ลุ้นประกันคดีจำนำข้าว 'ปู'ขึ้นศาล ตร.ระดมกำลังคุมเข้ม ทนายยื่นขอเพิ่มพยาน 'พระสุเทพ'จ่อลาสิกขา 'ครม.-คสช.'ถกแก้รธน. ดีเอสไอฟัน5บิ๊กกรมพละ

มติชนออนไลน์ : หนุนโหวต - นายอลงกรณ์ พลบุตร โฆษก กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือวิป สปช. โชว์หนังสือที่นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช. เสนอให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลัง สปช.พิจารณาผ่านหรือไม่ผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม

 

   'ยิ่งลักษณ์'ขึ้นศาลฎีกาฯ ฟังพิจารณาคดีโครงการจำนำข้าว สมาชิก พท.ให้กำลังใจ บช.น.จัดกำลังดูแลความเรียบร้อย 'พระสุเทพ'ให้สัมภาษณ์เตรียมสึกหันหลังให้การเมืองไปทำงานเป็นเอ็นจีโอ

 

@ บิ๊กตู่ชี้ทำประชามติ-ยากตรงไหน

     เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 พฤษภาคม ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.) ครั้งที่ 3 ภายหลังการประชุม นบข. ก่อนให้นักศึกษาเยาวชนเพื่อประชาธิปไตย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จำนวน 15 คน เข้าพบ โดย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวตอนหนึ่งว่า "วันนี้ทุกคนจะต้องเรียนรู้ว่าประเทศของเราจะต้องก้าวเดินไปในทิศทางใด โดยเฉพาะเรารุ่นใหม่ อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการเลือกตั้งและมีรัฐบาลก็ต้องเป็นรัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล ไม่ใช่ให้ลุงมานั่งแก้อยู่แบบทุกวันนี้ แล้วก็โดนต่อว่าต่างๆ นานาทุกวัน คืออยากขอร้องให้ทุกคนช่วยกัน"

      พล.อ.ประยุทธ์ยังได้กล่าวตอบคำถามผู้สื่อข่าวภายหลังการประชุม นบข.ถึงการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และ คสช.ในวันที่ 19 พฤษภาคม เกี่ยวกับความชัดเจนเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรนูญหรือไม่ว่า "ไม่ทราบเป็นการดำเนินการขั้นตอนตามปกติ แต่การจะทำประชามติไม่ใช่เรื่องยาก มันจะยากตรงไหนก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอมายังรัฐบาลและรัฐบาลก็จะส่งต่อไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งก็เป็นไปตามลำดับขั้นตอน มันจะยากตรงไหน"

 

@ "บิ๊กป้อม"กังวลร่างหลายมาตรา 

      เมื่อเวลา 06.45 น. ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก (ขส.ทบ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม กล่าวถึงการประชุม ครม.และ คสช.ในวันที่ 19 พฤษภาคม ถึงแนวโน้มการทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญว่า เป็นเรื่องที่ ครม.และ คสช.จะพูดคุยกันว่าจะตกลงกันอย่างไร ถ้าทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 โดย ครม.จะส่งเรื่องไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อพิจารณาให้แก้รัฐธรรมนูญก่อน ส่วนข้อท้วงติงต่างๆ ต่อร่างรัฐธรรมนูญภายหลังประชุมร่วม ครม.จะทำข้อเสนอไปยังคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขหรือไม่แก้ก็เป็นเรื่องของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ครม.ไม่สามารถสั่งการได้ ทั้งนี้ ยังมีหลายมาตราที่กังวล

 

@ "วิษณุ"ได้ครบ-ความเห็นหน่วยงาน

     ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลช่วงเช้าว่า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางเข้ามายังห้องทำงานที่ตึกบัญชาการ 1 เพื่อสรุปรวบรวมความเห็นของแต่ละกระทรวง ทบวง กรม ในการขอแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะเตรียมเอกสารสรุปเสนอที่ ครม.ในวันวันที่ 19 พฤษภาคม

       นายวิษณุกล่าวต่อมาว่า ทุกกระทรวงส่งความเห็นมาครบหมดแล้ว ยังมีนักวิชาการที่เสนอความเห็นเข้ามามาก ส่วนองค์กรอิสระ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ศาลฎีกา ศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ ส่งความเห็นมาที่รัฐบาลด้วย สิ่งที่องค์กรอิสระส่งมาคือเรื่องที่กระทบต่อตัวหน่วยงานนั้นๆ เช่นผู้ตรวจการแผ่นดินมีข้อท้วงติงเรื่องควบรวมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ศาลฎีกาและศาลปกครองเสนอความเห็นแย้งการเอาคนนอกเข้ามาเป็นกรรมการมากเกินไป และประเด็นการให้ตุลาการเกษียณอายุ 65 ปี 

 

@ ครม.-คสช.แค่ประชุมหารือแก้รธน.

      "ผมจะสรุปข้อคิดเห็นทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยส่งไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ส่วนประชุมร่วม ครม.และ คสช. ในวันที่ 19 พฤษภาคมนั้น จะหารือเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้มีการทำประชามติ แต่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะทำประชามติหรือไม่ เป็นเพียงการหารือในการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน ขณะนี้ยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจหรือตอบว่าควรทำประชามติหรือไม่ เพราะการทำประชามติมี 2 ขั้นตอนต้องตัดสินใจ คือ 1.จะให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อทำประชามติหรือไม่ ถ้าแก้ก็ต้องพูดกันในวันที่ 19 พฤษภาคม เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนงบประมาณก็ต้องมี 3,000 ล้านบาท การตัดสินใจทำประชามติถ้าพูดเร็วก็จะดี เพราะคนที่เกี่ยวข้องเช่น กกต.จะได้มีเวลาเตรียมตัว" นายวิษณุกล่าว 

นายวิษณุกล่าวว่า หลังการประชุมร่วม คสช.และ ครม.จะเป็นการประชุมเฉพาะ ครม. จะรายงานเรื่องของกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ที่ได้ส่งความเห็นเข้ามานำเสนอว่ามีกี่ประเด็น กี่ประเภท ที่จะต้องแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นจะให้ ครม.ตัดสินใจเห็นชอบในประเด็นดังนี้ 1.แก้ไขถ้อยคำซึ่งอ่านแล้วไม่เกิดความเข้าใจ 2.บางเรื่องควรจะบัญญัติไว้ในมาตราในรัฐธรรมนูญหรือไม่ 3.เรื่องที่น่าจะเพิ่มบัญญัติ 4.ควรทบทวนหรือตัดออก 

 

@ เป็นไปได้กมธ.อาจตัดบางมาตรา

เมื่อถามว่า ดูแล้วองค์กรอิสระพูดแต่เรื่องของตัวเอง นายวิษณุกล่าวว่า มีทั้ง 2 อย่าง 1.ต้องพูดเรื่องของตัวเอง เพราะไม่มีใครช่วยพูดให้และรู้ดีเท่าตัวเอง 2.พูดเรื่องของบ้านเมือง จะมีการปรับแก้การใช้อำนาจในทางที่ไม่ถูกต้องอย่างในอดีต 

เมื่อถามว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญมีมากเกินไป กมธ.ยกร่างฯจะตัดออกหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นไปได้ที่ กมธ.ยกร่างฯจะตัดมาตราในร่างรัฐธรรมนูญออก เพราะต่างรับรู้และเสียงที่เข้าไปจะบอกว่าบางมาตราสามารถนำไปใส่ในกฎหมายลูกหรือบางมาตราไม่มีความจำเป็นต้องมีแม้ในกฎหมายลูก รัฐบาลจะบอกไป ส่วนการมีสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปหรือสมัชชาคุณธรรมนั้น ถ้าทำออกมาแล้วทำให้ดูเหมือนดูถูกประชาชนก็ต้องแก้ไข แต่ กมธ.ยกร่างฯคงมีเจตนาดี ต้องการให้ฝ่ายนิติบัญญัติทำหน้าที่ออกกฎหมายเพียงอย่างเดียว ถ้าให้ทำหน้าที่อื่นด้วย หน้าที่ออกกฎหมายอาจจะบกพร่อง จึงต้องมีสภาเหล่านี้เกิดขึ้น และไม่คิดว่าเป็นการดูถูกใคร ยกตัวอย่างเช่น การมี ส.ส.แล้วมี ส.ว. ซึ่งทำหน้าที่คนละอย่างกัน สภาขับเคลื่อนก็ทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง ฝ่ายนิติบัญญัติก็ทำหน้าที่อีกอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเขียนไปในทางที่ไม่ถูกก็ต้องไปแก้ไข

 

@ พร้อมต่อเวลาให้กมธ.แปรญัตติ

เมื่อถามว่ามีความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เสนอให้ตัดมาตรา 181, 182 และประเด็นนายกฯคนนอกออกบ้างหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า สำหรับประเด็นนายกฯคนนอกไม่มีใครเสนอมา แต่มีมาตรา 181, 182 ถึงไม่มีใครเสนอก็จะเสนออยู่แล้ว เพราะไม่เห็นประโยชน์จาก 2 มาตรานี้ นอกจากเรื่องการชิงไหวชิงพริบระหว่างกัน ส่วนคณะกรรมการในการคัดเลือกผู้สมัคร ส.ว.ก็จะเสนอเข้าไป ดูแล้วจังหวัดใดที่มีผู้สมัคร ส.ว.ก็ต้องมีคณะกรรมการคัดเลือกให้เหลือ 10 คน อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯมีเวลา 60 วันในการแปรญัตติ เป็นห่วงว่าจะทำงานไม่ทันแล้วส่งผลให้ กมธ.ยกร่างฯ ทำงานแบบลวกๆ อยากให้ กมธ.ยกร่างฯทำงานอย่างรอบคอบ จึงจะมีการหารือเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญเรื่องเวลาการแปรญัตติของ กมธ.ยกร่างฯ ไปอีกไม่เกิน 1 เดือน จะเสนอในวันที่ 19 พฤษภาคม เช่นกัน 

ผู้สื่อข่าวถามกรณีนายเสนาะ เทียนทอง ที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย (พท.) วิจารณ์การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ในทำนองว่าไม่สอดคล้องกับประเทศไทย นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลถึงได้เชิญผู้เชี่ยวชาญ 3 คน จากต่างประเทศเข้ามาให้ความเห็นรัฐธรรมนูญ เพื่อให้บอกว่าเจออะไรมาบ้าง กำหนดมีขึ้นในช่วงวันที่ 20-30 พฤษภาคม ทั้ง 3 คนนี้ล้วนมีบทบาทในการก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในประเทศสร้างรัฐธรรมนูญและปฏิรูป แต่ละคนอายุกว่า 80 ปี เป็นคนที่ผ่านสงครามโลก เห็นอะไรมามาก 

 

@ "อ.ปื๊ด"รับถ้าโหวตแพ้หลายเรื่อง

"กมธ.ยกร่างฯไม่ได้มีแค่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แต่ต้องมีคนอื่นด้วย ที่ไปเรียนจบกฎหมายจากประเทศอื่นก็มาก ผมคุยกับนายบวรศักดิ์ เขาบอกว่าถ้าโหวตก็แพ้หลายเรื่อง บางเรื่องเขากระซิบบอกว่าไม่เห็นด้วย แต่มันคือเสียงส่วนใหญ่ ต้องเข้าใจว่าคนเป็นประธานต้องรับหน้า แต่ละคนก็หลายอย่าง เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯจะยอมแก้ตามที่มีการเสนอไป แต่คงไม่ทั้งหมด เพราะมีจุดยืนของเขาอยู่ อะไรที่มั่นใจเขาจะไม่ปรับแก้ แต่คงแก้ในสิ่งที่มีความเห็นไม่ตรงกัน" นายวิษณุกล่าว 

เมื่อถามว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ระบุว่าปัญหาเกิดจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ แต่ไม่พูดถึงตัวเอง นายวิษณุกล่าวว่า ที่ไม่พูดเพราะเขาไม่อยากพูด คนอื่นที่รู้ก็ช่วยพูดก็ได้ เพราะต่างคนก็พูดเรื่องฝ่ายตรงข้ามไม่มีใครพูดเรื่องของตัวเองหรอก คนเราเป็นธรรมดาใครจะมาตำหนิตัวเอง 

 

@ สปช.ชงประชามติรธน.ให้บิ๊กตู่

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) เปิดเผยว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ได้ทำหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถึงมติของ สปช.ที่เห็นด้วยให้มีการออกเสียงลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ หลัง สปช.มีมติเห็นชอบในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ให้ประชาชนออกเสียงประชามติทั้งฉบับ พร้อมเสนอให้มีหน่วยงานและองค์กรรับผิดชอบดำเนินการการออกเสียงลงประชามติอย่างครอบคลุมและโปร่งใส รวมทั้งให้ขยายเวลาการออกเสียงลงประชามติอย่างน้อย 6 เดือน จากเดิมรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เบื้องต้น 3 เดือน เห็นว่าระยะเวลา 3 เดือน อาจไม่เพียงพอ เพราะการแจกจ่ายสำเนาร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนกว่า 47 ล้านฉบับนั้นต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม เห็นว่า ครม.และ คสช.ยังมีเวลาถึงวันที่ 6 สิงหาคม ในการพิจารณาว่าจะออกเสียงทำประชามติหรือไม่ ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบมีมติหลังการประชุมร่วมกันในวันที่ 19 พฤษภาคม

"ยืนยันว่า สปช.ไม่มีเจตนาประวิงเวลาหรือเพื่อต่ออายุการทำงาน ตระหนักดีว่าการเข้ามาทำหน้าที่ของ สปช.และ กมธ.ยกร่างฯนั้น เข้ามาภายใต้กฎหมายพิเศษหลังจากการทำรัฐประหาร ประกอบกับรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ จึงเห็นว่าประชาชนควรมีสิทธิรับรู้ข้อมูลของรัฐธรรมนูญอย่างละเอียด" นายอลงกรณ์กล่าว

 

@ "จุรินทร์"ระบุให้เอาม.254ออกด้วย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวกรณี กมธ.ยกร่างฯระบุว่าอาจพิจารณาตัดออกให้ 2 มาตรา คือมาตรา 181 และมาตรา 182 นั้นว่า ความจริงไม่ได้มีแค่ 2 มาตราที่ควรตัดออก แต่ยังมีอีกมาตราที่ยังหมกอยู่ ควรเอาออกคือ มาตรา 254 กำหนดให้การถอดถอนบุคคลต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 5 ของ 2 สภารวมกันคือไม่น้อยกว่า 390 เสียงใน 650 เสียงนั้น เห็นว่าหากนายกฯคนใดสามารถจัดตั้งรัฐบาลที่มีเสียงเกินกว่า 2 ใน 5 ของ 2 สภารวมกันได้คือ มีเสียงเกินกว่า 260 เสียงขึ้นไป คือมีแค่ 261 เสียง จะทำให้ตลอดการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ว่าจะโกงอย่างไรประพฤติมิชอบขนาดไหน ตัวนายกฯ และคณะรัฐมนตรีไม่มีวันถูกถอดถอนได้เลย เสียงที่เหลือจะมีเพียง 389 เสียง ซึ่งไม่มีทางพอถอดถอน เพราะเสียงถอดถอนจะมีไม่ถึง 3 ใน 5 คือ ไม่ถึง 390 เสียง จึงไม่เห็นด้วยที่จะให้เอาเสียงของสภาผู้แทนราษฎรไปมีส่วนร่วมในการถอดถอนบุคคล แต่ควรให้เป็นหน้าที่ของวุฒิสภาหรือกลไกอื่นแทน

 

@ "นิพิฏฐ์"จวกยกร่างฯกันนักการเมือง

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรค ปชป. กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของ กมธ.ยกร่างฯว่า การที่ไม่ไว้วางใจนักการเมือง เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ แต่ในระบอบประชาธิปไตยจะไม่มีตัวแทนไม่ได้ หากขาดตัวแทนองค์ประกอบอื่นของประชาธิปไตยไม่ต้องพูดถึง ซึ่งเมื่อไม่ไว้วางใจนักการเมือง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงมีความพยายามควบคุม กำกับ อำนาจนักการเมือง เข้าใจได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ผู้ร่างลืมสนิทคือการเปิดพื้นที่ให้คนดี คนจน เข้าสู่การเมือง ซึ่งไม่มีเลยในรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญถูกร่างขึ้นจากสมมุติฐานที่ว่านักการเมืองเลวเหมือนกันหมด เมื่อ ส.ส.เขตลดลง โดยไปเพิ่ม ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ลำพังการเอา ส.ส.เขตออกก็ยากอยู่แล้ว ไม่ต้องพูดถึงการเอาคนใหม่เข้า เพราะที่ออกไปก็ต้องผันตัวเองไปลงระบบบัญชีรายชื่อ ยิ่งเป็นระบบบัญชีรายแบบโอเพ่นลิสต์ก็จะกลายเป็นระบบจังหวัดนิยม เพราะยิ่งปิดโอกาสคนจนและคนดีเสียอย่างสนิท

 

@ กมธ.ปฏิรูปจัดเสวนาฟังความเห็น 

     เมื่อเวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา คณะ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จัดสัมมนาเรื่อง "การรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการสาขานิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ" มีนักวิชาการประมาณ 30 คนเข้าร่วม โดยมีนายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวเปิดงานว่า การรับฟังความคิดเห็นจากกลุ่มนักวิชาการคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์เกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะนำข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์เหล่านี้มาทำคำขอแก้ไขและส่งต่อให้ กมธ.ยกร่างฯต่อไป การอภิปรายในวันนี้ จะแบ่งเป็น 8 ประเด็น

     นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะรวบรวมประเด็นต่างๆ ที่ได้รับข้อคิดเห็นไม่ว่าจะเป็นจากนักการเมือง ภาคประชาชน นักวิชาการคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ เพื่อนำมาปรับปรุงและเตรียมแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่า จะรวบรวมให้แล้วเสร็จในวันที่ 21 พฤษภาคม และนำเข้าที่ประชุมเพื่อจัดเตรียมร่างแก้ไข และส่งให้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ภายในวันที่ 22 พฤษภาคม 

 

@ วงสัมมนาไม่เอานายกฯคนนอก

      เวลา 15.30 น. นายนิรันดร์แถลงผลการสัมมนาว่า เสียงส่วนใหญ่ของนักวิชาการเห็นว่าควรตัดกลุ่มการเมืองออก เพราะพรรคการเมืองในประเทศไทยมีการพัฒนามาเป็นระยะแล้ว ซึ่งกลุ่มการเมืองอาจมีได้แต่ไม่ใช่บทบาทในการส่งสมัครรับเลือกตั้ง อีกทั้งการตั้งพรรคการเมืองในปัจจุบันไม่ได้มีความซ้ำซ้อน สามารถขอจดทะเบียนจัดตั้งได้ง่ายอยู่แล้ว ส่วนระบบเลือกตั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ในกระบวนการเลือกตั้งที่ใช้ระบบสัดส่วนผสมมีอุปสรรค ปัญหา อะไรบ้าง นักวิชาการส่วนใหญ่เห็นว่าควรตัดระบบโอเพ่นลิสต์ทิ้ง เนื่องจากทำให้พรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง จัดตั้งรัฐบาลได้ยุ่งยาก ส่วนที่มา ส.ว.เห็นร่วมกันเกือบเป็นเอกฉันท์ว่า หากจะให้ประชาชนเลือกตั้งก็ไม่ควรมีคณะกรรมการกลั่นกรอง ขณะเดียวกัน ประเด็นที่มานายกฯ ส่วนใหญ่เห็นว่านายกฯควรเป็น ส.ส. ผ่านการเลือกตั้งจากประชาชน ไม่เห็นด้วยที่จะมาจากคนนอก นอกจากนี้ ยังเห็นควรให้ตัดมาตรา 181 และ 182 ออก เพราะทำให้ระบบตรวจสอบถ่วงดุลบกพร่อง ฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป

 

@ "ชวลิต"ซัด"อภิสิทธิ์"ตีโจทย์ผิด

     นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวกรณีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) บอกว่า ระบอบทักษิณเป็นสาเหตุของความขัดแย้งในบ้านเมือง ว่า เป็นการบิดเบือนความจริง เกือบ 10 ปีที่ผ่านมา พรรคการเมืองใดดำเนินงานทางการเมืองเอื้อต่อระบบอำนาจนิยมโดยไม่คำนึงว่าจะกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอย่างไร สาธารณชนทราบดี ถ้าตีโจทย์ประเทศไม่ถูกก็ป่วยการที่จะอาสาเข้ามาแก้ไขปัญหาประเทศเพราะรังแต่จะเพิ่มความขัดแย้งให้มากขึ้น

      นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช. กล่าวว่า ถึงขั้นนี้แล้วนายอภิสิทธิ์ยังคิดแต่จะหาเศษหาเลยกับฝ่ายตรงข้าม มีเวทีให้พูดก็ต้องเสียดสีให้ร้ายเขา ขอให้นายอภิสิทธิ์ตั้งใจฟังในสิ่งที่จะอธิบายว่า ความขัดแย้งที่ต่อเนื่องมายาวนานนั้นมีคู่ขัดแย้งตัวจริงคือ แนวคิดเสรีนิยมกับอนุรักษนิยม ส่วนเหตุที่แหลมคมและขยายตัวมากขึ้นทุกทีใน 10 ปีที่ผ่านมานั้น เพราะพัฒนาการของสังคมไทยทำให้เกิดสิ่งใหม่ 2 เรื่องคือ 1.รัฐธรรมนูญ 40 มีที่มาจากจิตวิญญาณพฤษภาทมิฬ เป็นการตกผลึกร่วมกันของสังคมไทยว่าต้องการนายกฯจากการเลือกตั้ง รัฐบาลที่มีเสถียรภาพ และองค์กรตรวจสอบที่เที่ยงธรรมเป็นอิสระ และ 2.การปรากฏขึ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่เป็นตัวแทนของทุนใหม่ เข้ายึดครองพื้นที่ทางธุรกิจ ท้าทายสายตาของทุนเก่าทั้งหลายที่แนบแน่นกับฝ่ายอนุรักษนิยมมายาวนาน เมื่อ 2 สิ่งนี้มารวมกันในเวทีการเมืองผ่านการเลือกตั้ง จึงกระทบกับอิทธิพลของฝ่ายอนุรักษนิยมโดยตรง

 

@ "อาทิตย์ทรงกลด"เหนือทำเนียบ 

       ผู้สื่อข่าวรายงานจากทำเนียบรัฐบาลว่า เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. ได้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดพบเห็นได้บริเวณทำเนียบรัฐบาล เรื่องนี้นายภาณุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล ประธานสถาบันศาสตร์แห่งชีวิตแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตามความเชื่อทางโหราศาสตร์การที่พระอาทิตย์ทรงกลดเป็นเรื่องที่ดี หากมีการทำงานอะไรแล้วเกิดปรากฏการณ์นี้จะถือเป็นเรื่องที่ดีอย่างยิ่ง ในช่วงที่ไม่ค่อยมีเมฆเช่นเวลา 11.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี เป็นมงคลต่อประเทศชาติ อีกทั้งปรากฏการณ์ดังกล่าวยังจะส่งผลดีต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ เกิดปีมะเมีย และวันนี้เป็นวันมะเมีย เวลา 11.00 น. ก็เป็นเวลามะเมีย ปรากฏการณ์ที่ว่าจะเกื้อหนุนการทำงานของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้จะมีอุปสรรคมาขัดใจอยู่บ้างแต่ก็จะผ่านไปได้ และแม้เดือนนี้จะเป็นเดือนมะเส็ง งูอาจจะพันขาม้าอาจจะมีเรื่องวุ่นวายใจต่อ พล.อ.ประยุทธ์บ้าง แต่เนื่องจากปีนี้เป็นปีมะแม ที่เกื้อหนุนดวงนายกฯ ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ไม่สามารถขัดขวาง พล.อ.ประยุทธ์ที่จะทำประโยชน์ให้ประเทศชาติได้

 

@ วิษณุชี้ปราบทุจริตต้องเอาจริง 

       นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตในแวดวงข้าราชการหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.ใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว สั่งย้ายข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริต ว่า สิ่งสำคัญต้องเอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมาย ต้องให้ความเป็นธรรม และต้องระวังการกลั่นแกล้ง โดยใช้มาตรการ 2 ขั้นตอน 1.ย้ายออกจากตำแหน่งแล้วไปช่วยราชการ แต่เงินเดือน สิทธิประโยชน์ ตำแหน่งยังเหมือนเดิม เป็นการย้ายออกเพื่อให้ผู้รักษาการในตำแหน่งนั้นสามารถส่งพยานหลักฐานเข้ามาได้ ในบรรดา 200 รายชื่อข้าราชการที่ส่งมานั้น ได้เรียกมาถามถึงที่มาที่ไป จากนั้น ก็ได้ความว่าเรื่องเกิดขึ้นนานแล้ว แต่ขอความร่วมมือและหลักฐานไม่ได้ เพราะมีคนนั่งทับเอาไว้จนคดีจะหมดอายุความ จึงเห็นว่าควรจะเอาคนเหล่านี้ออกไปก่อน เพราะบางทีตรวจสอบแล้วบอกไม่ผิด เราจึงไม่ย้ายแต่เอามาช่วยราชการสามารถกลับไปได้ ส่วนขั้นตอนที่ 2.ถ้าทำผิดจริง ก็จะย้ายแล้วคืนตำแหน่งเพื่อตั้งคนอื่นทำหน้าที่แทน 

"ในอนาคตเราคิดว่าอำนาจแบบนี้ต้องให้ไว้แก้รัฐบาลใหม่เพื่อคลายปัญหาบางอย่างได้ ตอนนี้ยังไม่มีใครเข้าสู่ขั้นตอนที่ 2 แต่จะมีรายชื่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตอีก แบ่งเป็น 2 ชุด จะไม่ส่งผลกระทบต่อโครงการข้าราชการโดยรวม แต่ถ้าไม่จัดการ ระบบราชการจะสั่นคลอน สุดท้ายจะอายเขาตายชักเพราะคดีขาดอายุความ อย่างไรก็ตาม บรรดาคนที่มีรายชื่อน้อยรายจะเป็นความผิดเฉพาะตัว แต่ทำกันเป็นกลุ่ม 10-20 คน บางพื้นที่โดนไปหมด เรื่องเดียวกันทั้งนั้น ยืนยันว่าไม่ได้มีแค่ข้าราชการอย่างเดียว แต่ยังมีทหารและตำรวจด้วย" นายวิษณุกล่าว

 

@ "สมหมาย"เตรียมลงดาบอีก6ขรก.

      นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า การใช้มาตรา 44 เพื่อการปราบปรามคอร์รัปชั่นนั้น กระทรวงการคลังยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีข้าราชการที่อยู่ระหว่างการสอบสวนเพิ่มเติมอีก 5-6 ราย คาดว่าในเดือนมิถุนายนนี้จะเห็นความชัดเจนในการลงโทษทางวินัยร้ายแรง 3 ราย ส่วนข้าราชการ 2 คนของกระทรวงการคลังที่ถูกสั่งพักงานแล้วนั้น ขอให้ทั้งสองลาออกจากบอร์ดบริหารที่ดำรงตำแหน่งอยู่ทั้งหมดภายในสัปดาห์นี้ ด้านหน้าที่ทางราชการนั้นขณะนี้ทั้งสองคนดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการจึงไม่จำเป็นต้องย้ายไปอยู่สำนักนายกรัฐมนตรี เพราะการพักงานในตำแหน่งดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อการทำงานในกระทรวงการคลัง 

      ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย (มท.) กล่าวว่า ข้าราชการ มท.ทั้ง 3 กรมที่ได้สั่งการให้หยุดปฏิบัติราชการทั้ง 10 คน ขณะนี้ได้เข้ามารายงานตัวครบทุกคนแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นกระบวนการสอบสวน สำหรับการแต่งตั้งรักษาการจะต้องหารือกับ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ก่อนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ขณะเดียวกันสำหรับการเปิดตำแหน่งใหม่นั้นต้องปรึกษากับคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ก่อนว่าสามารถเปิดได้หรือไม่ 

วันเดียวกัน นายวิบูลย์ได้เซ็นคำสั่ง เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการให้รักษาราชการแทนรองปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อให้การปฏิบัติราชการของกระทรวงมหาดไทยเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ อาศัยอำนาจตามความมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 จึงให้ ร.ต.ท.อาทิตย์ บุญญะโสภัต ผู้ว่าฯสมุทรสาคร ให้รักษาราชการแทนในตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง สั่ง ณ วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2558

 

@ "พระสุเทพ"เตรียมลาสิกขา

       เฟซบุ๊กของนายเถกิง สมทรัพย์ ผู้บริหารสถานีโทรทัศน์ "ฟ้าวันใหม่" ได้กล่าวถึงการเดินทางไปสัมภาษณ์พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. ที่สำนักปฏิบัติธรรมทีปภาวัน เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี โดยขึ้นหัวข้อว่า "หลวงลุงสุเทพตระเตรียมลาสิกขา" จากเนื้อหาในเฟซบุ๊ก มีการสัมภาษณ์เรื่องการลาสึกของพระสุเทพ เนื่องจากมีประชาชนไถ่ถามกันมามาก โดยพระสุเทพตอบกลับว่า เขาห้ามถามพระเรื่องสึก และยอมรับว่า มีความสุขกับการบวช เพราะตอนแรกคิดว่า จะบวชให้ครบ 204 วัน เท่าจำนวนที่มีการชุมนุม แต่ตอนนี้จะครบปีแล้ว ระยะนี้ก็ตั้งกองทุนบวชให้สวนโมกข์ และจัดการเรื่องการส่งมอบต่อให้เรียบร้อย คาดว่า จะมีพระมาบวชที่นี่เรื่อยๆ

      นายเถกิงถามต่อว่า จะลาสึกก่อนหรือหลังเข้าพรรษา พระสุเทพได้ตอบกลับว่า เรื่องกำหนดเวลาไม่ใช่ประเด็นสำคัญ ได้บวชตอนเข้าพรรษาแล้วด้วยซ้ำ

      ตอยท้ายของเฟซบุ๊ก นายเถกิงกล่าวว่า ได้ถามว่า ก่อนหน้านี้เป็น'นายสุเทพ เทือกสุบรรณ'ต่อมานำการชุมนุมก็กลายเป็น 'ลุงกำนันสุเทพ' พอมาบวชก็เป็น 'หลวงลุงกำนัน'คิดว่าลาสึกออกไป คิดไว้หรือยังว่าจะเป็นอย่างไร พระสุเทพได้ตอบว่า จะไปทำงานเป็นเอ็นจีโอ ทำงานการเมืองภาคประชาชน ภาคพลเมือง

 

@ พิจารณานัดแรกคดี"ยิ่งลักษณ์"

        นายสุรศักดิ์ ตรีรัตน์ตระกูล อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ในฐานะรองหัวหน้าคณะทำงานคดีทุจริตโครงการจำนำข้าว กล่าวถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีครั้งแรกที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเพื่อสอบคำให้การ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ในความผิดปฏิบัติหน้าที่มิชอบสร้างความเสียหายแก่รัฐตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ.2542 มาตรา 123/1 ที่ละเลยไม่ยับยั้งโครงการจำนำข้าวสร้างความเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท ว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม เวลา 09.30 น. ศาลฎีกาได้นัดสอบคำให้การจำเลย ซึ่งหากจำเลยเดินทางมาศาลก็จะอ่านคำฟ้องให้ฟังเพื่อสอบถามว่าจะให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ เชื่อว่าจำเลยจะให้การปฏิเสธ จากนั้นศาลจะกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป ตามที่อัยการเคยแถลงข่าวไปแล้วว่ามีพยานบุคคล 10 กว่าปาก 

 

@ ไม่มาศาลแล้วไม่แจ้งโดนหมายจับ

       นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 19 พฤษภาคม คณะทำงานอัยการทั้งคณะจะเดินทางไปศาลด้วย ส่วนตัวจำเลยเท่าที่ติดตามข่าวจากสื่อมวลชนระบุว่าจะมาศาล หากถึงเวลานัดแล้วจำเลยจะไม่มาศาลโดยไม่มอบหมายผู้แทนหรือทนายความแจ้งศาลถึงเหตุขัดข้อง ตามขั้นตอนกฎหมายศาลพิจารณาออกหมายจับได้ เพราะถือว่าจำเลยได้รับทราบหมายเรียกของศาลแล้ว ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ได้นำส่งหมายเรียกพร้อมสำเนาคำฟ้องปิดประกาศไว้ที่หน้าบ้านพักตามที่อยู่ในคำฟ้องแล้ว แต่หากจำเลยไม่มาศาลแล้วมอบอำนาจผู้แทนหรือทนายความแจ้งถึงเหตุขัดข้อง ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ขณะที่การอ้างถึงเหตุไม่มาศาลนั้นก็ต้องมีเหตุจำเป็นอย่างมากจริงๆ เช่น ป่วยหนัก แต่หากจะอ้างความไม่พร้อมจากการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีคงไม่ได้ 

      เมื่อถามว่าในวันที่ 19 พฤษภาคม อัยการจะแถลงต่อศาลคัดค้านการให้ประกันตัวจำเลยด้วยหรือไม่ นายสุรศักดิ์กล่าวว่า หากจำเลยมาศาลก็จะต้องยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีด้วย ขณะนี้เมื่อศาลรับฟ้องคดีแล้วก็ถือว่าตัวจำเลยอยู่ในอำนาจของศาลแล้ว หากมีการยื่นประกันถือเป็นเรื่องของศาลที่จะใช้ดุลพินิจวินิจฉัยคำร้องและหลักทรัพย์ของจำเลยต่อไป

 

@ ย้ำพร้อมให้ความเป็นธรรม 2 ฝ่าย

      นายธนฤกษ์ นิติเศรณี ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา กล่าวถึงกระบวนพิจารณาคดีว่า องค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 คน จะออกนั่งบัลลังก์ เริ่มกระบวนพิจารณาคดีครั้งแรกพร้อมกันในวันที่ 19 พฤษภาคม จะสอบถามว่าจำเลยให้การรับสารภาพหรือปฏิเสธ หากให้การปฏิเสธก็จะหารือคู่ความเพื่อกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานต่อไป ส่วนระยะเวลาการไต่สวนพยานทั้ง 2 ฝ่าย จะใช้ระยะเวลานานเท่าใดขึ้นอยู่กับพยานหลักฐานมีมากน้อยเพียงใด สำหรับเรื่องประกันตัวจนถึงขณะนี้จำเลยยังไม่ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์ จึงเป็นไปได้ว่าจำเลยจะยื่นประกันในวันที่ 19 พฤษภาคม

เมื่อถามว่าหากจำเลยไม่เดินทางมาศาล ศาลจะออกหมายจับเพื่อนำตัวเข้าสู่กระบวนพิจารณาคดีหรือไม่ นายธนฤกษ์กล่าวว่า ต้องรอดูพฤติการณ์ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนกฎหมาย หากจำเลยจะไม่มาศาลโดยอ้างเหตุจำเป็น แล้วจะมอบหมายทนายความยื่นคำร้องขอเลื่อนต่อศาลก็ทำได้ แต่เหตุนั้นจะจำเป็นเพียงพอที่ศาลจะพิจารณาให้เลื่อนได้หรือไม่ก็เป็นอีกกรณีหนึ่ง อย่างไรก็ดีศาลพร้อมจะให้ความเป็นธรรมคู่ความทุกฝ่าย

 

@ "ปู"ติวเข้มเปิดคดีจำนำข้าว 

         ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ยังคงใช้ชีวิตตามปกติและยืนยันกับคนใกล้ชิดว่าจะเดินทางไปแถลงเปิดคดีด้วยตัวเองอย่างแน่นอน ได้ซักซ้อมและเตรียมความพร้อมในการแถลงเปิดคดีรับจำนำข้าวแล้ว จะเดินทางไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในเวลา 09.00 น. วันที่ 19 พฤษภาคม โดยมีอดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทยจำนวนหนึ่งเดินทางไปให้กำลังใจด้วย ทั้งนี้หลังจากศาลฎีกาฯอ่านคำฟ้องแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะให้การปฏิเสธและขอต่อสู้ทุกข้อกล่าวหา พร้อมยื่นขอประกันตัว ทีมทนายความของ น.ส.ยิ่งลักษณ์มั่นใจว่าจะได้รับอนุญาตให้ประกันตัวแน่นอน เนื่องจากคดีลักษณะนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนว่าศาลไม่ให้ประกันตัว

     ส่วนการเตรียมขอเพิ่มพยาน ทีมทนายได้มีแนวทางไว้บ้างแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ จะมีความชัดเจนในวันนัดตรวจพยานหลักฐานตามที่ศาลฎีกาฯได้นัดหมาย

     ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า วันเดียวกัน น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้ใช้เวลาว่างเดินทางไปเยี่ยมหลานสาว "พิณธาราและพิณนารา" หรือน้องเอมิ-นามิ บุตรสาวฝาแฝดของนางพินทองทา (ชินวัตร) คุณากรวงศ์ บุตรสาว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่บ้านพัก โดยมี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ให้กำลังใจ

 

@ บช.น.จัดกำลังดูแลความเรียบร้อย 

     ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ในฐานะโฆษก ตร. เปิดเผยว่า ตร.สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาลจัดกำลังดูแลความสงบเรียบร้อยในการพิจารณาคดีครั้งแรกของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดพิจารณาคดีสอบคำให้การ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จากการข่าวเบื้องต้น ยังไม่พบสิ่งบอกเหตุที่น่าเป็นห่วง แต่อาจมีผู้สนับสนุนบางส่วนเดินทางมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่มีจำนวนไม่มาก ได้สั่งการให้ตำรวจพื้นที่ รับผิดชอบกำลังดูแลความสงบเรียบร้อย รวมถึงเตรียมกำลังเสริมไว้บริเวณใกล้เคียงให้สามารถเรียกกำลังได้ทันที

 

@ จี้เลิกสมัครคปก.-ลงแค่ 2 เว็บ 

       ที่รัฐสภา นายอมร วาณิชวิวัฒน์ ประธานคณะอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการบังคับใช้กฎหมาย สปช. แถลงว่า อนุ กมธ.ขอให้มีการยกเลิกการรับสมัครคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) และให้ประกาศรับสมัครใหม่ เพราะไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรมในการรับสมัคร พบว่ามีการประกาศการรับสมัครเพียง 2 เว็บไซต์ คือของ คปก.และศูนย์ข่าวอิศรา และมีสมาชิก สปช. สนช.และอดีต คปก.ไปสมัครเท่านั้น คนส่วนใหญ่รวมทั้งนักวิชาการที่มีความรู้ความสามารถไม่ได้รับทราบการเปิดรับสมัครในครั้งนี้ รวมทั้งขอเรียกร้องให้ สปช. สนช. และ กมธ.ยกร่างฯที่สมัครไปแล้วลาออกทันที 

     "ยังพบว่า มีสมาชิก สปช.ไปสมัครเรียนหลักสูตรการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตย สำหรับนักบริหารระดับสูง (ป.ป.ร.) ที่จัดโดยสถาบันพระปกเกล้า