T30

จ่อฟันคืนพาสปอร์ตแม้ว ปู-ปึ้งระทึก ปปช.ใกล้สรุปขัดกฎกต.ทักษิณไอจีโชว์แผ่เมตตา ชี้'กม.-ปืน'แก้ปัญหาไม่ได้ บิ๊กอ๊อดพร้อมเซ็นถอดยศ 'ตือ'เจอข้อหารวยผิดปกติ ส่งอัยการฟ้องยึดบ้าน 16 ล.

 

       'บิ๊กตู่'ลั่นถอนพาสปอร์ต"ทักษิณ'ทุกเล่ม 'ประวิตร'ปัดล้างแค้น ศาลนัดไต่สวนคดี ผบ.ทบ.ฟ้อง"แม้ว"หมิ่น 7 ก.ย. 'ทักษิณ'โพสต์ข้อความแผ่เมตตาให้ผู้มีอำนาจ ชี้'กฎหมาย-ปืน'แก้ปัญหาไม่ได้ ป.ป.ช.จ่อเชือด'ปู-ปึ้ง'ต่อ

'บิ๊กตู่'ถอนพาสปอร์ต'แม้ว'ทุกเล่ม

 

มติชนออนไลน์ : ศาลไม่รับนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ แกนนำกลุ่มพลเมืองโต้กลับ พร้อมสมาชิก เดินทางมาฟังคำสั่งศาลอาญากรณียื่นฟ้อง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. และคณะ ฐานเป็นกบฏ ล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ ที่สุดศาลเห็นว่าคดีไม่มีมูลจะรับไว้พิจารณา พิพากษายกฟ้อง ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาฯ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 



    เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าว คสช.มีการหารือกันเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 38 เพื่อต่ออายุให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านการพิจารณาของ สปช. ว่าไม่ได้เข้าหารือด้วย แต่คิดว่าฝ่ายกฎหมายเขาคงมีการเตรียมการ แต่ไม่ได้เพื่อต่ออายุให้ สปช. เพียงแต่ตนได้ตั้งคำถามว่า หนึ่ง ให้ไปหามาตรการมาดูว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน สปช.แล้วจะทำอย่างไร ถ้าตามกติกาแล้วคือมันต้องล้มทั้งหมด จึงสั่งการว่าไปหาวิธีการที่เหมาะสมว่าจะต้องทำอย่างไร สอง ถ้าร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของ สปช. แล้วไปทำประชามติไม่ผ่านจะทำอย่างไร สาม ถ้าผ่านแล้วไม่มีคนทำปฏิรูปต่อแล้วจะทำอย่างไร 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ทั้งหมดเป็นการเตรียมพร้อมเพื่ออุดช่องโหว่ที่อาจเกิดขึ้นใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เป็นการเปิดช่องว่างมั้ง"

      พล.อ.ประยุทธ์ยังตอบข้อซักถามถึงการยึดหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ว่า "พาสปอร์ตมีกี่สี มีสีน้ำตาล สีแดง สีน้ำเงิน กำลังเช็กอยู่ว่ามี 3 หรือ 4 เล่มก็จะถอนทั้งหมด"

 

ไม่ใช้ม. 44 ถอดยศ-เฉย'แม้ว'โพสต์

      พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณว่า หากสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีมติอย่างไรและจะส่งมาที่ตน ก็จะดำเนินการตามขั้นตอนปกติ ไม่ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จแล้วก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อนายกฯให้สัมภาษณ์เสร็จ ผู้สื่อข่าวยื่นแท็บเล็ตให้ดูภาพและข้อความของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่โพสต์ลงอินสตาแกรม 'thaksinlive' ซึ่งระบุเช็คอินที่ 'ราบ 11' โดยมีข้อความว่า "หลังจากที่ได้อุ้มหลานที่สิงคโปร์ วันนี้กลับมาอยู่ดูไบแล้วได้มีเวลานั่งสมาธิเช่นเดียวกับวันว่างทุกวันที่ผ่านมา แต่ครั้งนี้ได้เพิ่มการแผ่เมตตาให้กับผู้มีอำนาจทั้งหลายได้พ้นจากความโลภ โกรธ หลง เพื่อจะได้มีสติปัญญาในการแก้ไขปัญหาบ้านเมือง สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่บริหารแต่อำนาจและสร้างความแตกแยกให้มากยิ่งขึ้น สำหรับผมเชื่อในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า 'ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง'คือทุกสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่แล้วก็ดับไป พาสปอร์ตก็เช่นกัน ก็ไม่อยากให้เป็นเรื่องวุ่นวายใหญ่โตอะไรกันมากมาย ผมก็ยังเป็นคนเดิมจนกว่าจะลาโลกไป อยากให้คนไทยมีเมตตาต่อกัน กฎหมายและปืนไม่สามารถแก้ปัญหาได้ นอกจากเมตตาเท่านั้น"

       ทั้งนี้ เป็นภาพที่ พ.ต.ท.ทักษิณกำลังนั่งสมาธิหน้าพระพุทธรูปหลายองค์ โดยมีประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็นให้กำลังใจจำนวนมาก

      เมื่อนายกฯดูเสร็จไม่ได้ให้ความเห็นอะไร ก่อนเดินขึ้นตึกไทยคู่ฟ้าทันที จากนั้น รปภ.ของนายกฯย้อนลงมาขอยืมแท็บเล็ตดังกล่าวไปให้นายกฯดูรายละเอียดข้อความบนตึกไทยคู่ฟ้าประมาณ 10 นาที 

 

ฝาก'บิ๊กอ้อ'แจงไม่ได้เกลียด

        ต่อมา พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำแท็บเล็ตมาคืน และกล่าวว่า นายกฯฝากบอกว่าเป็นคนของประเทศ ไม่ได้ทำอะไรด้วยอำนาจ ทุกอย่างอยู่ที่กฎหมาย ระเบียบและความถูกต้อง พร้อมกันนี้ พล.อ.วิลาศยังกล่าวถึงภาพข่าวที่สื่อบางฉบับเสนอภาพนายกฯรับประทานอาหารกลางวันและคุยกับสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม ในกริยาที่ไม่เหมาะสมว่า "ผมขอกับสื่อว่าอย่าถ่ายภาพหรือนำภาพไม่เหมาะไปลง ภาพที่ลงดูไม่ดีกับความเป็นผู้นำ ตรงนี้ถือว่าเป็นมารยาทและจรรยาบรรณ ผมไม่เหมารวมสื่อทั้งหมด แต่ทราบว่าเป็นฉบับใด อาจต้องคุยกับบรรณาธิการ แต่อยากบอกสื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของภาพพจน์ หากเราจะยกระดับของประเทศ ทุกคนต้องช่วยกัน เรื่องของวันนี้ก็เช่นกัน นายกฯบอกว่าการเป็นนายกฯของประเทศจะใช้แต่อำนาจ ความเกลียดชังอะไรไม่ได้ ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมายที่ถูกต้อง การเป็นผู้นำประเทศไม่มีความรู้สึกรักหรือเกลียด เพราะต้องดูแลคนทั้งหมดด้วยความเที่ยงธรรม"

 

'บิ๊กป้อม'ปัดแก้แค้น'แม้ว'

        ที่ฝูงเครื่องบินกองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มาตรา 326 และมาตรา 328 กรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ ว่าเจ้าหน้าที่ดำเนินการไปตามกฎหมาย เพราะเห็นว่ามีความผิด เรื่องดังกล่าวไม่ใช่คดีทางการเมือง เพราะมีการพาดพิงหน่วยงานทำให้เกิดความเสียหาย ส่วนการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น ทาง พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) บอกว่ามีประชาชนร้องเรียนเข้ามาจึงให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดูว่ามีความผิดอย่างไร 

        "เมื่อมีเรื่องที่ผิดกฎหมายก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย ขอให้ดูข้อความที่ พ.ต.ท.ทักษิณพูด มีหน่วยงานที่ถูกพาดพิง อีกทั้งประชาชนเห็นจึงร้องเรียนมา ไม่ได้แก้แค้นหรือกลั่นแกล้ง แต่เป็นเรื่องของการปฏิบัติ" พล.อ.ประวิตรกล่าว

 

ไต่สวนผบ.ทบ.ฟ้อง'แม้ว'หมิ่น 7 ก.ย.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักงานพระธรรมนูญทหารบก รับมอบอำนาจจาก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผบ.ทบ. เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณาต่อศาลอาญา 

คำฟ้องโจทก์สรุปว่าเมื่อวันที่ 19-20 พฤษภาคม 2558 จำเลยใส่ความโจทก์ว่าเป็นบุคคลน่ารังเกียจ เป็นอันตรายต่อประเทศชาติ และเป็นบุคคลที่ทำความเสียหายให้แก่ประเทศชาติ ซึ่งไม่ใช่ความจริง โดยจำเลยให้สัมภาษณ์ถึงการเมืองในประเทศไทย ที่มีการเผยแพร่ผ่านยูทูบและสื่อออนไลน์ ส่งผลให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง จึงขอให้ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยดังกล่าว

      ทั้งนี้ ศาลอาญารับคำฟ้องไว้ในสารบบคดีดำหมายเลข อ.1824/2558 และนัดไต่สวนมูลฟ้องโจทก์ในวันที่ 7 กันยายน 

แหล่งข่าวจากกองทัพบก (ทบ.) กล่าวว่า ที่ พล.อ.อุดมเดชยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณต่อศาลอาญานั้น ทางกองทัพบกพิจารณาแล้วเห็นว่าสามารถฟ้องต่อศาลได้โดยตรงเพียง 2 มาตราเท่านั้นที่ไม่ต้องการร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าพนักงาน คือมาตรา 326 และมาตรา 328 เนื่องจากกองทัพบกเป็นผู้เสียหายจากการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ส่วนมาตรา 112 กองทัพบกไม่ใช่ผู้เสียหายโดยตรง ดังนั้นจึงยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณเพียง 2 มาตราในข้อหมิ่นประมาทเท่านั้น

 

'ชัยยะ'ยันมติเอกฉันท์ถอดยศ'แม้ว'

      ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า การพิจารณาการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้ เนื่องจากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือมาถึง ตร.ให้พิจารณาตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 ในข้อ 1(6) ผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่ไม่ได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐ เป็นประเด็นที่ยังไม่ได้มีการพิจารณา ส่วนเรื่องที่มีประชาชนร้องเรียนเรื่องที่ดินรัชดาฯผ่านสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นเรื่องนานมาแล้วตั้งแต่ปี 2547 คณะกรรมการทำงานเสร็จสิ้นแล้ว 

      พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า เมื่อ ตร.รับเรื่องมาในประเด็นการพิจารณา 1(6) ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 1 ชุด โดย ผบ.ตร.ตั้งให้ตนเป็นประธาน การพิจารณาเป็นเรื่องใหม่ทั้งหมดที่ยังไม่เคยหยิบยกมาพิจารณา โดยรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่ปี 2557 ซึ่งคณะกรรมการพิจารณาเสร็จสิ้นตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว 

      "คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาอย่างรอบคอบและรอบด้าน โดยให้ ผบ.ตร.ยื่นขอถอดยศและทำตามขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการมีความเห็นสอดคล้องกัน กรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้นเข้าเงื่อนไข ข้อ 1(6) คือมีหมายจับ มีหลักฐานชัดเจน ตอนนี้ข้อมูลครบถ้วนคงนำเสนอให้ ผบ.ตร.พิจารณาวันเดียวกันนี้" พล.ต.อ.ชัยยะกล่าว และว่า ขอยืนยันว่าทำตามระเบียบ เอกสารพยานหลักฐาน ไม่มีการกลั่นแกล้ง เป็นมติเอกฉันท์ ไม่มีใครโต้แย้งใดๆ เห็นพ้องต้องกันว่าเข้าระเบียบถอดถอนยศชัดเจน พ.ต.ท.ทักษิณมีสิทธิโต้แย้งตามสิทธิ ทาง ตร.ไม่ได้ปิดกั้น อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ต้องหาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับ 7 หมาย เป็นหมายที่ขาดอายุความไปแล้ว 2 หมาย เหลืออีก 5 หมายที่ยังอยู่ในกระบวนการ

 

"บิ๊กอ๊อด"รอเรื่องถอดยศ"แม้ว"

     ที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 (บช.ภ.5) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ ว่า เรื่องนี้ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและผู้ตรวจการแผ่นดินทำหนังสือท้วงติงมายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ว่าขั้นตอนต่างๆ ยังไม่มีการพิจารณาครบถ้วน เมื่อมีหนังสือท้วงติงเข้ามาจึงตั้งคณะกรรมการขึ้นมา พิจารณาเพื่อความรอบคอบรัดกุม เท่าที่ทราบคณะกรรมการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว แต่เรื่องยังไม่ส่งมาถึงตน ถ้าเรื่องมาถึงจะต้องพิจารณาอีกครั้งถึงเรื่องความถูกต้อง ความละเอียดรอบคอบ เมื่อพิจารณาแล้วจะส่งไปให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

เพื่อดำเนินการต่อ

      ผู้สื่อข่าวถามว่าจะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนในการพิจารณาเรื่องนี้ ผบ.ตร.กล่าวว่า คงตอบไม่ได้ว่าจะใช้เวลา 1-2 วันหรือกี่วัน ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เมื่อถามว่านายกฯสั่งการอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ เป็นหน้าที่ของ ตร.ที่จะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ละเว้นไม่ได้ 

เมื่อถามว่าหากถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณไปแล้วจะเสียสิทธิอะไรบ้าง พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า อาจเสียสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือการขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

 

จ่อฟัน'ปู-ปึ้ง'คืนพาสปอร์ต'แม้ว'

     รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แจ้งว่า จากกรณีมีผู้ร้องขอให้พิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ และนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กรณีนายสุรพงษ์จงใจปฏิบัติหน้าที่ขัดต่อระเบียบข้อบังคับกระทรวงการต่างประเทศว่าด้วยการออกหนังสือเดินทาง พ.ศ.2548 ข้อ 21 (2) (3) (4) ในฐานะเป็นผู้ออกหนังสือเดินทางให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งถูกศาลสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และถูกออกหมายจับในคดีก่อการร้ายและคดีอื่นๆ โดยเป็นการ

ร้องเพื่อให้ตรวจสอบว่ากระทำผิดตามรัฐธรรมนูญหรือไม่ มีอำนาจกระทำการดังกล่าวจริงหรือไม่ 

     นอกจากนี้ มีการร้องขอให้พิจารณาว่าอำนาจโดยตรงที่เป็นของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศนั้น ในข้อกฎหมายแล้วอยู่ในอำนาจของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ด้วยหรือไม่ ทั้งนี้ ป.ป.ช.ทั้ง 9 คน เป็นองค์คณะไต่สวน มีนายณรงค์ รัฐอมฤต เป็นกรรมการ ป.ป.ช. ผู้รับผิดชอบสำนวน โดยคณะไต่สวนฯเตรียมสรุปข้อมูลข้อเท็จจริง รายงานที่ประชุม ป.ป.ช.เดือนมิถุนายนนี้ เพื่อขอมติว่าเรื่องดังกล่าวมีมูลเพียงพอที่จะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ผู้ถูกร้องหรือไม่

นายณรงค์กล่าวว่า เรื่องนี้ดำเนินการเสร็จกว่า 80% แล้ว ก่อนหน้านี้องค์คณะไต่สวนฯเคยรายงานต่อที่ประชุม ป.ป.ช.แล้วครั้งหนึ่ง แต่ที่ประชุมให้เจ้าหน้าที่ไปหาข้อมูลเพิ่มเติม ขณะนี้ทำไปมากแล้ว เชื่อว่าอีกไม่นานจะรายงานให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ทราบ

 

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

 

ปปช.ชี้'ตือ'รวยผิดปกติบ้าน 16 ล.

      นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. แถลงว่า เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมา ป.ป.ช.มีมติชี้มูลความผิดนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ร่ำรวยผิดปกติ กรณีสร้างบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ปี 2541 ช่วงที่นายสมศักดิ์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการการกระทรวงศึกษาธิการ มีการก่อสร้างต่อเนื่องจนมาแล้วเสร็จปี 2544 ช่วงที่นายสมศักดิ์เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ใช้เงินปลูกสร้างประมาณ 16 ล้านบาทเศษ ซึ่งนายสมศักดิ์ไม่สามารถชี้แจงที่มาของเงินได้ชัดเจน โดยนายสมศักดิ์อ้างว่าเป็นเงินครอบครัว และเงินที่เหลือจากการเลือกตั้ง แต่เมื่อ ป.ป.ช.ตรวจสอบข้อเท็จจริงกลับไม่พบว่ามีการนำเงินจากที่มาดังกล่าวไปใช้ก่อสร้างบ้านจริง 

"ป.ป.ช.จึงลงมติด้วยคะแนนเสียงข้างมากว่านายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ หรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นมากผิดปกติ จึงส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เพื่อให้ยึดบ้านหลังดังกล่าว ตั้งอยู่บนโฉนดเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง บนพื้นที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา ตกเป็นของแผ่นดินต่อไป" นายสรรเสริญกล่าว

 

'สมศักดิ์'พร้อมสู้คดีในศาล

      นายสรรเสริญ กล่าวว่า ป.ป.ช.พิจารณาถึงทรัพย์สินซึ่งเป็นที่มาของการร่ำรวยผิดปกติของนายสมศักดิ์อยู่ 2 ประเภท คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 14360 ต.ไผ่จำศีล อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เนื้อที่ 3 ไร่ 24.1 ตารางวา และบ้านเลขที่ 5/5 ต.ไผ่จำศีล ที่ตั้งอยู่บนที่ดินดังกล่าว มีมูลค่ารวม 30 ล้านบาท แต่นายสมศักดิ์สามารถชี้แจงที่มาในส่วนที่ดินได้ชัดเจน แต่ไม่สามารถชี้แจงที่มาของบ้านได้ ทำให้ ป.ป.ช.ลงมติว่านายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติเฉพาะบ้านมูลค่า 16 ล้านบาท เพียงอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ป.ป.ช.มีมติ 6 ต่อ 3 เสียงว่านายสมศักดิ์ร่ำรวยผิดปกติ และก่อนหน้านี้ นายสมศักดิ์ถูกศาลฎีกาฯตัดสินว่ามีการปกปิดบัญชีทรัพย์สินจริง กรณีไม่แสดงเงินฝากของตนและหรือของคู่สมรสที่ฝากไว้ในบัญชีเงินฝากต่างๆ จนถูกตัดสิทธิทางการเมืองไปแล้ว 5 ปี 

     ด้านนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และที่ปรึกษาพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์จากต่างประเทศว่า ตนทราบมติ ป.ป.ช.แล้ว ถือเป็นเรื่องเก่าและได้ชี้แจงต่อ ป.ป.ช.มาเป็นระยะ เท่าที่ทราบเสียง ป.ป.ช.มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยคะแนนไม่เอกฉันท์ 6 ต่อ 3 เรื่องยังไม่จบ ต้องไปสู้กันในศาลฎีกาฯ

 

'สมชาย'ปัดข้อหาสลายม็อบปี 51 

      วันเดียวกัน ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในฐานะอดีตรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีต ผบ.ตร. พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีต ผบช.น. เดินทางไปฟังการพิจารณาคดีสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เมื่อปี 2551 โดยมีนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ภรรยานายสมชาย พร้อมลูกๆ มาให้กำลังใจนายสมชาย

หลังการพิจารณา นายสมชายกล่าวว่า ศาลนัดคู่ความมาตามกระบวนการ ทั้งหมดได้ให้การปฏิเสธ ทั้งนี้มั่นใจในความบริสุทธิ์ใจอยู่แล้ว เมื่อถามถึงวงเงินในการประกันตัว นายสมชายกล่าวว่า "อย่าไปพูดถึงเลย ศาลท่านเมตตาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ดีแล้ว สำหรับพยานที่ขอเพิ่มกว่า 60 ปากนั้น ทางทนายจะเป็นผู้ดูแล เป็นสิทธิของเราในการต่อสู้คดี"

ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาทกล่าวว่า มั่นใจในกระบวนการยุติธรรม ส่วนพยานที่ขอไปกว่า 180 ปาก ส่วนใหญ่เป็นเจ้าหน้าที่ที่เราจัดไปประจำจุดต่างๆ ในวันนั้น

 

'บิ๊กตู่'ห่วงก่อน-หลังเลือกตั้งวุ่นอีก

       ต่อมาเวลา 17.00 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. กล่าวผ่านรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่าปัญหาใหญ่ที่ยังค้างอยู่ในระยะที่ 2 ของ คสช.จะส่งไประยะที่ 3 คือรัฐบาลใหม่ต้องไปกำหนด 1-2-3 ทำ หากทุกคนเกรงว่าจะไม่ทำ สภาปฏิรูป (สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ) อาจจะเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายลูก แต่ละคนไปทำว่าทำอย่างไรกลไกเหล่านี้จะทำต่อ ทำยังไงรัฐบาลจะทำได้ ถ้าไม่ยอมกันอยู่แบบนี้ เดินหน้าไม่ได้ วันนี้เราทำทุกอย่างตามโรดแมป 

"ขอให้มีประชามติ ผมก็ให้ทำประชามติ พอทำประชามติแล้วก็มีเลือกตั้ง แต่ไม่เคยมีใครถามผมเลยว่า ถ้าก่อนเลือกตั้งวุ่นวาย ทุกคนไม่ยอมรับรัฐธรรมนูญจะทำอย่างไร มีมาตรการอะไร หากเลือกตั้งแล้วรัฐบาลปกครองไม่ได้ขึ้นมาอีก มีพวกต่อต้านจะทำอย่างไร ผมห่วงตรงนั้นมากกว่า ผมไม่ห่วงรัฐธรรมนูญ ทุกอย่างผมยืนยันว่าทำตามโรดแมป เว้นแต่มีใครทำให้โรดแมปผมเปลี่ยนแปลง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

เลื่อนโรดแมปอยู่ที่สถานการณ์

     พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า รัฐธรรมนูญต้องไม่เป็นความขัดแย้งในอนาคต ฟังจากผู้บรรยายที่มาจากเยอรมนี ฝรั่งเศส ถึงความเป็นไปเป็นมาของรัฐธรรมนูญประเทศเขาเป็นอย่างไร จะไม่ต้องให้มีการตีความมากนัก คนไทย รัฐบาล ฝ่ายค้าน ต้องใช้รัฐธรรมนูญในทางที่ถูก ต้องเป็นคนที่เจริญแล้ว ไม่เอากฎหมาย ไม่เอารัฐธรรมนูญก็จะทะเลาะเบาะแว้งกันอีก นักการเมืองก็ต้องมีธรรมาภิบาล รัฐธรรมนูญใหม่ต้องสร้างความสมดุลระหว่าง 3 อำนาจให้ได้ มีประชาชนเป็นผู้ใช้อำนาจ 3 อำนาจต้องเป็นศูนย์กลาง คือ บริหาร นิติบัญญัติ แล้วก็ตุลาการ ใช้อำนาจ 3 อำนาจนั้นผ่านการเลือกผู้แทน

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญขอให้เป็นไปตามโรดแมป ตนไม่เคยเลื่อนโรดแมป เพราะโรดแมปถูกกำหนดโดยประชาชน โดยสถานการณ์ไม่ว่าจะเรื่องการทำประชามติ หรือการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ให้ทำได้ ไม่เคยขัดขวางอะไรทั้งสิ้น เว้นแต่สถานการณ์ ถ้าไม่เรียบร้อย ไม่รู้จะทำอย่างไร ถ้าเลือกตั้งไม่ได้ เป็นรัฐบาลไม่ได้แล้วจะทำอย่างไร หาทางออกมาให้ตน

"วันนี้หลายคนก็ไปทำงานอยู่แล้ว ทั้ง กมธ.ยกร่างฯ สปช. สนช. ทุกคนหวังดีกับประเทศไทย เพียงแต่ว่ามันเหมาะสมกับสถานการณ์อย่างไร แค่ไหน ต้องทำข้อตกลงกับคนทั้งประเทศด้วย ไม่ใช่เอากลุ่มนี้มารบกลุ่มนี้ กลุ่มนี้เห็นด้วย กลุ่มนี้ไม่เห็นด้วย แล้วตีกันต่อไปในอนาคต แล้วมันจะทำไปทำไม จะปฏิรูปกันทำไม ผมจะมายืนอย่างนี้ทำไม เข้าใจตรงนี้ด้วย" นายกฯกล่าว 

 

ให้ 5 รองนายกฯจ้อคนละวัน

      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์มีแนวคิดเพิ่มเวลารายการ "เดินหน้าประเทศไทย" จาก 15 นาที เป็น 30 นาทีว่า นายกฯเห็นว่าที่ผ่านมาการสื่อสารข้อมูลในเรื่องสำคัญเพียง 15 นาที ยังไม่สามารถทำความเข้าใจให้ชัดเจนได้ อย่างไรก็ตามนายกฯเข้าใจว่าสังคมต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารด้านอื่นด้วย อาทิ รายการบันเทิง แต่ต้องทำความเข้าใจกับสังคมด้วยว่ารัฐบาลดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง มีปัญหาอะไร เพื่อให้สังคมเกิดความรับรู้ ความเข้าใจร่วมกัน การเพิ่มเวลาเป็น 30 นาที คงไม่มากนัก ต้องเสียสละเรื่องความสุขบ้าง

      พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯกำหนดแล้วว่าในวันศุกร์ นายกฯจะพูดคุยกับประชาชนในรายการคืนความสุขเช่นเดิม ขณะที่รองนายกฯอีก 5 คน จะให้มีการพูดคุยในรายการเดินหน้าประเทศไทย ดังนี้ วันจันทร์เป็นรองนายกฯฝ่ายความมั่นคง วันพุธเป็นรองนายกฯด้านเศรษฐกิจ วันพฤหัสฯเป็นรองนายกฯด้านสังคม วันเสาร์เป็นรองนายกฯด้านต่างประเทศ วันอาทิตย์เป็นรองนายกฯด้านกฎหมาย ขณะที่วันอังคารเปิดพื้นที่ให้ทีมโฆษกเรื่องผลการประชุม ครม. ส่วนจะเริ่มได้เมื่อไรนั้น ต้องดูฝ่ายที่ประสานติดต่อกับสถานีโทรทัศน์ แต่อยากให้ดำเนินการให้เร็วที่สุด

 

ขรก.ท้องถิ่นหนุนกมธ.ยกร่างฯ

      ที่รัฐสภา นายพิพัฒน์ วรสิทธิดำรง นายกสมาคมข้าราชการส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศ ไทยพร้อมตัวแทน มอบดอกไม้ให้กำลังใจนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสนับสนุน กมธ.ยกร่างฯปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่นตามมาตรา 285 และจัดตั้งองค์กรท้องถิ่นเต็มรูปแบบทุกจังหวัด แม้ข้าราชการท้องถิ่นจะต้องถูกปรับเปลี่ยนตำแหน่งและโยกย้าย แต่พร้อมให้ความร่วมมือเพื่อประเทศชาติ

    นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ขอบคุณตัวแทนข้าราชการท้องถิ่นที่มาให้กำลังใจและข้อเสนอแนะ กมธ.ยกร่างฯจะนำข้อเสนอไปพิจารณา ร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเสร็จวันที่ 23 กรกฎาคม หากมีการขยายเวลาออกไปจะไม่เกิน 23-24 สิงหาคม จะได้เห็นร่างสุดท้าย

 

'บวรศักดิ์'ชี้'พลเมือง'แก้ขายเสียง

      นายบวรศักดิ์กล่าวถึงกรณีที่ ครม.เสนอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญหลายประเด็นว่า ในส่วนคำว่าพลเมืองนั้น ครม.แค่ตั้งข้อสังเกต ไม่ได้ขอแก้ไข แต่ถ้าต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยและยกเลิกวัฒนธรรมการซื้อเสียง ต้องลงไปแก้ไขที่รากฐานของการซื้อเสียง 2 ข้อ 1.ทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดสังคมประชาธิปไตยการเมือง และ 2.เปลี่ยนแปลงจากวัฒนธรรมราษฎรที่เป็นผู้ตามและไม่สนใจการเมืองมาเป็นวัฒนธรรมพลเมืองที่มีสำนึกทางการเมืองและมีจิตใจรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแปลงถ้อยคำ แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงสำนึกและพฤติกรรมของประชาชน 

"จะใช้คำไหนก็ได้ แต่ต้องมีนัยสำคัญ และการใช้คำว่าพลเมืองไม่ใช่เพราะสนุกหรือเป็นเพียงวาทกรรม คำว่าเรือแป๊ะหรือเหาะเกินลงกานั่นถือเป็นวาทกรรม แต่คำว่า "พลเมือง" ไม่ใช่วาทกรรม แต่เป็นการพยายามแก้ไขวัฒนธรรมราษฎรเรื่องการซื้อสิทธิขายเสียง" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

ยันหมวดปฏิรูปต้องมีในรธน.

    เมื่อถามถึงกรณีที่ ครม.เสนอให้ตัดหมวดปฏิรูปและปรองดองทิ้ง นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ครม.ไม่ได้เสนอให้ตัดทิ้ง ตนเจอนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ก็บอกว่าอยากให้เขียนเรื่องหลักๆ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนเรื่องอื่นๆ ให้นำไปไว้ในกฎหมายลูกเพื่อให้รัฐธรรมนูญสั้นลง โดยให้ สปช.เป็นผู้รับผิดชอบในส่วนกฎหมายลูก ยืนยันว่าต้องมีหมวดปฏิรูปและปรองดองในรัฐธรรมนูญ ไม่มีการตัดทิ้ง แต่จะยาวหรือสั้นแค่ไหนยังไม่ทราบ ความเห็นของ ครม.ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณา แต่ก็ต้องรับฟัง สปช.และภาคประชาชนด้วย โดย กมธ.ยกร่างฯจะชั่งน้ำหนักดูเหตุผลของใครว่ามีน้ำหนักมากกว่ากัน

      เมื่อถามว่า สปช. ครม. และหลายฝ่าย ท้วงติงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ยกร่างฯจะถอดใจหรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า "ไม่มีถอดใจ เขาตั้งให้มาทำหน้าที่ เราอาสาเข้ามาจะไปถอดใจอะไรกัน ทำหน้าที่ไปให้ดีที่สุด เรื่องรัฐธรรมนูญมีผู้ตัดสิน 2 ด่าน โดยด่านแรกคือ สปช. ด่านที่สองคือประชาชน ไม่ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่านประชาชน ผมรับได้ทั้งสิ้น พร้อมรับคำพิพากษา"

 

ผู้ตรวจการฯมั่นใจเลิกรวม'กสม.'

      ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่า ครม.เสนอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยกเลิกการควบรวมคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กับผู้ตรวจการแผ่นดิน ขณะเดียวกัน สปช. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และความเห็นจากเวทีต่างๆ ก็เห็นสอดคล้องกันให้ยกเลิกการควบรวม ขณะนี้กว่า 80-90% ไม่เห็นด้วยกับการควบรวมสององค์กรนี้

      นายศรีราชา กล่าวว่า สิ่งที่น่าดีใจคือหลายฝ่ายเห็นด้วยกับการตั้งสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติและสมัชชาพลเมือง โดยให้หน่วยงานที่มีอยู่เดิมดำเนินการต่อไป ดังนั้นอีก 1 ปีที่ตนยังเหลือเวลาในการทำหน้าที่ตรงจุดนี้จะพยายามผลักดันเรื่องคุณธรรม จริยธรรมพื้นฐาน 5 ประการ คือ ซื่อตรง มีวินัย เสียสละเพื่อส่วนรวม พอเพียง รักษ์สิ่งแวดล้อม ให้กว้างขวางครอบคลุมทุกจังหวัด โดยประสานกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด และหารือกับรักษาการสมเด็จพระสังฆราช ที่จะนำเรื่องนี้เข้าพิจารณาในมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อให้พระสงฆ์ที่ไปแสดงธรรม นอกจากเน้นเรื่องศีลห้าแล้วให้เน้นเรื่องคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐาน 5 ประการด้วย

 

'จตุพร'เชื่อไม่ได้ใช้'รธน.' 

     นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญเริ่มเละจนหาจุดอะไรไม่ได้แล้ว เพราะเดิมทีตั้งราคาไว้แพง พอต่อราคากันไปมาเริ่มจะไม่มีราคาเสียแล้ว จากที่วางบทให้แม่น้ำ 5 สาย แต่ตอนนี้เริ่มเปลี่ยนบทเล่นกันเอง ขณะที่ประธาน กมธ.ก็เริ่มไปไม่เป็น เพราะบทเล่นเริ่มไม่ตามน้ำ แต่ละฝ่ายไม่สวมบทที่เคยเตรียมเอาไว้ 

     "ผมมองว่า รัฐธรรมนูญที่ทุกฝ่ายพยายามทำมาทั้งหมด คิดว่าคงไม่ได้นำมาใช้ เพราะสเปกที่เขียนไว้เหมือนกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว แต่สุดท้ายเรื่องนี้จะไปจบลงที่การทำประชามติ รัฐบาลเองก็ยังไม่ตกผลึกในเรื่องนี้ เข้าใจได้รัฐบาลคงรู้ว่าหากปล่อยให้ทำประชามติ เชื่อว่าประชาชนที่ไม่พอใจกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ คงจะออกมาแสดงออกผ่านการทำประชามติแบบไฟลามทุ่งอย่างแน่นอน รัฐบาลจึงยังไม่กล้าฟันธงชัดในเรื่องนี้ ผมมองว่าสุดท้ายแล้วประชาชนจะออกมาเพื่อแสดงความรู้สึกพอใจหรือไม่พอใจ มากกว่าที่จะบอกว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้" นายจตุพรกล่าว