Tak8-6

เตือนดันต่ออายุรบ.2 ปี ส่อรุนแรง 'สดศรี'ชี้ชนวนขัดแย้ง พท.อัดอยู่นานทำปท.เสีย ไพบูลย์รับสปช.มีเห็นต่าง มาร์คซัดกมธ.ตีโจทย์ผิด แนะดึงปชช.ร่วมร่างรธน. ปชป.แถลงจี้ 2 สนช.ออก

       'สดศรี'ตือนทำประชามติให้ รบ.อยู่ต่อระวังจะเกิดเหตุเหมือนช่วงก่อนรัฐประหาร รองโฆษก รบ.เผย'บิ๊กตู่'ยังไม่ส่งสัญญาณ ลั่นหากคนไทยอยากได้ก็ไม่ต้องสนใจต่างชาติ พท.ชี้ไร้เหตุผล ประชามติต่ออายุตัวเอง อยู่นานทำชาติเสียหาย

มติชนออนไลน์ : โพสต์อีก - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพถ่ายตัวเองผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @thaksinlive มีภาพบรรยากาศในการแข่งขันฟุตบอลคู่ชิงแชมเปี้ยนส์ลีก โดยมีข้อความระบุว่า "มาดูบอลคู่ชิง ประจำปี 2015 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี" เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน

@ เผยบิ๊กตู่ยังไม่มีสัญญาณอยู่ต่อ

       พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยังไม่ได้มีสัญญาณว่าจะรับข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอให้อยู่ต่ออีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปให้สำเร็จก่อนแล้วค่อยจัดเลือกตั้ง โดยพล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ว่าหลังจากที่ สปช.บางส่วนเสนอให้ทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศแล้วค่อยเลือกตั้งหรือไม่นั้น ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากต่างชาติ และไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลโดยพล.อ.ประยุทธ์ยังไม่ได้มีสัญญาณว่าจะรับข้อเสนอ

      "ผมมองว่า บางครั้งต่างชาติเองต้องรับฟังความคิดเห็นของคนไทยด้วย หากเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นความต้องการของคนไทย แล้วต่างชาติไม่เห็นด้วย ต้องถามว่าเราจะให้ความสำคัญกับใครมากกว่าระหว่างคนไทยกับความต้องการของต่างชาติ" พล.ต.วีรชนกล่าว และว่า ที่ผ่านมาและวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เคยบอกว่าต้องการอยู่ต่อ รัฐบาลยังยืนยันเดินตามโรดแมปที่วางไว้ ขณะที่ข้อเสนอของ สปช.เป็นเพียงเสียงสะท้อนหนึ่งที่ต้องการทราบความต้องการของประชาชนก็เท่านั้น แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าตามกติกา

       ผู้สื่อข่าวถามว่า ถ้ารัฐบาลอยากอยู่ต่อขึ้นมาจะอธิบายกับต่างชาติอย่างไร พล.ต.วีรชนกล่าวว่า วันนั้นยังมาไม่ถึง แต่วันนี้รัฐบาลยังคงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง มีแต่การคาดการณ์จากหลายฝ่าย ตนขอสมมุติเรื่องที่จะอยู่ต่อ ว่าหากเป็นการอยู่ตามกติกา ถูกกำหนดให้เป็นที่ยอมรับภายในประเทศไทย และคนไทยยอมรับ ต้องถามเขาว่าในเมื่อเป็นที่ยอมรับของคนไทย ถือเป็นกติกาของประเทศ แล้วมีเหตุผลอะไรถึงไม่เห็นด้วย 

 

@ 'สดศรี'เตือนให้ระวัง 3 ประเด็น

       นางสดศรี สัตยธรรม อดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการพรรคการเมืองและการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ซึ่งในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาตรา 165 บัญญัติไว้ว่า ไม่สามารถทำประชามติในสิ่งที่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญได้ และไม่สามารถทำประชามติเกี่ยวกับบุคคลหรือตัวบุคคลได้ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ถูกยกเลิกไปแล้ว การที่จะให้ทำประชามติถามประชาชนให้นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อหรือไม่ต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ว่าให้สามารถทำประชามติเกี่ยวกับตัวบุคคลและคณะบุคคลได้ 

"แต่ประเด็นนี้คือเรื่องรองลงมา เพราะประเด็นสำคัญคือ ผลที่จะตามมาจากความไม่พอใจของพรรคการเมือง นักการเมือง เพราะนักการเมืองต้องการเลือกตั้ง แต่การต่ออายุของนายกรัฐมนตรีคือการยืดเวลาการเลือกตั้งออกไป จึงจะทำให้นักการเมืองไม่พอใจ ดังนั้น นักการเมืองอาจพูดกับประชาชนเพื่อไม่ให้ผ่านการลงมติเพื่อต่ออายุของนายกรัฐมนตรี หากรัฐบาลตัดสินใจทำประชามติต้องระวังผลที่จะตามมาประกอบด้วย 1.ประชามติไม่ผ่าน ซึ่งเมื่อไม่ผ่านจะเหมือนสัญญาประชาคม ที่นายกรัฐมนตรีจะต้องออกจากตำแหน่งโดยเร็ว 2.จะเกิดเป็นข้อครหาว่าไม่ทำตามโรดแมป ไม่ทำตามสัญญา 3.อาจเกิดเหตุการณ์เหมือนก่อนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ที่มีคนออกมาชุมนุม ทั้งนี้ เชื่อว่าความไม่พอใจต้องเกิดขึ้นแน่นอนเพราะการเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปอีกหลายปี" นางสดศรีกล่าว

 

@ ชาวปราจีนฯหนุนรบ.อยู่ต่อ 2 ปี

       ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 7 ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี นายพีระศักดิ์ พอจิต ประธาน สนช. คนที่ 2 พร้อม สนช. 18 คน อาทิ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานคณะกรรมาธิการพลังงาน นายพรศักดิ์ เจียรณัย คณะกรรมาธิการบริหารราชการแผ่นดิน นายชาญวิทย์ วสยางกูร รองประธานคณะกรรมาธิการการปกครองท้องถิ่น คนที่ 1 เป็นต้น ลงพื้นที่ในโครงการ สนช.พบประชาชน เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมทั้งรับฟังปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ จากส่วนราชการ และประชาชน มีนายสมฤกษ์ บัวใหญ่ รองผู้ว่าราชการจังหวัดปราจีนบุรี ให้การต้อนรับ

ทั้งนี้ ประชาชนได้สอบถามการปฏิรูปประเทศ โดยต้องการให้ปฏิรูปองค์กรต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ ขายเสียง นอกจากนี้ ควรปฏิรูปในทุกๆ ด้านก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงขอให้รัฐบาลและ คสช.ที่มีกฎหมายอยู่ในมือโดยเฉพาะมาตรา 44 จัดการอะไรที่ไม่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.ปราจีนบุรี ที่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเยอะ พร้อมขอให้นายกรัฐมนตรีอยู่อีก 2 ปีเพื่อปฏิรูปประเทศ เพื่อปราบปรามคนทุจริตคอร์รัปชั่น

 

@ 'ไพบูลย์'ชี้สปช.ไม่เกี่ยวต่ออายุ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. จะนำข้อเสนอให้ทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปประเทศ

อีก 2 ปีก่อนการเลือกตั้งเข้าหารือในที่ประชุม เนื่องจากสปช.มีความเห็นแตกต่างกันว่า เป็นความเห็นส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละคน เท่าที่ฟังเป็นความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายจริง แต่ละฝ่ายมีจำนวนเท่าไรก็ยังไม่ชัดเจน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานที่ไม่ตรงกันอยู่ คิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช้หน้าที่ของ สปช.ที่จะต้องมีมติหรือมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพราะตามที่เสนอในที่ประชุมได้ระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า เป็นเรื่องของประชาชนที่จะร่วมลงชื่อกันเองเพื่อเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ 

"ดังนั้น การที่ สปช.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนข้อถกเถียงดังกล่าวจะนำไปสู่การต่ออายุของ สปช.หรือไม่นั้น ไม่ทราบ เพราะข้อเสนอดังกล่าวคือการทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้ คสช.กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) บริหารราชการแผ่นดินต่อไป 2 ปีเพื่อปฏิรูปให้แล้วเสร็จหรือไม่ หากประชาชนมีมติออกมาให้ คสช.กับ ครม.อยู่ต่อ การจะกำหนดแนวทางปฏิรูปเอาไว้อย่างไร แล้วจะให้แม่น้ำสายอื่นๆอยู่ด้วยหรือไม่เป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเป็นคนตัดสินใจ"นายไพบูลย์กล่าว

 

@ ชี้กลุ่มพุทธะอิสระหนุนเร่งรวมชื่อ

เมื่อถามความคืบหน้าของการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ นายไพบูลย์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องดำเนินการ ซึ่งเท่าที่ทราบตอนนี้ก็มีกลุ่มที่แสดงตัวออกมาชัดเจนว่าหนุนแนวทางดังกล่าวก็อย่าง พระพุทธะอิสระจากวัดอ้อน้อย พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ที่พยายามเร่งรวบรวมให้ครบตามจำนวนอยู่ก็คาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะครบตามจำนวนได้ 

"ผมเห็นด้วยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้การทำประชามติคุ้มค่า เพราะคิดว่านอกจากจะถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้ามีคำถามอื่นๆ ที่เป็นของแถมจะต้องถามประชาชนให้ถามไปในคราวเดียวกันจะน่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเรามีปัญหาสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนร่วมหลายเรื่องที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ" นายไพบูลย์กล่าว

 

@ อจ.ค้านประชามติให้รบ.อยู่ต่อ

นายอดิศร เนาวนนท์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา กล่าวว่า การทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ต่อ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวไม่ระบุไว้ หากจะทำประชามติ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อน ซึ่งการทำประชามติเช่นนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ในอดีตหากผู้ยึดอำนาจต้องการจะสืบทอดอำนาจต่อ มีอยู่ทางเดียวคือการตั้งพรรคการเมือง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยเท่านั้น ที่นายไพบูลย์ เสนอมานั้น สามารถมองได้ว่า สปช. และ สนช. ต้องการอยู่ต่อด้วย ซึ่งหากทำประชามติและผ่านขึ้นมาจริงๆ จะสามารถอยู่ต่อได้ด้วยความชอบธรรม แต่ตนไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ เนื่องจากการผ่านประชามติ ไม่สามารถทดแทนการเลือกตั้งได้ จึงยังไม่เป็นที่ยอมรับของประเทศตะวันตก ที่มีอิทธิพลต่อประเทศไทยมาก ดังนั้นจึงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศแน่นอน 

นายอดิศรกล่าวว่า การออกมาเคลื่อนไหวสนับสนุนให้รัฐบาลอยู่ต่อ 2 ปี ช่วงนี้มีอยู่ 3 กลุ่มหลักๆ ได้แก่ 1.กลุ่มการเมือง หรือ กปปส.เดิม ที่หลายคนเข้ามามีบทบาทอยู่

ใน สปช. และ สนช. 2.กลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการยึดอำนาจ เช่น รัฐมนตรีต่างๆ และ 3.กลุ่มประชาชนที่ต้องการให้ คสช.ปราบปรามทุจริตภาครัฐอย่างเด็ดขาด ซึ่งกลุ่มสุดท้ายเชื่อว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งปกติไม่สามารถทำได้ ดังนั้น จึงกลัวว่าการปฏิวัติครั้งนี้จะเสียของถ้าไม่รีบทำ แต่หากรัฐบาลรับที่จะทำประชามติ เพื่อได้อยู่ต่อ 2 ปี ยิ่งจะทำให้รัฐบาลเสียมากกว่าได้ เพราะจะเป็นการเข้าทางกลุ่ม กปปส. ก่อให้เกิดคลื่นใต้น้ำของกลุ่ม นปช. ที่ไม่พอใจ สุดท้ายก็จะยิ่งทำให้เกิดความแตกแยกในสังคมเพิ่มขึ้น สวนทางกับนโยบายของ คสช. ที่ต้องการเข้ามาสลายความแตกแยก สร้างความสมานฉันท์ในบ้านเมืองขณะนี้ อีกทั้งการอยู่ 2 ปี ถือว่า นานเกินไป ไม่เหมือนเพลงที่ คสช.ร้องไว้ว่า เราจะทำตามสัญญา ขอเวลาอีกไม่นาน ซึ่งไม่นานในที่นี้ ควรจะเป็น 1 ปีก็พอแล้ว 

 

@ จาตุรนต์ซัดเสพติดอำนาจนิยม 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ความคิดดั้งเดิมก็ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งอยู่แล้ว มีคนตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยมาตลอดว่า อยากทำอะไรมากมายขนาดไหน ถ้าอยากปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ต้องใช้เวลานาน แต่การใช้เวลาโดยปกครองในระบบที่ไม่เป็นประชาธิปไตยไปนานๆ จะไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ เพราะฉะนั้นต้องกำหนดเลือกตั้งให้ออกมาประมาณ 1 ปี ตอนนี้ก็ทำท่าจะเลื่อนออกไปอีก 1 ปีอยู่แล้ว และยังมาเสนอให้ขยายเวลาออกไปอีก จะขัดแย้งกับสิ่งที่ได้อธิบายต่อชาวโลกไว้ 

"แต่ที่สำคัญก็คือ การปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นการปกครองที่เมื่อเกิดความเสียหาย ก็ไม่มีใครท้วงติงได้ ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ กลายเป็นความเสียหายมากขึ้น ส่วนการปฏิรูปที่ไม่มีวิสัยทัศน์และทิศทาง ความเห็นแตกต่างกันในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ปิดกั้นไม่ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น สิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปกลายเป็นการสร้างความสับสนวุ่นวาย ทำให้ประเทศล้าหลังเสียมากกว่า

ผู้ที่มีอำนาจ ผู้ที่อ้างว่ากำลังแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง เหมารวมว่าการปฏิรูปประเทศเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือไม่ได้ให้ความสนใจความคิดเห็นของประชาชน ก็เลยยิ่งไปตามใจตัวเองมากขึ้นๆ ทำไปภายใต้ระบบอำนาจนิยม ยิ่งทำให้ผู้ที่มีอำนาจยิ่งเกิดสภาพเสพติดอำนาจ ปลูกฝังแนวความคิดให้สังคมต้องมีความรู้สึกว่าระบบอำนาจนิยมเป็นสิ่งจำเป็น เท่ากับทำให้สังคมไทยเสพติดกับระบบอำนาจนิยม คือถ้าขาดระบบนี้ ไม่สามารถที่จะรักษากฎหมาย ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างยั่งยืนได้"นายจาตุรนต์กล่าว 

 

@ จวกยิ่งอยู่นานปท.ยิ่งเสียหาย

ผู้สื่อข่าวถามว่า นอกเหนือจากการขยายเวลาเพื่อปฏิรูป มองปัญหาการบริหารงานรัฐบาล ที่กลไกระดับล่างไม่ได้รับการขับเคลื่อนเป็นอีกปัจจัยในการขยายโรดแมปหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการปัญหาต่างๆ มันขาดวิสัยทัศน์และนโยบายที่ชัดเจน ขัดแย้งกับการระบบบริหารและระบบตรวจสอบปกติ เพราะฉะนั้นคนในระบบ โดยเฉพาะข้าราชการต่างๆ จะเกิดความหวาดระแวง เกิดความไม่มั่นคงในการทำงาน เนื่องจากไม่รู้ว่าจะไปทิศทางไหน ไม่รู้ว่าทำเรื่องไหนจะเป็นความผิดและถูกลงโทษ และในหลายๆ กรณีเมื่อถูกลงโทษภายใต้ระบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปร้องเรียน อุทธรณ์ที่ไหนไม่ได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นธรรมดาที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องจะรู้สึกว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ทำอะไรดีกว่า

"ดังนั้น ในภาวะอย่างนี้ถ้าปล่อยนานไปคิดต่ออายุต่อไปอีกนานๆ ยิ่งเกิดความเสียหายกับการแก้ไขปัญหาประเทศมากขึ้น เมื่อปกติการประกาศโรดแมปต่อสังคมและชาวโลกว่า ทำรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไร เลือกตั้งเมื่อไร คืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อไร เป็นสัญญาประชาคมทั้งต่อคนไทยและชาวโลกไปแล้ว การทำอะไรที่ผิดไปจากสัญญาประชาคม การทำให้มีอำนาจต่อไปนานๆ เป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำอยู่แล้ว เวลานี้การตัดสินเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะตัดสินได้เองทั้งหมด เมื่อมีคนเสนอให้ทำประชามติขึ้นมา ถึงแม้ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น แต่ถ้าจะทำประชามติ เลยอยากให้ฝากถามเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกบ้าง เช่นถ้าหากขออยู่ต่อ 2 ปีได้หรือไม่ ควรถามด้วยว่าต้องการให้พ้นหน้าที่ไปเร็วกว่าเวลาที่กำหนดหรือไม่ และให้เป็นการทำประชามติที่เสรีด้วย ไม่ใช่พูดได้ฝ่ายเดียว"นายจาตุรนต์กล่าว

 

@ พงศ์เทพชี้ไร้เหตุผลรบ.อยู่ต่อ

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เสนอให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ต่อถามว่าจะอยู่ต่อได้อย่างไร หากไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ถ้าไม่แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว รัฐบาลต้องไปเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่ออยู่ต่อ ตนไม่คิดว่ารัฐบาลจะมีความคิดที่จะอยู่ต่อ แต่คงเป็นพวกไม่อยากลงเลือกตั้ง แต่ชอบนั่งในตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้งมากกว่า เพราะถ้ารัฐบาลอยู่ต่อ บุคคลเหล่านี้จะอยู่ในตำแหน่งต่อด้วย โดยไม่สนว่าประเทศจะเป็นอย่างไร และรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งได้รับผลกระทบอย่างไร ประชาชนน่าจะเห็นกันอยู่

"ตอนที่ พล.อ.ประยุทธ์เข้ามาเป็นนายกฯ น่าจะตระหนักอยู่เหมือนกันว่ารัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจมีปัญหาและอุปสรรคในการบริหารต่างๆ จึงพูดชัดเจนว่าจะอยู่ตามกรอบเวลาเท่านั้น ซึ่งการกำหนดกรอบเวลาทำให้ภาคธุรกิจ นักลงทุน ประเทศต่างๆ พอมองเห็นอนาคตประเทศไทยอยู่ว่าเมื่อไรจะกลับเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตย แต่หากทำไม่ได้อย่างที่พูดอาจจะมีผลกระทบตามมาอีก" นายพงศ์เทพกล่าว และว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่ควรทำประชามติเพื่อต่ออายุให้ตัวเอง เพราะตามกรอบที่พูดไว้ทำให้คนเขาอดทนรออยู่ได้ การที่จะไปขยายต่างๆ หรือการที่ประเทศไม่ได้อยู่ในระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นผลดีต่อประชาชน การกลับเข้าสู่การปกครองที่เป็นประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หากทำได้เร็วเท่าไรก็เป็นประโยชน์ต่อคนทั้งประเทศมากเท่านั้น

 

@ ปชป.ซัดรบ.เมินปฏิรูปตำรวจ

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า ส่วนตัวไม่ขัดหากจะทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ปฏิรูปต่ออีก 2 ปี ก่อนเลือกตั้งหรือไม่ แต่จะทำได้ก็ต้องระบุแนวทางการปฏิรูปและแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจให้มีความชัดเจน สามารถจับต้องได้ ทั้งนี้ การปฏิรูปที่ต้องทำอย่างเร่งด่วนก็คือปฏิรูปตำรวจ ซึ่งรัฐบาลโยนเรื่องให้รัฐบาลหน้าจัดการ ถือว่าไม่ถูกต้อง เพราะการปฏิรูปตำรวจเป็นปัญหาสำคัญ ควรทำในทันที ที่ผ่านมาแนวทางการปฏิรูปของรัฐบาลหรือ สปช.ยังไม่มีความชัดเจน หากให้รัฐบาลใหม่เข้ามาสานต่อจะไม่เกิดผล เพราะรัฐบาลหน้าเป็นรัฐบาลผสม ซึ่งเสียงของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านไม่แตกต่างกันมาก จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะขับเคลื่อนเรื่องนี้ได้ 

"พวกผมอยากให้ปฏิรูป แต่รัฐบาลบอกว่าตำรวจเอาไว้ทีหลัง ไม่รู้จะพูดอย่างไร เพราะตำรวจคือต้นตอของความเสียหายทั้งปวงถ้าจะอยู่ 2 ปี ต้องบอกเลยว่าปฏิรูปตำรวจทำกี่วัน ทำอย่างไร แต่วันนี้ก็พูดลอยๆ ผมไม่ห่วงว่าจะเลือกตั้งช้า การปฏิรูปคือการยอมเสียเลือดเสียเนื้อเพื่อให้ประเทศดีขึ้นถ้ารัฐบาลจะอยู่ต่อก็อยู่ที่ว่าอยู่แล้วจะทำอะไร ได้ผลอย่างไร หากเสนอหลักปฏิรูปที่ชัดเจนคิดว่าชาวบ้านเขาให้โอกาส"นายวิรัตน์กล่าว 

 

@ 'มาร์ค'ชี้ตีโจทย์รธน.คลาดเคลื่อน

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญว่า ถ้าพูดถึงเรื่องรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ภาพรวมปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งคือตีโจทย์รัฐธรรมนูญคลาดเคลื่อน เพราะว่า 1.วิกฤตในอดีตที่เกิดขึ้น สาเหตุมาจากตัวรัฐธรรมนูญค่อนข้างน้อย ทั้งรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ในเชิงหลักการจะคล้ายคลึงกัน แต่ของปี 2540 ในที่สุดทุกฝ่ายและทุกพรรคก็เคยยอมรับ เมื่อปี 2549 ว่า จำเป็นที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง เนื่องจากเมื่อใช้รัฐธรรมนูญไปแล้วไม่เป็นตามเจตนารมณ์ เช่นเดียวกันกับความขัดแย้งในรอบที่ผ่านมาของปี 2550 โดยเฉพาะการต่อต้านกฎหมายนิรโทษกรรมหรือประเด็นอื่นที่ยกขึ้นมาในช่วงการชุมนุม ก็ไม่ได้มุ่งไปที่บทบัญญัติรัฐธรรมนูญปี 2550 แต่เน้นไปที่การปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมากกว่า เพราะฉะนั้นความเชื่อที่ว่าการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อมาแก้ปัญหาจึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าไร เพราะตัวรัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาหลัก

"2.เมื่อทุกคนหันมาสนใจรัฐธรรมนูญเป็นตัวหลัก ก็กลายเป็นเรื่องกดดันให้กับผู้ร่างรัฐธรรมนูญว่าต้องมาคิดอะไรใหม่ เพราะเขามีความรู้สึกว่า ถ้าเขียนออกมาคล้ายแบบเดิมจะถูกมองว่า แล้วจะแก้ไขปัญหาได้อย่างไร จึงเป็นผลที่มาจากการตีโจทย์ที่คลาดเคลื่อนไป" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

@ แนะปฏิรูปต้องดึงปชช.ร่วม

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การปฏิรูปและการปรองดองต้องวิเคราะห์ให้ดี อะไรที่จะให้เกิดความยั่งยืน ในแง่การปฏิรูปมีวิธีเดียว คือ ทำให้ประชาชนและสังคมเรียกร้องการปฏิรูปอย่างต่อเนื่อง จริงจัง เรียกร้องให้พรรคการเมืองในอนาคตต้องถือเป็นเรื่องสำคัญในนโยบาย ดังนั้นกระบวนการประชามติจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ที่สุดปฏิรูปแต่ละเรื่องใช้เวลานานมาก และอาจจะนานกว่า 1 รัฐบาล หรือ 2 รัฐบาล ฉะนั้นคนที่มาเป็นรัฐบาล ถ้าเขาไม่ต้องการที่จะทำ ที่สำคัญประชาชนที่เป็นผู้เลือกตั้งไม่จริงใจในการบังคับให้ทำ ก็ไม่สำเร็จ เพราะฉะนั้นการสร้างความยั่งยืนของการปฏิรูปคือการดึงประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปฏิรูป และบีบพรรคการเมืองให้ต้องปฏิรูป เพราะต่อให้มีกรรมการขับเคลื่อนหรือสภาปฏิรูปที่จะมาบังคับ แต่ที่สุดถ้าสังคมไม่เอาด้วยก็ไปไม่ได้ การปฏิรูปคือต้องทำอย่างไรให้ประชาชนเป็นเจ้าของมากกว่านี้ 

เมื่อถามว่า มองการปรองดองจะเกิดขึ้นได้อย่างไร เพราะ คสช.ดำเนินการถอดยศและยึดพาสปอร์ต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เหมือนเป็นการไล่บี้ฝ่ายเดียว นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องให้เป็นไปตามกฎหมาย จะไปยกเว้นหรือกลั่นแกล้งได้อย่างไร เรื่องถอดยศเคยพิจารณาไป ตนไม่ทราบว่าข้อกฎหมายที่เขาอ้างมีอะไรบ้าง เพราะสมัยตนเป็นรัฐบาล กฤษฎีกาตอบกลับมาแต่ก็ยุบสภาพอดี ส่วนเรื่องพาสปอร์ต ตนยืนยันว่าเป็นไปตามระเบียบที่ต้องเพิกถอน และเรียกร้องไปยังรัฐบาลที่แล้วที่คืนให้ อะไรเป็นไปตามกฎระเบียบต้องดำเนินไป

 

@ 'ถวิลวดี'พอใจเวทีรับฟังความเห็น 

นางถวิลวดี บุรีกุล กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 เวที ภาพรวมน่าพอใจ ความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ให้คงภาคพลเมืองไว้ เพราะทุกคนเมื่อได้รับฟังการชี้แจงเข้าใจคำว่าพลเมือง แต่ยังมีบางส่วนเป็นกังวลในเรื่องของระบบการเลือกตั้ง การกระจายอำนาจของท้องถิ่นว่ายังไม่มีความชัดเจน ทั้งนี้จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาได้ส่งให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาเป็นระยะๆ และจะส่งทั้งหมดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า 

เมื่อถามว่าการพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯในกรอบสุดท้ายจะเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแรกมากเพียงไหน นางถวิลวดีกล่าวว่า เชื่อว่าคงต้องเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแรกแต่ไม่มาก เพราะจากการเข้าชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตัวแทนฝ่ายรัฐบาลที่เสนอในส่วนของ ครม.ก็เห็นชอบด้วยที่ให้รัฐธรรมนูญอยู่บนหลัก 4 เจตนารมณ์ และเสนอว่ารายละเอียดควรที่จะไปอยู่ในกฎหมายลูก ทั้งนี้คณะ กมธ.ยกร่างฯจะประชุมเพื่อรับฟังคำขอแก้ไขในส่วนของ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมและ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ในเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิถุนายน และมีการประชุมอีกครั้งในช่วงบ่ายวันที่ 9 มิถุนายน จะรอผลการประชุมของ ครม.ในช่วงเช้าว่าจะให้คณะ กมธ.ยกร่างฯขยายเวลาการพิจารณาหรือไม่ 

 

@ คำนูณชี้ตัดกลุ่มการเมือง 

ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับ สปช. จัดสัมมนาเรื่องการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันที่สอง ซึ่งเป็นเวทีสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็น ก่อนที่คณะ กมธ.ยกร่างฯจะนำความคิดเห็นต่างๆ ไปสรุปกรอบสุดท้าย มีการแบ่งกลุ่มให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ซึ่งกลุ่มที่น่าสนใจคือสถาบันการเมือง นักการเมือง การเลือกตั้ง 

โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2540 ภาพรวมของรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง ที่ร่างรัฐธรรมนูญเวลานี้บัญญัติให้มีกลุ่มการเมืองเกิดขึ้น ซึ่งทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะมีอำนาจเด็ดขาดน้อยลง พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสน้อย พรรคการเมืองขนาดกลางมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดรัฐบาลผสม ทำให้มีเสียงต่อต้านจากพรรคการเมืองต่างๆ มีแนวโน้มที่กลุ่มการเมืองจะถูกตัดออกไป รวมไปถึงมาตรา 181 และ 182 มีแนวโน้มสูงที่จะถูกตัดออกเช่นกัน ทั้งๆ ที่ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้ร่างมาเพื่อพรรคการเมืองอ่อนแอเลย 

นายคำนูณกล่าวว่า ที่มาของ ส.ว.ยังไม่ลงตัว 100 เปอร์เซ็นต์ ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เพราะเห็นว่าหากให้ ส.ว.มีที่มาจากการเลือกตั้ง จะไม่แตกต่างจาก ส.ส. ดังนั้นจึงต้องทำให้แตกต่าง โดยมีตัวแทนที่หลากหลาย อย่างเช่นที่ผ่านมาตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกร แรงงาน ไม่สามารถมานั่งเป็น ส.ส.ได้ เพราะมีปัญหาการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ที่มา ส.ว.เปิดโอกาสให้กลุ่มเหล่านี้มานั่งเป็นตัวแทนของประชาชนได้ จึงอยู่ที่ประชาชนจะคิดเห็นอย่างไร 

 

@ ที่ประชุมเห็นด้วยเลิกโอเพ่นลิสต์

เมื่อเวลา 13.00 น. แต่ละกลุ่มได้สรุปความคิดเห็น โดยส่วนใหญ่พอใจและเห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากมองว่ามีเนื้อหาครอบคลุมกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ โดยเนื้อหาที่ประชาชนพอใจ อาทิ การให้สิทธิประชาชนมากขึ้น ระบบที่มา ส.ว. ระบบบัญชีรายชื่อ ส.ส. การมีกลุ่มการเมือง การเลือกตั้งแบบรัฐบาลผสม และเห็นว่าควรยกเลิกระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์เพราะทำให้เกิดความสับสน โดยให้กลับไปใช้การเลือกตั้งรูปแบบเดิมจะเหมาะสมกว่า 

ที่ประชุมเสนอว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล ทั้งนี้มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยในมาตราใดหนึ่ง อาจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านได้ และยังทำให้เสียงบประมาณที่จะต้องใช้กว่า 3,000 ล้านบาท อย่างไม่คุ้มค่า จึงอยากให้ทำประชาพิจารณ์จะเหมาะสมกว่า 

เมื่อเวลา 15.15 น. นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานคณะ กมธ.ยกร่าง กล่าวปิดการประชุมว่า ข้อเสนอและข้อคิดเห็นเหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น ถือว่าประชาชนมีส่วนร่างรัฐธรรมนูญ และจะต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกส่วนไปประกอบการพิจารณา ซึ่งหากมีการขยายเวลาของคณะ กมธ.ยกร่างฯออกไป 30 วัน จะทำให้คณะ กมธ.ยกร่างฯมีเวลามากขึ้นในการทบทวน

 

@ ป.ป.ช.-คตง.นัดเคลียร์ปมคดีอืด

แหล่งข่าวจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า กรณีที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่บริหารงานโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) ตรวจสอบการใช้งบประมาณของหน่วยงานรัฐ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 เป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเบื้องต้น เมื่อสามารถสรุปคดีได้ก็ต้องส่งเรื่องต่อไปให้ ป.ป.ช.ทำหน้าที่ไต่สวนชี้มูลความผิด แต่ปัญหาการทำงานที่ คตง.และ ป.ป.ช.ประสบมาตลอดคือ เมื่อ คตง.ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.แล้ว คดีนั้นๆ เกิดหยุดชะงัก เนื่องจาก ป.ป.ช.ต้องมาเริ่มไต่สวนใหม่ตั้งแต่ต้น ทำให้คดีไม่เดิน บางครั้งมีการกล่าวอ้างว่าเป็นเพราะถือกฎหมายกันคนละฉบับ ทำให้การพิจารณาแต่ละคดีล่าช้าไปมาก ดังนั้นจากที่มีปัญหาสะสมมานาน จึงมีการนัดหารือและรับประทานอาหารร่วมกันระหว่าง คตง.และ ป.ป.ช. พูดคุยหาทางแก้ปัญหาดังกล่าวในวันที่ 9 มิถุนายน ที่สำนักงาน ป.ป.ช. สนามบินน้ำ

 

@ สตง.เล็งหาช่องชงอัยการเอง

นายวิทยา อาคมพิทักษ์ กรรมการ คตง. กล่าวว่า ได้มีการนัดพบปะหารือกันจริง โดยนายชัยสิทธิ์ ตราชูธรรม ประธาน คตง. นำคณะกรรมการ คตง.ทั้ง 7 คน รวมทั้งผู้บริหาร สตง.บางส่วนไปร่วมหารือด้วย ยอมรับว่าที่ผ่านมามีหลายคดีที่ สตง.สรุปเรื่องที่ตรวจสอบพบว่าน่าเชื่อว่ามีมูลส่อว่าทุจริตแล้วส่งไปให้ ป.ป.ช. แต่ทาง ป.ป.ช.ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 (แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2550 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554) บอกว่าก็ต้องยึดความชัดเจนตามกฎหมาย ป.ป.ช. จึงต้องแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมก่อน ยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมการไต่สวนทันทีได้จึงทำให้เกิดความล่าช้าในคดี

"การนัดหารือจะเป็นการหาแนวทางการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพในการปราบปรามทุจริตประพฤติมิชอบมากขึ้น สอดคล้องประสานกันได้ ทำคดีได้

รวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่ใช่ต่างคนต่างทำหน้าที่ของใครของมัน และอนาคตอาจจะร่วมกันทำบันทึกความเข้าใจ การทำงานร่วมกันระหว่าง คตง.-ป.ป.ช.โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อต้องเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันของทั้ง 2 หน่วยงานให้ได้" นายวิทยากล่าว

 

@ 'แม้ว'โพสต์ดูยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพและข้อความลงในอินสตาแกรมว่า อยู่ที่สนามโอลิมเพียสตาดิโอน กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี เพื่อมาชมการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรยุโรป หรือยูฟ่าแชมเปี้ยนส์ลีก ประจำปี 2015 ระหว่างทีมบาร์เซโลน่าจากสเปน กับยูเวนตุสจากอิตาลี แต่อดเชียร์ Carlos Tevez striker ของ Juventus ไม่ได้ เพราะเพิ่งย้ายมาจาก Manchester City เท่ากับ striker ของทีมชาติ Argentina ด้วยกัน แต่มาอยู่คนละทีมคือ Lionel Messi กับ Carlos Tevez