทักษิณว่าขอให้เลิกพฤติกรรมเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ เพื่อมากล่าวหาว่าเป็นขบวนการล้มเจ้าด้วย" นายวิญญัติกล่าว

คสช.ตั้งกก.แก้ปัญหาพุทธศาสนา

เมื่อเวลา 20.45 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ลงนามในคำสั่ง คสช.ที่ 115/2557 เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาทางพระพุทธศาสนา เพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนา คสช. จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและแก้ปัญหาทางพระพุทธศาสนา โดยมีกรรมการ 10 คน ประกอบด้วย รองหัวหน้า คสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นประธาน ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน ปลัดกระทรวงยุติธรรม ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ปลัดกระทรวงวัฒน ธรรม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผบ.ตร. อธิบดีกรมประชา สัมพันธ์ ปลัดกทม. เป็นกรรมการ และ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ

โดยมีอำนาจหน้าที่เสนอแนะนโยบาย มาตรการและแนวทางดำเนินการแก้ไขปัญหาพระพุทธศาสนา อำนวยการกำกับดูแลติดตามผลแก้ไขปัญหาทางพระพุทธศาสนา พิจารณาเห็นชอบแผนงานโครงการและมาตรการที่เกี่ยวข้อง และกำหนดหลักเกณฑ์เงื่อนไขป้องกันแก้ไขก่อนเสนอค่อคสช. รวมทั้งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการต่างๆ ปฏิบัติหน้าที่ตามที่หัวหน้า คสช.มอบหมาย ทั้งนี้ คณะกรรมการสามารถยกเลิกและปรับปรุงองค์ประกอบตามอำนาจหน้าที่ได้ตามความเหมาะสม

ทุ่ม6.7หมื่นล.พัฒนาคมนาคม

วันที่ 14 ส.ค. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับกระทรวงคมนาคมเกี่ยวกับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ.2558-2565 ว่า ที่ประชุมอนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินโครงการเร่งด่วนปี 2558 จำนวน 67,110.11 ล้านบาท โดยครอบคลุมทุกโครงการทั้งทางถนน ทางบก รางน้ำ และอากาศ โดยโครงการเร่งด่วน มีทั้งของกรมทางหลวง (ทล.) กรมทางหลวงชนบท (ทช.) การก่อสร้างท่าเรือในแม่น้ำ การขยายท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ปรับปรุงท่าอากาศยานดอนเมือง และท่าอากาศยานภูมิภาค

พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ส่วนงบประมาณเร่งด่วนที่กระทรวงคมนาคมเสนอขอเพิ่มเติม 5,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อเขตเศรษฐกิจพิเศษตามด่านชายแดนนั้น ต้องขอแปรญัตติเนื่องจากมีงบประมาณจำกัด หากได้มาก็จะใช้ในงบประมาณปี 2558 ส่วนการพิจารณารายละเอียดยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะ 8 ปี ให้ไปทบทวนแผนแม่บทใหม่ เพราะต้องปรับโครงข่ายคมนาคมใหม่เพื่อให้เชื่อมต่อกันได้ครอบคลุมมากขึ้น โครงการและงบประมาณที่ใช้ดำเนินการทั้งหมดจะเป็นเท่าไรจะมีการประชุมร่วมกันอีก 2 ครั้ง โดยครั้งหน้าจะเป็นช่วงสิ้นเดือนส.ค.นี้ สำหรับรถไฟทางคู่รางมาตรฐาน 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-นครราชสีมา-มาบตาพุดนั้น ให้ไปศึกษาผลกระทบเรื่องการเวนคืนที่ดินเพิ่มเติม อาจต้องปรับที่ตั้งสถานีใหม่ โดยใช้แนวเส้นทางเดิมและนำผลการศึกษาเดิมมาประกอบการพิจารณาด้วย 

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ ร.ฟ.ท.ดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ 2 เส้น คือ 1.เส้นทางชุมทางจิระ-ขอนแก่น และ 2.เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ส่วนอีก 3 เส้นทางเร่งด่วนยังไม่ได้ ต้องเสนอในครั้งต่อไป และอีก 1 เส้นทางใหม่ คือ ประจวบคีรีขันธ์-หัวหิน จะเสนอของบศึกษาและออกแบบในปี 2558

บิ๊กตู่หลีกทาง-ถ่ายสดวอลเลย์

วันที่ 14 ส.ค. พ.อ.ชาญวิทย์ อรรถธีระพงษ์ หัวหน้าส่วนปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ ฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการแทนหัวหน้าฝ่ายกิจการพลเรือน ส่วนงานการรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการ คสช. ทำหนังสือด่วนที่สุด ที่ คสช.(สลธ) 1.5/180 ลงวันที่ 12 ส.ค. ถึงประธานโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เรื่องขออนุญาตถ่ายทอดสดการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง FIVB World Grand Prix 2014 โดยในหนังสือระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้เลื่อนเวลาออกอากาศรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" จากเดิมเวลา 17.00 น. เป็นเวลา 20.15 น. ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การแข่งขันวอลเลย์บอลหญิง FIVB World Grand Prix 2014 ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ทีมชาติไทยจะลงแข่งขันกับโดมินิกัน เวลา 16.00 น. ที่อินดอร์สเตเดียม หัวหมาก

ยกฟ้อง11คตส.-ปมที่ดินรัชดา

วันที่ 14 ส.ค. ศาลอาญา นัดฟังคำสั่งศาลฎีกาในคดีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ มอบอำนาจให้นายบุญเฉียว ดุษฎี เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และคณะกรรมการ รวม 11 คน ในฐานความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด 

จากกรณีนายนามพร้อมพวก ในฐานะประธานและกรรมการ คตส. มีมติชี้มูลความผิดพ.ต.ท.ทักษิณ ว่าทุจริตจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาภิเษก ทำให้พ.ต.ท.ทักษิณต้องตกเป็นจำเลยในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องโทษจำคุกและถูกริบทรัพย์สินมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท เป็นการกลั่นแกล้งทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ได้พิพากษายกฟ้องไปก่อนหน้านี้ โดยระบุว่าคดีนี้ไม่อยู่ในอำนาจของศาล เนื่องจากกฎหมายได้บัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น

ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมแล้วเห็นว่า ที่โจทก์ฎีกาว่าคดีนี้ยื่นฟ้องก่อนที่พ.ร.บ.แก้ไข เพิ่มเติม ประกาศของคณะปฎิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข (คปค.) จะบังคับใช้นั้น ศาลเห็นว่าการแก้ไขเพิ่มเติมที่ให้ คตส. มีอำนาจเสมือน ป.ป.ช. ในการฟ้องร้องดำเนินคดี เป็นเรื่องการกำหนดเกี่ยวกับวิธีการแต่ไม่ใช่การแก้กฎหมายของสารบัญญัติ ดังนั้นเมื่อมี พ.ร.บ.มีการประกาศใช้ ก็มีผลบังคับใช้ทันที ประกอบกับคดีนี้ ไม่อยู่ในอำนาจของศาล เนื่องจากกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลฎีกาฯ เท่านั้น ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ ให้ยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การฟังคำสั่งวันนี้พ.ต.ท.ทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ส่งผู้แทนมาฟังคำพิพากษา ส่วนจำเลยทั้ง 11 คน ไม่ได้ส่งตัวแทนมาฟังคำพิพากษา ซึ่งคดีดังกล่าวเป็นการยกฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเท่านั้น

มะกันจี้ไทยคืนปชต.-เลือกตั้ง

วันที่ 14 ส.ค. เอเอฟพีรายงานว่า นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวหลังเสร็จสิ้นภารกิจหารือกับรัฐบาลประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงอัฟกานิสถาน ออสเตรเลีย และพม่า ที่ศูนย์อีสต์-เวสต์ เมืองโฮโนลูลู รัฐฮาวายของสหรัฐ โดยเรียกร้องให้ไทย จีน และประเทศต่างๆ ในเอเชียส่งเสริมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นสิ่งที่สหรัฐให้ความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ 

นายแคร์รีกล่าวว่า การผลักดันด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนของเอเชียเป็นจุดประสงค์หลักของรัฐบาลสหรัฐ นอกเหนือจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ การปฏิรูปพลังงาน การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และความร่วมมือทางความมั่นคง สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนและความเป็นประชาธิปไตยในเอเชียเริ่มมีท่าทีที่ดีขึ้น แต่บางประเทศกลับถอยหลังเข้าสู่วิกฤต อาทิ ไทย ซึ่งรัฐบาลทหารยึดอำนาจเมื่อเดือนพ.ค.

นายแคร์รีกล่าวว่า ไทยเป็นพันธมิตรและเพื่อนสนิทของสหรัฐ เรารู้สึกกังวลใจกับความเสื่อมถอยของระบอบประชาธิปไตย และหวังว่าสถานการณ์นี้จะเป็นเพียงหนทางขรุขระ ที่ไทยต้องเผชิญหน้าแค่ชั่วคราว สหรัฐขอเรียกร้องให้ทางการไทยยกเลิกข้อบังคับควบคุมกิจกรรมทางการเมือง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น สิทธิพลเรือน รวมถึงกลับ เข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว ผ่านการเลือกตั้งที่เป็นอิสระและยุติธรรม