เล็ง 14 สค.โหวตนายกฯ บิ๊กตู่ไร้คู่ชิง สนช.รุมดัน-โพลก็หนุน เท 81%'ประยุทธ์'ควบ 8 สค.เลือกพรเพชรปธ. ธวัชชัยถอยยื่นลาออก 3 พรรคเมินสภาปฎิรูป

ยิ้มแย้ม - พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เดินทางมารายงานตัว ที่ห้องโถงชั้น 1 อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม




ตกแต่ง - เจ้าหน้าที่กำลังเร่งปรับปรุงและตกแต่งโดยรอบบ้านพิษณุโลก ซึ่งที่ผ่านมาสถานที่นี้มักถูกใช้เป็นสถานที่ทำงานของทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม

 

มติชนออนไลน์ :

 

      'กรุงเทพโพลล์'ชี้ร้อยละ 81 เชียร์'บิ๊กตู่'เหมาะเป็นนายกฯคนใหม่ สำนักเลขาฯวุฒิสภาแจ้งเปิดประชุม สนช. 8 ส.ค.เลือกประธาน 'บิ๊กเยิ้ม'ยื่นลาออกจาก สนช.ยอมรับขัด รธน.

@ สนช.ทยอยรายงานตัววันที่สอง

      เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ที่อาคารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศในวันที่สองของการรายงานตัวสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ยังเป็นไปอย่างคึกคัก ผู้ที่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สนช. โดยเฉพาะข้าราชการทหารและตำรวจ ทยอยเดินทางเข้ามารายงานตัวอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน รวมทั้งหมด 44 คน 

      เมื่อรวมการเข้ารายงานตัวตลอด 2 วันแรก มีมารายงานตัวทั้งสิ้น 78 คน จากรายชื่อทั้งหมด 200 คน บุคคลแรกที่มารายงานตัววันที่สอง คือ นายศักดิ์ทิพย์ ไกรฤกษ์ อดีตปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ตามด้วย นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานเครือข่ายชาวนา และ พล.อ.อู้ด เบื้องบน อดีตนายทหารคนสนิท พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีฯ รวมทั้งนายทหารของกองทัพอากาศที่เดินทางมาพร้อมกัน 6 คน นำโดย พล.อ.อ.สฤษดิ์พงษ์ โกมุทานนท์ รองผู้บัญชาการทหารอากาศ (รอง ผบ.ทอ.) พล.อ.อ.ธงชัย แฉล้มเขตร ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.อ.ชนัท รัตนอุบล ผช.ผบ.ทอ. พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ (เสธ.ทอ.) พล.อ.อ.เพิ่มเกียรติ ลวณะมาลย์ อดีต รอง ผบ.ทอ. และ พล.อ.อ.อานนท์ จารยะพันธุ์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา

     นอกจากนั้น ยังมี พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ อดีต ผบ.ทร. พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.สส. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รก.ผบ.ตร. พล.ต.ท.จักรทิพย์ ชัยจินดา รก.ผบช.น. และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. เป็นต้น

@ บิ๊กอ๊อดชี้บิ๊กตู่เหมาะเป็นนายกฯ

     ด้าน พล.ต.อ.สมยศที่เดินทางเข้ามารายงานตัวเวลา 09.30 น. ให้สัมภาษณ์ว่า ยินดีที่ได้เข้าร่วมใน สนช. ตั้งใจจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อส่วนรวม ให้ประเทศชาติเดินหน้าต่อไปได้ และไม่มีความกังวลสำหรับการทำหน้าที่รอง ผบ.ตร.ควบคู่กับการเป็น สนช. เนื่องจากมีการแบ่งเวลาการทำงานเพื่อประเทศชาติเป็นหลัก ส่วนการเลือกประธาน สนช.และรองประธาน สนช. มีบุคคลที่อยู่ในใจแล้ว เป็นบุคคลที่มีวุฒิภาวะ ความรู้ แต่ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อ ส่วนรายชื่อของบุคคลที่เหมาะสมจะมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่วนตัวยังไม่มีบุคคลใดที่เหมาะสมไปกว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

     เมื่อถามถึงจุดอ่อนและจุดแข็งของ พล.อ.ประยุทธ์ในงานที่ผ่านมา พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า หัวหน้า คสช.มีจุดแข็งคือ มีความชัดเจน และความมุ่งมั่นต่อการทำงานและแก้ปัญหาเพื่อประเทศชาติตามโรดแมปและแนวทาง ที่สำคัญคือเป็นคนทำมากกว่าพูด นอกจากนั้นยังเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ตามที่ผลการสำรวจความเห็น 

@'วัชรพล'หนุนเต็มตัวเช่นกัน

      ต่อมาเวลา 15.45 น. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รอง ผบ.ตร. รรก.ผบ.ตร. ให้สัมภาษณ์หลังการรายงานตัวเป็น สนช. ว่า พร้อมทำหน้าที่ สนช.เพราะเคยทำหน้าที่นี้เมื่อปี 2549 ขณะนี้เตรียมเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจในการกระจายอำนาจ เพื่อให้แต่ละหน่วยสามารถจัดการงบประมาณและมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ส่วนการเลือกประธาน สนช.นั้น ยังไม่มีการพูดคุยกัน แต่เท่าที่เคยทำงานกับนายพรเพชร วิชิตชลชัย สมาชิก สนช. ถือเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ สำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีความเหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งดังกล่าว ที่ผ่านมาสามารถจัดการแก้ไขปัญหาบ้านเมืองให้กลับมาสงบเรียบร้อยได้ 

@ 'หมอเจตน์'ระบุคุณสมบัติปธ.

      นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อดีตกลุ่ม 40 ส.ว.ในฐานะ สนช. กล่าวว่า ภายหลังการประชุม สนช. ในวันที่ 7 สิงหาคมผ่านไปแล้ว ก็จะมีการเสนอชื่อบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นประธานและรองประธาน สนช.ในลำดับต่อไป บุคคลที่สมควรดำรงตำแหน่งประธาน สนช.นั้น จะต้องมีคุณลักษณะที่รอบรู้ด้านกฎหมาย มีประสบการณ์ในการทำงาน คิดว่า นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กับนายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ปรึกษาด้านกฎหมาย คสช. ล้วนเป็นบุคคลที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมด้วยกันทั้งคู่ เพราะต่างก็มีประสบการณ์ในการทำงานในสภา ขณะที่ พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา เหมาะสมเช่นกัน มีประสบการณ์ในตำแหน่งประธานวุฒิสภามาแล้ว ส่วนจะเป็นนายพลทหารในราชการจะได้รับเสนอชื่อเป็นประธาน สนช. หรือไม่ ต้องว่าไปตามกระบวนการ หน้าที่ของประธาน สนช.เป็นผู้กำหนดทิศทางการประชุม กำหนดการนัดวัน ควบคุมวาระการประชุมในญัตติต่างๆ ฉะนั้น ต้องมีเทคนิคในการควบคุมให้ได้ คนที่เป็นประธาน สนช.ก็ไม่ต่างอะไรจากประธานสภาผู้แทนฯ หรือประธานวุฒิสภา อย่างไรก็ตาม การควบคุมเกมคุมเสียงในสภาไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นหน้าที่ของประธาน สนช.เสมอไป อาจจะมีการกำหนดวิปฯขึ้นมาก็ได้

@ ได้นายกรัฐมนตรีหลัง 12 ส.ค.

     "กระบวนการเปิดประชุมสภาครั้งแรก ที่มี พ.ร.ฎ.เปิดประชุมสภาครั้งแรก ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ จะมีการเสนอชื่อบุคคลเป็นประธานและรองประธาน สนช.ต่อไป และเมื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งประธาน สนช.แล้ว ทางประธาน สนช.จะนัดประชุมกำหนดวันที่จะส่งต่อไปยังขั้นตอนการเลือกบุคคลมาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อมีการเสนอชื่อบุคคลที่ได้รับตำแหน่งนายกฯแล้ว ทางประธาน สนช.จะเป็นผู้นำรายชื่อไปทูลเกล้าฯ จากนั้นรอสักระยะหนึ่งให้มีการกระทำพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกฯ ต่อมาเมื่อได้นายกฯ แล้ว ทางนายกฯก็จะเป็นผู้พิจารณาคัดสรรบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นคณะรัฐมนตรีทั้ง 35 คน อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะมีการเสนอชื่อนายกฯ คงหลังจากวันที่ 12 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันแม่ คิดว่าไม่น่าจะเกินปลายเดือนสิงหาคมก็น่าจะมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้? นพ.เจตน์กล่าว

@ 'ครูหยุย'เผยขั้นตอน'สนช.'

     ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. กล่าวว่า วันที่ 7 สิงหาคม จะมีรัฐพิธีเปิดสมัยประชุม สนช. และเปิดประชุมนัดแรกในวันที่ 8 สิงหาคม เพื่อเลือกประธานและรองประธาน สนช. หลังจากนั้นจะหยุดยาวเนื่องจากวันแม่แห่งชาติ มาเปิดประชุมอีกครั้งในวันที่ 14-16 สิงหาคม เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี หากการเลือกเสร็จสิ้นไม่มีคู่แข่ง ที่ประชุมเห็นชอบ สามารถเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯในวันที่ 17 หรือ 18 สิงหาคม ต่อไป

    "จากที่ได้พูดคุยกับสมาชิก สนช. เช่น กลุ่มทหาร อดีต ส.ว. หรือ สนช.เก่า ต่างพูดในทิศทางเดียวกันที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี ยืนยันไม่ได้เลือกจากที่เป็นหัวหน้า คสช. แต่ดูจากการทำงานที่เต็มที่ มีความคิดดี ที่ไม่ได้อยู่ในตำแหน่งนานใช้เวลาประมาณ 1-1 ปีครึ่ง โดยส่วนตัวค่อนข้างดีใจหากได้ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะเคยทำงานร่วมกันตอนเป็นสมาชิก สนช.เก่า 

     "ท่านทำงานดี พูดน้อย ทำหนัก ทำจริง และต้องการเห็นความต่อเนื่อง เช่น การจัดระเบียบต่างๆ ที่ตอนนี้ คสช.ทำอยู่ ทั้งการพัฒนาด้านเศรษฐกิจ คมนาคม และยืนยันไม่ได้มีการล็อกตำแหน่งเกิดขึ้น เพราะหน้าที่ของ สนช.คือ การสรรหานายกรัฐมนตรี หากเห็นใครเหมาะก็เสนอออกมา? นายวัลลภกล่าว และว่า การหานายกรัฐมนตรีไม่มีปัญหาเพราะไม่มีคู่แข่งแต่ที่ซับซ้อนคือการเลือกประธาน สนช. มีกระแสข่าวออกมามากมาย แต่ในใจไม่อยากให้มีคู่แข่งเพราะไม่ใช่เป็นการเลือกแบบสมาชิกที่มาจากสรรหาหรือเลือกตั้ง สำหรับนาทีนี้มีคนที่เหมาะสมอย่างเช่น พล.อ.ธีรเดช มีเพียร อดีตประธานวุฒิสภา อดีตผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ อดีต ผบ.สส. และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ทั้งหมดนี้เหมาะสมหมด แต่ต้องดูเหมาะกับช่วงเวลานี้หรือไม่

@ เสนอที่มาของประธานสนช.

     นายวัลลภกล่าวว่า อยากให้บุคคลที่จะมาเป็นประธาน และรองประธาน สนช. เกิดการกระจายตัว คือ 1.มาจากกลุ่มทหาร 1 ตำแหน่ง 2.อดีตข้าราชการ 1 ตำแหน่ง เช่น นายพรเพชร วิชิตชลชัย ผู้ตรวจการแผ่นดิน และที่ปรึกษากฎหมายของ คสช. 3.เป็นองค์กรต่างๆ

    นายวัลลภ กล่าวว่า กรอบการทำงานหลังจากนี้ของ สนช. หลังเลือกประธานและรองประธานแล้วเสร็จ จะเป็นการเข้าสู่การรับสมัครกรรมาธิการคณะต่างๆ เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนทุกอย่าง ก็จะพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2558 ต้องพิจารณาให้เสร็จภายในเดือนกันยายนนี้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาเพราะส่วนใหญ่มีประสบการณ์อยู่แล้ว หลังจากพิจารณาเสร็จคงมีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเสนอร่างกฎหมายต่างๆ ขึ้นมา

     "คาดว่า จะได้นายกรัฐมนตรีหลังวันแม่ โดยใช้เวลาทูลเกล้าฯ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นก็จัดตั้ง ครม.ช่วงต้นเดือนกันยายน ส่วนประเด็นที่เป็นปัญหาในการยื่นบัญชีทรัพย์สินของบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง สนช.โดยหลักแล้วต้องยื่นแสดง ไม่เห็นมีอะไรต้องปกปิด? นายวัลลภกล่าว

      ด้านนายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวให้ความเห็นว่า หลายคนมีความเหมาะสมในการนั่งเป็นประธาน สนช. อาทิ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ถือเป็นคนหนึ่งที่เหมาะสม ส่วนบุคคลที่เหมาะสมเป็นนายกรัฐมนตรี ตนไม่มีความเห็น แต่เท่าที่ตามจากโพลต่างๆ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.มีกระแสตอบรับดี ซึ่งถูกเสนอชื่อขึ้นมาจากวงสังคมก่อน ก็จะเป็นตัวช่วยสนับสนุนที่ดี 

@ "บิ๊กเยิ้ม"ยื่นไขก๊อกเก้าอี้สนช. 

     พล.อ.ธวัชชัย สมุทรสาคร ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็น สนช.ลำดับที่ 57 เปิดเผยว่า ในวันที่ 4 สิงหาคมนี้ เวลาประมาณ 10.00 น. จะเข้ายื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่ง สนช.ต่อสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หลังได้ปรึกษากับฝ่ายกฎหมายและบุคคลที่เกี่ยวข้องแล้วพบว่า ตนมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 8(1) ว่าด้วยการดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะ 3 ปีก่อนวันที่ได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช.กำหนดไว้ ทั้งนี้การลาออกดังกล่าวไม่จำเป็นต้องให้ผู้ใดเสนอเรื่องให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบก่อน เมื่อตนรู้ว่ามีคุณสมบัติที่ขัดด้วยตนเองก็พร้อมจะลาออก โดยไม่ยึดติดกับตำแหน่งใดๆ 

     "ต้องให้ความเป็นธรรมกับผมด้วย กรณีที่สื่อนำข่าวไปลงโดยผมไม่ได้ชี้แจง ผมได้รับการแต่งตั้งเป็น สนช. โดยไม่ได้เข้าไปสมัครด้วยตนเอง ตอนแรกผมดีใจที่ได้รับเลือกให้เข้าไปทำงานเพื่อประเทศแต่เมื่อตรวจสอบคุณสมบัติแล้วพบว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญก็ต้องลาออกเอง เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ส่วนการลงสมัครรับเลือกตั้งในสังกัดพรรคชาติพัฒนา (ชพ.) ก่อนหน้านี้ เป็นไปตามคำชักชวนของนายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ แกนนำพรรค ที่อยากให้เข้าร่วมการแก้ปัญหาบ้านเมือง? พล.อ.ธวัชชัยกล่าว

@ กล้านรงค์ติดธุระรายงานตัวช้า

      นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงการเข้ารายงานตัวของ สนช. ว่า ตนยังไม่ได้เข้ารายงานตัวเพราะติดธุระอยู่ที่ต่างจังหวัด อาจจะเข้ารายงานตัวในวันที่ 3 สิงหาคม หรือหากไม่ทันคงเข้ารายงานตัวในวันที่ 5 สิงหาคม ซึ่งเป็นวันสุดท้ายที่ให้รายงานตัว

@ วุฒิสภายันเปิดประชุม8ส.ค.

       นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้กำหนดนัดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นัดแรกในวันที่ 8 สิงหาคม เวลา 09.30 น. โดยมีวาระการประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สนช.

@'ชูวิทย์'โพสต์พวกดัดจริต

      นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กใช้หัวเรื่องว่า "หุบปาก? ระบุในเนื้อหาว่า "หลังจาก คสช. เปิดเผยรายชื่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีทหารติดโผเป็นจำนวนมาก หลายคนบ่นผิดหวัง ติติง วิพากษ์วิจารณ์ว่า มีกลุ่มคนที่ไม่หลากหลายอย่างที่คิด เส้นทางของ คสช. เริ่มจากคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ว่า "ผม...ขอ ยึดอำนาจบริหารประเทศ" จากรัฐบาลในขณะนั้น ย่อมเป็นที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธที่จะดำเนินรอยตามระบอบประชาธิปไตย? โพสต์ของนายชูวิทย์ เขียนต่อว่า "พล.อ.ประยุทธ์ เป็นชายชาติทหาร เมื่อเกิดมาเป็นเสือแล้ว จะให้ทำตัวน่ารักเป็นลูกแมวได้อย่างไร? 

      ไอ้เรื่องจะไปเพ้อเจ้อ หวังให้ทหารแบ่งปันอำนาจ แล้วเป็นดาบมาย้อนทิ่มแทงตัวเอง เสือที่ไหนเขาจะทำ? ไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว พล.อ.ประยุทธ์อุตส่าห์เสี่ยงตัวเองเข้ายึดอำนาจถึงขนาดนี้ ก็ปล่อยให้ท่านทำไปเถอะ เมื่อถึงเวลาอนาคตข้างหน้า ค่อยมาตัดสินว่าทำถูกหรือทำผิด? 

"ลืมไปได้เลยกับคำว่า "ประชาธิปไตย เลือกตั้ง สิทธิเสรีภาพ" ต่อให้รายชื่อ สนช. เป็นทหารยกสภา หรือเป็นคุณปู่ คุณย่าที่ไหน สิ่งเดียวที่เราทำได้คือ นั่งเฉยๆ ดูทีวีประกาศรายชื่อ สายไปแล้วที่จะมาดัดจริตติติง วิพากษ์วิจารณ์กันตอนนี้ ก็ใครกันล่ะครับ ทำให้ทหารออกมายึดอำนาจ? ไปซุกตัวอยู่วัดไหน? ประชาชนโปรดจำไว้เถิด แปะไว้ข้างฝาบ้าน รอจนถึงเวลาวันหน้าฟ้าใหม่ ประชาธิปไตยมีช่วงที่เบ่งบาน แต่ตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องหุบปาก? 

@ เพื่อไทยไม่ขัดข้องสัดส่วนสนช. 

      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) ได้ให้ความเห็นต่อจำนวน สัดส่วน กลุ่มอาชีพของผู้ที่ได้รับการเลือกเป็น สนช.ว่า เป็นเรื่องปกติของการแต่งตั้ง ซึ่งคงต้องการเอกภาพเพื่อประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาของประเทศ หากดูวัตถุประสงค์ของ คสช. ที่เข้ามาบริหารประเทศ อาจสรุปได้ 3 เรื่องใหญ่ ๆ คือ 1.แก้ไขปัญหาความขัดแย้งรุนแรง แบ่งฝัก แบ่งฝ่าย ที่ยืดเยื้อยาวนานเกือบ 10 ปี ให้เกิดความปรองดอง สมานฉันท์ 2.สร้างกติกาประชาธิปไตยและคืนอำนาจให้ประชาชนตามโรดแมปที่วางไว้ 3.วางกรอบแนวทางปฏิรูปประเทศ ที่เป็นไฮไลต์และเห็นตรงกันก็คือ การป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น

    นายชวลิตกล่าวว่า การสร้างกติกากลางของบ้านเมือง คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับ นั่นก็คือ กฎหมายรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยั่งยืน บทเรียนในอดีตที่เคยสร้างกติกาเพื่อประโยชน์กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งโดยไม่ยึดหลักประชาธิปไตย จะนำมาซึ่งความแตกแยกของประชาชนในชาติ หวังว่าทั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติและสภาปฏิรูปประเทศ คงเป็นมือไม้ที่มีเอกภาพสามารถออกกฎหมายแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ ความยุติธรรม สร้างกติกาประชาธิปไตยที่สมบูรณ์และยั่งยืน และคืนอำนาจให้ประชาชนตามโรดแมปที่วางไว้ ก็จะได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และไทยก็จะเป็น 1 ในประชาคมโลกที่มีเกียรติและศักดิ์ศรี

@ "รังสิมา"แนะให้ทำงานหนักขึ้น

     ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีต ส.ส.สมุทรสงคราม พรรค ปชป. กล่าวว่า สนช. ชุดนี้มีเวลาทำงานน้อยมาก อยากเสนอให้มีการปฏิรูปการประชุมสภา สนช.เป็นสัปดาห์ละ 5 วัน ได้หรือไม่ ที่ผ่านมาการประชุมของสภามีเพียงแค่ 2 วัน และการพิจารณากฎหมายหรือตอบกระทู้ มีเวลาน้อยไม่เพียงพอ ตนเป็น ส.ส.มา 4 สมัยเคยเรียกร้องมาตลอดว่าให้มีการประชุม 5 วันต่อ 1 สัปดาห์ แต่ยังไม่เป็นผลสำเร็จ อยากให้ สนช.ทำเป็นตัวอย่างให้นักการเมืองได้เห็น

      "อยากแนะนำ สนช.ว่าเมื่อเข้ามาแล้วต้องทำงานเต็มที่ เสียสละ คุ้มค่ากับที่ได้รับการไว้วางใจที่ถูกเลือกเข้ามา อยากให้ปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น ไม่ควรเข้ามาหาผลประโยชน์ จะคอยดูว่ามีใครบ้างที่ไม่ยอมอ้าปากอภิปราย ส่วน สนช.ที่ไม่ได้มาจากสายการเมืองก็ขอให้ระมัดระวังในการเลือกทีมที่ปรึกษาหรือผู้ติดตามด้วย เลือกคนที่เข้ามาทำงานให้กับประเทศ อย่าเลือกคนที่มาแสวงหาประโยชน์? น.ส.รังสิมากล่าว

@ ปชป.ปัดส่งคนร่วมคัดสปช.

       นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษก ปชป. กล่าวกรณีประกาศของ คสช.ฉบับที่ 119 เรื่อง ระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์การเสนอชื่อบุคคลเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยสมควรให้นิติบุคคลที่เป็นพรรคการเมืองประสงค์จะเสนอบุคคล เพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้หัวหน้าพรรคการเมืองนั้นเป็นผู้เสนอชื่อ ว่าขอขอบคุณ คสช. ที่นึกถึงบทบาทของพรรคการเมืองซึ่งเป็นส่วนสำคัญของระบอบการปกครอง แต่พรรค ปชป.ยืนยันมาตั้งแต่ต้นว่าจะเป็นการดีถ้าพรรคจะไม่มีส่วนร่วมในกระบวนการหรือสภาใดโดยเฉพาะการคัดสรร สปช. ดังนั้น บทบาทที่เหมาะสมของพรรคการเมืองใน สปช.ควรอยู่ในฐานะเป็นผู้ให้คำปรึกษาคำชี้แจงหากมีการร้องขอมา แต่คงจะไม่เสนอตัวบุคคลโดยเฉพาะสมาชิกพรรคให้ไปนั่งเป็น สปช. เพราะเกรงข้อครหาว่านักการเมืองเขียนกฎหมายเอื้อประโยชน์ให้กับตัวเอง 

       "แต่หากมีสมาชิกพรรคถูกเสนอชื่อจากองค์กรอื่นและตัดสินใจเข้าไปทำหน้าที่เป็น สปช. ก็ถือว่าเป็นเรื่องส่วนบุคคลที่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมด้วยตัวเอง ต้องไม่ให้เกิดความสับสนในพรรคด้วย โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ที่สมาชิกพรรคต้องพิจารณาเป็นพิเศษ ส่วนจะมีผลเกี่ยวกับการลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งหน้าหรือไม่นั้น เรายังไม่ได้หารือกัน? นายชวนนท์กล่าว 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า พรรคไม่ส่งสมาชิกพรรค แต่จะเสนอบุคคลอื่นที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคหรือไม่ นายชวนนท์กล่าวว่า เบื้องต้นคุยกันว่าจะไม่เสนอใคร แต่ถ้ามีบุคคลหรือนักวิชาการที่เหมาะสม ทั้งความรู้และความสามารถ และไม่ใช่สมาชิกพรรคเสนอตัวให้พรรคพิจารณาเนื่องจากยังไม่ได้ถูกเสนอชื่อจากองค์กรอื่นใด พรรคก็อาจจะพิจารณาได้ 

@ พท.ระบุ 3 เหตุผลไม่ร่วมสปช.

     แหล่งข่าวระดับแกนนำ พท. เปิดเผยถึงการเสนอชื่อบุคคลเพื่อรับการสรรหาเป็นสมาชิก สปช. ว่าจากที่คุยกัน ทางพรรคมีแนวโน้วไม่ส่งสมาชิกพรรคเข้าร่วม สปช. เพราะ 1.ส่งไปก็ไม่รู้ว่าทาง คสช.จะเอาหรือไม่เอา 2.ส่งไปก็เป็นเพียงเสียงส่วนน้อย และ 3.ทางพรรคก็เหมือนเป็นคู่ขัดแย้งอยู่ เข้าไปคงจะไม่เหมาะสม 

@ "ชูวิทย์"ไม่ร่วมสภาปฏิรูปเช่นกัน

      นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ หัวหน้าพรรครักประเทศไทย กล่าวว่า พรรครักประเทศไทยจะไม่ส่งตัวแทนเป็น สปช. มองว่าปัจจุบันไม่ใช่เวลาของนักการเมืองที่จะเข้าไปมีส่วนร่วม วัตถุประสงค์ของการปฏิรูปประเทศรอบนี้เพื่อจำกัดหรือลดอำนาจของนักการเมือง ดังนั้น เมื่อมีนักการเมืองเข้าไปเป็น สปช. อาจจะเกิดประเด็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ อย่างไรก็ตาม ตนอยากเรียกร้องไปยังพรรคประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทยด้วย ว่าไม่ควรพิจารณาส่งชื่อบุคคลในพรรคเข้าร่วมดังกล่าว และควรให้ทหารและประชาชนได้นำเสนอแนวทางปฏิรูปอย่างเต็มที่

@ ปชป.แนะขรก.ปกป้องสิทธิ

     ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรค ปชป. กรณีมติคณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต. เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2557 แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 9 คน ใช้ตำแหน่งหน้าที่เดินสายตรวจราชการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ทัวร์นกขมิ้น) ในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และอาจมีผลให้ยุบพรรค และหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางไปชี้แจง กกต. ก็ถือเป็นสิทธิของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งในการซักถาม กกต.จะถามสดอยู่แล้ว ถ้าเตรียมตัวไปไม่ครอบคลุมก็จะเสียสิทธิเอง แต่ที่ผ่านมา กกต.มีหลักฐานชัดทั้งภาพและเสียงว่ามีการกระทำผิด พ.ร.บ.เลือกตั้ง ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม แม้จะอ้างว่าทำตามข้าราชการกำหนดโปรแกรมให้ และทัวร์นกขมิ้นไม่ได้ทำขึ้นมาตอนหาเสียงนั้น ช่วงดังกล่าวอยู่ระหว่าง พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง จะบอกว่าเป็นการไม่หาเสียงเป็นไปได้อย่างไร เป็นนักการเมืองจะบอกว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ คนเป็นนายกรัฐมนตรีปล่อยให้คนอื่นชี้นำทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องได้อย่างไร เรื่องนี้ถือเป็นดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีอยู่แล้ว 

      "ผมคิดว่า ข้าราชการควรจะออกมาปกป้องสิทธิตัวเอง เพราะฝ่ายการเมืองเป็นผู้สั่งการลงมา แล้วให้ข้าราชการเป็นผู้กำหนดรายละเอียด จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ข้าราชการตัวเล็กๆ แต่ละจังหวัด จะกำหนดให้นายกฯไปทำนั่นทำนี่ ข้าราชการเป็นเพียงคนจัดโปรแกรมเท่านั้น การโยนบาปให้ข้าราชการก็โยนไม่พ้นอยู่ดี? นายวิรัตน์กล่าว

@ แม่ทัพภาค 1 อบรมกำลังพล

      เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กองทัพภาคที่ 1 พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) เป็นประธานเปิดการอบรมขยายผลแนวทางการปฏิบัติงานด้านกิจการพลเรือนให้กับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานมวลชน กองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย (กกล.รส.) ประกอบด้วย หัวหน้าชุดและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านพลเรือน จำนวน 738 ชุด เพื่อต้องการให้การลงพื้นที่ระยะที่ 2 ของเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการมวลชนสามารถสนับสนุนการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ชี้แจงทำความเข้าใจและเข้าประชาคม ชุมชน หมู่บ้าน เพื่อชี้แจงแนวทางการปฏิบัติงานของ คสช.ได้อย่างถูกต้องและสร้างทัศนคติที่ดีของประชาชนต่อ คสช. และกองทัพ รวมถึงการทำให้ประชาชนร่วมมือกันสร้างค่านิยมของสังคมไทย 12 ประการ ตามแนวทางของหัวหน้า คสช. ปลูกฝังความจงรักภักดีต่อสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ 

     พล.ท.ธีรชัย กล่าวเปิดงานว่า เป็นโอกาสดีที่ได้มาพบปะกำลังพล ขอขอบคุณทุกคนที่ 2 เดือนทำงานเหนื่อยทุ่มเทจนเป็นที่น่าชื่นชม ด้วยการได้รับคำชมจาก พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้กำลังพลยึดถือภารกิจ 7 อย่างที่จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม คือ มีหน้าที่รักษาสภาพแวดล้อมในพื้นที่ให้เอื้ออำนวยต่อการบริหารงานของ คสช. คิดว่ากำลังพลสามารถควบคุมและรักษาสภาวะแวดล้อมได้อย่างดี แม้ว่าจะเหน็ดเหนื่อยเท่าใดก็ตาม

     "ที่ผ่านมาได้มุ่งเน้นงานในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล และระยะที่ 2 หรือในเดือนสิงหาคม จะนำกำลังพลไปเพิ่มเติมปฏิบัติงานให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ 26 จังหวัดในเขตรับผิดชอบของ กกล.รส. อีกทั้งยังเป็นการทำให้อิทธิพลอำนาจมืดหมดไป จนไปถึงปัญหาปากท้องด้วย