ตุ๋นขายที่นั่งสนช.-รมต. บิ๊กตู่เบรก ลั่นรู้ตัวแล้ว-เล็งเชือด แจงใช้รธน.สร้างสรรค์ ฮิวแมนไรต์ยังเป็นห่วง จับอ้างประยุทธ์หาตังค์

ครบ76ปี - แกนนำและสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์จัดงานวันคล้ายวันเกิดให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ซึ่งจะมีอายุครบ 76 ปี ในวันที่ 28 กรกฎาคม โดยนายชวนได้ย้ำลูกพรรคให้ขยันลงพื้นที่ เตรียมรับมือศึกเลือกตั้ง ที่ห้องประชุมพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม



แฮปปี้เนสส์ -พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองหัวหน้า คสช. เป็นประธานพิธีเปิดงานไทยแลนด์แฮปปี้เนสส์ สตรีทเฟสติวัล และร่วมเป็นสักขีพยานการปล่อยลูกโป่งรอยยิ้ม ที่เวทีหน้าศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม

มติชนออนไลน์ :

       หัวหน้า คสช.ยันใช้อำนาจตาม รธน.ชั่วคราวสร้างสรรค์ ไม่ได้หวังทำลายล้างใคร

'บิ๊กตู่'ย้ำใช้อำนาจสร้างสรรค์

       เมื่อเวลา 20.30 น. วันที่ 25 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า เรื่องรัฐธรรมนูญชั่วคราว มีความจำเป็นต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ แต่ละฝ่ายให้ชัดเจน ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 2 เดือน จะเห็นได้ว่า คสช. พยายามแก้ไขปัญหาทุกอย่างด้วยความรวดเร็ว ไม่ได้มุ่งใช้อำนาจในการทำร้ายใคร แต่ใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ความสงบสุขให้กับประชาชนและชาติบ้านเมือง ซึ่งก็คงมีทั้งผู้ที่ถูกใจและไม่ถูกใจบ้าง 

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายน่าจะร่วมมือกับ คสช. ในการทำงาน อย่ามองเฉพาะประชาธิปไตยอย่างเดียว เพราะจะไปเรื่องอื่นไม่ได้ ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนรู้แล้ว ถ้าไม่ต้องการให้เกิดอย่างเช่นในอดีต เราต้องร่วมมือกันในวันนี้ เพื่อจะเดินไปในวันข้างหน้า ทุกคนน่าจะสบายใจที่มีการถ่วงดุลทั้งรัฐบาลและ คสช. ซึ่งจะมีอำนาจที่เข้มแข็ง ในการดูแลความสงบเรียบร้อยต่อสังคม และตรวจสอบความโปร่งใสในการปฏิบัติหน้าที่ของทุกภาคส่วน 

ขอให้วางใจคสช.ใช้อำนาจ

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้เป็นสถานการณ์ที่ยังไม่ปกติ ถ้าปกติแล้วคงเลิกทั้งหมด ยังไม่ปกติยังปฏิรูปไม่ได้ วันนี้เพียงแค่ลดความรุนแรงลง มาพบปะหารือพูดคุยกัน เนื่องจากยังมีคนที่ต่อต้านอยู่ มีการสร้างความเข้าใจผิด บิดเบือนข้อเท็จจริงทั้งในและต่างประเทศ คสช. พยายามชี้แจง แต่ก็ยังมีคนที่ไม่เข้าใจอยู่ ไม่ทราบว่าไม่เข้าใจจริงหรือไม่จริง เพื่อจะปกปิดอะไรหรือไม่ อยากจะขอร้องให้เลิก 

     "หากจะหาว่าเราไปรังแกคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ต้องดูว่าเขาทำความผิดจริงหรือไม่ ถ้าไม่จริงจะไม่ถูกดำเนินคดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจริงต้องถูกดำเนินคดี เราให้เวลาสอบสวน พิสูจน์ทราบให้เกิดความชัดเจน มีความเป็นธรรม ไม่มุ่งหวังจะไปใช้อำนาจทำลายล้างใคร ให้กระบวนการยุติธรรมของเราได้ทำ วันนี้ถ้าเราต้องการจะทำลายจริง เราคงลงโทษไปแล้ว ในฐานะเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งมีอำนาจมากมาย แต่เราไม่ได้ใช้" หัวหน้า คสช.กล่าว

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับนี้ ไม่ว่า คสช.จะมีอำนาจมากเท่าใด หากผู้ใช้อำนาจใช้ในการกระทำสิ่งดีๆ เกิดประโยชน์กับคนไทย กับประเทศไทย ไม่ต้องกังวลใดๆ ถ้าเราไว้ใจผู้บริหารประเทศ หรือผู้ที่จะมาอยู่ในกระบวนการใช้อำนาจทุกคน ในขณะนี้มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม จริยธรรม มีความโปร่งใส มีประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ อย่างไรก็ตามถ้าหากว่าเข้ามาแล้วไม่ดี ไม่ทำประโยชน์ ไม่โปร่งใสสามารถปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลา ฉะนั้นขอความไว้วางใจกับการใช้อำนาจของ คสช.

ฮึ่มฟันเรียกค่าเก้าอี้"สนช.-รมต."

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องการบริหารราชการแผ่นดินในระยะที่ 2 เมื่อเรามีนายกฯ คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เราคงปฏิบัติงานในกรอบอำนาจเต็ม คือการใช้อำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ ผ่าน ครม. สภานิติบัญญัติ และกระบวนการยุติธรรม โดยมีการปฏิรูปเรื่องที่สำคัญควบคู่ไปด้วย และจะกำหนดให้ผลการปฏิรูปมีผลในทางปฏิบัติในระยะสั้นคือทันที บางอย่างต้องระยะกลาง 1 ปีที่มีรัฐบาล ระยะยาวส่งรัฐบาลชุดต่อไป ให้ต่อเนื่อง 

      "วันนี้ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ช่วยกันคิด ช่วยกันทำและมีความเห็นชอบร่วมกัน จะได้หาข้อยุติได้ จะได้ไม่ส่งผลร้ายเช่นอดีตที่ผ่านมาอีก การมี สนช. สปช. เพื่อจะทำให้การปฏิรูปดำเนินการได้อย่างแท้จริง ทุกอย่างมีเวลาที่จำกัด ตามที่ประกาศไว้ในโรดแมป เราพยายามทำให้ได้ตามนั้น หากไม่กำหนดเวลาต่างๆ เพื่อให้เดินได้ตามนั้น จะทำให้การปฏิรูปยืดยาวออกไป เราไม่ต้องการที่จะแสวงหาอำนาจเป็นระยะเวลานาน ฉะนั้นทุกอย่างไม่ได้ขึ้นอยู่กับ คสช.ฝ่ายเดียว เราพยายามจะทำงาน แต่การจะช่วยให้ประเทศชาติเดินต่อไปข้างหน้า ต้องเป็นท่านร่วมมือกับเรา อย่าไปวิเคราะห์วิจารณ์กันไปเองหรือไปกลัวอะไรที่ยังมาไม่ถึง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

หัวหน้า คสช.ยังกล่าวเตือนเรื่องการเรียกร้องผลประโยชน์ในการแต่งตั้ง สนช. รัฐบาลด้วยว่า พูดมาหลายครั้งก็ยังมีอยู่ ขณะนี้ทราบแล้วว่าเป็นใคร

ฮิวแมนไรต์สฯอัดรธน.ชั่วคราว

     วันเดียวกัน นายแบรด อดัมส์ ผู้อำนวยการแผนกเอเชีย ฮิวแมนไรต์สวอตช์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวพยายามให้ความชอบธรรมทางกฎหมายกับอำนาจที่กว้างขวาง ปราศจากการรับผิดของ คสช.แทนที่จะปูทางไปสู่การฟื้นฟูประชาธิปไตย คสช.กลับให้อำนาจที่ปราศจากการตรวจสอบแก่พวกตน ที่แทบจะทำอะไรก็ได้ทุกอย่างตามต้องการ รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยไม่ต้องรับผิด 

      นายอดัมส์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวมีเนื้อหาที่อ่อนมากเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน และยังอนุญาตให้ คสช. ดำเนินนโยบาย และมาตรการต่างๆ โดยปราศจากการตรวจสอบควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้เมื่อเกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ไม่ต้องรับผิดใดๆ มาตรา 44 ให้อำนาจอย่างกว้างขวางต่อ คสช.ในการออกคำสั่ง และดำเนินการต่างๆ ตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ว่าจะมีผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างไรก็ตาม โดยไม่มีการตรวจสอบควบคุมจากฝ่ายตุลาการหรือสถาบันอื่นใด หัวหน้า คสช. เพียงแค่รายงานการดําเนินการให้ประธาน สนช. และนายกฯทราบเท่านั้น 

ชี้สร้างการเมืองแบบปิด

     นายอดัมส์ กล่าวว่า ส่วนมาตรา 48 กำหนดให้การกระทำทั้งหลายของ คสช. และผู้ที่กระทำการในนาม คสช. รวมถึงการทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมพ้นจากความผิด และความรับผิดโดยสิ้นเชิง แต่กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศรับรองสิทธิในการได้รับการเยียวยา และให้รัฐบาลต้องสอบสวนข้อกล่าวหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนและดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ขณะที่มาตรา 6 มาตรา 30 และมาตรา 32 สร้างระบบการเมืองแบบปิดไม่เป็นประชาธิปไตย โดย คสช.เป็นผู้คัดเลือกบุคคลเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีกรอบเวลาชัดเจนในการเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ต้องทำประชามติ 

     นายอดัมส์ กล่าวว่า สำหรับมาตรา 8 และมาตรา 33 กำหนดข้อห้ามอย่างกว้างๆ ไม่ให้ผู้ที่ดํารงตําแหน่ง หรือเคยดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองภายในระยะเวลา 3 ปีเป็น สนช. และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีข้อห้ามไม่ให้สมาชิก คสช. และข้าราชการ ข้อกำหนดเช่นนี้เปิดโอกาสความเป็นไปได้ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นนายกฯในขณะที่ยังคงเป็นหัวหน้า คสช. ถ้าหากเขาประสงค์ที่จะทำเช่นนั้น 

    "คำกล่าวอ้างของ คสช.ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง และการปกครองโดยพลเรือนนั้นเป็นฉากบังหน้าให้คณะทหารควบคุมอำนาจต่อไป โดยกระชับอำนาจการควบคุมมากขึ้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเป็นรัฐธรรมนูญเพื่อเผด็จการ" นายอดัมส์กล่าว

"บัวแก้ว"โต้อย่าด่วนสรุป

      ด้านนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกรณีฮิวแมนไรต์สวอตช์ ระบุว่าธรรมนูญฉบับชั่วคราวของไทยให้อำนาจกับทหารมากเกินไปโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ ว่า โดยหลักการแล้วกฎหมายทุกประเทศจะมีมาตราที่เผื่อเอาไว้สำหรับสถานการณ์ที่อาจกระทบกับความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ จึงขอให้ฮิวแมนไรต์สวอตช์เข้าใจสถานการณ์ในไทยว่าขณะนี้เราอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านที่ต้องการความสงบและเสถียรภาพ 

      "อำนาจดังกล่าวมีภายใต้กฎหมายทุกประเทศอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าจะนำมาใช้ เว้นแต่เกิดสถานการณ์จำเป็นจริงๆ จึงอยากให้เข้าใจบริบททางการเมืองของไทย และอย่าด่วนสรุป เพราะยังไม่มีการใช้อำนาจใดๆ ทั้งสิ้น ขอให้มองภาพรวมในอนาคตว่าไทยกำลังเดินไปในทิศทางที่ถูกต้องใช่หรือไม่ เพราะการมีรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามโรดแมปที่วางไว้คือการมี สนช. สปช. และมีรัฐบาลชั่วคราวก่อนนำไปสู่การเลือกตั้ง" นายสีหศักดิ์กล่าว

"อ๋อย"ชี้มาตรา44ขัดนิติรัฐ

       ด้านนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการโพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว Chaturon Chaisang ว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่มีความเห็นกันมากคือมาตรา 44 ที่ขยายความการปกครองภายใต้รัฏฐาธิปัตย์ให้ชัดเจน เป็นรูปธรรมว่า คสช.คือผู้มีอำนาจสูงสุด สามารถใช้อำนาจอธิปไตยในทุกด้านได้เหนือกว่าองค์กรอื่นๆ ที่ว่ารัฐธรรมนูญนี้มีลักษณะขัดกันเอง ใครเป็นผู้ใช้อำนาจอธิปไตยทั้งสาม ใครมีอำนาจปลดนายกฯ หรือ ครม. ศาลมีอำนาจแค่ไหนอย่างไร ตามที่บัญญัติไว้ย่อมขัดกับมาตรา 44 หรืออยู่ใต้มาตรา 44 หากมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้นก็ไม่มีประโยชน์ หรือจำเป็นอะไรที่จะไปหาองค์กรใดมาตัดสิน เพราะมาตรา 44 บอกไว้แล้วว่า คำสั่งของ คสช.เป็นที่สุด 

    "ปัญหาบทบัญญัติอย่างนี้คือการขัดต่อหลักนิติรัฐและนิติธรรม จะว่าประเทศนี้มีกฎหมายและใช้กฎหมายก็ใช่ แต่คนทุกคนไม่ได้อยู่ภายใต้กฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ หรือสิทธิมนุษยชนโดยกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน หากกลายเป็นว่า มีคณะบุคคลที่อยู่เหนือกฎหมายหรืออยู่ในฐานะที่เป็นกฎหมาย" นายจาตุรนต์ระบุ

แนะศึกษาอดีตล้มเหลวด้วย

       นายจาตุรนต์ ระบุว่า ปัญหาต่อมาคือใครคือผู้รับผิด รับชอบต่อการบริหารกิจการบ้านเมือง ครม.รับผิดชอบ แค่ไหนอย่างไร สภาต่างๆ รับผิดชอบแค่ไหนอย่างไร และรับผิดชอบต่อใคร คสช.รับผิดชอบแค่ไหนต่อใคร การปกครองในระบบอย่างนี้ไม่ได้ยึดหลักการแบ่งแยกอำนาจ ไม่มีความชัดเจนของการตรวจสอบถ่วงดุลระหว่างองค์กรต่างๆ ที่สาธารณชนจะสามารถเข้าใจและมีส่วนร่วมด้วยได้ 

      "คสช.อาจศึกษาการวางระบบอำนาจลักษณะนี้มาจากอดีต เช่น สมัยจอมพลสฤษดิ์ โดยนำมาตรา 17 ของธรรมนูญการปกครองในยุคนั้น มาทำให้เข้มข้นและชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก แต่ปัญหาก็คือ สภาพสังคมในปัจจุบันต่างจากเมื่อ 50 กว่าปีก่อนอย่างมาก ทุกวันนี้สื่อมวลชนไม่ได้ถูกปิดกั้นอย่างในอดีต ประชาชนก็เรียนรู้เข้าใจเหตุการณ์บ้านเมืองมากกว่าในอดีต" นายจาตุรนต์ระบุ

     นายจาตุรนต์ ระบุด้วยว่า ในสภาพที่แตกต่างกันอย่างมากนี้ หากจะแนะนำอะไรได้บ้าง ก็คงจะเป็นว่า คสช.คงต้องหลีกเลี่ยงการใช้อำนาจตามมาตรา 44 นี้ให้มากที่สุด และควรเปิดโอกาสและส่งเสริมให้ทุกฝ่ายในสังคมสามารถแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี และมีส่วนร่วมในกระบวนการปฏิรูปต่างๆ อย่างเต็มที่ อยากจะเสนอความเห็นว่า การนำเอาระบบหรือเครื่องมือในอดีตมาใช้ในปัจจุบัน นอกจากจะต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ที่แตกต่างกันอย่างมากแล้ว ยังต้องศึกษาทั้งความสำเร็จและความล้มเหลวที่เกิดขึ้นในอดีตด้วย

วีรวิทหนุน"พรเพชร"ปธ.สนช. 

     พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ อดีต ส.ว.สรรหา กลุ่ม 40 ส.ว. กล่าวว่า กระแสข่าวว่านายพรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช.จะเป็นประธาน สนช.นั้น มีความเหมาะสม เพราะมีศักยภาพด้านกฎหมายสูง แต่คงต้องดูรายชื่อ สนช.ทั้ง 220 คนก่อน เพราะการทำหน้าที่ประธาน สนช. หรือรองประธานต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการควบคุมการประชุมมาบ้างก็จะดีมาก บางครั้งการประชุมมีช่วงวิกฤตหรือมีการประชุมพิจารณากฎหมายยากๆ ก็จะสลับกันขึ้นมาบริหารจัดการการประชุมได้ 

      พล.อ.อ.วีรวิท กล่าวว่า สำหรับรัฐธรรมนูญชั่วคราว เห็นการทำงานของ สนช.ชัดเจนขึ้น โดยนำจุดแข็งของเจตนารมณ์ของที่มาของ ส.ว.ในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาปรับใช้ โดยแบ่งเป็น 5 กลุ่ม อาทิ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาชีพ ภาควิชาการ และภาคอื่นๆ และกระจายสัดส่วนคนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ตามกลุ่มต่างๆ อย่างใกล้เคียงกันอย่างเหมาะสม 

สภาแก้ข้อบังคับรับรธน.ชั่วคราว 

      นายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงข้อบังคับการประชุมของ สนช.และ สปช. ว่าจะยึดจากที่ใช้กับ สนช.ปี 2549 เป็นฐาน และเพิ่มเติมให้สอดคล้องต่อภาระหน้าที่ของแต่ละสภาบางส่วนที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะ สปช. ต้องร่างข้อบังคับฯเพิ่มเติม ให้สอดรับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่กำหนดแนวทางปฏิรูป 11 ด้าน และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมูญฉบับถาวร ที่ต้องยกร่างให้ครอบคลุมทั้ง 10 ด้านด้วย

     นายธงชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ กรณีการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเรื่องที่มาของ ส.ว. จึงเห็นว่าจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนข้อบังคับ สำหรับการอภิปรายร่างกฎหมายของ สนช. โดยให้สมาชิกที่เสนอแก้ไขรายละเอียดร่าง พ.ร.บ.ที่แตกต่างไปจากการรับหลักการวาระแรก ต้องลงนามรับรองให้ชัดเจน พร้อมกำหนดว่า ประธานการประชุมต้องเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายทุกคนตามที่ร้องขอ เพื่อให้การทำหน้าที่ของ สนช.เป็นไปอย่างต่อเนื่อง และลดการฟ้องร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ แนวทางการแก้ไขข้อบังคับส่วนนี้อาจนำไปใช้ในอนาคตเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎรจากการเลือกตั้งแล้วด้วย 

      "แนวทางการจัดเตรียมระเบียบข้อบังคับการประชุมดังกล่าว เป็นเพียงตุ๊กตาที่เตรียมไว้เพื่อความสะดวกรวดเร็วต่อการทำงานของ สนช.และ สปช. จะได้ตั้งคณะกรรมการศึกษาตุ๊กตาตัวนี้ทันทีว่าต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขหรือไม่ อย่างไร ก่อนจะนำร่างข้อบังคับเข้าสู่ที่ประชุมของแต่ละสภา ขอความเห็นชอบแล้วนำไปบังคับใช้ต่อไป" นายธงชัยกล่าว 

"กกต."เสนอ 2 ชื่อชิงนั่งสปช. 

   ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า ในฐานะองค์กรนิติบุคคลและองค์กรอิสระจะใช้สิทธิเสนอชื่อบุคคล 2 รายชื่อสมัครรับการสรรหาเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ส่วนจะเป็นใครต้องรอมติที่ประชุม กกต.ก่อน 

    นายสมชัย กล่าวว่า นอกจากนี้ เห็นว่าพรรคการเมืองในฐานะองค์กรนิติบุคคลก็ควรเสนอชื่อบุคคลเข้ารับสรรหาเข้าร่วมเป็น สปช.ด้วย เนื่องจากเห็นว่าพรรคการเมืองเป็นส่วนสำคัญในการออกแบบการเมือง จึงไม่ใช่เรื่องเสียหาย หากมีตัวแทนจากพรรคการเมืองร่วมใน สปช.ด้วย ขณะเดียวกัน กกต.ทำหนังสือไปยัง กกต.จังหวัด ให้เตรียมทำหน้าที่เป็น เลขานุการสนับสนุนคณะกรรมการสรรหา สปช.ระดับจังหวัดแล้ว ขณะที่ กกต.กลางเตรียมทำความเข้าใจต่อประชาชนให้เข้าใจถึงบทบาทหน้าที่สำคัญของ สปช. 

ลุ้นรธน.ยืดเวลา 60 วันสอบคดี

    นายสมชัยกล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจขยายระยะเวลาให้อำนาจ กกต.สืบสวนสอบสวนสำนวนคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งก่อนการประกาศรับรองผลการเลือกตั้งจากเดิม 30 วัน มาเป็น 60 วัน ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการวินิจฉัยสำนวนคำร้องและการให้ใบเหลืองใบแดงได้มากขึ้น เพราะ กกต.ไม่ต้องเร่งรีบประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง มีเวลากลั่นกรองมากขึ้น

    นายสมชัยกล่าวว่า นอกจากนี้ ในอนาคตอาจมีมาตรการดำเนินการกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หาก กกต.เห็นว่ามีพฤติกรรมที่ส่อแววสร้างความเสียหายต่อประเทศชาติ กรณีจัดทำแผนใช้จ่ายงบประมาณในการจัดเลี้ยง จัดประชุม หรือทัศนศึกษา ก่อนหรือหลัง หรือช่วงที่มีการเ ลือกตั้ง หลังพบว่ามีหลายคดีมีพฤติกรรมส่อแววกระทำผิดเกี่ยวกับการเลือกตั้ง แต่ กกต.ไม่สามารถให้ใบเหลืองใบแดงได้ เพราะ อปท.อ้างเป็นแผนงานที่วางไว้แล้ว ส่วนการประชุม กกต.วันที่ 28 กรกฎาคม จะลงมติคัดเลือกบุคคลที่จะเป็น กกต.จังหวัดใน 14 จังหวัด จังหวัดละ 5 คน 

"แม้ว-ปู-อุ๊งอิ๊ง"ชื่นมื่นปารีส

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ภาพผ่านอินสตาแกรมส่วนตัวชื่อ "ingshin21" เป็นภาพที่ น.ส.แพทองธารกำลังซบไหล่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขณะที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ กำลังเกาะแขนพี่ชาย ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส โดย น.ส.แพทองธารระบุข้อความด้วยว่า "Goodnight Paris F R with love" 

     รายงานข่าวแจ้งว่า การทัวร์ยุโรปครั้งนี้ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น นายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี ไม่ได้เดินทางร่วมไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะจัดงานที่โรงแรมโฟร์ซีซั่น ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส โดยจะมีอดีตรัฐมนตรี อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทย (พท.) และนักธุรกิจเฉพาะคนที่สนิทเข้าร่วมด้วย 

อำนวยฝากคสช.ยึดยุติธรรม 

      นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย (พท.) และอดีตประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ไม่อยากให้ทุกฝ่ายวิตกกังวลการทำหน้าที่ของ คสช.มากเกินไป โดยเฉพาะมาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่น่าจะมีอะไร เป็นการยึดความมั่นคงเอาไว้ก่อน ถ้าปล่อยไปอาจจะเกิดปัญหาเหมือนอดีต จึงอยากดูไปก่อน ปล่อยให้ คสช.ทำให้เต็มที่ ไม่อยากให้วิพากษ์วิจารณ์มากจนเกิดการชะงักงัน

      นายอำนวย กล่าวว่า สิ่งที่อยากฝากถึง คสช. รวมถึงองค์กรอิสระ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่กำลังจะเกิดขึ้น คือเรื่องของความยุติธรรม ความเสมอภาคทางกฎหมาย อยากให้มีการบังคับใช้อย่างเท่าเทียม ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินคดี แต่อีกฝ่ายกลับไม่มีเลย อาจทำให้เกิดความสงสัยเคลือบแคลง และเป็นปัญหาต่อการเดินไปสู่ความปรองดอง อีกเรื่องที่เป็นห่วงคือเมื่อมี สนช. แล้วคดีความต่างๆ เช่นเรื่องที่ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. จะส่งให้ สนช.ตัดสินหรือไม่ จึงอยากฝากในเรื่องของความเป็นธรรม 

ปชป.หวั่นปู-พวกรอดถูกตัดสิทธิ

     นายราเมศ รัตนะเชวง คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า คดีที่ ปชป.ยื่นร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ รวมถึงนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา และสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมกันเสนอและลงมติร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่มา ส.ว.นั้น บุคคลเหล่านี้อาจจะหลุดพ้นจากคดีถอดถอนที่มีโทษตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี 

     "เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2550 ถูก คสช.ยกเลิก และในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ไม่มีบทบัญญัติใดมารองรับเรื่องการถอดถอนออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้คดีที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาถอดถอนของวุฒิสภาไม่สามารถดำเนินการต่อได้ ดังนั้น อาจทำให้นักการเมืองที่ถูกดำเนินคดีจะหลุดพ้นจากการถูกถอดถอนโดยวุฒิสภาเดิม จึงอยากให้ คสช.แก้ปัญหาเรื่องนี้ อย่าปล่อยให้คนที่สร้างปัญหาให้กับบ้านเมืองลอยนวล เพราะคนอาจสงสัยว่าเข้าข่ายนิรโทษกรรมหรือไม่" นายราเมศกล่าว

ป.ป.ช.ยันตัดสิทธิ5ปีได้ 

      แหล่งข่าวจาก ป.ป.ช. กล่าวว่า ป.ป.ช.ยืนยันว่ายังทำหน้าที่ไต่สวนคดีต่างๆ ทุกคดีที่ยังค้างการพิจารณาตามปกติ ส่วนคดีที่ชี้มูลความผิดในคดีการร่วมลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องที่มา ส.ว. ที่ ป.ป.ช.ส่งเรื่องให้วุฒิสภาพิจารณาถอดถอนตามขั้นตอนแล้ว ถือว่าหมดหน้าที่ของ ป.ป.ช.แล้ว

     "ที่กังวลว่าคดีถอดถอนอาจจะโมฆะและไม่สามารถตัดสิทธิทางการเมือง 5 ปี หลังวุฒิสภาและรัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกยกเลิกไปนั้น แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะถูกยกเลิก แต่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ยังบังคับใช้อยู่ ตามคำสั่งของ คสช. คือมาตรา 65 วรรคสอง ว่าผู้ใดถูกถอดถอนออกจากตําแหน่ง ให้ผู้นั้นพ้นจากตําแหน่งหรือให้ออกจากราชการนับแต่วันที่วุฒิสภามีมติให้ถอดถอน และให้ตัดสิทธิผู้นั้นในการดํารงตําแหน่งใดในทางการเมืองหรือในหน่วยงานของรัฐ หรือในการรับราชการเป็นเวลา 5 ปี จึงเห็นว่าไม่มีผลอะไรกับการพิจารณาลงโทษ" แหล่งข่าว ป.ป.ช.กล่าว

ปชป.คึกอวยพรวันเกิด"ชวน"

       วันเดียวกัน ที่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก เนื่องจากอดีต ส.ส.มาร่วมอวยพรวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้าของนายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ซึ่งจะครบรอบ 76 ปี ในวันที่ 28 กรกฎาคมนี้ โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค ปชป. พร้อมแกนนำพรรค อดีต ส.ส.สมาชิกพรรค อดีตแกนนำ กปปส. และนายสมศักดิ์ โกศัยสุข อดีตแกนนำ คปท. เข้ามอบเค้กและกระเช้าต้นไม้นำโชค ได้แก่ ต้นโชค 9 ชั้น, ต้นมณีเงินมณีทอง และต้นบารมีรัตนโกสินทร์ อวยพรนายชวน ที่ห้องประชุมชั้น 3 อาคาร ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช โดยมีนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. เป็นตัวแทนกล่าวอวยพร

     ด้านนายชวนกล่าวขอบคุณทุกคนที่มาอวยพร พร้อมเล่าถึงสุขภาพหลังเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลรามาธิบดีว่า ขณะนี้เป็นปกติดีแล้ว และออกพบปะกับชาวบ้านตลอดแม้สถานการณ์บ้านเมืองจะไม่ปกติ แต่วันข้างหน้าต้องมีการเลือกตั้ง จึงขอให้ทุกคนอยู่กับชาวบ้าน และทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ขณะนี้กรรมการบริหารพรรคมีภาระค่าใช้จ่ายสูงจึงขอให้ทุกคนช่วยกัน อาจจะขอให้ผู้ที่มีฐานะการเงินที่ดีกว่าช่วยบริจาคให้พรรคเพิ่มขึ้น และไม่อยากให้อดีต ส.ส.บ่นเรื่องการระงับเบี้ยยังชีพของอดีตสมาชิกรัฐสภา เป็นนักการเมือง ต้องมีศักดิ์ศรี และเข้ามาเพื่อทำงานให้ประชาชน

     "ต่อให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ออกมา ก็ย่อมมีทั้งคนดีและคนเลว อย่าหวังว่าจะมีแต่คนดี แล้วบ้านเมืองจะสงบ ไม่มีความขัดแย้ง ความขัดแย้งเป็นธรรมดา ไม่ใช่การแตกความสามัคคี หากฝ่ายหนึ่งเห็นว่าไม่ถูกต้องก็มีสิทธิคัดค้าน ไม่ใช่ทุกคนต้องสยบให้กับผู้มีอำนาจ ไม่อย่างนั้นก็ถือว่าผิดหลัก" นายชวนกล่าว