Payut

'ประวิตร'โวยลั่น บิ๊กจิ๋วนัด เปิดบ้านแถลงวันเกิด จับตาแม้วขึ้นพูดที่เกาหลี สปช.ชูประชามติอีกสูตร ยืดอายุแม่น้ำ 4 สาย 2 ปี สนช.ถกลับชำแหละรธน. มติครม.ย้าย'อารีพงศ์'

       'บิ๊กจิ๋ว'นัดเปิดบ้านปิ่นประภาคม วันเกิด 85 ปี 15 พ.ค.นี้ พร้อมแถลงแนวทางแก้ปัญหายากจน-สร้างสันติสุขภาคใต้'บิ๊กป้อม'โวยจะแถลงทำไม ปรามสื่อไม่ไปทำข่าวก็หมดเรื่อง เตือน'แม้ว'ขึ้นเวทีสัมมนาผู้นำเอเชียที่เกาหลีใต้ อย่าพูดให้ไทยเสียหาย 'บิ๊กตู่' บอกอย่าหลับหูหลับตาฟัง มติ ครม.โยก 'อารีพงศ์'พ้นปลัดพลังงาน คัมแบ๊กเก้าอี้เลขาฯ ก.พ.ร. 'คุรุจิต-ธรรมยศ' ลุ้นเสียบแทน 'ไพบูลย์ นิติตะวัน'แถลงดันประชามติสูตรใหม่ ชงต่ออายุ คสช.-ครม.-สนช.-สปช.อีก 2 ปี วิจารณ์แซด 'บวรศักดิ์' สมาชิก สปช.ดอดสมัคร กก.ปฏิรูปกฎหมาย เขียน รธน.เอื้อประโยชน์ตัวเอง 

นายกฯรับปากลงเยี่ยมชาวบุรีรัมย์
       เวลา 09.00 น. วันที่ 12 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) 
      ก่อนประชุม นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ นำคณะผู้บริหารกรมหม่อนไหมและเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมประจำปี 2558 จากต.บ้านยาง อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เข้าพบ นายกฯ มอบผ้าไหมผ้าซิ่นตีนแดง 2 ผืน และขอบคุณรัฐบาลที่เล็งเห็นการอนุรักษ์ภูมิ ปัญญาท้องถิ่นและสืบสานวัฒนธรรมไทยด้วยการสวมใส่ผ้าไหมไทย และจะยื่นเสนอต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา ขอขึ้นทะเบียนผ้าไหมมัดหมี่ซิ่นตีนแดง 
      นายกฯ ให้คำแนะนำถึงการเพิ่มมูลค่าสินค้าแล้วกล่าวด้วยว่า มีบางคนคอยแต่พูดโจมตีอยู่ได้ว่ารัฐบาลชุดนี้เข้ามาแล้วทำให้ประชาชนยากจน โดยเฉพาะนายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย เสื้อแดงเก่า พูดตลอดเวลาว่ารัฐประหารทำให้ชาวบ้านยากจนกว่าเดิม ไม่จริง เราเข้ามาทำให้ประชาชนมั่นคง ช่วยเหลือตัวเองได้ ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แล้วใครมาบอกชาวบ้านจน ไอ้นี่แหละที่ทำให้ชาวบ้านจนลงจริง ให้เงินสนับสนุนอย่างเดียวแต่ไม่ทำอะไรให้เกิดความยั่งยืน ส่วนข่าวที่บอกตนบังคับให้สวมผ้าไทยทุกวันศุกร์นั้น ไม่เป็นความจริง ตนไปบังคับใครไม่ได้ เป็นเพียงการรณรงค์ ขนาดตนอยู่บ้านยังใส่นอนเลย
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฯ รับปากกับเกษตรกรชาวบุรีรัมย์ที่มาว่า หากมีโอกาสจะลงพื้นที่ไปเยี่ยมเยียน

ปฏิเสธญาติพฤษภา 35 ร่วม 23 ปี
        เวลา 10.30 น. ศูนย์บริการประชาชน สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) คณะกรรมการญาติวีรชนพฤษภา 35 นำโดยนายอดุลย์ เขียวบริบูรณ์ ประธานคณะกรรมการยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ เพื่อเชิญร่วมงาน 23 ปี พฤษภาประชาธรรม เนื่องในวาระครบรอบ 23 ปีเหตุการณ์ ซึ่งวันที่ 17 พ.ค.ทุกปี รัฐบาลกำหนดให้เป็นวัน "พฤษภาคม ประชาธรรม" เพื่อรำลึกเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ 2535 และปีนี้ครบรอบ 23 ปี คณะกรรมการจะทำพิธีบรรจุอัฐิวีรชนเดือนพฤษภาคม 35 ที่อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม จึงขอเชิญชวนนายกฯ เข้าร่วมพิธีเป็นผู้ทอดผ้ามหาบังสุกุลแด่พระสงฆ์ เพื่ออุทิศบุญกุศลให้แก่วิญญาณของผู้ล่วงลับและร่วมเสริมสร้างความเป็นมงคล เพราะนายกฯ ถือเป็นตัวแทนผู้นำที่มาสร้างความปรองดองและหลอมรวมหัวใจทุกฝ่ายให้เป็นหนึ่งเดียว เพื่อร่วมกันนำพาประเทศเดินไปข้างหน้าด้วยกัน 
     เวลา 13.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม. กรณีญาติวีรชนเชิญร่วมงานรำลึกพฤษภา 35 ว่า ตนไม่ใช่นักการเมือง คงไม่ไป แต่มีตัวแทนรัฐบาลไปร่วมงานอยู่แล้ว สื่อก็รู้ดี อยากให้ตนไปร่วมงาน จะให้เขาตีหัวหรืออย่างไร มันคนละเรื่อง รัฐบาลไปร่วมทุกงานไม่ว่าฝ่ายไหน แต่ต้องจัดคนที่เหมาะสมไป รัฐมนตรีหรือปลัดกระทรวง ไม่ใช่ต้องให้ นายกฯไปทุกงาน จะไปไหวอย่างไร




รับผ้าไหม - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ต้อนรับเกษตรกรดีเด่นสาขาอาชีพการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ปี 2558 จ.บุรีรัมย์ ที่เข้าพบเพื่อมอบผ้าไหมผ้าซิ่นตีนแดงหัตถกรรมพื้นบ้าน ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 พ.ค.

วันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8932 ข่าวสดรายวัน

 


โรดแม็ปอยู่ที่รธน.ผ่านหรือไม่ 
      เมื่อถามว่า มีแนวคิดจะลงพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อพบปะประชาชน และรับฟังปัญหาบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คิดทุกวัน แต่ไม่รู้จะไปได้เมื่อไรเพราะงานมีทุกวัน หากจะลงไปก็ต้องประชุม พบประชาชน 77 จังหวัดเชิญตนให้ไปทุกจังหวัด พยายามจะไป ทุกกระทรวง รองนายกฯและคณะกรรมการขับเคลื่อนชุดของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ก็ลงไปตรวจงานตามนโยบายที่ตนสั่งการไป เหลือตนคนเดียวที่ต้องลงไปเพื่อให้เกิดความมั่นใจ ประชาชนเชื่อมั่น ต้องไปดูเรื่องงบประมาณและน้ำ ดูระดับความสำคัญ ซึ่งมีการเตรียมแผนในเดือนหน้า อยู่แล้ว
      เมื่อถามถึงนักการเมืองและนานาประเทศนำโรดแม็ปมาขีดเส้นเวลาทำงานของคสช.และรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้มีแม่น้ำ 4 สาย ต้นแม่น้ำคือ คสช. ซึ่งอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อส่งให้กมธ.ยกร่างฯแก้ไข โดยคสช.และครม.จะปรึกษาร่วมกันและส่งข้อเสนอแนะในนาม ครม.ในฐานะต้นน้ำ โรดแม็ปที่วางไว้ไม่ใช่ของตนแต่เป็นโรดแม็ปของรัฐธรรมนูญ การดำเนินการต่างๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นโรดแม็ปของรัฐบาล คสช. คือรัฐธรรมนูญชั่วคราว ยืนยันว่าโรดแม็ปไม่ได้กดดันการทำงานของตัวเองและใครก็กดดันตนไม่ได้ การจะอยู่หรือไปไม่ได้อยู่ที่ตนแต่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ
       เมื่อถามว่า สุดทางของโรดแม็ปของนายกฯอยู่ที่จุดไหน พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า อยู่ที่รัฐธรรมนูญจะออกมาได้หรือไม่ได้ ออกไม่ได้ก็ร่างใหม่ เมื่อถามว่าต้องส่งไม้ต่อให้นักการเมือง ถ้าบ้านเมืองยังขัดแย้งอยู่จะส่งไม้ต่อหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ช่วยไม่ได้ ตัวโรดแม็ปคือ ถ้ารัฐธรรมนูญผ่านได้ก็ต้องว่ากันอีกที พิจารณาว่าจะต้องทำประชามติ หรือไม่ แต่หากตนพูดไปจะกลายเป็นว่าตนอยากอยู่ต่อ 3 เดือน 6 เดือน ซึ่งเป็นเรื่องของกระบวนการ อยากไล่กันนักหรืออย่างไรถามอยู่ได้ว่าเมื่อไรจะไป 

ประเมินสถานการณ์โค้งข้างหน้า
      เมื่อถามว่านายกฯจะไปตามเสียงเชียร์หรือไม่ หากบ้านเมืองยังไม่สงบ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า บ้านเมืองจะสงบหรือไม่ ไม่ใช่ตนตัดสิน หากเห็นว่าวันนี้ยังมีความขัดแย้งอยู่ ต้องไปบอกคนที่ทำว่าถ้าอยากมีเลือกตั้งก็อย่าทำ ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ ถ้าผ่านก็ต้องดูว่าได้รับการยอมรับจากต่างประเทศหรือไม่ ผ่านแล้วจะเกิดข้อขัดแย้งอีกหรือไม่ ใครจะเข้ามารับการเลือกตั้ง และเลือกตั้งแล้วจะบริหารกันอย่างไร จะรักษาความต่อเนื่องในการทำงานปฏิรูปหรือไม่
     เมื่อถามว่า หมายความว่านายกฯต้องการให้ประชาชนส่งเสียงดังๆ ว่าหากรัฐธรรมนูญจบแล้วควรจัดการเลือกตั้งเลยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ใช่ ต้องไปทีละขั้น ไม่รู้ว่ารัฐธรรมนูญจะผ่านหรือไม่ เมื่อถามว่าประเมินสถานการณ์ในวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า วันนี้ทำงานตามโรดแม็ป หากยังไม่ถึงแยกนั้นเราต้องระวังตัว ขับไปอย่างระมัดระวัง มันมีหลายคนเกี่ยวข้อง แต่ทั้งหมดอย่าขับมาชนกัน พอชนกันก็ปิดถนน
      เมื่อถามว่าประเมินหรือยังโค้งข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า คิดแล้ว เป็นทหาร เมื่อถามว่าคิดดังๆ หน่อย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่ แต่คิดไว้แล้ว ถ้าคิดดังๆ กับคิดกะปู้ คนละเรื่อง

ยันไม่มีปฏิวัติซ้อน
      เมื่อถามว่า ปิดถนนในความหมายของ นายกฯคืออะไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ปิดถนน หยุด ในความหมายคือรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้แล้วก็ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ใครจะมาปฏิวัติให้อีก ไม่มีแล้ว ตนพยายามพูดแล้ว รัฐธรรมนูญออกได้หรือไม่แค่นั้น
      เมื่อถามว่ามั่นใจว่าสิ่งที่ทำมาจะไม่เสียของ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่เสียของเวลาผมอยู่ แต่ถ้าไม่อยู่ก็ไม่มั่นใจ เพราะท่านเลือกของท่านมา ผมไม่ได้มีอำนาจกับเขา ต้องไปหาว่าถ้าเลือกตั้งแล้วจะมีมาตรการใดๆ ให้นักการเมืองใหม่หรือผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเข้ามาแล้วทำสิ่งที่ผมทำ" ไม่ต้องถึง 100 เปอร์เซ็นต์ วันนี้วางมาตรฐานไว้เกินหน้านั้นแต่ต้องเดินตาม สเต็ป ถ้าอยากให้คนที่เข้ามาบริหารเดินหน้าต่อในสิ่งที่ตนทำไว้ ก็ต้องหากลไกให้มีใครสักคนหรือคณะอะไรสักอย่างให้เขาปฏิรูปให้ได้ เข้าใจหรือไม่ และไม่ต้องเอาตนเข้าไปเกี่ยวข้อง ไม่อยากยุ่ง"

เริ่มฉุนโดนซักปมกำนัน-ผญบ. 
      เมื่อถามว่าสหพันธ์ปลัดอำเภอฯและสมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านฯ เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 285 เพราะเกรงจะทำให้ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาค พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ทราบแล้ว และได้ถามกระทรวงมหาดไทยแล้วบอกว่ามีการยื่นข้อไม่เห็นด้วยก็ว่าไป ตนบอกแล้วว่าวันนี้รัฐธรรมนูญยังไม่ผ่าน ข้างในสมาชิก สปช.ก็ยังไม่ได้ผ่าน ต้องดูทีละเปลาะก่อน
     เมื่อถามว่า จะให้คำมั่นกับกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน ตามคำเรียกร้องได้หรือไม่ พล.อ.ประ ยุทธ์กล่าวว่า มันอยู่ในรัฐธรรมนูญ ถ้าในรัฐธรรมนูญไม่มีก็ไม่มี ยังไม่จบจะตีกันทำไม ตอนนี้เป็นเพียงข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และการปฏิรูปจะเกิดในรัฐบาลหน้า หากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านก็ไม่มีผล เข้าใจหรือไม่ กระทรวงมหาดไทยต้องรวบรวมความเห็นทั้ง อบต.และอบจ. แต่ละกระทรวงจะมีข้อพิจารณาส่งไปว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องแก้ไขตรงไหนบ้าง ถ้าจะต้องร่างใหม่ก็ร่างใหม่ 
    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า กำนันผู้ใหญ่บ้านไม่ต้องกังวล ไม่มีใครอยากให้คนเดือดร้อน เมื่อถามว่าอาจจะกังวลในเรื่องนี้ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวเสียงดังทันทีว่า บอกแล้วยัง ไม่เกิด จะเอาอะไรอีก ให้ตนสัญญา ตนไม่อยู่แล้วมันเกิดในวันหน้าจะให้ทำอย่างไร วันนี้ยังไม่เกิดอะไรทั้งสิ้น 
      ผู้สื่อข่าวรายงานว่าระหว่างตอบคำถามเรื่องกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน นายกฯเริ่มตอบด้วยน้ำเสียงฉุนเฉียวเล็กน้อย ซึ่งนักข่าวพยายามเบอกว่าใจเย็นๆ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็มาถามแบบนี้ ถามเร่งเครื่องกันอยู่ได้ ก่อนจะปรับอารมณ์ให้เป็นปกติ

แม้วพูดเกาหลีมีทั้งดีไม่ดี 
      เมื่อถึงกรณีพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีต นายกฯ ได้รับเชิญไปปาฐกถาพิเศษวันที่ 19 พ.ค.นี้ว่า คงมีคนไปฟังเยอะ ทั้งโลกจะรู้เองว่าพูดจริงหรือไม่จริง คงไม่มีใครหลับหูหลับ ตาฟัง แล้วบอกว่าดี คงต้องมีทั้งดีและไม่ดี ตนพูดยังไม่มีคนฟังเลย เมื่อพ.ต.ท.ทักษิณไปพูด คนต้องมองว่าถูกหรือไม่ถูก วันนี้สังคมมัน พูดได้
      เมื่อถามว่า มีนัยยะทางการเมืองหรือไม่ เพราะตรงกับวันที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ต้องขึ้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ทำไมทางโน้นจะบังคับไม่ให้ตนเอาเข้ากระบวนการยุติธรรมหรือ อยากทำก็ ทำไป
     เมื่อถามว่า จะกลายเป็นนำนานาประเทศมากดดันประเทศไทยหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า ไปยอมเขาทำไม คนไทยจะยอมเขาหรือเปล่า ทำไมต้องโยนให้ตนทุกเรื่อง คุณจะยอมให้มากำหนดชีวิตและประเทศชาติได้หรือ ถ้ายอมไม่ได้ก็จบ ทุกวันนี้ตนก็ทำให้เขายอมรับตนอยู่แล้ว ทุกประเทศที่เข้ามาก็พูดคุยกับตน ดีทุกคน ลงทุนไม่รู้จะเท่าไร มากกว่ารัฐบาลชุดที่แล้วทำอีก ชัดเจนกว่าและไว้วางใจมากกว่า

จี้ให้ดูใครอยู่เบื้องหลังทักษิณ
      ส่วนที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่าพ.ต.ท. ทักษิณยังเคลื่อนไหวในประเทศต่างๆ ได้ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นเรื่องทางการเมือง อยากให้ไปดูว่าการเคลื่อนไหวนั้นมีคนทำให้หรือไม่ และอยากรู้ว่าใครทำก็ต้องไปถามเขา ทุกคนรู้แต่ยังมาถามตนเรื่อยเปื่อย คนที่เชิญไปพูดครั้งนี้คือสมาคมนักข่าวเกาหลีใต้ อะไรที่เป็นปัญหาทุกประเทศก็เชิญคนเหล่านี้ไปพูด แล้วเรียกว่าเสรีภาพ เขาพูดได้ก็พูดไป แต่ตนทำบ้างจะมีคนเชื่อหรือไม่ ถ้าทุกคนเชื่อตามนั้นหมด เขาคงไม่มาหาตน ทุกวันนี้มาตั้งกี่ประเทศแล้ว ร่วมมือกันตั้งหลายอย่าง


คุมร.พ. - เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ เดินทางมายื่นรายชื่อประชาชน จำนวน 33,000 ชื่อ ต่อนพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข ขอให้ผลักดันให้ตั้งกรรมการคุมราคารักษาพยาบาล ราคายา และค่าบริการทางการแพทย์ให้มีราคาและค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมเป็นธรรม ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 12 พ.ค.


       เมื่อถามว่าไม่ได้กังวลใช่หรือไม่ นายกฯกล่าวว่า กังวลอนาคตว่าประเทศจะอยู่กันอย่างไร แต่ตนอยู่เพื่อทำให้หายกังวล ถ้าตนไปแล้วมันเรียบร้อยก็ไม่เป็นไร ถ้าเดือดร้อนก็เป็นเรื่องของทุกคนรับกรรมไป ประเทศไทยรับกรรมไป ทุกคนอยากมีประชาธิปไตย อยากมีเสรีภาพ อยากทำได้หมดทุกอย่าง อยากกระจายอำนาจ

      พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวถึงรอยแผลบริเวณขมับด้านซ้าย ว่า ไปทำเลเซอร์มา เนื่องจากเป็นกระ และมีคนแนะนำว่าควรไปเอาออก ตนก็ตามใจ ความจริงไม่ค่อยสนใจตัวเอง เมื่อถามว่าช่วงที่ยิงเลเซอร์เจ็บหรือเปล่า นายกฯกล่าวว่า "ถ้าบอกไม่เจ็บก็คงไม่ใช่ แต่ถ้าบอกเจ็บก็คงไม่ใช่ทหาร เพราะท.ทหารต้องอดทน ถือเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนต้องไปทำเมื่ออายุถึงวัย ถ้าปล่อยไว้กระดังกล่าวในวันข้างหน้าจะโตขึ้นเลยไปเลเซอร์ออกก่อน ไม่ได้หวังว่าจะหล่อ เพราะความหล่อก็อยู่เท่าเดิม ผมให้หมอทหารเป็นคนทำเพราะไม่เคยไปหาหมออื่น"

ประวิตรฮึ่มอย่าให้กระทบไทย

    ที่อาคารรับรองเกษะโกมล พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพ.ต.ท.ทักษิณจะปาฐกถาด้านเศรษฐกิจที่เกาหลีใต้ว่า จะพูดอะไรก็พูดไป แต่อย่าให้กระทบกระเทือนประเทศไทย คงรู้หน้าที่อยู่แล้ว จะพูดในเวทีระดับโลกก็ว่ากันไปแต่อย่ามาเกี่ยวข้องกับไทย เพราะเป็นเรื่องส่วนรวมและประเทศ จึงไม่ควรพูดถึง พ.ต.ท.ทักษิณ เคยเป็นหัวหน้ารัฐบาลมาแล้วควรรู้ว่าจะทำอย่างไรและรัฐบาลนี้ทำอะไรอยู่ เป็นผู้ใหญ่แล้ว ตนคงไม่ต้องบอก อะไรที่เสียหายต่อประเทศก็ไม่ควรพูด ไม่จำเป็นต้องไปขอร้องเพราะน่ารู้ดีว่าควรทำอย่างไร

    พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงการประชุมร่วม คสช.และครม.เพื่อหารือเรื่องร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 19 พ.ค.นี้ว่า ตนยังไม่เห็นร่างรัฐธรรมนูญ จะแก้ไขบางมาตราหรือไม่นั้นยังไม่ทราบ เรื่องนี้มีนายวิษณุ เครืองาม รอง นายกฯเป็นผู้ดูแล ส่วนที่ปลัดอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศเรียกร้องให้ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 (3) มาตรา284 (5) และมาตรา 285 พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ขอให้ใจเย็นๆ เพราะยังไม่ถึงตรงนั้น เมื่อถามว่าจะมีการปรามหรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ไม่ต้องปราม เพราะรมว.มหาดไทยต้องรับเรื่องร้องเรียนมาและนำมาวิเคราะห์ รายงานให้ครม.รับทราบ แต่รมว.มหาดไทยไม่มีอำนาจแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของกมธ. ยกร่างฯ ซึ่งจะแก้ไขหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับกมธ.ยกร่างฯ

 

ถาม"บิ๊กจิ๋ว"แถลงข่าวทำไม

     พล.อ.ประวิตรกล่าวถึงพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ เตรียมเปิดบ้านปิ่นประภาคม ให้คนสนิทและผู้รู้จักเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิดล่วงหน้า รวมถึงจะแถลงข่าวในวันที่ 15 พ.ค.นี้ว่า สื่อก็อย่าไปเท่านี้ก็หมดเรื่อง ไปทำไมก็รู้อยู่ และจะแถลงข่าวทำไมเพราะบ้านเมืองยังทำงานอยู่ พล.อ.ชวลิต เปิดบ้านให้อวยพรวันเกิดไม่มีใครว่าแต่ผู้สื่อข่าวไม่ต้องไป อย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ ถ้าทำเรื่องเล็กๆ ให้เป็นเรื่องใหญ่ ต่อไปเรื่องใหญ่จะไม่มี จำไว้

"บิ๊กจิ๋ว"เปิดบ้านครบ 85 ปี

      พล.ท.พิรัช สวามิวัศดุ์ นายทหารคนสนิทของ พล.อ.ชวลิต เผยว่า พล.อ.ชวลิต จะเปิดบ้านในโอกาสวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 85 ปี ในวันที่ 15 พ.ค.นี้ที่บ้านปิ่นประภาคม หลังจากมีผู้เข้าอวยพรแล้ว พล.อ.ชวลิตจะแถลงข่าวกับผู้สื่อข่าวในเวลา 09.00 น.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ประเด็นที่พล.อ.ชวลิต จะแถลงข่าวคือความเป็นห่วงคนยากจนในภาคการเกษตรที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการลดพื้นที่ปลูกพืช เช่น ยางพารา ซึ่งได้รับความเดือดร้อนเป็นอย่างมาก รวมไปถึงปัญหาความยากจนที่ไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้าง นอกจากนั้น คือปัญหาในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเสนอแนวทางการสร้างสันติสุขในพื้นที่อย่างยั่งยืน

องค์กรอิสระหารือแก้รธน.

      รายงานข่าวแจ้งว่า ช่วงบ่ายวันที่ 12 พ.ค. นายนุรักษ์ มาประณีต ประธานศาลรัฐธรรมนูญ นัดหารือกับประธานองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และนางอมรา พงศาพิชญ์ ประธานคณะกรรมการสิทธิ มนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ใช้เวลาหารือประมาณ 1 ชั่วโมง

     มีการพูดคุยถึงเนื้อหาสาระสำคัญในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระและองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะประเด็นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อองค์กร จากนี้แต่ละหน่วยงานจะรวบรวมรายละเอียดเสนอรัฐบาลผ่านเลขาธิการครม. วันที่ 14 พ.ค.นี้ เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการจัดทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนที่รัฐบาลจะส่งคำขอแก้ไขเป็นลายลักษณ์อักษรให้กมธ.ยกร่างฯพิจารณา

     นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เผยว่า ที่ประชุมหารือถึงความเห็นร่วมขององค์กรตามรัฐธรรมนูญต่างๆ เพื่อนำไปรวมกับข้อเสนอของแต่ละองค์กรที่จะเสนอรัฐบาล โดยเห็นร่วมกันว่าคณะกรรมการสรรหากรรมการในองค์กรอิสระ ควรยึดรูปแบบตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เนื่องจากโครงสร้างที่มาของคณะกรรมการสรรหาตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นซับซ้อนเกินไป การเพิ่มคณะกรรมการสรรหา อาจเกิดปัญหาได้ แต่กสม.ไม่เห็นด้วยกับการยึดรูปแบบการสรรหาตามรัฐธรรมนูญปี 2550 เพราะรูปแบบดังกล่าวไม่สอดคล้องกับหลักการปารีส

     นายปานเทพกล่าวว่า องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแต่ละแห่งจะทำข้อเสนอของตนเพื่อเสนอต่อรัฐบาล และจะนำผลการประชุมดังกล่าวซึ่งเป็นคำยืนยันขององค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญเสนอต่อรัฐบาลด้วย ในส่วนของป.ป.ช.กำลังดำเนินการ คาดว่าจะส่งข้อเสนอได้ในวันที่ 14 พ.ค.นี้

 

วิษณุเชื่อรธน.เสร็จตามโรดแม็ป

                ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวถึงการรวบรวมข้อเสนอแนะร่างรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐบาล ที่จะครบกำหนดวันที่ 14 พ.ค.ว่า ขณะนี้มีการส่งข้อเสนอแนะจากรัฐมนตรีเข้ามาจำนวนมากแต่ยังไม่ได้อ่าน ส่วนข้อสรุปที่จะส่งกมธ.ยกร่างฯ กำลังคิดอยู่ว่าถ้าแยกตามมาตราจะเยอะเกินไป อาจตั้งเป็นประเด็นมากกว่า ถ้าเสนอไปเป็นมาตราก็ซ้ำกัน อย่างกลุ่มการเมืองที่พูดถึงกว่า 20 มาตรา ถ้าพูดทีเดียวไม่ต้องลงทั้ง 20 มาตราน่าจะตั้งเป็นประเด็น

                นายวิษณุกล่าวว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญต้องกระชับ บางอย่างไปไว้กฎหมายลูกได้ เหมือนพ.ร.บ.เขียนมากไม่ได้จะยืดยาว วันหลังถ้าจะแก้ไขมันแก้ยาก ยิ่งเขียนในรัฐธรรมนูญยิ่งแก้ยากเพราะเป็นกฎหมายสูงสุด ข้อสำคัญรัฐธรรมนูญเวลามีอะไรก็ต้องไปตีความที่ศาลรัฐธรรมนูญ บางครั้งไม่จำเป็น ศาลธรรมดาตีความเองก็ได้ ฉะนั้นไปเขียนไว้ในที่อื่น

                เมื่อถามว่าสปช.ประกาศว่า หากกมธ. ยกร่างฯไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญก็จะลงมติคว่ำ นายวิษณุกล่าวว่า เป็นความเห็นของสปช.บางคนเท่านั้น คนอื่นไม่ได้พูดอย่างนั้น อย่างมากก็แค่ขู่ไว้ก่อน กมธ.ยกร่างฯเวลานี้กลัวจะตายอยู่แล้ว และการร่างรัฐธรรมนูญเชื่อว่าจะเสร็จตามโรดแม็ปที่วางไว้แน่ ไม่อย่างนั้นต้องตายไปตามกัน แต่ถ้ามีเรื่องประชามติเข้ามาต้องยอมรับความจริงด้วยว่ามันเป็นเรื่องที่ไม่ได้คิดมาก่อน วันนี้สังคมเรียกร้อง ถ้าทำประชามติก็ต้องทำใจว่าเวลาต้องยืดออกไป ประชามติดีอยู่แต่ต้องใช้เงิน ใช้เวลา

                เมื่อถามว่าการยืดเวลาแก้รัฐธรรมนูญออกไปเพื่อทำให้รอบคอบโดยไม่ต้องทำประชามติ ทำได้หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ทำได้ แล้วใครจะเป็นคนบอกว่าพอใจ แก้แล้วคนพอใจ ในที่สุดก็กลายเป็นเสียเวลา 2 หนอีก คือเสียเวลาแล้วต้องไปเสียเงิน เสียเวลาอีก มันหนีความไม่พอใจไปไม่ได้

 

สนช.คุยลับชำแหละรธน.

                ที่รัฐสภา นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ และนายยุทธนา ทัพเจริญ โฆษกกมธ.กิจการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิปสนช.) แถลงหลังประชุมว่า วันที่ 15 พ.ค.นี้ สนช.มีวาระการประชุมให้สมาชิกอภิปรายแสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อทำเป็นข้อเสนอแนะไปยังกมธ.ยกร่างฯ ประกอบการพิจารณา โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. คนที่ 1 ตั้งประเด็นไว้ 10 ประเด็น อาทิ สิทธิเสรีภาพ ผู้นำทางการเมืองที่ดี กระบวน การยุติธรรม การสร้างปรองดอง รวมทั้งองค์กรอิสระ

                นพ.เจตน์กล่าวว่า ในเรื่องการเมืองจะพูดถึงนายกฯคนนอก ส.ส.แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ อำนาจหน้าที่ ส.ว. หรือกลุ่มการเมือง มาตรา 181-182 ตามที่กมธ.ยกร่างฯเสนอนั้นมีความจำเป็นหรือไม่ และเปิดโอกาสให้สมาชิกอภิปรายถึงประเด็นอื่นนอกเหนือจากนี้ เบื้องต้นจะให้สมาชิกอภิปรายคนละ 7 นาที แต่ดูความยืดหยุ่นว่าสมาชิกที่จะอภิปรายมีจำนวนเท่าใด การอภิปรายอาจใช้เวลาถึงวันที่ 16 พ.ค. เนื่องจากเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญเป็นประเด็นใหญ่ ถ้าจำกัดการอภิปรายจนเกินไป จะไม่เหมาะสม แต่จะพยายามไม่ให้ยืดเยื้อ

                "การอภิปรายของ สนช.เป็นเพียงข้อเสนอแนะจะไม่มีการลงมติ เพราะสนช.ไม่สามารถยื่นแปรญัตติขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้ หลังอภิปรายเสร็จสิ้นจะนำสิ่งที่สมาชิกแสดงความเห็นมาขมวดเป็นแนวทางที่เหมาะสมต่อร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นเอกภาพและง่ายต่อการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ คาดว่าอาจจะอภิปรายกันภายในไม่เผยแพร่สู่สาธารณะ โดยสนช.จะส่งความเห็นไปยังกมธ.ยกร่างฯให้ทันก่อนวันที่ 25 พ.ค.นี้ ไม่เช่นนั้นจะเสียของ" โฆษกวิปสนช. กล่าวและว่า กำหนดวาระประชุมเรื่องพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 คาดว่าเป็นวันที่ 21 หรือ 22 พ.ค.นี้ ส่วนเนื้อหาร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว สนช.ยังไม่เห็นรายละเอียด ต้องรอให้ครม.ส่งหนังสืออย่างเป็นทางการ

 

ไพบูลย์ดันสูตรใหม่ประชามติ

                เวลา 13.00 น. นายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมด้วยนายวรวิทย์ ศรีอนันต์รักษา และนายสิระ เจนจาคะ สมาชิก สปช. ร่วมกันแถลงขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 308 โดยเพิ่มความระบุใน (1) ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) จัดให้พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งออกเสียงประชามติภายใน 90 วัน โดยให้นำหลักเกณฑ์และวิธีการที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ.2552 มาใช้บังคับอนุโลม เพื่อให้พลเมืองทั้งประเทศเป็นผู้พิจารณาเห็นควรให้มีการปฏิรูปประเทศ และการบริหารราชการแผ่นดินให้มีความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมก่อนจัดการเลือกตั้ง หากพลเมืองออกเสียงประชามติเสียงข้างมากให้ความเห็นชอบ เมื่อครบกำหนดเวลา 2 ปี นับจากวันที่ออกเสียงประชามติเห็นชอบแล้ว จึงจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ กรณีผลการออกเสียงประชามติเสียงข้างมากไม่ให้ความเห็นชอบ ให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปตามรัฐธรรมนูญนี้ ต่อไป

                นายไพบูลย์กล่าวว่า ที่เสนอให้มีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง 2 ปี เพราะเชื่อว่าเป็นเวลาที่เหมาะสม ฝ่ายที่ไม่ชอบก็พอทนได้ เนื่องจากไม่นานเกินไป ถ้านานกว่านี้ประเทศจะเสียหาย ยืนยันว่าการเสนอแก้ไขดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการต่ออายุสปช. และสนช. แต่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดวันเลือกตั้ง และทิศทางประเทศว่าจะปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ ผลออกมาอย่างไรให้ถือว่าเป็นความเห็นประชาชนส่วนใหญ่ ถ้าให้เลือกตั้งก่อนแล้วค่อยปฏิรูป ก็ดำเนินการตามโรดแม็ป แต่ถ้าประชาชนเห็นด้วยว่าให้ปฏิรูปก่อนก็ต้องดำเนินการตามที่ประชาชนต้องการ ตนในฐานะกมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถร่วมลงชื่อยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมด้วยได้ แต่เห็นด้วยกับประเด็นขอแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าว โดยจะนำไปเสนอในกมธ.ยกร่างฯ ต่อไป

ต่ออายุแม่น้ำ 4 สาย

                นายไพบูลย์กล่าวว่า หากประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยให้มีการปฏิรูปประเทศและการบริหารราชการแผ่นดิน ให้มีความมั่นคงก่อนจัดการเลือกตั้ง ในภาคส่วนที่จะต้องดำรงอยู่ต่อไปนั้น เมื่อพิจารณาตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 305 คือ 1.คสช. 2.ครม. 3.สนช. และ 4.สปช. ส่วนกมธ.ยกร่างฯ ต้องสิ้นสุดลงทันที เมื่อทำร่างประกอบรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อย เพราะไม่เกี่ยวข้องกับงานด้านปฏิรูป

                ขณะที่นายวรวิทย์กล่าวว่า ผลที่เกิดขึ้นหลังจากการทำประชามติตามคำขอแก้ไขที่พวกตนเสนอ ไม่ได้เป็นผลที่ต้องการให้สปช.อยู่ต่อไป แต่เป็นผลที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน พวกตนแค่คิดให้ หากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านความเห็นชอบจากสปช. บทบาทการปฏิรูปจะอยู่ที่สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ และขณะนี้มีสมาชิกสปช.ที่ลงชื่อสนับสนุนการยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในกลุ่มดังกล่าวครบแล้ว 26 คน ซึ่งตนกับนายศิระ จะนำคำขอแก้ไขดังกล่าว หารือกับสมาชิกในกลุ่มว่ามีความเห็นอย่างไร

                ด้านนายศิระกล่าวว่า จากการลงพื้นที่สอบถามความเห็นประชาชนพบว่าต้องการปฏิรูปบ้านเมืองก่อน จะมีส.ส.หรือไม่ ประชาชนไม่ได้สนใจ แต่สนใจว่าบ้านเมืองจะเกิดความสามัคคีได้อย่างไร ซึ่งต้องปฏิรูปก่อนเพื่อวางกรอบให้อนาคตหลังจากมีการเลือกตั้ง

                นายประสาร มฤคพิทักษ์ ในฐานะผู้นำการยื่นขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญกลุ่มดังกล่าว กล่าวว่า ยังไม่มีการนำเสนอขอแก้ไขดังกล่าวเข้ามายังกลุ่ม แต่กลุ่มจะเปิดโอกาสสมาชิกทุกคนนำเสนอประเด็นอย่างเป็นอิสระ ส่วนจะเป็นมติที่เห็นร่วมกันหรือไม่ต้องรอการหารือร่วมกันภายในกลุ่ม ในวันที่ 18 พ.ค.นี้

วันชัยหนุนปฏิรูป 2 ปี

                นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสปช. กล่าวถึงข้อเสนอให้ทำประชามติให้มีการปฏิรูป 2 ปีก่อนการเลือกตั้งของนายไพบูลย์ ว่า เห็นด้วยที่จะให้มีการปฏิรูปในประเด็นสำคัญที่ยังทำไม่เสร็จ ไม่จำเป็นต้องรีบร้อนให้มีการเลือกตั้งทั้งยังไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะการปฏิรูปก็เป็นความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่อยู่แล้ว และตอนที่คสช. ยึดอำนาจมาก็ไม่ได้ถามความคิดเห็นใคร หากปล่อยให้มีการเลือกตั้งโดยที่ปฏิรูปยังไม่สำเร็จ ประชาชนจะวิจารณ์ได้ว่ารัฐประหารมาทำครึ่งๆ กลางๆ ทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง จะรัฐประหารให้เสียของไปทำไม

                นายวันชัยกล่าวว่า แต่ไม่เห็นด้วยที่จะให้สปช.อยู่ทำหน้าที่ปฏิรูปต่อไป เพราะสังคมจะมองว่าสืบทอดอำนาจ โดยคสช.และครม.ทำหน้าที่ปฏิรูปด้วยตนเองได้ หรืออาจตั้งหน่วยงานหรือองค์กรใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทนสปช. แต่ไม่ต้องให้มากขนาด 250 คน แค่ 50-100 คนก็พอ แล้วกำหนดให้อยู่ปฏิรูปประเทศอีก 1-2 ปี

 

โฆษกกมธ.ค้านยืดโรดแม็ป

                นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกรณีมี ผู้เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ยืดระยะเวลา ซึ่งไม่เป็นไปตามโรดแม็ปที่คสช.วางไว้ หากประเด็นใดที่กระทบต่อ กรอบการทำงาน ควรเป็นหน้าที่ของ คสช.ที่จะพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557

                นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนการทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่มีข่าวว่าในหนึ่งกลุ่ม มีบางประเด็นไม่ได้รับความยินยอมจากสปช.ทุกคนในกลุ่ม แต่แบ่งเป็นเสียงข้างมากข้างน้อยแล้วส่งประเด็นคำขอแก้ไขให้กมธ.ยกร่างฯพิจารณานั้น ตนมองว่าประเด็นดังกล่าวอาจถูกท้วงติงว่าการเสนอคำขอนั้น ไม่เป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวกำหนดและทำให้คำขอทั้งกลุ่มตกไป ทั้งนี้ มีสปช.บางคนสอบถามนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ถึงเงื่อนไขการทำคำขอแก้ไขเพิ่มเติมด้วย ซึ่งมองว่าในหลักการของการแปรญัตติต้องได้รับความเห็นร่วมกันและประเด็นต้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ใช่ในลักษณะเสียงข้างมากข้างน้อย

โยนกมธ.ปฏิรูปชงมาตรา284-285

                นายคำนูณกล่าวถึงกรณีตัวแทนปลัดอำเภอ กำนันและผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศ ยื่นหนังสือขอให้ตัดบทบัญญัติของร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 82 (3) ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ที่ให้มีการกระจายอำนาจและจัดภารกิจ อำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น มาตรา 284 (5) ว่าด้วยการปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยการกำหนดให้มีองค์การบริหารการพัฒนาภาคทำหน้าที่สนับสนุนการพัฒนาจังหวัดต่างๆ รวมถึงกำกับดูแล จัดทำแผน และบริหารงบประมาณในพื้นที่ และมาตรา 285 ว่าด้วยการปฏิรูปด้านการบริหารท้องถิ่นว่า ในรายละเอียดของมาตราดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อสถานะของกลุ่มคนดังกล่าว ซึ่งสถานะของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังคงเป็นตามพ.ร.บ.การปกครองท้องที่

                นายคำนูณกล่าวว่า ส่วนมาตรา 284(5) และมาตรา 285 ซึ่งอยู่ในหมวดการปฏิรูปนั้น ยอมรับว่าจะมีผลกระทบกับกลุ่มบุคคล ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางการพัฒนา แต่เป็นเรื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อีกทั้งการบัญญัติทั้ง 2 มาตราปฏิรูปดังกล่าว เป็นข้อเสนอจากกมธ.ปฏิรูปของสปช. ที่ส่งเรื่องเข้ามา

 

กมธ.ท้องถิ่นเห็นพ้องกำนัน-ผญบ.

                นายไพโรจน์ พรหมสาส์น กมธ.ปฏิรูปการปกครองท้องถิ่น สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงกรณีปลัดอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เรียกร้องให้ตัดมาตรา 82 ,284 และ 285 ว่า ตนเข้าใจว่ามาตรา 284 และ 285 ทำให้กลุ่มผู้คัดค้านกังวล เนื่องจากกำหนดว่าต้องมีการตรากฎหมายและสร้างกลไก จัดตั้งองค์กรบริหารท้องถิ่นเต็มพื้นที่จังหวัดภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทำให้ข้าราชการส่วนภูมิภาคที่รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านจะไม่มีอำนาจหรือบทบาทในท้องถิ่นอีกแล้ว

                นายไพโรจน์กล่าวว่า ตนในฐานะผู้เสนอคำแปรญัตติ ได้เสนอขอแก้ไขให้ตัดมาตรา 284 และ 285 เพราะการกำหนดหลักการในมาตรา 82 ว่าการกระจายอำนาจและอำนาจหน้าที่ระหว่างราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น รวมทั้งพัฒนาจังหวัดให้เป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นขนาดใหญ่ไว้ดีแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องกำหนดรายละเอียดที่เป็นหลักปฏิบัติว่า หากจะเป็นองค์กรบริหารท้องถิ่นต้องเป็นทั้งจังหวัดและต้องทำภายใน 1 ปี ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 284 และ 285 อีกเพราะจะทำให้มีปัญหาตามมามาก โดยรายละเอียดทั้ง 2 มาตรานี้ควรไปกำหนดไว้ในกฎหมายลูกหรือกฎหมายอื่นแทน

เครือข่ายอปท.หนุนกระจายอำนาจ

                เครือข่ายสมาพันธ์สมาคมข้าราชการและพนักงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย นำโดยนายศักดิพงศ์ ธรรมอาชวกุล ประธานสมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย นายวิจารณ์ กุลชนะรัตน์ นายกสมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทยและคณะ เข้ายื่นหนังสือต่อนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ. ยกร่างฯ โดยสนับสนุนแนวทางของ กมธ. ยกร่างฯ แต่มีข้อกังวลในบางมาตรา และให้ กมธ.ยกร่างฯคงไว้ในมาตรา 216 (3) ที่ให้คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการส่วนท้องถิ่นโดยระบบคุณธรรมในแต่ละจังหวัด และขอให้เพิ่มเติมในมาตราดังกล่าวเป็น (4) คือ ให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมท้องถิ่น เพื่อพิจารณาคุ้มครองระบบคุณธรรมของข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ องค์กรบริหารท้องถิ่น รวมทั้งออกกฎระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับจริยธรรมและคุณธรรม และเพิ่ม (5) ในมาตราดังกล่าว ให้มีกองทุนเงินเดือนและสวัสดิการข้าราชการส่วนท้องถิ่น ส่วนที่ปลัดอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน เรียกร้องให้ตัดมาตรา 82 ,284 และ 285 นั้น เห็นว่าข้าราชการส่วนภูมิภาคกังวลว่าส่วนท้องถิ่นจะเข้ามาแทนที่

 

"บวรศักดิ์-สปช."ดอดสมัครคปก.

                รายงานข่าวแจ้งว่า กรณีคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) 11 คน ที่มีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน จะหมดวาระลงวันที่ 22 พ.ค.นี้ หลังดำรงตำแหน่งมา 4 ปี ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค. 2554 สมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปรากฏว่าขณะนี้มีบุคคลที่น่าสนใจไปสมัครในตำแหน่งคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลาหลายคน ซึ่งหมดเขตรับสมัครเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา อาทิ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ และรองประธาน สปช. นางสุนี ไชยรส รองประธานคปก.ชุดปัจจุบัน นายธงทอง จันทรางศุ ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ นาง สดศรี สัตยธรรม อดีตกกต. นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สมาชิกสปช. นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

                ในตำแหน่งดังกล่าว ตามพ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นในการปฏิบัติหน้าที่ของกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ. 2554 จะได้เงินเดือน 62,000 บาท เงินประจำตำแหน่ง 42,500 บาท รวม 104,500 บาทต่อเดือน รวมทั้งได้สิทธิ์ประโยชน์ ค่าเดินทาง ที่พัก และค่ารักษาพยาบาล

                ขณะที่คณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่ไม่เต็มเวลา มีผู้สมัคร อาทิ นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิกสปช. นายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช นายจอน อึ๊งภากรณ์ อดีตส.ว. พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กสม. โดยจะได้รับเงินเดือน ตามพ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนฯ เดือนละ 42,500 บาท และสิทธิ์ประโยชน์เช่นเดียวกันกับคณะกรรมการปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา

แซดสปช.เขียนรธน.เอื้อตัวเอง

                สำหรับคปก.ชุดใหม่ จะดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี แต่ไม่เกิน 2 วาระติดกัน โดยผ่านการสรรหาจากคณะกรรมการสรรหา โดยมีตัวแทนจากปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา รวมทั้งกรรมการสรรหาจากภาควิชาการและเอกชน

                แหล่งข่าวเปิดเผยว่า คปก.ชุดใหม่ นอกจะมีอำนาจตามพ.ร.บ.คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย พ.ศ.2553 เสนอแนะปรับปรุงกฎหมายต่างๆ ที่ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ยังมีอำนาจใหม่ในร่างรัฐธรรมนูญที่มีนายบวรศักดิ์ เป็นประธาน ในมาตรา 282(3) ให้คปก. มีอำนาจเสนอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ "พิจารณายกเลิก หรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎแล้วแต่กรณี" ที่จำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนโดยไม่จำเป็นหรือสร้างภาระหรือขั้นตอนโดยไม่จำเป็น

                ประเด็นดังกล่าว เกิดเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางกรณีนายบวรศักดิ์ สมัครเป็น คปก. ขณะที่เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯว่า จะเป็นการร่างรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีการวิจารณ์กรณีสปช. ที่มีเงินประจำตำแหน่ง 71,230 บาทต่อ/เดือน เงินเพิ่ม 42,330 บาทต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 113,560 บาท/เดือนอยู่แล้ว และมีการเสนอให้อยู่ในตำแหน่งไปอีก 2 ปี ขณะที่ กมธ.ยกร่างฯ มีเบี้ยประชุมครั้งละ 9,000 บาท ยังจะได้รับเงินเดือนของคปก. อีก 104,500 บาทต่อเดือน เป็นเวลาอีก 4 ปี

                นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ในฐานะผู้สมัคร กล่าวว่า ตนไม่ได้คาดหวังเพราะมีคู่แข่งมาสมัครถึง 40 คน แต่แปลกใจมากว่านายบวรศักดิ์ เป็นประธานกมธ.ยกร่างฯอยู่แล้ว จะมาสมัคร กรรมการชุดดังกล่าวทำไม รวมทั้ง สปช.คนอื่นๆ ด้วย ดังนั้นหากนายบวรศักดิ์และสปช. ได้รับเลือกเป็นคปก. จะถูกมองว่าเขียนรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้ตัวเองและจะถูกร้องเรียนกันวุ่นวายแน่นอน

สมาคมยางเล็งส่งตัวแทนพบนายกฯ

                นายสาย อิ่นคำ กรรมการสมาคมยางพาราและสถาบันเกษตรกรยางพาราไทย กล่าวว่า มาตรการต่อสู้เรื่องปัญหายางพาราราคาตกต่ำ ที่จะดำเนินการต่อไปอีกขั้นหนึ่งคือ การส่งตัวแทนทั่วประเทศไทยทั้ง 4 ภาค เข้าพบพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เพื่อขอให้พิจารณาแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน ยกเรื่องการบริหารจัดการยางพาราเป็นวาระแห่งชาติ เพราะที่ผ่านมาตัวแทนเกษตรกรเข้าพบและหารือกับรัฐมนตรีในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ไม่มีความคืบหน้า อาจเป็นไปได้ว่าข้อมูลไม่ถึงมือของนายกฯ ขณะนี้จึงมีการประสานปยังกลุ่มตัวแทนเกษตรกรทั้ง 4 ภาคเพื่อกำหนดวันเดินทางเข้าพบนายกฯ

                นายสายกล่าวต่อว่า ทางสมาคมได้หารือกับสมาคมองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแห่งประเทศไทย(อปท.) ถึงการนำยางพาราออกมาทำ-ซ่อมถนนทั่วประเทศ ผ่านอปท.ทั้งหมด แต่อปท.ให้เหตุผลว่าติดขัดเรื่องระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างที่ไม่สามารถทำได้ นอกจากรัฐบาลจะใช้อำนาจผ่านมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว เห็นชอบนำยางสต๊อกเก่ากว่า 300,000 ตัน ออกมาทำถนน ถึงแม้จะต้นทุนสูงกว่าการใช้ยางแอสฟัลต์บ้าง แต่เป็นมาตรการกระตุ้นราคายางภายในประเทศ ทำให้สถานการณ์ราคายางตกต่ำดีขึ้น อีกทั้งช่วยเหลือเกษตรกรให้รอดพ้นภาวะวิกฤต

นัดพ่อน้องเฌอฟังคำสั่งศาล 4 มิย.

                ที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ นายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ หรือพ่อน้องเฌอ นายสมาพันธ์ ศรีเทพ อายุ 17 ปี นักกิจกรรมซึ่งถูกยิงเสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 2553 บริเวณถนนราชปรารภ ได้มาพบอัยการศาลทหาร ตามนัดในคดีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ชนะสงคราม ฟ้อง 3 ข้อหา ได้แก่ ฝ่าฝืนคำสั่ง คสช. กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และกระทำผิดตามประมวลกฎหมายอาญา ม.116 ฐานกระทำการให้เกิดความปั่นป่วนหรือความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน ซึ่งนายพันธ์ศักดิ์ถูกจับกุมและแจ้งข้อหาเมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ก่อนได้รับการประกันตัวในวันดังกล่าว

                รายงานข่าวแจ้งว่า อัยการศาลทหาร นัดนายพันธ์ศักดิ์มาฟังคำสั่งที่ศาลทหาร กรุงเทพฯ วันที่ 4 มิ.ย.นี้ เวลา 10.00 น. โดยไม่มีการแจ้งข้อหาเพิ่มและฝากขังแต่อย่างใด

 

ครม.โยก"อารีพงศ์"กลับเลขาฯกพร.

                วันที่ 12 พ.ค. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุม ครม.มีมติอนุมัติตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เสนอรับโอนนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ไปดำรงตำแหน่งเลขาธิการ ก.พ.ร. เพื่อประโยชน์ของทางราชการ และผู้มีอำนาจสั่งบรรจุของทั้งสองฝ่ายได้ตกลงยินยอมในการโอนแล้ว และอนุมัติแต่งตั้งนายสุชาลี สุมามาลย์ รอง ผอ.สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

                โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า แต่งตั้ง น.ส.จารุวรรณ เฮงตระกูล กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ตั้งแต่วันที่ 3 เม.ย. 2558 วันที่มีคำสั่งให้รักษาราชการแทนในตำแหน่งดังกล่าว ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง นายธีระพงษ์ วงศ์ศิวะวิลาส ที่ปรึกษาประจำสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เป็นรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ทดแทนตำแหน่งที่ว่าง เนื่องจากผู้ดำรงตำแหน่งปัจจุบันขอลาออก ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง

                ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ครม.มีมติตามที่กระทรวงต่างๆ เสนอ เกษตรและสหกรณ์เสนอแต่งตั้ง 1.นายสุวิทย์ ชัยเกียรติยศ รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง 2.นางบริสุทธิ์ เปรมประพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เป็นผู้ตรวจฯ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เสนอแต่งตั้ง น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร กลุ่มที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวง เป็นรองปลัดฯ ไอซีที ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

                กระทรวงศึกษาธิการเสนอบรรจุกลับ รศ.สรนิต ศิลธรรม รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มาเป็นข้าราชการพลเรือนสามัญ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง กระทรวงสาธารณสุข 1.นายสุเทพ วัชรปิยานันทน์ ผู้ช่วยปลัดฯ เป็นผู้ตรวจฯ 2.นาย วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เป็นผู้ตรวจฯ

                กระทรวงอุตสาหกรรม 1.นายสมศักดิ์ จันทรรวงทอง รอง ผอ.สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจฯ 2.นายศักดา พันธ์กล้า รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจฯ 3.นายมาณพ ชิวธนาสุนทร รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เป็นผู้ตรวจฯ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง

                นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรฯ เผยว่า ภายในสัปดาห์นี้จะเสนอรายชื่อข้าราชการระดับ 10 หรือระดับอธิบดี และรองปลัดกระทรวงเกษตรฯ ให้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ เพื่อเตรียมบรรจุเป็นวาระพิจารณาในที่ประชุมครม.วันที่ 19 พ.ค. การโยกย้ายยืนยันไม่ได้เกิดจากการทะเลาะหรือขัดแย้งกัน แต่ปรับปรุงคนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทำงาน การเข้ารับตำแหน่งในกระทรวงเกษตรฯ มาถึงทุกวันนี้เพียง 6 เดือนกว่าๆ ยังไม่ได้ขัดแย้งกับใครหรือข้าราชการในกระทรวงแน่นอน

                รายงานข่าวแจ้งว่า มีการตั้งข้อสังเกตที่ ครม.ยังไม่แต่งตั้งปลัดพลังงานคนใหม่ แทนนายอารีพงศ์ ทันที เพราะมีหลายฝ่ายวิ่งล็อบบี้รัฐบาลเพื่อให้ได้ตำแหน่งนี้ ทำให้ ครม.ดึงเรื่องนี้ไว้ก่อน ต้องรอดูความชัดเจนเรื่องการแต่งตั้งอีกครั้งในการประชุมครม.นัดถัดไป

                รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับบุคคลที่จะมาเป็นปลัดพลังงานคนใหม่ หลายฝ่ายมองว่า นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัด ที่อายุการทำงานเหลืออีกเพียง 4 เดือนกว่า เพราะจะเกษียณก.ย.นี้ ควรได้รับการแต่งตั้ง ส่วนบุคคลอื่นที่มีการวางตัวไว้ด้วย ได้แก่ นายทวารัฐ สูตะบุตร รองปลัด ที่มีผลงานด้านการประชาสัมพันธ์ กับนายธรรมยศ ศรีช่วย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ที่ดูแลกรมขนาดใหญ่ มีงบประมาณหลายพันล้านบาท และใกล้ชิดกับคสช. อีกทั้งยังมีความอาวุโสกว่านายทวารัฐ ที่มีอายุราชการอีกสิบกว่าปี จึงถือว่ารอได้

จี้ใช้ม.44 ยุบแพทยสภา-แก้รพ.แพง

                วันที่ 12 พ.ค. ที่ศูนย์บริการประชาชน ฝั่งสำนักงานก.พ. น.ส.ปรียนันท์ ล้อเสริมวัฒนา ประธานเครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ พร้อมเครือข่าย 10 คน ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รมว.สาธารณสุข เป็นผู้รับหนังสือ เพื่อเรียกร้องให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากได้รับร้องเรียนและมีหลักฐานว่าโรงพยาบาลเอกชนคิดค่ายาและค่าบริการสูงเกินจริงจำนวนมาก ทั้งยังมีคดีความที่ระบุว่าโรงพยาบาลเอกชนโกงค่ารักษาพยาบาลอีกด้วย

                น.ส.ปรียนันท์กล่าวว่า มีผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนร่วมเป็นคณะกรรมการแพทยสภาจำนวนมาก ส่งผลให้การพิจารณาเพื่อความเป็นธรรมของผู้รักษาพยาบาลนั้นไม่เกิดขึ้นจริง จึงเรียกร้องให้รัฐบาลตั้งคณะกรรมการ เพื่อเป็นตัวประสานคุ้มครองสิทธิของผู้รักษาพยาบาล และให้นายกฯ ใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ยุบคณะกรรมการแพทยสภาชุดปัจจุบันทั้งคณะ เพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อนทำให้ไม่เกิดการพัฒนาในวงการแพทย์ไทย

                นพ.รัชตะกล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขกำลังดำเนินการเรื่องนี้ เบื้องต้นต้องดูว่ามีใครเกี่ยวข้องบ้าง ค่ารักษาพยาบาลประกอบด้วยหลายส่วน อาทิ ค่ารักษา ค่าอุปกรณ์ ค่าห้อง จึงมีหลายส่วนราชการที่ช่วยกันดูแล จะคุยกันภายในกระทรวง และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงพาณิชย์ แพทยสภา สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค เข้ามาพูดคุยภายในวันที่ 15 พ.ค. นี้ และจะขยายผลถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ทั้ง ร.พ.เอกชน และผู้เสียหาย มาพูดคุยเพื่อหาข้อสรุป จะรีบดำเนินการให้เสร็จเร็วที่สุด

                เวลา 15.00 น. ที่รัฐสภา นางปรียนันท์ พร้อมคณะ นำรายชื่อประชาชน 33,000 รายชื่อ ยื่นต่อกมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค และกมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข สปช. เพื่อเสนอให้ตั้งคณะกรรมการควบคุมราคาโรงพยาบาลเอกชน

                น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกมธ.ปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า จะนำข้อเสนอของเครือข่ายฯเข้าสู่การพิจารณาของกมธ.ปฏิรูปคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงและช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบให้เป็นรูปธรรม สิ่งที่สปช.ทำได้ทันที คือพิจารณาโครงสร้างราคากลางในขณะนี้ที่ใช้อย่างน้อย 3 ระบบ เพื่อนำไปเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

ครม.สั่งชดเชยราษีไศล 38 ล้าน

                เมื่อวันที่ 12 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุม ครม.ว่า ครม.อนุมัติจ่ายเงินค่าชดเชยให้แก่ราษฎรที่ได้รับผล กระทบจากโครงการฝายราษีไศล ให้กับราษฎร 3 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ศรีสะเกษ สุรินทร์ และ จ.ร้อยเอ็ด ในแปลงที่ดินที่ผ่านความเห็นชอบการตรวจสอบ จากคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการฝายราษีไศล 429 แปลง เนื้อที่ 1,188 ไร่ 37 ตารางวา ในอัตราไร่ละ 32,000 บาท รวม 38,018,960 บาท

                พล.ต.สรรเสริญกล่าวต่อว่า การจ่ายเงินนั้นให้มีคณะกรรมการกำกับดูแลการจ่ายเงินทั้ง 3 จังหวัด มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ เพื่อกำกับดูแลการจ่ายเงิน และจำนวนเงินค่าชดเชยให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ และมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและควบคุมการโอนจ่ายเงินค่าชดเชยให้ถูกต้องครบถ้วนตรงตามบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิ จำนวนเนื้อที่ และจำนวนเงินค่าชดเชย และให้จ่ายด้วยวิธีโอนเงินเข้าบัญชีธนาคาร ตามบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิ

                ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีราษีไศลเคยมีการจ่ายเงินเยียวยามาตั้งแต่ปี 2540-2555 แต่ยังมีราษฎรในแปลงที่ยังไม่ได้รับการชดเชย 2 ส่วน โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับผิดชอบ 1,046 แปลง และกรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 43 แปลง ซึ่งกระทรวงการคลัง สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และคณะกรรมการกำกับและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เห็นว่าการช่วยเหลือชดเชยจะต้องไม่ซ้ำซ้อนกับที่ชดเชยไปแล้วก่อนหน้านี้ ต้องดำเนินการชดเชยให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว โดยนายกรัฐมนตรีมอบหมายให้ คตร.และคณะทำงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ คสช.เข้าไปตรวจสอบการชดเชยเยียวยาเพื่อให้การเบิกจ่ายเงินโปร่งใส