วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8628 ข่าวสดรายวัน


ปลัดสธ.เต้น โต้ล้ม 30 บาท 
แจงแค่เสนอ! ยังไม่ชงคสช.

     ปลัดสธ.เต้น โต้วุ่นข่าวล้ม 30 บาทรักษาทุกโรค ระบุแค่เสนอในที่ประชุมยังไม่สรุปส่งคสช. หลังโดนถล่มเละในโลกออนไลน์หาว่าชงคสช.โยนประชาชนร่วมจ่ายบัตรทองสัดส่วน 30-50 หมอวินัย สวัสดิวร เลขาฯสปสช.ช่วยยันอีกแรง เรื่องยังไม่เข้าที่ประชุมสปสช. 'วินธัย' แจงเงินช่วยค่าครองชีพขรก.บำนาญได้เท่ากันหมด รวมถึงขรก.ที่ได้รับเงินบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 9 พัน ไม่เฉพาะกห. คสช.เดินหน้าปรับปรุงตึกนารีสโมสรก่อนได้รัฐบาลใหม่ ย้ายไปแถลงข่าวบนตึกบัญชาการ เผยเตรียมรื้อทิ้งรังนกกระจอกเก่าที่อยู่คู่ทำเนียบมานานกว่า 30 ปี

แจงเงินค่าครองชีพขรก.บำนาญ

    เมื่อวันที่ 12 ก.ค. พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการประกาศแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกฤษฎีกาเงินช่วยค่าครองชีพผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ พ.ศ.2552 ฉบับที่ 13 ว่า ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ ว่าเป็นการให้เฉพาะข้าราชการกระทรวงกลาโหมนั้นไม่เป็นความจริง เพราะในมาตรา 4 นว ระบุว่าผู้ที่ได้รับหรือมีสิทธิ์ได้รับบำนาญปกติ บำนาญพิเศษ เพราะเหตุทุพพลภาพ บำนาญพิเศษหรือบำนาญตกทอด ในฐานะทายาทหรือผู้อุปการะ หรือผู้อยู่ในอุปการะ ตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการนั้นไม่ได้ให้เฉพาะข้าราชการกระทรวงกลาโหม แต่ยังรวมถึงข้าราชการที่ได้รับเงินบำนาญต่ำกว่าเดือนละ 9 พันบาทให้ได้รับเท่ากัน

   พ.อ.วินธัย กล่าวถึงการประกาศใช้ธรรมนูญปกครองชั่วคราวว่า ยังไม่ทราบว่าจะมีการนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาในการประชุม คสช.วันอังคารที่ 15 ก.ค.นี้หรือไม่ ส่วนหัวหน้า คสช.จะเป็นผู้นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมด้วยตัวเองหรือไม่นั้นยังไม่มีการพูดถึงเรื่องดังกล่าว คงต้องรอ

   ทีมโฆษก คสช.กล่าวถึงการปรับปรุงอาคารสถานที่ภายในทำเนียบรัฐบาลเพื่อเตรียมต้อนรับรัฐบาลชุดใหม่ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบในส่วนของทำเนียบรัฐบาล จึงไม่ทราบว่าใช้งบประมาณเท่าไหร่ 

เดินหน้าปรับปรุงตึกนารีสโมสร

    วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า หลังจากมีกระแสข่าวการปรับเปลี่ยนศูนย์แถลงข่าว ตึกนารีสโมสร ให้ย้ายขึ้นไปใช้ที่ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เนื่องจากศูนย์แถลงข่าวตึกนารีสโมสรใช้งานมากว่า 30 ปีจนกลายเป็นสัญลักษณ์ประจำทำเนียบรัฐบาล และทุกรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลพลเรือน รัฐบาลทหาร ก็ล้วนใช้เป็นศูนย์แถลงข่าวทั้งสิ้น ล่าสุดเช้าวันเดียวกันนี้มีเจ้าหน้าที่จากกรมศิลปากร กรมยุทธโยธาทหารบก เจ้าหน้าที่วิศวกรรมโยธา เข้าดำเนินการรังวัดภายในตึกนารีสโมสร โดยเฉพาะบริเวณศูนย์แถลงข่าว และมีพล.อ.สกล ชื่นตระกูล ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก ในฐานะหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการส่วนหน้า คสช. (สปก.คสช.) เข้ามาดูแล

จัดวางผังใหม่เน้นสง่างาม

      รายงานข่าวแจ้งว่าการดำเนินการดังกล่าวจะปรับปรุงภายในตึกนารีสโมสรทั้งหมด โดยแบ่งเป็นห้องรับรองของผู้ใหญ่ในรัฐบาล ระดับรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาฯ จัดวางผังห้องใหม่ทั้งหมดรวมทั้งห้องทำงานโฆษกและรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เน้นความสง่างามโปร่งโล่ง ส่วนเรื่องโทนสีภายในอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะใช้สีเดิมคือสีโอ๊กหรือจะปรับเปลี่ยนมาใช้สีขาว ขณะที่ด้านนอกจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอาคารและสี เนื่องจากเป็นอาคารที่ขึ้นทะเบียนกับกรมศิลปากร จึงจะคงไว้แบบเดิมทั้งหมด ในการดำเนินการทางผู้บังคับบัญชาเน้นย้ำและเร่งรัดให้ปรับปรุงอย่างรวดเร็วเพื่อให้ทันการเข้ามาบริหารงานของรัฐบาลชุดใหม่

ย้ายแถลงข่าวตึกบัญชาการ 2

    "สำหรับศูนย์แถลงข่าวประจำทำเนียบรัฐบาลชัดเจนแล้วว่าจะไปใช้สถานที่ตึกบัญชาการ 2 ซึ่งจะปรับปรุงใหม่ทั้งหมด นอกจากจะทำเป็นศูนย์แถลงข่าวแล้วจะจัดเป็นที่รับรองสื่อมวลชน โดยจัดแบ่งเป็นห้องอ่านหนังสือ ห้องกาแฟ เพื่ออำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของสื่อมวลชน อีกทั้งสื่อมวลชนจะได้ไปอยู่รวมกัน สำหรับงบประมาณการปรับปรุงครั้งนี้คงใช้ไม่มาก เนื่องจากเป็นการดำเนินการของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้งทหาร ทำเนียบ กรมศิลปากร และกทม." แหล่งข่าวกล่าว

เล็งรื้อทิ้งรังนกกระจอกเก่า

     รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า คณะทำงานที่เป็นฝ่ายประสานงานระหว่างคสช.และทำเนียบรัฐบาลยังมีแนวคิดยุบและรื้อทิ้งห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 (รังนกกระจอกเก่า) ซึ่งมีอายุมากกว่า 30 ปี และปัจจุบันยังใช้เป็นที่ปฏิบัติงานของสื่อมวลชน ให้ไปรวมอยู่ด้วยกันที่ห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 2 (รังใหม่) บริเวณประตู 1 ทำเนียบรัฐบาล แต่ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากยังไม่มีการประสานอย่างเป็นทางการรวมทั้งขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและสื่อมวลชน ปัจจุบันจำนวนสื่อมวลชนที่ปฏิบัติหน้าที่ประจำทำเนียบรัฐบาลมีจำนวนมากจึงได้ขยายห้องปฏิบัติการสื่อมวลชนเพื่อรองรับการปฏิบัติหน้าที่ หากมีการยุบห้องปฏิบัติการ 1 หรือรังเก่ามาที่รังใหม่ จะเกิดความแออัด อีกทั้งห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 หรือรังเก่าถือเป็นสัญลักษณ์ประจำทำเนียบรัฐบาลไปแล้ว และถือเป็นสถานที่ที่สื่อมวลชนทำหน้าที่ตรวจสอบการทำหน้าที่ของฝ่ายบริหาร

ชี้ประชานิยมต่างรัฐสวัสดิการ

     นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ระบุว่าป.ป.ช.จะทำหนังสือประสานไปยังเลขาธิ การ กกต.ขอนัดหารือระหว่างคณะกรรมการป.ป.ช.และ กกต. เพื่อกำหนดมาตรการดูแลนโยบายประชานิยมของพรรคการเมืองที่จะใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาหลายนโยบายสร้างความเสียหายให้ประเทศและได้รับการร้องเรียนเข้ามาที่ป.ป.ช.ค่อนข้างมากนั้นว่า เห็นด้วยที่จะป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองไปหาเสียงกับประชาชนโดยการหลอกลวงเพื่อลงคะแนนให้กับพรรคการเมืองนั้นๆ ด้วยนโยบายประชานิยม แต่ต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่านโยบายประชานิยมกับนโยบายรัฐสวัสดิการแตกต่างกัน ป.ป.ช.และ กกต.ต้องทำความเข้าใจให้ดีว่าบางนโยบายเป็นแบบรัฐสวัสดิการหรือไม่

รัฐมีอำนาจ-ข้องใจการตรวจสอบ

      รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวต่อว่า การจะทำนโยบายประชานิยมได้หรือไม่เป็นเรื่องของคนที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคต ป.ป.ช.และ กกต.จะสรุปได้อย่างไรว่านโยบายประชานิยมอันไหนทำได้และทำไม่ได้ หรือนโยบายไหนที่ทำแล้วจะเกิดความเสียหาย สิ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือรัฐมีอำนาจพิเศษเหนือบุคคลธรรมดา คืออำนาจในการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาให้กับประชาชนและประเทศ อาทิ การออกกฎหมาย การออกนโยบาย หรือการออกมาตรการต่างๆ คำถามคือรัฐบาลที่มาบริหารประเทศในอนาคตกับพรรคการเมืองที่ไปหาเสียงอาจจะไม่ใช่พรรคการเมืองเดียว อาจเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ตรงนี้มีคำถามว่าป.ป.ช.และ กกต.จะเข้าไปตรวจสอบอย่างไร

จี้กกต.ปราบโกงเลือกตั้ง

      "วันหนึ่งจู่ๆ คุณจะเอาอำนาจมากำหนดเรื่องบางเรื่องที่รัฐเข้าไปแทรกแซง ตัวอย่างเช่นความเสียหายในเรื่องเงินแต่ทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ เช่น นโยบายจำนำข้าว นโยบายประกันราคาข้าว สิ่งที่เหมือนกันคือรัฐต้องควักเงินจะมากหรือน้อย ดังนั้น จะมากำหนดว่าห้ามประกันราคาข้าวหรือห้ามจำนำข้าวหรือไม่ วันนี้ประเทศไทยมีแนวคิดที่จะทำให้อำนาจรัฐที่อยู่เหนืออำนาจเอกชนโดยการแทรกแซงเพื่อแก้ปัญหาให้หายไปจากประเทศ ในขณะที่ทั่วโลกรัฐเขามีอำนาจแทรกแซงเพื่อให้คนจนอยู่ได้" รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทยกล่าว และว่า วันนี้สิ่งที่ กกต.มีอำนาจตามกฎหมายคือการทำให้ผู้สมัครพรรคการเมืองไม่ทำอะไรผิดกฎหมายเลือกตั้ง ควรทำตรงนี้ให้เต็มที่ก่อนจะดีที่สุด

ภท.ค้านไอเดียส.ส. 2 วาระ

     นายสนอง เทพอักษรณรงค์ อดีตส.ส. บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กกต.ที่จะให้ดำรงตำแหน่ง ส.ส.แค่ 2 วาระ เพราะการดำรงตำแหน่ง ส.ส. ผู้กำหนดคือประชาชนไม่ใช่กฎหมาย หาก ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ทำประโยชน์ให้ชาวบ้านเขาก็ไม่เลือกเข้าสภา กรณีนี้จึงเป็นการลิดรอนสิทธิประชาชนและสิทธิผู้สมัครในการสมัครเลือกตั้งแต่ละครั้งมีผู้สมัครหน้าใหม่เข้ามาประมาณร้อยละ 30 ถ้าคนเก่าไม่ดีประชาชนก็เลือกคนใหม่ จะเห็นว่าแต่ละครั้งมีผู้สมัครหน้าเดิมสอบตกถึงร้อยละ 30 เช่นเดียวกัน อยากเสนอว่าสิ่งที่ทำให้ส.ส.อึดอัดคือการที่ไม่สามารถลงมติสวนกับพรรคได้เพราะจะถูกลงโทษ ดังนั้น ควรแก้กติกานี้ให้ส.ส.ได้รับการคุ้มครอง

เรืองไกรหนุนเร่งคลอดธรรมนูญ

     นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คสช.ระบุถึงธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่จะมีไม่เกิน 50 มาตรา พร้อมจัดตั้งรัฐบาลได้ภายในเดือนก.ย.นี้ว่า ถือเป็นเรื่องดีที่ คสช.จะเร่งจัดทำธรรมนูญปกครองออกมาเพื่อเป็นเครื่องมือให้ คสช.จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ รวมถึงการจัดตั้งและการกำหนดคุณสมบัติบุคคลที่จะเข้ามานั่งในสภาปฏิรูป อยากให้ คสช.เร่งดำเนินการในส่วนนี้ ทำได้เร็วก็ยิ่งเป็นผลดีกับประเทศ ในส่วนของรัฐบาลชุดใหม่หากพล.อ.ประยุทธ์จะเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกฯ ด้วยก็ควรทำให้เบ็ดเสร็จ ไม่อย่างนั้นการรัฐประหารเพื่อหวังจะนำไปสู่การเปลี่ยน แปลงจะไม่ต่อเนื่อง บ้านเมืองก็ยังเกิดปัญหาเหมือนยุคที่พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตผบ.ทบ. ปฏิวัติในปี "49 แล้วให้พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรีมาดำรงตำแหน่งนายกฯ 

ซัดกกต.หยุมหยิมส.ส. 2 สมัย

     นายเรืองไกร กล่าวต่อว่า ส่วนกระบวนการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็น ครม.ขอให้ คสช.คัดเลือกบุคคลให้ดีและเหมาะสม อย่าเจาะจงเลือกบุคคลเฉพาะจากบางกลุ่มหรือบางฝ่าย เพราะถ้ากรองไม่ดีจะกระตุกไปถึงส่วนรวมอีก ทั้งนี้ ตนเห็นว่าบุคคลที่จะเข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองนั้นต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินเพื่อให้ประชาชนตรวจสอบได้ด้วยนอกเหนือไปจากการตรวจสอบของป.ป.ช. นอกจากนี้ตนไม่เห็นด้วยกับ กกต.ที่เสนอว่าบุคคลไม่ควรเป็นส.ส.ติดต่อกันเกินสองสมัย เป็นเรื่องหยุมหยิม เพราะหากบุคคลนั้นดีจริงประชาชนอยากจะเลือกให้เขาอยู่หลายสมัยก็เป็นสิทธิของประชาชน

ปชป.จี้ใช้ยาแรงนักเลือกตั้ง

     นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตส.ส. นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะอดีตกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาการเมืองของ คสช.ว่า คสช.ต้องตั้งโจทย์ให้ถูก เพราะโจทย์ที่แท้จริงคือปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น ที่มาจากอำนาจทางการเมืองและรากเหง้าการทุจริตจากการถอนทุนหลังการซื้อเสียงเพื่อเข้ามามีอำนาจทางการเมือง การจัดระบบการซื้อส.ส. ซื้อพรรคการเมือง รวมไปถึงการซื้อเสียงลงมติในสภาผู้แทนราษฎร คสช.ควรจัดระบบการเลือกตั้งให้สุจริตเที่ยงธรรมอย่างแท้จริง กำจัดการซื้อขายเสียงในระดับชาติและท้องถิ่น ที่สำคัญคือนักการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งที่ไปประกอบอาชีพสีเทาหาประโยชน์นั้นจำเป็นต้องลงโทษ โดยใช้ยาแรงกับนักเลือกตั้ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีการซื้อเสียงก็ต้องตัดสิทธิลงเลือกตั้งหรือตัดสิทธิทางการเมืองไปตลอดชีวิต ไม่ใช่แค่ให้ใบเหลืองใบแดงเท่านั้น รวมไปถึงการให้สิทธิประชาชนมีส่วนร่วมในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้งและผู้เสียหายฟ้องร้องเองได้หากพบการทุจริตเลือกตั้ง และ กกต.ต้องคุ้มครองพยานผู้กล้า ชี้เบาะแสว่าในพื้นที่มีการซื้อเสียง

ยุบส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ

     ส่วนแนวคิดของ กกต.ที่เสนอห้ามส.ส.ดำรงตำแหน่งติดต่อกัน 2 วาระนั้น นายชินวรณ์กล่าวว่า ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่รากเหง้าที่แท้จริงและไม่ตรงกับกลไกของระบบรัฐสภาที่ต้องมีนักการเมือง นอกจากนี้แนวคิดของ กกต.ที่จะให้กลับไปใช้เขตเลือกตั้งแบบเขตใหญ่เบอร์เดียวนั้นอาจนำไปสู่การฮั้วกันของการเมืองในระดับท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น จึงควรแก้ปัญหาซื้อเสียงเป็นหลัก ตนเห็นว่าไม่ควรมีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออีก เพราะจะทำให้มีปัญหา เนื่องจากจะได้ส.ส.ที่เป็นตัวแทนกลุ่มทุน หาก กกต.มองว่านักการเมืองเลวร้ายจึงต้องกำจัดอำนาจหน้าที่ทั้งที่ทางการเมืองในระบบรัฐสภาที่เป็นประชาธิปไตยส.ส.เขตเป็นตัวแทนประชาชนที่มาจากการเลือกตั้ง กกต.ไม่ได้มองจากสังคมข้างนอกไปสู่ข้างในว่า ที่ผ่านมา กกต.ดำเนินการแก้ไขปัญหาซื้อเสียงสำเร็จหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งบริสุทธิ์ยุติธรรม

ค้านยุบกกต.-มท.จัดเลือกตั้ง

    ด้านนายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายอำนวย คลังผา อดีตวิปรัฐบาลเสนอให้ยุบ กกต. และให้กระทรวงมหาดไทยจัดการเลือกตั้งแทนว่า ประเทศไทยมีองค์กรกลางเพื่อจัดเลือกตั้งที่ดีอยู่แล้ว เพราะต้องปราศจากอำนาจรัฐบาลและฝ่ายบริหาร หากให้กระทรวงมหาดไทยจัดเลือกตั้งจะเอาเปรียบฝ่ายค้านได้ ประเทศเดินมาถูกทางแล้วที่มีกกต. แต่ที่มีปัญหาเช่นตัวบุคคลและบทบาทก็ต้องแก้ไข เพราะอยู่ที่การออกแบบองค์กร ข้อเสนอดังกล่าวของนายอำนวยจะทำให้เกิดการทุจริตเลือกตั้ง ปัญหาไม่จบสิ้น ส่วนการที่ คสช.คงอำนาจดูแลงานมั่นคงควบคู่รัฐบาลที่จะดูงานด้านการบริหารนั้น เห็นว่าเป็นเรื่องการบริหารอำนาจ แต่ตนอยากให้รัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะมีขึ้นคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน ให้มีการตรวจสอบถ่วงดุล เปิดโอกาสให้ราษฎรฟ้องหน่วยงานรัฐที่ทุจริตได้โดยตรงต่อศาล โดยให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายได้ เพราะที่ผ่านมาต้องยื่นผ่านอัยการ และหากมีการสั่งการอัยการได้ประชาชนก็ไม่สามารถฟ้องได้ 

ชี้สภาปฏิรูปคล้ายสภาสนามม้า

      หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงกระบวนการคัดสรรผู้เข้าร่วมสภาปฏิรูปทั้งหมด 250 คนของ คสช.ว่า เคยมีกระบวนการคล้ายๆ กันในสภาสนามม้าหรือสมัชชาแห่งชาติ ปี 2517 เป็นกระบวนการที่จะได้เสียงสะท้อนจากประชาชนมากที่สุด เป็นการคัดเลือกบุคคลทั่วประเทศจากกลุ่มสาขาวิชาชีพต่างๆ เพื่อเข้ามามีส่วนร่วมแก้ปัญหาด้านต่างๆ โมเดลนี้ทหารจะไม่ต้องเป็นฝ่ายคิดและทำเพียงผู้เดียว กลุ่มคนในวิชาชีพสาขาต่างๆ จะมีวิธีสะท้อนที่มาของปัญหา ได้ดี สำหรับการถ่วงดุลอำนาจ คสช.กับรัฐบาลหลังมีการใช้ธรรมนูญปกครองชั่วคราวนั้น ตนไม่ติดใจในธรรมนูญและเข้าใจ คสช.ว่าจำเป็นต้องมีบทบาทไว้เผื่อสถานการณ์ชั่วคราว แม้ว่าจะมีรัฐบาลแล้วก็ตาม สิ่งสำคัญคือสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนที่ควรเขียนรายละเอียดให้ชัดเจน รวมไปถึงการเน้นอำนาจการตรวจสอบถ่วงดุลขององค์กรอิสระที่จำเป็น และอำนาจของประชาชนที่สามารถร้องเรียนต่อองค์กรทั้งหลายได้

แนะคสช.เร่งแก้ 3 ภารกิจหลัก

      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการจับกุมตัว ผู้กระทำความผิดฐานใช้อาวุธเอ็ม 79 ยิงเข้าใส่สำนักงานป.ป.ช. และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.ที่ผ่านมาว่า เรื่องดังกล่าวเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตในวันนี้ โดยมีประเด็นสำคัญ 3 ประการ ที่ทำให้ประชาชนไม่ยอมรับการบริหารบ้านเมืองของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ คือ 1.มีการทุจริต คอร์รัปชั่นอย่างกว้างขวาง 2.มีการหมิ่นสถาบันอันเป็นที่เคารพของคนไทยอย่างเปิดเผย และ 3.มีการใช้อาวุธและความรุนแรงโดยกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลกระทำต่อกลุ่มที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาล จนเป็นที่มานำไปสู่การรัฐประหาร ปัจจัย 3 ประการนี้เป็นภารกิจหลักที่ คสช.จะต้องทำให้คนไทยและต่างชาติเห็นว่าประเทศไทยอยู่ในสถาน การณ์พิเศษและจำเป็นต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน พร้อมกันนี้ควรเร่งประชาสัมพันธ์การจับกุม ผู้กระทำความผิด ผู้ใช้อาวุธสงคราม ผู้ใช้ความรุนแรง ซึ่งเป็นเหตุให้ประชาชนบาดเจ็บจำนวนมาก ที่สำคัญต้องเร่งสืบสาวหาตัว ผู้บงการ รวมถึงปัญหาการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว

ป.ป.ช.เดินหน้าตั้งกฎแจงธุรกรรม

     ที่สำนักงานป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ รองเลขาธิการคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่ป.ป.ช.เตรียมออกประกาศคณะกรรมการป.ป.ช.กำหนดจำนวนเงินและมูลค่าทรัพย์สินในการทำธุรกรรมที่ต้องรายงานต่อป.ป.ช. ว่า ประกาศดังกล่าวมีขึ้นเพื่อเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของ ป.ป.ช. เพื่อตรวจสอบธุรกรรมการเงินของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยกำหนดให้การทำธุรกรรมการเงินของผู้มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.ทั้งนักการเมืองระดับชาติ ระดับท้องถิ่น ตลอดจนข้าราชการ ถ้าเป็นกรณีการทำธุรกรรมที่เป็นอสังหาริม ทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปหรือเงินสดตั้งแต่ 5 แสนบาทขึ้นไป ซึ่งสถาบันการเงินจะต้องรายงานข้อมูลดังกล่าวให้ป.ป.ช.ทราบเพื่อนำไปสู่การตรวจสอบว่ามีความผิดปกติหรือไม่ ล่าสุดได้ประชุมหารือถึงเรื่องการวางระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างป.ป.ช.กับสถาบันการเงิน โดยมีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศหยิบยกเรื่องขึ้นมาเป็นประเด็นหลัก

เชิญผู้บริหารธนาคารร่วมถก

      รองเลขาฯป.ป.ช. กล่าวว่าหลังจากที่ครั้งก่อนป.ป.ช.เชิญผู้บริหารสถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการป.ป.ช.มาหารือหัวข้อ "การใช้อำนาจของคณะกรรมการธุรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินของคณะกรรมการป.ป.ช." ไปแล้วเมื่อต้นเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ครั้งต่อไปนี้จะเชิญผู้บริหารระดับรองลงมาของสถาบันการเงินและธนาคารทั้งในและต่างประเทศที่สังกัดอยู่ในสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารต่างประเทศ ซึ่งเป็นคนที่มีหน้าที่สั่งการระดับผู้ปฏิบัติมาประชุมหารือในวันที่ 29 ก.ค.นี้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็น เพื่อให้คณะทำงานนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับข้อมูลของป.ป.ช.ที่ศึกษาอยู่ อาทิ ข้อมูลจากสำนักงานที่ดิน ผู้ประกอบอาชีพ เช่น ซื้อขายรถยนต์ ซื้อขายทองคำ ซื้อขายอัญมณี ซื้อขายของเก่า

คาดเดือนก.ย.ได้ข้อสรุปส่งปปช.

      นายวรวิทย์ กล่าวว่าหลังจากวันที่ 29 ก.ค. แล้วคณะทำงานจะวิเคราะห์ข้อมูลทั้งหมดเพื่อเสนอต่อคณะอนุกรรมการประมาณกลางเดือนส.ค. คาดว่าต้นเดือนก.ย.น่าจะเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ให้พิจารณาได้ หากได้รับความเห็นชอบสามารถออกประกาศป.ป.ช.ดังกล่าวได้ตามอำนาจในพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ปี 2550 และ 2554 ที่เพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบทรัพย์สินให้แก่ ป.ป.ช. โดยแก้ไขเพิ่มเติมให้ ป.ป.ช. สามารถใช้อำนาจคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) และอำนาจคณะกรรมการธุรกรรมปปง.ได้

สธ.โต้ข่าวผู้ป่วยร่วมจ่ายบัตรทอง

     นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่าจากกรณีการเผยแพร่ข้อความว่ากระทรวงสาธารณสุขเสนอแนวคิดให้ประชาชนร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือบัตรทอง ในสัดส่วนร้อยละ 30-50 ต่อที่ประชุมคสช.นั้นไม่เป็นความจริง เป็นเพียงข้อเสนอที่มีผู้แสดงความคิดเห็นในที่ประชุม และที่ประชุมไม่มีการพูดคุยและมีข้อสรุปในประเด็นดังกล่าว ยืนยันไม่ใช่มติที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ คสช.แต่อย่างใด การประชุมร่วมกับคสช.นั้นเป็นการตรวจเยี่ยมและรับฟังการดำเนินงานของกระทรวงสาธารณสุข โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานในกำกับของกระทรวงสาธารณสุข เช่น สปสช. สวรส. สวพ. สพฉ. และการปฏิรูปในขณะนี้เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการ พื้นฐานที่มีคุณภาพ แก้ปัญหาสุขภาพในแต่ละพื้นที่ ผู้บริการมีความสุขในการทำงาน ไม่ใช่แนวคิดล้มระบบการทำงานของ สปสช.

เลขาฯสปสช.ยันยังไม่เข้าที่ประชุม

     นพ.วชิระ เพ็งจันทร์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ารายงานการประชุมทุกครั้งตนจะต้องรับรอง ซึ่งรายงานการประชุมฉบับดังกล่าวยังไม่มีการรับรองแต่อย่างใด แนวคิดเรื่องการร่วมจ่ายเป็นการเสนอความเห็นภายหลังการประชุมที่อธิบดีคนหนึ่งเสนอ แต่ไม่มีการระบุว่าต้องเป็นสัดส่วนร้อยละ 30-50 และไม่มีการลงความเห็นจากผู้บริหาร จะสอบถามความจริงต่อไปว่าการสรุปบันทึกการประชุมดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร

     ด้านนพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่าตนได้เข้าร่วมประชุมด้วยแต่จำไม่ได้ว่าใครเป็นผู้เสนอเรื่องดังกล่าว ยังไม่มีการนำแนวทางเรื่องการร่วมจ่ายเข้าที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม ตามแนวทางของระบบหลักประกันสุขภาพจะต้องไม่ให้เกิดอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสุขภาพและป้องกันการล้มละลายจากการเจ็บป่วย

หมอมงคลออกโรงค้านจ่ายร่วม

      วันเดียวกัน น.พ.มงคล ณ สงขลา อดีตรมว.สาธาณสุข เผยแพร่ข้อเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ในฐานะคนที่อยู่ในแวดวงสาธารณสุขมาทั้งชีวิต เคยผ่านช่วงเวลาที่ชาวบ้านไม่กล้ามาหาหมอที่โรงพยาบาลเพราะกลัวว่าจะไม่มีเงินจ่าย เคยเห็นคนขายวัวขายควายขายไร่ขายนาเพื่อจ่ายค่ารักษาพยาบาล มาจนถึงวันที่ประชาชนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้รับการรักษาแม้จะยากจน และไม่ต้องรู้สึกต่ำต้อยอนาถาเมื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล

"ผมรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก เมื่อทราบข่าวว่าผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขสั่งห้าม ร.พ.และเจ้าหน้าที่กระทรวงให้ความร่วมมือกับสปสช. มีข้อเสนอที่จะยกเลิกหลักการการแยกผู้ซื้อและผู้ให้บริการ เพื่อดึงอำนาจและการจัดงบประมาณกลับมาที่กระทรวง รวมถึงจะเสนอให้ประชาชนต้องร่วมจ่าย 30-50% ที่ยิ่งไปกว่านั้นยังมีการส่งข้อความปลุกกระแสทางไลน์ ผมจึงใช้เวลาช่วงบ่ายวันนี้ทั้งวันเขียนข้อมูลทั้ง 9 ข้อนี้เพียงหวังว่ามันจะสามารถกระตุกสำนึกของผู้คนที่กำลังหลงผิดทำลายระบบหลักประกันสุขภาพ และหวังว่ามันจะทำให้คสช.เข้าใจในเรื่องความสุขทุกข์ของประชาชนจริงๆ" นพ.มงคลกล่าว

ยก 9 ข้อชูหลักประกันสุขภาพ

อดีตรมว.สาธารณสุขระบุต่อว่า 1. กระทรวงสาธารณสุขและสปสช. ควรแยกจากกัน ในหน้าที่ผู้ซื้อและผู้ให้บริการ เพราะงบประมาณเพื่อบริการจะไม่ถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น 2. รัฐมนตรีสาธารณสุขเป็นประธานบอร์ดสปสช. ปลัดกระทรวงสาธารณสุขอยู่ในฐานะบอร์ดคนหนึ่ง ถูกต้องแล้ว เพราะรัฐมนตรีทำหน้าที่บริหารงานสาธารณสุขระดับนโยบาย จะได้ให้ความเห็นแก่บอร์ด 3. กฎหมายสปสช. มีเจตนารมณ์ชัดเจนที่ต้องให้การระบบหลักประกันสุขภาพเป็นของคนทุกภาคส่วน ไม่ใช่แค่ผู้ให้บริการเท่านั้น ตัวแทนทุกภาคส่วนในบอร์ดมีสิทธิออกความเห็น เสียงส่วนน้อยก็ได้รับการยอมรับ ไม่มีการใช้อำนาจหน้าที่ บารมี หรืออิทธิพลใดๆ ทั้งสิ้น เพราะตำแหน่งหน้าที่คือมายา คุณค่าคือของจริง นี่ไม่ใช่เงินหาเสียงของ สปสช. เป็นกองทุนตั้งต้นซึ่งขณะนี้มี อปท.ตอบรับแล้วเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ คนสธ.ควรตระหนักว่าเรื่องสุขภาพไม่ใช่แค่เรื่องการรักษาพยาบาล

ชูบรรพบุรุษสธ.สายตายาวไกล

4. สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยาบาลของประชาชนทุกรายการจะมีคณะกรรมการที่เป็นผู้เชี่ยวชาญจากหลายอาชีพร่วมกันพิจารณา หลังจากผ่านการประเมินจากคณะวิชาการประเมินเทคโนโลยีด้านสุขภาพ ส่วนใหญ่เลือกเพิ่มเติมรายการที่คุ้มค่า เช่นการเพิ่มวัคซีนไข้หวัดใหญ่แก่ผ้สูงอายุ 5. กฎหมาย ไม่ได้กำหนดว่าสปสช.ต้องซื้อบริการจาก สถานบริการภายใต้การกำกับของกระทรวงสาธารณสุขเท่านั้นถูกต้อง เพราะสปสช.ซื้อบริการจากสถานบริการที่ได้มาตรฐานตามที่กำหนดให้ประชาชนใช้บริการสะดวกที่สุด จากหน่วยงานรัฐหรือเอกชนก็ได้ แต่สถานบริการส่วนใหญ่อยู่ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขซึ่งบรรพบุรุษในวงการสาธารณ สุขผู้ที่สายตายาวไกลได้ช่วยกันสร้างขึ้นมา เพื่อให้เป็นที่พึ่งของคนไทยทุกคนถ้วนหน้า ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขมายึดครอง

ไม่อยากเห็นคนไทยกู้เงินเข้าร.พ.

6. การให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าทั้งคนจนและไม่จนทุกคนถูกต้องแล้ว เพราะงบประมาณที่ใช้มาจากภาษีทั่วไป ซึ่งคนรวย จ่ายภาษีในสัดส่วนที่สูงกว่าคนจนอยู่แล้ว นอกจากนั้นคนที่ไม่รวยแต่ใกล้จนคือคนชั้นกลางซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อป่วยหนักค่ารักษาพยาบาลแพง ทำให้ล้มละลายกันมากมายหลายรายต่อปี แม้แต่ร่วมจ่ายก็หนีไม่พ้นชะตากรรมอย่างที่เคยเห็นกันอยู่ เราคงไม่ต้องการเห็นพี่น้องคนไทยกำเงินมาโรงพยาบาลด้วยแขนที่เปียกโชกด้วยเหงื่อเม็ดโป้งๆ เพราะเงินที่กำอยู่ไปกู้เขามา และเราก็คงไม่อยากเห็นคนมาโรงพยาบาลด้วยความหดหู่เพราะถือบัตรผู้มีรายได้น้อยมาขอทานการพยาบาลอีกต่อไป 7. กฎหมายสปสช.ที่มีอยู่ดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่กฎหมายทุกฉบับต้องบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรม นูญ ปี 40 และ 50 บรรจุไว้แล้วว่ารัฐมีหน้าที่ที่ต้องให้การรักษาพยาบาลแก่ประชาชน และประชาชนมีสิทธิเข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง

อย่าทำลายเพชรงามเพื่อสนองตัณหา

8. การประกันสุขภาพถ้วนหน้าเกิดจากกระทรวงสาธารณสุข นำโดยนพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ และภาคีเครือข่ายสาธารณสุขทั่วประเทศ ไม่ใช่ซากเดนระบอบทักษิณตามที่กล่าวหากัน เพียงแต่การจะเป็นนโยบายสาธารณะได้นั้นต้องได้รับการสนับสนุนโดยรัฐบาลหรือการเมืองซึ่งที่ผ่านมาไปเสนอมาแล้วทุกพรรคการเมืองใหญ่ และยืนยันว่านี่ไม่ใช่นโยบายประชานิยม แต่เป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องดูแลทุกข์สุขของประชาชน 9. ขณะนี้องค์การอนามัยโลกและสหประชาชาติตั้งเป้าไว้แล้วว่าเมื่อผ่านปี 2015 เป้าหมายต่อไป ปี 2030 คือการบริการประกันสุขภาพถ้วนหน้า เวลานี้ประเทศไทยทำสำเร็จระดับหนึ่งในปี 2002 ล่วงหน้าเป้าหมายนี้ไป 28 ปี หลายประเทศมาศึกษาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าจากประเทศไทย ประเทศไทยได้รับการยกย่องไปทั่วโลก เราจะทำลายเพชรเม็ดงามชิ้นนี้ไปเพื่อสนองกิเลส 1500 ตัณหา 108 ของคนบางกลุ่มอย่างนั้นจริงๆ