SPA18

 

อ๋อย-ตู่-เต้น-พิชัย-ถาวร ให้คนละชม.ทหารนั่งฟัง '1,380 เปา'จี้แก้ 2 ปมรธน. ฝุ่นตลบวิ่งเสียบรมต.ศก. ตร.ปิดเว็บต้นตอปว.ซ้อน

      มติชนออนไลน์ : ตุลาการยื่น จม.เปิดผนึกค้านคนนอกแทรก กต. ซัดปฏิรูปถอยหลังเข้าคลอง ศปป.เชิญ พท. นปช. กปปส.คุยอีก เผยเล็งทาบสมาชิกบ้านเลขที่ 109-111 ร่วมวงสภาขับเคลื่อนปฏิรูป 'บิ๊กตู่'จวกปฏิวัติซ้อนเลอะเทอะ ท้ามาเลยแล้วจะรู้ ผบ.ตร.สั่งปิดเว็บปล่อยข่าวแล้ว

 

 

ค้านร่าง รธน. - นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา ยื่นหนังสือพร้อมรายชื่อผู้พิพากษา 1,130 คนต่อนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลฯ ไปส่งมอบต่อ สนช. เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญที่มาของ ก.ต. และการอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ที่ศาลฎีกา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน


หนุนรธน. - กลุ่มเครือข่ายจิตอาสาเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และทูตอารยสถาปัตย์ ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสนับสนุนให้มีอารยสถาปัตย์ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูป พร้อมมอบดอกกุหลาบสีแดงเป็นกำลังใจ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน

 

@ 'บิ๊กตู่'ชี้คอร์รัปชั่นทำปท.อัมพาต

      เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน ที่โรงแรมเดอะสุโกศล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวปาฐกถาพิเศษในการประชุมทางวิชาการระหว่างประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ครั้งที่ 3 ตอนหนึ่งว่า การต่อต้านการทุจริตที่ผ่านมาทำกันมาตลอด เพียงแต่ต้องเอาจริงเอาจังมากขึ้น ด้วยความสนับสนุนของทุกภาคส่วนให้ถือเรื่องนี้เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมฝากทุกประเทศที่เป็นภาคี ขอให้คำแนะนำกับไทยด้วย และกรุณามองประเทศไทย ให้ความเป็นธรรมกับไทยว่า ที่ลุกขึ้นมาโครมครามกันไม่ใช่ว่าไม่ทำ ทำมาตลอด แต่ถูกทาบทับด้วยการเมือง ผลประโยชน์ต่างๆ ถูกกดทับมาเป็นเวลานาน วันนี้จึงต้องรื้อทุกอย่างและแก้ไขให้ได้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับนโยบายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชั่น กำหนดให้การแก้ไขอยู่ในทุกหัวข้อของการปฏิรูป ถือเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศ ข้าราชการทุกคนต้องนำแนวทางของหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการปฏิบัติงาน ขั้นตอนการดำเนินงานทุกขั้นตอนต้องโปร่งใส เป็นธรรมตรวจสอบได้ ไม่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแม้จะเพียงเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดจากเจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เป็นภัยอันตรายทำให้ประเทศเป็นอัมพาตได้

 

@ สั่งป.ป.ช.เคลียร์คดีก่อน 22 พ.ค.

        พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ต่างชาติเริ่มสนใจการลงทุน จากการดูนิทรรศการภายในงานนี้มี 3 เรื่อง เป็นปัญหาใหญ่คือ เรื่องจำนำข้าว คลองด่าน และเอ็นจีวี เรื่องรถเอ็นจีวี ตนต้องการคือให้ประชาชนได้มีรถเมล์ใหม่ใช้ แต่ไม่ได้ต้องการให้ท้ายใคร ไม่เคยได้พบใคร และไม่เคยมีใครไปที่บ้าน และภรรยาตนเองก็ไม่เคยพบใครเช่นกัน แต่ย้ำสิ่งที่ทำเพื่ออนาคต ปัญหาการทุจริตวันนี้เพราะว่าคนยอมรับกติกาน้อยลง จนกระทั่งไม่เคารพกติกา ส่งผลให้สังคมเกิดความสับสนวุ่นวาย พร้อมให้ความเป็นธรรมทุกฝ่าย ให้ทุกคนได้มีสิทธิสู้ เพราะคนผิดยังไงก็ผิดอยู่ดี แต่อยู่ที่การหาหลักฐานจะต้องหาให้ดี มิเช่นนั้นจะเกิดความวุ่นวาย คนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องจะเดือดร้อน คนในองค์กรจะต้องเป็นบุคคลที่ดีถ้าเปรียบแบบทหารคือดีหนึ่งประเภทหนึ่ง เป็นบุคลากรที่ไม่มีตัวตน ได้ดูหนังเรื่อง เกม ออฟ ธอร์น (Game of Throne) บุรุษไร้หน้า เป็นบุรุษที่ไม่มีหน้า ใครมาถ้ามีความผิดฟันหมด ขอให้ ป.ป.ช.ไปเคลียร์ทุกคดีก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ให้เรียบร้อย และต่อไปนี้ตนจัดการเอง

 

@ เผยต้องมีระยะเวลาปฏิรูปปท.

       "รัฐบาลหน้าต่อไป 4 ปี น่าจะดีนะ ประเทศไทยคงจะเป็นมหาอำนาจแล้ว แต่ถ้าไม่ทำก็จะกลับมาที่เดิม ใครอยากจะเดินหน้า 1 ก้าว แล้วถอยหลัง 2 ก้าว ก็ตามใจ วันนี้ผมสร้างภูมิคุ้มกันโดยให้คนไทยหยุดไว้ก่อนหยุดทุกเรื่องที่เกิดความขัดแย้ง แล้วแก้ไขสิ่งที่เป็นปัญหา เดินหน้าสิ่งที่ทำได้ ถ้าทุกอย่างมีปัญหาไปหมดก็ไปไม่ได้ ดังนั้น สปช.เขามีหน้าที่เสนอแนวทางให้รัฐบาลหน้าทำต่อจากผม 250 คน ที่ตั้งขึ้นมานั้นเพื่อวางแนวทางส่งต่อรัฐบาลหน้า ถ้าไม่เขียนกฎหมายแล้วทำรัฐธรรมนูญให้แตกต่าง ก็จะทำไม่ได้ ถ้าทุกคนเอาประชาธิปไตยอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาก็ใช้ประชาธิปไตย แต่ประเทศเดินหน้าไม่ได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องมีระยะเวลาหนึ่งจะต้องปฏิรูปประเทศ แต่จะเขียนอย่างไรให้เกิดการยอมรับ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ท้าปฏิวัติซ้อนมาเลยแล้วจะรู้

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจนั้นทุกคนจะต้องช่วยกันในทุกมิติ ไม่ว่าจะกี่หม่อมอุ๋ย (ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ) กี่สมคิด (นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.) กี่ประยุทธ์ ไม่ต้องห่วงทุกคนต้องทำงานร่วมกัน ตนรับฟังทุกคน ปัญหาด้านเศรษฐกิจพวกเราทุกคนต้องร่วมมือกัน วันนี้จะทำอย่างไรให้ระบบราชการเข้มแข็ง การแต่งตั้งข้าราชการให้แนวทางไปแล้วว่าจะต้องแต่งตั้งแบบทหาร มีคณะกรรมการของแต่ละกระทรวง รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงต้องมารับผิดชอบ เหมือนกับ พ.ร.บ.กลาโหม มีคณะกรรมการอยู่ 7 คน ทุกคนจะเสนอตัวแทนของแต่ละเหล่าต่อที่ประชุม ถ้าเห็นชอบก็ผ่าน แต่ที่ผ่านมาส่วนราชการอื่นทำไม่ได้ จะเห็นว่าทหารไม่มีปัญหาเรื่องการแต่งตั้ง "จึงไม่ต้องกลัวเรื่องการปฏิวัติซ้อน เพราะมันเลอะเทอะ ถ้าจะปฏิวัติก็มาสิ มาปฏิวัติซ้อนผมเลย มาเลย แล้วจะรู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้ต่างชาติเข้ามาหาบอกว่าพร้อมจะลงทุนในทุกมิติ แต่ก็ถามด้วยว่าจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างนี้ต่อไป เมื่อตนไม่อยู่ ตรงนี้ประชาชนทุกคนต้องเป็นผู้ให้คำตอบ ยืนยันว่าไม่อยากใช้อำนาจ เพราะประเทศไทยมีแต่การใช้อำนาจและกฎหมาย เมื่อใช้แรงขึ้น จนวันนี้ไม่มีกฎหมายอื่นจะใช้นอกจากกฎอัยการศึกแล้วก็เหลือแต่การฆ่าฟันกัน จะทำแบบอดีตไม่ได้อีกแล้ว หลายประเทศเคยเกิดขึ้น และตายมากกว่าไทย ตั้งแต่ตนเข้ามายังไม่มีใครตายสักคน เว้นแต่มีคนเจ็บใจจนตาย หรือไม่ก็อดอาหารตาย เพราะบอกคนกินเจนานเหลือเกิน แต่วันนี้ยังดีไทยมีคนดีมากกว่าคนไม่ดี

 

@ สมยศรู้ตัวมือโพสต์ปฏิวัติซ้อน 

       พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีการตรวจสอบผู้โพสต์ข้อความการปฏิวัติซ้อนผ่านสังคมออนไลน์ว่า ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ตรวจสอบแล้ว พบว่ามีการโพสต์ข้อความเหล่านี้ผ่านเว็บไซต์ www.dangdd.com ไม่ได้ทำภายในประเทศแต่ใช้เซิร์ฟเวอร์ต่างประเทศ จึงไม่สามารถระงับการเข้าถึงได้อย่างถาวร ทำได้เพียงปิดกั้นการเข้าถึงเท่านั้น ได้รายงานเรื่องนี้ต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และฝ่ายความมั่นคงแล้ว จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญพบว่า ตราบใดที่ประเทศไทยยังไม่นำระบบซิงเกิลเกตเวย์ หรือระบบป้องกันข้อความไม่เหมาะสมมาใช้ในงานด้านความมั่นคง ก็จะทำให้ข้อความเหล่านี้สร้างความเสียหายต่อประเทศชาติคงอยู่ และไม่มีทางคัดกรองได้ ต้องมานั่งแก้ปัญหาปลายเหตุอย่างนี้ตลอดไป เป็นการคอยตรวจสอบไล่ปิดแบบนี้ จึงจำเป็นต้องลงทุนอย่างเช่นหลายประเทศทั่วโลกนำมาใช้ เพราะเป็นเรื่องของความมั่นคงของประเทศ 

"ผมได้เสนอให้ฝ่ายความมั่นคงจัดซื้อเครื่องมือชนิดนี้เข้ามาใช้ในราชการหลายครั้ง เสนอให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นแม่งาน เครื่องนี้ราคาประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่กับงานด้านความมั่นคงแล้วถือว่าคุ้มค่า อย่างไรก็ตามกรณีการโพสต์ข้อความเรื่องการปฏิวัติซ้อนนั้น เจ้าหน้าที่ทำได้เพียงตรวจสอบปิดกั้นภายหลังเท่านั้น ผู้กระทำผิดหรือผู้โพสต์ใช้วิธีเปลี่ยนรายละเอียดของชื่อเว็บไซต์ เช่น ใส่จุดหรือเครื่องหมายต่างๆ เพิ่มเข้าไปเล็กน้อย ก็สามารถเปิดขึ้นมาใหม่และโพสต์ข้อความลงไปได้อีก แต่ตอนนี้เจ้าหน้าที่ทราบแล้วว่าผู้กระทำผิดอยู่ที่ไหนและเป็นใคร แต่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย ส่วนจะเกี่ยวข้องกับกลุ่มการเมืองหรือไม่ ไม่สามารถบอกได้ แต่ขอให้ไปดูที่ชื่อเว็บไซต์ว่าชื่ออะไร ก็จะรู้ได้ทันที" ผบ.ตร.กล่าว

 

@ ศปป.เชิญพท.-นปช.-กปปส.คุยอีก

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เชิญนักการเมืองหลายราย อาทิ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เวลา 09.00 น. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เวลา 10.00 น. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการ นปช. เวลา 11.00 น. โดยทั้ง 3 คน เชิญไปพูดคุยที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต วันที่ 18 มิถุนายน ส่วนนายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษก พท. นายพิชัย นริพทะพันธุ์ คณะทำงานด้านเศรษฐกิจ พท. และนายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. เป็นต้น เชิญไปวันที่ 19 มิถุนายนนี้ เพื่อหารือในประเด็นปรองดอง อย่างไรก็ตามแกนนำพรรค พท.บางคนยังคงมีทหารแวะเยี่ยมเยียนที่บ้านหรือชวนกินกาแฟอยู่เสมอ อาทิ นายอนุสรณ์ ทั้งนี้การเรียกนายจตุพรและนายณัฐวุฒิ คาดว่าจะคุยเรื่องการเปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี แต่คงมีเงื่อนไขในการพูดคุย ขณะเดียวกันเชื่อว่าการเชิญครั้งนี้อาจทาบทามนายจาตุรนต์เข้าร่วมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากนายจาตุรนต์เป็นสมาชิกบ้านเลขที่ 111 ได้รับปลดล็อกทางการเมือง หลังจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 อย่างไรก็ตามการเรียกคุยครั้งนี้ไม่ได้เชิญด้วยหนังสือ แต่เชิญทางโทรศัพท์ 

 

@ ถาวร-นิพิฏฐ์รับศปป.เชิญคุย

นายถาวร เสนเนียม อดีตแกนนำ กปปส. กล่าวว่า ศปป.เชิญไปพูดคุยที่สโมสรกองทัพบกวันที่ 19 มิถุนายน เวลา 09.00 น. ไม่รู้ว่าเรียกไปคุยเรื่องอะไร แต่จะเสนอแนวคิดการปฏิรูปที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตั้งคณะกรรมาธิการปฏิรูป สปช. 18 คณะ แต่มี 3 คณะขับเคลื่อนได้ยากคือ 1.การปฏิรูปตำรวจ เพราะเป็นองค์กรมีความเป็นอิสระ กุมความลับคดีบางคดีที่ยุ่งยากซับซ้อน และ ผบ.ตร.ก็อยู่ใน คสช.ด้วย 2.การปฏิรูประบบราชการ เพราะคนในแม่น้ำ 5 สายเป็นคนมาจากราชการถึง 90% เป็นเรื่องยากที่จะปฏิรูปให้กระทบกับอำนาจของตัวเอง และ 3.การปฏิรูปการเมือง ทั้ง สปช.และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหลายคนอยากมีอำนาจต่อ แต่เมื่อนักการเมืองรู้ทันออกมาขวาง ก็จะโยนว่าเป็นเพราะนักการเมืองกลัวสูญเสียอำนาจ นายกรัฐมนตรีเห็นกิเลสของ สปช.หลายคนจึงต้องลดเวลาการทำงานของ สปช.ลง ทำให้การปฏิรูปเกิดขึ้นได้ยาก

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ศปป.ได้โทรศัพท์มาเชิญไปพูดคุยและขอความคิดเห็นบางประเด็นในสิ่งที่ตนเคยแสดงความคิดเห็นไปแล้ว เช่น การร่างรัฐธรรมนูญ และกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.จะอยู่ต่ออีก 2 ปี ตนจะเดินทางไปในวันที่ 22 มิถุนายน เวลา 11.00 น.

 

@ "บิ๊กศปป."แจงแค่แลกความรู้ 

แหล่งข่าวระดับสูงใน ศปป.กล่าวว่า การเรียกแกนนำการเมืองครั้งนี้เป็นการเชิญมาพูดคุยธรรมดา เพื่อนำข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น และไม่เป็นการปรับทัศนคติใดๆ ทั้งสิ้น ประกอบกับทาง ศปป.ไม่ได้เชิญมาเยอะเหมือนครั้งก่อนๆ เพียงเชิญไม่กี่คน บุคคลที่เรียกมาคุยมีความเชี่ยวชาญหลากหลาย เช่น ด้านเศรษฐกิจ ด้านกฎหมาย ด้านการเมือง จะพูดคุยและนำเอาข้อเสนอแนะไปใช้ในการบริหารงานของรัฐบาล ส่วนการเชิญนักศึกษาเข้ามาร่วมพูดคุยนั้น ยืนยันว่าไม่มี นักศึกษาไม่เกี่ยวข้องในประเด็นนี้ 

"ยืนยันว่าการเชิญมาครั้งนี้อยากให้มาพูดคุย นั่งทานข้าว แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันธรรมดา" แหล่งข่าว ศปป.กล่าว

 

@ พท.แนะคิดให้หนักร่วมงานคสช.

แหล่งข่าวระดับสูงจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า กรณี ครม.และ คสช.เสนอแก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามบุคคลที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้สามารถดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ เพื่อปลดล็อกให้กับสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 เปิดช่องให้เข้าสู่ตำแหน่งทางการเมืองนั้น จนถึงขณะนี้ คสช.ยังไม่ได้ทาบทามสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ในส่วนของพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชนเดิมแต่อย่างใด สำหรับบุคคลที่จะไปร่วมงานกับ คสช.คงต้องคิดให้หนัก เพราะอาจมีผลกระทบต่อการลงสมัครรับเลือกตั้งในอนาคตได้ อย่างไรก็ตามคาดว่ามีสมาชิกบ้านเลขที่ 111 บางส่วนที่มีแนวโน้มว่าจะถูก คสช.ดึงไปร่วมงานด้วย อาทิ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายพินิจ จารุสมบัติ นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ นายสุวัจน์ ลิปตพัลลภ เป็นต้น เพราะนายสมคิดเป็นที่ปรึกษา คสช. หรือนายปรีชาสนิทสนมกับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ

 

@ ฝุ่นตลบวิ่งเสียบเก้าอี้รมต.ศก.

รายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงปรากฏกระแสข่าวปรับครม. มีการวิ่งเต้นติดต่อขอเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงต่างๆหลายแห่ง อาทิ กระทรวงสำคัญทางเศรษฐกิจที่เป็นเป้าหมายการปรับเปลี่ยน มีอดีตผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานด้านการเงิน ได้เสนอตัวกับบุคคลสำคัญของคสช. แต่ยังไม่มีการตอบรับ และอยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสม นอกจากนี้ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีกระแสข่าวว่า แกนนำระดับสูงพรรคการเมืองพรรคหนึ่ง ได้รับการทาบทามเข้าดำรงตำแหน่ง หากมีการเปลี่ยนแปลงในกระทรวงนี้

 

@ ผู้แทนศาลฎีกายื่นจม.ค้านร่างรธน.

ที่ศาลฎีกา ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา และนายสมชาติ ธัญญาวินิชกุล ผู้พิพากษาศาลฎีกา นำจดหมายเปิดผนึกเรื่องคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญกรณีการเพิ่มสัดส่วนคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) ศาลยุติธรรมที่มาจากฝ่ายการเมือง และลดสถานะและความน่าเชื่อถือของ ก.ต.ศาลยุติธรรม อันเป็นสถาบันหลักของศาลยุติธรรม พร้อมรายชื่อผู้พิพากษา 1,380 คน ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ในประเด็นการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมที่มาจากฝ่ายการเมืองและการอุทธรณ์โทษวินัยต่อศาลฎีกาได้ ยื่นต่อนายภัทรศักดิ์ วรรณแสง เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อส่งมอบไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้พิจารณา 

นายภัทรศักดิ์กล่าวว่า ในฐานะสมาชิก สนช. จะนำเสนอไปยัง สนช.เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องพิจารณาต่อไป ประเด็นนี้สอดคล้องกับที่ศาลยุติธรรมเคยแถลงจุดยืน 7 ข้อ ไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้วก่อนหน้านี้ สำนักงานศาลยุติธรรมมีความห่วงใย เนื่องจากส่งผลกระทบต่อผู้พิพากษา ข้อร้องเรียนทั้ง 7 ประเด็นที่เสนอไปนั้นขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภา

 

@ จี้กมธ.แจงเหตุผลคนนอกแทรก

จากนั้นนายศรีอัมพรแถลงเนื้อหาในจดหมายสรุปว่า หลังจากผู้พิพากษา 427 คนออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญเรื่องการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมจากฝ่ายการเมืองไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 จนมีกระแสข่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ อาจแก้ไขให้ร่างรัฐธรรมนูญเพิ่ม ก.ต.คนนอก 1 คน เป็นตัวแทนจากคณะรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา ผู้พิพากษาไม่เห็นด้วยจึงรวบรวมรายชื่อผู้พิพากษาทุกระดับชั้น 1,380 คน ทำจดหมายเปิดผนึกแสดงเหตุผลคัดค้านแนวคิดดังกล่าวว่าไม่ควรเพิ่มสัดส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมคนนอก และคัดค้านอีกหนึ่งประเด็น คือการให้ผู้พิพากษาที่ถูก ก.ต.ลงโทษทางวินัยมีสิทธิอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ เนื่องจากเป็นการลดทอนความน่าเชื่อถือของ ก.ต. หากศาลถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง ประชาชนที่มีคดีความเข้าสู่ศาลจะไม่ได้รับความเป็นธรรม อยากให้ กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงเหตุผลและความจำเป็นในการเพิ่มสัดส่วน ก.ต.คนนอก ว่าจะแก้ปัญหาอะไรและหากแก้ไขแล้วจะประโยชน์แก่ประชาชนอย่างไร

 

@ ยันใช้มาแล้ว 20 ปีไม่มีปัญหา

"เมื่อปี 2535 เกิดวิกฤตตุลาการ เนื่องมาจากนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลเข้ามาแทรกแซงแต่งตั้งประธานศาลฎีกา และก่อนหน้านั้นยังมีความพยายามออกกฎหมายเพื่อให้นักการเมืองเข้ามามีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาหลายครั้ง กระทั่งรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้เสนอให้แยกศาลออกจากกระทรวงยุติธรรม และแก้ไขสัดส่วนของ ก.ต.โดยฝ่ายศาลไม่ต้องการให้มี ก.ต.มาจากบุคคลภายนอกที่ไม่ใช่ผู้พิพากษา แต่นักวิชาการด้านกฎหมายเห็นว่า ศาลยุติธรรมเป็นองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยควรมีความยึดโยงกับประชาชน จึงกำหนดให้วุฒิสภาสรรหาบุคคลเหมาะสม 2 คน ร่วมเป็น ก.ต.จนกระทั่งรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2550 ใช้หลักการเดิมมาถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ไม่เคยมีปัญหาอะไร ส่วนที่อ้างว่าเพื่อให้องค์ประกอบ ก.ต.ของศาลยุติธรรมเหมือนกับคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองหรือ ก.ศป.ของศาลปกครองนั้น องค์ประกอบของทั้ง 2 ศาลแตกต่างกัน เนื่องจากการก่อตั้งศาลปกครองนำแบบอย่างมาจากต่างประเทศ ยินยอมให้ตัวแทนของ ครม.เข้ามาเป็น ก.ศป. แต่ในส่วน ก.ต.ศาลยุติธรรมเห็นว่า ไม่ควรเพิ่มสัดส่วน ก.ต.จากคนนอกจากฝ่ายรัฐบาล เพราะ ก.ต.ไม่มีปัญหาอะไร ทำไมจึงไม่คิดปรับเปลี่ยนศาลปกครองให้เหมือนกับศาลยุติธรรม เพื่อป้องกันการเมืองเแทรกแซงศาลปกครอง" นายศรีอัมพรกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าสำหรับผู้พิพากษาที่ร่วมลงชื่อท้ายหนังสือเปิดผนึก มีจำนวน 1,380 คน แยกเป็นผู้พิพากษาในศาลฎีกา 203 คน ศาลอุทธรณ์และอุทธรณ์ภาค 506 คน ศาลชั้นต้น 671 คน โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้ง 3 ชั้นศาลร่วมลงชื่อด้วย เช่น รองประธานศาลฎีกา ประธานศาลอุทธรณ์ ประธานศาลอุทธรณ์ภาค อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลชั้นต้นอื่นๆ อธิบดีผู้พิพากษาภาค และผู้พิพากษาหัวหน้าศาลต่างๆ

 

@ 2กมธ.ชงตัดทิ้งปมตุลาการค้าน

นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของ สปช. กล่าวถึงกรณีตุลาการศาลยุติธรรมค้าน กมธ.ยกร่างฯเพิ่มสัดส่วนคนนอกเป็น ก.ต.ว่า กมธ.กฎหมายฯ และ กมธ.การเมือง ได้ร่วมกันเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ให้ตัดทิ้งทั้งสัดส่วนคนนอกเพิ่มเป็น 1 ใน 3 และการอุทธรณ์มติของ ก.ต. โดยขอปรับแก้ให้กลับไปใช้แบบเดิมเหมือนที่ทำมา เนื่องจากหากกำหนดบทบัญญัติไว้แบบนี้ จะทำให้องค์กรตุลาการขาดความเป็นอิสระ อาจทำให้ถูกแทรกแซงการพิจารณาคดีได้ การเข้าชื่อของตุลาการศาลยุติธรรมจะส่งผลต่อการพิจารณาลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างมากแน่นอน กมธ.ยกร่างฯต้องกลับมาทบทวนปัญหาอย่างแท้จริงว่าอยู่ตรงไหน ไม่ใช่ร่างกันไปแบบคิดเองเออเอง

นายอุดม เฟื่องฟุ้ง อดีตรองประธานศาลฎีกาและสมาชิก สปช. กล่าวว่า ได้ร่วมเข้าชื่อเสนอตัดเนื้อหาในส่วนนี้ร่วมกับ กมธ.

กฎหมายฯและ กมธ.การเมืองแล้ว เพราะเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีเหตุผลจะมาเปลี่ยนแปลงเพิ่มสัดส่วนคนนอกของ ก.ต. และกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ได้ เพราะหลักการเดิมที่วางไว้ตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 ดีอยู่แล้ว การเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นไปอย่างฉ้อฉล เขียนกฎหมายปลายเปิด เกิดช่องว่างให้ตีความได้มาก เที่ยวแคะนั่นแคะนี่ อะไรดีอยู่แล้วก็ไปแก้ให้เสีย อย่างนี้ไม่เรียกการปฏิรูป 

 

@ "วิษณุ"แนะยื่นกมธ.ยกร่างฯค้าน 

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีผู้พิพากษาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญว่า ได้ทราบจากสื่อ แต่ไม่ได้รับหนังสือดังกล่าว ทางที่ดีผู้เรียกร้องควรยื่นหนังสือต่อ กมธ.ยกร่างฯ ข้อเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม.ส่งไปหมดแล้ว ข้อเสนอของตุลาการมีสองข้อคือไม่เห็นด้วยให้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น ก.ต.เพิ่มจะไม่เอาก็ไม่เป็นไร แต่ต้องไปบอก กมธ.ยกร่างฯ ส่วนประเด็นที่สองคือเดิมตุลาการถูกลงโทษและอุทธรณ์ไม่ได้ ให้สามารถขออุทธรณ์ไปยังศาลฎีกาได้ ประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ ครม.ขอแก้ไขไปยัง กมธ.ยกร่างฯว่าให้ถอดออกจึงตรงกันก็จบ อย่างไรก็ตาม ถ้าอยากจะทำอะไรต่อก็ถือเป็นเรื่องที่ดีแต่ต้องไปบอก กมธ.ยกร่างฯ ให้พิจารณา ขณะนี้ทราบว่า กมธ.ยกร่างอยู่ระหว่างพิจารณาแต่ยังไม่ถึงเรื่องหมวดศาล หากถึงหมวดดังกล่าวคงต้องพิจารณากันต่อไป

นายวิษณุ กล่าวกรณีที่นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรีแสดงความเป็นห่วงหากรัฐบาลจะอยู่ยาวว่า ไม่ทราบ และไม่มีความเห็นอะไร บุคคลเหล่านี้เป็นผู้ใหญ่ในบ้านเมืองพูดอะไรไปรัฐบาลก็ต้องฟัง

เมื่อถามว่ามีผลดีอย่างไรหากรัฐบาลจะอยู่ต่อ นายวิษณุกล่าวว่า คำถามแบบนี้ไม่ตอบอยู่แล้ว ถ้าไม่ได้อยู่ในรัฐบาลอาจจะตอบ แต่อยู่อย่างนี้ไม่รู้จะตอบอะไร ขอฟังคนอื่นพูดดีกว่า

 

@ "บวรศักดิ์"เผยรธน.มนุษย์นิยม

ขณะที่กลุ่มบูรพาพิทักษ์ภาคีเครือข่ายจิตอาสาเพื่อคนพิการ ผู้สูงอายุ และทูตอารยสถาปัตย์ นำโดยนายสุเมธ พลคชา และนายกฤษณะ ละไล ยื่นหนังสือสนับสนุนและมอบดอกไม้ให้กำลังใจแก่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา ที่ได้บัญญัติคำว่าอารยสถาปัตย์ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเพิ่มศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคนพิการให้เท่าเทียมเหมือนคนปกติ และลดเหลื่อมล้ำของผู้สูงอายุ เด็ก คนพิการ สตรีมีครรภ์ ที่ประสบปัญหาการเดินทาง 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า จะรับเรื่องดังกล่าวไปแจ้งให้ กมธ.ยกร่างฯทราบ ยืนยันว่าคำว่า อารยสถาปัตย์และพลเมือง ไม่ใช่วาทกรรมเพื่อให้ดูเท่เก๋ แต่เป็นการส่งสารไปยังคนไทยทุกคนว่า มนุษย์ทุกคนไม่ว่าสภาพร่างกายเป็นอย่างไร มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่ากัน เป็นการทำให้เกิดสำนึกความเป็นพลเมือง รู้หน้าที่สิทธิของตัวเองทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นมนุษย์นิยม ไม่ใช่อำนาจนิยมตามที่พูดกัน 

นายบวรศักดิ์กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายยื่นขอให้ กมธ.ยกร่างฯแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นว่า ไม่ขอพูดเป็นรายวัน จะขอพูดครั้งเดียวเมื่อถึงเวลา จะชี้แจงทั้งหมดทุกประเด็นในเร็วๆ นี้ ก่อนจะพิจารณาทบทวนแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ส่วนการรับฟังความเห็นจากพรรคการเมืองนั้น ขณะนี้พรรคการเมืองได้ส่งเอกสารเรื่องการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญมาให้ กมธ.ยกร่างฯแล้ว

 

@ กมธ.ยกร่างฯถกนายกฯคนนอก

ทั้งนี้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯยังทำหน้าที่เป็นประธานการประชุมที่รัฐสภาในวันเดียวกัน มีวาระพิจารณาประเด็นสำคัญที่ควรหาข้อยุติเป็นการพิจารณาประเด็นที่มาของนายกรัฐมนตรี กมธ.ยกร่างฯยืนยันหลักการนายกฯจะต้องเป็น ส.ส.ส่วนกรณีบุคคลถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ไม่ได้เป็น ส.ส. จะต้องอาศัยเสียงรับรองของ ส.ส. ไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้บัญญัติหลักการเปิดโอกาสให้มีนายกฯคนนอก เนื่องจากถ้อยคำดังกล่าวเป็นการสร้างวาทกรรมเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัตินายกฯย่อมมาจากความเห็นชอบของ ส.ส. อย่างไรก็ตาม หลักการข้างต้นยังไม่ใช่ข้อยุติเป็นทางการ เป็นเพียงหลักการเบื้องต้น จะนำไปเป็นแนวทางในการพิจารณาช่วงรายมาตราต่อไป นอกจากนี้ยังมีการพิจารณาหลักการของการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยใช้ระบบคุณธรรม มีแนวโน้มว่าจะบัญญัติถ้อยคำให้สั้นลงเพื่อให้บทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายกว้างขึ้น จะบัญญัติถ้อยคำให้มีคณะกรรมการแต่งตั้งเฉพาะข้าราชการพลเรือนโดยใช้ระบบคุณธรรมอย่างชัดเจน จะนำรายละเอียดของคณะกรรมการดังกล่าวไปบัญญัติในกฎหมายลูก อย่างไรก็ตามหลังจากการพิจารณาคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่ามีการเสนอให้เพิ่มบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญราว 66 มาตรา จะต้องพิจารณาเหตุผลการเสนอเพิ่มบทบัญญัติดังกล่าวในขั้นพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา จะทำให้การพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญซับซ้อนและใช้เวลาเพิ่มขึ้น

 

@ ชี้ร่างรธน.อาการร่อแร่เต็มที 

นายวันชัยกล่าวว่า 4.พวกเพิ่งออกอาการหลังแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ยุบ สปช. เมื่อก่อนก็สงบเสงี่ยมเจียมตน ตอนนี้ทิ้งทวนแสดงบทบาทหวือหวากัน แค่เสนอให้เปิดกาสิโนก็ระเบิดไปทั้ง สปช. ต่อไปจะมีหลากหลายกลุ่มมากกว่านี้ออกมาทิ้งระเบิดทิ้งทวนแล้วก็เอาเรื่องรัฐธรรมนูญมาทิ้งระเบิดเป็นลูกๆ เป็นดอกๆ ไป ต้องคอยดูต่อไป และ 5.พวกเห็นว่ารัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดี จะแก้หรือไม่แก้อย่างไรก็ไม่รับ เอาสถานการณ์บ้านเมืองมาเป็นตัวตั้งให้ความสำคัญมากกว่ารัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่าการปฏิรูปยังไม่เสร็จ เลือกตั้งก็กลับมาเหมือนเดิมจะรีบเลือกตั้งไปทำไม ทางที่ดีคว่ำกลางทางเสียดีกว่า พวกนี้ก็มีไม่น้อย ไปๆ มาๆ พวกที่ 5 ก็จะไปรวมกับพวก 2 3 และ 4 ก็จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งหลังวันที่ 22 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป หลังจากได้รับร่างแล้วอาจจะรวมพวกที่ 1 มาอีกเยอะก็เป็นไปได้ ชะตากรรมของรัฐธรรมนูญกำลังร่างกำลังแก้กันอยู่นี้จะไปรอดหรือไม่ แต่ในความเห็นของตนดูอาการแล้วร่อแร่เต็มที เป็นการประเมินจากการพูดคุยกับ สปช.ด้วยกัน ไม่ใช่เป็นการรณรงค์ แต่เป็นการทดสอบและตรวจสอบอาการ ส่วนใครจะมองว่าด่วนวินิจฉัยเร็วหรือช้าก็ว่ากันไป 

 

@ ทหารเชิญ"ปานเทพ"คุย-ถาม 3 ข้อ

     ที่ศูนย์บริการประชาชน ฝั่งอาคารสำนักงานข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (คปพ.) นำโดยนายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ เข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านนายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้านและไม่เห็นด้วยกับร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียมและร่าง พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม เนื่องจากเห็นว่าไม่สามารถรักษาผลประโยชน์สูงสุดของชาติและประชาชนได้ 

       ต่อมาภายหลังการยื่นหนังสือ ปรากฏว่ามีนายทหารมาเชิญนายปานเทพเพียงคนเดียวเข้าพูดคุยกับนายทหารคนหนึ่งที่ห้องประชุมชั้น 3 สำนักงาน ก.พ. ประมาณ 1 ชั่วโมง จากนั้นนายปานเทพกลับออกมาแถลงข่าวว่า ได้รับการประสานตั้งแต่ช่วงกลางคืนของวันที่ 16 มิถุนายนว่า มีนายทหารอยากคุยด้วย บังเอิญว่านายทหารคนนี้มาประชุมที่ทำเนียบรัฐบาลพอดี เป็นการรับฟังความคิดเห็นเฉพาะบุคคลเท่านั้น ไม่มีบรรยากาศการข่มขู่แต่อย่างใด พูดคุยเสร็จก็ยังไม่รู้ว่าวัตถุประสงค์จริงๆ คืออะไร แต่มีคำถามมา 3 ข้อ คือ 1.คิดเห็นอย่างไรกับรัฐบาล 2.คิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญ 3.มีข้อเสนออะไรเสนอต่อรัฐบาล ได้ยืนยันไปว่าใน 3 หัวข้อ ไม่ได้พูดถึงมาเป็นเวลา 1 ปีแล้ว นอกจากเรื่องพลังงานเท่านั้น ทุกคนเป็นห่วงว่านายกฯจะอยู่ต่อไปอีกสองปีหรือไม่ และจะอยู่อย่างไร รัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไร เชื่อว่าสาระสำคัญอยู่ที่ว่ารัฐบาลจะครองใจประชาชนได้หรือไม่ และอย่างไร ถ้ามองประโยชน์ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนก็จะสนับสนุนเอง 

 

@ ป.ป.ช.ขออัยการช่วยสู้คดี 

    นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงอดีตรัฐมนตรีพรรคเพื่อไทยยื่นฟ้องอาญานายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีจ่ายเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมระหว่างปี 2548-2553 พร้อมคณะอนุกรรมการรวม 11 คนว่า เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช.ประสานงานไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อแจ้งเรื่องดังกล่าวให้ทราบและขอให้เป็นทนายความแก้ต่างให้ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการอย่างถูกต้องแล้วโดนฟ้องจะสามารถให้อัยการสูงสุดเป็นทนายความแก้ต่างให้ได้ โดยในวันที่ 13 สิงหาคม ทางศาลอาญาได้นัดไต่สวนมูลฟ้องเป็นครั้งแรก ป.ป.ช.จึงต้องเตรียมพยานหลักฐานต่างๆ เอาไว้เพื่อชี้แจงในแง่ข้อกฎหมาย เนื่องจากเรื่องนี้ไม่มีพยานรองรับ ข้อมูลต่างๆ ที่ ป.ป.ช.จะนำไปชี้แจงต่อศาลนั้นล้วนเป็นประเด็นที่คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการไต่สวนผู้ถูกกล่าวหาในกรณีดังกล่าวมาแล้วทั้งสิ้น เพื่อยืนยันว่า ป.ป.ช.กล่าวหากรณีจ่ายเยียวยาครั้งนั้นของ ครม.ดำเนินการไปโดยไม่มีกฎหมายรองรับ วันที่ 30 มิถุนายนจะเป็นวันครบกำหนด ผู้ถูกกล่าวหาในคดีดังกล่าวจะต้องเข้ารับทราบและแก้ข้อกล่าวหาต่อ ป.ป.ช. หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และอดีตรัฐมนตรีรวม 34 รายยังไม่เดินทางมารับทราบข้อกล่าวหากับ ป.ป.ช.ในวันนั้น จะถือว่าไม่ติดใจและได้รับทราบข้อกล่าวหาโดยอัตโนมัติ และจะต้องมาแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วันตามกฎหมายกำหนด

 

@ "วิษณุ"รอสำนักงบฯชงเยียวยา

      นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง กล่าวถึงกรณีการจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมืองช่วง 2556-2557 อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องการจ่ายเงินของสำนักงบประมาณว่า เมื่อสำนักงบฯพิจารณาเสร็จแล้วจะส่งเรื่องต่อไปยังสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลค.) จากนั้นจึงจะนำเข้า ครม.พิจารณา รายละเอียดค่อนข้างมาก ทั้งบาดเจ็บ ทุพพลภาพ แต่ขณะนี้กำลังปวดหัวกับกลุ่มบาดเจ็บแต่ต่อมาเสียชีวิต ตามหลักเกณฑ์ต้องชดเชยกรณีเสียชีวิตจึงต้องไปหักจากที่บาดเจ็บออก ทำให้ต้องทบทวนสรุปให้ชัดเจน ยอมรับว่าจำนวนเงินยังไม่คงที่ ต้องเอาจำนวน 4 แสนบาทที่จะชดเชยเป็นตัวตั้งและคูณจำนวนคนเข้าไปก็มาเจอกรณีเจ็บและต่อมาเสียชีวิต กับบาดเจ็บเรื้อรังกลายเป็นสาหัส จึงต้องมาดูตัวคูณกันอีกครั้ง กรรมการชุดของตนสนใจเรื่องของเกณฑ์การจ่ายเงิน ส่วนขั้นตอนการจ่าย ทางกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะต้องพิจารณารายละเอียดและสาเหตุการจ่ายเงินต่อไป

 

@ "แม้ว"ปัด"โจวเหวินฟะ"รับบท

       ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าขณะนี้ พ.ต.ท.ทักษิณยังคงอยู่ที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ล่าสุดได้โพสต