014'บิ๊กป้อม'โต้ ใบสั่งควํ่าร่างรธน.รับห้ามเคลื่อนย้ายกำลังจริง เด้งสวป.-ให้ไปปรับทัศนคติ อดีตรมต.เพื่อไทยฟ้อง'วิชา'

        บิ๊กป้อมโต้ ยันไม่มีใบสั่งคว่ำร่างรธน. รับมีคำสั่งห้ามเคลื่อนย้ายทหาร-อาวุธจริง 'บิ๊กตู่'แจงสิงคโปร์ยึดโรดแม็ป ยันเลือกตั้งปีหน้า ปัดดึง"สมคิด' ร่วมครม. ลั่นยังไม่คิดปรับแจงผ่านทีวีปฏิรูปได้แค่ไหนก็แค่นั้น ทนายวันชัยชี้สปช.ส่อคว่ำรธน. เปิดทางรัฐบาลอยู่ต่อ จาตุรนต์ชี้แก้รธน.ชั่วคราว ทำโรดแม็ปปลายเปิด-เริ่มต้นใหม่ได้ เหวงถามป.ป.ช.-คดี 99 ศพ ทำไมไม่ฟังส.ว.ชุดที่ศึกษาสลายม็อบโดยตรง จี้เชิญญาติเหยื่อให้ข้อมูลบ้าง อนุดิษฐ์ยื่นฟ้อง'วิชา'แล้ว ปมชี้เยียวยา 

วันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8963 ข่าวสดรายวัน

'บิ๊กตู่'ถกสิงคโปร์-ย้ำยึดโรดแม็ป 

     วันที่ 12 มิ.ย. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการเยือนสิงคโปร์อย่างเป็นทางการว่า ประสบความสำเร็จ เป็นการกระชับความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันในทุกด้าน และได้ชี้แจงสถานการณ์การเมืองไทยว่าอยู่ในช่วงที่มีการปฏิรูป และยึดโรดแม็ป มาตลอด และในโอกาสที่สิงคโปร์จะครบรอบ 50 ปีของการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับไทยและครบรอบ 50 ปีในการสถาปนาประเทศสิงคโปร์ ตนจะเป็นผู้แทนพระองค์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดินทางมาร่วมงานที่ประเทศสิงคโปร์ในเดือนส.ค.นี้ ขณะที่ประธานาธิบดีสิงคโปร์จะเดินทางเยือนไทยในฐานะพระราชอาคันตุกะด้วย

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ได้หารือเรื่องการท่องเที่ยว ซึ่งนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์แม้จะมีจำนวนน้อย แต่มีคุณภาพและกำลังซื้อ จึงฝากให้ผู้ประกอบการดูแลนักท่องเที่ยว ให้ดี นอกจากนี้ยังหารือเรื่องการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวและธุรกิจทางเรือกับสิงคโปร์ ซึ่งไทยพร้อมเปิดเส้นทางเดินเรือและท่าจอดเรือน้ำลึก เริ่มที่เกาะสมุยและจ.ภูเก็ต ทางนายกฯสิงคโปร์ รับปากจะเดินทางโดยเรือยอชต์ พร้อมภริยามายังประเทศไทย ซึ่งไทยพร้อมให้การต้อนรับ 

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวอีกว่า การเดินทางเยือนครั้งนี้ มีการลงนามความตกลง 4 ฉบับที่จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มมูลค่าการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น ทั้งเรื่องการยกเว้นภาษีซ้อน การท่องเที่ยวทางเรือ ความร่วมมือสาขาดิจิตอลคอนเทนต์ และความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรมไทยและสิงคโปร์

ยันเลือกตั้งปีหน้า 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า สิงคโปร์ยังชื่นชมไทยในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ที่ไทยได้หารือถึงต้นเหตุของปัญหา ซึ่งก็คือความเดือดร้อนและความไม่เป็นธรรม ส่วนการเดินหน้าเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน นายกฯของทั้ง 2 ประเทศเห็นพ้องที่จะร่วมผลักดันให้ทุกประเทศในภูมิภาคมีความแข็งแกร่งก้าวไปพร้อมกัน 

     ต่อมานายกฯได้พบหารือและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับนักธุรกิจสิงคโปร์ และเยี่ยมชม Marina Bay Cruise Center ซึ่งเป็นศูนย์การล่องเรือ พร้อมชมเรือที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 3 ของโลกเมื่อเสร็จสิ้นภารกิจนายกฯ และภริยา เดินทางกลับประเทศไทยเวลา 17.00 น. 

     พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ เปิดเผยผลการหารือกับนักธุรกิจชั้นนำของสิงคโปร์ว่า นายกฯย้ำความตั้งใจของไทยที่จะส่งเสริมความเป็นหุ้นส่วนทางความสัมพันธ์กับสิงคโปร์ทุกด้าน ซึ่งรัฐบาลไทยพร้อมอำนวยความสะดวกการเข้าไปลงทุนและประกอบธุรกิจในไทย ทั้งนี้นายกฯขอบคุณภาคเอกชนสิงคโปร์ ที่เชื่อมั่นในพื้นฐานและศักยภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งรัฐบาลไทยกำลังดำเนินการตามโรดแม็ประยะที่ 2 เข้าสู่การปฏิรูปประเทศ เน้นใน 10 ด้านหลัก คาดว่าจะเกิดการเลือกตั้งในปีหน้า 

แจงปฏิรูปได้แค่ไหนก็แค่นั้น 

     เวลา 20.00 น. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวในรายการคืนความสุข ว่า ยืนยันอีกครั้งสำหรับการปฏิรูปในขณะนี้เราเริ่มต้นแล้วอยู่ในระยะที่ 2 ของรัฐบาล ของ คสช. ฉะนั้นเราทำได้แค่ไหนก็แค่นั้น เรื่องของการปฏิรูปต่อไปก็เป็นการส่งต่อ ระยะที่ 3 การเลือกตั้งรัฐบาลก็ว่าไป ทำต่อหรือไม่ก็แล้วแต่เพราะตนก็ทำได้แค่นี้ แต่พยายามจะทำให้มากที่สุดเท่าที่เวลาตนมีอยู่ตามโรดแม็ป 

"อย่ามาถามผมอีกเรื่องเหล่านี้ ผมเสียเวลา ผมทำงานต้องเอาเวลามาตอบคำถามแบบนี้ตลอดเวลา นักข่าวก็ชอบถามเรื่องแบบนี้ แล้วก็ทำให้ผมไม่มีเวลาทำงาน แล้วก็อารมณ์หงุดหงิด แล้วบอกว่าทำไมผมหงุดหงิดก็ถามคำถามที่มีสาระหน่อยแล้วกัน ได้ไหม"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

     "ขอบคุณในกำลังใจทุกอย่างที่ให้ผม ให้รัฐบาลมา ขอให้กับทุกคนด้วย และอย่าลืมให้กำลังใจตัวเองด้วย อย่าไปตื่นตระหนก อย่าไปวิตกจริต อย่าไปอะไรทั้งสิ้น ขอให้เริ่มจากการไว้วางใจซึ่งกันและกันและร่วมมือกันในการแก้ปัญหา ไม่มีอะไรที่จะแก้ไม่ได้ถ้า คนไทยทุกคนร่วมกันในการทำงาน" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว 

ปัดดึง'สมคิด'ร่วมครม. 

     ที่ท่าอากาศยานทหาร บน.6 พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังเดินทางกลับ ถึงกระแสข่าวการปรับครม. โดยนำนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายเศรษฐกิจหัวหน้าคสช. เข้าร่วมทีมเศรษฐกิจ โดยกล่าวอย่างมีอารมณ์ทันทีว่า มันมีอะไรกัน นายสมคิดเข้ามาแล้วหรือถ้าไม่เข้ามา มันจะเกิดอะไรขึ้น พูดข้อดีข้อเสีย ตอบคำถามตนให้ได้ก่อน ถึงจะตัดสินใจว่าจะเอาเข้าหรือไม่เอาเข้า ยืนยันว่ายังไม่เคยคิดเรื่องนี้เลย การทำงานเขาทำกันเป็นระบบ ไม่ใช่เป็นคนนั้น คนนี้เข้ามา ระบบเศรษฐกิจของประเทศมันแก้ได้ด้วยคนเพียงคนเดียวหรือ ที่ผ่านมาตนคุยกับทั้ง 2 คน ไม่ได้เลือกว่าใครเป็นเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สอง

"แม้ผมจะไม่ฉลาดในเรื่องเศรษฐกิจ ไม่ค่อยรู้ แต่ผมเอาคนฉลาดมาอยู่ด้วย ผมถามทั้งรัฐบาลและที่ปรึกษา คสช. ทำไมต้องเอาคนนั้นคนนี้มา ถ้าคุณสมคิดเข้ามาแล้วแก้ไม่ได้ ก็โทษคนอื่นไปเรื่อย จะหาใครอีก เอาคุณประสาร ไตรรัตน์วรกุล เขาไม่มา ผมบอกให้ อย่าไปวิจารณ์ อย่าไปเลือกงานแทนเขา แต่ถ้ามาเมื่อไรก็เมื่อนั้น ให้เข้าใจบ้างว่าการทำงานของประเทศนี้ เขาทำงานด้วยระบบ และที่เดินทางไปทุกประเทศไม่ได้ไปเที่ยว ที่พูดไม่ได้ทวงบุญคุณ ไม่เข้าใจว่าทำไมนักข่าวถึงเขียน หรืออยากให้ผมเส้นโลหิตแตกตายหรือไง บอกเลยถ้าไม่อยากให้อยู่ ขอให้บอกมา ไปถามคนอื่นบ้าง เขาว่ากันอย่างไร" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

โวยคนสงสัยสืบทอดอำนาจ 

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ทำไมต้องสงสัยว่าตนอยากสืบทอดอำนาจ ทำไมไม่คิดบ้างว่าอยู่ต่อเพราะต้องการทำความดี อำนาจมันมี ทุกคน นั่นคืออำนาจทำความดี ถ้าทำคุณงามความดีแล้วมันไม่ได้ประโยชน์ อยู่แล้วมัน เสียหาย ก็อย่าไปอยู่มันเลย มีอำนาจตนก็ ไม่อยู่ วันนี้พยายามทำทุกเรื่องให้ ยังไม่เสร็จ ก็เริ่มตีโพยตีพาย ถามว่ามันถึงเวลาของโรดแม็ปหรือยัง มันกลัวอะไรกัน 

     "ประเทศชาติถูกปั่นหัวกันทุกวัน ที่พูดนี้มิได้อบรม พูดให้คนมันได้ฟังบ้าง ประเทศชาติเสียหายมากี่ปีแล้ว คนที่เกี่ยวข้องกับความเสียหายทั้งหมด มันไม่ควรออกมาพูด ผมเตือนหลายหนแล้วว่า อย่าออกมาพูดก็ พูดอีก ตัวเองจะติดคุก ตายไม่ตายแหล่ ระวังก็แล้วกัน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลั่นยังไม่คิดปรับครม. 

     เมื่อถามว่ามีกระแสข่าวว่าหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สำเร็จจะปรับครม.ครั้งใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนยังไม่ได้ปรับอะไรเลย ถ้าปรับเมื่อไรตนจะบอก ไม่ต้องมาเขียนดักหน้า ดักหลัง ขอร้องว่าให้ประเทศสงบสักวัน ประเทศกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงรัฐบาลให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็น โดยเฉพาะตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ แทนสปช.ว่า วันที่เข้ามาตนมองว่าประเทศไทยมีอะไรบ้าง ในเมื่อต้องการจะปฏิรูป จึงต้องมีสภาปฏิรูป แต่การปฏิรูปไม่ได้เกิดวันนี้โดยสภานี้ ตนตั้งมาแล้วเขาจะมีอำนาจไหนมาปฏิรูปกับตน จึงให้เขาไปคิดมา เมื่อตนออกจากหน้าที่ตรงนี้ เตรียมส่งแผนให้กับรัฐบาลใหม่ ถึงจะเริ่มนับหนึ่ง สอง สาม ที่ผ่านมามันสับสนอลหม่านเพราะสปช.มาจากหลายพวก ไม่ใช่พวกตน พวกใครอย่างเดียว ให้เขาคิดและออกแบบว่าวันหน้าประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร และเขียนโรดแม็ปให้ชัดเจน ระยะ 1 2 3

"วันนี้นักการเมืองถามว่าจะปฏิรูปอะไร ถ้าอย่างนี้จะไปฝากความหวังไว้ได้ไหม เพราะเขายังไม่รู้เลยจะปฏิรูปอะไร แล้วอยากจะเลือกตั้งกันเหลือเกิน กลัวจะเป็นจะตาย ทั้งที่ผมอยู่ในกรอบ ถ้าจะฝากความหวังไว้กับพวกเขาก็ตามใจ ฟังเขาต่อไปแล้วเปิดเวทีให้เขาพูดไป" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ลั่นยังไม่ผิดโรดแม็ปสักนิด 

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ไม่ต้องมากังวล ถ้าไม่อยากให้ตนอยู่ต่อก็บอกมา วันนี้ปัญหาบ้านเมืองมีเยอะ ยังไม่รู้ชะตากรรมเลย คนดี คนต้องการปฏิรูปและต้องการเปลี่ยนแปลงประเทศให้เดินไปข้างหน้า มีเยอะแต่เขาเบื่อหน่าย ตนจึงต้องเข้ามาทำตรงนี้ อยากถามว่าที่ผ่านมาใครดูแลป่า รัฐบาลหรือเปล่า แล้วก็ มาไล่ตนยิกๆๆ อยู่ ตนรื้อเอาคืนเพราะผิดกฎหมาย ก็บอกว่ารังแกคนจน ถ้าไม่ทำแบบนี้จะแก้ได้หรือไม่ 

      "ผมแก้ปัญหาก็ว่าผมรังแกคนจน วนอยู่อย่างนี้เหมือนไก่ที่อยู่ในเข่งตรุษจีนจริงๆ ผมว่าอย่างนั้น ตายทั้งหมดทั้งเล้านั่น วันนี้ผมทำให้ทุกอย่างไม่ได้ทวงบุญคุณ พวกผมทำให้ในเวลาที่มีอยู่เสร็จไม่เสร็จผมไม่รู้ อย่ามาเรียกร้องผมแล้วกัน วันหน้าถ้ามีเรื่องขึ้นก็ อย่าไปบ่นกับใคร เพราะบ่นกับใครไม่ได้แล้ว ทุกอย่างมีบทเรียนทั้งสิ้น วันนี้ยังไม่เคยผิดโรดแม็ป สักตัว กลัวอะไรกัน เดี๋ยวพรุ่งนี้ก็พาดหัวกันอีกว่ากลัวอะไรกันหนา" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

วิษณุแจงกติกา'ประชามติ'

     นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการหารือตัวแทนกกต. สำนักงบประมาณ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ถึงการทำประชามติเมื่อวันที่ 11 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า ซักซ้อมทำความเข้าใจและทำข้อตกลงร่วมกัน สรุปว่ากกต.ต้องไปออกกฎกติกาในการออกเสียงประชามติ ไปออกประกาศการทำประชามติที่จะเสนอให้สนช.เห็นชอบ ส่วนวันลงประชามติไม่ได้ล็อกตายตัวว่าเป็นวันที่ 10 ม.ค. สามารถบวกลบได้ถึงวันที่ 17 ม.ค. 2559 

นายวิษณุกล่าวต่อว่า ให้กกต.ไปคิดเรื่องรณรงค์ออกเสียง ซึ่งทุกคำถามจะใช้เกณฑ์เดียวกันคือใช้เสียงข้างมากของผู้ที่มาใช้สิทธิ จึงต้องตั้งคำถามในรูปแบบว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ รับ/ไม่รับ ใช่/ไม่ใช่ เพราะคำถามประชามติถามได้หลายอย่าง รวมถึงถามว่าเห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมหรือไม่ แต่ไม่รู้ว่าใครอยากหาเรื่องว่าจะถามเรื่องนี้หรือไม่ ทั้งนี้ไม่ว่าจะถามอะไร สุดท้ายทั้งสปช.และสนช.ต้องไปโหวตให้เหลือเพียงสภาละ 1 คำถาม จากเดิมคิดว่าจะให้ส่งได้หลายคำถาม แต่ถ้าส่งมา รัฐบาลคงปวดหัวแน่ เพราะถูกกดดัน เลือกเอาคำถามเดียวที่เด็ดที่สุด

ยังขวางฝ่ายการเมืองรณรงค์ 

      เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองจะออกมารณรงค์ประชามติได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ต้องหารือกันอีกครั้ง ทุกคนรู้ปัญหา การจัดชุมนุมต้องหยุดไว้ก่อน ยังคิดไม่ได้ในเวลานี้ ส่วนที่ นักวิชาการตั้งข้อสังเกตเรื่องความบริสุทธิ์และเป็นธรรมของการออกเสียงประชามติภายใต้ คำสั่งที่ 3 ของมาตรา 44 นั้น ทำให้เป็นธรรมนั้นทำได้ ไม่ใช่เรื่องลำบาก อาจจะผ่อนคลายสักอย่างหรือสองอย่าง ซึ่งต้องไปคิดว่าสิ่งที่ห้ามไว้ เวลาให้ลงประชามติจะไปติดตรงไหนหรือไม่ ยังมีเวลาคิดอีกหลายเดือน 

เมื่อถามว่าหากรณรงค์ให้ไม่ออกมาใช้สิทธิมีความผิดหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถือว่ามีความผิด รวมถึงฉีกบัตร ขัดขวางการลงประชามติ รวมถึงการทำโพลก่อนทำประชามติ 7 วัน ถือว่ามีความผิดทั้งสิ้น หรือเห็นความไม่ชอบมาพากลในการลงประชามติก็ร้องเรียนได้ตามกฎหมาย เป็นไปตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ส่วนคำถามให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีนั้น มีคนพูดไปนานแล้ว จนไม่อยากพูดแล้ว นั่นคือสิ่งที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. เป็นผู้พูดขึ้นมา หากคิดอยากเดินหน้าต่อก็เป็นเรื่องของนายไพบูลย์ไปทำให้สปช.ทั้ง 250 คนเห็นชอบ มันไม่ใช่เรื่องง่าย วันนี้เรานำคำพูดของนายไพบูลย์มาตั้งประเด็น พอถึงวันนั้นนายไพบูลย์ก็ต้องพ้นจากตำแหน่ง

บิ๊กป้อมย้ำนายกฯพูดชัดเจน 

ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีวิจารณ์รัฐบาลจะอยู่ต่ออีก 2 ปี ว่า ส่วนใหญ่รัฐบาลชี้แจงหมดแล้ว รัฐบาลมีความจริงใจ ทุกอย่างตรงไปตรงมา ส่วนเรื่องการอยู่ต่อ ไม่รู้จะอยู่อย่างไร ตนบอกไปแล้ว ทุกอย่างต้องเดินไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เป็นไปตามโรดแม็ปที่เขียนไว้ก่อน ถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านจะทำอย่างไร หรือถ้าผ่านจะทำอย่างไร ทุกอย่างต้องทำตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญที่หัวหน้า คสช. ได้ชี้แจง ซึ่งไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

เมื่อถามว่า หากเกิดความวุ่นวายในสภาเหมือนในอดีต คสช.จะเลือกรัฐประหารแบบที่เกิดขึ้นในสมัยของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า "ผมจำไม่ได้ สื่อจำเก่งเหลือเกิน สื่อต้องเล่าให้ฟังหน่อย ความจริงไม่มีอะไร ในสภาเป็นแค่การลงคะแนนเสียงจะไปวุ่นวายอะไรมากมาย ผมไม่เท้าความไปยาวขนาดนั้น ถ้าสื่อจำได้ก็เล่าให้ประชาชนฟังด้วย" 

พล.อ.ประวิตรกล่าวต่อว่า นายกฯพูดชัดเจนแล้ว และตนก็พูดชัดเจนไม่มีอะไรที่จะเป็นประเด็น เรื่องนี้มีความชัดเจนอยู่แล้วว่าจะมีมาตราไหน ถึงรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านทุกอย่างต้องจบ ยืนยันไม่มีใบสั่งจากรัฐบาล หรือคสช. เพราะสปช.และสนช. เป็นคนที่มีเกียรติยศชื่อเสียง และได้รับการคัดเลือกจากคนที่มีคุณวุฒิ มีความรู้ ความสามารถ และ มีประสบการณ์ที่มีความเหมาะสม รัฐบาล และ คสช. ทำด้วยความโปร่งใสทุกเรื่อง ไม่เคยปิดบัง ไม่เคยอมพะนำ 

วันชัยชี้สปช.ส่อคว่ำร่างรธน. 

ที่รัฐสภา นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ให้ยุบสปช.เมื่อลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ โดยถือว่าเสร็จภารกิจแล้ว ว่า เป็นเพียงข้ออ้าง แท้จริงผู้มีอำนาจคงเห็นว่า สปช.ทำงานมาแล้วยังไม่เหมาะสม ยังไม่ดีพอ น่าจะปรับองค์ประกอบและวิธีการทำงานใหม่ ส่วนที่สปช.โหวตรับหรือไม่รับก็ต้องถูกยุบ ทำให้มีอิสระขึ้นไม่คำนึงถึงโหวตให้ผ่านแล้วจะได้อยู่ต่อ ทำให้คำนึงถึงส่วนรวมเป็นสำคัญมากกว่าส่วนตัว และตัดสินใจได้ว่าถูกเป็นถูก ผิดเป็นผิด แต่ถ้าเป็นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเดิม มีแนวโน้มสูงว่าสปช. จะต้องโหวตให้ผ่านเท่านั้น 

นายวันชัยกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสปช.หลายกลุ่ม รวมทั้งสนช. ครม. คสช.และภาคส่วนอื่นๆ เสนอขอแก้ไขกันเป็นร้อยมาตรา แม้กมธ.ยกร่างฯจะพยายามแก้ไข คงจะแก้ตามใจทุกกลุ่มไม่ได้ เชื่อว่ามีหลายประเด็นที่บางกลุ่มได้ บางกลุ่มไม่ได้ จึงอาจเป็นชนวนเกิดการเคลื่อนไหวอย่างแรงในหลายกลุ่มให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวออกมาเป็นเช่นนี้ มีแนวโน้มสูงว่าร่างรัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำแน่ เพราะสปช.จะเอาเหตุผลการไม่แก้ตามที่คณะของตนขอแก้ รวมทั้งนำข้อเท็จจริงและสถานการณ์ของประเทศมาเป็นเครื่องประกอบการพิจารณาโหวตเป็นสำคัญ 

หวังให้รัฐบาล"บิ๊กตู่"อยู่ต่อ 

นายวันชัยกล่าวด้วยว่า ถ้าโหวตให้ผ่านจะนำไปสู่การทำประชามติ ต้องมีแรงกระเพื่อมเคลื่อนไหว โต้แย้งจากเวทีแสดงความคิดเห็นต่างๆ เป็นการกวนน้ำให้ขุ่นในสถานการณ์ที่ยังไม่นิ่งพอและไม่แน่ว่าหากทำประชามติแล้วจะผ่านหรือไม่ แต่ถ้าผ่านก็เตรียมเข้าสู่โหมดการเลือกตั้ง อายุรัฐบาลของพล.อ. ประยุทธ์ต้องนับถอยหลัง ข้าราชการก็เกียร์ว่างรอนายกฯคนใหม่ ขณะที่การปฏิรูปประเทศและการแก้ปัญหาต่างๆ ยังค้างคาอยู่ 

"แต่ถ้าสปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญในยกแรก เหตุการณ์ดังกล่าวจะไม่เกิดขึ้น ไม่มีแรงกระเพื่อม ไม่เสียเงิน และต้องเริ่มนับหนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ยังอยู่ทำงานบริหารประเทศ แก้ปัญหาที่ค้างคาต่อไปได้ให้เสร็จสิ้นจนกว่ารัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกจะเสร็จ ซึ่งต้องใช้เวลารวมกันแล้วอีกเกือบ 2 ปี เป็นไปตามการเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง เมื่อคำนึงถึงประเทศชาติและส่วนรวมแล้ว การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าปล่อยให้ผ่านไป" นายวันชัยกล่าว

สปช.วิจารณ์กันเองยับ 

นายอมร วาณิชวิวัฒน์ สมาชิกสปช. และประธานอนุกมธ.ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องเขย่าขวด สปช. เนื่องจาก สปช.ส่วนใหญ่มีอายุเฉลี่ย 60 ปี ถือว่าสภาพร่างกายมีปัญหา และบางคนเป็นข้าราชการประจำ มีภารกิจมากจนไม่มีเวลาประชุม และเท่าที่ทราบสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กำหนดอายุขั้นต่ำ 35 ปี ชัดเจนว่าเขาอยากได้คนที่มีกำลังวังชาเข้ามาทำงาน แม้สปช.ส่วนใหญ่จะเป็นบุคคลที่มีคุณภาพ แต่ผลงานยังมีข้อบกพร่อง การอภิปรายในสภา เหมือนสภาการเมือง พูดถึงผลประโยชน์ในพื้นที่ของตนเองไม่ต่างจาก ส.ส. บางคนพูดแต่เรื่องธุรกิจของตนเอง บางคนชอบย้ายที่นั่งเพื่อให้ได้ออกทีวี ยอมรับว่า มีสปช.บางคนต่อสายตรงถึงผู้ใหญ่เพื่อรายงานให้ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นภายใน สปช. ซึ่งจะมีผลต่อการพิจารณาในการคัดเลือกสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ 

นายอมรกล่าวว่า ยอมรับว่าการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวครั้งนี้ มีความเสี่ยงที่สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญที่กมธ.ยกร่างฯขึ้น เพราะ สปช.ส่วนใหญ่มีแต่น้ำดีแถวหนึ่งของประเทศ คงไม่มีใครอยากให้เกิดปรากฏการณ์ใช้คนแถวสอง แถวสาม เหมือนในอดีตมาทำงาน ทั้งนี้ แม้รัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของสปช. และได้เลือกตั้งตามโรดแม็ป ซึ่งก่อนเลือกตั้งรัฐบาลก็จะต้องบริหารประเทศนานเกือบ 2 ปี อยู่แล้ว แต่ถ้าไม่ผ่านในชั้นสปช. รัฐบาลก็จะมีข้ออ้างอยู่ต่ออยู่แล้ว

กกต.ชงเงื่อนไขคุมเข้มรณรงค์ 

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงการทำประชามติ ว่า จะเสนอต่อที่ประชุมกกต.ให้รณรงค์ทำประชามติด้วยการเปิดให้องค์กรที่ประสงค์จะรณรงค์การออกเสียงประชามติทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและเห็นต่าง เข้ามาจดทะเบียน ซึ่งต้องประกาศตัวให้ชัดเจนว่าจะอยู่ฝ่ายไหน จากนั้นจะนำมากลั่นกรองรูปแบบการจัดกิจกรรมและจัดการเวลาให้ทั้งสองฝ่ายได้ดีเบต อย่างเท่าเทียม และหากบิดเบือนและทำนอกกรอบที่ว่าไว้ ก็ต้องรับผิดชอบเอง การรณรงค์เช่นนี้จะไม่ทำให้การลงประชามติสูญเปล่าและจำกัดการเคลื่อนไหวของกลุ่มอื่นๆ ได้ สำหรับกลุ่มใดที่ไม่ได้มาจดแจ้งกับกกต.ต้อง รับผิดชอบตัวเอง

"การรณรงค์ไม่จำเป็นที่ต้องให้ คสช.ผ่อนคลายประกาศห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง หากปฏิบัติอยู่ในกรอบกติกาก็ไม่จำเป็น จะต้องยกเลิกอะไร" นายสมชัยกล่าว 

นายสมชัยกล่าวอีกว่า อยากให้ สปช. สนช. และ ครม.พิจารณาคำถามที่จะเพิ่มมาให้เหมาะสม แต่ท้ายที่สุดไม่ว่าคำถามจะเป็นอย่างไร หากได้รับความเห็นชอบจากทั้งสามฝ่ายแล้ว กกต.ต้องดำเนินการทำประชามติ โดยบัตรประชามติแยกตามจำนวนคำถาม เชื่อว่างบประมาณในการทำประมติในครั้งนี้จะเกิน 3 พันล้านบาท 

กมธ.ยังไม่ปรับเนื้อหารธน. 

วันเดียวกัน คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ประชุมพิจารณาปรับแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญตามคำขอแก้ไขที่ฝ่ายต่างๆ ส่งมา โดยก่อนเข้าสู่วาระ ที่ประชุมหารือเรื่องการประชุมสปช. เพื่อจัดแผนวาระการปฏิรูปประเทศ ในวันที่ 15 มิ.ย.ว่า ในฐานะที่ กมธ.ส่วนใหญ่ดำรงตำแหน่งสปช. จึงอาจนำเรื่องการแก้ไขเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญไปหารือในที่ประชุมสปช.ในวันดังกล่าวด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมกมธ.ยกร่างฯที่ผ่านมา พิจารณาประเด็นสำคัญ ได้แก่ ในภาค 1 หมวด 2 ว่าด้วยประชุมชน ประเด็น คำว่า พลเมือง, สภาตรวจสอบภาคพลเมือง, สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ, สมัชชาพลเมือง การจัดแบ่งเรื่องสิทธิเสรีภาพ ภาค 2 หมวด 1 ว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี ภาค 2 หมวด 2 ว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติและองค์กรยุทธศาสตร์ชาติ เรียบร้อยแล้ว โดยประเด็นการสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่นั้น ที่ประชุมได้ คงหลักการไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนรายละเอียดจะนำไปบัญญัติไว้ในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ยังไม่มีการพิจารณารายละเอียดของการปรับปรุงเนื้อหา

จาตุรนต์ชี้"โรดแม็ปปลายเปิด" 

วันเดียวกัน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัวระบุ เดินตามโรดแม็ป...ยาวยาว มีข้อเสนอหลากหลายเกี่ยวกับการลงประชามติ ล่าสุด คสช.และครม.มีมติร่วมกันให้เสนอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็น ทั้งตอบคำถามที่กำลังเป็นที่สนใจและมีเรื่องนอกเหนือจากการลงประชามติ เป็นอันว่าถ้าลงประชามติแล้วไม่ผ่านจะไม่มีการนำเอารัฐธรรมนูญในอดีตมาใช้และจะไม่มีการเลือกตั้ง ส.ส.ร.ดังที่มีการเสนอกัน แต่คสช.ก็จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อร่างเสร็จก็ต้องลงประชามติกันอีก มีคนอธิบายว่าและถ้ายังไม่ผ่านอีก ก็คงตั้งกรรมการขึ้นมาร่างกันใหม่อีก คือร่างไปเรื่อยๆ การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้จึงเสมือนเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงโรดแม็ปให้ยาวออกไป

"อาจมองได้ว่าเป็นการแก้ให้ได้โรดแม็ปแบบปลายเปิด คือจะยืดยาวต่อไปเท่าไรก็ได้ หรืออาจมองว่าเป็นการทำให้เป็นแบบวงกลมคือ วนกลับมาที่เดิมได้หลายๆ รอบก็ได้" นายจาตุรนต์ระบุ

คาดสปช.คว่ำร่างรธน. 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า โรดแม็ปแบบนี้ง่ายที่ผู้ที่มีอำนาจรับผิดชอบจะบอกว่าพร้อมทำตามโรดแม็ปเต็มที่ เพราะโรดแม็ปไม่คงที่แต่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ส่วนการลงมติจะเป็นแบบไหนและมีประโยชน์เพียงใดนั้น ดูจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก็ไม่ได้ให้รายละเอียดไว้ กกต.และสนช.จะไปกำหนดกันอีกที แต่ดูจากที่มีการตอบคำถามไปบ้างแล้ว เข้าใจว่าการลงประชามติที่จะมีขึ้นคง ไม่ได้เป็นไปแบบเสรี คือไม่ใช่ว่าจะอนุญาตให้แสดงความเห็นสนับสนุนหรือคัดค้านได้อย่างเต็มที่ ถ้าเป็นอย่างนั้นจะหวังอะไรมากนักจากการลงประชามติก็เห็นจะไม่ได้

นายจาตุรนต์กล่าวว่า เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะมีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือร่างรัฐธรรมนูญนี้มีโอกาสจะถูกคว่ำโดย สปช.ง่ายขึ้นมาก ถ้าเป็นอย่างนั้นการลงประชามติก็จะยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้อง รอให้คณะกรรมการคณะใหม่ร่างให้เสร็จ เสียก่อน ที่ว่าโอกาสที่ สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญมีสูงกว่าเดิมเพราะว่าเดิมเอาสปช.กับกมธ.ยกร่างฯ ไปผูกติดกันไว้เป็นแฝด อิน-จัน ถ้าสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะอยู่ทำหน้าที่ต่อไปอีกนานพอสมควร แต่ถ้าคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งสปช.และกมธ. ยกร่างฯ ก็จะถูกยุบเลิกไปด้วยกัน โอกาสที่สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงแทบจะไม่มี

ชี้แก้รธน.เพื่อเปิดช่องอยู่ต่อไป 

นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ที่แก้ใหม่เมื่อ สปช.ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไรก็ตาม สปช.ก็ต้องถูกยุบเลิกไปพร้อมกับมีองค์กรใหม่เกิดขึ้นคือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ แบบนี้การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ สปช.ก็ไม่มีอะไรต้องสูญเสีย ถ้าพิจารณาจากการที่มีความพยายามจะหาทางทำให้ คสช.หรือรัฐบาลอยู่ในอำนาจต่อไปนานๆ ก็ดี หรือที่มีการเสนอให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งก็ดี การคว่ำร่างรัฐธรรมนูญก็ดูจะมีส่วนช่วยให้ความพยายามเหล่านั้นเป็นจริงได้มากขึ้น จะมองว่าการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวครั้งนี้เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้กระบวนการทั้งหลายทั้งปวงยืดออกไปก็คงไม่ผิดนัก 

"แต่ไม่ว่าจะคว่ำหรือไม่คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ก็จะมีการลงประชามติที่ไม่เสรีและไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดกันเมื่อไรรออยู่ข้างหน้า เรียกว่าได้ทั้งขึ้นทั้งล่อง" นายจาตุรนต์ระบุ

เหวงตั้งคำถามป.ป.ช.-คดี 99 ศพ 

ด้านนพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. กล่าวกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เดินหน้าสอบสวนกรณีเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงปี 2553 ว่า ล่าสุดป.ป.ช.ให้ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. ในฐานะอดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการ(กมธ.) ตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมืองใน กมธ.สิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา เข้าให้ข้อมูล ซึ่งเรื่องนี้มีพิรุธชัดเจน เกิดข้อสงสัยว่าจะมีเจตนาทำข้อสรุปที่ยืนยันว่า คนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธและยิงสังหารเจ้าหน้าที่ทหารในเหตุการณ์ดังกล่าวหรือไม่ เพราะนายสมชายระบุก่อนเข้าให้ข้อมูลว่าจะยื่นข้อมูลที่ยืนยันว่าคนเสื้อแดงมีกองกำลังติดอาวุธ มีชายชุดดำที่ถืออาวุธสงครามและสังหารเจ้าหน้าที่ทหารรวมถึงพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม 

นพ.เหวงกล่าวว่า คำถามที่เกิดขึ้นคือ 1.ป.ป.ช.นำเอาคำสั่งศาลในเรื่องการชันสูตรพลิกศพ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 150 มาประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ เพราะคำสั่งดังกล่าววินิจฉัยชัดเจนว่าการตายเกิดจากกระสุนความเร็วสูงที่มาจากอาวุธสงคราม โดยเฉพาะ 17 ราย ศาลระบุว่าเกิดจากการกระทำของ เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของศอฉ. โดยเฉพาะ 6 ศพ วัดปทุมวนาราม 

ชี้ไม่ขอข้อมูลส.ว.ชุดที่ศึกษาตรง 

นพ.เหวงกล่าวต่อว่า 2.นายสมชาย ยืนข้างเป็นปฏิปักษ์ต่อคนเสื้อแดงอย่างเปิดเผยมาร่วมสิบปี ป.ป.ช.กับนายสมชาย ร่วมมือกันหรือไม่ เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปที่ตั้งธงไว้ล่วงหน้า 3.ทำไมไม่ขอข้อมูลจากกมธ.ของวุฒิสภาชุดที่แล้วอีกชุดที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรง ได้แก่ คณะกรรมการเพื่อติดตามสถานการณ์บ้านเมือง ที่มีนายจิตติพจน์ วิริยะโรจน์ อดีตส.ว.ศรีสะเกษ เป็นประธาน ซึ่งรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริง ความเห็นจากหลากหลายกลุ่มไม่ว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ระดับชั้นยศต่างๆ นักข่าว ช่างภาพ นักวิชาการที่มีส่วนร่วมในเหตุการณ์ กลุ่มพันธมิตรเสื้อเหลือง ส.ส. สว. แม้เสื้อแดงจะเข้าให้ข้อมูลข้อเท็จจริงแต่ดูเหมือนจะมี 2-3 คนเท่านั้น และกรรมการชุดดังกล่าวได้รับการแต่งตั้งจากวุฒิสภา ประกอบด้วยผู้ที่มีทัศนะทางการเมืองหลากหลายและมีความเป็นกลางทางการเมือง

4.การเชิญญาติผู้เสียชีวิตทั้ง 99 ศพ มาให้ข้อมูล อย่าอ้างว่าใช้เวลามาก เพราะป.ป.ช.ตั้งอนุกรรมการได้นับสิบชุดเพื่อมารวบรวมเรื่องจากผู้สูญเสียโดยตรง โดยไม่ต้องใช้เวลามากเกินความจำเป็น ดังนั้นจึงหวังว่าป.ป.ช. จะพิจารณาข้อเสนอดังกล่าวอย่างจริงจัง

อนุดิษฐ์ยื่นฟ้อง'วิชา'แล้ว 

ที่ศาลจังหวัดนนทบุรี นายวิญญัติ ชาติมนตรี ทนายความ ได้รับมอบหมายจาก น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) นำเอกสารยื่นฟ้องคดีอาญาต่อคณะกรรมการป.ป.ช. ที่มีนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการร่วมกับพวก 11 คน กรณีถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิดร่วมกับครม.ที่มีมติเมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2555 ให้จ่ายเงินเยียวยาให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์การชุมนุมทางการเมืองและให้ใช้เงินงบกลางรายการสำรองจ่าย 2 พันล้านบาทโดยไม่มีกฎหมายรองรับ จึงเป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นการปฏิบัติหรือการละเว้นปฏิบัติโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการดำเนินการ 1,921,061,629.46 บาท 

ข้อร้องเรียนต่อป.ป.ช.แบ่งเป็น 2 กรณี การจ่ายเงินเยียวยาและการเบิกจ่ายเงินประกันตัว ผู้ต้องขังในคดีอาญา แต่จำเลยทั้ง 11 คนกลับร่วมกันมีมติว่าการจ่ายเงินเยียวยามีมูลความผิด แต่การเบิกจ่ายเงินประกันตัวผู้ต้องขังในคดีอาญาไม่มีมูลความผิด แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้ง 11 คนใช้ดุลพินิจไม่เที่ยงธรรม เพราะการเบิกจ่ายเงินทั้ง 2 กรณี ได้เบิกจ่ายโดยกระทำไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ระเบียบมติครม. ที่เกี่ยวข้องกับการจ่ายเงินงบกลางด้วยวิธีการ งบประมาณอย่างถูกต้องครบถ้วนอย่างเดียวกัน หากจะเป็นความผิดก็ต้องผิดทั้ง 2 กรณี

ศาลนัดไต่สวน 17 ส.ค.นี้ 

ดังนั้น จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการและเป็นกรรมการ ป.ป.ช. ด้วย ซึ่งตามพ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 31(1) กำหนดให้จำเลยที่ 1 เป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรม จึงมีความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดๆ เพื่อแจ้งโจทก์ต้องรับโทษ ส่วนจำเลยที่ 2 ถึง 11 ร่วมลงมติกับจำเลยที่ 1 ด้วยจึงถือได้ว่าเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 200 วรรคสอง ประกอบมาตรา 86 จำเลยทั้ง 11 คน จึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และ มาตรา 83,86

หลังจากศาลพิจารณาคำฟ้อง ศาลจังหวัดนนทบุรีจึงประทับรับคำฟ้อง พร้อมนัดไต่สวนวันที่ 17 ส.ค.นี้

ป.ป.ช.โต้ชี้เยียวยาตามกม. 

ด้านนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธาน ป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงอดีตรัฐมนตรีฟ้องอาญากับนายวิชาพร้อมอนุกรรมการรวม 11 รายว่า ตามหลักการฟ้องอาญาป.ป.ช.ต่อศาล ต้องผ่านกระบวนการสภา แต่การฟ้องอนุกรรมการกับเจ้าหน้าที่ สามารถฟ้องในศาลปกติได้ ซึ่งศาลอาจจะไม่รับได้ แต่ก็เคยมีรับเหมือนกัน ก็ต้องแก้ต่างกันไป ป.ป.ช.ก็ต้อง เตรียมการแก้ต่าง โดยให้อัยการช่วยดำเนินการ และให้สำนักคดีของสำนักงานป.ป.ช. ช่วยรวบรวมข้อมูลต่างๆ เพื่อยืนยันว่าทุกอย่างเราทำตามหน้าที่ ส่วนจะทำให้ทำงานยากขึ้นหรือไม่นั้น เราต้องทำงานระมัดระวังมากขึ้น และไม่ได้ทำงานเพื่อกลั่นแกล้งใคร ทั้งนี้ยืนยันว่าการจ่ายเงินเยียวยาดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่มีกฎหมายรองรับ 

นายปานเทพกล่าวว่า ในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ครบกำหนดที่ป.ป.ช.ให้น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯและอดีตรัฐมนตรีรวม 34 คน ที่ถูกกล่าวหามารับทราบและชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา แต่ถ้าไม่มาก็แสดงว่าไม่ติดใจ ป.ป.ช.ก็ต้องดำเนินการต่อไปตามขั้นตอนกฎหมาย

มติกอ."พงษ์นิวัฒน์"อสส.คนใหม่ 

วันที่ 12 มิ.ย. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ถ.แจ้งวัฒนะ นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. ในฐานะประธานคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) เป็นประธานการประชุม ก.อ. มีวาระสำคัญพิจารณาเสนอชื่อผู้ที่คุณสมบัติและความเหมาะสมเป็น อสส.คนใหม่ แทนตนเองที่จะเกษียณราชการวันที่ 30 ก.ย.นี้ 

โดยมีผู้ดำรงตำแหน่งรองอสส. 6 คน คือ นายวุฒิพงศ์ วิบูลย์วงศ์ นายมนัส สุขสวัสดิ์ นายชาญวิทย์ เจริญพจน์ นายเรวัตร จันทร์ประเสริฐ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร และนายวีรพล ปานะบุตร โดย นายวุฒิพงศ์ นายมนัส นายชาญวิทย์ นายเรวัตร และนายวีรพล รอง อสส.ลำดับที่ 1-4 และที่ 6 จะเกษียณราชการพร้อมนายตระกูล ก.อ.จึงพิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสมแล้วเห็นว่า ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ อาวุโสลำดับที่ 5 มีคุณสมบัติครบถ้วนและถือว่ามีอาวุโสสูงสุด ประธาน ก.อ.จึงเสนอชื่อ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ก่อนที่ประชุม ก.อ.จะลงมติเห็นชอบและไม่มีผู้คัดค้าน มีมติเลือก ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ เสนอเป็นอสส.คนใหม่ จากนี้ สำนักงานอสส.จะนำชื่อ ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ให้ สนช.พิจารณา หาก สนช.เห็นชอบก็จะได้ดำเนินการเสนอชื่อโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม แต่งตั้งต่อไป 

พิเชษฐแจงถอนพาสปอร์ตแม้ว 

วันที่ 12 มิ.ย. นายพิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล อดีตแกนนำพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊กแสดงทรรศนะเรื่องหนังสือเดินทางทูต หรือพาสปอร์ตแดง ระบุหัวข้อ "อะไรกันนักหนา" ว่าหนังสือเดินทางทูต เป็นอำนาจเฉพาะของกระทรวงการต่างประเทศ ตามพิธีการทางการทูตที่ยอมรับกันระหว่างประเทศที่การเมืองไม่ควรเข้าไปครอบงำเกี่ยวข้อง ส่วนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มีสิทธิ์ในฐานะ 1.อดีตรมว.ต่างประเทศ 2.อดีตนายกฯ แต่ทุกเล่มมีอายุ เมื่อหมดอายุจะออกเล่มใหม่ให้ แต่ไม่มีการต่ออายุ จึงไม่ต้องยกเลิก

นายพิเชษฐกล่าวว่า ส่วนการเสนอถอดเครื่องราชอิสริยาภรณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณ เครื่องราชฯสูงสุดของทักษิณคือทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษ เป็นเครื่องราชฯฝ่ายหน้า ที่พระราชทานตามพระราชอัธยาศัย

"ครม.ชุดนี้แม้ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยังไม่มีเครื่องราชฯระดับนี้เลย แล้วใครจะเสนอให้เพิกถอน ผมพูดเพื่อเป็นความรู้แก่เพื่อนชาวเฟซบุ๊กตามคำพังเพยว่ารู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ ไม่ถูกใจใครอย่าโกรธกัน" นายพิเชษฐกล่าว

นายพิเชษฐ์ระบุว่า ยืนยันไม่มีการเมืองหรือคติส่วนตัว เครื่องราชทุติยจุลจอมเกล้าวิเศษสำรับหนึ่งมีราคาเกือบสี่แสนบาท กรมธนารักษ์เป็นผู้สร้าง ตนกำกับดูแลกรมธนารักษ์มาก่อน แต่กระแสสังคมทำให้พูดอะไรไม่ค่อยได้ บิดเบือนกันจนน่ารำคาญ ถ้ายกเลิกได้ 1 ปีกว่ารัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ 2 ปีกว่ารัฐบาลอภิสิทธิ์ ทำไมไม่มีใครยกเลิก

"ผมเป็นฝ่ายตรงข้ามกับทักษิณ ไม่เห็นด้วยกับทักษิณ ไม่ชอบทักษิณ แต่นี่เป็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ไม่เกี่ยวกับคำว่าทักษิณหรือไม่ทักษิณ เข้าใจชัดเจนเรื่องเครื่องราชฯและจบได้แล้ว อย่าไปก้าวล่วงในพระราชอำนาจเลย" นายพิเชษฐกล่าว 

"บิ๊กป้อม"รับ-สั่งห้ามเคลื่อนอาวุธ 

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีหนังสือทางราชการออกคำสั่งเคลื่อนย้ายอาวุธตามอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า การเคลื่อนย้ายอาวุธ ต้องผ่านหัวหน้า คสช. ถือเป็นระเบียบปฏิบัติ ไม่มีปัญหา ซึ่งคำสั่งก็ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีการเผยแพร่เอกสารไปทั่ว โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งลงวันที่ 6 มิ.ย. 2558 ส่งไปยังกองทัพภาคต่างๆ โดยเน้นย้ำห้ามเคลื่อนย้ายกำลังและอาวุธ โดยต้องเป็นคำสั่งของ หัวหน้าคสช.แต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 3/2557 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ เป็นเหตุให้นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง

แหล่งข่าวระดับสูงจากคสช. กล่าวว่า เดิมคสช.มีประกาศให้หน่วยงานราชการที่มีอาวุธ หากมีการสับเปลี่ยนเคลื่อนย้ายกำลัง อาวุธ จะต้องแจ้งคสช.ให้รับทราบ แต่ปรากฏว่าในช่วงหลังมีการเคลื่อนย้ายโดยไม่แจ้งให้รับทราบ ทางผู้ใหญ่ในคสช.จึงติงว่ายังมีคำสั่งนี้อยู่ จึงมีคำสั่งย้ำเตือนไปตามกองทัพภาคให้แจ้งหน่วยงานต่างๆ ในพื้นที่ หากหน่วยงานไหนจะเคลื่อนย้ายอาวุธหรือสับเปลี่ยนกำลังต้องแจ้งให้คสช.ทราบ ทางกองทัพภาคต่างๆ จะออกเป็นคำสั่งย่อย ซึ่งมีการ นำไปเผยแพร่ในโซเชี่ยลฯ ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องข่าวปฏิวัติ แต่ผู้บังคับบัญชาสั่งเน้นย้ำว่าหากมีการเคลื่อนย้าย หรือสับเปลี่ยนต้องแจ้งมาให้ทราบ เพราะคำสั่งนี้ยังไม่ยกเลิก

เด้งสวป.กันทรอม-ปรับทัศนคติ 

เมื่อวันที่ 12 มิ.ย. รายงานข่าวแจ้งว่า พล.ต.ต.บุญยศ บุญไพศาล ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ ได้มีคำสั่งให้ พ.ต.ท.บุญเรือง คำเนตร สวป.สภ.กันทรอม มาช่วยราชการที่บก.ภ.จว.ศรีสะเกษ เนื่องจากได้รับงายงานจากกอ.รมน.ว่า ได้โพสต์ข้อความ ในลักษณะวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างรุนแรง จึงขอให้ผู้บังคับบัญชาเรียกตัวมาพูดคุยทำความเข้าใจ และละเว้นการแสดงทัศนคติในทางรุนแรง ทางด้านผบก.จึงสั่งให้มาช่วยรากชารเป็นการชั่วคราว เพื่อปรับทัศคติทางการเมืองระยะหนึ่ง แต่ไม่มีการดำเนินคดีใดๆ ทั้งนี้พ.ต.ท.บุญเรืองได้ชี้แจงว่าไม่ได้วิจารณ์การเมือง แต่มือพลาดไปโดนปุ่มทำให้มีข้อความเผยแพร่ออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า พล.ต.ต.บุญยศ บุญไพศาล ผบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ มีคำสั่งที่ 0018 (ศก)ศปก.ภ.จว.ศก. / 851 ลงวันที่ 6 มิ.ย. 2558 ถึง ผบก.สภ.,สวญ.สภ.,สว.สภ.,ทุกแห่งในสังกัด ระบุว่า มีข้าราชการตำรวจในสังกัดได้ส่งข้อความในไลน์กลุ่มส่วนตัว หรือในไลน์กลุ่มของสถานีตำรวจ เป็นข้อความที่ไม่เหมาะสมและน่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ส่งข้อความและของสถานีตำรวจ รวมถึงงผลกระทบต่อภาพรวมของบก.ภ.จว.ศรีสะเกษ จึงให้ทุกสถานีที่จัดตั้งกลุ่มไลน์ติดต่อภายในสถานี ส่ง ไอดี พร้อมชื่อกลุ่มให้งานเทคโนโลยีสารสนเทศ ภายในวันที่ 8 มิ.ย. พร้อมกำชับให้หัวหน้าสถานีทุกแห่ง กำชับการปฏิบัติของข้าราชการตำรวจในสังกัดให้ระมัดระวังการโพสต์ข้อความลงในแอพพลิเคชั่นไลน์ ให้เป็นไปตามระเบียบ คำสั่งและกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายหรือส่งผลกระทบ ต่อภาพรวมของหน่วยงาน