ศาลตั้งสูงลิบ 30 ล. ปูประกัน ยืดเลือกตั้งสค.59 หลังคสช.สรุปทำประชามติ ขยายกมธ.ปรับแก้เป็น 90 วัน แม้วปัดข่าวหนุนโอ๊คคุมพท. ครม.เด้งแล้วปลัดทส.-ไอซีที 

        'ปู'ขึ้นศาลนัดแรก คดีจำนำข้าว ได้ประกันตัวด้วยวงเงินสูงถึง 30 ล้าน แต่มีเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ และให้มาตามนัดศาลทุกครั้ง กำหนดตรวจพยานหลักฐาน 21 และ 28 ก.ค. 'แม้ว'ขึ้นปาฐกถาที่กรุงโซล ชี้ประชาธิปไตยต้องถ่วงดุลอำนาจศาล นิติบัญญัติ บริหาร ยันไม่ดัน'โอ๊ค-พานทองแท้'รับช่วงบริหารเพื่อไทย มติร่วมครม.-คสช.แก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเปิดช่องทำประชามติ เพิ่มเวลากมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้รธน.จาก 60 วัน เป็น 90 วัน 'วิษณุ'คาดต้องยืดเลือกตั้งไปเป็นช่วงส.ค.-ก.ย.59 ครม.เด้งแล้วปลัดทส.-ไอซีที สะพัดเตรียมดัน'จตุพร บุรุษพัฒน์'ขึ้นนั่งแทน 'มิ่งขวัญ'

 


กำลังใจ - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ รับดอกไม้จากประชาชนที่มาให้กำลังใจ ขณะเดินทางมาแถลงเปิดคดีจำนำข้าว ที่ศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และยื่นหลักทรัพย์ 30 ล้านบาทประกันตัว เมื่อวันที่ 19 พ.ค.

วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8939 ข่าวสดรายวัน

แห่ให้กำลังใจ"ยิ่งลักษณ์"ขึ้นศาล

      วันที่ 19 พ.ค. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถ.แจ้งวัฒนะ ศาลฎีกาฯ นัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบ คำให้การคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยในความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้อง กันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

      บรรยากาศในบริเวณศาลฎีกาฯ เจ้าหน้าที่นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดินอำนวยความสะดวกให้กับคู่ความ เนื่องจากมีประชาชน มารอให้กำลังใจและมอบดอกไม้ให้ น.ส. ยิ่งลักษณ์ จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากกองบังคับการตำรวจนครบาล2 (บก.น.2) รวมกว่า 500 นาย มาคอยดูแลรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบศาลฎีกา 

        เวลา 08.40 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ พร้อมทีมทนายความเดินทางมาศาล มีนายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตรมช.พาณิชย์ นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย พร้อมคณะเดินทางมาร่วมให้กำลังใจด้วย ขณะที่ฝ่ายอัยการโจทก์ นำโดยนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงาน นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะทำงานอัยการ มาร่วมฟังการพิจารณา

น.ส.ยิ่งลักษณ์เผยว่าจะต่อสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมและมั่นใจในความบริสุทธิ์ พร้อมขอความร่วมมืออย่าวิพากษ์วิจารณ์คดีเพราะขณะนี้คดีอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลแล้ว

ขอยื่นคำให้การภายใน 3 ก.ค.

      เวลา 10.00 น. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์สอบคำให้การจำเลย ศาลอ่านสรุปคำฟ้องให้จำเลยฟังโดยสรุปว่า ระหว่างส.ค.2554-พ.ค.2557 จำเลยในฐานะนายกฯ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ดำเนินนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกนาปี-นาปรัง ปี 2554-2556 รวม 5 โครงการ ระหว่างดำเนินการมีข้อทักท้วงจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และพรรคฝ่ายค้าน ว่าโครงการมีแนวโน้มก่อให้เกิดความเสียหายทั้งด้านคุณภาพข้าว การบิดเบือนราคาตลาด และอื่นๆ จำนวนมาก แต่จำเลยกลับร่วมลงมติกับคณะรัฐมนตรีโดยงดเว้นมาตรการป้องกันไม่ระงับยับยั้งความเสียหายให้หมดสิ้นไป หรือปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินเป็นตัวเลขได้และประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ โจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ซึ่งมีโทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท และพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 20,000-200,000 บาท

     นายวีระพล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน สอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ น.ส.ยิ่งลักษณ์แถลงตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉย ให้การปฏิเสธต่อสู้คดี พร้อมแถลงขอยื่นคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับสมบูรณ์ไม่เกินวันที่ 3 ก.ค.นี้ 

ศาลให้ประกัน-ห้ามออกนอกประเทศ 

      นายชุติชัย หัวหน้าคณะทำงานอัยการโจทก์ แถลงว่ามีพยานบุคคลจะเข้าไต่สวนรวมจำนวน 13 ปาก ขณะที่นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย แถลงขอนำพยานเข้าไต่สวนไม่ต่ำกว่า 20 ปาก ซึ่งพยานบางส่วนอยู่ในสำนวนของป.ป.ช.และพยานบางส่วนอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช.

ศาลพิเคราะห์แล้วอนุญาตให้จำเลยยื่น คำให้การฉบับสมบูรณ์ต่อศาลภายในวันที่ 3 ก.ค.นี้ โดยกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 และ 28 ก.ค.นี้ เวลา 09.30 น. ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาลับหลังนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกครั้ง หากไม่สามารถมาศาลในนัดใดให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลพิจารณาเป็นครั้งคราวไป ขณะที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยมีเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินออกจากศาลฎีกาฯ มาขอบคุณประชาชนที่มารอให้กำลังใจอยู่บริเวณรอบนอก ที่พากันโห่ร้อง เข้าให้ดอกไม้และขอถ่ายรูปรวมทั้งสวมกอดน.ส. ยิ่งลักษณ์ พร้อมตะโกนว่า "ยิ่งลักษณ์ สู้ๆ" จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางกลับด้วยรถตู้โฟล์กเลขทะเบียน ฮน 333 โดยไม่ให้สัมภาษณ์

นัดตรวจพยาน21และ28ก.ค. 

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายของน.ส.ยิ่งลักษณ์ เผยว่า วันนัดตรวจพยานหลักฐาน 21 และ 28 ก.ค. น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาศาลด้วยตนเองอย่างแน่นอน แต่หากติดติดภารกิจไม่สามารถมาได้ก็จะแจ้งข้อขัดข้องต่อศาลเพื่อขอพิจารณาคดีลับหลัง ทั้งนี้ทีมทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์ขอปล่อยชั่วคราว เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพจำนวน 30 ล้านบาท ศาลมีคำสั่งอนุญาต โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

นายนรวิชญ์กล่าวว่า ส่วนพยานที่จะนำไต่สวนนั้นยังไม่สามารถระบุได้ในวันนี้ แต่จะแถลงในวันที่มีการนัดตรวจพยานหลักฐานดังกล่าว ที่ผ่านมาหลังศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องเราขอคัดถ่ายเอกสารสรุปสำนวนการไต่สวนของ ป.ป.ช. ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถชี้ให้เห็นข้อพิรุธในสำนวนได้ เนื่องจากพยานที่ป.ป.ช.กล่าวอ้างนั้นเคยถูกให้ออกจากราชการและบางคนขณะที่ให้ปากคำกับทาง ป.ป.ช. ก็ถูกออกหมายจับด้วย เราจะชี้ให้เห็นว่าพยานมีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร ส่วนระยะเวลาในการพิจารณาคดียังไม่สามารถบอกได้ คงต้องรอวันนัดตรวจพยานหลักฐานอีกครั้ง อย่างไรก็ตามเราไม่ได้มีข้อกังวลอะไรเพียงแต่เมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการของศาลแล้ว ไม่อยากให้พรรคฝ่ายค้านที่เป็นปฏิปักษ์ต่อน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปพูดชี้นำเท่านั้น

วงเงินประกัน 30 ล้าน-สูงที่สุด

นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกาฯ หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เผยว่า การพิจารณาหลักทรัพย์การปล่อยชั่วคราวของศาลฎีกาฯสำหรับจำเลยแต่ละคน ศาลพิจารณาจากอัตราโทษในแต่ละคดีและมูลค่าความเสียหายในคดีเป็นหลัก คดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ศาลตีราคาวงเงินประกันปล่อยชั่วคราว 30 ล้านบาทพิจารณาจากมูลค่าความเสียหายในคดีที่สูงถึง 5 แสนล้านบาท อัตราโทษของคดีและนำสำนวนคดีอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกัน

เมื่อถามว่านำคดีของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดา ซึ่งศาลตีราคาวงเงินประกันการปล่อยชั่วคราว 8 ล้านบาทแต่จำเลยยังหลบหนีมาประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ นายธนฤกษ์กล่าวว่า ก็มีส่วน นำมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ถือได้ว่าคดีของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ตีราคาวงเงินประกันปล่อยตัวชั่วคราวสูงที่สุด

เลื่อนพิจารณาคดีสมชายไป29พ.ค.

วันเดียวกัน ศาลฎีกาเผยแพร่เอกสารข่าว แจ้งการเลื่อนนัดวันพิจารณาคดีครั้งแรก คดีหมายเลขดำที่ อม.2/2558 ที่ป.ป.ช.เป็นโจทก์ฟ้องนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกฯ กับพวกรวม 4 คน เป็นจำเลยที่ 1-4 ความผิดฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กรณีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.2551 ที่หน้าอาคารรัฐสภา โดยไม่เป็นไปตามหลักสากล ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย จากเดิมกำหนดวันที่ 21 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. โดยให้ยกเลิกวันนัดเดิมและนัดพิจารณาคดีครั้งแรกใหม่ในวันที่ 29 พ.ค.นี้ เวลา 09.30 น. เนื่องจากองค์คณะผู้พิพากษาบางท่านติดราชการไปต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถขึ้นนั่งพิจารณาคดีครบองค์คณะในวันดังกล่าวได้ 

เลี้ยงโต๊ะจีนขอบคุณกำลังใจ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังออกจากศาลฎีกาฯ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางไปบ้านพักของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ แกนนำพรรคเพื่อไทย ที่หมู่บ้านเบเวอร์ลี่ ฮิลล์ เพื่อรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับอดีตรัฐมนตรี แกนนำและสมาชิกพรรคเกือบ 100 คน ส่วนใหญ่ตามมาจากศาลฎีกาฯ อีกส่วนมารออยู่ก่อนแล้ว นางเยาวภาจัดโต๊ะจีนไว้ 10 กว่าโต๊ะ โดยเตรียมเมนูพิเศษ เช่น หูฉลาม เป็ดปักกิ่ง พร้อมจัดซุ้มอาหารสำหรับผู้ติดตาม

น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวขอบคุณทุกคนที่มาให้กำลังใจ โดยระบุว่าตอนอยู่ในห้องพิจารณาคดีหันหลังมาเจอทุกคนแล้วรู้สึกอุ่นใจ วันนี้อดีตส.ส.หญิงมากันเต็มเลย ขอบคุณมาก "หลังจากนี้ต้องเลี้ยงข้าวปูด้วย เพราะจ่ายเงินประกันตัวไป 30 ล้านบาทแล้ว"

แม้วชี้แยก 3 อำนาจ-หัวใจปชต.


อินเตอร์ - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมเสวนา 70 ปีหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 : การรักษาสันติภาพและความสงบรุ่งเรืองของเอเชีย ในงานประชุมเอเชี่ยน ลีดเดอร์ชิป คอนเฟอเรนซ์ ที่ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 

ส่วนความเคลื่อนไหวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่รับเชิญขึ้นกล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำเอเชียประจำปี 2015 วันที่ 19-20 พ.ค.นี้ โดยเครือหนังสือพิมพ์โชซันอิลโบ หนึ่งในสื่อใหญ่ของเกาหลีใต้ ร่วมกับคณะกรรมการเตรียมการรวมชาติ (ภายใต้กำกับของประธานาธิบดี) ที่โรงแรม The Shilla กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ มีผู้บรรยายทั้งสิ้น 96 คน นอกเหนือจากนักวิชาการที่โดดเด่นในเกาหลีแล้ว ยังมีบุคคลสำคัญระดับโลกอีกหลายสิบคนเข้าร่วม อาทิ แจ๊ก หม่า ผู้ก่อตั้งกลุ่มบริษัทอาลีบาบา, ฮอร์สต์ โคห์เลอร์ อดีตประธานาธิบดีเยอรมันระหว่างปี 2004-2010, ถัง เจียสวน (Tang Jiaxuan) อดีตมุขมนตรีและอดีตรมว.ต่างประเทศของจีน 

นายพานทองแท้ ชินวัตร ทวีตผ่านทวิตเตอร์ @oak_ptt ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นกล่าวหัวข้อ "70 ปีหลังสงครามโลกครั้งที่ 2:การรักษาสันติภาพและความสงบรุ่งเรืองของเอเชีย" พร้อมสรุปเนื้อหาที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ขึ้นพูด 16 ประเด็นซึ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจ 

ขณะที่เอเอฟพีรายงานว่า พ.ต.ท.ทักษิณกล่าวแสดงความเห็นว่าด้วยเรื่องความมั่นคงทางการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพื่อเรียกร้องให้ประเทศในแถบเอเชียทั้งหมดหันมาสร้างจุดแข็งแก่กฎหมายบ้านเมือง มากขึ้น หัวใจหลักของการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ดี คือคุณต้องแยกแยะความสมดุลระหว่างกระบวนการศาล การออกกฎหมายและการบริหารงานให้ออก แล้วต้องคอยเฝ้าดูกฎหมายอย่างใกล้ชิดด้วย ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่จะนำพาความเชื่อถือมาสู่แต่ละประเทศ

1ปีรัฐบาลคสช.ผลงานไม่ประทับใจ 

พ.ต.ท.ทักษิณยังให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ ว่า ไม่มีแผนปลุกระดมแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หรือเสื้อแดง เพื่อเคลื่อนไหวทางการเมือง และกล่าวถึงการทำงานในรอบ 1 ปีที่ผ่านมาของรัฐบาลทหารภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หลังยึดอำนาจเมื่อพ.ค.2557 ว่า "ไม่น่าประทับใจ"

รอยเตอร์ระบุ พ.ต.ท.ทักษิณซึ่งได้รับเชิญไปกล่าวปาฐกถาในการประชุมผู้นำแห่งเอเชียครั้งที่ 6 ในกรุงโซล กล่าวว่าไม่มีแผนจะให้นายพานทองแท้ ลูกชาย รับช่วงต่อการบริหารพรรคเพื่อไทย พร้อมเรียกร้องขอให้ประชาชนคนไทยหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง 

"ไม่นะ เราอยากเห็นรัฐบาลประสบความสำเร็จ แต่มันยากคุณคงนึกภาพออก" พ.ต.ท. ทักษิณกล่าวนอกรอบการประชุม และว่า "มันยังไม่น่าประทับใจเท่าไร พวกเขาต้องทำงานให้หนักกว่านี้ พวกเขาต้องเข้าใจสถานการณ์โลกและจิตใจของประชาชนที่อยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยมานานหลายปี ผมคิดว่าประชาธิปไตยจะหวนกลับมาอีกครั้งไม่ช้าก็เร็ว แต่เราจำเป็นต้องอดทนรออย่างสันติ และอย่าใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว

มติครม.-คสช.ทำประชามติ

เวลา 09.00 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นประธานประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี(ครม.) และคสช. โดยมีครม.และคสช.มาร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง อาทิ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ พล.อ.อุดมเดชสีตบุตร รมช.กลาโหมและผบ.ทบ.

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวรับการทักทายและให้กำลังใจของผู้สื่อข่าวอย่างอารมณ์ดีว่า "จ้า" พร้อมหยอกล้อช่างภาพว่า "ถ่ายทำไมหน้าก็หน้าเดิม" 

เวลา 14.00 น. พล.อ.ประยุทธ์แถลงหลังประชุมร่วมครม.และคสช.ว่า ที่ประชุมร่วม มีมติเห็นชอบให้แก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 เพื่อให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อเป็นขั้นตอนการ เตรียมการไว้ล่วงหน้า ยืนยันว่าทันเวลา หน้าที่ของเราคือทำกฎหมายให้ดำเนินการได้ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ คสช.จะไม่เข้าไปเกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากคสช.เป็นต้นกำเนิดและตั้งคณะทำงานคือสปช. ซึ่งมาจากหลายพวกหลายฝ่าย หลายกลุ่มการเมือง มีนักวิชาการ ไม่ได้ห้ามใครเลย และคนเหล่านี้คัดเลือกกมธ.ยกร่างรัฐธรรม นูญ 36 คน ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามมติของสปช.และครม. 

รอดูสปช.จะผ่านหรือไม่ 

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ คสช.จะไม่เสนอข้อพิจารณาเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นไป เราจะไปชี้นำไม่ได้ เพราะจะมองว่าต้องการสืบทอดอำนาจ ทั้งหมดได้หารือและจะเสนอข้อพิจารณาของครม.ไปภายในเวลาที่กำหนด สัปดาห์หน้าจะประชุมกันอีกครั้งว่าจะดำเนินการแก้ไขอย่างไรในบทบาทของครม. โดยมีตนนั่งประชุมในฐานะนายกฯ เพื่อรับฟังความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"ขอร้องสื่อมวลชนอย่าเพิ่งตีความยาวเหยียด ขอให้รอก่อนว่าสปช.จะผ่านหรือไม่ผ่านรัฐธรรมนูญ จะแก้หรือไม่แก้ อยู่ที่ว่าถ้าผ่านรัฐธรรมนูญก็ทำประชามติ วันนี้เขาเสนอมาว่าจะทำประชามติ ผมก็ต้องเตรียมตั้งหลักไว้ก่อนเพราะต้องร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในเรื่องอื่นๆ เป็นการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อน ซึ่งครม.และคสช.มีหน้าที่ ประการแรก คือแก้ปัญหาเร่งด่วนของประชาชนที่เดือดร้อน ในทุกระดับ เรื่องรายได้ที่ต้องดูทั้งมหภาค ประการที่สอง คืองานขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ทั้งนโยบายเร่งด่วนและนโยบายปกติ ประการที่สาม คือการเตรียมแนวทางปฏิรูปเพื่อส่งให้ผู้ที่จะดำเนินการต่อ เป็นขั้นตอนชัดเจนขึ้นว่าประเทศจะเดินตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับ 11-12-13 ต้องดูรายละเอียดงานแต่ละกระทรวง ขึ้นอยู่ว่าอนาคตใครจะเข้ามาทำ ขึ้นอยู่กับประชาชนที่จะเลือกตั้งใคร ตนคงไม่เข้าไปตรงนั้น 

ให้กกต.กำหนดรายละเอียด

เมื่อถามว่ามีการกำหนดกรอบเวลาไว้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีระยะเวลาอยู่แล้ว นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ มีรายละเอียดอยู่แล้ว ทุกอย่างตามขั้นตอนกฎหมายไม่ใช่ตามใจตน ซึ่งกำหนดไว้ชัดเจนว่าใช้เวลากี่วัน 60 วัน 120 วัน การทำประชามติก็ใช้เวลา 3 เดือน จากนั้นก็ทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ มีกติกากำหนดไว้ทุกอย่าง ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากการทำรัฐธรรมนูญหรือการทำประชามติที่ผ่านมาเลยเพราะไม่ได้เอาตามใจตน

เมื่อถามว่าโรดแม็ปของรัฐบาลต้องยืดเวลาออกไปใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน แต่ถ้าทำประชามติก็ต้องเลื่อนเวลาออกไปอยู่แล้วเพราะต้องใช้เวลาการทำประชามติ"

เมื่อถามว่าคาดว่าจะทำประชามติได้เดือนไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ทราบเพียงแต่เตรียมกันไว้ ถ้าสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรม นูญ จะได้ให้เขาทำ เขาอาจไม่ทำก็ได้อย่าคาดกันมาก คาดมากก็พันคอตัวเองหมด อย่าเอาตนไปพันคอคนนั้นคนนี้เลย วันนี้ความ ขัดแย้งต้องลดลง เราต้องไม่สร้างปัญหา ใหม่ ประเทศชาติกำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดี เศรษฐกิจที่เคยฟุบมามากๆ ก็เริ่มขยับได้ บ้างแล้ว

เมื่อถามว่าในการทำประชามติจะถามว่าควรผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญอย่างเดียว หรือจะถามเรื่องอื่นด้วย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งต้องแบ่งงานให้เขาทำ ก็ว่ากันทีละขั้นตอน จากนี้เป็นเรื่องของสปช.ว่าจะรับหรือไม่รับ หากมติสปช.รับก็เป็นการแก้ไข จากนั้นเป็นขั้นตอนทำประชามติ เป็นหน้าที่ของกกต.รับผิดชอบต่อไป จะเสนอเข้ามาว่าจะทำประชามติเรื่องอะไร ต้องใช้ทั้งเวลาและงบประมาณ ถ้ารับกันได้ก็รับกันไป

เมื่อถามว่าหากทำประชามติแล้วประชาชนไม่เห็นด้วยจะทำอย่างไร และจะนำรัฐธรรม นูญปี 2540 หรือปี 2550 มาใช้ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธที่จะตอบคำถามโดยกล่าวว่า "จะมาถามผมทำไม ให้ถามประชาชนโน่น"

เมินทักษิณปาฐกถา

เมื่อถามถึงพ.ต.ท.ทักษิณปาฐกถาที่เกาหลีระบุไม่ประทับใจการทำงานของรัฐบาล นายกฯ กล่าวว่า เรื่องของเขา ปล่อยเขาไป ไม่เห็นมีความสำคัญอะไร เมื่อถามย้ำว่าพ.ต.ท.ทักษิณ วิจารณ์ว่ารัฐบาลไม่มีผลงาน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ปล่อยเขาไป ผมไม่ขอตอบโต้ แล้วเขาพูดอย่างที่ผมพูดหรือไม่ ทำอย่างที่ผมทำหรือไม่ ไม่ตอบโต้ใครทั้งสิ้นให้ดูที่การกระทำ"

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ในรายการทุกวันศุกร์สั่งการให้จัดทำเรื่องการสร้างการเรียนรู้ใหม่ ให้เป็นกรอบกิจกรรม ให้ทราบว่ามีอะไร ทำอะไรสำเร็จแล้วบ้าง อะไรที่ต้องส่งต่อ หรือเป็นเรื่องของอนาคต เพื่อต้องการแสดงให้เห็นว่าไม่ได้ต้องการผูกขาดอะไรทั้งสิ้นไว้ แต่ต้องการสร้างพื้นฐานและอนาคต ใครจะมีความเห็นแตกต่างอย่างไรก็ว่ามา สิ่งที่ตนพูดทั้งหมดคือเรื่องหลักการที่ได้จากประสบ การณ์ ได้พูดคุยกับเกษตรกร จากสื่อ และ นำมาวิเคราะห์ว่าจะสั่งการอย่างไรต่อไป

เสนอร่างแก้รธน.ภายในมิ.ย.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ แถลงว่า ที่ประชุมร่วมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) โดยใช้อำนาจตามมาตรา 46 แก้มาตรา 36 และ 38 ที่ล็อกเรื่องเวลาไว้ เพื่อเปิดทางให้ลงประชามติ ได้ในอนาคต โดยไม่เป็นอุปสรรคและจัดให้ลงประชามติได้โดยเร็ว โดยครม.และคสช.จะร่วมเป็นผู้เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภายในเดือน มิ.ย.นี้ จากนั้นสนช.จะใช้เวลาพิจารณา 15 วัน นำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยเพื่อประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 

นายวิษณุกล่าวว่า ในร่างแก้ไขจะระบุ ว่า ให้ใครเป็นผู้ตัดสินใจอีกครั้งว่าจะทำประชามติหรือไม่ ซึ่งคนที่ตัดสินใจจะทำอาจเป็นได้ทั้งครม.หรือสปช.หรือองค์กรใดก็ได้ แต่ต้องรอดูการลงมติของสปช.วันที่ 6 ส.ค.นี้ก่อน ถ้าสปช.เห็นชอบจะให้กกต.เป็นผู้จัดการเรื่องลงประชามติ นำพ.ร.บ.ว่าด้วยการลงประชามติ 2552 มาใช้ได้ ส่วนใดที่ปฏิบัติตามพ.ร.บ.ไม่ได้ กกต.สามารถออกระเบียบเพื่อให้การลงประชามติเรียบร้อย บริสุทธิ์ ยุติธรรม การออกเสียงประชามติต้องใช้เวลาสร้างความเข้าใจ จัดพิมพ์รัฐธรรมนูญเพื่อแจกจ่ายให้ผู้มีสิทธิ์ออกเสียง 47 ล้านคน หรืออย่างน้อย 80 เปอร์เซ็นต์ทำความเข้าใจ คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือน จากนั้น 1 เดือน จึงให้ออกเสียงประชามติรวมเวลาทั้งหมด 3-4 เดือน 

ขยายเวลากมธ.ยกร่างฯอีก 1 เดือน 

นายวิษณุกล่าวว่า ข้อเสนอให้หัวหน้าคสช. ใช้อำนาจมาตรา 44 สั่งให้ลงประชามติทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวมีหลายมาตรากำหนดเรื่องเวลาร่างรัฐธรรมนูญไว้ เมื่อเวลาล็อกไว้ ปฏิทินเวลาจึงออกมาว่าต้องลงมติโหวตรับ-ไม่รับภายในวันที่ 6 ส.ค.นี้ และวันที่ 4 ก.ย.เป็นวันสุดท้ายที่ต้องนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อม ดังนั้นหากลงประชามติกำหนดวันดังกล่าวก็ทำไม่ได้เพราะต้องไปลงประชามติก่อน ซึ่งมาตรา 44 จะไปรื้อเวลาที่ล็อกไว้ไม่ได้ เพราะจะกระทบกับรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่เป็นต้นกำเนิดของมาตรา 44 ทั้งหมด การเสนอแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อนจัดลงประชามติ จึงเป็นหนทางเดียว

นายวิษณุกล่าวว่า ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณาสิ่งที่มีคนเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญจำนวนมาก จึงไม่อยากให้กมธ.ยกร่างฯ ถูกบีบบังคับด้วยกรอบเวลาและคนที่มาชี้แจงจำนวนมาก เพราะเหลือเวลาแก้ไข รื้อหรือตัดบางมาตราที่อาจดูง่าย เช่น เรื่องกลุ่มการเมือง แต่บางครั้งไปผูกกับมาตราต่างๆ 20-30 มาตรา จึงแก้ไขเรื่องเวลาทำงานโดยขยายเวลาทำงานจากเดิม 60 วัน เพิ่มเป็นไม่เกิน 30 วัน รวมเป็น 90 วัน 

นายวิษณุกล่าวว่า สรุปการทำประชามติ ต้องผ่านด่านแรกคือแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว ด่านที่สองคือจะตัดสินใจลงประชา มติหรือไม่ ที่ผ่านมาไม่ใช่อุบหรือแทงกั๊กไว้ เพราะตัดสินใจตอนนี้ไม่ได้ เวลา 60-90 วัน ที่ให้กมธ.ยกร่างฯไปแก้ไขนั้น เขาอาจแก้ไขแล้วสังคมพอใจ ต้องการให้ประกาศใช้ก็ไม่ต้องพูดเรื่องลงประชามติ ถ้าเราไปบีบบังคับว่าต้องลงประชามติก็ลำบาก ทำให้เวลายืดออกไป จึงรอตัดสินใจว่าประชาชนเห็นอย่างไร แต่เมื่อวันนี้ประชาชนอยากเห็นการลงประชามติ เราก็แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเปิดทางไว้ก่อน หากกมธ.ยกร่างฯนำข้อเสนอไปแก้ไขแล้วปรากฏว่าหนักกว่าเดิม หรือเหมือนเดิม ก็ลงประชามติ เหมือนไขกุญห้องที่ล็อกไว้ก่อน เมื่อใดที่อยากเปิดประตูก็ผลักประตูหรือลงประชามติไปได้

นัดถกครม.วาระพิเศษ 25 พ.ค. 

นายวิษณุกล่าวว่า การประชุมครม.ที่ประชุม รับทราบข้อสรุปขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ หลังจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องเสนอความเห็น โดยตนสรุปให้ที่ประชุมทราบแล้ว 80 เปอร์เซ็นต์ แบ่งได้ 3 กลุ่ม 1.กลุ่มว่าด้วยเรื่องถ้อยคำที่ยังกำกวม ไม่ชัดเจนในความหมาย จนปฏิบัติตามได้ยาก เช่น คำว่าพลเมือง ปวงชนชาวไทย ประชาชน ราษฎร บุคคล คำเหล่านี้มีความหมายต่างกันอย่างไร 2.กลุ่มว่าด้วยข้อความ ซึ่งไม่ควรอยู่ในมาตรานั้นๆ แต่ควรย้ายไปอยู่ในมาตราอื่นแทนหรือควรบัญญัติเพิ่มเติม 3.กลุ่มที่กระทบต่อหลักการสำคัญ ซึ่งมีหลายเรื่องจะเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯตัดออก บางมาตราอาจเสนอให้ปรับปรุง ทบทวน 

รองนายกฯ กล่าวว่า ครม.ต้องการเห็นข้อสรุปที่ละเอียดมากกว่านี้ จึงนัดประชุมครม.วาระพิเศษอีกครั้งวันที่ 25 พ.ค. เพื่อหารือร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนจะเสนอข้อสรุปโดยละเอียดก่อนส่งข้อสรุปขอแก้ไขให้ กมธ. ยกร่างฯในวันนั้น เพราะเป็นวันที่สุดท้ายที่จะยื่นขอแปรญัตติ โดยครม.มอบให้ตนตั้งคณะทำงานศึกษาพิจารณาทั้งแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 และการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ตนไม่ได้ทำเพียง ผู้เดียวจึงต้องประชุมเพื่อตัดสินใจในวันที่ 25 พ.ค. เมื่อถามว่าข้อแก้ไขรัฐธรรมนูญที่กระทรวงต่างๆ ส่งเข้ามา มีความเห็นเกี่ยวกับกลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้หรือ ไม่ นายวิษณุกล่าวว่า มี ซึ่งส่วนใหญ่เสนอให้ตัดออก

ชี้เลือกตั้งสิงหา 59

นายวิษณุกล่าวว่า ขณะที่ คสช.หารือเป็นเอกฉันท์แล้วว่าจะไม่เสนอความเห็นขอแก้ไขเพิ่มเติมไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แม้คสช.จะเป็นแม่น้ำสาย 1 ใน 5 สาย แต่เปรียบเสมือนมหานทีสีทันดร ถือเป็นต้นน้ำของแม่น้ำทุกสาย จึงมีอำนาจในตัว ถ้าเสนอความเห็นไปยัง กมธ.ยกร่างฯ แล้วแก้ไขตามจะถูกข้อครหาว่าทำตามใบสั่ง ถ้าคสช.ขอแก้ไขแต่กมธ.ยกร่างฯไม่แก้ตาม จะเป็นช่องให้เกิดการประชดประชันว่า กมธ.ยกร่างฯแข็งข้อ คสช.แพ้ หรือสุดท้ายเสียของ หากสมาชิก คสช.คนใด มีข้อเสนอหรือความเห็น ถือเป็นเรื่องส่วนตัว แจ้งผ่าน ครม.ได้ หากมีเหตุผลเพียงพอก็จะประมวลเป็นความเห็นของ ครม. 

เมื่อถามว่าหากตัดสินใจทำประชามติจะดำเนินการช่วงเดือนใด นายวิษณุกล่าวว่า ความเห็นส่วนตัวไม่ผูกมัดกับครม.และ คสช. คาดการทำประชามติจะเกิดขึ้นในเดือน ม.ค. 2559 หากผ่านจะทูลเกล้าทูลกระหม่อมและประกาศใช้รัฐธรรมนูญต่อไป ในร่างรัฐธรรม นูญที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลว่าเมื่อประกาศใช้แล้ว กมธ.ยกร่างฯต้องร่างกฎหมายลูก 3 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง และพ.ร.บ.ว่าด้วยกกต. โดยใช้เวลา 1 เดือนหรือเร็วกว่านั้น หากทำทั้ง 3 ฉบับคู่ขนานช่วงนี้ หลังจากได้ร่างทั้ง 3 ฉบับแล้วต้องส่งให้สนช.พิจารณา ใช้เวลาไม่เกิน 60 วัน เมื่อสนช.เห็นชอบจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาอีก 1 เดือน จึงทูลเกล้าทูลกระหม่อมเพื่อประกาศใช้กฎหมายลูก จัดการเลือกตั้งได้ ซึ่งในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดว่าต้องจัดการเลือกตั้งภายใน 3 เดือนหลังประกาศใช้กฎหมายลูก รวมเวลา 7 เดือน หลังจากทำประมติจึงจะมีการเลือกตั้ง

เมื่อถามว่าถ้าอย่างนั้นก็เลือกตั้งส.ค.หรือก.ย. 59 นายวิษณุ กล่าวว่า ไปนับเอาเอง

เมื่อถามว่าถ้าทำประชามติไม่ผ่าน ขั้นตอนต่อไปจะเป็นอย่างไรจะระบุในรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่จะแก้ไขหรือไม่ รองนายกฯ กล่าวว่า ต้องเขียนไว้ ถ้าไม่เขียนก็ทะเลาะกัน ตาย เนื้อหาในคณะทำงานที่ตนพิจารณานั้น จะเสนอให้ครม.และคสช.ก่อนส่งให้ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนคำถามหากทำประชามติจะมีแค่รับหรือไม่รับ หรือจะมีคำถามอื่นอีกหรือไม่นั้น นายวิษณุกล่าวว่า ในที่ประชุมร่วมก็ตั้งประเด็นว่าจะถามหลายอย่างได้หรือไม่ ถ้าได้จะถามเรื่องอะไร

กกต.คาดลงคะแนนช่วงพ.ย.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงคสช.และครม.เห็นชอบให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า กกต.จะหารือถึงการเตรียมจัดทำประชามติ หากสปช.เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. นับไปอีก 90-120 วัน น่าจะเดือน พ.ย.จะมีการลงประชามติ ส่วนการเตรียมการของ กกต. ขึ้นอยู่กับปัจจัย 1.ประเด็นที่รัฐบาล ตั้งมา เช่น ทำประชามติทั้งร่างหรือบางประเด็น มีเงื่อนไขหรือไม่ 2.หากรัฐบาลไม่ประกาศพ.ร.ฎ.กำหนดวันลงประชามติ กกต.ต้องเสนอวันให้ ครม.ประกาศพ.ร.ฏ. 

3. การเตรียมเผยแพร่เนื้อหาสาระ ส่วนตัวเห็นว่าควรเป็นหน้าที่ของกมธ.ยกร่างฯร่วมกับสปช. ขณะที่ กกต.จะทำรายละเอียดโรดแม็ปขั้นตอนการทำประชามติเท่านั้น 4.กกต.จะเชิญสถานีวิทยุ โทรทัศน์และ สื่อของรัฐ มาหารือเพื่อจัดให้มีการออกสื่อโดยเท่าเทียมกันระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ 5.กกต.จะจัดทำเอกสารส่งถึงเจ้าบ้าน เพื่อประชาสัมพันธ์ให้รู้ถึงขั้นตอนการลงประชามติ ในเอกสารจะมีพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลของฝ่ายที่เห็นด้วยกับไม่เห็นด้วยโดยเท่าเทียมกัน และ 6.ตาม พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2552 ต้องจัดให้มีการลงคะแนนล่วงหน้าทั้งในเขตและนอกเขต รวมทั้งการลงคะแนนนอกราชอาณาจักร ผู้มีสิทธิ์ต้องไปจดแจ้งขอใช้สิทธิ์กับสถานทูตหรือกงสุลไทยในประเทศนั้นๆ ก่อน เว้นแต่มีการระบุรายละเอียดแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 เป็นอย่างอื่น 

กมธ.ยกร่างฯชี้ยืดโรดแม็ป

ที่รัฐสภา พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า วันที่ 20 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯนัดประชุมกัน เบื้องต้นคาดจะนำมติการประชุมร่วมครม.และคสช. มาหารือ ตนมองว่าจะทำให้โรดแม็ปยืดเวลาออกไป จากที่คสช.เคยประกาศจะเลือกตั้งช่วงเม.ย. 59 เป็นช่วงต้นปี 2560 เนื่องจากการทำประชามติอาจใช้เวลาอย่างน้อย 5 เดือน คือ จัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญให้ประชาชนศึกษา 2 เดือน และเผยแพร่ให้ข้อมูลอย่างรอบด้านอีก 3 เดือน เมื่อประชามติผ่านจะเข้าสู่กระบวนการทำกฎหมายลูกฉบับสำคัญอีก 3 เดือน จากนั้นจะมีเวลาอีก 90 วันเพื่อเลือกตั้งส.ส. เมื่อบวกลบเวลาแล้ว วันเลือกตั้งจะอยู่ต้นปี 2560 

พล.ท.นครกล่าวว่า กรณีครม.ขยายเวลาการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ เพิ่มอีกไม่เกิน 30 วันนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งที่กมธ.ยกร่างฯเสนอ แต่เป็นความคิดของครม. ส่วนประเด็นที่เสนอแก้ไข เช่น ระบบเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ หรือระบบกลุ่มการเมือง ต้องนำมาพิจารณาในที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯอีกครั้ง แต่ยอมรับว่าการแก้ไขประเด็นใดต้องอยู่ภายใต้หลักการสำคัญที่วางไว้ใน 4 เจตนารมณ์ คือพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาดและสมดุล หนุนสังคมให้เป็นธรรมและนำชาติสู่สันติสุข หากคำขอแก้ไขใดที่กระทบต่อเจตนารมณ์ก็ต้องพิจารณาว่าจะทดแทนกันอย่างไร เมื่อถามว่าการเปิดให้ทำประชามติจะสร้างแรงกดดันต่อการทำงานของกมธ.ยกร่างฯหรือไม่ พล.ท.นครกล่าวว่า ยอมรับว่ามีความกดดัน แต่เมื่อกมธ.ยกร่างฯ ได้รับเวลาทำงานเพิ่มเชื่อว่าจะทำให้การทำงานรอบคอบและรัดกุมมากยิ่งขึ้น 

สนช.เล็งตั้งกมธ.ถก 3 วาระรวด 

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงมติร่วมคสช. ครม.ให้แก้รัฐธรรมนูญเปิดช่องทำประชามติว่า ตามขั้นตอนต้องส่ง ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาให้สนช. ตามมาตรา 46 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว สนช.มีเวลาพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบภายใน 15 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม แต่ไม่มีอำนาจแก้ไขเนื้อหาหรือเสนอคำแปรญัตติ เว้นแต่ครม. และคสช.จะเห็นชอบด้วย 

นายสุรชัยกล่าวว่า ส่วนการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม คงไม่พิจารณาเหมือนกฎหมายปกติที่ต้องพิจารณา 3 วาระ เพราะมีเวลา 15 วัน สนช.อาจตั้งคณะกรรมาธิการเต็มสภาเพื่อพิจารณา 3 วาระรวด คิดว่าเนื้อหาในร่างแก้ไขต้องระบุถึงเงื่อนไขต่างๆ ของการทำประชามติ เช่น หากเกิดกรณีประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรม นูญจะมีผลอย่างไร โดยเฉพาะการกลับไป เริ่มต้นกระบวนการยกร่างฯใหม่ เป็นต้น

เมื่อถามว่า ในทางเทคนิคทางกฎหมาย คสช.สามารถใช้อำนาจตามมาตรา 44 ได้เลยหรือไม่ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วโดยไม่ต้องเสนอร่างแก้ไขมาให้กับสนช. นายสุรชัยกล่าวว่า ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากมาตรา 44 มีไว้บังคับใช้เป็นกรณีพิเศษเฉพาะเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวพ.ศ.2557 กำหนดกระบวนการแก้รัฐธรรมนูญเอาไว้ เท่ากับต้องดำเนินการตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

เมื่อถามว่า หากมีการประกาศให้ทำประชามติ จำเป็นต้องผ่อนปรนข้อห้ามการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือไม่ นายสุรชัยกล่าวว่า คิดว่าต้องเป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในพ.ร.บ.ทำประชามติ ที่ต้องเปิดเวทีให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็น เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจต่อร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าฝ่ายที่จะเป็นเจ้าภาพหลักในการเปิดเวทีคือ กมธ.ยกร่างฯในฐานะ ผู้เขียนรัฐธรรมนูญ

สปช.ค้านหั่นหมวดปรองดอง

นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสปช. กล่าวกรณีตัดทอนร่างรัฐธรรมนูญหมวด 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองให้สั้นลง จากที่มีอยู่ถึง 20 มาตรา ให้เหลือเพียง 2 มาตรา โดยนำเนื้อหาไปทำเป็นกฎหมายลูกว่า ไม่เห็นด้วย เนื่องจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นฉบับปฏิรูปประเทศ ไทยตามการเรียกร้องของคนไทย หากตัดเหลือ 2 มาตรา จะทำให้มิติการปฏิรูป เลือนหายไปจากรัฐธรรมนูญ และจะเรียกว่า เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้อย่างไร ส่วนกฎหมายลูกนั้น เป็นหน้าที่ของสนช.ที่จะรับช่วงต่อไป เท่ากับยกเอาเรื่องปฏิรูปไปฝากผีฝากไข้ไว้กับสนช. ซึ่งพ้นจากมือของ สปช. ทำให้การปฏิรูปประเทศไทยล่องลอยอยู่กับอนาคตที่ไร้หลักประกัน

"วันชัย"ยุสปช.คว่ำร่างรธน.

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิก สปช. กล่าวถึงเหตุผลที่ร่างรัฐธรรมนูญจะไปรอดหรือ ไม่ว่า 1.ในแม่น้ำ 5 สาย ผู้มีอำนาจบางส่วนไม่เห็นด้วยหลายเรื่องหลายประเด็น และหาก กมธ.ยกร่างฯ แข็งขืนไม่แก้ไขในประเด็นหลักๆ ตามข้อเสนอ ก็อาจเป็นเหตุสำคัญที่ถูกคว่ำได้ 2.ภายในสปช.เองมีความคิดเห็นที่แตกต่าง หลากหลาย 3.พรรคการเมืองขนาดใหญ่ ก็ไม่เห็นด้วยต่อหลักการใหญ่ๆ โดยเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง และมีแนวโน้มจะขยายวงกว้าง 4. กลุ่มข้าราชการก็ลุกขึ้นมาปฏิเสธความเป็นใหญ่ของประชาชนตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ มีการเคลื่อนไหวหลายรูปแบบ 5.ยังไม่เกิดพลังสนับสนุนขับเคลื่อนจากประชาชน และ 6.ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับที่เรียกกันว่าฉบับปฏิรูป จึงผสมปนเปอีนุงตุงนังไปหมด ทั้งอุดรูรั่ว แก้ปัญหาในอดีต ป้องกันปัญหาในอนาคต ผูกรวม กันจึงกลายเป็นรัฐธรรมนูญปรารถนาดีประสงค์ร้าย 

นายวันชัยกล่าวว่า เมื่อพิจารณาสถาน การณ์ในขณะนี้ หากเดินหน้าทำประชามติต่อไป แม้จะเป็นเรื่องดีแต่ก็มีแนวโน้มว่าอาจไปไม่รอด ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเงิน 3,000 ล้านบาท โดยเปล่าประโยชน์ สปช. ก็ควรจะคว่ำหรือไม่เห็นชอบต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียดีกว่า เพื่อให้ผู้มีอำนาจนำไปดำเนินการให้เป็นไปตามความต้องการของทุกภาคส่วน ทั้งเป็นการปฏิรูป และแก้ปัญหาของประเทศนี้ได้อย่างสัมฤทธิผลต่อไป

ครม.ให้"วิลาศ"ควบโฆษกรบ. 

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ แถลงว่า ครม.มีมติรับทราบคำสั่งสำนักนายกฯ ที่ 122/2558 เรื่องมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้งานด้านการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต่อเนื่องเหมาะสม และมีประสิทธิภาพ นายกฯมีคำสั่งให้ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกฯ ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกฯ อีกหน้าที่หนึ่งจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. เป็นต้นไป 

ตั้ง"คุรุจิต"ปลัดพลังงาน

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.มีมติอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอแต่งตั้ง นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวง เป็นปลัดกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่จะว่าง เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งเดิมได้รับแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งอื่น 

อนุมัติตามที่กระทรวงยุติธรรม เสนอแต่งตั้งข้าราชการ 5 ราย 1.นายพสิษฐ์ อัศววัฒนาพร รองปลัดกระทรวง เป็น ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม 2.นายกอบเกียรติ กสิวิวัฒน์ ผอ.สำนักงานกิจการยุติธรรม เป็น รองปลัดกระทรวง 3.นายไพฑูรย์ สว่างกมล รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 4.นางฉลอง อติกนิษฐ รองอธิบดีกรมคุมประพฤติ เป็น ผู้ตรวจฯ 5.น.ส.พรพิตร นรภูมิพิภัชน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เป็นผู้ตรวจฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อสับเปลี่ยนหมุนเวียนและทดแทนตำแหน่งที่ว่าง 

รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงาน เผยว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ต่างยินดีที่นายคุรุจิต เป็นปลัดคนใหม่ เพราะคร่ำหวอดในวงการพลังงาน เชี่ยวชาญเฉพาะทางจนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ที่ผ่านมามีหลายฝ่ายมองว่านายคุรุจิตเหมาะสมทั้งประสบการณ์และอายุราชการที่ควรได้รับการแต่งตั้งปลัดพลังงาน ก่อนหน้านายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบข้าราชการ (ก.พ.ร.) ที่เพิ่งถูกโยกย้ายกลับไปรับตำแหน่งเดิมเมื่อสัปดาห์ก่อน จะข้ามห้วยมาเป็นปลัดพลังงาน

เด้งปลัด"ทส.-ไอซีที" 

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า ครม.อนุมัติตามที่สำนักนายกฯ เสนอรับโอนข้าราชการมาดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกฯ ตามข้อ 1 วรรคสาม ของคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2558 ลงวันที่ 15 พ.ค.2558 จำนวน 2 ราย ดังนี้ 1.นางมิ่งขวัญ วิชยารังสฤษดิ์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) เป็นผู้ตรวจราชการ พิเศษฯ เพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2.นางเมธินี เทพมณี ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เป็นผู้ตรวจราชการพิเศษฯ เพื่อประโยชน์ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และการเตรียมจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป ทั้งนี้ ผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว 

นายพรชัย รุจิประภา รมว.ไอซีที กล่าวว่า ที่ประชุมครม.อนุมัติให้โยกย้ายนางเมธินี กลับไปปฏิบัติงานที่สำนักนายกฯตามเดิม หลังจากย้ายมาทำหน้าที่ชั่วคราวตามคำสั่งคสช. เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2557 เพื่อให้ผู้ที่มีความเหมาะสมและเชี่ยวชาญได้มาปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งอยู่ระหว่างการสรรหาผู้ที่เหมาะสมมาดำรงตำแหน่ง

บรรยากาศในกระทรวงทส. หลังครม.มีมติย้ายนางมิ่งขวัญ เป็นผู้ตรวจราชการพิเศษฯ ข้าราชการหลายคนบ่นเสียดาย เพราะนางมิ่งขวัญ เป็นข้าราชการน้ำดี ไม่มีข่าวพัวพัน ทุจริตใดๆ พร้อมคาดถึงสาเหตุการโยกย้าย เช่น ความไม่พอใจของฝ่ายการเมืองที่นางมิ่งขวัญ ไม่ยอมลงนามแต่งตั้งรองอธิบดี ตามที่ฝ่ายการเมืองต้องการ 

"จตุพร บุรุษพัฒน์"เต็งปลัดทส.

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าผู้จะมาดำรงตำแหน่ง ปลัดทส.คนใหม่ คือ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และเมื่อได้ปลัดทส.คนใหม่แล้ว อาจเปลี่ยนแปลงผู้บริหารระดับสูงในหลายกรม เช่น กรมอุทยานแห่งชาติฯ กรมป่าไม้ เพราะก่อนหน้านี้มีข่าวว่าฝ่ายการเมืองไม่พอใจการทำงานของทั้ง 2 กรมนี้มาก โดยอาจย้าย นายนิพนธ์ โชติบาล อธิบดีกรมอุทยานฯ ไปเป็นรองปลัดทส. ให้นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมป่าไม้ ไปเป็นอธิบดีกรมอุทยานฯ นายรัชฎา สุริยกุล ณ อยุธยา ผู้ตรวจราชการ ไปเป็นอธิบดีกรมป่าไม้ ให้นายธัญญา เนติธรรมกุล รองอธิบดีกรมอุทยานฯ เป็นผู้ตรวจทส. ซึ่งจะทำให้ตำแหน่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯว่างลง 1 ตำแหน่ง ทำให้แต่งตั้งคนของฝ่ายการเมืองที่มีข่าวก่อนหน้านี้ว่านางมิ่งขวัญไม่เห็นด้วย จนเป็นเหตุให้ถูกโยกย้าย เข้าไปรับตำแหน่งรองอธิบดีกรมอุทยานฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มข้าราชการป่าไม้ที่มาจากโรงเรียนป่าไม้แพร่ได้จองร้านอาหารชื่อดังแห่งหนึ่งย่านประชานิเวศน์ เพื่อฉลองที่นางมิ่งขวัญ จะถูกย้าย แต่ปรากฏว่าครม.สัปดาห์ที่แล้วยังไม่มีคำสั่งนี้ออกมาจึงต้องยกเลิกการจองร้านออกมา กระทั่งมีคำสั่งออกมาในสัปดาห์นี้ กลุ่มเดิมจึงนัดรวมตัวกันฉลองอีกครั้งหนึ่ง 

บิ๊กต๊อกถกย้ายขรก.ล็อต 2

รายงานข่าวจากศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ(ศอตช.) แจ้งว่า วันที่ 20 พ.ค. เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ในฐานะประธานศอตช. ได้เรียกประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ป.ป.ช. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) สตง. กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ) และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ(คตร.) เพื่อพิจารณารายชื่อข้าราชการที่มีส่วนเกี่ยวข้องพัวพันการทุจริต รอบที่ 2 แต่จะยังไม่มีการประกาศโยกย้ายโดย

ให้ประกัน-ห้ามบินนอก ปูวาง 30 ล. ศาลสั่งฟังคดีข้าวทุกนัด เปาแจงยิบวงเงินค้ำสูง กองเชียร์มอบกุหลาบ แม้วร่วมเวทีผู้นำเอเชีย ชี้1ปีรบ.ไม่น่าประทับใจ

มติชนออนไลน์ : นัดแรก - น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ รับดอกกุหลาบจากประชาชนจำนวนมากที่มาให้กำลังใจ ระหว่างเดินทางไปสอบปากคำจำเลยนัดแรกในคดีละเลยไม่ยับยั้งการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม



"แม้ว"ร่วมเวที - พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ร่วมอภิปรายในการประชุมผู้นำเอเชีย ครั้งที่ 6 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และให้สัมภาษณ์ถึงการทำงานของรัฐบาลในปีแรกไม่ค่อยน่าประทับใจนัก เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม

      'ทักษิณ'ร่วมประชุมที่เกาหลีใต้ อัด 1 ปี รบ.ไม่น่าประทับใจ แนะไม่ใช้ความรุนแรง ปัด'โอ๊ค'ขึ้นผู้นำ พท. 'บิ๊กตู่'ไม่ตอบโต้ให้ดูการกระทำ ขณะที่'ปู'ขึ้นศาลครั้งแรก ปฏิเสธโกงจำนำข้าว ศาลให้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัว 30 ล. เงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ

@ "ปู"ขึ้นศาลครั้งแรกคดีข้าว

      เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ถนนแจ้งวัฒนะ ศาลฎีกานัดพิจารณาคดีครั้งแรกและสอบคำให้การ ในคดีหมายเลขดำ อม.22/2558 ที่นายตระกูล วินิจนัยภาค อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลยฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใดในตำแหน่งหรือหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับบรรยากาศในบริเวณศาลฎีกาฯ ในช่วงเช้า เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วเหล็กมากั้นเป็นทางเดิน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคู่ความ เนื่องจากมีประชาชนมารอให้กำลังใจและมอบดอกไม้ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์จำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งในและนอกเครื่องแบบจากกองบังคับการตำรวจนครบาล 2 (บก.น.2) รวมกว่า 500 นาย มาคอยรักษาความปลอดภัยบริเวณโดยรอบ

@ แกนนำ-พท.ให้กำลังใจพรึบ 

       ต่อมาในเวลา 08.45 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุสรณ์ อมรฉัตร สามี และทีมทนาย แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) อดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส.พรรค เดินทางมาให้กำลังใจ อาทิ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ รักษาการหัวหน้าพรรค นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรองนายกฯ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ฯลฯ โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากนครบาลจำนวน 500 นาย ดูแลความปลอดภัยโดยรอบศาลฎีกาอย่างเข้มงวด 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทันทีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางมาถึงประชาชนและอดีตสมาชิกพรรค เข้ามอบดอกไม้และให้กำลังใจ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "วันนี้เตรียมตัวมาอย่างดี มั่นใจและพร้อมต่อสู้ไปตามกระบวนการ และขอยืนยันในความบริสุทธิ์ คาดว่าจะได้รับความยุติธรรมจากศาล" ขณะที่ฝ่ายอัยการโจทก์ 

      นำโดยนายชุติชัย สาขากร อธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ หัวหน้าคณะทำงาน นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และนายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะทำงานอัยการ มาร่วมฟังการพิจารณา

@ ศาลสรุปคำฟ้องคดีจำนำข้าว 

       ต่อมาเวลา 10.00 น. นายวีระพล ตั้งสุวรรณ รองประธานศาลฎีกา ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน พร้อมองค์คณะผู้พิพากษารวม 9 คน ออกนั่งบัลลังก์เพื่อสอบคำให้การจำเลย โดยศาลได้อ่านสรุปคำฟ้องให้จำเลยฟังโดยสรุปว่า เมื่อระหว่างเดือนสิงหาคม 2554-พฤษภาคม 2557 จำเลยในฐานะนายกรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐและเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย มีอำนาจหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน และเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) จำเลยเป็นนายกรัฐมนตรีดำเนินการนโยบายรับจำนำข้าวเปลือกรวม 5 โครงการ ประกอบด้วย 1.โครงการรับจำนำข้าวนาปี ระหว่างปี 2554-2555 2.โครงการรับจำนำข้าวนาปรัง ปี 2555 3.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ระหว่างปี 2555-2556 (ครั้งที่ 1) 4.โครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปี 2556 (ครั้งที่ 2) 5.โครงการรับจำนำข้าวเปลือกปี 2556-2557 ระหว่างการดำเนินการตามนโยบายโครงการรับจำนำข้าว มีข้อทักท้วงจากหลายหน่วยงาน เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)  สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และพรรคฝ่ายค้าน ให้การทักท้วงว่าโครงการมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหาย ทั้งด้านคุณภาพข้าว การบิดเบือนราคาตลาดและอื่นๆ จำนวนมาก จำเลยและคณะรัฐมนตรี (ครม.) จะต้องมีความระมัดระวังรอบคอบ ทุ่มเทเอาใจใส่ในการดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ให้สมเหตุสมผล และมีมาตรการป้องกันความเสียหายด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ แต่จำเลยกลับร่วมลงมติกับ ครม.โดยงดเว้นมาตรการป้องกันไม่ระงับยับยั้งความเสียหายให้หมดสิ้นไปหรือปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ในโครงการรับจำนำข้าว ก่อให้เกิดความเสียหายที่ประเมินเป็นตัวเลขได้และประเมินเป็นตัวเลขไม่ได้ โดยโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 โทษจำคุก 1-10 ปี ปรับ 2,000-20,000 บาท และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 มีโทษจำคุก 1-10 ปี และปรับ 20,000-200,000 บาท 

@ "ปู"หน้าเรียบเฉย-ปฏิเสธข้อหา

         จากนั้นนายวีระพล ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวน สอบถามจำเลยว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้แถลงตอบศาลด้วยสีหน้าเรียบเฉยให้การปฏิเสธขอต่อสู้คดี พร้อมแถลงขอยื่นคำให้การที่เป็นลายลักษณ์อักษรฉบับสมบูรณ์ไม่เกินวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ ศาลได้สอบถามโจทก์และจำเลยว่าจะนำพยานเข้าไต่สวนในคดีนี้กี่ปาก โดยนายชุติชัย หัวหน้าคณะทำงานอัยการโจทก์ แถลงว่ามีพยานบุคคลจะเข้าไต่สวนรวมจำนวน 13 ปาก ขณะที่นายเอนก คำชุ่ม ทนายความจำเลย แถลงขอนำพยานเข้าไต่สวนไม่ต่ำกว่า 20 ปาก พยานบางส่วนอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.และพยานบางส่วนอยู่นอกสำนวน ป.ป.ช.

       ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่า อนุญาตให้จำเลยยื่นคำให้การฉบับสมบูรณ์ต่อศาลภายในวันที่ 3 กรกฎาคมนี้ โดยกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 21 และ 28 กรกฎาคมนี้ เวลา 09.30 น. ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอพิจารณาลับหลังนั้น ศาลเห็นว่าจำเลยมีหน้าที่ต้องมาศาลตามนัดทุกครั้ง หากจำเลยไม่สามารถมาศาลในนัดใดให้จำเลยยื่นคำร้องแสดงเหตุจำเป็นต่อศาลพิจารณาเป็นครั้งคราวไป ขณะที่ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลย โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล

@ กองเชียร์ตะโกน"ยิ่งลักษณ์สู้ๆ"

     ต่อมาเวลา 10.45 น. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางออกจากศาลฎีกาเพื่อขอบคุณประชาชนที่รอให้กำลังใจอยู่บริเวณภายนอก ขณะที่ประชาชนได้ให้ดอกไม้และสวมกอดพร้อมตะโกนว่า "ยิ่งลักษณ์สู้ๆ" จากนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางกลับด้วยรถตู้โฟล์กเลขทะเบียน ฮน 333 โดยไม่ให้สัมภาษณ์แต่อย่างใด

       ด้านนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เปิดเผยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาศาลด้วยตนเองอย่างแน่นอน แต่หากติดภารกิจไม่สามารถมาได้จะแจ้งข้อขัดข้องต่อศาลเพื่อขอพิจารณาคดีลับหลัง ทั้งนี้ทีมทนายความได้ยื่นหลักทรัพย์ในการขอปล่อยชั่วคราว เป็นสมุดบัญชีเงินฝากธนาคารกรุงเทพ จำนวน 30 ล้านบาท ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวได้ โดยกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

     นายนรวิชญ์กล่าวว่า มั่นใจว่าจะสามารถชี้ให้เห็นข้อพิรุธในสำนวนได้ เนื่องจากพยานที่ทาง ป.ป.ช.กล่าวอ้างนั้นเคยถูกให้ออกจากราชการ และพยานบางคนขณะให้ปากคำกับทาง ป.ป.ช. ก็ถูกออกหมายจับด้วย จะชี้ให้เห็นว่าพยานมีความน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร

@ "ปู-ทนาย"เตรียมเงินแค่5ล.

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์และทีมทนายจะเดินทางมายังศาลได้เตรียมหลักทรัพย์ไว้ประกันตัวจำนวน 5 ล้านบาท เนื่องจากประเมินว่าคดีมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี การประกันตัวไม่น่าจะใช้วงเงินเกินจำนวนที่เตรียมมา ต่อมาได้รับทราบว่าทางศาลขอเพิ่มเป็น 30 ล้านบาท น.ส.ยิ่งลักษณ์และทีมทนายต้องรีบดำเนินการหาเงินมาให้ครบตามจำนวนดังกล่าว ส่งผลให้ต้องใช้เวลาในการดำเนินการกว่า 40 นาที 

@ ศาลแจงประเมินจาก5แสนล.

     ด้านนายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา หนึ่งในองค์คณะผู้พิพากษาคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เปิดเผยว่า การพิจารณาหลักทรัพย์ในการปล่อยชั่วคราว ศาลจะพิจารณาจากอัตราโทษในแต่ละคดีและมูลค่าความเสียหายในคดีเป็นหลัก ซึ่งกรณีคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ศาลตีราคาวงเงินประกันในการปล่อยชั่วคราวจำเลย 30 ล้านบาทนั้น พิจารณาจากมูลค่าความเสียหายในคดีที่สูงถึง 5 แสนล้านบาท อัตราโทษของคดีและนำสำนวนคดีอื่นๆ มาพิจารณาประกอบกัน ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการนำกรณีคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีทุจริตจัดซื้อที่ดินรัชดาฯ ซึ่งศาลตีราคาวงเงินประกันในการปล่อยชั่วคราว 8 ล้านบาท แต่จำเลยก็ยังหลบหนีมาประกอบการพิจารณาด้วยหรือไม่ นายธนฤกษ์กล่าวว่า "ก็มีส่วน อย่างคดี พ.ต.ท.ทักษิณ ก็นำมาประกอบการพิจารณาด้วย แต่ก็ถือได้ว่าคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตีราคาวงเงินประกันในการปล่อยชั่วคราวสูงที่สุด"

@ "เจ๊แดง"จัดเลี้ยงโต๊ะจีน 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังออกจากศาลฎีกา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เดินทางไปยังหมู่บ้านเบเวอร์ลี่ฮิลล์ บ้านพักของนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ พี่สาวและแกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) เพื่อรับประทานอาหารเที่ยงร่วมกับบรรดาอดีตรัฐมนตรี อดีต ส.ส. แกนนำและสมาชิกพรรค พท. เกือบ 100 คน โดยส่วนใหญ่ตามมาจากศาล ขณะที่อีกส่วนหนึ่งเดินทางมารออยู่ก่อนแล้ว ทั้งนี้นางเยาวภาได้จัดโต๊ะจีนไว้กว่า 10 โต๊ะ เมนูพิเศษหูฉลาม เป็ดปักกิ่ง พร้อมจัดซุ้มอาหารสำหรับผู้ติดตามด้วย โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า "ตอนอยู่ในห้องพิจารณาคดี หันหลังมาเจอทุกคนแล้วรู้สึกอุ่นใจ วันนี้อดีต ส.ส.หญิงมากันเต็มเลย ขอบคุณมาก" นอกจากนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังกล่าวติดตลกด้วยว่า "หลังจากนี้ต้องเลี้ยงข้าวปูด้วยนะเพราะจ่ายเงินประกันตัวไป 30 ล้านบาทแล้ว"

@ "ทักษิณ"ร่วมประชุมที่เกาหลีใต้

       วันเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ร่วมประชุมเอเชีย ลีดเดอร์ชิป คอนเฟอเรนซ์ ครั้งที่ 6 ที่กรุงโซล เกาหลีใต้ โดย พ.ต.ท.ทักษิณได้ทวีตข้อความผ่านทางทวิตเตอร์ 3 ข้อความ ระบุว่า "ได้มาร่วมประชุมและคุยกับ แจ๊ค หม่า เข้ามาทักทายว่า มีแต่คนบอกว่า I กับ U หน้าเหมือนกัน บอกว่าอยากคุยด้วย ไปจีนเมื่อไหร่บอกนะ จะชวนไปเที่ยวหังโจว ได้ทักทายกับท่านโคลเลอร์ อดีตประธานาธิบดีเยอรมนี ซึ่งเคยเป็นผู้จัดการ IMF สมัยผมเป็นนายกฯ และได้คุยกับท่านเรื่องความหลังสมัยใช้หนี้ IMF" 

      ต่อมานายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ ได้ทวีตข้อความ 16 ข้อความ ระบุถึงคำพูด พ.ต.ท.ทักษิณ ที่ได้กล่าวบนเวทีตอนหนึ่งว่า "เราไม่มีเวลามาหวนย้อนความหลังอีกต่อไป เพื่อระลึกถึงอดีต เราควรหาทางนำความมั่งคั่งทางวัฒนธรรม และความรู้เข้าสู่ศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด เพื่อทำให้อนาคตมีสันติภาพและความมั่งคั่งอย่างมั่นคง เอเชียต้องร่วมกันทุ่มเทนำเอานวัตกรรมลงสู่รากหญ้า เป็นนวัตกรรมอันจะสร้างงาน และความสุขในชีวิตให้แก่กันทั่วทุกคน"

@ "แม้ว"ชี้1ปีรบ.ไม่น่าประทับใจ 

       สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานจากกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ว่า พ.ต.ท.ทักษิณให้สัมภาษณ์รอยเตอร์ว่าไม่มีแผนการที่จะระดมกำลังกลุ่มคนเสื้อแดง แต่ต้องการเห็นรัฐบาลประสบความสำเร็จ แต่มันเป็นเรื่องยาก ซึ่งเชื่อว่าทุกคนคงจะจินตนาการได้ 

        "ปีแรกของรัฐบาลไม่ค่อยน่าประทับใจนัก รัฐบาลต้องทำงานหนักกว่านี้ ต้องเข้าใจโลก และเข้าใจความคิดของประชาชนที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยมานานหลายปี แต่ผมคิดว่าไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว ที่สุดแล้วประชาธิปไตยจะชนะ แต่พวกเราต้องอดทน ต้องรักษาความสงบและสันติ อย่าหันไปใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะในรูปแบบใดก็ตาม" พ.ต.ท.ทักษิณกล่าว และว่า ไม่มีแผนที่จะให้นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย ก้าวเข้ามาเป็นผู้นำพรรคเพื่อไทยแต่อย่างใด

@ "บิ๊กตู่"เมินถูก"แม้ว"แขวะ 

       ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงคำให้ให้สัมภาษณ์ของ พ.ต.ท.ทักษิณ "ก็เป็นเรื่องของเขา ไม่เห็นจะมีความสำคัญอะไร" เมื่อถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณยังกล่าวถึงผลงานของรัฐบาลชุดนี้ โดยมองว่ามีผลงานงั้นๆ ว่า "ก็ปล่อยเขาไป ผมน่ะไม่ขอตอบโต้ เขาพูดเหมือนที่ผมพูดไหม เขาทำเหมือนที่ผมทำไหม ผมไม่ไปตอบโต้ใครทั้งสิ้น ให้ดูที่การกระทำ"

@ สื่อนอกมอง"ทักษิณ"ออกงาน 

       บีบีซีรายงานว่า ในระยะหลัง พ.ต.ท.ทักษิณแทบจะไม่ให้สัมภาษณ์ใดๆ กับสื่อ การออกมาให้สัมภาษณ์ครั้งนี้จึงถือเป็นเรื่องแปลก แต่เกิดขึ้นในวันเดียวกับที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ น้องสาว เดินทางไปขึ้นศาลฎีกาฯ 

      เอเอฟพีสัมภาษณ์นางพวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งระบุว่า เชื่อว่าสายเหยี่ยวในกลุ่มอำนาจเก่าต้องการลงโทษตระกูลชินวัตรให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่แน่นอนว่าหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ติดคุก กลุ่มเสื้อแดงก็จะยิ่งโกรธแค้นมากขึ้น ด้านนักวิเคราะห์รายอื่นมองว่า ข้อหาดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มชนชั้นนำเพื่อขจัดอิทธิพลในการครอบงำการเลือกตั้งของตระกูลชินวัตร แต่บางส่วนมองว่าอาจเป็นเพียงการขู่ว่าจะเจอโทษจำคุกเพื่อทำให้ตระกูลชินวัตรไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองไทยอีก

@ ชี้อดีตนายกฯเล่นการเมืองฉลาด

       นายพอล แชมเบอร์ส ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา จ.เชียงใหม่ ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อมติชนกรณี พ.ต.ท.ทักษิณ พูดในงานที่เกาหลีใต้ว่า คำพูดของ พ.ต.ท.ทักษิณฉลาด และหลักแหลมในการใช้เวทีนี้แสดงให้โลกรู้ว่าตัวเองเป็นนักประชาธิปไตย และรักเสรีภาพ อีกทั้งยังเป็นเหมือนการส่งสารให้กับหัวหน้า คสช.ว่า การแก้ปัญหาที่ไม่ได้มาจากระบอบประชาธิปไตยจะไม่เกิดประโยชน์ เนื่องจากไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ และปัญหาเศรษฐกิจ โดยดูได้จากเสียงประชาชนบางส่วนยังไม่พอใจกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ดังนั้น รัฐบาลปัจจุบันควรคืนอำนาจประชาธิปไตยให้กับประชาชน 

      "พ.ต.ท.ทักษิณกำลังเล่นบทบาทให้โลกเห็นว่าตนเองเป็นนักประชาธิปไตย และต้องการสร้างการปรองดอง สันติภาพ และไม่ต้องการความรุนแรง แต่ขณะเดียวกัน สิ่งที่พูดนั้นก็เป็นเหมือนเกมการเมืองอันหลักแหลมที่ต้องการรักษาอำนาจของตัวเองในความหวังให้รัฐบาลคืนอำนาจให้กับประชาชน และจัดการเลือกตั้งเพื่อให้พรรคเพื่อไทย หรือพรรคการเมืองที่เกี่ยวข้องกับ พ.ต.ท.ทักษิณกลับมามีอำนาจอีกครั้งเพราะตระกูลชินวัตรยังคงได้รับความนิยม และชนะการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย" นายพอลกล่าว