สุรชัย จัดคิวสนช.ประชุม งบ 15 สค. โหวตนายก 21-22 สิงหา พร้อมใจเชียร์'ประยุทธ์' 'สปช.'คึกเล็งสมัครอื้อ'มท.'ส่ง 2 ชื่อร่วมปฏิรูป กริชสุดา-คสช.โต้กันนัว

 

มติชนออนไลน์ :

ถกงบฯ 15 ส.ค. ก่อนโหวตเลือกนายกฯ 21 สิงหาฯ สนช.จัดคิวประชุม รอง ปธ.-40 ส.ว.ประสานเสียงหนุน'บิ๊กตู่' ชี้เหมาะสม 'บิ๊กต๊อก'ย้ำ'ประยุทธ์'นั่งควบ 2 ตำแหน่ง

@ พีระศักดิ์ถกปธ.เลือกนายกฯ

เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม นายพีระศักดิ์ พอจิต ว่าที่รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการประชุม สนช.เพื่อลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีว่า วันที่ 13 สิงหาคม ตนกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ว่าที่ประธาน สนช.และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่รองประธานคนที่ 1 จะหารือกันถึงรายชื่อนายกรัฐมนตรีและข้อบังคับต่างๆ ที่ใช้ในการเปิดประชุม สนช.ครั้งต่อไป 

"ขั้นตอนการเลือกนายกรัฐมนตรี เป็นไปตามข้อบังคับตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 คือมอบหมายให้ประธาน สนช.นำรายชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" นายพีระศักดิ์กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่าในสถานการณ์ปัจจุบันคิดว่าใครจะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนรี นายพีระศักดิ์กล่าวว่า คงไม่มีใครเหมาะสมเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อีกแล้ว เพราะตลอดเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา คสช.เข้ามาแก้ไขพร้อมทั้งปลดล็อกประเทศไปได้หลายส่วน ซึ่งประชาชนคงอยากเห็นการเข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ ตามที่หัวหน้า คสช.ได้กล่าวเอาไว้ในบทบาทของหัวหน้าฝ่ายบริหารบ้าง

"วันที่ 15 สิงหาคมจะเปิดประชุม สนช.ครั้งที่ 2 จะเป็นการทำความเข้าใจข้อบังคับต่างๆ ส่วนการโหวตชื่อนายกรัฐมนตรี ไม่อยากให้ฟันธงว่าต้องเป็นวันนั้นเลย เพราะต้องรอการหารือในวันที่ 13 สิงหาคมก่อน" นายพีระศักดิ์กล่าว 

@ สุรชัยชี้โหวตนายกฯ21-22ส.ค.

นายสุรชัย ว่าที่รองประธาน สนช.คนที่ 1 กล่าวว่า หากมีการโปรดเกล้าฯประธานและรองประธาน สนช.ลงมาแล้ว วาระต่อไปที่ทาง สนช.จะพิจารณาคือ การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วาระแรก คาดว่าจะพิจารณาได้ในวันที่ 15 สิงหาคม เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพิจารณาก่อน เพราะเหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนกว่าๆ จะเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่แล้ว หลังจาก สนช.เห็นชอบผ่านวาระ 1 ไปแล้ว ก็ต้องตั้งกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา และเชิญหน่วยงานต่างๆ มาชี้แจงอีก ซึ่งต้องใช้เวลาอีกสักระยะ จึงต้องนำเรื่องงบประมาณปี 2558 มาพิจารณาก่อน 

"ส่วนการโหวตเลือกตัวนายกรัฐมนตรี คาดว่าเป็นช่วงประมาณวันที่ 21-22 สิงหาคม ส่วนตัวสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งมีความเหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี เพราะมีความตั้งใจทำงานเพื่อบ้านเมือง แต่ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.จะมีความเห็นเป็นอย่างไร" นายสุรชัยกล่าว 

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. กล่าวว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมที่สุด เพราะมีความตั้งใจ เด็ดขาดในการทำงาน เห็นได้จากผลงานการทำงานที่ผ่านมา ที่เข้าตาประชาชน และผลโพลก็สนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เชื่อว่า สนช.เห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พล.อ.ประยุทธ์เหมาะสมที่จะบริหารบ้านเมืองที่สุดในขณะนี้ คงไม่ต้องโหวตแข่งกัน แต่ขึ้นอยู่กับ พล.อ.ประยุทธ์จะรับตำแหน่งหรือไม่เท่านั้น

@ บิ๊กต๊อกย้ำ'บิ๊กตู่'ควบนายกฯ

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวว่า ขณะนี้รอโปรดเกล้าฯ ประธาน สนช.และรองประธาน สนช. คาดว่าจะโปรดเกล้าฯ ภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งได้ประสาน สนช. สำนักงบประมาณไว้แล้วที่จะนำร่างพระราชบัญญัติงบประมาณปี 2558 เป็นวาระเร่งด่วนเข้าที่ประชุม สนช. วันที่ 15 สิงหาคม เพื่อให้ใช้ตามกรอบงบประมาณวันที่ 1 ตุลาคม หากงบประมาณผ่านเร็วก็จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี

พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า การคัดเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นที่ชัดเจนว่าหัวหน้า คสช.นั่งควบนายกรัฐมนตรี เพราะต้องทำงานต่อเนื่องจากสองเดือนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ทำให้เห็นว่าจริงใจและตั้งใจทำงานด้วยความเชื่อมั่นศรัทธาต่อบ้านเมือง ไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง หัวหน้า คสช.พูดและทำทุกอย่างออกมาจากใจ สำหรับรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ปรากฏในสื่อมีทั้งผิดบ้างถูกบ้างอย่างละครึ่ง ยอมรับว่ากรรมวิธีสรรหาบุคคลมานั่งเป็นคณะรัฐมนตรีต้องติดต่อหรือทาบทามไว้บ้างแล้ว

@ กต.แจงต่างชาติขอสร้างปชต.

นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งอยู่ระหว่างร่วมประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ครั้งที่ 47 ที่กรุงเนปิดอว์ ประเทศพม่า ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการประชุมว่า ที่ประชุมไม่มีใครหยิบยกสถานการณ์ในไทยขึ้นมาพูด ทุกคนมองไปข้างหน้า ขณะนี้ขึ้นกับไทยว่าจะเดินหน้าตามโรดแมปอย่างไร มีเพียงระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศของการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) ที่อินเดียพูดถึงไทย โดยกล่าวว่าไทยเป็นเพื่อน และสนับสนุนประชาธิปไตยในไทย

"ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับนายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ระหว่างการประชุม ซึ่งสหรัฐบอกว่ามีความคาดหวังในประเทศไทย ขณะที่ปลัดกระทรวงต่างประเทศของสหภาพยุโรปก็บอกว่าเข้าใจแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นในไทยเป็นอย่างไร" นายสีหศักดิ์กล่าว และว่า ได้ยืนยันว่า ไทยยึดมั่นในแนวทางประชาธิปไตย แต่ขอเวลาเพื่อให้สร้างประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและยั่งยืน

@ แย้มสนช.อาจไม่ตั้งกมธ.สามัญ

นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. กล่าวถึงกระแสข่าวที่ สนช.จะไม่ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญประจำสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า มีความเป็นไปได้ แต่ต้องดูว่าสมาชิกคิดเห็นกันอย่างไร หากทุกคนเห็นด้วยก็ยกเว้นการใช้ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องกับการสรรหากรรมาธิการฯ เพราะที่ผ่านมาการตั้งกรรมาธิการประจำคณะต่างๆ ก็จะไปศึกษางานที่เกี่ยวข้อง หรือมีร่างกฎหมายใดเข้ามาที่ประชุมใหญ่ก็จะมอบหมายให้คณะกรรมาธิการชุดนั้นๆ ไปศึกษาแล้วก็นำมาเข้าพิจารณาในที่ประชุมโดยไม่ต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาเป็นการประหยัดเวลาและบุคลากรไปในตัว 

"แต่มีข้อเสียบ้างคือ บางคณะมีการตั้งผู้ชำนาญการ ผู้เชี่ยวชาญตั้งอนุกรรมาธิการ 6-7 ชุด ซึ่งก็หมายความว่า ต้องใช้งบประมาณตามไปด้วยทั้งเบี้ยประชุม เบี้ยดูงาน ค่าใช้จ่ายอื่นๆ ขณะที่บางครั้งเรื่องที่อนุกรรมาธิการทำก็ไม่ได้นำเสนอ" นายวัลลภกล่าว

@ เล็งตัดงบดูงานตปท.ด้วย 

นายวัลลภกล่าวว่า ส่วนตัวไม่ติดใจว่าจะตั้งหรือไม่ตั้งคณะกรรมาธิการฯ ในกรณีที่ไม่มีก็สามารถตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเฉพาะเพื่อพิจารณากฎหมายในแต่ละฉบับได้ ก่อนเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาเห็นชอบและเป็นการประหยัดงบประมาณด้วย แต่ถ้ามีการตั้งคณะกรรมาธิการก็ขอเสนอให้ สนช.เป็นกรรมาธิการได้ 1 คณะและตั้งอนุกรรมาธิการได้ไม่เกิน 3 อนุกรรมาธิการ เพื่อให้ สนช.ทำงานได้เต็มที่ และต้องไม่ตั้งงบประมาณในการดูงานต่างประเทศ รวมไปถึงตัวประธาน สนช.และรองประธาน สนช.ด้วย ยกเว้นในกรณที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะ สนช.มีระยะเวลาอยู่ประมาณปีกว่า จะพ้นจากตำแหน่งเพราะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

@ ไม่ตั้งกมธ.เหตุขรก.ไม่มีเวลา 

รายงานข่าวแจ้งว่า เหตุ สนช.จะไม่ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช. เนื่องจากเห็นว่าระยะเวลาดำรงตำแหน่ง 1 ปี คงไม่สามารถทำอะไรได้มาก อีกทั้ง สนช.ส่วนใหญ่เป็นทหารและข้าราชการระดับสูงมีภารกิจประจำอาจไม่มีเวลามาประชุมกรรมาธิการ และหน้าที่หลักของ สนช.คือต้องพิจารณากฎหมายเป็นหลัก โดยมีกฎหมายที่จ่อเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.กว่า 40 ฉบับ จึงเห็นว่าไม่ควรตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ แต่อาจจะใช้เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเฉพาะเพื่อพิจารณากฎหมายเป็นหลัก หรืออาจเป็นไปในลักษณะที่ใช้ตั้งคณะกรรมาธิการประสานงานหรือวิปขึ้นมา 1 คณะเพื่อใช้เป็นคณะกรรมการพิจารณาร่างกฎหมายและเรื่องภายใน สนช. อย่างไรก็ตามทางสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ยกร่างข้อบังคับ

การประชุม สนช.ใหม่ไว้แล้ว โดยในข้อบังคับฉบับใหม่นี้ยังคงตั้งคณะกรรมาธิการสามัญประจำ สนช.อยู่ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุม สนช.ว่าจะมีมติอย่างไร

@ ชี้คสช.คุมรบ.กระทบเชื่อมั่น

นายยุทธพร อิสรชัย คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกรณีที่ คสช.จะอยู่ต่อหลังการเลือกตั้งว่า ยังเห็นภาพไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดในลักษณะไหน จะใส่ในรัฐธรรมนูญ ใส่ในกฎหมาย หรือจะตั้งเป็นองค์กรอย่างไร ถ้ามีลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นจริง ต้องจำกัดขอบเขตให้ชัดเจนในเรื่องกรอบและอำนาจหน้าที่ ซึ่งอาจจะต้องมีกฎหมายรองรับ ไม่เช่นนั้นเท่ากับให้อำนาจไปหมดอาจจะเกิดการแทรกแซงฝ่ายบริหารได้ ยิ่งมีการเลือกตั้งเกิดขึ้นและมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาทำหน้าที่แล้ว การที่จะปฏิบัติให้เป็นมาตรฐานตามหลักสากลในทางประชาธิปไตยเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะมีผลทั้งจากความเชื่อมั่นจากต่างประเทศและองค์กรที่จะดูเรื่องสิทธิเสรีภาพต่างๆ เพราะฉะนั้นหากยังควบคุมจำกัดโดยเฉพาะในแง่ของอำนาจหน้าที่ตัวแทนฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งจะถูกกระทบกระเทือน เชื่อว่าตรงนี้คงไม่มีสภาพต่างจากการรัฐประหาร

"การคงอยู่ของ คสช. อาจจะมีข้อดีคือทำให้เรื่องความขัดแย้ง การชุมนุมการปะทะ หรือเรื่องของเสื้อสีมีน้อยลงหรืออาจจะไม่มีเลย ทั้งนี้ ลักษณะของการใช้อำนาจควบคุมด้านความมั่นคงจะคงไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะถ้ายังคงมีองค์กรที่ควบคุมความมั่นคงอยู่คงไม่มีคนมาต่อสู้ขัดแย้งกัน ขณะที่สภาพสังคมของมนุษย์และสังคมไทยเรื่องความเห็นที่แตกต่างและความขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ แต่จะต้องมีกลไกที่ทำให้คนที่เห็นแตกต่างกันสามารถคุยกันได้ อยู่ร่วมกันในสังคมได้ ไม่ใช่มีองค์กรมาควบคุมห้ามไม่ให้แสดงความคิดเห็น" นายยุทธพรกล่าว

@ ให้ระวังกระทบภาพ'ปชต'

นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง กล่าวถึงกรณี คสช.จะอยู่ต่อหลังการเลือกตั้งว่า ที่มี คสช.เข้ามาคุมเพราะเขาอาจจะกังวลว่ารัฐบาลที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่จะไม่สามารถทำได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ เมื่อมีความกลัวเลยต้องมีการเอา คสช.มาคุมไว้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นสถานการณ์ที่มีขึ้นมาจนเป็นประเพณีไปแล้ว ซึ่งองค์กรที่ควบคุมรัฐบาลมีขึ้นตั้งแต่สมัย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ตั้งหัวหน้าคณะปฏิวัติประกบกับนายกรัฐมนตรี ต่อมาสมัยพลเอกสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็ใช้สภาปฏิรูปควบคู่กัน 

"แต่ครั้งนี้อาจจะแตกต่างตรงที่หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีอาจจะเป็นคนเดียวกันก็ได้ เพราะมีหรือไม่มีการเลือกตั้งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีนายกฯจากการเลือกตั้ง และไม่ได้กำหนดว่าหัวหน้า คสช.ทำหน้าที่อะไรช่วงนั้น หลังเลือกตั้ง พล.อ. ประยุทธ์อาจจะลาออกจากหัวหน้า คสช. มาดำรงตำแหน่งนายกฯก็ได้ ซึ่งตรงนี้จะต้องรอดูกันไป ไม่สามารถคาดคะเนได้" นายสุขุมกล่าว และว่า ด้านภาพลักษณ์ที่อาจเกิด ตนมองว่าภาพอย่างนี้เป็นประชาธิปไตยไม่ได้ ซึ่งตรงนี้สิ่งที่รัฐบาลควรระวังคือการเกิดการไม่ให้สิทธิเสรีภาพขึ้น ควรจะมีหลักประกันเรื่องสิทธิเสรีภาพ

@ มท.ยันเลือกสปช.ไม่มีล็อบบี้

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงการคัดสรรสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในส่วนของ 76 จังหวัดทั่วประเทศว่า สั่งการไปยังผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดแล้วให้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ โดยให้ประสานร่วมกับคณะกรรมการสรรหาทั้ง 5 คนในจังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าฯ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) หัวหน้าศาล ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัด และเอ็นจีโอ เพื่อสรรหารายชื่อผู้เป็นสมาชิก สปช.ส่งให้ คสช.ได้ทันตามกรอบเวลาที่กำหนดไว้ 

"ขอยืนยันว่าจะไม่มีการล็อบบี้คณะกรรมการสรรหาเพื่อให้เลือกคนเข้ามาเป็น สปช.อย่างแน่นอน เพราะคณะกรรมการทุกคนล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง มีความรู้ ความสามารถ เชื่อมั่นว่าจะไม่มีปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น" นายวิบูลย์กล่าว

@ ส่ง2ชื่อโควต้าสัปดาห์หน้า

นายวิบูลย์กล่าวว่า "สำหรับสมาชิก สปช. ในสัดส่วนของกระทรวงมหาดไทย กรม และรัฐวิสาหกิจในสังกัดนั้น มีแนวโน้มทางกระทรวง ว่าจะส่งบุคคลเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.ตามโควต้า รวม 2 คน เนื่องจากกระทรวงมหาดไทยมีภารกิจที่เชื่อมโยงทั้งเรื่องการสร้างสมานฉันท์และความปรองดอง การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน การดำเนินการของศูนย์ดำรงธรรม การปฏิรูปประเทศ รวมทั้งจะต้องร่วมออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องด้วย คาดว่าจะมีการนัดหารือเพื่อสรรหาตัวบุคคลได้ในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ทันตามกรอบเวลา" ทั้งนี้ สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่จะเป็นตัวแทนจากกระทรวงมหาดไทย จะเปิดกว้างให้สรรหาได้อย่างอิสระ อาจเป็นได้ทั้งอดีตข้าราชการ ข้าราชการปัจจุบัน หรือบุคคลภายนอก

@ พท.ยันไม่ส่งคนร่วมสปช. 

นายอุดมเดช รัตนเสถียร คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทย (พท.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการส่งคนเข้าร่วม สปช.ว่า ยังคงยืนยันว่าจะไม่ส่งคนเข้าร่วม สปช. แต่คงไม่ใช่สาระสำคัญอะไร เพราะคิดว่ามีคนหลากหลายสาขาอาชีพ มีคนที่มีความรู้ความเข้าใจ เข้าไปทำงานมากแล้ว อีกอย่าง ที่ไม่เข้าไปร่วมเป็น สปช.ถือเป็นเรื่องที่ดี อยากจะปฏิรูปอะไรก็ว่ากันไป พท.อยู่ในฐานะของคนที่จะต้องทำตามกติกา หากไปร่างกติเสียเองก็คงไม่ดี

@ พท.จี้สนช.อย่ากลัวโชว์ทรัพย์สิน

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า บุคคลที่เข้ามาเป็น สนช. จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน เพราะมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุไว้ว่า สนช.ปฏิบัติหน้าที่เป็น ส.ส. และ ส.ว. ถ้าเป็นตามนี้ก็จำเป็นที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน และต้องเปิดเผยให้สาธารณชนทราบด้วยตามกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ปี 2554 ด้วย อย่างไรก็ตาม อยากให้ สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ 36 คน ที่จะเข้ามาต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯ และเปิดเผยด้วย เว้นแต่ ป.ป.ช.จะไปบิดกฎหมายและเลี่ยงเป็นอย่างอื่น

"กฎหมาย ป.ป.ช. ส.ส. ส.ว. ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินฯอยู่แล้ว คน 200 กว่าคนที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ก็ต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินฯ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น ก็ต้องยื่นบัญชีและเปิดเผยบัญชีฯ ป.ป.ช.ไม่เห็นจะต้องพิจารณานานเลย เพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ยังใช้ต่อไป จะกลัวอะไรที่จะไม่ให้ประชาชนได้ดูบัญชีทรัพย์สินฯ ไม่มีเหตุผลต้องกลัว คนดีทั้งนั้น ทำแบบนี้ให้เป็นต้นแบบ ให้คนรุ่นต่อไปต้องเปิดเผยบัญชีฯ เพราะประชาชนจะได้รู้ว่าแต่ละคนมีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่ ทำมาหากินถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่" นายเรืองไกรกล่าว

@ ชี้'บิ๊กตู่'นั่งนายกฯอย่าเสียของ

นายเรืองไกร กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในวันคิกออฟ สปช. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคมโดยระบุว่า ไม่อยากเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีว่า มองว่ายังไง พล.อ.ประยุทธ์ ต้องมาเป็นนายกฯ มาถึงวันนี้ต้องเป็นอยู่แล้ว ไม่ว่าจะอยากหรือไม่อยากเป็นนายกฯ ก็ตาม อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าบริหารราชการแผ่นดินไม่ยาก จะกลัวอะไร เข้ามาอย่าให้เสียของ 

"แม้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะไม่รับเป็นนายกฯ แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ใหญ่อยู่แล้ว จากรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ใหญ่กว่า ครม. อยู่แล้วตามมาตรา 44 ทั้งนี้ มองว่า พล.อ.ประยุทธ์ ควรเป็นนายกฯ เพราะการบริหารราชการต้องอาศัยการสั่งการเร่งด่วนในสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ" นายเรืองไกรกล่าว 

@ บรรยากาศหลายจว.เริ่มคึกคัก

สำหรับบรรยากาศการคัดเลือก สปช.ในหลายจังหวัดได้เริ่มคึกคัก เช่น ที่ จ.เชียงราย นายเอกชัย เรือนคำ ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง (ผอ.กกต.) ประจำจังหวัดเชียงราย กล่าวว่า เชียงรายได้เตรียมความพร้อมในด้านเอกสารสำหรับผู้ต้องการที่จะเข้ามากรอกประวัติเพื่อเข้าสู่ขบวนการสรรหาแล้ว โดยจะเปิดให้ผู้ที่สนใจสามารถมากรอกประวัติเพื่อให้คณะกรรมการได้สรรหาที่ศาลากลางจังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม-2 กันยายน เป็นเวลา 20 วัน

จ.ลำปาง นายสุคนธ์ เรือนสอน ผอ.กกต.ประจำจังหวัดลำปาง กล่าวว่า ได้พูดคุยกับคณะกรรมการสรรหาระดับจังหวัดหลายท่าน เชื่อว่าคณะกรรมการสรรหาแต่ละคน จะเชิญให้ผู้มีความรู้ ความสามารถ และเป็นคนดี เข้ามาให้ทางคณะกรรมการพิจารณาคัดสรร เพื่อให้เป็น สปช.ระดับจังหวัดลำปาง เข้าไปทำงาน

@ มหาสารคามคาดสมัครนับสิบ

จ.มหาสารคาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีบุคคลมาติดต่อเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็น สปช.จำนวนมาก เบื้องต้นมีผู้สนใจที่จะเข้ารับการสรรหาที่ติดต่อสอบถามข้อมูลด้วยวาจามากกว่า 10 ราย ซึ่งอดีตผู้สมัคร ส.ว.ไม่น้อยกว่า 2 ราย อดีตนักการเมืองในพื้นที่ และนักวิชาการ ตลอดจนภาคเอกชนก็ติดต่อสอบถามเข้ามา 

พล.ต.อินทรัตน์ ยอดบางเตย หรือ "เสธ.ยอด" อดีต ส.ว.เชียงใหม่ กล่าวว่า ตนและนางบุษบา ยอดบางเตย ภรรยา อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ไม่ลงสรรหา สปช.จังหวัด ขอวางมือทางการเมือง เนื่องจากอายุมากแล้ว อีกทั้งเคยทำประโยชน์แก่ประเทศมายาวนาน จึงขอยุติบทบาทการเมือง เหลือเพียงสนับสนุนและส่งเสริมกีฬายกน้ำหนักเท่านั้น อย่างอื่นไม่สนใจแล้ว

นายประพันธ์ บูรณุปกรณ์ อดีต ส.ว.เชียงใหม่ พี่ชายนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายก อบจ.เชียงใหม่ กล่าวว่า นายบุญเลิศไม่ได้ทาบทามหรือชักชวนเป็น สปช.จังหวัด คิดว่าคณะกรรมการสรรหาคงมีคนอยู่ในใจแล้ว ส่วนตนไม่น่าติดอันดับ เนื่องจากมีนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิเก่งๆ อีกหลายคน ถ้าได้รับการทาบทามถือเป็นเกียรติ ถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร

@ อุตรดิตถ์บิ๊กเนมแข่งพรึบ

จ.อุตรดิตถ์ ผู้สื่อข่าวรายงานว่ามีอดีตผู้ว่าจะเสนอตัวเข้ารับการสรรหา คือนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน อดีตผู้ว่าฯอุตรดิตถ์ และนายสมบูรณ์ พรหมเมศร์ อายุ 76 ปี อดีตผู้ว่าฯตาก และอดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประจำ จ.อุตรดิตถ์ นอกจากนี้ ยังมีนายอมร ชูเอียด อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) อุตรดิตถ์ พล.ท.จำลอง โพธิ์ทอง ที่ปรึกษากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) กองทัพภาคที่ 3 และอดีตประธานที่ปรึกษา นายพีระศักดิ์ พอจิต สมัยเป็นนายก อบจ.อุตรดิตถ์ ปี 2551-2555 นายทวีศักดิ์ จารุชาติ อดีตผู้อำนวยการเขตพื้นที่การศึกษาอุตรดิตถ์ เขต 1 นายสมควร ดีรัศมี อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนศรีนคร จ.สุโขทัย และนายโปรย สมบัติ สื่อมวลชนท้องถิ่น อดีตผู้สมัคร ส.ว.อุตรดิตถ์ 

สำหรับผู้ที่คาดว่าอาจจะได้รับการสรรหาให้ติด 1 ใน 5 ระดับจังหวัด ก่อนที่จะส่งรายชื่อไปให้ คสช.คัดเลือกให้เหลือเพียง 1 คน ที่จะเป็น สปช.จ.อุตรดิตถ์นั่นคือ พล.ท.จำลอง เนื่องจากมีความใกล้ชิดกับกองทัพ และสนิทมากกับนายพีระศักดิ์ด้วย

@ 13ส.ค.เคาะกก.สรรหาสปช.

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต. ในฐานะฝ่ายเลขานุการของ สปช. เตรียมความพร้อมในการทำหน้าที่ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยในช่วงบ่ายของวันที่ 13 สิงหาคม ทางสำนักงาน กกต.ก็จะซักซ้อมการทำงานในทุกด้านอีกครั้งก่อนที่จะเปิดให้องค์กรนิติบุคคลที่ไม่แสวงหากำไรเสนอรายชื่อของบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ เข้ารับการสรรหาเป็น สปช. ในช่วงระหว่างวันที่ 14 สิงหาคมถึง 2 กันยายน ที่สำนักงาน กกต. อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติฯ ถนนแจ้งวัฒนะ

"ส่วนองค์กรนิติบุคคลที่อยู่ในต่างจังหวัดไม่สะดวกที่จะเข้ามาเสนอรายชื่อได้ที่สำนักงาน กกต. ก็สามารถส่งเอกสาร หลักฐาน มาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนด่วนพิเศษได้เช่นกัน ทั้งนี้สำหรับขั้นตอนการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ที่ถูกเสนอชื่อเข้าสรรหาเป็น สปช.นั้น ทางสำนักงาน กกต.จะพยายามดำเนินการด้วยความรอบคอบ โดยเบื้องต้นสำนักงาน กกต.ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 15 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม และสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร เป็นต้น จึงเชื่อว่ากระบวนการตรวจสอบน่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย" นายภุชงค์กล่าว

@ โพลชี้แกนนำชุมชนปลื้มคสช.

วันเดียวกัน มาสเตอร์โพล ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน สำรวจความคิดเห็นของแกนนำชุมชนทั่วประเทศ 601 ชุมชน ระหว่างวันที่ 2-9 สิงหาคม เรื่อง "ฐานสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ หัวหน้า คสช. และการทำงานของ คสช." พบว่า แกนนำชุมชนร้อยละ 80.2 ติดตามรับชมรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ร้อยละ 19.8 ไม่ได้ติดตามชม และที่น่าพิจารณาคือ ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 90.3 ระบุปัญหาแตกแยกทางการเมืองของคนในชุมชนมีค่อนข้างน้อยถึงไม่มีปัญหาเลยในขณะที่เพียงร้อยละ 9.7 ระบุมีปัญหาค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการปฏิบัติงานของ คสช. ด้านสังคม คะแนนเต็ม 10 คะแนน อันดับแรกได้แก่ การปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้ 9.54 คะแนน รองลงมาอันดับ 2 ได้แก่ การเตรียมการจัดกิจกรรมในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม ได้ 9.31 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่ การเข้มงวดจับกุมขบวนการค้ายาเสพติด การพนัน การบุกรุกป่าไม้ ได้ 9.06 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ การปราบปรามจับกุมอาวุธสงคราม ได้ 8.99 คะแนน

@ พอใจแก้โกงนักการเมือง-ขรก.

ด้านการเมือง ผลสำรวจพบว่าความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการปฏิบัติงานของ คสช. อันดับแรก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นในกลุ่มนักการเมืองและข้าราชการ ได้ 8.58 คะแนน อันดับ 2 ได้แก่ การใช้อำนาจ คสช.ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้ 8.57 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่ การยอมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนของ คสช. ได้ 8.49 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ การบริหารประเทศโดย คสช. ได้ 8.27 คะแนน อันดับ 5 ได้แก่ การเตรียมการปฏิรูปประเทศ ได้ 8.20 คะแนน 

ด้านเศรษฐกิจพบว่า อันดับแรก ได้แก่ การแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ทั้งด้านอาชีพ รายได้และความเป็นอยู่ได้ 8.16 คะแนน อันดับ 2 การแก้ปัญหาเรื่องข้าว ได้ 8.10 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่การรักษาวินัยการเงินการคลัง ได้ 8.07 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ การสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ได้ 8.06 คะแนน อันดับ 5 ได้แก่ การวางแผนการลงทุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ 7.95 คะแนน 

ที่น่าพิจารณาคือ คะแนนความพึงพอใจภาพรวมของ คสช. พบว่าด้านสังคม ได้ 8.55 คะแนน ด้านการเมือง ได้ 8.18 คะแนน และด้านเศรษฐกิจได้ 7.91 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน และที่น่าสนใจคือ การสนับสนุนของแกนนำชุมชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ พบว่าร้อยละ 84.3 สนับสนุนค่อนข้างมากถึงมากที่สุด

@ กริชสุดาท้า'คสช.'สู้ในเวทีโลก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.กริชสุดา คุณะแสน หรือ เปิ้ล สหายสุดซอย นักกิจกรรมเสื้อแดงที่เคยถูกทหารคุมตัวหลังการรัฐประหาร และเดินทางไปพำนักยังต่างประเทศ หลังได้รับการปล่อยตัว ก่อนจะให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนและถ่ายทำคลิปที่ระบุว่าถูกเจ้าหน้าที่ทำร้ายและละเมิดร่างกาย ได้ถ่ายทำคลิปล่าสุดทางยูทูบเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมาระบุว่า ที่แกนนำ คสช. ออกมาปฏิเสธ สิ่งที่ตนพูดว่าถูกเจ้าหน้าที่ล่วงละเมิดร่างกายไม่ใช่เรื่องจริงนั้น อยากถามว่า คนเหล่านั้นรู้ได้อย่างไรว่าพูดไม่จริง เพราะตลอด 27 วัน ที่ถูกคุมตัว ผู้นำระดับสูงของ คสช. ไม่ได้มาอยู่กับตน ดังนั้น สิ่งที่ทาง คสช.น่าจะทำ ได้แก่ เร่งตรวจสอบสิ่งที่ตนออกมาเปิดเผย โดยให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระดับสากล เข้ามาดำเนินการ มากกว่าจะกล่าวปฏิเสธข้อมูล

น.ส.กริชสุดา ตั้งข้อสังเกตว่า หลังจากปล่อยคลิปเรื่องการถูกทำร้ายร่างกายออกมา ภายในสัปดาห์เดียว ก็ถูกตั้งข้อหาเรื่องอาวุธสงครามทันที ทั้งที่ หลังจากถูกปล่อยตัวออกมา ทางเจ้าหน้าที่ก็ไม่เคยดำเนินคดีใดๆ และเชื่อว่า หลังจากนั้น อาจจะโดนคดีที่หนักยิ่งขึ้นก็เป็นได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่าจะไม่กลับไปพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่ประเทศไทย ตามคำท้าของ คสช. แต่อยากให้เรื่องทั้งหมดไปว่ากันบนเวทีโลกจะดีกว่า

@ 'คสช.'โต้กริชสุดาอยากหนีคดี

พล.อ.วีรชน สุคนธปฏิภาค ทีมโฆษก คสช. ให้สัมภาษณ์กรณี น.ส.กริชสุดา คุณะเสน นักกิจกรรมเสื้อแดงออกมาโพสต์คลิปวิดีโอข้อความตอบโต้ คสช. เรียกร้องให้ทาง คสช.พิสูจน์ความบริสุทธ์โดยเปิดให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนสากลเข้ามาสืบสวนที่ถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดทางเพศระหว่างถูกควบคุมตัว หรือมีการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงดังกล่าวว่า ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยชี้แจงไปแล้วว่า น.ส.กริชสุดามีคดีติดตัว มีทั้งเอกสาร พยานหลักฐานและพยานบุคคล ที่บ่งชี้ว่า น.ส.กริชสุดามีความเกี่ยวข้องกับการจัดหาอาวุธสงคราม ทำให้คำกล่าวอ้างนั้นไม่น่าเชื่อถือ คาดว่าต้องการหนีคดีความมากกว่า

@ ท้าเปิดหลักฐานละเมิดสิทธิ

พ.อ.วีรชนกล่าวว่า ที่ น.ส.กริชสุดากล่าวพาดพิงถึง คสช.นั้น หากคิดว่ามีหลักฐานที่ชัดเจนที่จะยืนยันว่าถูกทำร้ายร่างกายและถูกล่วงละเมิดจริงอย่างที่กล่าวอ้าง อยากขอให้ดำเนินการมาให้ชัดเจน ไม่ใช่เพียงไปพูดลอยๆ อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์อันใด เรื่องนี้จะกลายเป็นเรื่องการเมืองไปในที่สุด 

"ขอยืนยันว่าทาง คสช.ไม่ได้กระทำตามที่ น.ส.กริชสุดากล่าวอ้างแต่อย่างใด หากเดือดร้อนจริงๆ ทาง คสช.มีช่องทางสำหรับกระบวนการยุติธรรมให้เข้ามาต่อสู้ ทั้งนี้ สำหรับการเรียกร้องให้หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนให้เข้ามาตรวจสอบนั้นทาง คสช.ไม่มีปัญหาอะไร แต่อยากจะให้มีหลักฐานชัดเจนก่อนที่จะเข้ามาตรวจสอบ มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าใครจะพูดอะไรให้หน่วยงานใดเข้ามาตรวจสอบก็ได้ นอกจากนี้ คสช.ก็มีหลักฐานว่า น.ส.กริชสุดาปกติดีในระหว่างที่ถูกควบคุมตัวอีกด้วย" พ.อ.วีรชนกล่าว 

@ ปูบินถึงไทยลงดอนเมือง 

เมื่อเวลา 22.00 น. ที่อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล ดอนเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) อาทิ นายสิงห์ทอง บัวชุม ฝ่ายกฎหมาย พท. มารอรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมกับ ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร บุตรชาย ที่เดินทางด้วยเครื่องบินเช่าเหมาลำจากประเทศสิงคโปร์ มายังอาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล ท่าอากาศยานดอนเมือง โดยขนย้ายกระเป๋าเดินทางจำนวน 15 ใบ ออกจากอาคารฯ ขึ้นรถตู้ 2 คัน ขณะที่เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของท่าอากาศยานดอนเมือง พยายามห้ามผู้สื่อข่าวเข้าใกล้บริเวณอาคารฯ 

จากนั้นเวลา 22.25 น. ผู้สื่อข่าวสังเกตเห็นสมาชิก พท.เดินไปยังอาคารด้านหลังซึ่งเป็นจุดลงเครื่อง ทั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะ ได้ให้รถตู้ 6 คัน เข้าไปรับที่ข้างในสนามบินดอนเมือง ก่อนจะเดินทางกลับบ้านพักทันที โดยไม่ปรากฏตัวให้ผู้สื่อข่าวเห็นแต่อย่างใด