BigJiw

จับตา'จิ๋ว'เปิดบ้าน วิษณุเล็ง 3 ทาง-ถ้ารธน.แป้ก พท.ชูฉบับปี 40 บิ๊กตู่รอครม.ชี้'ประชามติ'มั้ย จนท.ยื่นนายกฯ จี้สอบ'บิ๊กสสส.

       'บิ๊กจิ๋ว' เปิดบ้านฉลองเบิร์ธเดย์'บิ๊กป๊อก'ฮึ่มอย่าสร้างกระแส'บิ๊กตู่'รอครม. ฟันธงทำประชามติร่างรธน.หรือไม่ ลั่นถ้าทุกฝ่ายเห็นตรงกันสูญ 3 พันล้านก็ยอม จะได้ไม่ขัดแย้ง 'วิษณุ'แย้ม 3 ทางออกถ้าประชามติแล้วไม่ผ่าน ตั้งกมธ.ยกร่างฯ-สปช.ชุดใหม่ เลือกรธน.ฉบับเก่ามาใช้ หรือตั้งคนกลางร่างใหม่ใน 1-2 เดือน ยัน 19 พ.ค.ทุกอย่างชัดเจน เพื่อไทยหนุนให้ใช้รธน.ปี"40 กมธ.ปฏิรูปการเมืองถกพรรคการเมืองวันนี้ ชงรื้อที่มานายกฯ-ส.ว.-ส.ส.โอเพ่นลิสต์ เจ้าหน้าที่ ร้องนายกฯ สอบบิ๊ก สสส.ใช้งบฟุ่มเฟือย- ไม่โปร่งใส'กฤษดา'เชื่อเป็นการกลั่นแกล้งกันภายใน พร้อมแจงข้อสงสัยทุกประเด็น

 

วันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8934 ข่าวสดรายวัน

'บิ๊กตู่'สั่งขรก.อดทนทำงาน

       เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวระหว่างเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติว่า เข้าใจการทำงานของข้าราชการที่ต้องอยู่ภายใต้นโยบายของรัฐบาล บางอย่างแม้จะมีปัญหา แต่จำเป็นต้องทำ จึงขอให้ทุกคนทำงานด้วยความระมัดระวังที่สุด โดยเฉพาะเรื่องความไว้วางใจจากประชาชน จะใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหาจะเกิดผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงตนก็ได้รับผลกระทบด้วยในฐานะผู้รับผิดชอบและดูแลภาพรวม จึงขอให้เร่งทำความเข้าใจกับประชาชนโดยเร็ว 

       "ทุกฝ่ายจับตามองเป็นอย่างยิ่ง เพราะต่างคาดหวังว่าผลที่ออกมาจะลดความไม่เข้าใจของคนลงได้บ้าง จึงขอให้ทุกคนใช้ความอดทนในการทำงานและดำเนินการทุกอย่าง เพื่อให้ประเทศเกิดความมั่นคง จากความร่วมมือของประชาชนทุกฝ่าย" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ทำประชามติรธน.-รอฟังครม.

       พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับหนังสืออย่างเป็นทางการจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการให้ทำประชามติ หากได้รับหนังสือมาอย่างเป็นทางการแล้ว จะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ส่วนตนยังไม่มีความเห็นใดๆ ขึ้นอยู่กับการหารือของครม. จะขอฟังความเห็นของครม.ก่อนจากนั้นจะเสนอความเห็นของตัวเอง ถ้าตนบอกก่อน คนในครม.จะไม่กล้าออกความเห็นอย่างอื่น เขาจะเกรงใจ ซึ่งตนกลัวเกรงใจ บอกอะไรตอนนี้ไม่ได้

ผู้สื่อข่าวถามว่าเท่าที่ดูจะต้องเข้าช่องทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ใช่ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ ทำไมจะต้องมาถามกันอีก ส่วนจะแก้มาตราไหน ไม่รู้ แต่ต้องแก้ให้ได้ ขออย่าให้มีเรื่องฟ้องร้องกันแบบคราวก่อน แก้รัฐธรรมนูญก็มีเรื่องกัน แต่อย่าเพิ่งไปถึงตรงนั้นเลย วันนี้ยังไม่รู้ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ผ่าน ต้องมาดูกันอีกที รอการลงมติของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนส่งไปปรับแก้กัน ถ้ากมธ.ยกร่างฯ ปรับแก้ได้หมด และผ่านความเห็นชอบจากสปช. จะนำสู่ขั้นตอนต่อไป เรียกว่าเดินเข้าสู่การเป็นประชาธิปไตยแล้ว แต่ถ้าจะต้องทำประชามติก็ต้องทำ ก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มันแก้ทีละขั้นตอน

 

ยอมเสีย 3 พันล.-ลดขัดแย้ง

      ต่อข้อถามว่าการเสียเงิน 3 พันล้านบาทเพื่อทำประชามติ คุ้มค่าหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่รู้ อยากจะเสียเงินกันหรือไม่ ถ้าไม่อยากเสียเงิน ยอมรับร่างรัฐธรรมนูญกันได้หรือไม่ เรื่องนี้จะมาถามตนทั้งหมดคงไม่ได้ ต้องถามประชาชน เพราะเป็นผู้ลงประชามติ ไม่ใช่ตนเพียงคนเดียว 

"ไม่เข้าใจว่าทำไมสื่อต้องถามกลับไปกลับมา ตอนแรกถามเหมือนต้องการให้ทำประชามติ แต่ตอนนี้กลับถามว่าเสียเงิน 3 พันล้านบาทจะคุ้มหรือไม่ เรื่องนี้ผมจะต้องเป็นคนตอบอย่างนั้นหรือ เป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ จะเสนอมาว่าจะทำหรือไม่ จะแก้รัฐธรรมนูญหรือเปล่า จะใช้เงิน 3 พันล้านบาทคุ้มหรือไม่ วันนี้ไม่ใช่ความต้องการของผม เป็นความต้องการของทุกภาคส่วน ของแม่น้ำทุกสาย ถ้าอยากทำประชามติก็ทำไป ถ้าจะต้องเสียเงิน มันก็ต้องเสีย จะได้ไม่ขัดแย้ง" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

เมื่อถามว่าใครควรชี้แจงถึงความคุ้มค่า ข้อดีข้อเสีย นายกฯ กล่าวว่า ถ้ากมธ.ยกร่างฯ เสนอมาก็ต้องหารือในครม. จากนั้นครม.จะเป็นคนเสนอว่าจะทำประชามติหรือไม่ ต้องมีผู้เสนอเข้ามา และหากจะเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญก็ต้องเสนอก่อนวันที่ 6 ส.ค.นี้ เพราะสปช.จะลงมติพิจารณาว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. ฝ่ายกฎหมายก็ต้องหารือกันว่าจะเตรียมแก้ปัญหาอย่างไร

 

เล็งให้กกต.รับผิดชอบ

ผู้สื่อข่าวถามว่าครม.จะลงรายละเอียดถึงรูปแบบการทำประชามติด้วยหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องปรึกษาในครม. และคสช. ในคสช.เป็นทหารทั้งหมด ไม่ใช่นักกฎหมายสักคน ดังนั้น การทำประชามติจะต้องกำหนดว่าทำประชามติเรื่องอะไร แค่ไหน อย่างไร มันไม่ใช่ตนคนเดียว และไม่ใช่คสช.เพียงฝ่ายเดียวด้วย เมื่อถามว่าจะหารือถึงข้อเสนอต่างๆ รวมทั้งที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปีด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ถ้าเป็นข้อเสนอของคนส่วนใหญ่ ก็จะพิจารณากัน ส่วนจะได้หรือไม่ได้ มีคณะทำงานเรื่องการทำประชามติดูแลอยู่ มีฝ่ายกฎหมายมาร่วมด้วย 

นายกฯกล่าวว่า เมื่อพิจารณาเสร็จจะเสนอเข้าครม. หากครม.เห็นชอบจะนำไปสู่ผู้ที่ทำประชามติ เดิมเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งกกต.ต้องคิดไว้ด้วย ถ้าตนพูดอะไรตอนนี้ ว่าต้องการใส่อะไรเพิ่มเติม จะกลายเป็นว่าต้องการจะอยู่ในอำนาจ ไม่รู้ว่าเรื่องอำนาจ ทำไมจึงสนใจกันนัก วันนี้ขอถามว่าตนใช้อำนาจอะไร เมื่อถามว่าความจริงแล้วนายกฯ ไม่อยากอยู่ในตำแหน่งต่อใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไอ้นี่พูดประหลาด อยากหรือไม่อยากจะมาถามผมได้อย่างไรแบบนี้ ไม่อยากซักอย่าง ไม่อยากมายืนอยู่ตรงนี้ตั้งแต่แรกแล้ว เอาแล้วไง"

 

"วิษณุ"แจงขั้นตอนยิบ

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าขณะนี้เห็นหนังสือของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ส่งมายังครม.เสนอให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญแล้ว ซึ่งครม.และคสช.จะหารือร่วมกันในวันที่ 19 พ.ค. หากสปช.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) มีข้อเสนอในเรื่องนี้เข้ามาด้วยจะดีอย่างยิ่ง ส่วนที่กมธ.ยกร่างฯระบุให้ครม.และคสช.เป็นผู้คิดรูปแบบการทำประชามตินั้น มองว่าหากจะทำประชามติก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ(ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ไม่ใช่เขียนเพียงว่าต้องทำประชามติ แต่ต้องแก้ไขกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนล็อกไว้ทั้งหมด เพื่อให้ทำประชามติได้

นายวิษณุกล่าวว่า ข้อเสนอว่าการทำประชามติเป็นสิทธิของประชาชน ตามมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ได้ให้คำตอบว่าจะทำประชามติเมื่อใด ทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น และไม่สามารถนำมาตรา 44 มาใช้ได้ เพราะมาตรา 44 เป็นอำนาจที่เกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ ไม่สามารถลบล้างอำนาจที่เท่ากันในรัฐ ธรรมนูญ ซึ่งกำหนดเวลาเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญไว้ได้ 

 

ถ้าไม่ผ่านมี 3 ทางเลือก

รองนายกฯกล่าวว่า ถ้าจะทำประชามติมี 2 ขั้นตอน คือการแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เพื่อเปิดประตูให้ทำประชามติ และการลงมือทำประชามติ ไม่ใช่ทำได้ภายในอาทิตย์เดียว หากทำคงจะเกิดเดือนธ.ค.2558 หรือม.ค.2559 ซึ่งเกินกรอบเวลาที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว จึงต้องรื้อกำหนดวันเวลาใหม่ ต้องเขียนด้วยว่าให้ทำประชามติ ทำภายในกี่วัน ตั้งแต่เมื่อไร และใครเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งหนีไม่พ้นกกต.

นายวิษณุกล่าวว่า ที่สำคัญต้องกำหนดว่าหากทำประชามติแล้วผ่านหรือไม่ผ่าน จะเกิดผลอะไรตามมา ถ้าไม่ผ่านตัวอย่างก็มีเช่น กลับไปตั้งสปช. และกมธ.ยกร่างฯใหม่ หรือนำรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งมาใช้ หรือตั้งคนกลางขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 1-2 เดือน ทั้งหมดนี้จะตกลงกันในวันที่ 19 พ.ค. ส่วนที่โฆษกกมธ.ยกร่างฯระบุต้องใช้เวลาดำเนินการ 90 วัน เรื่องนี้ต้องสอบถามกกต.ด้วย เพราะการทำประชามติไม่เหมือนการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองจะหาเสียงเอง การทำประชามติ รัฐต้องพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญแจกจ่ายให้ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้งทั้ง 47 ล้านคน และเผยแพร่ประชา สัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์ให้เกิดความเข้าใจด้วย

 

ย้ำ 19 พ.ค.ทุกอย่างชัดเจน

ผู้สื่อข่าวถามว่าส่วนตัวคิดว่าควรทำประชามติหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่าตอบไม่ได้ เพราะตนเป็นหนึ่งในครม. จะกลายเป็นความเห็นของครม.ออกมา จึงไม่อยากพูดผ่านสื่อ ยอมรับว่าส่วนตัวมีข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวอยู่ในใจไว้บ้างแล้ว และเชื่อว่าในที่ประชุมร่วมอาจมีคนสอบถาม ทั้งนี้ หากทำประชามติ รูปแบบคำถามจะเป็นอย่างไรนั้นต้องหารือในที่ประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่ง ถ้าไปชี้นำก็เป็นการความเห็นส่วนตัว และเชื่อว่าจะชัดเจนหลังวันที่ 19 พ.ค.

เมื่อถามถึงข้อเสนอที่ให้ตัดองค์กรต่างๆ ออกจากร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ นายวิษณุกล่าวว่ายังไม่ขอพูดตอนนี้ เพราะมีข้อเสนอมาจำนวนมาก ว่าควรพิจารณาเรื่ององค์กรต่างๆ ต้องนำมาทบทวนและชั่งน้ำหนักดู การเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นอำนาจหน้าที่ของครม.และคสช.เท่านั้น คนอื่นไม่มีสิทธิแก้ไข

 

"เทียนฉาย"เชื่อใจนายกฯ

นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. กล่าวว่า การทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่ดี กระบวนการต้องเชื่อถือได้ ไม่เช่นนั้นจะเสียงบฯ มหาศาลโดยใช่เหตุ ส่วนใครหรือหน่วยงานใดจะเป็นผู้จัดทำ ไม่สำคัญเท่ากับผู้ทำต้องมีใจบริสุทธิ์ ไม่ทุจริต ประชาชนที่จะมีสิทธิ์ตอบคำถามเอาด้วยหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ต้องรู้ต้องเข้าใจรัฐธรรมนูญอย่างถ่องแท้ ซึ่งทางลัดที่ช่วยทำให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้น คือสื่อมวลชนต้องช่วยเผยแพร่เนื้อหา ต้องคำนวณเวลาจัดพิมพ์เพื่อแจกร่างสุดท้ายให้ดี ต้องนับว่าจะถึงมือประชาชนวันไหน อย่าไปนับว่าเริ่มส่งไปเมื่อใด เพราะถ้าคำนวณพลาดอาจมีสิทธิจบเห่

"ถ้ารัฐบาลตัดสินใจทำประชามติจริงๆ กมธ.ยกร่างฯ และสปช.ต้องคิดกันแล้ว เพราะทุกคนต้องช่วยกันลงพื้นที่เปิดเวทีทำความเข้าใจกับประชาชนให้ได้ ผมไม่รู้ว่ารัฐบาลจะตัดสินใจยากหรือไม่ แต่เชื่อว่าพล.อ.ประยุทธ์ คงตัดสินใจบนพื้นฐานประชาธิปไตย และประโยชน์ของประเทศ" นายเทียนฉายกล่าว 

 

แห่ถกกมธ.การเมือง

ที่รัฐสภา พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิก สปช. และรองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวถึงการสัมมนาระหว่างพรรค การเมืองกับกมธ.ปฏิรูปการเมือง วันที่ 15 พ.ค.ว่า พรรคการเมืองตอบรับพร้อมส่งตัวแทนเข้าร่วมกว่า 100 คน ทั้งพรรคเล็ก พรรคใหญ่ โดยพรรคเพื่อไทยส่งนายสามารถ แก้วมีชัย ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ส่งนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เข้าร่วม สำหรับแนวทางการหารือ กมธ.จะนำเสนอคำแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เห็นด้วยหลายประเด็น เช่น การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม โอเพ่นลิสต์ ให้พรรคร่วมแสดงความคิดเห็น พร้อมเสนอแนะเพิ่มเติมว่าอยากให้กมธ.เสนอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญประเด็นใดอีก 

พล.อ.เอกชัยกล่าวถึงข้อเสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ตัวแทนกมธ.ของสปช.ทั้ง 18 คณะเห็นด้วย ส่วนรายละเอียดและเงื่อนไขการทำประชามติ ต้องรอดูว่า คสช.และครม. ในฐานะผู้มีอำนาจจะเสนออย่างไร เชื่อว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 46 จะแก้ไขเยอะ เนื่องจากต้องไปปรับโรดแม็ปให้สอดคล้องกับการทำประชามติที่ต้องยืดเวลาออกไปอย่างน้อย 6 เดือน ส่วนการเลือกตั้งคาดว่าจะไม่มีขึ้นในปี 2559 แน่นอน 

 

ลุยถามปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

ด้านนายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า การประชุมวันที่ 15 พ.ค. กมธ.จะเจาะประเด็นถามพรรคการเมืองในหัวข้อที่กำลังถกเถียงกัน ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการเมือง อาทิ ที่มาของนายกฯ ระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์ ที่มาส.ว. จำนวน ส.ส.และส.ว. การทำประชามติ รวมถึงประเด็นล่าสุดที่ให้ทำประชามติเรื่องการปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนจัดการเลือกตั้ง จากนั้นจะนำความเห็นที่ได้ ไปประกอบความคิดเห็นของกมธ.ปฏิรูปการเมือง เพื่อเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ ทบทวนเนื้อหารัฐธรรมนูญต่อไป 

"ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะให้ปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง แต่เห็นว่า ระยะเวลา 2 ปี มากเกินไป ควรใช้เวลา 1 ปี ปฏิรูปประเทศในเรื่องการจัดทำกฎหมายลูกที่ต้องออกตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปให้เสร็จเป็นรูปธรรมก่อน จึงจัดเลือกตั้งหากให้ไปดำเนินการหลังเลือกตั้ง รัฐบาลก็มักไม่ดำเนินการออกกฎหมาย ทำให้การปฏิรูปเสียของ" นายนิรันดร์กล่าว 

 

"มาร์ค"ขวางปฏิรูป 2 ปี

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ เสนอแก้รัฐธรรมนูญให้ทำประชามติเพื่อปฏิรูปประเทศ 2 ปี ก่อนจัดเลือกตั้งว่า ที่นายไพบูลย์ นำเสนอนั้นตกลงอยากให้ประชาชนไปลงประชามติเรื่องอะไร เมื่อไร แต่ตนยังยืนยันว่าถ้าประชาชนบอกว่ารัฐธรรมนูญดีแล้วเห็นชอบก็เป็นหลักประกันที่ดี แต่ถ้าประชาชนไม่เอาแล้วคว่ำ ก็ต้องมาเริ่มต้นกันใหม่ กระบวนการเริ่มต้นใหม่นี้ควรเป็นอย่างไรคงต้องมาถกเถียงกัน 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ถ้าทำประชามติแล้วตัดสินใจทำแบบที่ตนเคยเสนอว่าอาจนำเอารัฐธรรมนูญปี 2550 มาปรับปรุงเล็กน้อยก็น่าจะช่วยให้คำตอบกับสังคมได้ ทุกคนยอมรับได้ เพราะทุกอย่างยังอยู่ตามโรดแม็ป เราต้องช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญดีกว่าฉบับที่ร่างนี้ ซึ่งคสช. ยังมีเวลาทำงานต่อ จึงน่าจะเป็นวิธีที่คิดว่าเป็นไปได้ แต่ถ้าบอกว่าไม่เอาตามโรดแม็ป ตรงนี้น่าจะเป็นปัญหาและจะเป็นปมขัดแย้งได้

 

3 พรรคชงประเด็นรื้อใหญ่

ส่วนนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าพรรคประชาธิปัตย์ยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่จะนำสังคมสู่การปฏิรูปการเมืองได้จริงหรือไม่ และมีประเด็นใดควรปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้รัฐธรรมนูญออกมาดีกว่าเดิม นำไปสู่การปฏิรูปได้อย่างแท้จริง และเป็นที่ยอมรับของประชาชน

นายสามารถ แก้วมีชัย อดีตส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนไม่ได้ไปให้ความเห็นในนามพรรค แต่ไปในนามส่วนตัว ตนจะไม่พูดลงในรายละเอียดทั้ง 315 มาตรา แต่จะพูดในหลักการสำคัญว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ตอบโจทย์การแก้ไขประเทศ และจะสร้างปัญหาให้เกิดขึ้นมาก 

นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่าจะเสนอความเห็นเกี่ยวกับระบบการเมืองคือ 1.นายกฯ ต้องเป็นส.ส.ซึ่งเป็นหลักสำคัญของระบอบประชา ธิปไตย 2.ที่มาส.ว. หากให้มีอำนาจมากอย่างที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด ก็ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน แต่หากมาจากการแต่งตั้ง ควรลดอำนาจและมีหน้าที่เพียงกลั่นกรองกฎหมาย 3.ที่มาส.ส.ในระบบโอเพ่นลิสต์ ควรใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว ไม่ควรแบ่งภาค เพื่อให้ส.ส.ไม่แบ่งแยกว่าต้องดูแลประชาชนภาคใดเท่านั้น ส่วนการเปิดให้ประชาชนเลือกและจัดอันดับผู้สมัคร เชื่อว่าจะมีปัญหา จึงควรปรับปรุง

 

ลั่นไม่แก้-ประชามติตกแน่

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า คนที่ต้องการให้ลงประชามติแบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่คือ 1.คนที่ต้องการล้มร่างรัฐธรรมนูญ กลุ่มนี้โดยพื้นฐานอาจไม่ชอบรัฐบาลและคสช. จึงแสดงออกด้วยการล้มร่างรัฐธรรมนูญ 2.คนที่ชอบรัฐบาลและคสช. กลุ่มนี้ไม่ได้ดูเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อชอบรัฐบาลและคสช.ก็ชอบรัฐธรรมนูญไปด้วย 3.คนที่ต้องการให้รัฐธรรมนูญได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่มีเงื่อนไขว่าต้องแก้ไขบางส่วน ให้เป็นประชาธิปไตย สอดคล้องกับระบบรัฐสภา เช่น ตามร่างที่ให้จังหวัดต่างๆ เลือกคนมา 10 คนแล้วให้ชาวบ้านเลือก 1 คนเป็นส.ว. หากไม่แก้ไข กลุ่มนี้จะกลายเป็นกลุ่มที่ 1 คือไม่รับร่าง แต่ไม่รับด้วยเหตุผลต่างกัน 

"หากจะทำประชามติต้องดูรัฐธรรมนูญปี 2550 เป็นตัวอย่างคือ 2 พรรคเห็นขัดแย้งกัน พรรคเพื่อไทยเดินหน้าไม่รับ แต่พรรคประชาธิปัตย์ยอมรับรัฐธรรมนูญ จนต้องดีเบต กัน ซึ่งบรรยากาศดีกว่านี้เยอะ แต่รัฐธรรมนูญปี 2558 แตกต่างจากปี 2550 คือไม่มีพรรคไหนทุบโต๊ะยอมรับรัฐธรรมนูญ หากยังฝืนไม่แก้ไข เชื่อว่าทั้งพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาธิปัตย์จะไม่รับ แล้วจะทำประชามติไปทำไม ทำไปก็ถูกคว่ำ เพราะ 2 พรรคใหญ่ประกาศไม่รับ การปล่อยให้ประชามติถูกคว่ำเพราะต้องการอยู่ยาว และหากไม่มีการปรับแก้แล้วทำประชามติเลย ทุกคนเห็นตรงกันว่า การยึดอำนาจซ้ำจะเกิดขึ้นอีกในไม่ช้า บ้านเมืองจะวุ่นวายอีก" นายนิพิฏ์ฐ์กล่าว

 

พท.ขอเลือกใช้รธน.ปี"40

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่าตนไม่กังวลว่าการทำประชามติจะทำให้โรดแม็ปรัฐบาลยืดออกไป การเลือกตั้งอาจช้าไป 3-4 เดือน แต่หากได้รัฐธรรมนูญที่ดีขึ้นก็ไม่ติดใจ แต่สงสัยว่าการทำประชามติจะมีทางเลือกที่ชัดเจนให้ประชาชนหรือไม่ หากไม่เสนอทางเลือกจะเป็นการบีบบังคับประชาชน และทางเลือกที่เหมาะสมต้องไม่ใช่การตั้งกมธ.ยกร่างฯและสปช.อีก เพราะที่ผ่านมาล้มเหลว จึงควรมีทางเลือกอื่น ถ้าไม่เอาร่างนี้จะให้ใครมาร่างใหม่หรือไม่ ประชาชนมีส่วนร่วมและจะยอมรับหรือไม่ หรือจะเอารัฐธรรมนูญฉบับไหนมาเป็นทางเลือก ซึ่งพรรคเพื่อไทยยืนยันให้รัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นทางเลือกของประชาชน แต่ตนฉบับไหนก็ได้ระหว่างปี 2540 กับ 2550 

นายพงศ์เทพกล่าวถึงนายวิษณุเสนอให้ตัดสภาต่างๆ ออกจากร่างรัฐธรรมนูญว่า ไม่ทราบว่าครม.และคสช.จะฟังนายวิษณุเพียงใด มองว่าสภาต่างๆ ที่กมธ.ยกร่างฯ สร้างขึ้นนั้นซ้ำซ้อน เปลืองงบประมาณ และขัดแย้งกับการทำงานขององค์กรที่มีอยู่ตามระบบปกติ อีกทั้งไม่ปรากฏกลไกการตรวจสอบองค์กรเหล่านี้ในร่างรัฐธรรมนูญ เป็นองค์กรที่ไม่ยึดโยงประชาชน ยิ่งจะเกิดปัญหา เพราะการไปสร้างองค์กรต่างๆ ให้มีอำนาจมหาศาล แทนที่จะให้คนที่ได้รับมอบหมายจากประชาชนเข้ามาตัดสินใจ คนพวกนี้ไม่ได้มาจากประชาชน จะมาชี้ขาดเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร ยืนยันว่ารัฐธรรมนูญที่ควรเกิดขึ้นต้องเป็นที่เชื่อถือของประชาชน ให้อำนาจอธิปไตยอยู่กับประชาชน 

 

ป.ป.ช.แถลงจุดยืน 9 ข้อ

ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สนามบินน้ำ จ.นนทบุรี นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการและรองโฆษกป.ป.ช. แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการป.ป.ช.ชุดใหญ่ว่า ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ว่า จุดยืนของคณะกรรมการป.ป.ช.คือ 1.องค์กรใดๆ ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐต้องมีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และใช้กระบวนการตรวจสอบที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน 2.คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องมีบท บาทและความรับผิดชอบในภารกิจทั้ง 3 ด้าน คือ การป้องกันการทุจริต การปราบปรามการทุจริต และการตรวจสอบทรัพย์สิน 

3.คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นองค์กรหลักในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต โดยรับผิดชอบและเป็นศูนย์กลางการบูรณาการเพื่อความคุ้มค่าของงบประมาณ ลดความซ้ำซ้อน 4.คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. ควรได้รับการสนับสนุนงบประมาณให้เพียงพอ โดยจัดสรรเป็นวงเงินในรูปแบบร้อยละของวงเงินงบประมาณประจำปี เช่น ไม่น้อยกว่าร้อยละ 0.3 

5.ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังคงมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลคุณธรรมและจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นอกจากนี้ ตามร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 74 วรรค 4 วรรค 5 วรรค 6 และมาตรา 253 ทำให้เกิดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการถอดถอนเพิ่มขึ้นคือ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และสมัชชาคุณธรรมล้วนมีอำนาจในการส่งเรื่องให้รัฐสภาถอดถอนได้ จึงควรกำหนดขอบเขตของแต่ละองค์กรให้ชัดเจน

 

กก.สรรหายึดตามรธน.ปี"50

นายประสาทกล่าวว่า 6.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 274 (7), (8) ให้เป็นการดำเนินการตามพันธกรณีและข้อตกลงระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริต และดำเนินการอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ 7.แก้ไของค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหากรรมการ ป.ป.ช. ตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 261 โดยให้ใช้องค์ประกอบคณะกรรมการสรรหาแบบเดิมที่กำหนดในรัฐธรรมนูญปี 2550 

8.ร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 205 การตรวจสอบนโยบายการคลังและงบประมาณของรัฐ ควรกำหนดให้ชัดเจนเกี่ยวกับอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงและสรุปสำนวนยื่นฟ้องต่อศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณระหว่างคณะกรรมการ ป.ป.ช. และคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (คตง.) 9.ควรตัดบทบัญญัติในมาตรา 255 (3) ของร่างรัฐธรรมนูญออกในเรื่องที่กำหนดให้มีกรรมการสามฝ่าย ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนคณะกรรมการป.ป.ช. ผู้แทนอัยการสูงสุด และผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายอื่น ซึ่งมีจำนวนฝ่ายละเท่ากัน เพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

 

ชี้องค์กรตรวจสอบต้องอิสระ

นายวิชา มหาคุณ กรรมการและโฆษกป.ป.ช.กล่าวว่า การทุจริตถือเป็นปัญหาร้ายแรง สมควรที่ป.ป.ช.จะต้องวางหลักการให้ชัดเจน มีจุดยืนด้านกฎหมายและโครงสร้างขององค์กร สิ่งที่ป.ป.ช.เป็นกังวลคือ องค์กรตรวจสอบที่กำหนดเอาไว้ทั้งที่เป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และทั้งที่ขึ้นตรงต่อฝ่ายบริหาร เพราะเห็นว่าองค์กรใดก็ตามที่รับผิดชอบในการตรวจสอบการใช้อำนาจของรัฐควรเป็นองค์กรอิสระทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) หรือองค์กรใดก็ตาม

"ป.ป.ช.ไม่อยากที่จะให้ยุคต่อๆ ไป หลังจากไม่มีคสช.แล้ว องค์กรใดที่อยู่ภายใต้การบริหารของฝ่ายรัฐจะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะตัวเลขาธิการที่ต้องถูกโยกย้ายอยู่บ่อยๆ ในบางประเทศก็ทำเช่นนี้ เป็นสิ่งที่เราต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่าการตรวจสอบทั้งระบบควรเป็นอิสระ ส่วนจะวางระบบไว้ในกฎหมายลูกอย่างไรเป็นเรื่องที่ต้องดำเนินการโดยสปช. และองค์กรที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมายลูกต่อไป" นายวิชากล่าว

 

จี้กมธ.-สปช.ฉีกใบสมัครคปก.

นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านโลกร้อน ในฐานะผู้สมัครคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) ประเภทเต็มเวลา กล่าวว่าการที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ถอนการสมัครคปก. ไปแล้วถือว่าไม่มีความผิด แต่คนที่เป็นกมธ.ยกร่างฯ ที่เหลืออยู่ได้แก่ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ น.ส.สุภัทรา นาคะผิว และสปช.ได้แก่ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช และพล.อ.จิระ โกมุทพงศ์ หากยังสมัครอยู่และสุดท้ายแล้วได้รับการสรรหาเป็นคปก. ตนจะร้องต่อศาลปกครองว่าคณะกรรมการสรรหาทั้ง 12 คนที่ประกอบด้วยตัวแทนจากข้าราชการ 4 คน นักวิชาการ 4 คน และเอกชน 4 คน ปฏิบัติหน้าที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

นายศรีสุวรรณกล่าวว่า เนื่องจากกมธ. ยกร่างฯและสปช.ที่เป็นผู้สมัครคปก. มีผลประโยชน์ทับซ้อนขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น กมธ.ยกร่างฯมีส่วนโดยตรงที่เขียนร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 282 (3) ที่ให้อำนาจคปก. และตัวเองมีเจตนาไปดำรงตำแหน่ง ขณะที่สปช.ก็มีส่วนเกี่ยวข้องเพราะเป็นผู้เสนอแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญและมีส่วนลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ อีกทั้งยังผิดตามประมวลจริยธรรมอีกด้วย 

 

"บุญเลิศ"ยันไม่ถอนตัว

"หากไม่อยากมีเรื่องเสื่อมเสีย ให้เดินตามแนวทางนายบวรศักดิ์ เนื่องจากการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มอำนาจให้แก่ คปก. เจตนาชัดเจนว่าต้องการสืบทอดอำนาจ รวมทั้งอีกหลายมาตราในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศ ในมาตรา 279 ที่เป็นการสืบอำนาจชัดเจนโดยใช้การปฏิรูปประเทศและประชาชนบังหน้า" นายศรีสุวรรณกล่าว

ด้านนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. ในฐานะผู้สมัครคปก.ไม่เต็มเวลา กล่าวยืนยันว่ายังไม่ถอนตัวจากการสมัครคปก. และไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน เนื่องจากสปช.เป็นองค์กรหนึ่งที่แสดงความเห็น ควบคู่กับครม. คสช. รวมทั้งความเห็นของพรรคการเมืองและประชาชน สุดท้ายขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯจะปฏิบัติตามหรือไม่ หรือการลงมติร่างรัฐ ธรรมนูญในวันที่ 6 ส.ค. สปช.ก็ลงมติในภาพรวมทั้งฉบับ ไม่ได้เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในมาตรา 282 (3)เพียงมาตราเดียว ขณะที่การทำงานของสปช.ที่เกรงว่าจะไปทับซ้อนกับ คปก. หากได้รับเลือกยืนยันว่าตนสมัครแบบไม่เต็มเวลา สามารถจัดสรรเวลาไปทำงานได้ จะนำความรู้และประสบการณ์การเป็นสปช.ไปทำงานในคปก.ให้ดีขึ้น 

 

มท.1ฮึ่มจิ๋วอย่าปลุกกระแส

ที่กระทรวงมหาดไทย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกรณีที่พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ จะเปิดบ้านพักซอยปิ่นประภาคม เพื่อให้ผู้ที่เคารพมาอวยพรวันเกิดในวันที่ 15 พ.ค. รมว.มหาดไทยว่า นายกฯให้ความเห็นไปแล้วและตนก็เห็นด้วยตามนั้น ถ้าเปิดบ้านอวยพรวันเกิดก็ไม่มีใครไปยุ่ง ในข้อกฎหมายนั้นทำได้ แต่คิดว่าการดำเนินการอะไรควรให้เป็นไปตามกฎหมายและตามที่คสช.มีนโยบายหรือแนวทางไว้ ซึ่งการเปิดบ้านเพื่อให้เกิดกระแสนั้น ไม่ว่าใครก็ไม่ควรเกิดขึ้น 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ นายทหารคนสนิทของ พล.อ. ชวลิต ระบุว่า พล.อ.ชวลิต ได้เปิดบ้านอวยพรวันเกิดครบรอบ 85 ปี ในวันที่ 15 พ.ค.ที่บ้านปิ่นประภาคม จ.นนทบุรี ซึ่งหลังจากผู้เข้าอวยพรเสร็จแล้ว พล.อ.ชวลิต จะแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวในเวลา 09.00 น. ในเรื่องความเป็นห่วงคนยากจนในภาคการเกษตร ปัญหาความยากจนที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง ปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น

 

ร้อง"บิ๊กตู่"สอบผู้บริหารสสส.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่ชั้นผู้น้อย ได้ยื่นจดหมายร้องเรียนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) พิจารณาปลดผู้บริหารสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คนหนึ่ง กรณีบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส

ในหนังสือระบุว่าเจ้าหน้าที่และภาคีเครือข่ายที่ร่วมทำงานกับ สสส.ต่างกังขาถึงการบริหารงานของผู้บริหารสสส. นำเงินที่ได้จากภาษีบาปมาใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์องค์กร โดยเฉพาะการอนุมัติโครงการให้แก่มูลนิธินวัตกรรมทางสังคม ไม่ต่ำกว่า 300 ล้านบาทต่อปี เพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ผ่านหน่วยงานลูก โดยแกนนำคนสำคัญของมูลนิธินี้เข้ามารับตำแหน่งโดยการสนับสนุนของผู้บริหาร สสส.คนดังกล่าว และได้เข้ามาปรับเปลี่ยนระบบ จากเดิมเน้นสนับสนุนโครงการ หน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นโครงการขนาดเล็ก แต่เปลี่ยนเป็นการเน้นให้ทุนกับองค์กรเอกชนและพวกพ้องของตนเอง 

นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องความโปร่งใสโดยเฉพาะค่าตอบแทนผู้รับโครงการ ตั้งแต่ผู้จัดการโครงการ เจ้าหน้าที่จนถึงเลขาฯ โครงการ ได้รับค่าตอบแทนสูงเกินจริง อาทิ เจ้าหน้าที่/ที่ปรึกษาโครงการได้ค่าตอบแทน 8 หมื่นบาทต่อเดือนต่อโครงการ ซึ่งหลายรายรับมากกว่า 1 โครงการ จึงเห็นว่าผู้บริหารสสส.คนนี้ กับมูลนิธิดังกล่าว มีวัตถุประสงค์แอบแฝง อาจเข้าข่ายการทุจริตเชิงนโยบาย

 

อ้างใช้งบฟุ่มเฟือย-ไม่โปร่งใส

ผู้บริหารสสส.คนนี้ยังมีพฤติกรรมบริหารงบฯ ฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ที่มีการปรับแก้รูปแบบอาคารหลายครั้ง สิ้นเปลืองงบฯ โดยใช่เหตุกว่า 100 ล้านบาท จนเกิดเป็นคดีความโดยผู้รับเหมาก่อสร้างฟ้องร้องเอาผิดสสส. ล่าสุดมีการทุบรื้อปรับปรุงโรงอาหารและส่วนต้อนรับใหม่ อ้างว่าไม่สวยงาม ทั้งที่ใช้งานไม่ถึง 2 ปี และผู้ที่เข้ามารับทุนในการปรับปรุงดังกล่าวอยู่ภายใต้เครือข่ายมูลนิธินวัตกรรมทางสังคม

ส่วนการบริหารงานภายในสำนักงาน ก็ใช้ระบบและวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่เต็มศักยภาพ ไม่ยึดหลักใช้งบฯ ให้คุ้มค่า สั่งเปลี่ยนใหม่เพื่อความพึงพอใจของผู้บริหารสสส.คนนี้ นอกจากนี้ยังพบว่ามีพฤติกรรมบริหารไม่โปร่งใส ไร้ประสิทธิภาพ ไร้ภาวะผู้นำและขาดธรรมาภิบาล กลั่นแกล้งเจ้าหน้าที่ที่เห็นต่าง จนมีเจ้าหน้าที่และลูกจ้างลาออกทุกเดือน รวมมากกว่า 50 คนเพราะรับไม่ได้กับนโยบายและรูปแบบการบริหารของผู้บริหารคนนี้

ในจดหมายระบุว่า จึงขอให้นายกฯ เร่งตรวจสอบการดำเนินงานของ สสส.โดยเร็ว ซึ่งมีหลายกรณีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และขอให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผู้บริหารสสส.คนนี้ด้วย พร้อมปลดออกจากตำแหน่ง ฐานบริหารงานไม่มีประสิทธิภาพ ขาดความโปร่งใส

 

"กฤษดา"แปลกใจ-พร้อมชี้แจง

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านสังคม กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า เรื่องนี้ไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ได้โทรศัพท์สอบถามทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการกองทุนสสส. ซึ่งยังแปลกใจ ไม่เคยได้ยินเรื่องดังกล่าวและยังไม่เห็นต้นเรื่องที่ร้องเรียนว่าเกี่ยวข้องกับเรื่องใด แต่ระบุว่าจะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

ทพ.กฤษดา ให้สัมภาษณ์ว่า ตามระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ร้องเรียนต้องมีตัวตนที่ชัดเจน มิเช่นนั้นจะเหมือนเป็นการกลั่นแกล้งกันภายใน อย่างไรก็ตาม หากไม่เข้าใจและสงสัยในการทำงานของ สสส. สามารถสอบถามได้ ยินดีชี้แจงในทุกประเด็น 

เมื่อถามถึงการใช้งบประมาณด้านการผลิตสื่อซึ่งมีข้อทักท้วงจากสตง.ว่าไม่มีการติดตามและไม่มีประสิทธิภาพ ทพ.กฤษดา กล่าวว่า สสส.มีการแบ่งงบประมาณต่างๆ อย่างชัดเจน โดยงบด้านการผลิตสื่อใช้เพียงประมาณ 200 ล้านบาทจากงบกองทุน 3,000 กว่า ซึ่งถือว่าน้อยกว่างบสื่อของหน่วยงานรัฐหลายๆ หน่วยงาน

 

เผยมีคดีฟ้องในศาลปกครอง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการตรวจสอบมีคดีที่ฟ้องร้อง สสส. และผู้บริหารคนหนึ่ง ที่อยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง 2 คดี ซึ่งฟ้องตั้งแต่ปี 2555 ได้แก่ คดีที่บริษัท เอ.เอส.เอ.การช่าง จำกัด ฟ้องว่าสสส.กับพวกรวม 2 คน ได้สัญญาก่อสร้างงานระบบและอุปกรณ์ประกอบอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. เนื่องจากไม่ชำระค่าจ้างงวดที่ 7 8 และ 9 ให้บริษัท เอ.เอส.เอ.ฯ แม้บริษัทดังกล่าวได้บอกเลิกสัญญาและเรียกให้ชำระค่าก่อสร้างแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดียังคงเพิกเฉย เป็นเหตุให้บริษัทได้รับความเสียหาย จึงขอให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระค่าก่อสร้างดังกล่าว รวมทั้งค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่บริษัท

สำหรับอีกคดี เป็นกรณี น.ส.ภัคชุดา วสุวัต ฟ้อง สสส.กับพวกรวม 2 คน จากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้มีหนังสือที่ สสส.ฝ.1/2555 ลว. 29 ก.พ.2555 ที่มีคำสั่งเลิกจ้าง น.ส.ภัคชุดา โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีกล่าวหาว่า น.ส.ภัคชุดา กระทำผิดในการปลอมแปลงเอกสารยืมเงินทดรองจ่ายของ ผอ.สำนัก 7 และผอ.ศูนย์เรียนรู้ อันเป็นความประมาทเลินเล่อร้ายแรงตามข้อ 5 ของสัญญาจ้างดังกล่าว โดยน.ส.ภัคชุดา ได้อุทธรณ์คำสั่งเลิกจ้างแล้ว และได้รับแจ้งว่าไม่รับอุทธรณ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ น.ส.ภัคชุดาได้รับความเสียหาย จึงขอให้ศาลปกครอง สั่งให้ผู้ถูกฟ้องคดีชำระเงินค่าผิดสัญญาจ้าง และค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยให้แก่ น.ส.ภัคชุดา อย่างไรก็ตาม ทั้ง 2 คดีนี้ยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง โดยยังไม่มีคำพิพากษาหรือ คำสั่งใดๆ

 

ป.ป.ช.ตั้งอนุไต่สวนเงิน"ช.พ.ค." 

เมื่อวันที่ 14 พ.ค. ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) นายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ในฐานะโฆษกป.ป.ช. แถลงภายหลังประชุมป.ป.ช.ถึงผลการพิจารณากรณีกล่าวหานายสมศักดิ์ ตาไชย เมื่อครั้งดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กับพวก อนุมัติให้นำเงินของกองทุนสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการเงินกู้ฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา ไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท และ 400 ล้านบาท โดยไม่ชอบว่า ที่ประชุมเห็นว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษและส่งเสริมความมั่นคงตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ซึ่งมีอำนาจอนุมัติเงินกองทุนฯนั้น มีมติอนุมัติให้ซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน 2,100 ล้านบาท จากบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ด กรุ๊ป จำกัด โดยไม่ชอบ เนื่องจากภายหลังมีมติอนุมัติ ก็มีการโอนเงินไปยังบัญชีของบริษัท บิลเลี่ยนฯ ไปก่อนที่จะตรวจสอบการอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงิน ซึ่งเป็นเงื่อนไขหนึ่งการซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินว่าได้ดำเนินการเรียบร้อยแล้วหรือไม่ ซึ่งมีลักษณะเร่งรีบจนผิดปกติ อาศัยอำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัท บิลเลี่ยนฯ เข้าข่ายปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต

นายวิชากล่าวว่า ป.ป.ช.มีมติตั้งอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีดังกล่าว โดยมอบตน เป็นประธานอนุไต่สวน นายปรีชา เลิศกมลมาศ และน.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญด้านกำกับดูแลสถาบันการเงิน เป็นอนุกรรมการ โดยจะตรวจสอบเส้นทางการเงินเป็นหลัก เพราะไม่ทราบว่าเงินในส่วนต่างๆ แม้แต่สกุลเงินโครเอเชีย 950 ล้านนั้นหายไปไหน และต้องรีบดำเนินการ เนื่องจากเรื่องนี้ทำให้ข้าราชการครูเดือดร้อนมาก ส่วนที่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับสกสค.นั้น พบว่ายังมีอีกหลายเรื่องหลายประเด็นที่จะต้องถูกตรวจสอบต่อไป 

 

ศาลยกฟ้อง"จุติ"หมิ่นเมียเลี้ยบ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 14 พ.ค. ที่ห้องพิจารณา 808 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีหมายเลขดำ อ.1691/2546 ที่บริษัท บอดี้เชพ จำกัด โดยนางปราณี สืบวงศ์ลี ภรรยานพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกฯ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายจุติ ไกรฤกษ์ อดีตรมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาว่า นพ.สุรพงษ์ ออกกฎหมายเอื้ออำนวยให้โจทก์ซึ่งเปิดสถานบริการอาบอบนวดไม่ต้องเสียภาษี ทั้งที่ทำธุรกิจสถานเสริมความงามและขายอุปกรณ์ลดน้ำหนักอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งคดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 เดือน ปรับ 10,000 บาท รอลงอาญา 1 ปี ต่อมาจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยื่นฎีกาขอให้ศาลยกฟ้อง

ศาลฎีกาตรวจสำนวนปรึกษาหารือแล้วเห็นว่า บริษัทที่จำเลยยกเป็นตัวอย่างอภิปรายนั้น ทั้งชื่อบริษัท ชื่อกรรมการบริษัท และหมายเลขจดทะเบียนบริษัท คล้ายกับบริษัทบอดี้เชพฯ ของโจทก์ แต่จำเลยไม่ได้ระบุตัวเลขจดทะเบียนให้ครบถ้วน อีกทั้งตามกฎหมายคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กำหนดให้คู่สมรสของรัฐมนตรีแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินด้วย ซึ่งในบัญชีทรัพย์สินระบุว่านางปราณี เป็นหนึ่งในกรรมการบริษัทดังกล่าว จำเลยได้อภิปรายให้ผู้ฟังเข้าใจได้ว่า นพ.สุรพงษ์ ผลักดันกรมสรรพสามิตให้ออกประกาศงดเว้นการจัดเก็บภาษีจากกิจการอาบอบนวดเพื่อสุขภาพของโจทก์

เมื่อพิจารณาเนื้อหาสาระในถ้อยคำอภิปรายของจำเลยแล้วเห็นว่า บริษัทของโจทก์ไม่ได้ประกอบกิจการสถานบริการอาบอบนวดตามประเภท 1 ที่ส่อในการทางค้าประเวณี ที่ต้องเสียภาษี ดังนั้นถ้อยคำอภิปรายของจำเลย จึงไม่ครบองค์ประกอบในการกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามมาตรา 326 จึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาอื่นอีก ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายืนให้ลงโทษจำคุกนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย พิพากษากลับยกฟ้องจำเลย

 

'บิ๊กจิ๋ว' เปิดบ้านวันเกิด พร้อมเป็นนายกฯ อยากเห็นชาติสงบ

โดย ไทยรัฐออนไลน์ 15 พ.ค. 2558 08:55

      "พ่อใหญ่จิ๋ว" เปิดบ้านย่านนนท์ รับอวยพรวันเกิดครบ 85 สื่อเฝ้าทำข่าวปกติ ไร้เงาจนท. สังเกตการณ์ ฝากให้กำลังใจ บิ๊กตู่ ทำงาน ชี้เขียน รธน.อย่างไรก็ฉีกอยู่ดี พร้อมเป็นนายกฯ หากมีโอกาส อยากเห็นประเทศสงบ...

      เมื่อเช้าวันที่ 15 พ.ค. 58 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีตประธานที่ปรึกษาพรรคเพื่อไทย เปิดบ้านในซอยปิ่นประภาคม ต.ตลาดขวัญ อ.เมือง จ.นนทบุรี จ.นนทบุรี เนื่องในวันคล้ายวันเกิด อายุครบ 85 ปี และมีคุณหญิงพันธุ์เครือ ยงใจยุทธ ภรรยา ร่วมให้การต้อนรับแขกที่เข้าอวยพร ซึ่งในโอกาสนี้ พล.อ.ชวลิต จะแถลงข่าวปัญหาความยากจนของเกษตรกรที่รัฐบาลยังไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ท่ามกลางสื่อมวลชนที่มาเฝ้าติดตามทำข่าว แม้ว่าก่อนหน้านี้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ห้ามสื่อมวลชนไปทำข่าว หวั่นเป็นประเด็นสร้างความขัดแย้ง โดยบรรยากาศหน้าบ้านไม่พบเจ้าหน้าที่ มาเฝ้าสังเกตการณ์แต่อย่างใด

    ทั้งนี้ พล.อ.ชวลิต ได้กล่าวให้กำลังใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในการทำงานแก้ปัญหาบ้านเมือง ซึ่งไม่ขอแนะนำใดๆ เพราะใจถึงกันอยู่แล้ว ส่วนการลงพื้นที่เดินสายพบชาวนาในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ยืนยันไม่มีนัยการเมือง แต่ต้องการช่วยประชาชนที่เดือดร้อน ซึ่งที่ผ่านมาลงหลายพื้นที่ แต่คนไม่สนใจเอง

    พร้อมกล่าวถึงการจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ไม่ต้องห่วงเพราะไม่ว่าทำประชามติ หรือเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรก็ต้องฉีกอีกอยู่ดี ส่วนทหารไทยจะมีการตั้งพรรคการเมืองหรือไม่ หลังรัฐธรรมนูญเสร็จ ไม่ต้องห่วง ไม่มีการตั้งพรรคแน่ ทั้งนี้ พร้อมเป็นนายกรัฐมนตรีหากมีโอกาส แต่ ณ วันนี้ อยู่ไหนก็ทำเพื่อบ้านเมืองได้ โดยโอกาสวันเกิดอายุครบ 85 ปี อยากเห็นประเทศสงบ.