111


'รธน.ชั่วคราว'ฉลุยสนช. 
บิ๊กตู่โต้ดึงบ้าน 109-111 ร่วมทีมสภาขับเคลื่อน

      'บิ๊กตู่'ยันยังไม่คิดทาบสมาชิกบ้าน 111-109 นั่งสภาขับเคลื่อนฯ อัดสื่ออย่าเอาคำพูด 'อานันท์'มาเล่นงานตัวเองบ่นเหนื่อยใจแก้ปัญหาน้ำแล้ง ยอมรับปลูกข้าวรอบแรกเสียหายแล้ว 4 ล้านไร่ ฮึ่มอย่าปลุกระดมให้คนมาประท้วง "อ๋อย-ตู่-เต้น"มาตามนัดศปป. แกนนำนปช.เตือนนายกฯ อย่าเคลิ้มเสียงเชียร์อยู่ต่อ สนช.ถกร่างแก้ไข รธน.ชั่วคราว 6 ชั่วโมง ก่อนโหวตผ่าน 3 วาระรวด เสนอนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯใน 15 วัน 'บวรศักดิ์'ย้ำต้องคงเจตนารมณ์ร่างรธน.ใหม่ 4 ข้อ ลั่นไม่มีพิมพ์เขียวตามแป๊ะสั่ง 'ไพบูลย์' เผยกมธ.ยกร่างฯ ถอยที่มาก.ต. ไปใช้โครงสร้างเดิม

 

วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8969 ข่าวสดรายวัน

 

    มาตามนัด - นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปช. เข้า พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ทหาร ศปป. เพื่อหารือแนวทางปรองดอง ที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีฯ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.

 

 

'บิ๊กตู่'โต้จีบคนนั่งสภาขับเคลื่อน

       เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกรณีมีข่าวว่าศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ของ คสช. เชิญนักการเมืองบ้านเลขที่ 109 และ 111 เข้าพูดคุยเพื่อดึงมาร่วมเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศว่า ไม่ได้ชวนมาร่วมสภาขับเคลื่อนฯ ตนเป็นคนตั้งก็มาถามตน สงสัยให้ถาม อย่าไปเชื่อแหล่งข่าว ยืนยันว่ายังไม่มีแนวคิดเชิญนักการเมืองมาร่วม เป็นการเรียกเข้ามาพูดคุยเป็นปกติทุกเดือน เพื่อรับฟังความเห็นเรื่องแนวทางปฏิรูป

      "สื่อต้องไปถามนักการเมืองเหล่านั้นด้วยว่าจะมีแนวทางการปฏิรูปอย่างไร ไม่ใช่มาถามผมคนเดียว หรือเอามาโต้แย้ง เอามาขัดแย้งกับรัฐบาลตลอด ไม่ว่าพรรคใดที่ว่าเก่งๆ ที่ออกมาพูดเล่นงานผมอยู่ ตอบได้หรือไม่ ถ้าตอบไม่ได้แสดงว่าทำไม่ได้ วันนี้ผมเปิดโอกาสให้ทุกคนพูดหมดทุกเรื่อง ไม่ได้ปิดกั้นเลย แต่ขอให้พูดให้เป็นสาระ ถ้าจะลงเลือกตั้งครั้งหน้าก็ต้องบอกได้ว่าจะปฏิรูปอย่างไรในวันข้างหน้า ถ้าติอย่างเดียว เป็นใครก็ติได้ อยู่บ้านนอนเฉยๆ ก็ติได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ฉุนสื่อถาม'อานันท์'วิจารณ์

      ผู้สื่อข่าวถามถึงนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกฯ ระบุขณะนี้รัฐบาลสามารถแก้ปัญหาความสงบเรียบร้อยได้เพียงผิวเผิน พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องขอบคุณนายอานันท์ ส่วนที่บอกว่าความสงบจะไม่ยั่งยืนนั้น ขอถามว่าแล้วสื่อว่าอย่างไร ผิวเผินอย่างไร วันนี้คนที่ทำให้บ้านเมืองไม่เรียบร้อยไม่ใช่ตน ตนมีหน้าที่ดูแลทุกคน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำ กระจายรายได้ให้มากที่สุด ทั้งที่รายได้ก็จะไม่มี วันนี้พยายามทำ พยายามคิดเพื่อแก้ปัญหาไปจนถึงอนาคต ถามว่าสิ่งที่ตนทำมันผิดตรงไหน หรือผิดมาตั้งแต่เกิด

     "ใคร มันอยู่ที่ใคร ตอบมาว่าใครทำให้เกิดความไม่สงบ รัฐบาลหรือ มันก็ไม่ใช่ผม แต่คนในชาติต้องปรองดอง จะไปบังคับให้ปรองดอง จะใช้มาตรา 44 ไปบังคับก็ไม่ได้ เราบังคับคนด้วยความดี ให้มองเห็นถึงอนาคตว่าประเทศจะเดินหน้าอย่างไรและประชาชนจะเป็นอย่างไร เป็นสิ่งที่ผมทำให้กับทุกคน ไม่ได้ทำเพื่อใครคนใด ฉะนั้นต้องเลือกว่าจะฟังใคร ถ้าสื่อมัวแต่ไปฟังทางโน้นแล้วเอามาตีผม ปัญหาก็เป็นอยู่แบบนั้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์

 

ว้ากเอาคำพูดมาเล่นงาน

      นายกฯ กล่าวว่า ความหมายของท่านอานันท์ บอกว่าสิ่งที่ทำวันนี้ทุกอย่างดี แต่ต้องทำให้เร็วเพราะสถานการณ์มันไม่สงบ ท่านเตือนพวกเราเพราะบ้านเมืองยังไม่สงบ สื่อไม่ควรเอาคำพูดของท่านมาเล่นงานตน เพราะท่านไม่ได้เล่นงานตน ตนคุยกับท่านอยู่แล้วและคุยกับทุกคน อะไรที่เสนอหรือแนะนำมา ก็ฟังเป็นแนวทางปฏิบัติพิจารณา ไม่ได้คิดเอง ฟังความเห็นจากทุกคน สื่อเองก็หัดฟังคนอื่นเขาบ้าง ฟังแล้วก็อย่าเอามาตีกัน

     เมื่อถามว่า นายอานันท์แสดงถึงข้อห่วงใยที่อยากให้เปิดโอกาสพูดคุยกันมากขึ้น เพื่อนำไปสู่การตรวจสอบที่โปร่งใส มีหลักธรรมา ภิบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้มันถึงเวลาแล้วหรือยัง สื่อต้องถามพวกที่ทำให้เกิดความวุ่นวาย ไม่ใช่ตน ตนมีหน้าที่บริหารงาน จำเป็นต้องใช้อำนาจที่มีอยู่ ใครจะทำได้ถ้าไม่มีอำนาจอย่างที่ทำกัน มันจะอะไรกับตนอีก ทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย จัดกิจกรรมดีๆ บ้านเมืองสงบสุข ไปถามประชาชนบ้างว่าวันนี้ต้องการอะไร ถ้าเลือกตั้งขึ้นมาแล้วบ้านเมืองเกิดวุ่นวายก็เป็นเรื่องของเขาแล้ว ตนไม่เกี่ยว

 

บ่นเหนื่อยใจ-จะเอาทุกอย่าง

     "จะมาไอ้โน่นไอ้นี่กับผม ผมไม่รับแล้ว ไปว่ากันมา อยากได้อย่างไรก็เลือกกันเข้ามา ผมเหนื่อยใจกับความคิดแบบนี้ ท่านอานันท์ไม่ได้ว่าผมเลย เพียงแต่บอกว่าอยากให้เปิดมากขึ้น แต่ถามว่ามันเปิดได้หรือยัง วันนี้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ จะให้เปิดมากกว่านี้หรือ เปิดเวทีมาปลุกระดมหรือไง ถ้าสื่อถามคำถามแบบนี้ อย่ามาถามผม วันนี้ผมอยู่ในอำนาจตรงนี้ ยังไม่ได้ไปสู่ระบอบประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ผมใช้กระบวนการตามประชาธิปไตยทำงานบริหารราชการ ผมไม่ได้สั่งให้ทำอย่างเดียว แต่หารือในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปศึกษาแผนทำงานบูรณาการระหว่างกระทรวง ถือเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้อง การบริหารราชการที่ถูกต้อง ทุกรัฐบาลต้องทำแบบที่ผมทำ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

     นายกฯ กล่าวว่า ผลจะออกมาดีหรือไม่ อยู่ที่ความร่วมมือของข้าราชการ ประชาชน ไม่ใช่ตีกันไปมาทุกเรื่อง บ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไร เปิดมาก็มีเรื่องขัดแย้งกันทั้งที่เรื่องไม่ใช่ข้อเท็จจริง สื่อไม่ควรตั้งคำถามเช่นนี้ ตนไปคุยกับผู้นำต่างประเทศเขาฟ้องหมด แต่ตนไม่เคยแตะต้องอะไรสักอย่าง ยังไม่เคยไปฟ้องร้องใครเพราะเสียเวลา แต่สื่อไม่เคยเกรงใจตน หนำซ้ำจะเอาทุกอย่างจากตน อย่าลืมว่าตนมาเอง ไม่มีใครเลือกมา และมาแก้ปัญหาทุกเรื่อง ตนไม่เข้าใจคนไทยเป็นอะไรกัน อะไรก็ไม่พอใจ ที่ผ่านมาอยากถามว่ามันช่วยกันหรือไม่ ระงับความขัดแย้งได้หรือไม่ ตนบอกหลายครั้งแล้วว่าไม่อยากมายืนอยู่ตรงนี้ ขอให้ทุกคนกลับไปถามตัวเองว่าทำหน้าที่ดีหรือยัง จะปล่อยให้มีปัญหาอีกหรือ 

 

ลั่นห้ามปลุกระดมม็อบน้ำ

      "ไม่ต้องมากล่าวหาว่า ทหารอยากมีอำนาจ ถ้าผมมีอำนาจ สื่อมาถามผมอย่างนี้ไม่ได้ เขียนอะไรก็ไม่ได้ แต่วันนี้อยากเขียนอะไรก็เขียนได้เสรี จะพูดอะไรก็พูด ถามอะไรผมก็ได้ เพียงแต่ผมอาจจะโกรธบ้าง ยังจะไม่พอใจกันอีก จะปลุกระดมกันให้เต็มเมือง เป็นแบบที่ต้องการไร้ขีดจำกัดกันทุกเรื่อง" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขณะนี้น้ำไม่มีก็จะเอาให้ได้ ต้องมองข้อเท็จจริงว่าจะเอาน้ำมาจากที่ใด เพราะเห็นอยู่ว่าแม่น้ำทุกแห่งต่างแห้งไปหมด ฝนไม่ตก น้ำในเขื่อนก็ไม่มี แต่จะเอาน้ำ ใครจะทำให้ได้ ต้องมองว่ารัฐบาลกำลังทำอะไรอยู่ และต้องหามาตรการดูแลคนที่ปลูกพืชไปแล้วทั้งที่ห้ามปลูก เมื่อเสียหายรัฐบาลต้องชดเชยดูแล แล้วถามว่าคนที่เชื่อรัฐบาลไม่ได้ปลูกจะทำอย่างไร ก็ต้องไปดูแลเขาอีกเพราะเสียโอกาส ส่วนที่เหลือเดี๋ยวก็ตามกันมาเป็นแถวๆ ตนอยากจะรู้ว่าจะเอาเงินจากที่ใด ไอ้โน่นไอ้นี่ก็จะเอา แต่ไม่ฟังเหตุผลว่าเราก็ทำ และอย่าไปปลุกเขาให้ออกมาเดินขบวนประท้วง เรื่องนี้ได้ให้ทุกคนไปทำความเข้าใจแล้ว 

 

ขู่งัดกฎหมายจัดการ

      "ขอร้องว่าอย่าออกมาและอย่าให้ต้องบังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้ขู่ แต่อย่ามาบังคับผม เพราะจะดูแลให้ แต่ถ้ามาบังคับก็ดูแลไม่ได้ เลิกแล้วก็จบ ส่วนการผันน้ำนั้นเรามีแผนอยู่แล้วไม่ใช่ไม่คิด น้ำในแม่น้ำโขง สาละวิน แม่น้ำยม เขาคิดหมดแล้ว ถามว่าการดำเนินการในแม่น้ำโขงเขาใช้เงิน 2 ล้านล้านเฉพาะโครงการเดียว ไปหาเงินมาแล้วผมจะทำให้ในวันนี้เลย ต่อจากนี้แม่น้ำอื่นก็ต้องใช้เงินอีกหลายหมื่นล้านก็ไปหามา ต้องเขียนแบบนี้ให้ผม ไม่ใช่ไม่รู้ ไม่คิด แก้ไขปัญหาไม่เป็นทำไม่ถูก แล้วตอนมันอยู่ทำไมไม่ทำกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

      เมื่อถามว่า ได้รับรายงานหรือไม่ว่าปัญหาภัยแล้งจะส่งผลกระทบต่อการปลูกข้าวในปีนี้อย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องรายงานหรอก ลองคำนวณดูว่านาข้าวมีเท่าไหร่ คนปลูกข้าวมีเท่าไหร่ ตัวเลขการปลูกข้าวในรอบแรกได้รับความเสียหายไปแล้วประมาณ 4 ล้านไร่ และยังไม่ได้ปลูกอีกเท่าไหร่ เราต้องสอนการรับรู้ให้ประชาชนด้วย ให้เขาระวังและเตรียมการช่วยตัวเอง รัฐบาลจะช่วยเท่าที่สามารถทำได้ แต่จะทำให้ได้มากที่สุด แต่ถ้ามาเรียกร้องอย่างเดียวก็แก้ไม่ได้ รัฐบาลไหนก็แก้ไม่ได้ ตนก็ยอมรับว่า แก้ไม่ได้ถ้าทุกคนมาเอาทุกอย่างในเวลาเดียวกันทั้งหมดแล้วกดดันทุกอย่าง ถ้าเป็นอย่างนั้นตนก็ไม่ต้องเข้ามา แล้วให้รัฐบาลปกติทำไป เขาทำได้หรือไม่ 

 

เผยหน้าที่หลังพ้นนายกฯ

     ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์สื่อสิงคโปร์ ภายหลังกลับจากการเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11-12 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายกฯ ระบุว่า นายกฯสิงคโปร์เข้าใจในสถานการณ์การเมืองไทยเป็นอย่างดีตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งนายกฯ ย้ำว่าจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุดเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย โดยขอเวลาให้กับประเทศไทยและระหว่างการเยือน ทุกคนชื่นชมและมองว่าไทยมีเสถียรภาพและเสรีภาพ และหากทุกอย่างเป็นไปตามที่วางไว้ประเทศไทยจะเข้าสู่การเลือกตั้งทั่วไปได้ภายในปีหน้า 

       พล.ต.วีรชน กล่าวว่า นายกฯ ยังกล่าวยืนยันว่ารัฐบาลจริงจังแก้ปัญหาต่างๆ เมื่อเข้ามารับตำแหน่งนายกฯ แล้วจะกลัวไม่ได้ ต้องมีความกล้า และพล.อ.ประยุทธ์ได้ตอบคำถามสุดท้ายของสำนักข่าวสิงคโปร์ว่าเมื่อพ้นตำแหน่งนายกฯ แล้วจะทำอะไรว่า "ผมยังเป็นประชาชนคนไทย พลเมืองไทยที่ยังมีหน้าที่คือการไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง การให้ความคิดเห็นทำประชามติ และเสนอความคิดเห็นผ่านผู้แทนทั้งส.ส. และส.ว. ที่เราเป็นผู้เลือกเข้ามาทำหน้าที่ในสภา นี่คือสิทธิ หน้าที่พลเมืองเป็นอย่างนี้"

 

'อ๋อย-ตู่-เต้น'มาตามนัดศปป.

      เวลา 09.00 น. ที่ห้องผ่านฟ้าลีลาศ สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี พล.ท.บุญธรรม โอริส รองผู้อำนวยการศปป. ของคสช. เชิญนาย จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย มาพูดคุยหารือ เพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปและการปรองดองเพื่อเดินหน้าประเทศ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ในรูปแบบการหารือเป็นรายบุคคล เพื่อให้เกิดความเป็นรูปธรรมภายในสัปดาห์นี้และนำเสนอต่อรัฐบาลโดยตรงอย่างเร็วที่สุด 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่สารวัตรทหารดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวดและห้ามไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง จากนั้นเวลา 10.00 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เดินทางมาถึง และนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. มาถึงในเวลา 11.00 น. 

 

จี้แก้รธน.-อย่ามัดมือชก

      นายจาตุรนต์ ให้สัมภาษณ์ภายหลังหารือว่า ตนเสนอความคิดเห็น 4 เรื่อง คือ 1.การบริหารงานด้านเศรษฐกิจและการบริหารงานโดยรวม รัฐบาลต้องเร่งใช้จ่ายภาครัฐ ควรเร่งคืนประชาธิปไตยตามโรดแม็ปจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นได้อีกทางหนึ่ง 2.การปฏิรูป 3.การยกร่างรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ 4.ลดความขัดแย้งเพื่อสร้างปรองดอง และรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็นได้อย่างกว้างขวางทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย อย่าทำประชามติแบบมัดมือชกเพียงให้ประชาชนแสดงความเห็นแค่เห็นด้วย ท้ายสุดจะได้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ได้แค่ความสงบที่ไม่ยั่งยืน บ้านเมืองจะเกิดความขัดแย้งอีก และควรมีทางออกที่ชัดเจนว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร ส่วนตนยังยืนยันความเห็นเดิมว่าหากไม่แก้ไขสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้และมีการบังคับใช้ จะเกิดความขัดแย้งขึ้นในอนาคต ประเทศจะไม่เป็นประชาธิปไตย สุดท้ายบ้านเมืองจะเสียหายไม่มีเสถียรภาพ รัฐบาลบริหารประเทศต่อไม่ได้ และหากไม่ทำประชามติอย่างเสรีจะทำให้เสียเงินเปล่า

 

'อ๋อย'รูดซิปนั่งสภาขับเคลื่อน

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า การปฏิรูปที่ผ่านมาไม่ได้พูดถึงที่มาของมูลเหตุที่ทำให้เกิคความขัดแย้ง กฎหมายที่ไม่เป็นกฎหมาย รัฐบาลรักษากฎหมายไม่ได้ ถ้าเราได้รัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่จะตามมาคือความไม่สงบ สุดท้ายกองทัพจะออกมายึดอำนาจอีก ดังนั้นต้องตั้งคำถามว่าต้องการให้เกิดความสงบขึ้นหรือไม่ ถ้าต้องการก็ต้องมีการแลกเปลี่ยนความเห็นที่กว้างขวาง ทั้งนี้ ตนได้รับแจ้งว่าเสนาธิการทหารบกได้รับร่างโครงการเสวนาเพื่อรวบรวมองค์ความรู้เกี่ยวกับความปรองดองในประเทศไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งตนเสนอให้ไปเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา จึงขอให้นำเรื่องดังกล่าวไปสานต่อและเชิญผู้มีความรู้ด้านปรองดองมาร่วมหารือต่อไป

      ต่อข้อถามถึงกระแสข่าว คสช.ทาบทามไปร่วมในสภาขับเคลื่อนฯ นายจาตุรนต์กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการทาบทามใดๆ ทั้งสิ้น เมื่อถามว่าหากเชิญจะเข้าร่วมหรือไม่ นาย จาตุรนต์กล่าวว่า เป็นเรื่องที่วิเคราะห์กันไปเอง ยังไม่มีมูล ตอบไปตอนนี้อาจจะแปลกๆ และเป็นประเด็นทางการเมืองทันที แต่ยืนยันว่ายังไม่มีการทาบทามแต่อย่างใด

 

'ตู่'ค้านตั้งคนขัดแย้ง-อคติ

     ด้านนายจตุพรกล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการตั้งสภาขับเคลื่อนฯ แต่ถ้าจะต้องมีและเกิดขึ้นจริงๆ ก็ไม่ควรเอาคนที่มีลักษณะขัดแย้ง มีอคติตั้งแต่ต้น ตนเคยเสนอไปแล้วตั้งแต่การตั้งแม่น้ำ 5 สาย และวันนี้พล.อ.ประยุทธ์คงเห็นปัญหาแล้ว ดังนั้น คนที่มาทำหน้าที่ดังกล่าวต้องไม่มองคนอื่นในเชิงอคติ และไม่น่าจะเป็นคนที่อยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.)และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) 

     ผู้สื่อข่าวถามถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ปี 2557 มาตรา 8(4) ที่เปิดทางให้สมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 รับตำแหน่งสภาต่างๆ และเป็นรัฐมนตรีได้ นายจตุพรกล่าวว่าคนที่เป็นนักการเมืองจริงๆ ไม่มีใครอยากมาเป็น เพราะไม่ใช่หนทางของพวกเรา ซึ่งหนทางของพวกเราคือสนามเลือกตั้งที่มาจากประชาชน จะเห็นได้ว่า 1 ปีที่ผ่านมาของสปช.ที่เข้ามาปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์ยังบอกว่าทำได้เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ เหลืออีก 90 เปอร์เซ็นต์ยังปฏิรูปไม่สำเร็จ ทั้งที่มีชุดความรู้การปฏิรูปที่นายอานันท์ ปันยารชุน และนพ.ประเวศ วะสี เคยทำไว้และมีข้อมูลครบถ้วน ก็น่าจะเอามาเติมเต็มเล็กน้อย

 

วอนคสช.ขอเปิดพีซทีวี

      นายจตุพร กล่าวว่า การทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญต้องอธิบายต่อนานาชาติและคนไทยได้ ถ้าทำทุกอย่างโปร่งใส มีประสิทธิภาพและปราศจากข้อครหาต่างๆ ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร ก็เดินต่อไปได้ ตนไม่ได้เกรงกลัวการใช้อำนาจรัฐว่าจะมีส่วนได้ส่วนเสียทำประชามติ เพราะยิ่งใช้จะยิ่งได้รับการต่อต้าน เหมือนกรณีรัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ถ้าเป็นรัฐบาลรักษาการแล้วยิ่งใช้อำนาจมาก ก็ยิ่งได้รับการต่อต้านจากประชาชนโดยอัตโนมัติ อีกทั้งการทำประชามติควรเปิดกว้าง ทั้งฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านมีโอกาสแสดงความคิดเห็นได้ เพื่อบรรยากาศที่ดี 

      นายจตุพร กล่าวว่า ส่วนคนที่เล่นบทเป็นกรรมการต้องทำหน้าที่ตรงไปตรงมา อย่าทำตัวเป็นกรรมการมวยปล้ำ เพราะขี้ฉ้อทุกคน ตนคาดหวังว่าบรรยากาศแบบนี้จะทำให้ทุกคนคุยกันได้หมด ท้ายที่สุด ทุกคนที่เห็นต่างก็ต้องเห็นแก่บ้านเมือง ผู้สื่อข่าวถามถึงการขอเปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี นายจตุพรกล่าวว่าตนได้บอกกับคสช.แล้วว่าขอโอกาสให้เราได้เปิดสถานีอีกครั้ง

 

'เต้น'สะกิดนายกฯอย่าเคลิ้ม

      นายณัฐวุฒิให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องใหญ่สุดที่ฝากถึงนายกฯให้เร่งดำเนินการ คือการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ เพราะจากที่รัฐบาลแถลงว่าเศรษฐกิจดีขึ้นหรือไม่ได้แย่นั้น ไม่รู้ว่าเอาข้อมูลมาจากไหน จากที่ตนสัมผัสกับประชาชน พบว่าทำมาหากินยากขึ้น รายได้ลด แต่ภาระในชีวิตเท่าเดิม และสถานการณ์น่าห่วงกว่าช่วงปี 2540 ที่ผ่านมา เพราะมีแต่กิจการที่ประสบปัญหา เดือดร้อนไปถึงคนหาเช้ากินค่ำ คนระดับล่างทั้งหมด 

      นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ส่วนเรื่องการเมืองและการร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนเสนอให้นายกฯ พิจารณาอยู่ในอำนาจตามกรอบเวลาโรดแม็ป ซึ่งตนไม่ได้เรียกร้องเพราะอยากรีบเลือกตั้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับนายกฯ แต่เห็นว่าหากทำตามโรดแม็ปจะเกิดผลดีต่อสถานการณ์โดยรวมของประเทศ ประชาชน รวมทั้งตัวนายกฯเองด้วย นายกฯอย่าไปเคลิ้มตามเสียงเชียร์ของคนในเรือแป๊ะที่อยากให้อยู่ต่อ เพราะไม่ใช่สัญญาณที่แท้จริงจากประชาชน รวมทั้งอยากให้นายกฯ ปรับทัศนคติของคนในแม่น้ำ 5 สายด้วย 

 

จี้เปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่าง

      "สปช.บางคนแสดงออกโจ่งแจ้งถึงขั้นประกาศจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อนานๆ ผมมองว่าดูแคลนประชาชนมากไป ถือว่าไม่จริงใจกับประชาชน ผมไม่ได้มองว่านายกฯ เออออไปกับเรื่องนี้ แต่ถ้าทำกันถึงขนาดนี้ ไม่เป็นผลดีกับรัฐบาล ขณะที่กมธ.ยกร่างฯ ควรรวบรวมความคิดเห็นของทุกฝ่ายนำไปปรับเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้สอด คล้อง กับหลักประชาธิปไตย จัดทำประชามติ และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งตามระบอบประชาธิป ไตย เชื่อว่าเป็นสิ่งที่เหมาะสุดแล้ว" นาย ณัฐวุฒิกล่าว

นายณัฐวุฒิกล่าวว่า ที่พูดกันว่านักการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นเพราะห่วงแต่จะเลือกตั้งนั้น ไม่ใช่ ที่เขาพูดเพราะเป็นผู้เล่นในสนาม หากใช้ตรรกะนี้แล้ว กลุ่มผู้พิพากษา 1 พันกว่าคนที่ออกมาแสดงความเห็นคัดค้านด้วยนั้น เขาก็เป็นผู้เล่นเหมือนกัน จึงขอให้เข้าใจด้วย ซึ่งเห็นว่าหากปล่อยไปจะเกิดปัญหา หากนายกฯจะไม่รับฟังหรือไม่นำไปสู่การปฏิบัติก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยต้องเปิดพื้นที่ให้คนเห็นต่างได้แสดงความคิดเห็นด้วย

 

สนช.ถกแก้รธน.ชั่วคราว

      เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสนช. มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่... พ.ศ..... แบบ 3 วาระรวด ตามที่ครม.และคสช.เสนอ โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นตัวแทนครม. ชี้แจงตอบข้อซักถามต่อสนช. 

นายพรเพชรชี้แจงหลักเกณฑ์วิธีการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46 ประกอบมาตรา 5 ให้ที่ประชุมสนช.รับทราบ พร้อมขอมติที่ประชุมสนช. เพื่อขอยกเว้นข้อบังคับการประชุม ข้อ 177 กรณีหากมีการขอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่จำเป็นต้องส่งเรื่องกลับไปให้ครม.และคสช.พิจารณา แต่ให้พิจารณาในที่ประชุมสนช.ได้ทันที เนื่องจากมีตัวแทนครม. 3 คน มาร่วมอยู่ในที่ประชุมสนช.แล้ว

 

'วิษณุ'ชี้แจงเหตุผล

      นายวิษณุชี้แจงเหตุผลการขอแก้ไขว่า เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติ ตลอดจนประเด็นอื่นๆ ที่มีความผูกพันเพื่อให้ลุล่วงในคราวเดียวกัน โดยแก้ไข 7 ประเด็น ได้แก่ 1.การแก้ไขคุณสมบัติให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สามารถเป็นสนช.และครม.ได้ 2.การถวายสัตย์ปฏิญาณให้กระทำต่อพระมหากษัตริย์ หรือรัชทายาท ผู้แทนพระองค์ได้ 3.การแก้ไขกรอบเวลาการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ จาก 60 วัน เป็นไม่เกิน 90 วัน

4.การให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 5.การให้สปช. สิ้นสุดการทำงาน ภายหลังลงมติร่างรัฐธรรมนูญ และให้สภาขับเคลื่อนฯ มาทำหน้าที่แทน 6.หากกมธ.ยกร่างฯ 36 คน สิ้นสุดลง ให้มีคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน มาทำหน้าที่รับฟังความเห็นและแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 6 เดือน และ 7.แก้ไขรายละเอียดมาตราต่างๆ ที่คลาดเคลื่อนให้สอดคล้องกัน

 

สมาชิก 4 คนรุมถาม

     จากนั้นที่ประชุมสนช.เปิดให้สมาชิกซักถามข้อสงสัยต่างๆ ในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยมีสนช.ขออภิปราย 4 คนได้แก่ นายสมชาย แสวงการ ถามว่าหากตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อยกร่างเสร็จแล้ว หากทำประชามติไม่ผ่าน จะทำอย่างไร ด้านนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ถามว่า สภาขับเคลื่อนฯ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)หรือไม่ และจะสิ้นสุดการทำงานเมื่อใด 

      ขณะที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม ตั้งข้อสังเกตว่า การปลดล็อกให้ผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งมาเป็นสนช.และครม.ได้ เหมือนส่งสัญญาณไปยังกมธ.ยกร่างฯ ว่า ผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งสามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งไม่สอดคล้องกับมาตรการป้องกันคนไม่ดีมาบริหารประเทศ และนพ. เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายว่าอยากให้การทำประชามติต้องมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเกินครึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียง 49 ล้านคน จึงเป็นการทำประชามติที่แท้จริง

 

'บิ๊กป้อม'ไขปมทุกประเด็น

       พล.อ.ประวิตรชี้แจงถึงการยุบ สปช. จากเดิมรัฐธรรมนูญชั่วคราว กำหนดหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านมติสปช. ทั้งกมธ.ยกร่างฯ และสปช.จะต้องตก หมดวาระลงทั้งคู่ ซึ่งมีข้อคำถามจากสังคมว่าหากสปช.แม้จะไม่เห็นด้วยกับร่าง ก็จะโหวตให้ผ่านเพราะยังอยากอยู่ต่อ คสช.จึงแก้ไขให้ สปช.หมดวาระไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน เพื่อให้ สปช.เป็นอิสระ ทำงานและโหวตอย่างเต็มที่ เพราะเขาต้องออกไปอยู่แล้ว ส่วนกมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องอยู่ต่อ เพราะเมื่อทำประชามติแล้ว ประชาชนต้องการให้แก้ไข กมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องทำหน้าที่ในส่วนนี้ต่อ 

      พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ส่วนการปลดล็อกผู้ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้ความเป็นธรรมในสังคมแก่ผู้ถูกลงโทษไปแล้ว แต่จะเลือกมาทำงานหรือไม่ อยู่ที่คสช.และรัฐบาล ไม่ใช่ว่าเราไม่แข็งกร้าว ส่วนสภาขับเคลื่อนฯ จะทำหน้าที่เรื่องปฏิรูปอย่างเดียว ไม่เกี่ยวข้องกับสภาผู้แทนราษฎร เมื่อสปช.ไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน อีกทั้งสภาขับเคลื่อนฯ ไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯ แล้ว จึงไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช.

 

โหวตผ่านวาระแรก

      ด้านนายวิษณุ ชี้แจงว่า ที่มาของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน หัวหน้า คสช.เป็นผู้แต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิมายกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยให้เวลาไม่เกิน 6 เดือน จากนั้นให้ทำประชามติครั้งที่ 2 คาดว่าอยู่ในช่วงกลางปีหรือปลายปี 2559 หากทำประชามติครั้งที่ 2 ยังไม่ได้รับความเห็นชอบ จะดำเนินการอย่างไรนั้น ขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ ขอหยุดไว้แค่นี้ก่อน ถ้าเขียนกำหนดลงไป ต้องเขียนถึงขั้นว่าถ้าประชามติไม่ผ่านครั้งที่ 6 ครั้งที่ 7 จะทำอย่างไร จะยิ่งยุ่งใหญ่ ขณะนี้มีมาตรา 46 อยู่ในมือ ถึงเวลาขอแก้รัฐธรรมนูญ กลับมา รบกวนสนช.อีกครั้งว่าจะทำอย่างไร จากนั้นค่อยคิดกันว่าสังคมต้องการอย่างไร ไว้ว่ากันในช่วงนั้น ยังมีเวลาคิดอ่านอยู่ ส่วนสภาขับเคลื่อนฯ จะมีอายุการทำงานไปกระทั่งมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขึ้นอยู่กับรัฐธรรมนูญใหม่จะเขียนให้อยู่ถึงเมื่อใด อาจเลยไปถึงวันเลือกตั้ง หรือวันเปิดสภาครั้งแรกก็ได้ 

จากนั้นที่ประชุมสนช.ขอความเห็นชอบรับหลักการในวาระ 1 โดยใช้วิธีขานชื่อออกเสียงลงคะแนนโดยเปิดเผย ซึ่งสนช.ต่างรับหลักการอย่างท่วมท้น ด้วยคะแนน 204 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 คะแนน

 

ตั้งกรรมาธิการเต็มสภา

     ต่อมาเวลา 12.25 น. เข้าสู่การพิจารณาวาระ 2 เป็นรายมาตรา ที่ประชุม สนช.ใช้การตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภา โดยสมาชิก สนช.ซักถามในมาตรา 3 เรื่องคุณสมบัติการดำรงตำแหน่ง สนช. ที่กำหนดให้ ไม่อยู่ในระหว่างการถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง สามารถดำรงตำแหน่งได้ ซึ่งสังคมวิจารณ์ว่า คสช.จะมีท่าทีเปลี่ยนแปลงการสรรหาคนเข้าทำงานอย่างไร เพราะการแก้ไขนี้จะถูกนำไปใช้กับสภาขับเคลื่อนฯ 

     ตลอดจนประเด็นการทำประชามติในมาตรา 5 การให้สนช.และสปช. กำหนดประเด็นคำถามเพื่อทำประชามติเพิ่มเติม สามารถสอบถามในประเด็นอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้หรือไม่ และเมื่อประชาชนลงมติเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งฉบับแล้ว จะแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญตามความเห็นของประชาชนอย่างไร

      นายวิษณุ ชี้แจงว่า ไม่ใช่การเปลี่ยนจุดยืน แต่ต้องการทำให้เกิดความชัดเจน แยกแยะระหว่างผู้กระทำการและผู้ติดร่างแห เพราะการเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งมีเป็นสิบเหตุ เช่น การยุบพรรคที่เพิกถอนสิทธิ์ทั้งหัวหน้าและกรรมการบริหารพรรคทั้งที่ไม่ใช่ผู้กระทำการ อาจทำให้ภาพติดตาว่าคนเหล่านี้ทุจริต หรือกระทำผิดร้ายแรง แต่คสช.และครม.เห็นว่าเมื่อพ้นโทษแล้วสิ่งนี้ต้องไม่ใช่ตราบาปติดตัวเขาตลอดไป เว้นแต่จะกระทำชั่วร้ายอย่างแท้จริง ไม่ได้หมายความว่าจะดึงหรือเล็งใครมาดำรงตำแหน่งได้โดยง่าย อีกทั้งกมธ.ยกร่างฯ ก็ระบุว่าในร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่ได้แยกแยะฐานความผิดไว้แล้ว 

 

ฉลุยวาระ 3-ทูลเกล้าฯ ใน 15 วัน

       นายวิษณุ กล่าวว่า กรณีที่สปช.ลงมติให้ความเห็นชอบแล้วยังไม่ถือว่าพ้นออกจากตำแหน่งทันที แต่ต้องอยู่ทำหน้าที่เพื่อลงมติว่าจะส่งคำถามสำหรับการประชามติเพิ่มเติมในวันเดียวกับการลงมติร่างรัฐธรรมนูญ การทำประชามติจะทำประเด็นนอกหรือในรัฐธรรมนูญก็ได้ เช่น ถามว่าเห็นด้วยจะให้มีบ่อนกาสิโนในไทยหรือไม่ จะให้เลือกตั้ง ผู้ว่าฯ หรือไม่ แต่คำถามนั้นจะต้องได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม สปช. หรือ สนช. ก่อนส่งให้ครม.พิจารณา 

    นายวิษณุ กล่าวอีกว่า การเปิดให้ กมธ.ยกร่างฯ อยู่ทำหน้าที่ต่อไป เมื่อผลการประชามติผ่าน เผื่อไว้กรณีประเด็นประชามติอื่นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญต้องไปปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ และเห็นชอบให้มีนายกฯ มาจากการเลือกตั้งโดยตรง กมธ.ยกร่างฯ จะต้องไปปรับแก้ในส่วนนี้ให้สอดคล้องกัน จากนั้นจึงส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ที่แก้ไปสอดคล้องกับผลประชามติหรือไม่ 

     จากนั้นที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ตามที่ คสช. และ ครม.เสนอแก้ไข ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 203 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 รวมเวลาการพิจารณากว่า 6 ชั่วโมง จากนี้จะเสนอนายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่สนช.มีมติ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ โดยให้นายกฯ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเพื่อรอประกาศบังคับใช้ต่อไป 

 

เผย 14 สนช.โดดร่ม-ลาประชุม

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงมติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว วาระ 3 มีสมาชิก สนช.ใช้สิทธิ์ลงมติ 206 คน แบ่งเป็นเห็นชอบ 203 คน งดออกเสียง 3 คน ได้แก่ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่หนึ่ง และนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่สอง โดยมีสมาชิกไม่อยู่ร่วมประชุม 5 คน ประกอบด้วย พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา พล.อ.ไตรรัตน์ รังคะรัตน พล.ท.ภาณุวัชร นาควงษม์ และพล.อ.วีรัณ ฉันทศาสตร์โกศล

     นอกจากนี้ มีสมาชิกยื่นใบลาต่อประธาน สนช.อย่างเป็นทางการ 9 คน ประกอบด้วย พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง พล.อ.ธารไชยยันต์ ศรีสุวรรณ ร.ต.ต. พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร พล.ต.อ. พัชรวาท วงษ์สุวรรณ พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร พล.อ.อ.ศิวเกียรติ์ ชเยมะ พล.ท.ศุภกร สงวนชาติศรไกร และ พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ

 

อ.ปื๊ดย้ำเจตนารมณ์รธน. 4 ข้อ

      เมื่อเวลา 14.00 น. ที่คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวปาฐกถาในงานปาฐกถาประยูร กาญจนดุล ครั้งที่ 7 เรื่อง "รู้ลึก รู้ชัด กับอนาคตรัฐธรรมนูญ" ว่าอนาคตของรัฐธรรมนูญ หากจะให้รู้ลึกรู้ชัดต้องถามสปช.กับคสช. จึงจะให้คำตอบได้ ในส่วนกมธ.ยกร่างฯเห็นว่าเราต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง จะมายกพวกตีกัน ปักหลักค้างคืนบนถนนเหมือนที่ผ่านมาอีกไม่ได้ ภาพนั้นต้องหมดไป ดังนั้น การร่างรัฐธรรมนูญต้องเหลียวหลังแก้ปัญหาในอดีต แลหน้าสู่อนาคต ซึ่งเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้คือ 1.สร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ 2.ทำให้การเมืองใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ 4.นำชาติสู่สันติสุข 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่าขณะนี้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ขยายเวลาให้ กมธ.ยกร่างฯออกไปอีก 30 วัน ซึ่งเราจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.วันที่ 22 ส.ค.นี้ คาดว่าวันที่ 5-7 ก.ย. สปช.จะลงมติรับหรือไม่รับ หากไม่เห็นชอบก็เป็นฝาแฝดอิน-จัน ตายตามกันไป และถ้าไปอ่านในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้ดี จะเห็นว่าเมื่อรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน ก็จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คนมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใน 180 วัน และถ้าไม่ผ่านการทำประชามติอีกทั้ง 21 คนก็สิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ 

 

เชื่อแป๊ะแก้ต่อ-มึนกกต.

      ถ้าไปดูดีๆ ไม่มีการเขียนเอาไว้ว่าจะทำยังไงต่อ แสดงว่าแป๊ะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ เพราะไม่ได้เขียนไว้ว่าจะต้องทำอย่างไร และผมสงสัยว่าคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ไปกำหนดวันลงประชามติวันที่ 10 ม.ค.2559 ได้อย่างไร เนื่องจากต้องแจกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ครบร้อยละ 80 ของครัวเรือน หรือ 19 ล้านฉบับ และการที่ครม.ขอแก้ 100 กว่าจุด แสดงว่าไม่มีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพู หรือเขียนตามที่แป๊ะสั่ง ซึ่งครม.กำชับมาตลอดว่าการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องไม่ให้มีการออกมาตีกันอีก แต่ผมยืนยันว่าเจตนารมณ์ 4 ข้อนั้นต้องอยู่ เพราะเหมือนออกแบบบ้านตรงนี้คือเสาเอก ถ้าเราจะสร้างบ้านแล้วมารื้อเสาเอกทิ้ง ต้องหาคนเขียนใหม่" นายบวรศักดิ์กล่าว

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯอยู่ระหว่างการดูคำขอแก้ไข ซึ่งในหมวดการเมือง มีแนวโน้มจะปรับปรุงแก้ไข อาทิ การปรับจำนวนส.ส. จากเดิม 250 คน อาจปรับเป็นส.ส.เขต 300 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน และมีแนวโน้มว่าการคิดส.ส.บัญชีรายชื่อ 6 ภาค อาจปรับเป็นแบบเดิม โดยใช้เป็นเขตประเทศ ส่วนเรื่องกลุ่มการเมือง มีแนวโน้มสูงที่จะเอาออก แต่จะให้มีการตั้งพรรคง่ายขึ้น เพราะไม่อยากให้พรรคเป็นของคนตระกูลใดเหมือนที่ผ่านมา 

 

ยันไม่ใช่รธน.ในฝันตัวเอง

     ประธานกมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า หน้าที่ส.ว.คิดว่าจะปรับการเสนอกฎหมายออก เพราะหลายส่วนบอกไม่พร้อม คงให้ทำหน้าที่กลั่นกรองตามเดิม และตัดอำนาจที่พิจารณาตรวจสอบคุณสมบัติรัฐมนตรีออกด้วย ส่วนการถอดถอนจะให้ทำได้เฉพาะคนที่ส.ว.แต่งตั้ง เห็นชอบ ซึ่งการปรับดังกล่าวถือว่าประนีประนอม เดินสายกลางแล้ว

"อนาคตรัฐธรรมนูญนี้จึงขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯ ที่ต้องคงเจตนารมณ์ 4 ข้อไว้ให้ได้ ยืนยันไม่ใช่รัฐธรรมนูญฉบับในฝันของตน แต่เป็นฉบับที่ทำให้ประเทศขยับเคลื่อนไปข้างหน้า สร้างประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคมและประชาธิปไตยทางการเมืองโดยพลเมืองเป็นใหญ่ ใสสะอาดเท่าที่สังคมไทยจะรับได้ในเวลานี้

 

จ่อยอมถอยที่มาก.ต.

      นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า การประชุมกมธ.ยกร่างฯวันที่ 18 มิ.ย. หารือถึงข้อเสนอของคณะผู้พิพากษา 1,380 คนที่ขอให้ทบทวนสัดส่วนของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม(ก.ต.) ที่กำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก โดยที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นร่วมกันว่าควรกลับไปใช้โครงสร้างแบบเดิม คือให้มีสัดส่วนผู้ทรงคุณวุฒิจากบุคคลภายนอกที่ไม่เป็นหรือเคยเป็นผู้พิพากษา หรือตุลาการ และไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2 คน

นายไพบูลย์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้ลงมือแก้ไขในตัวบทบัญญัติอย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการหารือและรวบประเด็นเท่านั้น โดยการแก้ไขเนื้อหาในร่างแรกจะเริ่มขึ้นในสัปดาห์หน้า รวมถึงการพิจารณาแก้ไขเนื้อหาในส่วนอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย

 

'มาร์ค'จี้เปิดเผยกระบวนการ

      นายไพบูลย์กล่าวว่า แม้สนช.จะลงมติเห็นชอบกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวแล้ว แต่กมธ.ยกร่างฯยังไม่ตัดสินใจว่าจะขอขยายเวลาการทำงานเพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรม นูญเพิ่มเติมออกไปอีก 30 วันหรือไม่ เนื่องจากต้องการให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมีผลบังคับใช้ก่อน จากนั้นถึงจะนัดประชุมและมีมติเป็นทางการว่าจะให้ขยายเวลาทำงานหรือไม่ แต่คิดว่ากมธ.ยกร่างฯน่าจะเห็นด้วยกับการขยายเวลาทำงาน เพราะจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย เพื่อให้มีเวลาทำงานได้อย่างรอบคอบ 

      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าตอนนี้ยังไม่รู้ว่าจะมีการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือไม่แก้ไขอย่างไร ซึ่งส่วนตัวรู้สึกเสียดาย กมธ.ยกร่างฯควรทำกระบวนการให้เปิดเผยมากที่สุด โดยเปิดให้ชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจและโน้มน้าวให้คนสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ ให้รู้สึกว่าทุกคนเป็นเจ้าของแล้วอยากสนับสนุน แต่พอกระบวนการปิด ทำให้คนที่เสนอความเห็นรู้สึกว่า กมธ.ยกร่างฯจะรับฟังหรือไม่ ถึงไม่ให้ไปชี้แจง และไม่เปิดให้แสดงเหตุผล จึงเห็นว่ากมธ.ยกร่างฯ ควรทำกระบวนการให้มีส่วนร่วมและเปิดเผยให้มากที่สุด

 

จ่อออกหมายจับนศ.กลุ่มดาวดิน

     เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่กองบัญชาการกองทัพบก พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เปิดเผยว่า ในวันที่ 18 มิ.ย. เป็นวันสิ้นสุดการผ่อนผันเข้ารายงานของนักศึกษากลุ่มดาวดินตามหมายเรียก ของ สภ.เมืองขอนแก่น ในข้อกล่าวหา ร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจำนวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป หากไม่มารายงานตัว เป็นไปได้ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจอาจจำเป็นต้องเพิ่มระดับเป็นการออกหมายจับ 

      "การกระทำของกลุ่มนักศึกษาดังกล่าวพยายามทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์เชิงยั่วยุสร้างความวุ่นวายในสังคม ละเมิดกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่อะลุ่มอล่วยให้มาตลอด แต่หากไม่เข้าใจ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายให้เป็นกฎหมาย" พ.อ.วินธัยกล่าว

     โฆษกคสช.กล่าวว่า หากต้องการแสดงความคิดเห็นใดๆ รัฐบาลเปิดช่องทางไว้จำนวนมากให้นำเสนอได้ โดยไม่จำเป็นต้องละเมิดกฎหมาย ดังนั้น หากวันที่ 18 มิ.ย. ยังไม่มารายงานตัว เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องยึดเงินประกันตัว 50,000 บาท พร้อมออกหมายจับ ในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช.ที่ 7/2557 นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อาจพิจารณาเชิญผู้ปกครองของนักศึกษากลุ่มดังกล่าวมาเข้าพบตำรวจด้วย โดยเทียบเคียงกับกรณีเด็กแว้นที่เมื่อกระทำผิดผู้ปกครองต้องร่วมกันรับผิดชอบต่อพฤติกรรมของลูกหลานด้วย

    พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนวันที่ 19 มิ.ย. จะเป็นวันสุดท้ายของการผ่อนผันที่กลุ่มนักศึกษา ที่จัดกิจกรรมหน้าหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพ 9 คน ซึ่งต้องเข้ามารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นกัน หากไม่มารายงานตัว จะใช้แนวทางเดียวกับที่จะดำเนินการกับนักศึกษากลุ่มดาวดิน ทั้งนี้อยากฝากถึงครอบครัวผู้ปกครองให้ดูแลบุตรหลานของตนว่า ไม่ควรกระทำการที่ขัดต่อกฎหมายบ้านเมือง และที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามให้โอกาสและลงโทษในสถานเบาที่สุดแล้ว แต่หลายคนยังมีพฤติกรรมกระทำผิดซ้ำซาก ไม่เป็นไปตามที่เคยรับปากเจ้าหน้าที่ไว้เมื่อคราวที่ปล่อยตัวไป ครั้งนี้จึงต้องดำเนินการอย่างเด็ดขาด เพราะถือว่าได้ให้โอกาสมามากพอแล้ว ส่วนกลุ่มใดๆ ที่เคลื่อนไหวสนับสนุนการกระทำที่ละเมิดกฎหมาย ควรหยุดโดยทันที รวมถึงกลุ่มกิจกรรมที่จะรวมตัวขึ้นมาใหม่ด้วย ขณะนี้เจ้าหน้าที่ติดตามอยู่ตลอด หากยังมีความพยายามจะฝ่าฝืนกฎหมาย ภาครัฐก็จำเป็นต้องดำเนินการขั้นเด็ดขาดเช่นกัน

 

'อุ๋ย'ชี้ศก.ยังดิ่ง-ชาวนาลำบาก4ปี

      เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในงานประชุมเนชั่นแนล ไดเร็กเตอร์ คอนเฟอเรนซ์ 2558 จัดโดยสถาบันกรรมการบริษัทไทย (ไอโอดี) ที่โรงแรมสยามเคมปินสกี้ ว่า รัฐบาลก่อนดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผิดหลักธรรมาภิบาล โดยทำโครงการรับจำนำข้าว และโครงการรถยนต์คันแรก แม้จะช่วยทำให้เศรษฐกิจของไทยขยายตัวได้ดี แต่แท้จริงกลับส่งผลเสียอย่างมากต่อฐานะการเงินในระยะยาว และไม่ได้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืนและยังสร้างภาระให้กับรัฐบาลชุดต่อไปต้องมาสะสางปัญหาความเสียหายที่ค้างอยู่ให้หมด และคงใช้เวลาอีกยาวนานกว่าจะแก้ไขให้หมดสิ้น 

       "รัฐบาลที่แล้วบริหารประเทศโดยขาดหลักธรรมาภิบาล ทำโครงการรับจำนำข้าว มีการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมากและทุกระดับ แต่เงินที่ได้จากคอร์รัปชั่นก็สู่ระบบเศรษฐกิจ ทำให้เกิดการเติบโตแม้เกิดความสูญเสียภายหลังก็ตาม เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาไม่ทำโครงการจำนำข้าวต่อ เศรษฐกิจก็ชะลอตัวลง รวมทั้งการปราบปรามคอร์รัปชั่น ยาเสพติด ที่เป็นธุรกิจสีเทา เงินที่เคยได้รับและใช้จ่ายง่ายๆ ก็หมดไป จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เศรษฐกิจต้องชะลอตัวอีก 1 ปีแน่ๆ ส่วนการระบายข้าวก็ทำได้ยาก แม้ตอนนี้ระบายออกไปแล้ว 3 ล้านตัน ซึ่งเรื่องนี้มีผลกระทบต่อชาวนาให้ลำบากต่อเนื่องไปอีกอย่างต่ำ 3-4 ปี" ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

 

สนช.สมเจตน์ ค้าน แก้รธน.เปิดทาง 111-109 คืนการเมือง ชี้ ปรองดองไม่ถูกทาง

 18 มิถุนายน พ.ศ. 2558 เวลา 08:05:52 น.


 

http://www.matichon.co.th/online/2015/06/14345855241434585783l.jpg

       เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่สนช.เตรียมพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557ในวันที่ 18 มิถุนายนนี้ว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขเนื้อหาในมาตรา 3 และไม่เข้าใจว่ารัฐบาลและคสช.มีวัตถุประสงค์อะไร เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้มีหลักการสำคัญเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557ได้บัญญัติข้อห้ามเอาไว้แล้วเหตุใดรัฐบาลต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงซึ่งถ้าจะว่ากันตามหลักการแล้วหากบุคคลใดที่กระทำความผิดก็ควรได้รับการลงโทษ

เมื่อถามว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้มองว่ารัฐบาลมีความต้องการให้อดีตกรรมการบริหารพรรคการเมืองกลุ่ม111 และ กลุ่ม 109 เข้ามามีตำแหน่งทางการเมืองใช่หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวว่า ย่อมมองเช่นนั้นได้ หรืออาจมองได้อีกด้านหนึ่งว่าเป็นการต้องการสร้างความปรองดอง แต่ส่วนตัวมีหลักการแน่วแน่ว่า การปรองดองที่ถูกต้องนั้นจะต้องไม่ปรองดองกับคนที่กระทำผิด  

       "ผมมองว่าประเด็นนี้เพียงประเด็นเดียวคงไม่มีผลให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ผ่านความเห็นชอบของสนช.แต่ทางที่ดีไม่ควรทำอะไรที่อาจเป็นการสร้างปัญหา"พล.อ.สมเจตน์กล่าว