บุกชูป้าย! ต้านบวรศักดิ์-ร่างรธน. กลางงานพค.35 ยี้นายกฯคนนอก กมธ.จ่อเฉือนทิ้ง มีไม่ถึง 300 มาตรา

       'บวรศักดิ์'เจอชูป้ายต้านร่างรัฐธรรมนูญ ขณะร่วมงานรำลึก 23 ปีพฤษภา'35 แถลงการณ์จี้ประชาชนมีส่วนร่วม ค้าน นายกฯคนนอก-ส.ว.ลากตั้ง 'มาร์ค' ลั่นลงเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ถ้าต้องเป็นฝ่ายค้านหน 4 พร้อมวางมือ 'เสธ.อู้'อ้างกมธ.ยกร่างฯ พร้อมหั่นรธน.ให้เหลือไม่น้อยกว่า 299 มาตรา อธิบดีกรมปกครองทำหนังสือเวียน ขู่ฟันวินัย-อาญา ขรก.ใช้ตำแหน่งหน้าที่หาประโยชน์ เสื้อแดงแยกกลุ่มทำบุญรำลึกสลายชุมนุม 19 พ.ค.53 ชาวนาภาคกลางเล็งยื่น นายกฯแก้ปัญหาแล้ง 


ไม่รับรธน. - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรธน. กล่าวปาฐกถาในงานรำลึก 23 ปีพฤษภา"35 โดยมีประชาชนกลุ่มเมล็ดพริก บุกมาชูป้ายต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญปี 58 ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม กทม. เมื่อวันที่ 17 พ.ค.

วันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8937 ข่าวสดรายวัน

รำลึก 23 ปีพฤษภา 35

         เวลา 09.00 น. วันที่ 17 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถ.ราชดำเนิน กรุงเทพฯ มูลนิธิพฤษภาประชาธรรม และคณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 ได้จัดพิธีรำลึกและสืบสาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม ภายในงานมีการทำพิธีบรรจุอัฐิวีรชนเดือนพ.ค. ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม พิธีทอดผ้าบังสุกุลอุทิศบุญกุศลให้แก่วิญญาณของ ผู้ล่วงลับ และพิธีเจริญพุทธมนต์พระสงฆ์ 10 รูป เสริมสร้างความเป็นมงคล ให้สังคมไทยข้ามพ้นความขัดแย้งที่รุนแรงในอดีต โดยมีตัวแทนจากหลายฝ่ายร่วมวางพวงมาลา พร้อมกล่าวรำลึก อาทิ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนรัฐบาล นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 ตัวแทน สนช. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตัวแทนประธานสปช. นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นายชำนิ ศักดิเศรษฐ์ และนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พระอุทัย อุทาโย หรือนายอุทัย ยอดมณี อดีตแกนนำเครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.)

      หลังประธานจัดงานกล่าวรายงาน แล้ว ตัวแทนจากฝ่ายต่างๆ ร่วมกล่าวรำลึก ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะตัวแทนนายกฯ กล่าวว่า แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงโดยรัฐประหาร กระทั่ง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา นายกฯ และ คนไทยเข้าใจร่วมกันดีว่าประชาธิปไตยที่แท้จริงคือ ความรัก ความสามัคคีของคนในชาติ และหากย้อนไปในปี 35 วีรชนพยายามหาทิศทางนำประเทศไปสู่ความเจริญ โดยหลักการปกครองที่กล่าวถึงคือธรรมาภิบาล ซึ่งจะเร่งบรรลุผลโดยเร็ว ไม่เช่นนั้นความสงบ คงเกิดได้ยาก จึงหวังว่าประเทศไทยจะไม่มีการแบ่งแยก ไม่แตกแยก พูดกันด้วยเหตุผลและรักสมัครสมานดังเช่นในอดีต 

บวรศักดิ์ชี้สังคมระแวงนิรโทษ

       นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. กล่าวว่า เวลานี้แม่น้ำ 5 สาย กำลังหาทางออกประเทศไทยเพื่อตอบโจทย์ว่าอะไรคือปัญหาและอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ แต่ภารกิจที่จะบรรลุได้ด้วยแม่น้ำ 5 สาย เป็นภารกิจของประชาชนทุกคนด้วย เช่นเดียวกับวีรชนที่คาดหวังจะเปลี่ยนแปลงให้เกิดการปกครองโดยประชาชน เพื่อประชาชน ไม่ใช่การนำโดยพรรคการเมืองเดียวเท่านั้น

       จากนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวปาฐกถาหัวข้อ "อนาคตการปรองดองและสมานฉันท์สังคมไทย" ตอนหนึ่งว่า การปรองดองและสมานฉันท์เป็นสิ่งที่คนไทยคาดหวัง ประเทศประสบกับความขัดแย้งมาหลายยุค ฉากแรก คือความขัดแย้งของชนชั้นนำตั้งแต่สมัยอยุธยา ฉากที่ 2 ความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์และนิรโทษกรรมในที่สุด ฉากที่ 3 ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและประชาชน เช่น เหตุการณ์ในเดือน พ.ค.ปี 35 และฉากที่ 4 ยุคที่ผู้นำที่มีประชาชนบางกลุ่มสนับสนุนจำนวนมากและประชาชนที่ไม่สนับสนุน ซึ่งฉากสุดท้ายนี้มีผู้ประเมินความเสียหาย คาดว่ามีมูลค่ากว่า 3.3 หมื่นล้านบาท ในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ความขัดแย้งในอดีตจบลงด้วยการที่ประมุขลงมาระงับความขัดแย้งและจบลงด้วยการนิรโทษกรรม แต่วิกฤตที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าสังคมเกิดความไม่ไว้วางใจในการนิรโทษกรรม ซึ่งหากจัดให้มีการเลือกตั้งและเข้าสู่ระบบการเมืองความขัดแย้งเหล่านี้จะยังคงอยู่

แจงอุปสรรคปรองดอง 

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า คณะกมธ.ยกร่างฯ จึงจัดให้มีคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ (คปช.) เพื่อแก้ไขความขัดแย้ง คือ 1.จัดตั้งคณะกรรมการ 15 คน โดยมีตัวแทนของทุกฝ่าย 2.สร้างความปรองดองอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงการนำแกนนำแต่ละฝ่ายมาตกลงกัน ที่เรียกว่าเกี้ยเซี้ย 3.คปช. เป็นคนกลางประสานผู้นำในความขัดแย้ง 4.รายงานข้อเท็จจริง การละเมิดกฎหมาย และผู้เกี่ยวข้อง-ผู้กระทำ 5.คปช.มีหน้าที่เยียวยาผู้ได้รับความเสียหาย 6.เสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษแก่บุคคลที่เกี่ยวกับการดำเนินการและผู้ได้สำนึกผิดต่อ คปช.แล้ว 7.คปช.ให้การศึกษาแก่ประชาชน สร้างเครื่องเตือนใจผลร้าย และความเสียหายที่เกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดขึ้นอีก 8.ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม สร้างการยอมรับกลุ่มคนหลากหลาย ดังนั้น คณะ กมธ.ยกร่างฯ จึงไม่มีวาระซ่อนเร้นใดๆ เพราะพระราชกฤษฎีกาประกาศใช้กับทุกคน ไม่ใช่เฉพาะใครคนใดคนหนึ่ง 

       นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ไม่ได้แก้ไขเฉพาะความขัดแย้งเฉพาะหน้า แต่ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมั่งมีกับคนไม่มี คำถามสุดท้ายคือจะสามารถแก้ไขได้สำเร็จหรือไม่ ซึ่งตนตอบไม่ได้ แต่สัญญาณที่เห็นคือ ทุกคนยังปราศจากความไว้วางใจ พรรคใหญ่ 2 พรรคยังมีจุดยืนเดิม พูดภาษาเดิมเหมือน 8 ปี ที่ผ่านมา ไม่สร้างความหวังเท่าไร ดังนั้น การสร้างความหวังที่ถูกต้อง คือ 1.คนที่เป็นผู้นำความขัดแย้ง ต้องนำทุกคนเข้ามาและเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม 2.ประชาชนที่เป็นเสียงเงียบต้องแสดงเจตจำนงให้ชัด ไม่ยอมรับความขัดแย้งที่เต็มไปด้วยความรุนแรง รวมถึงความเงียบของคนไทยที่เป็นอุปสรรคสำคัญอีกประการ และสื่อมวลชนต้องยุติการเลือกข้าง นอกจากนี้ การสร้างความยุติธรรมในสังคมหากยังมี 2 มาตรฐาน การยอมรับด้วยสันติวิธีจะยังไม่เกิดขึ้น การสร้างยุติธรรม คือไม่มีพรรคหนึ่ง พรรคสองได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เสื้อแดง-นกหวีด มีถูกบางส่วน ไม่ถูกบางส่วน นี่คือเงื่อนไขความสำเร็จความปรองดอง หวังว่าจะเป็นก้าวแรกในการปรองดองสมานฉันท์ ไม่ใช่แค่วาจาและอยู่ที่เดิม 

กลุ่มเมล็ดพริกชูป้ายต้านรธน. 

        ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่นายบวรศักดิ์กล่าวปาฐกถามีกลุ่มผู้หญิง จำนวน 4 คน ในนามกลุ่มเมล็ดพริก ชูป้ายต้านร่างรัฐธรรมนูญ ข้อความ "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2558" และข้อความโจมตีนายบวรศักดิ์ พร้อมอ่านแถลงการณ์ของกลุ่มว่า ทางกลุ่มขอเรียกร้องให้รัฐบาล นายกรัฐมนตรีและส.ว.ต้องมาจากการเลือกตั้ง ประชาชนต้องมีส่วนร่วมในการร่างรัฐธรรมนูญ และกองทัพต้องไม่เข้ามาแทรกแซงการเมือง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่กลุ่มดังกล่าวแสดงออกและอ่านแถลงการณ์กลุ่มญาติวีรชนได้พยายามขอร้องให้หยุดการแสดงออก ดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมกับบรรยากาศการระลึกถึงวีรชน แต่กลุ่มดังกล่าวยังเดินหน้าทำกิจกรรมต่อไป ทำให้เจ้าหน้าที่เทศกิจต้องเข้าไปควบคุมเหตุการณ์ แต่ทางกลุ่มก็ยังดำเนินการกิจกรรมจนจบก่อนแยกย้ายออกจากงาน โดยไม่มีการควบคุมตัวแต่อย่างใด

"มาร์ค"อ้างอีก"แม้ว"ชนวนขัดแย้ง

      ที่มหาวิทยาลัยรังสิต นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บรรยาย พิเศษหัวข้อ "การสร้างแรงบันดาลใจในการประกอบอาชีพการเป็นนักการเมือง" ให้แก่นักศึกษาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาผู้นำทางสังคม ธุรกิจ และการเมือง มหาวิทยารังสิต ว่า หลายคนตั้งคำถามว่าทำไมขณะนี้ตนถึงยังเป็นนักการเมืองในสภาวะที่สังคมและผู้มีอำนาจแสดงความรังเกียจนักการเมือง และนักการเมืองถูกมองในทางลบ ตั้งแต่เข้ามาทำงานการเมืองกว่า 23 ปี ไม่มีช่วงไหนที่คนยกย่องสรรเสริญนักการเมือง และที่ผ่านนักการเมืองตกเป็นจำเลยของสังคมมาโดยตลอด สิ่งเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่ได้แตกต่างกับในต่างประเทศ ที่คนมีความศรัทธาต่อนักการเมืองหรือองค์กรทางการเมืองลดลงอย่างต่อเนื่องในรอบหลาย 10 ปี ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการเมืองเป็นเรื่องการจัดสรรอำนาจและผลประโยชน์ โดยเฉพาะนักการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ต้องพร้อมรับการตรวจสอบและยอมรับการเปิดโปงในสิ่งที่ทำไป

      นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เหตุการณ์ 14 ตุลา เป็นจุดที่ทำให้ตนเปลี่ยนมุมมอง อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยโดยอาศัยกลไกของประชาชนและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม สิ่งที่เลวร้ายที่สุดคือการเมืองในช่วง 10 ปีหลัง ที่ระบอบทักษิณเข้ามาทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลง ความขัดแย้งในประเทศไทยจะไม่จบตราบที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ยังต้องการเอาชนะกฎหมายไทย ฉะนั้นจึงต้องถามประชาชนว่าเลือกอย่างไร ระหว่าง 1.ใจแข็งอย่ายอมพ.ต.ท.ทักษิณ รอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ตายไปเอง หรือ 2.ยอมให้พ.ต.ท.ทักษิณ ชนะระบบยุติธรรม ซึ่งตนเลือกข้อแรกอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าข้อ 2 เป็นไป ไม่ได้

พ่ายเลือกตั้งหน้าพร้อมจบ 

       "ผมมีเวลาเหลือทำงานทางการเมืองอีกไม่มากนัก ไม่ทราบว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร แต่ถ้ามีการเลือกตั้งครั้งหน้าพร้อมจะลงสมัครแน่นอน แต่ถ้าทำไม่สำเร็จก็จบ ผมเป็นผู้นำฝ่ายค้านมา 3 ครั้ง มากพอแล้ว เป็นครั้งที่ 4 อีกคงไม่ได้ แต่หากได้ทำงานอีกก็จะทำอย่างเต็มที่ เดิมเคยคิดไว้ว่าถ้าไม่มีอะไรสะดุดเมื่ออายุ 50 ปี ก็จะเลิกเล่นการเมือง เสร็จจากงานการเมืองก็จะไปทำอย่างอื่นแล้ว แต่จากการทำงานการเมืองมา 23 ปี ในภาพรวมยังไม่พอใจ แต่สิ่งที่เคยทำไปไม่ได้สูญเปล่า แม้ขณะนี้บ้านเมืองไม่ได้เป็นไปตามที่ต้องการแต่เราก็ต้องต่อสู้ไป" นายอภิสิทธิ์กล่าว

      หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวว่า วันนี้เมื่อเกิดคสช. ขึ้นมา แม้จะอยากหรือไม่อยากให้เกิด แต่สิ่งที่หวังคือต้องทำให้กติกาและบ้านเมืองกลับเข้าสู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนให้ได้ ซึ่งใน 10 ปี ข้างหน้าคงไม่มีคสช. แน่นอน สิ่งที่ตนอยากเห็นคือ การจัดการระบบการเมืองให้เข้ารูปเข้ารอยให้เร็วที่สุด เข้าสู่กระบวนการประชาธิปไตย หากกลไกการเมืองล้มเหลว การปฏิรูปก็เดินไปไม่ได้ ฉะนั้นใน 1-2 ปี ควรทำระบบให้ดีและ ทำสังคมให้เข้มแข็ง จึงอยากเห็นคนในสังคมตื่นตัวมากขึ้น

อัดม.44 ไม่เป็นไปตามระบบ 

     นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า ตนบอกตั้งแต่ปีที่แล้วว่าต้องทำประชามติ หากไม่ทำประชามติสังคมจะถกเถียงในเรื่องนี้ไปเรื่อยๆ เห็นด้วยที่รัฐบาลและพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความคิดจะทำสิ่งที่ดีๆ มากมาย และการปฏิรูปบางเรื่องก็ไปในทิศทางที่ถูกต้อง นายกฯ มีแผนยุทธศาสตร์และโครงการระยะยาว แต่ตนไม่แน่ใจว่าแผนที่วางไว้เดินได้จริงหรือไม่ จึงอยู่ที่กระบวนการทางการเมือง เพราะการปฏิรูปจะพึ่งคณะกรรมการสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือสปช.อย่างเดียวไม่มีทางสำเร็จ สุดท้ายต้องอาศัยรัฐบาลอย่างน้อยสองชุด ต่อไปมาสานต่อ

      นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เป็นห่วงว่าในขณะที่เราพยายามให้มีการวางระบบแต่สิ่งที่รัฐบาลและนายกฯ ทำขณะนี้กลับทำวิธีการที่ไม่เป็นตามระบบ เช่น การใช้มาตรา 44 ปราบทุจริตคอร์รัปชั่น ถามว่าหลังจากนี้จะมีมาตรา 44 มาใช้ย้ายข้าราชการได้อย่างที่ทำได้ในขณะนี้หรือไม่ แต่กลับตรงข้ามเพราะไปเขียนในรัฐธรรมนูญว่าถ้ามีรัฐบาลต่อไปนักการเมืองไม่สามารถย้ายข้าราชการได้แม้แต่คนเดียวสิ่งที่รัฐบาลทำแล้วคนคิดว่าดี แต่กลับบอกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งห้ามทำแล้วเราจะทำอย่างไร

กมธ.ยอมหั่น-รธน.มีไม่ถึง 300 ม.

      พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีการวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญมีเนื้อหามากถึง 315 มาตราว่า เป็นเสียงสะท้อนที่ค่อนข้างแรง ที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างฯ พยายามขยายความให้ชัดเจนขึ้น แต่เมื่อถูกต่อว่าว่าเนื้อหายาวเกินไปก็คงต้องแก้ไข แต่การทำให้สั้นลงคงไม่ใช่แค่ตัดเป็นมาตรา ต้องลดเนื้อหา และถ้อยคำลงด้วย ซึ่งมั่นใจว่าสุดท้ายเมื่อมีการปรับแก้ไขแล้วร่างรัฐธรรมนูญคงเหลือไม่ถึง 300 มาตรา กมธ.ยกร่างฯ อาจพิจารณาตัดออกประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ให้เหลือต่ำกว่า 299 มาตรา เมื่อตัดออกไปแล้วก็นำไปใส่ในกฎหมาย ลูกได้

      เมื่อถามว่ารัฐธรรมนูญมาตรา 181 และ 182 ถูกวิจารณ์หนัก โดยมาตรา 181 ให้นายกรัฐมนตรีขอเสนอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินจากสภาผู้แทนราษฎร ถูกมองว่าเปิดช่องให้นายกฯ หลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ขณะที่มาตรา 182 ถูกมองว่าอาจเปิดช่องให้มีการลักไก่เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมได้ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า มาตรา 181 เป็นกรณีสร้างความเข้มแข็งให้รัฐบาลผสม เป็นเครื่องมือไม่ให้พรรคร่วมรัฐบาลงอแงมากเกินไป ส่วนมาตรา 182 กมธ.ยกร่างฯ อาจซื่อตรงเกินไป คิดว่ามาตรา ดังกล่าวเป็นเครื่องมือที่ดีแต่พวกนักการเมืองที่เคยเล่นแร่แปรธาตุกันมาก่อนมองว่าอาจเป็นเครื่องมือให้แอบออกกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ทั้งที่ในทางปฏิบัติคงทำไม่ง่ายแบบนั้น ถ้าลักไก่นิรโทษกรรมคิดว่าจะผ่านวุฒิสภาไปได้หรือ กมธ.ยกร่างฯ ไม่คิดไกลขนาดที่นักการเมืองคิด ยอมรับว่ากระแสส่วนใหญ่ต้านเรื่องนี้ เราก็ฟัง ดังนั้น มาตรา 181 และ 182 อาจมีการตัดออกเหมือนกับมาตรา 298 กมธ.ยกร่างฯ ก็ไม่ได้นึกถึงขนาดว่าจะไปเอาคนที่อยู่เมืองนอกกลับมาให้อภัยโทษได้

มั่นใจปรับแก้แล้วผ่านประชามติ 

      พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า มีคนเคยบอกว่าถ้านักการเมืองอยากแก้อะไร กมธ.ยกร่างฯ จะแก้ให้หมด แต่ต้องให้พรรคการเมือง หัวหน้ากลุ่มการเมืองมาลงสัตยาบันร่วมกัน 2 ข้อ ว่าถ้าใครได้เป็นรัฐบาลจะบริหารประเทศอย่างมีธรรมาภิบาล และหากเป็นฝ่ายค้านจะเป็นฝ่ายค้านที่ปฏิบัติตามกรอบกฎหมาย ไม่นำมวลชนมาปิดล้อมสถานที่ราชการ ปิดถนน ถึงต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้พลเมืองเข้มแข็งมาสู้กับนักการเมือง ก็แค่กรอบที่น่ากลัวสำหรับพรรคการเมือง นักการเมืองที่ไม่ดีเท่านั้นเอง คนที่ดี พรรคที่ดีจะกลัวอะไร

      เมื่อถามว่า มั่นใจว่ารัฐธรรมนูญที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วจะผ่านความเห็นชอบของ สปช.หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ไม่ใช่แค่มั่นใจว่าจะผ่านความเห็นชอบของสปช. แต่มั่นใจว่าจะผ่านประชามติของประชาชนด้วย เพราะ กมธ.ยกร่างฯ จะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ขึ้น รัฐธรรมนูญไม่ใช่เขียนดีอย่างเดียวแต่คนต้องยอมรับด้วย กมธ.ยกร่างฯ จะไปปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้น แต่ไม่ใช่ไปลดหลักการสำคัญมาตรานั้นๆ ออกไป เพื่อจะให้รัฐธรรมนูญผ่าน ส่วนที่มี สปช.บอกว่าถ้ารัฐธรรมนูญมีปัญหาแค่มาตราเดียวก็จะคว่ำนั้นเป็นความคิดที่ถูกต้อง เพราะถ้ามีปัญหาแค่มาตราเดียวก็ไม่สมควรให้ผ่านไปได้ ต้องอธิบายกับสังคมได้ทุกมาตราว่าเหตุใดจึงบัญญัติไว้แบบนั้น

แก้ที่มาส.ว.-298 ไม่ใช่มติกมธ.

       พล.ท.นาวิน ดำริกาญจน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวกรณีพล.อ.เลิศรัตน์ให้สัมภาษณ์ระบุ กมธ.ยกร่างฯ อาจยืดหยุ่นปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ อาทิ เรื่องคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัครส.ว.จังหวัด หรือตัด แก้ไขเนื้อหาในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง มาตรา 298 เรื่องการมีคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ว่า ต้องเข้าใจก่อนว่าตอนนี้กมธ.ยกร่างฯ ยังไม่มีการประชุมและที่มีการประชุมล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ค.ก็เห็นแล้วว่าไม่มีการพูดถึงประเด็นนี้ ดังนั้น เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของพล.อ.เลิศรัตน์ ไม่ใช่ของ กมธ.ยกร่างฯ อย่างไรก็ตามตนก็เคยพูดมาตลอดว่าทุกมาตรา ทุกคำพูดสามารถแก้ไขได้หมด ไม่ว่าจะปรับ ตัด ลด แต่จะทำอะไรต้องดูให้ดีเพราะทุกอย่างเชื่อมโยงกันหมด และ ที่พล.อ.เลิศรัตน์พูดมานั้นก็มีโอกาสเป็นไปได้ เพราะเป็นประเด็นที่มีปัญหาเป็นเรื่องที่คนพูดกันมาก แต่อย่ายึดติดว่าเป็นมติ กมธ.ยกร่างฯ เพราะยังไม่มีประชุม

       "ช่วง 60 วันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนได้หมดเพราะยังไม่จบ เหมือนทำขนมอย่าบ่นก่อนว่าทำไมใส่แป้งก่อน ใส่ไข่ก่อน ชั่งมันเถอะ รอชิมดีกว่า ทุกอย่างจะชัดเจน รอให้ครบ 60 วันหลังจากนี้เนื่องจากทุกเรื่องต้องถกเถียงกัน มันเชื่อมโยงกันหมด หากมีการเอาส่วนไหนออกไปก็ต้องเติมส่วนอื่นเข้ามา" พล.ท.นาวินกล่าว

ไม่มีสภาขับเคลื่อนฯคงไม่ได้

      พล.ท.นาวินกล่าวว่า ประเด็นที่ต้องแก้ในรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวคิดว่ามีมากมายหลายเรื่อง แต่ในหมวดปฏิรูปเราคงไม่ยุ่งเพราะค่อนข้างลงตัวแล้ว ส่วนเรื่องการเมืองต้องปรับแน่นอน เพราะมีการบ่นกันมาก อาทิ เรื่องที่มาส.ส. ส.ว. รูปแบบการลงคะแนน โดยประเด็นเหล่านี้เราอาจปรับนิดหน่อยแล้วมันก็ดีได้ ส่วนใหญ่ประเด็นที่มีปัญหาเราคิดแล้วว่าจะมีการแก้อย่างไร เชื่อว่าทุกคนมีแนวทางของตนเอง อะไรที่มีปัญหาอย่านิ่งเฉย คิดไม่เหมือนกันก็มาดูจะได้แก้ได้ถูกต้อง

      เมื่อถามถึงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ จะมีการปรับแก้ไขหรือไม่ พล.ท.นาวินกล่าวว่า ต้องถามก่อนอยากมีการปฏิรูปหรือไม่ หากอยากมี แล้วไม่มีสภาขับเคลื่อนฯ ไม่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ การปฏิรูปจะเดินหน้าอย่างไร จะให้นักการเมืองมาทำหรือ สรุปคือต้องมีคนมาเดินหน้าแต่อาจมาดูว่าควรมีสององค์กร หรือหนึ่งองค์กรเพื่อเป็นตัวตายตัวแทน หากจำนวนคนหรือที่มาไม่เหมาะก็อาจดูเหตุผลที่เขาวิจารณ์ แต่คิดว่า กมธ.ยกร่างฯ คงไม่เปลี่ยนหลักการ เราคงไม่ยอมขนาดนั้น

สปช.ยื่นแก้รธน.ต่อกมธ.18 พ.ค.

      นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิก สปช. กล่าวว่าวันที่ 18 พ.ค. กลุ่มของตนที่เข้าชื่อกัน 26 คน มีน.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สปช.ด้านสื่อสารมวลชน นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานกมธ.ปฏิรูปค่านิยม ศิลปะ วัฒนธรรม จริยธรรมและการศาสนา น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกมธ.ปฏิรูปการคุ้มครอง ผู้บริโภค เป็นต้น เตรียมสรุปคำขอแก้ไข เพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญไปยังกมธ.ยกร่างฯ ในประเด็นเรื่องสื่อสารมวลชน เรื่องการคอร์รัปชั่น เรื่องพลเมือง และเรื่องศิลปวัฒนธรรม เป็นต้น

      นายประสาร กล่าวกรณีนายบวรศักดิ์ไม่มั่นใจว่าจะสามารถสร้างความปรองดองได้สำเร็จ เพราะ 2 พรรคใหญ่ยังแสดงจุดยืนเดิม ว่า เป็นความคิดเห็นส่วนตัวของนายบวรศักดิ์ เพราะท่าทีของผู้ขัดแย้งไม่ลดราวาศอก ยังอยู่ในสภาพเดิม ยังคงมีมิจฉาวาทะคำพูดที่ไม่ส่อแสดงให้เกิดความปรองดอง การที่นายบวรศักดิ์พูดแบบนี้คงเพราะต้องการบอกกับสังคมและผู้ที่เกี่ยวข้องให้รับรู้ พร้อมนำไปพิจารณาว่าควรทำอย่างไร เพราะถ้าอยากจะปรองดองก็ต้องนำไปคิด ไม่ใช่ยังแค้นฝังหุ่นอยู่แบบนี้

มท.ติงผวจ.ภาค

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่าจากกรณี พล.อ. ประยุทธ์ สั่งการให้ทุกกระทรวงทำความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำเสนอการประชุมร่วมครม. คสช.วันที่ 19 พ.ค.นั้น ในส่วนของกระทรวงมหาดไทย มีความเห็นใน 3 ส่วน คือ1.ราชการภาคและองค์กรบริหารงานภาค ที่กำหนดให้หน่วยงานของรัฐบริหารราชการในลักษณะกลุ่มภารกิจการบริหารราชการภาคและพื้นที่อื่น และจัดตั้งองค์กรบริหารการพัฒนาภาคนั้น มีความเห็นว่าอาจทำให้เกิดระบบผู้ว่าราชการจังหวัดอ่อนแอ เพราะงบประมาณจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ถูกตัดไปเป็นงบประมาณภาค ทั้งนี้ผวจ.ภาคเคยมีมาแล้วในอดีต มีปัญหาการทำงานไม่คล่องตัวและล่าช้า เพราะมีผู้บังคับบัญชา 2 ระดับ เกิดความซ้ำซ้อนในการบริหารจัดการ 

2.ราชการส่วนท้องถิ่น มีความเห็นว่าจะต้องมีการบริหารราชการทั้งส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น โดยมีการกำกับดูแลการบริหารงานให้เป็นไปตามหลักกฎหมายและเหมาะสม อย่างไรก็ตาม ควรทบทวนเรื่องของการบริหารราชการส่วนท้องถิ่น การกำกับดูแลท้องถิ่น และการได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นสำหรับการตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นรูปเต็มรูปแบบจังหวัดนั้น เป็นการใช้หลักการปกครองตนเอง เท่ากับอาจมีการยุบการบริหารราชการส่วนภูมิภาค จะต้องทบทวนเพราะจะขัดกับหลักความมั่นคงแห่งรัฐ 3.การมีส่วนร่วมของประชาชน ในการตั้งองค์กรตรวจสอบภาครัฐเป็นเรื่องดี แต่การมีองค์กรเหล่านี้มากเกินไป จะส่งผลให้การบริหาราชการไม่คล่องตัว จึงขอให้ทบทวนเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อน 

ปชป.จี้กมธ.ยึด 5 ข้อ

      ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค แถลงว่า นับจากนี้เป็นช่วงที่องค์กรต่างๆ ที่มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 57 ส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญรวมทั้งภาคประชาชน นักการเมือง กลุ่มองค์กรต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องส่งข้อเสนอไปยังกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตนอยากเรียกร้องไปยังกมธ.ยกร่างฯ ว่า เวลานับจากนี้ขอให้กมธ.ยกร่างฯ เมื่อรับฟังความคิดเห็นภาคส่วนต่างๆ แล้วขอให้พิจารณาด้วยความจริงจัง จริงใจ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้รับการยอมรับจากประชาชน หากได้รับการยอมรับประเทศก็จะสามารถเดินหน้า ต่อไปได้

นายองอาจกล่าวว่า หลักการสำคัญที่กมธ.ยกร่างฯต้องคำนึงถึงเพื่อให้ได้รับการยอมรับมี 5 ประการ คือ 1.หลักประชาธิปไตยเสรี ไม่ใช่หลักประชาธิปไตยชี้นำ 2.ควรคำนึงถึงสิทธิที่เท่าเทียมของประชาชน 3.รัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับควรสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน 4.บทบัญญัติต่างๆ ในรัฐธรรมนูญควรยึดโยงหลักนิติรัฐ นิติธรรม ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ5.รัฐธรรมนูญจะได้รับการยอมรับ กมธ.ยกร่างฯควรหลีกเลี่ยงการบัญญัติใดๆ ที่จะถูกเข้าใจว่าเป็นวาระซ่อนเร้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯมีเจตนาดี มีส่วนสำคัญที่จะนำพาประเทศให้เดินหน้าได้ แต่หากรัฐธรรมนูญไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชนประเทศจะเดินหน้าได้ยากลำบาก และมีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกโรคแทรก ซ้อน ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯควรทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้รับการยอมรับจากภาคส่วนต่างๆ เพราะฉะนั้นข้อเสนอใดที่เข้าสู่กมธ.ยกร่างฯ ควรที่จะฟังอย่างจริงใจด้วย

จี้นายกฯสั่งทำประชามติ 

       นายองอาจกล่าวว่า ส่วนเรื่องประชามติ ที่ผ่านมารัฐบาลเคยบอกว่าการทำประชามติเป็นเรื่อง ครม. และ คสช.เป็นคนตัดสินใจ และยังบอกว่ากมธ.ยกร่างฯ มีสิทธิเสนอมาได้แต่ไม่มีน้ำหนักแต่วันนี้รัฐบาลและคสช.จะมองข้อเสนอของกมธ.ยกร่างฯว่าไม่มีน้ำหนักเหมือนเดิมไม่ได้แล้ว เพราะกมธ.ยกร่างฯ มีความเห็นเป็นเอกฉันท์ เห็นควรให้มีการทำประชามติ ทั้งนี้เข้าใจที่ผ่านมารัฐบาลหลีกเลี่ยงไม่พูดเรื่องนี้ โดยให้เหตุผลว่า การทำประชามติเหมือนเป็นการประสงค์ที่จะอยู่ต่อยาวกว่าโรดแม็ป แต่เมื่อกมธ. ยกร่างฯมีมติ และสนช.และสปช.บางส่วนมีความเห็นทิศ ทางใกล้เคียงกันว่าควรทำประชามติ ฉะนั้น รัฐบาลและคสช.จะหลีกเลี่ยงอีกไม่ได้แล้ว

        นายองอาจ กล่าวว่า การจะดำเนินการให้มีการทำประชามติหรือไม่บุคคลสำคัญที่มีส่วนในการตัดสินใจ คือ พล.อ.ประยุทธ์ จึงหวังว่านับจากนี้ไป พล.อ.ประยุทธ์จะมีส่วนในการตัดสินใจเพื่อให้ประเทศไทยเดินหน้าได้ ด้วยการตัดสินใจจะทำประชามติหรือไม่ โดยเวลาตัดสินใจมีไม่มากเพราะวันสุดท้ายที่กมธ.ยกร่างฯ จะต้องส่งร่างรัฐธรรมนูญให้ สปช.ลงมติรับหรือไม่รับ วันที่ 6 ส.ค. ดังนั้นในการประชุมร่วมระหว่างครม.และคสช.ในวันที่ 19 พ.ค.จะเป็นโอกาสสำคัญที่พล.อ.ประยุทธ์ จะได้พิสูจน์ตัวเอง ว่าจะทำอย่างไร

จุติหอบหลักฐานแจงปปช.

นายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรคประชาธิ ปัตย์ แถลงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหาในขณะที่ดำรงตำแหน่งรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ในการดำเนินการสัญญาร่วมธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3 จีโดยมิชอบว่า ยืนยันว่าทำหน้าที่ด้วยความสุจริต เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนมาโดยตลอด ซึ่งตนมั่นใจว่าสามารถชี้แจงข้อกล่าวหาได้ โดยขณะนี้รวบรวมพยานเอกสาร ทั้งพยานทางตรงและพยานแวดล้อม รวมทั้งพยานเอกสารของกระทรวงการคลังที่ระบุว่าการประมูลครั้งนี้มีมูลค่าไม่เกิน 4,000 ล้านบาท เพื่อนำไปแสดงต่อป.ป.ช.โดยตนจะเดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาในสัปดาห์หน้า

นายจุติกล่าวว่า โครงการที่ถูกกล่าวหาเป็นการดำเนินการของคณะกรรมการสื่อสารแห่งประเทศไทย(กสท.) และคณะกรรมการองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย(ทศท.) ที่ยกเลิกการจัดซื้อคลื่นของบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวเลส มัลติมีเดีย จำกัด มูลค่า 7,500 ล้านบาท ข้อเท็จจริงโครงการนี้ได้มีการอนุมัติไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่ตนเข้ามารับตำแหน่งรมว.ไอซีที และมีผู้ท้วงติงกสท.ว่าหากซื้อจริง รัฐจะได้เพียงความถี่แต่เป็นเทคโนโลยีที่ ล้าสมัย ราคาแพงเกินไปและกำลังจะตกรุ่นในขณะนั้น โดยมีเพียง 4-5 ประเทศเท่านั้นที่ยังใช้อยู่ ที่เหลือเปลี่ยนไปใช้ระบบ 3 จีหมดแล้ว ประกอบกับราคาที่ตกลงกันก่อนหน้านั้นสูงมาก สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) เสนอให้ตนนำเรื่องขอยกเลิกการซื้อบริษัทดังกล่าวเข้าสู่การ พิจารณาครม. ซึ่งครม.ขณะนั้นมีมติเห็นชอบและไม่ได้เร่งรีบดำเนินการเพราะคณะกรรมการใช้เวลาพิจารณา 2-3 เดือนก่อนให้ครม.รับทราบก่อนเลิกสัญญา ซึ่งอยู่ในอำนาจของกสท.

โยนเป็นอำนาจบอร์ดกสท.

"เรื่องนี้เป็นอำนาจของบอร์ดไม่ใช่รัฐมนตรี ซึ่งตนได้ให้นโยบายไปว่าการดำเนินการต้องดี เทคโนโลยีเหมาะสม และราคาสมเหตุสมผล รวมทั้งต้องเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน ซึ่งบอร์ดกสท.ก็สามารถดำเนินการให้เป็น 3 จี ตามที่ประชาชนเรียกร้องและประหยัดราคากว่าที่ตกลงกันมากกว่าหมื่นล้านบาท จึงทำให้คนไทยได้ใช้ 3 จีทุกวันนี้" นายจุติกล่าว

นายจุติกล่าวว่า ส่วนที่ป.ป.ช.แจ้งข้อกล่าวหาว่าทศท.ดำเนินการทำสัญญากับบริษัทที่ขาดคุณสมบัตินั้น ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวเป็นอำนาจการพิจารณาของคณะกรรมการ ไม่ใช้อำนาจของรัฐมนตรี และสามารถว่าจ้างบริษัทติดตั้งอุปกรณ์ 3 จีในราคาที่ถูกกว่าเดิม โดยรัฐบาลก่อนหน้านั้นประเมินมูลค่าติดตั้งไว้ 29,000 ล้านบาท ห่างกันเพียง 2 ปี ประมูลได้ราคาถูกลงกว่าเดิมหมื่นล้านบาท ยืนยันว่าการติดตั้งอุปกรณ์ 3 จีไม่มีการโกงทำให้คนไทยได้ใช้ 3 จีได้เร็วขึ้น

วรชัยอัดป.ป.ช. 

นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวกรณีป.ป.ช.มีมติไต่ส่วนข้อเท็จจริงกรณีอดีตส.ส. 310 คน ลงชื่อเสนอและให้การรับรองร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมในวาระที่ 1 และในวาระอื่นๆ ว่าเป็นเรื่องปกติ ที่ป.ป.ช.จะดำเนินการสอบสวนเอาผิดในทุกเรื่องที่มีคนร้องฝ่ายพรรคเพื่อไทย เรื่องที่ป.ป.ช.จะไต่สวนข้อเท็จจริงนี้ ยืนยันว่าเป็นหน้าที่ของส.ส.ในการออกกฎหมายต่างๆ เรามีอำนาจหน้าที่ตามที่ให้ไว้ในรัฐธรรมนูญ เมื่อส.ส.มาจากประชาชน อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ควรทำ และเรื่องการเมืองเป็นเรื่องของความรู้สึก ประชาชนมีสิทธิในการออกมาเรียกร้อง เมื่อถูกกระทำก็ต้องคืนความยุติธรรมให้กับประชาชน และการออกพ.ร.บ. ดังกล่าวก็เป็นการช่วยเหลือทุกสีเสื้อที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม ไม่ได้เลือกปฏิบัติแต่อย่างใด

นายวรชัยกล่าวว่า เมื่อเทียบกับกรณีที่เกี่ยวกับพรรคประชาธิปัตย์ เช่น คดีที่เกี่ยวกับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน(ปรส.) ที่มีการเอาผิดคนดำเนินการไปแล้วแต่กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ กับรัฐบาลผู้ดำเนินนโยบาย ขณะที่โครงการรับจำนำข้าวแม้จะยังไม่มีการเอาผิดผู้ปฏิบัติ กลับมีการเดินหน้าคดีกับผู้กุมนโยบาย ซึ่งเป็นการกระทำที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ปค.ย้ำห้ามเรียกรับผลประโยชน์

นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง ทำหนังสือเวียนถึงข้าราชการกรมการปกครองทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคว่า ตามที่ปรากฏข่าวสารว่าหน่วยงานหรือองค์กรอิสระที่มีอำนาจหน้าที่กำลังตรวจสอบการ กระทำทุจริตของเจ้าหน้าที่รัฐต่างๆ ซึ่งมีรายงานบางส่วนเกี่ยวข้องถึงข้าราชการกรมการปกครองและกำนัน ผู้ใหญ่บ้านนั้น ทางกรมจึงขอให้ข้าราชการฝ่ายปกครองและ/หรือเจ้าหน้าที่กรมการปกครองผู้มีหน้าที่ ความรับผิดชอบเพิ่มความระมัดระวังและเข้มงวดกวดขันในการปฏิบัติหน้าที่การงานให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมายให้ถูกต้องทุกขั้นตอนโดยเคร่งครัด อย่าให้มีการใช้อำนาจหน้าที่หรือตำแหน่งไปเรียกรับผลประโยชน์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายโดยเด็ดขาด โดยเฉพาะเรื่องงานทะเบียนราษฎรและบัตรประจำตัวประชาชน/ งานป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ยาเสพติด/ การบุกรุกที่สาธารณะและที่ดินของรัฐ/ งานการกำกับ ดูแลการปฏิบัติงานของ อปท.ในพื้นที่ และการขอรับเงินอุดหนุนจาก อปท./ งานบริการและอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนในเรื่องต่างๆ อย่าให้มีการเรียกผลประโยชน์หรือเก็บค่า ธรรรมเนียมเกินกว่ากฎหมายกำหนด

จึงขอให้ผู้บังคับบัญชาได้กำกับดูแลอย่าให้ผู้ใต้บังคับบัญชา รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่รับผิดชอบเข้าไปเกี่ยวข้องกับการกระทำโดยมิชอบ หรือกระทำการทุจริตเกี่ยวกับงานดังกล่าวข้างต้นโดยเด็ดขาด 

ลั่นฟันวินัย-อาญาตามลำดับชั้น

ทั้งนี้ ขอให้ผู้บังคับบัญชาทุกระดับตั้งแต่ รองอปค./ ผอ.สำนัก/ ผอ.กอง/ อวปค.ปจ./ นอ. ได้มีการประชุมซักซ้อมแนวทางการปฏิบัติราชการทุกสัปดาห์เพื่อกำชับ สอดส่องดูแลอย่างใกล้ชิด อย่าให้มีช่องทาง หนทาง หรือละเลย ละเว้นให้มีการกระทำทุจริตหรือทำผิดตามนโยบายดังกล่าวข้างต้นโดยเด็ดขาด หากพบจะถือเป็นความบกพร่องของผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น และจะดำเนินการทางปกครองและ/หรือทางวินัย อาญาตามนโยบายของรัฐบาลและมท. โดยเคร่งครัดด้วย ทั้งนี้ ขอมอบหมายให้ ผตปค.ทุกเขตตรวจราชการได้ไปติดตามตรวจสอบ รวมทั้งสดับตรับฟังข้อเท็จจริงในพื้นที่ว่ามีการกระทำทุจริตในพื้นที่หรือไม่แล้วรายงานให้ อปค.ทราบโดยตรงด้วย

ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ปค. กำลังดูแลแก้ไขปัญหาเชิงนโยบายให้ข้าราชการฝ่ายปกครองสามารถปฏิบัติงานได้ตามอำนาจหน้าที่ที่ถูกต้อง บริการทั่วถึง รวดเร็ว และเป็นธรรมอีกทางหนึ่งด้วย รวมถึงกำลังประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในเรื่องสวัสดิการ ความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานของข้าราชการฝ่ายปกครองตามที่เคยแจ้งไว้ แล้วด้วย

กกต.แจงตั้งงบ 2 ก.พ.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงกรณีสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) สรุปรายงานผลการตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการควบคุมและดำเนินการจัดการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ที่พบว่าการจัดทำคำของบประมาณของ กกต.ไม่ถูกต้อง สูงเกินความเป็นจริงว่า ตนยังไม่เห็นรายงานดังกล่าว แต่เท่าที่ทราบจากสื่อมวลชนคือเรื่องการจัดทำคำของบประมาณของกกต.ไม่ถูกต้อง สูงเกินความเป็นจริงนั้น ก็เป็นแบบอย่างของสำนักงานบริหารกลางกกต.จัดทำขึ้น ซึ่งเป็นลักษณะการดำเนินการเหมือนที่มีการเลือกตั้งที่ผ่านมา แต่ต้องเข้าใจว่าจะดูแค่สถิติค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อนไม่ได้ เพราะการเลือกตั้งไม่เหมือนกันทุกครั้ง หากมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งมากขึ้นก็ต้องมีการเพิ่มหน่วยเลือกตั้ง หรือค่าตอบแทนบุคลากรอาจเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ หากมีการใช้เครื่องลงคะแนนอาจทำให้ต้องใช้งบสูงขึ้นหลายพันล้านบาท ดังนั้น การตั้งข้อสังเกตว่ามีการตั้งงบสูงเกินจริงจึงอาจไม่เป็นธรรมกับกกต.นัก 

นายสมชัยกล่าวว่า ส่วนการบริหารจัดการวัสดุอุปกรณ์ในการจัดการเลือกตั้ง กกต.ให้กกต.จังหวัดเป็นฝ่ายดำเนินการจัดหาอุปกรณ์ ส่วนที่บอกว่าการเบิกจ่ายเงินไม่ถูกต้องและการเบิกจ่ายเงินโดยเจ้าหน้าที่มีพฤติการณ์ น่าเชื่อว่าอาจมีการทุจริตนั้น ทางสำนักงาน กกต.ก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงว่ามีความผิดปกติหรือไม่ และต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป เรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร เพียงแต่เป็นข้อสังเกตจาก สตง.ซึ่งเราในฐานะองค์กรอิสระก็ต้องพร้อมที่จะถูกตรวจสอบจากองค์กรอื่นอยู่แล้ว ไม่ได้อยู่เหนือการตรวจสอบใดๆ

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการฟ้องเรียกค่าเสียหาย 3,000 ล้านบาท กรณีการเลือกตั้ง 2 ก.พ. เป็นโมฆะ นายสมชัยกล่าวว่า กำลังมีการดำเนินการอย่างอย่างต่อเนื่อง โดยกกต. มีความเห็นให้ดำเนินการอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างจากรูปแบบเดิม ซึ่งต้องรอผลการดำเนินการ แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรฟ้องคนที่ทำผิดและคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมดโดยไม่เลือกหน้า แต่ในส่วนของกรรมการคนอื่นก็มีวิธีคิดและแนวทางที่ต่างกันออกไป

จับตาการเมือง 19 พ.ค.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 19 พ.ค. มีประเด็นการเมืองที่สำคัญและต้องติดตามหลายเรื่อง ประกอบด้วย กรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะไปศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามนัดสอบปากคำในคดีโครงการรับจำนำข้าว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ขึ้นกล่าวปาฐกถาที่ประเทศเกาหลี ขณะเดียวกัน มีการประชุมร่วมระหว่างครม. และคสช. เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรนูญชั่วคราวเพื่อเปิดทางให้ทำประชามติ และยังเป็นวันครบรอบการสลายการชุม 19 พ.ค. 2553

ทำบุญครบรอบวันตายเสธ.แดง

เวลา 10.30 น. ที่วัดสุขาวราราม (วัดหนองบัว) หมู่ที่ 2 ตำบลบ่อกระดาน อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี น.ส.ขัตติยา สวัสดิผล อดีตส.ส.เพื่อไทย พร้อมน.ส.กิตติยา สวัสดิผล พี่สาว และครอบครัวรวมถึงญาติๆ และเพื่อนสนิท ร่วมกันจัดพิธีทำบุญครบรอบวันเสียชีวิตให้กับ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธแดง อายุ 58 ปี อดีตผู้ทรงคุณวุฒิ กองทัพบก ที่ถูกสังหารเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 17 พ.ค. 2553 มีมวลชนคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่งเข้าร่วม 

น.ส.กิตติยาเผยว่า พ่อโดนลอบยิงเมื่อ วันที่ 13 พ.ค. แต่มาเสียชีวิตวันที่ 17 พ.ค. ครอบครัวจึงใช้วันนี้เป็นการทำบุญครบรอบการเสียชีวิต มีคนใกล้ชิดของครอบครัว รวมถึงคนที่รักพ่อจริงๆ เป็นเพื่อนรักและสนิทสนมตั้งแต่รุ่นนายร้อยมาร่วมงานทุกปี วัดนี้รุ่นคุณปู่คุณย่าที่บูรณะโบสถ์ รุ่นพ่อก็มาทำโบสถ์หินอ่อนให้เพื่ออุทิศส่วนบุญให้แม่เดียร์ จนมาถึงรุ่นเราก็จะยังคงดูแลต่อไป 

น.ส.ขัตติยากล่าวถึงจะลงเล่นการเมืองว่า ญาติพี่น้องจะให้การตัดสินใจเป็นของเดียร์คนเดียวว่าคิดจะเดินทางไหนต่อไป แต่พออยู่ในเส้นทางการเมืองเมื่อเจอปัญหาทางบ้านก็จะให้กำลังใจหาทางแก้ไข ส่วนอนาคตจะเป็นอย่างไรคงต้องขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ และจะขอปรึกษาพี่สาวด้วย แต่จะยังคงไม่ทิ้งมวลชนเพราะเป็นคนที่รักพ่อ เมื่อถ้าเขาเห็นเราก็จะเหมือนเห็นพ่อไปด้วย งานที่ทำทุกวันนี้ก็เหมือนกับทำให้ดีที่สุดเพื่อรักษาชื่อเสียงของพ่อ ตอนนี้คือยังไม่ได้คิดเรื่องการเมือง ข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเป็นเรื่องของอนาคต 

19 พ.ค.เสื้อแดงแยกย้ายทำบุญ

นางธิดา โตจิราการ ที่ปรึกษากลุ่ม นปช. กล่าวว่า คาดว่าครบรอบ 5 ปี การสลายการชุมนุมวันที่ 19 พ.ค.นี้ บรรดาญาติผู้เสียชีวิตคงแยกย้ายกันไปทำบุญตามที่ต่างๆ เพราะถ้ารวมตัวกันอาจเกิดปัญหา ส่วนคนเสื้อแดงก็คงแยกย้ายกันทำบุญเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่ถ้ายังห้ามไม่ให้เขาทำถือเป็นการมองทุกอย่างในเชิงปฏิปักษ์กับประชาชนมากเกินไป ทั้งที่งาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม ซึ่งมีการเชิญนายกฯด้วย สามารถจัดได้ตามปกติ แต่งานรำลึกเหตุการณ์พฤษภา 35 ของมูลนิธิวีรชนประชาธิปไตย ที่เชิญเรืออากาศตรีฉลาด วรฉัตร มาปาฐกถา กลับถูกห้ามไม่ให้ปาฐกถา ตนไม่เข้าใจว่าเขาจะกลัวอะไรกับประชาชน จะขัดขวางคนที่มาชุมนุมทางการเมืองก็ไม่เป็นไร แต่นี่ระแวงแม้กระทั่งคนมาทำบุญ ถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน

กังวลคดีปูจ่ายเยียวยา 

นางธิดากล่าวว่า เรื่องที่น่ากังวลมากกว่างานทำบุญ คือป.ป.ช. จะแจ้งข้อกล่าวหาแก่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตรัฐมนตรีรวม 34 ราย กรณีจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง พ.ศ.2548-2553 ทั้งที่เรื่องนี้มีการถามความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และจ่ายตามระเบียบสำนักนายกฯ ซึ่งเหตุการณ์เดือน พ.ค.2535 ก็มีการจ่ายเงินเยียวยาเช่นเดียวกัน รวมถึงฝ่ายทหารและกลุ่มพันธมิตร นอกจากนี้ทราบว่ายังมีกรณีกรือเซะและตากใบด้วย

"ป.ป.ช.จะเอาเงินคืนจากญาติผู้เสียชีวิตหรือไม่ เขาอาจจะคืนให้ แต่คุณเอาชีวิตของคนในครอบครัวเขาคืนมาได้ไหม คนที่ฟ้องอาจมองว่าเงินเยอะไป แต่ญาติคงอยากได้ชีวิตคนในครอบครัวคืนมามากกว่า เพราะคงไม่มีใครอยากตายเพื่อแลกกับเงิน 7.5 ล้านบาท แล้วยิ่งขัดขวางแม้กระทั่งการทำบุญ นอกจากญาติที่ต้องเจ็บปวดแล้ว ประชาชนที่มีจิตใจรักความเป็นธรรมก็เจ็บปวดทั้งหมด ถ้าทำแบบนี้ก็อย่าพูดถึงเรื่องความปรองดอง" ที่ปรึกษา นปช. กล่าวและว่า ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเป็นความขัดแย้งที่ไม่ต้องการการปรองดอง 

แม่น้องเกดถามกลับป.ป.ช. 

ด้านนางพะเยาว์ อัคฮาด มารดาของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสาที่ถูกยิงเสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ราชวรวิหาร แขวงและเขตปทุมวัน กทม. จากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 19 พ.ค.2553 กล่าวว่า ตนทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้ลูกและผู้เสียชีวิตคนอื่นๆ ที่วัดปทุมวนารามฯ เป็นประจำทุกปีอยู่แล้ว เพื่อให้สังคมได้รำลึกถึงว่ายังมีพวกเราที่ยังเรียกร้องความเป็นธรรมอยู่ แต่ถูกสังคมมองข้าม โดยปีนี้จะมีการถวายภัตตาหารเพลและถวายสังฆทานพระสงฆ์ จำนวน 9 รูป ในเวลาประมาณ 10.00 น. 

นางพะเยาว์กล่าวกรณีป.ป.ช.จะแจ้งข้อกล่าวหาน.ส.ยิ่งลักษณ์และอดีตรัฐมนตรีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมทางการเมือง ว่า ถ้าคนจ่ายเงินเยียวยาผิดแล้วคนสั่งการกับคนฆ่าไม่ผิดใช่หรือไม่ ที่บอกว่าการจ่ายเงินเยียวยา 7.5 ล้านบาท เป็นเงินที่สูงเกินไป ป.ป.ช.ตีค่าพวกเขาเท่าไร แล้วตัวพวกท่านมีค่าแค่ไหน ในสายตาตนมองว่าไม่มีค่าอะไร เพราะไม่ได้ให้ความยุติธรรมกับประชาชน ถ้าจะปฏิบัติก็ต้องให้เท่าเทียมกันทั้ง 2 ฝ่าย อยากให้รำลึกถึงคุณธรรมในใจไว้บ้าง ขณะนี้รัฐบาลจะทำเรื่องปรองดองและประกาศเรื่องการเยียวยาทุกกรณี โดยย้อนจากปี 2557 ไปจนถึงอดีต ประชาชนควรจะได้รับเท่ากันเพราะพวกเขาคือเหยื่อทางการเมือง ไปตีค่าเขาแบบนั้นแล้วจะปรองดองกันได้อย่างไร

ชาวนาภาคกลางจี้รบ.แก้แล้ง

วันที่ 17 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อ่างทอง ว่า หลังรัฐบาลประกาศหยุดปล่อยน้ำให้ชาวนาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 57 ถึงวันที่ 30 เม.ย.58 เนื่องจากเกิดภาวะภัยแล้งต้องกักเก็บน้ำไว้นั้น และจะเริ่มปล่อยน้ำให้ชาวนาเริ่มเพาะปลูกได้ในวันที่ 1 พ.ค. 58 ตอนนี้ครบกำหนดที่ชลประทานเริ่มปล่อยน้ำให้กับชาวนาในพื้นที่อ่างทองแล้วทำให้ชาวนาหลายรายที่อยู่ต้นน้ำเร่งหว่านข้าวทำนาเพื่อให้เก็บเกี่ยวทันก่อนฤดูน้ำหลากในปลายปีนี้ แต่หลายพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำที่ชลประทานปล่อยไปไม่ถึง ยังไม่สามารถทำนาได้ ส่งผลให้ชาวนาหลายรายเริ่มไม่พอใจ บางรายเริ่มหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อรอน้ำแต่ว่าน้ำก็ไม่มีจนเกิดความเสียหายตามมา

นายทรงพล พูลสวัสดิ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติจังหวัดอ่างทอง เผยว่า ตอนนี้ชาวนาในภาคกลางกำลังเดือดร้อนจากไม่มีน้ำและเดือนนี้เป็นเดือนที่จะต้องทำนาเพื่อให้ทันฤดูน้ำหลากแต่ไม่สามารถทำได้ชาวนาก็หยุดทำนามาช่วงหนึ่งแล้ว จะมาหยุดอีกคงต้องตายแน่ ขณะนี้ทางสภาเกษตรกรฯ อ่างทอง ประชุมหารือกันและเตรียมเคลื่อนไหวยื่นหนังสือไปยังนาย ปวิณ ชำนิประศาสน์ ผวจ.อ่างทอง เพื่อให้หามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน และจะประชุมใหญ่กันที่ จ.กาญจนบุรี ในวันที่ 18 พ.ค. เพื่อหาทางออกและจะเข้ายื่นหนังสือต่อนายกฯ เพราะมันเป็นปัญหาใหญ่ โดยข้อเรียกร้องตอนนี้มีอยู่ 2 ข้อ คือ 1.ให้ทางรัฐบาลปล่อยน้ำมาให้ชาวนาทำนาอย่างเต็มที่ 2.หากน้ำไม่มีก็ต้องชดเชยให้กับชาวนาที่ยังไม่ได้ทำนา หลังจากที่คุยกับทางชลประทานก็ทราบว่าน้ำนั้นมีแต่ต้องทยอยปล่อยทำให้น้ำปลายทางไม่มีน้ำตนอยากให้มีการจัดการบริหารน้ำให้ดีกว่านี้ ส่วนในพื้นที่อ่างทองชาวนาตอนนี้ได้รับน้ำในการทำนาเพียง 20% เท่านั้น ทำให้ชาวนาที่ไม่ได้รับน้ำเริ่มเดือดร้อน