Taksin copy copy


กินขาหมูที่เยอรมัน แม้วโชว์ พาสปอร์ตมอนเต วิษณุแย้มประชามติร่างรธน.-ทำควบ กรมชลแจ้งข่าวร้าย-แล้งวิกฤตหนัก 4 เขื่อนใหญ่แห้ง-เตือนชาวนาไม่มีน้ำ

       'วิษณุ'แย้มอาจทำประชามติ 'ร่างรธน.' ควบ โดยมีหัวข้ออื่นด้วยให้คุ้มเงิน 3 พันล้าน อีก 2-3 วันประกาศยืดโรดแม็ปหรือไม่ สปช.คึกคักซาวเสียงปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี 'ไพบูลย์'ซัดคนคัดค้านเป็นนักปชต.จอมปลอม "เทียนฉาย"เตรียมนัดสปช.หาข้อยุติ ครม.ส่งวิษณุแจงกมธ.ยกร่างฯเสนอตัดทิ้งมาตรา 130 ส่งชื่อครม.ให้วุฒิสภาเห็นชอบก่อนแต่งตั้ง มาตรา 207 ตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ชงเลือกตั้งส.ว.77จังหวัดโดยตรง ไม่เพิ่มอำนาจให้เสนอกฎหมาย อ.ปื๊ดยอมรับต้องรื้อใหญ่ทั้งกลุ่มการเมือง แยกกสม.-ผู้ตรวจฯเหมือนเดิม 'มาร์ค'แขวะ"บวรศักดิ์" เข้าใจการเมืองภาคพลเมืองแค่ไหน อุ๊งอิ๊งโพสต์'พ่อแม้ว'ถือพาสปอร์ตมอนเตเนโกรบินเยอรมัน กรมชลฯเผยแล้งจัด จ่องดส่งน้ำเพาะปลูก'บิ๊กตู่'ห่วงชาวนาถูกกดราคาข้าว เหตุมาจากสต๊อกโครงการรับจำนำรัฐบาลเก่า 

วันที่ 07 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8957 ข่าวสดรายวัน

บินเยอรมัน - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ภาพอยู่หน้าร้านขาหมูเก่าแก่ของประเทศเยอรมัน หลังจากไปเพิ่มหน้าพาสปอร์ตใหม่ที่ประเทศมอนเตเนโกร เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.

 

 

'บิ๊กตู่'ห่วงชาวนา-ข้าวดิ่ง

    เมื่อวันที่ 6 มิ.ย.พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แสดงความห่วงใยและเห็นใจกรณีที่ชาวนาร้องเรียนว่า ถูกกดราคาขายข้าวเปลือก ซึ่งนายกฯได้รับรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ราคาข้าวเปลือกในประเทศตกต่ำคือสต๊อกข้าวจำนวน 17 ล้านตัน ที่เกิดจากโครงการรับจำนำข้าว ในอดีต กำลังสร้างปัญหา กลายเป็นตัวกดราคาข้าวไทย เนื่องจากผู้ค้าข้าวในตลาดโลกมองว่า ไทยจำเป็นต้องระบายสต๊อกข้าวออกมา ทำให้ราคาข้าวที่กำลังจะออกมาใหม่ ไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ 

"นายกฯแสดงความชื่นชมแนวทางของกระทรวงพาณิชย์ ในการดำเนินการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐ ด้วยความระมัดระวัง และไม่ไปเพิ่มแรงกดดันให้กับราคาข้าว ในตลาดโลก เพราะชาวนาไทยอาจจะได้รับผลกระทบไปด้วย โดยเฉพาะข้าวฤดูกาลเก็บเกี่ยวใหม่ อย่างไรก็ตามการระบายข้าวเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องดำเนินการเพื่อมิให้เป็นภาระของประเทศ" พล.ต.สรรเสริญกล่าว

เร่งระบายสต๊อกเก่า

       พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า ล่าสุด กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า ข้าวในสต๊อกรัฐบาลทั้งหมด 17 ล้านตัน เป็นข้าวที่มีคุณภาพในระดับมาตรฐาน 2 ล้านตันเศษ ต่ำกว่ามาตรฐาน 14 ล้านตันเศษ ข้าวเสีย 6.9 แสนตัน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ จะพิจารณาหาจังหวะในการระบายข้าวในสต๊อกให้ได้ราคาดีที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบกับผลผลิตข้าวนาปี ที่จะออกมาในช่วงปลายปีนี้ โดยกรมการค้าต่างประเทศ ได้ออกประกาศเปิดระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลเป็นครั้งที่ 3 ของปีนี้ ปริมาณ 1.06 ล้านตัน ให้กับผู้สนใจ ส่วนใหญ่เป็นข้าวขาว 5% และปลายข้าว อยู่ใน 153 คลัง จาก 35 จังหวัด โดยเปิดให้ผู้สนใจตรวจสอบคุณภาพข้าว ณ คลังที่เปิดประมูลวันที่ 8-12 มิ.ย.นี้ จากนั้นจะให้ยื่นซองเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติในวันที่ 15 มิ.ย. และประกาศผู้ผ่านคุณสมบัติในวันที่ 16 มิ.ย.เวลา 09.00 น. 

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า กรมการค้าต่างประเทศจะเสนอรายชื่อผู้ยื่นประมูลที่ผ่านเกณฑ์มูลค่าขั้นต่ำ ให้ประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) พิจารณาเพื่ออนุมัติการขายต่อไป ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้เปิดประมูลข้าวไปแล้ว 6 ครั้ง นับตั้งแต่คคสช.บริหารประเทศ คิดเป็นปริมาณกว่า 2.017 ล้านตัน มูลค่ารวม 22,374 ล้านบาท 

"

'วิษณุ'แจงขอแก้ร่างรธน.

     เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญมีการประชุม เพื่อรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจากนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนพล.อ. ประยุทธ์ ผู้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ ชี้แจงว่า นายวิษณุ จะได้เวลาชี้แจงรายละเอียดทั้งสิ้น 3 ชั่วโมง และการประชุมครั้งนี้ไม่ให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังเต่อย่างใด 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวก่อนการพิจารณาว่า การพิจารณาในวันนี้จะไม่มีการซักถามในรายละเอียดอื่น นอกเหนือจากคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อรักษามารยาท ขณะที่คำขอแก้ไขร่าง รัฐธรรมนูญของครม. มีรายละเอียดต้องพิจารณาพอสมควร จำแนกได้เป็นการขอแก้ไขถ้อยคำ การเสนอเพื่อปรึกษาหารือ และ นายวิษณุยังมีสิทธิซักถาม กมธ.ยกร่างฯได้ทุกประเด็นที่สงสัย 

ชงตัดทิ้งมาตรา 130-207

         จากนั้นเวลา 12.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์แถลงภายหลังการประชุมว่า นายกฯและครม. เห็นว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญควรสะท้อนหลักคิดที่ให้ยึดประเทศชาติและประชาชนเป็นศูนย์กลาง ต้องสอดคล้องกับสถานการณ์และบริบทของสังคมไทย ซึ่งเป็นปัญหาที่มีลักษณะเฉพาะ ขณะเดียวกันต้องสะท้อนเอกลักษณ์ของตนเองและต้องไม่เป็นเครื่องมือนำไปใช้ก่อเหตุความขัดแย้งในอนาคต และรัฐธรรมนูญไม่ควรยืดยาว ข้อความในบางมาตรายังมีความยืดยาวอยู่ ยังไม่ชัดเจนอาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหารราชการแผ่นดินและการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รัฐ บางกลไกเสี่ยงต่อการทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพ บทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิรูป มีรายละเอียดมาก รวมทั้งมีองค์กรหรือคณะกรรมการตามรัฐธรรมนูญที่ให้เกิดขึ้นใหม่จำนวนมากเป็นภาระด้านงบประมาณ

      พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ครม.ให้น้ำหนักและให้ความสำคัญในการขอแก้ไข คือ มาตรา 130 เรื่องการเสนอรายชื่อครม.ให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบก่อนแต่งตั้งนั้น ควรตัดออก เนื่องจากทำได้ยากและใช้เวลานานเกินไป มาตรา 207 เรื่องการแต่งตั้งข้าราชการโดยระบบคุณธรรม ควรตัดออก และเห็นควรให้แยกผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ไว้เหมือนเดิม

เลือกตรงส.ว.-ไม่เพิ่มอำนาจ

    โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ส่วนมาตรา 279 เรื่องการกำหนดให้มีสภา ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เห็นว่าการกำหนดให้มี 2 องค์กรอาจทำให้การปฏิบัติหน้าที่ไม่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน จึงเห็นว่าควรรวมทั้ง 2 องค์กรเข้าด้วยกัน และปรับปรุงอำนาจหน้าที่และจำนวนให้เหมาะสม

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า ครม.เห็นว่าการเลือกตั้ง ส.ว.โดยตรง 77 จังหวัด ที่ผ่านมามีไม่กี่จังหวัดที่มีผู้สมัครเกิน 10 คน ดังนั้น การตั้งกรรมการกลั่นกรองจะทำให้ไม่มีความคุ้มค่า จึงเห็นว่าควรให้มีการเลือกตั้งโดยตรงไปเลย ไม่ต้องมีกรรมการมากลั่นกรอง แต่ที่มา ส.ว.ที่เหลืออีก 123 คน ครม.ไม่มีความคิดเห็นอะไร ส่วนอำนาจหน้าที่ส.ว.นั้น ครม.คิดว่าการให้อำนาจส.ว.เสนอกฎหมายได้จะก่อให้เกิดปัญหาและไม่มีความจำเป็น หากเสนอ มาแล้วส.ส.ไม่เอาด้วยก็ตกไปอยู่ดี ดังนั้น ไม่ควรเพิ่มอำนาจในการเสนอกฎหมาย ให้กับส.ว. 

     พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ส่วนในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ครม.เห็นว่า 15 มาตราที่เกี่ยวกับการปฏิรูปเป็นเรื่อง ที่อาจปรับเปลี่ยนได้ในอนาคต อาจขัดต่อนโยบายการบริหารประเทศของรัฐบาล และเป็นการผูกมัดมากเกินไป ดังนั้นทั้ง 15 มาตราควรไปกำหนดไว้ ในกฎหมายอื่นๆ และหลังจากรับฟังคำชี้แจงแล้ว กมธ.ยกร่างฯ จะนำไปพิจารณาต่อไป 

ชี้ทำประชามติรัฐอยู่ต่อ 2 ปีได้

      ด้านนายวิษณุให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่มี ข้อเสนอให้มีการทำประชามติเพื่อให้รัฐบาลทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 ปีว่า รัฐบาลยังไม่คิดถึงเรื่องนี้ แต่คิดแค่ว่าจะต้องได้คำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญอย่างคุ้มค่า ถ้ามีคำถามอื่นถือเป็นของแถมต้องไม่เสียเงินเพิ่มกว่า 3 พันล้านบาท เรื่องที่จะถามเพิ่มเติม ครม.คิดไว้ หลายเรื่อง ไปถามหมด อาจจะพะรุงพะรัง รอไว้พูดเมื่อถึงเวลา รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ลงรายละเอียดถึงคำถามในการทำประชามติ เพราะจะทำให้ถามเรื่องอื่นอีกไม่ได้ โดยหลักต้องเอาคำตอบเรื่องรัฐธรรมนูญมาให้ได้ก่อนถ้าคิดว่าประชาชนไม่สับสนในการกาบัตร แต่ถ้าหากไปใส่คำถามไว้มากบัตรเลือกตั้งอาจ ยืดยาวกว่าบัตรเลือกตั้งแบบเยอรมัน ซึ่ง รูปแบบการทำประชามตินึกไว้ในใจแล้วแต่ยังไม่ขอตอบ เพราะถ้าคนอื่นไม่เห็นด้วยก็จะแย่

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะนี้การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 คืบหน้าไปมากแล้ว ส่วนการยืดกรอบเวลาให้กมธ. ยกร่างฯ ทำงานต่อไปอีกนั้นชัดเจนแล้วว่าจะขยาย แต่มีเงื่อนไขอะไรบางอย่างซึ่งตนไม่ขอบอกตอนนี้ และไม่จำเป็นที่จะต้องขยายออกไป 30 วัน อาจจะ 10 หรือ 20 วันก็ได้ 

อีก 2-3 วันโรดแม็ปชัดเจน 

     ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีส.ว.ชุดที่ผ่านมาพยายามแก้รัฐธรรมนูญที่มีผลถึงการต่ออายุ วันนี้มีคดีความค้างคาอยู่ หากทำในลักษณะเดียวกันจะเป็นปัญหาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า บทเรียนมีอยู่จะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำเดิม หากเอาคำพิพากษามาดูจะรู้ว่าแบบเดิมเสียเพราะอะไร แต่ถ้าจะทำก็มีวิธีการอยู่ 

      ส่วนมีความจำเป็นหรือไม่ที่จะยืดเวลาเพื่อปฏิรูปออกไปอีก 2 ปี นายวิษณุกล่าวว่า ตนอยากตอบ แต่ถ้าตอบไปจะถูกนำไปเชื่อมโยงกับกรณีข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ อย่างไรก็ตาม เรื่องการต่ออายุของรัฐบาลเพื่อทำการปฏิรูปนั้นสามารถทำได้ แต่สมควรหรือไม่ยังไม่มีความจำเป็นต้องไตร่ตรอง ได้ไม่คุ้มเสียหรือไม่ต้องมาคิดกันอีกที ไม่อยากยกตัวอย่างจะกลายเป็นการชี้นำ ส่วนถ้าตัดประเด็นของนายไพบูลย์ออกไปโรดแม็ปของ คสช.จะยังเหมือนเดิมหรือไม่นั้น คาดว่าจะมีความชัดเจนในเรื่องนี้อีก 2-3 วัน โดยจะมีการเผยแพร่ออกมาในรูปแบบข่าวอย่างเป็นทางการ 

'พีระศักดิ์'คาดเลือกตั้งปี 60

       นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯเสนอให้ปฏิรูปประเทศ 2 ปีก่อนการเลือกตั้งว่า เป็นการตัดสินใจของคสช.และครม. ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดเจนว่าจะทำตามกฎหมายและจะใช้มาตรา 44 ในเชิงสร้างสรรค์ แต่จะไม่ก้าวล่วงรัฐธรรมนูญ หมายความว่ามาตรา 44 จะไม่ใหญ่กว่ารัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 โดยสนช.มีหน้าที่ให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น 

       นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ตามกระบวนการเดิมจะมีการเลือกตั้งในปี 2559 แต่เมื่อ ขยายเวลาทำงานกมธ.ยกร่างฯ เป็น 90 วัน ซึ่งเดิมกำหนดลงมติร่างรัฐธรรมนูญใน วันที่ 6 ส.ค.ก็จะต้องเลื่อนออกไปเป็นเดือนก.ย. รวมทั้งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อให้มีการทำประชามติ โรดแม็ปก็จะยืดออกไปอีก 5-6 เดือน คาดว่าจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนต.ค.2559 แต่ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องผ่านความเห็นชอบของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านความเห็นชอบของสปช.ก็ต้องเริ่มกระบวน การใหม่คือการตั้งสปช.และกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งต้องใช้เวลาทำงานอีก 1 ปี คาดว่าจะมีการเลือกตั้งได้ในปี 2560 

สปช.ซาวเสียงปฏิรูป 2 ปี

       ส่วนนายมนูญ ศิริวรรณ สปช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้เสนอญัตติแก้รัฐธรรมนูญต่อกมธ.ยกร่างฯให้มีการปฏิรูป 2 ปี ก่อนจัดเลือกตั้ง จึงต้องดูว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการตอบรับจากกมธ.ยกร่างฯหรือไม่ อย่างไรก็ตามขณะนี้เริ่มมีสปช. มาซาวเสียงสอบถามความเห็นจากสมาชิกสปช.ในห้องไลน์ของสปช. ว่า เห็นด้วยกับแนวทางการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งหรือไม่ เท่าที่ดู ก็มีสปช.ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว ฝ่ายที่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า อยากให้การปฏิรูปประสบความสำเร็จ หากปล่อยให้ไปปฏิรูปหลังเลือกตั้งจะทำให้การปฏิรูปชะงักได้ 

      นายมนูญ กล่าาว่า ขณะที่สปช.ฝ่ายไม่เห็นด้วยให้เหตุผลว่า เกรงว่าจะถูกวิจารณ์เป็นการสืบทอดอำนาจให้สปช. และนายกฯ ขณะนี้เป็นแค่การเริ่มต้นซาวเสียงเท่านั้น ยังไม่รู้ว่าจะมีข้อสรุปอย่างไร แต่หากมีเสียงสนับสนุนเรื่องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้งจำนวนมากเชื่อว่าจะนำเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสปช.ชุดใหญ่ เพื่อหารือและขอมติสนับสนุนการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้ง ให้ข้อเสนอดังกล่าวมีน้ำหนักและถูกนำไปปฏิบัติต่อไป นอกจากนี้ยังได้ยินว่า มีสปช.บางส่วน อาจจะล่าชื่อประชาชน เพื่อให้การสนับสนุนเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งด้วย

เผยมีทั้งเห็นด้วย-คัดค้าน

      พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สปช. กล่าวว่า ขณะนี้เสียงในสปช.ยังวัดไม่ได้ เพราะมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งนายกฯ เองก็ระบุแล้วว่าขึ้นอยู่กับประชาชนเป็นผู้ตัดสิน ซึ่งในข้อเท็จจริงข้อเสนอดังกล่าวไม่ควรออกไปจากสภาแห่งนี้เพราะเป็นประเด็นที่มีการนำไปสร้างกระแส ส่วนเรื่องความกังวัลว่าการดำเนินงานเกี่ยวกับการปฏิรูปจะสะดุดหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามโรดแม็ปและรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่กำหนดให้การเลือกตั้งอาจเกิดขึ้นในช่วงต้นปี 2559 แต่พอมีเงื่อนไขว่า ต้องทำประชามติว่าจะรับหรือไม่รับต่อร่างรัฐธรรมนูญนั้น คาดว่าการเลือกตั้งอาจจะเกิดขึ้นปลายปี 2559 หรือยืดเวลาไปถึง ต้นปี 2560 เพราะมีกระบวนการอื่นแทรกซ้อนเพิ่มเข้ามาโดยใช้ระยะเวลานับจากนี้เกือบ 2 ปี อยู่แล้ว 

"แม้จะอยู่เงียบๆ ไม่มีข้อเสนอดังกล่าว การดำเนินงานเกี่ยวกับการปฏิรูปก็ต้องใช้เวลาไปเกือบ 2 ปี การมีข้อเสนอเช่นนี้เท่ากับทำให้เข้าซองเข้าล็อกที่จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ ส่วนกรณีจะทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคมขึ้นมาอีกหรือไม่นั้นคงต้องรอดูสักระยะ" พล.อ.เอกชัยกล่าว

'ดิเรก'เตือนตกบันไดตอนจบ

     ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสปช. กล่าวว่า อยากให้พล.อ.ประยุทธ์ คิดปรึกษาหารือกับคณะทำงานให้รอบคอบ ท่านเดินทาง มาไกลแล้ว เริ่มต้นแก้ไขปัญหาประเทศได้ดีมาก ไม่อยากให้พลาดตกบันได ตอนจบ เพราะคนมีหลายประเภท ทั้งจริงใจ ตรงไปตรงมา ทั้งแกล้งสรรเสริญเยินยอหวังผลประโยชน์ ตนเป็นคนตรงไปตรงมา เหมือนครั้งที่มีคนเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมสุดซอย ก็เตือนว่าจะเป็นปมเรียกแขก แต่ไม่มีใครเชื่อ สุดท้ายมันผิดจากที่เตือนหรือไม่ ครั้งนี้ก็เช่นกัน ที่ขอเตือนด้วยความจริงใจ แต่จะมีใครเชื่อหรือไม่ ต้องคิดกันให้รอบคอบว่า ข้อเสนอนั้น มีผลประโยชน์อะไร หรือจะถูกประชาชนตั้งคำถามเรื่องการสืบทอดอำนาจหรือไม่

   นายนิรันดร์ พันทรกิจ สปช. กล่าวว่า เท่าที่มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการกับ สปช.บางส่วน มีการพูดคุยกันว่า การจะผลักดันข้อเสนอเรื่องการปฏิรูป 2 ปี ก่อนเลือกตั้งให้สำเร็จจะต้องใช้ประชาชนผลักดัน โดยต้องใช้การล่ารายชื่อประชาชน 2-3 หมื่นคน ส่งให้สปช. กมธ.ยกร่างฯ และรัฐบาล ให้เห็นว่า ประชาชนมีความต้องการให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง แต่แนวทางการล่าชื่อดังกล่าวจะให้ภาคเอกชนและภาคประชาชนในพื้นที่เป็น ผู้ดำเนินการเอง สปช.จะไม่เป็นตัวตั้งตัวตีเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย เพราะจะถูกมองว่า ทำเพื่อสืบทอดอำนาจให้ตัวเอง ขณะนี้ยังไม่ทราบว่าจะเริ่มล่าชื่อประชาชนได้เมื่อใด เพราะเป็นเพียงการหารือคุยกันนอกรอบเท่านั้น ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการออกมา 

'ไพบูลย์'ซัดนักปชต.จอมปลอม

        นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ ในฐานะผู้เสนอแนวคิดทำประชามติให้รัฐบาลอยู่ทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 กล่าวถึงกรณีมีฝ่ายการเมือง ออกมาโต้แย้งประเด็นดังกล่าวว่า ตนไม่ได้เสนอให้รัฐบาลต่ออายุเพื่อทำงานต่อ แต่เสนอให้ทำประชามติ เพื่อรับฟังเสียงประชาชน ถามประชาชนว่าต้องการให้ปฏิรูปประเทศต่อไปหรือไม่ และเสียงของประชาชนถือเป็นประชาธิปไตย คนที่ออกมาเคลื่อนไหว ไม่อยากให้ประชาชนมีสิทธิมีเสียงในเรื่องนี้ใช่หรือไม่ แล้วทำไมมีการเรียกร้องประชามติ รับหรือไม่รับรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่าอยากฟังเสียงของประชาชน จึงมีคำถามว่า คนที่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้เป็นนักประชาธิปไตยจอมปลอม ที่จะเลือกแต่ในสิ่งที่ตนเองได้ประโยชน์ใช่หรือไม่ 

         "หากมีการทำประชามติเกิดขึ้นจริง ก็รอไปวัดกันในคูหาเลือกตั้ง เพราะผม ผู้ที่คัดค้าน หรือประชาชน ต่างมีสิทธิคนละหนึ่งเสียงเช่นกัน ผมได้เสนอข้อเสนอดังกล่าวต่อที่ประชุมแม่น้ำ 3 สาย ซึ่งนายกฯรับทราบแล้ว โดยบอกให้ถามประชาชน ดังนั้นเป็นเรื่องที่ประชาชนต้องรวบรวมรายชื่อเสนอนายกฯเอง สปช.และฝ่ายการเมือง ไม่น่ามีส่วนกับเรื่องดังกล่าวแล้ว" นายไพบูลย์กล่าว 

'เทียนฉาย'เล็งถกในที่ประชุม

        นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่าการเสนอความเห็นใดๆ เป็นสิทธิที่ทำได้ของสมาชิก สปช. แต่เรื่องดังกล่าวไม่ใช่มติของสปช.ทั้งหมด ดังนั้นการทำงานยังยึดตามโรดแม็ปเดิม ขณะเดียวกันเห็นว่าหากสปช.จะเสนอความเห็นใดๆ ที่เป็นเรื่องละเอียดอ่อนเป็นประเด็นที่กระทบต่อสปช.หรือสังคมวงกว้างควรนำเข้าสู่ที่ประชุมสปช.หรือวิปสปช. ก่อน เนื่องจากเรื่องที่อ่อนไหวจะทำให้กระทบภาพลักษณ์การทำงาน ของสปช.ในภาพกว้าง อาจทำให้การปฏิรูปมีปัญหา ประชาชนไม่มีความเชื่อถือ เกิดความหวาดระแวงในการทำหน้าที่ ไม่เพียงแต่สปช.เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อรัฐบาล และแม่น้ำทุกสาย ทำให้ถูกมองว่าสปช.ต้องการอยู่สืบทอดอำนาจร่วมกับรัฐบาลด้วย 

     นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวว่า ข้อเสนอให้มีการทำประชามติ เพื่อให้รัฐบาลอยู่ทำงานปฏิรูปต่ออีก 2 ปียังไม่ขอพูด ถ้าพูดไปก่อนจะกลายเป็นจบเรื่อง ความเห็นสปช.คนอื่นไม่มีความหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องถูกต้อง จึงต้องหารือกันก่อน เท่าที่ดูจากการแสดงความเห็นกันในแอพพลิเคชั่นไลน์กลุ่มของสปช.ยังเห็นต่างกันอยู่หลายส่วน จึงน่าจะมีการเอาเรื่องเข้าที่ประชุมกันเพื่อหาข้อสรุป แต่ยังบอกไม่ได้ว่าจะหารือในวันไหน ยังไม่มีใครแจ้งเรื่องมา

อ.ปื๊ดจ่อรื้อประเด็นถูกติงหนัก

      เวลา 13.30 น. ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชันเซ็นเตอร์ ถนนแจ้งวัฒนะ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน สปช. สถาบัน พระปกเกล้า และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ร่วมจัดโครงการสัมมนา "การเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" โดยมีเครือข่ายชุมชนและภาคประชาสังคม 14 จังหวัดภาคกลางประมาณ 200 กว่าคนร่วมรับฟัง

ด้านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า ขณะนี้มีหลายประเด็นที่กมธ.ยกร่างฯ ต้องทบทวน ร่างรัฐธรรมนูญ เช่น แนวคิด เรื่องกลุ่มการเมือง เพราะหลายฝ่ายทั้งพรรคการเมือง สปช. ครม.และประชาชนเห็นตรงกันว่าจะต้องทบทวน เมื่อทบทวนแล้วการจัดตั้งพรรคการเมืองจะต้องไม่ง่ายกว่าเดิม ส่วนการผนึกรวมกสม. กับผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ แล้ว น่าจะต้องแยกอยู่เหมือนเดิม ขณะที่ความเห็นของภาคประชาชนทั้งหมด คณะอนุกมธ.จะรวบรวมจัดทำเป็นรูปเล่มเสนอกมธ.ยกร่างฯ ต่อไป ดังนั้นขอให้เร่งเสนอความเห็นเข้ามาเพราะร่างแรกจะต้องแก้ให้เสร็จภายในปลายเดือน มิ.ย.นี้ 

ชี้เหตุคนไทยไม่เลิกตีกัน

     นายบวรศักดิ์ กล่าวต่อว่า ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองตั้งแต่ปี 2475 ผ่านมา 83 ปี เรากำลังร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 ถือเป็นประเทศหนึ่งที่มีรัฐธรรมนูญจำนวนมาก แสดงว่าบ้านเมืองเรายังมีปัญหา มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ ตอนใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นทันที ความขัดแย้งนั้นเกิดจากการที่รัฐบาลขณะนั้นจะแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เพราะไม่พอใจรัฐธรรมนูญปี 2550 นำมาสู่การชุมนุม ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งหากความขัดแย้งทั้งหมดนี้ยังยืดเยื้อเรื้อรังก็จะเกิดปัญหา ประเทศไทยจะถอยหลังทั้งในอาเซียนและในโลกนี้

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สาเหตุเบื้องต้นของความขัดแย้ง เกิดจากผู้นำการเมืองทั้งรุ่นก่อน 14 ตุลาและ 14 ตุลา ฝ่ายไหนขึ้นเป็นรัฐบาล อีกฝ่ายก็ลงไปเดินถนน เป็นแบบนี้มาเป็น 10 ปีแล้ว ถามว่าเราจะเป็นแบบนี้อีกหรือไม่ ถ้ายังตีกันประเทศไทยจะอยู่ตรงไหนของโลก ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงเขียนขึ้นมา เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้ง เพราะประชาชนถูกชักจูงเข้าสู่ฝ่ายต่างๆ จนนำไปสู่ความขัดแย้ง ทุกสถาบันในสังคมไทยถูกดึงลงมาหมด ความขัดแย้งจะต้องสิ้นสุดลง ดังนั้นการสร้างรัฐธรรมนูญที่ดีจะต้องมีเสาเอก คือเจตนารมณ์หลักที่จะแก้ปัญหาและสร้างอนาคต 

ชู 4 เสาเอกแก้ปัญหาในอดีต

        ประธานกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ. ยกร่างฯ มองแล้วว่าเสาเอกมี 4 เสา คือ 1.พลเมืองเป็นใหญ่ 2.ทำการเมืองให้ใสสะอาดและสมดุล 3.หนุนสังคมที่เป็นธรรม และ 4.นำชาติสู่สันติสุข ร้ฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนขึ้นเพื่อเหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีต นำชาติสู่สันติสุข ความปรองดองต้องเกิด และอีกด้าน คือการแก้ความไม่ใสสะอาด สร้างความสมดุล เราต้องการนักการเมืองทั้งท้องถิ่นและระดับชาติที่ใสสะอาด มีระบบการตรวจสอบที่ดี นอกจากนี้เรายังต้องสร้างอนาคตให้ลูกหลานด้วย คือ ทำพลเมืองให้เป็นใหญ่และหนุนสังคมให้เป็นธรรม 

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า การซื้อเสียงไม่ใช่เอาระบบเลือกตั้ง หรือคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)ไปแก้ แต่ต้องทำให้ประชาชนพึ่งตนเองได้ ทำให้เป็นอิสระทางเศรษฐกิจ และสังคม ซึ่งกมธ.ยกร่างฯเห็นว่าไม่มีทางอื่น จะต้องสร้างราษฎรให้เป็นพลเมือง มีสำนึกพลเมือง มีพฤติกรรมพลเมือง เคารพและรักสิทธิของตนเองและผู้อื่น มีจิตสาธารณะ พลเมืองที่เป็นใหญ่เท่านั้นที่จะไม่สูญเสีย

      จากนั้นตัวแทนเครือข่ายองค์กรชุมชนและประชาสังคม 4 ภาคได้ยื่นแถลงการณ์ข้อเสนอร่างรัฐธรรมนูญ ต่อนายบวรศักดิ์ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณา โดยหลักขอให้คงกลไกสำคัญของประชาชน เช่น กสม. องค์กรอิสระ กลไกติดตามตรวจสอบการทำงานของผู้นำทางการเมือง และข้าราชการทุกระดับ และให้คงการปฏิรูปด้านต่างๆ ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างการปฏิรูปให้เป็นรูปธรรม

'มาร์ค'เหน็บเจ็บ'บวรศักดิ์'

       เวลา 09.30 น.ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัย ธรรมาธิราช นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวบรรยายในชั้นเรียนนักศึกษาระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ หัวข้อ "โฉมหน้ารัฐธรรมนูญใหม่คนไทยได้อะไร" ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันการวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องในเชิงเทคนิคจนลืมไปว่ารัฐธรรมนูญคือกติกาสูงสุดของประเทศ สิ่งสำคัญที่สุดคือการจัดการอำนาจและจัดลำดับความสำคัญของปัญหาในสังคม สื่อไปมองเป็นประเด็นว่า ครม.จะขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 100 กว่าประเด็น ซึ่งเรื่องรัฐธรรมนูญจะมองเป็นประเด็นไม่ได้ เพราะอย่าลืมประเด็นที่ว่ารัฐธรรมนูญเพียงมาตราเดียวก็นำไปสู่การฆ่าฟันบนท้องถนนได้ 

        นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เท่าที่ฟังผู้ร่าง โดยเฉพาะนายบวรศักดิ์ ซึ่งโฆษณาตลอดว่ารัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้พลเมืองเป็นใหญ่กว่านักการเมือง แต่ไม่แน่ใจว่าผู้ร่างเข้าใจการเมืองภาคประชาชนหรือการเมืองภาคพลเมืองแค่ไหน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้สิทธิของประชาชนยังไม่ชัดเจนว่าเป็นการเพิ่มหรือลดลง เช่น การเข้าชื่อเสนอกฎหมายอาจมีความสะดวกมากขึ้น แต่สิทธิการฟ้องร้องราชการกลับหายไปเหลือเพียงแค่การร้องทุกข์ และแนวโน้มเรื่องสิทธิชุมชนในบางมาตราถูกตัดออก บางส่วนกลับไปเพิ่มอำนาจของรัฐ ที่สำคัญมีการเข้าใจการเมืองภาคพลเมืองผิด เพราะการระบุให้มีสมัชชาพลเมืองใช้อำนาจแทนประชาชนนั้นไม่ใช่การเมืองภาคประชาชน แต่เป็นการเมืองภาคตัวแทนเหมือนการมี ส.ส. และเป็นการเมืองตัวแทนเพิ่มขึ้นมาอีกระบบหนึ่ง เช่นเดียวกับการมีฝ่ายค้าน

ชำแหละร่างรธน.เละ

       นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า สำหรับเรื่องการเมืองในระบบตัวแทนที่ในระบอบประชาธิปไตยประชาชนต้องใช้สิทธิผ่านระบบเลือกตั้ง แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอและทำให้มีกลุ่มการเมืองเกิดขึ้น ถือเป็นการตีโจทย์ผิด หากกลุ่มการเมืองเข้ามาในสภาจะทำให้ไม่สามารถสนองต่อความต้องการของประชาชนผ่านนโยบายในการหาเสียงได้ อีกทั้งจะทำให้เกิดการต่อรองอำนาจในการเข้ามาบริหารงาน ซึ่งในอดีตการทุจริตคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นมา จากพรรคการเมืองขนาดเล็กมากกว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่มีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นกว่า จึงไม่อยากให้กมธ.ยกร่างฯ หลงยึดติดกับวาทกรรมที่เชื่อว่าการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอแล้วประชาชนจะเข้มแข็ง ถ้าต้องการทำให้ประชาธิปไตยเดินหน้าได้ ต้องทำให้พรรคการเมืองมีความเข้มแข็ง

       นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า ตนไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่จะยุบกสม.ไปอยู่กับผู้ตรวจการแผ่นดิน รวมทั้งการที่ไม่ให้ผู้บริหารเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องแม้แต่การแต่งตั้งโยกย้ายปลัดกระทรวง แล้วอย่างนี้จะทำงานกันได้อย่างไร ที่ผ่านมา นายกฯใช้มาตรา44 ปลดข้าราชการทุกคนออกมาแสดงความเห็นด้วย แต่ในร่างรัฐธรรมนูญฝ่ายบริหารไม่มีอำนาจตรงนี้เลย ก็ไม่รู้ว่าสังคมต้องการอะไร ความพอดีอยู่ตรงไหน ที่ผ่านมาแม้ฝ่ายค้านหรือรัฐสภาจะไม่สามารถลงโทษผู้กระทำผิดได้ แต่การตรวจสอบตามกระบวนการสามารถเชื่อมโยงเอาผิดกับผู้กระทำผิดได้ ในหลายกรณี เช่น โครงการรับจำนำข้าว 

เชื่อปฏิรูป 5 ปีไม่สำเร็จ

       "ในเรื่องสมัชชาคุณธรรมผมก็รอดูว่าใครจะเข้ามานั่งในสมัชชานี้ เพราะแม้แต่ผมที่ไม่ได้เป็นคนชั่วก็ยังไม่กล้าที่จะเข้าไปนั่งในสมัชชานี้ อย่างการดื่มเหล้าถือว่าผิดศีล 5 แล้วจะมีกฎหมายอะไรไปห้ามไม่ให้มีคนดื่มเหล้า หรืออย่างในมาตรา 181, 182 ที่เขียนให้สิทธิรัฐบาลหากอยากออกกฎหมายฉบับใดก็ให้สามารถดำเนินการได้ โดยกำหนดว่าหาก ฝ่ายค้านไม่เปิดอภิปรายภายใน 48 ชั่วโมงกฎหมายฉบับนั้นก็ถือว่าผ่าน ผมไม่เข้าใจ เอาเหตุผลอะไรมา ไม่รู้ว่าจะมีสภาไว้ทำไม อีกทั้งในมาตราดังกล่าวให้อำนาจนายกฯสามารถเสนอญัตติไว้วางใจตัวเองได้ ซึ่งหมายความว่าสามารถที่จะยื่นญัตติดังกล่าวก่อนที่ฝ่ายค้านจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจอย่างนั้นหรือ" นายอภิสิทธิ์กล่าว 

      นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องบทบัญญัติของการปฏิรูปและการปรองดอง เชื่อว่าการปฏิรูปประเทศ โดยใช้เวลา 2-5 ปี ไม่มีวันสำเร็จ เพราะบางเรื่องต้องแก้ปัญหาถึงโครงสร้าง ส่วนตัวตนเข้าใจพล.อ.ประยุทธ์ ในการเข้ามาทำงานและอยากเดินตามโรดแม็ปที่วางไว้ แต่เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์จะทุกข์ใจในระยะที่ 3 ของการปฏิรูปที่จะต้องส่งต่อไปยังรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ทำให้ไม่มั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาจะสูญเปล่าหรือไม่ และหากสูญเปล่าใครจะรับผิดชอบ ส่วนเรื่องของการปรองดองยืนยันว่าจะสำเร็จได้ ทุกฝ่ายต้องยอมรับและเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม 

หนุนนายกฯ อยู่อย่างชอบธรรม

      นายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงข้อเสนอของสปช.บางส่วนที่ต้องการให้นายกฯ อยู่ในตำแหน่งต่อ 2 ปี เพื่อปฏิรูปประเทศว่า ถ้าทุกอย่างเป็นการปฏิรูปบ้านเมืองไปสู่ความยั่งยืน กรอบเวลาก็สามารถยืดหยุ่นได้ เหมือนกับทุกพรรคการเมืองซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่อถามว่าหากจะต้องทำประชามติ เพื่อให้ได้รัฐธรรมนูญที่เป็นที่ยอมรับทุกพรรคก็เห็นด้วย แม้ว่าจะต้องยืดโรดแม็ปออกไป แต่เราคงจะพูดไม่ได้ว่าระยะเวลากี่เดือนถึงจะเหมาะสม คงต้องดูความเป็นรูปธรรม ซึ่งหมายความว่าหากจะทำอะไรก็ต้องมีความชัดเจนว่าการปฏิรูปสำเร็จจะวัดกันอย่างไร เช่น 2 ปี จะมีการปฏิรูปตำรวจหรือไม่ หรือการกระจายอำนาจจะเลือกผู้ว่าราชการจังหวัดภายใน 2 ปีหรือไม่

        "นายกฯ ต้องคิดว่าการจะไปริเริ่มทำประชามติหรืออะไรได้ ก็ต้องว่ากันตามกระบวนการ ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจนขนาดนั้นซึ่งท่านเองก็ไม่ได้มองในประเด็นว่าท่านจะอยู่นานแค่ไหน ผมเข้าใจว่า นายกฯ เอง ก็ต้องห่วงว่าการปฎิรูปจะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ เพราะถ้าไม่สำเร็จท่านจะถูกต่อว่าอีกแน่นอน" นายอภิสิทธิ์กล่าว 

เมื่อถามว่ามีการมองว่าการขยายเวลาเป็นเรื่องการสืบทอดอำนาจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า นายกฯคงรู้ดีว่าไม่ควรจะเป็นเช่นนั้น เรื่องนี้ท่านระมัดระวังในการพูด ถึงได้บอกว่าจะต้องไปดูวิธีว่ามีความชอบธรรมหรือเปล่า 

กรมชลจ่องดสงน้ำทำเกษตร

      เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. นายสุเทพ น้อยไพโรจน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานอยู่ระหว่างประเมินสถานการณ์น้ำ ภายหลังจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ส่งผลให้สิ้นมิ.ย.2558 น้ำในเขื่อนที่สามารถใช้ได้ในปัจจุบันมีประมาณ 5,500 ล้านลบ.ม. คงจะหมดและไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก จึงเตรียมประกาศงดส่งน้ำเพื่อทำการเพาะปลูก เพื่อให้มีน้ำรักษาระบบนิเวศ และการบริโภค ดังนั้นในวันที่ 9 มิ.ย.นี้กรมชลประทานจะหารือกับกรมอุตุนิยมวิทยา เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำฝน หากมีความชัดเจนว่าฝนไม่ตก ก็จะประกาศงดส่งน้ำเพื่อเพาะปลูกต่อไป

       "แม้ที่ผ่านมาปริมาณน้ำต้นฤดูกาล ที่ใช้เพาะปลูกได้จะมีปริมาณใกล้เคียงกับปีก่อนคือ 3,800 ล้านลบ.ม. ซึ่งใช้ได้ประมาณ 2 เดือนคือ มิ.ย.-ก.ค.แต่ช่วงต้นฤดูฝนปกติประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค. จะต้องมีฝนตกลงมาเพื่อเติมน้ำในเขื่อน แต่ปีนี้เข้าสู่เดือนมิ.ย.แล้วยังไม่มีฝนตกปริมาณน้ำในเขื่อนจึงไม่เพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อฤดูกาลเพาะปลูกปี 2558/59 ที่ปกติพื้นที่เพาะปลูกในเขตชลประทานของลุ่มน้ำเจ้าพระยา จะมีประมาณ 9.2 ล้านไร่ ต้องใช้น้ำประมาณ 1 หมื่นล้านลบ.ม. แต่ปัจจุบัน หลังจากกรมชลประทานปล่อยน้ำเพื่อทำการเกษตรเมื่อพ.ค.ทำให้น้ำในเขื่อนที่เหลือใช้ มีเพียงประมาณ 1,700 ล้านลบ.ม. หรือใช้ได้อีกประมาณ 20 วันเท่านั้น" นายสุเทพกล่าว

        นายสุเทพ กล่าวว่า สำหรับปริมาณน้ำ 4 เขื่อนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เหลือสนับสนุน การเพาะปลูกน้อยมาก โดยเขื่อนภูมิพลเหลือน้ำใช้ได้ประมาณ 558 ล้านลบ.ม. เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำใช้ได้ 946 ล้านลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนเหลือน้ำใช้ได้ 109 ล้านลบ.ม. และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เหลือน้ำใช้ได้ 105 ล้านลบ.ม. กรมชลประทานมีการระบายน้ำเพื่อสนับสนุนการเพาะปลูกประมาณวันละ 62 ล้านลบ.ม./วินาที ซึ่งหากฝนไม่ตกเลย เกษตรกรไทยลำบากแน่ เพราะแม้ในเขตชลประทาน แต่น้ำต้นทุนจากเขื่อนจะต้องเก็บจากน้ำฝนที่ตกลงมา หากฝนไม่ตกลงเขื่อน น้ำก็ไม่มีเพาะปลูก

รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า หลังจากกรมชลประทานประกาศปล่อยน้ำเพื่อสนับสนุนการทำการเพาะปลูกเมื่อวันที่ 1 พ.ค. เกษตรกรเริ่มเพาะปลูกและทำการเกษตรไปแล้ว 2 ล้านไร่ โดยเฉพาะการทำนา เหลือพื้นที่ทำการเกษตรอีกมากกว่า 7 ล้านไร่ ที่ไม่มีน้ำสำหรับเพาะปลูก แต่เมื่อสถานการณ์น้ำต้นทุนเหลือน้อย ถือเป็นสถานการณ์ ที่บังคับให้กรมชลประทานต้องบริหารจัดการน้ำที่เหลืออยู่ในได้นานที่สุด เพื่อประคองพื้นที่เกษตรที่ทำไปแล้ว ให้มีชีวิตและไม่เสียหายหมด

'บิ๊กอ๊อด'อุบสเป๊กผบ.ตร.คนใหม่

     เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธ์ุม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังเร็วที่เกินไปที่จะออกมาระบุ หรือกำหนดสเป๊กของผบ.ตร.คนต่อไป เนื่องจากเห็นว่า หากยิ่งพูดเร็วจะเป็นการสร้างความขัดแย้งเร็วเกินไป จึงยังไม่ขอแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ อย่างไรก็ตาม การพิจารณาแต่งตั้ง ผบ.ตร.คนต่อไป จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนก.ย.ของทุกปี เพื่อให้ทันการพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการตำรวจระดับนายพลต่อไป

ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ(ก.ต.ช.)ให้อำนาจผบ.ตร. เป็นผู้เสนอรายชื่อผู้ที่จะเป็นผบ.ตร.คนต่อไปนั้น เป็นการให้อำนาจ โดยที่ประธาน ก.ต.ช. จะไม่เข้ามาแทรกแซงได้จริงหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ตนเป็นผู้เสนอ แต่การพิจารณาต้องขึ้นอยู่กับก.ต.ช.

อุ๊งอิ๊ง โพสต์'แม้ว'บินเยอรมัน

        เมื่อวันที่ 6 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.แพทองธาร ชินวัตร หรืออุ๊งอิ๊ง บุตรสาวคนสุดท้อง ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ในอินสตาแกรม@ingshin21 โดยระบุว่า พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ที่ประเทศมอนเตเนโกร เพื่อมาเพิ่มหน้าพาสปอร์ตใหม่ และกำลังเดินทางต่อไปประเทศเยอรมนี ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ติดตามยังคงให้กำลังใจ พ.ต.ท.ทักษิณ 

สำหรับข้อความในอินสตาแกรมมีดังนี้

       "พ่อส่งมาบอกว่า Come to Montenegro to renew passport due to run out of Pages. Now ready to conquer the world มาเพิ่มหน้า passport ที่ Montenegro เพราะเล่มเดิมไม่เหลือที่ให้ปั๊มแล้วค่ะ 555 ตอนนี้กำลังไปเยอรมันละ! เหมือนไปเที่ยวเนาะ' แต่ทำงานทั่วโลกจ้าาา

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในเวลาใกล้เคียงกันอินสตาแกรม @thaksinlive ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความว่า "ร้านขาหมูเยอรมันที่เบอร์ลิน Zur Letzten Instanz เก่าแก่ตั้งแต่ปี 1621 เกือบ 400 ปี"

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีคำสั่งให้ยกเลิกพาสปอร์ตทุกชนิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาเรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย