ชงประชามติ รธน.คู่กาสิโน '
แอมเนสตี้'จี้ยุติ ตั้งข้อหาจับ 16 นศ.

 

       'พีระศักดิ์'รองปธ.สนช. แนะทำประชามติ'กาสิโน'พร้อมกับร่างรัฐธรรมนูญ สปช.จัดสัมมนาถกแผนแม่บทปฏิรูปรอบสุดท้าย 24 มิ.ย. 'อลงกรณ์'ยันไม่ปิดกั้นสมาชิกหารือประเด็นรับ-ไม่รับร่างรธน. แอมเนสตี้ออกปฏิบัติการด่วน เรียกร้องประเทศสมาชิกทั่วโลกทำจดหมายจี้รัฐบาลไทย ยุติการจับกุม-ยกเลิกข้อกล่าวหา 16 นักศึกษากลุ่มต้าน ด้าน 7 นักศึกษาดาวดินท้าให้จับ โผล่ช่วยชาวบ้านทำนาที่วังสะพุง จ.เลย มทภ.2 โต้ข่มขู่ผู้ปกครอง พรรคเพื่อไทยฉลองเบิร์ธเดย์'ปู'ครบ 48 ปี

 

วันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8971 ข่าวสดรายวัน

 

รอให้จับ - 7 น.ศ.กลุ่มดาวดิน ร่วมทำนากับชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่ อ.วังสะพุง จ.เลย โดยประกาศว่าจะรอให้เจ้าหน้าที่มาจับกุม ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากล ออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.

 

 

ชี้ช่องถาม"กาสิโน"พร้อมประชามติ 

    วันที่ 20 มิ.ย. นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลุ่มรักชาติ เสนอให้ตั้งบ่อนกาสิโนถูกต้องตามกฎหมายในประเทศไทย ว่า อยากให้ศึกษารูปแบบให้ชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องสถานที่ ถ้าสร้างจริงจะตั้งไว้ที่เเห้งเเล้ง ตั้งในเมืองท่องเที่ยว หรือตั้งเป็นศูนย์เอ็น เตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในโรงแรมใหญ่เลยก็ต้องมาคิดกัน เท่าที่ดูวันนี้หลายฝ่ายยังมองต่างกันอยู่ ตนก็ยังไม่อยากฟันธงว่าเห็นด้วยให้ตั้งกาสิโนในไทยหรือไม่ แต่ในแง่ที่ว่าปัจจุบันมีคนไทยไปเสี่ยงโชคในต่างเเดน อยู่มาก ถ้าดึงคนเหล่านี้กลับมาได้ เเล้ว เอาเงินมาหมุนเวียนในประเทศไทยก็น่า จะดี แต่ต้องพิจารณาเรื่องผลกระทบด้านอื่นด้วย

เมื่อถามว่าเห็นควรให้มีการทำประชาพิจารณ์หรือไม่เพราะเป็นเรื่องใหญ่ นาย พีระศักดิ์กล่าวว่า หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติแล้ว สปช.กับ สนช.สามารถตั้งคำถามไปกับการทำประชามติได้ฝ่ายละ 1 คำถาม โดยไม่จำเป็นต้องเป็นคำถามเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญก็ได้ ส่วนตัวไม่มีความเห็นว่าควรจะตั้งคำถามทำนองนี้หรือไม่ แต่หากมีสมาชิก สนช.หรือ สปช.คนใดเสนอตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่องนี้ก็เสนอได้ สปช.ต้องรีบคุยรีบคิดให้ตกผลึกว่าจะเสนอเรื่องนี้เป็นคำถามไปกับการทำประชามติหรือไม่ เพราะนับจากนี้มีเวลาแค่ 2 เดือน ก่อนหมดวาระการทำงาน แต่ สนช.ไม่จำเป็นต้องรีบคุยกัน โดยยังมีเวลาอีกมาก หลัง สปช.โหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้วค่อยมาคิดกัน และวันนี้ใน สนช.ยังไม่มีใครหารือเรื่องตั้งคำถามในประชามติเลย 

 

ชูทำเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์

      นายประชา เตรัตน์ สปช.จ.ชลบุรี กล่าวกรณีสมาชิก สปช.กลุ่มรักชาติ เสนอให้ตั้งบ่อนกาสิโนถูกต้องตามกฎหมายว่า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้านและไม่ได้สนับสนุน แต่ตามข้อเท็จจริงประเทศไทยก็มีการเล่นการพนันกันมาก ถ้าจะเปิดจริงควรเปิดในรูปแบบเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ที่สามารถควบคุมได้ โดยอาจควบคุมคนไทยที่เข้าไปเล่น ถ้าควบคุมได้ก็สามารถเปิดได้ เพราะประเทศเรานักท่องเที่ยวมาเที่ยวเป็นจำนวนมากจะได้ประโยชน์จากตรงนี้ เพราะเป้าหมายคือรายได้จากนักท่องเที่ยว ไม่ใช่คนในประเทศ ซึ่งอาจจะเปิดแถบจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว เช่น พัทยา หัวหิน หรือเชียงใหม่ เพราะเป็นเมืองที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาจำนวนมาก ซึ่งอย่างประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศมาเลเซียปีหนึ่งเงินเข้าประเทศจำนวนมาก เขาก็นำเงินนั้นไปพัฒนาประเทศ

       ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเปิดไม่เปิดกาสิโนเท่านั้น สำคัญคือปรัชญาการดำรงรักษาประเทศ ทุกๆ เรื่องมีที่มาที่ไป สามารถอธิบายได้ ทำไมหลายคนจึงไม่เห็นด้วย ทำไมจึงมองต่างจากสนามม้า ซึ่งอาจถูกมองว่าแรกเริ่มเป็นกีฬาประเภทหนึ่งอันมีที่มาจากประเทศตะวันตก ทำไมการบังคับใช้กฎหมายจึงต้องศักดิ์สิทธิ์และยั่งยืนในการสร้างความเป็นระเบียบเรียบร้อยแก่สังคมเพื่อเป็นแบบอย่างแก่ลูกหลานเยาวชน หรือภาพผู้คนสวมทักซิโด้ สตรีสวมชุดราตรียาวสีดำมีบอดี้การ์ด เดินห้อมล้อมเข้ากาสิโนเพื่อไปโอ้อวดความร่ำรวยและเสพติดการพนัน (Gambling Addiction) ตนมองว่าเป็นภาพที่คงจะเกิดขึ้นได้ยากในสังคมไทย ที่ไม่ใช่อัตลักษณ์ของชาติ ซึ่งน่าจะเป็นของชาติใครชาติเขา 

 

เชียร์ผุดที่ภาคใต้ได้ทันที 

      นายสุรชัย จิตภักดีบดินทร์ อดีตสมาชิกสภาที่ปรึกษาการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สปต.) เผยว่า สมัยตนดำรงตำแหน่งประธานหอการค้า จ.สงขลา ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) วิจัยเรื่องการเปิดกาสิโน ในรูปแบบของเอนเตอร์เทนเมนท์คอมเพล็กซ์ จะเป็นประโยชน์อย่างมากกับประเทศไทยและมีความพยายามผลักดันมาตลอดเวลา

นายสุรชัยกล่าวว่า การทำวิจัยและโดยเฉพาะในการทำเวทีสาธารณะจำนวนหลายครั้ง ระยะแรกก็มีการคัดค้านกันสูงมาก แต่ได้พรีเซนต์จนมีความเข้าใจและให้ความเห็นชอบ พร้อมสนับสนุน ต้องยอมรับความจริงหากวิตกกังวลจะเดินทางไปทำฟรีเซนต์ให้รับทราบรายละเอียดทุกขั้นทุกตอน ผลดี ผลเสีย ประเทศไทยจะมีรายได้แสนล้านบาทต่อปี

      นายสุรชัย กล่าวว่า ได้คุยกับทางทหารที่อยู่ในแวดวง คสช.แล้วว่าต้องยอมรับความจริง ขณะนี้ล้อมรอบประเทศไทยตามแนวพรมแดน พม่า ลาว กัมพูชา มาเลเซียและสิงคโปร์ มีกาสิโน เฉพาะทางภาคใต้มีจำนวนหลายกาสิโน ชายแดนไทย พม่า ฝั่งเกาะสอง กับ จ.ระนอง และที่ จ.สงขลา กับเกนติ้งไฮแลนด์ มาเลเซีย และเซนต์โตซ่า กับมารีน่าเบย์ สิงคโปร์ กาสิโนขณะนี้มีอยู่ทั่วโลกและทำเงินเข้าประเทศมหาศาล ไทยมีเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นสถานที่ท่องเที่ยว มีกาสิโนภายใน มีรีสอร์ต โรงแรม แหล่งบันเทิง มีร้านอาหาร ศูนย์สินค้าหลากหลาย ไปจนถึงกระทั่งสินค้า โอท็อป ธุรกิจการค้าขยายผลเคลื่อนไหว เป็นการนำเงินเข้ามาในประเทศไทยมากมาย

       นายสุรชัย กล่าวว่า ที่หวั่นวิตกว่าการพนันเป็นอบายมุข ขอบอกว่าอบายมุขมีทั่ว อย่าไปคิดแต่เรื่องเก่า และเห็นสมควรดำเนินการทันทีโดยสามารถลงทุนที่ภาคใต้ได้ทันที ส่วนผู้ที่จะเดินทางเข้าไปยังกาสิโนเพื่อเสี่ยงโชคนั้นก็มีระเบียบแบบแผน กฎ มีผลบังคับใช้ ไม่ต้องหวั่นวิตก

 

แอมเนสตี้ป้องนศ.ถูกจับ 

     สำนักงานเลขาธิการใหญ่ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร เผยแพร่แถลงการณ์ ออกปฏิบัติการด่วน เรียกร้องสมาชิกทั่วโลกส่งจดหมายถึงนายกรัฐมนตรีและผบ.ตร.ของไทย เพื่อแสดงความห่วงใยกรณีนักศึกษาเสี่ยงจะถูกจับกุมเพราะการประท้วงอย่างสงบ โดยการรณรงค์จะมีไปถึงวันที่ 31 ก.ค. 

แถลงการณ์ระบุ นักศึกษาเสี่ยงจะถูกจับกุมเพราะการประท้วงอย่างสงบ ทางการไทยประกาศจะจับกุมนักศึกษา 16 คน หากไม่มารายงานตัวต่อตำรวจในวันที่ 19 มิ.ย. นักศึกษาทุกคนถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการประท้วงอย่างสงบในโอกาสครบรอบ 1 ปี การทำรัฐประหารของทหารเมื่อปี 2557 พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีและ ถูกปรับ 

      แถลงการณ์ระบุ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นายพายุ บุญโสภณ นายภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นายสุวิชชา ฑิพังกร นายศุภชัย ภูครองพลอย และนายวสันต์ เสตสิทธิ์ ทั้งหมดเป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยขอนแก่น ถูกตั้งข้อหาเนื่องจากการประท้วงอย่างสงบบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมืองขอนแก่น วันที่ 22 พ.ค. 2558 ขณะประท้วงต่อต้านการทำรัฐประหารเมื่อปี 2557 และการใช้กำลังไล่รื้อชุมชนในชนบทออกจากพื้นที่ เพื่อ ให้มีการทำโครงการขุดเจาะเหมืองแร่ ทรัพยากรธรรมชาติ และโครงการพัฒนา วันที่ 4 มิ.ย. นักศึกษาจากกรุงเทพฯ 9 คน ได้แก่ นายรัฐพล ศุภโสภณ นายรังสิมันต์ โรม นายทรงธรรม แก้วพันพฤกษ์ น.ส. ชลธิชา แจ้งเร็ว และอีก 5 คน ถูกตั้งข้อหาเนื่องจากเกี่ยวข้องกับการประท้วงอย่างสงบเพื่อต่อต้านการทำรัฐประหารบริเวณใจกลางกรุงเทพฯ ในวันที่ 22 พ.ค.2558 

 


รอให้จับ - 7 น.ศ.กลุ่มดาวดิน ล้อมวงกินข้าวระหว่างร่วมใช้ชีวิตกับชาวบ้านคัดค้านเหมืองแร่ จ.เลย โดยประกาศว่าจะรอให้เจ้าหน้าที่มาจับกุม ขณะที่องค์การนิรโทษกรรมสากลออกแถลงการณ์แสดงความห่วงใย เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 

 

ยุติการจับกุม-ยกเลิกข้อกล่าวหา

     แถลงการณ์ระบุ นักศึกษาทั้ง 16 คนถูกตั้งข้อหาละเมิดคำสั่งห้ามทำกิจกรรมทางการเมืองและการชุมนุมสาธารณะ ในปัจจุบัน การชุมนุมทางการเมืองมากกว่าห้าคนเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ถ้าศาลตัดสินว่ามีความผิด พวกเขาอาจได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปีและปรับ ทางการไทยประกาศจะจับกุมนักศึกษา 16 คน หากไม่มารายงานตัวต่อตำรวจในวันที่ 19 มิ.ย. สื่อมวลชนหลายแห่งรายงานว่า โฆษกรัฐบาลแถลงว่า พ่อแม่ของนักศึกษาเหล่านี้อาจมีความผิดตามกฎหมาย หากนักศึกษาไม่มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ 

      "โปรดเขียนจดหมายทันทีในภาษาอังกฤษหรือภาษาของท่านเอง เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกข้อหาทั้งหมดและยุติการจับกุมบุคคลที่ใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ กระตุ้นทางการไทยให้ยุติการคุกคาม ข่มขู่ และลงโทษบุคคลใดที่สนับสนุนบุคคลอื่นที่ใช้สิทธิมนุษยชนของตนอย่างสงบ เรียกร้องทางการไทยให้ยกเลิกและแก้ไขกฎหมาย และคำสั่งทุกฉบับ ซึ่งมุ่งจำกัดการใช้สิทธิที่จะมีเสรีภาพในการชุมนุมอย่างสงบโดยพลการ ทั้งนี้เพื่อให้ประเทศไทยสามารถปฏิบัติตามพันธกรณีของกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ" แอมเนสตี้ระบุ 

 

กลุ่มดาวดินพร้อมให้จับ

     ขณะเดียวกัน 7 นักศึกษากลุ่มดาวดินโพสต์เฟซบุ๊กกรณีไม่เข้ารายงานตัวต่อ เจ้าหน้าที่ และเดินทางไปร่วมกับกลุ่มชาวบ้านที่คัดค้านเมืองแร่ใน อ.วังสะพุง จ.เลย ว่า เหตุที่เลือกมาเมืองเลยเพราะรู้ตัวว่าอย่างไรก็จะถูกจับแน่ๆ พื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่แรกที่พวกตนทั้ง 7 คนได้เริ่มเรียนรู้ในเรื่องเหมืองแร่ทองคำ (เหมืองแร่เมืองเลย) หากต้องเลือกว่าจะถูกจับที่ไหนก็เลือกจะ ถูกจับที่นี่ ที่ที่พวกเราเรียนรู้ต่อสู้ร่วมกับ ชาวบ้าน และเป็นจุดเริ่มต้นของพวกเรา 7 คน ในการขับเคลื่อนการต่อสู้กับความ อยุติธรรม ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม แต่เพียงพวกเราเป็นเเค่ตัวเเทนของชาวบ้านในการเคลื่อนไหว เป็นกระบอกเสียงที่จะป่าวประกาศให้สังคมรู้ว่าที่นี่มีการกดขี่ หากพวกเราจะถูกจับเพียงเพราะการชูป้ายแล้วพูดถึงสิ่งที่ชาวบ้านถูกละเมิด ก็ยินดีจะถูกจับ ถ้าไม่ถูกจับก็ไม่มีใครได้ยินเสียงของ ชาวบ้าน 

    "ประกาศจาก 7 ปีศาจแห่งดาวดินที่ถูกหมายจับในข้อหาชูป้ายผ้า หากพวกคุณอยากจะจับตัวพวกผม มาหาพวกผมแล้ว เอาตัวไป พวกผมไม่ขัดขืนคุณแม้แต่น้อย" กลุ่มดาวดินระบุ 

 

ตร.ยันยังไม่มีหมายจับ 

       วันเดียวกัน นักศึกษากลุ่มดาวดินทั้ง 7 คน อยู่ที่หมู่บ้านหนองบง ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง ร่วมกินข้าวเที่ยงและช่วยชาวบ้านทำนา พร้อมระบุว่า หากเจ้าหน้าที่จะเข้ามาจับกุมก็พร้อมยอมมอบตัว ส่วนชาวบ้านจะต่อต้านหรือไม่ไม่ทราบ แต่เจ้าหน้าที่จะมาจับกุมตัวเมื่อไรก็พร้อมยืนมือให้จับ จากนั้นทั้งหมดยืนเรียงแถวชูกำปั้นด้วยมือขวายกขึ้นเป็นสัญลักษณ์ พูดว่า "พวกผมอยู่นี้ไม่ได้หนีไปไหน อยากจับก็มาจับเลย" ก่อนขอตัวกลับไปร่วมดำนากับชาวบ้าน 

พล.ต.ต.ศักดา วงษ์ศิริยานนท์ ผู้บังคับ การตำรวจภูธร จ.เลย กล่าวว่า เพิ่งทราบข่าวจากทางเฟซบุ๊กเมื่อเช้าว่านักศึกษามาอยู่ที่นี่ จากสอบถามไปที่ขอนแก่นเพียงแต่มี หมายเรียกเท่านั้น ยังไม่มีหมายศาลให้จับกุม เราก็ทำอะไรไม่ได้

 

มทภ.2 ชี้กระทำขัดความสงบ 

       พล.ท.ธวัช สุกปลั่ง แม่ทัพภาคที่ 2 (มทภ.2) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวของนักศึกษา กลุ่มดาวดิน มหาวิทยาลัยขอนแก่นว่า เบื้องต้นต้องทำความเข้าใจว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือภาคอีสาน พวกเขาไม่ได้เดือดร้อนหรือมีปัญหาใดๆ คนส่วนใหญ่ต้องการความสงบ แต่การเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดินที่เป็นกลุ่มเล็กๆ แต่พยายามจะเชื่อมโยงกับกลุ่มอื่นๆ ก็ชัดเจนว่าขัดกับความสงบ เจ้าหน้าที่ราชการได้ทำความเข้าใจและต้องพยายามห้ามปรามและตักเตือนกัน เชื่อว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจดี 

       มทภ.2 กล่าวว่า ส่วนกรณีกลุ่มดาวดินจะเคลื่อนไหวในด้านปัญหาปากท้องของชาวบ้านนั้น อยากบอกว่าในข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลย ถ้าข้อเท็จจริงเป็นอย่างนั้นปัญหาดังกล่าวคงขยายผลออกไปแล้ว แต่เวลานี้คิดว่าชาวบ้านที่ จ.เลย กรณีเหมืองแร่ ทุกภาคส่วนทั้งส่วนราชการในจังหวัดพูดคุยกันกับชาวบ้านในผลประโยชน์ต่างตอบแทนกัน เมื่อตกลงกันได้ก็ให้ทางเหมืองแร่ขนออกไป จนเข้าใจกันหมดและเกิดความสงบเรียบร้อยขึ้น เพราะฉะนั้นก็ไม่มีปัญหาอะไรถ้าเราพูดคุยกัน ถ้าไปฟังคนใดคนหนึ่งที่อยู่นอกพื้นที่ และเอาปัญหามาให้โดยที่ชาวบ้านไม่ได้ไตร่ตรองตรงนี้ ตนคิดว่าต้องเอาเจ้าหน้าที่รัฐไปช่วยเสริมสร้างความรู้ให้ชาวบ้าน อย่างไรก็ตามจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ที่มองว่าปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต่างๆ มีผลกระทบต่อ พี่น้องประชาชนอย่างไร แต่พอเจ้าหน้าที่ลงไปพิสูจน์ก็พบว่าไม่ใช่ผลกระทบที่แท้จริง ปัญหาดังกล่าวก็ยุติลงได้ 

 

โต้ข่มขู่ผู้ปกครองนศ. 

        พล.ท.ธวัช กล่าวว่า ส่วนมาตรการในการดำเนินการกับกลุ่มดาวดินนั้น ก็ต้องดำเนินการอย่างละมุนละม่อมให้มากที่สุด เพราะนักศึกษายังเป็นเด็กอยู่ เราจะพยายามทำความเข้าใจไปคุยกับผู้ปกครองนักศึกษาก่อน เนื่องจากผู้ปกครองหลายคนคงหนักใจเพราะไม่สามารถไปบังคับลูกได้ แต่ว่ากลุ่มดาวดินบอกว่าทหารไปข่มขู่ผู้ปกครองนั้น ตนย้ำว่าไม่ใช่ เราไปทำความเข้าใจ ไม่ใช่ไปหาเรื่องกับผู้ปกครองใดๆเลย เพราะบางคนไม่รู้เรื่องทำมาหากินอยู่ บางคนก็รับราชการ เราก็ต้องไปทำความเข้าใจ ว่าลูกของพวกท่านออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านมันไม่ถูกที่ถูกเวลา มันทำไม่ได้ เพราะผิดกฎหมาย แต่พอถึงเวลาแล้วจะทำอะไรก็ทำไปเลย มากไปกว่านั้นการเคลื่อนไหวของกลุ่มนี้ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็ออกมาปฏิเสธว่าไม่ใช่เป็นกลุ่มของมหาวิทยาลัย เพราะการเคลื่อนไหวลักษณะนี้จะทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงมหาวิทยาลัย หากแต่เป็นการเคลื่อนไหวกลุ่มบุคคลเท่านั้น

      เมื่อถามว่า นักศึกษากลุ่มนี้จะไปมอบตัวและยอมให้จับกุมที่ จ.เลย เพราะเป็นจุดเริ่มต้นการเคลื่อนไหว พล.ท.ธวัชกล่าวว่า ถ้ามอบตัว ขอถามว่าทำไมต้องไปจับกุมตัวด้วย ถ้าเคลื่อนไหวอะไรก็ตามที่ขัดกับกฎหมายเราก็ต้องดำเนินการไปตามนั้น เมื่อถึงเวลาจะทำอะไร เราจะพิจารณากันอีกที 


วันเกิด - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รับดอกไม้จากนายลี เมียงบัก อดีตปธน.เกาหลีใต้ ที่ ส่งมาอวยพรวันเกิดครบ 48 ปี โดยอดีตนายกฯ อวยพรกลับไป ขอให้เกาหลีใต้แก้ไขสถานการณ์โรคเมอร์ส ได้โดยเร็ว เมื่อวันที่ 20 มิ.ย. 

        "ผมอยากบอกว่าชาวบ้านส่วนใหญ่เข้าใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเจ้าหน้าที่มีความจริงใจ เรานำเอาโครงการ 1 ตำบล 1 ล้าน ที่ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทหาดไทย ช่วยกันทำ ผมว่าชาวบ้านมีความพึงพอใจมาก เพราะพวกเขาได้คิดเอง ได้รับผลประโยชน์เอง ประกอบกับงบประมาณที่กระจายลงไป ก็ถึงมือชางบ้านเต็มๆ มิหนำซ้ำผมก็ได้ลงไปตรวจเยี่ยมพื้นที่ด้วย ก็เป็นโครงการที่ดี แถมได้เสนอไปตามสายบังคับบัญชาไปยังรัฐบาล ว่าถ้ามีโครงการนี้อีก ก็จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน" พล.ท.ธวัชกล่าว 

 

"ปู"ทำบุญครบ 48 ปี

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันที่ 21 มิ.ย. เป็นวันคล้ายวันเกิดของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่จะมีอายุครบ 48 ปี โดยเมื่อวันศุกร์ที่ 19 มิ.ย. คณะทำงานพร้อมคนใกล้ชิดได้จัดงานวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้าแบบเซอร์ไพรส์ให้ไปอย่างเรียบง่ายเป็นการส่วนตัวเพื่ออวยพรและให้กำลังใจกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ ไปได้ ซึ่งอดีตนายกฯ ได้ขอบคุณทุกความปรารถนาดีที่มีให้ 

      รายงานข่าวเปิดเผยว่า วันที่ 21 มิ.ย. ซึ่งเป็นวันครบรอบวันเกิดอายุ 48 ปี น.ส. ยิ่งลักษณ์ จะไม่มีการจัดงานอะไร เพียงแต่จะเดินทางพร้อมบุตรชาย ด.ช.ศุภเสกข์ อมรฉัตร หรือ น้องไปป์ ไปทำบุญใส่บาตรที่วัดที่แสนสุข ย่านมีนบุรี เป็นการส่วนตัว

 

อดีตปธน.เกาหลีอวยพร 

      ทั้งนี้ ตลอดวันที่ 20 มิ.ย. น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์ภาพและคำขอบคุณในเฟซบุ๊กส่วนตัว ซึ่งมีทั้งคนรู้จักและเพื่อนฝูงทยอยส่งคำอวยพรมาให้ เวลา 17.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ โพสต์รูปและข้อความขอขอบคุณนายลี มยอง บัค อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ส่งดอกไม้มาอวยพรวันเกิดล่วงหน้า โดยระบุว่า "ขอขอบคุณท่านลี มยอง บัค อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่ส่งดอกไม้มาอวยพรวันเกิดล่วงหน้าในวันนี้ดีใจมาก ที่ท่านยังใส่ใจและระลึกถึง ดิฉันเชื่อว่า ความสัมพันธ์และมิตรภาพอันดีระหว่างคนไทยและเกาหลีใต้ จะเป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการขยายความร่วมมือระหว่างประเทศต่อไปค่ะในโอกาสนี้ ขอส่งกำลังใจและความปรารถนาดีไปยังประเทศเกาหลีใต้ ให้สามารถแก้ไขสถานการณ์การระบาดของโรค MERS ให้ได้โดยเร็วด้วย" 

       จากนั้นช่วงค่ำวันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ร่วมรับประทานอสหารค่ำพร้อมครอบครัวและญาติพี่น้องในบรรยากาศที่เป็นกันเอง 

      สำหรับ วันที่ 21 มิ.ย. หลังจากทำบุญตักบาตรที่วัดแสนสุขแล้ว เวลา 11.30 น. พรรคเพื่อไทยได้จัดงานเลี้ยงเพื่อรับประทานอาหารกลางวันร่วมกันที่โรงแรมเซ็นทารา วอร์เตอร์เกท พาวิลเลี่ยม

 

ชี้ทำประชามติม.ค.59 ไม่ทันแน่ 

      นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 กล่าวระหว่างการประชุมหารือกับหน่วยราชการที่จ.เลย ว่า หลังแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเสร็จสิ้นแล้วผ่านการพิจารณาของสนช. คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมีการพิจารณาร่างฉบับรธน.เสร็จประมาณเดือนส.ค.ก่อนที่จะเสนอให้ สปช.เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในวันที่ 6 ก.ย. ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีการทำประชามติรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าถ้ามองอย่างโลกสวยเดือนม.ค.2559 ไม่มีทางทำประชามติได้ เพราะตามขั้นตอนแล้วต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญส่งให้ประชาชนตามครัวเรือนครบ 80 เปอร์เซ็นต์ 24 ล้านครัวเรือน ซึ่งต้องใช้เวลาพอสมควร อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสปช.จะรับหรือไม่รับก็ไม่รู้ว่าจะมีสำนักพิมพ์ใดที่จะรับพิมพ์ และกล้าตุนกระดาษไว้เพื่อรับพิมพ์และสั่งพิมพ์ไว้ล่วงหน้า นอกจากจะผ่านวันที่ 6 ก.ย.จึงจะเริ่มกระบวนการพิมพ์ สำนักพิมพ์จึงจะกล้ากว้านซื้อกระดาษมารับพิมพ์ โดยก่อนทำประชามติต้องมีกฤษฎีกาเพื่อกำหนดวันในการทำประชามติ ใช้เวลาเร็วที่สุดประมาณวันที่ 6 ก.พ. 2559 

        นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อ สปช.เห็นชอบและ รธน.ผ่านการทำประชามติแล้ว ประมาณเดือนต.ค.-ธ.ค.2559 ถึงจะมีการ จัดเลือกตั้ง และใช้เวลาที่จะประกาศผลเลือกตั้งในระยะเวลาอีก 30 วัน เชื่อว่ารัฐบาลนี้จะอยู่ไปถึงต้นปี 2560 และจะได้พิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบ ประมาณ 2560 โดยสนช.จะเป็นคนพิจารณาผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณด้วย ซึ่งจะทำให้เป็นประโยชน์ต่อประชาชน

 

"ดิเรก"ประชามติต้องมีคำถามเดียว

      นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า การตั้งคำถามทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้นส่วนตัวเห็นว่าควรตั้งเพียงคำถามเดียว คือจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น เหมือนตอนทำประชามติรัฐธรรมนูญปี 2550 จึงจะเรียกว่าเป็นการทำประชามติที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องมีคำถามข้ออื่นจาก สนช. และ สปช. เพราะจะยิ่งทำให้ประชาชนสับสน การมีคำถามประเด็นอื่นๆ มาแทรกถือว่าผิดหลักการทำประชามติ ยิ่งหากคำถามที่มาแทรกมีเนื้อหาไปขัดแย้งกับคำถามประชามติหลัก จะยิ่งสร้างความสับสนเพราะไม่เคยมีประเทศใดที่ทำประชามติ โดยการตั้งคำถามหลายข้อ 

 

"เสรี"ค้านควรถามประเด็น"2 ปี" 

      นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า คาดว่า สปช.จะนัดหารือเรื่องการตั้งคำถามทำประชามติในช่วงปลายเดือนส.ค.ถึงต้นเดือนก.ย. ภายหลังจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้วมาให้สปช.พิจารณาก่อนลงมติ แต่ขณะนี้ใครจะเสนอคำถามใดก็ให้เตรียมไว้แล้วค่อยมาคุยกัน ส่วนตัวเห็นว่าคำถามที่ สนช.และ สปช.จะเสนอเป็นประเด็นที่เป็นปัญหาของประเทศจริงๆ และต้องระมัดระวังไม่ให้คำถามไปขัดแย้งกับคำถามหลักเรื่องการรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ คำถามอะไรที่หากถามแล้วสุ่มเสี่ยงจะเกิดความขัดแย้งกับคำถามหลักไม่ควรถาม ส่วนคำถามเรื่องการปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้งนั้นเห็นว่า ไม่ควรถาม เพราะเท่าที่ดูกรอบเวลาก็จะมีการเลือกตั้งช่วงปลายปี "59 อยู่แล้ว ถือว่าช่วงเวลาใกล้เคียงกับการปฏิรูป 2 ปีอยู่แล้ว หากถามไปก็เสียของเปล่าๆ

 

กมธ.ยกเลิกโอเพ่นลิสต์ 

        พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงความคืบหน้าการร่างรัฐธรรมนูญว่า กมธ.ยกร่างฯ ถกแถลงประเด็นหลักที่คนแสดงความเห็นจำนวนมากไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ โดยปรับแก้ให้กระชับเหมาะสมและลดกระแสความขัดแย้งลงได้บ้างแล้ว เช่น ระบบการเลือกตั้งที่ทางกมธ.ยกร่างฯได้เน้นวิธีการไม่ให้ประชาชนสับสนในวิธีการ ให้ประชาชนเข้าใจระบบได้ง่าย เพื่อป้องกันปัญหาบัตรเสีย โดยระบบบัญชีรายชื่อที่ทางกมธ. ยกร่างฯ ได้ปรับจำนวนเป็น 150 คน จากเดิม 200 คน และปรับระบบเขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเหมือนเก่า จากเดิมที่เราเขียนไว้ให้มี 6 ภาค เพื่อป้องกันความสับสน และลดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเล็กกับพรรคใหญ่

       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ส่วนระบบโอเพ่นลิสต์ที่หลายฝ่ายท้วงติงว่าไม่เหมาะสม เป็นปัญหาที่ทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและกระบวนการต่างๆ ยุ่งยาก ทั้งวิธีการลงคะแนน และวิธีคำนวณคะแนน รวมทั้งงบประมาณและเวลาที่ต้องใช้จำนวนมากนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับเปลี่ยนวิธีโดยการเลือกตั้งที่จะถึงนี้จะไม่ใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ แต่จะใช้เมื่อเราสามารถใช้วิธีการลงคะแนนเลือกตั้งโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ก็จะปรับมาใช้ระบบโอเพ่นลิสต์ ทั้งนี้ ภาพรวมการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจะยังคงเป็นไปตามเจตนารมณ์หลัก 4 ประการ ที่กมธ.ยกร่างฯ ได้ยึดมาตั้งแต่แรก และพยายามทำให้เข้ากับภาวะของประเทศไทย และรักษาความสมดุลทางการเมืองได้

 

สปช.ถกปฏิรูปรอบสุดท้าย

      นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการ สปช. หรือ วิป สปช. กล่าวว่า การทำงานของสปช.จากนี้ไปจะพิจารณาแผนแม่บทปฏิรูปใน 18 ด้านของกมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 คณะ โดยจะให้สมาชิกเตรียมความพร้อม เพราะจะเป็นการพิจารณาแผนแม่บทฯ รอบสุดท้าย และประธานสปช.ระบุว่าต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. ทั้งนี้ สัปดาห์หน้าการประชุมสปช.จะเป็นการบรรจุวาระแนวทางการบริหารจัดการของสปช. (บลูปรินต์ ฟอร์ เชนจ์) โดยมีกรอบรายงาน แผนแม่บท รายชื่อกฎหมาย และสาระสำคัญของกฎหมายในแต่ละรายงานด้วย

      นายอลงกรณ์ กล่าวว่า วันที่ 24 มิ.ย.ที่สปช.จะสัมมนากันนั้น เป็นการสัมมนา เพื่อแลกเปลี่ยนและระดมความคิดเห็นของสมาชิกสปช.เรื่องแผนแม่บทปฏิรูป 18 ด้าน รายงานวิสัยทัศน์ออกแบบประเทศไทยที่จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว รวมถึงการสานต่อแนวทางวาระปฏิรูปในแต่ละเรื่องที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก ซึ่งเปรียบเหมือนการนำลูกปัดแต่ละลูกมาร้อยเรียงกัน เพื่อให้เห็นการบูรณาการภาพรวมวาระปฏิรูปแต่ละเรื่องทั้งหมด ทั้งนี้ จะมีการพิจารณาไฮไลต์วาระปฏิรูป 5-6 วาระ ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 กำหนดให้สปช.ศึกษาพิจารณาแนวทางกำหนดกลไกแก้ปัญหาประเทศ เช่น การทุจริตคอร์รัปชั่น การทุจริต การเลือกตั้ง การลดความเหลื่อมล้ำ และการปฏิรูประบบข้าราชการ เป็นต้น ส่วนจะมีการพูดคุยถึงการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของสปช.นั้น เรื่องนี้ไม่ได้บรรจุอยู่ในวาระการสัมมนา แต่เราไม่ได้ปิดกั้น สมาชิกสามารถหยิบยกเข้ามาพูดคุยได้

 

ถาวรหนุนรบ.ลุยปฏิรูป

      นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวถึงการเดินทางเข้าพูดคุยกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.ที่ผ่านมา ว่า นอกเหนือไปจากเสนอการปฏิรูปประเทศ 6 ข้อแล้ว ได้ฝาก ศปป.เรียนไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่ารัฐบาลชุดนี้ต้องเร่งดำเนินการปฏิรูปเพราะมีความพร้อมหลายเรื่อง อาทิ 1.มีข้าราชการอยู่ในมือ 3 ล้านคน ทุกกระทรวง ทบวง กรม ซึ่งรัฐบาลสามารถสั่งการได้ 2.งบประมาณ 2 ล้านล้านต่อปี และ 3.มีมาตรา 44 และกฎหมายทุกฉบับอยู่ในมือจะขับเคลื่อนอย่างไรก็ได้ คิดว่าฝ่ายบริหารสามารถจะขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ ได้ดี เพราะคนอื่นไม่มีอำนาจ 

        เมื่อถามว่า ศปป.สั่งห้ามไม่ให้พูดคุยเรื่องการเมืองหรือไม่ นายถาวรกล่าวว่า ศปป.บอกว่าให้ตนพูดได้ทุกเรื่อง ตนได้นำเสนอไปทุกเรื่อง อยากให้รัฐบาลและคสช.ดูเรื่องการปฏิรูปกระบวนการกฎหมายเพิ่มเติม เพราะการแก้ไขปัญหาความยากจนเกี่ยวข้องกับการออกกฎหมาย การเก็บภาษีที่ดิน และสิ่งปลูกสร้าง และการนำเงินไปจัดตั้งธนาคารที่ดินเพื่อหาที่ดินให้คนยากจน คิดว่ารัฐบาลไม่ควรหยุดชะงักเพียงเพราะว่าถูกวิพากษ์วิจารณ์ เพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่ได้ต้องการหาหัวคะแนนหรือหาคะแนนนิยมไม่ใช่หรือ ถ้าไม่ใช่ก็ขอให้เดินหน้าต่อ รวมทั้งการทวงคืนผืนป่ากลับคืน ที่มีชาวบ้านไปปลูกยางพาราหลายล้านไร่ 

       เมื่อถามว่า คาดหวังว่าการนำเสนอต่อ ศปป.จะนำไปสู่การปฏิบัติจริงมากน้อยแค่ไหน นายถาวรกล่าวว่า เขาชวนตนไป ถ้าไม่รับข้อเสนอไปพิจารณาหรือปฏิบัติก็ เสียเวลาเปล่าๆ

 

เด็กปชป.เร่งผลสอบ 2 สนช. 

     ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทรพิทักษ์ อดีต ส.ส.กทม. และอดีตประธานกมธ.ปราบปรามการทุจริตและประพฤติ มิชอบสภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า จากการที่ตนได้เปิดเผยว่า 2 อดีตผู้ว่าฯ ที่เป็นสมาชิก สนช. มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตการจัดซื้อยาปราบศัตรูพืช ในจ.มุกดาหาร และจ.เลย อยากถามความคืบหน้าการสอบสวนไปถึงไหนแล้ว เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาระบุว่าต้องมีการสอบสวน และนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ระบุว่าให้ทั้ง 2 สนช.ทำรายงานชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้น เพราะดูเหมือนจะเป็นการสอบสวนที่ไม่จริงจังและล่าช้า จึงเกรงว่าจะเหมือนกับกรณีทุจริตไมโครโฟนที่ทำเนียบรัฐบาลที่ผลสอบออกมาว่าไม่มี ผู้เกี่ยวข้อง

       นายวิลาศ กล่าวว่า มีข้อสงสัยว่าในเมื่อนายชาญวิทย์ วสยางกูร สนช. อดีตผู้ว่าฯ มุกดาหาร อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับกรณี จัดซื้อยาปราบศัตรูพืชที่สร้างความเสียหายมหาศาลทำไม สนช.จึงแต่งตั้งเป็นกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำ ปีงบประมาณ 2559 และยังให้นายชาญวิทย์ เป็นประธานคณะอนุกมธ.ฝึกอบรม สัมมนา ประชาสัมพันธ์ ค่าจ้างเหมาบริการ ค่าจ้าง ที่ปรึกษา การวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยี ค่าเช่า ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศ งบดำเนินงาน งบเงินอุดหนุน งบรายจ่ายอื่น เงินนอกงบประมาณ รัฐวิสาหกิจ องค์กรมหาชน หน่วยงานในกำกับกองทุนและเงินทุนหมุนเวียนอีก เพราะงบดังกล่าวเป็นงบที่ไม่มีรายละเอียด 

      นายวิลาศกล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีนาย พรศักดิ์ เจียรณัย สนช. และอดีตผู้ว่าฯ เลย ที่ไม่ตอบโต้อะไร บอกเพียงว่าทุกอย่างทำตามระเบียบ ทุกจังหวัดเขาก็ทำตามระเบียบเหมือนกัน

      "ขอฝากไปถึง สนช.ทั้ง 2 คนว่า ไม่คิดจะแสดงความรับผิดชอบเลยหรือ หากคิดว่าไม่ผิดขอเชิญมาดีเบตกับผม เพียง 4-5 ข้อ ก็จะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าท่านเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือไม่ และขอเรียกร้องให้ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ปลด 2 สนช. ออกจากการเป็น กมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯปี 2559 นายกฯเคยบอกว่าคนที่มีหน้าที่หากเกิดข้อสงสัยว่าทุจริตก็ให้ออกไว้ก่อน การเป็นกมธ.งบประมาณฯ ซึ่งเป็นการพิจารณางบของทั้งประเทศจึงไม่เหมาะสม" นายวิลาศกล่าว

 

เผย 2 คู่ชิงผู้ว่าการธปท.

       ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้าการสรรหาผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ล่าสุด คู่ชิงเหลือเพียงแค่ 2 คน คือ นายวิรไท สันติประภพ นักเศรษฐศาสตร์ ที่ปรึกษาสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และนายศุภวุฒิ สายเชื้อ กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ภัทร โดยการสรรหาจะเสร็จสิ้นภายใน 2 สัปดาห์

 

 

จับท่าที-ตี โจทย์ 'บวรศักดิ์'เดินสายกลาง?

มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - ความเห็นเกี่ยวกับกรณีที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุว่า จะแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญเดินทางสายกลาง โดยจะปรับจำนวน ส.ส.จากเดิม 250 คน เป็น ส.ส.เขต 300 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศ ตัดกลุ่มการเมืองแต่ให้ตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้นตัดทิ้งระบบโอเพ่นลิสต์และลดอำนาจหน้าที่ ส.ว.ลง

ดิเรก ถึงฝั่ง

สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

        ในส่วนของ ส.ว. ผมยังไม่ทราบรายละเอียดมากนัก แต่ ส.ส.ที่เสนอมานั้นก็ไม่น่าจะมีปัญหา เรารับได้ เพราะ กมธ.ยกร่างฯยอมเอาระบบสัดส่วนคู่ขนานที่เราเสนอแนวทางนี้ไป เราก็ไม่ขัดข้อง ไม่ติดใจอะไร ส่วนที่ยังติดใจเพราะเราได้เสนอไปหลายประเด็น ทั้งที่มานายกรัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. และกลุ่มการเมือง ฯลฯ คิดว่าที่ยังกังวลใจก็ที่มานายกฯ เพราะฉะนั้นจะต้องเฝ้าติดตามอยู่ เพียงแต่ กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้แก้ไขเท่านั้น เพราะกำลังอยู่ในช่วงดำเนินการ เราจึงไม่ทราบ ส่วนจะให้ท้วงติงหรือคาดเดาใดๆ ก็ไม่อยากให้ข้อเสนอแนะ เพราะ กมธ.ยกร่างฯกำลังพิจารณาอยู่ ซึ่งก็ให้เวลา แถม กมธ.ยกร่างฯมีเวลาดำเนินการเยอะ กว่าจะส่งให้ดูก็ราวปลายๆ เดือนสิงหาคม ตอนนี้ยังไม่มีอะไรก็ได้ แต่วันพรุ่งนี้หรือวันมะรืน กมธ.ยกร่างฯ ก็อาจชี้แจงความคืบหน้าอะไรมาบ้างก็ได้ ก็ต้องรอดู 

     ผมอยากให้ กมธ.ยกร่างฯนั้นร่างรัฐธรรมนูญที่ดีออกมาเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอีก โดยการร่างรัฐธรรมนูญอยากบอกว่าอย่าไปยึดคนเป็นตัวตั้ง อย่าไปเอาปัญหาหรือสถานการณ์เป็นตัวตั้ง ถ้าไปยึดตรงนั้นก็จะนำมาซึ่งความขัดแย้งตามเดิมอีก ในความเป็นจริงควรนำเอาหลักการประชาธิปไตยที่ถูกต้องเป็นตัวตั้งต่างหาก ถ้าทำตรงนี้ได้ก็จะดีที่สุด 

     ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯตั้งโจทย์ผิดตั้งแต่ต้น เขียนให้รัฐบาลไม่เข้มแข็ง เขียนให้เป็นระบบสัดส่วนผสม อะไรต่างๆ หากแต่ข้อเสนอเหล่านี้จบลงไปแล้ว และร่างไปตามหลักการแล้ว ตรงนี้ผมก็พอใจ

เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.)

      กรณีนี้ผมคิดว่า กมธ.ยกร่างฯยังมีเวลาปรับปรุงแก้ไขรายละเอียดต่างๆ อีกพอสมควร แถมระยะเวลายังไม่ถึงครึ่งทางของตัวร่างรัฐธรรมนูญเลย จึงยังไม่สามารถประเมินได้ เพียงแต่ได้รับทราบท่าทีที่ผ่อนปรนของ กมธ.ยกร่างฯ ผมก็เชื่อว่าจะมีการทบทวนอีกหลายมาตรา รวมทั้งรูปแบบการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะทำให้ลดจำนวนมาตราและรายละเอียดต่างๆ ลง ด้วยวิธีการเอาไปบัญญัติใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคงต้องให้พ้นเดือนกรกฎาคมนี้ไปก่อน ถึงจะประเมินได้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ การแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯ 

     เพราะฉะนั้นกระบวนการในช่วงนี้เป็นเพียงระยะเวลาเบื้องต้นในการปรับปรุงเนื้อหา ทั้งนี้ ผมคิดว่า กมธ.ยกร่างฯจะต้องยึดหลักการ จุดยืน การร่างรัฐธรรมนูญจะไปยึดติดกับกระแสหรือสถานการณ์ ตลอดจนเขียนให้ถูกใจและตามใจฉันก็ไม่ได้ เพราะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ถ้ายังคงเป็นเช่นนั้นก็ไม่ต้องปฏิรูปกัน เพราะจะไม่ต่างจากรัฐธรรมนูญในอดีตที่ไม่ได้แก้ไขปัญหา 

เพราะฉะนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องมีหลักการ อะไรที่เป็นประโยชน์ ตลอดจนเสียงวิพากษ์วิจารณ์ที่มีเหตุมีผล ต้องทำตามนั้นก็ต้องแก้ไข

ธนพร ศรียากูล

หัวหน้าพรรคคนธรรมดา

       ส่วนตัวไม่ค่อยแปลกใจกับท่าทีที่เกิดขึ้น เพราะแท้จริงแล้วประเด็นสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเลือกตั้ง ส.ส. จะเห็นได้ว่าหลักการใหญ่ที่กรรมาธิการไม่ถอยเลยคือเรื่อง ส.ว.ต่างหาก ทั้งเรื่องอำนาจและที่มาของวุฒิสภา การที่ยอมถอยเรื่อง ส.ส. ต้องย้อนไปดูว่ากลไกในรัฐธรรมนูญฉบับนี้เอื้อให้ผู้แทนปวงชนสามารถทำงานได้จริงหรือไม่ 

ถ้าไปดูให้ชัดเจนจะเห็นว่าที่มาอำนาจของวุฒิสภาและองค์กรอิสระต่างๆ ก็อยู่ในจุดที่สามารถควบคุมอำนาจที่มาจากประชาชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นสำคัญที่สุดคือ ผู้นำฝ่ายบริหารไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. แม้ว่าจะมีการพูดเอาไว้ว่าใช้ในภาวะวิกฤต แต่เจตนาที่แท้จริงคงไม่ต้องปิดบังซ่อนเร้นกัน เพราะคือการสืบทอดอำนาจของผู้ที่ไม่ได้อยากเสนอตัวให้ประชาชนเป็นคนพิจารณา ซึ่งเท่ากับการย้อนหลังไปสู่ปี 2534 และจะนำมาสู่วิกฤตการณ์ทางการเมืองในปี 2535 

       เพราะฉะนั้นปัญหาในการจัดระเบียบทางการเมืองภายหลังการเลือกตั้งจะยังคงดำรงอยู่ต่อไป และจะเข้มข้นเพิ่มมากยิ่งขึ้น พูดอย่างง่ายคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แม้จะมีท่าทีถอย อย่างไรก็ตามก็ยังอยู่บนพื้นฐานของการไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนอยู่ดี ยังคิดว่าในประเทศแห่งนี้ประชาชนก็ยังคงแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ กลุ่มประชาชนคนธรรมดาทั่วไป กับกลุ่มประชาชนที่มีภูมิปัญญาสูงส่งกว่าคนอื่น 

สิ่งที่ควรปรับถอยคือ 1.วุฒิสภาจะต้องมาจากการเลือกตั้งโดยตรง 2.วุฒิสภาจะต้องไม่มีอำนาจเหนือกว่าสภาผู้แทนราษฎร 3.องค์กรอิสระใดๆ ก็ตามจะต้องมีจุดเชื่อมโยงกับประชาชน ไม่ใช่การคัดสรร สรรหาคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยที่ประชาชนไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง และ 4.จะต้องมีการปฏิรูปกองทัพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งที่กรรมาธิการยกร่างฯจะต้องใส่เข้าไปให้ได้ แต่อย่างไรเสียก็คิดว่าอาจจะไม่รู้สึกใดๆ เพราะทุกสิ่งทุกอย่างถูกกำหนดไว้เป็นที่เรียบร้อยหมดแล้ว 

ท่าทีเหล่านี้จึงไม่ได้มองว่าเป็นการถอย เพราะถ้าถอยจริงหลักการใหญ่จะต้องถอยด้วย กลไกที่วางเอาไว้ไม่ได้เอื้อให้กับรัฐบาลที่เข้ามาในอนาคต และสิ่งเหล่านี้จะก่อให้เกิดวิกฤตอันจะนำไปสู่การรัฐประหารอีกครั้ง และจะเป็นกับดักทำให้เกิดการรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำอีก

พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์

โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

       ตรงนี้เรายังระบุไม่ได้ว่ามีเรื่องอะไรบ้าง และไม่อยากพูดถึงก่อนเพราะอะไรก็ไม่แน่นอน เดี๋ยวประชาชนจะเกิดความสับสน บางครั้งเราพูดไปว่าจะออกมาเป็นเอ แต่ที่สุดอาจจะออกเป็นบีก็ได้ ดังนั้นหากเราระบุไป คนก็จะพูดได้ว่า กมธ.ยกร่างฯหลอก ที่ผ่านมานั้นเราเพียงพูดคุยกันในภาพรวม ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ตอนนี้เพียงดูว่าหลักการเป็นไง แก้เช่นนี้จะออกมาเป็นไง สอดคล้องกับหลักการหรือไม่ อย่างไร โดยหากจะชัดเจนจริงคงต้องเป็นหลังลงรายมาตรา ต้องรอดูรายมาตราปรับแล้วเป็นไง และอย่างที่นายบวรศักดิ์ได้ชี้แจงไปนั้น คือภาพรวมที่ กมธ.ยกร่างฯคิดกัน เช่น กลุ่มการเมืองตัดออกไป ใช้พรรคการมืองแทน แต่ทั้งนี้การที่ตัดกลุ่มการเมืองออก เราใช้พรรคการเมืองแทน การตั้งพรรคก็ต้องทำให้ง่ายขึ้น ซึ่งเรื่องนี้นตอนลงรายมาตราจะมีปัญหาอีกคือ ต้องมีการพูดกันว่าจะทำอย่างไรให้จดง่ายขึ้น ต้องมีรายละเอียดมากกว่านี้ 

       นอกจากนี้ที่มีกระแสว่า สปช.บางท่านยังไม่พอใจที่นายบวรศักดิ์บอกจะยอมถอยแล้วปรับแก้นั้น เป็นเรื่องของ สปช.แต่ละคน เพราะจะบอกว่าคนหนึ่งจะได้ทุกอย่างหมดไม่ได้หรอก แล้วอย่างนี้คนอื่นที่เสนอมาจะเป็นอย่างไร อย่างทั้งหมด 249 คน ชอบแบบเดิม แต่มีคนเดียวไม่ชอบ เราจะแก้ตามหรือ แล้วความเห็นของ 249 คน ไม่สำคัญหรือ การจะแก้ไขก็ไม่ใช่ดูแต่ปริมาณ แต่ต้องดูคุณภาพด้วย ส่งคำขอมาเยอะจริงแต่ไม่ได้คุณภาพก็ไม่ได้ เราดูทั้งหลักการ เหตุผล แม้มาคำขอเดียวแต่หลักการดี เหตุผลดี เราก็แก้ตาม การที่จะให้ทุกคนถูกใจหมดไม่ได้ เพราะคนหนึ่งเสนอตรงกันข้ามหมด ต้องถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นต้องดูความเหมาะสม ส่วนกระแสที่บอกว่า สปช.จะคว่ำร่างนั้น จะพูดตอนนี้ยังไม่ได้ เพราะเรายังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ คือต้องรอดูร่างจริงถึงจะบอกว่าผ่าน ไม่ผ่าน และการลงมติก็อยู่ที่วิจารณญาณแต่ละคน บังคับใครไม่ได้ 

        "ปฏิทินการพิจารณารายมาตราของเรา คาดว่าจะเริ่มวันที่ 24 มิถุนายนนี้ และจะพิจารณาต่อตามเวลาที่ได้รับมาคือ 90 วันหรือไม่นั้น เรายังไม่ได้หารือกันตรงนั้น เพราะแม้ สนช.มีมติผ่าน แต่ยังไม่ได้โปรดเกล้าฯจะมาพูดกันก่อนไม่ได้ แต่เท่าที่หลายท่านทราบคือวันสุดท้ายที่จะส่งให้ สปช.คือ 22 สิงหาคม โดยอาจจะเร็วกว่านั้นก็ได้ ตรงนี้ต้องดูและหารือกันอีกครั้ง"