prayut29


ตร.สรุปฟันแม้ว ถอดยศ โด่งฟ้อง-หมิ่นทบ. 
เผยความผิดมาตรา112 ส่งถึงมือ'อัยการ"แล้ว! 'บิ๊กตู่'ฮึ่มมีอีก-โดนอีก ร่นทีวีคืนสุข-ให้ดูบอล

      'แม้ว'กระอักโดนหนักหลายทาง ตร.ชงสรุปความเห็นถอดยศให้ผบ.ตร.ชี้ขาด 'พล.ต.อ.ชัยยะ' ประธานกรรมการอ้างความผิดหนีคดีเข้าข่ายดำเนินการได้ ส่วนคดีความผิดมาตรา 112 ก็ถึงมืออัยการแล้ว เตรียมตั้งคณะกรรมการพิจารณาสำนวนสั่งฟ้องศาลหรือไม่ ด้าน บิ๊กโด่งก็เล่นงานซ้ำสั่งทหารพระธรรมนูญยื่นฟ้องศาลหมิ่นประมาทกองทัพ'บิ๊กตู่' ลงจากทำเนียบฯ ร่วมรับประทานอาหารกับสื่อ ถามหาเมนูส้มตำ เปิดใจไม่ได้กลั่นแกล้งใคร เผยหลังยึดอำนาจไม่เคยคุยกับ'ยิ่งลักษณ์ -ทักษิณ' ยันจะเดินลงหลังเสืออย่างปกติหลังพ้นตำแหน่ง สั่งร่นเวลาออกอากาศจ้อ วันศุกร์คืนนี้มาเป็น 5 โมงเย็น หลีกทางให้ถ่ายทอดบอลไทยในซีเกมส์ 'วิษณุ'โต้ แก้รธน.ฉบับชั่วคราวให้สปช.อยู่ต่อหาก ร่างรธน.ถูกคว่ำ ด้านคสช.ถกร่างรธน.ใหม่ เตรียมทางออกไว้หลายประตู

 

บิ๊กตู่กินข้าวกับสื่อ-เรียกหาส้มตำ

      เมื่อเวลา 08.50 น. วันที่ 28 พ.ค. ที่ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ กรุงเทพฯ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวเปิดการประชุมคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (เอสแคป) สมัยที่ 71 ว่า เราภูมิใจที่มีส่วนสนับสนุนการทำงานของเอสแคปและหน่วยงานสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และจะสนับสนุนต่อไปอย่างเต็มที่ ซึ่งปีนี้เป็นปีที่สำคัญต่อทิศทางของโลก ตนจะเข้าร่วมการประชุมที่นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ในเดือนก.ย.นี้ เพื่อร่วมรับรองวาระการพัฒนาภายหลังปีค.ศ.2015 และตนจะเข้าร่วมประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 21 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส ในเดือนธ.ค.นี้ 

       จากนั้นเวลา 12.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้สื่อข่าวประจำทำเนียบรัฐบาล ซึ่งพล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ จัดขึ้น เมื่อมาถึง พล.อ.ประยุทธ์แวะทักทายและให้คำแนะนำซุ้มอาหารต่างๆ ที่มาออกร้าน และได้เซ็นชื่อเพื่อแสดงว่าได้เข้าร่วมงานครั้งนี้เช่นเดียวกับสื่อมวลชน และเขียนต่อท้ายลายเซ็นด้วยว่า "นรม./ลูกน้องนักข่าว" ในช่องตำแหน่ง และ "ขอใจเธอ?" ในช่องหมายเลขโทรศัพท์ ทั้งนี้พล.อ.ประยุทธ์ขอส้มตําปูปลาร้า โดยบอกว่าเป็นคนอีสานเหมือนกัน

วันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8948 ข่าวสดรายวัน

มื้อกลางวัน - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ร่วมกินอาหารกลางวัน กับสื่อมวลชน พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงขั้นตอนการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ด้วย ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 

 

 

ลั่นจะเดินลงหลังเสืออย่างปกติ

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนเสี่ยงชีวิตทำรัฐประหารเพื่อความสงบของบ้านเมือง จากนี้ขึ้นอยู่ที่ประชาชนจะเอาอย่างไร แนวทางของรัฐบาลคือรักษาเสถียรภาพของประเทศ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง รัฐบาลทำตามโรดแม็ป แม้มีคนพยายามไม่ให้รัฐบาลเดินถึงตรงนั้น แต่ตนไม่สนใจ ยืนยันว่าจะเดินตามที่วางแผน นำไปสู่การเลือกตั้ง วันนี้ ไม่สามารถทำให้ทุกคนคิดเหมือนกันหมด แต่เราต้องอยู่ร่วมกันได้ การประท้วงต้องทำด้วยความสงบ ไม่เกิดจลาจล ถ้ามีการสูญเสียก็ต้องบังคับใช้กฎหมาย อย่างเหตุการณ์ปี 2553 และ 2556-2557 ผู้ก่อความวุ่นวายต่างเป็นกลุ่มเดียวกัน โดยปี 2557 ผู้ชุมนุมต่างประท้วงโดยสงบ แต่ปี 2553 มีการยิง เจ้าหน้าที่ จึงต้องทำตามกฎหมายตามขั้นตอน ทำจากหนักไปหาเบา 7 ขั้นตอน แต่ ฝ่ายผู้ชุมนุมก่อเหตุอย่างรวดเร็ว ทำให้ทหารบาดเจ็บ ล้มตาย ถูกตี ถูกเหยียบจำนวนมาก แต่ตนไม่เคยโกรธ

     ผู้สื่อข่าวถามว่ามั่นใจหรือไม่ว่า จะลงจากหลังเสือได้อย่างสง่างาม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้แล้วแต่พวกเรา ตนก็ลงเหมือนคนเดินดินปกติ เมื่อถามว่าที่ผ่านมาอดีตนายกฯ หลายคนเวลาลงจากหลังเสือ ก็บาดเจ็บตลอด นายกฯ กล่าวว่า ก็ลงให้เป็น หรือฆ่าเสือก่อนดี

 

ปัดข่าวดึงประสารมาแทนหม่อมอุ๋ย

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงรายการคืน ความสุขของคนในชาติว่า จะพูดให้น้อยลง ใช้เวลา 30 นาทีโดยประมาณ ซึ่งทีมงานดูอยู่ว่าจะเลื่อนเวลาออกอากาศได้หรือไม่ และ จะปรับให้รองนายกฯ พูดออกอากาศใน วันธรรมดา เมื่อถามว่าเคยนั่งดูตัวเองออกรายการบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ดูอยู่ ก็รู้สึกเบื่อ จะไปดูแต่อีแย้มก็ตาย ไปแล้ว เขาบอกว่าตอนนี้อีแย้มสู้นายกฯ ไม่ได้แล้ว ตายไปแล้ว แต่สิ่งที่พูดนั้นมีจุดมุ่งหมาย พูดเพื่อให้เกิดมุมมองวิสัยทัศน์เพื่อพัฒนาในวันหน้า" 

ผู้สื่อข่าวถามถึงกระแสข่าวปรับครม.ฝ่ายเศรษฐกิจ โดยให้นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาเป็นรองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ นายกฯ กล่าวว่า ใครบอก นักข่าวไปตั้งเอาเองแล้วกัน ตนบอกแล้วว่าการทำงานมีหลายอย่าง และยังขึ้นอยู่กับการสั่งการในครม. ทุกอย่างเป็นมติครม. ทุกคนก็ฟังกันอยู่ ทุกกระทรวงไม่ได้เดินงานเอง แต่ต้องเดินตามมติครม.และทำตามแนวทางนโยบายที่ตนให้ไป

       เมื่อถามว่าม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รอง นายกฯ ยังทำงานได้ดีใช่หรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไม ม.ร.ว.ปรีดิยาธร แก้เศรษฐกิจไม่ได้หรืออย่างไร ตอนนี้ยังเดินหน้าอยู่ บางอย่างก็ไม่สามารถแก้ได้ด้วยความรวดเร็ว ตนถามนักเศรษฐศาสตร์ทุกคน แม้กระทั่งนายประสาร ก็บอกว่าหลักการทุกอย่างถูกต้องหมดแล้ว แต่มันเป็นปัญหาในเชิงจุลภาค เมื่อข้างบนไม่เข้มแข็งก็ต้อง แก้ข้างบน ทั้งเอสเอ็มอี ธุรกิจการส่งออกที่เดิมอาจมีโครงสร้างไม่ชัดเจน แยกกันทำ ถ้ารัฐบาลไม่เอาใจใส่ ไม่บูรณาการก็แก้ปัญหาไม่ได้ จึงต้องทำโครงสร้างให้เข้มแข็ง ใช้เวลาปีเดียว ไม่พอ

 

คสช.ไม่รังแกใคร-ผิดว่าไปตามผิด

       เมื่อถามถึงการแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติ โดยให้แกนนำคู่ขัดแย้งที่เป็นต้นเหตุมาเจรจา นายกฯ กล่าวว่า เขาไม่มา เรื่องนี้ทำไปแล้ว ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เรียกมาคุยกันแล้ว ผู้สื่อข่าวถามว่าทำไมนายกฯ ไม่ทำเอง พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ทำไมต้องเป็นตน ถ้าเขามาบอกว่าให้ตนยกโทษทั้งหมด ตนจะให้เขาได้หรือไม่ ซึ่งตนเห็นว่ากฎหมายว่าอย่างไร ก็ต้องว่าตามนั้น รับโทษกันหรือยัง ถ้ารับโทษมีเหตุอันควรปรานี แต่ถ้าจะปรองดอง มีพิเศษ มาคุยแล้วบอกให้ยกโทษทั้งหมด แล้วคนที่ตาย เจ็บ จะทำอย่างไร เขาลำบากเดือดร้อน หรือเอาเงินฟาดหัวไปแล้วเลิก มันก็ไม่ได้ คนทำความผิดต้องถูกลงโทษก่อน โดยเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

"วันนี้คสช.ไม่ได้รังแกใคร ถ้าใครผิดก็ว่าไปตามผิด คดีก่อนวันที่ 22 พ.ค. 57 อะไรที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมก็นำเข้าสู่คดีให้หมด จะเป็นพวกไหนก็เอาเข้าหมด แต่มีบางพวกที่ไม่ยอมเข้า เพราะอะไร ถ้าถูกก็ต้องเข้ามา แสดงว่าเขาไม่ถูกใช่หรือไม่ ถึง ไม่กล้ามา และกลายเป็นว่ารัฐรังแก แต่กฎหมายก็คือกฎหมาย" นายกฯ กล่าว

      เมื่อถามว่าจำเป็นหรือไม่เรื่องการรับโทษต้องเป็นไปตามที่กฎหมายระบุไว้ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไปหารือโดยกระบวนการยุติธรรม แต่ข้อสำคัญ ประชาชนทั้งประเทศยอมหรือไม่ อีกพวกยอมหรือไม่ ถ้ายอมก็ ว่ามา แต่ตอนนี้ก็จะเอาเป็นเอาตายทั้งคู่ ส่วนจะต้องให้คู่ขัดแย้งมานั่งคุยกันอีกหรือไม่นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เขาทำมาหลายครั้งแล้ว ตอนนี้เขาก็นั่งคุยกันแล้วรวมหัวมาเล่นงานรัฐบาลอยู่

 

ชี้มีคนแจ้งเอาผิดทักษิณคดี 112

       ผู้สื่อข่าวถามว่ากระทรวงการต่างประเทศถอนพาสปอร์ตพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะกดดันให้มีการเคลื่อนไหวมากขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า แล้วแต่พ.ต.ท.ทักษิณ จะเคลื่อนไหวก็ทำไป กฎหมายมีอยู่ เคลื่อนไหวอีก ก็มีอีก

เมื่อถามว่าผลการให้สัมภาษณ์ที่เกาหลีของพ.ต.ท.ทักษิณ จะถูกดำเนินคดีอาญามาตรา 112 เพิ่มอีกหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตนไม่ได้เป็นคนทำ ประชาชนแจ้งความกับตำรวจเยอะ ทางกองทัพบกก็แจ้งมาเพราะหมิ่นประมาท สร้างความเกลียดชัง พูดจาให้ร้ายกองทัพ ซึ่งมีกฎหมายดำเนินการ ส่วนกรณีนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุลอดีตรอง นายกฯ และรมว.ต่างประเทศ บอกจะคืน พาสปอร์ตให้พ.ต.ท.ทักษิณ หากได้กลับมาเป็นรัฐบาลนั้น ขึ้นอยู่กับประชาชน และกระบวนการยุติธรรมจะให้เขากลับมาอีก หรือไม่

 

ยอมรับถอดยศแม้วเรื่องหนักหนา

       ส่วนการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณนั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เรื่องนี้มีหน่วยงานที่รับผิดชอบอยู่แล้ว เราทุกคนไม่อยากให้รุนแรงเกินไป เดี๋ยวจะเข้าทางและถูกกล่าวหาว่ารังแก ซึ่งอยากให้เขาเข้าใจและลดระดับลงบ้าง แต่เขาไม่เปลี่ยนแปลงเลย เดี๋ยวมันก็ถึงขั้นนั้นจนได้ โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเป็นผู้ปฏิบัติ ซึ่งตนไม่ได้ห้าม ถ้าผิดมีปัญหา ทางเจ้าหน้าที่ต้องกล้าทำ ทุกอย่างจะให้ตนตัดสินใจหมด มันจะลงมาที่ตนคนเดียว แต่ถึงอย่างไรมันก็ลงอยู่แล้ว แต่ควรช่วยตนบ้าง 

      "ถามว่าทำไมไม่ทำในสมัยรัฐบาลก่อนรัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร วันนี้กลับมาไล่ให้ผมทำ รัฐบาลโน้นเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจเต็มมาจากการเลือกตั้ง แต่รัฐบาลผมไม่ใช่ ซึ่งเรื่องนี้ต้องให้หน่วยงานพิจารณามา เช่นเดียวกับการถอนพาสปอร์ต ถอนทั้งสองเล่มทั้งพลเรือนและทางการทูต ก่อนหน้านี้เคยถูกถอนแล้วแต่รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ มาคืนให้ เมื่อทำผิดก็ต้องถอน มันคือกติกาของกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนการถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณมันหนัก เพราะต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ ทำไมต้องนำพระองค์ท่านลงมาอีก ตอนนี้พระองค์ท่านก็ถูกอ้างอิงเยอะ สถาบันเสียหายพออยู่แล้ว" นายกฯ กล่าว

       เมื่อถามว่ามีแนวทางถอดยศ โดยใช้อำนาจจากการทำรัฐประหารหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ได้ ถ้าถึงเวลาแล้วจะทำ ไม่ต้องมาเร่ง ต้องเก็บไว้บ้าง แต่ถ้าทำ ตนก็ถูกกล่าวหาว่าไม่เป็นธรรม ซึ่งอำนาจคสช. ที่มี ตนทำได้ทุกอย่าง แต่ยังไม่ทำและจะทำเมื่อถึงเวลา ไม่ใช่ไม่ทำ การจะทำอะไรต้อง มีเหตุผล ชัดเจนและมีกฎหมาย

 

ไม่เคยคุย"แม้ว-ปู"หลังปฏิวัติ 

      เมื่อถามว่าตั้งแต่เข้ามาควบคุมอำนาจ พ.ต.ท.ทักษิณได้ติดต่อนายกฯ โดยตรงหรือผ่านใครบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ปฏิเสธว่า ไม่เคย ตนจะไปพูดด้วยทำไม พูดไม่ได้ ถ้าติดต่อมาก็ไม่พูด เพราะวันนี้เราเป็น เจ้าหน้าที่รัฐ ติดต่อผ่านใครมาก็ไม่ฟัง ถามว่าจะติดต่อเรื่องอะไร หากจะปรับความเข้าใจกับตน ก็คงไม่มีเพราะตนไม่ได้เข้าใจผิดกับ พ.ต.ท.ทักษิณ แต่เขาทำผิดกฎหมาย วันนี้ ทุกอย่างอยู่ในกระบวนการยุติธรรม

        เมื่อถามว่าได้พูดคุยกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่มี จะพูดเรื่องอะไร มันอยู่ในกระบวนการยุติธรรมหมดแล้ว ตนกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้บาดหมางกัน ตนทำงานกับรัฐบาลมา สิ่งไหนที่สามารถยุติได้ ตนก็บอก แต่เมื่อฝืนทำไปแล้วตนก็ช่วยไม่ได้ ตรงนี้เป็นเรื่องกฎหมาย และบอกว่าตนรับผิดชอบร่วมด้วยไม่ได้ เมื่อถามว่าจะมีเรื่องปรองดองหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าปรองดองคือการยกโทษนั้นทำไม่ได้ เพราะไม่มีผลอะไรทั้งนั้น

 

ไม่การันตีปลอดภัย-ถ้ากลับไทย

        เมื่อถามว่าถ้าส่งแผนปฏิรูปให้รัฐบาลใหม่ ขณะที่สีเสื้อยังไม่สลาย ปัญหาจะจบหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถามตนได้อย่างไร ต้องถามใจคนทั้งประเทศ 67 ล้านคน อยากปรองดองหรือไม่ และจะเลิกสนับสนุนนักการเมืองที่ไม่ดีหรือไม่ แต่เรื่องสีเสื้อ ทางศปป.สำรวจแล้วพบว่ามีน้อยลงหากไม่มีใครไปปลุกระดม ก็จะไม่มี และ ยังบอกด้วยว่าสบายหูด้วยซ้ำ ไม่มีใครมาปลุกระดม แต่ความยากจนถ้าใครไปชักจูงมันอาจมีบ้าง ซึ่งเราต้องลดความเหลื่อมล้ำ แก้ความยากจน ต้องบอกว่าให้รอ ต้องอดทน เรากำลังทำอยู่ การดำเนินการต้องไม่ให้ประชาชนแตกแยก

     "เรื่องพ.ต.ท.ทักษิณ ผมไปเคลียร์เรื่องกฎหมายไม่ได้ เขาเป็นใคร ผมเป็นเจ้าหน้าที่ ใครทำผิดกฎหมายก็มาเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม มาต่อสู้คดีก็จบแล้ว มันจบตั้งนานแล้ว ถ้ามา มันก็ไม่เละขนาดนี้" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่ามีข่าวว่าพ.ต.ท.ทักษิณไม่กล้ากลับประเทศไทยเพราะกลัวตาย กลัวถูกลอบทำร้าย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ศัตรูของพ.ต.ท.ทักษิณ มีหรือเปล่า ตนไม่รู้ เมื่อถามว่าจะดูแลความปลอดภัยให้พ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ถ้ากลับมาสู้คดี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจเขามี "ผมไม่การันตี ผมไม่รู้ท่านไปสร้างรอยแค้นกับใครไว้บ้าง เป็นศัตรูกับใครแค่ไหน แค่ตัวผมเองยังต้องระวัง ให้กลไกดูแลไป มันอยู่ที่ว่าทำให้คนเกลียดแค่ไหน ขณะเดียวกันผมอาจทำให้คนเกลียดก็ได้" 

       เมื่อถามว่าทำไมเครื่องบินส่วนตัวของพ.ต.ท.ทักษิณ จึงบินเข้ามาในประเทศไทยได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้ามีจริงก็ปลดให้หมดทั้งสนามบิน กฎหมายมีอยู่แล้วจะมาได้อย่างไร แต่ถ้าถูกกฎหมายก็มาได้หมด

 

เสธ.ทบ.แจงกรณีเอาผิดแม้ว

        เมื่อเวลา 11.00 น. ที่บก.ทบ. พล.อ. ฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข เสนาธิการทหารบก ในฐานะรองเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงพล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผบ.ทบ. ให้เจ้าหน้าที่พระธรรมนูญ ไปแจ้งความเอาผิดกับพ.ต.ท. ทักษิณ ที่ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่ประเทศเกาหลีใต้ และพูดพาดพิงสถาบันว่า ทาง เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังตรวจสอบเทปการให้สัมภาษณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณอยู่ ถ้าผิดจริง ก็ต้องดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งไม่ใช่ เฉพาะพ.ต.ท.ทักษิณ มีหลายคนที่โดนคดีนั้นอยู่ ก็ต้องถูกดำเนินการ ใครทำผิดต้องรับผิดไป ไม่เช่นนั้นจะเข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ 

"ยืนยันเราไม่เคยใช้มาตรา 112 ในทางการเมือง หากไปดูคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดความผิดเหล่านี้ ถูกศาลตัดสินและมีความผิดทุกคน ซึ่งมาตรา 112 เป็นกฎหมายหมิ่นธรรมดา ถ้าใครหมิ่นคุณ คุณก็ต้องฟ้อง เช่น กล่าวหาว่าผมมีเมียน้อยหลายคน ผม ก็ต้องฟ้องเพราะไม่ใช่เรื่องจริง" พล.อ. ฉัตรเฉลิมกล่าว และว่า ขณะนี้มีผู้ที่กระทำความผิดมาตรา 112 น้อยลง โดยเฉพาะการใช้ช่องทางโซเชี่ยล เพราะเจ้าหน้าที่เอาจริง และจะมาอ้างว่าเป็นคดีการเมืองหรืออะไรก็ตาม คนไม่ฟังอีกแล้ว เพราะทุกอย่างเราดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม หาก คิดว่าตัวเองบริสุทธิ์ หรือถูกเจ้าหน้าที่รัฐ ใช้กฎหมายนี้เพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง ก็ไปต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายกฯและทหารทุกคนก็ไม่อยากอยู่ในสภาพแบบนี้ อยากให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย ซึ่งขณะนี้ประเทศก็ดีขึ้นเรื่อยๆ และเดินไปข้างหน้าได้

 

สมยศ รับมีผู้แจ้งความดำเนินคดี

       ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ. สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผบ.ตร. กล่าวถึงกรณีกระทรวงการต่างประเทศประกาศเพิกถอนหนังสือเดินทาง 2 เล่มของพ.ต.ท.ทักษิณ โดยอ้างอิงว่าตร.เป็นผู้ประมวลเรื่องเสนอว่าหลังจากมีการให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ก็มีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญา กรรมทางเทคโนโลยี(ปอท.) จากนั้น ปอท.ประมวลเรื่องเสนอตนเพื่อขอความเห็นตามลำดับขั้น ผ่านตน ตนประมวลเรื่องไปตามขั้นตอนของกฎหมายตามที่ปอท.และฝ่ายกฎหมายเสนอมา เสนอต่อไปยังฝ่ายความมั่นคง หลังจากนั้นเป็นเรื่องที่ฝ่ายความมั่นคงหรือรัฐบาลดำเนินการ ตร.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งตามที่ปอท.เสนอขึ้นมาก็เข้าข่ายความผิดหลายมาตรานอกเหนือจากมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา 

       เมื่อถามว่า ได้ดูคลิปให้สัมภาษณ์ของพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ พบเข้าข่ายความผิดอย่างไร พล.ต.อ.สมยศ กล่าวว่า ตนได้ดู แต่จะใช้ดุลพินิจส่วนตัวพิจารณาไม่ได้ ต้องว่าไปตามกฎหมายพิจารณาตามความคิดเห็นของปอท.ร่วมกับฝ่ายกฎหมายของตร. ด้วย ตนไม่ได้ใช้ดุลพินิจส่วนตัว

 

เผยตั้ง"ชัยยะ"พิจารณาถอดยศ

      เมื่อถามถึงการพิจารณาถอดยศ ผบ.ตร.กล่าวว่า เรื่องนี้ตนได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาโดยมีพล.ต.อ.ชัยยะ เป็นประธานคณะกรรมการ เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องนี้โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่ไปตรวจสอบ สอบสวน หาข้อมูลหลักฐานสิ่งที่นำมาเข้าสู่กระบวนการ

      ถามว่าการถอนหนังสือเดินทางของพ.ต.ท.ทักษิณ ในตอนนี้ อาจเป็นการนำมาสู่ความขัดแย้งแตกแยกในสังคม ในสถานการณ์ที่ต้องการความปรองดองสูง ผบ.ตร.กล่าวว่า สิ่งที่ทำ ทำไปตามกระบวนการทำตามขั้นตอนของกฎหมาย 

"ไม่มีความรู้สึกใดมาแอบแฝง ไม่มีความรู้สึกส่วนตัว เข้ามาเกี่ยวข้อง บางครั้งอะไรต้องดำเนินการก็ต้องดำเนินการ อะไรที่เราต้องดำเนินการแต่เราปล่อยปละละเลย ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องก็มีความเสี่ยงที่จะต้องรับผิดชอบในสิ่งเหล่านั้นเสียเอง ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจด้วยว่าบางครั้งมันหลีกเลี่ยง ไม่ได้" พล.ต.อ.สมยศ กล่าว 

        เมื่อถามว่าจากกรณีนี้ให้สันติบาลติดตามข่าวความเคลื่อนไหวของกลุ่มที่ยังสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นพิเศษ หรือไม่ ผบ.ตร.กล่าวว่า อันนี้เป็นหน้าที่หลัก ถึงเหตุการณ์ปกติทั่วไป

 

ทบ.ก็ฟ้องด้วย-คดี 112 ถึงมืออัยการ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผบ.ทบ. มอบหมายให้ พล.ต.ศรายุทธ กลิ่นมาหอม ผอ.สำนักพระธรรมนูญ กองทัพบก เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณที่ศาลอาญา โดยคดีดำเลขที่ 1824/2558 ตั้งแต่วันที่ 26 พ.ค. ฐานความผิดคดีหมิ่นประมาท หลังจากพ.ต.ท.ทักษิณ ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศ มีเนื้อหาเข้าข่ายต่อความมั่นคงของประเทศ โดยเฉพาะความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112-326 และ 328

     นายวันชัย รุจนวงศ์ อธิบดีอัยการสำนักงานต่างประเทศ และโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด(อสส.) เปิดเผยถึงความคืบหน้ากรณีพนักงานสอบสวน ปอท. ส่งสำนวนคดีให้อัยการ เพื่อให้ดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ว่า เบื้องต้นสำนักงานอัยการสูงสุด รับสำนวนคดีดังกล่าวจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้ว ซึ่งเป็นความผิดที่เกิดขึ้นนอก ราชอาณาจักร ตามขั้นตอนจึงต้องเสนอเรื่องให้นายตระกูล วินิจนัยภาค อสส. เป็น ผู้พิจารณา โดยอสส.จะเป็นผู้สั่งตั้งพนักงานสอบสวนที่เป็นผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้เพื่อพิจารณาต่อไป แต่ขณะนี้สำนวนคดียัง ไม่ได้ส่ง อสส. เนื่องจากอัยการเพิ่งจะได้รับสำนวนมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

เผยรับเรื่องจากผู้ตรวจการฯ 

        ด้านพล.ต.อ.ชัยยะ ศิริอำพันธ์กุล ที่ปรึกษา (สบ 10) ในฐานะประธานคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ กล่าวถึงการดำเนินการพิจารณาถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณว่า กรณีนี้สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีหนังสือลับ ด่วนที่สุด ที่ผผ.20/351 ลงวันที่ 7 สิงหาคม 2557 แจ้งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำข้อเท็จจริงในประเด็นที่พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งเป็น ผู้ที่มิได้อยู่ในราชการ หรือหน่วยงานของรัฐ และตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป ตามหมายจับของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองรวม 5 คดี และกองทะเบียนประวัติอาชญากร ได้ออกประกาศสืบจับผู้กระทำความผิด ฉบับที่ 489/2551 ซึ่งอยู่ในหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 (6) แห่งระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 มาประกอบการพิจารณาดำเนินการถอดยศตำรวจพ.ต.ท. ทักษิณ โดยผู้ตรวจการแผ่นดินขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติพิจารณาตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 และแนวทางปฏิบัติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อเป็นบรรทัดฐานเดียวกันต่อไป 

      พล.ต.อ.ชัยยะ กล่าวว่า ผบ.ตร.จึงได้มี คำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการถอดยศตำรวจ ตามคำสั่ง ตร.ที่ 256/2558 ลงวันที่ 1 พ.ค.2558 โดยมีตนเป็นประธาน พล.ต.ท.กวี สุภานันท์ ผู้ช่วยผบ.ตร. เป็นรองประธาน ผบช.สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ผบช.สง.ก.ตร.) ผบช.สกพ. ผบช.กมค. หรือผู้แทน ผบก.กองวินัย เป็นกรรมการและเลขานุการ โดยคณะกรรมการชุดนี้มีอำนาจหน้าที่พิจารณาให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่าด้วยการถอดยศตำรวจ พ.ศ.2547 

 

ได้ข้อสรุปถอดยศ-ชงผบ.ตร.แล้ว 

      พล.ต.อ.ชัยยะกล่าวต่อไปว่า สำหรับเหตุอย่างใดอย่างหนึ่งในการถอดยศตำรวจ ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยถอดยศ มีด้วยกัน 7 ข้อ แต่คณะกรรมการชุดนี้พิจารณาเฉพาะใน ข้อ 1 (6) ที่ระบุว่า ต้องหาในคดีอาญาแล้วหลบหนีไป สำหรับผู้ที่มิได้อยู่ในราชการหรือหน่วยงานของรัฐเท่านั้น โดยที่ประชุมได้มีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีเอกสารยืนยันเป็นที่ประจักษ์จากหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้ต้องหาหลบหนีคดีอาญา จึงเข้าข่ายเหตุอย่างหนึ่งอย่างใดในการถอดยศ ข้อ 1 (6) ตามระเบียบ ตร.ว่าด้วยการถอดยศ เตรียมนำเสนอผบ.ตร.พิจารณาได้ ภายใน 1-2 วันนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างทบทวนในรายละเอียด รวมทั้งการรวบรวมเอกสารต่างๆ ที่จะนำมาประกอบในการพิจารณาให้ครบถ้วนสมบูรณ์กว่านี้ 

       เมื่อถามว่าคณะกรรมการชุดนี้ได้สรุปความเห็นว่าควรถอดยศพ.ต.ท.ทักษิณหรือไม่ พล.ต.อ.ชัยยะกล่าวว่า ผลสรุปของคณะกรรมการรอให้ผบ.ตร.เป็นผู้ให้สัมภาษณ์ ตนบอกได้เพียงว่าคณะกรรมการได้สรุปความเห็นไปแล้ว ยืนยันว่าการพิจารณาครบถ้วนสมบูรณ์ทุกอย่างแล้ว มีทุกมิติ สามารถตอบคำถามได้ทั้งหมด

 

วิษณุโต้ยังไม่มีเรื่องแก้มาตรา 38

      เมื่อเวลา 12.15 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวมีการเรียกประชุมครม.นัดพิเศษในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อพิจารณาเรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ว่า เป็นการประชุมครม.เศรษฐกิจเท่านั้น เมื่อถามถึงข่าวคสช.เตรียมหารือเพื่อขอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 38 เพื่อต่ออายุสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายวิษณุกล่าวว่า "ผมเป็นคนทำเรื่องนี้ แต่ผมไม่รู้ ไม่ เคยมี"

      เมื่อถามว่าครม.ขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เกี่ยวกับหมวดเรื่องพลเมืองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มีขอให้ทบทวนเรื่องดังกล่าว แต่ไม่ได้ขอให้แก้ไข เพราะหากแก้ไขจะต้องแก้ถึง 100 มาตรา จึงขอให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญไปทบทวนดูใหม่ หากเขาไม่ทบทวน ก็ไม่ว่าอะไร ส่วนที่มีสมาชิกสปช.เสนอให้เขียนบทเฉพาะกาลนิรโทษกรรมให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการเมืองทุกฝ่าย นายวิษณุกล่าวว่า ไม่ทราบ คงขอแปรญัตติเป็นการส่วนตัว

       รายงานข่าวเปิดเผยว่าเย็นวันเดียวกัน มีการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยมีการหารือการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ที่ประชุมได้เสนอไว้หลายแนวทาง แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปอย่างใดอย่างหนึ่ง

 

สนช.เปิดรับฟังคำชี้แจง 2-6 มิ.ย.

      ที่รัฐสภา ในการประชุมกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ คนที่สอง เป็นประธานการประชุม มีวาระพิจารณาความคืบหน้ากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ของสปช. และครม. 

      ก่อนเข้าสู่วาระ ฝ่ายเลขานุการกมธ. ยกร่างฯ ชี้แจงว่า หลังจากกมธ.ยกร่างฯ ได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากสปช.และครม. ขณะนี้ได้จัดทำเป็นเอกสารรูปแบบตารางสรุปข้อเสนอและความเห็นแบบเป็นรายมาตรา โดยเอกสารดังกล่าวจะระบุว่าตั้งแต่มาตรา 1 ถึงมาตรา 315 

       นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ. ยกร่างฯ แถลงผลการประชุมว่า ได้พิจารณากำหนดกรอบเพื่อรับฟังคำชี้แจงจากสปช. และครม. ซึ่งมีทั้งสิ้น 9 กลุ่ม ผู้ชี้แจงกลุ่มละไม่เกิน 5 คน ใช้เวลา 3 ช.ม. ชี้แจงตั้งแต่ วันที่ 2-6 มิ.ย.นี้ ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะเน้นการรับฟังความเห็นของผู้ยื่นเสนอขอแก้ไขเป็นหลัก จะไม่มีการแสดงความเห็นโต้แย้งหรืออภิปราย แต่จะยึดประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปประเทศอย่างแท้จริง หลังจากรับฟัง คำชี้แจงจากทั้ง 9 กลุ่ม รวมทั้งข้อเสนอของพรรคการเมือง และภาคส่วนต่างๆ กมธ. ยกร่างฯ จะกำหนดประเด็นหลักในการพิจารณาเป็นหมวดหมู่ ดูแต่ละหมวดว่ามีคำขอแก้ไขในประเด็นใดบ้างก่อนนำมาพิจารณารายละเอียดแต่ละมาตรา เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมในแต่ละมาตรานั้น 

 

คำร้องกมธ.ปฏิรูปการเมืองมากสุด

      นายคำนูณกล่าวว่า เท่าที่ดูรายละเอียดในเอกสารคำขอแก้ไข พบว่าคำขอของกมธ.ปฏิรูปการเมือง และกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เสนอให้ปรับแก้ไขมากที่สุด 334 จุด ส่วนมาตราที่ทั้ง 9 กลุ่ม เสนอปรับแก้ไขคือ มาตรา 121 ที่มาส.ว. และมาตรา 279 การตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ โดยแต่ละกลุ่มขอปรับแก้ในรายละเอียดที่แตกต่างกัน ส่วนที่เสนอขอปรับแก้มากรองลงมา คือ มาตรา 62 63 และ 64 ว่าด้วยสิทธิชุมชน และสิทธิทรัพยากร 

      "ยืนยันว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่ตัดสินใจปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากต้องให้เกียรติผู้ยื่นขอแก้ไขทั้ง 9 กลุ่ม ซึ่งตลอดสัปดาห์นี้จนถึงสัปดาห์หน้า จะเป็นช่วงรับฟังคำขอแก้ไข โดยจะพิจารณาทั้งจำนวน และความเห็นของทุกคำขอแก้ไขควบคู่กัน ส่วนคำขอของครม.ที่แนบความเห็นของ นายกฯ และครม.เกี่ยวกับการตั้งข้อสังเกตบางประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญนั้น ขอชี้แจงว่าบางประเด็นไม่ใช่การขอแก้ไข แต่ให้ข้อสังเกต เพื่อให้กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนให้รอบคอบ" โฆษกกมธ.ยกร่างฯ กล่าว

 

สนช.ขอตัดคำว่า"พลเมือง"ออก

       ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกมธ.พิจารณาศึกษาเสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ได้มอบผลสรุปและข้อเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ผ่านพล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ สมาชิกสนช. ในฐานะกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ 24 ประเด็น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนช.เสนอแก้ไข 24 ประเด็น มีที่สำคัญ อาทิ ให้ตัดคำว่าพลเมืองออก โดยใช้คำว่าบุคคลแทน, สนช.เห็นด้วยกับที่มานายกฯ คนนอก แต่เสนอให้วุฒิสภาปฏิบัติหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร กรณีที่ไม่มีสภาและนายกฯ รักษาการ, เสนอให้ตัดมาตรา 181-182 และกลุ่มการเมืองออกทั้งหมด, เห็นด้วยกับหลักการที่มา ส.ส.และระบบโอเพ่นลิสต์ แต่ให้ส.ว.ให้มาจากการสรรหาทั้งหมด โดยตัดอำนาจ ส.ว.ในการเสนอกฎหมายและถอดถอนบุคคลที่วุฒิสภาไม่ได้ให้ความเห็นชอบ แต่ให้ส.ว.ถอดถอน ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงเพียงสภาเดียว

     นอกจากนี้ เสนอให้คงอำนาจหน้าที่กกต.ไว้เช่นเดิม และไม่ให้ควบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินและกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) รวมทั้งไม่เห็นด้วยในการตั้งองค์ใหม่ ยกเว้นคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ สภาขับเคลื่อน การปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ

      สนช.ยังเสนอให้กำหนดเงื่อนไขห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้เป็นเวลา 5 ปี หลังประกาศใช้ เพื่อให้เกิดการปฏิรูปด้านต่างๆ ก่อน และเสนอให้ ส.ว.ที่ดำรงตำแหน่งวันที่ 24 พ.ค.2557 และยังไม่ครบวาระแต่ต้อง พ้นจากตำแหน่งตามคำสั่งของคสช. เข้าสู่ตำแหน่ง ส.ส.และส.ว.ได้ โดยไม่ถือว่า มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญนี้ แต่ ไม่ครอบคลุมถึง ส.ว. ที่ปฏิบัติหน้าที่ใน ปี 2551-2557 (รายละเอียดอ่านน. 3)

 

เอนกชี้ไม่ปรองดองคุยกันในคุก

      ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ที่มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสปช. เป็นประธานการประชุม พิจารณาร่างรายงานและข้อเสนอแนะเบื้องต้นของคณะกรรมการฯ โดยนายเอนกแจ้งว่า จะสัมมนาโดยเชิญเสื้อเหลืองและเสื้อแดงมาพูดคุยเป็นระยะ เพื่อหาทางปรองดอง มองว่าหากไม่ทำให้เกิดปรองดองต่อทุกฝ่ายได้ ผู้ใหญ่ของบ้านเมืองจะไม่เสนอนิรโทษกรรมและอภัยโทษ ดังนั้น ต้องหาทางพูดคุยกันให้เกิดปรองดอง 

นายเอนกระบุว่า ล่าสุดได้พูดคุยกับพล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รมว.แรงงาน ในที่ประชุม ศปป.ว่า ถ้าไม่หาทางปรองดอง จะทำให้ต่างคนต่างอยู่ คงต้องไปพูดคุยกัน ในคุก ซึ่งในคุกจะไม่มีเสื้อเหลืองและเสื้อแดง เพราะวันนี้แกนนำพันธมิตรฯ ถูกจำคุก 2 ปี ก็ถือว่าเหนื่อยแล้ว

       ก่อนเข้าสู่วาระ พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ กรรมการฯ ได้ยกเหตุการณ์ที่นักศึกษาชุมนุมครบรอบ 1 ปี เหตุการณ์รัฐประหาร ใน 2 แห่งคืออนุสรณ์สถาน 14 ตุลา และหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครขึ้นมาหารือ เพราะมีนักศึกษาที่มาร่วมแสดงสัญลักษณ์ ยืนยันรู้ข่าวจากโซเชี่ยลมีเดียให้มาแสดงศิลปะรำลึก แต่ส่วนตัวได้เตือนนักศึกษากลุ่มที่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว ที่อนุสรณ์สถานแล้วว่า ขณะนี้ยังไม่มีประชาธิปไตยยังแสดงออกไม่ได้ ต้องรอ ให้รัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ก่อน 

 

ดิเรกหนุนนิรโทษฯ-อภัยโทษ

     ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด แม่ของน.ส. กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 ในฐานะกรรมการฯ ระบุว่า ได้ไปสังเกตการณ์กลุ่มนักศึกษาที่ถูกควบคุมตัวหน้าหอศิลปฯ อาจกระทบต่อบรรยากาศสร้างความปรองดองได้ เพราะนักศึกษาใช้สิทธิเสรีภาพทำกิจกรรมโดยสงบ แต่ถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัว อีกทั้งคณะทำงานด้านความปรองดองอย่าง ศปป. จะมาอ้างว่าไม่รับรู้การกระทำของ กอ.รมน. ที่เป็นฝ่ายความมั่นคงไม่ได้ เนื่องจากเป็นทหารเหมือนกันต้องคุยกัน 

       ขณะที่นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกรรมการ เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดแนวทางสร้างปรองดอง ส่วนที่พรรค การเมืองต่อต้านคณะกรรมการอิสระแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ เพราะกลัวจะมีนิรโทษกรรม ตนยืนยันว่าเห็นด้วยกับการให้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลและรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องอภัยโทษและนิรโทษกรรม

      จากนั้นที่ประชุม หารือถึงร่างรายงานและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ว่า ควรจัดทำรายงานฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จก่อนที่ สปช.ลงมติร่างรัฐธรรมนูญร่างสุดท้าย เพื่อเสนอรายงานต่อประธาน สปช. ให้ที่ประชุม สปช. พิจารณาพร้อมเสนอให้ครม.รับทราบ โดยมีกรรมการฯ เสนอให้บรรจุเรื่องนิรโทษกรรมไว้ในท้ายบทตัวรายงานด้วย แต่มีการตั้งข้อสังเกตว่าหากบรรจุไว้อาจไม่ได้รับความเห็นชอบตัวรายงานได้ ดังนั้น ที่ประชุมได้นัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 7 มิ.ย.เพื่อจัดทำร่างรายงานเสนอต่อที่ประชุมสปช.ต่อไป 

 

เลขาฯนายกฯแนะนำทีมโฆษก

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะรักษาการโฆษกประจำสำนักนายกฯ ได้แนะนำทีมงานโฆษกรัฐบาล ประกอบด้วย พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ พล.ต.ม.ล. กุลชาติ ดิศกุล นายเจษฎา ติวยานนท์ และน.ส.มนทิรา วิโรจน์อนันต์ 

พล.อ.วิลาศกล่าวว่า การทำงานของทีมโฆษกฯ ยังเหมือนเดิมตั้งแต่วันแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงาน และทีมงานยังเป็นชุดเดิม ซึ่งตนจะดูในภาพรวมหลักทั้งหมด ขณะที่พล.ต.สรรเสริญจะชี้แจงในประเด็นหลักตามที่ได้รับมอบหมาย ส่วนงานด้านต่างประเทศ มีพล.ต.วีรชน มาช่วยดูแล ส่วนพล.ต.ม.ล. กุลชาติ จะดูในรายละเอียดของงานแต่ละเรื่องที่นายกฯ ต้องปฏิบัติภารกิจ 

ทั้งนี้ ทีมงานโฆษกฯ จะพยายามทำงานให้ได้ตามที่คาดหวัง ตามที่สื่อมวลชนต้องการ โดยเนื้อหาการชี้แจงจะหนักแน่นเหมือนเดิม เพราะเป็นทีมงานชุดเดิม หากทีมงานเห็นว่าควรเสริมจุดใดเพิ่ม จะพิจารณา หาคนมาช่วยงานเพิ่มได้ เพราะจุดประสงค์ของเราคือการทำงานเพื่อส่วนรวมและประเทศชาติ

 

แจงยงยุทธออก-มีปัญหาสุขภาพ

"ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ลาออกเพราะ มีความจำเป็นด้วยปัญหาสุขภาพและงาน อื่นๆ ไม่ได้มีปัญหาการทำงาน จริงๆ เขาอยากขอทำงานซักระยะและจะขอตัวออกไป ผมก็ทัดทานเขาไว้ถึง 3 ครั้งให้อยู่ช่วยกันก่อน เมื่อเขาจำเป็นก็ต้องเห็นใจ ตอนนี้ ผมกลัวว่าจะถูกกล่าวหาว่าทำไมรักษาการโฆษกฯ จึงไม่ทำหน้าที่ ต้องบอกว่าผมกำกับดูแลและการทำงานวันนี้ก็เหมือนเดิม วันนี้หากมีอะไรขาดตกบกพร่องต้องขออภัย" พล.อ.วิลาศกล่าว

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. มีคำสั่งให้เลื่อนช่วงเวลาการออกอากาศรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ประจำวันศุกร์ที่ 29 พ.ค. เป็นเวลา 17.00 น. แทนช่วงเวลาเดิมคือ 20.30 น. เพื่อให้ประชาชนร่วมส่งใจไปเชียร์นักฟุตบอลทีมชาติไทยในการแข่งขันฟุตบอลชาย ซีเกมส์ รอบแรก ในเวลา 19.30 น. ที่ประเทศสิงคโปร์

 

บิ๊กป๊อกพร้อมฟันขรก.ล็อต 2

       ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีลงโทษทางวินัยข้าราชการระดับสูงที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตยาปราบศัตรูพืชว่า การสอบสวนจะสอบถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต หากสอบสวนถึงใครก็จะลงโทษวินัยตามกฎหมาย ส่นผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ได้แจ้งผลมาที่ตนแล้ว ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกลงโทษมีสิทธิฟ้องร้องได้ ดังนั้น การตรวจสอบต้องรัดกุมเรียบร้อยทางกฎหมาย ไม่ให้มีช่องเกิดการฟ้องกลับได้ 

      เมื่อถามว่ากระทรวงได้รับรายชื่อแล้วหรือไม่ กรณีศอตช. มีมติเสนอชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องทุจริตล็อต 2 จำนวน 152 ราย พล.อ.อนุพงษ์กล่าวว่า ยังไม่ได้รับรายชื่อ ครั้งที่แล้วหน่วยงานดังกล่าวไม่ได้ส่งให้ตน แต่เป็นนายกฯ ที่นำมาให้ด้วยตัวเอง ครั้งนี้ จึงยังไม่ทราบในรายละเอียดและมีจำนวนมากน้อยเพียงใด 

     รมว.มหาดไทย กล่าวว่า การดำเนินการกับผู้ที่มีรายชื่อชุดแรกและชุดใหม่ จะเป็นมาตรฐานเดียวกัน ตนมอบให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้รับผิดชอบแล้ว โดยตนจะเป็นผู้กำกับดูแลให้เป็นไปตามระเบียบและกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่มันยุ่งยากเพราะมีข้าราชการกระทรวงอื่นมาเกี่ยวข้องด้วย เช่น เรื่องยาฆ่าแมลง ก็เร่งรัดอยู่แต่ต้องเป็นไปตามกฎหมายและข้อเท็จจริง ไม่ปล่อยให้เนิ่นนาน จะสอบก็ต้องสอบให้ครบถ้วน การลงโทษต้องทำทันที

 

เผยขรก.บึงกาฬโดนรูด 30 คน

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม อ.ก.พ. กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 27 พ.ค. นอกจากที่มีมติปลด นายสมพงศ์ อรุณโรจน์ปัญญา ผู้ตรวจราชการกระทรวง อดีต ผวจ.บึงกาฬ ออกจากราชการแล้ว อ.ก.พ.ยังมีมติลงโทษข้าราชการในจ.บึงกาฬ ที่มีส่วนเกี่ยว ข้องกับกรณีดังกล่าว กว่า 30 ราย ประกอบด้วย ปลัดจังหวัด นายอำเภอ ปลัดอำเภอและเสมียนตราอำเภอ ส่วนใหญ่ถูกลงโทษปลดออกจากราชการ แต่มีอีกส่วนหนึ่งรับโทษตัดเงินเดือน แต่ไม่ถูกออกราชการ เพราะให้การเป็นประโยชน์ จึงถูกกันเป็นพยาน

      นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงกรณีส่งรายชื่อข้าราชการทุจริตให้กับศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อส่งให้พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ พิจารณาว่า ป.ป.ช.พิจารณารายชื่อเสร็จแล้ว และส่งผ่านเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เพื่อรวบรวมรายชื่อเสนอต่อ ศอตช. โดยรายชื่อในส่วนของ ป.ป.ช. ส่วนใหญ่เป็นผู้บริหารท้องถิ่น ที่มีความผิดชัดเจนและ ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิดไปแล้ว ซึ่งมีจำนวนมากพอสมควร

 

ผู้ว่าฯ ร้อยเอ็ดขวาง พท.แจงส.ส.

     วันเดียวกัน นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตามที่ทีมงานฝ่ายกฎหมายนำโดยนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ พล.ต.ท. วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค เดินสายทำความเข้าใจแนวทางการชี้แจงของ อดีตส.ส.ที่จะถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ถอดถอนออกจากตำแหน่ง กรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ที่จ.เชียงใหม่และจ.อุดรธานีนั้น เป็นไปด้วยความเรียบร้อยแม้จะมีปัญหาอยู่บ้าง โดยที่จ.อุดรธานี ได้เชิญทหาร ตำรวจ ฝ่ายความมั่นคง เข้ารับฟังด้วยเพื่อยืนยันว่าการชี้แจงไม่ใช่การเคลื่อนไหวทางการเมืองใดๆ และขอขอบคุณฝ่ายความมั่นคงของจ.อุดรฯ ที่เข้าใจเป็นอย่างดี

      นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เดิมวันเดียวกันนี้นัดชี้แจงที่จ.ร้อยเอ็ด แต่ทราบว่าผู้ว่าฯ มีคำสั่งห้ามดำเนินการดังกล่าวและส่งฝ่ายทหารตำรวจมาเฝ้าระวังที่โรงแรมตลอดเวลา แม้จะประสานทำความเข้าใจแต่ก็ลำบาก เพื่อไม่ให้เกิดความไม่เรียบร้อยใดๆ ขึ้น แม้เราจะเห็นว่ามิใช่การชุมนุมทางการเมืองใดๆ และเพื่อความสบายใจของอดีตส.ส.ในพื้นที่และข้าราชการที่เกี่ยวข้อง จึงขอเลื่อนการชี้แจงออกไปก่อน โดยจะหาวิธีการที่เหมาะสมต่อไปในโอกาสหน้า 

 

แกนนำตัดสินใจยกเลิกนัดที่อุบลฯ

       นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประชุมที่จ.ร้อยเอ็ด ยกเลิกจริง แต่นายนิรันดร์ นาเมืองรักษ์ อดีตส.ส.ร้อยเอ็ด ได้เชิญทางแกนนำพรรคมาดูโครงการช่วยเหลือคนพิการ โครงการปรับปรุงรถเข็นช่วยเหลือคนพิการที่บ้านพักของนายนิรันดร์ ซึ่งเห็นว่ามีประโยชน์ก็เดินทางมา โดยมีอดีตส.ส.ในโซนอีสานมาดูด้วยเหมือนกัน จึงถือโอกาสพูดคุยเรื่องการต่อสู้คดี มีนายชูศักดิ์ ศิรินิล นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ร่วมชี้แจงทำความเข้าใจด้วย ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจ มาที่บ้านนายนิรันดร์ พวกตนจึงเชิญเจ้าหน้าที่เข้ามารับฟังการชี้แจงการต่อสู้คดี ชูเอกสารให้ดูด้วยจนจบ 

      "พวกผมได้ถามเจ้าหน้าที่ด้วยว่าฟังแล้วเห็นว่ามีปัญหาหรือไม่ เป็นการชุมนุมทางการเมืองหรือไม่ เจ้าหน้าที่บอกว่าไม่มีปัญหา เรียบร้อยดี ผมยืนยันเป็นการต่อสู้คดีถอดถอน อย่างไรก็ตาม จะยกเลิกนัดชี้แจงที่จ.อุบลราชธานีในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย" นายสามารถกล่าว

 

มท.1 รับสั่งจับตา-หวั่นวุ่นวาย

       รายงานข่าวจากพรรคเพื่อไทยแจ้งว่า หลังจากแกนนำและทีมกฎหมายพรรคตัดสินใจยกเลิกการชี้แจงทำความเข้าใจกับอดีตส.ส. ที่จ.อุบลราชธานี ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อเนื่องจากที่ฝ่ายความมั่นคงได้บุกเข้าไปในวงประชุมที่ จ.อุดรธานีเมื่อวันที่ 27 พ.ค. ปรากฏว่าช่วงบ่ายวันเดียวกันแกนนำและทีมกฎหมายได้แวะรับประทานอาหารกลางวันที่ร้านแห่งหนึ่งในจ.อุบลฯ ร่วมกับอดีตส.ส.ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น อุบลฯ ศรีสะเกษ ประมาณ 16 คน จึงถือโอกาสแจกเอกสารเพื่อเตรียมพร้อมสู้คดีถอดถอนแทนการพูดคุยทำความเข้าใจ ก่อนที่แกนนำและทีมกฎหมายจะขึ้นเครื่องบินกลับกรุงเทพฯ ในช่วงเย็น 

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการสั่งการจับตาความเคลื่อนไหวเป็นพิเศษ กรณีแกนนำพรรคเพื่อไทยเดินสายชี้แจงข้อกฎหมายกับอดีตส.ส.พรรคเพื่อไทย เพื่อสู้คดีถอดถอนกรณีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มาของส.ว.โดยมิชอบว่า ฝ่ายความมั่นคงและ คสช. ได้ทำงานร่วมกันอย่างเต็มที่อยู่แล้ว หากการดำเนินการไม่ขัดกับคำสั่งที่มีก็คงไม่เป็นอะไร แต่ถ้ามีการกระทำที่ผิดกฎหมายก่อให้เกิดความวุ่นวายก็ต้องดำเนินการ

 

จี้คดีรุกอุทยาน-วอน"ตู่"ใช้ม.44

      เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ที่อุทยานแห่งชาติสิรินาถ จ.ภูเก็ต เจ้าหน้าที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้รับฟังความคืบหน้ากรณีปัญหาการบุกรุกที่ดินอุทยานแห่งชาติสิรินาถว่า กรมอุทยานแห่งชาติฯ แจ้งกรมที่ดิน เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ ตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน 16 แปลง เนื้อที่กว่า 244 ไร่ และให้ยกเลิกคำขอออกโฉนด 5 ราย เนื้อที่กว่า 415 ไร่ โดยกรมที่ดินมีคำสั่งตั้งกรรมการสอบสวน 34 แปลง เนื้อที่กว่า 374 ไร่ รวมพื้นที่เสียหายทั้งหมด 1,035 ไร่ มูลค่า 31,052 ล้านบาท แต่การดำเนินการยังถือเป็นส่วนน้อย เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้นในอุทยานฯ มีมูลค่าสูงถึง 1 แสนล้านบาท

       ทั้งนี้ อุทยานแห่งชาติสิรินาถ ทำข้อเสนอแนะและแนวทางแก้ไขปัญหา 1.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างรวดเร็ว เพื่อให้ผู้กระทำผิดเกรงกลัว 2.การเพิกถอนตามมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และการดำเนินการกับเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดมีความล่าช้า เห็นควรเสนอให้รัฐบาลใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อดำเนินการ และ 3.เนื่องจากที่ดินที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ยังคงมีการซื้อขาย เปลี่ยนมือ เห็นควรให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหยุดทำธุรกรรมที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนมือ เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

      นายสมัคร ดอนนาปี ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า หวังว่าอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จะเป็นอีกเรื่องที่ ป.ป.ช.และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ต้องเข้ามาตรวจสอบ และดำเนินคดีอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้อง 

      นายสมัคร กล่าวถึงการบุกรุกที่ดินในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าเขานาคเกิด หรือหาด ฟรีดอมบีช ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ เสียหายกว่า 3 พันล้านบาทว่า เรื่องนี้ค้างอยู่ใน ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2553 และไม่มีการดำเนินการใดๆ จนตอนนี้เจ้าหน้าที่ไม่มีขวัญและกำลังใจทำหน้าที่ และยังถูกฟ้องจากนายทุนด้วย ซึ่งภายใน 1-2 สัปดาห์นี้จะรวบรวมข้อมูลใหม่ เพราะเชื่อว่าจะเอาผิดกับผู้ที่ร่วมกระทำผิด ไปยื่นหลักฐานเพิ่มเติมต่อคณะอนุกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อติดตามและเร่งรัดการไต่สวนคดีดังกล่าวด้วย