วันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8643 ข่าวสดรายวัน


'ทักษิณ'แจกการ์ด จงรักภักดี 
โพลปลื้ม'บิ๊กตู่'เชียร์เป็นนายก พท.ไม่ขัดทหาร นั่งสนช.เกินครึ่ง แต่40สว.ไม่ควร


การ์ดแม้ว - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่อนการ์ดวันเกิดจากฝรั่งเศส ส่งให้คนใกล้ชิดเพื่อเผยแพร่ผ่านเครือข่ายโซเชี่ยล มีเดีย มีเนื้อหายืนยันถึงความจงรักภักดีต่อสถาบัน เบื้องสูง เมื่อวันที่ 27 ก.ค.

      ชาวบ้านปลื้มผลงานคสช. 2 เดือน ให้คะแนน 8.87 จากเต็มสิบ เชียร์ "บิ๊กตู่" นายกฯ คสช.ออกทีวีสรุปผลงาน แจงโรดแม็ปบริหารประเทศ ปฏิรูปการเมืองเดินหน้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืน พรรคเพื่อไทยไม่ติดใจตั้งทหารเกินครึ่งนั่งสนช. ชี้เป็นเรื่องปกติเพื่อให้งานไม่สะดุด ทั้งตั้งนายกฯ-ออกกฎหมาย ขวางกลุ่ม 40 ส.ว.เข้าร่วม แนะควรเลือกส.ว.สายเลือกตั้งดีกว่าเพราะประชาชนยอมรับ "ทักษิณ"ส่งการ์ดถึงคนไทย ยันภักดีสถาบันและอยากเห็นคนไทยปรองดอง ป.ป.ช.นัดหารือสถาบันการเงิน เร่งออกประกาศ ป.ป.ช.คุมมูลค่าทรัพย์สินในการทำธุรกรรมของนักการเมือง-ขรก. สภาการน.ส.พ.เรียกประชุมกก.สอบสื่อผู้จัดการปมผิดจริยธรรม

คสช.โชว์ผลงาน 2 เดือน

      วันที่ 27 ก.ค. พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง โฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 18.00 น. สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ได้เผยแพร่ผลงานครบ 2 เดือนของคสช. ในรูปแบบสกู๊ปรายการสรุปผลการบริหาร ใช้ชื่อว่า "ราย การพิเศษสรุปผลงานในรอบ 2 เดือน" ความยาว 40 นาที โดยงดรายการเดินหน้าประเทศไทย 

     สำหรับเนื้อหาของรายการ แบ่งเป็นภาพรวมของการขับเคลื่อนประเทศหรือโรดแม็ปที่กำหนดไว้ 3 ระยะ ซึ่งขณะนี้ดำเนินการในระยะที่ 2 เข้าสู่การจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หลังประกาศรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว การแก้ไขปัญหาต่างๆ อาทิ การปราบปรามอาวุธสงคราม การพนัน ผู้มีอิทธิพล การดูแลผู้ประกอบการรถรับจ้างที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม ขบวนการลักลอบนำพาแรงงานต่างด้าว รวมถึงมาตรการชั่วคราวแก้ไขปัญหาเรื่องปากท้องค่าครองชีพ การช่วยเหลือเกษตรกร การปรับปรุงกฎหมาย

       นอกจากนั้น ยังมีเรื่องการขับเคลื่อนงานด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และการบังคับใช้กฎหมายเพื่อดูแลความสงบเรียบร้อย โดยภารกิจทั้งหมดได้ดำเนินการผ่านการปฏิบัติงานแบ่งเป็น 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดิน กลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย และกลุ่มงานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป 

ลั่นปชช.ได้ใช้ชีวิตปกติสุข

      สำหรับการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2558 ที่คสช.มีมติให้ความเห็นชอบวงเงินงบประมาณปี 2558 จำนวน 2,575,000 ล้านบาท โดยเป็นนโยบายขาดดุล 250,000 ล้านบาท รายได้สุทธิ 2,325,000 ล้านบาท งบประมาณเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 จำนวน 50,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.0 นั้น คาดว่าฝ่ายนิติบัญญัติจะพิจารณาภายในห้วงเดือนส.ค.-ก.ย.นี้ และจะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 2558 ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายในวันที่ 15 ก.ย. และประกาศใช้ได้ในวันที่ 1 ต.ค. 2557 ทั้งนี้ หลังจาก คสช.เข้ามาบริหารประเทศ หน่วยงานต่างๆ มีความชัดเจนในการดำเนินงานทำให้การเบิกจ่ายเพิ่มสูงขึ้น 240,363 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15.5

       ส่วนกลุ่มงานรักษาความสงบเรียบร้อย ยังคงจำเป็นต้องเชิญบุคคลที่อยู่ในความขัดแย้งทั้งโดยตรงและโดยอ้อมเข้ารายงานตัวเพื่อสร้างความเข้าใจ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อความมั่นคงของประเทศ และประชาชนในทุกมิติ ซึ่งได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างดี และในช่วงเดือนที่ 2 นี้ จะเห็นว่าประชาชนในทุกพื้นที่ลดความกังวลลง กลับมาใช้ชีวิตตามปกติสุข ขณะที่ธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการมีความคล่องตัวดังเดิม อย่างไรก็ตาม คสช.ยังจําเป็นต้องเตรียมความพร้อมไว้ตลอดเวลา

วางกรอบปฏิรูปการเมือง

        งานสร้างความปรองดองและการปฏิรูป จากการรวบรวมข้อมูลและจัดสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญ ทั้งส่วนราชการ นักวิชาการ ผู้แทนพรรคการเมือง ภาคธุรกิจ องค์กรอิสระ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มเห็นต่าง รวมถึงภาคประชาชนอื่นๆ รวม 53 ครั้ง เพื่อนำไปจัดทำ "กรอบความเห็นร่วม" ในประเด็นการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน สรุปได้ว่าการปฏิรูปการเมืองมีอยู่ 4 เรื่องคือ โครงสร้างทางการเมือง การคัดสรรบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ปราศจากการครอบงำจากนายทุนพรรค กระบวนการถ่วงดุลอำนาจการบริหาร และกระบวนการถอดถอนบุคคลดำรงตำแหน่งทางการเมือง

      ส่วนการปฏิรูปเพื่อแก้ปัญหาทุจริตมีแนวทางสำคัญรวม 4 ด้าน ได้แก่ ด้านการป้องกัน ด้านการปราบปราม ด้านโปร่งใส และด้านเป็นธรรม ซึ่งผลสรุปดังกล่าวจะรายงานให้ คสช.ทราบ เพื่อนำไปพิจารณาใช้ได้ในสิ้นเดือนก.ค.นี้ 

ย้ำคืนความสุขให้คนในชาติ

หากพิจารณาจากปรากฏการณ์ที่เห็นจากสังคมถึงแนวทางการขับเคลื่อนประเทศของ คสช.แล้ว ชัดเจนว่าสถานการณ์และปัญหาในด้านต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ หลังได้รับการตอบรับอย่างดีจากประชาชน โดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคมและสิ่งผิดกฎหมายที่ดำเนินการอย่างเฉียบขาด ซึ่งหลายปัญหาต้องใช้เวลาสะสาง และหลายปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคสช.เพียงลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกกลุ่มทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน

สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นเจตนารมณ์ของ คสช. คือการคืนความสุขให้กับประชาชน ลดความหวาดระแวง ความไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน ลดการทุจริต สร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมให้ได้โดยเร็ว พร้อมนำทุกปัญหาที่มีผลกระทบโดยเร่งด่วนกับความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน การสร้างอาชีพรายได้ให้กับประชาชน พร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของโลก และพร้อมก้าวสู่ความเป็นประชาคมอาเซียนและประชาคมโลกในโอกาสต่อไปโดยเร็วที่สุด

ตั้งเป้าสู่ปชต.ที่ยั่งยืน

ในเนื้อหารายการระบุด้วยว่า วันที่ 22 ก.ค.ที่ผ่านมา ถือเป็นวันครบรอบ 2 เดือนของการบริหารราชการแผ่นดินโดย คสช. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท รับพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ที่ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว มีทั้งหมด 17 หน้า ประกอบด้วย 48 มาตรา มีสาระสำคัญ อาทิ ให้รัฐบาล ฝ่ายบริหาร คณะรัฐมนตรี รับผิดชอบงานเฉพาะด้านการบริหาร โดย คสช.รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีสมาชิก 220 คน ทำหน้าที่ออกกฎหมาย สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิก 200 คน ทำหน้าที่คล้ายสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) คือพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอมาและยังมีหน้าที่กำหนดวาระการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น

ทั้งนี้ คสช.มุ่งหวังให้การบริหารราชการแผ่นดินนับจากนี้ต่อไปเรียบร้อย คนไทยทุกพวกทุกฝ่าย มีความรัก ความสามัคคีและปรองดองสมานฉันท์ ซึ่งเป็นแนวทางสำคัญและมั่นคงเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ 

ผู้นำชุมชนปลื้มคสช.ปราบอาวุธ

นายเชษฐ รัชดาพรรณาธิกุล รองประธานมาสเตอร์โพลล์ ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน (Thai Researchers in Community Happiness Association, TRICHA) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพลล์ เรื่องสำรวจความพึงพอใจของแกนนำชุมชนต่อการทำงานของ คสช. กรณีศึกษาตัวอย่างแกนนำชุมชน 517 ชุมชน วันที่ 12-26 ก.ค. พบว่าร้อยละ 85.9 ติดตามรายการคืนความสุขให้คนในชาติผ่านสื่อมวลชน ร้อยละ 14.1 ไม่ได้ติดตาม 

ส่วนความพึงพอใจต่อการปฏิบัติงาน ของคสช.ในด้านต่างๆ เมื่อคะแนนเต็ม 10 คะแนน พบว่า ด้านสังคม ความพึงพอใจใน 5 อันดับแรก ได้แก่ การปราบปรามจับกุมอาวุธสงคราม 8.83 คะแนน ความคืบหน้าคดีข่มขืนบนรถไฟ 8.81 คะแนน การแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ 8.38 คะแนน แก้ปัญหายาเสพติด 8.37 คะแนน และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม 7.91 คะแนน

ด้านการเมือง ความพึงพอใจใน 5 อันดับแรก ได้แก่ แนวทางการขอความร่วมมือจากประชาชนทุกคน ทุกพวกทุกฝ่ายได้ 8.25 คะแนน การปรองดอง 8.24 คะแนน รักษาความเป็นกลางให้กับทุกกลุ่มทุกฝ่าย 8.20 คะแนน การย้ายข้าราชการระดับสูง 8.04 คะแนน และรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อจัดตั้งรัฐบาล 7.97 คะแนน

หนุน"บิ๊กตู่"นั่งนายกฯ

ด้านการพัฒนาประเทศโดยภาพรวมและเศรษฐกิจ ความพึงพอใจใน 5 อันดับแรก ได้แก่ อันดับ 1 แนวทางการพัฒนาประเทศภาพรวม ได้ 8.18 คะแนน อันดับ 2 ได้แก่ แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม บุกรุกป่าและอุทยาน ได้ 8.16 คะแนน อันดับ 3 ได้แก่ ปรับปรุงเงินเบี้ยผู้สูงอายุให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันได้ 7.96 คะแนน อันดับ 4 ได้แก่ เร่งอนุมัติโครงการส่งเสริมการลงทุน ได้ 7.86 คะแนน และอันดับ 5 ได้แก่ พิจารณาจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน สร้างอาชีพในชนบท ลดความแออัดในเมือง ได้ 7.85 คะแนน ตามลำดับ ทั้งนี้ คะแนนความพึงพอใจโดยภาพรวมได้ 8.67 คะแนน

ประเด็นสำคัญคือสอบถามถึงการสนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ นั้น พบว่า ร้อยละ 57.2 ระบุสนับสนุนมาก-มากที่สุด ร้อยละ 22.3 ระบุค่อนข้างมาก ร้อยละ 10.4 ระบุค่อนข้างน้อย และร้อยละ 10.1 ระบุน้อย-ไม่สนับสนุนเลย 

โพลชี้ปชช.มีความสุขมากขึ้น

นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "คสช. กับการคืนความสุขให้คนในชาติ" สำรวจวันที่ 24-25 ก.ค. จากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวม 1,256 หน่วยตัวอย่าง หลังครบรอบ 2 เดือนของการบริหารเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติของคสช. พบว่า ร้อยละ 66.48 ระบุมีความสุขเพิ่มขึ้น เพราะปัญหาความขัดแย้งวุ่นวายต่างๆ สงบลง คนในชาติไม่ทะเลาะแบ่งพรรคแบ่งฝ่ายกัน การเดินทางสัญจรคล่องตัวมากขึ้น ชาวนาได้รับเงินจำนำข้าว มีการแก้ปัญหาในด้านต่างๆ อย่างเป็นระเบียบ เช่น การแก้ปัญหาทางการเมือง การทุจริตคอร์รัปชั่น การจัดระเบียบสังคม 

ร้อยละ 27.94 ระบุว่ามีความสุขเท่าเดิม เพราะยังมองไม่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงใดๆ ร้อยละ 4.94 ระบุมีความสุขลดลง เพราะยังได้รับผลกระทบจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น ข้าวของแพง เศรษฐกิจไม่ดี และได้รับความบันเทิงจากการรับชมสื่อโทรทัศน์ลดน้อยลง และร้อยละ 0.64 ไม่สามารถระบุได้

เห็นด้วยรธน.คงอำนาจคสช. 

เมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่ให้ คสช.ยังคงดำรงอยู่เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูป และรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ พบว่า ร้อยละ 79.94 เห็นด้วยเพราะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อยมากขึ้น เป็นจุดเริ่มของการปฏิรูปประเทศในทางที่ดีขึ้น และลดทอนอำนาจของนักการเมืองเพื่อความโปร่งใสในการบริหารบ้านเมือง

ร้อยละ 11.23 ระบุไม่เห็นด้วย เพราะมีบางมาตราที่ยังไม่เหมาะสม และควรมาจากเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ขณะที่ร้อยละ 0.56 รู้สึกเฉยๆ และร้อยละ 8.28 ไม่แน่ใจ

คุมสถานการณ์ได้ดี-มีผลงาน

สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,689 คน วันที่ 22-26 ก.ค. กรณีคสช.เข้ามาบริหารประเทศ 2 เดือน พบว่า ร้อยละ 72.94 เห็นว่ายังควบคุมสถานการณ์บ้านเมืองได้ดี ไม่มีความขัดแย้งหรือการชุมนุมเคลื่อนไหว ร้อยละ 69.98 มองว่า คสช.จัดระเบียบสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน และร้อยละ 67.14 มองว่า คสช.บริหารประเทศได้ดี มีผลงานให้เห็น มุ่งมั่นตั้งใจทํางาน 

จุดเด่นของ คสช.ที่บริหารประเทศครบ 2 เดือน ร้อยละ 35.96 ระบุการทําเพื่อประชาชน คืนความสุขให้กับประชาชน ร้อยละ 34.84 มองว่าแก้ปัญหาได้รวดเร็ว เด็ดขาด กล้าตัดสินใจโดยเฉพาะการจัดระเบียบสังคม อีกร้อยละ 29.20 มองว่าจุดเด่นเป็นการแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ การมอบหมายให้ผู้นําแต่ละเหล่าทัพทําหน้าที่ดูแลด้านต่างๆ 

ปัญหาหรืออุปสรรคในการดําเนินงานของ คสช. ร้อยละ 42.63 ระบุว่าบางปัญหามีความละเอียดซับซ้อน ต้องอาศัยเวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ร้อยละ 35.12 ต่างชาติยังไม่เชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในไทย และร้อยละ 22.25 การดูแลรักษาความปลอดภัยยังไม่ทั่วถึง ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้น เช่น ไฟใต้ 

ชาวบ้านปลื้ม-ให้8.87จากเต็มสิบ

สิ่งที่อยากฝากบอก คสช.เกี่ยวกับการบริหารประเทศ ร้อยละ 50.87 ฝากบอกว่าการจัดระเบียบสังคมเป็นสิ่งที่ดีแต่ควรคํานึงถึงผลกระทบที่ประชาชนบางส่วนจะได้รับ ร้อยละ 36.69 เร่งสร้างความเข้าใจและความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติเพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศ ขณะที่ร้อยละ 12.44 เร่งแก้ปัญหาไฟใต้และดําเนินคดีกับผู้กระทําผิดกฎหมายในเรื่องต่างๆ โดยเร็ว 

ร้อยละ 51.51 ระบุพึงพอใจมากต่อ การบริหารงานของคสช.เพราะทํางานตามแผนที่วางไว้ได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ในภาพรวมยังควบคุมสถานการณ์ได้ดี ร้อยละ 40.26 ค่อนข้างพึงพอใจ เพราะชื่นชอบการจัดระเบียบสังคม ปราบมาเฟีย อาวุธเถื่อน ยาเสพติด ทําให้บ้านเมืองเป็นระเบียบมากขึ้น ร้อยละ 5.57 ไม่ค่อยพึงพอใจเพราะยังไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติได้ เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น และร้อยละ 2.66 ไม่พึงพอใจเลยเพราะ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วตามระบอบประชาธิปไตย 

นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบคะแนนที่ประชาชนให้ คสช. พบว่า คะแนนสูงกว่าจากการที่คสช.ทำงานครบ 1 เดือน โดยคสช.ทำงานครบ 1 เดือน ได้ 8.82 คะแนน ครบ 2 เดือน ได้ 8.87 คะแนน เพิ่มขึ้น 0.05 คะแนน

พท.ค้านอดีต 40 ส.ว.นั่งสนช.

นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปรัฐบาลและอดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์กรณีคัดเลือกบุคคลทำหน้าที่สมาชิกนิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีข่าวมีรายชื่ออดีตกลุ่ม 40 ส.ว.บางคนรวมอยู่ด้วยว่า เท่าที่ทราบจากข่าว สัดส่วนสนช.ส่วนใหญ่มาจากทหารซึ่งเป็นเรื่องปกติ ทหารจะเข้ามากำกับดูแลจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส่วนการกำหนดให้มีสัดส่วนวิชาการและ ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งกลุ่มคนที่ต้องการส่งเสริมเรื่องประชาธิปไตยเข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญนั้นถือว่าเหมาะสม แต่ไม่เห็นด้วยหากมีรายชื่ออดีตส.ว.กลุ่ม 40 ส.ว.เข้ามาร่วมร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็น กลุ่มที่มีความขัดแย้งทางการเมืองมาก่อนหน้านี้ และอาจมองได้ว่ารัฐธรรมนูญจะไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง จึงขอเสนอให้คสช.คัดเลือกบุคคลในสัดส่วนของส.ว.มาจากส.ว.เลือกตั้ง 77 คน ให้ทำหน้าที่เนื่องจากผ่านการคัดเลือกและยอมรับจากประชาชนในพื้นที่แล้ว

"เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.รู้ปัญหาต่างๆ เป็นอย่างดีและคงพิจารณาเรื่องนี้ด้วยความรอบคอบเพื่อปฏิรูปประเทศให้ดีกว่านี้และนำไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงตามที่ประกาศจุดยืนเอาไว้" นายอำนวยกล่าว

ไม่ติดใจตั้งทหารเกินครึ่ง

นายสมคิด เชื้อคง อดีตส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เชื่อว่าการแต่งตั้งสนช.ครั้งนี้จะมีทหารจากทุกเหล่าทัพมาเป็นสนช.มากกว่าครึ่งหนึ่งแน่นอน ถือเป็นเรื่องปกติของการเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่ต้องนำคนของตัวเองเข้ามาเพื่อให้การดำเนินการต่างๆ ทั้งการออกกฎหมาย การแต่งตั้งนายกฯ ราบรื่น ไม่สะดุด หากนำคนที่ไม่ใช่คนของตัวเองเข้ามามากอาจควบคุมไม่ได้ ส่วนตัวไม่ติดใจ หากจะมีทหารมาเป็นสนช.จำนวนมาก แต่ขอให้ดำเนินการกระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามเป้าหมายที่คสช.วางไว้เพื่อให้เกิดความปรองดอง เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะมานั่งเป็นนายกฯ เองเพื่อควบคุมอำนาจทุกอย่างให้เบ็ดเสร็จ ซึ่งเวลา 10-12 เดือน ที่คสช.วางกรอบไว้ก่อนคืนอำนาจให้ประชาชนถือว่าไม่นานเกินไป สามารถรอได้

จี้คสช.ต้องยุติธรรม-เสมอภาค

นายสิงห์ทอง บัวชุม คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า หากคสช.อยากให้ประเทศนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์นั้น สิ่งที่ต้องทำคือยึดประกาศฉบับที่ 63/2557 เรื่องความเป็นธรรม ยุติธรรม เสมอภาคตรงไปตรงมา อย่างกรณีหัวหน้าคสช.มอบให้นายทหารคนหนึ่งมอบแจกันดอกไม้พร้อมคำอวยพรให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 76 ปี เมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา แต่ขณะเดียวกันการจัดงานวันเกิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียล ซึ่ง ทำบุญเลี้ยงพระ แต่ทหารให้ปลดรูปภาพของพ.ต.ท.ทักษิณ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ซึ่งเป็นภาพพี่น้องกอดกันที่สนามบินฝรั่งเศส 

"เรื่องนี้มองได้ว่าเป็นการให้โอกาสแต่ละฝ่ายนำไปสู่การปรองดอง หันหน้าเข้าหากันหรือไม่ มองถึงความเสมอภาคและการนำประเทศไปสู่ความสันติสุขได้ต้องยึดความยุติธรรม ความเท่าเทียม ความเสมอภาค อยากให้คสช.ดำเนินการตามที่ประกาศไว้ด้วย ซึ่งการจัดงานของนายชวน ไม่ได้ยกเลิก นอกจากนี้ ยังส่งกระเช้าดอกไม้ไปให้ ซึ่งต่างจากการจัดงานวันเกิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ทหารกลับขอให้ยกเลิกจัดงาน" นายสิงห์ทองกล่าว

"นิคม"ซัดปชป.ขวางปรองดอง

นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภากล่าวถึงทีมกฎหมายพรรคประชา ธิปัตย์เรียกร้องให้มีมาตรการถอดถอนส.ส.และส.ว.ที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูลว่า ขอยืนยันอีกครั้งว่าอำนาจการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นอำนาจหน้าที่ของส.ส.และ ส.ว. ซึ่งการชี้มูลของป.ป.ช.จะนำไปสู่การถอดถอนในชั้นวุฒิสภาได้จะต้องใช้มาตรา 270-273 แต่รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ยกเลิกไปแล้ว และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่มีระบุไว้ ดังนั้น ความเห็นดังกล่าวจึงเป็นอคติอย่างหนึ่ง ทำให้สังคมเห็นว่านักการเมืองยังรู้สึกชิงชังกันอยู่ หากยังเป็นแบบนี้ต่อไปความปรองดองที่แท้จริงก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ 

ยื่นป.ป.ช.สอบ"สุเทพ-18 อดีตส.ส."

นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะกรรมการกิจการพรรคเพื่อไทยและคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า วันที่ 28 ก.ค.ตนจะส่งอีเอ็มเอสถึงคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ขอให้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯ ของอดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ 19 คนคือ 1.นายอาคม เอ่งฉ้วน 2.นางศิริวรรณ ปราศจากศัตรู 3.นายสรวุฒิ เนื่องจำนงค์ 4.นายยุคล ชนะวัฒน์ปัญญา 5.นายรำรี มามะ 6.นายอับดุลการิม เด็งระกีนา 7.นายเจือ ราชสีห์ 8.นายสมชาย โล่สถาพรพิพิธ 9.นายสาคร เกี่ยวข้อง 10.นายสุชีน เอ่งฉ้วน 11.นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล 12.นาย ชินวรณ์ บุณยเกียรติ 13.นางอัญชลี เทพบุตร

14.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ 15.นายธานี เทือกสุบรรณ 16.นางโสภา กาญจนะ 17.นายสินิตย์ เลิศไกร 18.นายสุรเชษฐ์ มาศดิตถ์ 19.นายพงศ์เวช เวชชาชีวะ ว่าป.ป.ช.ได้ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินฯ เช่นเดียวกับที่ตรวจสอบทรัพย์สินฯ ของนายชินวัฒน์ หาบุญพาด แกนนำแท็กซี่คนเสื้อแดงและแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือไม่กรณีมีที่ดินธุรกิจทำสวนลำไย หรือพืชผลต่างๆ แต่ไม่ได้แจ้งบัญชีทรัพย์สินฯ ต่อป.ป.ช.

นายเรืองไกรกล่าวว่า เพื่อให้เป็นมาตร ฐานอย่างเดียวกันจึงขอแจ้งข้อมูลเพิ่มเติมให้ป.ป.ช.ทราบ และควรขยายผลตรวจสอบกับผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองและผู้ที่ยื่นบัญชีต่อป.ป.ช.ทุกรายที่มีกรณีคล้ายธุรกิจสวนลำไยของนายชินวัฒน์ และหวังว่าคำร้องนี้จะไม่เป็นเหตุให้การตรวจสอบกรณีธุรกิจสวนลำไยของนายชินวัฒน์ต้องถูกยุติไป เพราะจะทำให้ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองฝ่ายตรงข้ามพรรคเพื่อไทยต้องมีปัญหาตามไป ด้วย จึงขอให้ดำเนินการต่อไปอย่างจริงจัง ไม่ควรตั้งธงว่าผลกระทบจะมีใครหรือนักการเมืองด้านไหนได้รับบ้าง แต่ควรทำไปตามเนื้อผ้า 

ทักษิณส่งการ์ด-ภักดีต่อสถาบัน

วันที่ 27 ก.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในโลกออนไลน์มีการส่งต่อภาพการ์ดวันเกิดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เขียนถึงคนไทย โดยระบุว่า "เรามีความจงรักภักดีต่อสถาบันฯ เราห่วงใยประเทศชาติ เรารักและห่วงใยพี่น้องประชาชน เราอยากเห็นความสามัคคีของคนในชาติ" ด้วยความจริงใจ ทักษิณ ชินวัตร

วันที่ 27 ก.ค. นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัวแสดงจุดยืนสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ต่อความเห็นต่อกรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศคำสั่งที่ 108/2557 ตักเตือนหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์ ฉบับ 253 วันที่ 26 ก.ค.-1 ส.ค. ตีพิมพ์ข้อความหลายเรื่องด้วยข้อมูลอันเป็นเท็จโดยมีเจตนาไม่สุจริต และให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ฝ่าฝืนเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพกับบุคคลเหล่านั้น แล้วรายงานผลให้ คสช.ทราบโดยเร็วว่า คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะประชุมวันที่ 29 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและยืนยันตามที่ให้คำมั่นกับ คสช.ว่าเราจะทำหน้าที่สุจริต ตรงไปตรงมา และไม่ปกป้องกันเองอย่างเด็ดขาด หากหนังสือพิมพ์ผู้จัดการสุดสัปดาห์กระทำละเมิดหรือประพฤติผิดจริยธรรมแห่งวิชาชีพข้อใด สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จะดำเนินการตามหน้าที่อย่างเต็มที่ และจะแจ้งผลให้กับผู้ร้องเรียนทราบโดยเร็ว 

นายจักร์กฤษกล่าวว่า กรณีนี้ คสช.คือผู้เสียหายหรือผู้ร้องเรียน และหนังสือพิมพ์ ผู้จัดการสุดสัปดาห์คือผู้ถูกร้องเรียน กระบวนการสอบข้อเท็จจริงต้องเป็นไปตามธรรมนูญ สภาการหนังสือพิมพ์ฯ จึงต้องแจ้งเป็นหนังสือพร้อมพยานหลักฐานว่าผู้ถูกร้องเรียนละเมิดจริยธรรมในเรื่องใด เพื่อให้คณะกรรมการได้สอบสวนตามประเด็นหรือข้อความที่ละเมิดจริยธรรม ซึ่งสอดคล้องกับบทบัญญัติในประกาศฉบับที่ 103 ที่กำหนดให้พนักงาน เจ้าหน้าที่ส่งเรื่องให้องค์กรวิชาชีพที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็นสมาชิกดำเนินการสอบสวนทางจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพ 

นายจิตตนาถ ลิ้มทองกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสื่อในเครือเอเอสทีวีผู้จัดการ ให้สัมภาษณ์ว่า อยากขอรายละเอียดเพิ่มเติมจาก คสช.ว่าข้อมูลตรงส่วนใดที่เป็นเท็จ เพื่อตนจะได้ตรวจสอบได้ทันทีตามคำสั่งของ คสช. ที่ผ่านมาเราให้ความร่วมมือตลอดซึ่งไม่คิดว่าจะมีปัญหาขึ้นมาอีก ทั้งนี้คงต้องเรียกประชุม ให้มีการระมัดระวังมากขึ้น

สมัชชาศธ.จี้คสช.ปรับหลักสูตร

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 27 ก.ค. ที่ห้องพินิตประชานาถ ศาลาว่าการกลาโหม กระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงศ์ หัวหน้าคณะเตรียมการปฏิรูป เป็นผู้แทนพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม เปิดงานประชุมเชิงปฏิบัติการสมัชชาการศึกษา ครั้งที่ 3 โดยได้รับการร่วมมือจากเครือข่ายยุวทัศน์กรุงเทพฯ ในฐานะเครือข่ายเยาวชนปฏิบัติงานด้านการปฏิรูปการศึกษา โดยมีเยาวชนมาเข้าร่วมงานจำนวนหนึ่ง

พล.ร.อ.ชุมนุมกล่าวว่า การปฏิรูปด้านการศึกษาควรเริ่มจากเยาวชนซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญ แม้รัฐบาลจะให้งบประมาณการศึกษามากที่สุด แต่จากผลการศึกษา ประสิทธิผลที่ออกมาไม่ดีเพราะการศึกษาไทยอยู่ในลำดับที่ 8 ในอาเซียน ทั้งนี้ จากการที่คณะทำงานเตรียมการปฏิรูปได้รวบรวมข้อมูลเพื่อเตรียมเสนอสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ไปดำเนินการนั้น พบว่าความหวังของผู้ที่เสนอข้อมูลมีมาก ซึ่งประเด็นที่พูดถึงและอยากให้เยาวชนมีคุณภาพ เช่น มีความซื่อสัตย์ มีวินัย ใฝ่รู้ มีความเป็นจิตอาสา และกล้าแสดงความรับผิด ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการปลูกฝังเยาวชนต่อไป

นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์กรุงเทพฯ กล่าวว่า โครงการสมัชชาการศึกษาเป็นโครงการที่เครือข่ายยุวทัศน์ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาการศึกษาไทย พบว่ามีหลายหลักสูตรต้องปรับปรุงแก้ไข บางหลักสูตรเรียนมาแล้วไม่ได้ใช้งานจริง ซึ่งการจัดงานสมัชชาการศึกษาครั้งนี้ เครือข่ายยุวทัศน์คาดหวังอยากให้มีการนำมาปรับแก้ไขอย่างจริงจัง มีความทันสมัย และเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันต่อไป

ทั้งนี้ มติการประชุมของสมัชชาการศึกษาเพื่อนำเสนอต่อหัวหน้าคสช.นั้น นักเรียนเห็นตรงกันว่า ปัจจุบันระบบการศึกษาของไทยล้าหลังอย่างมาก โดยการเรียนให้ความสำคัญกับเกรดเฉลี่ยมากเกินไป เน้นการเรียนรู้แต่ในห้องเรียนและตามหลักสูตรทำให้ไม่ได้ใช้งานจริง จึงขอให้กระทรวงศึกษาธิการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษา ให้เรียนแบบคิด วิเคราะห์ได้ รวมถึงให้ลดเวลาเรียนลง พื่อเพิ่มทักษะการเรียนรู้นอกห้องเรียนมากขึ้น นอกจากนี้ ยังต้องให้นักเรียนนักศึกษามีพื้นที่ในการปฏิรูปครั้งนี้ด้วย

สภานสพ.นัดสอบ"สื่อผู้จัดการฯ

วันที่ 27 ก.ค. รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีคำสั่งที่ 1533/2557 เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2557 เรื่องย้ายและแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการสามัญ 21 ตำแหน่ง ซึ่งถือเป็นการโยกย้ายข้าราชการสภาครั้งที่ 2 ทั้งนี้ หลังจากนายจเรรับตำแหน่งตามคำสั่ง คสช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจากข้าราชการว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการโยกย้ายในช่วงเลขาธิการสภาที่ผ่านมา ซึ่งการโยกย้ายครั้งนี้ส่วนใหญ่ย้ายกลับมาทำหน้าที่เดิม สลับตำแหน่งเพื่อความเหมาะสม อาทิ น.ส.นงลักษณ์ สถิตย์เสถียร ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานนโยบายและเลขานุการคณะกรรมการข้าราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) ไปสลับตำแหน่งกับนายธีรพจน์ สุคนธมาน ผู้บังคับบัญชากลุ่มงานพัฒนาโครงสร้างระบบงานและอัตรากำลัง กร. ขณะที่นายเสรี กอวงษ์ นักวิชาการพัสดุ กลุ่มงานบริการพัสดุสิ่งพิมพ์และคลังสิ่งพิมพ์ สำนักการพิมพ์ เป็นผู้บังคับบัญชากลุ่มงานบริการพัสดุสิ่งพิมพ์ฯ นาย สุรชัย เจนนุวัตร นายช่างพิมพ์ กลุ่มงานโรงพิมพ์และสำเนาสิ่งพิมพ์ สำนักการพิมพ์ เป็นผู้บังคับบัญชากลุ่มงาน (นายช่างพิมพ์) กลุ่มงานโรงพิมพ์ฯ

สภาสั่งย้ายคืนตำแหน่ง21ขรก.

วันที่ 27 ก.ค. รายงานข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) แจ้งว่า ในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เวลา 09.00-12.00 น. ทางป.ป.ช.นัดหารือและรับฟังความคิดเห็นจากสถาบันทางการเงินอีกครั้งที่สำนักงานป.ป.ช. ในกรณีป.ป.ช.เตรียมออกประกาศคณะกรรมการป.ป.ช. เรื่องกำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินหนี้สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อป.ป.ช. เบื้องต้นมีการปรับปรุงแบบฟอร์มการรายงานและนิยามว่าจะครอบคลุมหน่วยงานใด แต่ร่างดังกล่าวยังคงกำหนดให้สถาบันการเงินรายงานต่อป.ป.ช.ในอัตราเท่าเดิมที่เคยหารือกันในครั้งแรก คือหากพบความเคลื่อนไหวทางบัญชีด้วยเงินสดเกิน 5 แสนบาท และอสังหาริมทรัพย์เกิน 1 ล้านบาท ของบุคคลที่มีหน้าที่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. ทั้งผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และข้าราชการในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ 

รายงานข่าวระบุว่า หลังการประชุมในวันที่ 29 ก.ค. คณะทำงานจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการให้ทันในเดือนส.ค. คาดว่าต้นเดือนก.ย.จะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.พิจารณา หากได้รับความเห็นชอบก็ออกประกาศป.ป.ช. ได้ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช พ.ศ.2542 โดยแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 37/2