payut17


'ตุลาการ'เข้าชื่อ 1,130 คน ต้านรธน.-ที่มากต. จม.เปิดผนึกยื่น'5 สาย' บิ๊กตู่ย้ำไม่มีใบสั่ง'คว่ำ'รู้ตัวแล้วมือโพสต์ป่วน ตร.จ่อจับปูดปฏิวัติซ้อน 

        1,130 ตุลาการเข้าชื่อค้านร่างรธน. ปมที่มาก.ต. เตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงแม่น้ำ 5 สาย 'สมยศ'สั่งปอท.เข้มโพสต์ก่อความวุ่นวาย กระทบความมั่นคง เชื่อได้ตัวมือปูดปฏิวัติซ้อนเร็วๆ นี้ "บิ๊กตู่"รู้ตัวคนปล่อยข่าวแล้ว ยันไม่มีใบสั่งสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 'เอกชัย'โต้ข่าวสปช.โหวตล้ม สนช.ถ่ายสดถกร่างแก้ไขรธน. ชั่วคราว 18 มิ.ย. งบทำประชามติบาน กกต.คาดเกิน 3 พันล้าน ตร.ขอนิวซีแลนด์ส่งผู้ร้ายข้ามแดน'ตั้ง อาชีวะ' ครม.เด้งอธิบดีการบินพลเรือน

 

วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8967 ข่าวสดรายวัน


ถ่ายเซลฟี่ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ถ่ายภาพเซลฟี่ร่วมกับคณะนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังมอบเข็มที่ระลึกวันอานันทมหิดล และจำหน่ายเพื่อหา รายได้สนับสนุนมูลนิธิอานันทมหิดลฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.

 

ตร.เข้มโพสต์ก่อความวุ่นวาย 
     วันที่ 16 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการโพสต์ข้อความจะมีการปฏิวัติซ้อนว่า ยืนยันพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ไม่ได้เป็นผู้สั่งให้เอาผิดกับผู้โพสต์ข้อความว่าจะมีการปฏิวัติซ้อน แต่ตนเป็นคนสั่งให้พล.ต.ท. ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วยผบ.ตร. ไปตรวจสอบว่าใครโพสต์ หากสร้างความตกใจหรือเกี่ยวกับความมั่นคงจะดำเนินคดี เพราะไม่มีข้อเท็จจริง ถือเป็นความผิดตามกฎหมาย 

      พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ต่อไปนี้จะให้กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือปอท. ตรวจสอบและดำเนินคดีกับทุกกรณี เช่น ข้อความเรื่องตั้งด่าน ทุกเรื่องที่มาจากความคึกคะนอง สนุกสนาน รู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่ส่งผลให้เกิดความตกใจ สร้างความวุ่ยวายจะดำเนินการทุกกรณี เพราะการกระทำเช่นนี้ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ คิดว่าทำแล้วจะไม่เกิดความผิด จากนี้จะไม่มีการละเว้นทุกกรณี ไม่จำเป็นแค่การโพสต์ข้อความปฏิวัติซ้อนซึ่งได้กำชับไว้แล้ว

สมยศชี้เร็วๆนี้ได้มือปูดปฏิวัติซ้อน
     เมื่อถามว่า แสดงว่ายังมีกลุ่มที่ต้องการยั่วยุสร้างความรุนแรงก่อเหตุสร้างสถานการณ์หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ไม่มี ตนตรวจสอบข้อมูลจากฝ่ายข่าวและพูดคุยกับทหารทั้ง 3 เหล่า ยังไม่พบข้อมูล หรือความเป็นไปได้ในการจะปฏิวัติซ้อน เชื่อว่าจะได้ตัวคนโพสต์มาดำเนินคดีในเร็วๆ นี้ ส่วนจะเป็นบุคคลคนเดียวหรือเป็นกลุ่มบุคคลยังไม่ทราบ แต่สั่งให้พล.ต.ท.ประวุฒิ ตรวจสอบอยู่แล้ว

 

'บิ๊กตู่'ชี้ใครจะปฏิวัติทหารเก่า 
      เวลา 14.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยกล่าวอย่างมีอารมณ์เมื่อถูกถามกรณี คสช.มีคำสั่งห้ามสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ จัดเสวนาเรื่องมาตรา 112 ว่า "คิดว่าควรจัด หรือไม่ คุณเป็นคนไทยคิดว่าควรหรือไม่ ถ้าไม่ควรก็ไม่ควรตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ถ้าคิดว่าควรก็คงไม่ใช่คนไทย"
      เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับกระแสข่าวปฏิวัติซ้อน นายกฯ กล่าวว่า ไม่มอง มันต้องมีสักคนที่ปล่อยข่าวนี้เพื่อให้เกิดความวุ่นวาย พูดหลายครั้งแล้วว่าสื่อต้องช่วยตน เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นมาได้หรือไม่ จะเกิดขึ้นจากอะไร ตนก็เป็นทหารเก่าใครจะมาปฏิวัติได้ เขารู้แล้วว่าเขาต้องทำกันอย่างไร ไม่ใช่อะไรก็ต้องปฏิวัติ ที่ตนยอมรับว่าเป็นคนทำก็เพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีกในวันข้างหน้า ทำไมต้องไปยุกันไปมาให้มันออกกันมาอีก ไม่เข้าใจ มันไม่มีเรื่องจะออกมากันทำไม ออกมาได้หรือ ใครจะอยากออกมาแบกรับความรับผิดชอบแบบนี้ ไม่มี

รู้ตัวแล้วเป็นใครที่ปล่อยข่าว 
      เมื่อถามว่า จะเอาผิดกับคนที่ปล่อยข่าวหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดูก่อน ขณะนี้ติดตามอยู่ พอรู้แล้วว่าเป็นใคร เมื่อถามย้ำว่าแล้วเรื่องการปฏิวัติตัวเองก็ไม่มีทางเป็นไปได้ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวอย่างมีอารมณ์ว่า สื่อก็ไปช่วยอธิบายเพราะตนขี้เกียจอธิบายแล้ว สังคมก็ไม่ต้องมาสงสัย เลิกเสียที ความคิดแบบนี้โดยเฉพาะเรื่องข่าวลือ
       "ถ้าผมไม่ได้พูดก็คือไม่ใช่ เอาแบบนี้ นิ่งๆ กันเสียบ้าง บ้านเมืองจะได้สงบ จะได้ไปทำอย่างอื่นกันบ้าง อย่างประชุมครม.วันนี้มีเรื่องทำมาก ทั้งเรื่องเกษตรกร การลงทุน สื่อทำไมไม่เสนอข่าวแบบนี้บ้าง หรือจะเอาแต่เรื่องความมั่นคง เรื่องปฏิวัติ รัฐประหาร เลิกกันเสียที ขอให้เปลี่ยนเป็นเรื่องความมั่นคงที่เกี่ยวกับเสถียรภาพของรัฐบาล" นายกฯ กล่าว
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คนไม่ดีก็ต้องถูกดำเนินคดี แล้วก็ต้องไม่พูดในสิ่งที่ไม่ดีกับประเทศชาติ เพราะวันนี้ต่างชาติเตรียมเข้ามาลงทุนในบ้านเราแล้ว รัฐบาลทำทุกอย่าง เพื่อให้เกิดการค้าการลงทุน สร้างรายได้ให้ประเทศ ที่ชอบพูดกันอยู่ในเรื่องการเมือง การเลือกตั้ง การปฏิรูปต่างๆ เป็นเรื่องภายในของเรา ทำไมต้องไปประจานให้คนอื่นรู้ด้วย คนไทยต้องช่วยกันเพื่อแก้ปัญหาและเดินหน้าประเทศ ไม่ใช่ไปเที่ยวโพนทะนาให้คนอื่นรู้ว่ากำลังมีเรื่องทะเลาะเบาะแว้ง มันไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เรื่องนี้ตนเป็นห่วง

ยันไม่เคยฝืนโรดแม็ป 
      เมื่อถามว่า เป็นการสร้างให้เกิดความหวาดระแวงกันเองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ก็สร้างแล้วสื่อก็ไปขยายให้พวกเขา แค่คนพูดเพียงคนเดียวเท่านั้น ใครก็ยังไม่รู้เลย เขาพูดเพื่อวัตถุประสงค์อะไรก็ยังไม่รู้ ที่สำคัญยังไม่มีการยืนยันอะไรแต่สื่อก็ไปขุดคุ้ยกันอยู่นั่น มันจบไปแล้ว พูดกันทุกคนว่าเขาไม่เกี่ยว ยืนยันว่าไม่มี ไม่ใช่นิยาย มันดีหรืออย่างไร ตนเดินทางไปหลายประเทศต่างประเทศมั่นใจว่าบ้านเรามีเสถียรภาพ พร้อมจะเข้ามาลงทุน แต่เขาถามว่าจะรักษาสถาน การณ์แบบนี้อีกต่อไปหรือไม่ การเมืองจะทำให้เหตุการณ์กลับมาวุ่นวายอีกหรือไม่ 
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า วันนี้จึงขอร้องให้ทุกคนหันกลับมาดูประเทศชาติกันบ้าง ในเมื่อต่างชาติห่วงอยู่แค่นี้แล้วทำไมเราต้องไปเปิดพื้นที่ไปเรื่อยเปื่อย ถ้าเรารักษาสถานการณ์ต่างๆ ไว้ได้ การค้าการลงทุนก็จะดีขึ้น เศรษฐกิจทั้งระดับล่างและระดับบนจะดีขึ้นตามมา วันนี้ไม่ใช่จะเอาทุกเรื่อง เศรษฐกิจ ให้ดี การเมืองก็ต้องเอาแบบนั้นแบบนี้ 
     นายกฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าตนยังไม่เคย ฝืนโรดแม็ปแม้แต่ตัวเดียว สื่อก็เขียนไปมา อยู่ได้ ใครจะพูดอะไรก็พูดไปแต่ขอยืนยันในโรดแม็ปที่วางไว้มีรัฐธรรมนูญ เลือกตั้งได้ ก็เลือกตั้ง ประชามติผ่านเมื่อไรก็เลือก ถ้า ไม่ผ่านก็ว่ากันใหม่เท่านั้นเอง

ไม่มีใบสั่งถึงสปช. 
       เมื่อถามว่า จะปรับเรื่องโรดแม็ปหรือไม่เพราะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) อยู่ระหว่างเตรียมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายกฯ กล่าวว่า โรดแม็ปเขียนไว้ชัดเจนอยู่แล้ว มีกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนกรณีรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่ผ่านก็มีกำหนดเวลา มีการตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาใหม่ เป็นไปตามขั้นตอน จึงไม่เห็นความจำเป็นต้องปรับโรดแม็ป ส่วนจะมีการล็อบบี้กันหรือไม่นั้น ไม่ทราบเพราะไม่ได้อยู่ในสปช.และไม่จำเป็นที่ตนต้องมีใบสั่งหรือส่งสัญญาณอะไรไปสปช. จะไปสั่งทำไมเพราะตั้งเขาขึ้นมาแล้ว มีเงินเดือนก็ต้องทำตามหน้าที่ ทำงานกันไป แต่ส่วนตัวคิดว่าเขามีความตั้งใจทำงานกันทุกคนเพียงแต่คนมันมาก มาจากหลายภาคหลายส่วน มาจากต่างจังหวัด นักการเมืองก็มี จะมาบอกว่าไม่มีส่วนร่วมคงไม่ได้ 
      นายกฯ กล่าวว่า สิ่งที่ตนต้องการคือให้พวกเขาไปหารือกันว่าทำอย่างไรบ้านเมืองจะเดินหน้าต่อไปได้ แต่ปรากฏว่าหารือกันไม่ได้ ต่างคนต่างมีความคิดของตัวเอง มีความคิดของพรรค ถ้าประเทศไทยเป็นอย่างนี้มันก็ไปไม่ได้ วันนี้เราต้องการปฏิรูปเพื่อส่งต่อการปฏิรูปดังกล่าวไปวันข้างหน้า เป็นโจทย์ของตน ซึ่งก็มีหน้าที่ของตนอยู่ ส่วนสปช.หรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ไปทำหน้าที่ของเขา

มีเลือกตั้งก็จบหน้าที่แล้ว
       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เมื่อมีรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นก็มีการเลือกตั้งตามมา ตนถือว่าจบหน้าที่ หน้าที่การปฏิรูปเขาก็ต้องไปเรียบเรียงว่าหลังเลือกตั้งใหม่แล้วได้รัฐบาลใหม่เข้ามาต้องทำอะไรต่อ สนช.ต้องออกกฎหมายว่าจะทำอะไรกันต่อบ้าง มีกี่เรื่อง ไม่ใช่จะปฏิรูปภายในปีหรือ 2 ปีจะเสร็จ บางทีต้องใช้เวลาเป็นสิบๆ ปี ทุกประเทศก็ทำกันแบบนี้ ซึ่งตนก็อยู่ไม่ได้แล้วจะไปอยู่อะไรกันนาน ถ้าทุกคนช่วยกันทำเช่นนี้ ประเทศชาติจะมีความชัดเจนมากขึ้น ไม่เลือกเขาเลือกเรา เอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง มีความจริงใจ ไม่เอาเปรียบ ถ้านักการเมืองเป็นแบบนี้ทั้งหมดประเทศจะไปได้โลดในวันข้างหน้า แต่ทุกวันนี้ติดขัดด้วยคำว่าประชาธิปไตย ดังนั้น ต้องปิดเรื่องคะแนนเสียง เรื่องการโหวต 
      เมื่อถามว่า ที่บอกว่าสปช.ตั้งใจทำงานนั้น ตรงกับใจนายกฯหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การทำงานเราต้องอธิบายและทำ ความเข้าใจ คำว่าถูกใจหรือไม่ถูกใจมันเป็นเรื่องธรรมดาเพราะทุกคนเป็นผู้หลักผู้ใหญ่กันทั้งนั้น ถามว่าทุกคนมีความรักชาติเหมือนกันหรือไม่ ทุกคนก็รักชาติกันทั้งนั้น เพียงแต่ความคิดเห็นของแต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง และไม่ใช่จะบอกว่าพอใจหรือไม่พอใจ
      เมื่อถามว่า แสดงว่ามีสปช.บางส่วนไม่ตรงกับใจนายกฯใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คำว่าตรงใจหรือไม่ตรงใจต้องดูว่าบ้านเมืองได้ประโยชน์อะไรจากตรงนั้นบ้าง

พท.ชี้'ปฏิวัติซ้อน'หวังก่อหวอด 
      นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการปฏิวัติซ้อนว่า สถาน การณ์ขณะนี้เชื่อว่าไม่มีใครกล้าลุกขึ้นมาปฏิวัติซ้อน หากดูโครงสร้างรวมทั้งหน่วยคุมกำลังในกองทัพ ผู้ที่มีอำนาจและสามารถสั่งกำลังทหารได้ โดยเฉพาะ 5 เสือ ทบ.ล้วน แล้วแต่เป็นคนของ พล.อ.ประยุทธ์ แทบ ทั้งสิ้น เชื่อว่าคนที่ปล่อยข่าวดังกล่าวอาจรู้สึกไม่พอใจรัฐบาลและหวังก่อหวอดเท่านั้น

1,130 ตุลาการเข้าชื่อต้านรธน. 
      นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวกรณีผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่งของก.ต. ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ว่า เรื่องนี้แบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ที่มา ก.ต.ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้พิพากษา 437 คน ยื่นหนังสือคัดค้านเรื่องดังกล่าว เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีสัดส่วนจากบุคคลภายนอก 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ ซึ่งตัวแทนจากศาลยุติธรรมได้เข้าร่วมประชุมเรื่องนี้กับกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจนได้ข้อสรุปว่าจะยกเลิกสัดส่วนที่ให้บุคคลภายนอก 1 ใน 3 เข้ามาเป็นก.ต.ได้ แต่จะเสนอให้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น ก.ต.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน 
      นายศรีอัมพร กล่าวว่า เราได้สอบถามเหตุผลของแนวคิดดังกล่าว เพราะหลักการของศาลยุติธรรมไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ซึ่งกมธ.ยกร่างฯชี้แจงว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศาลปกครอง แต่ส่วนตัวเห็นว่าเหตุผลดังกล่าวถือเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอำนาจของศาลปกครองนั้นใช้อำนาจตรวจสอบรัฐ ผู้ถืออำนาจบริหาร ฝ่ายรัฐบาลจึงเกรงว่าจะมีการใช้อำนาจรังแกฝ่ายบริหารจากตุลาการที่มีแนวคิดสุดโต่ง จึงเจรจาให้มีตัวแทนจากฝ่ายบริหารเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (กศป.) เพื่อคานอำนาจ แต่หลักการของศาลยุติธรรมนั้นแตกต่างกัน เพราะศาลยุติธรรมใช้หลักคุณธรรม การพิจารณาตัดสินต้องอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ซึ่งระบบนี้จะต้องให้ผู้พิพากษาปกครองกันเอง


ค้านเลิก - สมาคมธุรกิจก๊าซรถยนต์ไทย แถลงคัดค้านแนวคิดยกเลิกการใช้ก๊าซ แอลพีจีภาคขนส่ง และจ่อขึ้นภาษี ยันกระทบต่อผู้บริโภคกว่า 1.5 ล้านคน พร้อมเปิดเว็บไซต์ล่า 1 ล้านรายชื่อยื่นรัฐบาลให้ทบทวนอีกครั้ง ที่โรงแรมเอเชีย เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.


ส่งจม.เปิดผนึกถึงแม่น้ำ5สาย
      นายศรีอัมพร กล่าวว่า ส่วนอีกประเด็นคือเรื่องที่กำหนดให้อุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ไปยังศาลฎีกาได้อีกนั้น ตนมองว่าการตรวจสอบของ ก.ต.ซึ่งเป็นองค์กรตรวจสอบวินัยของตุลาการนั้นมีการตรวจสอบ 4 ขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลเหตุอนุก.ต. ก่อนมีคำสั่ง และเมื่อมีคำสั่งแล้วผู้ที่ถูกตรวจสอบยังขอให้พิจารณาคดีอีกครั้งได้อีก ถือว่าการพิจารณาของ ก.ต.มีคุณภาพเชื่อถือได้ หากให้ ก.ต.ซึ่งเป็นองค์กรที่ลงโทษทางวินัยมีคำสั่งมาแล้ว สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา ซึ่ง เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตัดสินอีก จึง ไม่ถูกต้อง
       นายศรีอัมพร กล่าวว่า ตอนนี้มีผู้พิพากษาเข้าชื่อลงในจดหมายเปิดผนึกแล้ว 1,130 คน คาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยืนยันว่าการเข้าชื่อของ ผู้พิพากษาครั้งนี้ไม่มีจุดประสงค์จะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เราแค่แสดงจุดยืนคัดค้านและป้องกันการก้าวล่วงและแทรกแซงอำนาจตุลาการซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาคดี และกระทบต่อประชาชนโดยตรง เรื่องนี้จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มิ.ย. ที่ศาลฎีกา ถ.แจ้งวัฒนะ จากนั้นตัวแทน ผู้พิพากษาจะนำจดหมายเปิดผนึกนี้ไปมอบให้ สนช. ครม. สปช. กมธ.ยกร่างฯและคสช. ต่อไป

หวั่นเกิดวิกฤตตุลาการ 
     เมื่อถามว่า หากยังยืนยันจะให้ตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นหนึ่งในก.ต.อยู่ จะเกิดการประท้วงคัดค้านของผู้พิพากษาจนนำไปสู่วิกฤตตุลาการเช่นอดีตหรือไม่ นายศรีอัมพรกล่าวว่า จะยังไม่เกิดวิกฤตตุลาการ แต่หากปล่อยคนนอกเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษาจนทำให้ผู้พิพากษาขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความไว้ใจและขาดอิสระ และส่งผลให้ผลคดีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามอำนาจ เมื่อนั้นอาจจะเกิดวิกฤตตุลาการได้อีก
      "ต้องถามว่า จะให้ฝ่ายบริหารเข้ามาเพื่ออะไร ในเมื่อหลักการที่เราคัดค้านสัดส่วน ก.ต. 1 ใน 3 ตอนแรกเพราะไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง การให้มีการปฏิรูปนั้นต้องปฏิรูปในสิ่งที่มีปัญหา ในสิ่งที่ไม่ดี ไม่ได้มาตรฐาน แต่ก.ต.ไม่มีปัญหาอยู่แล้วจะมาแก้ไขให้มีคนเข้ามาแทรกแซงทำไม เราไม่ได้จะล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับแต่เราค้านในเรื่องการแทรกแซงนี้" นายศรีอัมพรกล่าว

 

สปช.เล็งโหวตรธน.5-7 กย.
      เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุม สปช. ก่อนเข้าสู่วาระการประชุมเปิดให้สมาชิกหารือเรื่องต่างๆ โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. กล่าวกรณีพล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ยังไม่ดำเนินการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีว่า เหตุใดจึงไม่ยอมดำเนินการ หรือเห็นว่าใกล้เกษียณอายุราชการแล้วจึงไม่กล้าทำอะไร ไม่เข้าใจว่าหลักฐานชัดเจนขนาดนี้ทำไมไม่ดำเนินการ ที่ผ่านมาพล.ต.อ.สมยศเคยพูดว่า 'ใหญ่แค่ไหน ถ้าทำผิดกฎหมายก็จะจับ' อยากรู้ว่าจะยังรักษาสัจวาจาหรือไม่ 
       จากนั้น นายเทียนฉาย แจ้งที่ประชุมว่า สรุปผลการหารือวาระพิเศษเมื่อวันที่ 15 มิ.ย.ที่ผ่านมา สมาชิก สปช.รับทราบสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ตามที่รัฐบาลเสนอให้สนช. พิจารณาแก้ไข มีประเด็นสำคัญ คือ สปช.จะสิ้นสุดหลังให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และสามารถเสนอคำถามการประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ 1 คำถาม ซึ่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถขยายระยะเวลาการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิน 30 วัน โดยคาด สปช.จะได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 ส.ค. ส่งผลให้ สปช.อาจต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญระหว่างวันที่ 5-7 ก.ย.นี้

จี้สมาชิกส่งวาระปฏิรูป 
      นายเทียนฉาย กล่าวว่า สปช.ไม่ลดวาระการปฏิรูป ยังต้องปฏิรูป 37 วาระปฏิรูป และ 6 วาระพัฒนา และให้กมธ.ปฏิรูปคณะต่างๆ ต้องนำเสนอต่อที่ประชุม สปช.ภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อวาระการปฏิรูปจะต้องได้รับการพิจารณาแล้วเสร็จก่อนให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 ส.ค. หากการปฏิรูปวาระใดจะต้องยกร่างกฎหมายประกอบให้นำเสนอพร้อมกับรายงานการปฏิรูปในวาระนั้น 
      ประธานสปช. กล่าวว่า ก่อนที่ สปช.จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งจะมีการประ มวลผลการทำงานของ สปช.ในประเด็นต่างๆ ส่งไปยังครม. ให้นายกฯพิจารณา ประกอบด้วยเอกสารสำคัญ คือ วิสัยทัศน์ภาพประไทย ประมวลแผนปฏิรูป 37 วาระและ 6 วาระพัฒนา รวมถึงประเด็นปฏิรูปพิเศษ (Quick Win) การจัดทำวาระปฏิรูปหลัก โดยคัดเลือกกลุ่มวาระปฏิรูปที่เป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูป และการปรับกลไกภาครัฐ รวมถึงการบริหารและการบริหารราชการแผ่นดิน 

ส่วนตัวไม่หนุนประชามติ 2 ปี
    จากนั้น นายเทียนฉาย แถลงถึงการทำงานของสปช.ต่อแผนปฏิรูป หลังการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว ว่า สปช.ทยอยส่งวาระปฏิรูป พร้อมเสนอกฎหมายไปยังครม.หลายฉบับ แต่ยังอยู่ที่ ครม.ทั้งหมด ไม่มีการเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แม้แต่ฉบับเดียว ยืนยันว่าที่ สปช.ทำไว้จะไม่เสียของ มีวาระที่ชัดเจนแล้ว สปช.ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ต่างไปจากเดิม แผนปฏิรูปใดที่เสร็จสิ้นก็ทยอยส่งรัฐบาลทันทีเพื่อจะไม่เกิดความล่าช้า ยืนยันเวลาที่เหลือ 67-68 วัน เราจะทำให้งานปฏิรูปกระชับขึ้น ตรงตามกำหนดเวลาเพื่อเห็นรูปแบบที่ชัดเจน อะไรที่เป็นเบี้ยหัวแตกจะไม่อยู่ในกรอบ เมื่อถามว่าหลังจากรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถูกปรับแก้ทั้ง 7 ประเด็น แนวทางการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.จะเป็นอย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นความแตกต่าง แต่บางคนอาจแสดงความเห็นได้หลากหลายซึ่งเป็นความเห็นส่วนบุคคล เชื่อว่า สปช.ส่วนใหญ่จะไม่คิดเป็นแบบนั้น
      ส่วนคำถามประชามติของสปช. นายเทียนฉายกล่าวว่า ต้องรอดูถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 กำหนดไว้ก่อน คิดว่าต้องพิจารณาวันเดียวกับที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ อาจต้องเปิดอภิปรายก่อนชั่วโมงที่จะลงมติ ส่วนการเสนอให้มีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น ตามกฎหมายบังคับไว้ว่าไม่มีการอภิปราย
     เมื่อถามว่า หลักการตั้งคำถามควรเป็นอย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า เบื้องต้นต้องหารือว่าจะมีการตั้งคำถามหรือไม่ก่อน ถ้าออกมาว่าควรตั้งคำถาม โดยหลักการก็ต้องเป็นประเด็นที่ไม่เปิดกว้างมาก ควรถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าถ้ามีสมาชิกเสนอคำถามว่า ปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ได้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ถ้ามีคนเสนอก็ต้องพิจารณา เพราะเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ โดยหลักการถ้าถามแบบนี้ทำได้ แต่ไม่ใช่หลักการของตน 

เอกชัย โต้ข่าวสปช.ล้มร่างรธน. 
      พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช. ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสสปช.เสียงแตกรับหรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญว่า การประชุมวันที่ 15 มิ.ย. ไม่ได้เกิดกระแสเหมือนที่เป็นข่าว เพียงแต่ที่ประชุมให้สมาชิกพูดอะไรที่อยากพูดจึงอาจเป็นเหตุให้เกิดประเด็นนี้ขึ้น การแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมีหลายประเด็นและมีการส่งคำขอแก้ไขมามากทั้งจาก สปช. สนช. ครม. และประชาชน ดังนั้นจะมาบอกว่า สปช.รับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญตอนนี้ไม่ได้ เนื่อง จากยังไม่ได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯแก้ไข นอกจากนี้ สมาชิก สปช.บางคนกังวลว่ากมธ.ยกร่างฯจะสามารถแก้ไขร่างได้หรือไม่ เพราะมีกว่า 100 ประเด็นที่ต้องปรับแก้ หากผ่านในช่วง สปช.จริง แต่ในส่วนการทำประชามติอาจไม่ผ่านได้ เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ สปช.เป็นห่วง และไม่ใช่อย่างที่เป็นกระแสออกมาว่าจะล้มหรือไม่ล้มร่างรัฐธรรมนูญ พล.อ.เอกชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องที่บอกว่า สปช.ไม่มีแรงจะทำงานเพราะต้องถูกยุบไปนั้นตนยังมีแรงทำงาน สปช.ต้องหมดวาระไปในช่วงวันที่ 4-6 ก.ย.นี้ ก่อนหมดวาระต้องทำเรื่องการปฏิรูปทั้ง 37 วาระปฏิรูป และ 6 เรื่องพัฒนาให้เสร็จในสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ก่อน เข้าใจว่าที่มีกระแสออกมาบางคนคาดว่าจะได้อยู่ถึงต้นปี 2559 เพราะต้องทำหน้าที่ออกกฎหมายลูกเรื่องการปฏิรูป แต่เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ให้ตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมาทำหน้าที่ตรงนั้น สปช.ก็ต้องหมดไป ส่วนจะได้ไปอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯหรือไม่ขึ้นอยู่กับนายกฯเป็นคนเลือก และอยู่ที่กรรมเก่า เราทำเรื่องธรรมะไม่ยึดติดอยู่แล้ว

ถ่ายสดสนช.ถกร่างแก้ไขรธน.57
     เวลา 13.30 น. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. เป็นประธานการประชุมกมธ.วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) ปี 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ....) พ.ศ. ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมสนช. วันที่ 18 มิ.ย. โดยมีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เข้าชี้แจงถึงสาระสำคัญของการแก้ไข
    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิปสนช. แถลงหลังประชุมว่า การพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ของสนช. ในวันที่ 18 มิ.ย. จะพิจารณา 3 วาระรวดในวันเดียวไม่ตั้งกมธ.ร่วม เปิดให้สมาชิกอภิปรายไม่จำกัดเวลา ฝ่ายรัฐบาลมอบให้นายวิษณุ พล.อ.ประวิตร และนายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาชี้แจงต่อสนช. หากจำเป็นต้องแก้เนื้อหาในรายละเอียดเล็กน้อย รัฐมนตรีทั้ง 3 คน มีอำนาจตัดสินใจในนามครม.ได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นสำคัญต้องนำกลับไปหารือกับครม.อีกครั้ง เชื่อว่าคงไม่มีประเด็นใดมีปัญหา
       นพ.เจตน์ กล่าวว่า ขั้นตอนลงมติร่างแก้ไขในวาระ 1 ขั้นรับหลักการ และวาระ 3 จะใช้วิธีขานชื่อเป็นรายบุคคล ส่วนวาระ 2 พิจารณารายมาตราจะใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนน เชื่อว่าสนช.จะให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขฉบับนี้ที่แก้ไขเพื่อให้ทำประชามติ ซึ่งมาจากความต้องการของประชาชน คิดว่าในทางปฏิบัติไม่น่ามีปัญหา การประชุมสนช.วันดังกล่าวไม่มีการประชุมลับ และจะถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์รัฐสภา ทั้งนี้ สนช.ยังไม่มีการกำหนดประเด็นคำถามทำประชามติ ควรรอให้กระบวนการแก้ไขร่างเสร็จสิ้นก่อนจึงจะพิจารณาว่าจะกำหนดกระบวนการจัดทำคำถามอย่างไร


อาลัย - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ พร้อมด้วยนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ นางเยาวเรศ ชินวัตร พี่สาวและเครือญาติ ร่วมสวดอภิธรรมศพนางวิไล คงประยูร ซึ่งมีศักดิ์เป็นอาแท้ๆ ที่วัดโรงธรรมสามัคคี อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.


กมธ.ยกร่างยังไม่ได้ข้อยุติเรื่องสว. 
       พล.ท.นคร สุขประเสริฐ โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวหลังการประชุมกมธ.ยกร่างฯ พิจารณาประเด็นรส.ว. ทั้งระบบการได้มา อำนาจหน้าที่ การเสนอกฎหมาย การให้ความเห็นการตั้งรัฐมนตรีและการถอดถอน ว่า ยังไม่มีข้อยุติหรือตกผลึกใดๆ ในประเด็น ดังกล่าว ที่ประชุมกำหนดให้กมธ.ยกร่างฯ นำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่สปช.เสนอทั้ง 8 กลุ่ม คำขอแก้ไขของครม.และข้อเสนอแนะของประชาชนกลับไปศึกษาเป็นการบ้าน ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯอีกครั้งในสัปดาห์หน้า จากนั้นถึงจะเริ่มพิจารณาเป็นรายมาตรา วันที่ 24 มิ.ย.นี้ 
       พล.ท.นครกล่าวว่า แนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับที่มาและอำนาจหน้าที่ส.ว.นั้น ที่มาของส.ว.นั้นมีข้อเสนอที่หลากหลาย ทั้งให้มาจากการสรรหาทั้งหมด หรือเลือกตั้งทั้งหมด หรือมาจากการสรรหาผสมกับเลือกตั้ง ขณะที่อำนาจหน้าที่ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่มีหลักการที่พิจารณาคือหากส.ว.มาจากการสรรหา ต้องไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่หากเป็นการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ส.ว.แต่งตั้งยังสามารถทำได้ รวมถึงการเสนอกฎหมายที่ต้องพิจารณาเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับอำนาจที่ส.ว.ควรจะมี แต่หากพิจารณาว่าส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้งก็จำเป็นต้องมีอำนาจมาก เนื่องจากมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทั้งหมดนี้ทางกมธ.ยกร่างฯจะต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบที่สุด 
      นางถวิลวดี บุรีกุล กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่าสำหรับหลักการสำคัญของส.ว.คือความเป็นสภาพหุนิยม ที่มีบุคคลหลากหลายเข้ามาทำหน้าที่ ดังนั้นต้องพิจารณาด้วยว่าทำอย่างไรไม่ให้ผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเป็นตัวแทนของนายทุน ที่มาของส.ว.นั้นภาคประชาชนมีข้อเสนอ กมธ.ยกร่างฯ จะนำมาพิจารณาประกอบการปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญด้วย ขณะนี้ผลสำรวจความเห็นของประชาชนต่อประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าปลายสัปดาห์นี้จะแถลงผลสำรวจได้ โดยนาย บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ จะเป็นผู้แถลงเนื้อหาด้วยตนเอง

เมินกระแสข่าวคว่ำรธน.
       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีสปช.ระบุถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นธรรมดาที่คน 200-300 คน จะมองต่างกัน ถือเป็นสิทธิ์ เราเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ส่วนการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นจริงหรือไม่ ยังไม่ถึงเวลาพิจารณาและไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานยกร่างรัฐธรรม นูญในเวลาที่เหลือ 2 เดือนเศษ ช่วงนี้จนถึงวันที่ 23 มิ.ย. จะพิจารณาไล่เรียงตามภาค ตามหมวดที่สำคัญ ซึ่งเป็นข้อเสนอแก้ไขที่สำคัญยึดโยงกับหลายมาตรา โดยจะพิจารณาให้ได้ข้อสรุป และวันที่ 24 มิ.ย. จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณา มาตรา 1 นำสาระที่ได้จากข้อสรุปประเด็นสำคัญรวมถึงคำขอแก้ไขที่ภาคส่วนต่างๆ ส่งมา ร่วมพิจารณาด้วย
       พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เพื่อให้การทำงานราบรื่นและเสร็จภายใต้กรอบเวลา ซึ่งสัปดาห์สุดท้ายก่อนจะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับสปช.พิจารณา คาดว่าจะเป็นวันที่ 21 ส.ค.นั้น จะเชิญสปช.ที่เสนอคำขอแก้ไขเข้าร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงและเหตุผลของกมธ.ยก ร่างฯว่าข้อเสนอใดรับไปแก้ไข หรือไม่รับไว้พิจารณา เพื่อให้เกิดการยอมรับและทำความเข้าใจก่อนที่สปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการขยายกรอบเวลาการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ เบื้องต้นกมธ.ยกร่างฯหารือกันแล้วว่าจะขยายเวลา แต่การจะมีมติต้องรอให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ผ่านความเห็นชอบจากสนช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ก่อน

งบประชามติเกิน 3 พันล้าน 
      ผู้สื่อข่าวรายงานจากสำนักงานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า การประชุม กกต. วันเดียวกันนี้ นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. รายงานผลการหารือระหว่างผู้แทน กกต. กับ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ต่อการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า สำนักงาน กกต.จะยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รวมทั้งหากจะออกเสียงประชามติต้องจัดพิมพ์บัตรออกเสียง 50 ล้านฉบับต่อ 1 คำถาม หากจะถาม 3 คำถาม ต้องมียอดพิมพ์ 150 ล้านฉบับ รวมกับเอกสารเผยแพร่รัฐธรรมนูญและการจัดส่ง รวมค่าบริหารจัดการ คาดงบที่ใช้น่าจะเกิน 3,000 ล้านบาท แต่ยังกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนไม่ได้ 

คสช.จ่อยกเลิกกกต.จังหวัด 
      ขณะที่ กกต.สอบถามถึงความชัดเจนว่าจะจัดให้มีเวทีดีเบตระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้หรือไม่ และจะจัดพิมพ์เอกสารแผ่นพับทำความเข้าใจขั้นตอนทำประชามติให้กับประชาชนและการโฆษณารณรงค์เรื่องการออกเสียงผ่านสื่อต่างๆ ใครจะเป็นผู้กำหนดและดำเนินการ ที่ประชุมจึงมีมติตั้งคณะทำงาน 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ขอให้เสนอร่างแรกต่อที่ประชุม กกต.วันที่ 29 มิ.ย.นี้ 2.คณะกรรมการประสานงานการจัดพิมพ์และส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ จะพิจารณาว่าต้องจัดพิมพ์จำนวนเท่าใด และจะจัดส่งอย่างไรให้ทัน และทั่วถึงกับประชาชน 20 ล้านครัวเรือน 3.คณะกรรมการประสานงานการออกเสียงประชามติ จะดูการบริหารจัดการการออกเสียง และ 4.คณะกรรมการจัดทำงบประมาณ จะคำนวณตัวเลขงบที่จะใช้ออกเสียงประชามติทั้งหมด
      ทั้งนี้ ยังมีวาระเรื่องระเบียบการสรรหา กกต.จังหวัด แทน กกต.จังหวัดที่จะหมดวาระในเดือนต.ค.นี้ ประมาณ 60 จังหวัด แต่ที่ประชุมไม่ได้พิจารณา เนื่องจากรอความชัดเจนจาก คสช.เพราะมีกระแสข่าวว่า เร็วๆ นี้ คสช.อาจประกาศยกเลิก กกต.จังหวัดทั้งหมด เนื่องจากขณะนี้ไม่มีการเลือกตั้งและที่ผ่านมาถูกร้องเรียนเรื่องความเป็นกลาง การคงไว้จึงไม่คุ้มกับงบประมาณปีละ 150 ล้านบาท

มท.1 ขวางรณรงค์คว่ำรธน. 
      พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการทำประชามติอาจมีบางฝ่ายรณรงค์ให้ประชาชนรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า ประชามติเราไปยุ่งไม่ได้ สั่งไม่ได้ หรือไปสั่งเขาแล้วเขาไม่ทำตามก็ได้ ส่วนที่จะรณรงค์ให้ประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนั้นอย่าทำเลย เสียเงินทำประชามติตั้ง 3 พันล้านบาท เราอยากได้คำตอบจากประชาชนจริงๆ คงไม่มีใครทำอย่างนั้นและตนไม่เห็นด้วย มันดูถูกคนเกินไป ดูถูกคนทั้งประเทศ เหมือนปาหี่หลอกกัน ถ้าเป็นเช่นนั้นใช้อำนาจคสช.ประกาศไปเลยดีกว่า แต่จะทำไปทำไม มันปิดไม่ได้ สั่ง 2 คนอาจเป็นความลับ แต่ความลับไม่มีในโลก เรื่องนี้สั่งไม่ได้ แค่ 3-4 คนประชามติก็ไม่เกิด ฉะนั้นไม่ต้องสั่ง แค่คิดก็ผิดแล้ว

เชื่อไม่มีต้านบิ๊กตู่ขึ้นเชียงใหม่ 
     พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงการประชุมครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการครั้งที่ 2 ที่จ.เชียงใหม่ วันที่ 29-30 มิ.ย. เกรงจะมีการขัดขวางว่า วันนี้ต้องสร้างวัฒนธรรม รัฐบาลขณะนี้และในอนาคตจะไปที่ใดอย่าใช้วัฒน ธรรมขว้างปาหรือขัดขวาง เพราะถ้าทำพอตัวเองเป็นรัฐบาลก็โดนอีก วัฒนธรรมนี้ไม่ทำให้ประเทศเจริญ สิ่งที่ต้องการคือทำอย่างไรให้รัฐบาลอย่าทำอะไรผิดๆ และตรวจสอบ ถ่วงดุลได้ เพื่อไม่ให้คนออกมาเดินบนถนนโดยไม่ชอบธรรมจนเกิดปฏิวัติ 
     พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่เชียงใหม่ของนายกฯ และครม.ครั้งนี้ ประเมินว่าโดยรวมไม่มีการออกมาเคลื่อนไหวต่อต้าน แต่จะ 5-6-7 คนตรงนี้ไม่รู้อาจมี แต่การลงพื้นที่ของนายกฯ ที่ผ่านมา ประชาชนมาพูดคุยกับ นายกฯ การเมืองต้องเป็นแบบนั้น ไม่พอใจนโยบายหรืออะไรไม่ดีให้มาบอก นายกฯ จะให้ส่วนที่เกี่ยวข้องพิจารณาอยู่แล้ว 

ครม.ตั้งเลขาฯบีโอไอคนใหม่ 
     พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอแต่งตั้ง นายวันชัย คงเกษม รองผู้ว่าฯนครราชสีมา เป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ สำนักงานปลัดมหาดไทย อนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เสนอแต่งตั้ง นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานบีโอไอ เป็นเลขาธิการบีโอไอ อนุมัติตามที่กระทรวงยุติ ธรรม เสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) 3 คน 1.นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ 2.นายชาติชาย สุทธิกลม 3.นายอมรวิชช์ นาครทรรพ มีวาระ 2 ปี ตามมาตรา 6 แห่งพ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามยาเสพติด พ.ศ.2519 

ยกระดับป.ป.ท.เทียบเท่าป.ป.ช. 
      พล.ต.สรรเสริญ แถลงว่า ครม.มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ร่างพ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. และร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. รวม 2 ฉบับ เพื่อยกระดับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ตามคำสั่งคสช.ฉบับที่ 69 คือยกมาตรฐาน วิธีการปฏิบัติงานของป.ป.ท.ให้ใกล้เคียงกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) ให้เป็นหน่วยงานอิสระ เมื่อครม.เห็นชอบแล้ว ให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง และขอความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(คตช.) และนำมตินั้นไปบัญญัติเพิ่มเติมไว้ในร่างพ.ร.บ.ด้วย แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติ บัญญัติแห่งชาติ(สนช.) พิจารณา ก่อนเสนอ สนช.ต่อไป
     สาระสำคัญ คือให้ป.ป.ท.อยู่ภายใต้กำกับดูแลนายกรัฐมนตรีโดยตรง มีกรรมการ 6 คน วาระ 7 ปี ให้เลขาธิการและพนักงาน ป.ป.ท.ซึ่งได้รับมอบหมายมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงเบื้องต้นแทนคณะกรรมการ ป.ป.ท. และมีอำนาจพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้คณะกรรมการป.ป.ท.มีอำนาจฟ้องคดีได้เอง รวมทั้งมีหน้าที่เสนอแนะต่อครม.เพื่อแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย กฎ ข้อบังคับ หรือมาตรการที่ล้าสมัย รวมถึงกำหนดมาตรการกรณีที่หน่วยงานของรัฐกระทำการหรือดำเนินโครงการใดที่ส่อทุจริตต่อหน้าที่หรือประพฤติมิชอบ

ทูตญี่ปุ่นหารือบิ๊กตู่
      พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยภายหลังนาย ชิโระ ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจําประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ.ประยุทธ์ ในโอกาสรับหน้าที่ในไทยว่า ปี 2560 ความสัมพันธ์ทางการทูตไทยกับญี่ปุ่นจะครบรอบ 130 ปี นายกฯให้ความมั่นใจว่ารัฐบาลยินดีทำงานร่วมกับญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เอกอัคร ราชทูตญี่ปุ่นเห็นว่าไทยเป็นประเทศที่สำคัญต่อการพัฒนาของญี่ปุ่นเช่นกัน และแสดงความพร้อมต้อนรับนายกฯเข้าร่วมประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 7 ที่ญี่ปุ่นช่วงต้นก.ค. 
      พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ได้หารือความคืบหน้าของการร่วมมือระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในประเด็นต่างๆ เช่น ด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ล่าสุดมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOC) ว่าด้วยความร่วมมือระบบราง โครงการเงินกู้รถไฟสายสีแดง เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นย้ำว่านายกฯอาเบะ ประกาศให้ไทยเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน และญี่ปุ่นต้องการส่งเสริมการลงทุนโครง สร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพสูงให้แก่ไทย ส่วนโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวาย ญี่ปุ่นจะส่งผู้เชี่ยวชาญมาศึกษาความเป็นไปได้การสร้างถนนจากชายแดนไทยไปทวาย 
     พล.ต.วีรชน กล่าวว่า สัปดาหหน้ากระทรวง พาณิชย์ญี่ปุ่น คณะอุตสาหกรรมด้านการแปรรูปอาหาร และเจโทรจะเดินทางมาไทยศึกษาความเป็นไปได้และจัดทำการจับคู่ทางธุรกิจ และจะประชุมร่วมกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อพิจารณาสินค้าไทยภายใต้กรอบเจเทปป้าวันที่ 26 มิ.ย.นี้ และจะจัดตั้งกรอบการเจรจาภายใต้รมว.เกษตรของสองประเทศในระยะเวลาอันใกล้นี้ด้วย และในตอนท้าย ญี่ปุ่นได้กล่าวชื่นชมไทยที่มีบทบาทนำในการแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติทางทะเล ซึ่งเป็นปัญหาด้านมนุษยธรรมที่เกี่ยวข้องกับหลายประเทศ โดยญี่ปุ่นพร้อมร่วมมือและสนับสนุนไทยในการแก้ไขปัญหานี้ต่อไปด้วย

บิ๊กตู่ ให้ถามประชาชนตั้งกาสิโน
      วันที่ 16 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิก สปช. บางกลุ่มเสนอให้จัดทำกาสิโนถูกกฎหมายที่พัทยา ว่า คนไทยยอมหรือไม่ ไปหามา ตนไม่มีจุดยืนเรื่องนี้ อนาคตจะตั้งก็หารือกันมา คนทั้งประเทศรับได้หรือไม่
     นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีการเสนอเข้า สปช.และยืนยันว่าไม่อยู่ในแผนการปฏิรูป เป็นเพียงการเสนอความเห็นของบุคคล แม้จะเป็นสมาชิก สปช.แต่ถือเป็นเพียงบางส่วน สมาชิกอีก 248 คนไม่รู้เรื่อง จึงไม่ใช่มติของ สปช. ขณะนี้การทำงานตามวาระ 37 ปฏิรูป และ 6 วาระพัฒนา ก็พอดีตามกรอบเวลาแล้ว อะไรที่นอกเหนือจากแผนจึงไม่ควรนำเสนอเข้าไปได้อีกเพราะที่มีอยู่ก็หนักแล้ว การเปิดหรือปิดกาสิโนไม่ใช่เรื่องปฏิรูปจึงไม่จำเป็นต้องนำมาพิจารณาในแผนการปฏิรูป ควรรอให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ 
      ด้านพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สปช.กลุ่มรักชาติ ที่เสนอตั้งบ่อนกาสิโน กล่าวว่า มีสปช.ตอบรับเรื่องนี้จำนวนมาก ไม่ใช่แค่ 12 คนในกลุ่มเท่านั้น หลังจากนี้จะนำหลักการดังกล่าวแจ้งต่อนายเทียนฉาย พิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่ พร้อมเสนอหลักการต่อครม.และคสช. มั่นใจว่าพล.อ.ประยุทธ์ พร้อมรับฟังเหตุผล ถ้าผลักดันไม่ทันก่อนที่สปช.จะสิ้นสุดวาระ จะไปผลักดันต่อในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศต่อไป อยากผลักดันเรื่องนี้เป็นเรื่องเร่งด่วนให้สำเร็จภายในรัฐบาลนี้ เพื่อนำเงินมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ อยากให้ลองทำดู ยืนยันการเสนอเรื่องนี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสียและไม่ได้รับคำสั่งจากใครให้มาดำเนินการ 
      นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.กลุ่มรักชาติ เผยหลังหารือร่วมกันสมาชิกกลุ่มว่า ขณะนี้มีสมาชิกที่เห็นด้วยกับข้อเสนอตั้งกาสิโนแล้วกว่า 20 คน ทั้งหมดเห็นด้วยที่จะเดินหน้าต่อไป ได้ขอให้นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สปช.เป็นที่ปรึกษาให้ เนื่องจากเคยศึกษาประเด็นดังกล่าว ทั้งนี้กลุ่มจะประชุมหารือประเด็นการตั้งกาสิโนทุกวันจันทร์และอังคาร ต้องได้ข้อสรุปก่อนวันที่ 30 มิ.ย.นี้ เพื่อนำเสนอต่อประธาน สปช.ตามขั้นตอน หากไม่เห็นด้วยทางกลุ่มจะเสนอต่อพล.อ.ประยุทธ์ โดยตรง 
       พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงสมาชิกสปช.เสนอตั้งบ่อนกาสิโนถูกกฎหมายว่า ไม่มีความเห็น ถือเป็นเรื่องใหญ่มากและละเอียดอ่อน เกี่ยวข้องหลายมิติ อีกอย่างเราเป็นเมืองพุทธ เรื่องนี้มีปัญหามาหลายสิบปีแล้วว่าคนไทยที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยเป็นอย่างไร อย่ามาโยนให้กระทรวงมหาดไทย

ยธ.เร่ง'99 ศพ'จี้ทหารส่งปืนตรวจ
      วันที่ 16 มิ.ย. ที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงการประชุมติดตามความคืบหน้าคดี 99 ศพจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ว่า วันนี้คณะพนักงานสอบสวน ทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) ประกอบด้วย นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง พ.ต.ท. พงศ์อินทร์ อินทรขาว รองอธิบดีดีเอสไอ และพล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น. เข้าร่วมประชุม ได้พูดคุยความคืบหน้าของคดี พร้อมรายงานขั้นตอนการสอบสวนว่าติดขัดหรือล่าช้าส่วนใด พนักงานสอบสวนยืนยันว่าจะเร่งรัดดำเนินคดีให้เสร็จโดยเร็ว ซึ่งตนกำชับให้ดำเนินคดีอย่างเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นกับคนในชาติ
      รายงานข่าวจากชุดพนักงานสอบสวนคดี 99 ศพ แจ้งว่า การประชุมครั้งนี้มีการสอบถามถึงความล่าช้าและขั้นตอนการทำงานว่าติดขัดส่วนไหน และพนักงานสอบสวนขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ทหารให้ส่งอาวุธที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 มาตรวจพิสูจน์ เพื่อนำผลไปประกอบการทำสำนวนคดี 
      อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พนักงานสอบสวนได้สรุปสำนวนคดีส่งให้พนักงานอัยการแล้ว 2-3 เรื่อง อยู่ระหว่างสรุปสำนวนและขอความเห็นเพื่อส่งพนักงานอัยการอีกหลายสำนวน ตั้งแต่ตั้งคณะพนักงานสอบสวนชุดใหม่ได้เรียกทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ในวันเกิดเหตุ รวมถึงบุคคลที่พนักงานสอบสวนมีหลักฐานมาสอบสวนในฐานะพยานอย่างต่อเนื่อง
       พล.ต.ท.ศรีวราห์ กล่าวกรณีดีเอสไอส่งหนังสือให้เร่งตรวจสอบอาวุธปืนของตำรวจภูธรภาค 7 ในวันที่เกิดเหตุ ว่า คณะพนักงานสอบสวนบช.น. กำลังเร่งตรวจสอบอาวุธทั้งหมดที่อยู่ในที่เกิดเหตุอย่างละเอียด อาวุธปืนดังกล่าวมีประมาณ 100 กระบอก ขณะนี้สอบปากคำพยานไปแล้วกว่า 200 ปาก จะรีบสรุปสำนวนคดีในส่วนที่บช.น.รับผิดชอบให้เสร็จสิ้นภายใน 2 เดือน

ครม.เด้งอธิบดีการบินพลเรือน 
      วันที่ 16 มิ.ย. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เผยหลังประชุมครม.ว่า ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอโยกย้ายนายสมชาย พิพุธวัฒน์ อธิบดีกรมการบินพลเรือน(บพ.) ไปเป็นผู้ตรวจราชการ และให้นางปาริชาต คชรัตน์ ผู้ตรวจฯ ขึ้นมาดำรงตำแหน่งอธิบดีบพ. แทน โดยทั้ง 2 คนเกษียณอายุพร้อมกันในวันที่ 30 ก.ย.นี้ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการแก้ปัญหาของบพ.มากขึ้น 
      รมว.คมนาคม กล่าวว่า สาเหตุที่ปลดนายสมชาย ขอเปรียบเทียบการแก้ปัญหาขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) เป็นการแข่งฟุตบอล คือต้องวางแผนเกมรุกและเกมรับ อธิบดีต้องเป็นผู้เล่นที่สำคัญที่สุดเรียกว่าคีย์ซักเซส แต่การเล่นที่ผ่านมานายสมชาย ซึ่งเป็นตัวทำเกมถูกปัญหากดดันและรุมล้อมจนเล่นเกมไม่ออก จำเป็นต้องปรับคนเล่นใหม่เพื่อให้สอดรับกับเกมใหม่ ซึ่งจะปรับควบคู่กับการปรับลดคณะทำงานชุดย่อยต่างๆ ด้วย" พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่า นางปาริชาติ เคยเป็นรองอธิบดี บพ. มีความสามารถและประสานงานได้ นายสมชายก็มีความสามารถแต่ความที่เป็นนักกฎหมายส่งผลให้การทำงานต่างๆ มีขั้นตอนจนล่าช้า แม้จะปรับเปลี่ยนตำแหน่งนายสมชาย แต่ยังช่วยทำงานแก้ปัญหาที่รับผิดชอบอยู่เดิมในฐานะที่ปรึกษาของคณะทำงานอยู่แล้ว 
       แหล่งข่าวเผยว่า พล.อ.อ.ประจิน ได้รับรายงานว่า นายสมชาย มีปัญหาภายในมากและส่งผลให้งานคืบหน้าน้อยมาก ประกอบกับช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา นายสมชายต้องไปชี้แจงกับหน่วยงานด้านการบินในหลายๆ ประเทศ ส่งผลให้งานแก้ปัญหาเร่งด่วนของไอซีเอโอหยุดชะงักเป็นช่วงๆ พล.อ.อ.ประจินเคยสั่งการโดยตรงไปที่นายสมชาย ให้กระจายงานและแบ่งงานให้ผู้บริหารคนอื่นมาช่วยแทน แต่ยังต้องรอจ่อคิวให้นายสมชายตรวจสอบอีก ทำให้การทำงานไม่คืบหน้า จึงตัดสินใจปลด

ตร.ขอนิวซีแลนด์ส่งตัว'ตั้ง อาชีวะ'
       วันที่ 16 มิ.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) กล่าวถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ร้องขอให้อสส. ดำเนินการขอส่งนายเอกภพ เหลือรา หรือตั้ง อาชีวะ เป็นผู้ร้ายข้ามแดนตามความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า หลังตร.ทำหนังสือขอให้อสส.ขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนนายเอกภพ ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญาที่ 2429/2556 ลงวันที่ 13 ธ.ค.2556 ซึ่งตร.สืบสวนได้ความว่านายเอกภพ อยู่ที่ประเทศนิวซีแลนด์ อสส.ในฐานะผู้ประสานงานกลางตามพ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน 2551 จึงร้องขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนไปยังทางการนิวซีแลนด์ เพื่อพิจารณาส่งตัวนายเอกภพ เป็นผู้ร้ายข้ามแดน มาดำเนินคดีในไทยในความผิดดังกล่าวแล้ว
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกภพ เหลือรา หรือ ตั้ง อาชีวะ อายุ 24 ปี อยู่บ้านเลขที่ 9/279 หมู่ที่ 2 แขวงโคกแฝด เขตหนองจอก กทม. ถูกศาลอาญาออกหมายจับตามคำร้องของ พ.ต.ท.โกเมน สุภาพ พนักงานสอบสวน สน.หัวหมาก ซึ่งปรากฏพฤติการณ์ในคลิปวิดีโอ ขณะปราศรัยบนเวทีเล็กของกลุ่มนปช. ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน วันที่ 27 พ.ย.2556 มีข้อความหมิ่นสถาบัน 

ปลดผู้เชี่ยวชาญประธานสนช.
       วันที่ 16 มิ.ย. ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มอบหมายให้เลขานุการส่วนตัวชี้แจงต่อสื่อมวลชน ถึงกรณีตำรวจกองปราบปรามได้จับกุมนายรัฐธนันท์ หิรัญอมรภาคย์ ผู้เชี่ยวชาญประจำตัวประธานสนช. ในข้อหาฉ้อโกงประชาชน ใช้วิธีตั้งบริษัทหลอกเหยื่อร่วมลงทุนซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ หลังผู้เสียหาย 50 ราย แห่แจ้งความสูญเงิน รวมกัน 27 ล้านบาท และยังมีผู้เสียหายอีก 40 กว่าราย เตรียมเข้าแจ้งความรอบสองว่า ยอมรับว่านายรัฐธนันท์ เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวนายพรเพชรจริง แต่เมื่อทราบข่าวว่านายรัฐธนันท์ถูกจับข้อหาฉ้อโกง นายพรเพชรได้เซ็นคำสั่งปลดออกจากตำแหน่งทันทีตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. อย่างไรก็ตาม ก่อนแต่งตั้งนายรัฐธนันท์ได้ตรวจสอบคุณสมบัติพบว่ามีคุณสมบัติครบถ้วนถูกต้อง แต่ไม่ทราบก่อนล่วงหน้าว่ามีพฤติการณ์ฉ้อโกงตามที่เป็นข่าว

 

1,130ตุลาการค้านรธน. ฮือเข้าชื่อ จี้แก้ไข-ชี้แทรกแซงศาล ยื่น 5 สาย-นัดแถลงวันนี้ 'บิ๊กตู่'รู้คนกุข่าวปว.ซ้อน ซัด'สปช.'ทำปฏิรูปเหลว ตร.เอาผิดข้าวถุง'ลายจุด' ข้อหาติดสลากไม่ถูกต้อง

      มติชนออนไลน์ :  1,130 ตุลาการเข้าชื่อค้านร่าง รธน.ปมเพิ่มสัดส่วน ก.ต.-อุทธรณ์คำสั่งลงโทษ หวั่นถูกการเมืองแทรกแซง นัดแถลงวันนี้ ก่อนส่งจดหมายเปิดผนึกถึงแม่น้ำ 5 สาย ปัดค้านร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 'บิ๊กตู่'เผยรู้คนปล่อยข่าว ปว.ซ้อนแล้ว

 

@ บิ๊กตู่อารมณ์ดีเซลฟี่กับคณะนิสิต

 

เซลฟี่ - นิสิตแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เซลฟี่ร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ระหว่างเข้ามอบเข็มที่ระลึกเนื่องในวันอานันทมหิดลและขอรับบริจาคสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดล ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 16 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล ก่อนการประชุม นพ.สมชาย ธนวัฒนาเจริญ รองคณบดี ฝ่ายกิจการนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำคณะนิสิตแพทย์เข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อมอบเข็มที่ระลึกวันอานันทมหิดล ประจำปี พ.ศ.2558 จัดทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันสวรรคตรัชกาล 8 เพื่อเป็นการหารายได้สนับสนุนมูลนิธิอานันทมหิดล มูลนิธิสงเคราะห์เด็กสภากาชาดไทย รวมทั้งนำไปช่วยเหลือพระภิกษุอาพาธ และผู้ป่วยยากไร้ในโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ทั้งนี้ ประชาชนที่สนใจสามารถร่วมบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ ชื่อบัญชี วันอานันทมหิดล ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสภากาชาดไทย เลขที่บัญชี 045-508-231-4 โดย พล.อ.ประยุทธ์ถ่ายภาพเซลฟี่ร่วมกับคณะนิสิตอย่างเป็นกันเอง พร้อมร่วมบริจาคเพื่อสมทบทุนมูลนิธิอานันทมหิดลด้วย

 

@ รู้ตัวคนปล่อยข่าวปว.แล้ว

      พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุม ครม.กรณีที่มีผู้ปล่อยข่าวการปฏิวัติซ้อนว่า เชื่อว่าเป็นการปล่อยข่าว เพราะไม่มีใครออกมาปฏิวัติซ้อนแน่ ที่ตนออกมานี่ก็พอแล้ว สื่อไม่ควรที่จะขยายผลออกไป ตอนนี้ก็รู้แล้วว่าคนปล่อยเป็นใคร และมีเจตนาปล่อยข่าวให้เกิดความวุ่นวาย ที่ผ่านมาที่ได้ปฏิวัติเพื่อไม่ให้คนอื่นมาปฏิวัติอีกในวันหน้า คิดว่าไม่มีใครมีความรับผิดชอบและแบกรับภาระไว้เท่าตนอีก จึงเชื่อว่าไม่มีคนปฏิวัติซ้อนได้อีก จึงไม่อยากให้สื่อเปิดพื้นที่ขยายความวุ่นวายออกไปอีก 

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะมีมาตรการติดตามคนปล่อยข่าวอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ดูอยู่ กำลังติดตามตัวและรู้แล้วว่าเป็นใคร อยากให้เลิกพูดเรื่องข่าวลือกัน ถ้าตนไม่ได้พูดก็คือไม่ใช่ อยากให้ทุกคนนิ่งกันเสียบ้าง บ้านเมืองจะได้สงบ 

 

@ ชี้สปช.ทำปฏิรูปล้มเหลว

       เมื่อถามว่า มี สปช.บอกว่าจะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลได้อยู่ต่อ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า โรดแมปเขียนไว้อยู่แล้วในเรื่องของระยะเวลา หากร่างไม่ผ่านจะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายในกี่เดือน เรื่องที่ สปช.บอกว่าจะคว่ำนั้น ส่วนตัวไม่รู้เพราะไม่ได้อยู่ใน สปช.

      "สปช.เมื่อผมตั้งมาแล้วก็ทำงานไป มีเงินเดือนด้วย ที่ผ่านมาคิดว่า สปช.มีความตั้งใจในการทำงาน เพียงแต่จำนวนคนเยอะและมาจากหลายภาคส่วน ในส่วนของจังหวัดก็มี นักการเมืองก็มี ผมต้องการให้ สปช.ไปหารือเรื่องการปฏิรูปในวันข้างหน้า แต่ปรากฏมันไปกันไม่ได้ หารือกันไม่ได้ เพราะต่างคนต่างมีจุดยืนเป็นของตัวเอง บางคนมีความคิดในส่วนของพรรคการเมือง แล้วจะไปกันได้อย่างไร คิดว่าถ้าประเทศไทยเป็นแบบนี้ก็ไปกันไม่ได้หรอก โจทย์ผมตอนแรกคือต้องการปฏิรูปโดย สปช. เมื่อมีรัฐธรรมนูญก็เข้าสู่ขั้นตอนการเลือกตั้ง ผมจะจบหน้าที่ ถ้าทุกคนทำแบบนี้คือเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง ไม่เลือกเขาเลือกเรา หากนักการเมืองเป็นแบบนี้หมด ประเทศไทยจะไปได้ วันนี้ปัญหาของบ้านเราคือเรื่องคะแนนเสียง เรื่องการเลือกตั้ง ที่ผ่านมา บางเรื่องฝ่ายรัฐบาลจะทำ แต่ฝ่ายค้านไม่ให้ทำ และมีปัญหาเรื่องความโปร่งใส จึงเดินหน้าประเทศไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

      เมื่อถามว่า การทำงานของ สปช.ถูกใจหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถูกใจหรือไม่มันอยู่ในใจ 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอย่างมีอารมณ์เมื่อถูกถามถึง คสช.มีคำสั่งห้ามสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศจัดเสวนาเรื่องมาตรา 112 ว่า คิดว่าควรจัดหรือไม่ คุณเป็นคนไทย คิดว่าควรหรือไม่ ถ้าไม่ควรก็ไม่ควรตั้งคำถามนี้ขึ้นมา ถ้าคิดว่าควรก็คงไม่ใช่คนไทย

 

@ บิ๊กป๊อกชี้ฝ่ายมั่นคงเกาะติดข่าวปว.

      พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงข่าวการปฏิวัติซ้อน ว่า ฝ่ายความมั่นคงกำลังติดตามอยู่ ส่วนตนยังไม่ทราบรายละเอียด เมื่อถามว่ายุค คสช.ยังมีการปล่อยข่าวได้หรือ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ทำได้ทั้งนั้น การปล่อยข่าวจะปล่อยจากไหนก็ได้ บ้านคุณก็ได้ บ้านผมก็ได้ หรือต่างประเทศก็ได้ ได้สั่งการไปยังพื้นที่แล้ว เน้นการสร้างความเข้าใจกับประชาชน เพราะเป็นเรื่องที่จะทำให้ประเทศชาติเกิดขัดแย้ง 

      เมื่อถามว่า ได้รับรายงานความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับการรณรงค์ให้มีการไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในการทำประชามติหรือไม่ พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า เป็นไปไม่ได้ อย่าไปทำอย่างนั้นเลย เพราะเป็นการดูถูกประชาชนเกินไป ถ้าต้องเสียเงินทำตั้ง 3,000 ล้านแล้ว อยากได้ความเห็นของประชาชนจริงๆ

 

@ สมยศสั่งตร.หาคนโพสต์ปว.ซ้อน

     พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้ฝ่ายความมั่นคงตรวจสอบบุคคลที่ปล่อยข่าวการปฏิวัติซ้อนทางโซเชียลมีเดีย ว่า สั่งการให้ พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) เร่งตรวจสอบหาผู้โพสต์ข้อความแล้ว เนื่องจากเป็นการสร้างความสับสนและทำให้ประชาชนตื่นตระหนกตกใจ ทั้งที่ข้อมูลดังกล่าวไม่มีมูลความจริง

      ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ายังมีกลุ่มต้องการยั่วยุสร้างความรุนแรงสร้างสถานการณ์หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า ไม่มี จากที่ได้ฟัง ตรวจสอบข้อมูลทั้งฝ่ายข่าว ฝ่ายความมั่นคงแล้ว ไม่มีมูลเกี่ยวกับเรื่องการปฏิวัติซ้อน คุยกับนายทหารทั้งสามเหล่า ไม่มีการพูดคุย ไม่มีเหตุผล หรือการปฏิวัติซ้อน เป็นเรื่องความคึกคะนองของคน คิดว่าสิ่งที่โพสต์จะทำให้เกิดปัญหา เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ผิดกฎหมาย คนโพสต์ต้องรับผิดชอบ ขณะที่ข้อมูลเกี่ยวกับผู้โพสต์นั้นรอดำเนินการอยู่ มั่นใจว่าจะได้ตัวผู้โพสต์

 

@ สะพัดบิ๊กป้อมหนุนบิ๊กหมู'ผบ.ทบ.'

      ผู้สื่อข่าวรายงานหลังจากมีกระแสข่าวการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 แทนนายทหารที่เกษียณอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน โดยเฉพาะตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เป็นที่จับตาว่าใครจะขึ้นมาเป็น ผบ.ทบ.คนใหม่ ล่าสุด พล.อ.ประวิตรได้หารือกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะ ผบ.ทบ. ขอให้พิจารณา พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เนื่องจากมีความสามารถสูง เหมาะสมหลายประการ และที่สำคัญผ่านการคุมกำลังหลัก ประกอบกับเป็นนายทหารสายบูรพาพยัคฆ์ ดังนั้น ขอให้ ผบ.ทบ.นำไปเป็นข้อคิดเห็นประกอบการพิจารณา

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผช.ผบ.ทบ.แคนดิเดตอีกคนนั้น ถึงแม้จะเป็นน้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ก็ตาม หากแต่ได้รับการพิจารณาแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ.เพื่อเป็นกำลังหลักในการสนับสนุนรัฐบาลให้เกิดความสงบเรียบร้อยในประเทศได้ แต่อาจจะถูกมองจากสังคมภายนอกว่า นายกฯเลือกที่จะเอาน้องชายขึ้นสืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการแต่งตั้ง ผบ.ทบ.ไม่ว่าจะเป็นใคร ต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐบาล จึงเป็นไปได้ว่าหาก พล.อ.ธีรชัยได้รับการแต่งตั้งเป็น ผบ.ทบ. และให้ พล.อ.ปรีชาไปรับตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมแทน เพื่อลดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม ทั้งนี้ พล.อ.ประวิตรจะได้นัด ผบ.เหล่าทัพหารือในการจัดทำบัญชีโยกย้ายนายทหารประจำปี 2558 ในเดือนกรกฎาคม

 

@ ประสารจี้ผบ.ตร.ถอดยศแม้ว

       เมื่อเวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม เปิดโอกาสให้ สปช.ได้หารือเรื่องต่างๆ โดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. กล่าวถึงกรณี พล.ต.อ.สมยศยังไม่ดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเหตุใด พล.ต.อ.สมยศจึงไม่ยอมดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ หรือเห็นว่าใกล้เกษียณอายุราชการแล้ว จึงไม่กล้าทำอะไร ตนไม่เข้าใจว่าหลักฐานชัดเจนขนาดนี้ ทำไมจึงไม่ดำเนินการ ที่ผ่านมา พล.ต.อ.สมยศเคยพูดว่า ใหญ่แค่ไหน ถ้าทำผิดกฎหมาย ก็จะจับ อยากรู้ว่าจะยังรักษาสัจจวาจาหรือไม่

 

@ สปช.โหวตเห็นชอบรธน.7ก.ย.

      จากนั้น นายเทียนฉายแจ้งต่อที่ประชุมว่า สรุปผลการหารือวาระพิเศษเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมานั้น สปช.ได้รับทราบสาระสำคัญของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2557 (ฉบับชั่วคราว) ตามที่รัฐบาลเสนอให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาแก้ไข ซึ่งมีประเด็นสำคัญ คือ สปช.จะสิ้นสุดหลังจากให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และสามารถเสนอคำถามการประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้ 1 คำถาม ซึ่งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถขยายระยะเวลาในการพิจารณาแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญไม่เกิน 30 วัน คาดว่า สปช.จะได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขแล้วเสร็จภายในวันที่ 22 สิงหาคม ส่งผลให้ สปช.อาจจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในระหว่างวันที่ 5-7 กันยายน

 

@ เปิดสัมมนาถกปมไม่เห็นด้วยรธน.

      นายเทียนฉายกล่าวต่อว่า สปช.ไม่ลดวาระในการปฏิรูป ซึ่งยังคงจะต้องปฏิรูป 37 วาระปฏิรูป และ 6 วาระพัฒนา และให้คณะ กมธ.ปฏิรูปคณะต่างๆ ต้องนำเสนอต่อที่ประชุม สปช. ภายในวันที่ 30 มิถุนายน เพื่อวาระการปฏิรูปจะต้องได้รับการพิจารณาแล้วเสร็จ ก่อนที่จะมีให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 22 สิงหาคม หากการปฏิรูปวาระใดจะต้องยกร่างกฎหมายประกอบ ให้นำเสนอพร้อมกับรายงานการปฏิรูปในวาระนั้น 

     "ทั้งนี้ ก่อนที่ สปช.จะสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่ง จะประมวลผลการทำงานของ สปช. ในประเด็นต่างๆ ส่งไปยัง ครม. เพื่อให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา ประกอบด้วยเอกสารสำคัญ คือ วิสัยทัศน์ภาพประเทศไทย ประมวลแผนปฏิรูป 37 วาระ และ 6 วาระพัฒนา รวมถึงประเด็นปฏิรูปพิเศษ การจัดทำวาระปฏิรูปหลัก โดยคัดเลือกกลุ่มวาระปฏิรูปที่เป็นกุญแจสำคัญของการปฏิรูป และการปรับกลไกภาครัฐ รวมถึงการบริหารและการบริหารราชการแผ่นดิน" นายเทียนฉายกล่าว และว่า เนื่องจากการร่วมหารือเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา มีผู้ที่ยังไม่ได้อภิปรายในประเด็นดังกล่าว จึงจัดให้มีการสัมมนา สปช. ในวันที่ 24 มิถุนายน เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมรามา การ์เดนส์

      นายเทียนฉาย กล่าวอีกว่า สืบเนื่องจาก สปช.เหลือระยะเวลาในการปฏิบัติภารกิจอีกประมาณ 2 เดือน เพื่อให้การปฏิรูปเกิดประสิทธิภาพและดำเนินไปอย่างรวดเร็ว ขอให้ สปช.อภิปรายในประเด็น ดังนี้ 1.ประเด็นที่เพิ่มใหม่ไม่มีในรายงานของคณะ กมธ.ปฏิรูปด้านต่างๆ ที่นำเสนอ 2.ประเด็นที่ไม่เห็นด้วย และ 3.เสนอเพิ่มตัวชี้วัดในการประเมินผลการปฏิรูป 

 

@ ชี้สปช.ต้องทำงานกระชับ 

     เวลา 13.45 น. ที่รัฐสภา นายเทียนฉายแถลงถึงแผนการปฏิรูปการทำงานของ สปช.หลังมีการเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ว่า สปช.ได้ทยอยส่งวาระปฏิรูป พร้อมเสนอกฎหมายไปยัง ครม.หลายฉบับ แต่ขณะนี้ยังอยู่ที่ ครม.ทั้งหมด ไม่มีการเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.แม้แต่ฉบับเดียว ส่วนกฎหมายต่างๆ จะมีผู้เข้ามาผลักดันในวาระปฏิรูปให้สมบูรณ์หรือไม่นั้น ตนยังตอบไม่ได้ แต่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ บอกว่าจะมีสภาขับเคลื่อนฯ คงจะมาดูแลในเรื่องนี้ 

     "ขอยืนยันว่าที่ สปช.ทำไว้จะไม่เสียของ มีวาระที่ชัดเจนเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ สปช.ไม่ได้ดำเนินการอะไรที่ต่างไปจากเดิม แผนปฏิรูปใดที่เสร็จสิ้น ก็ทยอยส่งรัฐบาลทันที เพื่อที่จะได้ไม่เกิดความล่าช้า เวลาที่เหลือ 67-68 วัน จะทำให้งานปฏิรูปกระชับขึ้น ตรงตามกำหนดเวลาเพื่อเห็นรูปแบบที่ชัดเจน ส่วนอะไรที่เป็นเบี้ยหัวแตกจะไม่อยู่ในกรอบ" นายเทียนฉายกล่าว 

 

@ เผยตั้งคำถามปฏิรูปก่อนเลือกตั้งได้

     นายเทียนฉายกล่าวถึงการตั้งคำถามก่อนปฏิรูปการเลือกตั้งว่า ต้องรอดูถ้อยคำที่รัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดไว้ก่อน ตนคิดว่าจะต้องพิจารณาวันเดียวกันในวันที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบรัฐธรรมนูญ อาจจะต้องเปิดอภิปรายก่อนที่จะลงมติ ส่วนกรณีที่เสนอให้มีการเสนออภิปรายร่างรัฐธรรมนูญก่อนการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบนั้น ตามกฎหมายบังคับไว้ว่าไม่มีการอภิปราย 

      เมื่อถามว่า หลักการตั้งคำถามควรจะเป็นอย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า เบื้องต้นจะต้องหารือว่าจะตั้งคำถามหรือไม่ก่อน ถ้าออกมาว่าควรตั้งคำถาม โดยหลักการก็ต้องเป็นประเด็นที่ไม่เปิดกว้างมาก และควรถามในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่า ถ้ามีสมาชิกเสนอคำถามว่า ปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ได้หรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ถ้ามีคนเสนอต้องพิจารณา เพราะสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยหลักการถ้าถามแบบนี้ ทำได้ แต่ไม่ใช่หลักการของตน 

 

@ เสธ.อู้ชี้สปช.ขู่คว่ำรธน.เป็นสิทธิ

      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณี สปช.ระบุถึงการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นธรรมดาที่คน 200-300 คนต่างที่จะมองไปข้างหน้าต่างกัน ถือเป็นสิทธิ ซึ่ง กมธ.ล้วนเป็นผู้ใหญ่กันแล้ว ส่วนการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นจริงหรือไม่ ยังไม่ถึงเวลาที่จะมาพิจารณา 

      "สิทธิในการแสดงความเห็นไม่เป็นปัญหาต่อการทำงานยกร่างรัฐธรรมนูญภายในระยะเวลา 2 เดือนที่เหลือ ช่วงนี้จนถึงวันที่ 23 มิถุนายน จะเป็นวาระการพิจารณาที่ไล่เรียงเรื่องตามภาค ตามหมวดที่สำคัญ เป็นข้อเสนอที่แก้ไขที่มีความสำคัญยึดโยงไปกับหลายมาตรา โดยจะพิจารณาเพื่อให้ได้ข้อสรุป" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า วันที่ 24 มิถุนายน จะเริ่มเข้าสู่การพิจารณาเป็นรายมาตรา โดยเริ่มที่มาตรา 1 จะนำสาระที่ได้ข้อสรุปประเด็นสำคัญรวมถึงคำขอแก้ไขที่ภาคส่วนต่างๆ ได้ส่งเข้ามาพิจารณา เพื่อให้การทำงานเป็นไปด้วยความราบรื่น และสามารถทำให้เสร็จภายใต้กรอบเวลา จากนั้นสัปดาห์สุดท้ายก่อนที่จะส่งร่างรัฐธรรมนูญให้กับ สปช.พิจารณา คาดว่าจะเป็นวันที่ 21 สิงหาคม จะเชิญ สปช.ที่เสนอคำขอแก้ไขเข้าร่วมประชุมเพื่อฟังคำชี้แจงและเหตุผลของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าข้อเสนอใดที่รับไปแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือข้อเสนอใดที่ไม่รับไว้พิจารณา เพื่อทำให้เกิดการยอมรับและเป็นโอกาสในการทำความเข้าใจก่อน สปช.จะลงมติร่างรัฐธรรมนูญ

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สำหรับการขยายกรอบระยะเวลาการทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นได้หารือกันแล้วว่าจะขยาย แต่การจะมีมติจะต้องรอให้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ที่จะแก้ไขผ่านความเห็นชอบจาก สนช. และประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อมีผลบังคับใช้ก่อน

      "ส่วนการทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าหาก สปช.หรือประชาชนไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญคงต้องยุติบทบาท แต่หาก สปช.รับร่างรัฐธรรมนูญ ต้องเดินหน้านำรายละเอียดไปชี้แจงกับประชาชนก่อนที่จะมีออกเสียงประชามติช่วงเดือนมกราคม 2559 รวมทั้งหน้าที่การทำกฎหมายประกอบ จำนวน 12 ฉบับ และกฎหมายลูกที่เกี่ยวกับการปฏิรูป ประมาณ 20-30 ฉบับ" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

 

@ เจษฎ์ชี้พูดอยู่ต่อ 2 ปีไม่เหมาะ

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ระบุว่าเข้ามาทำหน้าที่ไม่เกิน 2 ปี ว่า ไม่ทราบ แต่การทำหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ระยะเวลาทำงานหลังจากนี้ต้องนำคำขอแก้ไขจากทุกฝ่ายและทุกเรื่องมาพิจารณาเพื่อให้เกิดประโยชน์ ไม่ใช่การยึดติดหรือยึดว่าตนเองเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ ซึ่งประเด็นรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญที่จะปรับแก้ไขอย่างไร ขอให้รอดูเนื้อหา เชื่อว่าเป็นประโยชน์กับทุกฝ่าย

นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า มองว่า พล.อ.ประยุทธ์พูดเช่นนั้นไม่เหมาะ เพราะอาจทำให้เกิดผลกระทบ 3 ประการ คือ 1.หาก พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ 2 ปี ซึ่งสอดคล้องกับที่บางฝ่ายออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องของการทำประชามติเรื่องทำปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายใน 2 ปี ก่อนประกาศการเลือกตั้ง สังคมอาจมองว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้สนับสนุนฝ่ายดังกล่าวได้ 2.หากจะขยายวาระการทำงานต่อจะทำให้คนเข้าใจว่าเป็นข้อเสนอที่นำไปสู่การล้มร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้อยู่ต่อ เพราะหากนับตามโรดแมปใหม่ที่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม กำหนดรายละเอียดไว้ จะมีกรอบดำเนินงานไม่ถึง 2 ปี และ 3.สังคมอาจตีความว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้งตามที่โรดแมปกำหนดไว้ 

 

@ เชื่องานกมธ.ยกร่างฯไม่เสียเปล่า

      นายเจษฎ์กล่าวต่อว่า สำหรับการยืดกรอบเวลาโรดแมปที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะทำได้ อาจอยู่ในส่วนของการทำกฎหมายลูกว่าด้วยการปฏิรูปออกไป 3-6 เดือน เพื่อให้การเขียนกฎหมายแล้วเสร็จในช่วงดำเนินการ เพื่อเป็นหลักประกันว่าจะมีกฎหมายสำคัญบังคับใช้ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำหน้าที่ต่อ

       เมื่อถามว่า คำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ประเด็นเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่เกิน 2 ปี จะทำให้การทำงานของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเสียเปล่าหรือตายเปล่าตามที่ สปช.บางคนวิเคราะห์ไว้หรือไม่ นายเจษฎ์กล่าวว่า เชื่อว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะจากการลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนก็ได้รับการตอบรับ ซึ่งแนวทางในการทำงานที่ผ่านมาเชื่อว่าสังคมโดยรวมจะมองเห็น และหากสังคมมองว่าเป็นข้อผิดพลาด จะทำให้คณะทำงานชุดใหม่ที่จะเข้ามาเกิดการเรียนรู้และทำให้ถูกต้อง ซึ่งไม่ใช่การเสียเปล่าแน่นอน 

 

@ กมธ.ยังไม่เคาะที่มาส.ว.

      ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม วาระพิจารณาประเด็นสำคัญที่ควรหาข้อยุติ โดยวันนี้เป็นการพิจารณาประเด็นวุฒิสภา (ส.ว.) ได้แก่ ระบบการได้มา อำนาจหน้าที่ การเสนอกฎหมาย การให้

ความเห็นการตั้งรัฐมนตรี และการถอดถอน 

     พล.ท.นคร สุขประเสริฐ โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เปิดเผยว่า ยังไม่มีข้อยุติหรือตกผลึกใดๆ ในประเด็นดังกล่าว ที่ประชุมได้กำหนดให้ กมธ.ยกร่างฯนำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ สปช.เสนอทั้ง 8 กลุ่ม คำขอแก้ไขของ ครม. และข้อเสนอแนะของประชาชน กลับไปศึกษาเป็นการบ้าน ก่อนจะนำเสนอต่อที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯอีกครั้งในสัปดาห์หน้า จากนั้นถึงจะเริ่มพิจารณาเป็นรายมาตราในวันที่ 24 มิถุนายนนี้ 

      สำหรับ แนวทางการพิจารณาเกี่ยวกับที่มาของ ส.ว.มีข้อเสนอที่หลากหลาย ทั้งให้มาจากการสรรหาทั้งหมด หรือเลือกตั้งทั้งหมด รวมทั้งมาจากการสรรหาผสมกับการเลือกตั้ง แต่ในเจตนาหลักของการพิจารณาคือต้องยึดโยงกับประชาชน และให้ ส.ว.เป็นสภาพหุนิยม ที่สะท้อนความหลากหลายของผู้ที่เข้ามาดำรงตำแหน่ง 

พล.ท.นครกล่าวอีกว่า ในร่างรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยที่มาของ ส.ว.ที่กำหนดให้มาจากการเลือกตั้งใน 77 จังหวัด ต้องพิจารณาไม่ให้เป็น ส.ว.ที่มาจากฐานเสียงเดียวกันกับ ส.ส. ขณะที่ ส.ว.ที่มาจากการสรรหาจากตำแหน่งต่างๆ หรือเลือกกันเองของผู้ทรงคุณวุฒิ มีประเด็นที่ต้องพิจารณาถึงการบัญญัติตำแหน่งไว้ในเนื้อหา เช่น ผู้นำเหล่าทัพ ปลัดกระทรวงด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการล็อกสเปก

      โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวอีกว่า ขณะที่อำนาจหน้าที่ยังไม่ได้ข้อสรุปเช่นกัน แต่มีหลักการที่พิจารณาคือ หาก ส.ว.มาจากการสรรหา ต้องไม่มีอำนาจถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่หากเป็นการตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ส.ว.แต่งตั้งสามารถทำได้ 

 

@ กกต.ตั้งกก.4 ชุดรับประชามติ 

      รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า ในการประชุม กกต. ทางนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. ได้รายงานผลการหารือระหว่างผู้แทนสำนักงาน กกต.กับนายวิษณุ ให้ที่ประชุมรับทราบถึงการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทางสำนักงานได้ชี้แจงว่าจะมีการยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ รวมทั้งได้สรุปเบื้องต้นว่า หากจะมีการออกเสียงประชามติจะต้องมีการจัดพิมพ์บัตรออกเสียงประชามติราว 50 ล้านฉบับต่อ 1 คำถาม หากจะถามความเห็นประชาชน 3 คำถาม จะต้องมียอดพิมพ์ 150 ล้านฉบับ ซึ่งการจัดพิมพ์เมื่อไปรวมกับเอกสารเผยแพร่รัฐธรรมนูญและการจัดส่ง รวมถึงค่าบริหารจัดการ คาดว่างบประมาณที่ใช้น่าจะเกิน 3,000 ล้านบาท แต่ยังไม่สามารถกำหนดตัวเลขที่ชัดเจนได้ ขณะที่ กกต.สอบถามถึงความชัดเจนว่าการจัดออกเสียงประชามติครั้งนี้จะสามารถจัดให้มีเวทีในการดีเบตระหว่างฝ่ายสนับสนุนและคัดค้านได้หรือไม่ และจะสามารถจัดพิมพ์เอกสารแผ่นพับในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนในการทำประชามติให้กับประชาชนในเรื่องการจัดทำประชามติและการโฆษณารณรงค์เรื่องการออกเสียงประชามติผ่านทางสื่อต่างๆ สิ่งเหล่านี้ใครที่จะเป็นผู้กำหนดและดำเนินการ 

       ทั้งนี้ ที่ประชุมจึงมีมติให้มีการตั้งคณะทำงานขึ้น 4 คณะ ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการยกร่างประกาศและระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยขอให้เสนอร่างแรกต่อที่ประชุม กกต. วันที่ 29 มิถุนายนนี้ 2.คณะกรรมการประสานงานการจัดพิมพ์และส่งเอกสารร่างรัฐธรรมนูญ 3.คณะกรรมการประสานงานการออกเสียงประชามติ และ 4.คณะกรรมการจัดทำงบประมาณ ซึ่งจะไปคำนวณตัวเลขงบประมาณที่จะใช้ในการบริหารจัดการในการออกเสียงประชามติทั้งหมด

 

@ 'สมชัย'ชี้งบประชามติยังไม่นิ่ง

      นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงผลการประชุมเตรียมความพร้อมการจัดทำประชามติว่า ตัวเลขค่าใช้จ่ายการจัดออกเสียงประชามติยังไม่นิ่ง เนื่องจากรูปแบบการทำประชามติเปลี่ยนไป เช่น จะมีบัตรออกเสียง 3 ใบ หีบ 3 หีบ ต้องนับคะแนนแยกจากกัน ดังนั้น กกต.ต้องนำรายละเอียดดังกล่าวมาคำนวณค่าใช้จ่ายใหม่ เช่น ค่าพิมพ์บัตร จะเพิ่มจากเดิม 50 ล้านใบ เป็น 150 ล้านใบ ใช้เงินเพิ่มประมาณ 100 ล้านบาท ค่าหีบจากเดิมใช้ประมาณ 100,000 หีบ เพิ่มเป็น 300,000 หีบ ใช้เงินเพิ่มประมาณ 20 ล้านบาท กรรมการประจำหน่วย จากเดิม 7 คน ต้องเพิ่มเป็น 11 คน เท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ต้องมีการคำนวณค่าใช้จ่ายด้านอบรมและเบี้ยเลี้ยงปฏิบัติงานใหม่ ดังนั้นจึงให้ทางสำนักงานไปดำเนินการคำนวณตัวเลขที่ต้องใช้จ่ายจริงมาให้ กกต.พิจารณา

      นายสมชัย กล่าวว่า ส่วนการจัดพิมพ์เอกสารร่างรัฐธรรมนูญและการจัดส่ง มีข้อยุติว่าจะจัดส่งให้แก่ครัวเรือนที่มีผู้อยู่อาศัยจริงจำนวนประมาณ 19 ล้านครัวเรือน โดยให้ประมาณการค่าใช้จ่ายในการจัดพิมพ์และจัดส่ง รวมถึงการดำเนินการในด้านการบริหารจัดการให้เป็นไปอย่างประหยัดและมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะเป็นงบประมาณอีกก้อนหนึ่งที่แยกจากงบประมาณก้อนแรก กกต.ต้องออกประกาศกำหนดเกี่ยวกับรายละเอียดการลงประชามติ โดยผ่านความเห็นชอบจาก สนช. ซึ่งเป็นไปตามรายละเอียดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ในการนี้ทาง กกต.ได้ตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการยกร่างประกาศต่างๆ และจะนำเสนอต่อ กกต.เป็นร่างแรกในช่วงสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ 

 

@ 1,130 ตุลาการเข้าชื่อค้านร่างรธน. 

      นายศรีอัมพร ศาลิคุปต์ ผู้พิพากษาอาวุโสศาลฎีกา กล่าวถึงกรณีผู้พิพากษาศาลยุติธรรม 1,130 คน เข้าชื่อในจดหมายเปิดผนึกคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญในประเด็นเกี่ยวกับที่มาคณะกรรมการตุลาการ (ก.ต.) และการอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ที่ลงโทษวินัยผู้พิพากษาสามารถอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาได้ ว่าจะแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ที่มา ก.ต. ก่อนหน้านี้ผู้พิพากษา 437 คน ยื่นหนังสือคัดค้าน เนื่องจากในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ให้มีสัดส่วนจากบุคคลภายนอก 1 ใน 3 ของคณะกรรมการ ซึ่งตัวแทนจากศาลยุติธรรมเข้าร่วมประชุมกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จนได้ข้อสรุปว่าจะยกเลิกสัดส่วนที่ให้บุคคลภายนอก 1 ใน 3 เข้ามาเป็น ก.ต.ได้ แต่จะเสนอให้มีตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามาเป็น ก.ต.เพิ่มขึ้นอีก 1 คน

        "ทางเราสอบถามเหตุผลของแนวคิดดังกล่าว เพราะหลักการของศาลยุติธรรมไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามาแทรกแซง ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงว่าเพื่อให้สอดคล้องกับศาลปกครอง แต่ส่วนตัวเห็นว่าเป็นคนละเรื่องกัน เพราะอำนาจของศาลปกครองเป็นการใช้อำนาจตรวจสอบรัฐผู้ถืออำนาจบริหาร ทางฝ่ายรัฐบาลเองจึงเกรงว่าจะใช้อำนาจในการรังแกฝ่ายบริหารจากตุลาการที่มีแนวคิดสุดโต่ง จึงเจรจาให้มีตัวแทนจากฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (กศป.) เพื่อคานอำนาจ แต่หลักการของศาลยุติธรรมมีความแตกต่างกัน เพราะศาลยุติธรรมใช้หลักคุณธรรม การพิจารณาตัดสินจะต้องเป็นอิสระ ปราศจากการแทรกแซง ระบบนี้จะต้องให้ผู้พิพากษาปกครองกันเอง" นายศรีอัมพรกล่าว 

      นายศรีอัมพร กล่าวอีกว่า ส่วนอีกประเด็นคือการกำหนดให้สามารถอุทธรณ์คำสั่งของ ก.ต.ไปยังศาลฎีกาได้นั้น มองว่าการตรวจสอบของ ก.ต.เป็นองค์กรตรวจสอบวินัยของตุลาการ มีการตรวจสอบ 4 ขั้นตอน ตั้งแต่การตรวจสอบข้อมูลเหตุอนุ ก.ต. ก่อนจะมีคำสั่ง เมื่อมีคำสั่งแล้วผู้ถูกตรวจสอบยังสามารถขอให้พิจารณาคดีอีกครั้งได้อีก ถือว่าการพิจารณาของ ก.ต. มีคุณภาพเชื่อถือได้ หากกำหนดให้ ก.ต.เป็นองค์กรที่ลงโทษทางวินัยมีคำสั่งมาแล้ว สามารถยื่นอุทธรณ์คำสั่งต่อศาลฎีกา เป็นองค์กรที่ใช้อำนาจตุลาการตัดสินอีกจึงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง 

     "ตอนนี้มีผู้พิพากษาลงชื่อในจดหมายเปิดผนึกกว่า 1,130 คน และคาดว่าจะมีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การเข้าชื่อของผู้พิพากษาในครั้งนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์จะล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แค่แสดงจุดยืนคัดค้านและป้องกันการก้าวล่วงและแทรกแซงอำนาจตุลาการ" นายศรีอัมพรกล่าว และว่า จะมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 มิถุนายน ที่ศาลฎีกา จากนั้นทางตัวแทนผู้พิพากษาจะนำจดหมายเปิดผนึกไปมอบให้ สนช. ครม. สปช. กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และ คสช.

 

@ เชื่อไม่เกิดวิกฤตตุลาการ

     ผู้สื่อข่าวถามว่า หากยังยืนยันจะให้ตัวแทนฝ่ายบริหารเข้าไปเป็นหนึ่งใน ก.ต.อยู่ จะเกิดการประท้วงคัดค้านของผู้พิพากษาจนนำไปสู่วิกฤตตุลาการดังเช่นอดีตที่ผ่านมาหรือไม่ นายศรีอัมพรกล่าวว่า จะยังไม่เกิดวิกฤตตุลาการ แต่หากปล่อยคนนอกเข้ามาแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายผู้พิพากษา จนทำให้ผู้พิพากษาขาดความเชื่อมั่น ไม่มีความไว้ใจและขาดความเป็นอิสระ ส่งผลให้ผลคดีจะเกิดการเปลี่ยนแปลงตามอำนาจ เมื่อนั้นก็อาจเกิดวิกฤตตุลาการได้อีก 

"ต้องถามว่าจะให้ฝ่ายบริหารเข้ามาเพื่ออะไร เมื่อหลักการที่คัดค้านสัดส่วน ก.ต. 1 ใน 3 ตอนแรกนั้นเพราะไม่ต้องการให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง การที่ให้มีการปฏิรูปจะต้องปฏิรูปในสิ่งที่มีปัญหาในสิ่งที่ไม่ดีไม่ได้มาตราฐาน แต่ในส่วนของ ก.ต.ไม่มีปัญหาอยู่แล้ว จะมาแก้ไขให้มีคนเข้ามาแทรกแซงทำไม เราไม่ได้จะล้มรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ แต่เราค้านการแทรกแซง" นายศรีอัมพรกล่าว

 

@ สนช.พร้อมผ่านร่างแก้รธน.ชั่วคราว 

     ที่รัฐสภา ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระสำคัญคือการพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จะนำเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม สนช.วันที่ 18 มิถุนายน โดยเชิญ พล.อ.ประวิตรและนายวิษณุเข้าชี้แจงถึงสาระสำคัญของการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฯ 

    นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษก สนช. แถลงว่า การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ของ สนช.ในวันที่ 18 มิถุนายน จะพิจารณา 3 วาระรวดภายในวันเดียว จะเปิดให้สมาชิกอภิปรายโดยไม่จำกัดเวลาเพื่อนำเสนอข้อมูลให้รอบด้าน ซึ่งฝ่ายรัฐบาลมอบให้นายวิษณุ พล.อ.ประวิตร และนายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี มาชี้แจงต่อ สนช. หากมีความจำเป็นจะต้องแก้เนื้อหาในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในรายละเอียดเล็กน้อย รัฐมนตรีทั้ง 3 คน มีอำนาจตัดสินใจในนาม ครม.ได้ แต่ถ้าเป็นประเด็นสำคัญ อาจจำเป็นที่ ครม.ต้องนำกลับไปหารือกับ ครม.อีกครั้ง เชื่อว่าคงไม่พบว่าประเด็นใดมีปัญหา