วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2557 ปีที่ 24 ฉบับที่ 8608 ข่าวสดรายวัน


เชียร์บิ๊กตู่ โพล-ให้นั่งนายกฯ 
1 เดือนสอบผ่านได้ 8.8 สื่อนอกชี้ปมค้ามนุษย์ ส่งผลต่อเงินช่วยไทย บิ๊กจินลั่นชัดเจนมิย.นี้ ปฏิรูป'น้ำมัน-แอลพีจี'
      โพลให้คะแนนผลงาน คสช. รอบ 1 เดือน 8.8 เต็ม 10ประทับใจใช้อำนาจเด็ดขาดจ่ายเงินจำนำข้าว เชียร์ 'ประยุทธ์' นั่งเป็นนายกฯ เอง หอการค้าไทยนัดถก 8 สมาคม รับมือผล กระทบหลังสหรัฐลดระดับ 'ค้ามนุษย์'ซีเอ็นเอ็นหวั่นกระทบเงินช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟ-เวิลด์แบงก์ ก.แรงงานถกบริษัทจัดหาแรงงานต่างด้าว เล็งปรับลดค่าหัว ขู่ถอนใบอนุญาตเอกชนทำผิดกฎหมาย เจ้าหน้าที่รัฐรับสินบนโดนทั้งวินัย-อาญา 'บิ๊กจิน'เร่งปฏิรูปพลังงาน ปรับโครงสร้างน้ำมัน-แอลพีจีชัดเจนมิ.ย.นี้ 

เล็งปรับลดค่าหัวแรงงาน
    เวลา 14.00 น. วันที่ 22 มิ.ย. ที่ห้องประชุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม กระทรวงแรงงาน นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ ปลัดแรงงาน เป็นประธานการประชุมผู้รับอนุญาตจัดหางานในประเทศ กรณีนำเข้า จัดหาแรงงานต่างด้าว เข้ามาทำงานประเทศไทย มีผู้รับอนุญาตจัดหางานกว่า 200 บริษัท เข้าประชุม 
     นายจีรศักดิ์กล่าวก่อนการประชุมว่า กรมการจัดหางานได้เชิญผู้ประกอบการเกี่ยวกับการนำเข้าแรงงานต่างด้าวมาร่วมประชุม เพื่อซักซ้อมแนวทางปฏิบัติที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีนโยบายเรื่องการรณรงค์ต่อต้านการค้ามนุษย์ในส่วนของแรงงานเด็ก และแรงงานบังคับ โดยจะเป็นการแจ้งเตือนบริษัทจัดหางานที่นำคนต่างด้าวเข้ามาทำงานได้รู้ว่าต้องดำเนินการในขั้นตอนต่อไปให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส เพื่อทำงานได้อย่างถูกต้อง รวมถึงหลุดพ้นจากข้อกล่าวหาว่าเป็นการซ้ำเติมแรงงานต่างด้าวที่มีฐานะยากจนอยู่แล้ว หนีร้อนมาพึ่งเย็น

นายจีรศักดิ์กล่าวว่า วัตถุประสงค์แรกของการประชุมครั้งนี้ คือ การปรับลดอัตราค่าบริการหรือการเรียกเก็บจากแรงงานต่างด้าว ให้อยู่ในหลักของความเป็นธรรมและความเสมอภาค ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติไหนก็ต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งจะมอบหมายให้กรมการจัดหางานพิจารณา และเมื่อประชุมแล้วเสร็จจะเดินหน้าทันที

เข้มบริษัท-จนท.รัฐ 
      นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า ทุกวันนี้ประเทศไทยถูกกล่าวหาว่าเอารัดเอาเปรียบและมีการค้ามนุษย์ บริษัทจัดหางานเหล่านี้มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือกระทรวงแรงงาน กรมการจัดหางาน เพื่อจะทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องในอดีตให้ถูกต้องมากที่สุดในอนาคต ส่วนข้อกล่าวหาที่มีเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น ช่วงเช้าได้เรียกประชุมเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว กำชับพร้อมคาดโทษ หากพบผู้ใดมีพฤติกรรมข้องแวะกับสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ต้องถูกลงโทษสถานหนัก ขณะที่บริษัทจัดหางานต้องไม่ติดสินบน หรือหากถูกเจ้าหน้าที่เรียกร้องก็ให้มาร้องเรียนที่ตน และปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมการจัดหางานได้โดยตรง ยืนยันว่าจะดำเนินการอย่างเฉียบขาด 
     เมื่อถามถึงสถานการณ์ล่าสุดของแรงงานต่างด้าวที่กลับถิ่นฐาน นายจีรศักดิ์กล่าวว่า ได้รับรายงานว่าเริ่มทยอยกลับเข้ามาในไทยบ้างแล้ว พวกที่กลับเข้ามาส่วนใหญ่เป็นพวกที่ถือพาสปอร์ต เดินทางเข้าออกได้ตลอด ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลขจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) อย่างไรก็ตาม จากมาตรการจัดระเบียบบริษัทจัดหางานเชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้แรงงานกัมพูชาและชาติอื่นๆ ได้ เพราะเป็นข้อสั่งการของรัฐ ถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หากใครไม่ปฏิบัติตามจะถูกพักใช้หรือเพิกถอนสิทธิในการเป็นบริษัทจัดหางาน 

รัฐ-เอกชนร่วมกันรับผิดชอบ 
      เมื่อถามว่า การที่สหรัฐอเมริกาลดอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยไปอยู่ในอันดับที่ 3 (เทียร์3) ที่เป็นอันดับต่ำที่สุด จะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทยอย่างไรบ้าง นายจีรศักดิ์กล่าวว่า เท่าที่ทราบขณะนี้สหรัฐยังไม่ประกาศการดำเนินมาตรการกับ 23 ประเทศ ไทยไม่ใช่ประเทศเดียว แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ที่ถูกกล่าวหาว่าดำเนินการไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของสหรัฐ เราก็พยายามทำเต็มที่แล้ว คงจะไปเห็นด้วยกับการจัดอันดับดังกล่าวไม่ได้เพราะตลอดทั้งปีที่ผ่านมากระทรวงแรงงาน กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำงานอย่างเต็มที่เหน็ดเหนื่อยร่วมกันมาตลอด แต่ในเมื่อมาตรฐานของสหรัฐสูง เราก็ต้องพยายามไต่ให้เท่ามาตรฐานเขาให้ได้ 
    จากนั้นเวลา 14.10 น. ปลัดแรงงานกล่าวในที่ประชุมว่า การที่ไทยถูกจัดอันดับสถานการณ์ค้ามนุษย์ในบัญชีที่ 3 ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดนั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่แรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในไทย ถูกเอารัดเอาเปรียบในลักษณะแรงงานบังคับ เราได้รับการพูดถึงไปในทางที่ไม่ดีทำให้เป็นข้อร้องเรียนออกไปสู่ต่างประเทศ บางทีเรื่องเล็กๆ เรื่องเดียวก็เป็นสาเหตุให้เขาหยิบมากล่าวอ้างได้ จึงถือเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชน 

เอาผิดทั้งวินัย-อาญา 
     นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ปัจจุบันไทยถูกกล่าวหาในเวทีโลก 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ 1.กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐกล่าวหาว่าไทยเป็นประเทศการค้ามนุษย์ 2.การถูกปรับลดอันดับเป็นผลเสียหายต่อประเทศ และ3.กระทรวงแรงงานสหรัฐประกาศว่าไทยมีสินค้า 5 ชนิด ที่ใช้แรงงานบังคับ และแรงงานเด็กในการผลิต ได้แก่ น้ำตาล ปลา อาหารทะเล สิ่งทอและสื่อลามก เราจะร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ดีขึ้นบ้างได้หรือไม่ 
     นายสุเมธ มโหสถ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ปฏิบัติหน้าที่อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า หากมีหลักฐานว่าเจ้าหน้าที่ที่ถูกร้องเรียนมีการกระทำผิดจริงจะถูกดำเนินการอย่างเด็ดขาด ทั้งวินัยและอาญาอย่างแน่นอน ตนหวังว่าแรงงานต่างด้าวจะได้รับการปฏิบัติอย่างเป็นธรรม อย่างน้อยก็เท่าเทียมกับแรงงานไทยที่ไปทำงานในต่างประเทศ หลายประเทศเห็นความสำคัญของแรงงานในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไทยก็ควรคำนึงแบบนั้นว่าแรงงานต่างด้าวเหล่านี้มีส่วนในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมของประเทศ 
     นายสุเมธ กล่าวว่า ในส่วนของกรมการจัดหางาน จากนี้จะไม่มีการเรียกเก็บในสิ่งที่นอกเหนือกฎหมายกำหนดไว้ ค่าธรรมเนียมยังต้องชำระตามกฎหมาย แต่ผลประโยชน์อื่นใดจะไม่มีเด็ดขาด ถ้ามีการเรียกรับผลประโยชน์ต้องแจ้งมายังกรมการจัดหางาน และผู้ประกอบการต้องไม่สมยอม เพื่อความโปร่งใส ซึ่งเรายืนยันจะปรับกระบวนการทำงานใหม่

กระทบความช่วยเหลือต่างชาติ
      วันเดียวกัน ซีเอ็นเอ็นรายงานความคืบหน้ากรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐปรับลดระดับไทยในการแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ลงไปอยู่ระดับต่ำสุด ว่าการปรับลดระดับดังกล่าวอาจทำให้ไทยไม่ได้รับความช่วยเหลือในส่วนอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยธรรมจากสหรัฐ รวมถึงไม่ได้รับสิทธิที่จะได้รับเงินช่วยเหลือจากธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) อย่างไรก็ตาม กลุ่มพันมิตรเพื่อยุติทาสและการค้ามนุษย์เชื่อว่าสหรัฐคงไม่ตัดความช่วยเหลือกับไทยในลักษณะดังกล่าว เพื่อรักษาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างสองประเทศ
      ด้านนายวิชาวัฒน์ อิศรภักดี เอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐ ให้สัมภาษณ์ซีเอ็นเอ็นว่า ไทยไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องนี้เพียงเพราะกลัว ผลกระทบด้านการค้ากับสหรัฐ แต่เรื่องนี้ต้องถูกกำจัดทั้งในไทยและต่างประเทศ นอกจากนี้ในปี 2556 มีการลงโทษผู้ต้องสงสัยเกี่ยวกับการค้ามนุษย์กว่า 225 คดี และมีการจัดการกับนายหน้าจัดหาแรงงานกว่า 150 ราย ในคดีคอร์รัปชั่น แรงงานทาส การค้ามนุษย์ และลักลอบขนสินค้า ตำรวจสืบสวนตรวจค้นสถานที่ค้าประเวณีและค้าแรงงานกว่า 28,000 ครั้ง และเชื่อว่าไทยทำได้ดีแล้วแต่ยังต้องมีพัฒนาการมากขึ้น 

การบังคับใช้กม.อ่อนแอ 
     นายลุยส์ ซีเดบากา เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐด้านการเฝ้าระวังและรับมือกับการค้ามนุษย์ กล่าวว่า กลไกด้านการบังคับใช้กฎหมายของไทยอ่อนแอ ถึงแม้จะมีมาตรการที่เชื่อว่าจัดการกับการค้ามนุษย์ได้ แต่รายงานของสหรัฐไม่ได้ดูที่ข้อผูกมัดที่ไทยสัญญาว่าจะทำ แต่ดูที่ผลลัพธ์ที่ไทยทำได้มากกว่า ในอนาคตจึงหวังว่าจะเห็นผลลัพธ์จากกรณีที่มีการจับกุมเกิดขึ้น
     "เราเห็นตัวเลขการถูกจับมีเยอะมากจากตำรวจ แต่เมื่อคดีถึงศาลแล้วไม่มีความชัดเจนต่อมา นอกจากนี้ยังระบุว่ากังวลเกี่ยวกับชาวโรฮิงยา ผู้ลี้ภัยจากพม่า ซึ่งอาจตกเป็นเหยื่อการค้าประเวณีและค้าทาส และอยากให้รัฐบาลไทยจัดการสืบสวนแก้ปัญหาอย่างจริงจัง"ทูตสหรัฐกล่าว

หอการค้าถก 8 สมาคม 
      นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่าวันที่ 23 มิ.ย. สภาหอการค้าไทยจะหารือร่วมกับ 8 สมาคมที่เกี่ยวข้อง อาทิ สมาคมอุตสาหกรรมทูน่าไทย สมาคมการประมงนอกน่านน้ำไทย สมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย สมาคม ผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เพื่อเตรียมรับมือกรณีกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐลดระดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยอยู่ในเทียร์ 3 ซึ่งเป็นระดับจับตาสูงสุด 
      นายพรศิลป์ กล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าสหรัฐจะคงระดับแรงงานของไทยไป 1 ปี ถึงมี.ค.ปีหน้า เพราะจะไม่มีการทบทวนอีกครั้ง สิ่งที่ภาคเอกชนสามารถทำได้คือเตรียมรับมือ เพราะเป็นห่วงคำประกาศของสหรัฐอาจกระทบกับสินค้าอุตสาหกรรมและสินค้าเกษตรไทย ภาคเอกชนต้องเร่งชี้แจงให้กับประเทศคู่ค้าเข้าใจเพราะขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนจะกระทบกับสินค้าประเภทใดบ้าง ส่วนตัวเห็นว่าหลักเกณฑ์การประเมินของไทยและสหรัฐอาจไม่ตรงกัน เพราะช่วงปีที่ผ่านมาไทยได้ให้ความสำคัญแก้ปัญหาแรงงานและการค้ามนุษย์มาโดยตลอด เมื่อไม่สามารถแก้คำประกาศได้ไทยก็ต้องเร่งแก้ไขปัญหาแรงงานเพื่อให้ปีหน้าระดับแรงงาน ของไทยจะปรับดีขึ้น อย่างน้อยในระดับเทียร์ 2 เท่าเดิม 
     ด้านนายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เป็นห่วง 3 อุตสาหกรรมที่อาจได้รับผลกระทบ ได้แก่ อุตสาหกรรมประมง อุตสาหกรรมอาหารแช่แข็งและอุตสาหกรรมกุ้ง ซึ่งภาครัฐและเอกชน ต้องเร่งระดมความคิดเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และเชื่อว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.จะมีแนวทางแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้ 

ทัพเรือไม่ถอนฟ้องนักข่าว 
      กรณีสหรัฐมีข้อเสนอแนะต่อปัญหาการค้ามนุษย์ในไทย โดย 1 ในนั้นคือให้ถอนฟ้องนักข่าว และให้นักวิชาการเสนอความเห็นได้อย่างเสรีนั้น รายงานข่าวจากกองทัพเรือ (ทร.) เผยถึงการยื่นฟ้องนักข่าวสำนักข่าวออนไลน์ "ภูเก็ตหวาน" ที่โพสต์ข่าวปัญหาค้ามนุษย์ในภาคใต้โดยอ้างอิงแหล่งข้อมูลมาจากรอยเตอร์ พาดพิงเจ้าหน้าที่กองทัพเรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงยา ว่า ทร. ยื่นฟ้อง 2 ประเด็น คือหมิ่นประมาท และ ผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งศาลประทับรับฟ้องแล้วก็ต้องให้เป็นไปตามกระบวนการยุติรรม เมื่อขั้นตอนอยู่ในชั้นศาลคงไม่สามารถล่วงละเมิดหรือวิพากษ์วิจารณ์ คงต้องให้เป็นไปตามกระบวนการ

ปชป.ยันทุกรัฐบาลเอาจริงเอาจัง 
     นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต อดีตเลขาธิการรมว.ต่างประเทศ กล่าวกรณีสหรัฐรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทยปี 2014 และปรับลดมาอยู่ในอันดับเทียร์ 3 ต่ำที่สุดว่า ในฐานะที่เคยทำงานกระทรวงการต่างประเทศ ยืนยันทุกรัฐบาลเอาจริงเอาจังในเรื่องเรื่องการปราบปราม แต่ปัญหาสำคัญคือประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำกับเพื่อนบ้าน ทำให้มีการอพยพเข้ามาทำงานในประเทศไทยจำนวนมาก และยังใช้วัตถุดิบรวมถึงผลผลิตต้นน้ำจากเพื่อนบ้าน ซึ่งบางครั้งมีปัญหาเรื่องของกฎหมายและการใช้แรงงานทาส เรื่องดังกล่าวเชื่อว่าไทยไม่มีเจตนาจะทำให้เกิดความสูญเสียหรือทำอะไรที่ผิดหลักการ แต่เรื่องของการบริหารจัดการของภาคอุตสาหกรรมและปัญหาการทุจริตของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอาจมีอยู่บ้าง 
      นายชวนนท์ กล่าวว่า เชื่อว่าหาก คสช.ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จตั้งแต่ประเทศที่มาของแรงงาน ควบคุมวงจรการผลิตอย่างครบถ้วน ปราบปรามกลุ่มที่หาผลประโยชน์ เชื่อว่าจะแก้ไขปัญหาได้ อยากให้ทุกฝ่ายทำเรื่องนี้ให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการแก้ปัญหาก่อนที่ไทยจะเปิดประเทศเข้าสู่ประชาคมอาเซียน น่าจะมีการเชิญหน่วยงานด้านแรงงานและสิทธิมนุษยชนลงพื้นที่เพื่อให้เห็นสภาพความเป็นจริง โดยไม่ยึดถือข่าวด้านลบอย่างเดียวก็จะสามารถแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง 

อิสสระโยนความผิดรัฐบาลปู 
      นายอิสสระ สมชัย อดีตรมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าปัญหาเรื่องนี้ยังมีอยู่จริงและมีอยู่ในเกือบทุกประเทศ ในไทยมีแต่อยู่ในสถานะที่น้อยลงกว่าอดีต การที่สหรัฐลดระดับหากเปรียบก็คือการปล่อยปละละเลยโดยไม่แก้ไข ซึ่งขัดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เพราะที่ผ่านมาเกือบทุกรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ การให้ไทยอยู่ในอันดับ 3 ถือเป็นการประกาศที่รุนแรงเกินไป ทั้งที่ตามเนื้องานควรจะอยู่ในอันดับเดิมที่เทียร์ 2 หรือเฝ้าจับตาดู เพราะเราก็ยังคงปราบปรามและป้องกัน ไม่ได้นิ่งดูดาย จนมีบางฝ่ายระบุว่าเป็นการดิสเครดิตในช่วงที่ คสช.เข้ามาบริหารประเทศหรือไม่ 
      นายอิสสระ กล่าวว่า การทำรายงานนี้ทางการสหรัฐจะดูข้อมูลทุกปีและประกาศเป็นประจำรายปี ดังนั้นการประกาศว่าไทยบกพร่องในเรื่องนี้จนถูกลดระดับลงมาที่เทียร์ 3 จึงถือว่าเป็นผลงานของรัฐบาลที่แล้วที่ไม่เร่งดำเนินการแก้ไขให้เห็นเป็นรูปธรรม ไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับคสช. ดังนั้นขอแนะนำให้ คสช.เร่งปรับปรุงแก้ไขปัญหา 
      นายประพร เอกอุรุ นายกสมาคมประมง จ.สงขลา กล่าวว่า ประมงไทยจะได้รับ ผลกระทบโดยตรง แรงงานในเรือประมงไทยเป็นแรงงานต่างด้าวร้อยละ 95 จะไม่กล้า เข้ามาทำงานกับเรือประมงไทย ส่งผลให้ขาดแคลนแรงงาน คาดว่าเรือประมงร้อยละ 60 จะหยุดทำการประมงเนื่องจากไม่มีแรงงาน สมาคมจะประชุมเจ้าของเรือประมงที่เป็นสมาชิกประมาณ 800 ลำ มีลูกเรือประมาณ 17,000 คน ให้รับทราบว่าสหรัฐตั้งข้อกล่าวหาว่ามีการค้ามนุษย์และทรมานแรงงาน และขอความร่วมมือช่วยสอดส่องการค้ามนุษย์ในเรือประมงด้วย ทั้งนี้ หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตอาจมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง 

คชก.อนุมัติงบช่วยเกษตรกร
      ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. เผยว่า เมื่อวันที่ 21 มิ.ย.ที่ผ่านมา ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ปฏิบัติหน้าที่ประธานคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) เป็นประธานการประชุม คชก.ครั้งที่ 1/2557 (ครั้งที่ 236) ที่ประชุมเห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2557 โดยการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิตและการส่งเสริมการแปรรูป โดยอนุมัติวงเงิน 50.927 ล้านบาท แยกเป็นเงินทุนหมุนเวียน 2.8 ล้านบาท และเงินจ่ายขาดวงเงิน 48.127 ล้านบาท ดังนี้ 
      1.มาตรการกระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต เป้าหมายผลผลิต 27,870 ตัน วงเงิน 46.29 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) กระจายผลผลิตออกนอกแหล่งผลิต วงเงิน 39.75 ล้านบาท เป้าหมายผลผลิต 15,900 ตัน โดยสนับสนุนเงินชดเชยค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการผลผลิต ในอัตรากิโลกรัมละ 2.50 บาท (2) เสริมสภาพคล่องในการซื้อขายผลไม้ วงเงิน 6.54 ล้านบาท เป้าหมายผลผลิต 11,970 ตัน โดยสนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี ที่กู้ยืมเงินจาก ธ.ก.ส.วงเงินกู้รวมไม่เกิน 218 ล้านบาท ทั้งนี้ การช่วยเหลือค่าขนส่งและค่าบริหารจัดการผลผลิตข้างต้น ให้คณะกรรมการเพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรอันเนื่องมาจากผลิตผลการเกษตรระดับจังหวัด กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีปฏิบัติการกำกับดูแล และระดับราคาผลไม้ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเช่นเดียวกับปีก่อน โดยให้ประโยชน์ตกถึงเกษตรกรและได้รับราคาจำหน่ายผลผลิตที่เป็นธรรมสอดคล้องกับต้นทุนการผลิตและให้มีผู้แทนเกษตรกร ร่วมพิจารณาด้วย
      2. มาตรการส่งเสริมการแปรรูป เป้าหมายผลผลิต 850 ตัน วงเงินรวม 3.25 ล้านบาท ประกอบด้วย (1) ส่งเสริมการแปรรูปมังคุดและเงาะเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม (จ.ตราด) เป้าหมาย 500 ตัน วงเงิน 0.45 ล้านบาท โดยสนับสนุนเงินชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 3 ต่อปี วงเงินกู้ไม่เกิน 15 ล้านบาท. (2) การจัดหาวัตถุดิบในการแปรรูป (จ.จันทบุรี) เป้าหมาย 350 ตัน สนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนปลอดดอกเบี้ย 2.8 ล้านบาท 

ยกเว้นเบี้ยปรับผิดนัดชำระ 
     ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ยกเว้นเบี้ยปรับจากการผิดนัดชำระหนี้ ตามกรอบแนวทางการติดตามการชำระหนี้กองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร ให้แก่กลุ่มเกษตรกรจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นลูกหนี้โครงการสนับสนุนการจัดซื้อเตาอบและเงินทุนหมุนเวียนรับซื้อลิ้นจี่เพื่อแปรรูป ปี 2540 จำนวน 26,631.53 บาท จำนวน 11 กลุ่ม ที่ได้ชำระเงินต้นและค่าเบี้ยปรับรวมกันแล้วเกินกว่าเงินต้นที่กู้ยืม โดยให้นำค่าเบี้ยปรับที่กลุ่มเกษตรกรชำระแล้วมาชำระเป็นเงินต้นที่คงค้าง จำนวน 107,691.08 บาท เพื่อปรับลดภาระหนี้และตัดออกจากบัญชีลูกหนี้คงค้างของกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับค่าเบี้ยปรับที่ชำระไว้เกินกว่าเงินต้นจำนวน 63,059.12 บาท ให้ยกเป็นรายได้ของกองทุนรวมฯ 
      ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การยกเว้นเบี้ยปรับดังกล่าวให้ครอบคลุมถึงกลุ่มเกษตรกรลูกหนี้กลุ่มอื่นที่กรมส่งเสริมการเกษตรได้ติดตามเร่งรัดการชำระหนี้ และได้ดำเนินการตามเงื่อนไข โดยให้เร่งรัดตรวจสอบกลุ่มเกษตรกรลูกหนี้โครงการที่เหลือและใช้กรอบแนวทางเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถปิดบัญชีโครงการได้โดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้อนุมัติให้ขยายระยะเวลาโครงการเงินกู้เพื่อจัดหาปัจจัยการผลิตในการทำนา ฤดูการผลิตปี 2547/48 จากเดิมสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2554 เป็นสิ้นสุดเดือนธันวาคม 2557 เพื่อให้กรมการปกครองเร่งรัดติดตามการชำระหนี้คงค้างและนำเงินส่งคืนกองทุนรวมเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อปิดบัญชีโครงการต่อไป
      ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. กล่าวต่อที่ประชุมว่า มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรโดย คสช.มีหลักการที่ชัดเจน มุ่งลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เพื่อลดรายจ่ายและเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการควบคุมการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบายอย่างเคร่งครัด อาทิ การควบคุมราคาและคุณภาพของปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย การดำเนินมาตรการและกลไกที่มีอยู่เพื่อดูแลในเรื่องค่าเช่าที่นา เป็นต้น รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจยังกำชับให้หัวหน้าส่วนราชการลงไปกำกับดูแลการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่อย่างใกล้ชิด เพื่อให้การช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

'ประจิน'ถกปฏิรูปพลังงานยก 2 
      เวลา 08.30 น. ที่ห้องประชุมกองทัพอากาศ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศหารือร่วมกันอีกเป็นครั้งที่ 2 หลังครั้งแรกไม่มีข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูปพลังงาน โดยต้องนัดหารือร่วมเพื่อให้ได้ข้อสรุปก่อนจัดทำแผนปฏิรูปพลังงานไทยให้สอดคล้องกับแผนปฏิรูปประเทศภายในเดือนมิ.ย.นี้ หน่วยงานที่เข้าร่วมประชุม อาทิ กระทรวงพลังงาน บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน 
      เวลา 10.30 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตส.ว.กทม. แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน กล่าวหลังเข้าเสนอแนะ ว่า กลุ่มเสนอให้ปฏิรูปพลังงานโดยชะลอการสัมปทานรอบ 21 ออกไปก่อน เพราะจากการศึกษาพบควรมีการแก้ไขกฎหมายระบบสัมปทานปิโตรเลียมให้เป็นระบบใหม่ที่ไม่ใช่ระบบสัมปทาน โดยใช้ระบบอื่นที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนมากกว่าแทน เช่น ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ การรับจ้างผลิต การให้เอกชนสัมปทานในขณะนี้เอกชนได้รับประโยชน์มากกว่าแต่จ่ายค่าเช่าในอัตราตายตัว และมีการนำพลังงานไปส่งออกต่างประเทศส่งผลให้ประชาชนต้องจ่ายค่าพลังงานโดยอ้างอิงราคาตามตลาดโลก รวมทั้งเสนอให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นมา โดยรัฐถือหุ้น 100% เพื่อบริหารจัดการพลังงานแทนปตท. ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติมากกว่า การแก้ปัญหาพลังงานต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ ที่ผ่านมาการลงทุนภาคเอกชนในระบบสัมปทานเอกชนจะได้กำไรสูงถึง 97% ของเงินลงทุน การที่ให้เอกชนสัมปทานเท่ากับให้กรรมสิทธิ์ โดยไม่รู้เลยว่าปริมาณสำรองพลังงานเหลือเท่าไร

เสนอเลิกสัมปทานพลังงาน
      ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากรพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ได้เสนอให้ทบทวนกฎหมายการสัมปทานแหล่งพลังงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันมากขึ้น โดยใช้วิธีการเดียวกับประเทศอื่นๆ ในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่ใช้ระบบการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างเป็นธรรม เช่น เอกชนขุดน้ำมันขึ้นมาได้เท่าไรก็จัดสรรน้ำมันให้ภาครัฐด้วย ไม่ควรให้มีการเปิดให้สัมปทานต่ออีก รวมทั้งเสนอให้ยกเลิกค่าพรีเมียมน้ำมัน เพราะทำให้ประชาชนใช้น้ำมันในราคาแพง ทั้งๆ ที่น้ำมันผลิตในไทย หากอ้างอิงราคาจากสิงคโปร์ยอมรับได้ แต่ไม่ควรบวกค่าพรีเมียมเข้าอีกโดยค่าพรีเมียมที่ต้องจ่ายไปต่อลิตรสูงถึง 70 สตางค์ต่อลิตร 
      ม.ล.กรกสิวัฒน์ กล่าวว่า ในส่วนของ ก๊าซหุงต้ม ให้เปลี่ยนมติคณะกรรมการให้ประชาชนมีโอกาสใช้ก๊าซก่อนเป็นกลุ่มแรก ที่เหลือค่อยให้เอกชนใช้ ซึ่งต่างจากปัจจุบันที่มีมติให้ภาคอุตสาหกรรมมีสิทธิ์เข้ามาใช้ก๊าซได้พร้อมกัน ทำให้เกิดปัญหาก๊าซไม่เพียงพอ จนต้องนำเข้าก๊าซมาใช้ในภาคครัวเรือน กลายเป็นภาระของกองทุนน้ำมัน ถึง 90% ดังนั้นหากปรับได้ก็จะลดภาระการชดเชยได้ไปมาก 

ติงอี 85 ในไทยขายแพง 
     นายบุญยืน ศิริธรรม ประธานสมาพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า ต้องการความชัดเจนและเป็นธรรมใน 3 เรื่องคือเรื่องสัมปทานท่อก๊าซที่ต้องแยกระหว่างท่อที่อยู่ใต้ทะเลกับใต้ดินให้ชัดเจน รวมถึงเรื่องน้ำมันอี 85 ทำไมราคาในประเทศไทยจึงสูงกว่าต่างประเทศ ในไทยขายสูงถึง 27 บาทต่อลิตร สูงกว่าราคาส่งออกไปฟิลิปปินส์ และแพงกว่าราคาในสหรัฐและบราซิลที่ขายเพียง 15 บาทต่อลิตร และต้องการให้มีการบริหารจัดการเงินกองทุนน้ำมันให้ชัดเจน 
    นายมนูญ ศิริวรรณ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า เสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปด้านพลังงาน การสัมปทาน การต่ออายุสัมปทาน ควรเลือกวิธีการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมากที่สุด อาจเป็นวิธีการสัมปทานหรือวิธีการแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันก็ได้ แต่ทั้งสองวิธีต้องกำหนดเงื่อนไขในการใช้ประโยชน์ร่วมกันและให้รีบตัดสินใจ ส่วนการยกเลิกกองทุนน้ำมันที่บางกลุ่มเสนอนั้นไม่ควรยกเลิกเพราะยังมีประโยชน์อยู่แต่ให้ปรับเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ให้เป็นประโยชน์ที่สุด หรือหาก จะยกเลิกก็ควรค่อยๆ ปรับ
      นายมนูญ กล่าวว่า ส่วนการเสนอให้จัดตั้งบรรษัทขึ้นมาเพื่อบริหารจัดการด้านพลังงานของไทยก็มองว่าไม่จำเป็น เพราะจะซ้ำซ้อน กับปตท. และไม่แน่ใจว่าเมื่อจัดตั้งขึ้นมาแล้วจะมีประโยชน์หรือไม่ และยิ่งเสนอให้รัฐ ถือหุ้น 100% ก็ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงเพราะเท่าที่เห็นหน่วยงานที่บริหารโดยรัฐมักจะไม่ประสบความสำเร็จ และไม่มีความชัดเจนเรื่องการตรวจสอบความโปร่งใส 

อีกกลุ่มให้คงค่าพรีเมียม 
      นายมนูญ กล่าวว่า ส่วนข้อเสนอของกลุ่มเอ็นจีโอที่ต้องการให้กำหนดราคาน้ำมันโดยอิงจากราคาส่งออกเหมือนปี 2542 นั้นตนไม่เห็นด้วย เพราะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันแพงขึ้น การอ้างอิงจากราคานำเข้าเป็นการลดความเสี่ยง จากกำหนดค่าการตลาดที่ไม่เป็นธรรมให้กับโรงกลั่นและผู้บริโภค ดังนั้น ยืนยันว่าผู้ค้าน้ำมันยังจำเป็นว่าต้องมีค่าพรีเมียม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในบริหารจัดการของธุรกิจโรงกลั่น มั่นใจว่าหลังจากให้ข้อมูลกับที่ประชุมไปแล้วคาดจะมีการเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายพลังงานอย่างแน่นอน แต่ไม่แน่ใจว่าจะเปลี่ยนไปอย่างไร ประเด็นที่ที่ประชุมให้ความสำคัญที่สุดคือเรื่องโครงสร้างราคาพลังงาน
      นพ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า กลุ่มเสนอภาพรวม รวมถึงเหตุผลที่ต้องปฏิรูปพลังงานอย่างชัดเจนเพราะประชาชนจะได้รับประโยชน์มหาศาลหลายล้านบาทต่อปี และเมื่อลดราคาน้ำมันได้ค่าครองชีพอื่นก็จะไม่ปรับขึ้น ซึ่งในที่ประชุมให้ความสนใจและขอเวลาประมาณ 3 เดือนในการปฏิรูปพลังงาน 

ปรับโครงสร้างน้ำมัน-แอลพีจี 
      หลังประชุมนาน 8 ชั่วโมง พล.อ.อ.ประจินให้สัมภาษณ์ว่า ได้รับฟังแนวคิดจากกลุ่มตัวแทนต่างๆ เช่น กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทยให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงสร้างราคาพลังงานแห่งใหม่ ปิโตรเคมี, กลุ่มเครือข่ายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค เสนอโครงสร้างราคาน้ำมัน พลังงานเชื้อเพลิง และกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน เสนอความเป็นไปได้ในการจัดหาพลังงาน ความเร่งด่วนในการนำพลังงานทดแทนมาใช้ และการปรับโครงสร้างพลังงานให้เกิดความเป็นธรรม ข้อมูลทั้งหมดถือว่าเป็นประโยชน์และจะนำมาใช้เพื่อพิจารณาดำเนินการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
     พล.อ.อ.ประจิน กล่าวว่า ส่วนแนวทางระยะต่อมาจะเข้ามาหาดูเรื่องสัมปทาน กฎระเบียบ ให้เกิดประโยชน์กับประเทศสูงสุด และจะเปิดสำรวจพื้นที่พลังงานใหม่ การแยกท่อก๊าซและการบริหารจัดการกองทุนน้ำมันด้วย ซึ่งการปฏิรูปพลังงานทั้งระบบคาดว่าจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่าเรื่องที่ควรดำเนินการเร่งด่วนคือ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน และ แอลพีจี ซึ่งจะมีความชัดเจนในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ และระหว่างนี้ราคาดีเซลจะยังคงตรึงไว้ที่ 30 บาทต่อลิตร จนกว่าจะมีข้อสรุปออกมา
      พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งคณะกรรมการปฏิรูปพลังงาน 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายภาครัฐ เอกชนและประชาชนที่นำเสนอ ในที่ประชุมถือเป็นแนวคิดที่ดี ซึ่งคณะกรรมการ3ฝ่ายดังกล่าวมีอยู่แล้ว แต่จะปรับสัดส่วนคณะกรรมการให้มีความเหมาะสม วันที่ 23 มิ.ย. จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ขึ้นที่กระทรวงพลังงาน เพื่อติดตามในประเด็น ดังกล่าวต่อไป

คสช.ยันเดินหน้าทำความเข้าใจ 
      พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษก คสช. กล่าวถึงกรณีรมว.ต่างประเทศสหภาพยุโรป เรียกร้องให้ คสช.คืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างเร่งด่วนและกำหนดกรอบเวลาการเลือกตั้งให้ชัดเจน ว่า ข้อห่วงใยทั้งหมดเป็นที่เข้าใจได้ ที่ผ่านมามีการทำความเข้าใจผ่านหลายช่องทางตามข้อกังวลสงสัย เพราะมั่นใจข้อมูลในทุกๆ ประเด็นนั้นไทยมีหลักเหตุผลข้อเท็จจริงสนับสนุนอย่างเพียงพอ ขอให้เปิดใจกว้างและเน้นเห็นใจในสิ่งที่เกิดขึ้นกับไทยในห้วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะทางออกของปัญหาที่ได้พยายามแสวงหามาตลอดถูกปิดสนิทลงหมดทุกทาง จึงเชื่อว่าส่วนใหญ่น่ามีความเข้าใจที่ดีขึ้น แต่บางประเทศอาจมีข้อกำหนดเดิมต่อรูปแบบการแสดงออก หรืออาจมีวัฒนธรรมการแสดงออกในทางสังคมต่อเหตุการณ์ทำนองนี้ต่างกัน ไทยต้องดำรงความต่อเนื่องในการสร้างความเข้าใจต่อไป 
     พ.อ.วินธัยกล่าวว่า สำหรับในวันที่ 23 มิ.ย. ที่จะมีการประชุมตามวงรอบประจำเดือนของคณะรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหภาพยุโรป ทั้ง 28 ชาติ ซึ่งบางฝ่ายคาดว่าอาจจะมีการทบทวนในเรื่องกรอบความ ร่วมมือในทุกมิติ ที่ทางสหภาพยุโรปกับประเทศไทยมีแผนที่จะตกลงกันมายาวนานแล้วตั้งแต่ช่วงปี 2547 ซึ่งปัจจุบันก็ยังอยู่ในช่วงระหว่างการดำเนินการนั้นจะเป็นอย่างไรคงต้องติดตามต่อไป 

แจงคุมตัว"กริชสุดา"
      พ.อ.วินธัย กล่าวกรณีองค์กรสิทธิมนุษยชนฮิวแมนไรต์วอชต์ แสดงความกังวลกรณี น.ส.กริชสุดา คุณะแสน นักเคลื่อนไหวว่า ขอชี้แจงว่าเดิมเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ขอควบคุมตัวไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่ผ่านมาที่จ.ชลบุรี เนื่องจาก น.ส.กริชสุดา เกี่ยวพันกับผู้ต้องสงสัยรายหนึ่งที่ต้องสงสัยว่ามีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับเรื่องอาวุธสงคราม รวมถึงต้องสงสัยความผิดตาม ม.116 (2) กับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ จึงต้องขอควบคุมตัวเพื่อสอบสวนซักถามตามขั้นตอนซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี ครั้งนั้นเจ้าหน้าที่ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาใดๆ และให้กลับบ้านไปแล้ว แต่เป็นเพราะเจ้าตัวไม่ยอมเปิดเผยตัวเองต่อสังคมเมื่อพ้นความรับผิดชอบเจ้าหน้าที่ไปแล้ว ทำให้หลายฝ่ายอาจเข้าใจผิดและเป็นกังวล ที่ผ่านมาก็มีลักษณะอย่างนี้อยู่หลายคน 
     พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. คสช.ต้องการขอความร่วมมือจาก น.ส.กริชสุดา เพิ่มเติม รวมทั้งต้องการให้ได้เข้าสู่กระบวนการปรับทัศนคติและสร้างความเข้าใจเพิ่มเติม จึงมีประกาศเชิญให้มารายงานตัว ซึ่งไม่ได้ปฏิบัติในลักษณะต่อผู้ที่มีความผิดเช่นเดียวกับทุกคนที่ผ่านมา การปฏิบัติทุกขั้นตอนยังยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน ขอให้ทุกฝ่ายรวมทั้งองค์กรสิทธิ์ต่างๆ สบายใจได้ สำหรับการเปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวนั้น ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของการรักษาความปลอดภัยเพราะแต่ละคนมีพฤติกรรมในอดีตที่ต่างกัน มีทั้งคนชอบไม่ชอบ รวมทั้งเพื่อต้องการให้ออกไปจากความวุ่นวายและไม่ถูกรบกวนจากสิ่งรอบตัว มีสมาธิตั้งสติทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา บางส่วนก็เป็นไปตามความต้องการของบุคคลนั้นๆ เองด้วย 

ย้ำสภาปฏิรูปปลอดนักการเมือง 
      นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณี คสช.เดินหน้าปฏิรูปใน 11 ข้อ และอาจเชิญพรรคการเมืองเข้าไปรับฟังความคิดเห็นว่า หลักการของสภาปฏิรูปคนที่เข้าไปทำหน้าที่ไม่ควรจะเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับการเมืองในอนาคต เพราะถ้าเป็นอย่างนั้นคงไม่พ้นคำครหาว่าเข้าไปแก้กฎหมายและปฏิรูปโครงสร้างต่างๆ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง พรรคเห็นว่าแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต้องไม่ให้นักการเมืองเข้าไปนั่งในสภาปฏิรูปด้วยตัวเอง แต่สามารถให้ความเห็นต่อประเด็นที่สนใจต่างๆ ได้ และเรายินดีให้ความร่วมมือ หากมีการตั้งสภาปฏิรูป และเชิญหัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค ก็ยินดีและพร้อมเข้าไปให้ข้อมูลในเรื่องต่างๆ 
      นายชวนนท์ กล่าวว่าส่วนที่ พล.อ.ประยุทธ์ มีแนวคิดหากเรื่องใดที่ไม่สามารถทำได้เสร็จภายใน 1 ปี อาจมีการลงสัตยาบันว่ารัฐบาลต่อไปต้องไปดำเนินการต่อนั้น เรื่องนี้นายอภิสิทธิ์เคยเสนอไปก่อนที่ คสช.จะยึดอำนาจแล้วว่าควรจะมีแผนการปฏิรูปที่ชัดเจน โดยอาจจะระบุไว้ในกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้ง และจัดตั้งรัฐบาลได้นำแนวทางปฏิรูปที่กำหนดไว้ไปดำเนินการ และควรมีการกำหนดมาตรการลงโทษพรรคการเมืองที่ไม่ทำตามไว้ด้วย ตนมองว่าการลงสัตยาบันคงไม่พอ เพราะที่ผ่านมาจะเห็นว่าพรรคการเมืองฉีกสัตยาบัน จึงควรมีมาตรการลงโทษ อาทิ ยุบพรรคที่ได้รับการเลือกตั้งแล้วไม่ทำตามแนวทางปฏิรูปที่กำหนดไว้ในกฎหมายเลือกตั้ง
     นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า พรรคภูมิใจไทยยังไม่ได้รับการประสาน แต่พร้อมจะให้การสนับสนุนแนวทางปฏิรูปประเทศของหัวหน้า คสช. โดยเฉพาะการนำนักการเมืองและพรรคการเมืองเข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูปครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) หรือสภาปฏิรูป เพราะมองว่าเป็นประโยชน์มากกว่ามีโทษ 

วิทยุชุมชนอีสานขอผ่อนปรน 
     เวลา 14.30 น. ที่สมาคมวิทยุชุมชนนครโคราช ต.สุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา พล.ต.ชัยฤทธิ์พร บัวชุลี อดีตนายทหารบำนาญ และนายกสมาคมวิทยุชุมชนนครโคราช พร้อมตัวแทนผู้ประกอบการสถานีวิทยุกระจายเสียง หรือสถานีวิทยุชุมชนในพื้นที่ 20 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือรวม 80 คน นัดประชุมหารือ บรรยากาศเคร่งเครียดต่างวิตกกับสถานการณ์หลัง คสช.มีคำสั่งให้สถานีวิทยุกว่า 6 พันแห่งทั่วประเทศ เป็นในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือกว่า 2 พันสถานียุติการกระจายเสียง มานานครบ 1 เดือน ส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบกิจการขาดรายได้เลี้ยงชีพ 
     ผู้เข้าร่วมประชุมจึงเสนอชื่อ พล.ต.ชัยฤทธิ์พร ให้เป็นประธานกลุ่มผู้ประกอบการวิทยุชุมชนภาคอีสาน รวมทั้งร่วมลงนามบันทึก ข้อตกลงและขอเป็นตัวแทนผู้ประกอบการวิทยุชุมชนทั่วประเทศ โดยร่างหนังสือที่ สวคค.15/2557 เสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อขอผ่อนปรนการออกอากาศของสถานีวิทยุชุมชนตามรูปแบบอีสานโมเดล 
     พล.ต.ชัยฤทธิ์พร กล่าวว่า พวกเราเป็นกลุ่มวิทยุที่มีความบริสุทธิ์ใจ จัดตั้งขึ้นมาโดยไม่หวังผลการเมือง ที่ผ่านมาไม่เคยสร้างความแตกแยกในสังคม พร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานความมั่นคง แต่การปิดวิทยุชุมชนทั้งหมดคำตอบสุดท้ายการบริหารจัดการ คลื่นความถี่จะตกไปอยู่กับนายทุน หรือผู้มีอำนาจที่จะได้รับการประมูล จึงขอให้ผ่อนปรนสถานีวิทยุทุกประเภทที่ได้ยื่นเอกสารถึง กสทช.ตามขั้นตอนที่กำหนด สามารถออกอากาศ พร้อมๆ กับพิจารณาใบอนุญาตประกอบกิจการ 

ผลโพลให้คะแนนคสช. 8.82 หนุน'ประยุทธ์'ขึ้นนั่งนายกฯ

   วันที่ 22 มิ.ย. สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจ "ผลการดำเนินงาน 1 เดือน ของคสช." สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ 1,614 คน ระหว่างวันที่ 17-21 มิ.ย. 2557 สรุปผล คสช.บริหารประเทศครบ 1 เดือน ประชาชนให้คะแนนผลงานคสช. 8.82 คะแนน จากคะแนนเต็ม 10 โดย 72.79% เห็นว่าบรรยากาศบ้านเมืองดีขึ้น สงบสุข ไม่วุ่นวาย ไม่มีการทะเลาะเบาะแว้ง 69.60% แก้ไขปัญหาสำคัญได้หลายเรื่อง เช่น ตรวจสอบงบ ช่วยชาวนา ลดค่าครองชีพ 65.44% อยากให้ดูแลบ้านเมืองต่อไปจนกว่าสถานการณ์ต่างๆ จะเข้าที่เข้าทาง 
     จุดเด่นที่คสช.บริหารครบ 1 เดือน อันดับ 1 ใช้อำนาจหน้าที่อย่างเหมาะสม ทำงานรวดเร็ว เด็ดขาด โดยเฉพาะการจ่ายเงินจำนำข้าว 49.02% อันดับ 2 จัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับประชาชน เสริมสร้างความรักความสามัคคีให้กับคนในชาติ 32.35% อันดับ 3 การสื่อสาร ทำความเข้าใจ ชี้แจงข้อมูล ผ่านสื่อต่างๆ ให้ประชาชนได้รับรู้เป็นระยะๆ 18.63%
     ปัญหา/อุปสรรคในการดำเนินงานของ คสช. อันดับ 1 ยังมีคนบางกลุ่มไม่ยอมรับ ต่อต้าน 37.98% อันดับ 2 ขาดความเชี่ยวชาญในการบริหารประเทศ ทำให้ดูเหมือนเป็นการประชานิยมมากเกินไป 31.73% อันดับ 3 มีคนปล่อยข่าวลือและข่าวอื่นๆ ที่อาจทำให้ คสช.เสียหายได้ เช่น กรณีแรงงานต่างด้าว 30.29% สิ่งที่อยากฝากบอก คสช. เกี่ยวกับการบริหารประเทศ อันดับ 1 ขอเป็นกำลังใจ ขอให้ทำงานต่อไปด้วยความซื่อสัตย์สุจริต 44.08% อันดับ 2 แก้ปัญหาที่สำคัญอย่างเร่งด่วน เช่น เศรษฐกิจ ทุจริตคอร์รัปชั่น ความขัดแย้ง 34.02% อันดับ 3 เร่งปฏิรูปประเทศให้เจริญก้าวหน้าและมีเสถียรภาพ สร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างชาติ 21.90%
     ศูนย์สำรวจความคิดเห็น นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เผยผลสำรวจ "คสช. ควรเสนอชื่อใครเป็นนายกรัฐมนตรี" สำรวจระหว่างวันที่ 20-21 มิ.ย. 2557 จากประชาชนทั่วประเทศรวม 1,259 ตัวอย่าง พบว่า ส่วนใหญ่ 41.30% ระบุว่า คสช.ควรเสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รองลงมา 8.50 % นายอานันท์ ปันยารชุน 2.38% นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ 1.43% ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล 1.19% นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ 5.24% ระบุว่าควรเสนอบุคคลอื่นๆ 
      มาสเตอร์โพล ชมรมนักวิจัยไทยความสุขชุมชน เผยผลวิจัยเชิงสำรวจประชาชนใน กทม. 1,215 คน ระหว่างวันที่ 19-21 มิ.ย. 2557 พบความพึงพอใจต่อการจัดระเบียบของ คสช. ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คะแนนเต็ม 10 พบการปราบบ่อนการพนัน ได้ 9.3 คะแนน การจัดระเบียบรถตู้ 8.6 คะแนน วินจักรยานยนต์ 8.1 คะแนน การจัดระเบียบแท็กซี่ 7.39 คะแนน และการแก้ปัญหาแรงงานต่างด้าว ค้ามนุษย์ 6.4 คะแนน 85.6 % กังวลว่าผู้มีอิทธิพลจะกลับมาอีกหลังเลือกตั้ง

'ชวน'นอนร.พ.-ถุงน้ำดีอักเสบ 
     วันที่ 22 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากพรรคประชาธิปัตย์ว่า นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ได้เข้ารับการตรวจร่างกายที่ร.พ.รามาธิบดี และพักรอรับการรักษาที่อาคาร สิริกิติ์ เนื่องจากเบื้องต้นมีอาการป่วยตัวร้อนโดยไม่ทราบสาเหตุและมีอาการอ่อนเพลีย โดย อดีตส.ส.ที่ไปเยี่ยมสันนิษฐานว่าอาจมาจากอาการเดิมที่เคยติดเชื้อในกระแสเลือด อาการ ดังกล่าวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงบ่ายของวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากที่นายชวนไปเป็นผู้บรรยายให้นักศึกษาหลักสูตรนักบริหารยุทธศาสตร์การป้องกันและปราบปรามการทุจริตระดับสูง (นยปส.) ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตั้งแต่เมื่อค่ำวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา คณะแพทย์ที่เคยรักษาได้รับตัวไว้ตรวจเช็กร่างกาย 
     เบื้องต้นคณะแพทย์ตรวจพบว่า นายชวนมีอาการตัวร้อนจากการอักเสบของถุงน้ำดี โดยจะส่องกล้องตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ก่อนวิเคราะห์เพื่อเลือกวิธีการรักษาว่าจะให้รับประทานยาควบคู่กับการให้ยาฆ่าเชื้อเพื่อลดอาการตัวร้อน และจะทำการรักษาด้วยการการผ่าตัดเล็กได้หรือไม่ เนื่องจากทราบว่าก่อนเข้ารับการรักษานายชวนกินยาแอสไพรินลดไข้ ทำให้เลือดอาจจะแข็งตัวช้าและเป็นอันตรายหากจะผ่าตัด คณะแพทย์ได้สั่งห้ามบุคคลที่ทราบข่าวเข้าเยี่ยม เนื่องจากต้องการให้นายชวนพักผ่อนมากๆ
     นายชวนยังคงพักอยู่ที่ร.พ.รามาฯ และต้องยกเลิกการเดินทางไปต่างประเทศที่คณะกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์บางส่วนนัดหมายจะเดินทางไปพักผ่อนที่ประเทศญี่ปุ่นในค่ำวันที่ 22 มิ.ย. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคและผู้ใหญ่ของพรรคบางส่วนเดินทางเข้าเยี่ยมอาการนายชวน ตั้งแต่ช่วงสายของวันที่ 21 มิ.ย. หลังไปร่วมงานอุปสมบทของนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส.ที่วัดชลประทานฯ ที่ผ่านมา