กำนน-ผญบ.ฮอ


กำนัน-ผญบ.ฮือ ยื่นแก้รธน. 
จับตาย้ายปลัด ทั้งทส.-พลังงาน   

     ยื่นสปช.-กมธ. ปลัดอำเภอ-กำนัน-ผญบ.จี้แก้รธน. 3 มาตรา หลายจว.ฮือยื่นผ่านผู้ว่าฯ ลั่นเดินหน้า คัดค้านเต็มที่ กกต.-สปช.ก็เสนอแก้มีโอเพ่นลิสต์ด้วย ขณะที่สปช.ยังแห่ค้านกมธ.ตั้งอนุฯยกร่างพ.ร.บ.ประกอบรธน. 'บิ๊กโด่ง'ลั่นห้ามฝ่ายการเมืองเคลื่อนไหว ชี้อยากประชุมพรรค ให้มาคุยที่ศปป. จับตาครม.ย้าย 2 ปลัด 'ทรัพย์ฯ-พลังงาน' บิ๊กหนุ่ยปัดตอบชงย้ายปลัดทส. ด้านปีติพงศ์ยันกระทรวงเกษตรฯมีย้ายแค่ระดับอธิบดี

 


แก้รธน. - ผอ.สนง.ประธานสภาผู้แทนฯ รับหนังสือจากประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย(ส.ปอ.ท.) และนายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งขอให้ร่างรธน.คงไว้ซึ่งราชการส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค และส่วนท้องถิ่น เมื่อวันที่ 11 พ.ค.

วันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8931 ข่าวสดรายวัน

 

 

"บิ๊กโด่ง"ให้พรรคมาคุยที่ศปป.

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่กองบัญชาการกองทัพบก(บก.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. และรมช.กลาโหม กล่าวถึงการร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ต้องหารือกันอีกในเวลาอันใกล้นี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะรวบรวมข้อมูลต่างๆ จากทุกฝ่าย ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะรวบรวมส่งให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ และในการประชุม ร่วมครม. คสช.วันที่ 19 พ.ค.นี้ คงหารือข้อดี ข้อเสีย ควรแก้ไข ไม่แก้ไขอย่างไร ขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ทำงานอีกเล็กน้อย คงจะกระจ่างว่าคสช.มีความเห็นอย่างไร ซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้าคสช.ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว

เมื่อถามว่าพรรคการเมืองจะขอประชุมและยินดีหากศูนย์ปรองดองเพื่อสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) จะเข้าร่วมด้วย พล.อ. อุดมเดชกล่าวว่า หากประชุมอาจพูดไปคนละทางสองทาง คงไม่เรียบร้อย ขณะนี้นายกฯ มีนโยบายให้ ศปป. เป็นผู้ดำเนินการพูดคุยเพื่อความปรองดอง ซึ่งการประชุมครั้งที่ผ่านมาเมื่อเดือนเม.ย.ได้เชิญกลุ่มฝ่ายต่างๆ อาทิ พรรค นักวิชาการ นักศึกษา นักกฎหมาย มาหารือ ซึ่งศปป.จัดเตรียมสถานที่พูดคุยให้ หากผู้เข้าร่วมหารืออยากแยกเป็นกลุ่มก็จัดเตรียมห้องไว้ให้เรียบร้อย หลังจากนั้นจึงนำข้อมูลมาแชร์กันในภาพรวม ถ้าทำอย่างนี้มันอยู่ในกรอบทำได้และเดินต่อไปได้

ลั่นห้ามเคลื่อนไหว

พล.อ.อุดมเดชกล่าวต่อว่า เปิดเวทีทางโน้นทีทางนี้ที ไม่พร้อมเพรียงกัน ขาดการทำความเข้าใจ ขาดการดูแลกัน อาจเกิดสิ่งที่ไม่ดีขึ้นได้ คิดว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยที่บ้านเมืองสงบ ตอนนี้เดินมาได้ด้วยดีแล้ว ขอร้องว่าอะไรที่ก่อให้เกิดความไม่สงบ กลุ่มต่างๆ ที่เห็นต่างก็ต้องร่วมมือกัน อดทนกัน ให้การปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิรูปต่างๆ เป็นไปด้วยความราบรื่น หากมีความคิดเห็นอย่างไรบอกมาเลย ส่งมาได้หลายช่องทางตามที่สื่อเผยแพร่ไปแล้ว อย่าไปออกตามเวทีต่างๆ ที่จัดขึ้นเอง 

"ขอร้องว่าตอนนี้หากมีการเคลื่อนไหวอะไรก็ไม่สมควร ขอให้มีรัฐธรรมนูญเป็นตามขั้นตอน จุดหมายของคสช.เป็นไปอย่างที่นายกฯพูดไว้ จะดำเนินการตามกรอบ จะช้าจะเร็วก็เป็นไปตามความจำเป็น ถ้าทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ ทุกอย่างก็เดินได้ด้วยความรวดเร็ว" พล.อ.อุดมเดชกล่าว

สุวพันธุ์ชี้รธน.ร่างแรกละเอียดไป

ที่ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ในหลักการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ควรเป็นรัฐ ธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปประเทศเพราะประชาชนต้องการการปฏิรูป ควรเอื้อให้เกิดการปฏิรูปและเกิดการสร้างฐานรากให้ประเทศเข้มแข็ง แต่ร่างแรกที่กมธ.ยกร่างฯส่งมานั้น มีรายละเอียดมากไป เปิดโอกาสให้มีการตีความและจะมีผลต่อการบังคับใช้ จะมีปัญหาและอุปสรรค เช่น รัฐบาลจะทำอย่างนี้ ฝ่ายค้านจะตีความว่าทำไม่ได้ ดังนั้นตนจะส่งความเห็นขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ในวันที่ 13 พ.ค. นี้ ซึ่งตรงกับวันพืชมงคล เพื่อรวบรวมเสนอในการประชุมร่วมครม.กับคสช.

นายสุวพันธุ์กล่าวว่า หากไม่ปฏิรูปจะเกิดปัญหา มองว่าบ้านเมือง 3-5 ปี ความขัดแย้งยังไม่หมดไป ซึ่งแก้ไขได้ยากและต้องใช้เวลา อีกทั้งปัญหาสำคัญทั้งเศรษฐกิจ สังคมยังอยู่ รวมทั้งฐานรากของประเทศไม่เข้มแข็ง รัฐธรรมนูญจึงควรแก้ปัญหาเหล่านี้ โดยมีผลสัมฤทธิ์ของการใช้รัฐธรรมนูญ การปฏิรูปประเทศให้เห็นผล การปรองดองสมานฉันท์เกิดขึ้นได้ รัฐบาลใหม่เข้ามาต้องทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ได้ว่าเป็นอย่างไร อาจจะไม่ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องดูว่าเกิดขึ้นได้หรือไม่และทำให้ประเทศขับเคลื่อนได้โดยไม่หยุดชะงัก พัฒนาให้เกิดความยั่งยืนเพราะอยากเห็นประเทศไทยแข็งแกร่ง

ชี้หลังแก้ประชาชนอาจยอมรับ

เมื่อถามว่าแสดงว่ากลไกทางการเมืองปกติที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ใช่หรือไม่ นายสุวพันธุ์กล่าวว่า ทำได้ แต่กฎหมายต้องเอื้อ ตนเห็นว่าต้องจัดการเลือกตั้ง แต่ถ้ารัฐบาลที่เข้ามาให้ความสำคัญกับการปฏิรูปน้อยกว่าการแข่งขันทางการเมือง การปฏิรูปก็จะไม่เกิดขึ้น ดังนั้นรัฐบาลใหม่ต้องให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐานของประเทศมากกว่าการแข่งขันทางการเมือง 

ผู้สื่อข่าวถามว่าการทำประชามติจำเป็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้หรือไม่ นายสุวพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ได้ตัดสินใจเพราะยังไม่เห็นว่าร่างที่กมธ.ยกร่างฯ จะนำไปแก้ไขนั้นเป็นอย่างไร หากเห็นแล้วจึงจะตอบได้ ตอนนี้พูดไปก็เหมือนการชิงไหวชิงพริบกัน ซึ่งร่างที่ กมธ.นำไปแก้ไขนั้น คนส่วนใหญ่อาจจะยอมรับก็ได้

พงศ์เทพชี้ช่องประชามติ

วันเดียวกัน นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯและแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า ถ้าตั้งใจจะทำประชามติแล้วใช้กลไกตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว ก็ไม่ยาก นักกฎหมายสามารถกำหนดให้ทำประชามติโดยไม่ให้มีปัญหาทางกฎหมายได้ง่ายๆ ไม่ต้องไปคิดว่าจะหยิบมาตราไหนมาใช้ 

"ช่องทางที่ง่ายที่สุด คือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญชั่วคราวให้ทำประชามติ ถือว่าง่ายและชัดเจนที่สุด ซึ่งทำได้ง่ายอยู่แล้ว ถ้าคสช.หรือครม.ต้องการเรื่องนี้ เชื่อว่าสนช.สามารถแก้รัฐธรรมนูญได้ภายในเวลาสั้นๆ และคงไม่มีศาลรัฐธรรมนูญมาบอกว่าแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ไม่ได้"

พท.แนะให้ประชาชนตัดสิน

นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ อดีตส.ส.พะเยา พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกระแสเรียกร้องให้มีการทำประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญ ที่กมธ.ยกร่างฯกำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ว่า ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อปฏิวัติรัฐประหาร และเขียนรัฐธรรมนูญขึ้นมาใหม่ก็มีการทำประชามติ เพื่อขอความเห็นจากประชาชนทุกครั้ง เพราะการทำประชามติคือการเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ตัดสินใจ ดังนั้น กมธ.ยกร่างฯ ชุดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ที่ทำหน้าที่เป็นประธาน จึงไม่มีสิทธิตัดสินใจแทนชาวบ้าน

"กมธ.ยกร่างฯ รู้ดีว่าประชาชนจะไม่ยอมรับ ดังนั้นยอมรับความจริงแล้วอย่าดื้อจะดีกว่า ผมไม่ได้พูดในฐานะนักการเมือง แต่สิ่งที่พูดสะท้อนมาจากชาวบ้านที่ลงพื้นที่ไปพบปะ ว่าพวกเขาคิดอย่างไร ถึงแม้ว่าการทำประชามติอาจจะต้องมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ และอาจกระทบถึงระยะเวลาที่จะมีการเลือกตั้ง แต่ผมก็ยอมรับ เพราะไม่ได้อยากเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรในขณะที่ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง" นายวิสุทธิ์กล่าว 

"กำนัน-ผญบ."จี้แก้รธน.3มาตรา

ที่รัฐสภา ปลัดอำเภอ กำนัน และผู้ใหญ่บ้านทั่วประเทศกว่า 100 คน นำโดยนายเรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย และนายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านนายวีรยุทธ์ เจริญกุล ผอ.สำนักประธานสภาผู้แทนราษฎร รับผิดชอบสปช. 

โดยเรียกร้องให้ยกเลิกร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (3) มาตรา 284 (5) และมาตรา 285 เนื่องจากทั้ง 3 มาตรา จะทำให้ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาคและข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้านที่เป็นรากฐานและคอยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนอย่างเท่าเทียมแทนรัฐบาลกลาง หากดำเนินการปฏิรูปไปเช่นนี้ ไม่อาจแก้ปัญหาให้ประเทศชาติได้ มีแต่จะก่อความวุ่นวาย ความสงบและความมั่นคงของชาติจะล่มสลาย จึงขอให้คงไว้ซึ่งส่วนราชการกลาง ราชการส่วนภูมิภาคทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เอาไว้อย่างชัดเจน 


ไทย-ญี่ปุ่น - นายฮิโรโตะ อิซุมิ ที่ปรึกษาพิเศษของนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระหว่างเดินทางมาเยือนประเทศไทย ที่ห้องสีม่วง ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 11 พ.ค.

หลายจว.ก็ยื่นค้านผ่านผู้ว่าฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่จังหวัดต่างๆ ก็มีการเคลื่อนไหวยื่นหนังสือคัดค้านเช่นกัน อาทิ ที่ จ.นครสวรรค์ นายบัญชา พุกนวน นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่ จ.นครสวรรค์ พร้อมกำนันผู้ใหญ่บ้าน แพทย์ประจำตำบล และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านจากทุกอำเภอกว่า 500 คน เข้ายื่นหนังสือต่อ นายชยพล ธิติศักดิ์ ผู้ว่าฯ นครสวรรค์ ขอให้ส่งต่อนายกฯ ประธานกมธ.ยกร่างฯ และประธานสปช. เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 285 ให้มีการปฏิรูปด้านการบริหารท้องถิ่น 

จ.ขอนแก่น นายทัศนัย สุขสบาย ประธานชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน อ.เมืองขอนแก่น นายสัญญา โคตรศรีวงษ์ ประธานชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน อ.ซำสูง และสมาชิกชมรมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน จ.ขอนแก่น ประมาณ 300 คน ยื่นแถลงการณ์คัดค้านมาตรา 285 โดยมีนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าฯ ขอนแก่น เป็นผู้รับหนังสือ และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 30 นาย มาดูแลความเรียบร้อยบริเวณศาลากลางจังหวัด เช่นเดียวกับที่ จ.พะเยา จ.เพชรบูรณ์ และ จ.นครราชสีมา ทางสมาคมกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านแต่ละจังหวัด ได้ยื่นหนังสือค้านมาตรา 285 ต่อผู้ว่าฯ พร้อมระบุ หากกมธ.ยกร่างฯ ไม่ยกเลิกมาตรา 285 หรือเพิ่มข้อความดังกล่าว จะเดินหน้าคัดค้านอย่างเต็มที่ต่อไป 

ฮึ่มเดินหน้าคัดค้านเต็มที่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่กระทรวงมหาดไทย เมื่อช่วงบ่าย นายเรวัต เครือบุดดีมหาโชค ประธานสหพันธ์ปลัดอำเภอแห่งประเทศไทย และนายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือถึงพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ขอให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญมาตรา 82 (3) มาตรา 284 (5) และมาตรา 285 เนื่องจากทั้ง 3 มาตรา จะทำให้ไม่มีข้าราชการส่วนภูมิภาคและข้าราชการฝ่ายปกครอง รวมถึงกำนันและผู้ใหญ่บ้าน โดยมีพล.ต.ต.ธารา ปุณศรี เลขานุการ รมว.มหาดไทย เป็นผู้รับเรื่อง 

นายยงยศกล่าวภายหลังยื่นหนังสือว่า เลขานุการรับว่าจะเสนอรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อผู้มีอำนาจให้พิจารณาแก้ไขต่อไป ตนไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะมาตรา 285 การยุบองค์กรหนึ่งเพื่อสร้างอีกองค์กรหนึ่งนั้น คิดดีแล้วหรือ ที่ผ่านมาไม่ได้สอบถามความคิดเห็นของพวกเรา ทั้งนี้สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านฯ จะรอในขั้นแปรญัตติว่าจะแก้ไขในมาตราดังกล่าวที่เราเสนอไปหรือไม่ หาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่แก้ไข ทางสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านประมาณ 2 แสนคน จะเคลื่อนไหวชุมนุมเพื่อเรียกร้องและคัดค้านในเรื่องนี้ต่อรัฐบาลอย่างสุดกำลังต่อไป

กกต.เสนอแก้โอเพ่นลิสต์

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะทำงานจัดทำข้อเสนอประกอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และกฎหมายอื่น ว่าที่ประชุมได้จัดเตรียมข้อเสนอการยกร่างรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับกกต. กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. ส.ว. พรรคการเมือง การทำประชามติ รวมถึงตรวจสอบข้อมูลที่จะเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอแนวทางให้กกต.พิจารณา ก่อนที่กกต.จะแถลงถึงจุดยืนในสัปดาห์หน้า และเสนอต่อหัวหน้าคสช.และครม.ต่อไป 

นายภุชงค์กล่าวว่า ข้อเสนอของกกต.ประกอบด้วย เรื่องอำนาจหน้าที่ของกกต. ในการให้ใบเหลืองใบแดง การมีคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง(กจต.) ปัญหาการเลื่อนเลือกตั้ง เลื่อนการนับคะแนน โดยยกเหตุการณ์จากกรณีการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ.57 รวมทั้งระบบการเลือกตั้งแบบโอเพ่นลิสต์

ลั่นพร้อมจัดทำประชามติ

นายภุชงค์กล่าวว่ากมธ.ยกร่างฯจะรับฟังความเห็นของผู้ปฏิบัติ ที่ผ่านมาสำนักงาน กกต.มอบให้ผู้บริหารระดับสูง ร่วมเป็นอนุกมธ. เพื่อเสนอแนะแนวทางปฏิบัติ และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพื่อให้การร่างกฎหมายสอดรับกับการปฏิบัติที่เกิดขึ้นจริง ส่วนการทำประชามติ สำนักงาน กกต.ก็พร้อมดำเนินการ เนื่องจากมีแผนเตรียมการไว้แล้ว ไม่น่าจะมีปัญหา โดยเฉพาะหน่วยออกเสียงประชามติ จำนวนผู้ออกเสียงประชามติ และวิธีทำประชามติ ไม่น่าจะแตกต่างจากการทำประชามติรัฐธรรมนูญครั้งก่อน ซึ่งสำนักงานกกต.เคยศึกษาปัญหาการทำประชามติรัฐธรรมนูญครั้งก่อนไว้แล้ว 

นายภุชงค์กล่าวว่า ส่วนการให้ความรู้กับประชาชน กกต.ก็มีศูนย์ประชาธิปไตยระดับตำบลกว่า 7,900 ตำบล เชื่อว่าจะเผยแพร่และให้ความรู้เพื่อนำร่องได้อย่างมีประสิทธิภาพและครอบคลุม แต่ขึ้นอยู่ว่าจะมอบให้กกต.ดำเนินการเรื่องใดบ้าง เพราะครั้งที่ผ่านมากกต.ทำหน้าที่การลงคะแนนออกเสียงประชามติ แต่การให้ความรู้และรายละเอียดของร่างรัฐธรรมนูญ เป็นหน้าที่ของ สสร. หากจะทำประชามติจริง ยืนยันว่าช่วงเวลา 90 วันตามที่กฎหมายกำหนด กกต.ดำเนินการได้

สนช.นัดคุยปม"รธน."-15พค.นี้

ด้านนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. คนที่ 2 กล่าวถึงสนช.เตรียมนัดประชุมเพื่อให้สมาชิกอภิปรายและแสดงความเห็นร่างรัฐธรรมนูญว่า สมาชิก สนช. หารือกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นว่าความเห็นของ สนช.น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการประกอบการพิจารณาของกมธ.ยกร่างฯ ในช่วงสุดท้าย ทั้งนี้อาจจะบรรจุระเบียบวาระเพิ่มเติมในวันที่ 15 พ.ค. นี้เพียงวันเดียว เพื่อให้สมาชิกแสดงความเห็นในที่ประชุม แต่คงไม่ได้อภิปรายทั้งร่างเรียงลำดับทีละมาตรา เพราะมีเวลาจำกัด และมีวาระต้องพิจารณากฎหมายอื่นตามปกติด้วย จึงกำหนดรูปแบบขึ้นโดยจะแบ่งกลุ่มสรุปประเด็นสำคัญ จากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญที่สังคมสนใจหรือมีข้อโต้แย้ง

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า เบี้องต้นจะแบ่งประเด็นเป็น 10 กลุ่ม ให้สมาชิกอภิปรายทีละกลุ่มเรียงลำดับความสำคัญ ส่วนวิธีโหวตหรือรูปแบบอื่นใดที่จะได้เป็นมติอันเป็นความเห็นของสนช. เพื่อส่งต่อไปยังกมธ.ยกร่างฯนั้น คงหารือกันอีกครั้งในการประชุม กมธ.วิสามัญกิจการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) ในวันที่ 12 พ.ค. นี้ เวลา 13.30 น.

จี้เปิดอภิปรายรธน.รอบ2

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวถึงพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ย้ำระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ตอบโจทย์ปัญหาประเทศ แก้เรื่องซื้อสิทธิขายเสียงได้ว่า กมธ.ยกร่างฯ ต้องทำใจให้นิ่ง อย่ามั่นใจว่าดีที่สุด อย่าไปเที่ยวยืนยันว่าอย่างไรก็ไม่แก้ เพราะประเทศไทยยังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุด แก้ไขกันมาทุกสมัย อย่าเที่ยวตำหนิ ปฏิเสธข้อเสนอคนอื่น แต่ให้รอข้อแก้ไขของสมาชิก สปช.และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญกำหนด เสนอความเห็นมาก่อน เมื่อถกกันแล้ว อาจมีเหตุผลดีกว่าแล้วข้อเสนอของกมธ.ยกร่างฯอาจจะถูกตีตกไปก็ได้

นายวันชัยกล่าวว่า เวลา 15 วันก่อนถึงวันที่ 6 ส.ค. ที่สปช.จะลงมติโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่อยากให้เปิดอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง โดยนายเทียนฉายบอกยังไม่ถึงเวลาตัดสินใจ คือไม่ตอบรับหรือปฏิเสธ จึงเชื่อว่าเป็นไปได้ที่จะมีการอภิปรายรอบ 2 ดีกว่าให้ สปช.ลงมติโดยยังไม่เข้าใจเหตุผลของกมธ.ยกร่างฯ เพราะมีสิทธิที่รัฐธรรมนูญจะถูกคว่ำได้ การเปิดให้อภิปรายจึงมีแต่ได้ เพราะคนที่จะโหวตรัฐธรรมนูญผ่าน ไม่ผ่านคือสปช. ไม่ใช่ครม.หรือคสช. จึงต้องทำความเข้าใจกับสมาชิกให้เป็นหนึ่งเดียวให้ได้ 

ย้ำต้องแก้ม.181-182

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญ ไปก่อนแล้วทำประชามติภายหลัง นายวันชัย กล่าวว่า ควรทำประชามติก่อนใช้รัฐ ธรรมนูญอย่างยิ่ง เพื่อจะได้รับการยอมรับ แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มาจากผลไม้พิษหรือเผด็จการตามที่ถูกกล่าวหา ถ้าใช้ไปแล้วมาทำประชามติยิ่งสับสนอลหม่าน ไร้เหตุผล เท่าที่พูดคุยกัน สปช.ส่วนใหญ่เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯจะยอมถอย ปรับในประเด็นที่ถูกวิจารณ์ อาทิ 1.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่ให้สนช.กับสปช.เข้าไปดำรงตำแหน่ง เพราะจะเป็นแผลเป็น สมาชิกเกรงข้อครหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน

2.คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ที่ประกอบด้วยคณะกรรมการ 15 คน เสนอเรื่องอภัยโทษได้ ต้องเขียนให้ชัดเจนกว่านี้ หรือตัดทิ้ง ถ้าคลุมเครือจะเปิดช่องให้รัฐบาลชั่วเข้ามาใช้ประโยชน์ 3.มาตรา 181 - 182 ต้องแก้ไขแน่นอน เพราะจะทำให้รัฐบาลเลวใช้โอกาสปิดปากฝ่ายค้าน ทำระบบตรวจสอบจะล้มเหลว และ 4.องค์กรใหม่ที่เกิดขึ้น 11 องค์กร ต้องลดจำนวน ถูกหั่นให้เหลือเฉพาะองค์กรที่มีอำนาจถ่วงดุลอย่างแท้จริงเท่านั้น

"ส่วนที่พรรคประชาธิปัตย์ให้จับตาว่าสปช.กับกมธ.ยกร่างฯ จะเป็นเวทีปาหี่หรือไม่ ให้ดูวันที่ 6 ส.ค.นี้ เราเป็นผู้ใหญ่ จะมาทำตัวเป็นปาหี่ ตัวละคร ให้เป็นตัวตลกทางการเมืองคงไม่ได้ จะผ่านหรือไม่อยู่ที่เหตุผล แค่มาตราเดียวถ้ามีปัญหาเชื่อว่าสปช.จะไม่ให้ผ่าน นักการเมืองก็พูดส่งไปเรื่อยเปื่อย คนที่ถูกตั้งกันมามีสติปัญญา ความรู้ความสามารถ จะไม่ยอมให้มาเป็นหุ่นเชิดให้ใครง่ายๆแน่" นายวันชัยกล่าว

สปช.แห่ค้านกมธ.ตั้งอนุฯ

ที่รัฐสภา นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สมาชิก สปช. เปิดเผยว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่งข้อความทางแอพพลิเคชั่นไลน์ ในกลุ่มสปช. เพื่อสอบถามความเห็นกรณีนายนิรันดร์ พันทรกิจ สมาชิก สปช. ส่งจดหมายเปิดผนึกท้วงติงการแต่งตั้งคณะอนุกมธ.พิจารณายกร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ 12 คณะ และอนุกมธ.พิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่จำเป็นต้องตราขึ้นตามรัฐธรรมนูญ 15 คณะ ว่าไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 39 ที่กำหนดให้เป็นหน้าที่ของสปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ร่วมกัน โดยสอบถามว่า สปช.เห็นด้วยกับนายนิรันดร์ตามจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวหรือไม่ พร้อมให้ สปช.ในกลุ่มร่วมลงชื่อ โดยล่าสุดเมื่อ เวลา 13.30 น. มี สปช.ที่ลงชื่อสนับสนุนนาย นิรันดร์แล้ว 76 คน 

นายบุญเลิศกล่าวว่า เชื่อว่าจะมีสมาชิกลงชื่อเพิ่มอีก ส่วนจะนำไปสู่การทบทวนหรือยกเลิกอนุ กมธ.ดังกล่าวหรือไม่นั้นตนไม่ทราบ แต่ส่วนตัวมองว่าหากสมาชิก สปช.ลงความเห็นในทิศทางเดียวกันน่าจะยุติการดำเนินการของอนุกมธ.ชุดต่างๆ ส่วนค่าเบี้ยประชุมที่ได้เบิกไปแล้วนั้นทราบว่าไม่มี สปช.คนใดติดใจที่จะทวงคืน

เสนอตัดกลุ่มการเมือง

นายนิรันทร์ พันทรกิจ สมาชิกสปช. ในฐานะเลขานุการคณะอนุกมธ.พิจารณาจัดทำประเด็นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ในกมธ.ปฏิรูปการเมือง เปิดเผยว่า มี สปช.ในกลุ่มปฏิรูปการเมืองยื่นคำขอแก้ไขแล้ว 8 คน และมีผู้ที่ร่วมลงชื่อสนับสนุน 15 คน ส่วนที่เหลือจะอยู่ในกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สำหรับประเด็นของ สปช.ทั้ง 8 คนที่ยื่นคำขอมาแล้ว เบื้องต้นจะเน้นประเด็นทางการเมือง โครงสร้างทางการเมือง โดยมีประเด็นที่ตกผลึกร่วมกัน คือ การส่งผู้สมัครส.ส. ขอตัดประเด็นกลุ่มการเมืองออกจากบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญ และคงไว้เพียงพรรคการเมืองที่มีสิทธิส่งผู้สมัครได้ ที่มาของนายกฯ ต้องมาจากการเลือกของสภา และผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อต้องมีคุณสมบัติเป็นส.ส. เป็นต้น 

นายนิรันดร์กล่าวว่า ส่วนประเด็นที่ยังไม่มีข้อตกผลึกร่วมกัน อาทิ ประเด็นที่นายชัย ชิดชอบ สมาชิกสปช. เสนอให้มีส.ส. 450 คน และมีเฉพาะระบบเลือกตั้งแบบเขตเท่านั้น แต่ สปช.คนอื่นเห็นว่าให้คงส.ส.จากบัญชีรายชื่อไว้ 

ชงแก้เลือกตั้งแบบสัดส่วน

นายนิรันดร์กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นระบบเลือกตั้งที่ กมธ.ยกร่างฯ เขียนให้ใช้ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ที่ประชุมเห็นว่าควรให้แก้ไขและกลับไปใช้รูปแบบเลือกตั้งเหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 เพราะจะไม่มีปัญหามากนัก โดยเฉพาะการเติมเต็มส.ส. บัญชีรายชื่อให้กับพรรค ตามคะแนนนิยมที่แท้จริงของประชาชน หากเกิดกรณีผู้สมัครเป็นส.ส.ระบบเขต ถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง หรือถูกสั่งให้เลือกตั้งใหม่ อาจกระทบต่อการคำนวณส.ส.ในบัญชีรายชื่อได้ และหากรอให้เลือกตั้งใหม่ในเขตนั้นเสร็จอาจกระทบต่อระยะเวลาการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรและการเลือกนายกฯ 

นายนิรันดร์กล่าวว่า การทำคำขอแก้ไขยังมีรายละเอียดที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบ โดยเฉพาะต้องรอคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญจาก กลุ่มสปช. ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ที่จะส่งมาภายในสัปดาห์หน้า นอกจากนั้นต้องรอฟังประเด็นจากนักการเมืองที่จะให้ความเห็นผ่านเวทีรับฟังความเห็นในวันที่ 15 พ.ค.นี้ และความเห็นของนักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และรัฐศาสตร์ของสถาบันการศึกษาทุกแห่ง ซึ่งจะมาให้ความเห็นในวันที่ 18 พ.ค.นี้ คาดว่าในสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปอย่างเป็นทางการ

ปฏิรูปพลังงานชงใช้ถ่านหิน

ที่ห้องประชุมรัฐสภา น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช.คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธาน เพื่อพิจารณารับทราบรายงานการพิจารณาของกรรมาธิการ(กมธ.) ปฏิรูปพลังงาน โดยนายทองฉัตร หงส์ลดารมย์ ประธานกมธ.ปฏิรูปพลังงาน สปช. กล่าวชี้แจงหลักการว่า จากการใช้ก๊าซเพื่อผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในประเทศคิดเป็นร้อยละ 70 ทำให้มีไม่พอใช้ ปริมาณการผลิตและพลังงานสำรองในอ่าวไทยลดลง แต่ความต้องการในการใช้เพิ่มมากขึ้น ทำให้จำเป็นต้องนำเข้าก๊าซแอลพีจีเข้าเสริมการผลิต แต่ด้วยราคาก๊าชดังกล่าวราคาแพงเกินเท่าตัว ทำให้ราคาไฟฟ้าแพงขึ้นร้อยละ 50 ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมสมควรใช้ถ่านหินและพลังงานนิวเคลียร์จึงมีความเหมาะสมกว่า

นายทองฉัตรกล่าวว่า กมธ.พลังงานจึงออกแบบพลังงานที่สอดคล้องบนพื้นฐานเป็นธรรม มีประสิทธิภาพ มั่นคง ไม่ขาดแคลน มีสำรองพอเพียงใช้แข็งขัน ด้วยการเพิ่มบทบาทประชาชนในการใช้ ผลิตและจำหน่าย เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย ติดตาม ตรวจสอบ รวมถึงกำกับ

เห็นด้วยแก้พรบ.ปิโตรเลียม

นายมนูญ ศิริวรรณ ประธานอนุกมธ.ปฏิรูปทรัพยากรปิโตรเลียมและราคาพลังงานกล่าวว่า กรอบหลักการปฏิรูประบบพลังงานยังไม่แล้วเสร็จ เป็นเพียงข้อคิดและหลักการเท่านั้น เป้าหมายคือสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ใช้พลังงานทุกกลุ่ม นอกจากนี้ ยังลดการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงเพื่อสะท้อนต้นทุนแท้จริง อีกทั้งยังอุดหนุนมุ่งไปที่ผู้มีรายได้น้อย รวมถึงลดการแทรกแซงควบคุมจากภาครัฐและขจัดการผูกขาดทั้งโดยภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมการแข่งขันเสรี การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อสร้างความโปร่งใส ธรรมาภิบาลในการกำหนดราคา อย่างไรก็ตามจากการศึกษาโครงสร้างราคาเชื้อเพลิงทั้งระบบตั้งแต่ต้นน้ำ หน้าโรงกลั่น โครงสร้างภาษี ขายปลีก และจากการพิจารณาของอนุกมธ. เห็นว่าระบบบริหารจัดการปิโตรเลียมปัจจุบันนี้ยึดการให้สัมปทานซึ่งเหมาะกับในอดีต แต่ปัจจุบันมีความจำเป็นต้องเพิ่มทางเลือกในการจัดการทรัพยากรปิโตรเลียม

นายมนูญกล่าวว่า เห็นด้วยต่อการใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตหรือจ้างผลิต และการแก้ไขพร.บ.ปิโตรเลียม 2546 ที่รัฐบาลกำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งไทยขุดน้ำมันได้เพียงร้อยละ 16 ที่เหลือคือการนำเข้าจากต่างประเทศ ดังนั้นควรใช้ราคาตลาดโลกเพื่อให้ราคามีความเหมาะสม และรัฐบาลแต่ละชุดที่เข้ามาสามารถกำหนดราคาปิโตรเลียมเพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพื่อนำรายได้เข้าสู่งบประมาณแผ่นดิน หรืออุดหนุนพลังงานให้ถูกลง ซึ่งไม่เกี่ยวกับระบบบริหารจัดการปิโตรเลียม ดังนั้นไม่ควรใช้สูตรนำเข้าเพื่ออ้างอิงราคา

สร้างสภาใหม่เกือบ2ปีได้แค่10%

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่รัฐสภา นายโชติจุฑา อาจสอน ที่ปรึกษาบริหารโครงการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน CAMA เปิดเผยหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบความคืบหน้างานการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ ย่านเกียกกายว่า ความคืบหน้างานก่อสร้าง ซึ่งผู้รับจ้างดำเนินการมาแล้วถึงวันที่ 30 เม.ย.58 จำนวน 692 วัน มีผลงานดังนี้ 1.ผลงานที่ทำงานได้ 10.47 เปอร์เซ็นต์ ผลงานที่ตั้งไว้ตามแผนที่ได้รับอนุมัติ 72.85 เปอร์เซ็นต์ ล่าช้า 66.38 เปอร์เซ็นต์ 2.รายละเอียดของงานก่อสร้างที่ดำเนินการแล้วเสร็จ ประกอบด้วย งานเสาเข็มเจาะ อาคารหลัก 1,673 ต้น งานเสาเข็ม Pile Wall ระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก 1,344 ต้น งาน King Post ระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก 2,236 ต้น งาน Platform ระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก 5,443 เมตร งาน Bracing Layer 1ระบบป้องกันดินพังอาคารหลัก 29,208 เมตร

3.รายละเอียดของงานก่อสร้างที่อยู่ระหว่างการดำเนินการประกอบด้วย งานขุดดินและขนย้ายดินจากการก่อสร้างชั้นใต้ดิน แล้วเสร็จ 73.16 เปอร์เซ็นต์ งานประกอบโครงสร้างเสาเหล็ก แล้วเสร็จ 37.89 เปอร์เซ็นต์ งานโครงสร้างฐานรากแล้วเสร็จ 35.16 เปอร์เซ็นต์ งานโครงสร้างสร้างพื้นชั้นใต้ดิน ชั้นบี 2 แล้วเสร็จ 227 ต้น จาก 742 ต้น งานติดตั้งเสาเหล็กประกอบชั้นใต้ดิน ชั้นบี 1 นอกจากนี้ ยังมีงานเตรียมการ เช่น การขออนุมัติแบบก่อสร้าง การขออนุมัติวัสดุใช้งาน งานติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

เล็งตั้งกองทุนธุรกิจวิทยาศาสตร์

วันที่ 11 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แถลงผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ เป็นประธานว่า นายกฯให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมและจะกำหนดให้เป็นวาระแห่งชาติ โดยเห็นชอบมาตรการส่งเสริมให้ประเทศเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้า มีการวางแผนระยะสั้นและระยะยาวคัดเลือกเอกชนต้นแบบ เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ภาครัฐ 500 คันใน 2-3 ปีข้างหน้าและให้กระทรวงการคลัง ปรับเงื่อนไขการจัดซื้อรถบัสใหม่ของ ขสมก.ให้ใช้รถบัสไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ 

นายพิเชฐกล่าวว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้ภาครัฐจัดซื้อสินค้าและบริการที่อยู่ในบัญชีนวัตกรรมไทยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณที่ได้รับในแต่ละปี แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 30 โดยให้ใช้วิธีจัดซื้อจัดหาโดยวิธีพิเศษ เพื่อส่งเสริมตลาดนวัตกรรมของไทย มีเงื่อนไขว่าต้องมีมาตรฐานเทียบเท่าหรือไม่ต่ำกว่ามาตรฐานสากล และเห็นชอบมาตรการภาษี โดยให้ยกเว้นภาษีเงินปันผลและเงินลงทุนให้กับธุรกิจเงินร่วมทุน หากบริษัทที่สร้างนวัตกรรมสามารถเติบโต ระดมทุนเข้าถึงตลาดทุนได้ จะได้รับการยกเว้นภาษีนิติบุคคลร้อยละ 15 เป็นเวลา 5 ปี และเห็นชอบจัดตั้งกองทุนภาครัฐที่จะร่วมลงทุนในธุรกิจเงินร่วมลงทุนในลักษณะ Fund Of Funds โดยจะลงทุนผ่านกองทุนร่วมลงทุนที่จัดตั้งโดยมหาวิทยาลัยหรือสถาบันวิจัย ที่จะวิจัยในธุรกิจวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม 

ลือสะพัดเด้ง2ปลัด"ทส.-พลังงาน"

ที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ รมว.ทส. ปฏิเสธให้สัมภาษณ์กรณีเสียงวิจารณ์เรื่องเสนอย้าย นางมิ่งขวัญ วิชญารังสฤษดิ์ ปลัดทส. ไปเป็นที่ปรึกษานายกฯ ด้วยเหตุผลไม่สนองนโยบาย ว่า ได้ข้อมูลมาจากใครก็ให้ไปถามคนนั้น ว่าจริงหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระแสข่าวเรื่องการปลดนางมิ่งขวัญ มีเกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากนางมิ่งขวัญไม่ค่อยตอบสนองนโยบายของรัฐมนตรีในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแต่งตั้ง โยกย้าย 10 รองอธิบดีกรมต่างๆ ที่เพิ่งผ่านพ้นไป การแต่งตั้งกรรมการสอบวินัย นายสมัคร ดอนนาปี ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติฯ ที่มีปัญหา โดยมีเสียงวิจารณ์ว่าจะเสนอ ครม.พิจารณาในวันที่ 12 พ.ค. สำหรับผู้ที่จะมารับตำแหน่งปลัดทส.คนใหม่ มีรายชื่อ 3 คน คือ นายสุพจน์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองปลัดทส. นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ และนายเกษมสันต์ จิณณาวาโส เลขาธิการสผ.ที่เป็นเพื่อนเรียนวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร ร่วมรุ่นกับพล.อ.ดาว์พงษ์

โดยนายจตุพรกล่าวถึงกรณีนี้ว่า ยังไม่รู้เรื่องใดๆ ทั้งสิ้น เพราะไม่มีใครบอก สาบานว่าไม่รู้เรื่องจริงๆ และเวลานี้ มาตรวจงานอยู่ที่ จ.กระบี่

ด้านนายเกษมสันต์กล่าวว่า อย่าไปสนใจข่าวลือ เพราะเรื่องนี้ลือมาได้สักพักแล้ว ส่วนตัวไม่สนใจว่าใครจะไปหรือจะมาเป็นปลัด เพราะไม่ว่าจะอยู่ในตำแหน่งไหนก็ทำงานได้ 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากนางมิ่งขวัญ ถูกโยกย้ายจริง ก็จะถือเป็นปลัดทส.คนที่ 2 ของทส.ที่ถูกโยกย้ายในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้ย้ายนายโชติ ตราชู อดีตปลัดทส.ไปแล้ว

ที่กระทรวงพลังงาน นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกระแสข่าวถูกโยกย้ายว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่อง ซึ่งปัจจุบันก็ทำหน้าที่ปลัดกระทรวงพลังงานตามปกติ ไม่มีปัญหา "ไม่รู้ว่าจะยังไงแต่ผมก็ไม่ได้ดิ้นรน ทุกวันนี้อยู่ที่กระทรวงพลังงานก็โอเค ทำงานตามปกติ ไม่มีอะไร"

นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีกระแสข่าวม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ มีข้อเสนอให้โยกย้ายปลัดกระทรวงหลายกระทรวงแบบยกแผงว่า เป็นเพียงกระแสข่าว ม.ร.ว.ปรีดิยาธรไม่ได้เสนอแนวคิดเช่นนั้น และคงไม่โยกย้ายครั้งใหญ่ การโยกย้ายระดับ 11 คงไม่มี แต่คงปรับปรุงตำแหน่งตั้งแต่ระดับ 10 หรือตั้งแต่อธิบดีขึ้นไป ภายในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของกระทรวง

รายงานข่าวแจ้งว่า สำหรับอธิบดีที่เข้าข่ายถูกโยกย้ายมีประมาณ 5 ตำแหน่ง ดังนี้ นายจุมพล สงวนสิน อธิบดีกรมประมง นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร นายโอภาส กลั่นบุศย์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ นายศรี บุญชื่อ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.)

สปช.ฉลุยแจ้งฉุกเฉินโทร.112

เมื่อวันที่ 11 พ.ค. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีน.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณารายงานการปฏิรูประบบการแจ้งเหตุฉุกเฉินหมายเลขเดียว 112 ของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูประบบสาธารณสุข ตามข้อเสนอโครงการปฏิรูปเร็ว

นางพรพันธุ์ บุณยรัตพันธุ์ ประธานกมธ. ปฏิรูประบบสาธารณสุข ชี้แจงว่า สปช.เห็นชอบในการปฏิรูประบบการรับแจ้งเหตุ ด้วยการจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแห่งชาติขึ้น ใช้หมายเลขเดียว 112 ซึ่งประชาชนไม่เสียค่าใช้จ่าย สะดวก ครอบคลุมทั่วถึง 77 จังหวัด และจ่ายงานได้ภายใน 60 วินาที นับตั้งแต่รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน รวมถึงระบบรับแจ้งเหตุเชื่อมข้อมูลกับศูนย์จ่ายงานการแพทย์ฉุกเฉิน ดับเพลิงกู้ภัยและตำรวจได้ 

นางพรพันธุ์กล่าวว่า แม้จะเป็นโทรศัพท์ไม่มีซิมการ์ด เครื่องโทรศัพท์ที่ถูกระงับการใช้บริการก็โทร.แจ้งศูนย์ได้ สามารถระบุพิกัดสถานที่โทร.แจ้งนำไปสู่การช่วยเหลือที่ทันเวลา และระบบการแจ้งเหตุเบอร์เดียวจะเป็นสากล เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน เป็นหน่วยงานหลักในการเริ่มดำเนินการ โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เป็นหน่วยงานหลักดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มใช้ได้เดือนเม.ย.2559

นางพรพันธุ์กล่าวต่อว่า ครม. จะต้องพิจารณาและอนุมัติงบประมาณโดยละเอียด ระยะเริ่มต้นปีแรก 171,504,000 บาท เป็นงบลงทุน 47,880,000 บาท และงบดำเนินงาน 83,044,000 บาท ในปีที่ 2 สนับสนุน 83,044,000 บาท และในปีถัดไปเป็นงบฯดำเนินงานเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 5 ของงบฯที่ได้รับเพื่อใช้ซ่อมบำรุงรักษาอุปกรณ์ ทั้งนี้ ครม.ต้องมีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมมือสนับสนุน เช่น สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กระทรวงมหาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) กรุงเทพมหานคร สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ 

จากนั้น สมาชิกสปช.ส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุน ก่อนที่ที่ประชุมลงมติเห็นชอบ เพื่อส่งให้ครม.พิจารณาต่อไป ด้วยคะแนน 203 ต่อ 1 งดออกเสียง 4 และสั่งปิดการประชุมในเวลา 17.40 น.