payut16


'บิ๊กตู่'บ่น'อีแย้ม-ข้าบดินทร์'
แย่งเรตติ้งทีวีวันศุกร์ สปช.ถกลับ-ชี้รบ.ต่อ 2 ปี คลิปเก่าว่อนสกัดสมคิด

        'บิ๊กตู่'เซ็งพอ'ป้าแย้ม'ไป'ข้าบดินทร์'ก็มาแย่งเรตติ้งทีวีวันศุกร์ วอนประชาชนฟังสิ่งที่นายกฯพูดให้มากๆ อย่าเอาแต่ดูละคร พ้อจะให้ไปเล่นเองหรืออย่างไร 'วิษณุ'ติงสปช.ควรอยู่เฉยๆ อย่าออกมารณรงค์อะไรกันเลย ยอมรับถ้าสถานการณ์ไม่ตรงล็อกที่รัฐบาลวางไว้เตรียมทางออกไว้แล้ว เพราะนายกฯยังมีมาตรา 44 อยู่ในมือ สปช.ประชุมนัดพิเศษ ถกลับ เชื่อรธน.ใหม่จะถูกคว่ำ เปิดทาง'ประยุทธ์'อยู่ต่ออีก 2 ปี ด้าน'สมยศ'แจงถอดยศ'พ.ต.ท.ทักษิณ'ต้องรอบคอบ-ยึดกฎหมาย พร้อมขอบคุณพิเชษฐ-อดีตผู้บังคับบัญชาที่ออกมาให้คำแนะนำ ตีกลับให้สกพ.ไปประมวลเรื่องมาใหม่ 'พระเทือก'โผล่ให้การป.ป.ช.คดี 396 โรงพักร้างอ้างทำตามมติครม. โบ้ยเสร็จไม่เสร็จเป็นเรื่องของตร.-ผู้รับเหมา 'หมอเหวง'กังขาป.ป.ช.เรียกแต่'สมชาย แสวงการ"ให้การคดี 99 ศพ จี้เรียกอดีตส.ว.ที่ทำเรื่องนี้ให้การด้วย

วันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8966 ข่าวสดรายวัน

 

 

รักษ์โลก - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีเปิดงาน "7 พันล้านฝัน 7 พันล้านใจ คิดห่วงใยในผืนโลก" เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ประจำปี 2558 ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15 มิ.ย.

'ตู่'ออกจ.ม.ข่าวแนะเปลี่ยนตัวเอง

       วันที่ 15 มิ.ย. กรมประชาสัมพันธ์ ออกจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชนฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 15 มิ.ย. จำนวน 8 หน้า โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เขียนคอลัมน์ "จากใจนายกฯ" ขึ้นหน้า 1 ระบุว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หากไม่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจพอ เพราะอาจทำให้ผู้เปลี่ยนแปลงรู้สึกไม่มั่นคง ไม่สะดวกสบาย ไม่แน่ใจและกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ รวมทั้งกังวลผลแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นจะดีหรือไม่เพียงใด ตนอยากเรียนว่าในหลายๆ ครั้งการเปลี่ยนแปลงทำไปเพื่อการพัฒนา สู่สิ่งที่ดีกว่า ปรับปรุงให้ออกจากพฤติกรรมเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ที่อาจไม่ถูกต้อง หรือแม้จะไม่บกพร่องแต่ไม่เหมาะสมไม่ก้าวหน้า ไม่เท่าทันสถานการณ์โลก ก็สมควรต้องเปลี่ยนแปลง

         มีหลายอย่างที่ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศไทย ส่วนใหญ่ผมพูดไว้ในค่านิยม 12 ประการ และหวังอย่างยิ่งจะเห็นคนไทย เยาวชนไทยได้ถือปฏิบัติ หลายสิ่งเคยประพฤติยึดถือ สิ่งที่สำคัญที่สุด มิใช่การบอกกล่าวให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ทุกคนควรตั้งมั่น ตั้งใจเปลี่ยนแปลงตัวเองด้วย ต้องกล้าเผชิญกับสิ่งใหม่และความท้าทาย หากมั่นใจว่าการเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นไปเพื่อส่วนรวม" นายกฯ ระบุ

ตัดพ้อ"ย่าแย้ม-ข้าบดินทร์"แย่งซีน

      ที่สยามพารากอน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานเปิดงานวันสิ่งเเวดล้อมโลก ประจำปี 2558 ภายใต้ชื่องาน "7 พันล้านฝัน 7 พันล้านใจคิดห่วงใยในผืนโลก" โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า ขอให้ทุกคนช่วยกันดูแลเพื่อโลกและคนที่จะเกิดขึ้นมาในอนาคต ช่วยกันดูแลบ้านเมืองให้สะอาด เริ่มจากการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดในครอบครัว ต่อเนื่องไปยังโรงเรียนและสังคม รวมถึงทุกคนต้องช่วยกันไม่โยนภาระให้เจ้าหน้าที่ 

       "อยากให้ฟังที่ผมพูดบ้าง ไม่ใช่ดูแต่ ป้าแย้มอย่างเดียว พอป้าแย้มจบก็มีข้าบดินทร์ พอผมมาก็เปลี่ยนช่อง ทำไงดี ต้องให้ผมไปแสดงละครไหม จะได้ดูผมบ้าง และขอให้ทุกคนทำใจให้สะอาดเหมือนที่ผมพยายามทำทุกวัน แต่ก็มีขยะเข้ามาในใจให้หงุดหงิดตลอดเวลา ซึ่งการสร้างวินัยให้คนในชาติ ถือเป็นปัญหาหลักที่บิดเบือนมาตั้งแต่การศึกษาที่สอนแต่เรื่องเสรีภาพ หรืออะไรที่ไร้ขีดจำกัด แต่ไม่เคยพูดถึงหน้าที่ ซึ่งไม่ได้ ถ้ารัฐบาลทำตัวดีประชาชนก็ต้องร่วมมือ ถ้ารัฐบาลไม่ดีก็ว่ากันใหม่ ผมกำลังสร้างระบบธรรมา ภิบาลใหม่ให้เกิดกับทุกคนให้ได้ วันนี้ต้องปลูกฝังและช่วยกันเพื่อให้บ้านเมืองสะอาดในทุกที่ และต้องมีความสะอาดในใจ ผมพยายามทำใจให้สะอาดทุกวัน แต่มันมีขยะเข้ามาทุกวันเหมือนกัน ต้องหงุดหงิดโมโหทุกวันตอนอ่านหนังสือพิมพ์ แต่ผมจะทำเท่าที่ทำได้ เพราะรับปากไว้แล้ว" นายกฯ กล่าว

เล็งผุดอพาร์ตเมนต์ราคาถูก

       นายกฯ กล่าวว่า วันนี้ต้องดูแลคนจนที่อยู่ในพื้นที่ที่ไม่ถูกต้อง ต้องหาที่อยู่ให้ได้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งตนเสนอให้จัดอพาร์ตเมนต์ใกล้รถไฟฟ้าหรือที่มีระบบขนส่ง ให้เช่าหรือซื้อโดยผ่อนในราคาไม่เกิน 3 แสนบาท ผ่อนเดือนละ 1,000-2,000 บาท ที่ผ่านมาไม่มีรัฐบาลไหนทำ เพราะกลัวเสียคะแนนเสียง ตนไม่มีคะแนนเสียง ขออย่ามาต่อต้าน ตนทำเพื่อคนไทยทุกคน ทุกวันนี้ตนพูดอยู่คนเดียว โดนอยู่คนเดียว อยากขอให้ทุกคนช่วยกันกำหนดอนาคตประเทศไทยว่าจะให้เป็นอย่างไร เป็นแบบที่ตนว่าหรือจะเป็นแบบที่คนอื่นว่า 

บิ๊กป้อมสั่งล่าปล่อยข่าวปฏิวัติ

      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีลงนามอนุมัติให้นายทหารออกจากราชการเนื่องจากเกษียณอายุราชการว่า เป็นการโยกย้ายตามปกติ ส่วนการโยกย้ายประจำปียังไม่ถึงเวลาและจะพิจารณาอีกครั้งในเดือนส.ค. จึงมีเวลาพิจารณาอีกพอสมควร

       เมื่อถามถึงเสถียรภาพของกองทัพซึ่งมีกระแสข่าวปฏิวัติซ้อน พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ไม่มี ใครจะทำบอกผมมา ไม่มีทั้งนั้นว่าทหารคนไหนจะทำ เวลานี้บ้านเมืองเงียบสงบเพราะนายกฯ ทำงานดี ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่มีใครทำ เรื่องนี้ควรยุติได้แล้ว ส่วนคนที่เขียนเรื่องปฏิวัติซ้อนในโซเชี่ยลมีเดีย ผมได้สั่งการให้คนตาม 4-5 สาย ติดตามอยู่ ถ้าจับได้จะเอาตัวมาทันที จึงขอเตือนให้ระวัง หากจับได้มีเรื่องแน่ ส่วนเบาะแสต่างๆ ที่เขียนนั้น ไม่ทราบเหตุผลว่าเขาเขียนทำไม แต่ยืนยันว่าไม่มีขบวนการยุแยงให้กองทัพแตกกัน" 

คลิปเก่าสมคิดโผล่-เชื่อเตะตัดขา

      เมื่อถามถึงแคนดิเดตผบ.ทบ. ที่มีชื่อระหว่างพล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วยผบ.ทบ. และพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วยผบ.ทบ.น้องชายพล.อ.ประยุทธ์ รองนายกฯกล่าวว่า ยังไม่มีใครในใจ ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. เสนอรายชื่อขึ้นมา

รายงานข่าวเปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มีการนำคลิปนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช. ขณะกล่าวบรรยายเรื่องเศรษฐกิจในงานเสวนาแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุการณ์เมื่อ 3 ปีที่แล้ว มาโพสต์เผยแพร่ใหม่ทางโซเชี่ยลมีเดีย จนทำให้คนเข้าใจผิดว่าเป็นเหตุการณ์เมื่อไม่กี่วันมานี้ ซึ่งคาดว่าคนทำน่าจะมีจุดประสงค์เพื่อสกัดกั้นนายสมคิด หลังจากมีกระแสข่าวแพร่สะพัดว่า แกนนำคสช.เตรียมทาบทามนายสมคิด เข้ามารับตำแหน่งในรัฐบาลเพื่อช่วยงานด้านเศรษฐกิจ

บิ๊กป๊อกยันไม่มีปฏิวัติซ้อนแน่

       ด้านพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวปฏิวัติซ้อนว่า ไม่มีล้านเปอร์เซ็นต์ และขณะนี้ไม่ใช่วาระที่จะมาพูดกัน ประเทศไทยไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ว่าใครอยากทำก็ทำได้ ตนตอบได้เลยว่าเมื่อถึงเวลาที่มันทำได้ ก็จะรู้เอง นั่นหมายความว่าสถานการณ์มันไปไม่ได้ คนเขารู้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครอยากทำก็ทำ หรือคิดว่าอยากมีก็มี ตอบได้เลยว่ามันไม่ใช่ ที่บอกว่าไม่มีเพราะทหารดี รวมกลุ่มเข้มแข็ง แต่ตราบใดที่คนเห็นว่ารัฐบาลทำงานตอบสนองได้ ไม่โกง ไม่ลุแก่อำนาจ ยังบริหารงานได้ ซึ่งเป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญออกมาเขาก็บอกว่าต้องออกไป 

      พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวถึงสมาชิกสปช.บางคนเสียงแตกเรื่องการโหวตรับหรือคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่เป็นไร ไม่ใช่การทะเลาะกัน แต่เป็นมองต่างมุม ถกเถียงกันเพื่อให้ข้อยุติที่ดีและให้จบ พูดกันให้แจ่มแจ้ง อย่ามัวแต่อมพะนำ ส่วนอายุการทำงานของรัฐบาลนั้น เวลานี้นายกฯยังยืนยันว่าต้องทำตามโรดแม็ป ซึ่งโรดแม็ปเดิมไม่มีเรื่องทำประชามติ ดังนั้นเมื่อมีเรื่องประชามติเข้ามา เวลาก็จะยื่นออกไปตามขั้นตอนการทำประชามติเท่านั้น 

ปัดไม่รู้คู่แคนดิเดตปลัดมท.ใหม่

      รมว.มหาดไทยกล่าวถึงการประชุมครม.นอกสถานที่อย่างเป็นทางการวันที่ 29-30 มิ.ย.นี้ ที่จ.เชียงใหม่ว่า เป็นเรื่องปกติที่ต้องดูแลความปลอดภัยอยู่แล้ว และไม่เชื่อว่าจะมีวัฒนธรรมที่จะใช้ความรุนแรงกันอีก ตนไม่เห็นด้วยที่จะใช้ความรุนแรงหรือก่อม็อบ เพราะจะกลายเป็นวัฏจักรไม่รู้จักจบสิ้น ไม่ว่าสีไหนมาเป็นรัฐบาลก็ลำบาก ต้องมาเจอแบบนี้ ดังนั้น อย่าไปทำวัฒนธรรมเช่นนั้นเพราะจะทำให้บริหารบ้านเมืองไม่ได้ 

      "เชื่อมั่นว่าจะไม่มีเรื่องรุนแรงเกิดขึ้น คนไทยได้รับบทเรียนมาเยอะแล้ว การใช้กลุ่มพลังต่างๆ มาสร้างความวุ่นวาย เป็นบทเรียนที่ไม่ใช่หนทางที่จะเดินไปและไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ผมเชื่อมั่นอย่างนั้น แต่ถ้าถามว่าจะมีกลุ่มเล็กๆ จัดตั้งมาหรือไม่ก็ว่ากันไป และเจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลกันไป" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

      รมว.มหาดไทยกล่าวถึงการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทย แทนนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ที่จะเกษียณในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งมีชื่อนายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง และนายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอบต.) และสมาชิกสนช. เป็นแคนดิเดตว่า ด้วยความสัตย์จริง ตนยังไม่รู้เรื่อง และต้องดูทั้งหมดว่าจะเป็นใคร ส่วนคุณสมบัติคนมาเป็นปลัดกระทรวงนั้น ต้องดีและเก่ง

ผบ.ตร.ชี้ถอดยศแม้วต้องรอบคอบ

        ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เปิดเผยถึงความคืบหน้าการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯว่า ตนเห็นรายงานมติคณะกรรมการพิจารณาถอดยศชุดของพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริ อำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ที่ส่งมาแล้ว แต่ต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน พิจารณารอบคอบตามกฎหมาย ต้องไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว รวมทั้งแรงกดดันและกระแสสังคมมาพิจารณา 

        ผบ.ตร.กล่าวว่า ต้องขอบคุณผู้ใหญ่หลายคน เช่น นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เขียนเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการถอดยศลงในเฟซบุ๊ก หรือพล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อดีตส.ว. และอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ทำบันทึกเปิดผนึกส่งมาถึงตน แสดงความเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ในการถอดยศครั้งนี้ ตลอดจนอดีตผบ.ตร.หลายคนที่โทรศัพท์มาให้คำแนะนำว่าเรื่องนี้เป็นมาอย่างไร บอกถึงข้อมูลเรื่องที่เคยดำเนินการไปแล้ว หรือที่ไม่ได้ดำเนินการ จึงเป็นเหตุให้ตนต้องใช้ความรอบคอบมากขึ้น

ตีกลับให้สกพ.ประมวลเรื่องใหม่

       พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปตามระเบียบแล้ว ตนจะต้องส่งเรื่องให้สำนักงานกำลังพล (สกพ.) นำเรื่องไปประมวลตรวจสอบรายละเอียดที่คณะกรรมการชุดนี้เสนอมา จึงอยากชี้แจงว่าไม่ใช่ความคิดเห็นของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด เพราะตามขั้นตอน สกพ.ต้องประมวลเรื่องส่งมาให้ตนอีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้ตนสั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตั้งเรื่องขึ้นเพื่อส่งให้สกพ.แล้ว ซึ่งคณะกรรมการชุดพิเศษของพล.ต.อ.ชัยยะเป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งช่วยแสดงความคิดเห็นกลั่นกรองเรื่องนี้ แต่ตามระเบียบขั้นตอน ต้องให้สกพ.เป็นฝ่ายพิจารณาประมวลเรื่องส่งมาให้ตน เพื่อพิจารณาสั่งการอีกครั้งหนึ่ง

      พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ในระเบียบข้อบังคับไม่ได้ระบุว่าต้องใช้เวลานานเท่าใด เรื่องนี้สำคัญและละเอียดอ่อนมาก มีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งยังมีผู้รู้ช่วยแสดงความเห็นให้ข้อมูลส่งมาให้ ซึ่งตนจะนำไปปฏิบัติอย่างดีที่สุด เรื่องการถอดยศครั้งนี้ถือเป็นหน้าที่ที่ตนต้องปฏิบัติ แต่จะทำด้วยความละเอียดรอบคอบ ยึดหลักกฎหมาย ไม่ใช้อารมณ์หรือทำตามกระแสกดดันใดๆ

ไม่เร่งรัดทำตามความรู้สึก

        เมื่อถามว่าจะถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณได้ในยุคนี้หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่าก็ว่ากันไป แต่ตนจะไม่เร่งรัดทำตามอารมณ์ความรู้สึก ส่วนจะเป็นการซื้อเวลาหรือไม่นั้น ทุกคนมีสิทธิ์คิด แต่สิทธิ์หรือสิ่งที่ตนพึงกระทำเป็นเรื่องของตน และเขาเหล่านั้นควรเคารพสิทธิ์ของตนด้วย ทั้งนี้ ตนไม่เคยรู้สึกอึดอัดหรือหวั่นไหว ทุกอย่างต้องละเอียดรอบคอบและยึดกฎหมายเป็นหลักเท่านั้น

      ผู้สื่อข่าวถามถึงการคัดเลือกผบ.ตร.คน ต่อไป พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ยังไม่เคยเรียกไป พูดคุยเรื่องนี้ ถือว่ายังเร็วเกินไป ส่วนที่สื่อวิเคราะห์มีแคนดิเดต 2 คนคือ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา และพล.ต.อ.เอก อังศนานนท์ รอง ผบ.ตร.นั้น ตนยังไม่ได้อ่านเลย ยืนยันว่าตนมีวิธีพิจารณาคัดสรรเลือกบุคคลที่จะทำหน้าที่ผบ.ตร.คนต่อไป ตนเป็นคนคิดแปลกๆ มีแนวคิดใหม่ๆ ซึ่งอาจไม่เหมือนผบ.ตร.ในอดีตเขาทำกัน คอยดูแล้วกัน แต่ตอนนี้ยังไม่มีรายชื่อในใจ ต้องนำข้อมูลหลายด้านมาพิจารณาในวิธีของตนต่อไป

วิษณุ ติงสปช.อยู่เฉยๆอย่ารณรงค์

      วันเดียวกัน นายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯ กล่าวถึงสมาชิกสปช.บางคนระบุให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของสปช. แต่สิ่งที่ถูกต้อง ขณะนี้ไม่ควรรณรงค์ให้ผ่านหรือให้คว่ำ เพราะอยู่ระหว่างที่กมธ.ยกร่างฯปรับแก้ ควรจะอยู่เฉยๆ เพราะยังไม่เห็นหน้าตา จะรณรงค์ไปทำไม ส่วนที่นายวันชัย สอนศิริ โฆษกวิปสปช.ระบุร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ควรจะตัดเสื้อใหม่มากกว่ามาปรับแก้นั้น อย่าเอาความคิดเขามาถามตน แต่วันหลังช่วยเอาความคิดตนไปถามเขาด้วย เป็นแค่ความเห็นส่วนตัว และไม่คิดว่าจะทำให้สมาชิกสปช. 250 คนคิดอย่างนั้นได้

      เมื่อถามว่ารัฐบาลคุมเสียงสปช.ได้ใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าคุมไม่ได้ ถ้าคุมได้คงไม่เป็นอย่างนี้ และเราไม่อยากเข้าไปคุมด้วย ส่วนที่สปช.ถูกมองว่ายังทำงานไม่เป็นชิ้นเป็นอันนั้น นายวิษณุกล่าวว่า สปช.เหลือเวลาอีกไม่กี่เดือน ต้องส่งงานให้สภาขับเคลื่อนปฏิรูป ดังนั้น การวางกรอบปฏิรูปจะคิดกว้างๆ ไม่ได้แล้ว อะไรที่เร่งด่วนและนายกฯได้พูดในสภา ให้ช่วยเอาสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ไปดู อะไรทำต่อได้ให้ทำต่อ อย่าตั้งต้นนับหนึ่งใหม่ และอะไรที่ปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้นช่วยคิดทำด้วย อย่างเรื่องปฏิรูปโครงสร้างราชการ ควรให้รัฐบาลหน้าไปทำ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน เพราะมาถึงวันนี้ปฏิรูปจนเหลือ 20 กระทรวง ถือว่ามีฐานการทำงานแล้ว

ชี้สภาขับเคลื่อนเปิดกว้างทุกกลุ่ม

      รองนายกฯกล่าวว่า สำหรับการแต่งตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูป ไม่จำเป็นต้องตั้งทีเดียว 200 คน นายกฯทยอยตั้งทีละชุดได้ แต่นายกฯจะคัดเลือกอย่างไร ตนไม่ทราบ ต้องดูอีกระยะ ซึ่งคงมีการประกาศหลักเกณฑ์ ส่วนหนึ่งเอามาจากสปช. อีกส่วนหนึ่งเอามาจากคนนอก ซึ่งสมาชิกบ้านเลขที่ 111 และ 109 ก็มีโอกาส เพราะเป็นความตั้งใจของรัฐบาลถึงได้ปลดล็อกไว้ ไม่ใช่ปลดล็อกเพื่อตั้งนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช. มาแทนม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ อย่างที่เสนอข่าวกัน อีกทั้งไม่จำเป็นต้องตั้งคนที่มีแนวทางสอดคล้องกับรัฐบาล แต่ต้องการคนที่มีความคิดปฏิรูป โดยเฉพาะคนที่เป็นสปช.อยู่แล้ว ก็จะเห็นการทำงานและแนวคิดว่ามีความเข้าใจการปฏิรูปหรือไม่ 

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนคนนอกจะพิจารณาจากการแสดงความคิดเห็นทางสังคมถึงการปฏิรูป ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องมีแนวทางเดียวกันในการปฏิรูป แต่ความเห็นที่แตกต่างสามารถเอาไปทำในรัฐบาลหน้าได้ ยอมรับว่าที่ผ่านมารัฐบาลบกพร่องที่ไม่ได้บอกเขาชัดเจนถึงแนวทางการปฏิรูป เมื่อมีสภาขับเคลื่อนฯแล้วคงตั้งวิปสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อประสานงานกับรัฐบาล

รับเตรียมทางออกถ้าไม่ลงล็อก

      ส่วนที่นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระบุแม้จะเขียนเรื่องปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่หากไม่คุยกับพ.ต.ท. ทักษิณการปรองดองจะไม่เกิดขึ้นอยู่ดี นายวิษณุกล่าวว่าเป็นความคิดเห็นของผู้ใหญ่ ซึ่งรับฟัง โดยมีผู้หลักผู้ใหญ่พูดแบบนี้เยอะ หลายท่านพูดน่าฟัง แต่ถ้าไปเอาความคิดเห็นของคนใดคนหนึ่ง เดี๋ยวจะมีคนอื่นโผล่มาอีก แต่พร้อมรับฟังผู้ใหญ่ทั้งหมด อะไรที่เป็นประโยชน์จะหยิบมาใช้ 

นายวิษณุกล่าวว่า ยืนยันสิ่งที่รัฐบาลทำอยู่ไม่ได้วกวน แต่เป็นเรื่องข้อกฎหมาย ทุกอย่างต้องมีขั้นตอน เราต้องคิดเผื่อไว้หลายสถานการณ์ ต้องคิดด้วยว่าระหว่างทาง หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร สปช.ไม่ให้ผ่านจะทำอย่างไร หรือกมธ.ยกร่างฯน้อยใจคิดลาออก จะทำอย่างไร ต้องใส่หมดทุกทาง อ่านแล้วอาจดูวกวน แต่เป็นการเขียนร่างรัฐธรรมนูญในฉบับเดียวที่เผื่อไว้ 10 สถานการณ์ ความจริงมันคงไม่เกิดพร้อมกัน 10 สถานการณ์

       เมื่อถามว่า หากทุกอย่างไม่ลงล็อกตามแผนที่วางไว้ มีทางออกอย่างอื่นด้วยหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่ามี แต่ยังไม่ถึงเวลาบอก รอให้เกิดปัญหาก่อน ถ้าบอกไปก่อนเขารู้ไต๋หมด ถ้ามันไม่เรียบร้อยก็มีวิธีอื่นมาแก้ มีสารพัดวิธี บางเรื่องไม่ได้เดือดร้อนจนต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น กกต.ห่วงว่าอาจเกิดการขัดขวางจนไม่สามารถลงประชามติได้ อย่าลืมว่ารัฐบาลยังมีอำนาจตามมาตรา 44 อยู่ 

สปช.ประชุมลับ-ถกนอกรอบ

      ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานการประชุมสปช. เพื่อหารือวาระพิเศษ นอกรอบ พิจารณาแนวทางการทำงานของ สปช.ตามโรดแม็ปที่เหลือเวลาทำงานอีก 2 เดือนกว่า ภายหลังครม.และคสช.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 โดยประชุมลับภายในเฉพาะสมาชิกสปช. มีการปิดห้องประชุมไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุม มีเพียงรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น และไม่มีการถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์และวิทยุรัฐสภา รวมถึงวงจรปิดให้สื่อมวลชนได้รับทราบ

       เวลา 10.00 น. พ.ต.ท.บัณฑิต ประดับสุข อุปนายกปฏิบัติหน้าที่รักษาการแทน นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เข้ายื่นหนังสือต่อนายประสิทธิ์ ปทุมารักษ์ สมาชิกสปช. เพื่อเรียกร้องให้นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยุติและทบทวนการใช้ คำว่า "อารยสถาปัตย์" ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเป็นคำที่ไม่เหมาะสม เพราะราชบัณฑิตยสภายังไม่มีบัญญัติคำนิยามของคำศัพท์และเคยลงมติไม่ยอมรับการใช้ คำดังกล่าว นอกจากนั้นบุคคลแต่ละสาขาวิชาชีพยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน อาจทำให้สื่อสารความหมายคลาดเคลื่อนได้ ทั้งนี้สมาคมสถาปนิกสยามฯและราชบัณฑิตยสภา ขอเป็นแกนกลางจัดระดมความคิดเห็นจาก ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

รับข้อเสนอกมธ.ปฏิรูปการเมือง

       ต่อมาเวลา 13.35 น. หลังจากประชุมลับ ที่ประชุมสปช.มีน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 เป็นประธาน พิจารณารับทราบรายงานของกมธ.ปฏิรูปการเมือง เรื่องการเข้าสู่อำนาจและระบบพรรคการเมือง โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรค โดยเฉพาะให้เป็นสถาบันทางการเมือง ส่งเสริมให้มีหลายพรรค ไม่มีกลุ่มการเมือง เพราะยากต่อการควบคุม และอาจถูกโน้มน้าวในทางไม่ก่อประโยชน์ รวมถึงเสนอให้ปฏิรูปการบริหารพรรค โดยผู้บริหาร คณะกรรมการบริหารมาจาก การเลือกตั้งของสมาชิก และผู้สมัครเป็น คณะกรรมการบริหาร ต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ในนามพรรค ต้องผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นของสมาชิกพรรคในพื้นที่และมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ส่วนการยุบพรรค จะทำได้เฉพาะกรณีทำ ผิดร้ายแรงต่อสถาบัน ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ ทั้งนี้ เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุดของศาลยุติธรรมเท่านั้น 

       สำหรับ การปฏิรูปการเลือกตั้ง เสนอว่าให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมีแนวโน้มที่จะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด ซึ่งนำไปสู่การเกิดรัฐบาลผสมที่ช่วยลดแตกแยก แต่ระบบการเลือกตั้งดังกล่าวอาจมีประสิทธิภาพเฉพาะการเลือกตั้งที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคเท่านั้น แต่ขอให้ระวังพรรค อาจร่วมมือกันส่งผู้สมัครในพื้นที่ต่างๆ เพื่อให้ได้จำนวน ส.ส.ในภาพรวมมากขึ้น 

      ส่วนการปฏิรูปองค์กรอิสระ โดยเฉพาะการปฏิรูปกกต.นั้น เสนอให้กกต.มีอำนาจกำหนดวันเลือกตั้ง เลื่อนวันเลือกตั้ง หรือวันลงคะแนนในกรณีเกิดเหตุสุดวิสัย ซึ่งก่อนประกาศผลเลือกตั้งให้กกต.มีอำนาจสั่งเลือกตั้งใหม่(ใบเหลือง) ส่วนกรณีหลังประกาศผลหากสืบสวนพบการทุจริตให้กกต.ยื่นคำร้องไปยังศาลอุทธรณ์กลางเพื่อเพิกสิทธิเลือกตั้งตลอดชีวิต(ใบแดง) โดยผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ถูกกล่าวหามีสิทธิยื่นอุทธรณ์คำสั่งของกกต.ได้ นอกจากนั้นยังเสนอให้มีปฏิรูปการสรรหาบุคคลที่เข้าดำรงตำแหน่งกกต. และเพิ่มกกต.จาก 5 คนเป็น 7 คน เพื่อความคล่องตัวในการทำหน้าที่

ถกแนวโน้มรธน.ไม่ผ่านประชามติ

      รายงานข่าวจากรัฐสภาแจ้งว่า บรรยากาศการประชุมของสปช. นายเทียนฉายได้ชี้แจงถึงการเรียกประชุมสปช.นัดพิเศษว่า เนื่องจากครม.และคสช.มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งมีผลกระทบต่อการทำงาน ของสปช.ในช่วงเวลาที่เหลือ จึงจำเป็นต้องเรียกประชุมสปช.เพื่อวางแนวทางการทำงานในช่วง 2 เดือนที่เหลืออยู่ ซึ่งที่ประชุมห่วงเรื่องการยกร่างกฎหมายการปฏิรูปที่มีอยู่อย่างน้อย 30 ฉบับ ว่าอาจจะเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลา คาดว่าจะพิจารณากฎหมายปฏิรูปเสร็จประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15-20 ฉบับเท่านั้น ส่วนที่เหลือต้องให้รัฐบาล สนช. และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

       ที่ประชุมได้วิเคราะห์ถึงแนวโน้มการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีการแสดงความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ทั้งกลุ่มหนุนและกลุ่มคว่ำรัฐธรรมนูญ ซึ่งกลุ่มค้าน ร่างรัฐธรรมนูญ นำโดยนายวันชัย สอนศิริ ได้อภิปรายให้สปช.ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า อยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาสมบูรณ์ ไม่อยากให้มีตำหนิ หากมีตำหนินิดเดียวก็จะไม่ให้ผ่าน และขณะนี้บ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย และยังเสี่ยงที่จะปล่อยให้รัฐธรรมนูญไปทำประชามติ คาดว่าประชาชนโหวตคว่ำแน่นอน ทำให้เสียงบประมาณ 3 พันล้านบาท 

เชื่อบิ๊กตู่อยู่ต่อ2ปี-เพราะรธน.สะดุด 

      ขณะที่ฝ่ายที่เห็นด้วย มองว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 เป็นการปลดล็อกให้สปช.เป็นอิสระในการลงมติ เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯจะแก้ไขในหลายประเด็นตามคำเสนอแปรญัตติทั้ง 9 กลุ่มที่ท้วงติงมา เนื่องจากหากรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจากสปช. กมธ.ยกร่างฯจะได้อยู่ทำงานต่อในการยกร่างพ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่อไป และเชื่อว่าสถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปตามโรดแม็ป อย่างไรก็ตาม สมาชิกยังเห็นว่าการคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ขอดูร่างสุดท้ายก่อนว่าจะแก้ไขมากน้อยแค่ไหน

สุดท้ายที่ประชุมยังวิเคราะห์อายุของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ น่าจะบริหารต่อไปอีก 2 ปีด้วยเหตุผลว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน และใช้เวลาที่เหลือหลังจากนี้เดินหน้าการปฏิรูปประเทศให้มากที่สุด 

       นอกจากนี้ นายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง อภิปรายโจมตีสปช.หลายคนที่แสดงความเห็นภายนอกในทำนองสปช.ต้องการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมกับแถลงข่าวว่า สาเหตุที่ครม.แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว เพื่อให้สปช.ยุติบทบาทเพราะสปช.ชอบดราม่า และไม่ทำงาน ซึ่งเป็นการตอกย้ำทำให้ภาพลักษณ์โดยรวมของสปช.เสียหายเพิ่มมาก

เปิดโรงแรมนัดถกต่ออีก 24 มิ.ย.

       ต่อมานายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงภายหลังการประชุมนัดพิเศษของสปช.ว่า ที่ประชุมหารือตั้งแต่เวลา 09.00-13.30 น. บรรยากาศถ้อยทีถ้อยอาศัย ไม่ได้โต้แย้งกันรุนแรง แต่เนื่องจากมีสปช.ขออภิปรายจำนวนมาก จึงไม่สามารถประชุมให้เสร็จภายใน วันเดียว โดยจะประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 มิ.ย. ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ประเด็นสำคัญที่มีการพูดคุยกันคือ 1.การประเมินการทำงานของสปช.มีจุดดีและจุดอ่อนอย่างไร และ 2.การวางแนวทางการทำงานของสปช.ในช่วงเวลาที่เหลือ 2 เดือนหลังจากนี้ โดยกำชับให้กมธ.ปฏิรูปของสปช.ทั้ง 18 คณะ ส่งแผนงานปฏิรูปภายในวันที่ 30 มิ.ย. เพื่อนำแผนงานการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้ที่ประชุมสปช.พิจารณาให้เสร็จภายในสิ้นเดือนก.ค.

       นายวันชัย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าให้กำหนดประเด็นปฏิรูปเร่งด่วน 5 เรื่อง ที่ต้องมีรูปธรรมชัดเจน และรายงานให้สาธารณชนรับทราบ ได้แก่ 1.การปราบปรามการทุจริต 2.การเลือกตั้งที่สุจริต มีมาตรการแก้ปัญหาซื้อเสียงที่เป็นรูปธรรม 3.การปกครองส่วนท้องถิ่นและการบริหารราชการแผ่นดิน 4.การปฏิรูปตำรวจ และ 5.การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม เรื่องเหล่านี้ต้องคัดเลือกบุคคลที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาดูแล

       ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการหารือถึงการตั้ง คำถามของสปช.การทำประชามติหรือไม่ นายวันชัยกล่าวว่า ที่ประชุมเห็นว่าจะหารือเรื่องนี้กันอีกครั้ง หลังจากได้เห็นร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย ก่อนลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ

โอ๊คสวนสมชาย-ทักษิณพ่อใคร

        วันเดียวกัน นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊ก ถึงการไปประชุมที่ Imperial College London ของพ.ต.ท.ทักษิณว่า แฟนเพจกดไลก์มาแสนกว่า ปรากฏสลิ่ม ดิ้นกันพราดๆ จะเป็นจะตาย หาว่าเป็นภาพตัดต่อ พ่อตนเข้าประเทศอังกฤษไม่ได้ นอนป่วยอยู่เลยอยากกลบข่าว สิ่งสำคัญที่ทำให้พ่อตนเป็นข่าวตามสื่อต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมาเกือบ 10 ปี คือฝ่ายตรงข้ามชอบกระพือข่าว ขยายประเด็นและหาจุดสนใจให้คนติดตาม ซึ่งขาประจำคนหนึ่งได้แก่สมาชิกสนช.ที่ชื่อสมชาย แสวงการ อดีตเป็นขาประจำเวทีนกหวีด ที่ก่อม็อบปิดถนนเป่าปรี๊ดๆๆ จนประเทศเดินหน้าไม่ได้ เป็นเงื่อนไขให้ทหารออกมาปฏิวัติ แบ่งฝ่ายเลือกข้างอย่างชัดเจน ยังได้ปูนบำเหน็จให้เข้าไปเป็นสนช.ด้วย 

        "ถ้าทำหน้าที่สนช.ให้เต็มเม็ดเต็มหน่วยสมกับที่กินเงินภาษีอากรก็ไปอย่าง แต่การขยันเต้าข่าวเรื่องพ่อผม วันก่อนเขียนเฟซบุ๊ก ว่าพ่อผมกลัวข้อหาก่อการร้าย วันนี้เขียนว่าตัดต่อรูปอีก เขียนเฟซบุ๊กถึงพ่อผมบ่อยกว่าลูกในไส้ จนสงสัยว่าพ.ต.ท.ทักษิณนี่พ่อผมหรือพ่อใคร โปรโมตต่อไปเยอะๆ เดี๋ยวผมช่วยด้วยอีกแรง ต่อไปนี้พ่อผมไปบรรยายที่ไหน ไปประชุมสัมมนากับองค์กรใด รัฐบาลประเทศไหนเชิญไปให้คำปรึกษา จะจัดมาให้เป็นคลิปเอามาแชร์กันให้สนุก มาช่วยกันลองจับผิดคลิปดูว่าตัดต่อหรือลง ทุนทำสเปเชียลเอฟเฟ็กต์หรือไม่" นายพานทองแท้ระบุ

พท.กังขา-ปปช.จงใจเชิญสมชาย

       ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้มาตรวจสำเนาคดีคำร้องสำนวนคดีถอดถอน 248 อดีตส.ส. กรณีแก้ไขที่มาส.ว.โดยมิชอบ โดยนพ.เหวงกล่าวว่า แนวทางพิจารณาคงไม่ต่างจากคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา รวมทั้งคดี 38 อดีตส.ว. เพราะเป็นคดีเหตุการณ์เดียวกัน โดยอดีต ส.ส.ทั้ง 248 คนพร้อมสู้คดีด้วยตัวเอง จึงหวังว่าสนช.จะให้โอกาส เนื่องจากผลการตัดสิทธิครั้งนี้ถือเป็นเวลายาวไกลตลอดชีวิตทางการเมือง

      นพ.เหวง กล่าวกรณีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ระบุป.ป.ช.ได้ข้อมูลใหม่หลังจากเชิญนายสมชาย แสวงการ อดีตประธานอนุกมธ.ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง วุฒิสภา เข้าให้ข้อมูลคดีถอดถอนนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีต นายกฯและนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกฯและผอ.ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) สั่งสลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ว่าน่าแปลกใจที่เจาะจงเชิญนายสมชาย ทั้งที่ป.ป.ช.ต้องตระหนักว่า นายสมชายเป็นปฏิปักษ์ต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในเหตุการณ์นั้นอย่างเปิดเผยชัดเจนมาตลอด ข้อมูลของนายสมชายย่อมถูกครอบงำ ชี้นำโดยทัศนคติทางการเมืองของตนเอง อีกทั้งข้อมูลที่ได้รับจะเป็นผลดีต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

      นพ.เหวงกล่าวว่า จึงเรียกร้องให้ป.ป.ช. เชิญนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ อดีตประธานคณะกรรมการติดตามสถานการณ์การเมือง วุฒิสภา แต่งตั้งโดยวุฒิสภาที่เป็นกลางทางการเมือง อีกทั้งกรรมการประกอบด้วย นายโคทม อารียา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ นายคำนูณ สิทธิสมาน พล.อ.ยุทธนา ไทยภักดี มาให้ข้อมูลข้อเท็จจริง เพื่อรักษาหลักนิติรัฐ นิติธรรม เป็นประโยชน์แก่ความยุติธรรม และความน่าเชื่อถือของป.ป.ช.สร้างความปรองดองสมานฉันท์ที่แท้จริง

ติงวิษณุประชามติเฉพาะคนใช้สิทธิ์

     นพ.เหวงกล่าวถึงนายวิษณุจะแจกร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเพียง 19 ล้านครัวเรือนและจะนับเสียงประชามติเฉพาะคนที่มาใช้สิทธิเท่านั้นว่า ไม่เห็นด้วย ขอให้ทบทวนโดยให้พิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญตามจำนวนของ ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50 ล้านคนและส่งทางไปรษณีย์ตอบรับกลับมา แม้จะใช้งบเป็นพันล้านบาทแต่เป็นประโยชน์ เพราะควรให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นคนตัดสิน ใช้มาตรฐานรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติว่าผลการทำประชามติ เสียงต้องเกินกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง หรือ 25 ล้านคนขึ้นไป แต่หากทำประชามติแบบที่นายวิษณุกำหนด จะใช้เสียงเพียงครึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิ หากเทียบกับการเลือกตั้งที่เฉลี่ยผู้มาใช้สิทธิร้อยละ 50 หรือ 25 ล้านคน เท่ากับใช้เสียงเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เพียง 12.5 ล้านเสียง คิดว่าไม่ยุติธรรมกับกฎหมายที่ต้องใช้บังคับกับคนทั้งประเทศ 67 ล้านคน

       นพ.เหวงกล่าวถึงสปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญว่า ขณะนี้คงยากที่จะพูดว่าผ่านหรือไม่ผ่าน เพราะมีวาระซ่อนเร้น ลับลวงพรางอยู่หลายอย่าง แต่เดาว่าจะมีการส่งสัญญาณในต้นเดือนก.ย. ซึ่งจะเห็นชัดแจน หากสปช.เป็นเด็กดีก็มีโอกาสได้กลับมาอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯ แต่หากโหวตสวนทางก็หมดอนาคตทางการเมือง ส่วนประชามติจะผ่านหรือไม่ หากดูจากตัวเลขโพลหลายสำนักและตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่มีความเชื่อถือ ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับแก่นในร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ นายกฯไม่ได้มาจากส.ส. ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง เชื่อว่าประชาชนจะไม่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ

'บิ๊กตู่'เปิดใจอัลจาซีรา-วันปฏิวัติ

       วันเดียวกัน เว็บไซต์อัลจาซีราเผยแพร่คลิปสัมภาษณ์พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวเปิดประเด็นการโค่นอำนาจรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ เคยระบุคนในครอบครัวต่างร้องไห้คืนก่อนจะก่อรัฐประหารว่าทำไมการตัดสินใจดังกล่าวถึงมีผลทางอารมณ์ และให้หลังการรัฐประหาร 1 ปี ประเทศไทยมีความคืบหน้าที่จะกลับมาเป็นประเทศประชาธิปไตยอีกครั้งหรือไม่ 

       "อันนี้ เป็นการตัดสินใจของผมคนเดียวเลยนะ ไม่มีใครมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น ไม่มีอำนาจไหนมาสั่งผมได้ เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เป็นเรื่องอันตราย เป็นเรื่องความเสี่ยงของผม ซึ่งครอบครัวก็ไม่รู้ จากวันนั้นถึงวันนี้ผมและครอบครัวไม่ได้มีความสุขมากมาย เพียงแต่มีความสุขที่ได้ทำงานเพื่อประเทศชาติ ครอบครัวเองก็เสียสละ ผมเองก็เสียสละเหมือนกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า เรื่องในประเทศต่างประเทศ ตนต้องทำความเข้าใจต่อไปว่าเข้ามาแล้วต้องทำอะไรบ้าง และไปทำอะไรที่เสียหายมาหรือไม่เพราะสังคมโลกดูตนอยู่ทุกเรื่อง ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามรูปแบบของตน หมายถึงจากคสช. 5 เดือนมาเป็นรัฐบาล วันนี้รัฐบาลทำงานมาครบ 1 ปีแล้ว ครั้งแรกคสช.เข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วน เช่น ความรุนแรง อาวุธสงคราม การทุจริตผิดกฎหมาย การจัดระเบียบสังคม ซึ่ง 5 เดือนแรกทำไปได้พอสมควร

ไม่เคยมีความคิดจะมาเป็นนายกฯ

      เมื่อถามว่า เมื่อครั้งที่พล.อ.ประยุทธ์เป็นทหาร เคยมีความคิดหรือความฝันที่จะเป็นผู้นำประเทศหรือไม่ นายกฯ ส่ายหน้า พร้อมระบุว่าไม่เคยคิด แต่สถานการณ์ในช่วงที่มีความวุ่นวาย ไม่มีใครทำได้นอกจากตนคนเดียว เพราะเป็นสถานการณ์ที่ติดขัดด้วยกฎหมาย รัฐธรรมนูญ และปัญหาความขัดแย้งซึ่งรัฐบาลที่แล้วแก้ไขไม่ได้ แล้วงบประมาณเดินต่อไม่ได้ เพราะรัฐบาลขณะนั้นไม่มีอำนาจเต็มจากการผิดกฎหมายผิดกติกาบางตัว มีเพียงกฎอัยการศึกอย่างเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้และตนก็เป็นเพียงคนเดียวที่จะประกาศใช้ได้ 

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ได้เป็นศัตรูกับคนเสื้อแดงและเสื้อเหลือง ถ้าจะไม่ให้เกิดความขัดแย้งก็ต้องเริ่มว่าทำอย่างไรประชาชนถึงจะไม่ขัดแย้งกันก่อน ประชาชนต้องไม่มีสี ต้องพูดคุยกัน ต่อไปแกนนำไม่ว่าจะเสื้อสีไหนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ถ้าผิด ก็ว่าไปตามผิด ตนขอถามหน่อยว่ามีอาวุธสงครามไม่ผิดทางอาญาหรือ เสื้อแดงจะ มาว่าตนไม่เป็นธรรมไม่ได้ นี่ไม่ใช่เรื่องการเมืองแม้จะเกิดขึ้นในสถานการณ์การเมือง แต่ใครเอาคนเหล่านี้มาเผาศาลากลาง ใครเอาคนเหล่านี้มาใช้อาวุธยิงทหาร ยิงเจ้าหน้าที่ ยิงรัฐ ยิงสถานที่ราชการ เขารับกันหรือเปล่า หลักฐานก็มีชัดเจนอย่าพูดว่า ตนกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้

ยอมรับเครียด-ใช้อารมณ์กับสื่อ

      เมื่อถามถึงการโจมตีสื่อมวลชนซึ่งหลายครั้งกลายเป็นประเด็นในสังคม นายกฯ กล่าวว่า ตนเป็นคนไทยนักข่าวก็เป็นคนไทย บางครั้งเลยกระเซ้าเย้าแหย่ด้วยความเมตตา สื่อเองควรมีการปฏิรูปซึ่งตนได้แนะนำไปว่าสิ่งไหนควรหรือไม่ควรทำ บางครั้งอาจพูดเกินเลยไปบ้างแต่ก็ไม่เคยลงโทษนักข่าวสักคน ให้สัมภาษณ์กับสื่อเกินเลยไปบ้างแต่ไม่เคยมีการลงโทษใคร นักข่าวเองก็มีความเข้าดี ตนไม่อยากให้นักข่าวถามคำถามที่ไม่มีความเข้าใจมาก่อน ขณะที่นักวิชาการไทยก็ไม่เคยปฏิบัติ มีเพียงข้อมูลวิชาการ ดังนั้น สิ่งไหนที่ตนทำได้ก็อย่าตำหนิ อันไหนทำไม่ได้ก็ควรร่วมมือช่วยเหลือกัน 

      ถามกลับถึงคำพูดที่พล.อ.ประยุทธ์เคยกล่าวว่า จะลงโทษนักข่าวด้วยการประหารชีวิตนั้นแม้จะเป็นการพูดเล่นตามที่ชี้แจง แต่พล.อ.ประยุทธ์ คิดว่าตนเองเป็นผู้นำแบบไหน เมื่อพูดสิ่งที่ไม่สมควรพูดออกมา 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมเป็นตัวของผมเอง เป็นบทบาทของผมเอง แล้วประชาชนคนไทยก็ต้องเข้าใจผม ผมไม่ได้บังคับเขาแต่ก็เห็นหลายคนที่ชอบผมแบบนี้ แต่ในสายตาต่างประเทศอาจยังรับไม่ค่อยได้ ผมก็พยายามปรับปรุงตรงนี้อยู่ แต่ผมไม่ใช่นักการเมืองจะให้พูดไพเราะตลอดเวลาผมทำไม่เป็น ผมพูดแล้วผมทำ เมื่อผมพูดแล้วผมทำปัญหามันก็เยอะ ความเครียดมันก็เยอะเลยทำให้อารมณ์ไม่ค่อยดีบ้าง อันนี้ผมขอโทษไปแล้วและสื่อไทยก็เข้าใจผมหมด" 

ไม่คิดนั่งนายกฯ-แต่ไม่มีใครเอา

      เมื่อถามว่าในฐานะที่เป็นทหารที่มีประสบการณ์สูงที่ต้องมาอยู่ในตำแหน่งที่กำลังเป็นอยู่นี้ มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความแตกต่างอยู่มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องความรู้สึก วันนี้ยังไม่รู้สึกว่ามีอำนาจเลยเพราะคิดว่าใช้ในทางสร้างสรรค์เป็นส่วนมาก ตื่นมาบางทียังนึกอยู่เลยว่าเป็นนายกฯหรือเปล่า และเวลาใครเรียกนายกฯๆ ก็ตกใจทุกที ผมไม่ชอบ ไม่ต้องการเป็นนักการเมือง แต่เข้ามาเพราะสถานการณ์มีความจำเป็นและผมก็ต้องอยู่ทำงานให้ดีที่สุด ให้เร็วที่สุด

      ถามว่าการเป็นนายกฯอาจไม่ใช่ความฝันตั้งแต่เป็นทหารแต่คิดหรือไม่ว่าเป็นคนที่ถูกเลือกหรือเป็นเพราะสถานการณ์ทำให้ต้องก้าวเข้ามา ตนทำงานหนัก ไม่ได้คาดคิดว่าจะต้องเข้ามาก่อน เมื่อเข้ามาก็ต้องรีบใช้เวลาที่มีอยู่ เพราะประเทศชาติมันติดขัดมานานแล้ว มีใครจะมาเสี่ยงแทนตนไหม ตอนเป็นหัวหน้าคณะ คสช. ตนพร้อมที่ใครจะมาเป็นนายกฯ แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเป็น เพราะรู้ว่าเป็นงานหนัก มาเป็นนายกฯท่ามกลางความขัดแย้ง ตนเข้ามาต้องปะทะกับทั้งสองฝ่าย คิดว่าได้รับฉันทามติให้เข้ามาแก้ แต่การแก้ของตนต้องแก้ให้ประชาชน แก้ให้ประเทศ แก้ให้คนที่ผิดกฎหมายให้เขาได้รับความเป็นธรรม เป็นหน้าที่ จะแดง เหลือง เขียว ต้องแก้ให้หมดด้วยกฎหมาย ตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจตนไม่เคยไปทำร้ายใคร ยึดกิจการใคร มีแต่อำนวย ความสะดวกให้ ส่งเสริมการลงทุนทุกอย่าง นักธุรกิจที่เข้ามาบอกตนว่าเขาสบายใจ ที่ตนเข้ามาวันนี้

สปช.กลุ่มรักชาติดันตั้งกาสิโน 

เมื่อเวลา 13.15 น. วันที่ 15 มิ.ย. ที่รัฐสภา สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กลุ่มรักชาติ 12 คน นำโดยพ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย และนายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง ร่วมกันแถลงข่าวเตรียมเสนอให้ตั้งกาสิโนในประเทศไทย 

พ.ต.อาณันย์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลพยายามให้มีกาสิโนในประเทศอย่างถูกกฎหมาย เพราะเห็นว่ากรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงที่มีชาวต่างชาติมาท่องเที่ยวจำนวนมาก เราจึงมองในมิติทางเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ อีกทั้งรอบบ้านเรามีกาสิโน 22 แห่ง ซึ่งในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ตามชายแดนจะเป็นลาสเวกัส นักเล่นพนันกว่า 80 เปอร์เซ็นต์เป็นคนไทย ดังนั้น การมีกาสิโนที่ถูกกฎหมายในประเทศ จะช่วยให้เงินไม่ไหลออกนอกประเทศ 

พ.ต.อาณันย์กล่าวว่า เบื้องต้นมองว่าพื้นที่ที่เหมาะสมคือ พัทยา จ.ชลบุรี ส่วนใครที่เห็นคัดค้านโดยมองว่าไทยเป็นเมืองพุทธ แต่ทุกประเทศที่มีศาสนา ซึ่งบางศาสนามีข้อบัญญัติเคร่งครัดมาก แต่ก็ยังให้เล่นพนันในกาสิโนอย่างถูกต้อง และยังช่วยสร้างงานให้กับคนในประเทศ สร้างรายได้แม้จะไม่ใช่รายได้หลัก แต่เป็นส่วนหนึ่งที่นำรายได้เข้ารัฐ หากบริหารจัดการอย่างถูกต้องเป็นระบบ ซึ่งหลายประเทศประสบความสำเร็จ เราจึงเห็นควรดำเนินการเรื่องนี้ให้เป็นรูปธรรม แต่ไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับมากน้อยแค่ไหน เพราะต้องผ่านความเห็นชอบจากสปช. ซึ่งการตัดสินใจสุดท้ายขึ้นอยู่กับครม. และคสช. 

ด้านนายเกรียงไกรกล่าวว่า คนไทยส่วนใหญ่รู้จักการพนัน หลายคนออกไปเล่นในต่างประเทศ ซึ่งการเปิดกาสิโนไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่เป็นเรื่องดีในการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐ เราต้องดึงภาษีบาปมาเป็นเป็นภาษีบุญ ช่วยเหลือคนจน พัฒนาประเทศด้านต่างๆ เรื่องดังกล่าวจึงเป็นอุดมการณ์ขับเคลื่อนสิ่งที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้ เราเน้นให้คนต่างชาติเข้ามาเล่นมากกว่าคนไทย ซึ่งคนไทยต้องแสดงสเตตเมนต์ก่อน หลังจากนี้อาจตั้งคณะกรรมการศึกษาผลดี ผลเสียของการตั้งกาสิโน และผลักดันให้มีกาสิโนต่อไป

เทือกให้การป.ป.ช.-โบ้ย396สภ.

เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 15 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม การทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรอง นายกฯ พร้อมทีมทนาย เข้าให้ข้อมูลและชี้แจงต่ออนุกรรมการไต่สวนกรณีการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) 396 แห่งโดยมิชอบ ที่อนุกรรมการมีมติแจ้งข้อกล่าวหาพระสุเทพ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เมื่อครั้งเป็นรองนายกฯ มีหน้าที่กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และลงนามอนุมัติการเปลี่ยนแปลงวิธีจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ โดยไม่เสนอ ครม.อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการ ส่งผลให้มีผู้รับจ้างเพียงรายเดียว ทำให้โครงการไม่เสร็จ เกิดความเสียหายต่อ ตร.และราชการ โดยใช้เวลาชี้แจงนาน 3 ชั่วโมง

จากนั้น พระสุเทพ ให้สัมภาษณ์ว่า ตนทำหนังสือคำให้การและนำข้อมูลสร้างโรงพัก มาชี้แจง ยืนยันว่าปฏิบัติถูกต้องตามมติ ครม. เป็นไปตามกฎหมาย แต่ที่สร้างไม่เสร็จนั้น เป็นเรื่องการบริหารสัญญาของ ตร.กับผู้รับเหมา คิดว่าการให้ข้อมูลครั้งนี้ครบถ้วนแล้ว และคงไม่ต้องมาอีกเพราะมาครั้งที่ 2 แล้ว แต่หากอนุกรรมการต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ก็เรียกมาได้ 

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ว่า เจ้าหน้าที่ในคณะอนุกรรมการรายงานว่า พระสุเทพเข้าให้ถ้อยคำครบถ้วนในประเด็นต่างๆ เรียบร้อยแล้ว โดยไม่กล่าวอ้างพยานใดเพิ่มเติม ดังนั้น ในเดือนมิ.ย.นี้ คณะทำงานจะสรุปเรื่องเพื่อรายงานต่อคณะอนุกรรมการ ก่อนรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหมด เสนอเรื่องเข้าคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ต่อไป คาดว่าจะสรุปและรายงานได้ภายในเดือนก.ค.นี้ เพื่อให้ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่พิจารณาว่าข้อมูลเพียงพอหรือไม่ หรือยังขาดในส่วนใดต้องเพิ่มเติมหรือไม่

ตร.ขู่ลั่นอายัดเงินประกันดาวดิน

      เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 15 มิ.ย. ที่บก.ภ.ขอนแก่น พล.ต.ต.จิตรจรูญ ศรีวนิชย์ ผบก.ภ.จว.ขอนแก่น ได้เรียกประชุมพนักงานสอบสวนและตำรวจ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อติดตามความคืบหน้าการรายงานตัวของกลุ่มนักศึกษาดาวดิน หลังครบกำหนด 7 วัน ตามการขอเลื่อนการเข้ารายงานตัว

      พ.ต.อ.นพดล เพ็ชรสุทธิ์ ผกก.สภ.เมืองขอนแก่น กล่าวว่าทนายความและนายประกันของกลุ่มนักศึกษาดาวดินทั้ง 7 คน ได้เข้าพบพนักงานสอบสวน เพื่อขอเอกสารการเลื่อนการรายงานตัวของนายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา นายอภิวัฒน์ สุนทรารักษ์ นายพายุ บุญโสภณ นายภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ นายสุวิชชา ฑิพังกร นายศุภชัย ภูครองพลอย และนายวสันต์ เศษสิทธิ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในชื่อกลุ่มดาวดิน ตามฐานความผิดฝ่าฝืนคำสั่งคสช.ที่ 3/2558 โดยได้ขอเลื่อนการรายงานตัวออกไปอีก 4 วัน ให้เหตุผลการนำพยานมาให้พนักงานสอบสวนได้สอบปากคำเพิ่มเติม ซึ่งตามข้อกฎหมาย ป.วิอาญา ผู้ต้องหามีสิทธิ์ทำได้ ซึ่งนัดแรกที่ต้องมารายงานตัวคือวันที่ 8 มิ.ย. ก็ไม่ได้มารายงานตัว แต่ส่งนายประกันและทนายมาพบพนักงานสอบสวนและขอเลื่อนนัด โดยพนักงานสอบสวนได้อนุญาตไว้ที่ 7 วัน แต่ไม่เกิน 10 วัน ซึ่งยังคงมาขอเลื่อนนัดอีกครั้ง สามารถทำได้ภายใน 15 วัน

      พ.ต.อ.นพดล กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเจ้าของคดีได้รับเอกสารการขอเลื่อนการรายงานตัวแล้วและพิจารณาให้เลื่อนถึงวันที่ 19 มิ.ย. ซึ่งระยะนี้ทนายความต้องนำพยานที่กล่าวอ้างขึ้น ซึ่งได้ข้อมูลมาว่าเป็นนักวิชาการด้านการชุมนุม มาให้ตำรวจสอบปากคำ ห้ามนำมาให้ปากคำในวันที่ 19 มิ.ย.อย่างเด็ดขาด เพราะพยานทั้ง 5 คนที่อ้างขึ้นนั้นจะทำให้การสอบสวนล่าช้า เพราะขณะนี้สำนวนการสอบสวนของนักศึกษาทั้ง 7 คนเสร็จสิ้นแล้ว และเตรียมนำตัวส่งอัยการศาลทหาร มทบ.23 ค่ายศรีพัชรินทร์ ในวันที่ 19 มิ.ย.นี้เช่นกัน

      พ.ต.อ.นพดล กล่าวว่า ตามกฎหมายขอเลื่อนได้ 7-15 วัน แต่คดีนี้พนักงานสอบสวนกำหนดไว้ที่ 10 วัน ซึ่งวันที่ 19 มิ.ย.นี้จะครบ 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด หากนับรวมการ ขอเลื่อนการรายงานตัวในรอบแรก ซึ่งแจ้งเรื่องไปยังศาลทหาร มทบ.23 รับทราบแล้ว อย่างไรก็ตาม หากครบ 15 วันแล้ว นักศึกษาทั้งหมดไม่เข้ารายงานตัว จะอายัดเงินประกันคนละ 7,500 บาท รวมทั้งออกหมายเรียกและส่งเรื่องให้อัยการทหารและศาลทหาร มทบ.23 ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป

"ยงยุทธ"ยื้อ-ผลสอบปลัดสธ. 

        เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงผลการสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กรณีไม่สนองนโยบายรัฐบาลและรมว.สาธารณสุข ทำให้ถูกย้ายไปอยู่สำนักนายกฯว่า ตนได้รับรายงานการพิจารณาของคณะกรรมการตรวจสอบชุดที่มีน.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน แต่ยังไม่ได้อ่านรายงานฉบับเต็ม ซึ่งยังมีอีก 2-3 ประเด็นที่ซ้อนกันอยู่คือ เรื่องที่ปลัดสธ.แจ้งต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ว่าถูกสั่งย้ายโดยไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะนี้ก.พ.ค.สอบสวนอยู่ และกรณีนพ.ณรงค์เปิดเผยเรื่องการบริหารงานสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ซึ่งจะนำทั้งหมดมาสรุปเพื่อเสนอนายกฯต่อไป

        นายยงยุทธ กล่าวว่า เรื่องการทำงานที่เข้ากันไม่ได้ระหว่างรมว.สธ. และปลัดสธ. ถือว่าสำคัญมาก 

เมื่อถามว่าหากผลสอบชุดปลัดกระทรวงพาณิชย์ออกมาในลักษณะเป็นการทำงานที่แตกต่างกัน จะให้นพ.ณรงค์กลับมาทำงานที่กระทรวงหรือไม่ นายยงยุทธกล่าวว่า ส่วนตัวคิดว่าการทำงานที่จะให้งานเดินไปด้วยดีต้องพิจารณาว่า เมื่อปลัดสธ.มีความเป็นตัวของตัวเองมาก น่าจะมีงานที่เหมาะสมกับปลัดสธ. ในการเดินหน้าให้กระทรวงสาธารณสุขได้ อาจเป็นข้อเสนอต่างๆ เป็นต้น

เมื่อถามย้ำว่า แสดงว่านพ.ณรงค์ไม่เหมาะสมกลับไปกระทรวงสาธารณสุข นายยงยุทธกล่าวเพียงสั้นๆ ว่าไม่ได้พูดเช่นนั้น

เผย 121 คนดังสมัครชิง"กสม."

     วันที่ 15 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เผยแพร่รายชื่อผู้สมัครเพื่อเข้ารับการสรรหาเป็นกสม. ที่เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 25 พ.ค.-15 มิ.ย. ได้ทั้งสิ้น 121 ราย วันที่เปิดรับสมัครเป็นวันสุดท้ายพบว่ามีผู้มาสมัครมากที่สุด 78 คน 

รายชื่อบุคคลที่น่าสนใจ ดังนี้ นายบรรจง นะแส นักสิทธิมนุษยชน ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี พ.อ.ปิยะวัฒก์ กิ่งเกตุ อดีตผบ.สำนักทรัพย์สินทางปัญหา ดีเอสไอ นายสุวันชัย แสงสุขเอี่ยม สมาชิกสภาพัฒนาการเมือง นายชาติชาย สุทธิกลม อดีตเลขาธิการกสม. นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ นักสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิเด็ก นายวีระ สมความคิด แนวร่วมพธม. นางจิตราภา สุนทรพิพิธ นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนฯ นายไพโรจน์ พลเพชร คปก. นางอังคณา นีละไพจิตร นักสิทธิมนุษยชน นายชำนาญ จันทร์เรือง ประธานแอมเนสตี้ฯ ประเทศไทย นางพะเยาว์ อัคฮาด หรือแม่น้องเกด นางจรวยพร ธรณินทร์ อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ น.ส.อุษณีย์ ชิดชอบ อดีตส.ว.บุรีรัมย์ พี่สาวนายเนวิน ชิดชอบ และนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครอง เป็นต้น 

      อย่างไรก็ตาม เลขาสำนักงานกสม.จะนำรายชื่อเสนอต่อคณะกรรมการสรรรหาที่มีนายดิเรก อิงคนินันท์ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน คัดเลือกให้เหลือ 7 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เสนอ จากนั้นคณะกรรมการสรรหาจะเสนอชื่อให้ สนช. พิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 30 วัน หากให้ความเห็นชอบ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ก็จะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ถ้าสนช.ไม่ให้ความเห็นชอบก็ต้องส่งรายชื่อกลับไปให้คณะกรรมการสรรหาพิจารณาทบทวน หากคณะกรรมการสรรหายืนยันตามเดิมก็ให้มีมติเสียงข้างมาก จากนั้นประธานสนช.ก็ต้องนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ ซึ่งกระบวนการสรรหาดังกล่าวเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 

     นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. เผยว่า ดูจากรายชื่อที่มาสมัครกระจายในหลายกลุ่ม มีทั้งข้าราชการ สื่อมวลชน แม้สัดส่วนภาคประชาสังคมจะมีแค่ 1 ใน 5 หรือไม่เกิน 20 คน แต่ปัญหาที่อยู่กระบวนการสรรหานับจากนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้ไอซีซี มีหนังสือแจ้งไม่รับกระบวนการสรรหากสม.ตามรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักการปารีสและจะลดเกรดกสม.ของไทย แม้ปลายพ.ค.ที่ผ่านมา กสม.จัดประชุมระดมความเห็นจากนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน เห็นว่าแม้จะไม่มีการแก้ไขหลักเกณฑ์การสรรหาให้สอดคล้องกับปารีสแต่คณะกรรมการสรรหาสามารถยึดหลักปารีสได้ แต่ก็เสี่ยงเรื่องของระยะเวลาการสรรหาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ค่อนข้างจำกัด เสี่ยงต่อการถูกฟ้อง เพราะพ.ร.บ.กสม.หรือระเบียบไม่เปิดช่องให้ทำ ปัญหาใหญ่คือเมื่อการสรรหายังเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไอซีซีจะยอมรับหรือไม่ 

 

สั่งจับมือกุข่าว'ปว.ซ้อน'สมคิดไม่ร่วมครม.บิ๊กตู่ เผย'คลิปเก่า'โผล่ป้ายสี เปิดสเปกสภาขับเคลื่อน

     'บิ๊กป้อม'ไล่จับพวกกุข่าวจะมีการปฏิวัติซ้อน 'สมคิด'ขอทำหน้าที่ให้คำปรึกษา รบ. ไม่เข้าร่วมทีม ครม.เศรษฐกิจ 'วิษณุ'โต้ สปช.ไม่สมควรพูดเรื่องโหวตร่าง รธน.

@ 'บิ๊กป้อม'สั่งจับคนกุปฏิวัติซ้อน

       เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการ (รมว.) กระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวเรื่องการปฏิวัติซ้อน ว่า ไม่มี ใครจะทำบอกมา ไม่มีทั้งนั้นว่าทหารคนไหนจะทำ เวลานี้บ้านเมืองเงียบสงบเพราะนายกฯทำงานดี ถ้าไม่มีเหตุก็ไม่มีใครทำ เรื่องนี้ควรยุติได้แล้ว

    "ส่วนคนที่เขียนเรื่องปฏิวัติซ้อนในโซเชียลมีเดีย ผมกำลังตามอยู่ ถ้าจับได้จะเอาตัวมาทันที ส่วนเบาะแสนั้นยังไม่มีและไม่ทราบเหตุผลว่าเขาเขียนทำไม ได้สั่งการให้คนตาม 4-5 สายแล้ว เตือนไว้ให้ระวัง ถ้าจับได้มีเรื่องแน่ ยืนยันว่าไม่มีขบวนการยุแยงให้กองทัพแตกกัน" พล.อ.ประวิตรกล่าว

    พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงแคนดิเดตผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนใหม่ที่จะมาแทน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ที่จะเกษียณอายุราชการ 30 กันยายนนี้ ระหว่าง พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. น้องชาย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า "ผมยังไม่มีใครในใจ ขึ้นอยู่กับการตัดสินของ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะ ผบ.ทบ.เสนอรายชื่อขึ้นมา"

     พล.อ.ประวิตร กล่าวตอบผู้สื่อข่าวกรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) บางคนเสนอให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ต่อว่า "ไม่เป็นไร ให้สิทธิ สปช.ตัดสินใจ ถ้าร่างรัฐธรรมนูญดีเขาก็ให้ผ่าน ถ้าไม่ดีก็คงไม่ผ่าน ให้สิทธิ สปช.ตัดสินใจเต็มที่ จะคิดอย่างไรก็เอา ไม่มีการชี้นำแน่นอน"

@ เชื่อไม่ปฏิวัติล้านเปอร์เซ็นต์ 

      ที่สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการปฏิวัติซ้อนว่า "ไม่มีล้านเปอร์เซ็นต์ ผมคิดว่าห้วงเวลาขณะนี้ไม่ใช่วาระที่จะมาพูดกัน ประเทศไทยไม่ใช่ของเล่น ไม่ใช่ว่าใครอยากทำก็ทำได้ ผมตอบได้เลยว่าเมื่อถึงเวลาที่มันทำได้ก็จะรู้เอง นั่นหมายความว่าสถานการณ์มันไปไม่ได้คนเขารู้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ ใครอยากทำก็ทำ หรือคิดว่าอยากมีก็มี ผมตอบได้เลยว่ามันไม่ใช่ ที่บอกว่าไม่มีเพราะทหารดี รวมกลุ่มเข้มแข็ง แต่ตราบใดที่คนเห็นว่ารัฐบาลทำงานตอบสนองได้ ไม่โกง ไม่ลุแก่อำนาจ ยังบริหาร แต่ย้ำว่าแค่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีรัฐธรรมนูญเขาก็บอกว่าต้องออก" 

     เมื่อถามถึงนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าอาจจะมีการเลือกตั้งในปี 2559 ถ้าประชามติร่างรัฐธรรมนูญผ่าน จะทำให้โรดแมปเปลี่ยนแปลงไป พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมายึดตามโรดแมปเดิมมาตลอด จะต้องมีการเลือกตั้งในช่วงต้นปี 2559 แต่เมื่อมีขั้นตอนการทำประชามติเพิ่มเติมเข้ามา นายวิษณุเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย เล็งเห็นว่าจะต้องใช้เวลาเพิ่มออกไป ส่งผลให้การเลือกตั้งอยู่ในช่วงเวลาดังกล่าว ทั้งนี้ ครม.และ คสช.ไม่ได้เป็นฝ่ายที่ยืดหรือขยายเวลาโรดแมปออกไป

@ ยันนายกฯเดินหน้าตามโรดแมป

     พล.อ.อนุพงษ์ กล่าวกรณี สปช.เสียงแตกเรื่องโหวตร่างรัฐธรรมนูญว่า "ไม่เป็นไร นี่ไม่ใช่การทะเลาะกัน แต่เป็นมองต่างมุม ถกเถียงกันเพื่อให้ข้อยุติที่ดีและให้จบ พูดกันให้แจ่มแจ้ง อย่ามัวแต่ไปอมพะนำกันอยู่ ให้ได้ข้อยุติและเข้าใจกันหมด โดยนำข้อยุตินั้นมาใช้งานได้ ส่วนอายุของรัฐบาลเวลานี้นายกฯยังคงยืนยันตามโรดแมป แต่ของเดิมไม่มีประชามติ เมื่อมีเรื่องประชามติเวลาก็จะยืดออกไปตามขั้นตอนการทำประชามติเท่านั้น" 

    พล.อ.อนุพงษ์กล่าวถึงการประชุม ครม.นอกสถานที่ที่ จ.เชียงใหม่ และลงพื้นที่ จ.พิษณุโลก ว่า เรื่องการรักษาความปลอดภัยเป็นเรื่องปกติที่ทำกันอยู่แล้ว ไม่เชื่อว่าจะใช้ความรุนแรงกันอีก หากใช้วิธีเดิมเมื่อใครมาเป็นรัฐบาลก็ต้องลำบากในอนาคต ไม่ว่าจะใช้ความรุนแรงหรือมาก่อม็อบก็ไม่เห็นด้วย จะเป็นวัฏจักรไม่รู้จักจบ ไม่ว่าสีไหนมาเป็นรัฐบาลก็ต้องมาเจอกันแบบนี้ บริหารบ้านเมืองไม่ได้ 

"คนไทยได้รับบทเรียนมาเยอะแล้วในเรื่องของการใช้กลุ่มพลังแล้วมาสร้างความวุ่นวาย ไม่ใช่หนทางที่จะเดินไปและไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ถ้าถามว่าจะมีกลุ่มเล็กๆ จัดตั้งมาหรือไม่ก็ว่ากันไป เจ้าหน้าที่ก็ต้องดูแลกันไป" พล.อ.อนุพงษ์กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า พล.อ.อนุพงษ์ได้กล่าวตอบเรื่องการแต่งตั้งปลัดกระทรวงมหาดไทยแทนนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทยที่จะเกษียณอายุราชการเดือนกันยายนนี้ว่า "ด้วยสัตย์จริงยังไม่รู้เรื่อง ต้องดูทั้งหมดว่าจะเป็นใคร ส่วนคุณสมบัตินั้นจะต้องดีและเก่ง"

@ 'สมคิด'ไม่รับเก้าอี้-โต้คลิปตัดต่อ

      รายงานข่าวเปิดเผยว่า นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษา คสช.ได้ปฏิเสธข่าวที่ว่าจะเข้ารับตำแหน่งใน ครม.เนื่องจากเห็นว่าทีมเศรษฐกิจขณะนี้ยังทำงานอยู่ และไม่ต้องการให้เกิดข้อขัดแย้งขึ้นอีก โดยจะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในฐานะที่ปรึกษาต่อไป 

วันเดียวกันได้มีการเผยแพร่คลิปจากเว็บยูทูบ เป็นการปาฐกถาของนายสมคิดเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ ทำให้แกนนำ คสช.สอบถามนายสมคิด อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบพบว่าเป็นการนำเอาการปาฐกถาของนายสมคิดก่อนปฏิวัติ 22 พ.ค. 2557 มาตัดต่อเผยแพร่ใหม่ 

@ นายกฯยันคิดเองทำรัฐประหาร

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวอัลจาซีร่า เผยแพร่ออกอากาศเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า การทำรัฐประหารเป็นการตัดสินใจของตนคนเดียว ไม่มีอำนาจไหนมาเกี่ยวข้องเพราะเป็นเรื่องคอขาดบาดตาย เป็นเรื่องอันตราย ความเสี่ยงที่มีอยู่ครอบครัวก็ไม่รู้ จากวันนั้นถึงวันนี้ทั้งครอบครัวไม่ได้มีความสุขมากมายนัก เพียงแต่มีความสุขที่ได้ทำงาน ทำเพื่อประเทศชาติ ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมป 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า หากถามว่าประชาชนมีความสุขหรือไม่ จากที่ได้พบปะสอบถามและกระแสตอบรับในการลงพื้นที่รวมทั้งสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ เขามีความสุขขึ้น เพียงแต่ความสุขกับความทุกข์มาคู่กัน ที่มีความสุขมากคือประเทศชาติมีความสงบเรียบร้อย ไม่มีการใช้อาวุธสงคราม วางระเบิดใส่กัน และไม่ต้องเผชิญหน้ากับการประท้วงยาวนาน ส่วนตัวมีความสุขเพราะประชาชนมีความสุข แต่ก็ไม่เท่ากันทั้งหมดเพราะมีส่วนได้และส่วนเสีย ต้องการทำให้ประชาชนที่มีรายได้น้อยมีความสุขมากขึ้น และประเทศมีความมั่นคง เดินไปสู่อนาคตข้างหน้า แต่ไม่ใช่มีความสุขจากการอยู่ในอำนาจ

@ ยันขอทำหน้าที่ไม่เกิน 2 ปี 

     "การเข้ามาทำหน้าที่ตรงนี้ไม่เกิน 2 ปี ต่อไปแกนนำทุกฝ่ายต้องเดินหน้าสู่กระบวนการยุติธรรม ที่ผ่านมาได้รับการประกันตัวกันออกมา ถ้าผิดศาลก็ตัดสินว่าผิด ไม่ได้ไปรังแก และวันนี้ที่ติดคุกกันอยู่นั้น มีคนเสื้อแดงบอกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ผมบอกได้เลยว่าไม่ใช่เรื่องการเมือง แม้เหตุที่เกิดขึ้นจะอยู่ในช่วงสถานการณ์การเมือง แต่ใครเอาคนเหล่านี้มาเผาศาลากลางจังหวัด ใครเอาคนเหล่านี้มาใช้อาวุธยิงทหาร ยิงเจ้าหน้าที่ ยิงสถานที่ราชการ หลักฐานมีอยู่ชัดเจน วันนี้อย่าไปพูดว่าผมกันฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้ หลังจากสิ้นสุดรัฐบาลนี้สิ่งที่จะทำคือนั่งดูรัฐบาลใหม่ทำงาน อาจจะล้มสิ่งที่ทำมาทั้งหมดก็ได้ ถ้าคิดว่าดีกว่า แต่ถ้ามันไม่ดีกว่า ประชาชนก็ไม่ยอม วันนี้ยังต้องวางอนาคตให้กับประเทศด้วย ผมยังไม่รู้สึกเลยว่าตัวเองมีอำนาจ ตื่นมายังนึกอยู่เลยว่าเป็นนายกฯหรือเปล่า" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

@ ประยุทธ์เผยใจออกจม.ข่าวฉบับ 4

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประชาสัมพันธ์ออกจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 4 ประจำวันที่ 15 มิถุนายน 2558 มีจำนวน 8 หน้า โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เขียนคอลัมน์ "จากใจนายกรัฐมนตรี" ขึ้นหน้า 1 ระบุตอนหนึ่งว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก หากไม่มีความมุ่งมั่นและตั้งใจเพียงพอ เพราะการเปลี่ยนแปลงอาจทำให้ผู้เปลี่ยนแปลงรู้สึกไม่มั่นคง ไม่สะดวกสบาย ไม่แน่ใจและกังวลว่าจะทำได้หรือไม่ รวมทั้งกังวลผลแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้นว่าจะดีหรือไม่เพียงใด อยากเรียนพี่น้องประชาชนในหลายๆ ครั้ง การเปลี่ยนแปลงทำไปเพื่อการพัฒนา การเปลี่ยนไปสู่สิ่งที่ดีกว่าเป็นการปรับปรุงให้ออกจากพฤติกรรมเดิมๆ วิธีการเดิมๆ ที่อาจไม่ถูกต้อง หรือแม้จะไม่บกพร่อง แต่ไม่เหมาะสมไม่ก้าวหน้า ไม่เท่าทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนไป ก็สมควรต้องเปลี่ยนแปลง

มีสิ่งท้าทายและต้องเปลี่ยนแปลงหลายประการ ต้องศึกษาเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นเรื่องใหม่เพื่อตัดสินใจได้อย่างเหมาะสมที่สุด ต้องพบ ผูกมิตรกับบุคคลเพื่อผูกใจให้มาร่วมมือกันนำพาประเทศให้พัฒนาไปข้างหน้า ต้องฟังเสียงสะท้อนความเดือดร้อน ความต้องการของประชาชนเพื่อนำกลับมาวางนโยบายขจัดความทุกข์ ขณะเดียวกันก็ต้องทำงานหนักขึ้นอีกหลายเท่าตัวเพื่อให้บรรลุภารกิจในฐานะผู้นำประเทศ

@ สปช.ถกลับวางกรอบการทำงาน

     เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อหารือวาระพิเศษนอกรอบ พิจารณาแนวทางการทำงานของ สปช.ตามโรดแมปที่เหลือระยะเวลาการทำงานอีก 2 เดือนกว่า ภายหลัง คสช.และ ครม.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 โดยเป็นการประชุมลับ ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าร่วมประชุม มีเพียงรองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น 

   ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุม สปช.เป็นห่วงเรื่องการยกร่างกฎหมายการปฏิรูปที่มีอยู่อย่างน้อย 30 ฉบับ อาจจะเสร็จไม่ทันตามกรอบเวลา คาดว่าจะเสร็จ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 15-20 ฉบับ ส่วนที่เหลือต้องให้รัฐบาล สนช.และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศเป็นผู้ดำเนินการต่อไป

@'สปช.'ถกเสียงแตกรับ-ไม่รับ

      ที่ประชุมยังได้วิเคราะห์แนวโน้มการลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สปช.ฝ่ายที่เห็นว่าควรโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เป็นการปลดล็อกให้ สปช.เป็นอิสระในการลงมติ เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็นตามคำเสนอแปรญัตติของ สปช.และ ครม.ทั้ง 9 กลุ่มที่ได้ท้วงติงมา หากรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบจาก สปช. กมธ.ยกร่างฯจะได้ทำงานต่อในการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบร่างรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกต่อไป 

     ส่วนกลุ่มที่เห็นว่าหากร่างรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านความเห็นชอบจาก สปช. เนื่องจากอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความสมบูรณ์ อีกทั้งบ้านเมืองยังไม่เรียบร้อย หากปล่อยให้รัฐบาลผ่านอาจจะกลับไปสู่ปัญหาเดิมได้ อย่างไรก็ตาม สมาชิกต่างขอดูร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายของ กมธ.ยกร่างฯก่อนว่าจะแก้ไขมากน้อย

แค่ไหน

@ รับทราบรายงานกมธ.การเมือง

       ช่วงบ่าย น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระการพิจารณารับทราบรายงานของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง เรื่อง การเข้าสู่อำนาจและระบบพรรคการเมือง โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน สาระสำคัญในรายงานเกี่ยวกับการปฏิรูปพรรคการเมือง โดยเฉพาะการให้เป็นสถาบันทางการเมือง ส่งเสริมระบบพรรคการเมืองให้มีหลายพรรค ไม่มีกลุ่มการเมืองเพราะยากต่อการควบคุม รวมถึงเสนอให้ปฏิรูปการบริหารพรรคการเมือง โดยผู้บริหาร คณะกรรมการบริหาร ต้องมาจากการเลือกตั้งของสมาชิก และผู้สมัครเป็นคณะกรรมการบริหารจะต้องเป็นสมาชิกพรรคอย่างน้อย 1 ปี ขณะที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งในนามพรรค ต้องผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นของสมาชิกพรรคในพื้นที่ และมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี เป็นต้น

     สำหรับ การปฏิรูปการเลือกตั้ง กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสนอว่า ให้ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบคู่ขนานเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะเห็นว่าการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมมีแนวโน้มจะไม่มีพรรคใดได้เสียงข้างมากเด็ดขาด นำไปสู่การเกิดรัฐบาลผสมที่ช่วยลดความแตกแยก แต่อาจมีประสิทธิภาพเฉพาะการเลือกตั้งที่

     ผู้สมัครรับเลือกตั้งสังกัดพรรคเท่านั้น นอกจากนั้น ควรกำหนดจำนวน ส.ส. แบบเขตและแบบบัญชีรายชื่อให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมการเมืองไทย ส่วนเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของ ส.ส. เสนอให้มีการคัดเลือกผู้สมัครในแต่ละเขตเลือกตั้ง และควรจัดให้มี ส.ส.จากกลุ่มวิชาชีพและชาติพันธุ์เป็นต้น 

@ กกต.ตั้งวงคุยทำประชามติ

     นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 มิถุนายน กกต.จะประชุมเตรียมความพร้อมการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในทุกประเด็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการทางด้านธุรการ การจัดหาโรงพิมพ์เพื่อบัตรลงคะแนนและกระดาษการรณรงค์การทำประชามติ เป็นต้น ส่วนกรณีนางสดศรี สัตยธรรม อดีต กกต.ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ แสดงความห่วงใย กกต.ว่าอาจถูกร้องเรียนได้ หากรับหน้าที่ออกระเบียบการทำประชามตินั้น เข้าใจว่านางสดศรีเป็นห่วงตั้งแต่การทำจัดทำประชามติเมื่อปี 2550 แล้ว เพราะครั้งนั้นได้มอบหมายให้ กกต.ออกประกาศการทำประชามติ พอมาครั้งนี้ก็มีลักษณะเดียวกันคือกำหนดให้ กกต.เป็นผู้ออกระเบียบการทำประชามติ

@ 'วิษณุ'เบรกสปช.ปั่นกระแส

      เมื่อเวลา 15.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวกรณี สปช.บางรายออกมาโน้มน้าวสมาชิกกันเองให้โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องของ สปช.บางคน แต่ความจริงความถูกต้องสมควรนั้นมันไม่ควรจะเกิดการรณรงค์ใดๆ ทั้งให้รับหรือไม่รับร่างในเวลานี้ ควรอยู่เฉยๆ ขณะนี้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญอยู่ระหว่างการปรับ เมื่อไปถึงระยะหนึ่งจะรู้ว่ามีอะไรที่ปรับแก้ไปบ้าง เมื่อเห็นสิ่งที่แก้ไขแล้วจะทำอะไรก็ทำไป มันเร็วไปและไม่เป็นธรรมที่จะไปวิจารณ์ว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ 

เมื่อถามว่าหากทุกอย่างไม่เป็นไปตามที่คิดไว้จะทำอย่างไร นายวิษณุกล่าวว่า ก็มีทางออกอื่น มีสารพัดวิธี บางเรื่องไม่ถึงขั้นต้องเดือดร้อนแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว กกต.ก็ได้สอบถามหากการทำประชามติมีอุปสรรค ไม่สามารถทำประชามติได้จะทำอย่างไร ก็บอกไปว่า หากกฎหมายที่มีอยู่นำมาใช้ได้ไม่เต็มที่ ก็อย่าลืมว่ายังมีมาตรา 44 

@ แจงสภาขับเคลื่อนฯรับไม้ต่อ

      นายวิษณุ กล่าวว่า หน้าที่ สปช.ต้องดำเนินการคือส่งต่องานปฏิรูปไปยังสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ฉบับแก้ไขก็ได้กำหนดไว้ว่าสภาขับเคลื่อนฯต้องรับสิ่งที่ สปช.ดำเนินการไว้มาทำต่อ แต่ไม่ได้ตัดสิทธิในการคิดทำอะไรใหม่ เพียงแต่จำกัดไว้เพียงเล็กน้อยถึงระยะเวลาที่จะอยู่ปฏิบัติหน้าที่รับช่วงต่อเพียงไม่กี่เดือน เพราะฉะนั้นหากจะไปคิดทำอะไรขึ้นมาใหม่ทั้ง 11 ด้านใหญ่โตคงไม่ได้ ต้องเลือกเรื่องที่มีลำดับความสำคัญเร่งด่วน 

     นายวิษณุ กล่าวว่า ส่วนโครงสร้างของสภาขับเคลื่อนฯ จะออกมาใน 2 รูปแบบ คือ ตามที่เขียนในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ฉบับแก้ไข ว่ามีจำนวนไม่เกิน 200 คน คุณสมบัติอะไรบ้าง ซึ่งทำหน้าที่เพียงปฏิรูปอย่างเดียว ส่วนที่อยู่นอกกฎหมายคือเวลาจะคัดเลือกคนเข้าไป ไม่ได้กำหนดว่าต้องคัดจากแหล่งใด เพื่อความคล่องตัวในการสรรหาและแต่งตั้งโดยนายกรัฐมนตรี สภาขับเคลื่อนฯทำงานเรื่องปฏิรูป แปลว่าทำงานร่วมกับรัฐบาล รัฐบาลก็จะเป็นผู้เลือกบุคคลเข้าไปทำหน้าที่ในส่วนนี้ ส่วนหนึ่งอาจจะคัดเลือกจากคนที่เคยเป็น สปช. และคนที่อยู่นอก สปช. 

@ แย้มคนร่วมสภาขับเคลื่อนฯ

      "ส่วนจะคัดอย่างไร ผมไม่ทราบ คงต้องรอดูอีกสักระยะว่าต้องการคนแบบไหนเข้ามาทำงาน น่าจะมีการประกาศหลักเกณฑ์ในการที่จะหาตัวบุคคล อาจจะตั้งบุคคลในสภาขับเคลื่อนฯเป็นคณะๆ ไม่จำเป็นต้องนำคนที่มีแนวคิดสอดคล้องกับรัฐบาล แต่เราต้องการคนที่มีความคิดในการที่จะทำเรื่องปฏิรูป พอมองเห็นจากคนที่อยู่ใน สปช.ว่ามีความเข้าใจหรือไม่ ส่วนคนที่อยู่นอก สปช.อาจต้องนำเข้ามาดูว่ามีความรู้ความเข้าใจในแนวทางการปฏิรูป คงเป็นคนที่เคยแสดงความคิดเห็นในสังคม ความคิดเห็นตรง ไม่ตรงกับรัฐบาลไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะรัฐบาลนี้ไม่ได้อยู่นานและไม่ได้จะให้รัฐบาลนี้ดำเนินการต่อเรื่องปฏิรูป แต่จะทำเพียงในส่วนหนึ่ง อีกส่วนหนึ่งจะทิ้งไว้ตามโรดแมป ในระยะที่ 3 เพื่อรัฐบาลใหม่ดำเนินการต่อ" นายวิษณุกล่าว 

     เมื่อถามว่า มีโอกาสที่นักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 จะเข้ามาอยู่ในสภาขับเคลื่อนฯหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ แต่ต้องไม่ขัดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม เดิมเราเขียนปิดโอกาสไว้เพียงช่องเดียว แต่ช่องเดียวตรงนี้มันติดกันทั้ง 3 แห่ง สปช. สนช. และ ครม.

@ ชี้สปช.พ้นไม่กระทบยกร่าง 

     เมื่อถามว่า สปช.ที่เป็น กมธ.ยกร่างฯด้วยนั้น เวลา สปช.สิ้นสุดสภาพไปจะต้องพ้นสภาพด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะการที่ สปช.เสนอคนเข้าไปเป็น กมธ.ยกร่างฯ จะเป็นคนที่เป็น สปช.อยู่แล้วหรือไม่ก็ได้ แต่บังเอิญเมื่อเลือกคนที่เป็น สปช.เข้าไปแล้ว ถือว่าที่มาจาก สปช.ก็จบ ไม่ใช่บัดนี้เขาไม่ได้เป็น สปช. ก็เลยต้องออกจาก กมธ.ยกร่างฯ มันไม่ใช่ ไม่มีที่ไหนบอกว่า กมธ.ยกร่างฯในสัดส่วน สปช.ต้องมาจาก สปช. 

     เมื่อถามว่า นายพิชัย รัตตกุล อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) วิพากษ์วิจารณ์ถึงร่างรัฐธรรมนูญ นายวิษณุกล่าวว่า ก็รับทราบเพราะเป็นความเห็นของผู้ใหญ่ ไม่ได้ว่าอะไรก็รับฟัง ผู้หลักผู้ใหญ่พูดแบบนี้เยอะแยะ แต่ถ้าไปเอาความคิดใดความคิดหนึ่งมาจะมีผู้ใหญ่อื่นโผล่เข้ามาพูดอย่างอื่นอีก หากจำเป็นเมื่อต้องใช้ประโยชน์จากความคิดใดก็จะนำมาใช้ และหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในชั้น สปช. สปช.และ กมธ.ยกร่างฯก็จะถูกยุบ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 21 คน และเมื่อร่างเสร็จสิ้นก็จะไปทำประชามติทันที จะไม่ส่งร่างมายังสภาขับเคลื่อนฯอีก เพราะตั้งใจให้สภาขับเคลื่อนไม่มายุ่งกับรัฐธรรมนูญ

      นายวิษณุ กล่าวว่า คำถามจาก สปช.และ สนช.ที่จะส่งมายังรัฐบาลเพื่อทำประชามติหรือไม่นั้น เมื่อ สปช.โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 4 กันยายนนี้ สนช.จะต้องประชุมพิจารณาและส่งคำถามภายใน 3 วันหลังจากนั้น ส่วน สปช.เมื่อลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแล้วก็ส่งคำถามมาที่ ครม.ได้เลย และ ครม.ก็จะส่งคำถามไปยัง กกต.ภายใน 15 วัน หลังจากได้รับคำถาม

@ "พระสุเทพ"ให้ข้อมูลสร้างโรงพัก 

      เมื่อเวลา 08.00 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ถนนสนามบินน้ำ จ.นนทบุรี พระสุเทพ ปภากโร (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) พร้อมด้วยทีมทนายความ เข้าให้ข้อมูลและชี้แจงด้วยวาจาต่ออนุกรรมการไต่สวนกรณีการทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) จำนวน 396 แห่ง โดยมิชอบ ที่ก่อนหน้านี้อนุกรรมการไต่สวนฯมีมติแจ้งข้อกล่าวหาพระสุเทพ ฐานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี กำกับดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) และลงนามอนุมัติการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ โดยไม่นำเสนอต่อ ครม.อนุมัติให้เปลี่ยนแปลงวิธีการ ส่งผลให้ในการจัดจ้างดังกล่าวมีผู้รับจ้างเพียงรายเดียว ทำให้โครงการไม่แล้วเสร็จ 

     พระสุเทพ ให้สัมภาษณ์ภายหลังการให้ข้อมูลกว่า 3 ชั่วโมงว่า ได้ทำหนังสือคำให้การและนำข้อมูลในกรณีสร้างโรงพักมาให้คณะอนุกรรมการไต่สวน และยังชี้แจงด้วยวาจาต่อคณะอนุกรรมการไต่สวน จากกรณีที่มีมติแจ้งข้อกล่าวหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ยืนยันปฏิบัติด้วยความถูกต้องตามมติ ครม. แต่ที่มีการสร้างไม่เสร็จนั้นเป็นเรื่องการบริหารสัญญาของ ตร.กับผู้รับเหมา 

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. กล่าวว่า คณะทำงานคาดว่าภายในเดือนมิถุนายนจะสรุปข้อมูลและเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ หลังจากนั้นคณะอนุกรรมการฯจึงสรุปเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. คาดว่าภายในเดือนกรกฎาคมจะสามารถสรุปเรื่องดังกล่าวได้ 

@'หมอเหวง'หวังสนช.ให้โอกาส

       ที่รัฐสภา นพ.เหวง โตจิราการ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย (พท.) ได้เดินทางมาตรวจสำเนาคดีคำร้องสำนวนการถอดถอนคดี 248 อดีต ส.ส. กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยที่มา ส.ว.โดยมิชอบ และกล่าวว่าแนวทางพิจารณาคงไม่แตกต่างไปจากคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประวุฒิสภา รวมทั้งคดี 38 อดีต ส.ว. ซึ่งจะศึกษาสำนวนคดีเพื่อต่อสู้คดี เพราะเป็นคดีที่เป็นเหตุการณ์เดียวกัน อดีต ส.ส.ทั้ง 248 คน พร้อมต่อสู้คดีด้วยตัวเอง หวังว่า สนช.จะให้โอกาสเนื่องจากผลการตัดสิทธิครั้งนี้ถือเป็นเวลายาวไกลตลอดชีวิตทางการเมือง

@ สมยศ ยังไม่เซ็นถอดยศทักษิณ

       ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงความคืบหน้าการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่าเห็นรายงานมติคณะกรรมการพิจารณาถอดยศชุดของ พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ที่ส่งมาแล้ว ยังต้องตรวจสอบรายละเอียดก่อน เนื่องจากถูกจับตามองว่าผลจะออกมาเป็นเช่นไร ทั้งฝ่ายที่ต้องการให้ถอดยศกับฝ่ายที่ไม่ต้องการให้ถอดยศ จึงต้องพิจารณาด้วยความละเอียดรอบคอบเป็นไปตามกฎหมาย ต้องไม่ใช้อารมณ์หรือความรู้สึกส่วนตัว รวมทั้งแรงกดดันและกระแสสังคมมาใช้ในการพิจารณา

      "ช่วงเวลาที่ผ่านมาหลังจากมีเรื่องการถอดยศปรากฏผ่านสื่อ ผมต้องขอบคุณผู้ใหญ่หลายท่าน เช่น นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่เขียนเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการถอดยศลงในเฟซบุ๊ก หรือ พล.ต.อ.วิรุฬห์ พื้นแสน อดีตผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ อดีต ส.ว. และอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ทำบันทึกเปิดผนึกส่งมาถึงผมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อกฎหมายต่างๆ ในการดำเนินการถอดยศ ตลอดจนอดีต ผบ.ตร.หลายท่านที่โทรศัพท์เข้ามาให้คำแนะนำและปรึกษาผมว่าเรื่องนี้เป็นมาเป็นไปอย่างไร บอกถึงข้อมูลเรื่องที่เคยมีการดำเนินการไปแล้วเป็นอย่างไร หรือที่ไม่ได้ดำเนินการมีอะไรบ้าง จึงเป็นเหตุให้ผมต้องใช้ความรอบคอบมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยคาดคิด" พล.ต.อ.สมยศกล่าว

@ ไม่ตอบว่าจะถอดยศก่อนเกษียณ

       ผบ.ตร.กล่าวต่อว่า ตามระเบียบขั้นตอนแล้ว จะต้องส่งเรื่องให้สำนักงานกำลังพล (สกพ.) ตร. นำเรื่องไปประมวลตรวจสอบรายละเอียดในเรื่องที่คณะกรรมการชุดนี้เสนอมา อยากชี้แจงว่าไม่ใช่ความคิดเห็นของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ตามขั้นตอน สกพ.จะต้องประมวลเรื่องส่งมาให้อีกครั้งหนึ่ง ขณะนี้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายตั้งเรื่องขึ้นมาเพื่อส่งให้ สกพ.พิจารณาประมวลเรื่องต่อไป

      "คณะกรรมการชุดพิเศษของ พล.ต.อ.ชัยยะ ที่ผมแต่งตั้ง เป็นเพียงเครื่องมือชนิดหนึ่งให้ช่วยแสดงความคิดเห็นกลั่นกรองในเรื่องนี้ แต่ตามระเบียบขั้นตอนแล้วจะต้องให้ สกพ.เป็นฝ่ายพิจารณาประมวลเรื่องส่งมาให้ผมเพื่อพิจารณาสั่งการอีกครั้งหนึ่ง" ผบ.ตร.กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้ระยะเวลานานเท่าใด พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ในระเบียบข้อบังคับไม่ได้ระบุไว้ เรื่องนี้สำคัญและละเอียดอ่อนอย่างมาก มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ทั้งยังมีผู้แสดงความคิดเห็นให้ข้อมูลแนะนำ ต้องขอบคุณที่ให้ข้อคิดจะนำไปปฏิบัติอย่างดีที่สุด 

เมื่อถามว่าจะถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้ทันยุคนี้หรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ก็แล้วแต่ ว่ากันไป แต่จะไม่เร่งรัดทำตามอารมณ์ความรู้สึก เพราะมีทั้งกลุ่มที่ต้องการเร่งรัดให้ถอดโดยเร็ว และกลุ่มที่บอกว่าไม่ถูกต้องตามระเบียบข้อกฎหมาย เมื่อถามว่าจะเป็นการซื้อเวลาหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ก็แล้วแต่จะคิด ทุกคนมีสิทธิที่จะคิด ไม่เคยรู้สึกอึดอัดหรือหวั่นไหว

ส่องแคนดิเดต'ผู้นำทัพ' 'ทหาร-ตร.'ใหม่

      วันที่ 30 กันยายน 2558 เก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รหัสเรียกขาน "พิทักษ์ 1" จะเป็นเก้าอี้อีกตัวที่ว่างลง หลัง "บิ๊กอ๊อด" พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. เกษียณอายุราชการ

      การแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนใหม่ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ.2547 อัพเดตตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดให้ ผบ.ตร.เลือกโดยคณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.) ที่มี "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.นั่งหัวโต๊ะ มอบอำนาจให้ ผบ.ตร.เป็นผู้คัดเลือกและเสนอชื่อ ผบ.ตร.คนใหม่ ให้ ก.ต.ช.เห็นชอบ โดยคัดเลือกจาก รอง ผบ.ตร.หรือจเรตำรวจแห่งชาติ ที่มีความเหมาะสม

      หนึ่งในแคนดิเดต "พิทักษ์ 1" ที่ฉายแววเด่น ในช่วงนี้ ได้แก่ "บิ๊กเอก" พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รอง ผบ.ตร.ด้านกฎหมายและสอบสวน รับผิดชอบคลี่คลายคดีสำคัญ โดยเฉพาะคดี "ขบวนการค้ามนุษย์ ชาวโรฮีนจา" และคุมศูนย์ปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่รัฐบาลยกระดับเป็นวาระแห่งชาติ

     แม้ว่า จะไม่มีรุ่นนักเรียนนายร้อยตำรวจ (นรต.) หรือเตรียมทหาร (ตท.) แต่คอนเน็กชั่นในสายกระบวนการยุติธรรมเต็มร้อย ดีกรีและคุณสมบัติจัดว่าไม่เป็นรองใคร 

     โปรไฟล์ส่วนตัวประกอบกับฝีมือเหล่าสีกากียอมรับได้ แถมยังมีตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ขึ้นชื่อว่าคนในรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนอาจเป็นปัจจัยผลักดันให้ บิ๊กเอก ถูกเลือกเป็นเบอร์ 1 

      ที่มาแรงได้รับการกล่าวขาน จัดเป็นมือทำงานของรัฐบาลและ "บิ๊กอ๊อด" ผบ.ตร.คนปัจจุบัน คือ "บิ๊กแป๊ะ" พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา รอง ผบ.ตร. รับผิดชอบงานด้านความมั่นคง และเป็นหัวหน้าชุดสืบสวนพิเศษ ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ พล.ต.อ.สมยศตั้งขึ้นเป็นอาวุธพิเศษของ ผบ.ตร. 

      "บิ๊กแป๊ะ" นรต.36 มีคอนเน็กชั่น 360 องศา องค์ประกอบด้านสายสัมพันธ์ ฝีไม้ลายมือที่ถนัดบู๊ แต่ไม่พร่องเรื่องบุ๋น มีกุนซือเจ๋ง และรู้จักเลือกใช้คน จัดว่าครบเครื่อง เป็นอีกคนที่จะคั่วตำแหน่ง ผบ.ตร. แต่หากขึ้นชก อาจถูกติงเรื่องความอาวุโส เพราะเพิ่งรั้งตำแหน่ง รอง ผบ.ตร.ในวาระการแต่งตั้งที่ผ่านมาและจะเกษียณอายุราชการในปี 2563 

หากเปลี่ยนผ่านจากยุคของ นรต.31 ของ 'บิ๊กอ๊อด' ไปสู่ยุคของ นรต.36 เท่ากับว่า 'บิ๊กแป๊ะ'มาเร็ว แต่หากวัดคะแนนความเชื่อมือและไว้วางใจ จุดนี้ 'บิ๊กแป๊ะ' ได้เต็มร้อย ถูกเลือกให้รับผิดชอบหลายคดีสำคัญ อีกทั้งยังถูกวางตัวเป็นรอง ผบ.ตร.ฝ่ายความมั่นคง ที่พ่วงตำแหน่ง สนช.ด้วย

     อีกหนึ่งแคนดิเดต ดีกรี ตท.รุ่น 15 'บิ๊กจูดี้'พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ รอง ผบ.ตร.ด้านบริหาร เป็นอีกคนที่ 'บิ๊กอ๊อด'เพื่อน นรต.31 ไว้วางใจ ให้คุมงานด้านบริหาร คุมงบประมาณ คุมงานกำลังพล ระยะหลังเดินตามกันเป็นเงาข้างกาย 

'บิ๊กจูดี้' จัดเป็นคนเก่ง มีฝีมือ สายสัมพันธ์ดี สอดประสานรับงานได้ แม้ประวัติเคยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม. ในสังกัดพรรคเพื่อไทย แต่หากรัฐบาลและ คสช.มั่นใจว่ายังคงครองอำนาจสืบทอดรัฐบาลอีกอย่างน้อย 2 ปี การเลือก'บิ๊กจูดี้'คั่นกลางก็อาจเป็นทางเลือกหนึ่ง 

ขณะที่ผู้นำทางทหาร ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเก้าอี้เช่นกัน

      จากคำสั่งกระทรวงกลาโหมที่ 422/2558 เรื่องให้นายทหารออกจากราชการ จำนวน 446 ราย ที่ 'บิ๊กป้อม'พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ลงนาม เนื่องจากเกษียณอายุราชการวันที่ 30 กันยายน 2558 

จึงเป็นที่คาดหมายและจับตากันว่านายพลคนไหนจะผงาดขึ้นมานั่งเบอร์ 1 ใน 4 ตำแหน่งที่ว่างลง นั่นคือ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.สส.) ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และผู้บัญชาการทหารเรือ (ผบ.ทร.) 

      ด้วยสถานการณ์ประเทศในช่วงโรดแมป ระยะที่ 2 ของ คสช. กำลังน่าจับตามอง ไม่ว่าจะปมการร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ว่าจะการเคลื่อนไหวเรียกร้อง ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถในการบริหารงานของรัฐบาล

ฉะนั้น ตำแหน่ง 'ผบ.เหล่าทัพ'คนใหม่ ในโผโยกย้ายครั้งนี้ จะเป็นหลักค้ำยันฐานอำนาจอันสำคัญให้รัฐบาลสามารถบริหารงานตามเจตนารมณ์หรือตาม'โรดแมป'ที่สัญญาไว้ 

     ในส่วนกองบัญชาการกองทัพไทย พล.อ. วรพงษ์ สง่าเนตร ผบ.สส. จะเกษียณอายุราชการ รวมถึง พล.อ.วุฒินันท์ ลีลายุทธ, พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา, พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์, พล.อ.อ.พลเทพ โหมดสุวรรณ, รอง ผบ.สส. เกษียณด้วย 

คาดกันว่าลูกหม้อกองทัพไทย พล.อ.สมหมาย เกาฏีระ (ตท.15) เสนาธิการทหาร ที่อาวุโสสูงสุด จะได้ขึ้นเป็น ผบ.สส. แบบไร้คู่แข่ง แต่ก็ต้องระวังนายทหารที่อาจข้ามห้วยมาตัดหน้า 

     ขณะที่ '5 เสือกองทัพบก' มีนายทหารที่จะเกษียณหลายคน นั่นคือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผบ.ทบ., พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรอง ผบ.ทบ. และ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก 

     รายชื่อแคนนิเดตที่สำคัญ คือ 'บิ๊กติ๊ก' พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา (ตท.15) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) ที่มีสถานะเป็นน้องชายในสายเลือดแท้ๆ ของ 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. 

ขณะเดียวกัน 'บิ๊กหมู'พล.อ.ธีรชัย นาควานิช (ตท.14) ผช.ผบ.ทบ. ในสถานะขุนทหารสาย 'บูรพาพยัคฆ์'แท้ๆ อีกทั้งเป็นน้องรักของ พล.อ.ประวิตร แถมยังเป็นเพื่อนร่วมรุ่น พล.อ.อุดมเดช ก็มีดีกรีเหมาะสมเช่นกัน

ทั้งนี้ จะเป็น พล.อ.ปรีชา หรือ พล.อ.ธีรชัย ที่จะได้นั่ง ผบ.ทบ.คนใหม่ คงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ กับ พล.อ.ประวิตร ว่าจะเลือกใคร 

     หากวิเคราะห์จากสถานการณ์ที่ยังวุ่นๆ หลายเรื่อง อีกทั้ง "วิษณุ เครืองาม" รองนายกฯ ออกมาระบุถึง "โรดแมป" ล่าสุด ว่าจะเลือกตั้งช่วงเดือนสิงหาคม 2559 ทำให้รัฐบาล และ คสช.จะอยู่อีก 1 ปีกว่า ดังนั้น โอกาสที่ พล.อ.ปรีชาจะผงาดเป็น ผบ.ทบ.คนที่ 39 มีอยู่สูง หากไม่สะดุดขาตัวเองล้ม เพราะต้องเข้ามาช่วย 'พี่ชาย'ดูแลความมั่นคง พร้อมคุมกองทัพให้เป็นเอกภาพ ที่สำคัญเป็นการป้องกันมิให้เกิดรัฐประหารซ้อน

     ส่วน พล.อ.ธีรชัย ถ้าพลาดพลั้งเก้าอี้ 'ผบ.ทบ.' อาจย้ายข้ามห้วยไปนั่งปลัดกระทรวงกลาโหม เพราะ พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม ที่จะเกษียณอายุราชการ เนื่องจากสายสัมพันธ์ที่แนบแน่น จะคอยช่วยงาน พล.อ.ประวิตร ในฐานะปลัดกระทรวงกลาโหมคู่ใจ

สำหรับกองทัพเรือ เมื่อ พล.ร.อ.ไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผบ.ทร. จะเกษียณอายุราชการ รวมทั้งรองผู้บัญชาการทหารเรือ และผู้บัญชาการกองเรือยุทธการ จะเหลือเพียงคู่ชิง 2 คน คือ พล.ร.อ.ณรงค์พล ณ บางช้าง (ตท.14) ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารเรือ (ผช.ผบ.ทร.) ผู้เป็นน้องชายของ พล.ร.อ.อมรเทพ ณ บางช้าง อดีตรอง ผบ.สส. และเป็นเพื่อนรัก พล.ร.อ.ไกรสร

อีกชื่อหนึ่งคือ พล.ร.อ.ณะ อารีนิจ (ตท.15) เสนาธิการทหารเรือ 

     แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ พล.ร.อ.ไกรสร จะให้ พล.ร.อ.ณรงค์พลขึ้นเป็น ผบ.ทร.คนใหม่เพื่อสานต่อโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำให้บรรลุผลสำเร็จ ส่วน พล.ร.อ.ณะคงต้องรอไปอีก 1 ปี เพราะจะเกษียณอายุราชการในปี 2560

    อีกไม่นานกระบวนการคัดสรรจะเริ่มอย่างเป็นทางการ หลังจากนั้น ไม่นานคงจะรู้ว่า ไผเป็นไผในเก้าอี้ผู้นำทัพ