วันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8610 ข่าวสดรายวัน


คสช.ทุ่มงบ 8 พันล. สร้างต่อ 396 สภ.มีแต่เสา 
บิ๊กตู่ชี้มะกัน-อียูค้านกระทบไทย จี้กต.แจง-เอกชนหวั่นโดนแบน 'แจ๊ด'นำทีมบอร์ดท่าเรือไขก๊อก ปล่อย'กริชสุดา'โต้ลือซ้อมดับ


ลาออก - พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง แถลงที่คลินิกการแพทย์แผนไทย จ.ปทุมธานี ประกาศลาออกจากประธานบอร์ดการท่าเรือแห่งประเทศไทย พร้อมกับยกเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งให้เป็นสวัสดิการของพนักงานการท่าเรือ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

        'บิ๊กแจ๊ด'โชว์สปิริตนำทีมบอร์ดการท่าเรือไขก๊อก'บิ๊กตู่'ชี้'สหรัฐ-อียู'ค้านคสช.กระทบไทย มอบบัวแก้วเร่งชี้แจงนานาชาติ คสช. ปัดฝุ่น 396 โรงพักมีแต่เสา ทุ่ม 8,357 ล้านสร้างต่อให้เสร็จ เหตุค่าวัสดุขึ้นราคา ส่วนคดียังเดินหน้าต่อไป ปล่อยตัวแล้ว'กริชสุดา' หลังลือหึ่งถูกซ้อมดับ สั่งจับตา'จารุพงศ์' ตั้งองค์กรเสรีไทยต้านรัฐประหาร พท.ปัดไม่เกี่ยวพรรค ทหารจับตาจัดรำลึก 82 ปี'ปชต.-คณะราษฎร'

บิ๊กตู่โต้'สหรัฐ-อียู'ค้านคสช.

       เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุม คสช. ครั้งที่ 3/2557 โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. และหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. และหัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผบ.ทบ. และเลขาธิการ คสช. รวมถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรีและปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการประชุมว่าปัจจุบันงานของ คสช. มีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็ว ต้องลดขั้นตอนให้มากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานของ คสช. ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ ส่วนสหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมีท่าทีคัดค้านการเข้าบริหารงานของ คสช.อยู่บ้าง แต่ก็ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย

เล็งเปลี่ยนโครงการ396โรงพัก

      สำหรับ วาระการประชุมวันนี้มีการพิจารณาเรื่องเพื่อทราบ 2 เรื่อง คือ 1.รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกร ผู้ปลูกข้าว และ 2.รายงานการชดใช้คืนเงินทดรองราชการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ขณะที่เรื่องเพื่อพิจารณาจำนวน 17 เรื่อง อาทิ โครงการประกันภัย ข้าวนาปี ปีการผลิต 2557 การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2556/2557 การ ขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี งบประมาณ พ.ศ.2557 งบกลาง โครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากกลุ่มอาการตายด่วน การขออนุมัติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับ สุดยอดผู้นำแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ GMS ครั้งที่ 5 ในประเทศไทย 

     การขออนุมัติเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการ "ก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน จำนวน 396 แห่ง" ส่วนเรื่อง อื่นๆ จะมีการชี้แจงเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม และความคืบหน้าผลการดำเนินการเกี่ยวกับปัญหาแรงงานต่างด้าว 

อนุมัติเพิ่มวงเงินสร้าง 396 โรงพัก

      ที่ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. แถลงว่า ในการประชุมคสช. ครั้งที่ 3 ที่ประชุมเห็นชอบตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทน 396 แห่ง และเพิ่มวงเงินก่อหนี้ผูกพันจากเดิม 6,672 ล้านบาท เป็นวงเงิน 8,357 ล้านบาท รวมวงเงินที่ใช้จ่ายไปแล้ว 1,500 ล้านบาท โครงการใหม่ครั้งนี้จะใช้งบประมาณจากเงินที่กันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปีงบประมาณตั้งแต่ปี 2552-2557 ซึ่งสะสมมา 2,459 ล้านบาท ทำให้ขออนุมัติก่อสร้างอาคารบางส่วนที่จำเป็นได้ก่อน 181 หลัง สำหรับอาคารอีก 215 หลังนั้นต้องใช้วงเงิน 4,000 กว่าล้านบาท ต้องตั้งคำขอ งบประมาณในปี 2558 ต่อไป 

      "ส่วนเหตุผลการเพิ่มงบฯ ตร.แจ้งว่าค่าวัสดุอุปกรณ์และค่าแรงมีการเปลี่ยนแปลงทางการตลาด ซึ่งมีหลักเกณฑ์การคำนวณค่าใช้จ่ายโครงการที่เป็นมาตรฐานอยู่แล้ว ขณะเดียวกันมีบางสิ่งที่อาจไม่ได้ประเมินอยู่ในกรอบระยะแรกของโครงการ เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อปรับให้สอดรับกับโครงการ" พ.อ.วินธัยกล่าว 

ส่วนคดียังคงเดินหน้าต่อไป

      เมื่อถามถึงการดำเนินคดีที่ยังคั่งค้างและมีการฟ้องร้อง พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ตร.ชี้แจงต่อที่ประชุมว่าจะดำเนินการต่อเนื่องในส่วนของคดีที่คั่งค้าง ซึ่งเป็นคนละส่วนของ คสช. รวมทั้งในส่วนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่รับเรื่องทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารสถานีตำรวจ ก็ยังเดินหน้าต่อไปเช่นกัน

      เมื่อถามว่าพล.อ.ประยุทธ์ กำชับอะไรเป็นพิเศษในโครงการดังกล่าวหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า หัวหน้า คสช.เน้นย้ำถึงความจำเป็น เร่งด่วนในการก่อสร้างเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องมีสถานที่ปฏิบัติงาน ไม่ใช่อยู่ในสภาพปัจจุบัน จึงอยากให้รีบดำเนินการให้เสร็จเพราะถือเป็นหน้าตาของหน่วยงานด้านความมั่นคง 

      นอกจากนี้ หัวหน้า คสช.ยังสอบถามถึงการดำเนินการด้านกฎหมาย ซึ่งพล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการ ผบ.ตร. ระบุว่ายังดำเนินคดีตามกฎหมาย และยืนยันว่าการดำเนินการในโครงการดังกล่าวได้ปริมาณงานมากกว่าเงินที่เสียไป ทั้งนี้เมื่อโครงการเสร็จสิ้นจะประเมินผลเพื่อเรียกค่าเสียหายจากการฟ้องร้องทางแพ่ง เช่น จากปัญหาที่ตำรวจไม่มีสถานที่ทำงาน 

มอบ'กต.'แจงชาติสมาชิกอียู

      พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ที่ประชุม คสช.เห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอให้รัฐบาลไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดแผนงานการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) ครั้งที่ 5 วันที่ 19-20 ธ.ค.2557 ที่กทม. โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ประสานความร่วมมือหน่วยงานต่างๆ เพื่อเป็นเจ้าภาพต่อไป

       พ.อ.วินธัย กล่าวถึงอียูออกมาตรการระงับความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ให้ข้อมูลเรื่องนี้กับพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ซึ่งพล.อ. ประยุทธ์ให้กระทรวงการต่างประเทศเน้นสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศ ผ่านช่องทางของทุกกระทรวง ทั้งนี้คสช.ยืนยันว่าขณะนี้ปล่อยตัวผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในพื้นที่พิเศษแล้ว ซึ่งต้องนำข้อมูลเรื่องการปล่อยตัวบุคคล สิทธิมนุษยชน และการดำเนินการเพื่อให้ไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยไปเสริมในการชี้แจงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะสมาชิกอียู 

ชี้'องค์กรเสรีไทย'ไม่เหมาะสม

     พ.อ.วินธัยกล่าวถึงกรณีที่นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ตั้งองค์กรเสรีไทยฯว่า ที่ประชุมคสช.ไม่ได้พูดถึงเรื่องนี้ แต่ได้ติดตามความเคลื่อนไหวบ้าง ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแจ้งต่อต่างประเทศว่ากรณีมีกลุ่มคลื่อนไหวลักษณะนี้ ถือว่าไม่เหมาะสมและสร้างความไม่สงบต่อประเทศนั้นๆ จึงขอความร่วมมือจากนานาประเทศไม่ให้สนับสนุนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ เรายังไม่มีข้อมูลว่ากลุ่มของนายจารุพงศ์อยู่ในประเทศใด แต่หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงยังคงเร่งติดตามหาว่าคนกลุ่มนี้มีต้นตออยู่ในประเทศใด 

        เมื่อถามว่าองค์กรนี้จะเป็นอุปสรรคต่อคสช.ในการทำความเข้าใจกับต่างประเทศหรือไม่ พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สิ่งที่องค์กรนี้ประกาศเป็นเพียงคำพูด แต่อยากให้ทุกประเทศดูในสิ่งที่คสช.ปฏิบัติจริงๆ ประเทศฝั่งตะวันตกยังคงพูดถึงการควบคุมตัวบุคคล ขณะที่เอ็นจีโอยังพูดถึงแต่ข่าวทรมานบุคคล ทั้งที่เรื่องเหล่านี้ห่างไกลกับสภาพความเป็นจริง เราจึงต้องนำเสนอให้เห็นว่าคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน และไม่เคยมองว่าผู้ที่ถูกควบคุมอยู่ในพื้นที่พิเศษนั้นเป็นฝ่ายตรงข้าม หากใครมีข้อสงสัยใดๆ ในเรื่องนี้ สอบถามกับคสช.ได้

ยันคสช.ไม่มีนโยบายไล่ล่า

      พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกองทัพบก และทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า คสช.ต้องดูว่าการเคลื่อนไหวมีผลกระทบกับไทยหรือไม่ คสช.พยายามแก้ปัญหาด้วยเหตุผลเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยสมบูรณ์ตามหลักสากล มีโรดแม็ปการทำงานที่ชัดเจนและขณะนี้บ้านเมืองปลดล็อกเรื่องต่างๆ ไปได้หลายเรื่อง คสช.เปิดช่องทางให้ทุกคนเข้ามาแสดงความเห็น อีกทั้งยังมีกระบวนการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เกิดความปรองดอง จึงอยากให้ใช้ช่องทางที่หลายคนเลือกเดินเข้ามาพูดคุยกับคสช. ซึ่งจะทำให้ทุกอย่างขับเคลื่อนไปด้วยกันได้ หากเราใช้ช่องทางอื่นอาจหนักใจ ต้องย้อนถามคนที่เคลื่อนไหวว่าจะใช้ช่องทางใดเพราะ ทุกอย่างมีกฎเกณฑ์


คุยอียู - นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เชิญนายเฆซูส มิเกล ซานส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรปหรืออียู ประจำประเทศไทย มาชี้แจงทำความเข้าใจกรณีอียูทบทวนความสัมพันธ์กับประเทศไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.

       พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวด้วยว่า คสช.ไม่มีนโยบายไล่ล่าและเราจะไม่ทำอย่างนั้น คสช. จะดำเนินการตามข้อเท็จจริง ให้ประชาชนเห็นผลงาน เพื่อแสดงให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของประเทศตามขั้นตอนกระบวนการ ส่วนจะติดตามตัวหรือไม่นั้น เป็นเรื่องเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบดำเนินการ 

       เมื่อถามกรณีมีกระแสข่าวนายจารุพงศ์ อาจอยู่ในประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวว่า ผู้เกี่ยวข้องต้องมีวิธีประสานงาน ทุกอย่างต้องใช้เวลาและความเข้าใจ หากไปบังคับขู่เข็ญปัญหาจะไม่จบ ซึ่งสถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้วและมีการปล่อยตัวผู้ที่เรียกเข้ามารายงานตัวหมดแล้ว

ปัดแจงบิ๊กตู่ไลน์คุยเทือก

      พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวถึงอียูประกาศท่าทีทบทวนความสัมพันธ์กับไทยว่า หัวหน้าคสช.ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนชี้แจงสถานการณ์ในประเทศ และให้โจทย์ในการทำงานว่าควรประเมินในขั้นที่เลวร้ายที่สุดจะแก้ปัญหาอย่างไร หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่าบางเรื่องเรายังพูดคุยและเจรจาได้ และไม่มีผลต่อเศรษฐกิจและการค้า เพราะต่างประเทศยังเข้ามาลงทุน ส่วนคสช.พยายามสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศยอมรับ และสะท้อนให้ต่างชาติรับทราบด้วย ซึ่งบางประเทศก็ผ่อนคลายท่าทีตึงเครียดลงไปบ้างแล้ว 

      ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวพล.อ.ประยุทธ์ ร่วมมือกับนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการกปปส. ตั้งแต่ปี 2553 ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า ไม่มีการพูดเรื่องนี้ในที่ประชุมคสช. ชุดใหญ่ เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าพล.อ. ประยุทธ์ มีท่าทีไม่พอใจกับข่าวดังกล่าว พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวย้ำว่า ไม่มี 

ผบ.สส.ชี้ต่างชาติเข้าใจไทย

      ที่ศูนย์ประชุมบางกอก คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพฯ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส.และรองหัวหน้า คสช. ให้สัมภาษณ์ภายหลังเป็นประธานเปิดงานการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ครั้งที่ 6 ว่า ที่สหภาพยุโรปหรืออียู ออกมาตรการกับไทยนั้น ตนเห็นว่าเวทีนี้สะท้อนความมั่นใจของ 63 ประเทศที่มาร่วมประชุม โดยรมต.มาเอง 18 ประเทศ ที่ตนได้พบเป็นการส่วนตัว แสดงให้เห็นว่าต่างประเทศเชื่อมั่นประเทศไทยและคสช. ส่วนเรื่องอียูต้องให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ชี้แจง

      พล.อ.ธนะศักดิ์ยังกล่าวถึงกรณีนายจารุพงศ์ จัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อต่อต้านการรัฐ ประหาร คสช.ว่า ได้พบทูตต่างประเทศหลายชาติ ในเอเชียและได้ทำความเข้าใจถึงแนวทางคสช.แล้ว 

สมคิด เชื่อตปท.ไม่ตัดขาดไทย

      นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. กล่าวถึงสหรัฐประกาศลดสถานะไทยจากการค้ามนุษย์และอียูออกแถลงการณ์ ว่า เชื่อว่าทั้งสหรัฐและอียู ไม่น่าจะตัดความสัมพันธ์ใดๆ จากไทย ซึ่งไทยต้องเร่งชี้แจงและแสดงความจริงใจแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ร่วมกันรักษาความสัมพันธ์ทางการค้าไว้ และปรับปรุงแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น หากไทยมุ่งมั่นและจริงใจจะแก้ปัญหาบ้านเมืองตามที่สัญญาไว้ ทั้งการปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการค้าและการทุจริตคอร์รัปชั่น และแรงงาน เชื่อว่าทุกประเทศจะหันกลับมาเชื่อมั่นในไทยอีกครั้ง ให้ผลงานพูดแทน ทุกสิ่ง เมื่อเดินตามกรอบเวลา ประเทศต่างๆ จะหันกลับมาหาไทยแน่นอน ไม่มีประเทศใดจะทิ้งไทยเพราะเราเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เอื้อต่อการค้าการลงทุนในอาเซียน

       นายสมคิด กล่าวว่า ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีหลังจะปรับตัวดีขึ้น หลังปัญหาทางการเมืองยุติลงและเริ่มเดินหน้าปฏิรูปอย่างจริงจัง จะทำให้ความเชื่อมั่นทั้งในประเทศและต่างประเทศกลับมาได้ แต่สิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญให้มาก คือการปรับโครงสร้างของการเมืองและสังคมที่อ่อนแอ ต้องได้รับ การแก้ไขอย่างจริงจังเพราะจะมีส่วนทำให้เศรษฐกิจไทย มีความมั่นคง โดยอาศัยจังหวะนี้เร่งปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยน แปลงที่ดีขึ้น ดึงภาคเอกชนให้เข้ามามีบทบาทมากขึ้น

หวั่น'มติอียู'กระทบภาพลักษณ์

      นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาห กรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกรณีสหภาพยุโรปลดความสัมพันธ์ระงับการเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และอาจทำให้อียูหยุดการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรี(เอฟทีเอ) กับไทยว่า เรื่องนี้อาจส่งผลกระทบเกิดการเสียประโยชน์ทางการค้าต่อกันทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามหากไม่ลงนามเอฟทีเอ เอกชนยังคงสามารถค้าขายเป็นปกติ ไม่มีปัญหา ซึ่งเอกชนต้องเร่งชี้แจงกับคู่ค้าให้เกิดความมั่นใจในการส่งมอบสินค้าตรงต่อเวลา ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน (กกร.) ในเดือนหน้า จะหารือร่วมกันเพื่อเตรียมความพร้อมและประเมินผลกระทบ แนวทางแก้ไข โดยขณะนี้มีเพียงผลกระทบที่เกิดขึ้นระยะสั้นทางจิตวิทยาเท่านั้น ไม่กระทบต่อด้านการค้า เชื่อว่าทีมเศรษฐกิจและต่างประเทศ ของคสช.ชี้แจงกับอียูให้เกิดความเข้าใจและจะไม่คว่ำบาตรไทยแน่นอน

      นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย กล่าวว่าถึงกรณีที่สหรัฐปรับลดอันดับไทยการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ลงไปอยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มที่ 3 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดว่า ขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบต่อเอกชนไทย แต่มีปัจจัยที่จะต้องระมัดระวังและติดตามอย่างใกล้ชิด คือ กรณีที่เอกชนสหรัฐมีการแอนตี้สินค้าของไทย หากเกิดเหตุการณ์แบบนั้น ก็จะก่อให้เกิดความเสียหายมาก ขณะนี้ยังมีกรอบเวลาอีก 90 วัน ที่จะหาแนวทางในการแก้ไข ปรับปรุงและเข้ามาดูแล ส่วนกรณีที่อียูออกแถลงการณ์ เรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าการนับความสูญเสียเป็นจำนวนเงิน 

ท่องเที่ยวจี้เร่งแจงทูตสร้างเชื่อมั่น 

      นางปิยะมาน เตชะไพบูลย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) เปิดเผยว่า ภาครัฐต้องหามาตรการสร้างความเชื่อมั่นกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรป(อียู) ที่ควรจะเร่งเข้าไปชี้แจงเกี่ยวกับการคว่ำบาตรไทยในขณะนี้เป็นเพียงเรื่องการเมืองเท่านั้น แต่สิ่งที่นักท่องเที่ยวต้องการคือ ความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้มีความพร้อมแล้ว เพราะไม่มีการชุมนุมบ้านเมืองอยู่ในภาวะปกติ พร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว หรือไฮซีซั่นที่กำลังจะมาถึง ตอนนี้การทำความเข้าใจกับเอกอัครราชทูตจากอียู เพื่อชี้แจงความคืบหน้าเรื่องปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะนักท่องเที่ยวจะกังวลกับเรื่องนี้มากที่สุด ขณะเดียวกันตลาดจีนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาควรจะเร่งหารือกับคสช. และกระทรวงการต่างประเทศ ให้ดำเนินการยกเว้นค่าธรรมเนียมวีซ่าจีนและไต้หวันเป็นเวลา 12 เดือน เพราะเป็นตลาดที่กระตุ้นได้ทันทีรวมถึงเห็นผล อย่างรวดเร็ว

       นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานสมาพันธ์ผู้ผลิตสินค้าประมงไทย เปิดเผยว่า กลางเดือนก.ค.2557 สมาพันธ์จะร่วมกับทีมประเทศไทย เดินทางกู้ภาพลักษณ์ประเทศและอุตสาหกรรมด้านการประมงไทย ภายหลังจากสหรัฐอเมริกาลดอันดับประเทศไทยเป็นประเทศที่ต้องเฝ้าระวังด้านการค้ามนุษย์ และสหภาพยุโรป (อียู) ออกแถลงการณ์ ทบทวนสัมพนธ์ ยอมรับว่าการประกาศของสหรัฐกระทบต่อภาพพจน์อุตสาหกรรมประมงไทย ที่มีการส่งออกจำนวนหลายแสนล้านบาท โดยเป็นผลกระทบทางอ้อมต่อจิตวิทยาผู้บริโภคในต่างประเทศ หากไทย ไม่เร่งดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง จะเกิดผล กระทบต่อการส่งออกปีนี้แน่นอน 

คสช.เร่งตีทะเบียนชาวนา

      นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ เปิดเผยหลังเป็นประธานการประชุมติดตามงานร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการกระทรวงเกษตรฯว่า ที่ประชุมได้หารือถึงงานของกระทรวงเกษตรฯ ที่จะคืนความสุขให้แก่ประชาชนตามนโยบาย คสช. โดยงานของ กระทรวงเกษตรฯ ประกอบด้วย การจ่ายเงินช่วยเหลือชาวสวนยาง 6,600 ล้านบาท การขึ้นทะเบียนชาวนาเพื่อรับความช่วยเหลือการลดต้นทุนการปลูกข้าวของคสช. การจ่ายเงินช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ 5,498 ล้านบาท 


อิสรภาพ - น.ส.กริชสุดา คุณะแสน หรือเปิ้ล สหายสุดซอย นักกิจกรรมเสื้อแดง ได้รับการปล่อยตัวเป็นอิสระ หลังจากถูกควบคุมตัวตามคำสั่งคสช.ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค. ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์

      นายชวลิตกล่าวอีกว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือชาวนาตามนโยบาย ขณะนี้ได้มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรไปเร่งขึ้นทะเบียนชาวนาทั่วประเทศที่มีอยู่ประมาณ 3.7 ล้านครัวเรือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.นี้ เพื่อออกใบรับรองให้ ซึ่งสามารถนำไปใช้รับความช่วยเหลือตามมาตรการที่ คสช. กำหนดไว้เบื้องต้น 2 มาตรการ คือ 1.รับส่วนลดราคาเมล็ดพันธุ์ข้าว ค่าเครื่องจักรการเกษตร ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช ตามที่ภาคเอกชนเสนอ และ 2.รับสิทธิ์สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) 

ลดต้นทุนการผลิต

       นายชวลิตกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นเพื่อลดต้นทุนของเกษตรกร จึงตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจตรวจสอบปัจจัยการผลิตทางการเกษตรที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน มี ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน ทำหน้าที่ตรวจสอบสารเคมีทางการเกษตร ปุ๋ย วัตถุอันตราย และเมล็ดพันธุ์พืชในสถานที่ของ ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย ผู้นำเข้า หรือผู้มีไว้ในครอบครอง ให้เป็นไปตามกฎหมาย

      นายชวลิต กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้จะใช้มาตรการลดต้นทุนการผลิตเป็นมาตรการหลัก โดยจากการหารือกับผู้ประกอบการจะสามารถลดต้นทุนต่อไร่ได้ดังนี้คือ ลดค่าปุ๋ยเคมีลง 40 บาท,ค่ายาปราบศัตรูพืชและวัชพืช 20 บาท, ค่าเมล็ดพันธุ์ 122 บาท,ค่ารถเกี่ยว 50 บาท และค่าเช่าที่นา 200 บาท รวมจะลดต้นทุนได้ 432 บาท จากต้นทุนรวมต่อไร่ของชาวนาในขณะนี้อยู่ที่ 4,787 บาท จะเหลือต้นทุนไร่ละ 4,355 บาท เมื่อรวมกับมาตรการเสริมโดยช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำจากธ.ก.ส.ที่ให้ชาวนากู้รายละ 50,000 บาท ชดเชยดอกเบี้ย 3% ระยะเวลา 6 เดือน โดยรัฐบาลเป็นผู้ชดเชยให้ คิดเป็นต้นทุนต่อไร่ที่เกษตรกรจะได้ลดต้นทุนลงอีก 150 บาท รวมแล้วต้นทุนเกษตรกรจะเหลืออยู่ที่ไร่ละ 4,205 บาท โดยหัวหน้าคสช.ยังมีนโยบายจัดตั้งศูนย์กลางช่วยเหลือสินค้าเกษตรครอบ คลุมสินค้าเกษตรทุกประเภท ประจำจังหวัด

กำหนดราคาอ้อยตันละ 999 บาท

      นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงผลการประชุมคสช.ว่า ที่ประชุมได้เห็นชอบให้ช่วยเหลือชาวไร่อ้อยกำหนดราคาอ้อยขั้นสุดท้ายของฤดูการผลิต ปี 2555/56 ที่ 999.20 บาทต่อตันอ้อย ที่ความหวาน 10 ซีซีเอส ซึ่งตามปกติจะต้องประกาศราคาตั้งแต่เดือนต.ค.ปี 2556 จึงเป็นเรื่องที่ค้างมาตั้งแต่เกิดความไม่สงบทางการเมืองและมาสรุปในวันนี้ ขณะเดียวกันได้อนุมัติเงินช่วยเหลือพิเศษเพื่อเพิ่มค่าอ้อยของฤดูการผลิต 2556/57 อีก 160 บาทต่อตันอ้อย จากเดิมที่ประกาศไว้ 900 บาทต่อตันอ้อย ทำให้เกษตรกรกว่า 300,000 คนจะได้รับเงิน 1,060 บาทต่อตันอ้อย จะได้มีเงินไปลดภาระหนี้สินและใช้หมุนเวียนในฤูกาลต่อไป โดยเงินส่วนเพิ่มนี้จะกู้จากธนาคารเพื่อการเกษตรและ สหกรณ์ฯ ในวงเงิน 16,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้รับนโยบายจากหัวหน้า คสช.ให้แก้ปัญหาระยะยาวกับชาวไร่อ้อยมีความมั่นคงและได้รับการประกันคุณภาพชีวิตที่ดี จากที่ผ่านมาต้องมาแก้ปัญหาลักษณะนี้ทุกปี

      ที่อาคารธาราเทพ โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค นางปราณิน มุตตาหารัช รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวเปิดสัมมนาทางวิชาการด้านแรงงาน เรื่อง"ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน โจทย์ที่ประเทศต้องเร่งแก้ไข" จัดโดยกระทรวงแรงงาน ร่วมกับสภาที่ปรึกษาเพื่อพัฒนาแรงงานแห่งชาติว่า ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เป็นอาชญากรรมข้ามชาติที่มีความสำคัญ ซึ่งไทยเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของภูมิภาค จึงทำให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการค้ามนุษย์ นำเหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้แรงงาน ส่งผลให้ไทยถูกลดระดับให้เป็นประเทศที่มีการค้ามนุษย์ระดับ 3

ตั้งเป้าล้างภาพค้ามนุษย์ใน 1 ปี

       ม.ล.ปุณฑริก สมิติ รองปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงแนวทางการแก้ปัญหาการ จัดอันดับการค้ามนุษย์ของสหรัฐที่อาจส่งผล กระทบต่อสินค้าไทยว่า ตั้งเป้าแก้ปัญหาให้ได้ภายใน 1 ปี ต้องอาศัยกระบวนการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคว่าผู้ประกอบการของไทยไม่มีใช้แรงงานเด็ก แรงงานต่างชาติที่ถูกบังคับผิดกฎหมาย พร้อมสนับสนุนให้ผู้ประกอบการสินค้า 4 ประเภท ได้แก่ กุ้ง ปลา อ้อย สิ่งทอ เข้าร่วมมาตรฐาน GLP (Good Laboratory Practices) แนวทางการปฏิบัติด้านแรงงานที่ดี เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคในต่างประเทศ ขณะนี้มีผู้ประกอบการไทยผ่านเกณฑ์ 187 แห่ง ซึ่งจะเป็นการตรวจสอบตามความสมัครใจของผู้ประกอบการเอง ก่อนเข้าสู่มาตรฐานแรงงานไทย หรือมรก. ที่เป็นการประเมินด้วยหน่วยงานรัฐ

       ม.ล.ปุณฑริก กล่าวว่า การแก้ไขปัญหายังต้องอาศัยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพราะเกณฑ์ประเมิน Tip Report เป็นการประเมินในแง่การบังคับใช้กฎหมายที่เอาจริงเอาจังการค้ามนุษย์ ต้องอาศัยความร่วมมือจากดีเอสไอ ปปง. ป.ป.ช. รวมทั้งอัยการและศาล ในอนาคตอาจต้องตั้งศาลเฉพาะด้านค้ามนุษย์โดยตรง

บิ๊กแจ๊ดไขก๊อกลาบอร์ดท่าเรือ

      พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง ผบช.น. ช่วยราชการ ศปก.ตร. ในฐานะประธานคณะกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด กทท. นัดสุดท้าย ว่า บอร์ด กทท. ได้มีมติยื่นหนังสือ ลาออกทั้งคณะ ยกเว้นนายกฤษฎา อุทยานิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2557 นี้ พร้อมกับระบุว่าสิ่งที่ห่วงกังวลคือการวางรากฐานให้กับ กทท.เพื่อเตรียมพร้อมในการเปิดเสรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และการดูแลทีมฟุตบอลสโมสรการท่าเรือ

       "เดิมคิดจะลาออกตั้งแต่ คสช.เข้ามา บริหารประเทศ แต่มีภารกิจต้องสานต่อให้เสร็จ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสปิริต เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลบอร์ดชุดเก่าก็ต้องลาออก แต่มีภารกิจงานหลายอย่างที่จะต้องดำเนินการจึงเพิ่งลาออกในขณะนี้ คาดว่าภายใน 1 เดือนจะมีการแต่งตั้งบอร์ด ชุดใหม่" ประธานบอร์ด กทท.กล่าว 

'คำรณวิทย์'เปิดใจไขก๊อก

     พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่ สำนักงานมูลนิธิ มงคล-จงกล ธูปกระจ่าง คลินิกการแพทย์แผนไทย 191 จ.ปทุมธานี ซึ่งเป็นสถานรักษาพยาบาลแพทย์แผนไทย บำบัดโรคด้วยการฝังเข็ม ว่า เมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งตนจะลาออกตั้งแต่วันนั้น กรรมการบอร์ดและผู้บริหารหลายๆ ท่าน ได้ยับยั้ง และนำเสนอ ว่า การตัดสินใจบางเรื่อง ผู้บริหารไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ต้องมีองค์ประชุมบอร์ด ในช่วงเดือนที่ผ่านมา จึงพยายามเร่งเคลียร์งานที่สำคัญๆ ให้เสร็จ แล้วในวันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบอร์ดมีมติเห็นชอบ ลาออกทั้งคณะ ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 ก.ค. 

       "เงินโบนัสของผมออกมาเมื่อวันที่ 23 เม.ย. 94,000 บาท ผมได้มอบให้สวัสดิการ การท่าเรือไป เพราะทีมฟุตบอลการท่าเรือ ที่ต้องรักษาไว้มิให้ตกชั้น 60 กว่าปีที่ผ่านมาไม่เคยตกชั้น" พล.ต.ท.คำรณวิทย์กล่าว

เผยอยู่ที่ไหนก็ช่วยประชาชนได้

      พล.ต.ท.คำรณวิทย์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องหลังเกษียณอายุในอีก 3 เดือนข้างหน้า ก็ยืนยันว่า จะไม่ลาออก และไม่ลงเล่นการเมือง ชีวิตราชการตำรวจ ที่ผ่านมาก็นับว่าได้ช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาเต็มที่แล้ว ดังนั้นสถานที่คลินิกการแพทย์แผนไทย ที่เคยให้การรักษาพยาบาล คนไข้แบบรักษาฟรี ที่เคยให้บริการ เฉพาะวันเสาร์ อาทิตย์ ก็จะเปิดให้บริการ เพิ่ม อีก ในวัน จันทร์, พุธ, ศุกร์, และไม่ว่าจะอยู่ในสถานะใดก็ตาม หากมีใจซื่อสัตย์ สุจริต และจริงใจ อยู่ตรงไหน ก็สามารถช่วยเหลือพี่น้องประชาชนได้ 

       สำหรับ บอร์ด กทท. ที่ยื่นลาออกพร้อมพล.ต.ท.คำรณวิทย์ ประกอบด้วย นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ อธิบดีกรมเจ้าท่า นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นายกฤษฎา บุณยสมิต รองอธิบดีอัยการ สำนักงานที่ปรึกษากฎหมาย สำนักงานอัยการสูงสุด พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม พล.ร.อ.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ พล.ต.อ.ชลธาร จิราณรงค์ อดีตหัวหน้านายตำรวจราชสำนัก นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ และนายเรวัต พจนวิลาส กรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์พี แมนเนจเม้นท์ จำกัด

บอร์ดรฟท.จ่อลาออกด้วย

       แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ยื่นหนังสือลาออกจากประธานกรรมคณะกรรมการ รฟท. แล้ว โดยได้ยื่นต่อศูนย์เลขานุการคณะกรรมการ รฟท. คาดว่าภายในสัปดาห์นี้กรรมการที่เหลือจะทยอยลาออกทั้งหมด เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. แต่งตั้งผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการแทน 

       สำหรับ รายชื่อคณะกรรมการ รฟท. ประกอบด้วย นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ อดีตคณบดีคณะวิศวะ จุฬาฯ ประธาน นาย สราวุธ เบญจกุล เลขาธิการสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง นาย ชูศักดิ์ เกวี รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายจุฬา สุขมานพ ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) นาย ประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ รฟท. นายยุทธพงษ์ อภิรัตนรังษี นักกฎหมาย และนาย สุธรรม ศิริทิพย์สาคร นักธุรกิจเจ้าของ บริษัท สถาปนิก สุธรรม จำกัด กรรมการ

ตั้งแล้วบอร์ดใหม่อสมท

      วันเดียวกันนี้ คณะกรรมการ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ประชุมครั้งที่ 13/2557 มีมติเลือกตั้งกรรมการแทนกรรมการที่ลาออกจากตำแหน่งก่อนครบวาระ ดังนี้ 1. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ เป็นกรรมการอิสระ แทน นาย สุธรรม แสงประทุม โดยจะดำรงตำแหน่งไปจนถึงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ประจำปี 2559 (เม.ย.2559) 2.ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นกรรมการ แทนนายธงทอง จันทรางศุ โดยจะดำรงตำแหน่งไปจนถึงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ประจำปี 2558 (เม.ย. 2558) 3.นางสุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล เป็นกรรมการอิสระ แทนพล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ โดยจะดำรงตำแหน่งไปจนถึงการประชุมสามัญ ผู้ถือหุ้นของบริษัท ประจำปี 2559 (เม.ย. 2559) 4.น.ส.ปาริชาต สถาปิตานนท์ เป็นกรรมการอิสระ แทนนายจักรพันธุ์ ยมจินดา โดยจะดำรงตำแหน่งไปจนถึงการประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัท ประจำปี 2558 (เม.ย. 2558) ทั้งนี้มีผลตั้งแต่วันที่ 25 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป

ทหารปล่อยแล้ว'กริชสุดา'

      ที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ สถานที่การเข้ารับรายงานตัวของบุคคลตามคำสั่งเรียกของ คสช. โดยวันนี้ คสช.ไม่มีคำสั่งเรียกให้บุคคลเข้ารายงานตัวเพิ่มเติม อย่างไรก็ตามมีกระแสข่าวว่า ภายในวันนี้เจ้าหน้าที่จะปล่อยตัว น.ส.กริชสุดา คุณะแสน หรือ เปิ้ล สหายสุดซอย นักกิจกรรมเสื้อแดง ซึ่งถูกควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา หลังมีกระแสข่าวว่า น.ส.กริชสุดา ถูกทหารทารุณกรรมถึงขั้นเสียชีวิต จนคสช.ต้องให้น.ส.กริชสุดา ออกมายืนยันว่าไม่ได้ถูกทำร้ายผ่านการให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ของททบ.5 ช่วงค่ำของวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา

      จากนั้นเวลา 13.00 น. ทหารได้ปล่อยตัวน.ส.กริชสุดา โดยนั่งรถกระบะของราชการเดินทางออกจากหอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ พร้อมกับนายอภิรัตน์ ศรีปัศเมษ เพื่อนชายคนสนิทที่ถูกควบคุมตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่อนุญาตให้มาพบปะกับน.ส.กริชสุดา เมื่อ วันที่ 23 มิ.ย. จากนั้นได้นำตัวนายอภิรัตน์มาส่งให้พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปราม (บก.ป.) เพื่อส่งตัวให้ตำรวจสภ.ศรีสุข ภ.จว.ชลบุรี รับตัวไปดำเนินคดีข้อหาอาวุธปืน โดยมีน.ส.กริชสุดา เดินทางมาดูแลด้วย 

      น.ส.กริชสุดา กล่าวว่า ทหารไม่ได้ทำร้ายร่างกาย และยังมีความเป็นอยู่ปกติดี ซึ่งตลอดเวลาที่ถูกกักตัวไว้เพื่อสอบปากคำก็สบายดี ไม่ได้หายสาบสูญ ตนติดตามข่าวสารก็ยังแปลกใจ อยากให้ประชาชนใช้วิจารณญาณรับข่าวสาร ยังไม่ทราบว่าใครเป็นคนปล่อยข่าวดังกล่าว

จารุพงศ์ตั้งองค์กรเสรีไทย

      วันเดียวกันนี้ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว เป็นภาพและเสียงของนายจารุพงศ์ ยืนอ่านแถลงการณ์ ฉบับที่ 1 องค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ในฐานะเลขาธิการองค์กรเสรีไทยฯ เพื่อคัดค้านอำนาจของ คสช. พร้อมจัดตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย หรือ The Organisation of Free Thais for Human Rights and Democracy (FT-HD) ขึ้นในวันอังคารที่ 24 มิ.ย. 2557 เพื่อรองรับแนวความคิดและปฏิบัติการทุกชนิดของผู้ที่มีความ มุ่งมั่นในเจตนารมณ์ประชาธิปไตยจากทั่วทุก มุมโลกร่วมกัน โดยแนวคิดและการปฏิบัติ ต้องไม่ขัดต่อหลักประชาธิปไตย หลักสิทธิ มนุษยชน หลักกฎหมายสากล และไม่ใช้ความรุนแรงใดๆ 

      นายจารุพงศ์ ระบุว่า องค์กรเสรีไทยฯ ตั้งขึ้นเพื่อ 1.ต่อต้านระบอบเผด็จการทหารและเครือข่ายอํามาตย์ เพื่อให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน 2.ฟื้นฟูและเสริมสร้างระบอบประชาธิปไตยให้ถาวรและเป็นเสาหลักของ รัฐไทย 3.ให้เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เสรีภาพ และสันติภาพ 4.ส่งเสริมระบบเศรษฐกิจเสรีและเป็นธรรม 5.ปฏิรูปวัฒนธรรมไทยให้สอดรับกับระบอบประชา ธิปไตย และ 6.พัฒนาคุณภาพคนไทยสู่ความเป็นสากล ความสําเร็จในการต่อสู้ ครั้งนี้ จะบรรลุเป้าหมายได้ต่อเมื่อทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่มีอุดมการณ์ร่วมกันลุกขึ้นสู้โดยพร้อมเพรียง

พท.ปัดไม่เกี่ยวองค์กรต้านคสช.

      นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายจารุพงศ์ว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคล พวกเราเคารพในแนวคิดและอุดมการณ์ของนาย จารุพงศ์ แต่พรรคเพื่อไทยต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกา จะไม่เคลื่อนไหวใดๆ ที่อาจกระทบต่อความสงบสุขของบ้านเมือง และเพื่อให้ คสช.ดำเนินการตามโรดแม็ปที่วางไว้ เพื่อคืนระบอบประชาธิปไตยให้กับประเทศโดยเร็ว ยืนยันว่ารักษาการกรรมการบริหารพรรคทุกคนไม่เคลื่อนไหวใดๆ ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการทำงานของ คสช. เราขอเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการนำประชาธิปไตยกลับคืนมา 

      นายชวลิต กล่าวถึงกรณีอียูลดความสัมพันธ์กับไทยว่า ทราบว่าภาคธุรกิจเอกชนเป็นกังวลกับท่าทีของอียูกับสหรัฐ ต่อสถานการณ์การเมืองในไทย เพราะจะมีผลต่อเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ สุดท้ายภาระจะตกหนักกับภาคธุรกิจเอกชนและประชาชนจะได้รับผลกระทบเป็นลูกโซ่ หากประเทศไทยถูกบอยคอต ทั้งนี้ คสช.ให้กระทรวงการต่างประเทศทำความเข้าใจกับนานาประเทศอยู่ ซึ่งขอให้กำลังใจ 

นักวิชาการหวังรธน.ใหม่เสมอภาค

       ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดแสดงปาฐกถาในวาระครบรอบ 82 ปี การอภิวัฒน์สยาม 24 มิ.ย. 2475 และครบรอบ 19 ปี สถาบันปรีดี พนมยงค์ ในหัวข้อ "การเดินทางของความไม่เสมอภาคในสังคมไทย" โดยนายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวตอนหนึ่งว่า ประชาธิปไตยเป็นระบอบการปกครองที่ทุกคนควรมีสิทธิเสมอภาคกันทางการเมือง แต่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจแก่นแท้ประชาธิปไตย ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 มีความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้จะเปลี่ยนแปลงไปแล้วหลายครั้ง แต่ประชาธิปไตยไทยไม่สมบูรณ์ เผชิญกับวิกฤตหลายครั้ง จึงคาดหวังว่าหลังจากนี้ไทยจะเดินหน้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่มีความเสมอภาค เปิดโอกาสให้ตรวจสอบได้ นำไปสู่ความเท่าเทียมในสังคม

       นายสุขุม นวลสกุล นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ กล่าวว่า คนไทยได้เรียนรู้สิทธิมากขึ้น แต่บางคนรู้จักสิทธิ แต่ไม่รู้หน้าที่จึงเกิดปัญหา และวันนี้ครบ 82 ปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้วต้องเริ่มต้นใหม่อีก มีการเดินหน้า คืนความสุขให้คนในชาติและปฏิรูปประเทศ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2475 อยากให้ทุกคนนึกย้อนไปคิดทบทวนเป็นบทเรียนว่าทำไมเราต้องมาเริ่มกันใหม่ เพื่อให้การเริ่มต้นครั้งนี้จะได้ไม่ต้องเริ่มต้นใหม่อีกในอนาคต ซึ่งในเร็วๆ นี้จะรับฟังว่าจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร เพื่อสรุปเป็นกฎเกณฑ์เป็นรัฐธรรมนูญ ซึ่งสิ่งสำคัญคนไทยทุกคนควรเคารพความเห็นคนอื่นให้มากขึ้น อย่าคิดว่าถูกอยู่ฝ่ายเดียว

เรียกทูตพบ-ทบทวนมติ ไทยจี้อียู โวยด่วนสรุปยุติร่วมมือ บิ๊กตู่ เมินถูกกดดัน-ลุยต่อ ลั่นประเทศต้องมีศักดิ์ศรี ตลาดทุนจีบคสช.โรดโชว์ จัด 8 พันล.สร้าง 396 โรงพัก สมคิดให้ธุรกิจร่วมปฏิรูป

มติชนออนไลน์ :

ไทยแจงอียู - นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ต้อนรับนายเฆซูส มิเกล ซานส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย เพื่อหารือกรณีอียูแถลงยุติความร่วมมือด้านต่างๆ กับไทย ที่กระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน

  บัวแก้วเรียกทูตอียูเคลียร์ชี้ไม่ควรรีบด่วนสรุป ด้านทูตยันจำกัดบางด้าน ไม่ใช่การคว่ำบาตร เอกชนหวั่นกระทบเจรจา'เอฟทีเอ'เสียภาพลักษณ์ ชี้ไม่มีสิทธิแซงก์ชั่นการค้า 'สมคิด'ชี้อยู่บนทาง 2 แพร่งใช้โอกาส ปว.ขับเคลื่อนปฏิรูป

@ บัวแก้วเรียกทูตอียูเคลียร์

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 24 มิถุนายน ที่กระทรวงการต่างประเทศ นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่แทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เชิญนายเฆซูส มิเกล ซานส์ เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย เข้าหารือถึงกรณีที่อียูออกประกาศผลสรุปการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรปเกี่ยวกับประเทศไทยที่กรุงลักเซมเบิร์ก ประเทศลักเซมเบิร์ก เมื่อวันที่ 23 มิถุนายนที่ผ่านมา โดยมีมาตรการระงับและทบทวนกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือ หรือ พีซีเอ กับไทย พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว โดยภายหลังการหารือ นายสีหศักดิ์แถลงว่า ได้แสดงความผิดหวังต่อมาตรการที่อียูประกาศ เพราะไม่ได้สะท้อนถึงพัฒนาการล่าสุดของการเมืองไทย แต่ท่าทีดังกล่าวก็ไม่ได้เหนือไปจากที่คาดหมายไว้ นอกจากนี้ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการฝ่ายเดียวของอียู เพราะความจริงประเทศไทยเปิดกว้าง หากมีข้อสงสัยก็พูดคุยกันได้ ส่วนกรณีที่อียูไม่มั่นใจในโรดแมป 3 ขั้น ชี้แจงว่าอียูไม่ควรด่วนสรุป เพราะไทยกำลังดำเนินการตามเส้นทางเพื่อนำประเทศกลับสู่ประชาธิปไตย ดังนั้น จึงควรติดตามการปฏิบัติของไทย แสดงความเข้าใจและเอาใจช่วยไทย ซึ่งฝ่ายไทยก็เข้าใจถึงท่าทีของอียู

@ จี้สหภาพยุโรปทบทวนมติ

       นายสีหศักดิ์กล่าวว่า เอกอัครราชทูตอียูได้ยืนยันว่าสิ่งที่อียูมีมาตรการออกมา เป็นการจำกัดเพียงเฉพาะบางด้าน ไม่ใช่การคว่ำบาตร ขณะที่การท่องเที่ยว การค้าการลงทุน และภาคเอกชน ยังเป็นไปตามปกติ อย่างไรก็ตาม อียูยังเห็นความสำคัญของไทยและคาดหวังไทยกลับสู่ประชาธิปไตย ยังอยากเห็นบทบาทของไทยในอาเซียน ดังนั้นความสัมพันธ์จึงเดินหน้าต่อไป อย่างไรก็ดี ได้สั่งการให้เอกอัครราชทูตไทยที่ประจำการในยุโรป ทำงานร่วมกับผู้ช่วยทูตพาณิชย์ เดินหน้าพบปะกับภาคเอกชนของแต่ละประเทศเพื่อให้เขามีความเข้าใจที่ถูกต้อง

นายสีหศักดิ์ยังเรียกร้องอียูทบทวนมติที่ออกมาด้วย

@ คสช.รุกด้วย-ให้รื้อมติ 

       ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช.กล่าวถึงกรณีการประชุมของคณะรัฐมนตรีต่างประเทศสหภาพยุโรป (อียู) แถลงการณ์ยุติความร่วมมือไทยและเรียกร้องให้ไทยมีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ว่า คสช.ผิดหวังกับแถลงการณ์ดังกล่าวเพราะ คสช.ชี้แจงกับหลายประเทศในเวทีต่างๆ ผ่านกระทรวงการต่างประเทศไปแล้ว จึงอยากเรียกร้องให้อียูทบทวนมาตรการต่างๆ ที่ได้ประกาศออกมา 

       "ผมอยากให้อียูเห็นสถานการณ์เหตุผลและความจำเป็นของการที่ คสช.ต้องเข้ามาบริหารราชการแผ่นดินว่า ก่อนหน้าวันที่ 22 พฤษภาคม สถานการณ์ทางการเมืองตึงเครียดขนาดไหน งบประมาณแผ่นดินหรือแม้กระทั่งการเดินหน้าประเทศมันขยับไม่ได้แล้ว หากปล่อยให้สถานการณ์มันเป็นแบบนั้นต่อไปโอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์รุนแรงมีสูงระหว่าง 2 ฝ่ายที่ไม่มีการพูดคุยหาทางออกกันเลย ผมคิดว่าอียูควรมองกลับไปจุดนั้นและมองกลับมาดูโรดแมปที่ คสช.ได้ดำเนินการไปอย่างชัดเจนทุกขั้นตอนรวมถึงกรอบเวลาการทำโรดแมปในขั้นต่างๆ ซึ่งทางอียูต้องให้เวลาเราพอสมควรเพราะความขัดแย้งของไทยยาวนานกว่า 10 ปี หากจะแก้ไขต้องใช้เวลา" ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าว

       เมื่อถามว่าหัวหน้า คสช.เน้นย้ำหรือกังวลอะไรเกี่ยวกับมาตรการของอียูที่ออกมาบ้าง ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า หัวหน้า คสช.ได้ฝากกับทุกหน่วยงานให้เร่งชี้แจงกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้การออกมาตรการต่างๆ ของอียูไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีแต่อย่างใด รวมทั้งในที่ประชุมหัวหน้า คสช.ไม่ได้พูดถึงกรณีดังกล่าวเลย

@ "บิ๊กตู่"ย้ำใช้ความอดทนแจงอียู

      พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคสช.กล่าวว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศชี้แจงทำความเข้าใจซึ่งเป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด ส่วนจะดำเนินการอย่างไรต้องดูท่าทีของอียูที่จะประกาศออกมาต่อไป ซึ่งการประกาศในลักษณะนี้ก็ขึ้นอยู่กับธรรมเนียมของประเทศนั้นๆ ซึ่งเราเข้าใจได้ หัวหน้า คสช.ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้ความอดทนในการชี้แจงสถานการณ์ในประเทศ และให้โจทย์ในการทำงานว่าควรจะประเมินในขั้นที่เลวร้ายที่สุดจะแก้ปัญหาอย่างไร 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า กังวลว่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นในระยะยาวหรือไม่ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์กล่าวว่า หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่าบางเรื่องยังพูดคุยและเจรจาได้ และไม่มีผลอะไรกับเรื่องเศรษฐกิจและการค้า เพราะต่างประเทศยังเข้ามาลงทุนค้าขาย ส่วนที่บอกว่าอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของ คสช.นั้น ขณะนี้เราก็พยายามที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้คนในประเทศยอมรับ และจะสะท้อนให้ต่างชาติได้รับทราบด้วย ซึ่งบางประเทศก็ผ่อนคลายท่าทีตึงเครียดลงไปบ้างแล้ว

@ "บิ๊กตู่"ไม่สนอียูสั่งเดินหน้าต่อ

     เมื่อเวลา 09.00 น. ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุม คสช.ครั้งที่ 3/2557 มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช. ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. เข้าร่วม

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในการประชุมว่า ปัจจุบันงานของ คสช.มีหลายเรื่องที่ต้องเดินหน้าไปด้วยความรวดเร็ว ลดขั้นตอนให้มากขึ้น เนื่องจากการดำเนินงานของ คสช.ยังมีปัญหาในการขับเคลื่อนการปฏิบัติ พร้อมกันนี้ หัวหน้า คสช.ยังได้ขอบคุณเจ้าหน้าที่ที่ได้ร่วมมือกันการปฏิบัติงาน ทำให้งานของ คสช.เดินหน้าไปได้ แม้สหรัฐอเมริกาและยุโรปจะมีท่าทีคัดค้านการเข้าบริหารงานของ คสช.อยู่บ้าง แต่ต้องคำนึงถึงศักดิ์ศรีของประเทศไทยด้วย

@ พณ.อ้างแถลงไม่ชัดเจน 

      นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า คำแถลงของอียูยังไม่ชัดเจนว่าจะมีมาตรการอะไรบ้าง โดยเฉพาะด้านการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มั่นใจว่าในที่สุดการเจรจาดังกล่าวต้องต้องมีต่อไป แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการเจรจากันก็ตาม แต่ในระดับเจ้าหน้าที่ยังมีการพูดคุยหารือกันได้ เพราะการเจรจาเอฟทีเอเป็นประโยชน์กับทั้งสองฝ่าย อย่างไรก็ตาม กระทรวงพาณิชย์ยืนยันที่จะเดินหน้าในการเจรจาการค้ากับประเทศต่างๆ ต่อไป เพราะนโยบายของ คสช.ชัดเจนให้มีการเดินหน้าต่อ 

@ ตลาดทุนชี้อียูบอยคอตไม่กระทบ 

       นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ในฐานะประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยกรณีอียูออกมาตรการงดเยือนประเทศไทยและระงับการลงนามระหว่างกันว่า จะสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการเจรจาสิทธิพิเศษอัตราภาษีศุลกากร (จีเอสพี) ระหว่างไทยกับอียู แต่ในด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุนและภาคเอกชนคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก นักลงทุนต่างประเทศหลายแห่งเข้าใจสถานการณ์ของไทยเป็นอย่างดี จากการหารือกับนักลงทุนทั้งยุโรปและสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เข้าใจสถานการณ์ และความจำเป็นในการยึดอำนาจของ คสช. 

     "ที่ผ่านมาไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าไปอียูไม่ถึง 10% อีกทั้งการส่งออกโดยรวมไปยังอียูยังดำเนินไปได้ตามปกติ มีเพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ ขณะที่ตลาดส่งออกหลักและตลาดศักยภาพใหม่ของไทยอีก 90% ยังไม่มีปัญหา" นายไพบูลย์กล่าว

@ หวั่นเจรจา"เอฟทีเอ"ลากยาว

      นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมการสถาบันกรรมการบริษัทไทย กล่าวว่า รู้สึกไม่ประหลาดใจที่สหภาพยุโรป หรือ อียู มีการคว่ำบาตรไทย เนื่องจากไม่พอใจที่ประเทศไทยเกิดการยึดอำนาจการปกครองขึ้น แต่ในประกาศไม่มีข้อความที่ระบุว่า จะตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับไทย มีเพียงการระงับการต้อนรับคณะของไทย และไม่ส่งคณะของสหภาพยุโรปมาเยือนประเทศไทย ซึ่งเป็นด้านความสัมพันธ์ทางการทูต อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป พร้อมจะทบทวนความสัมพันธ์อีกครั้งหากไทยมีการจัดการเลือกตั้งขึ้น แต่ยอมรับว่าอาจกระทบความต่อเนื่องในการเจรจาเขตการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ ระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปที่ต้องชะลอออกไป 

@ ซีพี ชี้เสียภาพลักษณ์ประเทศ 

      นายอาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า เชื่อว่ายังไม่มีผลกระทบต่อการค้าของเอกชนมากนัก กระทบบ้างในบางธุรกิจ แต่เชื่อว่าประเทศต่างๆ จะมีความเข้าใจสถานการณ์การเมืองไทยดีขึ้น เมื่อการปฏิรูปประเทศเดินหน้า โดยเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มดีขึ้น หลังจากที่การเมืองคลี่คลาย ทำให้การเดินหน้าบริหารประเทศ การจัดสรรงบประมาณเป็นไปตามปกติ และภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นมากขึ้นปีนี้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ (จีดีพี) อาจจะขยายตัวไม่มาก แต่จีดีพีในปี 2558 จะโตมากกว่าปีนี้

      นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าไทย กล่าวว่า หากไทยเสียโอกาส อียูก็เสียโอกาสเช่นกันเพราะอียูต้องการเปิดตลาดกับไทยอยู่แล้ว ส่วนตัวมองว่าเรื่องที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ถือเป็นเรื่องใหญ่กว่าการนับความสูญเสียเป็นจำนวนเงิน 

@ เผยเจรจาจีเอสพีสะดุด 

      นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานคณะกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า เป็นประเด็นการเมือง 100% แต่ในเชิงการค้าเห็นว่าจะยังค้าขายได้ตามปกติ ในด้านการเจรจาเปิดเสรีการค้าไทยกับอียู (เอฟทีเอไทย-อียู) ไม่น่าจะกระทบจากเหตุการณ์นี้และน่าจะเป็นการเสมอตัว เนื่องจากประการแรกการเจรจาไทย-อียู ได้หยุดชะงักลงแล้วหลังจากไม่มีรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา อีกประการคือผลกระทบต่อการตัดสิทธิพิเศษภาษีด้านศุลกากร (จีเอสพี) ของอียูต่อไทยที่จะสิ้นสุดปลายปีนี้ เดิมก่อนการเจรจาเอฟทีเอ ไทยร้องขอให้อียูเลื่อนการตัดสิทธิจีเอสพีไทยไปก่อน จนกว่าการเจรจาไทย-อียูจะบรรลุเพื่อได้มีการลดภาษี แต่อียูยังไม่ได้ตอบรับตามที่ไทยร้องขอ เท่ากับเป็นการเสมอตัวในเรื่องนี้และที่ผ่านมาขั้นตอนและสาระการเจรจายังไม่คืบหน้าในรายละเอียดเป็นเพียงวางกรอบเวลาและหัวข้อเจรจาซึ่งก็เหมือนกับการเจรจากับทุกประเทศ การเจรจาต้องผ่านหลายขั้นตอนและใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 1 ปี หรือ 1 ปีครึ่ง 

@ อ้างอียูไม่มีสิทธิแซงก์ชั่น 

     นายพรศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยส่งออกไปยังอียูประมาณ 10% จากมูลค่าการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นประมาณ 2-3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐต่อปี ส่วนตัวกลับมองว่าไม่ใช่อียูจะไม่เจรจากับไทยอีก แต่อียู 28 ประเทศ ให้ความสำคัญในเรื่องประชาธิปไตยที่ต้องชัดเจน และควรใช้โอกาสช่วงเวลานี้ จนกว่าจะมีการเลือกตั้งมีรัฐบาลใหม่ เตรียมความพร้อมและลงลึกในรายละเอียดว่าอะไรที่ต้องเจรจาและแก้ไขกฎระเบียบไว้เลย จึงอยากเสนอให้กระทรวงพาณิชย์ และ คสช.เพิ่มเรื่องนี้ในการจัดตั้งศูนย์เจรจาอาเซียนด้วย โดยน่าจะเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์ข้อตกลงและเจรจาระหว่างประเทศ เพื่อได้จัดเตรียมและผลักดันกรอบการเจรจาทุกกรอบไม่ใช่แค่อาเซียน 

   "อียูไม่มีสิทธิที่จะขัดขวางหรือแซงก์ชั่นการค้า หากมีการแซงก์ชั่นก็เป็นการทำขัดต่อระเบียบการค้าขององค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ไทยมีสิทธิฟ้องร้องเพราะไม่มีเหตุผล"นายพรศิลป์กล่าว 

@ ปธ.ตลาดทุนถกปลัดคลัง 

     ทางด้านกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสมาคมจัดการลงทุน เดินทางไปยังกระทรวงการคลังเพื่อหารือกับปลัดกระทรวงการคลัง และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทั้งนี้ นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า จะหารือ 3 เรื่อง ได้แก่ 1.การจัดโรดโชว์ต่างประเทศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างประเทศ โดยจะเชิญหน่วยงานภาครัฐ และผู้บริหารระดับสูงของบริษัทจดทะเบียนไทยไปด้วยเพื่อชี้แจงให้ทราบว่าการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการบริหารงานของประเทศไทยจะไม่กระทบต่อการทำธุรกิจ คาดว่าจะเริ่มโรดโชว์ได้ในเดือนกรกฎาคมนี้ ที่ฮ่องกง อังกฤษ สิงคโปร์ เป็นต้น 2.แผนพัฒนาตลาดทุนไทย โดยเฉพาะการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และ 3.ชี้แจงความสำคัญของกองทุนแอลทีเอฟและอาร์เอ็มเอฟ ซึ่งมีประโยชน์ต่อประเทศ ช่วยกระตุ้นการออมในระยะยาว

@ ตลาดหุ้นจีบ"บิ๊กตู่"โรดโชว์

      นายไพบูลย์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ตลาดหลักทรัพย์จะไปโรดโชว์ในต่างประเทศราวกลางเดือนกรกฎาคมนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนต่างชาติ โดยมีแผนจะเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นหัวหน้าคณะโรดโชว์ แต่หากไม่สามารถเดินทางไปโรดโชว์ได้จะขอให้ส่งตัวแทนในระดับรองหัวหน้า คสช.ที่มีอำนาจ เพื่อเรียกความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ อย่างไรก็ตาม ต้องรอให้ คสช.ประกาศโรดแมปเศรษฐกิจก่อนจึงจะกำหนดวันเดินทางที่แน่นอน ประเทศแรกๆ ที่จะเดินทางไปคือ สิงคโปร์ ฮ่องกง และหากมีเวลาเหลือจะไปทางยุโรปและสหรัฐอเมริกาต่อไป นอกจากนี้ ได้หารือกับ สศค.เรื่องการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาตลาดทุนไทยขึ้นมาใหม่ เพราะคณะที่มีอยู่เดิมทำงานไม่คืบหน้า อาจจะมีการปรับปรุงคณะทำงานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เป็นการเตรียมความพร้อมตลาดทุนไทยเข้าสู่การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) 

@ ขอขยายกองทุนแอลทีเอฟ

     นางวรวรรณ ธาราภูมิ นายกสมาคมบริษัทจัดการลงทุน กล่าวว่า ในการหารือกับ สศค. ได้มีการเสนอผลการศึกษาข้อมูลของกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) ที่จะหมดสิทธิประโยชน์ด้านภาษีในปี 2559 ให้ สศค.ช่วยพิจารณาว่าการลงทุนในแอลทีเอฟยังมีความสำคัญในการส่งเสริมการออมในระยะยาว ต้องการให้กระทรวงการคลังหารือกับสภาธุรกิจตลาดทุนเพื่อศึกษาข้อมูลให้รอบด้านก่อนตัดสินไม่ต่ออายุสิทธิประโยชน์กองทุนแอลทีเอฟ จากผลการศึกษาพบว่าคนที่มีรายได้น้อยและปานกลางได้ประโยชน์ทางด้านภาษีจากการลงทุนแอลทีเอฟ และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) มากกว่าผู้มีรายได้สูงหรือเสียภาษีจำนวนมาก ซึ่งคนที่มีรายได้น้อยและปานกลางจะช่วยลดภาษีได้สูงสุดถึง 50% ของภาษีที่เสียอยู่ ขณะที่คนที่มีรายได้สูงได้รับการลดภาระภาษีลงแค่ 0.01% ของภาษีที่เสียอยู่เท่านั้น

    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีบัญชีผู้ลงทุนในแอลทีเอฟ มีผู้เปิดบัญชีลงทุน 9.6 แสนบัญชี คิดเป็นมูลค่า 2.13 แสนล้าน บัญชีอาร์เอ็มเอฟมี 4.92 แสนบัญชี มูลค่า 1.36 ล้านบาท โดยมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี แม้ว่าในช่วงปีหลังจะมีการขยายเพิ่มในอัตราที่ชะลอลงก็ตาม

@ "สมคิด"ชี้อยู่บนทาง 2 แพร่ง

      วันเดียวกัน ที่โรงแรมพลาซ่า แอทธินี 

     นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช. และประธานกรรมการ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ "ภาคเอกชนกับอนาคตประเทศไทย" ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่บนทาง 2 แพร่ง คือ คล้ายกับประเทศฟิลิปปินส์ที่ไม่มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจัง ไม่แก้ไขการคอร์รัปชั่นยาวนานมาจนถึงทุกวันนี้เป็นเวลา 30 ปี หรือจะเหมือนประเทศอินโดนีเซียที่มีการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังจนกลายเป็นยักษ์ใหญ่ในภูมิภาคอาเซียนได้ จึงอยากให้ไทยเดินตามแพร่งที่สอง ทำอย่างไรจะนำไปสู่การปฏิรูปจริงจัง ที่ผ่านมาดีแต่พูดกัน พอบ้านเมืองสงบก็ลืม ดังนั้น ภาคเอกชนต้องเข้ามามีบทบาทร่วมกันคิดมากขึ้น ผลักดัน กำกับ เสนอแนะและขับเคลื่อนให้ประเทศปฏิรูปไปในทิศทางที่ถูกต้อง สร้างจิตสำนึกทางสังคมกระจายไปในบริษัท องค์กรส่วนใหญ่ในวงกว้าง ไม่เฉพาะให้เกิดอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น

      "จากวันนี้ เป็นต้นไป ภาคเอกชนต้องสร้างธรรมาภิบาล ออกไปดูแลสังคม เศรษฐกิจ และบ้านเมือง สิ่งสำคัญคือ ต้องปฏิรูปการเมือง เพราะในอดีตที่ผ่านมาการเมืองมันเลว การเมืองมันสกปรก ประเทศจึงเป็นแบบนี้ ถ้าเรื่องการปฏิรูปการเมืองไม่เกิดขึ้น วันนี้ เราไม่ใช้วิกฤตเป็นโอกาสให้ประเทศน่าอยู่ สมบูรณ์ และยั่งยืน หากปล่อยให้ช่วงเวลานี้ผ่านไปแล้ว ผมไม่แน่ใจว่าจะมีโอกาสแบบนี้เป็นครั้งที่สองหรือไม่" นายสมคิดกล่าว

@ ชี้ประเทศยืนอยู่ขอบเหว

      นายสมคิด กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจะเห็นอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ไม่สม่ำเสมอ โดยเติบโตได้จากแรงกระตุ้นบวกพื้นฐานที่ดีในอดีต ทำให้ไทยประคองตัวเองรอดมาได้ แต่ในความเป็นจริงแล้วเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มถดถอยทุกปี เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมไทยผุกร่อนอ่อนแอ หากไม่แก้ไขจะฉุดรั้งประเทศไทยให้ตกต่ำลงในอนาคต ประเทศไทยเหมือนยืนอยู่ขอบเหว หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจล่มสลายได้ แต่สุดท้ายไทยก็เดินมาถึงจุดของการเปลี่ยนแปลงเมื่อมี คสช.เข้ายึดอำนาจ ซึ่งยอมรับว่าหลายคนอาจมองเป็นเรื่องของความถูกหรือผิด แต่ประวัติศาสตร์จะเป็นตัวตัดสิน แต่สถานการณ์ในประเทศไทยทุกคนรู้อยู่แก่ใจรับรู้และสัมผัสได้ว่ามีแนวโน้มดีขึ้น ขณะที่ในสายตาต่างชาติอาจมีปัญหา โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วทางประชาธิปไตยจะมีปฏิกิริยาต่อไทยเพราะไม่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเช่นนี้ แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องขุ่นเคืองกัน เนื่องจากเป็นเรื่องของความเชื่อ มุมมอง และผลประโยชน์ ไม่มีใครเข้าใจถ่องแท้ว่าประเทศไทยมีปัญหาในขณะนั้นอย่างไร

    "ส่วนตัวคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดคือ ความมุ่งมั่น ความตั้งใจในการแก้ปัญหาบ้านเมือง ทำให้ประเทศดีขึ้น ให้ความตั้งใจ ความมุ่งมั่น และผลงานพูดแทนทุกสิ่งตามที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิรูปประเทศตอบแทนประเทศไทยต่อสายตาสังคมโลก เมื่อชาวนาได้รับเงินค่าจำนำข้าว งบประมาณประเทศถูกผลักดัน สิ่งที่ติดขัดในระบบราชการถูกขจัดและแก้ไข ทุกอย่างเป็นไปตามครรลอง ขั้นตอน และกรอบเวลา เชื่อว่าในไม่ช้าทุกอย่างจะกลับมาดีขึ้นแน่นอน"นายสมคิดกล่าว

@ "บิ๊กแจ๊ด"เผยบอร์ดท่าเรือไขก๊อก 

     พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) เปิดเผยว่า บอร์ด กทท.ได้ยื่นหนังสือลาออกทั้งคณะ ยกเว้นนายกฤษฎา อุทยานิน ผู้ตรวจราชการกระทรวงการคลัง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคมนี้ เดิมคิดจะลาออกตั้งแต่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นสปิริต เมื่อเปลี่ยนรัฐบาลบอร์ดชุดเก่าต้องลาออก แต่มีภารกิจงานหลายอย่างที่จะต้องดำเนินการจึงเพิ่งลาออก คาดว่าภายใน 1 เดือน จะมีการแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่มาแทน 

      แหล่งข่าวจากการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายนที่ผ่านมา นายบุญสม เลิศหิรัญวงศ์ ได้ยื่นหนังสือลาออกจากประธานบอร์ด ร.ฟ.ท. คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ กรรมการที่เหลือจะทยอยลาออกทั้งหมด เพื่อเปิดทางให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ที่กำกับดูแลงานด้านเศรษฐกิจ แต่งตั้งผู้เหมาะสมเข้ามาเป็นกรรมการแทน

@ "บิ๊กตู่"ประชุมคสช.ชุดใหญ่

      ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้ารักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เป็นประธานการประชุม คสช. ครั้งที่ 3/2557 โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายสังคมและจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ในฐานะรองหัวหน้า คสช.ฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว หัวหน้าฝ่ายกิจการพิเศษ และ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช.เข้าร่วม

      ทั้งนี้ วาระการประชุมจะมีการพิจารณา เรื่องเพื่อทราบ 2 เรื่อง คือ รายงานความก้าวหน้าเกี่ยวกับการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว และรายงานการชดใช้คืนเงินทดรองราชการตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557 ขณะที่เรื่องเพื่อพิจารณาจำนวน 17 เรื่อง อาทิ โครงการประกันภัยข้าวนาปี ปีการผลิต 2557, การให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูการผลิตปี 2556/2557, การขออนุมัติจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 งบกลาง โครงการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อควบคุมและลดความสูญเสียของสินค้ากุ้งทะเลจากกลุ่มอาการตายด่วน, การขออนุมัติเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 แห่ง

@ เคาะสร้าง 396 โรงพัก 6.6 พันล.

      ต่อมา พ.อ.วินธัย สุวารี ทีมโฆษก คสช. แถลงที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีการยื่นขออนุมัติเปลี่ยนแปลงการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 แห่ง ซึ่งการขออนุมัติทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เปลี่ยนแปลงรายการและเพิ่มวงเงิน ภายในวงเงิน 6,672 ล้านบาท โดยผูกพันงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552-2557 ซึ่งเปลี่ยนเป็นการดำเนินโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนจำนวน 396 โครงการ ในวงเงิน 8,357 ล้านบาท ซึ่งสำหรับโครงการนี้ เงินที่ได้รับนั้นรวมเงินที่ได้จากการใช้จ่ายไปแล้ว จำนวน 1,500 ล้านบาท ซึ่งเป็นการดำเนินการตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงโครงการ ทั้งนี้ ในโครงการใหม่นี้จะใช้งบประมาณตั้งแต่ปี 2552-2557 ซึ่งสะสมมาได้จำนวน 2,459 ล้านบาท จากเงินจำนวนนี้สามารถดำเนินการอนุมัติก่อสร้างอาคารที่จำเป็นไปก่อนเป็นจำนวน 181 แห่ง ส่วนต่อไปอีก 215 แห่งนั้นจะเป็นวงเงินกว่า 4,000 ล้านบาท คงต้องของบประมาณปี 2558 ต่อไป ซึ่งในที่ประชุมได้มีการอนุมัติแล้ว สำหรับเรื่องคดีความที่มีการฟ้องร้องในกรณีการสร้างโรงพักที่ผ่านมาในอดีตนั้น พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ทาง สตช.ได้ชี้แจงในที่ประชุมแล้วว่าเป็นคนละส่วนกัน คดีความที่อยู่กับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยังคงมีการดำเนินการต่อไป

@ เล็งฟ้องค่าเสียหายทางแพ่ง 

      เมื่อถามถึงกรณีของโครงการสร้างโรงพัก 396 แห่ง พ.อ.วินธัยกล่าวว่า ในขณะนี้ที่ได้ใช้จ่ายเงินในการก่อสร้างไปแล้วในอดีตกว่า 1,500 ล้านบาทนั้น ปริมาณงานที่ได้รับยังถือว่าภาครัฐได้ประโยชน์อยู่ การทำสัญญาจัดซื้อจัดจ้างจะจ่ายให้เมื่องานเสร็จสิ้น จึงมีความรัดกุมของสัญญาอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ส่วนการเพิ่มงบประมาณในโครงการใหม่นี้กว่า 1,000 ล้านนั้น การเพิ่มวงเงินอยู่ที่ราคาค่าแรงค่าวัสดุที่มีหลักเกณฑ์การคำนวณที่เป็นไปตามมาตรฐาน และบางอย่างอาจจะยังไม่ถูกประเมินอยู่ในโครงการเดิม เช่น ระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ไม่ได้คิดเข้าไปด้วย และอาจมีการประเมินเพิ่มเป็นโครงการย่อยอีก 

     "พล.อ.ประยุทธ์ กำชับมาว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจควรจะต้องมีสถานที่ปฏิบัติงาน และเป็นหน้าตาของหน่วยงานความมั่นคงอีกด้วย และทาง พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) ได้กล่าวว่า ภายหลังโครงการเสร็จสิ้นจะมีการประเมินเพื่ออาจจะเรียกค่าเสียหายในทางแพ่ง เช่น เจ้าหน้าที่ไม่มีสถานที่ทำงานอยู่นาน เป็นต้น"พ.อ.วินธัยกล่าว