15 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8630 ข่าวสดรายวัน

หมอชนบทแฉซ้ำปลัดสธ.-ล้มทุนสุขภาพ รุมติงงบ ปรับปรุง ทำเนียบ สมยศจับ ทีมเอ็ม79


บวงสรวง - ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีบวงสรวงสักการบูชาพระพรหม และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 14 ก.ค.

      หมอชนบทแฉอีก ปลัดสธ.ชงเลิกกองทุนหลักประกันสุข ภาพท้องถิ่นกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ชงสวน ให้คนสธ.ทดลองจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง ถ้าดีค่อยใช้กับประชาชน ระบุค่ารักษาพยาบาลขรก.ต่อปีสูงถึง 6 หมื่นล้าน ด้านหมอณรงค์โต้วุ่น ม.ล.ปนัดดาทำพิธีบวงสรวงทำเนียบ ยันใช้ 300 ล้านปรับปรุงเหมาะสมแล้ว ไม่ถือว่ามากเกิน คาด 2 เดือนเสร็จทันรับรัฐบาลใหม่ ไพบูลย์ยันก.ค.นี้ มี รธน.ชั่วคราวแน่นอน อ๋อยจี้ถกปฏิรูป- ห่วงไปผิดทาง 

บิ๊กตู่ถือฤกษ์ยังไม่เข้าทำเนียบ
       เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) ถ.ราชดำเนิน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าปฏิบัติหน้าที่เพื่อติดตามงานแต่ละฝ่ายของ คสช. ก่อนประชุม คสช. ชุดใหญ่ ครั้งที่ 6/2557 ในวันที่ 15 ก.ค. ขณะที่พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. ได้เดินทางเข้าบก.ทบ.แล้วเช่นกัน ทั้งนี้ มีรายงานข่าวว่าคสช. นัดประชุมพิจารณากรณีการบริหารจัดการน้ำและโครงการรับจำนำข้าว ในส่วนการดูแลของ คสช. นอกเหนือจาก ป.ป.ช. 
      ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า ในการจัดงานเลี้ยงละศีลอดเดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1435 วันที่ 15 ก.ค.เวลา 17.00-20.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาลนั้น เดิมพล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นเจ้าภาพแก่คณะทูตานุทูตประไทย และประเทศมุสลิมในประเทศไทย ผู้นำศาสนาอิสลามและบุคคลสำคัญจากวงการต่างๆ ของชุมชนมุสลิมในไทย ล่าสุดมีการเปลี่ยนแปลงโดยมอบให้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช.ฝ่ายกิจการพิเศษ เป็นเจ้าภาพแทน 
      รายงานข่าวจากทำเนียบ เปิดเผยว่า ที่พล.อ.ประยุทธ์ยังไม่เข้ามาทำกิจกรรมสำคัญที่ทำเนียบ เพราะถือเคล็ดว่ายังไม่ได้รับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ จึงยังไม่ขอเข้ามาทำกิจกรรมใดๆ เกรงจะไม่เหมาะสม ทั้งพิธีบวงสรวงพระพรหม สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำทำเนียบ หรือการเป็นเจ้าภาพเลี้ยงละศีลอด เดือนรอมฎอน ปี ฮ.ศ.1435 อย่างไรก็ตาม พล.อ.ประยุทธ์ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานทุกครั้ง เช่นเดียวกับการปรับปรุงอาคารสถานที่ในทำเนียบขณะนี้ยังคงเร่งดำเนินการเพื่อให้ทันต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่ที่พล.อ.ประยุทธ์ระบุชัดเจนว่าภายในเดือน ก.ย.นี้จะมีรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศ

ปนัดดา ทำพิธีบวงสรวง
      เวลา 11.45 น. ที่สนามหญ้าหน้าตึกไทย คู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดประจำสำนักนายกฯ เป็นประธานพิธีบวงสรวงสักการบูชาพระพรหม สิ่งศักดิ์ สิทธิ์ประจำทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นครั้งแรกหลังเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดย มีพระมหาราชครูพิธีศรีวิสุทธิคุณ ประธานพระครูพราหมณ์ สังกัดพระราชวัง เป็น ผู้ประกอบพิธีเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ข้าราชการและผู้ปฏิบัติงานในทำเนียบ มีผู้เข้าร่วมพิธีเป็นข้าราชการ หัวหน้าส่วนราชการ พนักงานข้าราชการและลูกจ้าง 120 คน 
       พระมหาราชครูพิธีศรีสุทธิคุณ กล่าวถึงเหตุผลการบวงสรวงท้าวมหาพรหมก่อนมีรัฐบาลใหม่ทุกครั้งว่า เป็นประเพณีปฏิบัติคือการไปลา-มาไหว้ ผู้ที่เข้ามาต้องปฏิบัติกุศลผลบุญถวายบูชาเพื่อสิริมงคล ส่วนที่มี บางรัฐบาลหรือบางคนประกอบพิธีทางไสยศาสตร์นั้น เป็นเพียงส่วนประกอบหนึ่ง แต่หลักใหญ่ทำเพื่อเป็นสิริมงคล การทำพิธีครั้งนี้เป็นฤกษ์ที่เราจะมีรัฐบาลใหม่บริหารประเทศ มงคลที่ดี และขณะทำพิธีเกิดพระอาทิตย์ทรงกลด ถือเป็นสิริมงคลและนิมิตหมายที่ดี ถือเป็นกำลังและมีกำลังใจที่ ดีขึ้น ส่วนฤกษ์ 11.45 น. ถือเป็นวันเริ่มต้นที่เป็นสิริมงคล ไม่ได้ผูกกับฤกษ์ของใครเป็นพิเศษ ใช้หลักจากคัมภีร์สุริยยาตร์ซึ่งเป็นตำราโบราณและเลือกเวลานี้เป็นฤกษ์ 

แจงใช้งบฯ 300 ล้านปรับปรุง
       ม.ล.ปนัดดาให้สัมภาษณ์ถึงการปรับปรุงทำเนียบว่า เป็นไปตามแนวคิดเดิมและเพิ่งมาดำเนินการในช่วงนี้ 
       เมื่อถามว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ใช้ งบประมาณถึง 300 ล้านบาทบูรณะทำเนียบ ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า สำนักเลขาธิการนายกฯเป็นเจ้าของเรื่อง ส่วนสำนักปลัดสำนักนายกฯเป็นหน่วยประสานงาน ซึ่งอาคารในทำเนียบเก่าแก่ตามกาลเวลา เหมือนกระทรวงอื่นๆ ที่มีการบูรณะไปแล้วแต่ทำเนียบยังไม่เคยดำเนินการ โดยงบประมาณเป็นไปตามความเหมาะสมอย่างพอเพียงและไม่ฟุ่มเฟือย เพื่อให้เกิดความสง่างามและเป็นศักดิ์ศรีต่อประเทศ ต่อไป
      เมื่อถามว่ามีการจัดเตรียมห้องทำงานสำหรับนายกฯ คนใหม่เรียบร้อยหรือยัง ม.ล.ปนัดดากล่าวว่า สำนักเลขาธิการนายกฯเป็นผู้ดำเนินการ
      ม.ล.ปนัดดา ในฐานะประธานอนุกรรม การตรวจสอบคุณภาพข้าวคงเหลือของรัฐ กล่าวถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบโกดังข้าว ที่จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า จากการลงพื้นที่ยังไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ได้ข้อสังเกตเรื่องความสะอาดให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ตนจะรวบรวมข้อมูลรายงานต่อกรรมการและหัวหน้าคสช.ต่อไป 

คาด 2 เดือนเสร็จทันรัฐบาลใหม่
     เวลา 15.00 น. ที่ตึกนารีสโมสร มีการประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการปรับปรุงอาคารต่างๆ ภายในทำเนียบรัฐบาล มีสำนักโฆษกประจำสำนักนายกฯ ร่วมหารือกับพล.ต.วิวรรธน์ สุชาติ เจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก ซึ่งกรมยุทธโยธาทหารบกเป็นหน่วยงานหลักในการปรับปรุงภายในตึกนารีฯ รวมทั้งหน่วยงานต่างๆ ของทำเนียบ และตัวแทนบริษัทรับเหมาก่อสร้างซึ่งนำรายละเอียดแผนปรับปรุงซ่อมแซมมาเสนอที่ต่อประชุม ใช้เวลา 30 นาที จากนั้นเจ้ากรมยุทธโยธาทหารบก พร้อมคณะและตัวแทนบริษัทเอกชน เดินตรวจสภาพห้องต่างๆ ภายในตึกบัญชา การ 2 ที่จะใช้เป็นสถานที่แถลงข่าวและที่ทำงานของคณะโฆษกฯ คาดว่าจะปรับปรุงให้เสร็จภายใน 2 เดือน ก่อนรัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามาปฏิบัติงาน แต่ถ้าทำเสร็จไม่ทัน อาจแถลงข่าวที่ตึกนารีฯเป็นครั้งคราว
       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การปรับปรุงตึกนารีฯครั้งนี้ ไม่มีเจ้าหน้าที่ทำเนียบคนใดทราบ คำสั่งมาก่อน กระทั่งมีการประชุมกรรมการปรับปรุงอาคารสถานที่ในทำเนียบที่มีพล.ต.อ.อดุลย์ เป็นประธานเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งไม่ชัดเจนว่าแนวคิดดังกล่าวมีที่มาอย่างไรหรือเป็นข้อเสนอของใคร ส่วนแผนการย้ายรังนกกระจอกเก่า ก่อนหน้านี้มีข่าวว่าจะให้ตัวแทนสื่อมวลชนสะท้อนความคิดเห็น แต่กลับไม่มีการประสานให้สื่อเข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ได้เกิดเสียงวิจารณ์กันมากถึงการตั้งงบปรับปรุงทำเนียบมากถึง 300 ล้านบาท

เล็งใช้ตึกนารีเป็นสถานที่รับรอง
       รายงานข่าวจากทำเนียบแจ้งว่า ในการปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในทำเนียบนั้น นอกจากย้ายศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสรไปอยู่ที่ตึกบัญชาการ 2 จนเกิดเสียงวิจารณ์แล้ว ยังมีแผนรื้อห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 หรือรังนกกระจอกเก่า เพื่อใช้พื้นที่ทำเป็นสวนหย่อมพักผ่อนและย้ายสื่อไปอยู่รวมกันที่ห้องสื่อมวลชน 2 โดยจะขอฟังความเห็น จากสื่อประจำทำเนียบในสัปดาห์หน้านั้น ได้เกิดกระแสวิจารณ์และต่อต้านจากสื่อมวลชนเนื่องจากรังนกกระจอกเก่าถือเป็นสัญลักษณ์ของทำเนียบตั้งแต่สมัยรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เป็นนายกฯ เมื่อปี 2522 หรือ 35 ปีที่แล้ว อีกทั้งที่เพิ่มห้องสื่อมวลชน 2 เพื่อลดความแออัดเนื่องจากมีสื่อเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์
       "ที่มีแผนการย้ายรังนกกระจอกเก่า สาเหตุหลักเนื่องจากอยู่ใกล้กับตึกนารีสโมสร ซึ่งมีแผนปรับเป็นสถานที่รับรองรองนายกฯและที่ปรึกษานายกฯ จึงไม่ต้องการให้สื่ออยู่ใกล้บริเวณดังกล่าวเพื่อป้องกันข่าวสารรั่วไหล" แหล่งข่าวกล่าว

นักข่าวค้านรื้อรังนกกระจอก
      ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบรายหนึ่ง เผยว่า แผนรื้อรังนกกระจอกเก่าครั้งนี้ไม่มีเหตุอันควร คสช.ประกาศจะไม่แทรกแซงการทำหน้าที่ของสื่อ แต่เมื่อมีข่าวเช่นนี้จะให้เหตุผลอย่างไร แค่การย้ายศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสรก็ไม่น่าเกิดขึ้นแล้ว 
      นางยุวดี ธัญศิริ หรือเจ๊ยุ ผู้สื่อข่าวอาวุโสประจำทำเนียบกล่าวถึงกระแสข่าวรื้อรังนกกระจอกว่า ส่วนตัวไม่เห็นว่าห้องผู้สื่อข่าวจะเกะกะตรงไหน ต้องเข้าใจว่าทุกวันนี้นักข่าวเข้ามารายงานข่าวในทำเนียบมากขึ้น ซึ่งต้องติดตามว่าจะปรับปรุงอย่างไร การปรับอะไรให้ดีขึ้นเหมาะสมขึ้นก็เห็นด้วยแต่ถ้าปรับแล้วไม่ดีก็ไม่เห็นด้วย แต่ขณะนี้ยังไม่มีใครมาชี้แจง

สงสัย"คสช."จะอยู่นานแค่ไหน
     "เรื่องรื้อรังนกกระจอกเคยมีข่าวนี้ตั้งแต่สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนนายยงยุทธ ติยะไพรัช รมต.ประจำสำนักนายกฯขณะนั้น มาบอกนักข่าวว่าไม่รื้อ ทั้งนี้นักการเมืองเข้ามาแล้วก็ออกไป แต่สถานที่ที่เป็นประวัติ ศาสตร์นั้นจะอยู่ตลอดไป" นางยุวดี กล่าว
      นางยุวดีกล่าวอีกว่า ส่วนกระแสข่าวใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทปรับภูมิทัศน์ใหญ่ของทำเนียบนั้น ตนไม่ทราบข้อเท็จจริง แต่ตั้งคำถามว่ารัฐบาลที่มาจากคสช.จะเข้ามาอยู่ทำเนียบนานเท่าไรทำไมถึงต้องปรับปรุงมากถึง 300 ล้านบาท ตนจะติดตามการทำงานและดูว่าจะมีการทุจริตกันหรือไม่

ปลัดสธ.โต้วุ่นชงร่วมจ่าย 30 บาท
      นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยถึงข่าวกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดเสนอต่อคสช.ให้เกิดแนวร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาลในระบบบัตรทองหรือ 30บาทรักษาทุกโรคว่า ยืนยันว่าตนไม่ได้พูดในที่ประชุม คำตอบยังคงเหมือนเดิมว่าไม่มีการเสนอต่อคสช.ให้มีมติ เรื่องนี้ไม่ใช่ความจริง และไม่เข้าใจว่าเพราะอะไรถึงออกมาลักษณะนี้ ขอย้ำว่า สธ.ไม่เคยมีแนวคิดร่วมจ่าย เป็นข้อเสนอที่มีผู้เสนอในที่ประชุมแต่ไม่มีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงเสนอ คสช. มีเพียงการพูดถึงการปฏิรูปเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการพื้นฐานที่มีคุณภาพ ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แนวคิดเพิ่มทุกข์ให้ประชาชนด้วยการให้ร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล 
      ด้านพญ.อุทุมพร กำภู ณ อยุธยา ประธานชมรมนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากการประชุมร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข มีแนวคิดปรับปรุงประสิทธิภาพการบริหารจัดการระบบสาธารณสุข แต่ไม่เคยมีแนวคิดนโยบายร่วมจ่าย เพราะเชื่อว่าเงินในระบบยังเพียงพอ แค่ต้องปรับปรุงวิธีบริหารจัดการ วางระบบและสร้างศักยภาพการบริการประชาชนตามที่ควรได้รับ เพราะปัญหาวันนี้ไม่ใช่เงินในระบบไม่พอ แต่ปัญหาคือจะจัดสรรเงินอย่างไรให้เป็นธรรม

หวั่นคสช.โอเค-ทำปชช.เดือดร้อน
      นายนิมิตร์ เทียนอุดม กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การที่ตนออกมาพูดเรื่องนี้เพราะกังวลว่าถ้าเสนอคสช. แล้วมีประกาศคสช. ออกมาจะมีผลบังคับใช้กับประชาชนทันที และมีปัญหาตามมามาก จึงอยากให้ ปลัดสธ. ดูเอกสารการประชุมและยืนยันให้ชัดเจนกว่านี้ว่าเป็นความเห็นส่วนบุคคลหรือเป็นมติของ สธ. ซึ่งปลัดสธ.ต้องสร้างความกระจ่างและแสดงจุดยืนให้ชัดเจน อยากเห็นการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่มีเจตนาสร้างความปั่นป่วนตามที่กล่าวหา ส่วนประชาคมสาธารณสุขจะออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนใคร ขอให้คิดดีๆ ว่าใช่หรือไม่ ขอให้ดูที่ประเด็นและเนื้อหา
      เมื่อถามว่าภาคประชาชนคัดค้านประเด็นร่วมจ่ายทั้งหมดหรือไม่ นายนิมิตร์กล่าวว่า ไม่ใช่ หากพูดถึงความยั่งยืนเรื่องการเงินการคลังเป็นสิ่งสำคัญ แต่ต้องตีความคำว่าร่วมจ่ายให้ดี หากจะมีการร่วมจ่ายโดยให้จ่ายที่จุดบริการ หรือขณะเจ็บป่วยคงไม่ใช่ แต่ควรให้ร่วมจ่ายก่อนเจ็บป่วยในรูปแบบเก็บภาษีสุขภาพ จัดทำขึ้นเฉพาะ แต่การจัดเก็บต้องคำนึงว่าจะไม่กระทบต่อผู้บริการ

แพทย์ชนบทงัดหลักฐานแฉสธ.
       วันเดียวกัน เฟซบุ๊กของชมรมแพทย์ชนบท ได้โพสต์ภาพหนังสือข้อทักท้วงในการออกประกาศเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่ เป็นหนังสือที่ สธ. 0209.07421 ลงวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ลงนามโดย นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่งถึงเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 
      ซึ่งเป็นการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การดำเนินงานและบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้อนถิ่งหรือพื้นที่ หรือที่รู้จักกันในชื่อกองทุนสุขภาพตำบล ที่สปสช.ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ทั้งเทศบาล องค์การบริการส่วนตำบล (อบต.) ร่วมสมทบเงินเข้ากองทุนเพื่อใช้ในการบริหารจัดการงานสร้างเสริมสุขภาพในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีท้องถิ่นเข้าร่วมเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ทั่วประเทศ ซึ่งจากการปรับเกณฑ์ดังกล่าวอาจะทำให้สปสช.ไม่สามารถส่งเงินให้กับกองทุน

โวยยกเลิกกองทุนสุขภาพฯ
      "ถือเป็นหลักฐานอีกชิ้นหนึ่ง ในความพยายามของ สธ.ภายใต้การนำยุคนี้ ที่ออกหนังสือทักท้วงไม่ให้ สปสช.ทำตามมติบอร์ด ที่มีมาหลายปี เพื่อการสนับสนุนการพึ่งตนเองของประชาชน โดยออกเงินลงขันระหว่าง สปสช.และท้องถิ่นหลายหมื่นแห่ง คนละครึ่งโดยสมัครใจ เพื่อให้มีนวัตกรรม การดูแลสุขภาพเพื่นตนเองมากมายไม่ได้ผูกขาดแต่เพียง แพทย์ พยาบาล จนท.สธ.เท่านั้น" โพสต์ดังกล่าวระบุ 
       ชมรมแพทย์ชนบท ระบุว่า หากปลัดกระทรวงสาธารณสุข จะยกเลิกประกาศ ดังกล่าวก็ควรเรียกประชุมบอร์ด เพราะขณะนี้ได้ทำหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมีสิทธิในฐานะประธานบอร์ดด้วย ดีกว่าการทำหนังสือถึงเลขาฯ สปสช. ซึ่งไม่มีอำนาจ ไม่มีประโยชน์อะไรเลย แต่มันสะท้อน ภาวะการนำหลายอย่าง ว่าเกิดอะไรขึ้นในสธ. ข่าวที่ปรากฏในทุก วันนี้ไม่ได้เป็นการทะเลาะเบาะแว้งแต่เป็นการปกป้องสิทธิประชาชน

ชงสวนให้คนสธ.จ่ายค่ารักษาก่อน
       นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ประเทศไทย ในฐานะตัวแทนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ กล่าวว่า กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพมีจุดยืน ที่ชัดเจนในการปฏิรูประบบสุขภาพ ต้องกำหนดในรัฐธรรมนูญให้มีกองทุนเดียวเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว ไม่ต้องร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล เพราะประชาชนจ่ายผ่านภาษีแล้ว แต่เมื่อข้าราชการ กระทรวงสาธารณสุขบางส่วนเห็นว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล "เป็นเรื่องที่ต้องทำ" เราขอสนับสนุนให้ทดลองทำกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก่อน 
       "เมื่อข้าราชการ สธ.บางส่วนเห็นว่า การร่วมจ่ายค่ารักษาพยาบาล (co-pay) เป็นเรื่องต้องทำเพื่อไม่ให้เกิดการใช้บริการอย่างพร่ำเพรื่อและไม่ให้เป็นภาระงบประมาณแผ่นดินมากเกินไประบบต้องล้มเพราะค่าใช้จ่าย กลุ่มคนรักหลักประกันก็ขอสนับสนุนให้ทดลองทำกับระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการก่อน จนกว่าจะมีหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างน้อย 5 ปีว่าสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดี ไม่ทำให้ข้าราชการใช้บริการอย่างพร่ำเพรื่ออีกต่อไปแล้ว จึงกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งกับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" นายอภิวัฒน์กล่าว

ชี้เฉพาะขรก.ใช้งบฯ 6 หมื่นล.
       นายอภิวัฒน์ กล่าวว่า งานวิจัยพบว่า คนในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการใช้บริการผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในมากกว่าคนระบบประกันสังคมและระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า โดยที่กองทุนสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการมีสมาชิกที่เป็นข้าราชการและครอบครัว เพียง 5 ล้านคน ใช้เงินงบประมาณมากกว่า 60,000 ล้านบาท ถือเป็นค่าใช้จ่ายต่อหัวสูงมาก คือ ประมาณ 12,000 กว่าบาทต่อหัวต่อปี เมื่อเทียบกับกองทุนประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่ดูแลประชากร 48 ล้านคน ด้วยเงินงบประมาณ 109,718,581,300 บาท หรือ 2,755.60 ต่อคนต่อปีเท่านั้น ดังนั้นหากเริ่มทดลองกับระบบสวัสดิการข้าราชการจะให้ภาพที่ชัดเจนที่สุด

ไพบูลย์แจงปรับปรุงกฎหมาย
      ที่บก.ทบ. พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผช.ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. กล่าวถึงการแก้ไขระบบกฎหมายหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวว่า กฎหมายทุกเรื่องทุกประเด็นที่ ล้าหลัง ไม่เข้ากับสภาพบริบทสังคมในปัจจุบัน คสช.จะนำมาแก้ไขให้เป็นระบบกฎหมายที่ทันสมัย มีความยุติธรรม จะเห็นว่า 7 เดือนที่ผ่านมาที่มีความขัดแย้งทางการเมืองนั้น มีกฎหมายที่อยู่ในชั้นสภาผู้แทนราษฎร หรือกฎหมายที่รอการประกาศใช้ และกฎกระทรวงยังค้างอยู่จำนวนมาก ดังนั้นคสช.จะนำมาแก้ไขโดยเร็วที่สุดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน 
       พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา คสช.ออกกฎหมายไปแล้วบางส่วน ซึ่งการออกกฎหมายแบ่งเป็น 3 ระยะคือ 1.ออกโดย คสช.เข้ามาบริหารประเทศ ผ่านคำสั่งหรือประกาศต่างๆ ของ คสช. 2.ออกในชั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่มีเนื้อหาสาระมาก จึงไม่สามารถออกเป็นประกาศหรือคำสั่ง คสช.ได้ และ 3.ออกกฎหมายโดยกระบวนการสุดท้ายที่มีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง

ยันก.ค.นี้มีรธน.ชั่วคราวแน่นอน
      พล.อ.ไพบูลย์กล่าวว่า ส่วนรัฐธรรมนูญการปกครองชั่วคราวนั้น คาดว่าในเดือนก.ค.นี้น่าจะมีการประกาศใช้ สำหรับช่องทางทูลเกล้าฯประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวจะมีอยู่ 2 ช่องทาง คือ 1.ช่องทางหลักซึ่งเป็นช่องทางธุรการ โดยเลขาธิการครม.เป็น ผู้ดำเนินการ 2.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เข้าเฝ้าฯ นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมให้ทรงลงพระปรมาภิไธยโปรดเกล้าฯประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ซึ่งทั้ง 2 ช่องทางนี้ขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช. จะตัดสินใจ ทั้งนี้ คสช.ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือ เราเคารพทุกฝ่ายทั้งเห็นต่างและให้กำลังใจ จะทำงานด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใสและจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์และความสงบสุขของบ้านเมือง
      รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรม การการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า จากกรณี นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. ระบุในสัปดาห์นี้ สำนักงานกกต.จะหารือถึงแนว ทางการแก้ไขกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 5 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของกกต.นั้น ขณะนี้กกต.แต่ละด้านได้เตรียมข้อมูลข้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต.ไว้แล้ว เช่น วิธีรับสมัครส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ หรือเรื่องพรรคการเมือง จะทำอย่างไรให้เข้มแข็ง กรรมการบริหารพรรคดำเนินการโปร่งใส แต่ละด้านจะมีรายละเอียดจำนวนมากและดูว่ากฎหมายข้อใดเป็นอุปสรรคที่ต้องมาปรับแก้ ต้องทำให้นักการเมืองหรือพรรคเข้าใจกติกา และกกต.ต้องมีกฎหมายที่เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ อย่างไรก็ตาม ยังไม่แน่ชัดว่าวาระนี้จะเข้าที่ประชุมกกต.วันใดและต้องใช้เวลาพิจารณานานหรือไม่ 

เร่งถกข้อบังคับรอรับ'สนช.'
       ที่รัฐสภา นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวถึงการประชุมระหว่างสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกับสำนักงานเลขาฯวุฒิสภา ในวันที่ 15 ก.ค.ว่า มีประเด็นพิจารณาคือการยกร่างข้อบังคับ การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่จะทำหน้าที่สภาเดียว จึงจำเป็นต้องพิจารณายกร่างระเบียบใหม่ ไม่สามารถนำข้อบังคับการประชุมส.ส.หรือส.ว. มาเทียบเคียงเพื่อบังคับใช้ได้ แต่การประชุมดังกล่าวยังไม่ถือเป็นข้อสรุป เพราะต้องพิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยเนื่องจากต้องยกร่างข้อบังคับให้สอดคล้องกัน 
        เลขาธิการวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนการนำข้อบังคับการประชุม สนช.เมื่อปี 2549 มาพิจารณานั้นจะฟังข้อมูลจากผู้อาวุโสที่เคยทำงานในช่วงดังกล่าวโดยเชิญนายพิทูร พุ่มหิรัญ อดีตเลขาธิการสภา และนายสุรพงษ์ มาศะวิสุทธิ์ ที่ปรึกษางานด้านนิติบัญญัติ วุฒิสภา ซึ่งมีประสบการณ์ทำงาน สนช.ปี 50 มาให้ข้อมูลถึงกรอบการทำงานที่ครอบคลุม ส่วนตัวมองว่าข้อบังคับการประชุมสนช. ปี 50 อาจถูกใช้อนุโลมในครั้งแรกของการประชุมสนช. จากนั้นสนช.จะเป็นผู้ยกร่างข้อบังคับและระเบียบอื่นๆ เราต้องเตรียมข้อมูลและรายละเอียดให้ว่ามีระเบียบหรือข้อบังคับใดบ้าง เราต้องเตรียมงานไว้ทุกด้านเพื่อความรวดเร็ว ซึ่งยังไม่ทราบว่าวุฒิสภาหรือสภา ผู้แทนราษฎรจะได้ดูสภาใด

ย้ำต้องสอดคล้องรธน.ชั่วคราว
       นางนรรัตน์ กล่าวว่า มาตรการป้องกันปัญหาการออกกฎหมายโดยสนช.ที่ก่อนหน้านี้มีการท้วงติงว่าผ่านโดยองค์ประชุมไม่ครบนั้น ต้องทำความเข้าใจว่าร่างพ.ร.บ.ที่ผ่านการพิจารณาและมีผลเป็นกฎหมายบังคับใช้ และศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ก็เป็นเฉพาะเรื่อง แต่เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยก็ต้องปฏิบัติตาม ส่วนการทำงานของสนช.ที่ผ่านมาได้ทำตามข้อบังคับ โดยข้อบังคับฉบับเดิมมีความสมบูรณ์แล้ว แต่อาจมีเพียงความเห็นที่แตกต่างกัน ดังนั้นการกำหนดมาตรการอย่างใดหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสนช.ชุดใหม่
      ด้านนายธงชัย ดุลยสุข รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะประธานคณะกรรมการเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสภาปฏิรูป เปิดเผยว่า ตนให้เจ้าหน้าที่สำนักการประชุม สำนักงานเลขาธิการสภา เป็นผู้ยกร่างข้อบังคับการประชุมสำหรับสภาปฏิรูปไว้แล้ว เบื้องต้นมีกรอบพิจารณาคือ ข้อบังคับการประชุม สนช.ชุดที่ผ่านมาและข้อบังคับการประชุมสภา เพื่อเป็นกติกาการลงมติหรือการอภิปราย การยกร่างข้อบังคับดังกล่าวยังไม่ถือว่ามีความสมบูรณ์เพราะต้องรอพิจารณารายละเอียดของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก่อน เนื่องจากต้องเขียนข้อบังคับให้สอดคล้องกัน ส่วนรายละเอียดของค่าตอบแทนนั้น ทางสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภา เป็นผู้เตรียมความพร้อม

ปชป.หนุนคสช.คุมเสียงสนช.
      นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงการแต่งตั้งทหารเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปและสมาชิกสนช.ว่า คสช. ต้องมีหลักประกันว่าควบคุมเสียงข้างมากในสภาได้ เหมือนรัฐบาลที่ต้องมั่นใจว่าจะควบคุมเสียงข้างมากได้เช่นกัน เพราะหากคสช.ควบคุมเสียงข้างมากไม่ได้ แนวทางการปฏิรูปจะไม่บรรลุผล ทั้งนี้ต้องดูว่าเขาต้องการปฏิรูปอะไรบ้าง ต้องเลือกคนช่วยสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปได้ ตนไม่ได้ดูที่ตัวบุคคลที่จะเข้ามาเป็นสมาชิก แต่ดูว่าเขาจะปฏิรูปอย่างไร โดยการดูจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวและนโยบายในการปฏิรูปอะไรบ้าง

อ๋อยจี้ถกปฏิรูป-ห่วงไปผิดทาง
     นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสการปฏิรูปประเทศไทยว่า ขณะนี้มีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปกันมาก ก่อนหน้านี้มีความพยายามปฏิรูปในหลายด้าน ซึ่งเนื้อหาการปฏิรูปที่คิดไว้ก่อนรัฐประหารกับ 1 เดือนหลังมานี้แตกต่างกันมาก เช่น เรื่องปฏิรูปพลังงานถือว่าฐานข้อมูลเป็นคนละชุดกัน เรื่องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจก่อนหน้านี้ปฏิเสธการแปรรูป ปฏิเสธเอกชน แต่ปัจจุบันให้การส่งเสริมเอกชน ลดบทบาทรัฐวิสาหกิจลง เทียบแล้วจึงเห็นความแตกต่างอย่างมาก ดังนั้น การปฏิรูปที่พูดกันอยู่นี้ไม่ง่ายที่จะสำเร็จ ต้องทำความเข้าใจปัญหาให้ตรงกัน ต้องมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับพัฒนาการของประเทศ ต้องมีกระบวนการที่ดี มีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย อีกทั้งต้องใช้เวลา เบื้องต้นคิดว่าควรส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอย่างจริงจังรอบหนึ่งก่อน
      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า แม้จะมีการปฏิรูปได้จริงในช่วงนี้แต่เมื่อมีรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง จะมีนโยบายที่แตกต่างไปอีก อาจกลายเป็นปัญหาข้อถกเถียงว่าจะเอาแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือกเข้ามา หรือเอาแบบที่ทำกันไว้ในช่วงนี้ อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปการเมืองเป็นสิ่งที่ควรทำมากที่สุด แต่บนเงื่อนไขสถานการณ์ปัจจุบัน น่าจะทำในส่วนที่จำเป็นจริงๆ สำคัญคือควรเปิดให้มีการหารืออย่างกว้างขวาง เพราะถ้าปล่อยให้มีการแสดงความเห็น ทำกันแค่บางส่วน อาจนำสังคมไปผิดทิศทาง