Payut11

 

กกต.เคาะประชามติ 10 มค.59 พท.-ปชป.ค้านถาม'อยู่ต่อ'วิษณุ'รับอานิสงส์แก้รธน. เอื้อ'สมคิด-111'หลุดบ่วง!

      ประธานกกต.ขานรับทำประชามติร่างรธน.ใหม่ กางปฏิทินเล็งดำเนินการวันที่ 10 ม.ค.ปีหน้า เพื่อไทยจี้ต้องถามเฉพาะร่างรธน.เท่านั้น ห้ามหมกเม็ดถามให้นายกฯอยู่ต่อ ติงสภาขับเคลื่อนปูทางให้คสช.-รัฐบาลเดิมมีอำนาจต่อ ด้าน'วิษณุ'ยอมรับแก้คุณสมบัติในรธน.ชั่วคราว เปิดทางนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 และ 109 เอื้อ'สมคิด จาตุศรีพิทักษ์'นั่งรัฐมนตรี โพลระบุให้นายกฯอยู่ต่อตามโรดแม็ป แต่ก็หนุนให้ถามประชามติว่าสมควรจะอยู่อีก 2 ปีหรือไม่ 'บิ๊กตู่'ลงพื้นที่ฉะเชิงเทรา-ระยอง ระทึก'อำนวย ปะติเส'วูบทรุดคาเวทีขณะนายกฯปราศรัย ต้องพยาบาลกันวุ่น 'ประยุทธ์'ฮึ่มกลุ่มต่อต้านอย่าลองของ

 

วันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8961 ข่าวสดรายวัน

ตรวจเขื่อน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ตรวจโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำของพื้นที่ภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.


บิ๊กตู่ลงพื้นที่ดีใจเจอชาวบ้าน
      เมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 10 มิ.ย. ที่ต.คลองตะเกรา อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช. เป็นประธานเปิดงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ พ.ศ.2558 มีพล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ พร้อมประชาชนให้การต้อนรับ 
      นายกฯกล่าวตอนหนึ่งว่า ตนมาในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ไม่ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ ตนก็จะมา ดีใจที่มาเจอทุกคนตัวเป็นๆ บางทีเจอแค่วันศุกร์ บางทีไปขัดแย้งกับการดูละครย่าแย้มสุดแค้นแสนรัก ถึงแม้จะแค้นตนบ้างแต่วันนี้ขอให้รักตนบ้าง ตนเดินทางมาไม่มีการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น ไม่ต้องการมาทะเลาะกับใครและใครอย่ามาทะเลาะกับตน เรามาร่วมกันสร้างสิ่งดีๆ สำหรับประเทศ ซึ่งวันนี้ประชาชนเริ่มมีความสุข ช้างเริ่มกลับเข้าป่า แต่ยังมีหลายอย่างที่ยังขัดแย้ง เพราะที่ผ่านมามีการเอาใจใส่และแก้ไขน้อยเกินไป วันนี้รัฐบาลจึงขับเคลื่อนทุกอย่าง และแก้ไขให้ได้ตามระยะเวลาที่มีอยู่

สอนเลือกตั้งอย่ากาคนบิดเบือน
      นายกฯ กล่าวว่า ตนจะไม่เอาการเมืองมาเกี่ยวข้องกับการทำงาน พวกเราทำงานทุกวัน เราต้องจริงใจเพื่อแก้ปัญหา ประชาชนทุกคนจะมีความสุข ประเทศมั่นคงในทุกด้าน สังคมจะเกิดความสงบ ไม่มีใครมาปลุกปั่น ให้แบ่งข้าง ต้องสร้างความเข้มแข็งให้กับทุกคน และไม่ใช่เข้มแข็งเพื่อมาต่อต้านรัฐ แต่เข้มแข็งเพื่อรวมพลัง มีสิทธิมีเสียงและมองเห็นในตัวตนของทุกคน ไม่ใช่แค่เป็นคนของคนนั้นคนนี้ เราต้องใช้อำนาจในช่องทางที่ถูกต้อง เลือกตั้งเมื่อถึงเวลาเลือกคนที่ดีเข้ามา อย่าเลือกคนที่สร้างความขัดแย้งหรือคนที่เอาเปรียบ อย่าเลือกคนที่บิดเบือนไม่พูดความจริง อำนาจเป็นของทุกคน ไม่ใช่ตั้งกลุ่มมาเดินขบวนประท้วง สมัยนี้ขอว่าอย่าเพิ่งทำ ขอให้ทำอะไรก็ได้แต่อยู่ภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่สร้างความรุนแรงหรือทำให้สังคมแตกแยก เพราะถือว่าทำผิดกฎหมาย วันนี้อยู่ระหว่างการดำเนินคดีจำนวนมาก ขอร้องว่าอย่าทำอีก
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปคือการทำประชามติ ทุกคนจะต้องร่วมมือทำประชามติ ถือเป็นการใช้อำนาจของทุกคน เมื่อพระองค์พระราชทานอำนาจมาแล้ว อะไรที่รัฐบาลเลือกตั้งทำมาท่านก็โปรดเกล้าฯให้ทั้งหมด ฉะนั้น อย่าไปเชื่อการบิดเบือนต่างๆ วันนี้มีคนบางพวกบางกลุ่มชอบพูด ซึ่งตนคิดว่าไม่น่าใช่คนไทย รัฐบาลขับเคลื่อนทุกเรื่อง ทุกคนต้องกลับเข้ามาอยู่ใต้กติกา รัฐบาลพยายามทำทุกอย่างให้ถูกต้อง ไม่ใช่เพื่อตนแต่ทำเพื่อทุกคน

ระทึก'อำนวย ปะติเส'วูบคาเวที 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.10 น. ขณะที่นายกฯพูดซึ่งใช้เวลาไปแล้ว 40 นาที ได้เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น โดยนายอำนวยซึ่งขณะนั้นยืนอยู่บนเวทีร่วมกับรัฐมนตรีคนอื่น เกิดอาการหน้ามืดและทรุดลงกลางเวที เจ้าหน้าที่และรัฐมนตรีต่างพากันตกใจ และรีบเข้าไปประคองไว้ได้ทัน ก่อนจะประคองลงจากเวทีไปนั่งที่เก้าอี้รับรองด้านหน้าเวที และเจ้าหน้าที่พยาบาลได้นำยาดมและผ้าเย็นมาปฐมพยาบาลเบื้องต้น จนนายอำนวยอาการดีขึ้น และยกมือไหว้ขอโทษนายกฯกับเหตุ การณ์ที่เกิดขึ้น
      พล.อ.ประยุทธ์ หันไปมองทันทีที่นายอำนวยทรุดตัวลง พร้อมกล่าวว่า "ท่านไม่ค่อยสบาย ให้เจ้าหน้าที่พาลงไปนั่งข้างล่างโดยเร็ว ท่านทำงานหนักมาตลอด อายุก็เยอะเหมือนกันแล้ว ไม่รู้จะยืนกันสักกี่คนวันนี้ แต่ผมก็ยังยืนอยู่เสมอ ถ้าผมล้มเมื่อไรแล้วค่อยว่ากัน"
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้นายอำนวยจะเป็นลมหน้ามืด แต่นายกฯยังคงกล่าวกับผู้ร่วมงานต่ออีก 20 นาที พร้อมระบุว่าเสื้อคลุมที่ให้มาใส่ในงานมันร้อน ยิ่งใส่ทับกับเสื้อยืดตัวในมันยิ่งร้อนกว่า ข้อสำคัญมันร้อนใจ เป็นการร้อนใจแทนประชาชน จากนั้นได้เชิญให้รัฐมนตรีที่ร่วมอยู่บนเวทีลงไปนั่งฟังข้างล่าง พร้อมกระเซ้าว่าเดี๋ยวจะเป็นลมกันไปอีก ก็เห็นใจนายอำนวยไม่สบายก็ยังอุตส่าห์มา เดี๋ยวอีกไม่กี่วันก็ต้องไปเยอรมันไปขายของให้อีก
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สาเหตุหนึ่งที่นายอำนวยหน้ามืดเป็นลมนั้น เนื่องจากอากาศร้อน และบริเวณการจัดงานเป็นพื้นที่โล่งแจ้ง มีการนำเต็นท์ผ้าใบมาทำเป็นส่วนหลังคาของพิธีเปิดงาน ประกอบกับนายอำนวยมีอายุค่อนข้างมาก และออกงานแทนนายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ ตลอด

ชาวบ้านแห่จดเลขทะเบียนรถ
        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การลงพื้นที่ฉะเชิงเทราครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากประชาชนที่เฝ้ารอดูทะเบียนรถยนต์ที่นายกฯใช้ปฏิบัติภารกิจ เพื่อนำไปเสี่ยงโชคในงวดต่อไป บางรายนำโทรศัพท์มือถือและกล้องถ่ายรูปมาบันทึกไว้ บางรายก็ใช้วิธีการจด ซึ่งที่จ.ฉะเชิงเทรา พล.อ. ประยุทธ์ใช้รถโตโยต้า อัลพาร์ด สีขาว ทะเบียน 3 กฐ 2452 กรุงเทพมหานคร
    ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากนั้นเวลา 13.00 น. นายกฯพร้อมคณะเดินทางมารับฟังบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ทั้งนี้ นายอำนวยซึ่งเป็นลมระหว่างที่นายกฯกล่าวเปิดงานที่จ.ฉะเชิงเทรา ได้ร่วมคณะมาปฏิบัติภารกิจด้วย โดยได้ดมยาดมเป็นระยะ แต่มีสีหน้าดีขึ้น 
      ขณะเดียวกัน ชาวบ้านจ.ระยอง ให้ความสนใจรถยนต์ที่นายกฯใช้ โดยเป็นรถโตโยต้า อัลพาท สีขาว ทะเบียน กน 333 ระยอง 

ขึ้นฮ.ดูคลองประแสร์-ระยอง
       ต่อมาเวลา 11.40 น. พล.อ.ประยุทธ์พร้อมคณะเดินทางโดยเฮลิคอปเตอร์มายังโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาประแสร์ ต.ชุมแสง อ.วังจันทร์ จ.ระยอง ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำพื้นที่ประแสร์และภาคตะวันออก โดยมีนายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผวจ.ระยองและข้าราชการ ประชาชนในพื้นที่ ให้การต้อนรับจำนวนมาก ท่าม กลางการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดจาก เจ้าหน้าที่ทหาร มณฑลทหารบกที่ 14
      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวกับประชาชนตอนหนึ่งว่า ปัญหาด้านการเกษตรที่เกิดขึ้นรัฐ บาลไม่สามารถใช้เงินมาช่วยเหลือได้ทั้งหมด เราพูดกันที่ข้อเท็จจริง ไม่ได้พูดเอาคะแนนเสียง และหากจะมาไล่กันให้มากระซิบข้างๆ จะพูดเสียงดังไม่ได้

เผยสิ้นปี 59 ต้องไป-ไม่อยู่ถึงปี 60
      นายกฯ กล่าวว่า ตนอยู่อย่างนี้ต่อไปอีกไม่นาน เมื่อรู้ว่าอะไรดีก็ต้องช่วยกันทำ ไม่ได้อยากมีอำนาจ แต่ต้องใช้อำนาจตามมาตรา 44 เอาทุกกระทรวงมารวมกันแก้ปัญหา ซึ่งไม่ได้ไปรังแกใคร แต่รายได้จากการเกษตรที่ลดลง คือเรื่องที่ต้องยอมรับ กลับไปสู่ความเป็นจริง บิดเบือนไม่ได้อีกแล้ว เพื่อไม่ให้ถูกมองว่าเป็นประเทศล้มละลายในสายตาชาวโลก แม้จะมีปัญหาในการใช้งบ แต่ไม่ได้เป็นรัฐบาลที่ตูดขาด เงินหมดตามที่ใครกล่าวหา เรามีเงินสำรองไว้เพื่อแก้ปัญหาในยามฉุกเฉิน ไม่ได้เก็บเงินไว้แจกใคร 
      "ผมมองภาพรวมทั้งประเทศ ผมไม่ได้อยู่กับทุกคนไปตลอดชีวิต คิดว่าปี 60 ก็จะไม่อยู่แล้ว ปี 59 ก็ต้องไป วันนี้ไม่มีอะไรในโลกที่ดีอย่างเดียว หรือเสียอย่างเดียว เว้นแต่จิตใจมนุษย์ที่เลวแก้ไม่ได้ ไม่ใช่รวยแล้วเปลี่ยน แต่ต้องคิดถึงตอนที่ตัวเองจนด้วย มองกันอย่างเสมอภาค ยอมรับกติกา ทุกคนย่อมมีโอกาสกลับตัวได้หากยอมรับกติกาของสังคม ซึ่งอยู่ที่ประชาชน และอย่ากลับไปเลือกผิดอีก เพราะเลือกผิดมาหลายครั้งแล้ว ทั้งหมดคือความรับผิดชอบของผม วันนี้บ้านเราแม้มีผลผลิตเยอะ แต่ขาดสตอรี่ เราต้องสร้างสตอรี่เพื่อเพิ่มมูลค่าเหมือนญี่ปุ่น ขณะที่บ้านเราไม่มีสตอรี่ แต่มีสตรอว์เบอร์รี่ หรือสะตอเบอแหล แต่ตรงนี้ไม่ได้ว่าหรือก้าวล่วงใคร เดี๋ยวหาว่าผมไปยุ่งกับเขาอีก ขอให้ทุกคนเชื่อมั่นรัฐบาลนี้ว่าทำงานอย่างเต็มที่ ทุกอย่างโปร่งใส เพราะเราไม่ได้เข้าหาผลประโยชน์" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

ท้าคนต่อต้านอยากเจอก็ลองดู
      จากนั้น เวลา 15.30 น. ที่จ.ระยอง พล.อ. ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์ถึงประชาชนบางส่วนเรียกร้องให้อยู่ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนเลือกตั้งว่า ปัญหามีอยู่เยอะแต่มีเวลาจำกัด ตนพูดมากก็ไม่ค่อยอยากฟังกัน พอจะอธิบาย ก็ถามแค่ว่าวันนี้จะอยู่ต่อหรือไม่ สนใจอยู่แค่นี้ วันนี้ที่ตนอยู่ต้องดีขึ้นและทำงานตามแผนยุทธศาสตร์ ถ้าอยากเลือกตั้ง ก็ไปเลือกคนที่ทำแบบนี้ ทุกคนต้องเข้มแข็ง รัฐธรรมนูญจะเขียนอย่างไรก็ไปว่ามา ให้คนใหม่ทำ
      เมื่อถามว่า ถ้าขอสื่อได้จะขอให้หยุดเปิดพื้นที่ทางการเมืองไปเลยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ถึงขนาดนั้น แต่อย่าไปเปิดเวทีให้การเมืองที่มันบิดเบี้ยว บิดเบือน หรือคนที่ทำให้บ้านเมืองเสียหาย เพราะจะมาต่อต้านการทำงานของตน จะทำให้ตนหงุดหงิดและมีปัญหาเพิ่มเติม ตนยังไม่ได้ใช้อำนาจเลยแล้วมาบอกว่าใช้อำนาจ ใช้รัฐประหาร ใช้การควบคุม ตนไปควบคุมใครสักคนหรือไม่ 
       เมื่อถามว่าฝ่ายการเมืองที่ต่อต้านเริ่มเคลื่อน ไหวผ่านโซเชี่ยลมีเดียมากขึ้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ลองทำไปเรื่อยๆ บอกไปแล้วว่าตนใจดีแค่ระยะหนึ่งเท่านั้น ให้โอกาสแค่ไม่เท่าไร ถ้าจะลองก็ลองดู และเมื่อวันที่ 9 มิ.ย.ที่เสียงดังใส่สื่อก็ไม่ได้เคืองสื่อ ถ้าจะเคืองก็เคืองก่อนหน้านี้นานแล้ว ไม่เคยเคือง จะเคืองได้อย่างไร ตนไม่เคยอารมณ์เสีย แต่อยู่ที่อารมณ์จะดีมากดีน้อย ส่วนใหญ่จะอารมณ์ดีตลอด เรารู้จักกัน โกรธกันไม่ได้

ขากลับ-ปิดห้องหารือ 3 บิ๊ก
      เมื่อถามว่าแสดงว่าที่ผ่านมาเป็นภาพยนตร์ตัวอย่าง หลังจากนี้จะเป็นของจริงแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตัวจริงหมายถึงความดุเดือด ใช้กฎหมาย ตนให้โอกาสเขาปรับปรุงตัวเอง ให้เข้าใจ เรียนรู้ ผิดถูกว่ากันตามกฎหมาย ตนขอแค่นี้เขายังให้ไม่ได้เลย
       เมื่อถามว่า หากต้องทำประชามติ หน่วยงานใดจะเป็นผู้รณรงค์ให้ประชาชนออกมาลงประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองจะรณรงค์ให้เลือกอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้ แต่ถ้าจะรณรงค์ให้คนออกมาทำประชามตินั้นได้ แต่ต้องให้เกิดความชัดเจนในการทำประชามติก่อนถึงจะรณรงค์ได้ ซึ่งจะกำหนดเนื้อหา 1-2-3-4-5 จะได้หรือเปล่ายังไม่รู้ อย่าว่าตนลอยตัวไม่ได้ 
       เวลา 16.30 น. นายกฯพร้อมคณะ เดินทางถึงพล.ม.2 และได้หารือเป็นการภายในกับ พล.อ.อนุพงษ์ พล.อ.ดาว์พงษ์ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เกือบ 30 นาที ที่ห้องรับรอง และก่อนเดินทางกลับ นายกฯ ได้เปิดกระจกทักทายสื่อมวลชน พร้อมชูนิ้วสัญลักษณ์ ไอเลิฟยู และส่งยิ้มให้ด้วย


พบประชาชน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ทักทายประชาชน ระหว่างไปเป็นประธานเปิดงานวันต้นไม้ประจำปีของชาติ ที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแควระบมและป่า สียัด อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อวันที่ 10 มิ.ย.


วิษณุ ไม่ปฏิเสธเปิดช่องให้สมคิด
     เมื่อเวลา 15.45 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการยกเลิกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของสนช. จนเกิดกระแสว่าทำเพื่อเปิดทางให้นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช. เข้ามารับ ตำแหน่งในครม.ว่า ของเดิมเขียนว่าคนที่จะเป็นสนช. ต้องไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง ครั้งนี้แก้เป็นว่าไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอน ฉะนั้นถ้าเคยถูกเพิกถอนแล้วพ้นกำหนดมาแล้ว ก็จะไม่มีข้อห้ามต่อไป เมื่อ 6-7 เดือนก่อนที่เขียนไว้ เพราะเพิ่งเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ จึงต้องเขียนห้ามไว้เช่นนั้น แต่ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้ห้ามไว้ จึงพยายามเขียนให้สอดคล้องกัน จะเห็นว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวได้แก้อะไรหลายอย่างให้เข้ากับรัฐธรรมนูญที่เขาร่างกันอยู่ เช่น ในร่างฉบับใหม่กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนฯ จึงแก้ไขในฉบับชั่วคราวให้มีสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อจะได้ส่งต่อกันได้
      นายวิษณุ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญถาวรหรือฉบับใหม่ ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมือง แต่พูดว่าไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิ ครั้งนี้จึงแก้ให้สอดคล้องกัน ส่วนแก้แล้วใครได้ประโยชน์หรืออานิสงค์จากตรงนี้ก็ไปว่ากันเอง เจตนาหนึ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้คือ คนที่จะมาเป็นสนช. สปช. สภาขับเคลื่อนฯ ต่อไปจะนำคนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิทางการเมืองเข้ามาได้ ซึ่งอาจทำให้การปรองดองและการปฏิรูปเป็นรูปธรรมเพิ่มขึ้นในระดับหนึ่ง ส่วนจะเป็นรัฐมนตรีหรือไม่ ไม่ใช่จะเป็นกันได้ง่ายๆ คุณสมบัติเท่าที่มีอยู่ ก็ไม่ได้สามารถเข้ามาเป็นได้ง่ายๆ ส่วนนักการเมืองบ้านเลขที่ 111 กับ 109 ถ้าพ้นกำหนดแล้ว ถือว่าเข้ามาได้ แต่ถ้าคนที่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิก็ยังติดอยู่ ไม่สามารถเข้ามาได้

ชี้คนมีความสามารถเข้ามาได้
     เมื่อถามว่านายสมคิดจะเข้ามาดำรงตำแหน่งได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่ายิ่งกว่านายสมคิด ยังมีอีกหลายคนที่มีโอกาสเข้ามาดำรงตำแหน่งในสภาขับเคลื่อนฯ เพราะส่วนนั้นมีถึง 200 คน ส่วนจะเพิ่มแรงกดดันจากฝ่ายตรงข้ามหรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ ซึ่งการแก้ไข ไม่ได้ตั้งใจหรือเกี่ยวข้องกับกระแสกดดันเพราะไม่มีใครมากดดัน ยอมรับว่ามีเรื่องอื่นที่กดดัน แต่เรื่องนี้ไม่มีใครมากดดัน เรื่องอย่างนี้กดให้ตาย นายกฯก็ไม่มีวันยอม
     เมื่อถามว่า ช่วยในเรื่องปรองดองมากกว่า นายวิษณุกล่าวว่า สรุปคือการแก้ไขเช่นนี้มันไม่มีโทษ มีแต่ประโยชน์ การไปล็อกไว้อย่างเดิมมีโทษ เพราะส่วนหนึ่งทำให้ขาดคนมีความสามารถเข้ามาทำงาน และคนที่มีความสามารถ อย่าคิดว่าจะเอาไปเป็นรัฐมนตรี อาจไปอยู่ในสนช. หรือเป็นอะไรได้อีกเยอะ ซึ่งไม่เป็นธรรมที่จะไปร่างเพื่อห้ามเขาไว้ตลอดชาติ และตอนนี้เป็นสัญญาณที่ดีที่จะเดินไปข้างหน้าเพื่อให้เกิดความสงบสุข
     เมื่อถามว่า กรณีเสนอให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือกตั้ง หากให้มีประชามติเรื่องดังกล่าวจริง ทำไมจึงไม่ให้เหตุผลตรงๆ กับสังคม จะรับได้มากกว่า นายวิษณุกล่าวว่าไม่ได้คิดว่าจะต้องอยู่ต่อ จึงไม่สามารถพูดตรงๆ หรือพูดอ้อมๆ เอียงๆ เฉียงๆ ได้ เราอย่าเพิ่งคิดว่าการที่เราเปิดทางให้ประชามติเรื่องอื่นได้แล้วจะนำไปสู่เรื่องดังกล่าว และปฏิเสธไม่ได้ว่านำไปสู่เรื่องนั้นได้ แต่ไม่ได้หมายความว่าต้องนำไปสู่เรื่องนั้น อาจมีบางเรื่องหรือหลายเรื่องที่น่าถาม อาจมีโจทย์ที่คิดว่าสังคมต้องการคำตอบ ถ้าจะต้องไปแก้รัฐธรรมนูญอีกก็อาจไม่ทันการณ์ 

เตรียมเชิญกกต.ถกประชามติ
       เมื่อถามว่าร่างแก้ไขใน 7 ประเด็น ได้ส่งไปยังสนช.แล้วหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่าเวลานี้ยัง หากไม่ทันภายในวันนี้ อาจเป็นช่วงเช้าวันที่ 11 มิ.ย. ส่วนที่กกต.ประกาศวันทำประชามติวันที่ 10 ม.ค.2559 นายวิษณุกล่าวว่า ตั้งใจจะเชิญทั้งกกต. กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ มาหารือเรื่องประชามติ โดยไม่ได้แทรกแซง แต่จะสอบถามว่ากกต.มีอะไรให้รัฐบาลช่วยบ้าง หรือสอบถามกระทรวงมหาดไทยว่าผู้มีสิทธิออกเสียงทำประชามติมีเท่าใด และอาจสอบถามสำนักงบประมาณถึงความพร้อมเรื่องงบ ซึ่งตนจะหารือก่อนรายงานให้ครม.ทราบต่อไป
      เมื่อถามถึงนายกฯสั่งการให้ทุกกระทรวงรวบรวมงานเพื่อส่งต่อในเดือนเม.ย. 2559 นายวิษณุกล่าวว่า นายกฯคงคาดการณ์ว่าสมมติทำประชามติในเดือนม.ค. 2559 เสร็จ ความชัดเจนในเรื่องการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงนั้น ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเลือกตั้งในเดือนเม.ย. 2559 แต่ขั้นตอนต่างๆ จะเริ่มชัดเจน จึงจำเป็นต้องส่งงานทั้งหมดเพื่อส่งต่อให้กับรัฐบาลใหม่

กมธ.ยกร่างฯขานรับขยายเวลา
      เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมลับเพื่อหารือถึงมติ ครม. และคสช. ที่เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 โดยเฉพาะเรื่องขยายกรอบเวลาการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ อีกไม่เกิน 30 วัน
      นายเจษฎ์ โทณวณิก กมธ.ยกร่างฯ ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นเรื่องดีที่ครม.เห็นชอบให้ขยายเวลาอีกไม่เกิน 30 วัน เพื่อให้มีเวลาทำงานมากขึ้น และการขยายเวลาดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการต่ออายุให้คสช. ส่วนการแก้ไขคุณสมบัติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จากที่ต้องไม่เป็นผู้เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง มาเป็นไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งนั้น มีนัยยะ คือเพื่อสร้างกลไกให้บุคคลที่ถูกตัดสิทธิเลือกตั้งเข้ามาเป็นสนช.ได้ เป็นการเปิดช่องให้ผู้ที่เคยตัดสิทธิ์ทางการเมืองมาเป็น สนช.ได้ รวมถึง ครม.และสปช.ด้วย เนื่องจากใช้ข้อกฎหมายเดียวกัน
      "ทั้งยังเปิดกว้างให้ผู้ที่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง อาทิ บ้านเลขที่ 111 และ 109 เข้ามามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น จะส่งผลให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากหลายฝ่ายมากขึ้น ทั้งนี้ ไม่ใช่เปิดพื้นที่ให้มีการต่อรอง แต่เปิดพื้นที่ให้พูดคุยกัน และไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 35 ที่กำหนดข้อห้ามไม่ให้ผู้ที่ต้องคำพิพากษาเข้าสู่การเมือง เนื่องจากบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นมาใหม่จะผูกพันเฉพาะปัจจุบัน แต่ในมาตรา 35 เป็นผลผูกพันไปถึงอนาคต" นายเจษฎ์กล่าว และว่า หลักการในกฎหมายคือจะไม่ลงโทษย้อนหลัง เมื่อบุคคลที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองได้รับโทษจนเสร็จก็ไม่ควรได้รับการลงโทษซ้ำอีก

สปช.เตรียมประชุมลับ-สรุปงาน
       ด้านนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เชื่อว่าสังคมจะยอมรับได้ต่อการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อปรับปรุงคุณสมบัติของสนช.และรัฐมนตรี หากบุคคลที่เข้ามาเป็นสนช.และรัฐมนตรีไม่ใช่บุคคลที่ทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งในประเด็นดังกล่าวต้องคำนึงถึงหลักนิติธรรมด้วย หากคนที่ถูกตัดสิทธิทางการเมือง ได้รับการลงโทษแล้ว 5 ปี กฎหมายก็ไม่ควรลงโทษเขาซ้ำอีก 
     นายไพบูลย์ กล่าวว่า ส่วนการเปิดให้ทำประชามติ ให้ทำมากกว่า 1 คำถามนั้น ตนมีแนวคิดจะเสนอต่อที่ประชุมสปช.ให้พิจรณา โดยนำข้อเรียกร้องของประชาชนที่ต้องการให้ปฏิรูปเสร็จก่อนการเลือกตั้งนำเสนอ โดยตามเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ที่มีการแก้ไขกำหนดวาระสปช. สิ้นสุดทันทีหลังวันลงมติรับหรือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในกระบวนการนำเสนอประเด็นคำถามประชามติจะต้องทำก่อนวันลงมติ
     นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสปช. หรือวิป สปช. เปิดเผยว่า วันที่ 15 มิ.ย. สปช.จะประชุมลับเพื่อหารือภายในถึงเวลาการทำงานที่เหลือของ สปช.หลังจากนี้ว่าจะทำงานต่อไปอย่างไร โดยสมาชิกสปช.จะวางแผนสรุปเนื้องานที่ได้ โดยพิจารณา 36 วาระการปฏิรูปที่เคยนำเข้าที่ประชุมสปช.ว่ามีเรื่องใดที่ยังไม่เรียบร้อย เพื่อเตรียมสรุปเนื้องานของสปช.ทั้งหมดส่งให้รัฐบาล

คาดสปช.ลงมติรับร่าง-ไม่รับ4ก.ย.
       พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ หลังจากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ว่า หลังจากนี้จะพิจารณาในภาพรวมไปก่อน เพราะต้องรอดูร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวว่าจะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร จะมีผลบังคับใช้ต่อกมธ.ยกร่างฯอย่างไร จะมีการขยายเวลาการทำงานหรือไม่ ขณะนี้กมธ.จะพิจารณาทั้งร่างรัฐธรรมนูญให้ครบทุกหมวดและทบทวนเป็นรายมาตรา โดยจะนำความเห็นของแต่ละกลุ่มมาประกอบการพิจารณาเป็นหลัก และพิจารณาในเรื่องสำคัญก่อน อาทิ ที่มาส.ว. ส.ส. ระบบโอเพ่นลิสต์ และกลุ่มการเมือง หากมีการขยายเวลาให้กมธ.ยกร่างฯ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะจะมีเวลาในการทบทวนร่างรัฐธรรม นูญมากขึ้น และหากกมธ.ยกร่างฯ ได้เวลาการทำงานเพิ่ม ร่างสุดท้ายจะส่งให้สปช. ในวันที่ 21 ส.ค. และลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญได้ในวันที่ 4 ก.ย. ส่วนสปช.จะอภิปรายก่อนลงมติได้หรือไม่อยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว
      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า หากรัฐธรรม นูญผ่านการทำประชามติ กมธ.ยกร่างฯจะอยู่ทำหน้าที่ต่อไปในการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่สปช.อาจจะเปลี่ยนบทบาทไปเป็นสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ แต่ขึ้นอยู่กับคสช.และร่างแก้ไขรัฐ ธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่าจะกำหนดอย่างไร 

พท.ติงแก้รธน.ปูทางสืบอำนาจ
      วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยกล่าวว่า การเสนอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของคสช.และครม. มีข้อสังเกตที่สำคัญหลายประการคือ 1.การกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศทันที ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านสปช. ถือเป็นการปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจชัดเจน เนื่องจากสภาขับเคลื่อนฯเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การตั้งองค์กรดังกล่าวโดยไม่รอให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับ เท่ากับมัดมือชกและไม่ฟังเสียงประชาชน 
      นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 2.การให้อำนาจนายกฯ ตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ แต่เพียงผู้เดียวโดยไม่ต้องได้รับโปรดเกล้าฯนั้น ขัดต่อหลักการทางนิติประเพณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ต้องได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งเช่นเดียวกับกรรมการในองค์กรอื่นๆ ตามรัฐธรรมนูญ และการให้อำนาจนายกฯ ตั้งสมาชิกถึง 200 คน โดยไม่ยึดโยงกับอำนาจของประชาชน เป็นการไม่เคารพในอำนาจอธิปไตยของปวงชน อาจถือได้ว่าเป็นสภาเผด็จการ

ชี้ใช้สภาขับเคลื่อนต่ออายุคสช.
       นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 3.การให้สปช.สิ้นสุดลง ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ และตั้งสภาขับเคลื่อนฯ ขึ้นแทนทันที เป็นการปูทางเพื่อต่ออายุให้กับรัฐบาลและคสช. เพราะเป็นไปได้ที่สปช.อาจโหวตไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนลงประชามติ กินเวลาเกือบ 1 ปี ส่วนสมาชิก สปช.และกมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่อาจได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ ต่อไป หรือร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของสปช. แต่ประชาชนลงประชามติไม่รับ กระบวนการยกร่างก็ต้องนับหนึ่งใหม่ ตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมา ซึ่งใช้เวลานานเช่นกัน 


ดมยา - นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรฯ นั่งพักดมยาหลังเกิดอาการวูบ ระหว่างร่วมคณะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เปิดงานวันต้นไม้ ที่อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อ 10 มิ.ย.


      "จึงได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่ายทั้งคสช. ครม. สปช. หรือกมธ.ยกร่างฯเดิม ที่อาจได้รับแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ใหม่ แต่ผู้เสียประโยชน์คือประเทศชาติและประชาชน หากสปช.ไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือให้ความเห็นชอบ แต่ไม่ผ่านประชามติ ขอให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยสูง มาใช้บังคับชั่วคราวไปก่อน และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมต่อไป เพื่อไม่ให้รัฐต้องสูญเสียเงินทำประชามติถึง 2 ครั้ง" นายชูศักดิ์กล่าว

จี้แก้เพื่อทำประชามติรธน.เท่านั้น
      นายชูศักดิ์ กล่าวว่า 4.การเปิดช่องให้ทำประชามติในคำถามอื่น เป็นการเปิดโอกาสให้สปช.และสนช. เสนอคำถามต่ออายุ นายกฯ เพื่อให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่หลายฝ่ายคัดค้าน จนต้องมาแก้ตัวกันเป็นพัลวันในภายหลัง และ 5.การตั้งคำถามอื่นในการออกเสียงประชามติ จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ คือหากคำถามดังกล่าวไม่ผ่านประชามติ และเรื่องดังกล่าวยังไม่มีการเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือกรณีร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องดังกล่าวไว้ หากประชาชนลงประชามติเห็นชอบ ก็ต้องกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญอีก จึงทำให้เกิดปัญหาว่าร่างรัฐ ธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ นั้น ไม่ใช่ร่างรัฐ ธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ 
      "ดังนั้น ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ และการกำหนดเงื่อนไขเปิดช่องให้สอบถามประชาชนในประเด็นอื่น เพราะความต้องการของประชาชน คือให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อเพิ่มอำนาจหรือต่ออายุให้นายกฯ"นายชูศักดิ์กล่าว

ณัฐวุฒิ ชำแหละเจตนาคลุมเครือ
      ด้านนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า จากเนื้อหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น มีบางประการ เช่น การเปิดช่องให้คนบ้านเลขที่ 111 และ 109 เข้าดำรงตำแหน่งการเมืองได้ น่าจับตามองว่าหากปรับครม.หรือแต่งตั้งตำแหน่งอื่นโดย อำนาจคสช. จะปรากฏคนกลุ่มนี้ให้เห็นสายสัมพันธ์ทางการเมืองของคสช.หรือไม่ 
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ส่วนที่เจตนาทำให้คลุมเครือหากจะต่อท่ออำนาจโดยอาจใช้ช่องทางนี้คือ การเปิดให้ตั้งคำถามอื่นในประชามติ ถ้าผลออกมาขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้กมธ. ยกร่างฯ แก้ให้สอดคล้องแล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยจึงค่อยทูลเกล้าฯนั้น หากยึดตามพ.ร.บ.ประชามติ จะทำในเรื่องที่ขัดรัฐธรรมนูญมิได้ หมายความว่าคสช.กำหนดกติกาใหม่ เท่ากับร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านสปช.มาทำประชามติจะไม่ใช่ร่างสุดท้าย อาจปรับแก้ตามผลประชามติในภายหลัง หากผลประชามติออกมาว่ารับร่างรัฐธรรมนูญแต่ต้องไปแก้ตามผลจากคำถามอื่น เท่ากับรัฐธรรมนูญนี้เป็นคนละฉบับกับที่ลงประชา มติหรือไม่ แล้วจะอ้างความชอบธรรมมาบังคับใช้ได้อย่างไร 

มีงานรอในสภาขับเคลื่อน-ตั้งเอง
     นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ส่วนที่กำหนดให้สปช.พ้นไปทันทีตั้งแต่ลงมติรับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น ถ้ามองตามที่นายวิษณุอธิบาย อาจเข้าใจได้ว่าเพื่อตัดข้อครหาเรื่องหวยล็อก ถ้ารับอยู่ต่อ ไม่รับตกงานตามบทบัญญัติเดิม แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่ง การเปิดช่องแบบนี้จะรับหรือไม่รับก็ค่าเท่ากัน เพราะมีงานรออยู่ในสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งนายกฯ ตั้งเองเบ็ดเสร็จ นอกจากเบี่ยงประเด็นสืบทอดอำนาจโดยตั้งไว้ก่อนรัฐธรรมนูญใหม่บังคับใช้แล้ว ยังคิดต่อได้ว่าสปช.อาจลงมติไม่รับร่าง แบบเนียนๆ แล้วตั้งกันใหม่ อยู่กันต่อ กรอบเวลา 2 ปีตามที่เปิดประเด็นไว้
    "ผมคิดว่า การแก้รัฐธรรมนูญควรให้เกิดผลจำกัดแค่เรื่องประชามติ แต่ที่ทำเป็นเขาวงกตแบบนี้ คือการแก้โจทย์อำนาจของคสช.หรือไม่ อยากให้เนติบริกรตระหนักว่า แม้ประชาชนจะเข้าใจเทคนิคกฎหมายไม่เท่าพวกท่าน แต่การมองความจริงด้วยสติปัญญาอย่าได้ประมาทกัน วันไหนจับได้ไล่ทันแล้วจะยิ่งยุ่ง คำว่ารู้เขาหลอกแต่เต็มใจให้หลอกใช้ได้เสมอบนเวทีลูกทุ่ง แต่ในความเป็นจริงไม่แน่เสมอไป" นายณัฐวุฒิกล่าว

วรชัย เชื่อแก้เพราะอยากตั้งสมคิด
      นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นอกจากการแก้ไขเพื่อเปิดทางทำประชามติแล้ว ที่น่าสนใจคือการปลดล็อกคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามสนช. แสดงให้เห็นว่านายกฯ น่าจะปรับครม.โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจหรือไม่ เป็นไปได้ว่านายกฯอาจจะดึงนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษาคสช.มาเป็นรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ ซึ่งนายสมคิดเคยเป็นรองนายกฯ และรมว.คลังสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และเป็นอดีตสมาชิกบ้านเลขที่ 111 
       "สถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลมาก คิดว่านายกฯเริ่มมองเห็นปัญหา จึงถึงเวลาแล้วที่นายกฯต้องปรับครม.ด้านเศรษฐกิจ ผมสนับสนุนให้ตั้งนายสมคิดมาเป็นรมว.คลัง เพราะถือเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และเป็นที่ยอมรับ"นายวรชัยกล่าว

มาร์คห่วงเปิดทางกลุ่มการเมือง
      ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับสำนักเสริมศึกษาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดโครงการฝึกอบรมการพัฒนาข้าราชการในตำแหน่งวิทยากรให้เป็นนักวิชากรนิติบัญญัติ ในหัวข้อ 'บทบาทของฝ่ายบริหาร มุมมองของฝ่ายนิติบัญญัติ'โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวบรรยายว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านสปช. และประชามติจะเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างมาก เพราะจะมีกลุ่มการเมืองเข้ามา ทั้งที่กระบวนการประชาธิปไตยของเราเดินมาระดับหนึ่งแล้ว ขออย่ามองว่าเป็นเรื่องเลวร้ายไปหมด ตนแพ้เลือกตั้ง 2 ครั้ง ก็ยังไม่เคยพูดว่าพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเป็นปัญหา ปัญหาอยู่ที่เมื่อได้เสียงมาแล้วเอาไปทำอะไร 
      นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตอนนี้สถิติการร่างรัฐธรรมนูญของเราแย่ลง เพราะเราใช้เวลาในการเขียนรัฐธรรมนูญมาก ห้องสมุดจะรกและเต็มไปด้วยรัฐธรรมนูญ ที่สำคัญรัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ยาวขึ้นเรื่อยๆ และหลายเรื่องไม่ควรเขียน แต่ก็เขียน

เตือน-ประชามติต่ออายุนายกฯ
     นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่าการพูดเรื่องการต่ออายุรัฐบาลให้บริหารประเทศต่อไปอีก 2 ปีนั้น รัฐบาลได้อยู่บริหารราชการแผ่นดินต่ออยู่แล้ว เพราะร่างรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมสปช. เพื่อขอความเห็นชอบว่าจะให้ผ่านหรือไม่ผ่าน ในเดือนส.ค. จากนั้นจะเริ่มกระบวนการทำประชามติ ออกกฎหมายลูก และเตรียมการเลือกตั้ง โดยใช้เวลาประมาณปีกว่าๆ แต่ไม่ได้หมายความจะผ่านความเห็นชอบจากสปช.และผ่านประชามติ เพราะโอกาสที่ไม่ผ่านก็มี และหากไม่ผ่านคงไม่มีใครว่าอะไร เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่กำลังร่างกันอยู่มีคนคัดค้านมาก และถ้าไม่ผ่านก็เริ่มต้นกระบวนการใหม่ ซึ่งใช้เวลาเกือบ 2 ปีแล้ว ทั้งนี้หากต้องประชามติจริง จะเกิดความวุ่นวายอย่างมาก เพราะการไปทำประชามติโดยถามประชาชนว่า อยากให้นายกฯอยู่ต่ออีก 2 ปี หรือไม่ควรอยู่ นั่นคือ การหมายความว่า จะเปิดเวทีให้ทุกฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ให้นายกฯอยู่และไปปราศรัยทั่วประเทศใช่หรือไม่ แต่ถ้าบอกว่าไม่ให้ ครั้งนี้ต่างชาติจะออกมาแน่ เพราะเขาจะบอกว่านอกจากปฏิวัติแล้วยังมาประชามติปลอมเพื่อสืบทอดอำนาจอีก

อาจผ่าน-แต่จะเกิดวุ่นวายตามมา
      "ถ้าให้ผมประเมินอาจจะผ่าน แต่ผ่านด้วยคะแนนแบบ 55-45 เปอร์เซ็นต์ ถ้าบางภาคไม่เอาด้วยจะปกครองอย่างไร เพราะต่างจังหวัดอาจจะไม่บอกว่านายกฯเป็นคนไม่ดี แต่ประชาชนจะถามว่านายกฯรับได้หรือไม่ถ้าอยู่ต่ออีก 2 ปี ราคาข้าว 6,000 บาท ผมว่านายกฯ คิดหนัก เพราะตอนนี้ต่างจังหวัดเศรษฐกิจจะตายหมดแล้ว ผมไม่เข้าใจคนเสนอว่าคิดอย่างไร คนเราจะตายเพราะคนที่รัก ไม่ใช่คนที่เกลียด ถ้าทำประชามติจริงดีไม่ดีรัฐบาลไม่ได้อยู่ต่อ 2 ปี แต่ถ้าอยู่แบบธรรมชาติ และมีคำตอบว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการทำประชามติ มีวิธีจะทำอย่างไรให้กระบวนการทำใหม่ดีขึ้น กระชับขึ้น ประชาชนรับได้อยู่แล้ว แต่ถ้าทำประชามติแล้วบอกอยู่ 2 ปี ไม่รู้ตกลงจะได้อยู่กี่ปีกันแน่ ถ้าบอกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมายังไม่พอ ผมยังหาคำตอบไม่ได้ว่า ต้องอยู่อีกปีแล้วถึงจะพอ เพราะประเทศจะต้องยุ่ง วุ่นวายมาก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

ติงอย่าแก้รัฐธรรมนูญจนเกินเลย
      นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนายวิษณุระบุครม.และคสช. เห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ใน 7 ประเด็นว่า ตนยังไม่เห็นตัวร่าง แต่จำเป็นต้องแก้ไขอยู่แล้วเพราะจะทำประชามติ ซึ่งเข้าใจว่าอะไรที่ครม.และคสช.มองว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน หรือการวางโครงสร้างก็ต้องแก้ไปพร้อมกัน จึงต้องดูรายละเอียดว่าเขียนอย่างไร และกระบวนการทำประชามติ นอก จากการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว อยู่ที่คำถามด้วย
       ผู้สื่อข่าวถามว่าการกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ไม่เกิน 200 คน โดยเปิดให้สปช.ชุดเดิม กลับมาดำรงตำแหน่งได้ จะขัดแย้งกับหลายฝ่ายที่เสนอตัดทิ้งหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้เท่าที่จำเป็น เพื่อให้กระบวนการเดินไปได้ตามโรดแม็ป การทำประชามติถือเป็นหัวใจสำคัญ อะไรที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของสนช.และสปช. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง คงไม่จำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เกินเลยไปกว่านั้น เพราะจะต้องให้สนช.พิจารณาโดยรวดเร็ว

พท.คัดสำนวนต่อสู้คดีถอดถอน
     ที่รัฐสภา นายสามารถ แก้วมีชัย พร้อม นพ.เหวง โตจิราการ นายชวลิต วิชยสุทธิ์ นายวิชาญ มีนชัยนันท์ พล.ต.อ.วิรุฬห์ ฟื้นแสน นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย ได้เดินทางมาคัดสำนวนการไต่สวนข้อเท็จจริงและตรวจสอบพยานหลักฐานที่มีจำนวนกว่า 30,000 หน้า กรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน ที่ร่วมกันพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มาส.ว. เพื่อให้อดีตส.ส.รับทราบข้อกล่าวหาล่วงหน้า 15 วัน ก่อนการพิจารณาคดีนัดแรกวันที่ 26 มิ.ย.
      นายสามารถ กล่าวว่า วันนี้ได้มาแสดงเจตจำนงใช้สิทธิแก้ข้อกล่าวหาและตรวจสำนวน พร้อมยืนยันว่าจะขอยื่นเพิ่มเติมพยานหลักฐานทั้งพยานเอกสาร พยานบุคคลที่ป.ป.ช.ไม่อนุญาตให้ยื่นก็จะนำมาแสดงต่อสนช.ด้วย โดยจะยื่นแสดงเจตจำนงภายในวันที่ 20 มิ.ย. อดีตส.ส.ทั้ง 248 คนได้หารือและเห็นด้วยว่าจะมาชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาด้วยตัวเองตลอดกระบวนการจนถึงแถลงปิดสำนวนด้วยวาจา แต่มีข้อสังเกตสำนวน 1 ใน 248 อดีตส.ส. นายทองดี มะนิสาร อดีตส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย เสียชีวิตไปแล้วแต่สำนวนป.ป.ช.กลับยังไม่จำหน่ายคดีออก จึงอาจต้องจุดธูปเพื่อเชิญมาร่วมเปิดสำนวนคดีนัดแรกด้วย
       นายสามารถ กล่าวว่า หนักใจปัญหาข้อกฎหมายในสำนวนชี้มูลถอดถอน แต่ก็เชื่อว่าจะชี้แจงได้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมต่อสำนวน ป.ป.ช.ที่แยกคดีชี้มูล 38 ส.ว. คดีนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ นายนิคม ไวยรัชพานิช และคดี 248 ส.ส. เป็นสำนวนคดีเดียวกันและเป็นสมาชิกรัฐสภาที่ร่วมดำเนินกระบวนการเดียวกันแต่กลับถูกแยกสำนวน ในเมื่อคดีที่ผ่านมาสนช.มีมติไม่ถอดถอนแล้ว ตรรกะปกติถ้าเป็นมาตรฐานเดียวกัน และเป็นไปตามกติกาบ้านเมืองก็หวังว่าการพิจารณาของสนช.คดีนี้จะเป็นแนวทางเดียวกัน แต่บรรยากาศตอนนี้ก็ลุ่มๆ ดอนๆ เราก็ยังหวังว่าสมาชิกสนช.จะสร้างมาตรฐานเดียว กันอยู่ ไม่อย่างนั้นคงจะอธิบายสังคมไม่ได้

สามารถเชื่อรธน.ไม่ผ่านสปช.
      นายสามารถ กล่าวกรณีครม.และคสช.ขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว 7 ประเด็นว่า รัฐบาลจะอยู่ยาว และเชื่อว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ จะไม่ผ่านความเห็นชอบของที่ประชุมสปช. เพราะหากยกร่างแล้วเสร็จก็จะมีผลให้สมาชิกสปช.ทั้งหมดสิ้นสภาพ จึงมีการตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศมารองรับ และให้สมาชิกสปช.เข้าไปนั่งในสภาขับเคลื่อนฯได้ ขณะเดียวกัน เมื่อร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบจากสปช. คสช.ก็จะตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้นมา 21 คน โดยให้กรรมาธิการชุดเดิมสามารถเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ได้นั่นเอง จึงทำให้เชื่อได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายบวรศักดิ์ จะไม่นำไปสู่การจัดทำออกเสียงประชา มติเช่นกัน เพราะปัจจัยการสูญเสียเงิน 3,000 ล้านบาท 
       "ขณะนี้กระแสร่างรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับ ถ้าประชาชนออกเสียงไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็จะเกิดความเสียหาย ดังนั้น เชื่อว่าสมาชิกสปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อไล่เวลาดูแล้วเป็นการวางหมากให้กระบวนการปฏิรูปประเทศอยู่ยาวกว่า 2 ปี และจะไม่มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น คาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นได้ในปี 2562" นายสามารถกล่าว

ภท.ย้ำ-ยังเฝ้ารอการเลือกตั้ง
      ด้านนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่าวันนี้สิ่งที่สังคม ประชาชนมองอยู่ คือเรื่องการที่คสช.และครม.จะอยู่ต่อหรือไม่ ซึ่งในที่สุด พล.อ.ประยุทธ์ยืนยันว่าทุกอย่างเป็นไปตามโรดแม็ปของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกรอบที่ใช้ทำงาน ดังนั้น เมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญแสดงว่าโรดแม็ปจะเปลี่ยนแปลงไปด้วยใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้ผู้มีอำนาจต้องอธิบายให้เข้าใจว่าเพราะอะไร แม้ว่าใน 7 ประเด็น มีบางประเด็นที่แก้ไขแล้วเป็นเรื่องดี แต่บางประเด็นย่อมถูกตั้งคำถามว่าต้องการสืบทอดอำนาจหรือไม่ ในประเทศย่อมประกอบด้วยคนเห็นด้วย และเห็นต่าง รวมทั้งต่างประเทศก็จับตาดูอยู่ ดังนั้น แม้ว่าครม.และคสช.จะมีอำนาจในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว แต่ต้องอธิบายต่อสังคมให้ได้ด้วย 
     นายศุภชัย กล่าวต่อว่าส่วนตัวมองว่าสิ่งที่ทุกคนเฝ้ารอวันนี้คือการเลือกตั้ง เพราะนักการเมืองจะมีบทบาทได้ต่อเมื่อมีการเลือกตั้ง ซึ่งเราพร้อมที่จะรอกติกาที่เป็นประชาธิปไตย

กกต.เล็งประชามติวันที่ 10 ม.ค.
       ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวถึงโรดแม็ปการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากครม.พิจารณาร่วมกับคสช. ให้ความเห็นชอบส่งร่างฉบับแก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ. 2558 ไปยังสนช. ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวว่า กกต.ได้เตรียมความพร้อมไว้รองรับแล้ว หากสปช.ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ก.ย. ตามโรดแม็ปที่กำหนดไว้ ภายในวันที่ 16 ก.ย. สปช.จะต้องส่งต้นฉบับของร่างรัฐธรรมนูญมาให้กกต. 
     นายศุภชัย กล่าวว่า จากนั้นวันที่ 30 ก.ย. กกต.จะต้องจัดหาโรงพิมพ์ที่มีศักยภาพและมีประสิทธิภาพเพียงพอ จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ 19 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 80 ครัวเรือน ให้เสร็จภายใน 45 วัน หรือภายในวันที่ 15 พ.ย. และกกต.ต้องทยอยแจกจ่ายร่างรัฐ ธรรมนูญเพื่อให้ประชาชนได้ศึกษาภายในวันที่ 30 พ.ย. จากนั้นจะมีการลงประชามติโดยกำหนดวันที่ 10 ม.ค. 2559
     นายศุภชัย กล่าวว่า การกำหนดประเด็นคำถามทำประชามตินั้น เป็นหน้าที่ของสปช.และสนช. ต้องดำเนินการและเสนอต่อครม. หากครม.พิจารณาแล้วเห็นว่าเหมาะสมก็ส่งมาให้กกต.ดำเนินการ ซึ่งคำถามนั้นจะมีนอกเหนือจากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรรมนูญก็ได้ ไม่เป็นปัญหาหรือเป็นเรื่องยุ่งยากต่อกกต. ตั้งคำถามได้หลายข้อ แต่ต้องไม่เป็นคำถามที่ชี้นำ หรือทำให้ประชาชนสับสนหรือเข้าใจยาก หากมีคำถามที่ไม่เหมาะสม กกต.อาจตั้งข้อสังเกตแจ้งให้ครม.รับทราบ แต่เชื่อว่าครม.จะพิจารณาตั้งคำถามที่เหมาะสมและรอบคอบ

โพลหนุนประชามติ'บิ๊กตู่'ต่อ2ปี
      วันที่ 10 มิ.ย. "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เผยผลสำรวจเรื่อง "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรเป็นนายกฯ อีกนานแค่ไหน?" สำรวจประชาชนทั่วประเทศ 1,250 หน่วยตัวอย่าง วันที่ 8-9 มิ.ย. เกี่ยวกับระยะเวลาการดำรงตำแหน่งที่เหมาะสมของ นายกฯ และแม่น้ำทั้ง 4 สาย ประกอบด้วย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) และคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ พบว่า ร้อยละ 30.08 ระบุพล.อ.ประยุทธ์ ควรเป็นนายกฯ แค่ตามโรดแม็ปที่วางไว้ คือเป็น นายกฯ กระทั่งมีรัฐธรรมนูญใหม่และกฎหมายประกอบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ร้อยละ 27.28 ควรเป็นนายกฯ ต่อไปอีก 2 ปี หลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปฏิรูปประเทศให้พร้อมก่อนการเลือกตั้ง ร้อยละ 18.16 ควรเป็นนายกฯ ต่อไปจนถึงปี 2563 เพื่อบริหารประเทศให้บรรลุวิสัยทัศน์ประเทศไทยปี 2558-2563 "มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" และร้อยละ 12.96 ระบุพล.อ.ประยุทธ์ ควรลงจากตำแหน่งนายกฯ ได้แล้ว
      ส่วนการบริหารงานของคสช.นั้น ร้อยละ 53.87 ระบุควรอยู่ต่อ ร้อยละ 7.39 ระบุไม่ควรอยู่ต่อ ด้านสนช. ร้อยละ 50.70 ระบุควรอยู่ต่อ ร้อยละ 7.39 ระบุไม่ควรอยู่ต่อ ส่วนสปช. ร้อยละ 51.41 ระบุควรอยู่ต่อ ร้อยละ 7.57 ระบุไม่ควรอยู่ต่อ ด้านกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร้อยละ 51.23 ระบุควรอยู่ต่อ ร้อยละ 7.04 ระบุไม่ควรอยู่ต่อ
      เมื่อถามถึงข้อเสนอทำประชามติให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ต่อไปอีก 2 ปีหลังจากมีรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อปฏิรูปประเทศให้พร้อมก่อนเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 72.08 ระบุเห็นด้วยกับข้อเสนอ เพราะต้องการให้ประชาชนมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย และต้องการทราบว่าประชาชนส่วนใหญ่คิดเห็นอย่างไรเพื่อแสดงถึงความโปร่งใส เตรียมพร้อมประเทศเพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่สภาวะปกติ ร้อยละ 21.04 ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอเพราะสิ้นเปลืองงบประมาณ ควรจัดการเลือกตั้งให้เร็วที่สุดเพื่อให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาต่างๆ

'ตู่'เยือนสิงคโปร์-ถก'ลี เซียน ลุง'
      เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในวันที่ 11-12 มิ.ย.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะ จะเดินทางเยือนสาธารณรัฐสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายลี เซียน ลุง นายกฯสิงคโปร์ เพื่อแนะนำตัวในโอกาสเข้ารับตำแหน่งและสร้างความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางการเมืองและเศรษฐกิจของไทยแก่ภาครัฐบาลและภาคเอกชนของสิงคโปร์ พร้อมร่วมประชุมอย่างไม่เป็นทางการระหว่างนายกฯไทยและสิงคโปร์ ในปีที่เฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและสิงคโปร์
       พล.ต.วีรชน กล่าวว่า ภารกิจในวันที่ 11 มิ.ย. นายกฯ เยี่ยมคารวะนายโทนี่ ตัน เค็ง ยัม ประธานาธิบดีสิงคโปร์ และประชุมอย่างไม่เป็นทางการกับนายกฯสิงคโปร์และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ช่วงเย็นร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกความตกลงและบันทึกความเข้าใจ 4 ฉบับ และร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำในช่วงเย็น
     จากนั้น เช้าวันที่ 12 มิ.ย. นายกฯ พร้อมนางนราพร จันทร์โอชา ภริยา และคณะ เข้าร่วมพิธีตั้งชื่อกล้วยไม้ และพบปะนักกีฬาไทยที่เข้าร่วมแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 28 จากนั้นหารือระหว่างรับประทานอาหารกลางวันกับนักธุรกิจชั้นนำของสิงคโปร์จากหลายสาขา อาทิ เทคโนโลยี อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม ธนาคาร การบิน ไปรษณีย์ ไอที และช่วงบ่ายเยี่ยมชม Marina Bay Cruise Centre ทั้งนี้ นายกฯและคณะออกเดินทางโดยเที่ยวบินพิเศษ จากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ในวันที่ 11 มิ.ย.เวลา 09.00 น. ไปยังท่าอากาศยานนานาชาติชางงี เพื่อร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ และเดินทางกลับโดยเครื่องบินกองทัพอากาศกลับถึงกรุงเทพฯ ช่วงเย็นวันที่ 12 มิ.ย.นี้ 

บิ๊กป้อมเผยยังไม่ถอดยศทักษิณ
       เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการคัดเลือกผบ.ตร.คนต่อไปว่า เป็นอำนาจของ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร.คนปัจจุบัน จะเป็นผู้ตัดสินใจเลือกบุคคลที่ไว้วางใจและมีความรู้ความสามารถมาดำรงตำแหน่งนี้แทน เชื่อว่า พล.ต.อ.สมยศจะพิจารณาในเรื่องความรู้ความสามารถ ความเหมาะสม มีอาวุโส ตอบสนองนโยบายของรัฐบาลได้ ที่สำคัญต้องได้รับการยอมรับจากตำรวจ แต่หากรายชื่อที่เสนอเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ (ก.ต.ช.)ไม่ดี ไม่เหมาะสม ก็จะไม่ผ่านการพิจารณา ซึ่งในก.ต.ช. มีทั้งนายกฯ รองนายกฯ และปลัดกระทรวงต่างๆ ทำงานร่วมกับตร.อีกหลายคนร่วมกันพิจารณา 
     ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะที่กำกับดูแลตร. มีสเป๊กหรือคุณสมบัติของ ผบ.ตร.ที่ต้องการหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่มี ทุกอย่างขึ้นอยู่กับพล.ต.อ.สมยศ เป็นผู้เสนอรายชื่อเข้ามา เมื่อถามว่าเท่าที่เห็นรายชื่อแคนดิเดตทั้ง 3 คน เหมาะสมหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า เหมาะสมทุกคน ยืนยันไม่มีใบสั่งจากรัฐบาลและคสช. ซึ่งผบ.ตร.ทำงานมาหลายปี จะเกษียณอยู่แล้ว เขารู้ดีกว่าตน เพราะทำงานคลุกคลีในวงการตำรวจมานาน ตนดูแลแต่เรื่องนโยบาย ไม่ได้ลงไปในรายละเอียด ทั้งนี้ ผบ.ตร.ต้องพิจารณาให้ดีและต้องรับผิดชอบ หากเลือกคนไม่ดีเข้ามา พล.ต.อ.สมยศก็โดนเอง ตนไม่เกี่ยว ยืนยันฝ่ายการเมืองจะไม่เข้าไปล้วงลูกแน่นอน 
       ผู้สื่อข่าวถามว่ามีการพูดคุยทวงถามพล.ต.อ.สมยศ ถึงกรณีการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่คุย จะไปคุยทำไม ไม่ใช่หน้าที่ของตน ผบ.ตร.รับผิดชอบเรื่องนี้ ทุกอย่างทำตามกฎหมายที่เขียนไว้ชัดเจน 
     เมื่อถามว่า หวั่นจะเกิดกระแสต่อต้านหลังการถอดยศหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ถ้าหวั่นใจ ตนคงไม่มายืนอยู่ตรงนี้ แต่ตอนนี้ยังไม่ได้ถอดยศ อย่าเพิ่งมโนไปไกล เรื่องแบบนี้ประเมินก่อนไม่ได้ มันเป็นเรื่องข้อเท็จจริง เขาทำตามกฎหมาย ผบ.ตร.ต้องตรวจสอบให้เป็นไปตามกฎหมาย เวลานี้เรื่องอยู่ตรงไหน ตนยังไม่รู้เลย เพราะเป็นเรื่องของ ผบ.ตร. 
     ส่วนที่พ.ต.ท.ทักษิณโพสต์รูปลงเครือข่ายสังคมออนไลน์บ่อยครั้ง พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า ตนไม่ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่จับตาตรวจสอบความเคลื่อนไหว หากไม่ได้ทำให้คนส่วนใหญ่เกิดความขัดแย้งก็ไม่เป็นไร ส่วนที่ถามกันว่าจะจับกุมหรือไม่นั้น อยากถามว่าทำไมรัฐบาลที่ผ่านมาไม่ไปจับ ทำไมต้องมาจับในรัฐบาลชุดนี้ ตนไม่ได้เข้ามาแก้แค้นใคร มาเพื่อทำให้เกิดความ

สงบ 

 

'อจ.-นักการเมือง'วิพากษ์ ปมแก้รธน. 7 ประเด็น

      มติชนออนไลน์ : หมายเหตุ - นักการเมืองและนักวิชาการแสดงความเห็น ต่อกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ใน 7 ประเด็น อาทิ ให้ลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และให้นักการเมืองที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีได้ เป็นต้น

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ 

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - ชูศักดิ์ ศิรินิล


      ยังไม่เห็นตัวร่างรัฐธรรมนูญ แต่เห็นว่าจำเป็นต้องแก้ไขอยู่แล้ว ในเมื่อจะต้องทำประชามติ ผมเข้าใจว่าอะไรที่ ครม.และ คสช.มองว่าเป็นปัญหาและอุปสรรคในการทำงาน หรือการวางโครงสร้างต้องแก้ไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้น ต้องดูรายละเอียดที่เขียนออกมาว่าจะเขียนอย่างไร และกระบวนการทำประชามตินอกจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วจะต้องอยู่ที่เรื่องของคำถามด้วย

    สำหรับ การแก้ไขลักษณะต้องห้ามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เดิมระบุว่า ต้องไม่เคยถูกตัดสิทธิทางการเมือง เปลี่ยนเป็นเปิดทางให้คนที่พ้นจากการตัดสิทธิทางการเมือง ไม่มีคดีที่ถูกถอดถอนเรื่องทุจริตสามารถเป็น สนช.หรือ ครม.ได้ เข้าใจว่าน่าจะเป็นความหมายเรื่องการถูกเพิกถอนสิทธิ และเมื่อถูกเพิกถอนสิทธิหมดไปแล้ว เช่น ในกรณีที่ถูกตัดสิทธิมาเกิน 5 ปีแล้ว อาจสามารถกลับมาได้ แต่ต้องไปถามรองนายกรัฐมนตรีว่าความจำเป็นคืออะไร 
    ที่กำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ไม่เกิน 200 คน โดยเปิดโอกาสให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ชุดเดิมสามารถกลับมาดำรงตำแหน่งได้จะขัดแย้งกับหลายฝ่ายที่เสนอตัดทิ้งหรือไม่นั้น เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญควรแก้เท่าที่จำเป็นเพื่อให้กระบวนการเดินไปได้ตามโรดแมป เพราะฉะนั้น เรื่องการทำประชามติถือเป็นหัวใจสำคัญ อะไรที่เป็นอุปสรรคในการทำงานของ สนช.และ สปช. หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้รัฐธรรมนูญให้เกินเลยไปกว่านั้น เพราะรัฐธรรมนูญที่จะต้องแก้ไขต้องให้ สนช.พิจารณาโดยรวดเร็ว
     กรณีที่เปิดให้ สปช.และ สนช.สามารถชงคำถามที่นอกเหนือจากเรื่องรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีโอกาสเป็นการสอดไส้คำถามให้นายกรัฐมนตรีอยู่บริหารราชการแผ่นดินต่อ 2 ปีหรือไม่นั้น เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ให้พูดเรื่องนี้แล้ว เพราะโดยข้อเท็จจริงโรดแมปที่มีอยู่สามารถยืดหยุ่นได้ระดับหนึ่ง จึงขึ้นอยู่กับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป เชื่อว่า คสช.สามารถเดินหน้าทำงาน รวมทั้งรายงานปัญหาและอุปสรรคให้ประชาชนรับทราบได้ จะทำให้ไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาในประเด็นนี้

ชูศักดิ์ ศิรินิล
คณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล - เอกชัย ไชยนุวัติ

 

      มีข้อสังเกตที่สำคัญหลายประการ ประการแรก การกำหนดให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศทันที ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านความเห็นชอบของ สปช. ถือเป็นการปูทางเพื่อสืบทอดอำนาจอย่างชัดเจน เนื่องจากสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การตั้งองค์กรดังกล่าว โดยที่ไม่รอให้ประชาชนลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เท่ากับเป็นการมัดมือชก และไม่ฟังเสียงประชาชน ทั้งที่มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย ว่าองค์กรดังกล่าว เป็นการตั้งเพื่อสืบทอดอำนาจของ คสช.
      ประการที่สอง การให้อำนาจนายกรัฐมนตรีแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศแต่เพียงผู้เดียว และโดยไม่ต้องได้รับโปรดเกล้าฯแต่งตั้งจากพระมหากษัตริย์ เป็นการขัดต่อหลักการทางนิติประเพณีของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เนื่องจากองค์กรดังกล่าวเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ควรจะต้องได้รับการโปรดเกล้าฯแต่งตั้ง เช่นเดียวกับกรรมการในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ องค์กรอื่นๆ และการให้อำนาจนายกรัฐมนตรี เพียงผู้เดียวในการแต่งตั้งสมาชิกสภาขับเคลื่อน ถึง 200 คน โดยไม่มียึดโยงกับอำนาจของประชาชนเลยนั้น เป็นการไม่เคารพในอำนาจอธิปไตยของปวงชน จึงอาจถือได้ว่าเป็นสภาเผด็จการได้
     ประการที่สาม การกำหนดให้ สปช.สิ้นสุดลง ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบหรือไม่ และตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศขึ้นแทน เป็นที่สังเกตว่า น่าจะเป็นการปูทางเพื่อต่ออายุให้กับรัฐบาล และ คสช.ต่อไป เพราะเป็นไปได้ที่ สปช. อาจโหวตไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อจะได้ตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ และนำร่างรัฐธรรมนูญไปให้ประชาชนลงประชามติ ซึ่งกินเวลาเกือบ 1 ปี ส่วน สปช. และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนใหญ่อาจได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศต่อไป หรือถึงแม้ร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านความเห็นชอบของ สปช. แต่ประชาชนลงประชามติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องนับหนึ่งใหม่ โดยการตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ขึ้นมายกร่างฯ ซึ่งก็ใช้เวลานานเช่นเดียวกัน 
    เห็นได้ว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย ทั้ง คสช. ครม. สปช. หรือกรรมาธิการยกร่างเดิม ที่อาจได้รับแต่งตั้งให้มาทำหน้าที่ใหม่ แต่ผู้ที่เสียประโยชน์ คือ ประเทศชาติ และประชาชน
     ในประเด็นนี้ เห็นว่า หาก สปช. ไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สปช.ให้ความเห็นชอบ แต่ไม่ผ่านประชามติ ควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ให้นำรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งมีความเป็นประชาธิปไตยสูงมาใช้บังคับเป็นการชั่วคราวไปก่อน และตั้งคณะกรรมการขึ้นมาปรับปรุงแก้ไขให้มีความเหมาะสมต่อไป เพื่อไม่ให้รัฐต้องสูญเสียเงินในการทำประชามติถึงสองครั้ง คิดเป็นเงินกว่าหกพันล้านบาท
     ประเด็นที่สี่ การเปิดช่องให้ทำประชามติในคำถามอื่น นอกเหนือจากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นการเปิดโอกาสให้ สปช. และ สนช. เสนอคำถาม ในประเด็นเรื่องการต่ออายุการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี ตามแนวคิดของ สปช. บางคน ทั้งนี้ เพื่อให้เห็นว่าทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญ ทั้งที่เรื่องดังกล่าวถูกหลายฝ่ายคัดค้านโต้แย้ง จนต้องมาแก้ตัวกันเป็นพัลวันในภายหลัง
    ประเด็นที่ห้า การตั้งคำถามอื่นในการออกเสียงประชามติ นอกจากคำถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ จะก่อให้เกิดปัญหาสำคัญ คือ หากคำถามดังกล่าวไม่ผ่านประชามติ และเรื่องดังกล่าวยังไม่ได้เขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ก็ต้องกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือ ในกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้เขียนเรื่องดังกล่าวไว้ หากประชาชนลงประชามติให้ความเห็นชอบก็ต้องกลับมาแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องดังกล่าวไว้ในรัฐธรรมนูญอีก จึงทำให้เกิดปัญหาว่าร่างรัฐธรรมนูญที่นำขึ้นทูลเกล้าฯนั้น ไม่ใช่ร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านการลงประชามติ 
      จึงไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และการกำหนดเงื่อนไขเปิดช่องให้สอบถามประชาชนในประเด็นอื่นนอกเหนือจากรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะความต้องการของประชาชน คือให้แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ไม่ใช่แก้รัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจหรือต่ออายุให้กับนายกรัฐมนตรี 

สมชาย ปรีชาศิลปกุล
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 
      จากข้อเสนอ 7 ข้อ หลายๆ เรื่องดูเหมือนว่าจะดี เช่นข้อเสนอโทษแบน ที่เคยติดโทษเพิกถอนสิทธิ ไม่สามารถเป็น สนช. ได้ คล้ายๆ จะเปิดกว้างมากขึ้น ทำให้ดูเหมือนกับว่านักการเมืองที่โดนลงโทษกลับมาเป็น สนช. เป็นรัฐมนตรีได้ แต่ในความเห็นของผม รัฐมนตรี และ สนช. มาจากการแต่งตั้งโดย พล.อ.ประยุทธ์ เพราะฉะนั้นเวลาอ่านข้อเสนอต้องอ่านให้สัมพันธ์กับมาตราหลายมาตรา ซึ่งทำให้เห็นว่ามีข้อบกพร่องอยู่จำนวนมาก 
     ส่วนผลกระทบจากเนื้อหาการแก้รัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น ในทางการเมือง คิดว่าอาจจะไม่ชัดเจนในระยะเวลาสั้น เนื่องจากบางประเด็นต้องรอว่าจะเกิดอะไรขึ้น และถ้าผลักดันการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ใน 7 ประเด็น คิดว่าทำได้ เพราะแม่น้ำ 5 สาย เกิดขึ้นจากแหล่งเดียว แต่อาจจะทำให้ความไม่พอใจสะสมที่ดำเนินมาอาจจะปรากฏขึ้นเช่น อาจจะเห็นการเคลื่อนไหวมากขึ้น หรือมีแรงกดดันตึงเครียดมากขึ้นของกลุ่มคนจำนวนมากที่เห็นว่าตอนนี้มีการสืบต่ออำนาจทางรัฐประหารเกิดขึ้น เป็นต้น
      สำหรับ ข้อเสนอที่ทางรัฐบาลเสนอมา คิดว่ามีประเด็นสำคัญ 2 เรื่อง คือ เรื่องที่สัมพันธ์กับรัฐธรรมนูญ และเรื่องที่สัมพันธ์กับ สปช. 
      ในส่วนของรัฐธรรมนูญ สิ่งที่เห็นคือความพยายามที่จะเสนอให้มีขยายเวลาการทำงาน ในแง่หนึ่งเป็นกระบวนการจัดการรัฐธรรมนูญในการขยายอำนาจยืดเวลาของรัฐบาลและผู้มีอำนาจทางการเมืองออกไป เป็นการขยายอำนาจด้วยเทคนิคกฎหมายแบบอำนาจนิยม และเป็นความพยายามในการตั้งคณะกรรมการร่างชุดใหม่ถ้าประชามติไม่เห็นชอบ
     ถ้าทำความเข้าใจเรื่องนี้จะเห็นว่าเป็นสิ่งที่สวนทางกับคำพูดของผู้นำทางการเมืองที่มักจะพูดบ่อยๆ ว่า ไม่ได้ต้องการอยู่ในอำนาจนาน 
      อีกส่วนที่มีความเกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ผมคิดว่ารัฐบาลพยายามจะถอยห่างจาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นับตั้งแต่กรณีข้อเสนอของคณะรัฐมนตรีไปยัง กมธ.ร่างฯเป็นร้อยประเด็น ผมคิดว่าสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ รัฐบาลพยายามทำให้ตัวเองดูห่างจาก กมธ.ยกร่างฯ เพราะในแง่หนึ่งหมายความว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านประชามติ รัฐบาลจะบอกว่าตัวเองไม่เกี่ยวข้องเป็นเรื่องที่ กมธ.ยกร่างฯต้องรับผิดชอบเองว่าร่างอย่างไรคนไทยไม่ยอมรับ 
      ในส่วนของ สปช. แม้รับร่างแล้วจะทำให้ สปช.หมดหน้าที่ลง จะทำให้ดูเหมือน สปช.ลดบทบาทลงแต่ข้อเสนอที่พยายามเสนอให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ ผมคิดว่าเป็นคล้ายๆ กับ สปช.เฟส 2 เพราะสภาขับเคลื่อนมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี
     เพราะฉะนั้น สิ่งที่เราจะเห็นแม้ สปช.จะหมดอำนาจลงแต่สภาขับเคลื่อนฯที่เข้ามาแทนคิดว่าคนส่วนใหญ่ 80 เปอร์เซ็นต์ คือ สปช. เพราะฉะนั้นช่วงนี้ จะเห็น สปช.พยายามแสดงบทบาททางการเมือง เมื่อหมดจาก สปช. ก็มาอยู่สภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศต่อ ซึ่งเป็นการสืบต่ออำนาจทางการเมืองให้มีบทบาทต่อไป แม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง 

เอกชัย ไชยนุวัติ
นักวิชาการกฎหมาย
        การยุบ สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้ดีกว่าเดิมเพราะทั้ง สปช. และ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้มาจากเจตจำนงของประชาชนทุกภาคส่วน ทั้งคนที่ร่วมกับ กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) และคนที่ไม่เห็นด้วย จุดหลักสำคัญที่สุดคือ ขอให้คนไทย ให้ความสำคัญของกระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญให้เท่ากับสาระของรัฐธรรมนูญ เพราะว่าถ้าการได้มาซึ่งอำนาจนั้นมิชอบธรรมแล้ว ต้องสร้างวัฒนธรรมในการปฏิเสธอำนาจนั้น
      การปลดล็อกนักการเมืองในทางการเมืองนั้น แสดงให้เห็นว่า ผู้มีอำนาจท้ายที่สุดต้องประนีประนอมเพราะปัจจุบันหัวหน้า คสช. กลายเป็นผู้ใช้อำนาจทางการเมืองแล้ว มิใช่เพียงหัวหน้าผู้ยึดอำนาจเท่านั้น คิดว่ามีผลดีมากกว่าผลเสีย เพราะแสดงให้เห็นว่า หัวหน้า คสช.ยอมที่จะประนีประนอมในทางการเมือง เพื่อหวังว่าการพ้นจากตำแหน่งหลังจากรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้จะเป็นไปโดยราบรื่น ส่วนตัวเดาว่าส่วนหนึ่งเหตุที่ตัดสินใจอย่างนี้เพราะเสียงของผู้ประชุม ศปป.(ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป) ทั้งสองครั้งต่างยืนยันหนักแน่นว่าถ้าเขียนรัฐธรรมนูญแบบที่เป็นมา ไปไม่รอดแน่นอน 
      ถามว่านี่เป็นการยืดโรดแมปหรือไม่ต้องตอบว่าใช่ เพราะว่าทุกขั้นตอนต้องใช้ระยะเวลานาน สุดท้ายยิ่งนายกรัฐมนตรี อยู่ในอำนาจนานเท่าใด แรงกดดันทั้งในและต่างประเทศยิ่งมากขึ้นและพุ่งตรงไปที่นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.