6

 


154 คนดังชี้ทางออก รธน.ปชต.
ขอ 3 ข้อ-ปชช.มีส่วนร่วม 2โพลหนุนแก้ปมร้อน เชื่อกก.รื้อตร.ไร้ขาป่วน

      154 คนดังจากหลายวงการ นำโดยดร.ชาญวิทย์ ดร.นิธิผกก.หนังเป็นเอก ออกแถลงการณ์เรียกร้องรธน.ที่เป็นประชาธิปไตย เสนอทางออก 3 ข้อให้ประชาชนมีส่วนร่วม ขณะที่สปช. ขู่อีกถ้ากมธ.ยกร่างฯไม่แก้รธน.รวมหัวคว่ำแน่ ลั่นถ้าอยากให้รธน.เดินหน้าได้ต้องตัดพวกชอบล็อบบี้พ้นทาง 2 โพลเผยประชาชนหนุนรธน.ใหม่แต่ต้องแก้ปมร้อน หนุนแก้ที่ส.ว.-นายกฯมาจากส.ส. 'เสรี' ตอก 'บวรศักดิ์' ให้ลองใช้รธน.5 ปี ชี้แค่ปีเดียวก็เอาตัวไม่รอด ปชป.ลั่นต้องทำประชามติก่อนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี โฆษกรัฐเผยทูตอียูชมเปราะไทยแก้ปัญหาประมงถูกทาง 20-22 พ.ค.ส่งคณะทำงานดูความคืบหน้าในไทย

 

วันที่ 04 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8923 ข่าวสดรายวัน

 

เฟ้นกก.ปฏิรูปตร.-ไร้ขาป่วน

      เมื่อวันที่ 3 พ.ค. นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวถึงการตั้งคณะกรรมการกิจการปฏิรูปตำรวจ โดยมีตัวแทนจาก 5 คณะกรรมาธิการปฏิรูปด้านต่างๆ เพื่อพิจารณาหาข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปตำรวจร่วมกัน ว่า นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. อยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะตั้งใครมาเป็นคณะกรรมการในชุดนี้บ้าง แต่เท่าที่ดูจะไม่ตั้งคู่ขัดแย้งในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมเข้าร่วมแน่นอน เพราะถ้าตั้งเข้ามาแล้วจะเกิดความขัดแย้งในการทำงานขึ้นมาอีก ทำให้งานสะดุดโดยคู่ขัดแย้งนั้น แต่คณะกรรมการอาจจะเรียกให้มาชี้แจงและ ขอความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณา 

     นายวันชัยกล่าวว่า ส่วนเรื่องการขอแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสปช. คณะผู้ประสานงานจัดทำคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญจะหารือสมาชิกในวันที่ 6 พ.ค.นี้ โดยอาจขอเวลานายเทียนฉายเพื่อพูดคุยกับสมาชิกนอกรอบ หลังจากเสร็จสิ้นการประชุมตามวาระของสปช.แล้ว ในช่วงเวลา 16.00-17.00 น. ซึ่งจะเตรียมแบบสอบถามแจกสมาชิกเพื่อขอความเห็น อาทิ ต้องการแปรญัตติในกลุ่มใด และต้องการแปรญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญในภาคใดและส่วนใด เป็นต้น

สปช.ขู่อีกคว่ำร่างรธน.

     ด้านนายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการ กมธ.วิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิปสปช.) กล่าวว่า เราได้ส่งแบบสอบถามให้กับสมาชิกสปช.ทั้งหมดแล้วในอีเมล์ และกลุ่มไลน์ ซึ่งในวันที่ 6 พ.ค. หากสมาชิกคนใดยังไม่ได้กรอกแบบสอบถาม เราจะนำแบบสอบถามไปแจกให้อีกครั้ง โดยสมาชิกทุกคนจะต้องส่งแบบสอบถามภายในเวลา 14.00 น. ของวันดังกล่าว หลังจากนั้นคณะผู้ประสานฯ จะประมวลผลว่ามีกลุ่มไหนที่สมาชิกสนใจ และเป็นเรื่อง ใดบ้าง

      นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น กล่าวว่า ตนอยากให้กมธ.ยกร่างฯ นำสิ่งที่สปช.อภิปรายมาตลอด 7 วันไปพิจารณา อย่างที่สปช.บางคนได้ระบุไว้แล้วว่าหากกมธ.ยกร่างฯ ไม่ยอมนำข้อเสนอเหล่านี้ไปแก้ไขหรือแก้ไขเพียงเล็กน้อย สปช.มีโอกาสที่จะไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จึงเสนอว่าเมื่อกมธ.ยกร่างฯ ได้รับคำขอแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้ว ควรเปิดโอกาสให้กมธ.ปฏิรูปทั้ง 18 ด้าน ได้เข้าไปชี้แจงว่าเหตุที่ร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องแก้ไขเพราะอะไร กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คน ก็หาเหตุผลมาหักล้าง หากฝ่ายใดให้เหตุผลได้ดีกว่าก็ให้เป็นไปตามนั้น เพราะทุกฝ่ายต้องยึดถือผลประโยชน์ประเทศชาติเป็นหลัก ไม่อยากให้สิ่งที่ทำงานกันมาต้องเสียของ

แนะตัดหางจอมล็อบบี้

     "ส่วนกรณีที่ผมได้อภิปรายไปว่าเสียงส่วนน้อยในกมธ.ปฏิรูปฯ สปช.มีการวิ่งเต้นล็อบบี้จนได้เป็นบทบัญญัติในร่างรัฐธรรมนูญ นั้น ทางกมธ.ยกร่างฯ ได้ระบุว่าจะแก้ไขในเรื่องนี้ จึงฝากข้อสังเกตว่าหากอยากให้รัฐธรรมนูญเดินหน้าต่อไป ควรพิจารณาว่าหากบุคคลใดที่มีพฤติกรรมวิ่งเต้นก็ไม่ควรให้มายุ่งเกี่ยวกับสารบบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวมทั้งไม่ควรแต่งตั้งบุคคลนั้นเป็นอนุกรรมการที่จะพิจารณากฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพราะถือว่ามีเจตนาที่ทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ไม่ทราบว่ากมธ.ปฏิรูปชุดอื่นมีคนเช่นนี้หรือไม่ แต่หากเป็นกมธ.ยกร่างฯ จะสามารถเห็นได้ในภาพรวม จึงขอให้สำรวจและพิจารณาประเด็นนี้"นายเกรียงไกรกล่าว 

     นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. กล่าวว่า เนื้อหาในส่วนที่กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ จะยื่นแปรญัตติให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อกมธ.ยกร่างฯ นอกจากจะมีประเด็นเรื่องระบบทางการเมืองแล้วจะเสนอให้ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย มีมาตรฐาน สามารถบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย ทั้งนี้ อยากให้กมธ.ยกร่างฯ เปิดใจกว้างรับฟังความเห็นจากทุกฝ่าย นำไปปรับปรุงข้อบกพร่องในรัฐธรรมนูญ หลายเรื่องในรัฐธรรมนูญเป็นของใหม่ที่ยังไม่เคยใช้มาก่อน เป็นเรื่องที่ต้องระวัง อย่าไปคิดว่าของใหม่จะดี เพราะพอใช้ไปจริงอาจมีปัญหา 

 

สวนอ.ปื๊ดใช้ 1 ปีไม่รอดแล้ว

    นายเสรี กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า เรื่องที่เป็นเนื้อหาใหม่ในรัฐธรรมนูญครั้งแรก ยังไม่เคยใช้มาก่อน ควรนำไปใส่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจะดีกว่านำมาใส่ในรัฐธรรมนูญ หากเกิดปัญหาขึ้นมาจะสามารถยืดหยุ่น แก้ไขได้ง่ายกว่า ส่วนที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ขอให้ลองใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีนั้น เห็นว่าแค่ 1 ปีก็เอาตัวไม่รอดแล้วจะมาใช้ตั้ง 5 ปี

    นายประสาร มฤคพิทักษ์ สปช. กล่าวว่า ตนจะยื่นเสนอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่สำคัญหลายประเด็น อาทิ เรื่องที่มาส.ว. 200 คน โดยจะใช้รูปแบบให้เป็นตัวแทนกลุ่มอาชีพที่มีกฎหมายรับรองทั้งหมด จากนั้นค่อยไปลงสมัครรับเลือกตั้งและให้ประชาชนเป็น ผู้เลือกตั้งโดยตรง โดยกระจายพื้นที่ผู้สมัครเป็น 6 ภูมิภาค เช่นเดียวกับระบบบัญชีรายชื่อของส.ส ในร่างแรกของรัฐธรรมนูญโดยในแต่ละภูมิภาคจะได้วุฒิสภาจากหลากหลายอาชีพไม่น้อยกว่า 30 คน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวถือเป็นการเลือกตั้งโดยตรง และ ที่สำคัญจะไม่ได้ส.ว. ที่ไม่เหมือนกับส.ส. ที่เป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองที่อาจเป็นพรรคพวกกัน อีกทั้งไม่เห็นด้วยที่กมธ. ยกร่างฯ ไปยุบรวมผู้ตรวจการแผ่นดินกับคณะกรรมการสิทธิมนุษชนแห่งชาติ (กสม.) เกรงว่าประชาชนจะได้รับการดูแลคุ้มครองน้อยลง

 

'ไพบูลย์'แย้มประเด็นขอแก้ไข

       ส่วนนายไพบูลย์ นิติตะวัน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ขณะนี้อยากให้รอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจากทุกฝ่ายก่อน โดยประเด็น สำคัญที่มีความแน่นอนว่าจะมีการเสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมเข้ามา คือ ประเด็นการควบรวมกสม. และผู้ตรวจการแผ่นดิน ประเด็นอำนาจการจัดการเลือกตั้งว่าควรเป็นของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือคณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) ฉะนั้น เมื่อคำขอแก้ไขเพิ่มเติมมาถึงกมธ. ยกร่างฯในวันที่ 25 พ.ค. กมธ.ยกร่างฯจะนำมาหารือเพื่อประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญในช่วง 60 วันสุดท้ายระหว่างวันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค.

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ดำรงตำแหน่งทั้งกมธ.ยกร่างฯและสปช.มีความหนักใจหรือไม่เพราะต้องทำหน้าที่ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์กล่าวว่า โดยหลักการแล้วกมธ.ยกร่างฯที่เป็นสปช.มีสิทธิ ที่จะลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ซึ่งคงไปใช้สิทธิตามหน้าที่ เพราะเมื่อกมธ.ยกร่างฯ ได้ปรับปรุงแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างครบถ้วนสมบูรณ์โดยเปิดใจรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายแล้ว เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯที่เป็นสปช.ทั้งหมดจะไปทำหน้าที่โหวตลงมติเห็นชอบสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แน่นอน 

 

เล็งรื้อที่มาสภาขับเคลื่อน

   พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างฯ และสปช. กล่าวว่า ขณะนี้ต้องรอคำขอแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เป็นลายลักษณ์อักษรจากสปช.เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาแก้ไข คาดว่าปลายเดือนพ.ค.นี้จะมาถึง ในส่วนของกมธ.ยกร่างฯนั้นรับฟังอยู่แล้ว เพียงแต่ประเด็นใดที่จะนำมาพิจารณาต้องได้รับคำขอตรงนั้น และต้องรอจากคณะรัฐมนตรี(ครม.)รวมทั้งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) และขณะนี้กมธ.ยกร่างฯได้เดินสายรับฟังความคิดเห็นตามต่างจังหวัดอยู่ ก็จะนำมาพิจารณาด้วย

ผู้สื่อข่าวถามว่า ส่วนตัวอยากปรับแก้ ตรงไหนบ้าง พล.ท.นครกล่าวว่า มีหลายประเด็น ในการปฏิบัติงานนั้นเสียงส่วนใหญ่ว่าอย่างไร เราเป็นส่วนน้อยก็จะนำเสนอให้ทราบว่าอยากจะแก้อย่างไรบ้าง เช่น สมัชชาพลเมือง สภาคุณธรรม นอกจากตรวจสอบแล้วควรเอื้อประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารได้ด้วย ตรงนี้อาจมีการคุยกันเพิ่มเติม ส่วนสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ อาจเอามาพิจารณาว่าที่มาของสมาชิกส่วนต่างๆ ที่แต่เดิมถูกหาว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ถ้าจะทำให้งานปฏิรูปเดินหน้าได้ ควรมีการปรับเปลี่ยนที่มาของสมาชิกหรือไม่ เพราะน่าจะทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้

ปลายพ.ค.อาจถกประชามติ

    นายวุฒิสาร ตันไชย กมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการจัดทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ว่า กมธ.ยกร่างฯยังไม่ได้มีการหารือและพูดคุยกันอย่างเป็นทางการ มีเพียงการแสดงความคิดเห็นของกมธ.ยกร่างฯแต่ละคนออกมาเท่านั้นว่าควรทำหรือไม่ควรทำประชามติ จึงคิดว่ากรณีดังกล่าวหากมีการเปิดประชุมกมธ.ยกร่างฯในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้คงมีการนำมาหารือร่วมกันเพราะทางรัฐบาลก็ระบุว่าหากกมธ.ยกร่างฯอยากให้มีการทำประชามติสามารถเสนอความเห็นไปได้ 

"มองว่าการจัดทำประชามติมีข้อดีคือทำให้เกิดการยอมรับร่วมกันของคนในสังคม รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้คนในสังคมได้ศึกษาและมีความรู้ความเข้าใจในร่างรัฐธรรมนูญมากยิ่งขึ้น เพราะหลักการทำประชามติ การตัดสินใจว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งใดนั้นต้องมีข้อมูลมากพอเพื่อประกอบการตัดสินใจ ดังนั้น ถ้ามีการทำประชามติ ก็ต้องมีกระบวนการให้ข้อมูลข่าวสารเผยแพร่ต่อประชาชน เพราะการทำประชามติไม่ใช่แค่รับหรือไม่รับเท่านั้น กระบวนการนี้จำเป็นต้องใช้เวลาและมีกลไกมาดำเนินการ" นายวุฒิสารกล่าว

 

"เสธ.อู้"ค้านโหวตประกบ 2 ฉบับ

    ด้านพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกมธ.ยกร่างฯ กล่าวถึงกรณีนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย เสนอทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่พร้อมกับรัฐธรรมนูญปี 2540 ให้ประชาชนเลือกว่า เรื่องประชามติ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีบอกชัดแล้วว่า รัฐบาลจะเป็นผู้ตัดสินใจเมื่อถึงเวลาเหมาะสม จึงไม่ใช่หน้าที่ที่ตนจะให้ความเห็นว่าเรื่องทำประชามติดีไม่ดีตรงไหน แต่ส่วนตัวเชื่อว่า การให้เลือก 2 ฉบับนั้น วิธีนี้คงไม่เหมาะ และเกิดยาก แค่ฉบับเดียวก็ปวดหัวแล้วเอาสองฉบับประกบให้ตัดสินใจ ประชาชนต้องเข้าใจเนื้อหาถึง 2 ฉบับ บางทีประชาชนอาจลืมรัฐธรรมนูญปี 2540 ไปแล้ว แต่การออกมาวิจารณ์ของพรรคการเมืองยิ่งมากยิ่งดี ถ้าความเห็นตรงกันประเด็นใดมากๆ กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาเป็นพิเศษ อย่ากังวล บางทีร่างสุดท้ายออกมาพวกท่านอาจจะพอใจกันก็ได้

    นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวยังไม่สามารถให้ความเห็นได้ เพราะวันนี้ยังไม่ชัดเจนว่าจะทำประชามติหรือไม่ แต่เมื่อปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกแล้ว เชื่อว่านักการเมืองที่แท้จริงจะยอมรับได้ แต่สำหรับนักเลือกตั้งคงไม่พอใจเช่นเดิม เพราะสนใจแต่ผลประโยชน์ตนเป็นใหญ่ มุ่งเอาแต่กติกาเลือกตั้งที่พรรคของตนได้เปรียบ ไม่เคยได้ยิน นักเลือกตั้งออกมาพูดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์อะไรบ้าง ทั้งๆ ที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปได้บัญญัติเรื่องสิทธิเสรีภาพการมีส่วนร่วมของพลเมืองมากกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา นักเลือกตั้งควรเสนอมาดีกว่าว่าอะไรที่ยังต้องปฏิรูปเพิ่มเติมแล้วสังคมจะได้ประโยชน์ กมธ.ยกร่างฯ จะขอบคุณเป็นอย่างยิ่ง

 

กมธ.การเมืองจ่อจัดเวทีเสวนา

   นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. กล่าวว่า ในวันที่ 6 พ.ค. กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะประชุมสรุปการจัดเวทีเสวนาเพื่อรับฟังความเห็นของประชาชน โดยจะเชิญคณบดีจากมหาวิทยาลัย ต่างๆ ที่มีคณะนิติศาสตร์และรัฐศาสตร์ ทั่วประเทศเข้าร่วมให้ความคิดเห็น ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงรวบรวมรายชื่อทั้งหมด รวมถึงพรรคการเมืองที่จะเชิญทั้งพรรคเล็กและพรรคใหญ่มาร่วมให้ความคิดเห็นในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ คิดว่าคงได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะพรรคการเมือง คงไม่มีปัญหาในการเข้าร่วมเวทีครั้งนี้ เนื่องจากกมธ.ปฏิรูปการเมืองจะต้องรวบรวมข้อแก้ไขทุกอย่างส่งกมธ.ยกร่างฯในวันที่ 15 พ.ค.นี้ 

   นายชวลิต วิชยสุทธิ์ รักษาการรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการหารือร่วมกับนายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการพรรค เห็นตรงตรงกันว่าเราคงส่งในนามตัวแทนพรรคไปร่วมเวทีเสวนาของกมธ.ปฏิรูปการเมืองไม่ได้ ต่อให้มีหนังสือมาเชิญ พรรคเราก็ประชุมกันไม่ได้ แต่หากมีสมาชิกพรรคสนใจในเรื่องนี้สามารถไปให้ความเห็นในนามส่วนตัวได้ อย่างไรก็ตาม ขอฝากความเห็นว่า จะปฏิรูปในประเด็นอะไรก็ควรทำเป็นหลักการใหญ่ๆ ไว้ จากนั้นปล่อยให้คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนมาสานต่องาน ไม่ใช่ใช้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่เหมือนกับเป็นการสืบทอดอำนาจมาแก้แทน

พท.ห่วงเกิดวิกฤตรอบใหม่

    ขณะที่นายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส.สมุทร ปราการ พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ขณะนี้หลายฝ่ายพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าต้องปรับแก้ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะในหลายๆ มาตรา เช่น เรื่องที่มานายกฯคนนอก การกำหนดให้มีการตั้ง 11 องค์กรใหม่ขึ้นมา เป็นต้น ทำให้ประชาชนเกิดความระแวงและสงสัยได้ว่าอาจมีใครอยากสืบทอดอำนาจต่อไปหรือไม่ ที่สำคัญหากไม่แก้ไขร่างรัฐธรรม นูญฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดวิกฤตรอบใหม่ ต่อให้เอามาใช้ก็จะเกิดการต่อต้านจากทุกภาคส่วน ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่รุมเร้า การโดนใบเหลืองของประมงไทยจากอียู ปัญหาทุกเรื่องจะทิ่มแทงและดิสเครดิต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีอยู่คนเดียว

      นายวรชัยกล่าวว่า ส่วนที่มี สปช.บางคนระบุว่าพร้อมจะโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ หากกมธ.ยกร่างฯไม่แก้ไขนั้น เห็นว่า สปช.เองก็ยังขาดความเป็นเอกภาพ มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่มีจุดยืนในแนวทางประชาธิป ไตย แต่สุดท้ายเชื่อว่าจะถูกกดปุ่มสั่งให้โหวตผ่านอยู่ดี ดังนั้นรัฐบาลต้องเดินหน้าทำประชามติสอบถามความเห็นของประชาชน ถามแบบง่ายๆ ไปเลยว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าไม่รับจะให้นายกฯ นำรัฐธรรมนูญปี 2540 หรือ 2550 มาใช้ จากนั้นก็ประกาศใช้รัฐธรรมนูญที่ประชาชน ส่วนใหญ่ต้องการไปก่อน หลังเลือกตั้งเสร็จ ได้รัฐบาลใหม่ ก็ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามาร่างรัฐธรรมนูญ โดยอาจมีที่มาจากตัวแทนของ คสช.และที่ประชาชนเลือกตั้งเข้ามาอย่างละครึ่ง มาร่วมกันทำหน้าที่ แบบนี้จะแฟร์ๆ กว่า

ปชป.จี้กมธ.ยกร่างฯเปิดใจ

       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 315 มาตรานั้น เชื่อว่ากมธ.ยกร่างฯมีเจตนาดี แต่พบว่ามีหลายประเด็นที่ต้องปรับปรุงแก้ไขซึ่งเป็นประเด็นที่มีนักวิชาการ นักการเมือง ออกมาวิพากษ์วิจารณ์กันเป็นจำนวนมาก แต่ปรากฏว่าระยะหลังกมธ.ยกร่างฯเปิดใจรับฟังน้อยเกินไป จึงมีข้อเสนอเรียกร้องไปยังกมธ. ยกร่างฯ คือ 1.ต้องแสดงให้สังคมเห็นว่ารัฐธรรมนูญนี้จะไม่มีวาระซ่อนเร้น เอาประโยชน์ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง 

2.ต้องไม่มีอคติดูถูกหรือดูหมิ่นกับข้อเสนอของบุคคลจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการกล่าวหาบุคคลอื่นว่าออกมาเรียกร้องเพราะกลัวเสียผลประโยชน์ 3.ต้องลดอัตตาและเปิดใจตัวเองรับฟังข้อเสนอต่างๆ ซึ่งคิดว่ากมธ.ยกร่างฯจะสามารถแยกแยะได้ว่า ข้อเสนอใดมีเจตนาดีหรือไม่ดี และ4.ต้องสร้างบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชน อย่างจริงจังและให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

ค้านปล่อยใช้รธน.ก่อน

     นายองอาจ กล่าวว่า สำหรับการทำประชามตินั้น มีหลายฝ่ายออกมาเสนอทั้งการใช้มาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 2557 ซึ่งสามารถดำเนินการได้ การทำประชามติมีเหตุผลสำคัญ คือ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศจึงควรเปิดโอกาสให้อำนาจประชาชนว่าจะยอมรับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่สำคัญถ้ารัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันที่ดี และในร่างรัฐธรรมนูญมีบทบัญญัติว่า หากในอนาคตมีข้อประสงค์จะแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องผ่านการทำประชา มติจากประชาชน เพราะฉะนั้นในตอนนี้ควรมีการทำประชามติด้วย 

     "ในบทเฉพาะกาลที่จะมีการระบุบังคับใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 90-120 วัน แล้วค่อยทำประชามติ คิดว่าการทำประชามติไม่สามารถทำเฉพาะประเด็นใดหรือมาตราใดมาตราหนึ่ง เพราะวิธีการเช่นนี้อาจไม่ได้รับการยอมรับ อย่างไรก็ตามขณะนี้คสช. และรัฐบาลยังมีเวลาเพียงพอที่จะพิจารณาการทำประชามติให้ประชาชนยอมรับ เพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าต่อไปได้" นายองอาจกล่าว

 

ชงเพิ่มความเข้มปราบทุจริต

       นายวิลาศ จันทร์พิทักษ์ อดีตส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ แถลงถึงแนวทางการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อเป็นข้อเสนอไปยังกมธ. ยกร่างฯว่า ปัญหาการทุจริตนั้นแก้ไขไม่ง่าย โดยเฉพาะผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบอย่างบริสุทธิ์ซึ่งหาได้ยากในประเทศไทย ดังนั้น จึงมีข้อเสนอ 3 ประเด็นเพื่อให้กมธ.ยกร่างฯนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข คือ 1.ควรกำหนดให้องค์กรอิสระที่ทำหน้าที่ตรวจสอบออกระเบียบเรื่องกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบคำร้องอย่างชัดเจน เพราะปัญหาที่ผ่านมา อย่างคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) บางคดีใช้เวลาตรวจสอบกว่า 10 ปี จนคดีหมดอายุความ 2.ควรยกเลิกหลักสูตรอบรมระดับสูงขององค์กรอิสระที่ทำเหมือนเป็นแฟชั่น เนื่องจากมีผู้ไม่หวังดีที่เข้ามาอบรมหลักสูตรที่ไปทำความสนิทกับกรรมการของแต่ละองค์กร เพื่อหวังที่จะเป็นอนุกรรมการในการพิจารณาคดี สุดท้ายก็จะเกิดการล็อบบี้ และ 3.องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ ต้องเปิดเผยข้อมูลเมื่อถูกร้องขอตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร และควรระบุว่าหากมีผู้ร้องขอต้องเผยแพร่ข้อมูลภายในระยะเวลากี่วัน และหากมีการตกแต่งหรือให้ข้อมูลเท็จ ต้องได้รับโทษอย่างน้อย 2 เท่าของคนทั่วไป เพราะที่ผ่านมา การขอดูข้อมูลแต่ละครั้ง จะเจออาการยึกยัก เช่น การที่ขอข้อมูลการแต่งตั้งผู้ช่วยสปช.ที่กว่าจะได้มายากลำบาก

 

คนดังขอรธน.ที่เป็นปชต.

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นักวิชาการชั้นนำ นักกิจกรรม นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชนจากภาคส่วนต่างๆ 154 คน อาทิ นายนิธิ เอียวศรีวงศ์, นายชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นายเกษียร เตชะพีระ, นายจอน อึ๊งภากรณ์, นายสุชาติ สวัสดิ์ศรี, นายซะ การีย์ยา อมตยา, นายเป็นเอก รัตนเรือง, น.ส.สฤณี อาชวานันทกุล, นายจาตุรนต์ ฉายแสง เป็นต้น ร่วมกันเรียกร้องประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย โดยมีข้อเสนอสามข้อหลัก ได้แก่

1.หาก สปช. ปัดร่างรัฐธรรมนูญตก ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา

2.หาก สปช. ให้ความเห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน

และ3.หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญหรือประชามติไม่ผ่าน ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน จากนั้นให้สภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วันหลังจากนั้น

 

เสนอทางออกถ้าประชามติไม่ผ่าน

     อนึ่ง กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย เห็นว่า หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดผลในกรณีที่ประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญไว้เพียงให้แต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ และดำเนินการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้งตามกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย 

      การออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็น "การออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก" และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง

 

โพลหนุนรธน.แต่ให้แก้ที่มาส.ว.

     วันเดียวกัน กรุงเทพโพลล์โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลการสำรวจความคิดเห็นประชาชนจากทุกภูมิภาคทั่วประเทศจำนวน 1,102 คน เรื่อง "รัฐธรรมนูญ กับการปฏิรูปประเทศ" พบว่า ประชาชนร้อยละ 37.6 เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันแต่อยากให้มีการแก้ไขในบางส่วน รองลงมาร้อยละ 23.7 ระบุว่าเห็นด้วยทั้งฉบับ มีเพียงร้อยละ 9.2 เท่านั้น ที่ระบุว่าไม่เห็นด้วย ที่เหลือร้อยละ 29.5 ไม่แน่ใจ

สำหรับประเด็นที่ประชาชนอยากให้มีการแก้ไขมากที่สุดในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ คือ ประเด็นที่มาของ ส.ว. ที่อยากให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด (ร้อยละ 25.0) รองลงมาคือ ประเด็นที่มาของนายกฯ ว่าควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น (ร้อยละ 17.1) และการกำหนดบทลงโทษนักการเมืองที่คอร์รัปชั่นให้หนัก (ร้อยละ 11.6)

เมื่อถามว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการมีนายกฯ คนนอกได้ แต่ต้องได้รับเสียงโหวตจากในสภา 2 ใน 3 พบว่า ประชาชนร้อยละ 48.0 ระบุว่าเห็นด้วย ขณะที่ร้อยละ 44.5 ระบุว่าไม่เห็นด้วย ที่เหลือร้อยละ 7.5 ไม่แน่ใจ

ชี้เลื่อนเลือกตั้งทุบเครดิตไทย

     ส่วนความมั่นใจที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะช่วยให้รัฐบาลชุดต่อไปสามารถปฏิรูปประเทศได้สำเร็จหรือไม่ ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 59.6 ระบุว่าไม่มั่นใจ ขณะที่ร้อยละ 40.4 ระบุว่ามั่นใจ ต่อข้อถามว่า "ความสำเร็จของการปฏิรูปประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยใดมากกว่ากันระหว่างผู้นำประเทศกับความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญ" ประชาชนร้อยละ 50.4 ระบุว่าผู้นำประเทศสำคัญกว่า ขณะที่ร้อยละ 40.8 ระบุว่าความสมบูรณ์แบบของรัฐธรรมนูญสำคัญกว่า และร้อยละ 8.8 ไม่แน่ใจ

นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 72.8 เห็นว่ารัฐธรรมนูญจำเป็นต้องบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ในการปฏิรูปประเทศ ขณะที่ร้อยละ 17.8 เห็นว่าไม่จำเป็นต้องมีคณะกรรมการดังกล่าว ที่เหลือร้อยละ 9.4 ไม่แน่ใจ

      สำหรับ ประเด็นการเลื่อนเลือกตั้งออกไปจากโรดแม็ปเดิม ประชาชนร้อยละ 59.7 คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศ ขณะที่ร้อยละ 33.9 คิดว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือ ที่เหลือร้อยละ 6.4 ไม่แน่ใจ

เห็นด้วยนายกฯมาจากส.ส.

     ขณะที่ศูนย์สำรวจความคิดเห็น "นิด้าโพล" สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง "นายกรัฐมนตรีตามร่างรัฐธรรมนูญ 2558" จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้นายกฯต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 59.40 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเชื่อมั่นและไว้วางใจในตัว ส.ส. ซึ่งเป็นตัวแทนที่ประชาชน ได้เลือกเข้ามา ดูเป็นระบบ ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก และรวดเร็ว ขณะที่ร้อยละ 36.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะต้องการให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกฯโดยตรง และอาจมีการเล่นพรรคเล่นพวกเกิดขึ้นในการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร และร้อยละ 3.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

     ความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่เปิดโอกาสให้มีนายกฯที่ไม่ได้มาจาก ส.ส. (นายกฯคนนอก) แต่ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวน ส.ส. (มาตรา 172) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.98 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีประสบการณ์เพียงพอในการบริหารประเทศ นายกฯที่มาจาก ส.ส.น่าจะมีประสบการณ์และทำงานได้ดีกว่า ร้อยละ 45.76 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะเป็นช่องทางเลือกอีกช่องทางหนึ่ง ในการสรรหานายกฯ ควรเปิดโอกาสให้คนนอกเข้ามาบริหารประเทศบ้าง ซึ่งน่าจะทำงานได้ดีกว่านายกฯที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง และร้อยละ 6.26 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล 

 

ระบุมาตรา 181 ลดอำนาจส.ส.

     เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อ เดือนธ.ค.2557 ที่มีผู้ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 63.36 และผู้ที่เห็นด้วย ร้อยละ 34.58 แสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้ที่ไม่เห็นด้วย มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่สัดส่วนของผู้ที่เห็นด้วยเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้อธิบายให้ประชาชนได้เข้าใจถึงความจำเป็นที่ต้องเปิดช่องไว้สำหรับนายกฯที่ไม่ได้มาจากส.ส.

      ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่กำหนดให้นายกฯ อาจเสนอขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรและหากได้รับความไว้วางใจ สภาจะถูกตัดสิทธิในการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯไปโดยอัตโนมัติ ตลอดสมัยประชุม (มาตรา 181) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.19 ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการลดอำนาจและบทบาทหน้าที่ของสภามากจนเกินไป อาจทำให้เกิดช่องโหว่ในการตรวจสอบการทำงาน ควรเปิดอภิปรายเป็นระยะ เพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อมูลการทำงานของรัฐบาล 

      ขณะที่ร้อยละ 31.64 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะจะได้ไม่ต้องเปิดการอภิปรายหลายรอบ ลดค่าใช้จ่าย เวลา และความวุ่นวายที่เกิดจากการกระทบกระทั่งกันในสภา และร้อยละ 21.17 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

ไม่เอาปลัดรักษาการนายกฯ

     สำหรับ ความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ที่ให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง (มาตรา 184) พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 47.58 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะไม่เป็นประชาธิปไตย นายกฯควรมาจากการเลือกตั้งเท่านั้น หากมีการเลือกกันเอง กังวลว่าจะเกิดความไม่โปร่งใส เลือกแต่พรรคพวกของตนเองเข้ามา ร้อยละ 43.62 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะบางครั้งมีเหตุจำเป็นต้องหานายกฯในช่วงรอยต่อรัฐบาล หรือเกิดช่องว่างทางการเมือง เพื่อให้สามารถทำงานหรือสานงานต่อไปได้อย่างราบรื่น และค่อนข้างไว้วางใจในตัวปลัดกระทรวงว่าจะสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีความสามารถและเหมาะสมเข้ามาทำงานได้เป็นอย่างดีและร้อยละ 8.80 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ/ขึ้นอยู่กับรัฐบาล

      เมื่อเปรียบเทียบกับผลสำรวจเมื่อเดือนก.ค.และธ.ค.2557 พบว่า มีผู้ที่ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 25.10 และร้อยละ 47.25 ตามลำดับ ในขณะที่ผู้ที่เห็นด้วย อยู่ที่ร้อยละ 66.00 และ ร้อยละ 46.05 ตามลำดับ จากผลสำรวจที่พบว่าผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการให้ปลัดกระทรวงทำหน้าที่รัฐมนตรี และคัดเลือกกันเองเพื่อหาบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯรักษาการ ระหว่างที่มีพระราชกฤษฎีกาการเลือกตั้ง มีสัดส่วนแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามลำดับ อาจเกิดจากความรู้สึกของประชาชนจำนวนหนึ่งที่มองว่าการเข้าถึงปลัดกระทรวงเพื่อร้องเรียนปัญหาต่างๆ นั้นยากกว่าการร้องเรียนต่อรัฐมนตรีหรือนายกฯที่เป็นนักการเมือง

แนะแรงงานทำโรดแม็ปชงรัฐ

     ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เนื่องในโอกาสวันแรงงานแห่งชาติที่ผ่านมา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพชีวิต ของพี่น้องแรงงานเช่นเดียวกับการดูแลประชาชนทุกกลุ่ม โดยนายกฯได้ขอความร่วมมือภาคเอกชนผลิตสินค้าราคาพิเศษขายให้แก่กลุ่มแรงงาน แต่ห้ามกลุ่มแรงงานนำสินค้าดังกล่าวไปขายต่อ พร้อมทั้งจะจัดหาอาหารราคาถูกจำหน่ายหน้าหน่วยทหารเพื่อเป็นการลดรายจ่ายให้แก่แรงงาน ขณะที่การจัดระเบียบแรงงานต่างด้าวจะต้องทำให้ถูกต้องตามหลักสากล เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ และช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ที่ผ่านมายอดนักลงทุนมีมากขึ้น โดยมีจำนวนโรงงานเพิ่มขึ้นกว่า 10,000 โรง

     ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า สำหรับการปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานนั้น พี่น้องแรงงานจะต้องพัฒนาทักษะฝีมือของตนเอง โดยรัฐบาลจะดูแลในเรื่องกฎหมายเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่แรงงานที่มีฝีมือ ที่ผ่านมาต่างชาติพอใจกับการปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบของไทยและพร้อมจะเข้ามาลงทุน ทั้งนี้ ไทยจะเน้นรับการลงทุนที่เป็นประโยชน์ เช่น เทคโนโลยี ความทันสมัย และนวัตกรรมต่างๆ นอกจากนี้ เพื่อให้แรงงานไทยมีความมั่นคง มั่งคั่ง อย่างยั่งยืน พี่น้องแรงงานควรรวมกลุ่มกันจัดทำโรดแม็ปแล้วนำมาพูดคุยกับรัฐบาลเพื่อพัฒนาระบบแรงงานไทยให้เหมาะสมต่อไป

ชูยุทธศาสตร์ไทยแลนด์บวก 1

      โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า นายกฯประสงค์ให้ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยภาคธุรกิจและแรงงานจะต้องมีส่วนร่วมในการพัฒนา รัฐบาลจะลดบทบาทจากผู้ปฏิบัติมาเป็นผู้ที่อำนวยความสะดวก ขณะเดียวกันจะทำให้ไทยและอาเซียนมีความเข้มแข็งโดยใช้ยุทธศาสตร์ "Thailand+1" หมายความว่า อุตสาหกรรมที่มีฐานผลิตในประเทศไทยและต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ก็จะแบ่งไปลงทุนเพื่อผลิตในประเทศเพื่อนบ้าน แล้วส่งกลับมาป้อนบริษัทแม่ในเมืองไทย เชื่อมโยงกันด้วย "ห่วงโซ่การผลิต" 

      ร.อ.นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า นอกจากนี้ จะดูแลช่วยเหลือแรงงานภาคการเกษตร เนื่องจากทุกวันนี้ข้าวไทยราคาตกเพราะคุณภาพไม่ดี รีบเก็บเกี่ยวเกินไป ขายได้ในราคาต่ำ หากขายไม่ได้จะเหลือเก็บในคลังข้าว ทำให้ต่างชาติมีอำนาจในการต่อรองราคา นายกฯมีนโยบายให้หาวิธีลดต้นทุนการผลิตข้าวของชาวนาให้ชาวนาไทยมีเงินเหลือเก็บเพื่อใช้เลี้ยงดูครอบครัว และ ที่สำคัญไม่เป็นหนี้ ในส่วนของการยกระดับภาคการผลิต รัฐบาลได้เพิ่มงบลงทุนจาก 10% เป็น 20% ของรายจ่ายภาครัฐ และเพิ่มงบการวิจัยและพัฒนาขึ้นเป็น 1% ให้เข้าใกล้ค่าเฉลี่ยของโลก โดยงบลงทุนนี้จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ให้เป็นประโยชน์ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

ทูตอียูชมไทยแก้ ปัญหาประมงคืบ

       เมื่อวันที่ 3 พ.ค. ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรมประมงได้รายงานว่าในวันที่ 10-22 พ.คนี้ คณะทำงานของสหภาพยุโรป(อียู)จะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อดูความคืบหน้าและให้คำแนะนำกรณีการแก้ปัญหาการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ไม่รายงาน และไร้การควบคุม(ไอยูยู) ก่อนที่ผู้บริหารระดับสูงจะมาติดตามความคืบหน้าในวันที่ 20-22 พ.ค.นี้ ซึ่งหลังจากที่ได้มีการพบหารือระหว่างพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กับทูตอียู โดยทูตอียูได้ชื่นชมการแก้ปัญหาของไทย เป็นการสะท้อนว่าไทยเดินมาถูกทาง ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการแก้ไข

 

ปัญหาภาคประมงของไทย

       โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า สำหรับมาตรการที่ไทยดำเนินการแก้ปัญหาประมงไอยูยูไปแล้วได้แก่ การแก้ไขพ.ร.บ.ประมงใหม่ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อีก 2 เดือนต่อจากนี้ และมีการออกกฎหมายลูกและกฎกระทรวงอุดช่องว่างในกฎหมายดังกล่าวเพิ่มเติม การติดตั้งอุปกรณ์ติดตามเรือหรือ VMS ในเรือประมงขนาด 60 ตันกรอสขึ้นไปและการตั้งศูนย์แจ้งการเข้าออกของเรือประมง หรือ port in port out ซึ่งนำร่องไปแล้วใน 4 จังหวัด และจะดำเนินการให้ครบ 22 จังหวัดชายฝั่งทะเล ตั้งแต่ 6 พ.ค.นี้ 

ร.อ.นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ขณะที่นายปีติพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รมว.เกษตรและสหกรณ์ชี้แจงว่า จะเสนอ "แผนชาติ" ซึ่งเป็นกรอบเป้าหมายในการต่อสู้กับการทำประมงผิดกฎหมายในประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)เร็วๆ นี้ โดยจะนำความเห็นของคณะทำงานอียู ซึ่งจะเข้ามาติดตามความคืบหน้าการแก้ปัญหาในประเทศไทยในสัปดาห์หน้ารวมไว้ด้วยเพื่อแสดงจุดยืนที่ชัดเจนของประเทศไทยต่ออียูและนานาชาติในการแก้ปัญหาดังกล่าว

โฆษกรัฐบาลกล่าวว่า ส่วนแผนปฏิบัติการที่จะต้องแสดงต่ออียูเพิ่มเติมนั้นจะครอบคลุมวิธีปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายแผนชาติดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการดำเนินการเรื่องต่างๆ ก่อนหน้านี้ อาทิ การตั้งศูนย์ควบคุมการเข้าออกของเรือประมง และการติดอุปกรณ์ติดตามเรือ นอกจากนี้จะต้องเร่งออกกฎหมายลูกเพื่ออุดช่องโหว่ของพ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่ เพื่อให้ทันกำหนด 2 เดือน