9


บิ๊กจิ๋วขยับอีก พบปะชาวนา 
เมิน'154 คนดัง' กมธ.ชี้ทำไม่ได้

 

       กมธ.ปัด 3 ข้อเสนอ 154 คนดัง ค้านเลือกประชาชนมาร่าง ชี้ไร้ความเข้าใจ ติง 30 วันประชามติไม่ทัน โพลชี้ 94.7% หนุนแก้รธน. ร้อยละ 55.4 เห็นด้วยทำประชามติ 'ภูมิธรรม'ชี้ถึงเวลารับฟังความเห็นประชาชน จี้คสช.เปิดโอกาสพูดคุย 'พงศ์เทพ'ห่วงรัฐธรรมนูญ สร้างปัญหาประเทศระยะยาว ด้านสนช.ก็ห่วงที่มาส.ว.-นายกฯ สปช.จองคิวอภิปรายองค์กรอิสระ หมอเหวงนำพีซทีวียื่นยูเอ็น จี้รัฐบาลหยุดปิดกั้นเสรีภาพสื่อ 'บิ๊กจิ๋ว'เดินสายฟังชาวนา

 


พบชาวนา - พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ ลงพื้นที่พบปะกลุ่มเกษตรกรชาวนา กว่า 100 คน เพื่อรับฟังปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ที่วัดบางยี่โท อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 4 พ.ค.

วันที่ 05 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8924 ข่าวสดรายวัน

 

 

พท.หนุนทำประชามติ

     เมื่อวันที่ 4 พ.ค. นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญผ่านมาหลาย ขั้นตอนแล้ว โดยเฉพาะมาถึงจุดที่พูดถึงเรื่องทำประชามติว่าควรทำหรือไม่ ตนเห็นว่าเรื่องนี้ เป็นเรื่องใหญ่ เห็นว่าต้องทำประชามติเพื่อสอบถามความเห็นของประชาชน ให้ประชาชน มีส่วนร่วมพิจารณาและตัดสินกติกาผ่านการทำประชามติว่าจะรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2558 หรือไม่ หากไม่รับ ก็ต้องมีทางเลือกว่าจะให้นำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้ จะได้ไม่ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ ประเทศไม่เสียเวลา ที่สำคัญเพื่อให้กระบวนการปฏิรูปไม่กระทบกับโรดแม็ปของ คสช.ด้วย 

"ขึ้นกับผู้มีอำนาจจะเอาอย่างไร ต้องชัดเจน เพราะขณะนี้ความคิดเห็นทั้งจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช.หรือ คสช.ก็ยังโยนกัน ไปมา ไม่เป็นเอกภาพ หากไม่ทำประชามติ อาจมีปัญหาตามมา เพราะหลายภาคส่วน ทั้งแวดวงศาล ตำรวจ นักวิชาการหรือนักการเมืองต่างไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ แล้วประเทศจะไปต่อได้อย่างไร" นายภูมิธรรมกล่าว

นายภูมิธรรมกล่าวว่า เมื่อกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญผ่านมาหลายขั้นตอน อยู่ในจุดที่ทุกฝ่ายเริ่มแสดงความคิดเห็นกันมาก คิดว่าถึงเวลาแล้ว และอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณายกเลิกคำสั่งในประเด็นที่ห้ามพรรคทำกิจกรรมทางการเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกพรรคเริ่มประชุมพูดคุย มีส่วนร่วมนำเสนอข้อคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ รวมถึงแนวทางการปฏิรูปอื่นๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม

 

พงศ์เทพ ชี้รธน.มีข้อบกพร่อง

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ และแกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยได้รับหนังสือจากกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ขอความเห็นเรื่องร่างรัฐธรรมนูญแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทราบว่าสำนักเลขาธิการพรรค ทำเรื่องขอประชุมพรรคเพื่อระดมความเห็น แต่ถ้าไม่สามารถประชุมได้ ก็คงทำความเห็นตามสภาพ คาดว่าจะส่งได้ภายในสัปดาห์นี้หรือสัปดาห์หน้า 

นายพงศ์เทพกล่าวว่า สำหรับเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ เรามองว่ามีข้อบกพร่องเยอะ หัวใจ สำคัญอยู่ที่โครงสร้าง การเขียนโดยวางโครง สร้างที่ไม่เชื่อถือการตัดสินใจของประชาชน ไม่อยู่ในอาณัติของประชาชน ไปเชื่อถือเพียงคนกลุ่มเล็กๆ ผลที่ออกมาก็เป็นอย่างที่เห็น ถ้าเขียนโดยยึดประชาชนเป็นแกน จะออกมาอีกแบบแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ประเทศที่เจริญแล้วยากที่จะเขียนรัฐธรรมนูญให้เหมือนกับที่กมธ.ยกร่างฯเขียนอยู่

 

ห่วงสร้างปัญหาประเทศ

นายพงศ์เทพกล่าวว่า ส่วนการทำประชามติ เห็นควรทำอย่างยิ่งเพราะจะทำให้ กมธ. ยกร่างฯ ไม่สามารถทำอะไรโดยไม่ฟังเสียงประชาชนได้ ถ้าเขียนโดยมีวาระของตัวเองและไม่เป็นประโยชน์กับประชาชนก็ยากจะผ่านประชามติ จะไม่เป็นไปตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯบอกว่าลงเรือแป๊ะต้องตามใจแป๊ะ ซึ่งทำไม่ได้แล้ว คิดว่าอย่างน้อยถ้าต้องเสียเวลาอีกนิด ดีกว่าได้รัฐธรรมนูญที่สร้างปัญหาให้ประเทศยาวนาน ซึ่งการทำประชามติจะเกิดการถกเถียงประเด็นต่างๆ โดยเฉพาะเรื่องที่กมธ.ยกร่างฯอ้างว่าดี มันดีจริงหรือไม่ ประชาชนยอมรับหรือไม่ หรือคิดกันไปเอง สังเกตได้ว่าวันนี้หาคนที่ไม่ได้เป็นกมธ.ยกร่างฯ มาชื่นชมร่างรัฐธรรมนูญนี้ได้ยากเต็มทน 

"การทำประชามติสุดท้ายขึ้นอยู่กับคสช.และครม.ว่าอยากทำหรือไม่ ถ้าไม่ทำแล้วได้รัฐธรรมนูญที่แย่ ผลเสียจะเกิดกับประเทศในระยะยาว และเชื่อว่าคนที่ยกร่างไม่รับผิดชอบอยู่แล้ว ประเทศเกิดปัญหาแล้วเราก็หาคนรับผิดชอบไม่ได้ด้วย" นายพงศ์เทพกล่าว

 

โพลชี้ 94.7% หนุนแก้รธน.

วันเดียวกัน ชมรมนักวิจัยไทยเพื่อความสุขชุมชน เผยผลวิจัยเชิงสำรวจมาสเตอร์โพล เรื่องความคิดเห็นของแกนนำชุมชนต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่และการทำประชามติ สำรวจจากแกนนำชุมชน 19 จังหวัดทั่วประเทศ 1,080 ตัวอย่าง วันที่ 1-3 พ.ค. พบว่าร้อยละ 94.7 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าเป็นเรื่องสำคัญที่สุดของประเทศในตอนนี้ ร้อยละ 5.3 ระบุไม่เห็นด้วย 

ส่วนข้อเรียกร้องให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญนั้น ร้อยละ 55.4 ระบุเห็นด้วย เพราะยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน ประชาชน จะได้มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้อย่างแท้จริง คิดว่าการทำประชามติก่อนจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความขัดแย้งในอนาคตได้ อยากให้เป็นฉบับที่ทุกฝ่ายยอมรับได้จริงๆ ร้อยละ 39.4 ไม่เห็นด้วยเพราะไม่อยากให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันอีก เชื่อมั่นในการตัดสินใจของนายกฯมากกว่าอย่างอื่น คิดว่า การออกมาเคลื่อนไหวขณะนี้มีวาระซ่อนเร้นอย่างอื่นๆ 

 

ร้อยละ 79 เชียร์ประชามติ

ทั้งนี้ร้อยละ 79.2 เชื่อว่าการทำประชามติ มีผลดีมากกว่าผลเสีย เนื่องจากประชาชนจะได้มีส่วนร่วมตั้งแต่แรก ได้ความคิดเห็นที่หลากหลายไปแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญให้สมบูรณ์ มากที่สุด และเชื่อมั่นว่านายกฯจะควบคุมการทำประชามติให้โปร่งใสและเป็นธรรมได้ ทำตอนนี้ดีกว่าทำหลังเลือกตั้ง อาจจะวุ่นวายมากกว่านี้ ขณะที่ร้อยละ 9.7 ระบุมีผลเสียมากกว่า 

สำหรับหน่วยงานที่เห็นว่าควรให้เป็นเจ้าภาพ จัดทำประชามติ ร้อยละ 42.6 ระบุคสช. ร้อยละ 14.7 ระบุรัฐบาล และร้อยละ 14.7 เป็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

เมื่อถามถึงการแก้รัฐธรรมนูญให้เรียบร้อยและประกาศใช้ก่อนมีการเลือกตั้งใหม่นั้น ร้อยละ 83.3 ระบุยอมรับได้ เพราะอยากให้บ้านเมืองเรียบร้อยและพร้อมจริงๆ ก่อนจะเลือกตั้งใหม่จะได้ไม่มีปัญหา ไม่เกิดความ ขัดแย้งอีก และเห็นว่ารัฐธรรมนูญเป็นหลักสำคัญในการบริหาร ต้องทำให้สมบูรณ์ที่สุด ร้อยละ 2.5 ระบุยอมรับไม่ได้ เพราะอยากได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งจริงๆ เลือกตั้ง แล้วค่อยแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ได้ เกรงว่าจะใช้เวลานานเกินไป

 

สนช.ห่วงที่มา"ส.ว.-นายกฯ"

นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 กล่าวถึงการส่งความเห็นและข้อเสนอแนะร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของสนช.ให้คณะกรรมาธิการ (กมธ.)ยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เท่าที่รับฟังความเห็นจากสนช. ส่วนใหญ่เป็นห่วงประเด็นโครงสร้างการเมือง โดยเฉพาะที่มา ส.ว. มีการท้วงติงกันมาก เพราะซับซ้อน การสรรหามีที่มาหลายแบบ เข้าใจยาก จึงอยากแก้ไขให้มี ส.ว.สรรหาและเลือกตั้งในจำนวนเท่ากัน และส.ว.เลือกตั้ง 77 จังหวัด ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง ไม่ต้องมีคณะกรรม การกลั่นกรองมาคัดเลือกผู้สมัครเหลือ 10 คน 


ร้องยูเอ็น - นพ.เหวง โตจิราการ และทีมผู้ประกาศพีซทีวี ยื่นหนังสือต่อเลขาธิการยูเอ็น เรียกร้องให้รัฐบาลไทยปฏิบัติตามปฏิญญาสากล หยุดการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพสื่อ พร้อมปล่อยนกพิราบเป็นสัญลักษณ์ ที่หน้าสำนักงานยูเอ็น กทม. เมื่อวันที่ 4 พ.ค.

 

    นายพีระศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่เรื่องนายกรัฐมนตรีคนนอก สนช.ส่วนใหญ่ไม่ขัดข้องหากจะมีนายกฯคนนอก แต่ต้องระบุให้ชัดเจนในรัฐธรรมนูญว่า ต้องใช้ในช่วงสถานการณ์วิกฤตจริงๆ เท่านั้น จะเสนอใช้ในภาวะปกติไม่ได้ และต้องกำหนดนิยามภาวะวิกฤตให้ชัดเจนว่า หมายถึงอะไรบ้าง

 

เห็นด้วยทำประชามติ

นายพีระศักดิ์กล่าวว่า ส่วนส.ส.ระบบสัดส่วนนั้น สนช.เห็นก้ำกึ่งกันอยู่ มีทั้งฝ่าย ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ส่วนตัวเห็นว่าส.ส. ระบบสัดส่วน เป็นระบบที่เข้าใจยาก อีกทั้งการลดจำนวนส.ส.เขตจาก 400 คน เหลือ 250 คน หายไป 100 กว่าคน ทำให้ประชาชนเข้าถึงส.ส. ได้ยากขึ้น เพราะในสังคมชนบท ส.ส.เหมือนเป็นที่พึ่งทางใจ เวลาเดือดร้อน ก็วิ่งเข้าหา ส.ส. จึงอยากให้เพิ่มจำนวนส.ส. เขตมากขึ้น 

รองประธานสนช. กล่าวว่า สนช.เห็นตรงกันว่าต้องทำประชามติ แต่ไม่จำเป็นต้อง นำร่างรัฐธรรมนูญปีอื่นๆ มาประกบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อให้ประชาชนโหวตเลือก เพราะ 2 ฉบับก่อนหน้านี้มีจุดอ่อน ทำให้เกิดรัฐประหาร ดังนั้น ควรทำเฉพาะร่างใหม่เพียงฉบับเดียว ขณะนี้มีสนช.บางส่วนเห็นว่าให้ทำประชามติเฉพาะประเด็นที่มีปัญหาท้วงติง มากๆ เช่น ที่มานายกฯ ส.ว. และ ส.ส. ไม่ควร ทำประชามติทั้งฉบับ เพราะจะทำให้เนื้อหาในส่วนที่ดีๆ ตกไปด้วย อีกทั้งการทำประชามติ รายประเด็นไม่ใช่เรื่องยุ่งยาก

 

ขอสัมมนาระดมความคิดสนช.

ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่ 1 ในฐานะประธานกมธ.พิจารณาศึกษา เสนอแนะและรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 34 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า กมธ.อยู่ระหว่างการพิจารณารัฐธรรมนูญแต่ละมาตรา ซึ่งกมธ.เห็นว่าควรจัดสัมมนาระดมความเห็นของสมาชิกสนช.ทุกคน เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ตกผลึกอย่างเป็นทางการ และเป็นแนวทางเดียวกัน ก่อนส่งความเห็นให้กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป คาดว่าจะจัดสัมมนาระดมความเห็นได้ไม่เกินสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพ.ค. ซึ่งวันที่ 6 พ.ค.จะมีการประชุมกมธ.เพื่อวางกรอบ จัดสัมมนา เท่าที่หารือกันในช่วงที่ผ่านมา เห็นตรงกันว่าประเด็นที่สนช.ส่วนใหญ่เป็นห่วงจะอยู่ในภาค 2 เรื่องการเมือง ทั้งที่มา ส.ว. ที่มาส.ส. ที่มาของนายกฯ และอำนาจหน้าที่ของแต่ละสภา

นายสุรชัยกล่าวว่า ประเด็นที่มาส.ว.นั้น สนช.ยังมีความเห็นแตกเป็น 2 ฝ่ายคือ 1.ควรให้มีทั้งส.ว.สรรหา และเลือกตั้ง 2.ควรมี ส.ว.สรรหา หรือส.ว.เลือกตั้งอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่แนวทางจะออกมาทางใดต้องรอการสัมมนาก่อน ส่วนการทำประชามตินั้น ส่วนตัว เห็นว่า จะต้องทำร่างรัฐธรรมนูญให้ดีที่สุด ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากที่สุด ซึ่งจะช่วยตอบโจทย์ได้ว่าสมควรทำประชามติหรือไม่ ส่วนข้อเสนอให้นำร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 มาประกบ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ประชาชนโหวตเลือกในการทำประชามตินั้น ไม่จำเป็น แต่ควรปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ให้ดีที่สุด เป็นที่ยอมรับของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 เคยใช้มาแล้ว เห็นข้อบกพร่องว่ามีอะไรบ้าง จะเอารัฐธรรมนูญที่มีข้อบกพร่องมาประกบใช้ทำไม ควรทำของใหม่ให้ดีที่สุดดีกว่า

 

สปช.จ่ออภิปรายองค์กรอิสระ

นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) เปิดเผยว่า ตน นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการวิปสปช. และนายไพโรจน์ พรหมสาส์น สมาชิกสปช.ได้รับมอบให้เป็นผู้ประสานรวบรวมคำขอแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญจากสมาชิกสปช. มาจัดหมวดหมู่ แบ่งกลุ่มให้สำหรับสปช.คนใดที่ยังรวมกลุ่มกันไม่ถึง 26 คน คาดว่าวันที่ 6 พ.ค.นี้ จะได้ความชัดเจนทั้งหมด เชื่อว่าประเด็นการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐของภาคประชาชน องค์กรใหม่ในรัฐธรรมนูญอย่างสมัชชาคุณธรรม สมัชชาพลเมือง คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติจะถูกอภิปรายเยอะ สมาชิกบ่น ถามกันมากว่าองค์กร เหล่านี้มีอำนาจปฏิบัติได้จริงตามที่เขียนไว้หรือไม่

นายวันชัยกล่าวว่า เรื่องพลเมืองเป็นใหญ่ หลายคนบ่นว่าดูเเล้วเหมือนสักเเต่เขียนไว้ แต่อำนาจจริงของประชาชนไม่มี ระบบเลือกตั้งใหม่ก็บ่นกันว่า เขียนระบุแต่คุณสมบัติ แต่ไร้มาตรการคัดกรอง ขจัดคนชั่วอย่างเข้มข้น ไม่ให้เข้ามาบนถนนการเมืองอย่างไร และเชื่อว่าสมาชิกจะขอเเก้ไข ประเด็นอำนาจการควบคุมการเลือกตั้งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ต้องการให้กกต.เข้มเเข็ง มากกว่าที่เป็นอยู่ และเป้าหลักคงไม่พ้นเรื่องที่มานายกฯ ระบบเลือกตั้งเเบบสัดส่วนผสม ที่มาส.ส.-ส.ว. แต่ประเด็นที่สมาชิกกังวลคือ การตั้งคณะกรรมการปรองดองแห่งชาติ ต้องถูกขอเเก้ไขแน่นอน ไม่เช่นนั้นจะทำให้สังคมคลางเเคลงใจ อาจถึงขั้นให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เสียไปก็ได้ 

 

6 พ.ค.สรุปประเด็นแปรญัตติ

นายวันชัยกล่าวต่อว่า ตนในฐานะคณะ ผู้ประสานงานในการประมวลคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะเเจกเอกสารเเบบฟอร์มคำถามให้กับสมาชิกสปช. ช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ค. จากนั้น จะประมวลผล โดยช่วงเย็นจะขอเวลาที่ประชุม สปช.หารือสมาชิกจัดกลุ่ม สรุปประเด็นโดยใช้ประเด็นคำขอเเก้ไขเป็นตัวตั้ง จนเห็นภาพว่ามีประเด็นขอแปรญัตติกี่กลุ่ม กลุ่มใดที่ยังไม่มีเจ้าภาพจัดกลุ่ม เราจะอำนวยการจัดให้ 

นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องขอเพิ่มวันอภิปรายหลังจากส่งคำขอเเปรญัตติเเล้วหรือไม่นั้น ในที่ประชุมวิปสปช.หารือกันว่า ก่อนจะโหวตรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ส.ค. มีเวลา 15 วัน คือวันที่ 23 ก.ค.ถึง 6 ส.ค. สปช.อาจขอเปิดประชุมเพื่อถกเเถลงกันก่อน 2- 3 วัน เพื่อให้สมาชิกสปช.กับกมธ.ยกร่างฯเห็นพ้อง เข้าใจในเนื้อหารัฐธรรมนูญกันก่อนดีกว่าจะมามัดมือชกให้โหวต โดยไม่อธิบายเหตุผลแต่ละประเด็นว่าที่กมธ.ยกร่างฯเลือกเเก้ไขหรือไม่เเก้ไข คืออะไร ทั้งนี้ ในวิปสปช.เคยหารือนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช.เเล้วครั้งหนึ่ง แต่นายเทียนฉายบอกว่ารอให้ถึงเวลานั้นก่อนค่อยตัดสินใจ 

 

"ดิเรก"เสียดายรธน.40

นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า วันที่ 6 พ.ค.นี้ กมธ.ปฏิรูปการเมือง จะประชุมเพื่อสรุปประเด็นคำขอแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นประเด็นหลักที่ต้องเน้น ที่มานายกฯคนนอก ที่มาส.ส.-ส.ว. ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม โดยเฉพาะปมนายกฯคนนอก ไม่ถูกหลักเพราะในระบอบประชาธิปไตยที่เเท้จริง ต้องให้ประชาชนมีสิทธิเลือกผู้ปกครองของตนเอง แต่ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ จู่ๆ ให้ใครก็ไม่รู้ลอยมาเป็นนายกฯได้โดยไม่ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง วิธีนี้คงไม่ใช่ 

นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนประเด็นเสนอให้เอารัฐธรรมนูญ 2 ฉบับมาประกบทำประชามติ ให้ประชาชนเลือกนั้น คงไม่เกิดง่ายๆ รัฐบาลกับกมธ.ยกร่างฯคงไม่เอาด้วย แต่หากมีประชามติขึ้นจริง เเล้วประชาชนลงมติว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่าน อาจมีจุดหักเหที่รัฐบาลต้องคิดว่าจะนำโมเดลที่ว่ามาใช้หรือไม่ เพราะถ้าจะเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเสียเวลาเป็นปี แต่วันนี้ต้องเดินตามโรดเเม็ปไปก่อน และยังเห็นว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 เป็นประชาธิปไตยมากที่สุด เพราะมาจากส.ส.ร.ที่ประชาชนเลือกเข้ามา 

"ในวันที่เกิดรัฐประหาร 22 พ.ค. เคยคิดในใจว่าถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.เวลานั้น ประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี" 40 ทันที โดยไม่ต้องร่างใหม่ คนไทยคงฉลองกันทั้งประเทศ เเล้วรัฐบาลจะเป็นขวัญใจชาวไทยด้วย แต่ขณะนี้เลยจุดนั้นมาไกลเเล้ว" นายดิเรกกล่าว 

 

กมธ.โยน"คสช."ชี้ประชามติ

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงข้อเสนอของนักวิชาการ นักการเมือง นักเขียน และประชาชน 154 คน เกี่ยวกับการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่เป็นประชาธิปไตย ว่า การตัดสินใจว่าจะทำประชามติหรือไม่ ไม่ใช่หน้าที่ของกมธ. ยกร่างฯ แต่อยู่ที่คสช.และรัฐบาล เพราะถ้าทำประชามติก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557

นายคำนูณกล่าวว่า แต่ตนมีข้อสังเกตว่า ข้อเสนอที่ให้ทำประชามติภายใน 30 วัน หากสมาชิกสปช. ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่นั้น เชื่อว่ากรอบเวลาดังกล่าวคงทำประชามติได้ยาก ซึ่งกฎหมายเดิมยังระบุให้ทำประชามติใช้เวลา 90 วัน หรือคิดง่ายๆ ว่า แม้แต่การยุบสภาหรือรัฐบาลอยู่ครบเทอม ยังกำหนดให้จัดเลือกตั้งภายใน 45 วัน หรือ 60 วัน ดังนั้นถ้าให้ทำประชามติใน 30 วัน เกรงว่าการตัดสินใจที่จะโหวต ให้ผ่านหรือไม่ อาจอยู่บนพื้นฐานความรู้สึกมากกว่าความเข้าใจในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ 

"ส่วนข้อเสนอให้กมธ.ยกร่างฯมาจากการเลือกของประชาชนหากร่างรัฐธรรมนูญนี้ ไม่ผ่าน ประเด็นนี้น่าจะพุ่งเป้าที่คสช. เพราะสิ่งนี้เป็นการกลับหลักแนวคิดของรัฐธรรมนูญ ชั่วคราว ก็เป็นอำนาจการตัดสินใจของคสช.หรือครม.ว่าหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่าน แล้วต้องหากมธ.ยกร่างฯชุดใหม่ คสช.จะแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนดที่มากมธ.ยกร่างฯอย่างไร" นายคำนูณกล่าว 

 

ห่วงนักการเมืองตามแก้รธน.

ด้านนายจรัส สุววรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้ตนและกมธ.ยกร่างฯ ส่วนใหญ่เริ่มเห็นตรงกันว่าควรทำประชามติในร่าง รัฐธรรมนูญนี้ เนื่องจากหลักการหลายประเด็น ได้เปลี่ยนโครงสร้างการเมือง ข้าราชการ และระบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยนักการเมืองและข้าราชการจะรู้ว่ารัฐธรรมนูญนี้จำกัดอำนาจไว้ค่อนข้างมาก ก็เป็นไปได้ว่าหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้ ทั้งสองฝ่ายอาจรวมหัว กันแก้ไขรัฐธรรมนูญ

"ดังนั้น การทำประชามติจะทำให้รัฐธรรมนูญแก้ไขได้ยาก แม้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะระบุให้มีส่วนแก้ง่าย แก้ยาก แต่ถ้าทำประชามติตั้งแต่ต้นก็ไม่จำเป็นต้องไปแก้ไขอีกในภายหลัง จึงมีความเป็นไปได้สูงที่จะทำประชามติและกมธ.ยกร่างฯก็มีเจตนาเช่นนั้น" นายจรัสกล่าว 

นายจรัสกล่าวว่า ส่วนข้อเสนอหากร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วให้ประชาชนเป็น คนเลือกกมธ.ยกร่างฯนั้น ตอนรัฐธรรมนูญ ปี 2540 และ 2550 ก็ตั้งผู้เชี่ยวชาญและเลือกกมธ.ยกร่างฯจากทุกจังหวัด แต่ถ้าให้เลือกตั้งกมธ.ยกร่างฯมา 100 เปอร์เซ็นต์นั้น อาจมีปัญหา เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ใครจะมาเขียนก็ได้ ต้องรู้ว่าจะเขียนอย่างไรและใช้ความรู้เฉพาะ หากให้คนทั่วไปเขียนคงไม่ดี จะเห็นว่าการเขียนรัฐธรรมนูญแต่ละครั้งจะมีแต่หน้าเดิมๆ ถ้ารัฐธรรมนูญนี้ไม่ผ่าน ควรคัดเลือก ผู้เชี่ยวชาญมาเป็นกมธ.ยกร่างฯและไม่จำเป็นต้องใช้คนเยอะถึง 30 คนก็น่าจะเพียงพอ

 

เหวงนำพีซทีวียื่นยูเอ็น

ที่หน้าองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำ นปช. ในฐานะผู้ดำเนินรายการทางช่องพีซทีวี พร้อมทีม ผู้ประกาศ เดินทางมายื่นหนังสือต่อเลขาธิการยูเอ็น ผ่านนายยู คาโนสุเอะ เจ้าหน้าที่สิทธิมนุษยชนสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อขอให้ทางยูเอ็นเรียกร้องให้รัฐไทยปัจจุบัน ปฏิบัติตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อที่ 19 หยุดการปิดกั้นสิทธิเสรีภาพของสื่อ หลังจากช่องพีซทีวี ถูกสั่งเพิกถอนใบประกอบกิจการโทรทัศน์จาก กสท.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนเข้ายื่นหนังสือต่อยูเอ็น นพ.เหวง พร้อมผู้ประกาศได้แสดงสัญลักษณ์โดยปล่อยนกพิราบสีขาว 4 ตัวด้านหน้ายูเอ็น โดยนพ.เหวงกล่าวว่า นกพิราบเปรียบเสมือนสื่อมวลชนและสันติภาพ การปล่อยนกพิราบครั้งนี้จึงหมายถึงขอให้สื่อได้รับเสรีภาพการทำหน้าที่อย่างเต็มที่ 

 

จี้รัฐบาลหยุดปิดกั้นเสรีภาพสื่อ

โดยทีมผู้ประกาศอ่านแถลงการณ์ว่า ยูเอ็นมีเจตจำนงแรงกล้าในการสนับสนุนให้เกิดเสรีภาพในการพูด ในการแสดงออก จนถึงกับ ประกาศให้วันที่ 3 พ.ค. ทุกปีเป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกเพื่อให้รัฐทุกรัฐปกป้องรักษาสิทธิ เสรีภาพของสื่อตามที่ปรากฏในกฎบัตรสหประชาชาติมาตรา 19 แต่ได้เกิดเหตุการณ์ที่องค์กรรัฐไทย ปิดสถานีพีซทีวีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายของไทย และไม่ชอบด้วยปฏิญญา สากลฯ จึงกราบเรียนเลขาธิการยูเอ็น โปรดพิจารณาเรียกร้องให้รัฐไทยปัจจุบันปฏิบัติตาม กฎบัตรที่ 19 ของยูเอ็นอย่างเคร่งครัด เพื่อคืนความเป็นธรรมให้กับพีซทีวีและหยุดการปิดกั้น สิทธิเสรีภาพของสื่อในรัฐไทยเป็นการทั่วไป ไม่ใช่เฉพาะพีซทีวีเท่านั้น จากนั้นนพ.เหวง พร้อมทีมงานเข้าไปยื่นหนังสือภายในยูเอ็น โดยไม่อนุญาตให้ผู้สื่อข่าวเข้าไปแต่อย่างใด

นพ.เหวง ให้สัมภาษณ์ภายหลังการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ยูเอ็นว่า ทางยูเอ็นได้รับเรื่องร้องเรียน และสอบถามรายละเอียดตั้งแต่ถูกปิดสถานีชั่วคราว กระทั่งถูกปิดถาวร ทั้งนี้ยูเอ็นรับว่าจะไปหารือกับรัฐบาลและกสทช. เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนของยูเอ็นต่อไป ยืนยันว่าเราต้องการได้รับความคุ้มครอง ตามกฎบัตรยูเอ็นมาตรา 19 อย่างไรก็ตาม วันที่ 6 พ.ค.นี้ ตัวแทนพีซทีวีจะไปที่กสทช.อีกครั้ง เพื่อเตรียมเข้าสู่กระบวนการทางปกครองก่อนจะยื่นเรื่องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้คุ้มครองชั่วคราวต่อไป

วันเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ เดินทางไปกราบสักการะองค์พระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม โดยมีประชาชนให้ความสนใจเข้ามาขอถ่ายรูป เป็นจำนวนมาก

 

"บิ๊กจิ๋ว"ฟังปัญหาชาวนากรุงเก่า

เมื่อวันที่ 4 พ.ค. ที่วัดบางยี่โท อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกฯ และคณะ เดินทางพบเกษตรกรที่ทำนา บนศาลาการเปรียญวัด โดยมีนายทวีศักดิ์ วีระศักดิ์ นายกสมาคมชาวนาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมเกษตรจากหลายอำเภอ ประมาณ 100 คน ได้แก่ อ.เสนา อ.บางไทร อ.บางปะหัน อ.บางปะอิน และอ.ลาดบัวหลวง ให้การต้อนรับและรับฟังการพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้สินของชาวนา 

พล.อ.ชวลิตเปิดเผยว่า มาเพื่อรับฟังปัญหาของชาวนา ไม่เกี่ยวกับการเมือง และเตรียมรวบรวมปัญหาที่ชาวนาเสนอ ส่งให้รัฐบาล ซึ่งปัญหาของชาวนามีมาก ต้องเพิ่มราคาข้าว ลดปริมาณการปลูก ปลูกไว้กินหรือไปแปรรูปเป็นกลูโคส เป็นสารผสมต่างๆ ของเครื่องดื่ม ใช้เทคโนโลยี เข้าช่วย ควบคุมต้นทุนการผลิต ให้ต่ำลงเช่นราคาปุ๋ย ส่งเสริมการทำปุ๋ยหมัก โดยให้ผู้นำท้องถิ่นเป็นหลัก

นางสำอาง เจียมตน อายุ 48 ปี ชาวนา ต.สามตุ่ม อ.เสนา เปิดเผยว่า ตนเป็นภรรยาของนายเกรียงศักดิ์ ไตรพิจารณ์ อายุ 47 ปี ที่เคยชวนกันจะกินยาฆ่าแมลงเพื่อฆ่าตัวตาย เนื่องจากเครียด เป็นหนี้สินร้านค้าปุ๋ย ร้านค้าพันธุ์ข้าว และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ประมาณ 8 แสนบาท ไม่รู้จะทำอย่างไร แต่คิดได้ว่ายังมีลูกชายพิการ ถ้าตายไปพี่น้องจะลำบาก ใครจะใช้หนี้ สามีจึงไปพบพล.อ.ชวลิตที่บ้าน เห็นว่าเคยพูดถึงชาวนาบ่อยๆ วันนี้พล.อ.ชวลิตมาก็ดีใจคิดว่าคงจะหาทางช่วยได้ ขอให้รัฐบาลช่วยให้ราคาข้าวสูงขึ้น ตันละ 8,000 บาท จะอยู่ได้ปัจจุบัน ราคาไม่เกินตันละ 6,500 บาท นอกจากให้ควบคุมราคาปุ๋ยแล้ว ชาวนาต้องการน้ำ ปัจจุบันน้ำไม่เพียงพอการทำงาน

ต่อมานายทวีศักดิ์ ได้ยื่นหนังสือให้ พล.อ.ชวลิต ช่วยนำปัญหาของชาวนาและวิธีแก้ปัญหาชาวนาไทย แบบยั่งยืน ผ่านไปให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ซึ่งเคยเรียกร้องรัฐบาลแล้วแต่ไม่ได้คำตอบ วันนี้พล.อ.ชวลิต มาพบกับชาวนา จึงเป็นความหวัง ซึ่งเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองน่าจะช่วยได้บ้าง

 

สนช.ผ่านกม.โกงไม่มีอายุความ

วันที่ 4 พ.ค. นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบร่างแก้ไขพ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่...) พ.ศ. .... ในวาระ 2 และ 3 มีเนื้อหาสำคัญ อาทิ กำหนดฐานความผิดการให้/รับสินบนที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่รัฐต่างประเทศและเจ้าหน้าที่องค์การระหว่างประเทศ, กำหนดฐานความผิดเฉพาะนิติบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่, กำหนดหลักการริบทรัพย์ให้มีประสิทธิภาพ, กำหนดอายุความโดยมิให้นับอายุความ หากมีการหลบหนีในคดีทุจริต

นายสรรเสริญกล่าวว่า ป.ป.ช. ขอขอบคุณสนช.ที่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาทุจริต เพราะผลของการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว จะทำให้ประเทศไทยมีกฎหมายป้องกันและปราบปรามการทุจริตที่มีประสิทธิภาพ ปฏิบัติตามพันธกรณีของอนุสัญญาต่อต้านการทุจริต ในฐานะรัฐภาคีได้อย่างครบถ้วน แสดงถึงความมุ่งมั่นของไทยในการแก้ไขกฎหมายเพื่อป้องกันและปราบปรามการทุจริตให้เป็นสากล เกิดการยอมรับและเชื่อมั่นจากนานาประเทศยิ่งขึ้น อีกทั้งเกิดประโยชน์ต่อการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศอีกด้วย

ทั้งนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างการถูกประเมินและติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาดังกล่าว จากผู้แทนรัฐผู้ประเมิน ประกอบด้วยบาห์เรน และเนปาล ซึ่งจะมาประเมินประเทศไทย ในขั้นตอนการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศไทยในเดือนพ.ค.นี้

 

ม็อบ"ปาล์ม-ยาง"ใต้ขู่ชุมนุมอีก

วันที่ 4 พ.ค. ที่โรงแรมเมือลิงกอร์ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช สมาพันธ์ชาวสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และตัวแทนสมาพันธ์ชาวสวนยางพาราแห่งประเทศไทย มีนายสมพร ศรีเพชร นายกสมาคมชาวสวนปาล์มน้ำมันจังหวัดนครศรีธรรมราช และนายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย และตัวแทนเกษตรกร 4 จังหวัดคือตรัง พัทลุง กระบี่ และนครศรีธรรมราช ร่วมหารือหามาตรการแก้ปัญหาราคาปาล์มตกต่ำ

ที่ประชุมได้สรุปข้อเรียกร้องรัฐบาล ดังนี้ 1.เรื่องกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากปาล์มดิบ ต้องให้รัฐนำเครื่องวัดเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มมาก่อนเพราะไม่มีเครื่องมาตรวจหน้าลานเท 2.ให้เข้าสำรวจสวนปาล์มน้ำมันของเกษตรกรในจ.นครศรีธรรมราชตามความเป็นจริง ซึ่งที่ผ่านมาพาณิชย์จังหวัดให้ข้อมูลผิดๆ ไม่ตรงกับความเป็นจริง 3.ราคาปาล์มสดจากเกษตรกรส่งลานเท ต้องอยู่ที่ ก.ก.ละ 5 บาท 4.เสนอรัฐให้ใช้น้ำมันปาล์มกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.)อย่างเต็มรูปแบบเพื่อผลิตไฟฟ้า และ 5.กวดขันเรื่องน้ำมันปาล์มเถื่อนที่ลักลอบเข้ามาอย่างเด็ดขาด เพราะเป็นผลพวงมาจากรัฐบาลนำเข้า 5 หมื่นตัน ส่งผลให้เสียหายอย่างหนัก 

ทั้งนี้ ภายใน 7 วัน หากไม่ได้ตามข้อเรียกร้อง ชาวสวนปาล์มจะร่วมกับชาวสวนยาง ทำกิจกรรมประชุมแกนนำเกษตรกร ที่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช เพื่อสอบถามความคืบหน้าการแก้ปัญหาจากรัฐบาลต่อไป

นายสมพรเผยว่า การทำหนังสือของกระทรวงพาณิชย์เป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ถือว่าโง่สิ้นดี ตั้งราคาแค่ก.ก.ละ 4 บาท ขณะที่ต้นทุนการผลิตอยู่ที่ 3.38 บาท จะแก้ปัญหาได้อย่างไร และยังมีการตรวจเปอร์เซ็นต์น้ำมันจากผลปาล์ม ตรวจอย่างไรและใครมากำหนด เพราะเครื่องมือไม่มี

"ทุกข้อที่กระทรวงพาณิชย์นั้นทำแบบไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน ดูแล้วไม่ได้แก้ปัญหา แต่ยิ่งสร้างความกดดันให้กับเกษตรกร จึงร่วมกับชาวสวนยางมาร่วมกันแก้ปัญหา โดยข้อเสนอจะส่ง ถึงผู้ว่าฯ, แม่ทัพภาคที่ 4, กระทรวงพาณิชย์ และนายกฯ และขอให้เร่งดำเนินการภายใน 7 วัน หากไม่ดำเนินการใดๆ จะประชุมกันอีกครั้งที่แยกควนหนองหงส์ อ.ชะอวด" นายสมพรกล่าว