prayut29-

 

อัยการจ่อตั้งทีมสอบ 112 'บิ๊กตู่'ไม่หวั่นลงหลังเสือ คสช.ถกแก้รธน.ชั่วคราว สนช.ปรับร่าง 24 ประเด็น

         'ประยุทธ์'กินข้าวสื่อทำเนียบ ชี้ต้องลงหลังเสือให้เป็น เลื่อนรายการคืนความสุขเปิดทางเชียร์บอลวันนี้ 'เสธ.ทบ.'แจงสั่ง ตร.ถอดเทป"แม้ว"จ้อที่เกาหลีเอาผิด ม.112 ถึงมืออัยการสูงสุดแล้ว

พบสื่อทำเนียบ - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. พบปะสื่อมวลชนประจำทำเนียบรัฐบาล และรับประทานอาหารกลางวัน

ร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม

 

 

 

ยื่นความเห็น - นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ในฐานะประธาน กมธ.ศึกษาเสนอแนะฯสนช. เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฯรวบรวมความเห็น 24 ประเด็น ยื่นต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม

 

@ 'บิ๊กตู่'กินมื้อเที่ยงกับสื่อทำเนียบ

     เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 พฤษภาคม ที่บริเวณห้องปฏิบัติการสื่อมวลชน 1 (บริเวณรังนกกระจอก 1) ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้พบปะและรับประทานอาหารกลางวันร่วมกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งทางสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี โดย พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี จัดขึ้น เมื่อมาถึง พล.อ.ประยุทธ์ได้แวะทักทายพร้อมแนะนำซุ้มอาหารต่างๆ ที่มาออกร้าน โดยเฉพาะร้านไก่ย่างส้มตำเขาสวนกวาง พล.อ.ประยุทธ์ได้แนะนำให้ดัดแปลงรูปแบบและผลิตภัณฑ์ให้ผู้บริโภคมีทางเลือก อย่าใช้มะละกอเพียงอย่างเดียว ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้เซ็นชื่อของตัวเองเพื่อแสดงว่าได้เข้าร่วมงานครั้งนี้เช่นเดียวกับสื่อมวลชน และเขียนต่อท้ายลายเซ็นตัวเองด้วยว่า "ลูกน้องนักข่าว/ขอใจเธอ"

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีได้แวะเข้ามาเยี่ยมและพูดคุยกับผู้สื่อข่าวในรังนกกระจอกโดยกล่าวว่า "ฤดูนี้ทุเรียนมีมาก ทราบกันหรือไม่ว่าเมื่อกินทุเรียนแล้วจะต้องกินมังคุดตามเพื่อเป็นการดับความร้อน จะได้เย็น" ผู้สื่อข่าวบอกว่าบางตำราให้กินน้ำเกลือจะดับความร้อนได้ พล.อ.ประยุทธ์ได้แนะนำต่อว่า "ถ้ากินทุเรียนแล้วกลัวแฟนจะเหม็นปากให้เอาน้ำใส่เปลือกทุเรียนแล้วนำมากินนะ" นอกจากนี้เมื่อมาถึงโต๊ะรับประทานอาหาร พล.อ.ประยุทธ์ได้ขอให้นำส้มตําปูปลาร้ามาให้ โดยบอกว่าเป็นคนอีสานเหมือนกัน

 

@ แจ้งใช้ผู้เชี่ยวชาญแจงโลก 

      จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ร่วมรับประทานอาหารและกล่าวเปิดใจว่า ประเทศไทยทุกอย่างดีหมด แต่มีคนไม่ดีอยู่ด้วย คนบางคนไม่ได้รับการสั่งสอนจึงทำให้เป็นคนไม่ดี อีกทั้งยังมีการเมืองนำพา อย่างไรก็ตามวันนี้ประชาชนเป็นใหญ่โดยใช้สิทธิทางการเลือกตั้ง ตนทำทุกวันเพื่อความยั่งยืนของประเทศชาติ เพราะประเทศต้องมีเสถียรภาพ ไม่อย่างนั้นเศรษฐกิจจะลดลง โดยต้องกลับไปดูว่าเศรษฐกิจไทยและปัญหาของไทยนั้นอยู่ตรงไหนก็ต้องแก้ไขตรงนั้น นอกจากนี้ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่เข้าใจสถานการณ์ของประเทศชาติ ตนออกมาปฏิวัติเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ หากออกมาแล้วไม่ทำอะไรเลยก็ไม่มีประโยชน์ เสียดายเวลา จึงอยากให้คนไทยเข้าใจ อย่างเช่นการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากทั้งเยอรมนีและฝรั่งเศสเข้ามาเล่าประสบการณ์ก็เพื่อให้เกิดความเข้าใจ เพราะการแก้ไขปัญหาไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศก็ต่างใช้เวลานาน นอกจากนี้ยังต้องการให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างชาติรับทราบว่า เกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย จะให้ฝ่ายความมั่นคงเอาเหตุการณ์บ้านเมืองของไทยให้ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศรับทราบ เพื่อให้ผู้เชี่ยวชาญอธิบายคนทั้งโลกแทน อย่างไรก็ดี เมื่อผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ทราบถึงเหตุการณ์ในไทยก็บอกว่าเกิดขึ้นมาได้อย่างไร ทั้งมีการประท้วง ใช้อาวุธ เกิดการสูญเสีย ทะเลาะกันด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เขาบอกเขาไม่เคยเห็นเลยมาโจมตีเรา เพราะความไม่เข้าใจ 

 

@ ชี้ต้องลงหลังเสือให้เป็น 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์กำลังพูดอยู่นั้น ผู้สื่อข่าวพยายามบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์หยุดพูดก่อน แล้วมารับประทานอาหาร แต่ พล.อ.ประยุทธ์บอกว่า "ไม่เอาจะพูด" จากนั้นผู้สื่อข่าวพยายามบอกให้ พล.อ.ประยุทธ์พูดแบบสบายๆ จะได้ไม่เครียด พล.อ.ประยุทธ์ตอบกลับมาว่า "นี่สบายแล้ว สบายๆ ผมอยากพูดให้พวกคุณฟัง" 

ผู้สื่อข่าวถามว่า มั่นใจไหมว่าจะลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างาม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "เรื่องนี้ก็แล้วแต่พวกเรา ผมก็ลงเหมือนคนเดินดินปกติ" เมื่อถามต่อว่า ที่ผ่านมาอดีตนายกฯหลายคนเวลาลงจากหลังเสือก็บาดเจ็บตลอด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ก็ลงให้เป็นสิ หรือฆ่าเสือก่อนดีไหม"

 

@ ระบุ'ทักษิณ'พูดให้ร้ายกองทัพ

     พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์กรณีกระทรวงการต่างประเทศถอนพาสปอร์ต พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะเป็นการกดดันให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วแต่ พ.ต.ท.ทักษิณจะเคลื่อนไหวก็ทำไป กฎหมายก็มีอยู่ เคลื่อนไหวอีกก็มีอีก เมื่อถามว่า ผลจากการให้สัมภาษณ์ที่ประเทศเกาหลีของ พ.ต.ท.ทักษิณ นั้นจะถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 เพิ่มอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ได้เป็นคนทำ ประชาชนเขาแจ้งความกันมากับทางตำรวจเยอะ ทางกองทัพบกก็แจ้งมาเพราะหมิ่นประมาท สร้างความเกลียดชัง พูดจาให้ร้าย กองทัพ ซึ่งมีกฎหมายดำเนินการ" 

 

@ ชี้จนท.ต้องกล้าถอดยศ 

     ผู้สื่อข่าวถามถึงความคืบหน้าในการดำเนินการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จริงๆ เรื่องนี้ มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว ทุกคนมองว่าไม่อยากให้รุนแรงเกินไป เดี๋ยวจะเข้าทางและถูกกล่าวหาว่ารังแก อยากให้เข้าใจและลดระดับลงไปบ้าง แต่ไม่เปลี่ยนแปลงเลย เดี๋ยวก็ถึงขั้นนั้นจนได้ โดยทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งไม่ได้ไปห้าม ถ้าผิดมีปัญหาก็ว่ามา ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องกล้าทำ ทุกอย่างจะให้ตนตัดสินใจหมดก็จะลงมาที่ตนคนเดียว แต่ถึงอย่างไรก็ลงอยู่แล้ว แต่ควรจะช่วยตนบ้าง ถ้าจริงก็ทำมา 

      "เรื่องการถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ หนักนิดหนึ่ง เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วทำไมต้องนำพระองค์ท่านลงมาอีก" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

 

@ ปัดไม่เคยคุยอดีตนายกฯ 

     เมื่อถามว่า ตั้งแต่เข้ามาควบคุมอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้มีการติดต่อนายกฯ โดยตรงหรือผ่านใครมาหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่เคย แต่ผมจะไปพูดด้วยทำไม พูดไม่ได้ ถ้าติดต่อมาก็ไม่พูด เพราะวันนี้เราเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ ติดต่อผ่านใครมาก็ไม่ฟัง ถามว่าจะติดต่อเรื่องอะไร หากจะปรับความเข้าใจอะไรกับผมก็คงไม่มี เพราะผมไม่ได้เข้าใจผิดอะไรกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ท่านทำผิดกฎหมาย วันนี้ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม" เมื่อถามว่า มีข่าวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่กล้าเดินทางกลับประเทศไทย เพราะกลัวตาย กลัวถูกลอบทำร้าย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ศัตรูของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีหรือเปล่า ผมไม่รู้" เมื่อถามย้ำว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กลับในช่วงรัฐบาลนี้ 

การันตีได้หรือไม่ว่าจะปลอดภัย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมไม่การันตี ผมไม่รู้ท่านไปสร้างรอยแค้นกับใครไว้บ้างหรือเปล่า ผมจะรู้หรือไม่ ไปเป็นศัตรูกับใครแค่ไหน แค่ตัวผมเองยังต้องระวังเลย ผมจะไประวังคนอื่นอะไรได้มากมายนัก กลไกก็ดูแลไปสิ อยู่ที่ว่าทำให้คนเกลียดแค่ไหน ใช่ไหม ขณะเดียวกันผมอาจทำให้คนเกลียดก็ได้" 

 

@ เสธ.ทบ.แจงปมเอาผิด'แม้ว'

      ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก กล่าวกรณีที่กองทัพบกได้ทำเรื่องให้กรมพระธรรมนูญแจ้งความ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ไปแสดงความคิดเห็นที่ประเทศเกาหลีใต้ กระทบต่อสถาบัน ว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจจะไปฟังเทปว่ามีความผิดเข้าข่าย ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือไม่ ถ้าผิดก็ดำเนินคดีไปตามกฎหมายตอนนี้มีหลายคนที่มีคดีนี้ติดตัว ถ้าบอกว่ารัฐธรรมนูญให้สิทธิทุกคนเท่าเทียมกัน ดังนั้นกระบวนการยุติธรรมต้องเข้ามาดำเนินการกับทุกคน เพราะคนที่ทำผิดต้องรับความผิด เคยให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวต่างประเทศไปแล้วว่าการเอา ม.112 มาใช้เป็นกฎหมายหมิ่น เพียงแต่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐต้องปกป้องสถาบัน ไม่ว่าจะดูหมิ่นเรื่องใดก็จำเป็นต้องออกมาดำเนินการ ถ้าไม่ดำเนินการจะละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

 

@ ปัดเป็นเครื่องมือการเมือง 

       เมื่อถามว่า คนที่กระทำความผิดตาม ม.112 แต่หลบหนีที่ต่างประเทศจะดำเนินการอย่างไร พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า การที่จะดำเนินการกับผู้ร้ายข้ามแดนจะต้องมีสนธิสัญญาต่อกัน ประกอบกับหลายๆ ประเทศไม่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ จึงไม่มีกฎหมายดังกล่าว จึงทำให้ไม่สามารถส่งตัวผู้ร้ายมาได้ นอกจากมีคดีหมิ่นแล้ว ยังมีคนที่กระทำความผิดอื่นๆ อีก ซึ่งจะให้อัยการทำเรื่องขอตัวคนพวกนี้กลับมาในสถานะผู้ร้ายข้ามแดน เมื่อถามว่า ม.112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองจะมีมาตรการอย่างไร พล.อ.ฉัตรเฉลิมกล่าวว่า "ไม่มีหรอก ไม่เคยนำมาใช้ทางการเมือง อยากให้ลองไปดูว่าคนที่ถูกศาลตัดสินไปแล้ว ก็มีความผิดทั้งหมด อีกอย่างถ้าลองไปดูข้อความที่เผยแพร่ออกไป มีความผิดทั้งนั้น ก็ขอถามว่าเรื่องนี้ถ้าลองเอามาว่าท่านจะรับได้หรือไม่ ถ้าไม่เป็นความจริงก็ไม่มีใครติดคุกหรอก ทุกอย่างเป็นไปตามหลักฐาน ขอฝากไว้ว่าสื่อมวลชนก็อย่าไปเผยแพร่เรื่องที่ไม่จริง แล้วเอาไปขยายต่อให้เป็นเรื่องจริง อย่างนี้จะเป็นการไม่ให้ความยุติธรรมกับสถาบัน" 

 

@ ศปป.เล็งเชิญถกรอบสอง 

        พล.อ.ฉัตรเฉลิม กล่าวถึงกรณีที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเชิญตัวแทนทุกภาคส่วนมาหารือในครั้งที่ 2 ว่า น่าจะเร็วๆ นี้ เพราะว่านานแล้วที่ไม่ได้เชิญมาแสดงความคิดเห็น จะเชิญมาทุกภาคส่วนที่จะไม่แตกต่างไปจากครั้งที่แล้ว จะเป็นกลุ่มการเมือง นักวิชาการ เอ็นจีโอ รวมทั้งสื่อมวลชน จากนั้นจะสรุปความคิดเห็นเพื่อเสนอไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ให้ทราบว่าในแต่ละกลุ่มอาชีพมีความคิดอย่างไร อย่างไรก็ตาม เมื่อทุกภาคส่วนได้แสดงความคิดเห็นไปแล้วการไปให้สัมภาษณ์ตนก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่ขอให้พูดให้ตรงตามเสนอให้ห้อง อย่าไปพูดอะไรที่เกินเลยจากนั้น เพราะจะทำให้สังคมสับสน 

 

@ รวมคลิป'ทักษิณ'ส่งอัยการ 

       รายงานข่าวแจ้งว่า หลังจากมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอของสำนักข่าวโชซันของประเทศเกาหลีใต้ที่บันทึกภาพ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเป็นภาษาไทย ความยาว 1.32 นาที นั้น ทางพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (กก.3 บก.ปอท.) ได้ทำสำนวน รวบรวมพยานหลักฐานรายงานผู้บังคับบัญชาทั้งระดับหน่วยงาน ปอท. กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) และระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ก่อนทำเรื่องส่งไปยังอัยการสูงสุด เมื่อช่วงเช้าวันที่ 27 พฤษภาคมที่ผ่านมา เนื่องจากการกระทำดังกล่าวของ พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร ในส่วนขั้นตอนการดำเนินการต่อไป รวมทั้งจะแจ้งข้อหาใดนั้น เป็นเรื่องที่อัยการสูงสุดจะพิจารณาต่อไป

 

@ อัยการชี้'ทักษิณ'ผิดม.112 

      นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ส่งสำนวนคดีให้อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เบื้องต้นสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนคดีดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วกรณีดังกล่าวเป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ตามขั้นตอนแล้วจึงต้องเสนอเรื่องให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุดเป็นผู้พิจารณา โดยอัยการสูงสุดจะเป็นผู้สั่งตั้งพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้เพื่อพิจารณาต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ขณะนี้สำนวนคดียังไม่ได้ส่งไปยังอัยการสูงสุด เนื่องจากทางอัยการเพิ่งจะได้รับสำนวนมาจากทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

 

@ ผบ.ตร.แจงพาสปอร์ต'แม้ว'

        ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศประกาศเพิกถอนหนังสือเดินทาง 2 เล่มของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โดยอ้างอิงว่า ตร.เป็นผู้ประมวลเรื่องเสนอ ว่า การให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของ พ.ต.ท.ทักษิณเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา 112, 326 และ 328 และพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3) (5) ว่า หลังจากมีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนก็มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) จากนั้น ปอท.ประมวลเรื่องเสนอตนเพื่อขอความเห็นตามลำดับขั้น จึงได้ประมวลเรื่องไปตามขั้นตอนของกฎหมายเพื่อเสนอต่อไปยังฝ่ายความมั่นคง หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงหรือรัฐบาลดำเนินการ ตร.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง 

 

@ ตั้งกก.ถอดยศอดีตนายกฯ 

      ผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ดูคลิปให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ พบเข้าข่ายความผิดอย่างไร พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า ได้ดู แต่จะใช้ดุลพินิจส่วนตัวพิจารณาไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎหมาย ไม่ได้ใช้ดุลพินิจส่วนตัว เมื่อถามถึงการพิจารณาถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณ พล.ต.อ.สมยศกล่าวว่า เรื่องนี้ได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดย มี พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอัมพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) เป็นประธานคณะกรรมการ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ไปตรวจสอบ สอบสวน หาข้อมูลหลักฐานสิ่งที่นำมาเข้าสู่กระบวนการ เมื่อถามว่าการถอนหนังสือเดินทางของ พ.ต.ท.ทักษิณ ในตอนนี้ อาจเป็นการนำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ในสถานการณ์ที่ต้องการความปรองดองสูง ผบ.ตร. กล่าวว่า 

       "สิ่งที่ทำเป็นไปตามกระบวนการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย ไม่มีความรู้สึกใดมาแอบแฝง ไม่มีความรู้สึกส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง" เมื่อถามว่า ให้สันติบาลติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่สนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นพิเศษหรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า เป็นหน้าที่หลัก ถึงเหตุการณ์ปกติทั่วไป ทั้งรัฐบาล คสช. พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีก็ให้ความสำคัญเรื่องนี้ และเป็นหน้าที่ที่ฝ่ายข่าวสันติบาลต้องติดตามความเคลื่อนไหวนี้

 

@ สบ 10 เผยทำตามผู้ตรวจการ 

     พล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ กล่าวว่า กรณีนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้หนังสือลับ ด่วนที่สุด ที่ผผ.20/351 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 แจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำข้อเท็จจริงในประเด็นที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็นผู้ที่มิได้อยู่ในราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา แล้วหลบหนีไป ตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 5 คดี และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้ออกประกาศสืบจับผู้กระทำความผิด ฉบับที่ 489/2551 ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 (6) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 มาประกอบการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจ พ.ต.ท.ทักษิณ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันต่อไป 

 

@ เคาะถอดยศชงผบ.ตร.ใน 2 วัน

      พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า พล.ต.อ.สมยศจึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ตามคำสั่ง ตร.ที่ 256/2558 ลงวันที่ 1 พฤษภาคม 2558 โดยมีตนเองเป็นประธาน สำหรับระเบียบ ตร.ว่าด้วยถอดยศมีด้วยกัน 7 ข้อ แต่คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาเฉพาะในข้อ 1 (6) ที่ระบุว่าเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น 

      "ที่ประชุมได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีเอกสารยืนยันเป็นที่ประจักษ์จากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญาจึงเข้าข่ายเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดในการถอดยศ ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการถอดยศเตรียมนำเสนอ ผบ.ตร.พิจารณาได้ภายใน 1-2 วันนี้" พล.ต.อ.ชัยยะกล่าว ผู้สื่อข่าวถามว่า คณะกรรมการได้มีการนำหนังสือตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้ความเห็นว่าควรให้ถอดยศ พ.ต.ท.ทักษิณมาพิจารณาด้วยหรือไม่ พล.ต.อ.ชัยยะกล่าวว่า ได้มีการนำหนังสือของคณะกรรมการกฤษฎีกามาพิจารณาด้วย คณะกรรมการได้ดูทุกมิติ การพิจารณาครั้งนี้ค่อนข้างละเอียด ยืนยันว่าการพิจารณาครบถ้วนสมบูรณ์ สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด

 

@ ผบ.ทบ.แจ้งความเอาผิด'ทักษิณ'

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลอาญา โดยคดีดำเลขที่ 1824/2558 ตั้งแต่วันที่ 26 พฤษภาคมที่ผ่านมา ฐานความผิดคดีหมิ่นประมาท หลังจากที่ พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศที่เข้าข่ายต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112, 326 และ 328 

 

@ พท.ชี้ล่า'ทักษิณ'ขัดแย้งเพิ่ม 

       นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ความพยายามที่จะดำเนินการกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ทั้งเรื่องการถอดยศหรือดำเนินคดี 112 ความพยายามไล่ล่าครั้งนี้ ไม่ได้มีอะไรใหม่ เป็นเรื่องเดิมๆ ที่อีกฝ่ายได้เคยพยายามทำมาแล้ว จึงอยากฝากว่าการกระทำอย่างนี้มีแต่จะเพิ่มปัญหา โดยเฉพาะความขัดแย้งจะยังอยู่ต่อไป ไหนบอกว่าจะแก้ไขปัญหาขัดแย้ง จะเดินหน้าปรองดอง ก็ไม่ควรทำอะไรที่เป็นการสร้างปัญหา 

 

@ 'วิษณุ'ปัดถกครม.นัดพิเศษ

      ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่มีข่าวว่ามีการเรียกประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อพิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้ว่า เป็นการประชุม ครม.เศรษฐกิจเท่านั้น เมื่อถามว่า นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.เสนอให้เขียนบทเฉพาะกาลนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองทุกฝ่าย นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ คงเป็นการขอแปรญัตติเป็นการส่วนตัว เมื่อถามกรณีที่มีข่าวว่า คสช.เตรียมหารือเพื่อขอแก้ไขมาตรา 38 เพื่อต่ออายุ สปช. นายวิษณุกล่าวว่า "ผมเป็นคนทำเรื่องนี้ แต่ผมไม่รู้ ไม่เคยมี" 

 

@ กมธ.นัด9กลุ่มแจงแก้รธน. 

ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาความคืบหน้ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญหลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงว่า ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดกรอบการดำเนินงานเพื่อรับฟังคำชี้แจงจากสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้มีสิทธิเสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีทั้งสิ้นจำนวน 9 กลุ่ม กำหนดผู้ชี้แจงกลุ่มละไม่เกิน 5 คน ให้เวลากลุ่มละ 3 ชั่วโมง กำหนดวันเวลาในการชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯตั้งแต่วันที่ 2-6 มิถุนายน ซึ่งช่วงดังกล่าวทาง กมธ.ยกร่างฯจะเน้นการรับฟังความเห็นของผู้ยื่นเสนอขอแก้ไขเป็นหลัก โดยจะไม่มีการแสดงความเห็นโต้แย้งหรือแม้แต่อภิปราย ทั้งนี้ หลังจากรับฟังคำชี้แจงจากทั้ง 9 กลุ่ม รวมทั้งข้อเสนอของพรรคการเมืองและภาคส่วนต่างๆ แล้ว ทาง กมธ.ยกร่างฯจะกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณาเป็นหมวดหมู่ ดูแต่ละหมวดว่ามีคำขอแก้ไขในประเด็นใดบ้าง ก่อนที่จะนำมาพิจารณารายละเอียดแต่ละมาตรา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมในแต่ละมาตรานั้น

 

@ กลุ่ม'สมบัติ'ชงปรับ 334 จุด 

       นายคำนูณ กล่าวต่อว่า เท่าที่ดูรายละเอียดในเอกสารคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ พบว่าคำขอของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. ยื่นคำขอให้ปรับแก้ไขมากที่สุด จำนวน 334 จุด น้อยที่สุดคือกลุ่มของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ และนายสมชัย ฤชุพันธุ์ เสนอปรับแก้ไข จำนวน 49 จุด สำหรับมาตราที่ทั้ง 9 กลุ่มเสนอให้ปรับแก้ไขมากที่สุดคือ มาตรา 121 เกี่ยวกับที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และมาตรา 279 เกี่ยวกับการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยแต่ละกลุ่มมีการขอปรับแก้ในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ส่วนที่เสนอขอปรับแก้ไขรองลงมาคือ มาตรา 62, 63 และ 64 ว่าด้วยสิทธิชุมชนและสิทธิทรัพยากร อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯยังไม่ตัดสินใจใดๆ เกี่ยวกับการปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น เนื่องจากมีความจำเป็นต้องให้เกียรติผู้ยื่นขอแก้ไขทั้ง 9 กลุ่ม ดังนั้นตลอดสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้าจะเป็นช่วงของการรับฟังคำขอแก้ไข ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาทั้งจำนวนและความเห็นของทุกคำขอแก้ไขควบคู่กันไป

"ส่วนคำขอของ ครม.ที่มีการแนบความเห็นของนายกรัฐมนตรีและ ครม. ขอชี้แจงว่าบางประเด็นไม่ใช่เป็นการขอแก้ไข แต่เป็นการให้ข้อสังเกต เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯทบทวนพิจารณาให้รอบคอบ เช่น ประเด็นระบบการเลือกตั้ง จำนวน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและแบบแบ่งเขต วิธีการนับคะแนน เป็นต้น" นายคำนูณกล่าว 

 

@ สนช.ส่ง 24 ประเด็นแก้ไขรธน. 

      ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ในฐานะประธาน กมธ.พิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ สนช. ได้มอบผลสรุปและข้อเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อ พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาปรับปรุงแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวน 24 ประเด็น 

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับประเด็นที่ สนช.เสนอ 24 ประเด็น อาทิ ให้ตัดคำว่า "พลเมือง" ออกใช้คำว่า "บุคคล" แทน กรณีที่มานายกรัฐมนตรีคนนอก สนช.เห็นด้วยกับหลักการตามมาตรา 172 แต่เห็นว่าหลักการดังกล่าวยังไม่ครอบคลุม หรือแก้ปัญหาได้ทุกเหตุการณ์ เช่น กรณีที่ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และนายกรัฐมนตรีรักษาการ จึงเสนอให้วุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว อีกทั้งยังเสนอให้ตัดมาตรา 181, 182 ตลอดจนกลุ่มการเมืองทิ้งทั้งหมด ขณะที่ที่มาของ ส.ส.เห็นด้วยกับระบบโอเพ่นลิสต์ ส่วนที่มา ส.ว.ให้มาจากการสรรหาทั้งหมด ไม่เห็นด้วยให้ตั้งองค์ใหม่ๆ ขึ้นมากเกินไป สำหรับบทเฉพาะกาล สนช.เห็นว่าควรกำหนดเงื่อนไข ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นเวลา 5 ปี ภายหลังจากการประกาศใช้บังคับ

 

@ เคาะแค่แก้รธน.ให้ประชามติ

      รายงานข่าวแจ้งว่า ค่ำวันเดียวกันคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หารือกันภายในเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว โดยเบื้องต้นที่ประชุมหารือถึงมาตรา 46 เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเปิดทางให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนจะทำประชามติหรือไม่ทำ รวมทั้งการแก้ไขมาตรา 38 เพื่อกำหนดว่าสภาปฏิรูปแห่งชาติยังคงดำรงตำแหน่งต่อไปแม้ว่าจะลงมติไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญตามที่เคยคิดไว้ก่อนหน้านี้นั้น ที่ประชุมให้รอไว้ก่อน

 

@ พท.อ้างผู้ว่าฯร้อยเอ็ดสั่งงด 

       นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ตามที่ทีมงานฝ่ายกฎหมาย โดยการนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ และ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค ได้เดินสายชี้แจงทำความเข้าใจแนวทางการชี้แจงของอดีต ส.ส.ที่ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปมที่มาของ ส.ว. โดยการดำเนินการที่ จ.เชียงใหม่และ จ.อุดรธานี เป็นไปด้วยความเรียบร้อย สำหรับ จ.ร้อยเอ็ด จากการประสานโดยอดีต ส.ส.ในพื้นที่ทราบว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดมีคำสั่งห้ามดำเนินการดังกล่าวและได้ส่งฝ่ายทหารตำรวจมาเฝ้าระวังที่โรงแรมตลอดเวลา แม้จะประสานทำความเข้าใจแต่ก็เป็นไปโดยยากลำบาก เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เรียบร้อยใดๆ ขึ้น แม้จะเห็นว่ามิใช่การชุมนุมทางการเมืองใดๆ และเพื่อความสบายใจของอดีต ส.ส.ในพื้นที่ ตลอดจนข้าราชการที่เกี่ยวข้องจึงขอเลื่อนการชี้แจงดังกล่าวออกไปก่อน โดยจะหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไป

       นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า ฝ่ายกฎหมายพรรคได้ยกเลิกกำหนดการหารือกับอดีต ส.ส.อีสานใต้ที่จังหวัดอุบลราชธานี ในวันที่ 29 พฤษภาคมนี้แล้ว เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย แม้จะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ไม่อยากให้เกิดปัญหา 

       พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ฝ่ายความมั่นคงและ คสช.ได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว หากการดำเนินการไม่ขัดกับคำสั่งที่มีก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีการกระทำที่ผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดความวุ่นวายต้องดำเนินการ