คัดนั่งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ สเปกเข้ม บิ๊กโย่งลั่นยกเครื่อง 4 มิติ บริการดี-ใช้งบโปร่งใส ปชป.หนุนสกัดการเมือง เอกชนถกวาระคุยบิ๊กตู่ คค.เคาะเมกะโปรเจ็กต์

 มติชนออนไลน์ :

ลุยตรวจอุดรฯ - ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ร่วมตรวจสอบคลังเก็บข้าวสารโครงการรับจำนำข้าว ของโรงสีอุดรประเสริฐผล อ.เมือง จ.อุดรธานี เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม

"บิ๊กโย่ง"เตรียมแผนแก้ปัญหารัฐวิสาหกิจ 4 มิติ เล็งตรวจสอบคุณสมบัติบอร์ด-ผู้บริหาร

@ "บิ๊กโย่ง"ลุยแก้"รสก."4มิติ

       เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก ว่าที่ประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นประธานคณะอนุกรรมการชุดดังกล่าวอย่างเป็นทางการ แต่โดยความเห็นส่วนตัวเรื่องการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจมองว่าระยะเร่งด่วนควรแก้ไข 4 มิติ ได้แก่ มิติที่ 1 คือ ด้านบุคลากร ควรตรวจสอบว่าคณะกรรมการ (บอร์ด) หรือผู้บริหาร มีองค์ความรู้ตรงกับงานรัฐวิสาหกิจ และมีประสบการณ์การทำงานกับรัฐวิสาหกิจที่ทำงานอยู่หรือไม่ ถ้าไม่ตรงอาจจะต้องกำหนดคุณสมบัติให้มีความเหมาะสม 

       มิติที่ 2 คือ ด้านการใช้จ่ายงบประมาณ จะต้องมีความโปร่งใสและคุ้มค่า โดยจะมีการพิจารณาตามหลักการทั่วไปว่าการใช้จ่ายงบประมาณมีความผิดปกติหรือไม่ ถ้าโปร่งใสและคุ้มค่าก็สามารถเดินหน้าต่อ แต่หากมีปัญหาก็จะต้องทบทวนและตรวจสอบ มิติที่ 3 คือ ด้านการบริการประชาชน เพราะรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่เป็นงานด้านบริการ ต้องมีการประเมินว่าการบริการประชาชนเป็นไปตามมาตรฐาน และเป้าหมายหรือไม่ ประชาชนมีความพึงพอใจไหม ถ้าไม่ดีก็ต้องปรับปรุง มิติที่ 4 คือ การพัฒนาองค์กร ซึ่งแต่ละรัฐวิสาหกิจ ควรพัฒนาอบรมบุคลากร ปรับปรุงระบบ นำเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาทำงาน

@ รอซุปเปอร์บอร์ดตั้ง 3 อนุฯ

     รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนหน้านี้คณะอนุกรรมการแก้ไขและกลั่นกรองปัญหารัฐวิสาหกิจจะให้รัฐวิสาหกิจที่กำลังประสบปัญหาขาดทุนอยู่ในขณะนี้ประมาณ 10 แห่ง อาทิ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) องค์การคลังสินค้า (อคส.) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) เสนอแผนการทำงานและการแก้ไขปัญหาเข้ามาภายใน 15 วัน หลังจากที่มีการตั้งคณะอนุกรรมการเสร็จสิ้นแล้ว จากนั้นคาดว่าช่วงกลางเดือนสิงหาคม จะส่งให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซุปเปอร์บอร์ดพิจารณา

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดตั้งคณะอนุกรรมการทั้ง 3 ชุด โดยเบื้องต้นซุปเปอร์บอร์ดจัดแบ่งหน้าที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจแล้ว คือ 1.คณะอนุกรรมการพิจารณาและกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ มีพล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธาน 2.คณะอนุกรรมการ กำหนดแผนยุทธศาสตร์รัฐวิสาหกิจของประเทศ มีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ 3.คณะอนุกรรมการกำกับและพัฒนาระบบรัฐวิสาหกิจ มีนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ซึ่งคณะอนุกรรมการแต่ละชุด จะมีกรรมการชุดละ 9-11 คน มีผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เป็นกรรมการอยู่ทุกชุด และจะเชิญภาคเอกชน และหน่วยงานต่างๆ เข้ามาร่วมด้วย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์นี้ 

@ คลังถกจ่ายโบนัส 2 แบงก์รัฐ

      นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการ สคร. กล่าวว่า นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง สั่งให้ สคร. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประชุมหารือเรื่องการพิจารณาโบนัส และผลดำเนินงานของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือเอสเอ็มอีแบงก์ และธนาคารอิสลามลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ที่เสนอเรื่องมา โดยเอสเอ็มอีแบงก์ขอจ่ายโบนัสพนักงาน 4.75 เดือน ไอแบงก์ขอจ่ายโบนัสพนักงาน 3.27 เดือน และคนที่ผลงานดีให้จ่ายเพิ่มอีก 0.29 เดือน 

      "เรื่องนี้ต้องหารือกับ สศค. ธปท.และ สตง.ซึ่งมีปัจจัยต้องพิจารณาประกอบ เช่น หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) การขาดทุนสะสม อัตราการจ่ายโบนัสที่เหมาะสม หากทุกฝ่ายเห็นควรต้องจ่าย สคร.คงไม่ขัดข้อง" นายกุลิศกล่าว 

      ข่าวแจ้งว่า เอสเอ็มอีแบงก์ มีผลการดำเนินงานปี 2556 ที่ผ่านการตรวจสอบจาก สตง.แล้ว มีกำไรสุทธิ 396 ล้านบาท เกิดจากปฏิบัติงานตามแผนฟื้นฟูกิจการ หากต้องจ่ายโบนัสให้พนักงานกว่า 1,600 คน ตามอัตราที่เสนอคือประมาณ 4.75 เดือน จะต้องใช้เงินราว 200 ล้านบาท ส่วนไอแบงก์มีผลดำเนินงานปี 2556 ตามที่ สตง.รับรองแล้วมีกำไร 2,702 ล้านบาท โดยผลจากการประเมินของ บริษัท ไทยเรทติ้ง แอนด์ อินฟอร์เมชั่น เซอร์วิส (ทริส) ปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 2.77 คะแนน จาก 5 คะแนน คาดว่าจะจ่ายโบนัสได้อย่างน้อย 1 เดือน 

@ ปชป.หนุนห้ามการเมืองนั่งรสก.

      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีที่สหภาพแรงงานออกมาเปิดเผยถึงบอร์ดบริหารของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ส่วนใหญ่แต่งตั้งมาจากฝ่ายการเมือง ไม่มีความรู้ในสายงานและส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของรัฐวิสาหกิจว่า พรรคปชป.สนับสนุนไม่ให้คนของฝ่ายการเมืองเข้าไปนั่งเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยคุณสมบัติของคนที่เข้าไปนั่งมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความจำเป็นถึงเข้าไปนั่งได้ 

      นายชวนนท์ กล่าวว่า นอกจากนักการเมืองที่ไม่มีความรู้ความเข้าใจแล้วนั้น ยังเห็นว่าการนำปลัดกระทรวงหรือข้าราชการที่มีส่วนได้เสียของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ ไปนั่งกำกับรัฐวิสาหกิจ ไม่สอดคล้องกับแง่มุมทางการปฏิบัติ เช่น ปลัดกระทรวงพลังงานไปเป็นบอร์ดบริหารบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แล้วจะควบคุมการทำงานของ ปตท.ได้อย่างไร เมื่อผลกำไร ปตท.สะท้อนกับโบนัสของประธานบอร์ด ปลัดกระทรวงพลังงานควรควบคุมการทำงานของ ปตท.ให้ยึดโยงผลประโยชน์รัฐมากที่สุด แต่กลับไปนั่งเองเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนไม่สามารถแยกแยะระหว่างผลประโยชน์บริษัทกับผลประโยชน์ประเทศได้ นอกจากนี้ไม่ควรมีผลประโยชน์หรือสวัสดิการเหมือนที่ผ่านมา เช่น ไม่ต้องมีเบี้ยประชุม แต่ทำเป็นหน้าที่ 

@ คลังจี้"คค."สรุปบิ๊กโปรเจ็กต์

    รายงานข่าวกระทรวงการคลัง แจ้งว่า ขณะนี้ทางสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) สำนักงบประมาณ และกระทรวงคมนาคม อยู่ระหว่างสรุปรายละเอียดโครงการโครงสร้างพื้นฐานของกระทรวงคมนาคม (คค.) คาดว่าในสัปดาห์นี้ตัวเลขต่างๆ ต้องชัดเจน เพราะสำนักงบประมาณต้องนำไปใส่ในงบประมาณประจำปี 2558 รวมถึง สบน. ต้องนำมาใส่ในแผนบริหารหนี้สาธารณะปี 2558 ด้วย

   รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นคาดว่าปีงบ 2558 กระทรวงคมนาคมจะใช้เงินประมาณ 1.5 แสนล้านบาท โดยเป็นเงินจากงบประมาณ และเงินกู้จาก สบน.ประมาณ 50% ที่เหลือรัฐวิสาหกิจจะจัดหามาใช้เอง ซึ่งสัปดาห์นี้ต้องสรุปให้ชัดเจนว่าเงินลงทุนเท่าไร จะใช้เงินจากส่วนไหนบ้าง เพื่อนำเสนอ คสช. ทั้งนี้กระทรวงการคลังพร้อมจะหาเงินให้ ซึ่งจะมาจาก 2 ส่วน คือเงินกู้เพื่อพัฒนาประเทศตามที่ พ.ร.บ.หนี้สาธารณะ ให้กู้ได้ในสัดส่วน 10% ของวงเงินงบประมาณ โดยปีงบประมาณ 2558 อยู่ที่ 2.575 ล้านล้านบาท สามารถกู้ได้ 2.5 แสนล้านบาท และอีกส่วนคือการดึงเอกชนมาร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.ร่วมลงทุน 

    นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของไทย หลังสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ส่งเรื่องกลับมาให้ตนพิจารณารายละเอียดเพิ่มเติมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา จะเร่งพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้ จากนั้นจะเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) รองหัวหน้า คสช.และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ภายในสัปดาห์นี้ทันที 

@ กกร.นัดหารือแนวโน้มศก.

    นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ในวันที่ 14 กรกฎาคมนี้ จะมีการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย โดยจะหารือถึงกรอบวาระการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน ซึ่งจะประชุมนัดแรกวันที่ 16 กรกฎาคมนี้ 

    นายวัลลภกล่าวว่า นอกจากนี้ จะหารือแนวโน้มเศรษฐกิจ สถานการณ์การส่งออก การลงทุนในครึ่งปีหลัง รวมทั้งหารือถึงสถานการณ์กรณีประเทศสหรัฐ ลดระดับประเทศไทยต่อการแก้ปัญหาค้ามนุษย์ในระดับเทียร์ 3 ว่ามีผลกระทบต่อภาคการค้าอย่างไร 

@ อุตฯฟิตนัดถกส.อ.ท.ทุกเดือน

    นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเชิญนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธาน ส.อ.ท. และผู้แทนประธานกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ร่วมประชุมกับกระทรวงฯ ทุกเดือน เพื่อให้ทำงานใกล้ชิดมากขึ้น ซึ่งจะสลับกันเป็นเจ้าภาพ โดยครั้งแรกจะจัดที่กระทรวงอุตสาหกรรมวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ โดยการประชุมจะทำความเข้าใจการออกใบอนุญาตต่างๆ ของกระทรวงฯ อาทิ การพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) 

      รูปแบบใหม่ ที่ลดขั้นตอนจาก 90 วันเหลือ 30 วัน รวมถึงการออกใบอนุญาตประทานบัตร อาชญาบัตร และการออกใบอนุญาตแสดงเครื่องหมายมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ลดเวลาจากเดิม 43 วันเหลือ 26 วัน และการเปิดศูนย์อำนวยความสะดวกให้กับนักลงทุนและผู้ประกอบการเพื่อติดตามเรื่องใบอนุญาตต่างๆ ของทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ

      นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ขณะเดียวกันจะหารือเพื่อสนับสนุนนโยบาย คสช.ที่เน้นให้โรงงานประกอบกิจการคำนึงถึงความรับผิดชอบกับปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม ขยะอุตสาหกรรม และการอยู่ร่วมกับชุมชน รวมทั้งหารือเพื่อส่งเสริมภาคเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ รวมทั้งร่วมกันรณรงค์ต่อต้านคอร์รัปชั่นทุกรูปแบบ

@ "ปนัดดา"ตรวจข้าวเจอมอดรุม

    ที่โรงสีอุดรประเสริฐผล อ.เมืองอุดรธานี จ.อุดรธานี ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้าวคงเหลือของรัฐ พร้อมคณะ อาทิ นายวีรยุทธ สุขเจริญ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม นายณรงค์ พลละเอียด รองผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี พ.อ.โสภณ จันทร์เปรม รอง

    ผู้บัญชาการมณฑลทหารบก (มทบ.) ที่ 24 พร้อมกำลังทหาร ร่วมตรวจสอบคลังสินค้าหลังที่ 2 ซึ่งเก็บข้าวสารโครงการรับจำนำข้าว ฤดูผลิตปี 2556/57 เป็นข้าวหอมมะลิ 9,541 กระสอบ โดยเจาะกองตรงกลางลง 15 ชั้นกระสอบเพื่อสุ่มตรวจปริมาณข้าวและสุ่มแทงกระสอบข้าว เพื่อนำไปสอบคุณภาพข้าว

    จากนั้น ม.ล.ปนัดดาและคณะเข้าตรวจสอบคลังสินค้าที่ 3 ซึ่งเก็บปลายข้าวหอมมะลิ 64,411 กระสอบและปลายข้าวเหนียว 1,960 กระสอบ โดยคลังนี้ครบกำหนดต้องรมยา แต่ต้องเลื่อนออกไปเพื่อตรวจนับ ขณะรอกรรมการเจาะกองข้าว ม.ล.ปนัดดาและคณะถูกฝูงมอดเล่นงานจนคณะต้องออกมารอด้านนอก

     ต่อมา ม.ล.ปนัดดาและคณะขึ้นไปตรวจบนกองกระสอบข้าว โดยให้รถโฟล์คลิฟต์ยกคณะขึ้นไปด้านบน ตรวจนับพบมีกระสอบปลายข้าวขาดหายไป 25 กระสอบ เกินกว่า 5% ตามที่กำหนด

    ม.ล.ปนัดดา กล่าวว่า การตรวจสอบครั้งนี้ยังไม่พบความผิดปกติ ที่ผ่านมาการเข้าตรวจสอบคลังสินค้ากลางทั่วประเทศเป็นการเก็บข้อมูลว่าที่จุดใดพบปัญหาอะไรบ้างเพื่อให้เป็นภาพรวมทั่วประเทศ ก่อนเสนอคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการข้าว (นบข.) อีกครั้ง

@ อยุธยาพบข้าวเสื่อม 1 โกดัง

    ด้านนายชัยรัตน์ บุญส่ง การค้าภายในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สรุปผลการตรวจสอบโกดังกลางเก็บข้าวสารโครงการรับจำนำว่า ในเขต จ.พระนครศรีอยุธยากำหนดตรวจโกดัง 14 แห่ง ปริมาณรวม 118,540 ตัน ล่าสุดตรวจสอบ 8 แห่งแล้วพบว่า 7 โกดังมีปริมาณข้าวสารครบ ไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่มี 1 โกดังที่ บริษัท พีพีแอนด์พี อินสเปรคเตอร์ จำกัด หลัง 4 เขต อ.วังน้อย มีข้าวเหลือง ข้าวดำ และข้าวคุณภาพต่ำจำนวนหนึ่ง ปลอมปนสอดไส้มาในกองข้าวขาว 5% นอกจากนี้บางโกดังที่ไปตรวจสอบมีความสกปรกและต้องปรับปรุงเรื่องการป้องกันนกและหนูเข้าไปในพื้นที่โกดัง

@ "วรงค์"แฉแก๊งขาใหญ่ข้าว

      นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า จากการตรวจสอบโกดังข้าวรับจำนำของคณะทำงานที่ คสช.ตั้งขึ้นมาเมื่อสัปดาห์เศษที่ผ่านมาพบว่า มีทั้งข้าวเน่า ข้าวเสื่อมสภาพ ข้าวเหลือง ข้าวป่น มีการยัดไส้ และข้าวหาย โดยเฉพาะไซโลแห่งหนึ่งที่ จ.พิจิตร นอกจากข้าวเสื่อมแล้วยังมีข้าวหายไปถึง 448,490 กระสอบหรือ 44,849 ตัน คิดเป็นความเสียหายนับพันล้านบาทแล้ว

      "ทำไมไซโลแห่งนี้มีทั้งข้าวเสื่อมและข้าวหายมาก เพราะเป็นเครือของบริษัทส่งข้าวแห่งหนึ่งที่มีความใกล้ชิดกับคนของรัฐบาลชุดที่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกธนาคารยึด แต่มีคนแจ้งว่าคงมีการซื้อคืนไปแล้ว โดยผู้ที่เป็นคู่สัญญากับรัฐ คือ เสี่ยเปี๊ยกที่ซื้อข้าวจากรัฐบาลตันละ 5,700 บาทและไปขายต่อตันละ 12,000 บาท และเป็นคนทำข้าวถุงราคาถูกขายสมัยรัฐบาลที่แล้ว แต่หาข้าวถุงไม่ค่อยเจอ สรุปแล้วเป็นพวกขาใหญ่ที่ใกล้ชิดนายใหญ่และเจ๊ ด." นพ.วรงค์กล่าว และว่า ถ้า คสช.เอาจริงเอาจังในการตรวจโกดังข้าวทั่วประเทศครั้งนี้ รับรองคุกไม่พอใส่คนโกงแน่นอน

@ ป.ป.ช.สอบลึกทรัพย์สิน 5 รมต.

      นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.แต่งตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและหนี้สินเชิงลึกของอดีตรัฐมนตรีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 5 ราย คือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายยรรยง พวงราช และนายภูมิ สาระผล อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ว่า ป.ป.ช.ประสานขอข้อมูลไปยังธนาคารและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องแล้ว มีการเริ่มทยอยส่งข้อมูลเข้ามาแต่ยังไม่ครบถ้วน

      "ตอนนี้ธนาคารที่ไม่พบสิ่งผิดปกติก็ตอบมาแล้ว เพราะง่ายหน่อย ส่วนที่ช้าก็คือหากเขาเป็นลูกค้าธนาคารนั้นๆ แล้วมีข้อมูลที่ขอไปก็ทยอยส่งมาให้ ทั้งนี้การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเชิงลึกต้องนำข้อมูลตัวเลขทั้งหมดมาวิเคราะห์เปรียบเทียบ ตรวจความเคลื่อนไหวทั้งหมดตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง-พ้นตำแหน่งทุกรายการ รายการไหนที่เราสงสัยก็จะเจาะเข้าไปว่าจุดนั้นเป็นมาอย่างไร ดูหมดไปถึงคนรอบข้าง เช่น คู่สมรส บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ถ้าพยานหลักฐานมีความเชื่อมโยงไปถึงใครที่มีความเกี่ยวข้องก็ตรวจสอบได้ หรือถ้ามีข้อมูลว่าใครเป็นนอมินีก็ตรวจสอบลงไปได้" นายวรวิทย์กล่าว

@ ฮึ่มเจอผิดปกติยึดทรัพย์แน่

     เมื่อถามว่า ตอนนี้ตรวจพบความผิดปกติในส่วนใด ของใครบ้าง นายวรวิทย์กล่าวว่า ยังไม่มีข้อมูล เพราะคณะทำงานเพิ่งเริ่มดำเนินการ ประชุมไปเพียง 2 ครั้ง เมื่อถามว่าเรื่องนี้จะตรวจสอบได้เร็วหรือไม่ นายวรวิทย์กล่าวว่า จะเร็วหรือช้าก็คงอยู่ที่ข้อมูลที่ขอไป หากธนาคารและส่วนราชการส่งข้อมูลมาให้โดยเร็วก็ดำเนินการได้เร็ว เราก็เร่งรัดอยู่แล้ว ได้รับความร่วมมือด้วยดี คงไม่ช้า เพราะเป็นการตรวจสอบเพียง 5 รายเท่านั้น

     นายวรวิทย์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานอนุกรรมการฯ มอบนโยบายแล้วว่า อย่างน้อยประชุมกันเดือนละ 2 ครั้งเพื่อประมวลข้อมูลว่าไปถึงไหนอย่างไร ติดตามความคืบหน้าการทำงานกัน เป็นการเร่งรัดการทำงานของอนุกรรมการอยู่แล้ว เมื่อคณะอนุกรรมการรวบรวมข้อมูลได้ก็ต้องนำเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.เพื่อพิจารณา หากพบว่าทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติหรือพบว่าร่ำรวยผิดปกติก็ต้องส่งอัยการยื่นคำร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน ขณะเดียวกันจะมีเรื่องของการยื่นแสดงรายการบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินอันเป็นเท็จหรือปกปิดบัญชีทรัพย์สิน ส่วนนี้ ป.ป.ช.ยื่นฟ้องร้องเองต่อศาลฎีกาได้