วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8634 ข่าวสดรายวัน


ปู ยันไม่หนีปปช.แน่ ถาม7ข้อ งัดคดีมาร์คเทียบ 
มาตรฐานเดียวกันไหม? อสส.ตั้งกก.สอบสำนวน บิ๊กตู่ยันเองไม่ล้ม 30 บาท แจงตั้งปลัดกห.นั่ง'กตช.'คสช.ประกาศกระชับสื่อ


น้ำตาคลอ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ น้ำตาคลอระหว่างเปิดแถลงตอบโต้ กรณีป.ป.ช.มีมติดำเนินคดีอาญาในโครงการรับจำนำข้าว ระบุเป็นการทำคดีแบบรวบรัดเร่งรีบต่างจากคดีอื่นๆ ที่รร.เอสซี ปาร์ค เมื่อวันที่ 18 ก.ค.

      เปิดแถลงเสียงเครือ'ยิ่งลักษณ์'สวนกลับป.ป.ช.ชี้มูลอาญาคดีจำนำข้าว ระบุทำอย่างรวบรัด เร่งรีบ แจ้งข้อกล่าวหา และชี้มูลผิดกับคดีรับประกันราคาข้าว ปรส. ประมูลสร้างโรงพัก แถมเลือกฟังแต่พยานซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับผู้ร้อง ตัดสิทธิในการเสนอพยานอื่น รวมถึงไม่รอการตรวจสอบสต๊อกข้าวให้ถึงที่สุด ยันไม่ทิ้งประชาชนกลับมาเมืองไทยแน่ ด้านอัยการสูงสุดเตรียมตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวน ยันพร้อมให้ความเป็นธรรม ไม่ยื่นศาลคัดค้านปูเดินทางไปต่างประเทศ ด้าน 'บิ๊กตู่'ออกทีวี วอนมิตรประเทศให้กำลังใจไทยวางเสาหลักประชา ธิปไตย ยันไม่ยกเลิก 30 บาทรักษาทุกโรค แจงตั้งปลัดกลาโหมร่วมเป็นก.ต.ช.เพื่อความโปร่งใส

'ปู'แถลง-ระบุปปช.เร่งรีบรวบรัด

   เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 18 ก.ค. ที่โรงแรมเอสซี ปาร์ค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมทีมทนายความ ประกอบด้วย นายพิชิต ชื่นบาน นายสมหมาย กู้ทรัพย์ และนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ร่วมแถลงภายหลังป.ป.ช.มีมติส่งความเห็นให้อัยการสูงสุด ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวจนทำให้เกิดความเสียหาย 

    น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ขอตั้งข้อสังเกตว่า 1.กระบวนการยุติธรรมเป็นไปตามหลักนิติ ธรรมสากลหรือไม่ เพราะมองว่าเป็นการพิจารณาที่เร่งรีบ รวบรัด แจ้งข้อกล่าวหาใช้เวลาแค่ 21 วัน จากนั้นก็ชี้มูลความผิดอาญาต่อตนภายใน 140 วัน ซึ่งป.ป.ช.ไม่เคยปฏิบัติกับคดีอื่นๆ ที่ดำเนินการกับนักการเมืองเช่นเดียวกับการปฏิบัติต่อตน เมื่อเทียบเคียงกับการดำเนินคดีโครงการประกันราคาข้าว ที่ป.ป.ช.ใช้เวลาดำเนินการนานไม่น้อยกว่า 4 ปี คดี ปรส.ที่ล่าช้าและโครงการทุจริตโรงพักทั่วประเทศ ป.ป.ช.กลับไม่มีความคืบหน้า ถือว่ามิได้มีบรรทัดฐานอย่างเดียวกัน

ชี้เลือกฟังแต่พยานที่เป็นปฏิปักษ์

     2.ในการปฏิบัติของป.ป.ช.เมื่อเทียบกับคดีอื่นๆ เห็นว่าคดีนี้มีพฤติการณ์รวบรัดเป็น กรณีพิเศษ คือเลือกรับฟังพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน ตัดสิทธิในกระบวนการยุติธรรมในการเสนอพยานบุคคลที่เป็นสาระสำคัญ ไม่รอผลการพิสูจน์เรื่องสต๊อกข้าวให้เป็นที่สิ้นสุด เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องสต๊อกข้าว ทั้งที่ส่งเจ้าหน้าที่ป.ป.ช.ไปร่วมสังเกตการณ์แล้ว ไม่ไต่สวนในข้อเท็จจริงกรณีการลงบันทึกบัญชีที่ยังมีข้อขัดแย้ง และแตกต่างกันของคณะอนุกรรมการปิดบัญชี และคณะกรรมการ กขช.ให้เป็นที่สิ้นสุด รวมทั้งกรณีไม่พิจารณาการที่ตนคัดค้านนายวิชา มหาคุณ รวม 3 ครั้ง 

      3.นโยบายรับจำนำข้าวเป็นนโยบายระดับประเทศ นายกฯ ในฐานะฝ่ายบริหารเป็นเพียงผู้กำกับดูแลเท่านั้น ส่วนระดับปฏิบัติการเป็นการทำงานของหน่วยงานต่างๆ หลายหน่วยงาน ซึ่งเป็นไปตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน มีขั้นตอนและกระบวนการตรวจสอบที่ชัดเจน แต่ในข้อกล่าวหาของป.ป.ช. กลับฟังความข้างเดียว ขณะที่ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังเห็นไม่ตรงกันในข้อเท็จจริง

ปฏิเสธพยานที่เสนอไต่สวนเพิ่ม

     4.การแถลงข่าวของป.ป.ช.ที่ผ่านมา ยืนยันว่าคดีระบายข้าวไม่เกี่ยวข้องกับตน ทำให้ไม่หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาต่อสู้และหักล้าง แต่ในข้อวินิจฉัยชี้มูลกลับนำข้อเท็จจริงในคดีระบายข้าวมาชี้มูลความผิดกับตนด้วย

     5.ที่ผ่านมาตนพยายามชี้แจงและร้องขอ ให้ป.ป.ช.ไต่สวนและสอบพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องจำนวนหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงและเป็นธรรม แต่ป.ป.ช.ปฏิเสธมาตลอด ทั้งที่ข้อเท็จจริงอีกหลายเรื่อง เช่น ข้าวเสื่อมสภาพและข้าวหาย หน่วยงานที่ควบคุมดูแลสต๊อกข้าว ทั้งอคส. และอ.ต.ก.ได้ทำสัญญาต่างๆ กับเจ้าของคลังสินค้าและบริษัทประกัน รับผิดชอบค่าเสียหายหากเกิดกรณีข้าวสูญหายและการเสื่อมสภาพข้าวที่ผิดปกติธรรมชาติ ดังนั้นการอ้างเรื่องรัฐมีความเสียหายจากข้าวหายและข้าวเสื่อมคุณภาพ จึงไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อตนในฐานะผู้ถูกกล่าวหา

     6.ขอตั้งข้อสังเกตว่าการกล่าวหาและการไต่สวนของป.ป.ช.ได้นำพยานหลักฐานและไต่สวนพยานที่เป็นปฏิปักษ์ต่อตน และเลือกรับฟังพยานหลักฐานหรือไม่ ขณะที่ตนพยายามเสนอพยานหลักฐานต่างๆ แต่ป.ป.ช. กลับละเลยและปฏิเสธที่จะไต่สวนและตรวจสอบข้อเท็จจริง 

เสียงเครือไม่ทิ้งไทย-กลับมาแน่

     7.ส่วนที่มีกระแสข่าวว่าตนจะเดินทางไปต่างประเทศเพื่อหนีคดีต่างๆ นั้น ยืนยันว่าการเดินทางครั้งนี้เป็นการเดินทางส่วนตัว และมีกำหนดการไปกลับที่ชัดเจนและมีการเตรียมการล่วงหน้าแล้วก่อนที่ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดอย่างเร่งด่วน

   "วันนี้ดิฉันเป็นราษฎรเต็มขั้นแล้ว ควรมีสิทธิเสรีภาพเยี่ยงประชาชนคนไทยทั่วไป ขอยืนยันว่าจะไม่ทิ้งประชาชนคนไทย และพร้อม กลับมาประเทศไทยแน่นอน" น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าว

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงท้ายของการแถลงข่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวด้วยน้ำเสียงสั่นเครือ เมื่อแถลงเสร็จได้เดินออกจากห้องแถลงข่าวทันที โดยปฏิเสธที่จะให้สัมภาษณ์

     ด้านนายพิชิต กล่าวก่อนการแถลงข่าวว่า หลังป.ป.ช.มีมติทีมทนายความได้ประชุมตั้ง แต่เมื่อคืนวันที่ 16 ก.ค. โดยเห็นว่ามติของป.ป.ช.เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกะทันหัน ไม่มีใครคาดการณ์ล่วงหน้า ทีมทนายจะต้องขอความเป็นธรรมเนื่องจากกระบวนการที่ผ่านมา เกิดข้อสงสัยและข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นธรรมใน การพิจารณามาตลอด ส่วนที่ประจวบเหมาะ กับการเดินทางไปพักผ่อนในยุโรปของอดีต นายกฯ นั้น ยืนยันว่าอดีตนายกฯ ไม่ได้คิดหนีอย่างแน่นอน การไปยุโรปเป็นสิ่งที่เตรียมตัวไว้ก่อนหน้านี้แล้ว ส่วนมติป.ป.ช. เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น การไปยุโรปจึงไม่เกี่ยวกับที่ถูกป.ป.ช.ชี้มูล อดีตนายกฯ มั่นใจความบริสุทธิ์ เราหวังว่าขั้นตอนของอัยการและศาลจะได้รับความเป็นธรรม

เตรียมยื่นขอความเป็นธรรม

     นายพิชิต กล่าวอีกว่า ทีมทนายเห็นว่ายังมีเวลาที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ควรจะได้รับความเป็นธรรมจากอัยการในการตรวจสอบเอกสารและข้อมูลก่อนส่งฟ้องศาล ทีมทนายจะไปขอความเป็นธรรมกับอัยการสูงสุด เพราะที่ผ่านมีข้อโต้แย้งถกเถียงเรื่องพยานหลักฐานในการสอบสวนมาตลอด จนถึงการตั้งคณะกรรมการสอบสวนเป็นกรณีพิเศษแล้วแจ้งข้อกล่าวหาภายใน 21 วัน ล่าสุด ป.ป.ช.ยังยกเรื่องการระบายข้าวมาเป็นประเด็นใหม่ที่ป.ป.ช.ไม่ได้แจ้งไว้ และไม่เคยเปิดโอกาสให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ชี้แจงมาก่อน

     "หวังว่าป.ป.ช.จะตรวจสำนวนให้เรียบร้อย ไม่ควรเร่งรีบยื่นสำนวนเพื่อสกัดกั้นการ เดินทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ทั้งนี้ มีเวลา 14 วัน ป.ป.ช.จะต้องส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณา ถ้านับถึงสิ้นเดือนก.ค. ผมว่าควรให้เป็นไปตามปกติ อดีตนายกฯ ก็เป็นแค่ราษฎรคนหนึ่ง ขอให้ปฏิบัติตามกระบวนการปกติเถอะ" นายพิชิตกล่าว

เผยถูกให้ร้ายโดยไม่เป็นธรรม

      นายพิชิต กล่าวว่า การแถลงครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องการเมือง เป็นเพียงการแถลงชี้แจงถึงเรื่องที่เกิดขึ้น คาดว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์คงจะไม่ฟ้อง ป.ป.ช.กลับ เพราะไม่ใช่คนเจ้าคิดเจ้าแค้น

     ด้านนายสมหมาย กล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ซึ่งเป็นผู้ถูกกล่าวหา ถูกให้ร้ายโดยไม่เป็นธรรม ขณะที่ประกาศคสช.ฉบับที่ 63 เรื่องนโยบายเกี่ยวกับการยุติธรรมของรัฐ ให้มีบรรทัดฐานที่ชัดเจนในการดำเนินคดีตามประเภทคดีที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ ซึ่งประกาศดังกล่าวเพื่อให้องค์กรในกระบวนการยุติธรรม รวมทั้งป.ป.ช.บังคับใช้กฎหมาย โดยต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม ไม่เลือกปฏิบัตินั้น ถือว่าได้รับการปฏิบัติและสนองตอบอย่างดีแล้วหรือไม่

"บิ๊กจิน"เผยธรรมนูญฯเสร็จแล้ว

     เมื่อเวลา 09.00 น. ที่พิพิธภัณฑ์กองทัพอากาศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และรองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ ให้สัมภาษณ์ถึงความคืบหน้าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อวันที่ 14-15 ก.ค. ขณะนี้อยู่ในกระบวนการที่ผู้รับผิดชอบกำลังดำเนินการ ซึ่งในรายละเอียดยังไม่ได้แจ้งให้ทราบ ส่วนจะทูลเกล้าฯ เมื่อใดนั้น หัวหน้า คสช.ไม่ได้แจ้งให้ทราบเช่นกัน

     เมื่อถามถึงการต่ออายุราชการในตำแหน่ง ผบ.ทอ.ซึ่งจะเกษียณในวันที่ 30 ก.ย.นี้ พล.อ.อ. ประจินกล่าวว่า ตอนนี้มีคำสั่งโปรดเกล้าฯ ให้ออกจากราชการแล้วตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.นี้ และวันที่ 1 ต.ค.จะเป็นนายทหารนอกราชการแล้ว ซึ่งไม่น่าจะมีการต่ออายุราชการ ส่วนคนที่จะรับตำแหน่ง ผบ.ทอ.คนใหม่นั้น ต้องมีความพร้อมในการทำงาน รับภาระทุกเรื่องของกองทัพอากาศได้อย่างสมภาคภูมิและคำนึงถึงความอาวุโส ยืนยันว่าแม้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว คสช.จะยังทำงานควบคู่กันไป พร้อมดูแลในภาพรวมของกองทัพด้วย

ไม่แน่ใจให้ปูไปยุโรปได้หรือไม่

    พล.อ.อ.ประจิน กล่าวถึง คสช.อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปต่างประเทศ หลังจากป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดในโครงการรับจำนำข้าวว่า ตามเจตนารมณ์ของ คสช.จะไม่เข้า ไปแทรกแซงเรื่องกระบวนการทางศาล ส่วนที่ฝ่ายการเมืองจะขอเดินทางไปพบ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น คสช.ก็ไม่แทรกแซงเช่นกัน แต่เราได้ติดตามสถานการณ์ ขอให้ทุกอย่างเดินไปตามกรอบที่เราอยากให้เกิดความสามัคคี

    เมื่อถามว่า คสช.ยังยืนยันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปต่างประเทศหรือไม่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ไม่แน่ใจ ขอตรวจสอบข้อมูลก่อน ตนทราบข่าวจากการให้สัมภาษณ์ของพ.อ. วินธัย สุวารี ทีมโฆษกคสช. และได้ระบุข้อแม้ต่างๆ เมื่อถามว่าจำเป็นต้องประสาน ป.ป.ช. หรืออัยการสูงสูดหรือไม่ พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ตรงนี้ คสช.ไม่แทรกแซง แต่ถ้าศาลมีเงื่อนไขอย่างหนึ่งอย่างใดก็ต้องดำเนินการตามนั้น ซึ่งเราไม่รู้ว่าอัยการสูงสุดจะสั่งการไว้อย่างไร เมื่อถามว่าขณะนี้ คสช.ยังอนุญาตให้ไปต่างประเทศ แต่หากศาลสั่งห้ามก็เป็นอีกเรื่องใช่หรือไม่ พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า คสช.แยกทำงานกัน และตนไม่ได้อยู่ในส่วนของฝ่ายกฎหมาย จึงไม่แน่ใจ

คงแวต 7%ต่ออีกปี-คสช.ตั้งใจดี

   ผู้สื่อข่าวถามถึง คสช.มีคำสั่งชะลอการ จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวว่า ตามกฎหมายที่ออกมาก่อนหน้านี้ให้เก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10 เปอร์เซ็นต์ และมีข้อยกเว้นให้เหลือ 7 เปอร์เซ็นต์มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะครบวาระวันที่ 30 ก.ย.นี้ ทาง คสช.เห็นถึงความจำเป็นที่จะบรรเทาความ เดือดร้อน จึงปรับลดลงมาในช่วง 1 ปีแรก ยืนยันการเก็บภาษียังคงเท่าเดิม จากนั้นจะขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมติเดิมในเดือน ต.ค. 2558 ซึ่งถือเป็นความตั้งใจดีของ คสช.

    วันเดียวกัน นายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตส.ส.กทม.และทีมเศรษฐกิจพรรคประชา ธิปัตย์ แถลงถึงคสช.ประกาศคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7 เปอร์เซ็นต์ออกไปอีก 1 ปีว่า ไม่ใช่เรื่องใหม่ ทุกรัฐบาลพยายามทำมาตั้งแต่ปี 2542 ดังนั้น เมื่อจะปรับปรุงมาตรการทางภาษี จึงอยากเสนอให้คสช.ปฏิรูปเรื่องการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ เพราะถือเป็นแหล่งที่มีนักการเมืองเกี่ยวข้องมาก มีบริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจะได้รับการยก เว้นภาษีส่วนบุคคลถึง 243 ประเภทโครงการที่ได้รับยกเว้นภาษี ซึ่งคาดการณ์ปี 2557 จะเกิดความสูญเสียจากการให้สิทธิบีโอไอ 310,000 ล้านบาท ปี 2558 มีโอกาสสูญเสีย 340,000 ล้านบาท เมื่อเทียบแล้วมีมูลค่าสูงกว่าภาษีเงินได้จากบุคคลธรรมดาที่จัดเก็บได้ปีละ 300,000 ล้านบาท เห็นว่าคสช.ควรพิจารณาเรื่องกฎเกณฑ์เกี่ยวกับบีโอไออย่างเร่งด่วน โดยบริษัทที่จะขอรับการส่งเสริมการลงทุน ควรเป็นบริษัทที่ถ่ายทอดเทคโนโลยีขนาดสูงให้ประเทศ 

'บิ๊กตู่'สั่งเด้งอีกเลขาธิการกกพ.

     เมื่อเวลา 11.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช. เซ็น คำสั่ง คสช.ฉบับที่ 95/2557 เรื่องการให้เลขา ธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานพ้นจากตำแหน่ง และการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เพื่อให้การกำกับกิจการพลังงานของประเทศต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น คสช.จึงมีประกาศ ดังนี้ 1.ให้นายกวิน ทังสุพานิช พ้นจากตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน 2.ให้กรรมการกำกับกิจการพลังงานที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในวันก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง 3.บทบัญญัติเกี่ยวกับการสรรหาตามพ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 มิให้นำมาใช้บังคับการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามประกาศนี้

     4.ให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ได้แก่ นาย ไกรสีห์ กรรณสูต นางดวงมณี โกมารทัต นางปัจฉิมา ธนสันติ นายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย นายวัชระ คุณาวัฒนาวุฒิ น.ส.วิไลพร ลิ่วเกษมศานต์ และนายวีระพล จิระประดิษฐกุล โดยให้กรรมการประชุมร่วมกันเพื่อเลือกกันเองให้คนหนึ่งเป็นประธานกรรมการ 5.ให้เป็นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามมาตรา 10 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 6.ให้คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับเป็นต้นไป 7.เมื่อตั้งครม.แล้วให้นายกฯ นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งประธานกรรมการและกรรมการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย

วิชา หวังอัยการสั่งฟ้องยิ่งลักษณ์

     ที่หอประชุมศรีบูรพา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ นายวิชา มหาคุณ กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีป.ป.ช.มีมติเอกฉันท์เห็นว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำ การที่มีความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการจากโครงการรับจำนำข้าวว่า ขณะนี้ป.ป.ช.ยังไม่ได้ส่งสำนวนต่ออัยการ เนื่องจากเป็นสำนวนที่ใหญ่มาก แถลงแล้วจะส่งไปทันทีคงเป็นไปไม่ได้ คาดว่าจะส่งสำนวนภายในสัปดาห์หน้า ซึ่งการทำงานจะเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ของแต่ละฝ่าย ไม่ก้าวก่ายกัน

     นายวิชา กล่าวว่า ส่วนการออกนอกประเทศ ของน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจยับยั้ง เป็นไปตามที่คสช.มีคำสั่งออกมาว่าองค์กรใดเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมหรือศาลก็ ทำหน้าที่ไป คสช.ไม่เคยเข้ามายุ่งเกี่ยวหรือแทรกแซง แต่หากมีกฎหมายใดเพิ่มเติมเราก็เสนอคสช. เช่นเดียวกับที่เสนอต่อรัฐบาล 

     "การส่งสำนวนหรือไม่ส่ง ไม่เกี่ยวกับการเดินทางของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งป.ป.ช.หวังว่าทุกอย่างจะราบรื่น เราต้องการให้อัยการฟ้อง เราไม่อยากฟ้องเอง เนื่องจากงานของป.ป.ช.ก็มีมากอยู่แล้ว" นายวิชาระบุ

อสส.สั่งคณะทำงานพิจารณาคดี

     ด้านนายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด (อสส.) กล่าวถึงป.ป.ช.เตรียมส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดพิจารณายื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในสัปดาห์หน้าว่า คดีนี้เป็นคดีสำคัญ ตนจึงเตรียมตั้งคณะทำงานอัยการขึ้นพิจารณา โดยมีรองอัยการสูงสุด 1 คน ซึ่งยังไม่ได้กำหนดว่าเป็นคนใด ขอดูสำนวนและความเหมาะสมก่อน พร้อมอัยการอาวุโสและคณะทำงานจำนวนหนึ่งพิจารณาตามข้อเท็จจริง และหลักกฎหมาย ยึดหลักความเป็นธรรม รอบคอบและตอบคำถามต่อสังคมได้ ซึ่งเป็นนโยบายที่ตนแจ้งให้พนักงานอัยการทั่วประเทศปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้ตนไม่รู้สึกหนักใจ แม้จะเป็นคดีเกี่ยวกับการเมือง เพราะอัยการจะพิจารณาตามพยานหลักฐานและให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย เพื่อผลประโยชน์ของชาติ

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขั้นตอนการยื่นฟ้องคดีนั้น ป.ป.ช. จะส่งสำนวนให้อัยการสูงสุดภายใน 14 วันนับแต่วันที่มีมติ โดยส่งแต่สำนวนสอบ สวนเท่านั้น ไม่ต้องส่งตัวผู้ถูกกล่าวหา จากนั้น อสส.ฟ้องคดี 30 วันนับแต่รับเรื่อง ส่วนการยื่นฟ้องคดีนั้นจะยื่นฟ้องพร้อมตัวผู้ต้องหาหรือไม่ก็ได้ ถ้าไม่มีตัว ต้องระบุที่อยู่ของจำเลยต่อศาลฎีกา ส่วนการยื่นประกันตัวเป็นสิทธิของจำเลยที่จะยื่นต่อศาลฎีกาฯ รวมทั้งการมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศอยู่ในดุลพินิจของศาลฎีกาฯ

ไม่มีสิทธิห้ามเดินทางไปตปท.

     'กรณีมีข้อไม่สมบูรณ์ (พยานหลักฐาน ไม่ครบถ้วน) อสส.จะตั้งข้อไม่สมบูรณ์แจ้ง ป.ป.ช. ภายใน 30 วันนับแต่วันรับเรื่อง เมื่อ ป.ป.ช.ได้รับแจ้งข้อไม่สมบูรณ์แล้ว ป.ป.ช. และอสส.ต้องตั้งคณะทำงานพิจารณาข้อไม่สมบูรณ์ให้เสร็จภายใน 14 วัน กรณีตกลงกันได้ อสส.จะยื่นฟ้องคดีตามนั้น หากตกลงกันไม่ได้ ป.ป.ช.ต้องฟ้องคดีเองภายใน 14 วัน" นายตระกูลกล่าว

     นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนัก งานคดีแรงงาน รักษาราชการแทนอธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ ในฐานะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวถึงอำนาจการสั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศว่า ในคดีเกี่ยวกับการกระทำผิดของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หากมีการยื่นฟ้อง ต้องยื่นต่อศาลฎีกาฯนั้น ตั้งแต่ชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. มาถึงชั้นพิจารณาสำนวนของอัยการสูงสุด ตัวผู้ถูกกล่าวหาไม่ได้อยู่ในการควบคุมตัว โดยผู้ถูกกล่าวหาจะต้องมาปรากฏตัวเมื่อฟ้องคดีและศาลฎีกาฯออกหมายเรียกผู้ถูกกล่าวหามาดำเนินคดีเป็นจำเลยตามขั้นตอน ดังนั้น ระหว่างนี้อัยการไม่มีอำนาจตามกฎหมายใดที่จะสั่งห้ามผู้ถูกกล่าวหาเดินทางออกนอกประเทศ หรือจะร้องศาลสั่งห้ามออกนอกประเทศ แต่ถ้ายื่นฟ้องคดีแล้ว การพิจารณาห้ามเดินทางออกนอกประเทศอาจเป็นดุลพินิจของศาล เมื่อขณะนี้คสช.อนุญาตให้น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศได้ ก็เป็นอำนาจของ คสช. ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ส่วนอสส.มีเวลา 30 วันพิจารณาสำนวนหลักฐาน ที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดน.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งจะส่งมาให้กับอัยการต่อไป

บิ๊กตู่วอนมิตรประเทศร่วมมือคสช.

      เมื่อเวลา 20.30 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า ตนมีเรื่องขอความร่วมมือเพื่อที่เราจะได้ก้าวเดินต่อไปข้างหน้าอย่างพร้อมเพรียงกัน อยากให้มิตรประเทศร่วมกับเราในการปฏิรูปประเทศครั้งนี้ ซึ่งจะเห็นว่าขณะนี้ไทยพยายามกลับมาสร้างพื้นฐานความเป็นประชาธิปไตยที่มั่นคง น่าจะทำ ให้ความสัมพันธ์ในฐานะหุ้นส่วนกับนานา ชาติให้ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ร่วมกันมากขึ้น คสช.ไม่ต้องการคำชมเชย เราทำเพื่อปลดล็อกออกจากหนทางตีบตัน ตอนนี้คิดว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่คนไทยและมิตรประเทศจะช่วยกันมองสู่อนาคต และหาทางหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอีกในการเป็นประชาธิป ไตยของไทย

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การที่ คสช.เข้ามาจัดระเบียบต่างๆ เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ไม่น่าทำให้พื้นฐานทางเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป หรือมีผลกระทบต่อโอกาสของไทยที่มีต่ออาเซียนและประชาคมโลก เราไม่อยากให้มิตรประเทศจำกัดบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของทหารหรือคสช.ในเวลานี้ ขอให้ไทยยังคงมีส่วนร่วมในเวทีนานาชาติต่อไป ซึ่งจะเป็นผลดีต่อมิตรประเทศมากกว่าเดิม

ขอให้ช่วยกันตั้งเสาหลักปชต.

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คนไทยต่างหวังจะเห็นอนาคตที่ดีของประเทศ คืนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งขึ้น มีระบบคุ้มครองหลักนิติธรรม นิติรัฐที่เหมาะสม ประชาชนมีส่วนร่วมตัดสินใจอย่างแท้จริง มีการตรวจสอบความโปร่งใสที่มีประสิทธิภาพ ให้กระบวนการปฏิรูปมีส่วนช่วยแก้ไขสิ่งที่เราล้มเหลวมาในอดีต และวางพื้นฐานพัฒนาสิ่งดีๆ สำหรับประเทศในอนาคตอย่างยั่งยืน

      หัวหน้าคสช.กล่าวว่า การจะวัดคำว่าประชาธิปไตย น่าจะมากกว่าการดูการเลือกตั้งเกิดขึ้นหรือไม่ ควรวัดว่าเลือกตั้งแล้วจะทำให้เกิดอะไร ได้อะไรกับประชาชนอย่างยั่งยืนมากกว่า ซึ่งการปฏิรูปในระยะต่อไป เราจะเน้นปฏิรูปการเมือง ต่อต้านคอร์รัปชั่น ระบบธรรมาภิบาลมีความโปร่งใส มีกฎหมายที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการถ่วงดุลและคานอำนาจของรัฐบาลอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้หากเราช่วยกันตั้งเสาหลักแห่งประชาธิปไตยของไทยให้มั่นคงย่อมดีกว่าการวิจารณ์เพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะการเรียกร้องเลือกตั้งให้ได้โดยเร็ว เราผ่านการลองผิดลองถูกหลายครั้ง หากเราทำสำเร็จ เราจะเป็นประชาธิปไตยที่เป็นประโยชน์กับคนไทยและมิตรประเทศอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน จึงขอเวลาคนไทยกับมิตรประเทศสร้างหนทางเดินไปข้างหน้าร่วมกัน 

อย่าโจมตีตามแบบปชต.ปัจจุบัน

     หัวหน้าคสช.กล่าวว่า สำหรับกรณีผู้ที่เห็นต่างจาก คสช. ไม่อยากให้ทุกคนมองข้ามการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย โดยลืมนึกถึงความปลอดภัย การทุจริตคอร์รัปชั่น การบริหาร งานที่ผิดพลาด และคิดถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ บางครั้งอาจเร่งด่วนเกินไปที่จะคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะเมื่อกองทัพเข้ามาเกี่ยวพันกับการเมือง ขอให้เปิดใจรับรู้ต่อความเป็นจริงของเหตุการณ์และสภาวะแวดล้อมที่เกิดขึ้น สำหรับมิตรประเทศและแนวร่วมต่างชาติ อยากให้สังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ในทางที่ดีขึ้นหลังวันที่ 22 พ.ค. หากจะกรุณาไม่เร่งโจมตีเราตามแบบของประชาธิปไตยโลกในปัจจุบัน

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การปฏิรูปในขั้นที่ 2 ทั้ง 11 เรื่องหรือมากกว่านั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาคการเมือง ข้าราชการ เอกชน ประชาสังคม ประชาชน ตราบใดที่ความเห็นแต่ละฝ่ายยังไม่ตกผลึก ในระยะที่ 2 ย่อมยากจะนำไปสู่การปฏิรูปและการปฏิบัติในระยะที่ 3 ได้ ขณะนี้ คสช.เปิดให้ทุกส่วนได้แสดงความคิดเห็นในการปรองดองและปฏิรูปของ คสช. ทั้งนี้ สมาชิกสภาปฏิรูปจำเป็นต้องสมัครเข้ามาและหาข้อยุติให้ได้ในสภาปฏิรูป ดังนั้น เมื่อเปิดรับสมัครก็ขอให้สมัครเข้ามาดีกว่าออกมาพูดในขณะนี้ เพราะไม่มีประโยชน์ใดเลย มีแต่สร้างความแตกแยกให้สังคม และแสดงให้เห็นว่าไม่ต้องการปฏิรูปประเทศ

ยัน 30 บาททุกโรคยังดำเนินการต่อ

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การดูแลในรูปแบบรัฐสวัสดิการ เช่น การรักษาพยาบาล 30 บาทยังคงดำเนินการอยู่และต้องปรับปรุงให้ดีขึ้น ทั้งปริมาณและคุณภาพในการรักษาพยาบาล ฉะนั้น ใครพูดอะไร อย่าไปรับฟังให้มาก เพราะจะสับสน เนื่องจากยังไม่ได้ประกาศอะไรเลย เรื่องนี้มีความสำคัญ เรามองถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นหลัก แต่ต้องใช้งบจำนวนมาก หากงบถูกนำมาใช้ในเรื่องนี้มากเกินไป งบอื่นๆ เช่น การลงทุนของรัฐจะเป็นปัญหา เราจะหาหนทางในเรื่องรัฐสวัสดิการที่ดีที่สุดต่อไป ซึ่งการใช้จ่ายงบในเรื่องประชานิยมโดยไม่จำเป็น วันนี้เรามีการทบทวนทั้งหมด ขณะนี้การปรับปรุงด้านภาษียังไม่ได้ดำเนินการเป็นรูปธรรม รายได้ของรัฐไม่สามารถเก็บได้ตามที่ประมาณการไว้ ซึ่งน่าเป็นห่วง

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่า ประชาชนจำนวนมากยังมีปัญหาเรื่องปากท้อง ปัญหาหนี้นอกระบบ เป็นช่องว่างให้ผู้มีอิทธิพลข่มขู่ทวงหนี้ จึงให้ฝ่ายกฎหมายไปพิจารณาเสนอร่างพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ เพื่อแก้ปัญหาการทวงหนี้ที่ไม่เหมาะสม ซึ่งคสช.จะนำเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวทันทีหลังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเลือกตั้งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า คสช.เห็นว่าหากให้มีการเลือกตั้งดังกล่าว อาจเป็นประเด็นขัดแย้งขึ้นมาอีก เพื่อรักษาบรรยากาศที่เอื้อต่อการปฏิรูป ขอความร่วมมือระยะหนึ่ง ชะลอการจัดการเลือกตั้งอปท.ออกไปก่อนจนกว่าจะมีรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ระหว่างนี้หากมีสมาชิกสภาอปท.ที่ครบวาระ จะใช้กระบวนการสรรหาสมาชิกสภาทดแทนไปก่อน เพื่อให้สภาอปท.มีจำนวนสมาชิกเพียงพอปฏิบัติงานได้ โดยบุคคลที่ได้รับการสรรหาจะมีความเกี่ยวข้องทางการเมืองน้อยที่สุด จำเป็นต้องคัดเลือกบางส่วนมาจากข้าราชการ

เรียกร้องคนที่อยู่ตปท.กลับมา

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คสช.ทราบดีถึงความห่วงใยทั้งในและต่างประเทศ ทั้งสนับสนุนและไม่สนับสนุนการปฏิบัติของ คสช. แต่อยากพูดให้ทุกคนเข้าใจ และขอให้ทุกคนร่วมมือกันแก้ปัญหาของประเทศให้ลุล่วงในเวลารวดเร็ว ย่อมดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ถ้าเราปล่อยปละละเลยกัน ไม่ร่วมมือกัน หรือปล่อยให้ทุกอย่างกลับไปเหมือนเดิม จะแก้ไขอะไรไม่ได้อีก ทำให้ทะเลาะขัดแย้งกันไปอีก ฉะนั้นหากใครที่ไม่เห็นด้วย อย่าเพิ่งคัดค้าน บางคนไม่รู้ข้อมูลอย่างแท้จริงก็โต้แย้งในทุกประเด็นที่ คสช.ทำอยู่ หรือทุกประเด็นที่ตนพูดออกไป บางทีไม่ฟังว่าพูดอะไร บางทีฟังบ้าง ไม่ฟังบ้าง แล้วเอาความคิดของตนเองเป็นหลัก

    "สิ่งที่ทำวันนี้ ผมกลั่นกรองมาจากหลายภาคส่วนด้วยกัน และประชาชนส่วนใหญ่เป็นกำลังใจให้เราในการทำหน้าที่ ลองไปตัดสินใจดูอีกครั้ง ผู้ที่ยังอยู่ต่างประเทศก็กลับมา คสช.จะให้ความเป็นธรรม เราจะต่อสู้กันไปทำไม ถ้าเรากลับมาร่วมมือกัน ผมคิดว่าคนไทยต้องให้อภัยกันอยู่แล้ว กรุณากลับมา เราจะขัดแย้งกันต่อไปไม่ได้ ต้องร่วมมือร่วมใจกันนำประเทศชาติสู่อนาคตที่ดีในวันข้างหน้า ผมอยากพูดให้พวกเราเข้าใจกัน และแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ดีเดย์ 19 ก.ค.-ปรับปรุงทำเนียบ

      เมื่อเวลา 09.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เจ้าหน้าที่สำนักโฆษกสำนักเลขาธิการสำนักนายกฯ ได้ประสานเจ้าหน้าที่ทหารขนย้ายสิ่งของและอุปกรณ์ต่างๆ โดยเฉพาะโต๊ะ เก้าอี้ ที่ใช้ในศูนย์แถลงข่าวภายในตึกนารีสโมสรไปไว้ยังสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ถนนพิษณุโลกชั่วคราว ระหว่างปรับปรุงตึกนารีสโมสร อาคาร สถานที่และภูมิทัศน์ภายในทำเนียบ ส่วนเจ้าหน้าที่ของสำนักโฆษกฯ นั้น ย้ายไปปฏิบัติงานที่ตึกผู้แทนการค้าภายในทำเนียบแทน โดยกรมยุทธโยธาทหารบก ซึ่งรับผิดชอบตึกนารีสโมสร จะเริ่มปฏิบัติงานตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.เป็นต้นไป

     รายงานข่าวแจ้งว่า หลังปรับปรุงและ ซ่อมแซมตึกนารีสโมสรแล้ว เบื้องต้นจะยัง คงใช้ตึกนารีสโมสรเป็นศูนย์แถลงข่าวตามเดิม หลังจากมีข้อท้วงติงและกระแสวิพากษ์วิจารณ์แผนจะใช้ตึกนารีสโมสรทั้งหมดเป็นสถานที่รับรองแขกของนายกฯ รองนายกฯ และที่ปรึกษา ว่าไม่เหมาะสม ดังนั้นจะปรับ ปรุงห้องทำงานของโฆษกประจำสำนักนายกฯ และห้องทำงานของรองโฆษกทั้งหมดให้เป็นห้องรับรองแขกของรัฐบาลแทน โดยย้ายห้องทำงานทั้งหมด ไปอยู่ชั้น 4 ตึกบัญชาการ 2 หลังจากปรับปรุงเสร็จ 

ผกก.สันติบาลแจงเบี้ยเลี้ยงตร.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.อ.ภพธร จิตต์หมั่น ผกก.4 บก.ส.3 ทำหนังสือชี้แจงกรณีสื่อ มวลชนนำเสนอข่าวร้องเรียนจากตำรวจสันติบาลในทำเนียบกลุ่มหนึ่ง ยังได้รับเบี้ยเลี้ยงไม่ครบจำนวนจากการเข้าเวรในช่วงที่มีประกาศ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณา จักร ตั้งแต่เดือนก.พ.จนถึงปัจจุบันว่า ตำรวจที่ปฏิบัติงานควบคุมความไม่สงบตั้งแต่วันที่ 9 ต.ค. 2556-19 พ.ค. 2557 นั้น ผกก.4 บก.ส.3 ได้เบิกค่าตอบแทนในการปฏิบัติงานโดยเสนอต่อผู้บังคับบัญชาพิจารณาอนุมัติเบิกจ่ายไปแล้วตามห้วงเวลาต่างๆ ปัจจุบันยังเหลืออีก 3 ช่วง คือวันที่ 21 ก.พ. - 18 มี.ค. 2557, วันที่ 19 มี.ค. - 30 เม.ย. 2557 และวันที่ 1-19 พ.ค. 2557 ซึ่งทั้ง 3 ช่วงเวลาอยู่ระหว่างดำเนินการทางเอกสารเพื่อเบิกจ่าย ซึ่งได้ชี้แจงให้ข้าราชการตำรวจรับทราบแล้ว

  "การเบิกจ่ายเบี้ยงเลี้ยงของตำรวจ ไม่ว่าที่ทำเนียบหรือที่อื่นต้องมีขั้นตอน ซึ่งอาจใช้เวลาบ้างตามระเบียบราชการ ไม่ใช่ว่าผู้บังคับบัญชาไม่ดำเนินการให้ เพียงแต่อาจไม่ทันใจผู้ปฏิบัติ ยืนยันว่าไม่มีการละเลยและได้ทำความเข้าใจกับผู้ใต้บังคับบัญชาแล้ว" พ.ต.อ.ภพธรกล่าว