บิ๊กตู่รอครม.ใหม่กันยานี้ จัดโผขรก. ปลัดฯเล็งย้าย 22 บิ๊กมท. พท.สู้คดีปูทัวร์นกขมิ้น งัดคำสั่งคสช.โต้'กกต.'บิ๊กโด่งแจงเหตุจี้สอบสื่อ ตร.จับมือบึ้ม'สาวรีย์ชัย มหาดไทยติวอปท.ใช้งบ

รอปธ.สนช. - สำนักเลขาธิการวุฒิสภาเปลี่ยนป้ายห้องประธานวุฒิสภาเป็นห้องประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รอประธาน สนช.เข้ามาทำงานในเร็วๆ นี้ ที่อาคารรัฐสภา 2 เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม

มติชนออนไลน์ :

       'ประจิน'เผย ทอ.ได้โควตา สนช. 20 คน 'ประยุทธ์'ยันกันยาฯได้ ครม.บริหารประเทศ ปลัดมหาดไทยเตรียมเสนอจัดแถว 22 เก้าอี้บิ๊ก มท.

@ "คสช."เร่งคลอดกม.12 ฉบับ

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุม คสช. ครั้งที่ 8/2557 เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 29 กรกฎาคม 

        ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ดูแลฝ่ายความมั่นคง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ดูแลฝ่ายสังคมและจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้า คสช. ดูแลฝ่ายกิจการพิเศษ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม

      ที่ประชุม คสช.พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) เร่งรัดให้มีผลบังคับใช้จำนวน 12 ฉบับ อาทิ ร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม ร่างพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก และร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง เป็นต้น 

@ "บิ๊กตู่"เผยกันยาฯได้ครม.ใหม่

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงภาพรวมการทำงานของ คสช. ว่ากำลังเข้าสู่ระยะที่ 2 ของโรดแมป เป็นเรื่องของการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อสรรหานายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เชื่อว่าจะมีรัฐมนตรีเข้าบริหารประเทศในเดือนกันยายนนี้อย่างแน่นอน 

       "ขณะที่ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมรวมถึงงานด้านความมั่นคงถือว่ามีความสำคัญมากที่สุด โดยจะศึกษารายละเอียดของรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ดีที่สุดเพื่อประโยชน์ในการวางกรอบแนวทางในการบริหารราชการแผ่นดิน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า ได้สั่งการให้แต่ละส่วนงานของ คสช.สรุปประเมินผลการดำเนินงานทุกรอบ 3 เดือน เพื่อเตรียมการบูรณาการประเทศทุกด้านในระยะยาวต่อไปด้วย

@ ลั่นโยกย้ายขรก.โปร่งใส

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในแต่ละกระทรวงว่า ขอให้แต่ละกระทรวงอย่ากังวล ขอให้ส่งเข้ามาให้พิจารณาตามขั้นตอน จากนั้นจะให้ทาง ครม.ใหม่ที่จะเข้ามาบริหารประเทศพิจารณาอีกครั้ง ขอยืนยันจะทำด้วยความโปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด 

    "ขณะนี้ได้สั่งการให้มีการติดตามเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งได้มีการร้องเรียนผ่าน คสช.มากว่า 2 หมื่นเรื่อง ซึ่งได้แก้ไขให้ประชาชนไปแล้วกว่าหมื่นเรื่อง เหลืออีกเพียง 2-3 พันเรื่องจะเร่งดำเนินการแก้ไขให้ ทาง คสช.จะใช้หลักในการแก้ไขปัญหาด้วยเหตุและผลเพื่อบรรเทาผลกระทบ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ "ประจิน"เผยยังไม่ทูลเกล้าฯสนช.

     พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. กล่าวถึงกระแสข่าวเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ว่า อาจจะเร็วไป และยังไม่ทราบ ดังนั้น อยากจะขอเวลาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ทำหน้าที่ก่อน ขณะนี้ในส่วนของ สนช.ได้เตรียมการในขั้นต้นแล้ว ยังไม่ได้ทูลเกล้าฯ เพราะในส่วนของกองทัพอากาศ ได้แบ่งออกเป็นสองชุด ชุดแรกประมาณสิบคนได้ส่งประวัติไปเรียบร้อย ส่วนชุดที่สองจะมีเพิ่มเติมหรือไม่ หัวหน้า คสช.บอกว่า ให้รออีกหนึ่งถึงสองวันตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะได้กี่คน 

      "สิบคนแรกที่ผ่านการพิจารณาจาก คสช. เป็นทหารที่เป็นส่วนที่อยู่ในประจำการของกองทัพอากาศ ทั้งนี้ คุณสมบัติของผู้ที่จะเป็น สนช.นั้น หัวหน้า คสช.ได้พูดชัดเจนแล้วว่า สนช.จะดูในแง่ของ สนช.และมีความรู้ความเข้าใจ เพราะ สนช.เป็นองค์กรที่ทำให้เกิดรัฐบาล และจะต้องทำงานควบคู่ไปทั้งสี่ฝ่าย คือ สนช. รัฐบาล สภาปฏิรูป และ คสช." พล.อ.อ.ประจินกล่าว และว่า ส่วนอำนาจหน้าที่ของ สนช.จะสามารถถอดถอนคดีนักการเมืองที่ค้างในองค์กรอิสระนั้น ถ้าหากมีการเสนอทาง สนช.จะรับไปพิจารณา ส่วนรายละเอียดตนยังไม่ได้ศึกษา

@ เผยทอ.ได้โควต้าสนช.20 คน

     ผู้สื่อข่าวถามว่า สนช.จำนวน 220 คนจะแบ่งโควต้ากันอย่างไร พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ในส่วนเหล่าทัพอื่นตนไม่ทราบ แต่ในส่วนของกองทัพอากาศ ได้โควต้า 20 คน และได้ส่งรายชื่อไปแล้ว และได้ผ่านการพิจารณาจากหัวหน้า คสช.แล้ว 10 คน ส่วนชุดที่สองอีก 10 คนจะได้หรือไม่ยังไม่ทราบ ซึ่งทั้งหมดที่ได้ส่งไปก็จะมีความถนัดในเรื่องการบริหาร และดูแลในทุกด้านเกี่ยวกับข้อกฎหมายบ้าง 

     "ทั้งนี้ คสช.ได้ร้องขอไปยังทุกเหล่าทัพให้จัดส่งนายทหารเข้ามาร่วมคัดเลือกเป็น สนช. ของแต่ละเหล่าทัพจะได้โควต้าเท่าใดนั้นไม่ทราบ ส่วนรายชื่อที่จะนำขึ้นทูลเกล้าฯเต็มจำนวน 220 คนหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับหัวหน้า คสช. แต่ทราบว่าตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวระบุไว้ว่าจะต้องไม่เกิน 220 คน ส่วนโควต้าคนนอกนั้น ทางหัวหน้า คสช.เป็นผู้ดูแล้ว" ผบ.ทอ.กล่าว

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า สำหรับกรณีแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปีของกองทัพอากาศ ยังคงเป็นเหมือนเดิม คือ ต้องให้แล้วเสร็จก่อน 15 วัน ที่จะมีการเกษียณอายุราชการ แต่สำหรับในปีนี้ก็จะนัดพูดคุยกันอีกครั้งแต่ยังไม่ได้กำหนดเวลาอย่างชัดเจน

@ บิ๊กตู่เฟ้นเองสเปกรอบรู้งาน 3 สภา

   รายงานข่าวจาก คสช.แจ้งว่า การจัดตั้ง สนช. พล.อ.ประยุทธ์เน้นย้ำว่า การแต่งตั้งบุคคลเข้ามาเป็น สนช.นั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้มีความสามารถที่มาจากหลายแขนง ซึ่งในส่วนของโควต้าทหารมีจำนวนมากพอสมควร น่าจะประมาณครึ่งหนึ่งของจำนวน สนช.ทั้งหมด มีทั้งนายทหารที่อยู่ในและนอกราชการ เนื่องจากคนที่จะมาเป็น สนช.ต้องสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภา และทั้ง 3 องค์ประกอบนี้มีหน้าที่พิจารณาในการผ่านกฎหมายสำคัญ โดยเฉพาะกฎหมายพิเศษ หัวหน้า คสช.จึงให้ความสำคัญต่อการคัดเลือกตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็น สนช.เป็นอย่างมาก 

@ มท.เตรียมเรียกประชุมอปท.

      ที่กระทรวงมหาดไทย นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมผู้บริหารของกระทรวงมหาดไทยว่า จากการดำเนินงานตามนโยบายของ คสช.มา 2 เดือน ส่วนใหญ่เป็นงานภารกิจด้านความมั่นคง ซึ่งพอใจผลการปฏิบัติงานที่สามารถดำเนินการตามคำสั่งของ คสช.ได้ทุกเรื่อง และประสบความสำเร็จ ทั้งการจัดตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าว การปรองดอง การจับอาวุธสงคราม และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนความยากจนของประชาชน 

       "ทั้งนี้ ภารกิจสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ คือ การแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยเฉพาะการสร้างความเข้มแข็งให้ประชาชนหลังบำบัดผู้ติดยา การประกอบอาชีพ และการอยู่ร่วมกันในสังคม ในวันที่ 31 กรกฎาคม และวันที่ 1 สิงหาคม จะเรียกประชุมผู้บริหารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานด้านท้องถิ่นทั้งหมด เพื่อกำหนดแนวทางการปฏิบัติงาน และเพิ่มศักยภาพในการตรวจสอบโครงการต่างๆ ให้เกิดความโปร่งใส รวมทั้งใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์กับประชาชนและท้องถิ่นนั้นๆ มากที่สุด" นายวิบูลย์กล่าว 

@ ตั้งศูนย์ดำรงธรรมแล้ว 46 จว.

       นายวิบูลย์ กล่าวถึงการตั้งศูนย์ดำรงธรรมตามนโยบาย คสช.ของทุกจังหวัดว่า รายงานผลการทำงานมายังกระทรวงมหาดไทยแล้ว 46 จังหวัด ส่วนหลักการทำงานเน้นให้บริการประชาชนในทุกด้าน และแก้ไขปัญหาแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ แต่หากต้องมีการส่งเรื่องต่อ ต้องมีการกำหนดเวลาทำงานที่ชัดเจน 

      "จากการตั้งศูนย์ ช่วงที่ผ่านมายังไม่พบปัญหาและอุปสรรคใดๆ ในวันที่ 30 กรกฎาคม จะเดินทางไปตรวจการจัดตั้งศูนย์ดำรงธรรมที่ จ.ชลบุรีและฉะเชิงเทรา และในวันที่ 4 สิงหาคม กระทรวงมหาดไทยจะทำการเปิดศูนย์ดำรงธรรมอย่างเป็นทางการที่ศูนย์บริการประชาชน วังไชยา" นายวิบูลย์กล่าว

@ ปลัดมท.เสนอตั้งซี 10 อีก 22

      รายงานข่าวจากกระทรวงมหาดไทยแจ้งว่า ภายในสัปดาห์นี้นายวิบูลย์จะนำรายชื่อการแต่งตั้งข้าราชการประเภทผู้บริหารระดับสูง ประกอบด้วย รองปลัดกระทรวง อธิบดี ผู้ตรวจราชการกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัด เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ โดยในปี 2557 มีข้าราชการเกษียณอายุราชการในตำแหน่งดังกล่าว 20 ราย และมีข้าราชการระดับ 10 คือ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล อดีตรองปลัดกระทรวงมหาดไทย และนายภาณุ อุทัยรัตน์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย ที่ออกไปดำรงตำแหน่งซี 11 ในตำแหน่งปลัดสำนักนายกฯ และเลขาธิการ ศอ.บต.ตามลำดับ จึงมีตำแหน่งในระดับ 10 ที่ว่างเพิ่มขึ้นอีก 2 ตำแหน่ง ดังนั้น นายวิบูลย์จะนำเสนอรายชื่อ 22 ตำแหน่งกับหัวหน้า คสช.เพื่อพิจารณา

@ "จารุพงศ์"แถลงไม่รับรธน. 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ในฐานะเลขาธิการองค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เป็นคลิปวิดีโอความยาว 12.01 น. ผ่านเฟซบุ๊กชื่อ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" ว่า องค์กรเสรีไทยฯไม่ยอมรับและประณามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่เกิดขึ้น เพราะเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวทั้ง 48 มาตรา มีเนื้อหาที่ขัดต่อระบอบประชาธิปไตยเกือบทั้งฉบับ 

      นายจารุพงศ์ยังกล่าวถึงรัฐธรรมนูญ มาตรา 35 มาตรา 38 และมาตรา 44 และทิ้งท้ายว่า องค์กรเสรีไทยฯขอรับเป็นผู้ประสานงานยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนขึ้นในเร็ววันนี้ เพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชนชาวไทย 

@ ปชป.ขอบคุณกกต.ฟัน"ปู"

      นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่คณะอนุกรรมการสืบสวนสอบสวนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพวกรวม 9 คน ใช้ตำแหน่งหน้าที่ในการเดินทางหาเสียงหรือทัวร์นกขมิ้น มีความผิดฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 181(4) มีโทษจำคุกและเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และหากเป็นกรรมการอาจมีผลให้ยุบพรรคว่า กกต.ทำตามขั้นตอนอย่างรอบคอบ เพราะเมื่อถูกร้องเรียนก็ต้องรับเรื่องแล้วตรวจสอบข้อเท็จจริง เมื่อเห็นว่ามีมูลก็ตั้งกรรมการไต่สวน ต้องใช้เวลาพอสมควรในการรับฟังข้อมูลจากทุกฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาและผู้กล่าวหา จึงจะวินิจฉัยชี้ได้ว่าควรจะดำเนินการอย่างไร

      "พฤติกรรมดังกล่าวชัดเจนทั้งภาพและเสียงตามสื่อต่างๆ ไม่มีทางที่จะหลบหลีกกรรมไปได้ว่าเป็นการเอาเปรียบการเลือกตั้ง โดยใช้ทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐและงบประมาณของรัฐ ทำให้การเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม เป็นการขัดกฎหมายชัดเจน เพราะผู้กระทำเป็นผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการสั่งการ นอกจากนี้กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทยหลายคนก็ร่วมเดินทางไปด้วย ต้องขอขอบคุณที่อนุ กกต.กล้าทำข้อเท็จจริงให้ปรากฏ และหวังว่า กกต.ทั้ง 5 คนจะพิจารณาตามข้อเท็จจริง" นายวิรัตน์กล่าว

@ พท.ปัดปูเลื่อนกลับไทย10ส.ค.

     นายสิงห์ทอง บัวชุม คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกระเเสข่าวน.ส.ยิ่งลักษณ์ขอขยายเวลาเดินทางกลับประเทศจากเดิมที่ระบุวันที่ 10 สิงหาคม ว่า เป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เพียงแต่พูดในหลักการว่าถ้าหากมีภารกิจจำเป็นก็อาจชี้เเจงเหตุผลถึงความจำเป็นแล้วมอบอำนาจให้คนอยู่ประเทศนำไปยื่นต่อ คสช. ซึ่งเป็นการอธิบายตามหลักการ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการขอเลื่อน เป็นไปตามกำหนดการเดิม คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางกลับประเทศไทยวันที่ 10 สิงหาคม ส่วนที่วิพากษณ์วิจารณ์ว่าจะไม่กลับมาเเล้ว เพราะกังวลเรื่องคดี ก็ไม่เป็นความจริง 

     "ขนาดหลังจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด โครงการรับจำนำข้าว ทีมทนายทักท้วงไม่ให้ชี้เเจง ยังขอชี้แจงด้วยตัวเอง ประกอบกับมีกระบวนการต่อสู้ทางคดีได้อีก แม้ผ่าน ป.ป.ช.ไป ยังมีต่อในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งยังใช้เวลาอีกนาน มั่นใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะกลับมาสู้คดีอย่างแน่นอน" นายสิงห์ทองกล่าว

@ พท.งัดคำสั่งคสช.ฉบับ 63 สู้กกต.

     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ เลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีที่อาจมีการยุบพรรคเพื่อไทย จากคดีล่าสุดในมือ กกต.ว่า 1.น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะคงแก้ข้อกล่าวหาไปตามข้อเท็จจริง ส่วนตัวมั่นใจว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปตรวจราชการจริงๆ และไม่คิดเอาเปรียบใครเพื่อประโยชน์ในการเลือกตั้งแน่นอน 2.เมื่อดูวัตถุประสงค์หลักของ คสช.ที่เข้ามาบริหารประเทศ กำหนดไว้ชัดเจนว่า เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นในบ้านเมือง จึงเห็นกิจกรรมสร้างความปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

     "โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้อ่านประกาศ คสช.ฉบับที่ 63 ลงวันที่ 12 มิถุนายน 2557 เรื่อง นโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐ ในประกาศได้มีการกล่าวถึงปัญหาในอดีตในการทำหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม จึงได้มีประกาศมอบนโยบายเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของรัฐไว้ว่า ให้ยึดมั่นในการปฏิบัติงานด้วยความเที่ยงธรรมและมีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งสาธารณชนสามารถตรวจสอบได้ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการดำเนินการใดๆ ที่อาจมีผลทำให้เกิดความเข้าใจผิดแก่สาธารณชนในการบังคับใช้กฎหมายอันจะนำไปสู่ความขัดแย้งและความแตกแยกในสังคม ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรมและไม่เลือกปฏิบัติ โดยตรรกะจะเห็นได้ว่า คสช.เห็นสาเหตุของปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง จึงออกประกาศดังกล่าวเพื่อเป็นนโยบายให้ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติ" นายชวลิตกล่าว

@ วอนผู้เกี่ยวข้องคลี่คลายปัญหา

      "นับว่าเป็นเรื่องดีและถูกต้องตามสถานการณ์ แต่คณะกรรมการสืบสวนฯ ทำตามนโยบายของ คสช.ทันหรือไม่ ยกตัวอย่าง อดีตนายกรัฐมนตรีเพียรพยายามขอความเป็นธรรมขอให้คณะกรรมการสืบสวนฯ สอบพยานบุคคลเพิ่มเติม ซึ่งเพิ่มเพียงไม่กี่ปาก แต่ไม่ได้รับอนุญาต ถ้าอนุญาตและสอบกันจริงๆ จังๆ ก็ไม่น่าจะใช้เวลาเกินสองสัปดาห์ ความยุติธรรมจะเสียหายตรงไหน ตรงกันข้าม กลับจะได้รับความชื่นชมจากทุกฝ่ายว่าคณะกรรมการสืบสวนฯ ได้ให้ความเป็นธรรมและให้โอกาสกับผู้ถูกกล่าวหาอย่างเต็มที่แล้ว" นายชวลิตกล่าว และว่า ดังนั้นประเด็นความไม่ยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติในการตรวจสอบจึงยังคงเป็นปัญหาค้างคาใจคนอยู่จำนวนไม่น้อยที่ไม่อาจนับเป็นตัวเลขได้ จึงเป็นการบ้านที่ผู้เกี่ยวข้องจะต้องคลี่คลายปัญหาหรือเยียวยาเพื่อให้บ้านเมืองเกิดความปรองดองสมานฉันท์ได้อย่างแท้จริงและตรงจุดต่อไป

       นายชวลิต กล่าวว่า 3.ขณะนี้ก็ใกล้วันแม่เข้ามา ตนอยากให้การปรองดองสมานฉันท์ตามนโยบายของ คสช.สัมฤทธิผล เฉพาะอย่างยิ่งบ้านเมืองเราเสียโอกาส ตกหล่มตกหลุมดำแห่งความขัดแย้งมาเกือบ 10 ปีแล้ว ประเทศชาติและประชาชนเสียหายมามากพอแล้ว

@ เบรกกกต.บางคนสงบปาก

      นายพิชิต ชื่นบาน คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต. มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวกรวม 9 คน กรณี "ทัวร์นกขมิ้น" ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมชี้แจง โดยทางสำนักงาน กกต.มีหนังสือถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ก่อนที่จะเดินทางไปต่างประเทศเพียง 1 วันเท่านั้น เมื่อดูจากเรื่องที่กล่าวหาจะต้องตรวจสอบพยานบุคคลและพยานเอกสารจำนวนมาก น.ส.ยิ่งลักษณ์จึงทำเรื่องขอเลื่อนการยื่นเอกสารออกไป 15 วันหลังจากที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ หรือพูดง่ายๆ คือ 15 วันนับจากวันที่ 10 สิงหาคม 2557 ซึ่ง กกต.ได้อนุมัติแล้ว

      "ผมอยากให้ กกต.อย่าด่วนชี้นำความผิดจนนำไปสู่การโยงว่าต้องไปยุบพรรค เพราะต้องทำความเข้าใจว่าฝ่ายบริหารกับฝ่ายการเมืองทำงานแยกกัน และ น.ส.ยิ่งลักษณ์มีหลักฐานว่าไม่ได้ใช้เงินและเจ้าหน้าที่ของรัฐไปทัวร์นกขมิ้น ทั้งไม่มีข้อเท็จจริงใดๆ ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ไปหาเสียงหรือไปกล่าวในเชิงหาเสียงที่จังหวัดใดเลย" นายพิชิตกล่าว และเสริมว่า ขอให้ผู้ใหญ่ของ กกต.ช่วยปราม กกต.คนหนึ่งที่ออกมาชี้นำให้สงบปากสงบคำด้วย เพราะ น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมชี้แจงและแสดงหลักฐานทั้งหมด 

@ กกต.ขยายเวลาให้ผู้ถูกกล่าวหาแจง

       ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. แถลงหลังการประชุม กกต.ว่า ที่ประชุมได้รับทราบกรณีที่คณะกรรมการสืบสวนสอบสวนของ กกต.มีมติเอกฉันท์แจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์กับพวกรวม 9 คน กรณีใช้บุคลากรและทรัพยากรของรัฐไปเดินสายตรวจราชการในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงที่มีพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ก.) เลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ 2557 สำนวนอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะกรรมการสืบสวนฯ กกต.จึงทำได้เพียงรับทราบถึงความก้าวหน้าในการดำเนินการเท่านั้น

      "ได้สอบถามกับเลขานุการคณะกรรมการสืบสวนฯ ทราบว่าได้มีหนังสือส่งไปถึงผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 9 คนเรียบร้อยแล้ว มีผู้ถูกกล่าวหา 2-3 คน ขอขยายระยะเวลาการยื่นเอกสารหลักฐานและการเข้าชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาที่ กกต.ให้เวลาไปเบื้องต้น 15 วัน ขณะที่บางรายยังไม่สามารถติดต่อได้ รวมทั้งบางรายก็อ้างว่าหาข้อมูลไม่ทัน ในทางปฏิบัติหากครบระยะเวลา 15 วันแล้วทางคณะกรรมการสืบสวนฯจะพิจารณาว่าข้อมูลที่ได้รับเพียงพอหรือไม่ หรือมีความจำเป็นที่จะต้องขยายระยะเวลาให้กับผู้ถูกกล่าวหาได้ชี้แจงให้ครบถ้วน ก็จะอนุญาตให้ขยายเวลาชี้แจงได้เพิ่มอีก" 

      นายภุชงค์ กล่าว และว่า คณะกรรมการสืบสวนฯจะต้องรอคำชี้แจงของผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมดให้ครบถ้วนเสียก่อนเพราะเป็นเรื่องที่อยู่ในสำนวนเดียวกัน ก่อนที่จะพิจารณาสรุปและมีมติเสนอต่อ กกต.

@ เผยเพื่อไทยส่อถูกยุบพรรค

       รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับกรณีที่คณะกรรมการสืบสวน กกต.มีมติแจ้งข้อกล่าวหา น.ส.ยิ่งลักษณ์และพวกรวม 9 คนนั้น หากคณะกรรมการสืบสวนฯ ตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่า มีการกระทำดังกล่าวเข้าข่ายการฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญ มาตรา 181 (4) ที่ระบุห้ามไม่ให้คณะรัฐมนตรีใช้บุคลากรและทรัพยากรของรัฐไปกระทำการที่มีผลต่อการเลือกตั้ง ประกอบมาตรา 57 และมาตรา 137 ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. มีโทษต้องระวางจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาทถึง 200,000 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มีกำหนด 10 ปี และถ้าหากผู้ถูกกล่าวหามีตำแหน่งเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมืองด้วยก็จะมีความผิดตามมาตรา 94 (2) ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองด้วย ที่ระบุว่า การกระทำอันเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. หรือระเบียบ หรือประกาศ กกต. ซึ่งมีผลทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม อาจถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองได้

@ เชื่อได้สปช.ครบ 250 ในเดือนต.ค.

      นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวถึงกรณีที่เดินทางไปพบกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช.ว่า ได้หารือซักซ้อมถึงการปฏิบัติงานในการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ กกต.ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการสรรหา รวมถึงแนวทางในการประชาสัมพันธ์เพื่อให้องค์กรนิติบุคคลได้มีการเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น สปช.เข้ามาให้เป็นจำนวนมาก โดย กกต.ได้นำเสนอถึงแผนการปฏิบัติงานซึ่งขณะนี้ทางสำนักงานได้วางกรอบการทำงานในแต่ละขั้นตอนไว้ทั้งหมดแล้ว เพียงแต่รอร่าง พ.ร.ก.ว่าด้วยการสรรหา สปช.ประกาศให้มีผลบังคับใช้ "จากนั้น คสช.จะแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหารวม 11 คณะ กกต.ก็จะเริ่มเปิดให้องค์กรนิติบุคคลได้เสนอชื่อผู้เหมาะสมที่จะเป็น สปช. คาดว่าจะเป็นช่วงกลางเดือนสิงหาคม และจะใช้เวลาประมาณ 20 วัน จากนั้นอีก 10 วันจะเป็นเรื่องของการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับการเสนอชื่อ และอีก 10 วันจะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาที่จะดำเนินการสรรหาก่อนส่งให้ คสช.คัดเลือกและแต่งตั้งต่อไป โดยกระบวนทั้งหมดน่าจะใช้เวลาประมาณ 55-60 วัน และภายในวันที่ 2 ตุลาคมนี้น่าจะได้รายชื่อ สปช.ทั้ง 250 คน" นายภุชงค์กล่าว

       นายภุชงค์ กล่าวอีกว่า จากการหารือ คสช.มีเจตนาที่จะให้องค์กรนิติบุคคลได้มีการเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น สปช.กันให้มาก จึงไม่ได้จำกัดว่าองค์กรนิติบุคคลที่จะเสนอชื่อต้องก่อตั้งมาแล้วกี่ปี เพียงแต่เป็นองค์กรที่มีการจดทะเบียนตามกฎหมายเท่านั้น รวมทั้งมีการผ่อนปรนให้กับพรรคการเมืองที่จะเสนอชื่อผู้เหมาะสมเป็น สปช. โดยให้หัวหน้าพรรคเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรได้เลยโดยไม่ต้องมีการจัดประชุมพรรคการเมืองเหมือนองค์กรนิติบุคคล ส่วนสิทธิประโยชน์ของผู้ที่เป็น สปช.จะเหมือนกับ ส.ส. ส.ว. และ สนช.ในอดีต

@ ตั้ง"สิทธิโชค"สอบน.ส.พ.ผู้จัดการ

      เวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่อาคารสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย มีการประชุมคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ มีวาระสำคัญเพื่อพิจารณาข้อร้องเรียนของ คสช.ที่กล่าวหาว่าหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 ประจำวันที่ 26 กรกฎาคม "1 สิงหาคม มีการพาดหัวข่าวและตีพิมพ์เนื้อหาหลายเรื่องที่เป็นข้อความเสียดสี และเป็นเท็จซึ่งอาจทำให้สาธารณะเข้าใจผิดว่าหัวหน้า คสช. อยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง มีเจตนาไม่สุจริต ทำลายความน่าเชื่อถือของ คสช." 

      มีผู้ร่วมประชุม 20 คน ประกอบด้วยตัวแทนจากสื่อมวลชนที่เป็นกรรมการสภา นักวิชาการในฐานะที่ปรึกษา และอนุกรรมการพิจารณารับเรื่องราวร้องทุกข์ ใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง

     นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบข้อร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษรจาก คสช. มีมติให้ ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ รองประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณาตรวจสอบตามธรรมนูญสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พ.ศ.2540 และข้อบังคับของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ว่าด้วยวิธีพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ พ.ศ.2540 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2554 ซึ่งตัวแทนของหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ที่เข้าร่วมประชุมในฐานะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า ยินดีชี้แจงและไม่ขัดข้องที่จะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบของสภาการหนังสือพิมพ์ หากผลสอบสวนออกมาเป็นอย่างไรก็พร้อมปฏิบัติตาม 

       นายจักร์กฤษ กล่าวว่า จากนี้ไปคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องร้องทุกข์จะส่งข้อร้องเรียนไปให้หนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์ เพื่อดำเนินการชี้แจงแก้ไข ตามที่ คสช. ร้องเรียน หากทางหนังสือเอเอสทีวีผู้จัดการสุดสัปดาห์พิจารณาแก้ไขและขอโทษผู้ร้องเรียน หากผู้ร้องเรียนพอใจถือว่าเป็นที่ยุติ

@ คสช.ร่อนจม.แจงเตือน"ผู้จัดการ"

      วันเดียวกัน คณะทำงานด้านกฎหมาย ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักเลขาธิการ คสช. ได้ส่งหนังสือถึงสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 มีเนื้อความว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติได้มีคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 108/2557 เรื่อง การตักเตือนสื่อสิ่งพิมพ์ที่ฝ่าฝืนข้อห้าม ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2557 อันสืบเนื่องจากกรณีที่หนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ สุดสัปดาห์ ฉบับที่ 251 วันที่ 26 กรกฎาคม-1 สิงหาคม 2557 ได้มีการตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่อง เช่น บนหน้าปกหนังสือและในหน้า 4 ซึ่งมีข้อความว่า "ธรรมนูญ "บิ๊กตู่" คสช.พ่อทุกสถาบัน?" ซึ่งเป็นข้อความที่เสียดสีและอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ว่าหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติอยู่เหนือสถาบันเบื้องสูง

      และในหน้าที่ 16 ที่มีข้อความตอนหนึ่งว่า "ส่วนคนที่ได้รับอำนาจตรงในการเลือกสรรเครื่องสุขภัณฑ์นั้น ไม่ใช่ "บิ๊ก คสช." อย่างที่เข้าใจกัน แต่เป็นทายาทของ "บิ๊ก คสช." รายหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเล่นว่า "น้องตาล" ฟังผิวเผินชื่อ "ตาล" คล้ายกับชื่อ "ตู่" ที่มี ต.เต่าเหมือนกัน จนนึกไปว่า "น้องตาล" เป็นลูก "บิ๊กตู่" แต่หากลองคลิกเข้าไปใน "อาจารย์กูเกิล" แล้วคงจะถึงบางอ้อว่า "บิ๊กตู่" มีลูก 2 คน เป็นผู้หญิงทั้ง 2 คน และไม่ได้ชื่อใกล้เคียงกับ "ตาล" เลย แต่ "น้องตาล" กลับเป็นชื่อทายาทของ "บิ๊ก คสช." ผู้ที่ยังมากบารมี แต่ขอลดบทบาทเพื่อแต่งตัวรอบางสิ่งบางอย่างที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่าการให้ "ลูกตาล" ซึ่งถือเป็นคนรู้ใจมาเลือกสิ่งอำนายความสะดวกใน "ทำเนียบรัฐบาล-ตึกไทยคู่ฟ้า" อาจจะส่งสัญญาณบางอย่างออกมาให้เห็น "บิ๊ก คสช." ที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี อาจจะไม่ใช่ "บิ๊กตู่" อย่างที่คาดเดากัน แต่มี "ตาอยู่" ที่ "บิ๊กตู่" วางใจให้มาสานงานต่อก็เป็นได้ ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน ก็คนกันเองใน คสช.นั่นแล"

    กับข้อความในหน้า 18 ซึ่งมีข้อความที่กล่าวถึง "การคัดสรรสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติว่า มีลักษณะเป็นการต่างตอบแทน เอาโควต้ามาแบ่งเค้ก" ซึ่งข้อความดังกล่าวเป็นความเท็จ จึงถือว่าการกระทำดังกล่าวของหนังสือพิมพ์เอเอสทีวี ผู้จัดการ สุดสัปดาห์มีเจตนาไม่สุจริตเพื่อทำลายความน่าเชื่อถือของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ถือว่าเป็นการฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 18 กรกฎาคม 2557 เรื่อง การให้ความร่วมมือต่อการปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติและการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ และประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 103/2557 เรื่อง แก้ไขเพิ่มเติมประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 97/2557 ลงวันที่ 21 กรกฎาคม 2557 รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่ส่งมาด้วย

      คณะรักษาความสงบแห่งชาติจึงขอให้สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติพิจารณาดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าว และรายงานผลให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติทราบ ลงนาม พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ

@ ป.ป.ช.ถกปมธุรกรรม 5 แสน

      เวลา 13.40 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการ ป.ป.ช. แถลงผลการประชุมหลักเกณฑ์ ขั้นตอน วิธีการ ในการเชื่อมโยง รับ-ส่ง ข้อมูลระหว่างสำนักงาน ป.ป.ช. สถาบันการเงิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตามร่างประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่องกำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. พ.ศ.... ว่า คณะทำงาน ป.ป.ช.ได้ร่วมประชุมกับผู้บริหารสถาบันการเงินในระดับผู้บริหารสายกำกับ สายตรวจสอบ และสายเทคโนโลยี ประมาณ 130 คน ทั้งหมดเห็นด้วยกับมูลค่าธุรกรรมตามร่างประกาศของ ป.ป.ช.ที่ได้กำหนดเอาไว้คือ เงินสดหมุนเวียน 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์มูลค่าประเมิน 1 ล้านบาท 

       "ในขั้นตอนต่อไปจะประชุมร่วมกันในคณะทำงานอีกครั้งหลังจากมีเรื่องที่ต้องร่วมกันพิจารณาในรายละเอียดทางเทคนิคและในทางปฏิบัติอีกประมาณ 32 ประเด็น อาทิ ขั้นตอนการกรอกแบบฟอร์มของ ป.ป.ช. รวมไปถึงรูปแบบของเทคโนโลยีที่ใช้สำหรับการรับ-ส่งข้อมูลระหว่างหน่วยงานและสถาบันการเงิน ทางตัวแทนผู้บริหารการเงินจะส่งตัวแทน 5 คนมาร่วมประชุมกับคณะทำงานของ ป.ป.ช. เพื่อกำหนดรายละเอียดทั้ง 32 ประเด็นภายในเดือนสิงหาคม" นายวรวิทย์กล่าว

@ ชี้อายัดเงินผิดปกติเร็วขึ้น

       นายวรวิทย์ กล่าวว่า ถ้าพิจารณาในประเด็นได้เสร็จทั้งหมด คาดว่า ป.ป.ช.จะมีมติเพื่อให้ร่างประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ไม่เกินวันที่ 30 กันยายนนี้ ซึ่งเป็นไปตามกรอบการพิจารณาเดิมที่กำหนดเอาไว้ สำหรับร่างประกาศฉบับนี้ หากบังคับใช้มั่นใจว่าจะเป็นเครื่องมือในการปราบปรามการทุจริตได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจาก ป.ป.ช.สามารถเข้าไปตรวจสอบทรัพย์สินและการทำธุรกรรมของผู้ที่มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถอายัดทรัพย์สินเมื่อพบว่ามีความผิดปกติได้ทันท่วงที จากเดิมต้องรอให้บุคคลพ้นจากตำแหน่งทางการเมืองก่อน ป.ป.ช.จึงจะสามารถดำเนินการได้ จะทำให้การทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้น 

     เมื่อถามว่า ป.ป.ช.ได้สรุปแล้วหรือไม่ว่าบุคคลที่เข้าข่ายต้องถูกตรวจสอบการทำธุรกรรมตามร่างประกาศดังกล่าวมีใครบ้าง นายวรวิทย์กล่าวว่า ประกอบไปด้วย 1.ผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. 2.คู่สมรส 3.บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ และ 4.บุคคลที่เกี่ยวข้อง อย่างไรก็ตาม การออกประกาศฉบับนี้เป็นไปเพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการปราบปรามการทุจริตเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระบวนการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของผู้กระทำความผิดที่ได้มาจากการทุจริตคอร