TOO3-6


บิ๊กตู่ ให้เลิกวิจารณ์ โยงบิ๊กติ๊ก 
ชี้ตั้งผบ.ทบ.ใหม่ไม่เกี่ยวพี่น้อง คสช.นัดวันนี้ถกปรองดองยก 2 บิ๊กต๊อกสรุปคลิปแม้วผิดม.112

        คสช.เรียกนักการเมือง-นักวิชาการถกปรองดองรอบ 2 'บิ๊กตู่'ส่งรถเบนซ์เข้าอู่ เปลี่ยนนั่งโฟล์กตู้กันกระสุน คันเดียวกับที่'ปู'เคยใช้ ยันตัวเองไม่ใช่นายกฯ คนนอก ห้ามสื่อเขียนโยงเตรียมตั้งน้องชาย'บิ๊กติ๊ก'พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา เป็นผบ.ทบ. ช่วยรักษาอำนาจ ปมถอดยศ'แม้ว'มีคณะกรรมการพิจารณา ชี้ตามระเบียบถูกปลดก็ต้องยึดคืนเครื่องราชฯ 'ชัยยะ'เผยมติถอดยศ 5 ต่อ 0 ไร้อคติ ไม่มีใบสั่ง 'สมยศ'ลั่นไม่ใช่ตรายาง ยธ.เฝ้าระวัง 125 ชื่อหมิ่นสถาบัน 'บิ๊กต๊อก' ชี้คลิป'แม้ว'เข้าข่ายผิด ม.112 'สมบัติ'ยันกมธ.ปฏิรูปการเมือง-กมธ.ปฏิรูปกฎหมาย รับไม่ได้ถ้าไม่แก้ปมรัฐบาลผสม ครม.ตั้งปลัดไอซีที คนใหม่ 

 

วันที่ 03 มิถุนายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8953 ข่าวสดรายวัน

หนุนรธน. - เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสมุทรปราการ เครือข่ายสวัสดิการชุมชน ยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญที่ให้พลเมืองเป็นใหญ่ ที่รัฐสภา เมื่อ 2 มิ.ย.

 

เมินเสียงวิจารณ์-บิ๊กตู่จัดต่อคืนสุข

     วันที่ 2 มิ.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) นำจดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน ฉบับที่ 3 ประจำวันที่ 1 มิ.ย. 2558 มาแจกให้กับผู้สื่อข่าว มีเนื้อหาถึงการดำเนินการของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุในคอลัมน์จากใจ นายกฯ ถึงรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ที่จัดมาเกือบ 1 ปีว่า มีการวิจารณ์จากหลายฝ่ายทั้งเรื่องการพูดมาก ไม่สนุก เบียดบังเวลาของละคร ยังคงยืนยันจะจัดรายการในแบบของตนที่เป็นไปอย่างตรงไปตรงมา เรียบง่าย ชัดเจน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เมื่อตั้งใจแล้วจะต้องทำให้สำเร็จ และหวังว่าคนที่วิจารณ์จะเข้าใจตนมากขึ้น อยากให้ประชา ชนให้ความสำคัญกับเนื้อหาซึ่งเป็นเรื่องของประเทศชาติ อนาคตลูกหลานไทย เรื่องรากฐานของประเทศ ที่ปรากฏในรายการมากกว่ามาใส่ใจในเรื่องรูปแบบว่ารายการควรสนุกสนาน มีสีสัน แปลกใหม่ ดึงดูดใจ เพราะตนอยากสงวนเวลานั้นเพื่อใช้ทำงานแก้ปัญหาและปฏิรูปบ้านเมืองมากกว่า และประชาชนคงทราบดีว่าในห้วงเวลานี้บ้านเมืองมีเรื่องรุมเร้าที่ต้องแก้ไขมาก สิ่งที่จะทำให้ประเทศผ่านพ้นอุปสรรคไปได้คือการยึดมั่นในหลักคิดดี ทำดี ซึ่งที่สุดแล้วจะได้ผลดีตามมา

 

เปลี่ยนรถใช้โฟล์กตู้กันกระสุน 

      เวลา 09.00 น. พล.อ.ประยุทธ์เป็นประธานประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการรายงานสถานการณ์บ้านเมือง การหารือสรุปผลการดำเนินงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาล ก่อนที่นายกฯ และรองนายกฯ ทั้ง 5 คนจะชี้แจงต่อที่ประชุมแม่น้ำ 3 สาย ประกอบด้วย ครม. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 4 มิ.ย.

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์เปลี่ยนรถจากปกตินั่งรถเบนซ์ส่วนตัว ทะเบียน ญค 1881 กรุงเทพมหานคร ที่ใช้เป็นประจำตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งนายกฯ เป็นรถตู้โฟล์กสีดำกันกระสุน ทะเบียน ฮภ 2924 กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นรถของสำนักเลขาธิการนายกฯ และเป็นรถที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ใช้ระหว่างดำรงตำแหน่ง 

      พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม. ถึงการเปลี่ยนรถว่า รถเสียก็ต้องซ่อม ส่วนรถเป็นอะไรตนไม่รู้ต้องถาม พลขับ เมื่อถามว่าเปลี่ยนมานั่งโฟล์กแล้วสบายหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ยังไม่ชิน แต่ความจริงนั่งอะไรก็เหมือนกัน สมัยก่อนนั่งรถปุโรทั่งมากกว่านี้ แต่บังเอิญว่าเบนซ์มันเสีย ทำไมสื่อต้องถามทุกเรื่อง 

 

แจงขั้นตอนถกแม่น้ำ 3 สาย

     นายกฯ กล่าวว่า วันที่ 4 มิ.ย. ตนจะไปชี้แจงต่อสนช. ในการประชุมแม่น้ำ 3 สาย ถึงผลการทำงานครบ 1 ปีของรัฐบาลและคสช. ว่าขั้นตอนที่ 1 ในเรื่องการปฏิรูป คสช.และรัฐบาลดำเนินการไปแล้ว จากนั้นเป็นเรื่องการส่งต่อให้กับสปช. เพื่อดำเนินการและส่งต่อให้รัฐบาลใหม่ต่อไป ตนจะสรุปแล้วมอบให้รองนายกฯ พูดคนละ 20-30 นาที ว่าอะไรทำจบไปแล้ว อะไรที่กำลังทำหรืออะไรที่จะไม่ได้ทำแน่ ทำไม่ทันก็จะส่งต่อ ตรงนี้ สปช.จะนำไปสานต่อ จะไปเริ่มต้นใหม่หมดไม่ได้ ที่ทำมาทั้งหมดก็ถือว่า ล้มเหลว 

      เมื่อถามรัฐบาลเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรม นูญกว่า 100 ประเด็น คิดว่ากมธ.ยกร่างฯ จะแก้ไขแค่ไหน นายกฯ กล่าวว่า ไปถามกมธ.ยกร่างฯ เอง ส่วนประเด็นที่เป็นห่วงคืออย่าให้เกิดความขัดแย้ง และทำให้ทุกอย่าง เป็นเรื่องที่ประชาชนยอมรับ ประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศไทยมีประชาธิปไตยยั่งยืน ไม่มีความขัดแย้ง ไม่มีเสื้อสีนั้นสีนี้ขึ้นมาต่อต้านกันอีก ส่วนใครที่จะทำให้เกิดตรงนี้ได้ไม่ใช่ตน อยู่ที่ทุกคนและอยู่ที่สื่อมวลชน 50 เปอร์เซ็นต์

 

ลั่นไม่ใช่นายกฯคนนอก 

      เมื่อถามว่ามีคำขอหลายฝ่ายให้แก้ในส่วนนายกฯ คนนอก เพราะอะไร นายกฯ กล่าวว่า "เพราะนายกฯ คนนอก ทุกคนจะระแวงว่าจะเป็นผม หรือใคร ผมบอกแล้วว่าผมจะไม่ไปอยู่อย่างนั้นเด็ดขาด เขาเขียนไว้ว่าถ้าสถานการณ์มันเกิดความขัดแย้งสูงจนรัฐบาลดำเนินการไม่ได้ หรือเลือกตั้งไม่ได้ ก็เอาข้อเท็จจริงจากครั้งที่แล้วมาเขียนซึ่งเป็นเรื่องของเขา ถ้าผ่านได้เขาก็ผ่านไปแต่ไม่ใช่ผมแน่นอน"

       พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าเข้ามาแล้วตนไม่มีอำนาจมันจะคุมใครอยู่ อำนาจคือความชอบธรรม ที่ตนทำอยู่ทุกวันนี้ ความชอบธรรมของตนคือประชาชนพอใจในสิ่งที่เขาควรได้ 

เมื่อถามว่าข้อเสนอแก้รัฐธรรมนูญของครม.ไม่ยุ่งประเด็นที่มานายกฯ มีสาเหตุจากอะไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องไปฟังคนที่เสนอและพูดกันว่าปัญหามาจากครั้งที่แล้ว ปัญหาติดล็อกทั้งหมดแล้วเดินหน้าประเทศไม่ได้ เราไประแวงกันเรื่องอำนาจ กลัวเรื่องอำนาจ การใช้อำนาจในทางสร้างสรรค์ เขาถึงเรียกว่าอำนาจ แต่ถ้าสิ่งที่เป็นอำนาจแล้ว ขี้โกง ทุจริต ตนคิดว่าไม่ใช่อำนาจ จึงอย่าไปพูดว่าตนอยากอยู่ต่อหรือคสช.อยู่เพื่ออำนาจ 

 

ห้ามสื่อเขียนโยงน้องชาย

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตอบคำถามถึงตรงนี้พล.อ.ประยุทธ์ มีอารมณ์ฉุนเฉียวและสั่งให้ ผู้สื่อข่าวตอบว่าอำนาจทั้งหมดคืออะไร สื่อเวลาเขียนก็ขอให้เขียนให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปเขียนว่าอำนาจคือเรื่องการอยากอยู่ต่อในตำแหน่ง โดยมีน้องชายตนคอยออกมาปกป้อง อย่ามาพูดอย่างนี้กับตน 

     เมื่อถามว่า การอยู่ในอำนาจของนายกฯ หากมีพล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา น้องชายขึ้นมาเป็นผบ.ทบ.ตามกระแสข่าว จะเป็นการช่วยค้ำรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า ค้ำอะไร ถ้าตนทำไม่ดี กองทัพเขาจะค้ำตนหรือไม่ เมื่อถามว่าถ้าเป็นพี่น้องกันก็อาจจะช่วยกัน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเสียงดังว่า คิดกันอยู่แค่นี้ พี่น้องก็ไม่ใช่พี่น้อง ตนทำงานไม่มีพี่มีน้อง 

      จากนั้นพล.อ.ประยุทธ์ ถามผู้สื่อข่าวว่าเวลาแต่งตั้งผบ.ทบ.เขาดูจากอะไรบ้าง เมื่อได้คำตอบว่าดูจากความรู้ความสามารถ ความมีอาวุโส แล้วคุณสมบัติที่เด่น พล.อ.ประยุทธ์ ตอบทันทีว่า "ถ้าไอ้ 2 คนแรกมันห่วย มันไม่ได้ก็ต้องตั้งคนที่ 3" 

เมื่อถามว่ามีด้วยหรือ นายกฯ ส่ายหน้า พร้อมกล่าวว่า "ไอ้บ้า กว่าจะโตมาถึงขนาดนี้เขาก็กรองกันมาทั้งหมดแล้ว ก็ไปไล่ความมีความอาวุโสกันมา ไม่ใช่ใครก็จะเป็นได้ ไม่ใช่ 5 เสือก็เป็นไปได้ทุกคน ถ้ารองผบ.ทบ.ดี ก็ต้องเป็นรองผบ.ทบ. ไม่ใช่รองผบ.ไม่เอา ไปเอาเสธ. ไปเอาผู้ช่วยขึ้นมา แล้วจะตั้งรองผบ.ทบ.มาทำไม"

 

ผบ.ทบ.เป็นคนตั้งผบ.คนใหม่

      เมื่อถามว่า สรุปว่าจะตั้งใครเป็นผบ.ทบ. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ต้องไปเขียนว่าใครจะเป็น เพราะคนที่จะเขียน ผบ.ทบ.คนปัจจุบันเป็นคนเขียน แต่ละเหล่าทัพก็จะไปเข้าการพิจารณาของแต่ละคณะ สื่อไม่ต้องรีบเขียนเพราะไม่ใช่เรื่องของสื่อ สื่ออยากเป็นรมต.กลาโหมบ้างหรืออย่างไร บางคนอยากเป็นผบ.เหล่าทัพ

     เมื่อถามว่า การพิจารณาตัดสินใจคัดเลือกผบ.ทบ.และผบ.เหล่าทัพไม่ได้ขึ้นอยู่กับ นายกฯ ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่เคยสั่งและตอนที่ตนเป็นผบ.ทบ.ก็ไม่เคยเกรงใจใคร เพราะถือว่าเป็นสิทธิและอำนาจ แต่ทั้งหมดทุกคนจะเอาพวงของตัวเองเข้าสู่ที่ประชุมสภากลาโหม ซึ่งมีคณะกรรมการแต่งตั้ง ถ้าทุกคนดูแล้วแต่ละกองทัพไม่มีปัญหา เขาก็ตั้งตามนั้น

เมื่อถามว่าคุณสมบัติผบ.ทบ.ที่นายกฯเห็นว่าเหมาะสมในยุคนี้ควรมีอะไรบ้าง นายกฯ กล่าวว่า ไม่มีอะไร ทุกยุคมันต้องทำให้กลไกของประเทศเดินหน้าไปด้วยกลไกปกติ อย่าต้องใช้อำนาจ ต้องใช้กฎหรือใช้มาตรา 44 ตลอดไปจนตาย

 

ถ้าปลดต้องยึดเครื่องราชฯ

      เมื่อถามถึงขั้นตอนการถอดยศพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะใช้อำนาจของผบ.ตร.ตัดสินใจใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า เขามีคณะกรรมการ เมื่อถามว่าหากคณะกรรมการสรุปก็ส่งเรื่องให้ผบ.ตร.เลยใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าคดีที่มีความเกี่ยวข้องกับสถาบันก็มีคณะกรรมการพิจารณา 2 คณะ คือของกระทรวงยุติธรรมและตร. อย่าไปยุ่งกันมาก มาเมื่อไรก็วันนั้น มาถึงตนเมื่อใดก็ทำให้วันนั้น มันผิดหรือไม่ มีอยู่ประมาณ 7 ข้อ ตัวที่เป็นข้อลงโทษมีเรียงลำดับไว้ทั้งหมด 1-7 มันผิดตรงไหนหรือไม่ ถ้ามันผิดใน 7 ข้อก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ถือว่าละเว้น หรือใครที่ผ่านมาไม่ทำก็ถือว่าละเว้นอีก และตนไม่อยากเป็นคนที่ละเว้นอีก 

      เมื่อถามว่า มีการพูดถึงการยึดเครื่องราชฯด้วย นายกฯ กล่าวว่า ระเบียบเขามีอยู่แล้ว ถ้าปลดก็ต้องยึดเครื่องราชฯ สื่อไปดูบ้างว่ากฎหมายเขียนไว้อย่างไร ที่ตนพูดไม่ได้โมโหหรือใช้อารมณ์ บางครั้งมันต้องรู้ทุกเรื่องก็เครียดบ้างเหมือนกัน กว่าจะขุดออกจากส่วนในสมอง บางอารมณ์ตนอาจเป็นคนตลกบ้าง

     เมื่อถามว่าหากถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณจริงอาจมีกลุ่มคนออกมาต่อต้านเคลื่อนไหว นายกฯ กล่าวว่า ถ้าออกมาก็ถือว่ามีความผิด คสช.ติดตามดูอยู่ ถ้าเกินเลยก็เรียกมาพูดคุย ถ้าผิดกฎหมายก็ดำเนินการตามกฎหมาย สื่อก็ดูด้วย

 

บัวแก้ว ย้ำริบพาสปอร์ตแม้วทุกเล่ม 

     พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์หลังประชุมครม. ถึงการถอนพาสปอร์ตและเสนอถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณว่า ที่เกรงจะมีกลุ่มต่างๆ เคลื่อนไหวนั้นเชื่อว่าไม่มีอะไร เพราะเจ้าหน้าที่ทำตามกฎหมาย ทุกคนคงรู้ รัฐบาลชุดนี้ไม่มีการกลั่นแกล้งและแก้แค้น ทุกอย่างทำขึ้นเพื่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคต

     นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมช.ต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศได้ยกเลิกหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ทุกฉบับที่มีอยู่ในฐานข้อมูลทั้งหมด ก่อนยกเลิกมีการตรวจสอบแล้วหลายรอบพบว่ามีเพียง 2 เล่มคือ หนังสือเดินทางบุคคลธรรมดา (เล่มน้ำตาล) หมายเลข U957441 และหมายเลข Z530117 ส่วนหนังสือเดินทางทูต (เล่มแดง) หมายเลข D215863 นั้นไม่มี ยกเลิกไปตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.51 ขณะเดียวกันยังตรวจสอบว่าในช่วงรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็พบว่ามีการคืนหนังสือเดินทางให้พ.ต.ท.ทักษิณเพียง 2 เล่มคือ เล่มสีน้ำตาลที่เพิ่งถูกยกเลิกไป ไม่ได้คืนเล่มแดงให้ซึ่งไม่ทราบว่าเพราะอะไร และปัจจุบัน พ.ต.ท.ทักษิณไม่สามารถใช้หนังสือเดินทางของไทยได้อีกแล้ว

 

ดีเอสไอ ใกล้สรุปฟ้องคดี 112

      นายดอนในฐานะรองประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กล่าวถึงการติดตามผู้ต้องหาตามมาตรา 112 ในต่างประเทศว่า ที่ผ่านมากระทรวงรอความชัดเจนจากฝั่งอัยการ หากจะให้กระทรวงดำเนินการต้องทำตามขั้นตอนที่ถูกต้องก่อนคือตำรวจต้องแจ้งอัยการ จากนั้นส่งมายังกระทรวง ทราบว่าขณะนี้ดำเนินการอยู่ เบื้องต้นอัยการได้แจ้งมาแล้ว 1 ราย และประสานไปยังประเทศนั้นๆ แล้ว แต่ไม่ขอบอกว่าเป็นประเทศอะไร การประสานกับต่างประเทศเราจะให้ข้อมูลด้วยว่ามาตราดังกล่าวเป็นกฎหมายอาญา ไม่ใช่เรื่องการเมือง เมื่อถามว่าแนวโน้มมีโอกาสจะติดตามคนเหล่านี้กลับมาได้หรือไม่ นายดอนกล่าวว่า ไม่สามารถพูดได้ในตอนนี้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

      ด้านพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานคณะกรรมการป้องกันและแก้ไขปัญหาคดีความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือคดีความผิดตามมาตรา 112 กล่าวกรณีมอบให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ตรวจสอบการให้สัมภาษณ์สื่อที่ประเทศเกาหลีใต้ของพ.ต.ท.ทักษิณ อาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า ได้สั่งการให้อธิบดีดีเอสไอในฐานะเลขานุการคณะกรรมการ ตรวจสอบรายละเอียดเนื้อหาการให้สัมภาษณ์แล้ว อยู่ระหว่างรอการรายงานจากอธิบดีดีเอสไอ คาดว่าจะได้ข้อสรุปในเร็วๆ นี้ ยืนยันว่าจำเป็นต้องดำเนินการตามกฎหมาย จะใช้ความรู้สึกเข้ามาตัดสินไม่ได้ หากพบว่าพ.ต.ท.ทักษิณมีพฤติการณ์ที่เข้าข่ายความผิดตามมาตรา 112 จริง หน่วยงานที่รับผิดชอบ จะเป็นผู้ฟ้องร้องและดำเนินคดีต่อไป 

 

ยธ.เฝ้าระวัง 125 ชื่อหมิ่นสถาบัน 

      พล.อ.ไพบูลย์ให้สัมภาษณ์อีกครั้งที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) ว่า ช่วงบ่ายได้เรียกให้นางสุวณา สุวรรณจูฑะ อธิบดีดีเอสไอ ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการเข้าพบ เพื่อรายงานความคืบหน้าการจัดทำรายชื่อบุคคลเฝ้าระวังในคดีความผิดมาตรา 112 โดยนางสุวณารายงานว่า รวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 125 รายชื่อ แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ 1.คนอยู่ต่างประเทศที่ถูกออกหมายจับ 2.คนที่อยู่ในประเทศ ซึ่งเป็นกลุ่มที่เฝ้าระวัง และ 3.บุคคลที่กำลังติดตามพฤติกรรม โดยแยกหน่วยงานที่รับผิดชอบว่ามีคดีอยู่ในขั้นตอนใดบ้าง และตัวผู้กระทำผิดอยู่ที่ประเทศใด คาดสัปดาห์หน้าจะจัดทำรายงานเพื่อเสนอต่อนายกฯ รองนายกฯ และรมว.ต่างประเทศ 

 

คลิปแม้วเข้าข่ายผิด 112 

     พล.อ.ไพบูลย์กล่าวถึงคลิปวิดีโอ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์ประเทศเกาหลีใต้ว่า เบื้องต้นได้รับรายงานจากอธิบดีดีเอสไอแล้ว ทราบว่าขณะนี้ ตร.เป็นคนทำสำนวนคดี ซึ่งดีเอสไอมีความเห็นว่าที่พ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์มีบางถ้อยคำเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 อย่างไรก็ตาม ต้องดูว่าตำรวจมีความเห็นพ้องในทิศทางเดียวกันหรือไม่ ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทั้งสองฝ่าย หลังจากนี้เป็นหน้าที่ของทนายความของผู้ถูกกล่าวหาในการชี้แจง หากพบว่าเป็นความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

      รายงานข่าวแจ้งว่า นางสุวณารายงานกรณีดังกล่าวต่อพล.อ.ไพบูลย์ว่า ตำรวจตรวจสอบคลิปให้สัมภาษณ์แล้ว พร้อมแจ้งข้อกล่าวหาและประสานให้อัยการประสานกับต่างประเทศ เนื่องจากเป็นความผิดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ

 

สมยศจี้กก.ลงนามมติถอดยศ

       ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณว่า ทราบจากข่าวแล้วว่า พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา สบ 10 ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ สรุปความเห็นว่าควรจะดำเนินตามขั้นตอนถอดยศ และชี้แจงให้ตนทราบและยื่นหนังสือมาแล้วว่าคณะกรรมการมีมติเอกฉันท์ และหากจะดำเนินการต้องนำเรื่องเข้าประชุมอีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อตรวจสอบแล้วมติยังไม่มีการรับรองแสดงว่ายังไม่ครบถ้วน ไม่สมบูรณ์ จึงส่งกลับให้พล.ต.อ.ชัยยะสรุปรายงานให้ถูกต้อง

       ผบ.ตร.กล่าวว่า อย่าเพิ่งมาวิจารณ์ว่าตนจะเซ็นให้หรือไม่ ตนมีวิจารณญาณมากพอ ไม่จำเป็นต้องให้ใครมาชี้นำ ผู้บังคับบัญชาของตนมี 2 คนเท่านั้นคือพล.อ.ประยุทธ์ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคง ยืนยันจะทำตามความเป็นธรรมและความถูกต้อง และวันนี้ตนจะทำบันทึกเร่งรัดให้พล.ต.อ.ชัยยะรับรองมติการถอดยศให้ถูกต้องและเร่งนำมาเสนอโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะให้ฝ่ายกฎหมายของตร. ตรวจสอบข้อกฎหมายว่าถูกต้องตามข้อกฎหมายที่คณะกรรมการพิจารณาอ้างถึงหรือไม่ ยืนยันดำเนินการตามกฎหมาย

       "ผมต้องพิจารณาให้รอบคอบ ผมไม่ใช่ตรายางที่จะเอาแต่ปั๊ม ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะปกป้อง ผมก็ปกป้องสิทธิ์ตนเองในการตรวจสอบให้รอบคอบ หากเซ็นไปแล้วเกิดปัญหาขึ้นคนที่โดนฟ้องคือผม ใน 4 เดือนหลัง จากนี้ อยากลงจากตำแหน่ง ผบ.ตร.โดยไม่ต้องขึ้นศาล" ผบ.ตร.กล่าว

 

"ชัยยะ"แจงเข้าใจคลาดเคลื่อน

ด้านพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรม การถอดยศข้าราชการตำรวจ เผยว่า ยืนยันที่ประชุมพิจารณาแล้วมีมติเป็นเอกฉันท์ 5 ต่อ 0 ในการถอดยศ ซึ่งที่ประชุมมีผู้แทนฝ่ายกฎหมายร่วมด้วย ส่วนที่ก่อนหน้านี้มีการตีกลับหลังไม่มีการลงนามรับรองตามขั้นตอนให้ถูกต้องนั้น เนื่องจากเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับขั้นตอนทางธุรการ ไม่ได้มีปัญหาใดๆ คาดว่าวันนี้จะเรียบร้อยและส่งให้ผบ.ตร.ได้ทันที 

พล.ต.อ.ชัยยะกล่าวว่า คณะกรรมการ ไม่กังวลหากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลในภายภาคหน้า เนื่องจากมีการพิจารณาอย่างตรงไปตรงมาตามข้อกฎหมาย ยืนยันไม่มีใบสั่งใดๆ เพราะคณะทำงานมีความคิดอิสระปราศจากอคติในการดำเนินการ

 

บช.น.เข้มกลุ่มเคลื่อนไหว 

ที่บช.น. พล.ต.อ.เรืองศักดิ์ จริตเอก รองผบ.ตร. กล่าวถึงการรักษาความปลอดภัยกลุ่มที่ไม่หวังดีจะมาเคลื่อนไหวหลังการยกเลิกพาสปอร์ตของพ.ต.ท.ทักษิณ ว่า ผบ.ตร.สั่งการให้รักษาความปลอดภัยบุคคล สถานที่ทุกแห่ง เน้นมาตรการป้องกันเป็นหลัก จัดชุดสืบสวนหาข่าว ดูแลสถานที่ที่เป็นจุดเสี่ยง บ้านพักบุคคลสำคัญ สถานีขนส่ง ออกตรวจตราพื้นที่ไม่ให้เกิดเหตุ จุดตรวจจุดสกัดทั่วประเทศ เน้นกรุงเทพฯ เป็นหลักและปริมณฑล ทั้งเตรียมความพร้อมดูแลความปลอดภัยอย่างเต็มที่ ขอความร่วมมือไม่ให้ลาราชการไปต่างประเทศโดย เด็ดขาด 

พล.ต.ท.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผบช.น.กล่าวว่า การข่าวนั้น ยังไม่พบความเคลื่อนไหวของกลุ่มบุคคลที่ไม่หวังดี ยืนยันว่าบช.น.ดูแลอย่างเต็มที่อยู่แล้ว

นายอนุสิษฐ คุณากร เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนประชุมครม. ถึงความเคลื่อนไหวของกลุ่มการเมืองหลังรัฐบาลถอนพาสปอร์ตและเตรียมถอดยศของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ว่า รัฐบาลไม่ได้มุ่งเน้นหรือให้ความสำคัญกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองเพราะถือเป็นเรื่องปกติของคนที่เห็นไม่ตรงกัน แต่การปฏิบัติตามกฎหมายนั้นหากส่วนราชการ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายก็จะกลายเป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ดังนั้น ส่วนราชการ ทุกส่วนพยายามทำหน้าที่ให้ดีที่สุด และ ไม่ทราบว่าจะมีคลื่นใต้น้ำด้วยแต่ค่อยๆ ดูและช่วยกันในทิศทางที่ถูกต้อง 

เมื่อถามว่าฝ่ายการข่าวยังทำงานได้อย่างเข้มแข็งใช่หรือไม่ เลขาฯ สมช.กล่าวว่า เข้มแข็งมาก แต่งานหนักเพราะมีปัญหาอยู่มาก อีกทั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม และนายฉัตรพงศ์ ฉัตราคม ผอ.ข่าวกรองแห่งชาติ กำชับเรื่อง ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง

 

ศปป.เรียกถกปรองดองรอบ 2

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.พิสิทธิ์ สิทธิสาร ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ทำหนังสือเชิญนักการเมือง นักวิชาการ และตัวแทนประชาชน เข้าพูดคุยหารือ พร้อมเสนอแนวทางเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ที่สโมสรทหารบก ถ.วิภาวดี ในเวลา 09.30 น. วันที่ 3 มิ.ย. สำหรับผู้ที่ได้รับเชิญเป็นชุดเดียวกับที่ ศปป.เชิญมาพูดคุยในครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 เม.ย.ที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พรรคเพื่อไทยที่ ศปป.เชิญไปแสดงความคิดเห็นเรื่องการปฏิรูปและการปรองดอง ส่วนใหญ่ได้รับเชิญไปให้ความเห็นในครั้งแรก อาทิ นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ ในฐานะแกนนำพรรค ส่วนกลุ่มนปช.ประกอบด้วย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิ การนปช. นางธิดา โตจิราการ นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย ในฐานะแกนนำนปช. 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า วันที่ 3 มิ.ย. ศปป.เชิญนักการเมือง นักวิชาการ และตัวแทนประชาชนเข้าร่วมพูดคุยหารือถึงแนวทางการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ตนจะเดินทางไปร่วมประชุมในช่วงบ่ายเนื่องจากช่วงเช้าติดภารกิจ ดังนั้นช่วงเช้าจึงได้มอบหมายให้นายสาธิต ปิตุเตชะ รองหัวหน้าพรรคเข้าร่วมประชุมก่อน ทราบว่าการประชุมศปป.ครั้งนี้เป็นเพียงการเสวนา เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายต้องการให้ความสงบกลับคืนมาสู่สังคมไทย จึงต้องรับฟังความเห็นเรื่องการเมืองและเศรษฐกิจจากทุกฝ่าย

 

ถก 3 สาย-ย้ำสปช.เดินตามรบ.

ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญกิจการ สนช. หรือวิปสนช. กล่าวหลังการประชุมว่า การสัมมนาระหว่างครม. สปช.และสนช. วันที่ 4 มิ.ย. จะเริ่มเวลา 13.30 น. รัฐบาลเป็น ผู้ริเริ่มรูปแบบให้เป็นการสัมมนาไม่ใช่การประชุม โดยให้นายกฯ ชี้แจงผลงานรัฐบาลและการปฏิรูปในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ไม่จำกัดเวลา ส่วนรองนายกฯ ชี้แจงคนละ 30 นาที จากนั้นจะให้สมาชิกสนช.และสปช.ซักถามฝ่ายละ 1 ชั่วโมง เกี่ยวกับการทำงานของรัฐบาล ไม่ใช่การพูดเรื่องรัฐธรรมนูญเพราะไม่ใช่เวทีรัฐธรรมนูญและไม่ใช่การอภิปราย คาดว่าจะเสร็จในเวลา 18.30 น. ทั้งนี้ ประธานสนช. และประธานสปช.จะทำหน้าที่ประธานในที่ประชุมและควบคุมเวลา

รายงานข่าวจากทำเนียบแจ้งว่าการหารือของแม่น้ำ 3 สาย เพื่อเน้นย้ำให้สปช.ทำงานในทิศทางเดียวกับรัฐบาล เนื่องจากนายกฯ เกรงว่าการทำงานด้านปฏิรูปของสปช.ที่เป็นการเริ่มต้นใหม่ และไม่ได้เป็นไปตามทิศทางที่รัฐบาลวางกรอบไว้จะไปไม่ไหว เหมือนทำผิดแล้วต้องเริ่มต้นใหม่ จึงต้องทำความเข้าใจให้ตรงกัน

 

กมธ.เปิดรับฟังคำชี้แจงขอแก้รธน. 

เวลา 09.15 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เป็นประธาน เชิญตัวแทนผู้ยื่นเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐ ธรรมนูญเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลในการเสนอปรับแก้ไข ช่วงเช้า เชิญตัวแทนกลุ่มสังคมและพลเมือง นำโดย นพ.พลเดช ปิ่นประทีป สมาชิกสปช. พร้อมด้วย นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายอมรวิชช์ นาครทรรพ และนายวิริยะ นามศิริพงศ์พันธ์ เข้าชี้แจงเป็นกลุ่มแรก 

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายบวรศักดิ์แจ้งให้ทราบว่า การจัดลำดับให้แต่ละกลุ่มเข้าชี้แจงแต่ละวันจัดเรียงตามเวลาที่แต่ละกลุ่มได้ยื่นเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม เข้ามายังกมธ.ยกร่างฯ โดยกระบวนการชี้แจงนี้ หากกมธ.ยกร่างฯ เกิดข้อสงสัยในประเด็นใดจะซักถามประเด็นนั้น แต่จะไม่มีการอภิปรายแต่อย่างใด 

 

เสนอตัดทิ้ง181-182

เวลา 15.00 น. นางสุภัทรา นาคผิว โฆษกกมธ.ยกร่างฯ แถลงผลการชี้แจงของสมาชิกสปช. ว่า กลุ่มแรกนำโดยนพ.พลเดช เสนอขอแก้ไขทั้งสิ้น 71 มาตรา มีประเด็นสำคัญคือให้เปลี่ยนคำว่า พลเมือง ทั้งหมดเป็นคำว่า ประชาชน, ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 207 ที่ว่าด้วยคณะกรรมการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยใช้ระบบคุณธรรม ทั้งยังเสนอให้ตัดสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปทิ้งไป ให้คงไว้แต่คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ มี 60 คนที่ต้องไม่ยึดโยงกับการเมือง และไม่เห็นด้วยกับที่ให้ควบรวม คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งขาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน 

นางสุภัทรากล่าวว่า ยังเสนอให้ตัดอำนาจของฝ่ายบริหารตามมาตรา 181 และ 182 ทิ้งไป เพื่อไม่ให้ฝ่ายค้านมีปัญหาว่าถูกฝ่ายรัฐบาลปิดปาก สิ่งที่กลุ่มแรกเห็นด้วยกับกมธ.ยกร่างฯ คือ ให้คงสาระสำคัญในภาค 3 และภาค 4 เกี่ยวกับการปฏิรูปและการเสริมสร้างความปรองดองเอาไว้ ส่วนที่มาของส.ว.เสนอให้มาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ให้ปรับลดอำนาจหน้าที่ส.ว. ไม่ว่าจะเป็นอำนาจเสนอกฎหมาย การถอดถอนที่จะมีอำนาจถอดถอนเฉพาะบุคคลที่ส.ว.แต่งตั้งเท่านั้น แต่ไม่มีอำนาจถอดถอนนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง 

 

ชี้ท่าทีกมธ.ตอบรับลดอำนาจส.ว. 

นายวุฒิสาร ตันไชย โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กลุ่มที่ 2 นำโดยนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เสนอขอแก้ไข 44 มาตรา มีสาระสำคัญคือ ขอให้เพิ่มเติมชื่อ ภาค 2 หมวด 2 เป็นยุทธศาสตร์ชาติและแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ เพื่อให้ประเทศมียุทธศาสตร์การพัฒนาอย่างชัดเจน ชี้นำการกำหนดนโยบายและแผน ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะซักถามบางประเด็นเพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพื่อนำไปพิจารณาปรับแก้ไขอย่างละเอียด ด้วยการกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณา จากนั้นจึงพิจารณารายละเอียดในแต่ละหมวดแต่ละมาตราต่อไป 

นพ.พลเดชให้สัมภาษณ์ว่า การชี้แจงเป็นไปด้วยดี ประเด็นที่นำเสนอและมีการซักถาม อาทิ การแก้ไขมาตรา 48 วรรคท้ายที่เสนอให้เพิ่มบทบัญญัติให้รัฐเปิดเผยการจัดสรรงบประมาณการซื้อโฆษณาหรือบริการอื่นๆ จากสื่อมวลชน และกำหนดให้ใช้งบดังกล่าวไม่เกินร้อยละ 10 ต่อปี โดยควรเป็นร้อยละ 10 ของแต่ละกระทรวง สำหรับประเด็นการเมือง เช่น การปรับที่มาของส.ว. ตามที่เสนอให้มาจากการสรรหาตามกลุ่มอาชีพทั้งหมด และปรับอำนาจส.ว. ในส่วนของการถอดถอนให้ทำได้เฉพาะบุคคลที่ส.ว.แต่งตั้งนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้รับฟังและมีท่าทีตอบรับกับข้อเสนอ

 

บวรศักดิ์โวคนหนุนโอเพ่นลิสต์

เวลา 10.30 น. กลุ่มเครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสระบุรี เครือข่ายภาคประชาสังคมจังหวัดสมุทรปราการ และเครือข่ายสวัสดิการชุมชน เข้าให้กำลังใจกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมยื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เพื่อสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ให้ความสำคัญกับบทบาทภาคพลเมือง การสร้างพลเมืองให้เป็นใหญ่ตลอดจนการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ขอบคุณทั้ง 3 เครือข่ายที่เสนอข้อแก้ไขเพิ่มเติมและสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และ 6 เดือนที่ผ่านสื่อมวลชนชอบเอาไมโครโฟนไปถามฝ่ายการเมืองในระบบเดิมแต่วันนี้ตัวจริงมาแล้ว ขอให้คนกลุ่มนี้มีสิทธิ มีเสียงบ้าง ส่วนเรื่องระบบโอเพ่นลิสต์ที่ครม.และหลายฝ่ายให้ตัดออก แต่ประชาชน 60 เปอร์เซ็นต์เห็นด้วย จึงอยากให้สื่อฟังเสียงของประชาชนกลุ่มนี้ด้วย เพราะอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย จึงต้องถามประชาชน

 

"ไพบูลย์"เคลิ้มโพลปฏิรูปก่อนลต. 

นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงผลสำรวจความเห็นของนิด้าโพลและกรุงเทพโพลล์ที่เปิดเผยเมื่อ 1 มิ.ย. ระบุประชาชนต้องการให้ปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนแล้วค่อยจัดเลือกตั้ง ที่ร้อยละ 68.56 และร้อยละ 61.1 ตามลำดับว่า ผลสำรวจสอดคล้องกับที่ตนรับฟังเสียงของประชาชนมา จึงควรให้มีบทบัญญัตินี้ไว้ในบทเฉพาะกาลแนบท้ายของร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 308 ที่บัญญัติสรุปได้ว่า "ควรต้องปฏิรูปประเทศ บริหารเศรษฐกิจ สังคมให้เสร็จสิ้น มั่นคงก่อนแล้วจึงค่อยจัดการเลือกตั้ง" จึงเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ไขเพิ่มเติมในบทเฉพาะกาลให้เป็นไปตามความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่

นายไพบูลย์กล่าวว่า ประชาชนส่วนใหญ่อยากให้ คสช. และครม. ดูแลแก้ปัญหาและจัดการปฏิรูปประเทศให้เรียบร้อยก่อนจึงค่อยกำหนดวันเลือกตั้ง ไม่ใช่เร่งร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จเพื่อประกาศใช้และรีบจัดเลือกตั้งเหมือนปี 2550 แล้วทุกอย่างจะกลับมาสู่วังวนการเมืองเหมือนเดิม ส่วนผู้ที่เห็นต่างขอให้ไปใช้สิทธิทำประชามติโดยไม่รับร่างฉบับนี้แทน เชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่ของประเทศจะเห็นด้วยกับการปฏิรูปประเทศให้เสร็จก่อนค่อยจัดเลือกตั้ง โดยสะท้อนผ่านการใช้สิทธิโหวตผ่านร่างรัฐธรรมนูญนี้แน่นอน

 

กมธ.การเมืองจี้แก้รัฐบาลผสม 

นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ประเด็นที่กมธ.ปฏิรูปการเมืองและกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะชี้แจงต่อกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 4 มิ.ย. ให้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่สั้น กระชับ ตามหลักสากล กมธ.ทั้ง 2 คณะเสนอให้ตัดรัฐธรรมนูญเหลือ 118 มาตราจาก 315 มาตรา ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ให้บรรจุในกฎหมายลูก เช่น ระบบรัฐสภา และที่มาส.ว. ควรระบุว่ามีที่มาอย่างไรเท่าไร จำนวนและสัดส่วน เพราะในอนาคตหากมีการแก้ไขก็แก้ในกฎหมายลูกได้ ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้รัฐธรรมนูญใช้ได้ 50-100 ปี

นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ขอให้ทบทวนส่วนใหญ่เป็นเรื่องโครงสร้างการเมือง อยากให้กมธ.ยกร่างฯศึกษาเรื่องการมีรัฐบาลผสมทำให้ประเทศอ่อนแอ แก้ปัญหาอะไรไม่ได้ เพราะรัฐบาลผสมเป็นอันตรายต่อการพัฒนาประเทศ ยังไม่เคยเห็นประเทศใดขับเคลื่อนประเทศเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้โดยใช้รัฐบาลผสม หากกมธ.ยกร่างฯไม่แก้ไขในเรื่องรัฐบาลผสม กมธ.ทั้งสองคณะคงรับไม่ได้ เพราะถ้ารัฐบาลอ่อนแอประเทศก็ไม่มีอนาคต

นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนเรื่องนายกฯ คนนอก เห็นว่าไม่มีส่วนเชื่อมโยงกับประชาชน รัฐธรรมนูญบอกว่าระบอบประชาธิปไตยต้องยึดหลักความใกล้ชิดกับประชาชน ถ้าจำเป็นต้องมีนายกฯ คนนอกในช่วงเวลาเฉพาะกิจ ให้นำไปใส่ไว้ในบทเฉพาะกาลแทน 

 

มั่นใจสปช.ไม่ลอยแพ 

นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกมธ.ยกร่างฯ คนที่ 6 กล่าวว่า เท่าที่คุยกับสมาชิก สปช.หลายคนแล้ว ไม่พบบรรยากาศที่สปช.จะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญตามที่เป็นข่าว แต่มีสปช.เพียงกลุ่มเดียวที่ขอแก้เกือบทุกมาตรา บางคนในกลุ่มนี้ออกมาเคลื่อนไหวมาก จึงเป็นข่าวออกไปมาก ไม่มีอะไรน่าหนักใจ ส่วนที่มีสปช.ระบุหากคงประเด็นนายกฯคนนอกกับที่มาของส.ว.ไว้ จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น กมธ.ยกร่างฯ ต้องรับฟังเหตุผลในคำขอแก้ไขให้รอบด้านก่อน ไม่ใช่ฟังแต่สมาชิกบางคนที่เสียงดังอย่างเดียว

นายปรีชา วัชราภัย รองประธานกมธ.ยกร่างฯ คนที่ 5 กล่าวกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ สปช. ระบุหากกมธ.ยกร่างฯ ไม่ปรับแก้ประเด็นที่หลายฝ่ายท้วงติง กมธ.ยกร่างฯ อาจถูกลอยแพได้ว่า สปช.มี 250 คน ต้องถามว่านายเสรี พูดแทนคนอื่นได้หรือไม่ สปช.ทั้งหมดอาจไม่ได้คิดเหมือนนายเสรี ขณะนี้กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้รู้สึกกดดัน ยังเป็นตัวของตัวเอง ทำสิ่งที่ดีที่สุดให้กับประเทศ หากเหตุผลของกมธ.ยกร่างฯ ดีกว่า เราก็ไม่แก้ แต่หากเห็นว่าผู้ขอแก้ไขชี้แจงอธิบายเหตุผลได้ดีและกมธ.ยกร่างฯ เห็นด้วยก็ต้องปรับแก้ ซึ่งต้องพิจารณาวิธีการว่าจะปรับแก้ได้อย่างไรบ้าง ยืนยันอีกครั้งว่ากมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้มีธงเอาไว้แล้ว

 

สนช.ถกถอด248อดีตสส.26มิย.

นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. แถลงว่า ขณะนี้ สนช.ได้รับสำนวนถอดถอนอดีต 248 ส.ส. จากสำนวนถอดถอนกรณีกระทำความผิดรัฐธรรมนูญ 2550 เนื่องจากร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.ตามที่ป.ป.ช.ได้ส่งมาแล้ว ซึ่งหลังจากตรวจสอบความถูกต้องแล้ว ตนมีคำสั่งให้รับสำนวนดังกล่าวไว้พิจารณา และมีคำสั่งให้เปิดประชุมเพื่อกำหนดวันแถลงเปิดสำนวนในวันที่ 26 มิ.ย.นี้ 

ประธานสนช.กล่าวว่า ตามข้อบังคับการประชุม สนช.ต้องส่งสำนวนคำร้องของป.ป.ช.ให้กับสมาชิกสนช. และผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 248 คน รับทราบภายใน 15 วันก่อนเปิดประชุม ซึ่งขณะนี้ได้ดำเนินการไปบ้างแล้ว การพิจารณาคดีดังกล่าวคาดจะแบ่งเป็น 3-4 กลุ่ม อาทิ กลุ่มร่วมลงชื่อเสนอญัตติของแก้ไข กลุ่มลงมติในแต่ละวาระ หรือกลุ่มที่ลงชื่อและลงมติทั้ง 3 วาระ เป็นต้น ซึ่งทั้ง 248 คน จะใช้วิธีต่อสู้แบบเป็นกลุ่ม หรือแบบรายบุคคลก็ได้ซึ่งอาจใช้เวลานาน แต่ต้องเปิดโอกาสให้เพราะถือว่าเป็นสิทธิ กระบวนการทั้งหมดจะคล้ายกับสำนวนถอดถอนที่ผ่านมา

 

พท.โวยปปช.จ้องเล่นคดีอาญา 

นายอำนวย คลังผา อดีตส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีป.ป.ช.จะแจ้งข้อกล่าวหาดำเนินคดีอาญากับอดีตส.ส. 310 คนที่เสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมว่า ตามมาตรา 122 ของรัฐธรรมนูญปี 2550 ส.ส.สามารถเสนอแก้ไขพ.ร.บ.ต่างๆ ได้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของปวงชนชาวไทย ถือเป็นเอกสิทธิ์ที่ส.ส.และใครจะนำไปฟ้องร้องมิได้ แต่ขณะนี้ป.ป.ช. กำลังเร่งดำเนินคดีดังกล่าว ทั้งที่ร่างพ.ร.บ. นิรโทษกรรมไม่มีผลบังคับใช้ จึงไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเดินหน้าเอาผิดในคดีอาญาแทนการถอดถอน ขณะที่การแก้ไขรัฐ ธรรมนูญเรื่องที่มาส.ว. กลับถูกดำเนินคดีถอดถอน มาตรฐานการทำงานของป.ป.ช.เป็นอย่างไร สองมาตรฐานหรือไม่ อยากให้ป.ป.ช.ทบทวนเรื่องกระบวนการยุติธรรม เรายืนยันว่าไม่ได้ทำเพื่อใคร แต่ทำเพื่อประชาชน

 

มติครม.ตั้งปลัดไอซีทีคนใหม่ 

วันที่ 2 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงการคลัง เสนอแต่งตั้ง 2 ราย ต1.นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ รองผอ.สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง 2.น.ส.วิไล ตันตินันท์ธนา รองอธิบดีกรมสรรพสามิต เป็นที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์ภาษีสรรพสามิต กรมสรรพสามิต 

       ครม.อนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอแต่งตั้ง นายสมเกียรติ บุญทอง แรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา สำนักงานแรงงานจังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นที่ปรึกษากฎหมายสำนักงานปลัดกระทรวง และอนุมัติตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอแต่งตั้ง นายอนุสันต์ เทียนทอง ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ 

อนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอแต่งตั้ง นางทรงพร โกมลสุรเดช รองปลัด เป็นปลัดไอซีที และแต่งตั้งตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นผอ.สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า 

 

ครม.อนุมัติเชื่อมข้อมูลใบหน้าคน 

     วันที่ 2 มิ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ครม.เห็นชอบการเชื่อมโยงระบบคอมพิวเตอร์เพื่อการตรวจสอบข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรในส่วนของทะเบียนอื่นตามมาตรา 15 วรรคสาม พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ. 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2551 ตามที่กระทรวงมหาดไทย เสนอ

มีสาระสำคัญให้ผอ.สำนักทะเบียนกลาง กระทรวงมหาดไทย ยินยอมให้หน่วยงานราชการรัฐ 22 หน่วยงานที่เกี่ยวกับความมั่นคง การเงินการคลัง สามารถเชื่อมโยงข้อมูลในทะเบียนราษฎรที่เป็นภาพใบหน้าบุคคล ซึ่งตามพ.ร.บ.ทะเบียนราษฎร ปี2534 กำหนดให้ 119 หน่วยงาน เชื่อมโยงข้อมูลระบบคอมพิวเตอร์ ทะเบียนบ้าน ทะเบียนเกิดและทะเบียนตาย แต่ประเทศไทยมีภัยคุกคามรูปแบบใหม่ ซึ่งหน่วยงานความมั่นคง การเงินการคลัง จำเป็นต้องมีข้อมูลที่เป็นภาพใบหน้าบุคคล ประกอบข้อมูลที่จะนำมาใช้ตามความจำเป็น ทั้งนี้ ประชาชนไม่ต้องตกใจเพราะเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อกรมการปกครองอยู่แล้ว

      22 หน่วยงาน ประกอบด้วย 1.สำนักงานตำรวจแห่งชาติ 2.กองบัญชาการกองทัพไทย 3.สำนักข่าวกรองแห่งชาติ 4.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 5.สำนักงานปลัดกระทรวงการต่างประเทศ 6.ร.พ.ศิริราช 7.องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก 8.สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสและผู้สูงอายุ 9.กรมการจัดหางาน 10.กรมสรรพสามิต 11.สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) 12.กรมกำลังพลทหารอากาศ กระทรวงกลาโหม 13.กรมศุลกากร 14.ธนาคารแห่งประเทศไทย 15.สำนักงานกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ 16.ศาลยุติธรรม 17.ร.พ.รามาธิบดี 18.กรมที่ดิน 19.กองทัพเรือ 20.ร.พ.มหาราชนครราชสีมา 21.สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย และ 22.สำนักราชเลขาธิการ