Tak8


สธ.ฮืออีก-นัดใหญ่ ทวงผล สอบสวน'หมอณรงค์' 
ไพบูลย์คัดค้าน เช็กเสียงสปช. ทำประชามติ 2 ปี อ๋อยเตือนบิ๊กตู่ แม้วโชว์ดูบอล 

      'จาตุรนต์' ค้านประชา มติปฏิรูป 2 ปีก่อนเลือก ตั้ง เตือนรัฐบาลยิ่งอยู่นานยิ่งเสียหาย แต่ถ้าจะทำจริง ต้องถามประชาชนด้วยว่า ต้องการให้พ้นหน้าที่เร็วกว่ากำหนดหรือไม่'วีรชน'ยันรัฐบาลยังยึดโรดแม็ปเดิม 'ไพบูลย์ นิติตะวัน'ไม่เห็นด้วย 'เทียนฉาย'เตรียมเรียกถก สปช. เช็กเสียงหนุน-ต้าน เว็บไซต์ประชามติเปิดผลโหวต ถ้าประชามติร่างรธน.ไม่ผ่าน ให้ประชาชนเลือกส.ส.ร.มาทำหน้าที่แทน ไม่เห็นด้วยให้คสช.ตั้งกมธ. ยกร่างฯ ชุดใหม่ 'แม้ว'โพสต์อินสตาแกรมอีก ดูบอลนัดชิงแชมเปียนส์ลีก ประชาคม สธ.ฮืออีก นัดรวมพลใหญ่ 9 มิ.ย. ทวงผลสอบสวน'หมอณรงค์'หลังถูกย้ายครบ 90 วัน

 

วันที่ 08 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8958 ข่าวสดรายวัน

 

บินไปดู - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์รูปลงในอินสตาแกรม ขณะเข้าชมการแข่งขันนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก บาร์เซโลน่า-ยูเวนตุส ในสนามแข่งที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน วันที่ 7 มิ.ย.

 

จาตุรนต์เตือนปฏิรูปก่อน

       วันที่ 7 มิ.ย. นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ ให้สัมภาษณ์กรณีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สนับสนุนให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในตำแหน่ง นายกฯอีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศให้เสร็จแล้วจัดการเลือกตั้งว่า ความคิดดั่งเดิมก็ต้องการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่งมีคนตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัยมาตลอดว่าอยากทำอะไรมากมายขนาดไหน และถ้าอยากปฏิรูประเทศในทุกด้านย่อมต้องใช้เวลานาน แต่การใช้เวลาโดยปกครองในระบบที่ไม่เป็นประชา ธิปไตยไปนานๆ จะไม่เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ จึงต้องกำหนดเลือกตั้งให้ออกมาประมาณ 1 ปี ตอนนี้ก็ทำท่าจะเลื่อนออกไปอีก 1 ปีอยู่แล้ว และยังมาเสนอให้ขยายเวลาออกไปอีก ซี่งจะขัดแย้งกับสิ่งที่ได้อธิบายต่อชาวโลกไว้ 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ที่สำคัญคือการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ เมื่อเกิดความเสียหาย เกิดความผิดพลาด ก็ไม่มีใครท้วงติงได้ ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ กลายเป็นความเสียหายมากขึ้น ส่วนการปฏิรูปที่ไม่มีวิสัยทัศน์และทิศทาง ไม่ฟังความเห็นแตกต่างกันในบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้อง ปิดกั้นไม่ให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์แสดงความคิดเห็น สิ่งที่เรียกว่าปฏิรูปกลายเป็นการสร้างความสับสนวุ่นวาย ทำให้ประเทศล้าหลังเสียมากกว่า 

 

ชี้ต้นเหตุขรก.เกียร์ว่าง 

      นายจาตุรนต์กล่าวว่า ผู้มีอำนาจ ผู้ที่อ้างว่ากำลังแก้ไขปัญหาให้บ้านเมืองไปเหมารวมว่าการปฏิรูปประเทศเหล่านี้เป็นสิ่งที่ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วย หรือไม่ได้ให้ความสนใจความคิดเห็นของประชาชน ก็ยิ่งตามใจตัวเองมากขึ้นๆ ทำไปภายใต้ระบบอำนาจนิยมและปลูกฝังแนวความคิดให้สังคมต้องรู้สึกว่าระบบอำนาจนิยมเป็นสิ่งจำเป็น เท่ากับทำให้สังคมไทยเสพติดกับระบบอำนาจนิยม ถ้าขาดระบบนี้ ไม่สามารถรักษากฎหมาย ไม่สามารถทำให้เกิดความสงบอย่างยั่งยืนได้

เมื่อถามว่านอกเหนือการขยายเวลาเพื่อปฏิรูป มองปัญหากลไกระดับล่างไม่ได้รับการขับเคลื่อน เป็นอีกปัจจัยในการขยายโรดแม็ปหรือไม่ นายจาตุรนต์กล่าวว่า การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในการจัดการปัญหาต่างๆ ขาดวิสัยทัศน์และนโยบายที่ชัดเจน ขัดแย้งกับระบบบริหารและระบบตรวจสอบปกติ ฉะนั้นคนในระบบโดยเฉพาะข้าราชการต่างๆ จะเกิดความหวาดระแวง เกิดความไม่มั่นคงในการทำงาน เนื่องจากไม่รู้ว่าทิศทางไหนจะไปเรื่องไหน และไม่รู้ว่าทำอะไรอยู่ ทำเรื่องไหนก็จะเป็นความผิดและถูกลงโทษ และในหลายๆ กรณีเมื่อถูกลงโทษภายใต้ระบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างนี้ ไปร้องเรียนอุทธรณ์ที่ไหนไม่ได้ ก็เป็นธรรมดาที่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องจะรู้สึกว่าถ้าไม่จำเป็นจริงๆ ก็ไม่ทำอะไรดีกว่า

 

เสนอให้ถาม-พ้นอำนาจก่อนเวลา 

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า ดังนั้น ในภาวะอย่างนี้ถ้าปล่อยนานไปคิดต่ออายุต่อไปอีกนานๆ ก็ยิ่งเกิดความเสียหายกับการแก้ไขปัญหาประเทศมากขึ้น ในเมื่อปกติการประกาศโรดแม็ปต่อสังคมและชาวโลกว่าทำรัฐธรรมนูญเสร็จเมื่อไร เลือกตั้งเมื่อไร คืนอำนาจให้ประชาชนเมื่อไร มันเป็นสัญญาประชาคมทั้งต่อคนไทยและชาวโลกไปแล้ว การทำอะไรที่ผิดไปจากสัญญาประชาคม การทำให้มีอำนาจต่อไปนานๆ เป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำอยู่แล้ว แต่เวลานี้เนื่องจากการตัดสินเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องของผู้มีอำนาจจะตัดสินได้เองทั้งหมด 

     นายจาตุรนต์ กล่าวว่า เมื่อมีคนเสนอให้ทำประชามติขึ้นมาถึงแม้ไม่มีความชอบธรรมตั้งแต่ต้น แต่ถ้าจะทำประะชามติจึงอยากให้ฝากถามเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกบ้าง เช่น ถ้าหากขออยู่ต่อ 2 ปีได้หรือไม่ ก็ควรถามด้วยว่าต้องการให้พ้นหน้าที่ไปเร็วกว่าเวลาที่กำหนดหรือไม่ และให้เป็นการทำประชามติที่เสรีด้วย ไม่ใช่พูดได้ฝ่ายเดียว

 

รองโฆษกรบ.ไม่ห่วงต่างชาติค้าน 

      พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หลังจากสมาชิก สปช.บางส่วน เสนอให้ทำประชามติถามประชาชนว่าจะให้รัฐบาลอยู่ต่ออีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศแล้วค่อยเลือกตั้งหรือไม่นั้น ขณะนี้ยังไม่มีปฏิกิริยาใดๆ จากต่างชาติ และไม่ใช่เรื่องน่าเป็นห่วง เพราะรัฐบาลโดย พล.อ.ประยุทธ์ ยังไม่ได้มีสัญญาณว่าจะรับข้อเสนอดังกล่าว บางครั้งต่างชาติเองก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนไทยด้วย หากเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เป็นความต้องการของคนไทยแล้วต่างชาติไม่เห็นด้วย เราจะให้ความสำคัญกับใครมากกว่าระหว่างคนไทยด้วยกันเองกับความต้องการของต่างชาติ 

      รองโฆษกรบ. กล่าวว่า ที่ผ่านมาและจนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่เคยบอกว่าต้องการอยู่ต่อ รัฐบาลยังยืนยันเดินตามโรดแม็ปที่วางไว้ ขณะที่ข้อเสนอของ สปช.ก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนหนึ่งที่ต้องการทราบความต้องการของประชาชนก็เท่านั้น แต่รัฐบาลยังคงเดินหน้าตามกติกา

     เมื่อถามว่า ถ้าวันหนึ่งรัฐบาลอยากอยู่ต่อขึ้นมาจะอธิบายกับต่างชาติอย่างไร พล.ต. วีรชนกล่าวว่า วันนั้นยังมาไม่ถึง แต่วันนี้รัฐบาลยังคงเดิมไม่ได้เปลี่ยนแปลง วันนี้มีแต่การคาดการณ์จากหลายฝ่าย ขอสมมติเรื่องที่จะอยู่ต่อว่าหากเป็นการอยู่ตามกติกา ถูกกำหนดให้เป็นที่ยอมรับภายในประเทศไทยและคนไทยยอมรับ ในเมื่อมันเป็นที่ยอมรับของคนไทยถือเป็นกติกาของประเทศ แล้วมีเหตุผลอะไรถึงไม่เห็นด้วย

 

ไพบูลย์ค้านถกสปช.เช็กเสียง

      นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวกรณีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เตรียมนำข้อเสนอให้ทำประชามติต่ออายุรัฐบาลเพื่ออยู่ปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง เข้าหารือที่ประชุมหลังสมาชิก สปช.มีความเห็นแตกต่างกันว่า เรื่องดังกล่าวเป็นความเห็นส่วนบุคคลของสมาชิกแต่ละคน เท่าที่ฟังเป็นความเห็นที่แบ่งเป็น 2 ฝ่ายจริง ซึ่งแต่ละฝ่ายมีจำนวนเท่าไรก็ยังไม่ชัดเจน เพราะแต่ละคนมีพื้นฐานที่ไม่ตรงกันอยู่ 

       นายไพบูลย์ กล่าวว่า คิดว่าเรื่องดังกล่าวไม่ใช่หน้าที่ของสปช.ที่จะต้องมีมติ หรือมีความเห็นอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เพราะตามที่ตนเสนอในที่ประชุมระบุไว้ชัดเจนแล้วว่า เป็นเรื่องของประชาชนที่จะร่วมลงชื่อกันเองเพื่อเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้นการที่สมาชิกสปช.จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็เป็นเรื่องส่วนตัวในฐานะประชาชนคนหนึ่งเท่านั้น ส่วนข้อถกเถียงดังกล่าวจะนำไปสู่การต่ออายุของสปช.หรือไม่นั้น ตนไม่ทราบ เพราะข้อเสนอดังกล่าวคือการทำประชามติ ถามประชาชนว่าจะให้ คสช.กับครม.บริหารราชการแผ่นดินต่อไป 2 ปีเพื่อปฏิรูปให้แล้วเสร็จหรือไม่ หากประชาชนมีมติออกมาให้ คสช.กับ ครม.อยู่ต่อ การจะกำหนดแนวทางปฏิรูปเอาไว้อย่างไร แล้วจะให้แม่น้ำสายอื่นๆ อยู่ด้วยหรือไม่ จึงเป็นเรื่องของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะที่เป็นหัวหน้า คสช.และนายกฯ ที่จะต้องเป็นคนตัดสินใจต่อไป 

 

เร็วๆนี้ล่าชื่อครบตามจำนวน 

       เมื่อถามความคืบหน้าการล่ารายชื่อประชาชนเพื่อเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณา นายไพบูลย์กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องดำเนินการ เท่าที่ทราบตอนนี้มีกลุ่มที่แสดงตัวออกมาชัดเจนว่าหนุนแนวทางดัวกล่าว เช่น หลวงปู่พุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย พร้อมเครือข่ายภาคประชาชน ที่พยายามเร่งรวบรวมให้ครบตามจำนวนอยู่ คาดว่าเร็วๆ นี้น่าจะครบตามจำนวนได้ อย่างไรก็ตาม ตนเห็นด้วยกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่จะทำให้การทำประชามติคุ้มค่า เพราะคิดว่านอกจากจะถามว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ถ้ามีคำถามอื่นๆ ที่เป็นของแถมจะต้องถามประชาชนก็ให้ถามไปในคราวเดียวกัน จะน่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง เพราะเรามีปัญหาสำคัญที่เป็นผลประโยชน์ของชาติโดยส่วนรวมหลายเรื่องที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

      ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 7 ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมืองปราจีนบุรี จ.ปราจีนบุรี นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 พร้อมสมาชิกสนช. 18 คน อาทิ พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ ประธานกมธ.พลังงาน นายพรศักดิ์ เจียรณัย กมธ.บริหารราชการแผ่นดิน นายชาญวิทย์ วสยางกูร รองประธานกมธ.การปกครองท้องถิ่น คนที่ 1 เป็นต้น ลงพื้นที่ในโครงการสมาชิกสนช.พบประชาชน เพื่อพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมรับฟังปัญหาอุปสรรคในด้านต่างๆ จากส่วนราชการและประชาชน มีนายสมฤกษ์ บัวใหญ่ รองผวจ.ปราจีนบุรี ต้อนรับ บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก ประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก

      ประชาชนได้สอบถามเรื่องการปฏิรูปประเทศ โดยต้องการให้ปฏิรูปองค์กรต่างๆก่อนการเลือกตั้งให้มีประสิทธิภาพ เพื่อแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ ขายเสียง นอกจากนี้ควรปฏิรูปในทุกๆ ด้านก่อนการเลือกตั้ง รวมถึงขอให้รัฐบาลและคสช. ที่มีกฎหมายอยู่ในมือโดยเฉพาะ ม.44 จัดการอะไรที่ไม่ดี โดยเฉพาะในพื้นที่จ.ปราจีนบุรี ที่มีกลุ่มผู้มีอิทธิพลเยอะและปฏิรูปการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศและพัฒนาครู พร้อมให้กำลังใจนายกฯขอให้อยู่อีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศ ปราบปราบคนทุจริตคอร์รัปชั่น 

 

โพลเชียร์ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 

       กรณี "ปฏิรูปประเทศ" ก่อน "เลือกตั้ง" สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ 1,249 คน ระหว่างวันที่ 3-6 มิ.ย. ปรากฏผลดังนี้

1.คิดอย่างไรกับกระแสเรียกร้องให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยให้พล.อ.ประยุทธ์ บริหารประเทศไปก่อน ส่วนใหญ่ 76.94% เห็นว่าควรปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง จะได้ไม่มีความขัดแย้งหลังเลือกตั้ง 73.18% การปฏิรูปควรให้ความสำคัญกับปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะเศรษฐกิจ การเมืองและการทุจริต 57.65% ใช้วิธีการใดก็ได้ขอเพียงบ้านเมืองสงบ 51.64% ควรชี้แจงถึงข้อดีข้อเสียการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 50.07% อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว 

2. สิ่งที่อยากให้ปฏิรูปให้แล้วเสร็จก่อน 74.22% เศรษฐกิจ 72.06% การศึกษา 68.69% การเมือง 67.50% ทุจริตคอร์รัปชั่น 65.88% ระบบราชการ 3.นับจากนี้ควรใช้เวลานานเท่าใดในการปฏิรูปประเทศเพื่อพร้อมสู่การเลือกตั้ง 36.20% 2 ปี ไม่ช้าไม่เร็วจนเกินไป 31.09% 1 ปี เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว เป็นไปตามโรดแม็ปเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ต่างชาติ 18.19% 3 ปี 

4.เห็นด้วยหรือไม่ที่จะปฏิรูปประเทศให้แล้วเสร็จก่อนเลือกตั้ง 75.11% เห็นด้วย เพราะจะได้มีความพร้อมในทุกๆ ด้าน ไม่เกิดปัญหาภายหลัง ประเทศจะได้เดินหน้า มีเสถียรภาพ เป็นประชาธิปไตย 24.89% ไม่เห็นด้วย เพราะอยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็ว การปฏิรูปไม่น่าจะแก้ปัญหาให้หมดไปได้ อาจต้องใช้เวลานานมาก 

แม้วโชว์ดูบอลแชมเปียนส์ลีก 

สำหรับความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้โพสต์ภาพถ่ายตัวเองผ่านอินสตาแกรมส่วนตัว @thaksinlive ซึ่ง มีภาพบรรยากาศการแข่งขันบอลคู่ชิงแชมเปียนส์ลีก ระหว่างทีมบาร์เซโลน่า และยูเวนตุส ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมัน ระบุ "มาดูบอลคู่ชิง Champions League ประจำปี 2015 ที่กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ระหว่างทีม Barcelona ทีมเก่งจากสเปน กับทีม Juventus จากอิตาลี ใจชอบ Barcelona แต่อดเชียร์ Tevez striker ของ Juventus ไม่ได้ เพราะเพิ่งย้ายมาจาก Manchester City เท่ากับ striker ของทีมชาติ Argentina ด้วยกันแต่มาอยู่คนละทีมคือ Messi กับ Tevez"

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรือ อุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนเล็กของ พ.ต.ท.ทักษิณ โพสต์ภาพและข้อความในอินสตาแกรม @ingshin21 ระบุ

พ.ต.ท.ทักษิณ ส่งรูปมาให้ดูเต็มไปหมด อวดว่าได้ไปดูบอลทำไมไม่ชวน พร้อมชี้แจงกระแสข่าวพ.ต.ท.ทักษิณ ซื้อเครื่องบินลำใหม่ว่า เครื่องบินลำเดิม ข่าวที่ออกมาว่าซื้อใหม่โคมลอย ไม่ชินอีกหรือ

ชี้ปมที่มาส.ว.จะมีปัญหา 

เวลา 13.00 น. ที่โรงแรมบางกอกชฎา กรุงเทพฯ เว็บไซต์ประชามติ จัดเวทีเสวนาหัวข้อ "ทำประชามติอย่างไร ไม่ให้เสียของ" โดย นายจตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร ประธานสมาคมเพื่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน กล่าวว่า รัฐธรรมนูญที่กำลังร่างอยู่ประเด็นสิทธิพลเมืองมีความชัดเจนพอสมควร แต่ประเด็นพรรคการเมือง นักการเมือง ยังมีปัญหาข้อถกเถียงในหลายมาตราว่าเขียนเป็นประชาธิปไตยหรือไม่ รวมทั้งกลไกในร่างรัฐธรรมนูญที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าจงใจสืบทอดอำนาจ ส่วนจะทำประชามติหรือไม่ เท่าที่ติดตามคิดว่าคงมีการทำประชามติแน่นอน แต่ประเด็นคือทำประชามติอย่างไรไม่ให้เสียของ คงหมายถึงเมื่อทำประชามติแล้ว ผลออกมาว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นชอบ แต่ประเด็นที่ควรพิจารณาคือเสียงของประชาชนที่ไม่เห็นด้วย แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยแต่ไม่ใช่ว่าผิดเสมอไปต้องได้รับการรับฟัง 

นายจตุรงค์กล่าวว่า ถ้ากมธ.ยกร่างรัฐ ธรรมนูญใจกว้าง หลังการทำประชามติควรนำประเด็นต่างๆ ไปพิจารณาแก้ไขอีกครั้งจะได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาความขัดแย้งในอนาคต เช่น การเลือกส.ว.ที่ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองก่อน ถ้าไม่แก้มาตรานี้จะเป็นปัญหาเพราะขัดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย รวมทั้งการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งหมวดว่าด้วยความปรองดอง แต่ดูแล้วบางประเด็นไม่ค่อยจะปรองดอง แม้จะมีเจตนาดีว่าต้องการทำให้การเมืองโปร่งใส แต่กมธ.ยกร่างฯควรพิจารณาให้รอบคอบมากกว่านี้ ซึ่งทั้งหมดเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีผลว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านประชามติหรือไม่ ถ้าไม่ผ่านต้องเริ่มต้นกันใหม่ ซึ่งมีผลต่อการขยายเวลาอยู่ต่อของรัฐบาลนี้ที่คงสร้างความอึดอัดต่อคนกลุ่มหนึ่งที่อยากเลือกตั้งโดยเร็ว และจะขาดความเชื่อมั่นในสายตาต่างประเทศด้วย 

ประชามติปฏิรูป 2 ปี-ทำไม่ได้ 

นายประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า แน่นอนว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นต้องทำประชามติ แต่สิ่งที่อยากเรียกร้องคือการทำประชามติต้องมีการสร้างกระบวนการถกเถียงแลกเปลี่ยนความเห็นอย่างกว้างขวางของประชาชน ควรเปิดเวทีประชาพิจารณ์ต่างๆ เพราะเท่าที่ดูตอนนี้ประชาชนถูกจำกัดการมีส่วนร่วม เปรียบแล้วก็เหมือนอยู่ในกะลา นอกจากนี้ กระบวนการทำประชามติต้องนำมาสู่การยกเลิกประกาศ คสช. ที่ขัดขวางบรรยากาศการจัดเวทีรวบ รวมกลุ่มเสนอความเห็นต่างๆ ดังนั้น ถ้าเราจะสร้างประชาธิปไตยเราต้องทำประชามติในบรรยากาศอย่างที่กล่าวมา 

เมื่อถามว่า เห็นอย่างไรต่อข้อเสนอของสปช.ที่ให้ทำประชามติถามประชาชนให้ นายกฯอยู่ต่ออีก 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศ นายประภาสกล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิก สปช.จะเลอะเทอะไม่ได้ ประชามติต้องมีหลักการบางอย่างไม่ใช่อะไรก็ทำประชามติได้หมด การได้มาซึ่งผู้ปกครองเรามีกระบวนการอยู่แล้ว การทำประชามติต้องไม่ละเมิดหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตยดังนั้น เรื่องนี้ตนจึงคิดว่าทำไม่ได้ 

หนุนตั้งสภาร่างรธน.

น.ส.ปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ ตัวแทนกลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตยกล่าวว่า ทำประชามติอย่างไรไม่ให้เสียของ ถ้าคำว่าเสียของหมายถึงเจตนารมณ์ของการทำรัฐ ประหาร เรายังไม่รู้เลยว่าสิ่งที่คณะรัฐประหารทำพยายามตอบโจทย์อะไรกันแน่ ในที่นี้น่าจะหมายถึงความจรรโลงของหลักการประชา มติและหลักการประชาธิปไตย ซึ่งหมายถึงการทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมออกเสียงของตัวเองได้ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายมหาชน แต่ปัญหาคือกระบวน การร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ ประชาชนไม่สามารถเข้าไปมีส่วนร่วมได้แล้วนอกจากการทำประชามติ ซึ่งการทำประชามติที่ดีต้องทำประชามติที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้น 

น.ส.ปองขวัญกล่าวว่า ขั้นตอนก่อนการทำประชามติคือให้รณรงค์แลกเปลี่ยนความเห็นได้อย่างเสรี ต้องยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิ เสรีภาพ การแสดงออก เราไม่เห็นด้วยที่มีกฎหมายหลายฉบับ คำสั่งคสช.และมาตรา 44 บังคับใช้อยู่ ถ้าทำประชามติท่ามกลางบรรยากาศแบบนี้เราก็ไม่ยอมรับ เพราะไม่ใช่การทำประชามติที่เป็นประชา ธิปไตย ส่วนขั้นตอนการทำประชามติ ขอเสนอว่าเราต้องรอสปช.ว่าจะลงมติต่อร่างรัฐธรรมนูญอย่างไร ถ้าสปช.รับแล้วนำไปสู่กระบวนการทำประชามติ หากประชาชนไม่เห็นชอบ ขอเรียกร้องให้ยกเลิกกระบวนการที่มาจากรัฐประหารทั้งหมดแต่ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่โดยไม่มีความเกี่ยวข้องกับคณะรัฐประหาร ให้ยึดโยงประชาชนจริงๆ เมื่อร่างเสร็จให้ประชาชนทำประชามติอีกครั้ง 

ประชามติไม่ผ่าน-หนุนตั้งสสร.


โค่นยาง - ชาวสวนยาง 3 อำเภอใน จ.นครศรีธรรมราช รวมตัวคัดค้านการโค่นต้นยางพาราของจนท.ป่าไม้ โดยขอให้คสช.ทบ ทวน เพราะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชน ที่อบต.ทรายขาว อ.หัว ไทร จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 7 มิ.ย.

น.ส.สุนีย์ ไชยรส รองประธานคณะกรรมการกฎหมาย กล่าวว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่สูตรสำเร็จแต่เป็นสิ่งที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน ต้องไม่อยู่ในมือของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งในการร่าง ต้องเป็นการสร้างการเรียนรู้และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมากขึ้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 ที่ประชาชนใช้อ้างได้ ส่วนฉบับปัจจุบันกระบวนการร่างมีข้อจำกัด ซึ่งเมื่อมีประชามติแล้วเราต้องใช้ประชามติให้เป็นประโยชน์มากที่สุด จะเสียของหรือไม่ขึ้นอยู่กับจุดยืนว่าเปิดพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางที่สุด ขนาดสปช.ยังมีบางกลุ่มเสนอให้แก้กว่า 200 มาตรา คณะรัฐมนตรียังเสนอให้แก้กว่า 100 มาตรา ควรจะมีการทำประชามติในรายประเด็นด้วยต่อไป เพื่อให้การลงประชามติเป็นการใช้งบประมาณเพื่อรับฟังความคิดเห็นอย่างครบถ้วนคุ้มค่า

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผลการโหวตผ่านเว็บไซต์ prachamati.org ซึ่งเปิดโหวตในคำถาม "หากประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ไม่ผ่าน ควรทำอย่างไร?" ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2558 เป็นต้นมา มีทั้งหมด 6 ตัวเลือก ปรากฏผลดังนี้

1.ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาประยุกต์ใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ มีผู้โหวต 1,136 คน เห็นด้วย 958 คน ไม่เห็นด้วย 178 คน คิดเป็นเห็นด้วย 84% ไม่เห็นด้วย 16% 

2.ให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาประยุกต์ใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ มีผู้โหวต 1,053 คน เห็นด้วย 210 คน ไม่เห็นด้วย 843 คน คิดเป็นเห็นด้วย 20% ไม่เห็นด้วย 80% 

3. ให้ประชาชนเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ มีผู้โหวต 1,167 คน เห็นด้วย 1,021 คน ไม่เห็นด้วย 146 คน คิดเป็นเห็นด้วย 87% ไม่เห็นด้วย 13% 

ไม่เห็นด้วยคสช.ตั้งกมธ.ใหม่ 

4.ให้ คสช. ดำเนินการแต่งตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ มีผู้โหวต 1,096 คน เห็นด้วย 151 คน ไม่เห็นด้วย 945 คน คิดเป็นเห็นด้วย 14% ไม่เห็นด้วย 86% 

5.ให้สนช.เป็นคนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ผู้โหวต 1,043 คน เห็นด้วย 139 คน ไม่เห็นด้วย 904 คน คิดเป็น เห็นด้วย 13% ไม่เห็นด้วย 87% 

และ 6.ให้ คสช.หยิบรัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง มีผู้โหวต 1,045 คน เห็นด้วย 268 คน ไม่เห็นด้วย 777 คน คิดเป็นเห็นด้วย 26% ไม่เห็นด้วย 74% 

โดยสรุปคือ เสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการให้ประชาชนเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐ ธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ส่วนในลำดับถัดมาคือการนำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 มาประยุกต์ใช้ และไม่เห็นด้วยกับการให้สนช.เป็นคนจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การให้ คสช. ดำเนินการแต่งตั้งกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ การให้นำรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาประยุกต์ใช้เป็นรัฐธรรมนูญใหม่ และการให้ คสช.หยิบยกเอารัฐธรรมนูญฉบับใดขึ้นมาพิจารณาปรับปรุง ตามลำดับ

ชี้แนวโน้มตัดกลุ่มการเมือง 

เวลา 09.00 น. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถ.แจ้งวัฒนะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะอนุกมธ.มีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับ สปช. จัดสัมมนา เรื่อง "การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" เป็นวันที่สอง เวทีสุดท้ายของการรับฟังความคิดเห็นก่อนที่คณะกมธ.ยกร่างฯจะนำความคิดเห็นต่างๆ ไปสรุปกรอบสุดท้าย 

ช่วงเช้าเป็นการแบ่งกลุ่มให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น กลุ่มที่น่าสนใจ คือสถาบันการเมือง นักการเมือง การเลือกตั้ง โดยนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 40 ซึ่งภาพรวมของรัฐ ธรรมนูญจะทำให้เกิดความยุติธรรมในเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้ง ที่ร่างรัฐธรรมนูญเวลานี้บัญญัติให้มีกลุ่มการเมืองเกิดขึ้นซึ่งทำให้โอกาสที่พรรคการเมืองขนาดใหญ่จะมีอำนาจเด็ดขาดน้อยลง พรรคการเมืองขนาดเล็กมีโอกาสน้อย พรรคการเมืองขนาดกลางมีอำนาจมากขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดรัฐบาลผสม ทำให้มีเสียงต่อต้านจากพรรคการเมืองต่างๆ โดยมีแนวโน้มที่กลุ่มการเมืองจะถูกตัดออกไป รวมไปถึงมาตรา 181 และ 182 ก็มีแนวโน้มสูงที่จะถูกตัดออกเช่นกัน ทั้งๆ ที่ กมธ.ยกร่างฯไม่ได้ร่างมาเพื่อพรรคการเมืองอ่อนแอเลย

เสนอทำประชาพิจารณ์แทน 

นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนที่มาของ ส.ว. ขณะนี้ยังไม่ลงตัว 100 เปอร์เซ็นต์ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร เพราะเราเห็นว่าหากให้ ส.ว.มีที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะไม่แตกต่างจาก ส.ส. ดังนั้นจึงต้องทำให้แตกต่าง โดยมีตัวแทนที่หลากหลาย อย่างเช่นที่ผ่านมา ตัวแทนจากกลุ่มเกษตรกร แรงงาน ก็ไม่สามารถมานั่งเป็น ส.ส.ได้ เพราะมีปัญหาการจัดตั้งพรรคการเมือง แต่ที่มา ส.ว.เปิดโอกาสให้กลุ่มเหล่านี้มานั่ง เป็นตัวแทนของประชาชนได้ ดังนั้นจึงอยู่ที่ประชาชนจะคิดเห็นอย่างไร 

จากนั้น เวลา 13.00 น. แต่ละกลุ่มสรุปความคิดเห็น ส่วนใหญ่พอใจและเห็นด้วยกับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ มองว่ามีเนื้อหาครอบคลุมกว่ารัฐธรรมนูญฉบับก่อนหน้านี้ โดยเนื้อหาที่ประชาชนพอใจ อาทิ การให้สิทธิประชาชนมากขึ้น ระบบที่มา ส.ว. ระบบบัญชีรายชื่อ ส.ส. การมีกลุ่มการเมือง การเลือกตั้งแบบรัฐบาลผสมและเห็นว่าควรยกเลิกระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์เพราะทำให้เกิดความสับสนโดยให้กลับไปใช้การเลือกตั้งรูปแบบเดิมจะเหมาะสมกว่า 

นอกจากนั้น มีการเสนอให้ระบุว่าพรรคที่ได้เสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล มีบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการทำประชามติ เพราะหากประชาชนไม่เห็นด้วยในมาตราใดมาตราหนึ่งอาจทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านได้ และยังทำให้เสียงบประมาณที่ต้องใช้กว่า 3,000 ล้านบาทอย่างไม่คุ้มค่า จึงอยากให้ทำประชาพิจารณ์จะเหมาะสมกว่า และให้คงหมวดปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญและควรมีบางมาตรานำไปบัญญัติไว้ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเพื่อเป็นการันตีว่า จะอยู่ได้ยาวและรัฐบาลสามารถทำได้จริง 

เวลา 15.15 น. นายมานิจ สุขสมจิต รองประธาน กมธ.ยกร่าง กล่าวปิดการสัมมนาว่า หากมีการขยายเวลาของ กมธ.ยกร่างฯออกไป 30 วัน ก็จะทำให้ กมธ.ยกร่างฯ มีเวลามากขึ้นในการทบทวน ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ยืนยันว่าเราคงรักษาเจตนารมณ์เดิมใน 4 ประการที่สำคัญที่สุด หากต้องการให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่มีฤทธิ์ประชาชนต้องมีความเข้มแข็ง

ยันส่วนใหญ่หนุนภาคพลเมือง 

นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานอนุกมธ.การมีส่วนร่วมฯ ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้ง 4 เวที ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ให้คงภาคพลเมืองไว้เพราะทุกคนเมื่อได้รับฟังการชี้แจงก็เข้าใจ คำว่า "พลเมือง" แต่ยังมีบางส่วนเป็นกังวลในเรื่องของระบบการเลือกตั้ง การกระจาย อำนาจของท้องถิ่นว่ายังไม่มีความชัดเจน จากการรับฟังความคิดเห็นที่ผ่านมาได้ส่งให้กมธ.ยกร่างพิจารณาเป็นระยะๆ และจะส่งทั้งหมดอีกครั้งในสัปดาห์หน้า การพิจารณาของ กมธ.ยกร่างฯ ก็จะต้องยึดประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ 

เมื่อถามว่าเชื่อว่าการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯในกรอบสุดท้ายจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแรกมากเพียงไหน นางถวิลวดีกล่าวว่า เชื่อว่าคงต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปจากร่างแรกแต่คงไม่มาก เพราะจากการเข้าชี้แจงของนายวิษณุ เครืองาม ที่เสนอในส่วนของคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบด้วยที่ให้รัฐธรรมนูญอยู่บนหลัก 4 เจตนารมณ์ และมีการเสนอว่ารายละเอียดควรที่จะไปอยู่ในกฎหมายลูก ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯจะประชุมเพื่อรับฟัง คำขอแก้ไขในส่วนของกมธ.กฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ในเวลา 09.00 น. วันที่ 8 มิ.ย. และมีการประชุมอีกครั้งในช่วงบ่าย วันที่ 9 มิ.ย. โดยจะรอผลการประชุมของ ครม.ช่วงเช้าว่าจะให้คณะกมธ.ยกร่างฯ ขยายเวลาการพิจารณาหรือไม่ 

กมธ.สปช.เข้าแจงกมธ.ยกร่าง

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการไปชี้แจงคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 8 มิ.ย. ว่าคณะของตนจะมีผู้ไปชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกับตน คือนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง นายอุดม เฟื่องฟุ้ง สปช. ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม และนายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช.ด้านอื่นๆ โดยการชี้แจงของกลุ่มจะนำเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ เขียนร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้มีเนื้อหาที่สั้น กระชับ และนำเนื้อหารายละเอียดไปใส่ในกฎหมายลูก ซึ่งเป็นการร่างรัฐธรรมนูญตามหลักสากล ตนเห็นว่าหากตัดในส่วนเนื้อหาที่มีการขยายความออกไปนั้น จะทำให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ร่างอยู่นี้เหลือเพียง 118 มาตรา อีกทั้งการชี้แจงจะทำให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ทราบว่าโครงสร้างการปกครองในระบอบประชา ธิปไตยควรออกแบบให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง มีกลไกการตรวจสอบที่เข้มข้น มีมาตรการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบ

นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนประเด็นที่มีสมาชิก สปช.บางรายผลักดันการปฏิรูปประเทศให้เรียบร้อยก่อนเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 2 ปีนั้น เป็นเรื่องที่ยังไม่มีข้อยุติ เป็นเพียงความคิดเห็นส่วนบุคคลที่ยังต้องมีการถกเถียงกันต่อไป ส่วนที่ฝ่ายการเมืองออกมาคัดค้านแนวคิดนี้ ตนเห็นว่าที่ผ่านมาฝ่ายการเมืองได้ทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤตขึ้น ดังนั้น หากฝ่ายการเมืองต้องการให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วก็ควรให้ความเชื่อมั่นต่อประชาชนว่าจะไม่ทำสิ่งใดที่ก่อให้เกิดวิกฤตอีก ดังนั้น หากฝ่ายการเมืองยุติการกระทำที่ก่อให้เกิดวิกฤตแล้วคงไม่มีเหตุผลใดที่จะทำให้ผู้มีอำนาจเลื่อนจัดการเลือกตั้งออกไปตามกำหนดที่วางไว้ได้

แฉสนช.เอี่ยวซื้อยาปราบศัตรูพืช

เวลา 10.30 น. ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ สมาชิกพรรค อดีตประธานป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงว่า ขอเรียกร้องไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ให้ตรวจสอบกรณีปลดอดีตผู้ว่าฯ บึงกาฬ และอีกหลายจังหวัดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตโครงการจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืชกรณีเกิดภัยพิบัติในพื้นที่ มูลค่าทั้งสิ้น 7,800 ล้านบาทโดยมิชอบ แต่ยังมีสนช. 2 คน ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าฯ มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างเช่นกัน โครงการดังกล่าวมีต้นทุนเพียงแค่ 600 ล้านบาท จากการตรวจสอบมีการจัดซื้อสูงกว่า 10 เท่าของต้นทุน มีการประกาศพื้นที่ภัยพิบัติอย่างมีข้อสงสัย บางจังหวัดเกิดภัยพิบัติน้อยมากแต่พอเปลี่ยนตัวผู้ว่าฯ ภัยพิบัติเหล่านั้นก็ตามไปทันที ที่น่าสงสัยคือเป็นจังหวัดเล็กแต่การจัดซื้อมากกว่าจังหวัดใหญ่ บางจังหวัดราคาหน้าศาลากลางเพียง 250 บาท แต่ราชการกลับซื้อในราคา 1,920 บาท 

นายวิลาศกล่าวว่า อยากส่งสัญญาณไปถึงพล.อ.ประยุทธ์ และผู้เกี่ยวข้องให้จัดการ ที่สำคัญช่วงนี้จะเปิดเผยผู้ที่เกี่ยวข้องออกมาเป็นระยะ โดยมีผู้ว่าฯ เกี่ยวข้อง 22 คน นายอำเภอ 135 คนเกี่ยวข้อง คนพวกนี้เป็นพวกปากแข็ง ยังไม่นับรวมรายที่ถูกกันตัวเป็นพยานอีก ซึ่งรายชื่อทั้งหมดได้ส่งให้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ป.ป.ช. กระทรวงมหาดไทย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) แล้ว ถ้าสนช.ทั้ง 2 คนรู้ตัวว่าผิดก็ควรลาออก อย่าใช้ความเป็นเพื่อน วปอ. ถ้าเป็นถึง สนช.หรือ สปช.ก็ควรแสดงความรับผิดชอบ ไม่ควรมานั่งทำหน้าที่ดังกล่าว 

ตั้งพริตตี้เป็นผู้จัดการบริษัท

นายวิลาศกล่าวว่า ในการจัดซื้อจัดจ้างมีการจัดตั้งบริษัทที่เกี่ยวข้องขึ้นมาทั้งหมด 10 บริษัท เพื่อดำเนินโครงการโดยจากการตรวจสอบพบว่าข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ เช่น ผู้จัดการบริษัทเป็นพริตตี้ บางคนอ่านหนังสือยังไม่ออก สถานที่ตั้งบางบริษัทก็เป็นคอกควาย ซึ่งได้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากรตรวจสอบแต่ปรากฏว่ามีความล่าช้าจนบริษัทเหล่านั้นปิดตัวลงไป จนไม่สามารถตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามอยากให้กรมสรรพากรดำเนินการตรวจสอบ 10 บริษัทที่เกี่ยวข้องย้อนหลัง เพราะเป็นความเสียหายใหญ่หลวง เพราะคนที่หากินกับ 10 บริษัทนี้กลับได้ดิบได้ดี ไปตั้งบริษัทใหม่หากินกับส่วนราชการอีก 

อดีตผู้ว่าฯโต้ไม่เกี่ยว

นายชาญวิทย์ วสยางกูร สมาชิก สนช. อดีตผู้ว่าฯมุกดาหาร ตอบโต้กรณีนายวิลาศ แถลงระบุเกี่ยวข้องกับการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืช ว่า เรื่องดังกล่าวมีการร้องเรียนจากประชาชนในพื้นที่ว่าได้รับความเดือดร้อนจากภัยธรรมชาติหลายอย่างที่ให้พืชผลทางการเกษตรเสียหาย เช่น ศัตรูพืช ตนในฐานะผู้ว่าฯ สั่งการให้เจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบเมื่อพบว่าเป็นไปตามข้อร้องเรียนและเข้าเกณฑ์ก็ต้องประกาศเป็นพื้นที่เขตภัยพิบัติช่วยเหลือประชาชนที่เดือดร้อน การจัดซื้อจัดจ้างต่างๆก็ทำตามระเบียบ ดำเนินการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 53-55 และไม่ใช่ จ.มุกดาหาร เพียงจังหวัดเดียว จังหวัดใกล้เคียงก็มีปัญหา หากเราไม่ช่วยเหลือแล้วเกิดความเสียหายมากกว่าเดิมใครจะรับผิดชอบ

นายชาญวิทย์กล่าวว่า ส่วนการจัดซื้อจัดจ้างนั้นก็มีหน่วยงานหลายหน่วยเกี่ยวข้อง ไม่ใช่เฉพาะจังหวัดอย่างเดียว และตนก็กำชับให้มีการจัดซื้อจัดจ้างให้ถูกระเบียบ การที่นายวิลาศกล่าวหาตนว่ามีส่วนในการทุจริตจัดซื้อจัดจ้างยาปราบศัตรูพืช ยืนยันว่าตนทำตามหน้าที่ ไม่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง ตนจะไปรู้ได้อย่างไรว่าใครไปทำอะไรที่ไหนอย่างไร เพราะคนที่ปฏิบัติเป็นเจ้าหน้าที่ระดับล่าง และขณะนี้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าสตง.ก็กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ ก็ยังไม่มีการชี้มูล วันนี้ไม่มีหน่วยงานไหนชี้ว่าเราทุจริต 

สวนกลับต้องการสร้างกระแส 

"ผมไม่เข้าใจว่า นายวิลาศรู้ข้อเท็จจริงในพื้นที่หรือไม่ เพราะนายวิลาศไม่ใช่คนในพื้นที่ และไปเอาข้อมูลมาจากที่ใด ผมก็ไม่รู้จักเป็นการส่วนตัวกับนายวิลาศ ต้องไปถามนายวิลาศว่าจะมาเล่นงานอะไรกับผมและเพื่อนผม ทำไมต้องกล่าวหากัน ต้องการสร้างกระแสหรือไม่ ส่วนจะมีการฟ้องร้องหรือไม่นั้นขอพิจารณาดูก่อน และจะไปหารือกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช.คนที่ 1 ก่อน ส่วนจะชี้แจงกับสื่อ หรือไม่ ขอดูก่อนว่านายสุรชัยจะมีแนวทางอย่างไร" นายชาญวิทย์กล่าว 

นายพรศักดิ์ เจียรณัย สมาชิก สนช. อดีตผู้ว่าฯชัยภูมิ กล่าวว่า การจะประกาศเขตภัยพิบัติมีระเบียบกำกับอยู่แล้ว ไม่ใช่จู่ๆ ผู้ว่าฯจะประกาศได้ทันที และก่อนประกาศจะมีหน่วยเจ้าหน้าที่ลงไปตรวจสอบว่าพื้นที่ที่ประชาชนร้องเรียนเป็นอย่างไร เป็นจริงหรือไม่ตามที่ประชาชนร้องเรียนหรือไม่ ถึงจะประกาศได้ คล้ายกับกรณีน้ำท่วมและภัยแล้ง หากเกิดความเสียหายแล้วไม่ช่วยเหลือความเสียหายที่เกิดขึ้นใครจะรับผิดชอบ และการ ทุจริตที่จ.บึงกาฬ นั้นอย่าเอามาเปรียบเทียบกับจังหวัดอื่นๆ ต้องดูกันเป็นกรณีไปอย่าไปเหมารวม

สธ.นัดใหญ่รวมพล9มิ.ย.

วันที่ 7 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กลุ่มประชาคมสาธารณสุขเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย เริ่มเผยแพร่ข้อความเชิญชวนชาวสาธารณสุขนัดหมายชุมนุมใหญ่อีกครั้งวันที่ 9 มิ.ย.นี้ เวลา 09.00 น. ภายหลังจากมีคำสั่งให้ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดสาธารณสุข ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานด้านการวิจัยและการพัฒนางานด้านการสุขภาพแห่งชาติ ตั้งแต่มี.ค.ที่ผ่านมา ประชาคมสาธารณสุขฯระบุว่า "สิ้นสุดการรอคอย 90 วัน ได้เวลาลุกขึ้นทวงถามความเป็นธรรม กอบกู้ศักดิ์ศรี ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข"

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังแกนนำกลุ่มประชาคมสาธารณสุข ต่างให้คำตอบว่า การรวมตัวกันที่ผ่านมาจะถูกขอร้องจากฝ่ายความมั่นคงเพื่อไม่ให้เกิดความเคลื่อนไหว ดังนั้น ครั้งนี้จะไม่มีการแจ้งรายละเอียดการชุมนุม ทำให้จะนัดเพียงวัน เวลา ที่จะเคลื่อนไหวเท่านั้น ทั้งนี้ที่ผ่านมาได้ทำหนังสืออย่างเป็นทางการเพื่อทวงถามผลการสอบสวนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว แต่พบว่าการสอบสวน นพ.ณรงค์ ไม่มีความเป็นธรรมและปล่อยเรื่องให้ล่าช้า จึงต้องรวมตัวดังกล่าว

นพ.วัลลภ ไทยเหนือ อดีตปลัดสาธารณสุข เผยว่า การสอบสวนข้อเท็จจริง นพ.ณรงค์ ทำให้สังคมเกิดความสับสนสงสัยว่าการย้ายให้ไปปฏิบัติราชการแทนนั้นเกิดการทุจริตหรือไม่ พบว่าคำสั่งในการย้ายดังกล่าวรีบร้อนอย่างมาก และคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนมีความผิดปกติ โดยใช้คำในหนังสือคำสั่งว่า "ตามที่ปรากฏข่าวการปฏิบัติราชการในสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประสบปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อสนองนโยบาย.." นั้น เห็นได้ว่า คำสั่งดังกล่าวยึดประเด็นจากข่าวซึ่งไม่สามารถพิสูจน์ได้ หากทำเช่นนี้ต่อไปจะเป็นการสร้างบรรทัดฐานและต้องตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงให้วุ่นวาย ผ่านไป 3 เดือนแต่การสอบสวนยังไม่มีข้อยุติ ทำให้สันนิษฐานได้ว่าเป็นการตั้งธงไว้รอให้เกษียณ หรือร้ายแรงจนไม่สามารถเปิดเผยได้ หรือไม่พบความผิดปกติ จนอาจทำให้การแต่งตั้งคณะกรรมการนั้นเสียหายได้