P82บิ๊กตู่เข้ม-ห้ามขยับ เบรก'จิ๋ว' กั๊กทำ'ประชามติ'ห่วงสูญ 3 พันล้าน ผงะ-เงิน 800 ล. เซฟห้องบิ๊กศธ. ปปช.แจงพัลวัน ไม่ถอดหญิงเป็ด

     'บิ๊กตู่'เสียงเข้ม ห้ามบิ๊กจิ๋วขยับมากกว่านี้ ส่วนนักการเมืองห้ามลงพื้นที่ถ้าอยากพูดให้มาคุยที่ศปป. ย้ำรธน.เดินตามโรดแม็ป ติงใส่รายละเอียดเยอะทำขัดแย้ง ห่วงประชามติทำสูญเปล่า 3 พันล้าน ปัดปฏิรูปโครงสร้างตร. ให้รัฐบาลหน้าทำ ครม.อนุมัติขึ้น 2 ขั้น จนท.คสช.พันกว่านาย สนช.ถกปิดถอดถอนคดีขายข้าวจีทูจี วิชาแจงวุ่น ปมปปช.ไม่ถอดคุณหญิงเป็ด อดีตป.ป.ช.ชี้ต้องส่งสนช.ถอด กสม.นัด'พีซทีวี-กสท.'ร่วมถกปมปิดสถานี

'บิ๊กตู่'ย้ำรธน.เดินตามโรดแม็ป

 

วันที่ 08 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8927 ข่าวสดรายวัน

      เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเลื่อนมาจากวันอังคารที่ 5 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันฉัตรมงคล 

พล.อ.ประยุทธ์ให้สัมภาษณ์ภายหลังประชุมครม.ว่า การประชุมครม.ในวันนี้ได้คุยกันถึงเรื่องประชาธิปไตยและเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนได้ให้แนวทางไปหมดแล้ว ทุกอย่างต้องใจเย็นๆ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ต้องรอการแก้ไขที่แต่ละส่วนส่งไป โดยในส่วนของครม.และคสช.จะคุยกันในวันที่ 19 พ.ค. หากจะแก้ตรงไหนจะเสนอไปที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเช่นกัน อำนาจในการแก้หรือไม่แก้อยู่ที่กมธ.ยกร่างฯ ซึ่งรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้เช่นนั้น

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า จะเอามาตรา 44 ไปทับรัฐธรรมนูญอีกทีก็ไม่ได้ ฉะนั้นต้องเข้าใจด้วย ศักดิ์ศรีมันเท่ากัน หากแก้เสร็จตามระยะเวลาก็เป็นเรื่องของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่จะลงประชามติ ถ้าไม่ผ่านตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวระบุไว้ว่าต้องตั้งใหม่ และยกร่างกันใหม่ ใช้เวลาตามสูตร ทุกอย่างถ้าตกลงกันไม่ได้ก็ต้องเป็นอย่างนั้น แต่ถ้ามติของสปช.ผ่าน ก็ต้องไปถามแม่น้ำ 5 สายต้องการอย่างไร ถ้าเห็นชอบร่วมกันว่าต้องทำประชามติ ก็ต้องใช้เวลาในการแก้ไขรัฐธรรม นูญชั่วคราวก่อนถึงจะทำประชามติได้ ซึ่งต้องดูสถานการณ์ตรงนั้นอีกที ไม่อยากพูดในวันนี้ เพราะถ้าพูดวันนี้จะกลายเป็นว่าตนนำไปทั้งหมด หรืออยากอยู่ต่อ

 

อ้างประชามติสูญ 3 พันล้าน

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การลงประชา มติจะผ่านหรือไม่ผ่านก็ไม่รู้ แต่ต้องใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาท เหมือนกับการเลือกตั้ง ซึ่งต้องใช้เวลาอีก 1-3 เดือนในการทำประชามติ แต่หากประชามติผ่านจะเป็นรัฐธรรมนูญเข้าสู่การเลือกตั้งภายในเวลา 2-3 เดือนหรือภายใน 90 วัน ซึ่งมันมีสูตรของมันอยู่แล้ว ไม่เกี่ยวกับตนเลย เกี่ยวกับ 5 สายทั้งหมด และประชาชนทั้งประเทศจะร่วมมือกันในช่วงไหน ฉะนั้นยืนยันว่าเป็นไปตามโรดแม็ป รัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้อย่างไรก็เป็นอย่างนั้น ช่วยกันเถอะ พาประเทศชาติไป 

     "ขอให้จำตัวเลขไว้ เงิน 3,000 ล้านบาทเก่าอยู่ไหนยังไม่รู้ จะต้องมี 3,000 ล้านบาทใหม่อีกรอบ ถ้าไม่ผ่าน แล้วทำประชามติใหม่อีกรอบหรือไม่ ถ้าทำก็ต้องใช้เงินอีก 3,000 ล้านบาท" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า ถ้าอยากให้ทำประชามติก็ต้องยอมรับสภาพและใช้เงินที่มีอยู่ แทนที่จะนำเงินไปทำอะไรที่สร้างความเข้มแข็ง ไปซื้อวัสดุหรือลดต้นทุนชาวนา แต่ต้องมาหายไป 3,000 ล้านบาท ซึ่งมันจะได้อะไรขึ้นมากับตรงนี้หรือไม่ตนก็ยังไม่รู้ ถามว่าคนจะยอมรับทั้งหมดหรือไม่ มันก็ไม่หมดหรอก เผลอๆ ก็เท่าเก่า ผ่านไม่ผ่านจะยอมรับไปก่อนหรือไม่ นั่นแหละอันตราย ถ้าผ่านก็ต้องผ่านทั้งหมด ไม่ผ่านก็ไม่ผ่านทั้งหมด นั่นแหละถึงจะเลิกทะเลาะกันเสียที แต่อย่าให้ใครมาชี้นำท่าน เพราะอนาคตของท่านและลูกหลานอยู่ที่ตัวท่านเอง

 

ชี้ใส่รายละเอียดเยอะทำขัดแย้ง

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ประเด็นที่ตนให้ความคิดเห็นไป ว่ารัฐธรรมนูญของเราเปลี่ยนมาหลายรอบแล้วเต็มที เป็นเพราะเราลงรายละเอียดมากเกินไปหรือเปล่า อันนี้เป็นข้อคิดเฉยๆ การเขียนรัฐธรรมนูญควรจะเขียนประเด็นหลักๆ ไหม ต้องมาดูกันว่าสิ่งไหนควรอยู่ในรัฐธรรมนูญ หรืออยู่ในกฎหมายลูก อะไรควรจะอยู่ในบทเฉพาะกาล ถ้ามันจะทะเลาะกันก็ทะเลาะกันตรงส่วนล่าง รัฐธรรม นูญจะได้ไม่ต้องเปลี่ยนบ่อย และจะได้สามารถชี้แจงชาวโลกได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยไม่ได้ขัดแย้งกับคนอื่นมากนัก แต่หากจะ ผิดเพี้ยนเพื่อที่เราจะปฏิรูปมันควรจะเขียนไว้ตรงไหน 

"วันนี้เหมือนกับว่าเอาทุกอย่างไปใส่ไว้ในรัฐธรรมนูญทั้งหมด เลยทำให้ความขัดแย้งสูง สิ่งนี้เป็นความคิดของผม แต่ไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน ต้องถามนักกฎหมาย ต้องฟังคสช.และครม.ทั้งคณะอีกที" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

ห้ามนักการเมืองพบประชาชน

    เมื่อถามว่า ถ้านักการเมืองต้องการลงพื้นที่พบประชาชน อย่างที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯลงพื้นที่พบชาวนาที่จ.พระนคร ศรีอยุธยาสามารถทำได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่ได้ เพราะไม่มีหน้าที่ตรงนั้น อะไรที่เป็นหน้าที่ของการเมืองหรือเกี่ยวข้องกับการเมืองทำไม่ได้หมด ทำได้เพียงการร่วมประชุมกับศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ถ้าอยากจะพบปะกัน ตนกำลังให้พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ดูรายละเอียดว่าจะประชุมพรรคกันที่ไหนอย่างไร แต่ต้องไม่ใช่การประชุมอิสระ เพราะประชุมกันอยู่แล้ว ทางโทรศัพท์ก็สามารถคุยกันได้ แต่ถ้าอยากประชุมพรรคให้ไปที่ศปป. จะจัดห้องไว้ให้ แล้วจะให้คนไปนั่งฟังด้วย

      เมื่อถามว่าสิ่งที่พล.อ.ชวลิตทำสามารถถือว่าผิดคำสั่งคสช.หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวด้วยน้ำเสียงเข้มว่า "ท่านเป็นใคร ควรจะรู้หรือไม่ว่าควรต้องทำอะไรอย่างไร ไปถามท่านโน่น เดี๋ยวจะหาว่าผมไม่เคารพท่านอีก แต่นี่เคารพอยู่ เพราะท่านเป็นอดีตผู้บังคับบัญชา ถ้าท่านทำไปมากกว่านี้ และผิดพลาดมากกว่านี้ คนก็มาเล่นงานผมอีก แต่อย่าลืมว่าท่านไปอยู่กับรัฐบาลมาก่อน และไม่ได้อยู่ข้างรัฐบาลผม ฉะนั้นท่านก็อยู่ในข่ายเหมือนกัน แต่ผมเคารพท่านเป็นการส่วนตัวอยู่แล้วในฐานะทหารเก่า และไม่เคยดูถูกท่าน ในความเป็นคนเก่งของท่าน แต่วันนี้ท่านอายุเยอะแล้วนะ" 

เมื่อถามว่าที่ระบุว่าพล.อ.ชวลิตอายุเยอะ ควรพักผ่อนแล้วใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่าไม่รู้ แล้วแต่จะคิด แต่ท่านก็เคยเสนอว่าพร้อมที่จะเป็นนายกฯ ไม่ใช่เหรอ

 

ลั่นยังไม่ปฏิรูปโครงสร้างตร.

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า การเข้ามาทำงานในลักษณะที่ตนเข้ามาไม่ใช่สิ่งที่ใครอยากทำ อย่างตนก็เกษียณไปแล้ว แต่ไม่มีใครจะเข้ามาทำงาน วันนี้หาคนที่จะเข้ามาเป็นนายกฯ ยังไม่ค่อยอยากจะมี จะมีก็แค่คนเก่าๆ ไม่รู้ว่าพวกท่านจะได้คนเก่าๆ หรือเปล่ายังไม่รู้ 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวด้วยว่า การปฏิรูปเรื่องโครงสร้างตำรวจเป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ ถ้าทำตอนนี้ก็ตีกันตาย ต้องไปทำตอนปฏิรูปให้ไปปรับและทำกันแล้วค่อยเสนอมา จากนั้นก็ตั้งกรรมการมาพิจารณาศึกษาว่าเหมาะสม และทำได้หรือไม่ ถ้าทำตามใจกันมันไม่ได้ อยากเปลี่ยนตำรวจ อยากให้มีตำรวจท้องถิ่นก็ต้องทดลอง ลดกำลังตรงนี้ไปเพิ่มตรงนั้น กำหนดหน้าที่เฉพาะลงไป โดยส่วนกลางก็ยังคงมีอำนาจอยู่เพื่อถ่วงดุล และถ้าแข็งแรงดีแล้วก็ค่อยๆ ปรับเปลี่ยน แล้วถ้ามีตำรวจท้องถิ่นขึ้นมา ใครจะรับประกันว่าแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัดจะไม่มีอำนาจถืออาวุธต่อสู้กัน แค่นี้ก็จะตีกันตายแล้ว การปฏิรูปเคยบอกแล้วว่าต้องทำเป็นขั้นตอน ขั้นแรกใช้โครงสร้างเดิมที่มีอยู่แล้วบูรณาการให้ได้ โดยไม่ต้องใช้อำนาจพิเศษ

 

ย้ำต้องเร่งทำรถไฟรางคู่

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เป็นห่วงในเรื่องเศรษฐกิจระดับล่าง โดยย้ำกับทุกกระทรวงให้พูดถึงคนละดับล่างก่อน ซึ่งตนจะลงไปตรวจดูด้วยว่าคนในระดับล่างนั้นมีความเข้าใจถึงนโยบายของรัฐบาลหรือไม่ เพื่อเป็นมาตรการในการดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ไปด้วย

    "ขณะนี้เงินของรัฐบาลใกล้จะแย่อยู่แล้ว เพราะที่ผ่านมาใช้งบกลางทั้งสิ้น ขณะนี้เหลือน้อยลง อีกทั้งต้องเตรียมการเพื่อรับมือกับภัยพิบัติเพราะถ้าเกิดขึ้นมาจะเดือดร้อนถ้าไม่มีเงิน ประชาชนต้องเข้มแข็งและไม่เรียกร้องจากรัฐบาลเพียงอย่างเดียว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

    พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ได้บอกไปในเรื่องรถไฟ รถยนต์ รถเมล์ สั่งกระทรวงกลาโหมไปแล้วถ้าใครหยุดวิ่งจะเอารถถังวิ่งให้หมด ดังนั้นอย่ามาประท้วง ตนจะไปขับให้หมด ไปเรียนขับรถไฟ ต้องแก้ไขปัญหา ประท้วงไม่มีประโยชน์ วันนี้ที่ตนใช้เงิน อาจมองว่าเป็นตัวเลขจำนวนมากแต่เป็นโครงการระยะยาวแต่ไม่ได้กู้ยาวนาน 20-30 ปี ถ้าไม่ทำวันนี้หลายอย่างจะไม่เกิดขึ้น เรารอรถไฟทางคู่ รถไฟฟ้า 

 

ปรามครูอย่าแต่งดำประท้วง

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวข้อเสนอกระจายอำนาจจัดการการศึกษาสู่ท้องถิ่น ถ่ายโอนโรงเรียนและสถานศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ไปอยู่ในกำกับดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ว่า รู้สึกกังวลในเรื่องนี้ และอยากบอกกับบรรดาครูที่ออกมาแต่งชุดดำคัดค้านและผู้ที่เกี่ยวข้องว่าอย่าไปตกใจกับการเสนอแนวคิดนี้ ซึ่งยังไม่ถึงเวลา และยังไม่รู้เลยว่าการปฏิรูปจะระบุไว้ในส่วนใดของรัฐธรรมนูญ ไม่รู้เลยว่าจะปฏิรูปอย่างไร ใครเป็นผู้ใช้อำนาจ แต่การปฏิรูปนั้นต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลชุดใหม่ โดยการปรับแก้ไขภายในกระทรวง 

     พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การที่จะให้ประเทศเดินไปข้างหน้าไม่สามารถเอาใจทุกคนได้ จำเป็นต้องมีกรอบให้เดินในระยะแรก ที่สปช.เสนอให้ครูในพื้นที่ไปขึ้นกับท้องถิ่น เป็นการเสนอในสปช. แต่ก็ไม่ยอมกันแล้วออกมาเดินขบวน ข้อสรุปยังไม่ออกมาเลยรัฐธรรมนูญก็ยังไม่เสร็จ จะประท้วงอะไรตั้งแต่วันนี้ ทุกกฎหมายก็ต้องไปสู้กันในสนช. กว่าจะออกมาก็ 3 วาระ ซึ่งก็ต้องมีการชี้แจง ปรับเปลี่ยน แก้ไข วันนี้ทุกคนต้องเสียสละมองประโยชน์ของชาติเป็นหลัก

 

ครม.อนุมัติขึ้นเงินเดือน'คสช.'

      รายงานข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า ในที่ประชุมมีการพิจารณาวาระการขอรับการพิจารณาเลื่อนขั้นเงินเดือนกรณีพิเศษ 2 ขั้น (นอกเหนือโควตาปกติ) จากงบกลางเพิ่มเติมให้กับกำลังพลที่ปฏิบัติงานในคสช. ที่สำนักเลขาธิการคสช.เสนอให้ครม.พิจารณาสนับสนุนโควตาการพิจารณาบำเหน็จความชอบประจำปี 2 ขั้น กรณีพิเศษเพิ่มเติมอีก ร้อยละ 3 ของจำนวนเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน คสช. 1,033 นาย โดยให้มีผลในปีงบ ประมาณ 2558 ซึ่งครม.ให้ความเห็นชอบตามที่สำนักเลขาธิการคสช.เสนอ

      รายงานข่าวระบุว่า สาเหตุที่มีการเลื่อนขั้นให้เนื่องจากโควตาเลื่อนขั้นตามปกติให้กับคนที่ทำงานให้กับคสช.เต็มแล้ว แต่เนื่องจากคนทำงานให้คสช.มีจำนวนมากจึงเหลือคนที่เป็นส่วนต่างที่มาขอ 2 ขั้นพิเศษ ส่วนเงินเดือน 2 ขั้นจะขึ้นมากหรือไม่ต้องพิจารณาที่ฐานของเงินเดือนด้วย ยกตัวอย่าง หากเป็นทหารชั้น ผู้น้อยได้ 1 ขั้นได้ขึ้นประมาณ 600 บาท 2 ขั้นประมาณ 1,200 บาท เป็นต้น

 

'บิ๊กป้อม'ยันเดินตามโรดแม็ป

     ที่ร.พ.ทหารผ่านศึก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ในฐานะรองหัวหน้าคสช. กล่าวถึงที่พระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ระบุให้คสช.อยู่บริหารประเทศ 5 ปีว่า "ผมไม่ทราบ ต้องไปถามพระสุเทพ ยืนยันว่าการทำงานของรัฐบาลและคสช.เดินตามโรดแม็ปและเป็นไปตามนั้น ท่านจะสนับสนุนก็เป็นเรื่องของท่าน"

พล.อ.ประวิตรยังกล่าวถึงข้อเสนอทำประชามติว่า ต้องคุยกันและสามารถคุยกันได้ ไม่มีปัญหา สามารถเสนอขึ้นมาได้ ทั้งนี้ในวันที่ 19 พ.ค. ทางคสช.และครม.จะมีการประชุมร่วมกันอีกครั้ง 

      เมื่อถามย้ำว่าจะไม่มีการพูดถึงเรื่องการปรับครม.ในช่วงนี้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประวิตรกล่าวว่า ตอนนี้ยังไม่พูด แต่จะพูดกันวันข้างหน้าหรือไม่ตนไม่รู้ แต่วันนี้ยังไม่มีคิด

 

จตุพร เย้ย'พระสุเทพ'ให้พรบิ๊กตู่

      นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. กล่าวถึงกรณีที่พระสุเทพ ระบุให้ พล.อ. ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ไปนานๆ เพราะเป็นบุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุดว่า มองได้สองนัยยะ คือให้พรหรือให้กรรม โดยข้อเท็จจริงแล้วเวลาที่ พล.อ.ประยุทธ์เดินทางไปต่างประเทศ หรือพบตัวแทนของต่างประเทศในประเทศไทย ท่านจะพูดยืนยันทุกครั้งว่าจะอยู่ทำหน้าที่ตามโรดแม็ป และจะเร่งคืนประชาธิปไตยโดยเร็วที่สุด ขณะที่พล.อ. ประยุทธ์ก็แสดงอาการหลายครั้งว่าไม่อยากอยู่ต่อแล้ว ดังนั้นคำพูดของพระสุเทพอาจจะเป็นความหวังดีประสงค์ร้ายกับ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่

      นายจตุพร กล่าวว่า ในทางการเมืองคำชมมักมีสองลักษณะ คือชมแบบจากน้ำใสใจจริง และชมแบบเชิญแขก ซึ่งคำชมไม่ใช่สิ่งดีเสมอไป สถานการณ์ในขณะนี้ต้องยอมรับว่าแม้ พล.อ.ประยุทธ์พยายามแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ผลลัพธ์และสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นตรงกันข้าม ขณะที่ปัจจัยทางการเมืองโดยเฉพาะเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าจะกลายเป็นทุกข์รอบใหม่ของพล.อ.ประยุทธ์ ยิ่งมาเจอปัญหาโรฮิงยา ยิ่งทำให้เกิดภาวะที่ยากลำบากมากยิ่งขึ้น เมื่อพระสุเทพโผล่มาทำนายแบบนี้ เชื่อว่าความทุกข์ของ พล.อ.ประยุทธ์คงเพิ่มขึ้นอีกเป็นเท่าตัว ไม่แน่ใจว่าก่อนให้พร พระสุเทพได้ถาม พล.อ.ประยุทธ์หรือยังว่าอยากได้พรนี้หรือไม่ 

 

พท.แจงเหตุขอประชุมพรรค

     นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีคสช.ไม่เปิดช่องให้พรรคการเมืองประชุมระดมสมอง เพื่อเสนอความเห็นแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ แต่ให้ใช้ช่องทางศปป.แทนว่า ทาง คสช.คงไม่เข้าใจในสิ่งที่เราเสนอว่าเรื่องนี้เราต้องการความเห็นของคนทั้งพรรค การไปแสดงความเห็นผ่าน ศปป.นั้นเราไปอยู่แล้ว แต่เป็นการแสดงความเห็นส่วนตัว ไม่สามารถแสดงความเห็นในนามพรรคได้โดยตรง ที่ขอให้คสช.เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมทางการเมืองโดยการจัดประชุมพรรคได้นั้น เพียงต้องการระดมสมองของคนทั้งพรรคเพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องรัฐธรรมนูญที่มองเห็นได้ชัดเจน และมาจากการมีส่วนร่วมของทุกคนในพรรคอย่างแท้จริง

     นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงข้อเสนอการทำประชามติ ว่า ยอมรับว่ากระแสการทำประชา มติเกิดขึ้นและดังขึ้นเรื่อยๆ เพราะเป็นช่องทางเดียวที่จะทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยึดโยงกับประชาชนบ้าง 

 

'กษิต'ชี้ร่างรธน.เป็นเผด็จการ

     ที่อาคารดิจิตอล มัลติมีเดีย คอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยรังสิต วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง : ประเทศไทยหลังรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2558 ตอนหนึ่งว่า ตนรับฟังความเห็นหมดในสิ่งที่พรรคใหญ่กังวล อย่างให้มีการตั้งกลุ่มการเมืองที่อาจมีคนในพรรคออกไปตั้งกลุ่ม มีความเห็นก็เสนอเข้ามา วันนี้ยังแก้ไขได้ ไม่มีรัฐธรรมนูญไหนดีที่สุดในโลก คนเขียนรัฐธรรมนูญนี้รู้ตัวเองว่าสวมหัวโขนอยู่ได้ไม่นาน จึงต้องรับฟังพรรคการ เมืองและทุกองค์กร การเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เคยทำมาก็ย่อมถูกคัดค้าน เรามีเวลาถึงวันที่ 23 ก.ค.นี้ ที่ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้สปช.ลงมติ ส่วนตัวยังเห็นว่ารัฐธรรมมนูญนี้ต้องทำประชามติ แต่สุดท้ายคนที่ตัดสินใจคือคสช.

     ส่วนนายกษิต ภิรมย์ อดีตรมว.ต่างประเทศ กล่าวบรรยายถึงการปฏิรูปประเทศไทยเพื่อเตรียมความพร้อมสู่การแข่งขันในอาเซียนและเวทีโลกช่วงหนึ่งว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นร่างเผด็จการ ไม่เห็นด้วยกับนายบวรศักดิ์ใดๆ ทั้งสิ้น เป็นร่างที่สั่งการเเละควบคุมประชาชน ซึ่ง 11 องค์กรที่ถูกตั้งขึ้นมาใหม่ เหมือนเป็นการบงการบริหารจัดการบ้านเมืองจากทางข้าราชการ ตราบใดที่ต้องการจำกัดบทบาทของนักการเมืองนั่นก็เหมือนการจำกัดบทบาทของประชาชน หัวใจของการปฏิรูปคือการกระจายอำนาจ โอนการทำงานจากส่วนกลางไปสู่จังหวัดรวมทั้งต้องปฏิรูปการจัดซื้อจัดจ้าง ไม่มีรัฐมนตรีในยุโรปสักคนเดียวที่มีอำนาจในการเซ็นลงนามจัดซื้อจัดจ้างเหมือนของไทย

 

กมธ.ปฏิรูปฯไม่โต้'เสธ.อู้'

      นายนิรันดร์ พันทรกิจ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่าคณะกมธ.ปฏิรูปการเมืองจะเชิญ 74 พรรคการเมืองเข้าให้ความคิดเห็น เนื่องจากเห็นว่าประเด็นการเมืองเป็นเรื่องที่พรรคการเมืองต้องมีส่วนร่วม และการจะร่างรัฐธรรมนูญจะดำเนินการแบบต่างคนต่างทำไม่ได้ กมธ.ปฏิรูปการเมืองมีสิทธิ์ในการหาข้อมูลเพื่อเป็นผลสรุปก่อนส่งต่อให้กมธ.ยกร่างฯ จึงได้เชิญพรรคการเมืองเข้ามา เพราะต้องสรุปข้อเสนอก่อนส่งเรื่องให้กมธ.ยกร่างฯ ส่วนที่พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯระบุว่ากมธ.ปฏิรูปการเมืองน่าจะคิดเองได้โดยที่ไม่ต้องมีคนอื่นมาช่วยคิดนั้น คงเป็นเพียงความคิดส่วนตัวของพล.อ.เลิศรัตน์ เพราะในชุดของกมธ.ปฏิรูปการเมืองก็มีผู้ที่เป็นคณะกมธ.ยกร่างฯถึง 4 คน ได้แก่ นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ นายประชา เตรัตน์ และนายไพบูลย์ นิติตะวัน ทั้ง 4 คนก็ไม่ได้มีความเห็นขัดแย้งที่กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะเชิญพรรคการเมืองต่างๆ เข้ามาร่วมให้ความคิดเห็น

       "สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญต้องทำเรื่องที่เป็นไปได้ ไม่ใช่จะทำเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ มิเช่นนั้นก็จะไม่สามารถแก้ปัญหาที่ผ่านมาได้เลย การแสดงความคิดเห็นของพล.อ.เลิศรัตน์อาจเป็นเพียงความคิดเห็นเพียงคนเดียวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม กมธ.ยกร่างฯก็ต้องเปิดใจกว้าง เพราะประเด็นการเมืองอาจต้องมีอีกหลายเรื่องที่เราต้องหารือกัน และท่านเองก็ต้องรับพิจารณาความคิดเห็นจากฝ่ายอื่นๆ บ้าง เราก็ทำงานของเราไปในฐานะกมธ.ปฏิรูปการเมือง ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นจากพรรคการเมืองด้วย จะต่างคนต่างทำก็ไม่ได้" นายนิรันดร์กล่าว

 

สนช.ถกปิดคดีข้าวจีทูจี

     ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นประธานประชุมสนช. วาระพิจารณาถอดถอนนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีตรมว.พาณิชย์ นายภูมิ สาระผล อดีตรมช.พาณิชย์ และนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กรณีทุจริตการซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ประกอบมาตรา 56 (1) และมาตรา 58 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย ป.ป.ช.

โดยก่อนเข้าสู่วาระการประชุมนายพรเพชร ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบ ถึงมติของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ต่อ กรณีคุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา อดีตประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ อนุมัติให้ไปดูงานสำนักงานผู้ตรวจเงินแผ่นดิน ประเทศฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ อิตาลี ระหว่างวันที่ 5-14 พ.ค.2546 ว่า ไม่สามารถเอาผิดทางวินัยและไม่ต้องดำเนินการถอดถอนเนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณพ้นตำแหน่งไปแล้ว นอกจากนี้ยังขอให้ที่ประชุมรับทราบการใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. ออกคำสั่งคสช.ที่ 9/2558 เรื่องการให้ข้าราชการสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ และ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย 

 

วิชาแถลงสรุปฝ่ายป.ป.ช.

      จากนั้นเข้าสู่วาระการแถลงปิดคดีถอดถอน เริ่มจากนายวิชา มหาคุณ กรรมการป.ป.ช. ฝ่ายผู้กล่าวหา แถลงปิดสำนวนว่า กระบวนการระบายข้าวแบบจีทูจีไม่มีอยู่จริง แต่เป็นวิธีการกระทำการอย่างซับซ้อนที่รู้ช่องโหว่เป็นอย่างดีโดยได้รับความร่วมมือจากข้าราชการประจำที่รู้ช่องทางพร้อมด้วยบริษัทนิติบุคคล โดยทำงานเป็นขบวนการสร้างความเสียหายให้ประเทศชาติอย่างร้ายแรง ซึ่ง นายมนัส ในฐานะผู้เจรจา ร่วมกับนายภูมิและนายบุญทรงได้ละเว้น ไม่ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าบริษัทกวางตุ้ง และ บริษัท ไฮ่หนาน ที่อ้างว่า ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลจีนมาทำสัญญาซื้อขายข้าวจริงหรือไม่

นายวิชากล่าวว่า ข้อเท็จจริงไม่มีหลักฐานใดยืนยันชัดเจนได้ นอกจากนี้เงินที่นำมาชำระค่าข้าว เป็นเงินที่มาจากผู้ค้าข้าวภายในประเทศ ไม่ใช่จากต่างประเทศ และยังพบการแบ่งหน้าที่กันทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เร่งรีบทำสัญญาซื้อขาย 

 

ภูมิย้ำไม่เกี่ยว-ให้รอศาลชี้ก่อน

       จากนั้น นายภูมิ แถลงปิดสำนวนว่า การทำหน้าที่ของตนในฐานะรมช.พาณิชย์ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยให้ปฏิบัติหน้าที่เร่งด่วน โปร่งใส ไม่ให้มีการทุจริตในการระบายข้าว เพื่อนำเงินที่ได้ไปใช้เป็นทุนหมุนเวียนในโครงการรับจำนำข้าวในรอบปีการผลิตต่อไป จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะไปสมคบหรือแบ่งแยกหน้าที่กับใครตามที่ถูกกล่าวหา และขอย้ำว่าปัญหาสต๊อกข้าวที่ตกทอดจากรัฐบาลเก่าตั้งแต่ปี 2548-2552 จนตกทอดมาถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นปัญหาสำคัญอย่างยิ่ง ซึ่งการขายข้าวจีทูจี เป็นยุทธศาสตร์การระบายข้าวรูปแบบหนึ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ เมื่อมีเอกสารของทางราชการยืนยันว่า บริษัท จีเอสเอสจี เป็นรัฐวิสาหกิจจีน ย่อมทำให้ตนในฐานะผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบ เชื่อถือวิธีการตรวจสอบเอกสารที่ราชการยืนยัน และพิจารณาตามกรอบที่เสนอมา 

      นายภูมิ กล่าวต่อว่า โครงการรับจำนำข้าวเป็นโครงการใหญ่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมาก หากพบว่ามีการทุจริตก็ควรตรวจสอบแก้ไขเอาผิดผู้ทุจริตนั้น ไม่ใช่เหมารวมว่าผู้รับผิดชอบโครงการต้องรับผิดทั้งหมด ถ้าใช้วิธีการนี้ต่อไปก็ยากที่จะหาคนทำงานอย่างทุ่มเท นอกจากนี้อยากตั้งข้อสังเกตไปที่ป.ป.ช. ว่าระยะเวลาที่ตนทำงาน และเกี่ยวข้องกับการระบายข้าวเพียง 5 เดือน และเกี่ยวข้องกับ บริษัทจีเอสเอสจีเท่านั้น แต่มีความพยายามโยงไปเกี่ยวข้องกับบริษัท ไห่หนาน ซึ่งตนไม่เกี่ยวข้อง อีกทั้งสำนวนของป.ป.ช.ไม่มีหลักฐานและพยานบุคคลยืนยันว่าเป็นผู้กระทำผิด และถือเป็นการยัดเยียดข้อกล่าวหาให้ตน ดังนั้นหากสนช.ดำเนินการถอดถอนต่อไป และสุดท้ายถูกถอดถอน ขณะที่คดีความอยู่ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และปรากฏว่าในอนาคตศาลได้ยกฟ้องอยากจะถามว่าสนช.จะมีมาตรการอะไรเยียวยาตนหรือไม่ จึงเสนอให้ยุติกระบวนการและรอการตัดสินของศาลก่อน 

 

บุญทรง โอดไม่รับฟังพยาน

     ด้านนายบุญทรง แถลงปิดสำนวนว่า ยืนยันว่าปฏิบัติหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา และไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นจะยืนยันอย่างนี้ไปตลอดชีวิต เพราะขั้นตอนการระบายข้าวไม่สามารถใช้เล่ห์กระเท่ห์ อุปโลกน์ สวมรอยใดๆ ได้ อย่างที่ผู้กล่าวหาใช้วาทกรรม เนื่องจากมีกรอบขั้นตอนวิธีการปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์เดิมของรัฐบาลที่ผ่านมา ขณะที่การดำเนินการเป็นการทำแบบจีทูจีจริงไม่ใช่เก๊ตามที่ผู้ถูกกล่าวหาสร้างวาทกรรมมาตลอด นอกจากนี้รัฐบาลน.ส.ยิ่งลักษณ์ พยายามระบายข้าวทุกวิธีไม่ใช่เฉพาะแบบจีทูจี แต่เหตุที่ขายข้าวแบบจีทูจีมากกว่าวิธีอื่น เพราะมีข้าวค้างสต๊อกจากรัฐบาลเก่าหลายล้านตัน และมีข้าวใหม่เข้ามา รัฐบาลจึงต้องเร่งระบายข้าว อีกทั้งข้อเท็จจริงปรากฏพยานหลักฐานจากผู้ซื้อส่งมาให้ป.ป.ช. แต่ป.ป.ช.กลับตัดพยานหลักฐานดังกล่าวออก เหมือนตั้งธงไว้

      "ความเป็นธรรมที่จะสอบพยานให้ผมไม่มีพื้นที่เลยหรือ ความเป็นธรรมมีให้เฉพาะฝ่ายผู้กล่าวหาเพื่อให้ผมต้องรับโทษทางอาญาและถูกถอดถอนเท่านั้นหรือ การไต่สวนในคดีทางอาญาและรับโทษจำคุกตลอดชีวิต และปรับหลายหมื่นล้านบาท จะให้โอกาสเฉพาะฝ่ายผู้กล่าวหาเท่านั้นหรือ แล้วเหตุใดฝ่ายผู้ถูกกล่าวหาอย่างพวกผมถึงไม่ได้รับโอกาสเช่นนั้นบ้าง" นายบุญทรงกล่าว 

 

ยกคดีหญิงเป็ดสวน 2 มาตรฐาน

       "เมื่อผู้แทนผู้กล่าวหาพูดถึงคุณธรรมจริยธรรมตลอดเวลา บัดนี้ตนได้ประจักษ์ด้วยตนเองแล้วว่า คำอ้างอันสวยหรูของท่านเป็นเพียงวาทกรรมที่ประดิษฐ์ ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะป.ป.ช.เลือกสอบพวกผมอย่างรวดเร็ว แต่ไม่สอบคดีที่อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับพวกผม บางกรณีรอเป็น 10 ปี ป.ป.ช.เลือกถอดถอนนายมนัส แต่วันนี้ป.ป.ช.เลือกที่จะไม่ถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณ ซึ่งทำให้เข้าใจได้ว่า การกระทำเช่นนี้เป็นการอำนวยความยุติธรรมแบบ 2 มาตรฐาน เพราะท่านเลือกไต่สวนพยานที่ไม่เป็นคุณแก่พวกผม โดยไม่อธิบายเหตุผลถือเป็นความยุติธรรมอำพรางเพื่อเบี่ยงเบนซัดทอดกันในทางการเมืองเพียงอย่างเดียว" นายบุญทรงกล่าวและว่า พวกตนยืนยันที่จะขอปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาของ ป.ป.ช. 

จากนั้นนายพรเพชร ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในวันที่ 8 พ.ค. จะเป็นการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอนต่อไป

 

หึ่งสนช.โหวตถอดถอน

       รายงานข่าวจากรัฐสภาเปิดเผยว่า สำหรับการลงมติถอดถอนนายบุญทรง นายภูมิ และนายมนัส กรณีการทุจริตการระบายข้าวจีทูจีในวันที่ 8 พ.ค. สนช.ส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า มีความผิดจริง และมองว่าป.ป.ช.สามารถชี้แจง โดยอ้างพยานหลักฐานได้อย่างชัดเจนกว่า ต่างจากผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่สามารถชี้แจงได้ว่า ข้าวที่ทำสัญญาส่งออกนอกประเทศจริงหรือไม่ ทำให้เสียงสนช.ทุกสายเทไปในทิศทางเดียวกัน โดยคะแนนถอดถอนนายบุญทรงและนายภูมิจะไม่ต่ำกว่าครั้งที่สนช.เห็นชอบถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ 190 เสียง 

      รายงานข่าวระบุด้วยว่า ส่วนกรณีของนายมนัสคะแนนเสียงถอดถอนจะเกินเกณฑ์ 3 ใน 5 เพียงเล็กน้อย อยู่ในระดับ 150 คะแนน เนื่องจากยังมีสนช.สายข้าราชการ เข้าใจว่าเมื่อพ้นจากการดำรงตำแหน่งข้าราชการแล้ว ไม่ควรต้องโดนถอดถอนอีก ประกอบกับนำมติล่าสุดไม่ถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณออกจากตำแหน่ง เนื่องจากพ้นจากตำแหน่งไปแล้วของป.ป.ช.มาเทียบเคียง แต่สนช.ส่วนใหญ่ต่างเห็นคล้อยตามการแถลงปิดคดีสำนวนของป.ป.ช.ว่า แม้จะพ้นจากตำแหน่งข้าราชการไปแล้ว ต้องถอดถอนเพื่อไม่ให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้อีก 

 

วิชาแจง วุ่นไม่ถอดถอนหญิงเป็ด

     นายวิชา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีป.ป.ช.ไม่เสนอถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณ ว่าข่าวดังกล่าวเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อนไม่ตรงกันในข้อกฎหมาย กล่าวคือป.ป.ช.ได้พิจารณาเรื่องที่กล่าวหาดังกล่าวแล้วมีมติในส่วนของคุณหญิงจารุวรรณ ว่ามีมูลเป็นเพียงการปฏิบัติหน้าที่โดยบกพร่อง ประพฤติตนไม่เหมาะสม ไม่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ ไม่ถึงขั้นเป็นความผิดทางอาญา และเนื่องจากตำแหน่งผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย จึงไม่สามารถดำเนินการทางวินัยได้ 

      ทั้งนี้ ตามมาตรา 92 วรรคท้าย แห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยป.ป.ช.พ.ศ. 2542 กำหนดว่าในกรณีที่ไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย เมื่อป.ป.ช.มีมติว่าผู้ถูกกล่าวหาดังกล่าวได้กระทำผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่พร้อมทั้งความเห็นของคณะกรรมการป.ป.ช. ไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอน เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป แต่ในกรณีนี้คุณหญิงจารุวรรณได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว ป.ป.ช. จึงมีมติให้มีหนังสือแจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบ ซึ่งหมายถึงแจ้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่มีอำนาจถอดถอนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ตามพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน พ.ศ.2542 มาตรา 34 (6) ทราบ แต่ในขั้นตอนการมีหนังสือแจ้งให้ผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนทราบดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน โดยส่งไปที่สนช. ทางป.ป.ช.จึงมีมติให้สำนักงานป.ป.ช.แก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้มีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงให้สนช.ทราบ และมีหนังสือแจ้งให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินได้ทราบด้วย 

 

อดีตปปช.ชี้ต้องส่งคดีให้สนช.

      วันเดียวกัน นางสมลักษณ์ จัดกระบวนพล อดีตป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีไม่ส่งสำนวนถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณเข้าสู่กระบวนการถอดถอนของสนช. ว่าส่วนตัวมองว่าป.ป.ช. ต้องส่งสำนวนถอดถอนคุณหญิงจารุวรรณให้สนช.พิจารณา ตามที่พ.ร.บ.ว่าด้วยป.ป.ช. มาตรา 92 วรรคสาม ระบุว่า ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งไม่มีกฎหมาย ระเบียบ หรือข้อบังคับเกี่ยวกับวินัย หากกระทำผิดในเรื่องที่ถูกกล่าวหาให้ประธานกรรมการส่งรายงานและเอกสารที่มีอยู่ พร้อมทั้งความเห็นของป.ป.ช.ไปยังผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจแต่งตั้งถอดถอนเพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป 

      นางสมลักษณ์ กล่าวว่า เหมือนกับกรณีของนายมนัส สร้อยพลอย อดีตอธิบดีกรมการค้าระหว่างประเทศ ที่โดนชี้มูลความผิด แล้วป.ป.ช.ดำเนินการตามมาตรา 92 วรรคแรก ส่งสำนวนชี้มูลความผิดไปให้ผู้บังคับบัญชา เนื่องจากหน่วยงานของนายมนัสมีบทลงโทษทางวินัย และส่งให้สนช.ดำเนินการตามกระบวนการถอดถอน ที่จะเข้าสู่การลงมติว่าจะถอดถอนหรือไม่ในวันที่ 8 พ.ค. สำนวนของคุณหญิงจารุวรรณจึงต้องดำเนินการไม่ต่างกับของนายมนัส เพราะเป็นข้าราชการระดับสูงเหมือนกัน และเนื่องจากอำนาจของการถอดถอนมีผลผูกพัน ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปีด้วย จึงไม่อาจระบุได้ว่า เพราะพ้นจากตำแหน่งไปแล้วจึงไม่ส่งสำนวนให้สนช.พิจารณา 

 

ชี้คดี'หญิงเป็ด-ปู'ไม่เหมือนกัน

      "ส่วนกรณีการนำสำนวนของคุณหญิงจารุวรรณมาเทียบเคียงกับกระบวนการถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกถอดถอนทั้งที่พ้นจากตำแหน่งนายกฯไปแล้วนั้น คงไม่สามารถทำได้ เนื่องจากคุณหญิงจารุวรรณเป็นข้าราชการ ส่วนน.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นนักการเมือง ประเด็นหลักที่นำมาโต้แย้งกรณีถอดถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น อยู่ที่ว่าสนช.ไม่มีอำนาจถอดถอน กระบวนการถอดถอนที่มีการตีความในเรื่องอำนาจหน้าที่กันทั้งหมดก่อนหน้านี้ จึงกลายเป็นบรรทัดฐานให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องทำตามในตอนนี้"นางสมลักษณ์กล่าว

 

วรชัย จวกมาตรฐาน'ป.ป.ช.'

     นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ ป.ป.ช.ไม่เอาผิดทางวินัยคุณหญิงจารุวรรณ ว่า ถือเป็นสองมาตรฐานของ ป.ป.ช.อย่างชัดเจน หากเปรียบเทียบกับคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีทุจริตจำนำข้าว ซึ่งก็พ้นจากตำแหน่งไปแล้วเช่นเดียวกัน แต่ป.ป.ช.ยังเร่งดำเนินคดีและเอาผิด ทั้งที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้กระทำผิด ข้อกล่าวหาก็ระบุว่าโครงการส่อให้เกิดการทุจริตเท่านั้น แต่กรณีของคุณหญิงจารุวรรณกระทำผิดจริง แต่ป.ป.ช.กลับไม่ดำเนินการ ทั้งนี้หลายคดีที่เป็นปัญหาคล้ายกัน แต่ ป.ป.ช.มักจะตีความทางกฎหมายไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะกับฝั่งพรรคเพื่อไทย

      "ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรอิสระหนึ่งที่สร้างปัญหา สร้างความขัดแย้งในประเทศมาอย่างต่อเนื่อง นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้ โดยเฉพาะเรื่องของความเป็น 2 มาตรฐาน ต่อให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเขียนออกมาดี หรือจะสร้างความปรองดองแค่ไหน แต่คนในองค์กรอิสระยังเลือกข้างอยู่แบบนี้ และยังจะเขียนรัฐธรรมนูญให้อำนาจคนเหล่านี้เพิ่มอีก แล้วความขัดแย้งในประเทศจะลดลงได้อย่างไร ดังนั้นผมขอเสนอให้ระบุในบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้องค์กรอิสระในขณะนี้รวมทั้ง ป.ป.ช. ชุดนี้พ้นจากตำแหน่งไปในทันที และสรรหาบุคคลใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะ ป.ป.ช.ชุดนี้ขาดความชอบธรรม ในเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ สั่งย้ายข้าราชการได้ ก็น่าจะกล้ายุบ ป.ป.ช.ชุดนี้ทิ้ง" นายวรชัยกล่าว

 

พีซทีวีบุกร้องต่อ'กสม.'

     ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) อาคารศูนย์ราชการ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) หนึ่งในผู้ดำเนินรายการช่องพีซ ทีวี พร้อมทีมผู้ประกาศข่าวของช่อง เข้ายื่นหนังสือร้องเรียนต่อกสม. กรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) มีมติเพิกถอนในอนุญาตการออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวี โดยมีนพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กสม. เป็นผู้รับเรื่องร้องเรียน

นพ.เหวงกล่าวว่า เราได้รับความอยุติธรรมจากการดำเนินการของคณะกรรมการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ที่ไม่เปิดให้ชี้แจงถึงข้อเท็จจริงและเหตุผลของการดำเนินรายการ เราถูกปิดโดยไม่รู้ว่าเพราะเหตุใด การดำเนินการของหน่วยงานของรัฐทั้ง กสท. และ กสทช. ไม่เป็นไปตามหลักนิติรัฐ นิติธรรม จึงมาเรียกร้องให้ กสม.คืนความเป็นธรรมให้สถานีพีซ ทีวี

 

กสม.นัด'พีซทีวี-กสท.'ร่วมถก

      นพ.นิรันดร์กล่าวว่า หลังจากนี้กสม.จะตรวจสอบใน 2 ประเด็น ประเด็นแรก เรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพของสื่อ เพราะเป็นเรื่องสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความคงอยู่ของระบอบประชาธิปไตย โดยในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ก็ระบุถึงการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อ ฉะนั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อถือว่ามีความสำคัญ จึงต้องตรวจสอบมติของกสทช.ที่มีมติ 4 ต่อ 1 นั้นอยู่บนข้อมูลข้อเท็จจริงอย่างไร ในเรื่องของการตีความในแง่ที่ว่าข้อมูลที่สร้างความปลุกปั่นนั้นอยู่ตรงส่วนไหน 

นพ.นิรันดร์กล่าวต่อว่า เรื่องสองคือกระบวนการวิธีการ ต้องดูว่ากระบวนการกล่าวหาต้องให้ผู้ถูกกล่าวหาเข้าไปชี้แจง และถ้าพบว่ามีมูลความผิดจริงก็ต้องดูในส่วนของขั้นตอนการดำเนินการ ซึ่งในรัฐธรรมนูญปี 2550 ระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากจะปิดรายการควรปิดเฉพาะรายการที่กระทำผิด ไม่ใช่ปิดทั้งสถานี ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่พึงกระทำ เพราะการปิดทั้งสถานีนอกจากละเมิดสิทธิเสรีภาพสื่อแล้ว ยังกระทบกับพนักงานของสถานีพีซ ทีวีที่มี 100 กว่าคน ซึ่งเราต้องตรวจสอบเพราะทุกคนต้องดำเนินการตามกฎหมาย ไม่ใช่ดำเนินการตามอำเภอใจ เราไม่ได้อยู่ในยุคอำนาจนิยม 

      "ในวันที่ 20 พ.ค. เวลา 10.00 น. จะทำหนังสือเชิญตัวแทนของกสท.และ กสทช. เข้ามาชี้แจงข้อมูลข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น รวมทั้งตัวแทนจากพีซ ทีวี ซึ่งอาจรวมผู้ดำเนินรายการทั้งนายจตุพร นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และนายสมพงษ์ สระกวี แกนนำ นปช. เพื่อชี้แจงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เพราะเรื่องดังกล่าวถือเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องเร่งดำเนินการ" นพ.นิรันดร์ กล่าว

 

ตั้งก.ดิจิทัลฯฉลุยสนช.วาระแรก

     เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) โดยมีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช. เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณา ร่างพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ ...) พ.ศ. ... เพื่อจัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำเสนอโดยคณะรัฐมนตรี เป็นวาระแรก ซึ่งนายพรชัย รุจิประภา รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) แถลงเหตุผลของร่างพ.ร.บ.ว่า เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัล ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคม ฐานความรู้ และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ หน่วยงานภาครัฐและภาคธุรกิจ ต่างมีความต้องการนำระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารด้านดิจิทัลมาใช้ในการพัฒนาศักยภาพ และประสิทธิภาพของการให้บริการ แต่กระทรวงไอซีทีมีขอบเขตอำนาจหน้าที่จำกัดเฉพาะเรื่องเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสาร ซึ่งไม่ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่เน้นให้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปมีบทบาทในทุกภาคส่วน ดังนั้น เพื่อให้มีกระทรวงที่มีอำนาจหน้าที่ครอบคลุมถึงเรื่องดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จึงต้องดำเนินการปรับโครงสร้างกระทรวงไอวีทีให้มีขอบเขตอำนาจหน้าที่มากขึ้น และเปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

    ทั้งนี้ จากการอภิปรายสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการสนับสนุนให้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพราะระบบอิเล็กทรอนิกส์จะมีส่วนช่วยในทางธุรกิจอย่างมาก โดยเฉพาะธุรกิจรายย่อย หรือเอสเอ็มอี ส่วนในทางการแพทย์ก็ช่วยอำนวยความสะดวกมากขึ้น เช่น การโอนข้อมูลคนไข้ข้ามประเทศ ถ่ายทอดเทคโนโลยีการแพทย์กันได้มากขึ้น และในทางการศึกษา จะช่วยทำให้การศึกษาเข้าถึงชนบทมากขึ้น รวมไปถึงการบริการภาครัฐที่รวดเร็วยิ่งขึ้น ในส่วนข้อกังวลที่สมาชิกเสนอมา เช่น การทำงานยังเป็นระบบราชการอยู่ จะเป็นปัญหาและอุปสรรคหรือไม่ จึงเสนอว่าควรมีข้าราชการที่มีศักยภาพสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบ

     ต่อมาที่ประชุมได้ลงมติรับหลักการวาระแรก ด้วยคะแนนเสียง 158 เสียง โดยมอบหมายให้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา 17 คน ระยะเวลาดำเนินงานภายใน 30 วัน

 

'บิ๊กตู่'สั่งสกสค.หยุดทำธุรกรรม

     เมื่อวันที่ 7 พ.ค. นพ.กำจร ตติยกวี ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยความคืบหน้ากรณีคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เข้าตรวจสอบความไม่โปร่งใสด้านการบริหารงานของสำนักงานส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) องค์การค้าของ สกสค. และคุรุสภา ว่า คตร.ได้แจ้งผลการตรวจสอบเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณต่างๆ ภายในสำนักงาน สกสค. ร่วมกับผู้บริหาร ศธ. พบเรื่องไม่ชอบมาพากลในการดำเนินโครงการต่างๆ ของสำนักงาน สกสค. โดยเฉพาะโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ อ.หนองหญ้าปล้อง จ.เพชรบุรี วงเงิน 2,100 ล้านบาท ดังนั้น คตร.จึงทำหนังสือรายงานให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับทราบถึงผลการตรวจสอบ 

    ปลัด ศธ.กล่าวต่อว่า นายกฯ ได้สั่งการให้ดำเนินการ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ให้สำนักงาน สกสค. ยกเลิกการทำธุรกรรมกับบริษัท บิลเลี่ยน อินโนเวเท็ตกรุ๊ป จำกัด ในทุกประเภท 2.ให้ศูนย์อำนวยการต่อต้านทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ที่มี รมว.ยุติธรรม เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรม การป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ร่วมเป็นคณะกรรมการเพื่อเข้าไปดำเนินการควบคุมและจัดการกองทุนทั้งหมดของสกสค. รวมถึงตรวจสอบและจัดการปัญหาการทุจริตทั้งหมด และ 3.ให้นำหลักทรัพย์ที่บริษัท บิลเลี่ยนฯ นำมาค้ำประกันสัญญาและหลักทรัพย์กองทุนอื่นๆ มาเก็บรักษารวมไว้ที่ห้องมั่นคงที่ ศธ.ทั้งหมด ส่วนการดำเนินการกับนายสมศักดิ์ ตาไชย เลขาธิการ สกสค. อยู่ระหว่างพิจารณาข้อกฎหมาย คาดว่าสัปดาห์หน้าคงมีความชัดเจน

       แหล่งข่าวระดับสูงภายในสำนักงาน สกสค. เผยว่า ก่อนหน้านี้คตร.เข้าไปตรวจสอบในสกสค. พบเงินสดอยู่ในตู้เซฟภายในห้องทำงานของผู้บริหารของสำนักงาน สกสค. 2 ราย รวมกันกว่า 800 ล้านบาท พร้อมโฉนดที่ดินอีกจำนวนหนึ่ง โดยทางคตร. ห้ามไม่ให้แพร่งพรายข้อมูล ก่อนที่จะมีการรายงานนายกฯ และมีคำสั่งให้ดำเนินการใน 3 เรื่องเร่งด่วนดังกล่าวในที่สุด

      ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีการรวบรวมรายชื่อข้าราชการทุจริตว่า ขณะนี้บัญชีข้าราชการทุจริตชุดแรกอยู่ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายวิษณุได้นำเรื่องรายงานต่อนายกรัฐมนตรีแล้ว ส่วนรายละเอียดข้าราชการที่มีรายชื่อดังกล่าวนั้นต้องสอบถามจากนายวิษณุ ที่ทำหน้าที่คัดแยกและแบ่งประเภททั้งหมด

 

เทพไทแจงวุ่นศาลออกหมายจับ

     เวลา 11.30 น. วันที่ 7 พ.ค. ที่ห้องพิจารณา 807 ศาลอาญา ศาลนัดอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา คดีหมายเลขดำ อ.858/2553 ที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี อดีต รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นโจทก์ฟ้องนายเทพไท เสนพงศ์ อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และอดีตโฆษกประจำตัวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ขณะดำรงตำแหน่งนายกฯ เป็นจำเลยในความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา กรณีนายเทพไท ให้สัมภาษณ์ทำนองว่านายปลอดประสพเป็นคนในระบอบทักษิณ เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18 ก.พ. 2553

      คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ยกฟ้อง เนื่องจากเห็นว่าโจทก์เป็นนักการเมืองอยู่ในฐานะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ อีกทั้งแสดงความคิดเห็นเชิงตั้งคำถามต่อโจทก์ว่า ไม่ใช่การใส่ร้าย แต่เนื่องจากฝ่ายจำเลยไม่มีใครเดินทางมาศาลตามนัดและไม่ได้แจ้งเหตุขัดข้อง ศาลจึงให้ออกหมายจับจำเลยให้มาฟังคำพิพากษา และให้เลื่อนอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาออกไปเป็นวันที่ 10 มิ.ย. เวลา 9.00 น. ต่อมาเวลา 14.00 น. นายเทพไท เดินทางมาพร้อมกับทนายความแถลงขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับ ศาลพิจารณาอนุญาต

      นายเทพไท เสนพงศ์ รองเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวกรณีศาลอาญาออกหมายจับแต่ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัดหมายว่า เพิ่งทราบข่าวจากสื่อมวลชนว่าศาลออกหมายจับ เพราะผิดนัดไม่ได้ไปฟังคำพิพากษา เมื่อทราบข่าวก็รีบเดินทางไปแสดงตนต่อศาลเพื่อแสดงเจตนาว่าไม่ได้หลบเลี่ยงนัดฟังคำพิพากษา พร้อมแถลงต่อศาลว่าสาเหตุที่ไม่ได้รับหมายนัดคำพิพากษา เนื่องจากศาลส่งหมายนัดไปตามที่อยู่ทะเบียนบ้านที่ต่างจังหวัด โดยเลขที่บ้านดังกล่าวให้ธนาคารอิสลามเช่าเป็นที่ทำการธนาคาร โดยตนพักอาศัยที่กทม.และเมื่อแถลงข้อเท็จจริงต่อศาลแล้วเห็นว่าไม่มีเจตนาหลบหนีจริง จึงมีคำสั่งพิจารณาถอนหมายจับ และนัดให้เข้ารับฟังคำพิพากษาในวันที่ 10 มิ.ย. เวลา 09.00 น. ตนยืนยันจะไปด้วยตัวเองพร้อมทนายตามนัด

      นายเทพไท กล่าวว่า ข้อเท็จจริงกรณีนี้ตนและทนายความไม่เคยได้รับสำเนาคำฟ้องฎีกาเพราะคิดว่าคดีนี้ถึงที่สุดแล้ว คดีเกิดจากการให้สัมภาษณ์ของตน ที่ระบุว่านายปลอดประสพ สุรัสวดี เป็นคนของระบบทักษิณ จึงถูกนายปลอดประสพฟ้องฐานหมิ่นประมาท ศาลชั้นต้นอุทธรณ์และได้พิจารณายกฟ้องแล้ว เพราะเห็นว่าโจทก์เป็นนักการเมือง ย่อมอยู่ในฐานะถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ และจำเลยพูดในลักษณะการตั้งคำถาม ไม่ได้ยืนยันข้อเท็จจริงถือเป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม