Jatuporn

 

ปปช.สับขา ปูส่อรอด-พาสปอร์ต แต่เรียกตัวคดีเยียวยา ตร.ไล่สอย 9 นักศึกษา ปรองดองรอบ 2 ชื่นมื่น

       ตร.ไล่สอย-ออกหมายเรียก 9 นักศึกษาที่ออกต้านยึดอำนาจครบ 1 ปี แจ้งข้อหามั่วสุมชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน ศปป.เรียกหารือปรองดองรอบ 2 บรรยากาศชื่นมื่น เปิดกว้างรับฟังความเห็นต่างมากขึ้น ทุกฝ่าย ฟันธงชี้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นชนวนหายนะ-สร้างวิกฤตรอบใหม่ 'จาตุรนต์'เผยเสธ.ทบ.ขอให้ช่วยร่างโครงการพูดคุยปรองดองให้ ป.ป.ช. สับขาหลอก'ปานเทพ'เผยเองระบุ 'ปู'ส่อรอดคดีพาสปอร์ตแม้ว เพราะเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้ากระทรวงต่างประเทศ แต่เรียกชี้แจงอีกคดีกรณีเยียวยาม็อบเสื้อแดงพร้อมครม.ที่อนุมัติรวม 34 คน ด้าน'วิษณุ เครืองาม'เผยครม.มีมติรับเรื่องประชามติแล้ว คาดดำเนินการได้เดือนม.ค.2559 

บิ๊กตู่เตือนขรก.อย่าทุจริต-รู้คุณชาติ

 

วันที่ 04 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8954 ข่าวสดรายวัน

ปรองดอง - นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. พร้อมด้วยนักการเมืองตัวแทนพรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์ ขณะเดินทางกลับจากการเข้าร่วมถกปรองดอง ครั้งที่ 2 ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดีฯ กทม. เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 

 

       เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 มิ.ย. ที่กระทรวงการคลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า ครั้งที่ 3/2558 โดยมีรัฐมนตรี และข้าราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯยังคงใช้รถโฟล์กตู้สีดำกันกระสุน ทะเบียน ฮภ 2924 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถของสำนักเลขาธิการนายกฯแทนรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร ที่เข้าศูนย์ซ่อมอยู่ และเพิ่งสร้างความฮือฮาให้โชคกับนักเสี่ยงโชคงวดวันที่ 2 มิ.ย.

       พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งว่า ทุกคนต้องช่วยกันสื่อสารให้ประชาชนและสังคมได้เห็นถึงการทำงานของหน่วยราชการ ไม่ปล่อยให้สื่อและสังคมเข้าใจในทางที่เสียหาย โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ ที่ข้าราชการระดับสูงหลายคนในที่นี้ถูกกล่าวถึงและพาดพิงอยู่ ส่วนตัวเข้าใจดีว่าข้าราชการทุกคนทำงานอย่างเต็มที่ และอดทนต่อแรงกดดันรอบด้าน ที่ผ่านมาการตัดสินใจบางอย่างไม่ใช่สิ่งที่อยากทำ แต่ต้องทำด้วยเหตุผลความจำเป็นบางประการ ขอให้ข้าราชการทุกคนให้ความสำคัญกับนโยบายรัฐบาล มติครม. แล้วปรับเปลี่ยนเป็นการทำงานเชิงรุก เพื่อช่วยรัฐบาลทำงานด้วยความเข้มแข็งต่อไป

"เป็นข้าราชการต้องซื่อตรง อย่าทุจริตให้เป็นที่อับอายขายหน้าแก่ตนเองและครอบครัว ต้องช่วยกันจัดระบบให้ปรากฏความโปร่งใส มีความชัดเจน ไม่ให้ใครดูถูกดูหมิ่น อีกอย่างผู้บริหารต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของแผ่นดินซึ่งมีบุญคุณใหญ่หลวง พระมหากรุณาธิคุณขององค์พระมหากษัตริย์ในทุกรัชกาล หากเราไม่เรียนรู้ ไม่ซาบซึ้ง ไม่เข้าใจ แล้วจะรักชาติ รำลึกบุญคุณชาติได้อย่างไร"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

คลังชงแผนกระตุ้นศก.ล็อตใหม่

     รายงานข่าวแจ้งว่า การประชุมครั้งนี้ กระทรวงการคลังจะเสนอให้พิจารณาเห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ โดยใช้กลไกของธนาคารเฉพาะกิจของรัฐทั้ง 8 แห่ง เป็นเครื่องมือกระตุ้นผ่านการให้สินเชื่อที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำเป็นพิเศษ ด้วยการจัดงาน "เอสเอฟไอ คืนความสุขให้คนไทย" วันที่ 27-29 มิ.ย.นี้ ใน 5 จังหวัด 5 ภาคทั่วประเทศ มีรูปแบบการจัดงานเช่นเดียวกับการจัดงานมหกรรมการเงินหรือมันนี่ เอ็กซ์โป ของภาคเอกชน มั่นใจว่าจะช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอี เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายและได้สินเชื่อทันที

     ทั้งนี้ การใช้เอสเอฟไอ เป็นเครื่องมือปล่อยสินเชื่อจะตอบโจทย์และความต้องการของผู้มีรายได้น้อยและเอสเอ็มอีได้ตรงจุด เพื่อนำไปประกอบอาชีพ หรือทำธุรกิจ ทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนและมีสภาพคล่องมากขึ้น ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างดี

 

โวยสื่ออย่าด่า-ไม่ได้มาจากเลือกตั้ง

      พล.อ.ประยุทธ์แถลงภายหลังการประชุมว่า ตนมีหน้าที่ขับเคลื่อนข้าราชการและครม. ทั้งทีมข้าราชการและครม.ต้องไปด้วยยุทธศาสตร์ นโยบายเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกันคือ ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน วันนี้ได้พูดถึงประเด็นปัญหา ตนได้สั่งการว่าขอให้เกิดความชัดเจนในทุกกระทรวง การปฏิรูปตำรวจเริ่มทำในสมัยนี้ ให้ทำงานได้ เอาคนผิดมาดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมโดยไม่ไปรังแกใคร เป็นไปตามหลักฐาน ข้อกล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหามาสู้คดี แต่ถ้าไม่สู้คดีแล้วมาบอกว่าถูก มันไม่ได้ ตนไม่ยอม จะต้องชัดเจนขึ้น เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม วันนี้เราบริหารงานตามนโยบายเร่งด่วน ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ความเป็นธรรม ให้ทุกคนเข้าถึงทรัพยากร เข้าถึงกระบวนการทางกฎหมาย คนจนต้องมีสิทธิมีเสียง มีตัวตน ให้คนมองเห็นเช่นเดียวกับประเทศไทย เราต้องทำให้ทุกประเทศเห็นเราว่ามีตัวตนอยู่ในโลกใบนี้ 

      "การจัดระเบียบของเก่าที่เริ่มเกเรขึ้นมาใหม่ ก็ต้องแก้ไข สื่อชอบพูดว่าเดี๋ยวก็เกิดขึ้นอีก อย่างการจัดระเบียบรถตู้ ทำไมไม่ไปเตือนรถเหล่านั้นว่าอย่าทำแบบนี้บ้าง สื่อจะมาไล่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเดียว มันไม่ได้ สื่อต้องช่วยผม ต้องสร้างการรับรู้และจิตสำนึก ถือเป็นหน้าที่ของสื่อ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงหรือติชมเพียงอย่างเดียว วันนี้ต้องเข้าใจผมบ้างว่าอะไรคือเจตนาดี สื่อตำหนิติเตือนได้เพราะรัฐบาลและนายกฯเป็นคนของสังคม ด่าได้ ว่าได้ ต้องอดทน และพูดจาเพราะๆ จะมาบังคับผมอย่างเดียวไม่ได้ ผมบอกแล้วว่าผมไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง อย่ามาว่าผมมากนัก ผมโดนอยู่แล้วแต่ผมกำลังทำสิ่งใหม่ๆ ให้ทุกคน" นายกฯ กล่าว

 

ตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย.นี้จะไปพูดคุยกับแม่น้ำทั้ง 4 สาย ที่รัฐสภา สปช. สนช. และกมธ.ยกร่างฯ โดยคสช.จะไปเป็นพี่เลี้ยงเท่านั้น ไปฟังดูว่าใครทำอะไรไปแล้วอย่างไร ครม. จะไปชี้แจงว่า 5 กลุ่มงานหลักทำอะไรไปแล้วบ้าง บางอย่างต้องเริ่มต้นใหม่ บางอย่างทำไปแล้วรวมทั้งเรื่องการปฏิรูปตำรวจ มันต้องคุยกันในตอนท้ายว่าต้องเขียนอะไรบ้าง ในสิ่งเหล่านี้จะเขียนในรัฐธรรมนูญหรือบทเฉพาะกาล หรือในกฎหมายลูก อย่างการปฏิรูปตำรวจไม่ใช่เขียนบรรทัดเดียวจบ มันต้องปฏิรูประบบการสอบสวน การจับกุมดำเนินคดี พื้นที่คนละพื้นที่ กฎหมายคนละฉบับ 

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า รัฐมนตรีที่ทำงานอยู่ทุกวันนี้คงไม่ได้กลับมาเป็นอีก จึงไม่ค่อยมีใครกล้าเสี่ยงกับผม รัฐมนตรีทุกคนวันนี้ถือว่ากล้าหาญ ตนไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งนักการเมืองต้องพูดเก่งกว่านี้ วันนี้ที่บอกว่าผมเก่งก็เพราะเก่งแบบมีเรื่องราว ไม่ได้เก่งแบบเลอะเทอะเปรอะเปื้อน น้ำท่วมทุ่ง ฟังตนให้ครบแล้วกัน วันนี้พูดมีสาระใช่หรือไม่ พอพูดแบบนี้สื่อก็ไปเขียนอีกว่าหัวหน้าคสช.ชอบแต่คำยกยอปอปั้น ทีเวลาด่าไม่พูดกัน ด่ากันทุกวัน พอวันนี้มาพูดอีกว่านายกฯชอบปอปั้น อย่ามาไม่จริงใจกับตน รู้ว่าใครจริงใจหรือไม่จริงใจ นักข่าวจริงใจกับตนทุกคน เว้นแต่บรรณาธิการกับเจ้าของหนังสือพิมพ์ 

"เอาไหมผมจะตั้งบริษัทหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้พวกสื่อมาอยู่กับผม ดูว่าประเทศจะเดินหน้าหรือไม่ คุณสมบัติข้อหนึ่งคือ 1.มีความรู้ความสามารถ มีขีดความสามารถก่อน 2.สวยไหม เพราะสื่อจะต้องไปพบคน ไม่สวยเขาก็ไม่ฟัง แม้แต่โฆษก พิธีกร ตนยังเคยถามว่าคัดตัวกันอย่างไร ซึ่งได้รับคำตอบว่า 1.เป็นคนเก่ง โดยชี้แจงด้วยว่าคนเก่งฝึกได้ แต่คนสวยหาฝึกไม่ได้ แต่ผมจะเลือกคนที่ไม่สวย และไม่ต้องมาทำศัลยกรรมภายหลัง เพราะไม่ชอบให้มาหลอกลวง" นายกฯ กล่าว

 

ต้องดูรธน.ผ่านหรือไม่-ประชามติ

     เมื่อถามว่า ที่ประชุมครม.วันที่ 2 มิ.ย. มีมติให้ทำประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ตนบอกว่าถ้าเขาจะต้องทำประชามติก็ให้เขาทำได้ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ตนไม่ได้มีมติ เป็นความต้องการของประชาชนก็ทำไป ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ต้องไปหาช่องทางและวิธีการก่อน เพื่อนำไปสู่สนช.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่มีมติว่าให้เขาทำหรือไม่ทำ อยากทำก็ทำ ตนจะแก้รัฐธรรมนูญให้ ถ้าตัดสินใจมา วันนี้ตนอยู่ได้ด้วยรัฐธรรมนูญ ไม่ได้อยู่ด้วยอำนาจ"

      เมื่อถามว่า ต้องรอให้สปช.พิจารณารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก่อนหรือไม่ จึงจะตัดสินใจมำประชามติ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวยอมรับว่า ใช่ ขั้นตอนเป็นเช่นนั้น คือ 1.สปช.รับหรือไม่รับร่าง ถ้าไม่รับก็ต้องแก้ไข ตั้งกมธ.ยกร่างฯขึ้นมาใหม่ แต่ต้องดูว่าถ้าจะให้กมธ.ยกร่างฯชุดปัจจุบันยังอยู่ ต้องแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ใครจะมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ หรือใช้กฎหมายเดิมได้หรือไม่ ตนให้เขาไปคิดกัน ตนมีหน้าที่เพียงแก้รัฐธรรมนูญให้เท่านั้น ฉะนั้น สนช. สปช. หรือกมธ.ยกร่างฯ ไม่ต้องกังวลว่าจะไม่มีงานทำ เดี๋ยวหาทำกันจนได้ เพราะทุกคนต่างมีความหวังดี แต่ก็มีข้างหนึ่งไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นมาอีก อีกข้างหนึ่งอยากกลับมาที่เดิม มีอำนาจมากมายที่จะทำอะไรทั้งดีและไม่ดีได้

      เมื่อถามถึงทะเบียนรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร ให้โชคกับนักเสี่ยงโชค นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ รถทะเบียนอะไร เมื่อถามว่างวดหน้าจะออกทะเบียนรถคันไหน นายกฯกล่าวว่า "ผมไม่รู้ เพราะผมไม่ได้เป็นคนให้ออก เลขอะไรก็ไปคิดกันเอาเอง"

 

เผยประชามติอยู่ช่วงเดือนม.ค.

      ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 เพื่อเปิดช่องให้ทำประชามติว่า พูดคุยกันในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีบางอย่างติดอยู่ ต้องถามคสช.ว่าคิดอย่างไร เพราะเดิมคสช.ไม่ได้ให้โจทย์ แต่ให้ไปทำกันมา ซึ่งทำกันไม่ถูกเพราะไม่รู้จะทำอย่างไร เช่น ถ้าประชามติแล้วไม่ผ่านจะทำอย่างไร หลักคือแก้เพื่อไปสู่การทำประชามติ และบัดนี้ยุติแล้วว่าต้องทำประชามติ ไม่ใช่เลือก เพราะก่อนหน้านี้บอกว่าจะตัดสินใจทำหรือไม่ทำ แต่วันนี้ ครม.ให้สัญญาณชัดเจนแล้วว่าถ้าผ่านสปช. จะไปสู่การทำประชามติ ตรงนี้ชัด และทำภายในกี่วันก็ชัด ก็อยู่ในช่วงเดือน ม.ค.59

      นายวิษณุ กล่าวว่า เหตุผลที่ตัดสินใจบังคับทำประชามติ เพราะหากไม่ระบุก็จะกลับมาที่เดิมว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินใจให้ทำประชามติ เหมือนโยนเผือกให้คนนั้นอีก สู้ทำเลยดีกว่า เพราะอยากให้ทำอยู่แล้ว ส่วน 4 ทางเลือก อาทิ 1.ตั้งสปช. หรือกมธ.ใหม่ขึ้นมาทำ 2.อาจให้สนช.เป็นคนทำ 3.อาจตั้งกรรมการ หรือกมธ.ขึ้นมาอีกองค์กรหนึ่งเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ 4.คสช.กับครม. เป็นคนทำเอง หรือหยิบเอาฉบับใดมา มีอยู่ 4 หนทางนี้วนไปวนมา แต่จะเป็นอันไหนตนตอบไม่ถูก แต่ถ้าร่างไม่ผ่านประชามตินั้น จะใช้วิธีใด อยู่ระหว่างการชั่งน้ำหนัก ข้อดี ข้อเสียอยู่

 

ยอมรับประชามติผ่านครม.แล้ว

       ผู้สื่อข่าวถามว่า เหตุผลที่ตัดสินทำประชามติตรงนี้ได้ผ่านความเห็นของครม.แล้วใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใช่ ผ่านแล้ว มีเหตุผลคือถ้าจะไม่ไปสู่ประชามติเชิงบังคับ ก็ย้อนกลับมาอีกว่าใครจะเป็นคนตัดสินใจว่าจะทำหรือไม่ทำ เมื่ออยากทำอยู่แล้วก็ไปเลย

      ส่วนข้อเสนอที่ครม.เสนอกมธ.ยกร่างฯ นายวิษณุกล่าวว่า เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯ จะแก้แต่แก้ไม่หมด อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 มิ.ย.นี้ ตนจะเข้าชี้แจงต่อกมธ.ยกร่างฯ ถึงข้อเสนอต่างๆ อย่างละเอียดว่ามีเหตุผลอะไร ซึ่งเวลา 3 ชั่วโมงถือว่าเพียงพอแล้ว และตนจะไปชี้แจงเพียงคนเดียว ส่วนองค์กรอิสระที่เสนอข้อคิดเห็นมาอย่างครม. แต่ถ้ากมธ.ยกร่างฯ ติดใจ จะเรียกองค์กรไหนไปชี้แจงอีก เป็นเรื่องของ กมธ.ยกร่างฯ

ถกรอบ 2 - นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ พรรคเพื่อไทยพร้อมนักการเมืองตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และ แกนนำนปช. เข้าร่วมถกปรองดองครั้งที่ 2 กับศปป. ที่สโมสรทบ. ถ.วิภาวดีฯ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. 

 

       เมื่อถามว่าภาระหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯ จะหมดลงเมื่อไร นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าหากประชามติผ่านยังต้องอยู่ทำกฎหมายลูก ซึ่งเขียนไว้เองในบทเฉพาะกาลว่ากมธ.ยกร่างฯต้องอยู่ไปจนถึงวันที่เลือกตั้ง และเปิดสภาวันแรก หรือหากร่างไม่ผ่านการโหวตของสปช. ก็หมดหน้าที่ในวันนั้น และถ้าทำประชามติไม่ผ่านก็หมดหน้าที่วันนั้นเช่นกัน

 

ปปช.ชี้'ปู'รอด-พาสปอร์ตแม้ว

       วันเดียวกัน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีขอถอดถอนนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรมว.ต่างประเทศ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ออกหนังสือเดินทางให้พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยมิชอบว่า กรณีดังกล่าวเจ้าหน้าที่เตรียมสรุปและรายงานให้ที่ประชุมป.ป.ช.พิจารณาว่า จะแจ้งข้อกล่าวหรือไม่ ภายในเดือนมิ.ย.นี้ 

       นายปานเทพ กล่าวว่า เบื้องต้นเจ้าหน้าที่รายงานว่า ในระดับเจ้าหน้าที่ไต่สวนสรุปว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่จะมีตั้งแต่ระดับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง ส่วนปลัดกระทรวงที่ถูกกล่าวถึงนั้นจะเกี่ยวข้องอย่างไรหรือไม่ จะพิจารณาในข้อมูลหลักฐานอย่างละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อดูว่ามีข้อมูลเพียงพอแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมหรือไม่

 

แต่โดนเยียวยาแดง-นัด 9 มิ.ย.นี้

       ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์ และครม. รวม 34 คน จ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 โดยมิชอบว่า คณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวน และมีนายวิชา มหาคุณ เป็นกรรมการผู้รับผิดชอบสำนวน ทราบว่าได้ส่งหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาไปยังผู้ถูกกล่าวหาทุกคนแล้ว ให้มารับทราบข้อกล่าวหาและอาจให้ถ้อยคำเบื้องต้นได้วันที่ 9-30 มิ.ย. แล้วแต่ใครจะสะดวกมาวันไหน อาจมาเองหรือส่งทนายความมารับทราบข้อกล่าวหาก็ได้ สำหรับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ประสานมาแล้วว่าจะมารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 9 มิ.ย.นี้

      นายปานเทพ กล่าวถึงกรณีสนช.กำหนดวันแถลงเปิดสำนวนถอดถอนอดีตส.ส. 248 คน กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาส.ว.มิชอบ ในวันที่ 26 มิ.ย.ว่า รายชื่อที่ส่งไปสนช. เป็นรายชื่อของส.ส.ที่ถูกชี้มูลทั้งหมด รวมถึงส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกัน เพื่อให้สนช.พิจารณาถอดถอน เป็นไปตามขั้นตอน เหมือนกรณีถอดถอนอื่นๆ ก่อนหน้านี้ โดยป.ป.ช.มอบให้นายวิชัย วิวิตเสวี กรรมการ ป.ป.ช. เป็น ผู้แถลงเปิดสำนวน ส่วนกรณีคดีอาญาของส.ส.ที่เสียบบัตรแทนกัน อยู่ในขั้นเตรียมแจ้งข้อกล่าวหา ซึ่งมีผู้เกี่ยวข้อง 4-5 คน

 

กมธ.ยกร่างเชิญสื่อออก-ไม่ให้ฟัง

       เมื่อเวลา 09.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน มีวาระรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจากผู้เสนอและผู้รับรองคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยเป็นคิวของกลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม นำโดยนายมนูญ ศิริวรรณ สมาชิกสปช. และช่วงบ่ายเป็นลำดับชี้แจงของกลุ่มสื่อมวลชนและการคุ้มครองผู้บริโภค นำโดยนายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสปช. 

ก่อนเข้าสู่วาระ นายบวรศักดิ์แจ้งที่ประชุมว่า เพื่อความเป็นอิสระในการพิจารณา และการสอบถามของกมธ.ยกร่างฯ จึงขอให้ในห้องประชุมมีเฉพาะกมธ.ยกร่างฯและเจ้าหน้าที่เท่านั้น จากนั้นได้เชิญผู้สื่อข่าวและช่างภาพออกจากห้องประชุม

นายปกรณ์ ปรียากร โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวชี้แจงกรณีนายบวรศักดิ์ขอร้องผู้สื่อข่าวงดเข้าฟังการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่า กำหนดเฉพาะในวาระการรับฟังคำชี้แจงประกอบคำขอแก้ไขเพิ่มเติมเท่านั้น ส่วนการพิจารณาลงรายมาตราที่จะเกิดขึ้นในลำดับถัดไปนั้น เบื้องต้นอาจของดเข้าฟังเป็นรายประเด็นที่ยังไม่ตกผลึก หรือต้องพิจารณารายละเอียดที่อาจพาดพิงถึงบุคคลที่สามเท่านั้น แต่บางประเด็นอาจให้เข้าฟังเหมือนเดิม ส่วนการเปิดเผยการพิจารณาจะยึดการแถลงข่าวเป็นหลัก ยืนยันว่าการงดสื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาบางประเด็นไม่เกี่ยวกับการปิดกั้นการทำงานหรือการตีกรอบการตรวจสอบของสื่อ

 

ขอแก้สว.แบบผสม-ตัดโอเพ่นลิสต์

       ต่อมานายมนูญแถลงว่า คำขอแก้ไขกลุ่มตนมี 68 ประเด็น สาระสำคัญได้แก่ ขอให้ตัดกลุ่มการเมืองทิ้งทุกมาตรา ไม่เห็นด้วยกับการลงคะแนนบัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ แต่เห็นด้วยกับการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ส่วนส.ว.ขอให้ปรับลดจำนวนลงเหลือ 150 คน มาจากการสรรหา 73 คน และเลือกตั้งจังหวัดละ 1 คนรวม 77 คน 

       นายมนูญ กล่าวว่า ขณะที่มาตรา 193 ว่าด้วยการเห็นชอบหนังสือสัญญาของรัฐสภา เห็นว่ากำหนดเนื้อหาไว้กว้างขวางครอบคลุมการทำสัญญาระหว่างประเทศมากเกินไป อาจเป็นอุปสรรคต่อการบริหาร จึงขอปรับแก้ให้ครอบคลุมเฉพาะการทำสัญญาเพื่อเปิดเสรีทางการค้า และสัญญาที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาณาเขตของรัฐ สำหรับมาตรา 308 ในบทเฉพาะกาล ที่กำหนดให้มีการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งอีก 2 ปี ก็เสนอให้เพิ่มเติมว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบจากสปช.แล้ว ให้ทำประชามติถามประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่ที่จะให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

 

ปื๊ดพร้อมพิจารณาตัดกลุ่มการเมือง

ต่อมานายบวรศักดิ์กล่าวกรณีกมธ.ยกร่างฯเปิดให้ตัวแทนกลุ่มสปช.ที่ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเข้าชี้แจงว่า ขณะนี้เปิดให้ชี้แจงแล้วจำนวน 3 กลุ่ม ซึ่งเสนอให้ปรับเปลี่ยนหลายประเด็น รวมทั้งประเด็นสิทธิพลเมืองที่เสนอให้ตัดสภาตรวจสอบภาคพลเมือง การลงคะแนนเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อแบบโอเพ่นลิสต์ ภาพรวมถือว่ายังไม่กระทบกับโครงสร้างหลัก เพราะไม่ใช่รื้อเสาเอก แต่ไม่ทราบว่าทั้ง 315 มาตราจะปรับลดเหลือกี่มาตรา ตนตอบแทน 35 คนไม่ได้ และยังไม่มีธงอะไรทั้งสิ้น

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า มีบางกลุ่มเสนอให้การลงมติไม่ไว้วางใจเป็นความลับ ซึ่งตนบอกว่า ถ้าเช่นนั้นจะเกิดการจ่ายเงินแบบมหาศาล และไม่แน่ใจด้วยว่ารัฐบาลจะอยู่ได้หรือไม่ ส่วนที่เสนอให้ตัดกลุ่มการเมือง กมธ.ยกร่างฯก็ต้องไปพิจารณาทบทวน แต่ทั้งหมดเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว เช่น กรณีเสนอให้ตัดกลุ่มการเมืองออก จะเปิดช่องให้มีส.ส.อิสระ หรือทำให้การตั้งพรรคการเมืองง่ายขึ้น จากเดิมต้องมีสมาชิก 5,000 คน อาจเหลือพรรคละ 500 คน เพียง 1 ตำบลก็ได้สมาชิกครบแล้ว และเหลือสาขาพรรคเหลือภาคละ 1 สาขา ทำให้เกิดพรรคนอมินีขึ้น ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯต้องไปพิจารณาและรับฟังความคิดเห็นจากทุกกลุ่มเพื่ออุดช่องว่างเหล่านี้ 

 

โค้งสุดท้าย-ไม่อนุญาตให้สื่อฟัง 

เมื่อถามว่าการพิจารณาช่วงโค้งสุดท้าย มีแนวโน้มว่าจะไม่เปิดให้สื่อเข้าฟังการพิจารณาใช่หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่าไม่ให้เข้าฟัง เนื่องจากช่วงโค้งสุดท้ายจะถกกันในรายละเอียดมากขึ้น จึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯมีอิสระ เดิมสื่อที่ร่วมรับฟังก็ทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว แต่มีบางขั้นตอนที่เข้าสู่กระบวนการของกองบรรณาธิการ มีการพาดหัวข่าวผิดเพี้ยนไป อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯจะแถลงผลการพิจารณาได้ข้อสรุป โดยจะไม่ให้โฆษกยกร่างฯเพียงคนเดียวมาแถลงเหมือนเดิมแล้ว แต่จะให้ทีมโฆษกและกมธ.ยกร่างฯที่รับผิดชอบประเด็นนั้นมาร่วมชี้แจงด้วย

ประธานกมธ.ยกร่างฯกล่าวว่า หากครม.มีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขยายเวลาการทำงานให้กมธ.ยกร่างฯออกไปอีก 30 วัน จะทำให้การทำงานของกมธ.ยกร่างฯเลื่อนออกไปด้วย ดังนั้นการพิจารณาช่วงโค้งสุดท้ายที่จะประชุมนอกสถานที่ เดิมวันที่ 22 มิ.ย.-3 ก.ค.นั้น มีแนวโน้มสูงว่าอาจเลื่อนออกไปเป็นช่วงกลางเดือนก.ค. คาดว่าจะเป็นวันที่ 14-22 ก.ค.

ต่อข้อถามว่าขณะนี้เริ่มมีธงเขียวปักตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯไม่ได้เป็นคนทำ ซึ่งธงเขียวนี้เห็นครั้งแรกที่เวทีรับฟังความคิดเห็นที่จ.ขอนแก่น ต่อด้วยเวทีที่จ.นครศรีธรรมราช

 

ศปป.เชิญถกปรองดองรอบสอง

เมื่อเวลา 10.00 น. วันเดียวกัน ที่สโมสรทหารบก วิภาวดีฯ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป(ศปป.) จัดเสวนาปรองดองสมานฉันท์เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในสังคมไทย ครั้งที่ 2 หัวข้อ"อนาคตประเทศไทย" เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นในการแก้ปัญหาขัดแย้ง การสร้างสามัคคีปรองดองสมานฉันท์ โดยมีพล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบ แห่งชาติ(คสช.) เป็นประธานการเสวนา พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก ในฐานะผอ.ศปป. รวมถึงพล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ แม่ทัพภาคที่ 1 ในฐานะผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย(กกล.รส.) เข้าร่วมพูดคุย ซึ่งเชิญพรรคการเมือง นักวิชาการ และตัวแทนภาคประชาชนเข้าร่วม 39 คน แต่มีผู้เข้าร่วมประชุมเพียง 20 คน 

พรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรองนายกฯและรมว.คลัง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ นายนพดล ปัทมะ อดีตรมว.ต่างประเทศ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มอบให้นายสาธิต ปิตุเตชะ อดีตส.ส.ระยอง เป็นตัวแทนพูดคุยในช่วงเช้า และนายสุรทิน พิจารณ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปไตยใหม่ 

 

แกนพธม.-นปช.-กปปส.มาพร้อม

นักวิชาการและกลุ่มการเมืองมีนายเสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการและแนวร่วมคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นายสุริยะใส กตะศิลา นายสมศักดิ์ โกศัยสุข แกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย(พธม.) นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการนปช. นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำนปช. 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย แจ้งขอลาไม่เข้าร่วมประชุม ให้เหตุผลว่าเท้าบวมจากโรคเกาต์ ซึ่งอาการยังไม่ทุเลา จึงไม่สะดวกในการเดินทาง ขณะที่นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย ที่ถูกเชิญร่วมหารือในรอบแรก แต่ไม่ได้รับหนังสือเชิญเข้าหารือในครั้งนี้ ส่วนการดูแลความปลอดภัยเป็นไปอย่างรัดกุม ศปป.ขอความร่วมมือจากผู้เข้าร่วมหารือไม่ให้นำโทรศัพท์และอุปกรณ์สื่อสารเข้าห้องประชุม และไม่อนุญาตให้ช่างภาพบันทึกภาพในห้องประชุม

 

'มาร์ค'เข้าร่วมเวทีในช่วงบ่าย

ต่อมาเวลา 12.30 น. หลังประชุมนานเกือบ 3 ชั่วโมง กลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมประชุม กับศปป.บางคน ได้ทยอยเดินทางกลับ อาทิ นายเสรี วงษ์มณฑา นายนพดล ปัทมะ ทั้งนี้ นายนพดลเผยว่าการประชุมวันนี้พูดคุยถึงเรื่องอนาคตของประเทศมากกว่าเรื่องในอดีต เช่น เรื่องการศึกษา ทรัพยากรธรรมชาติ เศรษฐกิจ กระบวนการยุติธรรม รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย และเห็นเจตนาที่ดีของศปป.แต่ละคนมีมุมมองของตัวเองและได้รับฟังความเห็นจากที่ประชุมด้วย ซึ่งการหารือเป็นไปด้วยดี 

"วันนี้การพูดคุยเป็นความร่วมมือในเรื่องปฏิรูป ไม่ได้คุยเรื่องความขัดแย้งในอดีต" นายนพดลกล่าว เมื่อถามว่ามีการพูดคุยเกี่ยวกับพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร หรือไม่ นายนพดลกล่าวว่าไม่มีเรื่องการเมือง ไม่มีความเคลื่อน ไหวอะไร บรรยากาศการพูดคุยเป็นไปด้วยดีแบบพี่น้อง ส่วนเรื่องอื่นๆ ทหารจะเป็นคนให้รายละเอียดเอง ต่อข้อถามว่าได้มีจดหมายน้อยฝากถึงนายกฯบ้างหรือไม่ นายนพดลกล่าวว่าไม่มีการคุยเรื่องตัวบุคคล แต่คุยหลักการทั่วไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่นายนพดลจะตอบคำถามสื่อมวลชน ได้สอบถามเจ้าหน้าที่ทหารว่าพูดได้หรือไม่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้เข้ามาห้ามแต่อย่างใด

ต่อมาเวลา 13.10 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ มาเข้าร่วมประชุมด้วยหลังจากมอบให้นายสาธิตเข้าประชุมในช่วงเช้าที่ผ่านมา

 

จตุพร ชี้รธน.ใหม่จะก่อให้วิกฤต

ด้านนายจตุพร พรหมพันธุ์ ให้สัมภาษณ์หลังการเข้าหารือ ว่า ภาพรวมการพูดคุยครั้งนี้ พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสธ.ทบ.เป็นประธานในเวทีเสวนาเปิดกว้างรับฟังทุกความคิดเห็นที่หลายฝ่ายแสดงความห่วงใย ทั้งมิติด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นทางออกให้ประเทศและการประชุมแบบนี้จะมีขึ้นอีกในครั้งต่อไป โดยแต่ละฝ่ายนำเสนอความคิดเห็นที่หลากหลายมิติตามแนวทางมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน เชื่อว่าเวทีหารือแบบนี้จะเป็นสิ่งที่ดี ส่วนข้อเสนอของกลุ่มนปช. ตนแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่อาจก่อให้เกิดวิกฤตในอนาคต ซึ่งอาจทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้นกว่าเดิม เพราะในเนื้อหาจะทำให้ประเทศกลับมาสู่วิกฤตอีกครั้ง และระหว่างทางก็จะทำให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ประเมินค่าไม่ได้

 

ยันแดงไม่เคลื่อนไหว-จะอดทน

นายจตุพรกล่าวว่า ตนยังได้แสดงความคิดเห็นในประเด็นที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ปิดสถานีโทรทัศน์พีซทีวี ที่มีการอ้างคำพูดตนที่ระบุว่าอย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู เพราะจะทำให้บรรยากาศบ้านเมืองมีความน่ารักมากกว่านี้ ตนพูดเพียงเท่านี้กลับถูกเพิกถอนใบอนุญาต ดังนั้นขอฝากไปยังพล.อ.ประยุทธ์ ช่วยพิจารณาว่าคำพูดที่ตนพูดนั้นว่าถึงกับต้องถอนใบอนุญาตเลยหรือไม่ แม้ว่าพวกตนจะมีความคิดเห็นที่แตกต่างแต่ไม่ใช่ว่าจะต้องมาทำลายล้างกัน 

"ส่วนความขัดแย้งทางการเมือง พวกผมพูดว่าเป็นความเห็นที่แตกต่างแต่ไม่ใช่ลักษณะการเผชิญหน้า แต่ละฝ่ายไม่ต้องการซ้ำเติมปัญหาให้กับประเทศ เพียงแต่ต้องรับฟัง และเมื่อรับฟังแล้วก็นำเสนอให้ผู้มีอำนาจอย่างตรงไปตรงมาเพื่อแก้ไขปัญหาได้ตรงจุด อีกทั้งจะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศโดยรวม" นายจตุพรกล่าว

เมื่อถามว่าเจ้าหน้าที่ขอความร่วมมือให้งดการเคลื่อนไหวต่างๆ หรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาพวกตนพูดคำไหนคำนั้น และไม่มีวาระซ่อนเร้น เมื่อคนไทยให้โอกาส คสช.ก็ต้องทำตามโรดแม็ป ดังนั้นคนไทยก็ต้องอดทนตามวันและเวลา วันนี้ปัญหาของชาติไม่ได้อยู่ที่สีใดสีหนึ่ง หรือพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของคนไทยทุกคนที่ต้องรับผิดชอบต่อบ้านเมืองอย่างเท่าเทียมกัน

 

ต้องเปลี่ยนเนื้อหาประชาธิปไตย

เมื่อถามว่าถ้าประเทศไม่มีการเลือกตั้งภายในปี 2559 นปช.จะดำเนินการในทิศทางอย่างไร นายจตุพรกล่าวว่า เราได้แสดงความเห็นว่าต้องการอะไร ถ้าต้องการให้บ้านเมืองเกิดความสงบก็ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้เป็นเนื้อหาประชาธิปไตย หรือถ้าต้องการอยู่ต่อก็บอกกันตรงๆ ตนไม่ได้กลัวว่าการที่อยู่ในอำนาจนานจะเป็นผลดีต่อผู้ที่มีอำนาจ เพราะอำนาจเป็นของร้อน ถ้าอยากให้บ้านเมืองเดินหน้าไม่กลับมาที่จุดเดิมก็ต้องเริ่มต้นด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อถามว่าการทำประชามติจะเป็นตัวชี้วัดทางสังคมหรือไม่ นายจตุพรกล่าวว่า ถ้าโชคดีหากมีการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในชั้นกมธ.ยกร่างฯได้ ก็ไม่ต้องมีการทำประชามติ แต่ถ้ากมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่เปลี่ยน แปลงเนื้อหาการทำประชามติคือความหายนะในอนาคต

เมื่อถามถึงเรื่องการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ นายจตุพรกล่าวว่า ในที่ประชุมไม่ได้พูดคุยเรื่องดังกล่าว

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรีและอดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า การพูดคุยครั้งนี้มีเรื่องกระบวนการยุติธรรมด้วย เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ

 

'วรชัย'ระบุกมธ.ต้องฟังชาวบ้าน

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า สิ่งที่คุยวันนี้มีเรื่องใหญ่ 2 ประเด็น คือเศรษฐกิจและรัฐธรรมนูญ โดยทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์เห็นตรงกันว่าเศรษฐกิจไปไม่ไหว ส่วนเรื่องรัฐธรรมนูญ ที่กมธ.ยกร่างฯไม่ฟังเสียงใคร จนอาจจะกลายเป็นคู่ขัดแย้งของคนทั้งประเทศและพรรคการเมือง แสดงให้เห็นว่ากมธ.ยกร่างฯชุดนี้มีปัญหาแน่นอน เราพูดในที่ประชุมว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการแก้ไข จะทำให้เกิดวิกฤตของประเทศหนักกว่าเดิม ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์และเพื่อไทย ทุกคนเห็นตรงกันและเรียกร้องให้กมธ.ยกร่างฯฟังข้อคิดของนักการเมือง ประชาชนบ้าง และอยากให้นายบวรศักดิ์ ทำตามความรู้สึกของประชาชนบ้าง ซึ่งทางทหารและตัวแทนของคสช.ก็เห็นตรงกันว่าเป็นปัญหาโดยวิกฤตต่างๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้น จะทำให้การปฏิรูปไม่สำเร็จ คสช.เป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่เป็นจุดรวมของแม่น้ำหลายสายจะต้องจัดการและมีความเห็นว่าจะต้องแก้ประเด็นใดบ้าง และต้องพูดไปยังกมธ.ยกร่างฯ ให้ทำตามที่ประชาชนต้องการ ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาเช่นนี้จะปรองดองได้อย่างไร และสิ่งที่อยากให้แก้ไขคือเรื่องที่มานายกฯ ที่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 

 

แนะออกกม.นิรโทษประชาชน

นายวรชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องคดีความต่างๆ ทางประชาธิปัตย์และพรรคเพื่อไทย มีความเห็นว่าการออกพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ควรต้องรีบทำ ไม่ว่ากลุ่มไหน สีไหน เพราะประชาชนเดือดร้อน ซึ่งกรอบการนิรโทษมุ่งเฉพาะประชาชน ไม่เกี่ยวกับคดี 112 หรือคดีทางอาญาร้ายแรง และขอให้นำพ.ร.บ. นิรโทษกรรมฉบับของตนมาใช้ ส่วนคดีต่างๆ ที่พรรคเพื่อไทยกำลังถูกดำเนินการขณะนี้ยังไม่ได้พูดถึง เพราะเวลามีจำกัด แต่บางคนเสนอให้รีบแก้ไขในเรื่องสองมาตรฐาน และกระบวนการยุติธรรม ซึ่งต้องมีการปฏิรูปหลายๆ ส่วนโดยเฉพาะองค์กรอิสระอย่างป.ป.ช. เป็นเรื่องที่ฝากการบ้านให้คสช. ขณะเดียวกันทาง ศปป.ขอให้เราสัมภาษณ์ในสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่ก่อให้เกิดความขัดแย้ง

 

จาตุรนต์แนะพูดคุยต้นตอปัญหา

จากนั้นเวลา 14.20 น. นายจาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมพูดคุยในหลายประเด็น ครอบคลุมถึงความห่วงใยในสถานการณ์บ้านเมือง รวมทั้งการสร้างปรองดองเพื่อแก้ปัญหาสังคมอย่างยั่งยืน ประเด็นเรื่องรัฐธรรมนูญและการทำประชามติ โดยที่ประชุมเน้นเรื่องปฏิรูประบบยุติธรรม การบังคับใช้กฎหมาย และเนื้อหาของรัฐ ธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตยซึ่งจะนำไปสู่ความขัดแย้งในอนาคต 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ตนได้เสนอเรื่องการปฏิรูปว่า การจะให้มีการปฏิรูปอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องยาก เพราะความเห็นแต่ละรัฐบาลนั้นแตกต่างกัน จึงไม่ควรเขียนแผนหรือแนวทางการปฏิรูปไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะจะแก้ไขลำบาก ตนยืนยันกับที่ประชุมว่าแนวทางปรองดองของรัฐบาลปัจจุบัน ทั้งการกำหนดนโยบายและการร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถสร้างความมั่นคงหรือความสงบอย่างยั่งยืนได้ สุดท้ายเมื่อมีการเลือกตั้ง ปัญหาต่างๆ จะกลับมาและอาจมีการปฏิวัติอีก หากต้องการแก้ปัญหาได้จริง ต้องพูดคุยถึงต้นเหตุปัญหาขัดแย้ง สาเหตุที่ทำให้รัฐบาลไม่สามารถรักษากฎหมาย

 

เผยเสธ.ทบ.ขอให้ช่วยร่างแผน

นายจาตุรนต์กล่าวว่า ตนยังเสนอว่ารัฐ ธรรมนูญฉบับใหม่มีปัญหามาก หากไม่แก้ไขในสาระสำคัญ ก็ต้องตัดสินด้วยการลงประชามติโดยวิธีที่เป็นธรรม หากไม่ผ่านก็ไม่ควรยืดเวลาเลือกตั้งออกไปอีก ตนเสนอว่าให้เลือกตั้งโดยเร็ว แล้วจัดให้ร่างรัฐ ธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย ให้ประชาชนเป็นผู้เลือกผู้ร่างรัฐธรรมนูญ เช่น การเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 

นายจาตุรนต์กล่าวว่า การมีเวทีเช่นนี้เป็นเรื่องดีและควรทำต่อเนื่อง แต่ปัญหาคือยังไม่เพียงพอ ทั้งในแง่ผู้เข้าร่วมและประเด็นพูดคุย นอกจากเชิญผู้ที่เคยขัดแย้งกันมา ยังจำเป็นต้องเชิญผู้ที่มีความเข้าใจเกี่ยวกับการแก้ปัญหาขัดแย้งและการปรองดองมาให้ความเห็น รวมทั้งมีผู้มีอำนาจตัดสินเข้าร่วมด้วย อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมพูดถึงการเลือกปฏิบัติ การบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เท่าเทียม โดยเสนาธิการทหารบก ขอให้ตนช่วยยกร่างเป็นโครงการว่าจะเสนอให้พูดคุยเพื่อความปรองดองได้อย่างไร ซึ่งตนรับปากว่าจะช่วยทำให้และจะหารือกับผู้ที่มีประสบการณ์ คาดว่าภายในสัปดาห์หน้าจะเสนอโครงการไปยังเสธ.ทบ.ได้ 

 

บรรยากาศพูดคุยราบรื่น-ออกมาดี

รายงานข่าวจากที่ประชุมศปป.แจ้งว่า สำหรับการพูดคุยศปป.ครั้งที่ 2 เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นเรื่องของความมั่นคง มั่นคั่ง ยั่งยืนและอนาคตของประเทศ ประธานในที่ประชุมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นครบทุกคน คนละประมาณ 10 นาที ความคิดเห็นเป็นไปอย่างกว้างขวาง หลากหลาย แต่ละคนได้แสดงความเห็นในมุมมองของตัวเอง เช่น เรื่องของทรัพยากรในอนาคต เป็นต้น โดยไม่มีการหยิบยกประเด็นพ.ต.ท.ทักษิณ หรือประเด็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองขึ้นมาพูดคุย 

ขณะที่ฝ่ายทหารชี้แจงถึงการทำงานตามโรดแม็ปที่รัฐบาลวางไว้ และการแก้ปัญหาเรื่องต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาเรื่องโรฮิงยา ซึ่งประธานระบุว่าทหารทำเต็มที่เพื่อแก้ไขเรื่องดังกล่าว แต่จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็เป็นอีกเรื่อง บรรยากาศในการพูดคุยเป็นไปด้วยดี และหากมีอะไรก็ให้มาพูดคุยแสดงความคิดเห็นกัน โดยไม่มีการขอความร่วมมือเรื่องการห้ามให้ข่าวกับสื่อมวลชน 

 

พท.ติงให้ชัยยะชงถอดยศทักษิณ

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีพล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. ตั้ง พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธาน คณะกรรมการดำเนินการถอดยศพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ว่า ความจริงคณะกรรมการชุดก่อนหน้านี้ ได้มีความเห็นแล้วว่าไม่สามารถถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณได้ แต่ชุดของพล.ต.อ.ชัยยะกลับพิจารณาจนมีมติเป็นเอกฉันท์ ทั้งที่หลักการที่ควรเป็น คือไม่ควรตั้งคนที่มีอคติ หรือทัศนคติที่เป็นลบมาดำเนินการ รวมถึงกระแสข่าว พล.ต.อ.ชัยยะ เป็นน้องชายของนายสนธิ ลิ้มทองกุล แกนนำพันธมิตรฯ ถือเป็นคู่ขัดแย้งหลักมาดำเนินการ สังคมจะวางใจในความเป็นกลางของกรรมการชุดนี้ได้อย่างไร

ที่รัฐสภา นายนิมิต สิทธิไตรย์ คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างปรองดอง สปช. กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เรื่องนี้ต้องแยกเป็น 2 ประเด็น คือ 1.ความรู้สึกพอใจ หรือไม่พอใจ และ2.หลักการข้อกฎหมาย ซึ่งถ้าไม่ไปกลั่นแกล้ง หรือทำงานสองมาตรฐาน ผู้ที่ดำเนินการถอดยศพ.ต.ท. ทักษิณ ต้องอธิบายสังคมให้เข้าใจว่าอยู่ภายใต้กรอบหลักสากลอย่างไร เช่น คนทำผิดต้องได้รับโทษ แต่ด้านความรู้สึก ยอมรับว่ามีผลกับคนรักพ.ต.ท.ทักษิณ แต่หากผู้บังคับใช้กฎหมายเลือกปฏิบัติ หรือละเว้นไม่ทำตามหลักสากล ผู้สนับสนุนอีกฝ่ายจะออกมาต้านเช่นกัน แต่เห็นควรให้ยืนยันในหลักการ ถ้าใครผิดต้องได้รับโทษ

 

อสส.ตั้งกก.ร่วมทำคดี 112 แม้ว

ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒนะ นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เผยความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ส่งสำนวนคดีให้อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ว่า ทางอัยการได้พิจารณาสำนวนแล้วแต่เนื่องจากคดีดังกล่าวเป็นคดีที่เกิดขึ้นภายนอกราชอาณาจักร นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานชุดพนักงานสอบสวนในคดีนี้แล้ว โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปอท.และคณะทำงานอัยการสำนักงานการสอบสวน เป็นทีมพนักงานสอบสวนร่วมกันพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าว ตามขั้นตอนหากคณะทำงานดังกล่าวพิจารณาสำนวนคดีเสร็จสิ้นแล้ว ก็ต้องส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาเพื่อชี้ขาดอีกครั้งและมีคำสั่งทางคดีต่อไป

นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน เผยว่า สำหรับชุดพนักงานสอบสวนคดีดังกล่าว ที่อัยการสูงสุดแต่งตั้งเป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่ตำรวจ ปอท. และพนักงานอัยการสำนักงานการสอบสวน ส่วนฝ่ายคณะทำงานอัยการจะแต่งตั้งใครเป็นผู้รับผิดชอบหรือมีอัยการไปร่วมสอบสวนด้วยกี่คนนั้น คงจะต้องรอประชุมปรึกษากันอีกครั้งก่อนจะดำเนินการต่อไป

 

"บิ๊กต๊อก"โยนตร.ชี้คดีแม้วหมิ่น

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิดตามมาตรา112 กล่าวถึงการสั่งการให้นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการให้สัมภาษณ์ของพ.ต.ท. ทักษิณ ที่เกาหลีใต้อย่างละเอียดว่าเข้าข่ายมีความผิดมาตรา 112 หรือไม่ ว่า เรื่องนี้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นเจ้าภาพ ตนในฐานะประธานก็ตรวจสอบในเบื้องต้น แต่ในส่วนกฎหมายต้องให้ตร.เป็นเจ้าภาพจัดการ ส่วนจะส่งเรื่องฟ้องหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบไม่สามารถไปก้าว ก่ายหรือสั่งการได้

เมื่อถามถึงรายชื่อกลุ่มคนที่อยู่ในข่ายติดตามเฝ้าระวัง มีกลุ่มใดบ้าง พล.อ.ไพบูลย์ กล่าวว่า แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มติดตามคดีเพื่อนำตัวผู้กระทำผิดกลับมาดำเนินคดีในประเทศ ซึ่งมีจำนวนน้อย 2.กลุ่มที่ดำเนินการกับการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชี่ยล ซึ่งเกี่ยวข้องกับกระทรวงไอซีที โดยจำนวนนี้มีมากที่สุด และ 3.กลุ่มที่ต้องดำเนินการเกี่ยวกับงานต่างประเทศในด้านการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับมาตรา 112 ว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับคดีการเมือง

 

ส่งชื่อ 152 ขรก.โกงให้บิ๊กตู่แล้ว

พล.อ.ไพบูลย์ ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) กล่าวว่า ตนได้ส่งรายชื่อข้าราชการทุจริตล็อต 2 จำนวน 152 คนต่อพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ส่วนขั้นตอนและการดำเนินการพิจารณาขึ้นอยู่กับนายกฯและทีมกฎหมายของรัฐบาล จะตัดสินใจต่อไปว่าจะใช้อำนาจตามมาตรา 44 จัดการหรือจะใช้กฎหมายปกติดำเนินการ หากมีการปลด พักราชการหรือโยกย้ายก็เป็นอำนาจของนายกฯ เท่านั้น หลังจากนั้นแต่ละกระทรวงจะรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เกี่ยวกับการติดตามข้าราชการภายในกระทรวงของตนเองต่อไป

"บัญชีรายชื่อชุดนี้ผมไม่ได้ดูปล่อยให้เป็นอำนาจของนายกฯดีกว่า เพราะหากผมไปดูแล้วมีข้าราชการในระบบอุปถัมภ์ เดี๋ยวเขาก็โทร.มาถามผมอีก เราต้องมั่นใจในหน่วยงานที่จัดการ ผมแค่ดูยอดรวมเท่านั้น ส่วนบัญชีที่ 3 ก็ต้องรอดูกันต่อไป" พล.อ. ไพบูลย์กล่าว

 

สมยศยังไม่ได้รับสำนวนถอดยศ

ที่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงานมติคณะกรรมการพิจารณาการดำเนินการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ จึงไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะใช้เวลาดำเนินการนานเท่าใด รวมทั้งยังไม่ทราบถึงมติคณะกรรมการอย่างเป็นทางการด้วย หากได้รับรายงานจาก พล.ต.อ.ชัยยะแล้ว ตนจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาตรวจสอบข้อมูลรายละเอียดเพื่อความถูกต้อง ก่อนส่งเรื่องไปยัง พล.อ. ประยุทธ์ เพื่อดำเนินการต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำบันทึกเร่งรัดพล.ต.อ.ชัยยะ รับรองมติการถอดยศมาให้ถูกต้องครบถ้วน และเร่งนำมาเสนอโดยเร็วที่สุดแล้ว

พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ส่วนการประชุมครม.อย่างเป็นทางการนอกสถานที่หรือครม.สัญจร ที่จ.เชียงใหม่ ในช่วงปลายเดือน มิ.ย.นี้ ทางเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงโดยเฉพาะในส่วนของตำรวจมีแผนดูแลความปลอดภัยให้แก่นายกฯรวมถึงรัฐมนตรีและบุคคลสำคัญอยู่แล้ว และได้ประสานงานกับหน่วยงานข้างเคียง อาทิ ฝ่ายปกครองและหน่วยงานรัฐอื่นๆ เพื่อบูรณาการด้านการดูแลความปลอดภัยอยู่เสมอ

 

ตร.ตามสอย- 9 นศ.ต้าน 1 ปีคสช.

วันเดียวกัน ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุได้รับแจ้งจากนายรังสิมันต์ โรม และน.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว 2 นักศึกษาที่ถูกจับกุมในการร่วมกิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหารที่ลานด้านหน้าหอศิลปวัฒนธรรมฯ เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ได้รับหมายเรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวนที่สน.ปทุมวันในวันที่ 8 มิ.ย.นี้ เวลา 14.00 น. เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาร่วมกันมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

นายรังสิมันต์ โรม นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ว่า ญาติโทร.มาบอกตนว่ามีหมายเรียกมาที่บ้าน ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกอะไร แต่ญาติตกใจและเป็นห่วง หมายเรียกให้ไปรับทราบข้อกล่าวหาสืบเนื่องจากการที่ตนและเพื่อนๆ จัดกิจกรรมรำลึกครบรอบ 1 ปีการรัฐประหาร เย็นวันที่ 22 พ.ค.หน้าหอศิลป์ กรุงเทพฯ ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบกดดันและใช้กำลังเข้าสลายการจัดกิจกรรมในที่สุด มีนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัววันดังกล่าว 37 คน 

 

2 เหยื่อเผยเบื้องหลังถูกหมายเรียก

     นายรังสิมันต์กล่าวว่า วันดังกล่าวเจ้าหน้าที่เตรียมดำเนินคดีกับพวกตนทันที แต่ด้วยการกดดันของเพื่อนนักศึกษาและประชาชนที่มาให้กำลังใจ ว่าหากจะดำเนินคดีก็ต้องดำเนินคดีประชาชนทั้งหมดที่รวมตัวกันหน้าสน.ปทุมวันกว่า 100 คน เข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ปล่อยตัวพวกตนโดยไม่มีเงื่อนไข เพราะไม่อยากให้สถานการณ์บานปลาย และตั้งใจดำเนินคดีกับนักศึกษาเป็นรายคนในภายหลัง ทราบว่ามีตนและพวกประมาณ 9 คนที่เจ้าหน้าที่เตรียมแจ้งข้อหา แต่ขณะนี้ทราบว่าเพียงมีตนกับน.ส.ชลธิชาเท่านั้นที่ได้ทราบหมายเรียกแล้ว ส่วนอีก 7 คนที่เหลือต้องรอความชัดเจนก่อน

      น.ส.ชลธิชา แจ้งเร็ว นักศึกษาชั้นที่ 4 คณะสังคมศาสตร์ ม.ศรีนครินทรวิโรฒ กล่าวว่ากิจกรรมรำลึก 1 ปีรัฐประหาร ตนไปในฐานะคนร่วมกิจกรรมด้วย ก่อนจะถูกควบคุมตัวไปที่ สน.ปทุมวัน เจ้าหน้าที่มองตนไม่ใช่ประชาชนแต่มองเป็นศัตรู เพราะก่อนจับกุมมองหน้าตนสลับกับมองรูปในโทรศัพท์ของเจ้าหน้าที่ จากนั้นก็ฉุดแขนและไหล่อย่างแรง ยังเจ็บที่ไหล่ซ้ายถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตามเชื่อเช่นเดิมว่าการแสดงออกอย่างสันติ ไม่ยอมรับการรัฐประหาร สามารถทำได้โดยไม่ผิดกฎหมาย 

 

'โภคิน-อู๊ดด้า'ชำแหละร่างรธน.

       เมื่อวันที่ 3 มิ.ย. ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการการเมือง สนช. ร่วมกับกมธ.สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็น เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช.จัดสัมมนาหัวข้อ "วิเคราะห์ร่างรัฐธรรมนูญ ในมุมมองด้านวิชาการ และการเมือง" มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายโภคิน พลกุล คณะทำงานฝ่ายกฎหมาย พรรคเพื่อไทย เข้าร่วมด้วย

นายโภคินกล่าวว่า รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มีปัญหาคือการยุบพรรคและการตัดสิทธิทางการเมือง ไม่เป็นไปตามหลักนิติธรรม เพราะผู้ถูกตัดสิทธิไม่ใช่ผู้กระทำผิด แต่ต้องรับผิดไปด้วย แต่รัฐธรรมนูญที่ร่างกันอยู่ขณะนี้ ยังไปลงโทษซ้ำสมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 ไม่รู้ว่าตั้งใจหรือไม่ แต่ถ้าเขียนแบบนี้จะยิ่งไปไม่ได้ ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ร่างปัจจุบันต้องตอบโจทย์ 4 ข้อคือ การสร้างความปรองดอง กรอบปฏิรูปต้องชัดเจน สานต่อสิ่งที่ตกผลึกไปแล้ว และต้องมีความต่อเนื่องของรัฐธรรมนูญไม่ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นก็ตาม

      นายโภคิน กล่าวว่า แต่สิ่งที่กมธ.ยกร่างฯทำอยู่ไม่ได้ตอบโจทย์ทั้ง 4 ข้อ จะเสียของแน่ๆ ดูแล้วเป็นการตอบโจทย์ส่วนตัวของกมธ.ยกร่างฯ แล้วยัดเยียดให้คสช. พิจารณา ซึ่งคสช.ก็คงอึดอัด จะยิ่งยุ่งกันใหญ่ ทั้งนี้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญอยู่ยงคงกระพัน ขึ้นอยู่กับคน แต่เพื่อเป็นหลักประกันไม่ให้ฉีกรัฐธรรมนูญได้อีก ให้นำความรัฐธรรมนูญฉบับปี 2517 มาบัญญัติไว้ใหม่ว่า การนิรโทษกรรมผู้ที่ล้มล้างสถาบันหรือรัฐธรรมนูญจะกระทำมิได้ และให้ถือว่าสิ่งนี้เป็นประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย 

ด้านนายจุรินทร์กล่าวว่า จากที่ตนศึกษาร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ มี 4 ประเด็นที่จำเป็นต้องรื้อใหญ่ เพื่อให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าสู่ประชาธิปไตย คือ 

      1.การตัดสิทธิ จำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาทิ มาตรา 62 ที่ตัดสิทธิประชาชนฟ้องร้องหน่วยงานรัฐ ในกรณีรัฐจัดทำโครงการกระทบสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิตประชาชน ส่วนการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ไม่ควรนำมาควบรวม และระบบโอเพ่นลิสต์ มองให้ลึกเป็นการจำกัดอำนาจประชาชน เพราะเลือก ส.ส.บัญชีรายชื่อได้แค่คนเดียวจากมีอยู่ทั้งหมด 30-35 คน จึงอยากให้กมธ.ยกร่างฯต้องปรับแก้ด้วยการไม่จำกัดคนที่จะเลือก 

      2.ปรับรื้อโครงสร้างการบริหาร โดยมองว่าส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งเลวหมด และให้มีองค์กรที่มาจากการแต่งตั้งมาควบคุมฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร จะกลายเป็นอำนาจที่ 4 ตัวจริง ทำให้รัฐธรรมนูญไม่ใช่เผด็จการ ไม่ใช่ประชาธิปไตย กลายพันธุ์เป็นรัฐธรรมนูญครึ่งผีครึ่งคน เช่น คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูป สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ และคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ คณะกรรมการแต่งตั้งระดับปลัดกระทรวง

    3.รื้อประเด็นที่เราเคยมีบทเรียนและทดลองใช้มาแล้ว และสร้างความล้มเหลว ไม่ควรย้อนยุคนำกลับมาใช้จะเกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีก เช่น การจัดการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) เหมือนในอดีตเคยมีกระทรวงมหาดไทยดูแลเรื่องเลือกตั้ง แต่พบว่ามีการใช้อำนาจของรัฐบาลรักษาการมาช่วย ทำให้การเลือกตั้งไม่ยุติธรรม ตรงนี้น่าเป็นห่วง หรือมาตรา 181-182 ที่ให้อำนาจนายกฯมากเกินไป ก็ควรตัดทิ้ง และ 4.รื้อประเด็นที่อาจเป็นชนวนนำประเทศไปสู่วิกฤตรอบใหม่ในอนาคต เช่น มาตรา 182 มาตรา 298 ที่ให้คณะกรรมการปรองดองมีอำนาจออกพ.ร.ฎ.อภัยโทษ ห่วงว่าถ้าไม่ตัดอำนาจเหล่านี้ทิ้ง จะนำประเทศไปสู่วิกฤต ไม่ใช่แค่ระเบิดเวลา แต่เป็นเข่งระเบิด