100 copy

 

ถก 3 ชม.รื้อ 100 ประเด็น ครม.แก้ยิบ ชงให้กมธ.ยกร่างรธน.ตัดคลุมเครือ-สกัดฟ้อง หั่น'ห้ามสภาพูดหยาบ' โละปลัดรักษาการรมต. สปช.ดันเลือกตั้ง 154 สว. นายกฯต้องมาจากส.ส.

       'บิ๊กตู่'แสดงความเป็นห่วง อยากเห็นกระบวนการปฏิรูปไปสู่การปฏิบัติ วิษณุเผยวงถก ครม.แก้เพิ่มเติมร่าง รธน.ร่วม 100 ประเด็น สปช.เสนอนายกฯต้องมาจาก ส.ส. ไม่เปิดช่องใช้บริการคนนอก อธิบดีกรมการปกครองย้ำไม่ยุบ'กำนัน-ผญบ.'

 

มติชนออนไลน์ : ชงแก้ รธน. - นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง และนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. พร้อมคณะ แถลงการเสนอคำขอแก้ไขร่าง รธน.ที่ต้องการให้มีรัฐบาลที่เข้มแข็ง รวมทั้งมีระบบการตรวจสอบถ่วงดุลที่มีประสิทธิภาพ ที่ห้องโถงอาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม

 

@ ครม.ประชุมชงขอแก้ไขร่างรธน.

     เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 25 พฤษภาคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดพิเศษ เพื่อสรุปประเด็นขอเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.ส่งให้กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ใช้เวลาหารือ 3 ชั่วโมง 

       หลังเสร็จสิ้นการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ขอพูดในนาม ครม. ไม่ใช่ คสช. สิ่งที่ ครม.เป็นกังวลคือทำอย่างไรกระบวนการปฏิรูปและการปรองดองที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ มีแต่ละสภาที่ทำงานอยู่นั้นจะมีอะไรที่เป็นมาตรการชัดเจนนำไปสู่การปฏิบัติ หากทุกคนทราบดีถึงปัญหาความบกพร่องต่างๆ ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการบริหารราชการแผ่นดิน การใช้อำนาจในการใช้จ่ายงบประมาณ การทุจริต และการรักษาความมั่นคง ทั้งหมดต้องดูว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ทุกอย่างก็อยู่ในกระบวนการยุติธรรมแล้วทั้งสิ้น 

 

@ "บิ๊กตู่"ถามหลักประกันรธน.

       "สมมุติมีการใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เลือกตั้งมีอะไรรับประกันหรือไม่ สิ่งที่รัฐบาลนี้ทำไว้จะได้รับการสืบสานต่อ มีองค์กร มีกฎหมาย มีเจ้าหน้าที่ที่จะทำ แต่ไม่ไปคาบเกี่ยวในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินที่เขาจะดูเรื่องความมั่นคง ความปรองดอง การเดินหน้ายุทธศาสตร์ประเทศว่าใครจะทำ ผมไม่ได้เป็นห่วงว่าใคร แต่ต้องหาวิธีการมา ทุกคนต้องคิดว่า วันข้างหน้าใครตอบผมได้บ้างว่าจะไม่เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีก เมื่อทุกคนมุ่งหวังเพียงว่า ถ้าเราจะเดินหน้าไปสู่ประชาธิปไตยได้ก็ต้องเลือกตั้ง ผมก็ไม่ได้ไปเถียงท่าน นักการเมืองก็มองอีกแง่หนึ่งว่า ทำอย่างไรที่จะไม่มีการปฏิวัติขึ้นอีก เขาว่าก็ต้องไปปฏิรูปทหารก่อน เพราะทหารเป็นผู้ปฏิวัติ คิดแบบนี้บ้านเมืองก็ไปไม่ได้ ถามว่าการปฏิวัติทุกครั้งมันมีสาเหตุอะไร ผมไม่ได้บอกว่ามันถูกต้อง แต่ประเทศไทยมันเป็นแบบนี้ ก็แก้ปัญหาแบบนี้มาโดยตลอด ทำอย่างไรปัญหาจะไม่เกิดขึ้นมาอีก ทุกคนต้องทำตามหน้าที่ มีธรรมาภิบาล มีคุณธรรม จริยธรรม ไม่ทับซ้อนข้าราชการ เดินหน้าประเทศไปตามขั้นตอน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ถามนายกฯไม่มั่นใจรบ.ใหม่ 

     ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่าไม่มั่นใจว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะไม่เดินตามแผนที่วางไว้ในการปฏิรูป พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่มั่นใจ แต่เป็นกังวล "ท่านมั่นใจหรือไม่ แต่กังวลว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะทำหรือเปล่า เขาเป็นรัฐบาลเขาโละทิ้งได้ และแก้ได้ทุกอย่าง ทำไมจะแก้ไม่ได้ ต้องหามาตรการว่าทำอย่างไรที่จะไม่ต้องแก้หรือแค่เปลี่ยนแปลง แต่ต้องเดินตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้ได้หรือเปล่า ถ้าทุกคนมองว่าเขียนอย่างนี้หรือมีองค์กรต่างๆ ขึ้นมาดูแลแล้วจะกลายเป็นว่าไม่เป็นประชาธิปไตย ท่านก็กลับไปแบบเก่า ก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 หมุนนาฬิกาย้อนกลับไปนั้นแหละจะเป็นแบบนั้น ถ้าต้องการประชาธิปไตยแบบนั้นก็เอา

     ผมถามคนทั้งประเทศจะเอาอย่างไร พูดมา ท่านมั่นใจหรือไม่ เลือกตั้งแล้วจะไม่มีการปฏิวัติอีก หรือเลือกตั้งแล้วจะไม่มีคนใช้อำนาจที่ผิด ไม่มีธรรมาภิบาลอีก บ้านเมืองสับสนวุ่นวาย ท่านมั่นใจหรือไม่ ถ้าท่านมั่นใจ ผมก็มั่นใจ แล้วท่านรับประกันได้หรือไม่ นักข่าวทั้งหมดสื่อทั้งหมดว่าจะไม่เกิดขึ้นมาอีกเพราะว่าผมก็ไม่อยู่แล้ว มั่นใจไหมเล่า มาถามผมคนเดียว ทำอย่างไร ไม่มั่นแล้วจะทำอย่างไร ถ้าใช้กฎหมายบังคับท่านก็ตีผมอีก ใช้กฎหมายเกินไป รุนแรงเกินไป ละเมิดสิทธิมนุษยชน ผมถามคนไทยทั้งสิ้นว่าจะเอาอย่างไร จะให้ประเทศมันล้มเหลว มันเฟลอย่างเดิมหรือเปล่าก็ไปว่ากันมา ถ้าเห็นว่าสิ่งที่ผมทำเป็นประโยชน์ ท่านก็ต้องไปคิดช่วยผมว่าจะเกิดได้อย่างไร วิธีไหน ผมไม่รู้ ไปหามา" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ยันไม่ผ่าน-ไม่มีแผนสำรอง 

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ส่วนการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในส่วนของ ครม.ที่เสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ หลายเรื่องที่ควรจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่สักแต่ว่าแก้ เมื่อถามว่า ถ้าสมมุติเกิดแอ๊กซิเดนต์รัฐบาลเตรียมแผนสำรองอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่มี ถ้าสำรองไว้ก็บอกว่าผมเตรียมการไว้ล่วงหน้า และไม่เคยพูดถึงแผนสำรอง แต่พูดว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไร ถ้าไม่ผ่าน สปช.หรือผ่าน หากต้องทำประชามติต้องไปแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว จบแค่นี้ ไม่มีสมมุติ ถ้าจะใช้รัฐธรรมนูญปี 40 หรือปี 50 ตอนควบคุมอำนาจผมก็ออกคำสั่งใช้รัฐธรรมนูญฉบับเหล่านั้น ไม่เสียเวลาด้วย ผมไม่พูดถึง ใครอยากเสนอมาก็ฟังเขาไป แต่ต้องดูว่าอะไรที่เป็นบ่อเกิดของความขัดแย้ง ฉะนั้นจะใช้ฉบับ 40, 50, 57 หรือ 59 ขัดแย้งกันต่อก็เอาตามใจ ท่านเลือกของท่านเอง เขาเขียนไว้แล้วว่า ทุกคนในประเทศต้องกำหนดชะตากรรมของตัวเอง กำหนดอนาคตของตัวเอง ท่านต้องการอะไร ต้องการความสงบเรียบร้อย ต้องการความเท่าเทียมหรือไม่ ถ้าไม่ต้องการก็จบ ไม่มีใครทำให้ท่านได้ ทุกอย่างอยู่ที่ใจท่าน"

 

@ ลั่นเดินหน้าปฏิรูปไม่ให้เสียของ 

      พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อว่า ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขใช้วิธีการปกติไม่ได้ หากปล่อยให้เป็นเหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 มาถึงวันนี้ก็จะเป็นอย่างนั้น บานปลายไปยิ่งกว่านี้ จึงต้องใช้วิธีการไม่ปกติในการแก้ปัญหา เมื่อสตาร์ตมาได้แล้วก็ต้องหากลไกที่จะทำให้สิ่งที่เดินมาแล้วไม่เสียของ ทำอย่างไรให้รัฐบาลใหม่ทำต่อ ทำอย่างไรสิ่งที่ปฏิรูปไว้ในวันนี้จะเชื่อมต่อเข้าใจกัน ประชาชนยอมรับได้หรือไม่ แต่ไม่มีใครที่จะพอใจเพียงแต่เข้าใจหรือไม่ ถ้าสอนให้เขาคิดไม่เป็น ไม่มีวิสัยทัศน์ ไม่รู้อนาคตของตัวเองก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ ประเทศไทยก็จะถอยหลังไปเรื่อยๆ และก็ต้องเสียศูนย์กลางความเป็นอาเซียนไปเรื่อยๆ วันหน้าไม่มีใครสนใจประเทศไทยอีกแล้ว ถ้าขัดแย้งแบบนี้อีกทีไม่มีใครมาอีก

 

@ ครม.เสนอแก้ไข 100 ประเด็น

      ต่อมาเวลา 16.45 น. นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้แถลงข่าวผลการประชุม ครม.นัดพิเศษ ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาความเห็นและข้อเสนอแนะในการแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญตามที่ กมธ.ยกร่างฯได้ส่งเรื่องมายัง ครม.เพื่อขอความเห็น โดยที่ประชุม ครม.ได้รับฟังข้อเสนอที่แก้ไขและไม่แก้ไขไปให้ กมธ.ยกร่างฯ เพื่อให้ไปคิดใหม่ทำใหม่อีกส่วนหนึ่ง เสนอไปทั้งหมดกว่า 100-120 ประเด็น แต่รวมความแล้วประมาณ 100 ประเด็น ไม่ใช่ 100 มาตรา เพราะบางมาตราก็มีหลายประเด็น

"ใน 100 ประเด็นนั้น ครึ่งหนึ่งเป็นการขอแก้ไขถ้อยคำที่ไม่ใช่เรื่องใหญ่ อาทิ กับ แก่ แต่ ต่อ และ หรือ ส่วนอีกครึ่งหนึ่งเป็นเรื่องที่กระทบต่อหลักใหญ่ของแต่ละมาตรา ครม.พร้อมที่จะชี้แจงเป็นรายมาตราต่อไป หาก กมธ.ยกร่างฯต้องการให้ไปชี้แจงหรือบางส่วนเป็นการเรียงถ้อยคำเสียใหม่เท่านั้น อีกส่วนหนึ่งเป็นการไปกระทบหลักการ เช่น ให้มีหรือไม่ให้มี หรือสภา สมัชชา บางอย่างผมจะลงรายละเอียดให้ทราบในโอกาสหน้า" นายวิษณุกล่าว

 

@ "วิษณุ"แย้มประเด็นใหญ่จี้ตัด

      นายวิษณุ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการพูดกันมากถึงคำว่า ของ บางฝ่ายมีทีท่าเหมือน ลองของ ฝ่ายรัฐบาลหลายคนกังวลว่า ที่ทำให้จะ เสียของ ต่างพูดถึง ของ ด้วยกันทั้งนั้น ข้อกังวลที่ ครม.กลัวจะเสีย คือ 3 ข้อที่กล่าวไปข้างต้น เพราะถ้าสิ่งที่ทำกันอยู่ในวันนี้ละลายสูญหายไปเมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่ มีสภาหรือมีรัฐบาลใหม่เข้ามาก็จะเป็นการ เสียของ ประการหนึ่ง หรือหากเกิดความไม่สงบเรียบร้อย แตกแยก ร้าวฉาน ไม่ปรองดองขึ้นอีก เหตุการณ์หมุนกลับไปเหมือนก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ก็จะเป็นการ เสียของ อีกอย่างหนึ่ง และถ้ามีรัฐบาลใหม่ มีสภาใหม่ เลือกตั้งใหม่แล้ว การเมืองไม่ได้ดีขึ้น ยังเปิดโอกาสให้มีการทุจริต มีการใช้นโยบายประชานิยมแบบผิดๆ หรือเปิดโอกาสให้มีการใช้อำนาจที่ไม่ถูกต้องผิดทำนองคลองธรรม สังคมเหลื่อมล้ำไม่เป็นธรรม นั่นก็เป็นการ เสียของ อีกข้อหนึ่ง 

       ผู้สื่อข่าวถามว่า เรื่องใหญ่ที่เสนอแก้ไขคืออะไร นายวิษณุกล่าวว่า การให้มีหรือไม่ให้มีองค์กรต่างๆ ในฉบับยกร่างฯกำหนดให้มีองค์กร คณะกรรมการต่างๆ ที่ต้องตั้งขึ้นภายในระยะเวลาหนึ่ง มีอยู่เกือบ 30 องค์กร หรือบางชุดเป็นคณะกรรมการ ครม.ได้ทำความเห็นไปว่าส่วนหนึ่งเห็นด้วย ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยควรนำไปเขียนในกฎหมายลูกหรือกฎหมายอื่นได้ เพราะหากเขียนในรัฐธรรมนูญจะกลายเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญขึ้นมา กลายเป็นภาระงบประมาณและมีกำหนดเวลาให้กระทำ หากไม่กระทำตามเวลาก็ถือว่าผิด

 

@ แจงเหตุผลตัด'ม.181-182'

       เมื่อถามว่า รัฐบาลได้เสนอแก้ไขมาตรา 181 และ 182 ด้วยหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า อยู่ในข้อเสนอที่ ครม.มีมติให้ กมธ.ยกร่างฯตัดออก ได้บอกเหตุผลที่เสนอให้ตัดแนบไปด้วย ส่วนรายละเอียดคงจะต้องชี้แจงยาวหากพูดในวันนี้ ข้อเสนอที่ให้ตัดไป 100 ประเด็นมีเหตุทุกประเด็นซึ่งมีรายละเอียดเยอะ บางส่วนไปตอบเหตุผลกับ กมธ.ยกร่างฯ ขณะที่บางเรื่อง ครม.ก็เสนอให้ไปทบทวน เช่นการให้อำนาจ ส.ว.เสนอกฎหมายได้ การเสนอตั้งคณะกรรมการจัดการเลือกตั้งจังหวัด (กจต.) รวมทั้งตั้ง สมัชชาสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น บางเรื่องลงรายละเอียดมากแต่ปฏิบัติไม่ได้ก็จะมีความผิดจึงเสนอให้มีการทบทวน ในที่ประชุมไม่ได้มีการเสนอเรื่องที่มาของนายกฯคนนอก ส่วนองค์กรอิสระที่มีประมาณ 39 องค์กรมีทั้งที่คงไว้บ้างตัดออกบ้าง ขณะที่ที่มาของ ส.ส.และ ส.ว.ไม่ได้ไปแก้ไขอะไรเพราะถ้าแก้ต้องรื้อหลายมาตรา โยงกันหมดแต่ทราบว่ามีคนอื่นเสนอขอแก้ไขไปแล้ว 

      "ครม.เห็นว่าโดยทั่วไปร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีส่วนที่ดีอยู่มาก เราเขียนส่งไปให้ กมธ.ยกร่างฯ ในหน้าแรกเลยว่าในภาพรวมแล้วต้องถือว่ามีส่วนที่ดีสามารถแก้ไขปัญหาข้อขัดข้องบางเรื่องในอดีตได้ และบางบทคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนเอาไว้ได้อย่างหลากหลายและกว้างขวาง แต่เพื่อความสมบูรณ์ขอให้ กมธ.ยกร่างฯ พิจารณาว่าควรจะปรับปรุงแก้ไขในบางส่วนหรือตัดทอนบางส่วนออกไปเพื่อให้สมบูรณ์ขึ้น บางส่วนแก้ไขเพื่อให้ชัดเจน บางส่วนที่ตัดไม่ใช่เพราะเลวร้ายแต่นำไปใส่ในกฎหมายอื่นได้ เพื่อให้รัฐธรรมนูญสั้นลง และแต่ละมาตราก็ไม่ยืดยาวไป บางเรื่องก็ให้ไปอยู่ให้ถูกหมวดหมู่ บางเรื่องที่ไม่ชัดเจนและเป็นเหตุให้นำไปสู่การฟ้องร้องหรือตีความจนเจ้าหน้าที่ทำงานไม่สะดวกก็ควรเขียนใหม่ หรือไปบัญญัติไว้ที่อื่น" นายวิษณุกล่าว

 

@ ย้ำคสช.ไม่ส่งความเห็นยกร่างฯ

       เมื่อถามว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นไปได้ที่ กมธ.ยกร่างฯ ระบุว่าประชาชนจะเป็นใหญ่ การจัดทำงบประมาณจะเปิดเผยอย่างชัดเจนหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ใน ครม.ไม่มีใครพูดเรื่องนี้ หากพูดไปจะกลายเป็นความเห็นส่วนตัวของตน กมธ.ยกร่างมีเวลาที่จะพิจาณาเรื่องการแก้ไข 60 วัน บวกอีก 30 วันเป็น 90 วัน 

เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนมั่นใจว่ายกร่างฯดีแล้วไม่จำเป็นต้องแก้ไข รองนายกฯกล่าวว่า ก็จะบอกว่าพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะสี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง มหาปราชญ์ยิ่งพลั้งได้ อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อใจใน กมธ.ยกร่างฯหลายคนว่าจะรับฟังความเห็นที่มีการนำเสนอข้อเสนอต่างๆ ที่ส่งไปและ กมธ.ยกร่างฯจะทำหรือไม่ก็แล้วแต่ ข้อนี้เป็นเหตุที่ คสช.ไม่ยอมส่งความเห็น เพราะถ้าส่งไปแล้ว กมธ.ยกร่างฯทำตามก็จะกลายเป็นใบสั่ง ถ้าไม่ทำตามก็จะกลายเป็นว่าลองของกระด้างกระเดื่อง สุดท้าย คสช.อาจจะโกรธขึ้นมาก็ได้

 

@ เตรียมแก้ไขร่างรธน.ชั่วคราวต่อ

      เมื่อถามว่า หาก กมธ.ยกร่างฯทำไม่ได้จะมีบทลงโทษอย่างไรบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ตายตกไปตามกัน เมื่อถามย้ำว่า หาก กมธ.ยกร่างฯไม่เสนอแก้ตามการส่งความเห็นของ ครม.ก็จะเสียของ นายวิษณุกล่าวว่า การเสนอแก้มีทั้งไปจาก สปช. ส่วนหนึ่งเสนอ 1 คน เซ็นรับรองอีก 25 คน สปช.มี 250 คนก็จะมีประมาณ 8 คำร้อง เมื่อ คสช.ไม่ส่งก็จะไปจาก ครม.ส่วนหนึ่ง ความเห็นจาก คสช.อาจจะปราดเปรื่องกว่า ครม.ก็ได้ กมธ.ยกร่างฯจะเห็นตามที่ใครเสนอก็ได้ แต่ถ้าจะเอาใจทั้ง 2 ฝ่ายก็คงแย่ จะให้ตาม ครม.ทั้งหมดก็เป็นได้ กมธ.ยกร่างฯต้องเป็นตัวของตัวเอง

เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯยังต้องตามใจแป๊ะอีกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า การตามใจแป๊ะนั้น ช่วยตามใจเพียงว่าแป๊ะให้ไปส่งที่ท่าไหนก็ไปอย่างนั้น แต่ไม่ต้องถึงกับละเอียดมาก เมื่อถามว่าคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับปี 2557 ครม.ได้ส่งคำขอไปหรือยัง นายวิษณุกล่าวว่า รอทำเรื่องนี้ให้เสร็จก่อนจะได้ทำเรื่องอื่นเสียที เพราะบ้านเมืองนี้ร่างรัฐธรรมนูญทุกวัน ไม่ต้องทำมาหากินเรื่องอื่น 

      "ผมทำ 2 เรื่องพร้อมกันไม่ได้ วันนี้หมดเวรหมดกรรมไปแล้ว 1 เรื่อง ส่วนเรื่องการทำประชามติ ผมก็มีความคิดคร่าวๆ ในใจว่าจะทำอย่างไร แต่บางจุดยังหาคำตอบไม่ได้" นายวิษณุกล่าว

 

@ ปัดตอบ"ประชามติ"หวั่นซวย

      เมื่อถามว่า คิดว่าจะได้ทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าตอบเรื่องนี้ จะซวยทันทีเพราะเท่ากับฟันธงว่ารัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านแน่ เพราะต้องผ่านด่านแรกจาก สปช.ก่อนวันที่ 6 สิงหาคมนี้ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่ได้ทำประชามติ ถ้าผ่านก็ไปสู่ประชามติ แต่ถ้าวันนี้มาบอกว่าไม่ได้ทำประชามติแน่ก็แสดงว่าจะไม่ผ่านแน่ๆ จะไปพูดแบบนั้นได้อย่างไร เมื่อถามว่า ครม.ได้เสนอเกี่ยวกับกลไกที่สานต่อเรื่องของการปฏิรูปจำเป็นต้องมาเป็นผู้ดำเนินการหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า วันนี้ไม่ได้เสนอแต่การจะนำไปไว้ในกฎหมายลูกก็ดีแล้ว กมธ.ยกร่างฯมีเวลาที่จะไปคิดเพื่อนำเข้าสภา ถ้าไม่เสร็จก็ไปดำเนินการในชุดที่จะไปพิจารณากฎหมายประกอบการเลือกตั้ง เพราะหากไม่พอใจก็สามารถแก้ไขทีหลังโดยไม่นำมาเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ หลายเรื่องก็ควรให้มีการกำหนดในอนาคตบ้าง แต่ทำตัวเป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคตทั้งหมด

 

@ "สปช."ส่งแก้ไขรวม 8 คำขอ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 16.30 น. สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้รวมกลุ่มยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ มีด้วยกัน 7 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มยุทธศาสตร์ชาติ ของนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ 2.กลุ่มการเมืองและกฎหมาย ของนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ 3.กลุ่มเศรษฐกิจ ของนายสมชัย ฤชุพันธุ์ 4.กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม ของนายมนูญ ศิริวรรณ 5.กลุ่มสื่อมวลชนและการคุ้มครองผู้บริโภค ของนายประสาร มฤคพิทักษ์ 6.กลุ่มการกระจายอำนาจและการปกครองท้องถิ่น ของนายพงศ์โพยม วาศภูติ 7.กลุ่มของนายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ และเมื่อรวมกับกลุ่มสังคมและพลเมืองของ นพ.พลเดช ปิ่นประทีป ส่วนของ สปช.จะมีจำนวนรวม 8 คำขอ 

ขณะที่คำขอแก้ไขของ ครม. ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเจ้าหน้าที่นำเอกสารมายื่นต่อฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ก่อนเวลา 16.30 น. เพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ พร้อมด้วยนางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ เลขานุการ กมธ.ยกร่างฯ ได้เข้ามาตรวจความเรียบร้อยระหว่างเจ้าหน้าที่ทำเนียบรัฐบาลนำเอกสารมายื่น โดยนายบวรศักดิ์กล่าวกับหน้าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวว่า "ดีนะ ที่ ครม.ยังส่งมาทันเวลา" 

 

@ "สปช."เสนอนายกฯมาจากส.ส. 

      เมื่อเวลา 14.45 น. ที่รัฐสภา คณะอนุ กมธ.ร่วมจัดทำประเด็นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ปฏิรูปการเมือง และคณะกมธ.ปฏิรูปกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรม สปช. ได้แถลงบทสรุปการเสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า จากการประชุมร่วมกันมีความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญจะต้องไม่ยาวมากนัก เสนอแก้ไขทั้งฉบับให้เหลือ 100 กว่ามาตรา ส่วนในรายละเอียดให้ออกเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เราตั้งใจให้รัฐบาลมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน ก็ให้กลไกการตรวจสอบมีประสิทธิภาพ เสนอให้มีการจัดการเลือกตั้งแบบสัดส่วนคู่ขนาน ไม่ได้ทิ้งระบบสัดส่วนผสมทั้งหมด 

      "กำหนดให้รัฐสภาประกอบด้วย ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 400 คน การแบ่งเขตเป็นเขตใหญ่ เขตละไม่เกิน 2-3 คน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อได้ยกเลิกระบบโอเพ่นลิสต์ แต่ให้เป็นบัญชีรายชื่อ ใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน 100 คน ดั่งเช่นรัฐธรรมนูญ 50 ส่วน ส.ว.ให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละ 2 คน รวม 154 คน คุณสมบัติจะต้องมีความเข้มข้น เพราะขณะนี้ ส.ว.มีอำนาจมากกว่า ส.ส. ส่วนกลไกการตรวจสอบได้ให้ ส.ส.ลงชื่อจำนวน 1 ใน 10 ของจำนวน ส.ส.ทั้งหมด ยื่นต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้คณะกรรมการไต่สวนอิสระที่เป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระต่างๆ จำนวน 7 คน ทำหน้าที่ไต่สวนความผิด หากพบว่ามีมูลการทุจริตเป็นคดีอาญา ให้ส่งไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ตัดสิน" นายสมบัติกล่าว และว่า "หากเป็นการชี้มูลเรื่องการถอดถอนให้คณะกรรมการไต่สวนส่งไปยังที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาโดยใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะหากให้ ส.ว.ใช้เสียง 3 ใน 5 ถอดถอน คงมีปัญหาเหมือนในอดีตที่การถอดถอนมักไม่สำเร็จ ขณะที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น"

 

@ ดิเรกย้ำไม่เอานายกฯคนนอก 

       ด้านนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมืองคนที่ 1 สปช. กล่าวว่า เรื่องที่มาของนายกฯ ได้มีการประชุมและได้ข้อยุติเมื่อช่วงเช้าวันนี้ นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.อย่างเดียวเท่านั้น จะไม่มีการเขียนเปิดช่องไว้ในบทเฉพาะกาลเพื่อนำบุคคลภายนอกเข้ามาเป็นนายกฯในช่วงวิกฤต เนื่องจากการกำหนดให้ปลัดกระทรวงรักษาการรัฐมนตรีและให้เลือกปลัดกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งขึ้นมาเป็นรักษาการนายกฯ ก็สามารถอุดช่องโหว่ในยามบ้านเมืองเกิดวิกฤตได้อยู่แล้ว

นายนิรันดร์ พันทรกิจ เลขานุการอนุ กมธ.ร่วมจัดทำประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญในญัตติดังกล่าว มีการเปลี่ยนแปลงคำ เช่น "พลเมือง" มาเป็นคำว่า "ประชาชน" ทั้งหมด รวมทั้งตัดบางมาตราออกไปทั้งหมด เช่น มาตรา 181, 182 หรือตัดบางประโยคออกไปแล้วเขียนใหม่ให้สอดคล้องกับแนวคิด หรือตัดออกจำนวนหลายมาตราแล้วนำมาเขียนใหม่ สรุปให้เหลือเพียงมาตราเดียวหรือสองมาตรา แล้วให้นำความเหล่านี้ไปบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญของ 2 กมธ. มีสมาชิก สปช.ลงชื่อร่วมจำนวน 32 คน และประธาน กมธ.อีก 2 คน รวมเป็น 34 คน ซึ่งเป็น 1 ญัตติ มีประเด็นข้อแก้ไขทั้งสิ้น 129 ประเด็น รวมเป็นเอกสาร 123 หน้า

 

@ กมธ.ยกร่างฯไล่ดูคำขอแก้

      นายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯคนที่ 2 กล่าวว่า หลังได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญจาก สปช.แล้ว ทางฝ่ายเลขานุการ กมธ.ยกร่างฯจะนำขอแก้ไขทั้ง 8 คำขอ มาประมวลและแยกเป็นรายมาตราว่ามีการเสนอขอแก้ไขอย่างไรบ้าง จากนั้นจะจัดลำดับการเชิญแต่ละฝ่ายมาชี้แจงและอธิบายเหตุผลที่ขอเสนอปรับแก้ไขในวันที่ 2-6 มิถุนายน ทั้งนี้ เบื้องต้นกำหนดให้แต่ละคณะส่งตัวแทนชี้แจงคณะละ 5 คน ให้เวลาคณะละ 3 ชั่วโมง

      นายมานิจกล่าวต่อว่า ส่วนกรณี กมธ.ปฏิรูปการเมืองเสนอให้เปลี่ยนคำว่า "พลเมือง" ในร่างรัฐธรรมนูญ มาเป็น "ประชาชน" แทน เพื่อป้องกันความสับสนนั้น มองว่าการกำหนดคำว่า "พลเมือง" ไว้ในร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากพลเมืองในยุคใหม่ต้องรู้จักสิทธิ หน้าที่ มีความซื่อสัตย์ และเคารพสิทธิ การที่กำหนดให้คนไทยเคารพสิทธิหน้าที่ไม่ใช่เรื่องที่เสียหาย เพราะคำว่า "พลเมือง" คือการยกระดับประชาชน 

      พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯอยู่ระหว่างเดินสายรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ จะนำความเห็นที่ทุกฝ่ายเสนอมาไปจัดทำร่างรัฐธรรมนูญด้วยความรอบคอบ พร้อมเร่งทำงานให้ทันกรอบเวลาโดยไม่มีวันหยุด เพราะจะไม่ได้นิ่งนอนใจว่าจะได้เวลาการทำงานเพิ่มเติมตามมติของ ครม.อีก 30 วัน

 

@ ชี้สปช.อาจเลื่อนเพิ่มให้อีก 30 วัน 

       นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีหากรัฐบาลแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ.2557 ให้ เวลา กมธ.ยกร่างฯแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มจาก 60 วัน เป็น 90 วัน ว่า แน่นอนว่าการพิจารณาลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญของ สปช.ก็ต้องเลื่อนจากวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ออกไปอีกหนึ่งเดือน แต่การทำงานการปฏิรูปก็เร่งดำเนินการอยู่ คาดว่าแผนการปฏิรูปทั้งหมดจะเสร็จภายในสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนมิถุนายน หรือก่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายจะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ทั้งนี้ ข้อเสนอการปฏิรูปได้ทยอยส่งให้ ครม.พิจารณาตลอด ครม.ก็ตอบกลับทุกประเด็น และชี้แจงไปยังหน่วยงานกระทรวง ทบวง กรมที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ เป็นไปตามกรอบ ส่วนจะมีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายก่อนการลงมติของ สปช.นั้น เคยตอบไปแล้วว่าขอไม่ตอบ เพราะยังไม่ถึงเวลา 

       เมื่อถามว่า มีข้อเสนอให้ตัดหมวดการปฏิรูปให้สั้นลง จะกระทบต่อการปฏิรูปหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่กระทบ เพราะ สปช.มีหน้าที่ทำแผนปฏิรูป ไม่ใช่ทำการปฏิรูป การปฏิรูปไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเขียนรัฐธรรมนูญสั้นหรือยาว ขณะที่รัฐธรรมนูญ 50 เขียนไว้ยืดยาว ก็ไม่เห็นทำ หากคนไม่ยึดถือเขียนอย่างไรก็เบี้ยวอยู่ดี เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับพลเมืองที่จะต้องไปทวงถาม 

      เมื่อถามกระแสข่าวว่าสมาชิก สปช.จะคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ นายเทียนฉายกล่าวว่า ยังมีเวลากว่าร่างจะมาถึง ต้องดูว่า กมธ.ยกร่างฯจะปรับเปลี่ยนแปลงตามข้อเสนอขอแก้ไขหรือไม่ วันนี้ยังไม่เห็นร่าง จะมีความเห็นว่าจะคว่ำร่างกันตั้งแต่ตอนนี้เลยหรือ หาก กมธ.ยกร่างฯปรับแก้ให้ตามข้อเสนอทั้งหมดก็จะคว่ำอย่างนั้นหรือ คิดว่าเร็วไปที่จะพูดตอนนี้ ถึงพยายามบอกว่า เมื่อถึงเวลาค่อยมาคุยกัน

 

@ นัดสปช.ฟังผู้เชี่ยวชาญฝรั่งเศส

        ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า นายเทียนฉายได้กล่าวระหว่างการประชุม สปช. แจ้งให้สมาชิกรับทราบว่า ในวันที่ 26 พฤษภาคม สปช.จะปิดประชุมในเวลา 12.00 น. เพื่อให้สมาชิกไปร่วมฟังบรรยายเรื่อง "ถอดบทเรียนการคลี่คลายวิกฤตการณ์ทางการเมืองสู่การปฏิรูปประเทศในระบอบประชาธิปไตย" กรณีศึกษาการร่างรัฐธรรมนูญของต่างประเทศ ในส่วนของประเทศฝรั่งเศส ที่ห้องวิเทศสัมพันธ์ กระทรวงการต่างประเทศ 

 

@ "วันชัย"ยก"ทักษิณ"บี้แก้ศก.

      นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศ ว่า นัยสำคัญของการเคลื่อนไหวครั้งนี้ คือ 1.ครบรอบ 1 ปีของคณะรัฐประหาร จึงอยากแสดงความเห็นและวิจารณ์การทำงาน 2.เคลื่อนไหวให้มวลชนเห็นว่ายังอยู่ไม่ได้เงียบหายไป สามารถขับเคลื่อนมวลชนเป็นผู้นำเพื่อให้มวลชนไม่รู้สึกว้าเหว่ 3.โจมตีกระบวนการยุติธรรมของไทย กรณี พ.ต.ท.ทักษิณ และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ไม่ได้รับความเป็นธรรม และ 4.โจมตีองคมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส. เพื่อลดความน่าเชื่อถือของคณะรัฐประหาร วิจารณ์ว่าการเข้ามาของคณะรัฐประหารเป็นไปตามคำสั่ง ไม่ใช่เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเมือง 

      "ลักษณะนี้คือการสะสมกำลังรอคอยโอกาส ถ้า คสช.อ่อนแรงและไม่สามารถคุมอำนาจได้ทั้งหมด หากมวลชนเริ่มไม่พอใจ คสช. ก็พร้อมที่จะลุกขึ้นมา ฉะนั้น เหมือนกับประกาศให้รู้ว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังอยู่พร้อมจะเคลื่อนไหว นับจากนี้ คสช.จะต้องขยันทำงานยิ่งขึ้น แม้จะรักษาความสงบเรียบร้อยได้ระดับหนึ่ง แต่ยังไม่สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยเฉพาะเรื่องปากท้องของประชาชนได้ ถ้าคุมสองเรื่องนี้อยู่เมื่อใด เชื่อเหลือเกินว่าอยู่อีกปีหรือสองปีจะไม่มีใครคัดค้าน แต่ถ้าเศรษฐกิจยังไม่ดีจะเป็นเหตุของการปลุกประชาชนออกมาเคลื่อนไหวทางการเมือง เพราะ คสช.ยิ่งอยู่นานอำนาจยิ่งเสื่อมอยู่แล้ว ฉะนั้น ระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจจะต้องเร่งขยับมากกว่านี้" นายวันชัยกล่าว 

 

@ อธิบดีปค.ป้องยุบ"กำนัน-ผญบ."

      ที่มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง (ปค.) กล่าวในพิธีเปิดการฝึกอบรมประสบการณ์วิชาชีพการบริหารการปกครองท้องที่ ว่า เรื่องร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีผลกระทบต่อสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น ยืนยันว่าตราบใดที่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังปฏิบัติหน้าที่ได้ดี ไม่มีปัญหา ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับไหนก็ต้องคงไว้ซึ่งสถาบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดังนั้น ไม่ต้องกังวล หากจะสูญสลายไปก็เพราะการประพฤติตัวของกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเอง จะไม่มีการออกรัฐธรรมนูญมาบังคับยุบเลิกแน่นอน การจะมาโจมตีว่าไม่ควรมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเพียงเพราะจบการศึกษา ป.4 นั้นไม่ได้แล้ว ปัจจุบันกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเรียนจบปริญญาตรีกันเป็นส่วนใหญ่ ถ้าเราประพฤติดีและไม่ได้ทำอะไรเสียหายแล้ว ไม่ว่าใครก็จะมายุบเลิกไม่ได้ ทั้งนี้ ในเรื่องระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากกำนัน ผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกของประชาชน ขอเชิญชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้านทุกคนร่วมตั้งปณิธานว่าการเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านต่อจากนี้ไปไม่มีซื้อเสียง ต้องเป็นเจ้าตำรับของการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ เราประกาศไปได้เลย ต่อจากนี้ไปเลือกกำนัน ผู้ใหญ่บ้านไม่มีการซื้อสิทธิขายเสียง

 

@ "บิ๊กโด่ง"ปัดใช้ความรุนแรง

      พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม และผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมนักศึกษาที่จัดกิจกรรมครบรอบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ว่า ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ไม่ได้ใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา แต่อาจมีภาพบางมุมออกมาแบบนั้น เนื่องจากเจ้าหน้าที่มีความจำเป็นจะต้องเชิญตัว คิดว่าก็ไม่ได้รุนแรงอะไร ขณะเดียวกัน ก็ติดตามดูแลสถานการณ์ตลอด ต้องโปรดเห็นใจเจ้าหน้าที่ ถ้าเราจะปล่อยปละละเลยก็ไม่ได้ จำเป็นต้องรักษาสถานการณ์ให้นิ่งให้เรียบร้อยให้ได้ ก็ขอความร่วมมือกันด้วย เจ้าหน้าที่จะยอมไม่ได้ ถ้าปล่อยให้นักศึกษาสร้างความไม่สงบ เราต้องทำให้สถานการณ์นิ่ง ราบรื่น ไปสู่โรดแมปของ คสช.โดยเร็ว

      "ผมก็วอนพ่อแม่ ครู ในสถานศึกษา ต้องช่วยทำความเข้าใจด้วย อย่างไรก็ตาม ใครที่ต้องการแสดงออกแสดงความเห็น ก็เชิญร่วมแสดงความเห็นเวทีที่ คสช.จัดไว้ จะเชิญพรรคการเมือง นักการเมือง กลุ่มต่างๆ หลายฝ่ายมาแสดงความเห็นกันเป็นครั้งที่ 2 ได้ในปลายเดือนพฤษภาคม หรือมิถุนายนนี้ ถือเป็นช่องทางที่ถูกต้อง คสช.จะรับฟังความเห็นแล้วส่งให้ผู้เกี่ยวข้องนำไปใช้ในการปฏิรูปและใช้ประโยชน์ต่อไป" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

 

@ ยันจับต้านรัฐประหารไม่รุนแรง

        ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. กล่าวกรณีสังคมออนไลน์แชร์ภาพนักศึกษาที่มาร่วมชุมนุมที่หอศิลป์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทำร้ายร่างกายกระชากลากถูขณะเข้าจับกุมตัวไปโรงพักว่า ฝ่ายตำรวจขอปฏิเสธกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติไปตามขั้นตอน เป็นหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายในการบังคับใช้กฎหมาย ทุกครั้งที่มีการชุมนุมทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่เคยใช้ความรุนแรงเกินขอบเขตแต่อย่างใด ทุกอย่างทำไปตามขั้นตอน ทั้งนี้ภาพที่ออกมาอาจเป็นความต้องการที่จะสร้างให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

@ "ดาวดิน"ออกแถลงการณ์แจงยิบ

      ผู้สื่อข่าวรายงานแฟนเพจ "ดาวดิน สังกัดพรรคสามัญชน" ของนักศึกษากลุ่มดาวดิน ม.ขอนแก่น ได้ออกแถลงการณ์ของกลุ่มตอนหนึ่งว่า "วันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา พวกเราทั้ง 7 คนไปแสดงจุดยืนคือคัดค้านรัฐประหารที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยจังหวัดขอนแก่น เพื่อต้องการสื่อสารต่อสาธารณะและรัฐบาลถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับพี่น้องประชาชนที่ปกป้องสิทธิชุมชนเพื่อให้สามารถกำหนดชะตาชีวิตของตัวเองและสิทธิในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของชุมชน ปัญหาของชาวบ้านในพื้นที่ต่างๆ ล้วนแต่ต่อสู้มาอย่างอาจหาญและยาวนาน แต่รัฐบาลไม่เคยสนใจและเอาใจใส่ ไม่ว่ารัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่เป็นประชาธิปไตยก็ตาม 

       กิจกรรมที่ทำในวันนั้น เป็นการพูดถึงปัญหาผลกระทบจากการสร้างเขื่อน โครงการผันน้ำโขง เลย ชี มูล เหมืองแร่ การขุดเจาะปิโตรเลียม เหมืองแร่โพแทช การก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรม ปัญหาการไล่รื้อที่ทำกินของชาวบ้าน ตามคำสั่งของ คสช. ที่ 64/2557 และปัญหาของพี่น้องประชาชนที่เกิดขึ้นในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ภายใต้กฎอัยการศึกและมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว อันเป็นเครื่องมือกำราบประชาชนให้อยู่ในความสงบ"