วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8658 ข่าวสดรายวัน

ปูช็อปปิ้ง โชว์ตัวหลังกลับไทย '
พรเพชร'นัด 2 รองปธ. ถกกรอบโหวตนายกฯ สนช.อิดออด'เปิดเซฟ'ลุ้น 14 สค.-ปปช.ลงมติ ชพน.จ่อส่งสมัครสปช.


ช็อปปิ้ง - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินช็อปปิ้งที่ห้างโลตัส สาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา หลังจากบินกลับจากต่างประเทศเมื่อค่ำวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา มีประชาชนขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันอย่างคึกคัก ตามข่าว

    'ปู'เดินห้าง-ช็อปปิ้ง โชว์ตัวหลังกลับถึงไทยเผยตั้งใจพาลูกไปพักผ่อน ขอบคุณทุกคนที่ห่วง ยันไม่ไปไหนเพราะผูกพันประเทศไทย ด้านคสช.ไม่ไล่บี้ออกนอกเส้นทาง แต่เก็บไว้เป็นข้อมูลพิจารณาครั้งหน้า ชาติพัฒนาพร้อมส่งคนร่วมสภาปฏิรูป ถาวรยังอู้อี้ กปปส.ส่งตัวแทนนั่งสปช. "พรเพชร"เร่งถกกรอบโหวตนายกฯ เลขาฯป.ป.ช.ชี้ สนช.ก็ควรยื่นแสดงทรัพย์สิน ด้านสนช.อิดออดเปิดเซฟโชว์
'ปู'กลับไทย-เดินจ่ายตลาด
     เมื่อวันที่ 11 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หลังเดินทางกลับจากการพักผ่อนกับด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือน้องไปป์ บุตรชาย ที่ต่างประเทศ โดยเดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำมาลงที่สนามบินดอนเมือง เมื่อกลางดึกวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา ได้เดินทางมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ที่ห้างสรรพสินค้าโลตัส เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา
     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และจับจ่ายซื้อของประเภทอาหารแห้ง เครื่องกระป๋องและอาหารสดจำนวนหนึ่ง โดยระหว่างที่เดินซื้อของอยู่นั้น มีประชาชนที่มาจับจ่ายสินค้าได้เข้ามาขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก และบางคนบอกว่า ขอให้กำลังใจอดีตนายกฯสู้ๆ ซึ่งน.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ยิ้มรับแต่ไม่ได้ตอบอะไร ทั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใช้เวลาเดินซื้อสินค้า 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับบ้านพักในซอยโยธินพัฒนา 3

เผยเดินทางมาตามกำหนดที่แจ้ง
     น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ไม่ได้ซื้อของที่เมืองไทยนานแล้ว ที่ซื้อวันนี้จะเก็บไว้ใช้ในครัว รวมถึงจะเอาไว้ทำบุญด้วย ส่วนเช้าวันเดียวกัน น้องไปป์ ลูกชายได้ให้ของขวัญวันแม่แล้ว
     น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวอีกว่า คงไม่ต้องรายงานต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าตนได้กลับมาแล้ว เพราะได้แจ้งว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งตนรักษากำหนดการเดิมทุกอย่าง 
     เมื่อถามว่าที่ผ่านมาเกิดข่าวลือตลอดว่าจะไม่เดินทางกลับ น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวยิ้มๆ ว่า ทุกฝ่ายอาจเป็นห่วงแต่ครั้งนี้ตั้งใจไปพักผ่อนจริงๆ เกือบ 3 ปีที่ผ่านมาไม่มีเวลาให้บุตรชาย ก็ให้เวลากับลูกโดยไปต่างประเทศ 
     "น้องไปป์เขาใกล้เปิดเทอมแล้ว มีโอกาสก็ไปพักผ่อนและสังสรรค์กับพี่น้อง ขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความเป็นห่วง จริงๆ แล้วส่วนตัวเราจะอยู่อย่างไร เราจะทำอะไร เรามีความผูกพันกับประเทศไทย เราคงไม่ไปไหน" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

คสช.จดบัญชีออกนอกเส้นทาง
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากอดีตนายกฯกลับถึงประเทศไทย เมื่อเวลา 22.00 น.ของวันที่ 10 ส.ค. ได้พักผ่อนเป็นการส่วนตัวในบ้านพักซอยโยธินพัฒนา 3 กับน้องไปป์ โดยช่วงสายได้ไปซื้อของใช้ก่อนที่ช่วงบ่ายพาบุตรชายรับประทานอาหารกลางวันเป็นการส่วนตัวและเช้าวันที่ 12 ส.ค.ซึ่งเป็นวันแม่แห่งชาติ อดีตนายกฯจะไปลงนามถวายพระพรชัยมงคลสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวันแม่แห่งชาติ
      แหล่งข่าวจาก คสช. กล่าวว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ต้องมาแสดงตัวหรือรายงานตัวต่อคสช. เพราะเดินทางกลับตามกำหนดการที่ขออนุญาตกับคสช.ไว้ตามปกติ ส่วนที่มีภาพถ่ายร่วมกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯในร้านอาหารประเทศสิงคโปร์ ซึ่งออกนอกเส้นทางตามที่แจ้งขออนุญาตไว้กับคสช.นั้น คสช.คงไม่ไปไล่บี้ แต่จะเป็นข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณาครั้งต่อไป หากมีการขออนุญาตเดินทางออกนอกประเทศอีกในครั้งหน้า

พีระศักดิ์ชี้ 18-22 ส.ค.เลือกนายกฯ
      ที่รัฐสภา นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการเตรียมการพิจารณาเรื่องสำคัญในการประชุม สนช.ว่า เรื่องเร่งด่วนที่จะพิจารณาคือการเลือกนายกฯ ส่วนเรื่องสำคัญที่เป็นข้อกฎหมาย คือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ พ.ศ.2558 คาดว่าประธานและรองประธานสนช.จะนัดหารือกันในวันที่ 13 ส.ค. ถึงการพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุม สนช.และการเลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกฯ หากมีนายกฯเร็ว ฝ่ายบริหารทำงานได้คล่องตัวมากขึ้น ขณะที่งบประมาณก็สำคัญแต่ยังไม่ได้จัดลำดับกฎหมายที่จะพิจารณา ซึ่งจะทยอยพิจารณาร่างกฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของคสช.แล้ว โดยสนช.จะจัดลำดับเรื่องเข้ามาพิจารณาต่อไป
      นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนวิธีเสนอชื่อนายกฯและการลงมติเลือกนั้น จะกำหนดไว้ในข้อบังคับการประชุม สนช. ซึ่งเป็นไปได้ที่จะปรับใช้วิธีเลือกประธานสนช. ในการเลือกนายกฯ ส่วนจะปรับอย่างไรหรือใช้รูปแบบใดนั้นจะพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งในที่ประชุมร่วมของประธานและรองประธาน และที่ประชุม สนช. เบื้องต้นอาจเรียกประชุม สนช.เพื่อพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมในวันที่ 15 ส.ค.นี้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการเสนอชื่อและลงมติเลือก นายกฯในสัปดาห์ถัดไป จึงเป็นไปได้ว่าจะได้ชื่อนายกฯในช่วงวันที่ 18-22 ส.ค.นี้ คงต้องรีบดำเนินการโดยเร็วเพื่อให้การบริหารบ้านเมืองเดินหน้าได้ เชื่อว่าคงมีการเสนอชื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เป็นนายกฯแน่นอน คงไม่มีการเสนอชื่อบุคคลอื่น

พรเพชร ยังไม่ชี้วันไหนโหวต
     นายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 ระบุ สนช.จะโหวตเลือกนายกฯวันที่ 21-22 ส.ค.นี้ว่า ยังไม่สามารถบอกกรอบเวลาชัดเจน ต้องรอโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมประธานและรองประธาน สนช.ก่อน รวมถึงต้องคุยนอกรอบกับรองประธาน สนช.ในเรื่องกรอบเวลาการทำงาน ทั้งนี้หากโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมลงมา เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนคือการพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 ส่วนการจัดคิวพิจารณากฎหมายต่างๆ ใน สนช.นั้น จะเร่งตั้งกรรมาธิการกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือวิป สนช. มาพิจารณากลั่นกรองกฎหมายและเรื่องต่างๆ ตามลำดับความสำคัญ ส่งให้ สนช.พิจารณา แต่ช่วงที่ยังไม่มีวิป สนช. ตนจะใช้ดุลพินิจจัดคิวพิจารณากฎหมายสำคัญไปก่อน
     พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ สนช. กล่าวถึงการทำงานของ สนช.ว่า ยังมีกฎหมายที่ค้างอยู่ในการพิจารณาสภาจำนวนมาก และมีกฎหมายที่จะนำมาพิจารณาใหม่ ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วน ตนเห็นควรตั้งคณะกรรมการขึ้นมาผลักดันกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ ยืนยันว่าเราคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก จึงต้องศึกษากฎหมายให้มากที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในฐานะ สนช. และคิดว่าต้องมีวิป สนช.เพื่อให้การทำงานเป็นเอกภาพ และจำเป็นต้องมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญเช่นกันเพราะจะเป็นผลดีมากกว่า เนื่องจาก สนช.ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จะได้ผลักดันงานในสิ่งที่ตนถนัดได้ ส่วนจะสัมฤทธิ์หรือไม่ ต้องให้เวลาเป็นเรื่องพิสูจน์

'ศิษฐวัชร'หนุน'บิ๊กตู่'นายกฯ
     พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีตส.ว.สรรหา ในฐานะสนช. กล่าวถึงกระบวน การทำงานของ สนช.ว่า เรื่องเร่งด่วนที่ สนช.ต้องดำเนินการคือ การผลักดันร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 ให้บรรลุผลก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้นจัดทำระเบียบข้อบังคับการประชุม สนช.ขึ้นใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ถัดมาก็พิจารณาผลักดันกฎหมายต่างๆ ทั้งการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายที่ค้างอยู่ในสภากว่า 400 ฉบับต่อไป
     พล.ร.อ.ศิษฐวัชรกล่าวอีกว่า สนช.ควรมีกมธ.กิจการ สนช.ขึ้นมาเหมือนที่วุฒิสภามีกมธ.กิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) ไม่ควรยกเลิก ขณะที่กมธ.สามัญ ก็ควรมีเช่นกัน เพราะทั้ง 2 องค์ประกอบนี้จะส่งผลดีต่อการทำงานของ สนช. เช่น หากที่ประชุม สนช.จะพิจารณาผ่านพ.ร.บ.งบประมาณ โดยให้ที่ประชุมเร่งพิจารณาให้เสร็จ 3 วาระในวันเดียวกัน วิปจะมีหน้าที่สำคัญในการกำหนดบทบาทส่วนนี้ หรือหากจะเลื่อนการพิจารณากฎหมายฉบับใดหากไม่มีวิปแล้ว สนช.จะดำเนินการอย่างไร อย่างไรก็ตาม คิดว่าพล.อ.ประยุทธ์ เหมาะสมทุกประการที่จะดำรงตำแหน่งนายกฯ

ปปช.ชี้สนช.ควรโชว์ทรัพย์สิน
     นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินของ สนช. ว่า เบื้องต้นเห็นว่า สนช.ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน ถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2549 ก็ต้องปฏิบัติตามนั้น แม้พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติฉบับปัจจุบันระบุว่าผู้ที่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน คือส.ส.และส.ว. แต่ต้องเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2549 โดย สนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 30 วันหลังรับตำแหน่ง และจะมีเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ไปทำความเข้าใจให้ สนช.ทราบถึงรายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สิน 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินของ สนช.นั้น เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันมาก เนื่องจากมี สนช.หลายคนเห็นว่าไม่ควรยื่น เพราะเกรงจะติดขัดปัญหาเรื่องการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่ระบุกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้น มาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งใน คสช. สนช. สปช. กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา ทั้งนี้ วันที่ 14 ส.ค.นี้ ป.ป.ช.จะนำเรื่องการพิจารณายื่นบัญชีทรัพย์สินของ สนช.เสนอต่อที่ประชุมป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อลงมติในเรื่องดังกล่าว

เล็งเสนออดีตผู้ตรวจฯร่วมสปช.
     รายงานข่าวจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แจ้งว่า ขณะนี้กสม.ยังไม่ได้หารือว่าจะส่งกรรมการเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หรือไม่ คาดว่าวันที่ 13 ส.ค.นี้ หากกสม.มีประชุมจะนำเรื่องนี้เข้าหารือด้วย ซึ่งกสม.ส่วนหนึ่งเห็นว่าน่าจะเสนอรายชื่อ ส่วนอีกด้านที่เห็นว่าไม่ควรเสนอชื่อ เนื่องจากยังไม่มีความแน่นอนว่าในตัวรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะยังคงองค์กรอิสระไว้เท่าเดิมหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ทั้งนี้เป็นไปได้ว่าในที่ประชุมอาจต้องใช้เสียงข้างมากว่าจะเสนอชื่อเป็นสปช.หรือไม่
      นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่าควรเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็นสปช. ซึ่งสำนักงานมีแนวทางว่าน่าจะเสนอชื่อผู้ที่เคยเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เพราะบุคคลเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์การทำงานที่เชี่ยวชาญ สามารถสะท้อนปัญหาต่างๆได้ อาทิ นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินคนแรกของไทย นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการฯ และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตประธานผู้ตรวจการฯ คาดว่าที่ประชุมผู้ตรวจการฯ จะพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 13 ส.ค.นี้ หากที่ประชุมเห็นชอบในแนวทางของสำนักงานจะได้มีเวลาทาบทามอดีตผู้ตรวจการฯ เข้ารับการเสนอชื่อต่อไป

ชาติพัฒนาพร้อมร่วมสภาปฏิรูป
        นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขปัญหาของประเทศเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นการแสวงหาทางออกร่วมกันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความสงบเรียบร้อยและเจริญก้าวหน้า พรรคพร้อมร่วมแสดงความคิดเห็นและเสนอข้อเสนอแนะสำหรับการปฏิรูปในแง่มุมต่างๆ ช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา พรรคมีนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปอยู่แล้ว 
       "เวลานี้ถือเป็นช่วงสำคัญที่เราทุกคนควรร่วมกันแสดงความคิดเห็นให้ประเทศเดินไปข้างหน้า ช่วยกันระดมความคิด สะท้อนสภาพปัญหาทั้งระบบของประเทศชาติให้ได้รับการแก้ไขในระยะยาว ไม่เดินกลับมาสู่วังวนของปัญหาเดิมๆ อีก ทุกฝ่ายจึงควรเข้าไปสะท้อนปัญหาและเสนอแนะแนวทางแก้ไข เพื่อช่วยเหลือประเทศชาติได้อย่างตรงจุดที่สุด ทั้งนี้ พรรคจะพิจารณาเสนอตัวบุคคลรับการสรรหาให้ทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติต่อไป" โฆษกพรรคชาติพัฒนากล่าว

ถาวรอู้อี้"กปปส."นั่งสปช.
     นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคยืนยันตามคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ว่าจะไม่ส่งสมาชิกร่วมเป็นสปช. เพราะสถานการณ์ขณะนี้พรรคการเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว และถือเป็นการแสดงความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่มีต่อประชาชนด้วย ส่วนที่พรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติพัฒนาระบุจะส่งตัวแทนเข้ารับสมัครเป็นสปช.นั้น ก็เป็นสิทธิ์ที่ทำได้ เบื้องต้นพรรคได้เสนอหลักการปฏิรูปประเทศต่อคสช.ไปแล้ว และหวังว่าการปฏิรูปจะเอาจริงเอาจังกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย ส่วนพรรคคง ปฏิบัติหน้าที่เท่าที่กฎหมายอนุญาตให้ทำได้ 
    ด้านนายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำกปปส. กล่าวถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกสปช.ว่า ยังตอบไม่ได้ เพราะหากตอบไปแล้วอาจกดดันเพื่อนสมาชิกคนอื่น และกระบวนการรับสมัคร สปช.ยังอยู่ระหว่างขั้นตอนสรรหา ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีใครบ้างได้เข้าไปทำงานปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม กปปส.ได้เสนอแนวทางปฏิรูปให้กับคสช. ไปแล้ว 6 ด้าน ขอขอบคุณ คสช.ที่รับข้อเสนอดังกล่าวไป และขอให้ คสช.นำไปพิจารณาในการทำงานปฏิรูปประเทศด้วย

ช้อปห้างสยบข่าวลือ 'ปู'ลั่นไม่หนี คสช.เตือนบินนอกเส้นทาง ปปช.ยันสนช.ต้องยื่นบัญชี ลุ้นตั้ง'วิปสภา'จัดคิวถกกม. ปู่ชัย-บิ๊กเยิ้มสมัครชิงปฏิรูป

     'ยิ่งลักษณ์'เดินช้อปปิ้งโชว์ตัวสยบข่าว ยันไปพักผ่อนต่างประเทศไม่คิดหนี 'พรเพชร' หนุนตั้งวิป สนช.ช่วยพิจารณาไล่ลำดับความสำคัญของงาน ป.ป.ช.นัดประชุมหามติปม สนช.ยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน

ช้อปปิ้ง - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เพิ่งเดินทางกลับจากการไปพักผ่อนต่างประเทศ เลือกซื้อสินค้าที่ห้างเทสโก้โลตัส สาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา ใกล้บ้านพัก โดยมีประชาชนเข้ามาขอถ่ายรูปด้วยจำนวนมาก เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม

@ "ปู"ช้อปปิ้ง-แฟนคลับขอถ่ายรูป

    เมื่อเวลา 10.10 น. วันที่ 11 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมคนสนิทได้ใช้เวลาส่วนตัว ออกมาเลือกซื้อข้าวของที่ห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส สาขาเลียบทางด่วนรามอินทรา ใกล้บ้านพัก โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส จับจ่ายซื้อของประเภทอาหารแห้ง เครื่องกระป๋อง และอาหารสดจำนวนหนึ่ง พร้อมกล่าวกับผู้สื่อข่าวที่ติดตามการทำข่าวว่า "ไม่ได้ซื้อของที่เมืองไทยนานแล้ว ที่ซื้อวันนี้ก็จะเก็บไว้ใช้ในครัว รวมถึงจะเอาไว้ทำบุญ" ทั้งนี้ ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินเลือกซื้อของ ได้มีประชาชนที่พบเห็นเข้ามาขอถ่ายรูปเป็นระยะ บางคนกล่าวให้กำลังใจอดีตนายกฯ ให้สู้ๆ ซึ่ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยิ้มรับ แต่ไม่ได้ตอบอะไร โดยใช้เวลาเดินซื้อสินค้าประมาณ 1 ชั่วโมง ก่อนเดินทางกลับบ้านพัก 

     สำหรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์เพิ่งเดินทางกลับจากพักผ่อนส่วนตัวและหาสถานที่เรียนต่อให้กับ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ในต่างประเทศ ด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ตั้งแต่ช่วงกลางดึกคืนวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา

@ ตั้งใจไปพักผ่อน-ไม่หนีไปไหน

   จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ใหสัมภาษณ์กรณีขออนุญาตคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปต่างประเทศ เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อเดินทางกลับจำเป็นต้องรายงานต่อ คสช.หรือไม่ ว่า คงไม่ต้องไปรายงาน คสช.ว่าได้กลับมาแล้ว เพราะได้แจ้งว่าจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 10 สิงหาคม ก็รักษากำหนดการเดิมทุกอย่าง 

   ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ผ่านมาเกิดข่าวลือตลอดว่าจะไม่เดินทางกลับประเทศไทย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จริงๆ แล้ว ทุกฝ่ายอาจจะเป็นห่วง แต่ครั้งนี้ตั้งใจไปพักผ่อนจริงๆ เกือบ 3 ปีที่ผ่านมา ไม่มีเวลาให้บุตรชาย ก็ให้เวลากับลูกไปต่างประเทศ เพราะเขาใกล้เปิดเทอมแล้ว มีโอกาสไปพักผ่อนและสังสรรค์กับพี่ๆ น้องๆ "ขอบคุณประชาชนที่ให้ความเป็นห่วง จริงๆ แล้วส่วนตัวเราจะอยู่อย่างไร เราจะทำอะไร เราก็มีความผูกพันกับประเทศไทย เราคงไม่ไปไหนหรอก" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

    แหล่งข่าวจาก คสช.ให้ความเห็นต่อกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางกลับมาจากต่างประเทศว่า ไม่ต้องมาแสดงตัวหรือรายงานตัวต่อ คสช. เพราะเป็นการเดินทางกลับมาตามกำหนดที่ได้ขออนุญาตไว้ ส่วนกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ถ่ายรูปร่วมกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในร้านอาหารแห่งหนึ่งที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งเป็นการเดินทางออกนอกเส้นทาง มิได้มีการแจ้งไว้ตั้งแต่แรกนั้น ทาง คสช.คงไม่ไปไล่บี้หรือตรวจสอบ แต่จะเก็บไว้เป็นข้อมูลให้คณะกรรมการพิจารณา หากมีการขอเดินทางไปต่างประเทศอีกในครั้งหน้า

@ "พรเพชร"เร่งตั้ง"วิปสนช."

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธาน สนช. กล่าวกรณีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 ระบุว่า สนช.จะโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 21-22 สิงหาคมนี้ ว่า ขณะนี้ยังบอกถึงกรอบเวลาการเลือกตัวนายกรัฐมนตรีไม่ได้ชัดเจน ต้องรอให้โปรดเกล้าฯประธานและรองประธาน สนช.ลงมาก่อน แต่คงมีการคุยนอกรอบกับว่าที่รองประธาน สนช.เรื่องกรอบเวลาการทำงานเรื่องต่างๆ ไว้บ้าง เรื่องเร่งด่วนที่ต้องทำก่อนคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ส่วนการจัดพิจารณากฎหมายต่างๆ ใน สนช.นั้น จะเร่งตั้งกรรมาธิการกิจการ สนช. (วิป สนช.) มาทำหน้าที่พิจารณา กลั่นกรอง เสนอกฎหมายและเรื่องต่างๆ ตามลำดับความสำคัญส่งให้ สนช.พิจารณา แต่ในช่วงที่ยังไม่มีการตั้งวิป สนช. ตนคงต้องใช้ดุลพินิจไปก่อนว่า จะจัดพิจารณากฎหมายสำคัญอย่างไร

@ "น้องบิ๊กป้อม"หนุนตั้งวิป-คงกมธ.

    พล.ร.อ.ศิษฐวัชร วงษ์สุวรรณ อดีต ส.ว.สรรหา ในฐานะ สนช. กล่าวถึงกระบวนการทำงานของ สนช.ว่า เรื่องเร่งด่วนที่ สนช.ต้องดำเนินการ คือ การผลักดันร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ให้บรรลุผลก่อนเป็นลำดับแรก จากนั้น จำเป็นต้องมีการจัดทำระเบียบข้อบังคับการประชุม สนช.ขึ้นมาใหม่ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และถัดมาเป็นการพิจารณาผลักดันกฎหมายต่างๆ ทั้งการแก้ไขและเพิ่มเติมกฎหมายที่ค้างกว่า 400 ฉบับต่อไป 

    "ผมคิดเห็นว่าควรมีคณะกรรมาธิการ (กมธ.) กิจการ สนช.ขึ้นมา เหมือนกับที่วุฒิสภามีคณะ กมธ.กิจการวุฒิสภา ไม่ควรยกเลิก ขณะที่ คณะ กมธ.สามัญ ก็ควรจะมีเช่นเดียวกัน เพราะทั้ง 2 องค์ประกอบนี้จะส่งผลดีต่อการทำงานของ สนช. ยกตัวอย่างง่ายๆ หาก สนช.พิจารณาผ่านกฎหมายงบประมาณประจำปี โดยให้ที่ประชุมเร่งพิจารณาให้เสร็จ 3 วาระในวันเดียวกัน วิป สนช.จะมีหน้าที่สำคัญในการกำหนดบทบาทในส่วนนี้ ขณะเดียวกัน หากจะเลื่อนการพิจารณากฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งขึ้นมา หากไม่มีวิปแล้ว สนช.จะดำเนินการอย่างไร" พล.ร.อ.ศิษฐวัชรกล่าว

   พล.ร.อ.ศิษฐวัชรกล่าวว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ส่วนตัวคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีความเหมาะสมมากที่สุด ระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาควบคุมอำนาจและบริหารประเทศได้วางโรดแมป 3 ระยะไว้ ถือเป็นการทำสัญญาประชาคมที่ต้องปฏิบัติส่งผลให้การบริหารจัดการประเทศมีประสิทธิภาพ 

@ "บิ๊กหนุ่ย"พร้อมดันกม.สำคัญ 

   พล.ร.อ.พลวัฒน์ สิโรดม รองปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะ สนช. กล่าวว่า ยังมีกฎหมายที่ค้างอยู่และกฎหมายที่ถูกนำมาพิจารณาใหม่ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ควรทำ ขณะเดียวกัน เห็นควรตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งเพื่อผลักดันกฎหมายต่างๆ เหล่านี้ ตนเป็นนักการทหารไม่ได้เติบโตมาจากนักกฎหมาย จึงต้องศึกษาเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจ 

   "ผมเติบโตในราชการทหาร มีอายุราชการมากกว่า 37 ปี จากการรับราชการมา เราคำนึงถึงผลกระโยชน์ของชาติเป็นหลัก จึงต้องศึกษากฎหมายให้มากที่สุดเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในฐานะ สนช.ให้ได้มากที่สุด" พล.ร.อ.พลวัฒน์กล่าว และว่า ส่วนประเด็นเรื่องจะมีวิป สนช.หรือไม่นั้น คิดว่า จำเป็นต้องมีเพื่อให้การทำงานของ สนช.เป็นเอกภาพ ขณะที่การตั้ง กมธ.สามัญ จำเป็นต้องมีเช่นเดียวกัน จะเป็นผลดีมากกว่า เนื่องจาก สมาชิก สนช.มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ จะได้ทำงานผลักดันงานในสิ่งที่ตนถนัดได้ จะสัมฤทธิผลหรือไม่คงต้องให้เวลาเป็นเรื่องพิสูจน์

@ เผยสนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน

     นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวกรณี ป.ป.ช.เตรียมจะพิจารณาว่าสมาชิก สนช. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ว่า เบื้องต้นเห็นว่า สนช.ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน ถือเป็นประเพณีปฏิบัติมาเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 ก็ต้องเป็นแนวทางปฏิบัติตามนั้น แม้ว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ระบุว่าผู้ที่ต้องยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สิน คือ ส.ส. และ ส.ว. แต่ต้องเทียบเคียงกับรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 โดย สนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินภายใน 30 วันหลังเข้ารับตำแหน่ง จะมีเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ไปทำความเข้าใจให้ สนช.ทราบถึงรายละเอียดการยื่นบัญชีทรัพย์สิน 

    ก่อนหน้านี้ นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช.เคยให้สัมภาษณ์ว่าการประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา มีการหารือกรณีสมาชิก สนช.ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช.หรือไม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่ได้ระบุเรื่องนี้ไว้ แต่การประชุมไม่ครบองค์จึงเลื่อนการพิจารณาไปเป็นวันที่ 14 สิงหาคม และเมื่อมีการเทียบกับประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2549 สมาชิก สนช.ขณะนั้นต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. แต่ไม่เปิดเผยต่อสาธารณชน 

@ งัดม.41ขึ้นมาง้าง-ไม่ต้องยื่น

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินของ สนช. กำลังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างมากในกลุ่มสมาชิก สนช. มี สนช.หลายคนให้ความเห็นว่าไม่ควรยื่น เพราะเกรงว่าจะติดขัดปัญหาเรื่องการถือครองหุ้นในรัฐวิสาหกิจ โดยอ้างมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ระบุว่า "ในกรณีที่มีบทบัญญัติกฎหมายใดกำหนดคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามในการดำรงตำแหน่งทางการเมือง มิให้นำบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นมาใช้บังคับแก่ผู้ซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ข้าราชการการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการรัฐสภา"

    สำหรับ การประชุมของ ป.ป.ช.ในวันที่ 14 สิงหาคม จะนำเรื่องการพิจารณายื่นบัญชีทรัพย์สินของ สนช.เสนอต่อที่ประชุม ป.ป.ช.ชุดใหญ่ เพื่อให้ลงมติถึงความชัดเจนในเรื่องดังกล่าว

@ สนง.ผู้ตรวจการพร้อมเสนอ

    นายเฉลิมศักดิ์ จันทรทิม เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงองค์กรนิติบุคคลสามารถเสนอชื่อบุคคลเข้าสู่กระบวนการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ทางสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้หารือเห็นว่าควรเสนอชื่อบุคคลเข้าสู่การสรรหา เนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นองค์กรนิติบุคคลที่มีส่วนในการปฏิรูปกฎหมาย รับผิดชอบในด้านจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จึงน่าจะเสนอชื่อผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งเป็นผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าบุคคลเหล่านี้มีความรู้และประสบการณ์การทำงานที่เชี่ยวชาญ น่าจะสะท้อนปัญหาต่างๆ ได้ อาทิ นายพิเชต สุนทรพิพิธ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาคนแรกของประเทศไทย เคยเป็นอดีต ส.ว.แบบสรรหาในปี 2551 และ 2554, นายพูลทรัพย์ ปิยะอนันต์ อดีตผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภาปี 2545-2551 และนายปราโมทย์ โชติมงคล อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดินปี 2553 เป็นต้น อย่างไรก็ตาม คาดว่าที่ประชุมผู้ตรวจการแผ่นดินน่าจะมีการพิจารณาเรื่องนี้ในวันที่ 13 สิงหาคม หากที่ประชุมเห็นชอบในแนวทางของสำนักงานจะได้มีเวลาทาบทามอดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อเข้ารับการเสนอชื่อต่อไป

@ "อนุทิน"ดัน"ปู่ชัย"เต็มที่

    นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กล่าวว่า ในฐานะเป็นหัวหน้าพรรคจะเสนอชื่อ นายชัย ชิดชอบ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ภท. เป็น สปช. เพราะเป็นผู้มีอาวุโสและมากด้วยประสบการณ์ ผ่านมาทุกยุคทุกสมัย ทั้งยุคสว่าง ยุคมืด ที่ผ่านมารับมือการทำ หน้าที่ประธานรัฐสภาได้อย่างดี และการเสนอครั้งนี้ เป็นการเสนอตามสิทธิ เมื่อ คสช.ให้สิทธิ ภท.ก็ต้องมีส่วนรวม เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีถูกไม่มีผิด ยืนยันว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นเรื่องของบ้านเมือง โดยจะเสนอชื่อนายชัยเพียงชื่อเดียวเท่านั้น

    ด้านนายชัยกล่าวว่า หากพรรคเสนอชื่อก็พร้อมทำหน้าที่ ผ่านประสบการณ์มามาก หากได้รับมอบหมายก็ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ทำไม่ได้ แต่เมื่อเสนอไปแล้วก็ใช่ว่าจะได้เป็นเลย เพราะต้องอยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ว่าจะเลือกหรือไม่ ช่วงนี้สุขภาพแข็งแรงดี ไม่ได้เจ็บปวดอะไร หากได้รับเลือกก็พร้อมทำหน้าที่

@ ชพ.ร่วมสปช.เล็งส่ง"บิ๊กเยิ้ม"คัมแบ๊ก

   นายชลิตรัตน์ จันทรุเบกษา โฆษกพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ได้เข้าสู่ขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ เป็นการแสวงหาทางออกร่วมกันให้ประเทศเดินไปข้างหน้าได้ด้วยความสงบเรียบร้อย ชพ.พร้อมเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงความคิดเห็นและเสนอแนะการปฏิรูป ตั้งแต่ช่วงของการเลือกตั้งที่ผ่านมา ชพ.มีนโยบายสนับสนุนการปฏิรูปอยู่แล้ว ชพ.พร้อมพิจารณาเสนอตัวบุคคลเพื่อรับการสรรหาให้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ต่อไป

    ผู้สื่อข่าว รายงานว่า มีความเป็นไปได้ที่ ชพ.อาจส่ง พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร เข้าร่วมการสรรหาเป็น สปช.ภายหลังลาออกจากการเป็น สนช. เนื่องจากขาดคุณสมบัติ

@ "ปชป."ยืนกรานไม่ร่วมปฏิรูป

   นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าคณะทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ปชป.ยืนยันตามคำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคว่าจะไม่ส่งสมาชิก เข้าร่วมการสรรหาเป็น สปช. สถานการณ์ขณะนี้พรรคการเมืองไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยว เป็นการแสดงความรับผิดชอบของพรรคการเมืองที่มีต่อประชาชนด้วย ส่วนพรรคการเมือง อาทิ พรรคภูมิใจไทย (ภท.) ที่จะส่งตัวแทนเข้ารับสมัครเป็น สนช.นั้น ก็เป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ เบื้องต้น ปชป.ได้เสนอหลักการในการปฏิรูปประเทศต่อ คสช.ไปแล้ว หวังว่าจะเอาจริงกับการกวาดล้างการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย 

@ กปปส.แทงกั๊ก-นปช.ปัดร่วม

   นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ยังตอบไม่ได้ว่า กปปส.จะส่งคนเข้าร่วมการสรรหาเป็น สปช.หรือไม่ หากตอบไปแล้วอาจกดดันเพื่อนสมาชิก แต่ในส่วน กปปส.ได้เสนอแนวทางในการปฏิรูปให้ คสช.ไปแล้ว 6 ด้าน จึงขอให้นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาในการทำงานปฏิรูปประเทศด้วย 

    นางธิดา ถาวรเศรษฐ ที่ปรึกษากลุ่ม นปช. กล่าวด้วยว่า ขอยืนยันจุดยืนของ นปช.ว่าได้แลกเปลี่ยนความคิดกันอยู่ว่าคงไม่เข้าร่วมการสรรหา สปช. แต่ถ้ามาถามข้อเสนอแนวปฏิรูป นปช.ก็จะคุยให้ฟัง จะนำเสนอข้อเสนอที่เคยเสนอให้กับรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดคือเมื่อมีการปฏิรูปแล้ว เป้าหมายขบวนการปกครองคืออะไร ถ้าตรงกันคือต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย ไม่ใช่การปฏิรูปแล้วสุดท้ายนี่เป็นการเมืองระบอบอะไร ข้อแตกต่างของ นปช.หลายคนพูดออกมาชัดเจนคือต้องการการเมืองที่มีลักษณะประชาธิปไตยแบบสากล ไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบไทยๆ 

@ ชลบุรีดัน"ประชา"เป็นตัวแทน

    ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของการสรรหา สปช. ในส่วนของทั้ง 67 จังหวัด ที่ทางคณะกรรมการสรรหาประจำจังหวัดจะเสนอชื่อบุคคลที่ควรได้รับการแต่งตั้งจังหวัดละ 5 คน ให้ทางผู้ที่ได้รับมอบหมายตรวจสอบคุณสมบัติก่อนยื่นส่งให้ คสช.พิจารณาคัดเลือกเหลือจังหวัดละ 1 คน รวมเป็น สปช.จังหวัด 67 คนนั้น 

    ที่ จ.ชลบุรี พบว่ามีกลุ่มผู้สนับสนุนพยายามผลักดันนายประชา เตรัตน์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย แต่มีกระแสข่าวว่าอาจมีชื่อนายประชาอยู่ในโผการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ ทำให้ต้องรอดูสถานการณ์ 

    ด้านนายสรัลชา ศรีชลวัฒนา อดีตเลขานุการสภาทนายความ กล่าวว่า เนื่องจากมีการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับ สปช.น้อยมาก ทำให้ทนายความขาดความสนใจเข้าไปมีส่วนร่วม บางคนยังไม่เข้าใจว่าจะเข้าไปมีบทบาทได้อย่างไร ทั้งที่อาชีพทนายความสมควรเข้าไปใน สปช. เพื่อมีบทบาทในการร่างกฎหมาย ตนเคยสมัครสมาชิก สสร.ปี 40 สมัยนั้นมีผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งกันมาก เพราะมีการประชาสัมพันธ์ทั่วถึง ทำให้หลายคนให้ความสนใจ ปีนั้นนายคณิน บุญสุวรรณ ได้เป็นตัวแทน ส.ส.ร.ของ จ.ชลบุรี

@ ลำปางนัดถกก่อนร่วมสรรหา

ที่ จ.ลำปาง นายสุคนธ์ เรือนสอน ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กต.) ประจำจังหวัดลำปาง หนึ่งในคณะกรรมการสรรหา สปช. เปิดเผยว่า ก่อนที่จะเริ่มการสรรหา สปช. ระหว่างวันที่ 14 สิงหาคม-2 กันยายนนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดลำปาง ได้เชิญคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัด ทั้งนายธานินทร์ สุภาแสน ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นางสุนี สมมี นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ลำปาง ตลอดจนภาคเอกชนและผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดเข้าร่วมประชุมในวันที่ 13 สิงหาคม ที่สำนักงาน กกต.ลำปาง เพื่อหารือ ทบทวนกรอบ แนวทางหลักเกณฑ์การสรรหา และคัดสรรผู้เข้าตา เพื่อทำงานให้บ้านเมืองในลำดับต่อไป 

       "มีหลายฝ่ายมาก โดยเฉพาะสื่อมวลชนสอบถามเข้ามาว่าจะเชิญใครเข้าร่วมการสรรหาบ้าง เรื่องนี้ยังตอบไม่ได้ ต้องถึงวันที่จะสรรหา ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด รวมถึงคณะกรรมการสรรหาต่างมีชื่ออยู่ในใจแล้ว ทั้งนี้ ชาวลำปางให้ความสนใจต่อเรื่องนี้มาก ถือเป็นตำแหน่งที่จะเข้าไปทำงานให้บ้านเมืองแทนพี่น้องประชาชน ต่างสนใจว่าใครจะได้รับการพิจารณาให้เป็น สปช.ลำปาง" นายสุคนธ์กล่าว

@ นปช.เชียงใหม่อยากลุ้นบ้าง

    ด.ต.พิชิต ตามูล แกนนำ นปช.แดงเชียงใหม่ เผยว่า ได้ทาบทามนายองอาจ ตันธนสิน แกนนำ นปช.แดงเชียงใหม่ เข้ารับการสรรหาเป็น สปช.เชียงใหม่ เนื่องจากมีคุณสมบัติเหมาะสม จบมหาบัณฑิตรัฐศาสตร์ สนใจด้านการเมือง ทำงานกับมวลชนมานาน แต่ไม่เคยดำรงตำแหน่งทางการเมือง น่าจะเป็นตัวแทนของภาคประชาชนได้

    ด้านนายองอาจกล่าวว่า ยังไม่ตัดสินใจ ขอดูหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหาก่อน ส่วนตัวสนใจเป็น สปช.ระดับจังหวัด เพราะต้องการปฏิรูปประเทศ มีแนวคิดเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง แยกอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการชัดเจน แต่ยอมรับโอกาสได้คงยาก เพราะการสรรหาขั้นตอนสุดท้ายอยู่ที่ คสช.พิจารณา ซึ่งตนเคยถูกคำสั่ง คสช.เรียกรายงานตัวที่กรุงเทพฯ มาแล้ว

@ พ่อตา"เนวิน"ปัดหลังถูกทาบ

    ผู้สื่อข่าวได้สอบถามนายคะแนน สุภา ประธานบริษัท เชียงใหม่คอนสตรัคชั่น จำกัด ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ภาคเหนือ หรือพ่อตาของนายเนวิน ชิดชอบ อดีตแกนนำพรรคภูมิใจไทย บอกว่าไม่ลงสรรหา เพราะอายุมากแล้ว และปฏิเสธผู้ที่มาทาบทามเป็น สปช.จังหวัดแล้ว ส่วนตัวไม่ยุ่งการเมือง ขออยู่อย่างสงบและทำธุรกิจอย่างเดียว

     ด้าน นพ.ไกร ดาบธรรม อดีต ส.ส.เชียงใหม่ เคยได้รับคะแนนเลือกตั้งสูงเป็นอันดับ 1 ภาคเหนือ ปฏิเสธไม่ลงสรรหา เพราะมีโอกาสน้อย รอเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่จะเหมาะสมกว่า เช่นเดียวกับนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เลขานุการสภาการศึกษาทางเลือก และเป็นแกนนำภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่มหานคร เผยจะไม่ลงสรรหา และก็ไม่มีใครขอสนับสนุนเป็น สปช.จังหวัดแต่อย่างใด

@ อดีตเลขาฯปชป.ยังไม่ขยับ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีกระแสข่าวความเคลื่อนไหวของนักการเมืองในพรรคใหญ่ โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทย (พท.) และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่อาจมีนักการเมืองบางส่วนออกมาตั้งพรรคใหม่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพราะมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการสลายพรรคใหญ่ให้เป็นพรรคขนาดกลาง ให้เกิดการตั้งรัฐบาลเป็นรัฐบาลผสม ไม่ให้เกิดปรากฏการณ์เสียงข้างมากในสภาอย่างที่ผ่านมา เช่นกรณีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่เป็นต้นตอให้เกิดปัญหาอย่างเช่นที่ผ่านมามีผู้ที่อยู่ระหว่างตัดสินใจตั้งพรรค อาทิ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีตเลขาธิการ ปชป. 

      นายเฉลิมชัยกล่าวถึงกระแสข่าวว่า ขณะนี้นักการเมืองทุกคนคงไม่มีใครขยับอะไร เพราะ คสช.ให้ช่วงการเมืองพักผ่อนก่อน และ 3-4 ปีที่ผ่านมาตนทำงานหนักมาตลอดไม่ได้พัก จึงขอใช้ช่วงเวลานี้พักผ่อน ส่วนเรื่องการเมืองต้องดูว่าคณะกรรมการปฏิรูปแห่งชาติจะเขียนกติกาอย่างไร นักการเมืองรู้อยู่แล้วว่าทุกอย่างจะเริ่มปีหน้าหรือต้นปี 2559 อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าหากมีรัฐบาลชั่วคราวมาแล้วทุกอย่างจะผ่อนคลายขึ้น ทุกอย่างจะเริ่มต้นใหม่