2

บิ๊กตู่เปรี้ยงม. 44 ฟันหวย เกิน 80 คุก ดึงทหารคุม-โละบอร์ด ตั้งชุดพิเศษ-มีผลแล้ว 'บิ๊กโด่ง'โยก 205 ผู้พัน 5 สายรอถกประชามติ

มติชนออนไลน์ : 'พรเพชร'เผยแม่น้ำ 5 สายใกล้ถึงเวลาหารือปมประชามติ แต่รอดูร่าง รธน.ฉบับสุดท้ายก่อน 'สมชัย'ชี้ 90 วันทำประชามติน้อยไป

 

'พรเพชร'ชี้ 5 สายจ่อถกประชามติ 

      เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม ที่รัฐสภา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงข้อเสนอเรื่องการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า การจะทำประชามติจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 46 ซึ่งมาตรา 46 ไม่ได้พูดเรื่องการทำประชามติ แต่เป็นการพูดถึงเรื่องการขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ดังนั้นคนที่จะเสนอแก้ไขมาตรา 46 ได้คือคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องร่วมกันเสนอให้ สนช.พิจารณาเห็นชอบ โดยคนที่ต้องการให้ทำประชามติต้องมีข้อมูลและรายละเอียดเสนอมาประกอบการพิจารณา เช่น จะทำเมื่อไร อย่างไร ผลเป็นอย่างไร และใครเป็นคนรับผิดชอบ สงสารนายกฯที่ถูกสื่อมวลชนกดดันถามเรื่องการใช้มาตรา 44 ทำประชามติทุกวัน โดยไม่มีข้อมูล เหมือนอยู่ดีๆ ถามว่าจะกินปาท่องโก๋ต้องกินกับอะไร นายกฯและหัวหน้า คสช.ต้องมีข้อมูลเพียบพร้อมก่อนตัดสินใจ 

ผู้สื่อข่าวถามว่าถึงเวลาที่แม่น้ำ 5 สายต้องหารือกันเรื่องการทำประชามติหรือยัง นายพรเพชรกล่าวว่า ใกล้ถึงเวลาแล้ว จะถึงเวลาก็ต่อเมื่อเห็นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายของคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 

 

'มาร์ค'ยืนกรานให้ทำประชามติ

      นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงแนวโน้มที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามที่มีหลายฝ่ายเสนอแนะว่า อยากให้มันจบ ไม่ต้องการให้ผ่านไปแล้ว 1-2 ปีแล้วกลับมาเถียงกัน เพราะประเทศควรเดินหน้าด้านเศรษฐกิจ สวัสดิการ ทำให้ประชาชนมีสุข ถ้ารัฐธรรมนูญไม่เป็นที่ยอมรับ มันก็เดินต่อไปไม่ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ปชป.ได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ส่งมาแล้ว ภายในวันที่ 20 พฤษภาคม ทางพรรคจะส่งข้อเสนอปรับแก้ไปยัง กมธ.ยกร่างฯ และยืนยันที่จะให้ทำประชามติ หากไม่ทำจะมีความเสี่ยงที่คนไม่เห็นด้วย จะไปสร้างเงื่อนไขให้รื้อรัฐธรรมนูญกันอีก ไม่อยากให้ประเทศต้องเสียเวลา 

เมื่อถามว่าหากทำประชามติอายุของรัฐบาลก็จะยืดไปอีก นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การทำประชามติคงไม่นานขนาดนั้น เรื่องที่อายุรัฐบาลจะยืดออกไป คงไม่มีใครเจตนาจะให้ยืดเยื้อ สมมุติว่าเสียเวลาทำประชามติ 3 เดือน คิดว่าคุ้ม เพราะหากไม่มีการรับรองโดยประชาชน แทนที่จะเสียเวลา 3 เดือน ก็อาจจะทะเลาะกันอีกไม่รู้กี่ปี แล้วจะวกกลับมาร่างกันใหม่ ไม่มีประโยชน์กับใคร

 

ชี้ร่างรธน.มี 3 ปมอันตราย

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ประเด็นที่พรรคจะเสนอให้แก้มีนับไม่ถ้วน แต่คงไม่ทั้งฉบับ เพราะบางประเด็นเป็นรายละเอียด แต่บางประเด็นคือเรื่องหลักการ เช่น มาตรา 181, 182 กับอำนาจคณะกรรมการปรองดองเรื่องการเสนอพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษบุคคล เป็นเรื่องอันตรายมาก ถ้า 3 ประเด็นนี้ออกมามีวิกฤตแน่ 

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ที่นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ เสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขนั้น ถ้าปีแรกมีการใช้มาตรา 181, 182 ออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วประชาชนออกมาประท้วง ฆ่าฟันกัน จะมีประโยชน์อะไร อะไรที่เป็นปัญหาก็อย่าสร้างมันขึ้นมา เมื่อเห็นว่ามีปัญหาก็ควรป้องกันไว้ 

 

หวั่นอภัยโทษสุดซอยป่วนอีก

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การอภัยโทษนั้นในหลักการก็มีอยู่แล้ว เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ตามคำแนะนำของคณะรัฐมนตรี (ครม.) คนที่จะได้รับพระราชทานอภัยโทษคือคนที่สำนึกผิดโดยผ่านกระบวนการยุติธรรม แต่การให้อำนาจ 15 คนในคณะกรรมการปรองดอง ให้คนมาสำนึกผิดกับกรรมการแล้วสามารถอภัยโทษได้ ถือเป็นเรื่องอันตราย จะเป็นจุดขัดแย้ง ถือว่าไม่เหมาะสมที่ทำให้ประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องสาธารณะแล้วบอกว่ายังเป็นพระราชอำนาจอยู่

"ถ้ารัฐบาล สนช. หรือใครจะออกกฎหมายนิรโทษกรรม ให้ประชาชนที่ไปชุมนุมแล้วไม่ได้ทำผิดอาญาเรื่องอื่น ก็ไม่มีใครคัดค้าน แต่ที่มันช้ามาทุกครั้ง ก็เพราะมีคนอื่นที่อยากจะได้นิรโทษกรรม ก็จับคนเหล่านี้เป็นตัวประกันเอาไว้ พอกฎหมายจะออกอย่างที่เรียกว่าครึ่งซอย ปากซอย ต้นซอย แล้วสุดท้ายก็พ่วงให้มันสุดซอย นี่คือปัญหา ดังนั้นรัฐบาลมีโอกาสดีแล้ว ให้ประชาชนที่สมควรจะได้รับการนิรโทษกรรมรับไปเลย ส่วนคนที่เหลือต้องเข้าสู่กระบวนการ ผมก็มีคดีก็เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไม่เคยเรียกร้องนิรโทษกรรม ถ้าหากคดีสิ้นสุดอย่างไร สังคมเห็นควรให้อภัยหรือไม่ ผมว่ามันมีทางออกอยู่แล้ว แต่ถ้าไปเร่งไปทำผิดธรรมชาติ ก็จะสร้างความขัดโดยไม่จำเป็น" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

"อ๋อย"ให้ตัดร่างรธน.150 มาตรา 

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ จากพรรคเพื่อไทย (พท.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เรื่อง "ประชามติ ประชามติ ประชามติ" ว่า เห็นวิวาทะระหว่างนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กับนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ แล้วก็รู้สึกเห็นใจที่คอหอยกับลูกกระเดือกต้องมาเล่นบทลิ้นกับฟัน ที่มีการถกกันว่าควรตัดเนื้อหาออกไป 20-30 มาตรานั้น ถ้าจะดูที่เนื้อหาแล้วมีเรื่องจำนวนมากที่ไม่ควรบัญญัติในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการสร้างองค์กรจำนวนมากมาควบคุมและแย่งเอาอำนาจไปจากประชาชน กับการกำหนดนโยบายในการบริหารประเทศและการปฏิรูปทั้งหลาย เพราะฉะนั้นจะตัดกันจริงๆ คงไม่น้อยกว่า 100-150 มาตรา ส่วนที่ไม่ตัดทิ้งก็ยังต้องแก้ไขในสาระสำคัญอีกมาก 

นายจาตุรนต์ระบุว่า ส่วนที่นายบวรศักดิ์บอกว่าให้ใช้รัฐธรรมนูญนี้ไป 5 ปีก่อนแล้วค่อยแก้ไขนั้น ดูจะไม่เป็นที่ขานรับเพราะเขาเข็ดกับการ "รับไปก่อนแล้วแก้ไขทีหลังได้" กันหมดแล้ว

 

แนะเร่งเคาะทำประชามติ

"หากต้องการให้ได้รัฐธรรมนูญที่ดี จำเป็นต้องให้มีการลงประชามติ ยิ่งตัดสินใจให้มีการลงประชามติเร็วเท่าไรยิ่งดีมากเท่านั้น ไม่ควรให้เนิ่นนานไป การตัดสินใจเร็วจะทำให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับท่าทีของตนเอง จะรับฟังความเห็นของประชาชนและยอมแก้ไขร่างนี้มากขึ้น เพราะถ้าไม่ฟังเสียงคัดค้านบ้างเลย ร่างนี้ก็จะไม่ผ่านการลงประชามติ" นายจาตุรนต์ระบุ

นายจาตุรนต์ระบุอีกว่า เหตุผลที่ไม่ต้องการให้มีการลงประชามติอยู่ที่กลัวว่าจะเสียเวลา ซึ่งมี 2 แบบคือเสียเวลาในการลงประชามติกับเสียเวลามากขึ้นถ้าลงประชามติแล้วไม่ผ่าน ถ้าคิดสักแต่ว่าให้ผ่านๆ ไปแม้ว่าร่างนี้จะแย่แค่ไหนก็ช่าง จะได้จบๆ เสียที เอาเข้าจริงๆ แล้วจะไม่จบ แต่จะเสียหายมหาศาล ถ้าจะให้มีการลงประชามติจึงต้องไม่กลัวเสียเวลา ถ้าตัดสินใจให้เร็ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กกต.ก็เตรียมการล่วงหน้าได้ ร่นเวลาเข้ามาได้อีกเป็นเดือนๆ 

"ถ้าลงประชามติแล้วไม่ผ่าน ก็กำหนดได้ว่าให้ทำอย่างไรที่ไม่ใช่การกลับมาตั้งต้นใหม่ มีข้อเสนอว่าอาจเอารัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่งในอดีตมาใช้ไปเลย หรืออาจใช้ไปพลางก่อน แล้วหาทางร่างรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยวิธีที่ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในความเห็นผมถ้าประชามติไม่ผ่าน ทางออกจะเป็นอย่างไรอาจเสนอให้ประชาชนตัดสินไปด้วยเลยในการลงประชามติ ถ้าต้องเสียเวลาบ้างก็คงต้องยอมครับ ดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญนี้ออกมาใช้บังคับโดยไม่มีการแก้ไขในสาระสำคัญ เพราะรังแต่จะทำให้ประเทศชาติล้าหลัง เกิดวิกฤตขัดแย้งชนิดไม่มีทางออก แล้วก็กลับเข้าสู่วงจรเดิมๆ ไม่จบไม่สิ้น" นาย

จาตุรนต์ระบุ

 

"สมชัย"ชี้ประชามติ 90 วันน้อยไป 

ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การทำประชามตินั้น ตามกฎหมายกำหนดให้มีเวลาดำเนินการไม่ต่ำกว่า 90 วัน หลังจากประกาศให้ทำประชามติ ในต่างประเทศอาจกำหนดเวลาทำประชามติถึง 1 ปี เพื่อให้ประชาชนศึกษาและทำความเข้าใจ รวมทั้งเปิดโอกาสให้มีการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสียต่างๆ เพราะการทำประชามติถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ 

นายสมชัยกล่าวว่า ขั้นตอนในการลงประชามตินั้น กกต.ไม่กังวล แต่กังวลว่าเวลา 90 วันนั้น จะเพียงพอต่อการถกเถียงถึงข้อดีข้อเสีย หรือเพียงพอต่อการศึกษาและทำความเข้าใจของประชาชนหรือไม่ ไม่เช่นนั้นการทำประชามติจะกลายเป็นเพียงพิธีกรรมในการลงคะแนนเรื่องที่ไม่เข้าใจ อาจมีการระดมคนมาลงประชามติเพื่อให้เกิดผลตามที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องการ จะทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น ตนอยากเห็นการทำประชามติที่เปิดเผย มีการเปิดเวทีถกเถียงกันโดยใช้เหตุและผลมาว่ากัน เพื่อให้ประชาชนได้รับความรู้เรื่องดังกล่าว และมาตัดสินใจในการลงประชามติ ไม่ใช่ใช้อารมณ์

 

พีซทีวีแถลงถูกยัดเยียดความผิด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานีโทรทัศน์พีซทีวี เผยแพร่แถลงการณ์ว่า สถานีโทรทัศน์ดาวเทียมพีซทีวีถูกอำนาจกลั่นแกล้ง ยัดเยียดข้อกล่าวหาอันเป็นเท็จ จนต้องถูกเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศ เมื่อวันที่ 30 เมษายน ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ส่งหนังสือมาให้สถานีพีซทีวี ระบุความผิดว่า รายการมองไกล ออกอากาศวันที่ 18 เมษายน กระทำการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับวันที่ 97/2557 และฉบับที่ 103/2558 จึงเป็นการขัดเงื่อนไขบันทึกข้อตกลงระหว่าง กสทช.กับบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด ซึ่งลงนามเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2557 

แถลงการณ์ระบุว่า ในหนังสือ กสทช.ยังระบุความผิดว่า รายการมองไกลนำเสนอข้อมูลข่าวสารในลักษณะเป็นการส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร อันเป็นเงื่อนไขสำคัญในบันทึกข้อตกลงข้อหนึ่ง และยังเป็นข้อห้ามให้งดเว้นการกระทำตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 97/2557 ด้วย

 

ซัด"กสทช."ตีความเนื้อหามั่ว

แถลงการณ์ระบุว่า นอกจากนี้ กสทช.อ้างข้อความเข้าข่ายความผิดมา 2 ตัวอย่าง ว่า "นาทีที่ 15 อย่ามองคนเห็นต่างเป็นศัตรู บรรยากาศบ้านเมืองจะมีความน่ารักมากกว่านี้ ไม่ใช่พอพูดแบบนี้จะหาเรื่องปิดสถานีกันอีก" และอีกข้อความ คือ "นาทีที่ 20 ผู้ดำเนินรายการกล่าวถึงเหตุการณ์การวางระเบิดที่เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และกรณีเพลิงไหม้ที่ จ.สุราษฎร์ธานี ในลักษณะที่ว่า เป็นการสร้างสถานการณ์ของฝ่ายบ้านเมือง และนักการเมืองท้องถิ่นเพื่อใส่ร้ายกลุ่มเสื้อแดง" 

"สถานีพีซทีวีถอดเทปรายการมองไกลดังกล่าวอย่างละเอียด จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ตัวอย่างข้อความการระบุความผิด คลาดเคลื่อนจากความจริงชนิดขาวเป็นดำ เนื่องจากนาทีที่ 15 ที่กล่าวอ้างก็ไม่ได้เป็นข้อความที่เป็นภัยต่อความมั่นคง เพราะเป็นเนื้อหาเพื่อสร้างความปรองดองขึ้นภายในชาติ โดยเฉพาะนาทีที่ 20 ยังเป็นการตีความของ กสทช. พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ให้เลวร้าย เพื่อจะได้เข้าเงื่อนไขความรุนแรงตามโทษขั้นสูงสุดถูกเพิกถอนใบอนุญาต แต่เนื้อหาในนาทีดังกล่าวไม่ปรากฏและเป็นไปตามการตีความของ กสทช.ทั้งสิ้น" แถลงการณ์ระบุ

 

"ตู่"ฟ้อง 4 กสท.-เลขาฯกสทช.

นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในฐานะผู้บริหารช่องพีซทีวี กล่าวว่า ขอตั้งคำถามกลับไปยัง กสทช.ว่า ประโยคในหนังสือสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ที่ระบุสาเหตุการเพิกถอนใบอนุญาตช่องพีซทีวี เป็นภัยต่อความมั่นคงอย่างไร จนถึงขั้นต้องสั่งปิดสถานี และประเด็นที่ระบุเรื่องวางระเบิดภาคใต้นั้นก็ไม่เป็นจริงตามที่ กสทช.ถอดเทปมา เนื่องจากในรายการไม่ได้พูดเช่นนั้น รวมทั้งในการระงับการออกอากาศ เหตุใดจึงมีขึ้นก่อนที่หนังสือคำสั่งจะส่งมาถึงพีซทีวี

นายจตุพรกล่าวว่า พีซทีวีจะใช้สิทธิฟ้อง 5 คน ประกอบด้วย กรรมการ กสท. 4 คน ได้แก่ พ.อ.นที ศุกลรัตน์, พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ, พ.ต.อ.ทวีศักดิ์ งามสง่า และนายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ ร่วมกับนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในข้อหาออกคำสั่งมิชอบในการสั่งปิดพีซทีวี โดยยัดเยียดเนื้อหาที่ไม่เป็นจริง และไม่เปิดโอกาสให้พีซทีวีชี้แจง ส่วนจะฟ้องวันใดอยู่ระหว่างการพิจารณา

 

เลขาฯกสทช.ยันไม่เกี่ยวการเมือง

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า เมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ได้ลงนามในหนังสือแจ้งโทษทางปกครอง ตามมติ กสท.ในการเพิกถอนใบอนุญาตของบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด หรือพีซทีวี และฝ่ายบังคับคดีของ กสท.นำหนังสือดังกล่าวไปแจ้งพีซทีวี และบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการดาวเทียมเพื่อปิดสัญญานตามคำสั่งทันที เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนและระเบียบ เนื่องจากสำนักงาน กสทช.ต้องลงชื่อรับรองหนังสือที่ กสท.ส่งมา ซึ่งหนังสือดังกล่าว กสท.เป็นผู้เขียนรายละเอียดทั้งหมด สำนักงาน กสทช.เพียงทำหน้าที่ตามกระบวนการที่มีอยู่ 

"ผมขอยืนยันว่า การสั่งเพิกถอนใบอนุญาตพีซทีวีไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองแต่อย่างใด เมื่อมติ กสท.ออกมาแล้ว แต่หนังสือยังร่างไม่แล้วเสร็จ ก็มีหลายกระแสสงสัยว่าทำไมช่องพีซทีวียังออกอากาศอยู่ ทั้งๆ ที่มีมติออกมาแล้วตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน ทาง กสท.จึงรีบทำหนังสือและให้สำนักงานรับรอง กระบวนการต่างๆ จึงเสร็จสิ้นเร็วขึ้น แต่ทุกอย่างเป็นไปตามลำดับขั้นตอน" เลขาธิการ กสทช.กล่าว

 

สนช.ผ่านวาระ3"กม.ชุมนุม"

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธาน สนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. .... วาระ 2 และ 3 หลัง กมธ.วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. ... พิจารณาเสร็จแล้ว โดยหลักการและเหตุผลของร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อกำหนดสิทธิชุมนุมสาธารณะให้ชัดเจน เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชน มีสาระสำคัญคือ ห้ามจัดการชุมนุมสาธารณะภายในพื้นที่ของรัฐสภา ทำเนียบรัฐบาล ศาล และการจัดชุมนุมให้แจ้งต่อผู้รับแจ้งก่อนเริ่มการชุมนุมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สนช.สายกฎหมายและอดีตกลุ่ม 40 ส.ว. อาทิ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นางกาญจนารัตน์ ลีวิโรจน์ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ และ นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ อภิปรายแสดงความเป็นห่วงมาตรา 4 ที่ กมธ.ตัดคำนิยามเรื่องศาลออก จึงอยากให้ระบุเรื่องเขตอำนาจศาลให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนใช้เป็นช่องทางร้องเรียนกรณีมีการกระทำเกินกว่าเหตุุ ทั้งนี้ ตัวแทน กมธ.ชี้แจงว่า ไม่จำเป็นต้องกำหนด เพราะการจะฟ้องศาลใดขึ้นอยู่กับแต่ละกรณีที่เกิดขึ้นว่าจะขึ้นอยู่กับศาลใด 

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน อภิปรายว่า การให้ผู้ชุมนุมแจ้งรายละเอียดการชุมนุมก่อนไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง เหมือนจะเป็นการแจ้งเพื่ออำนวยความสะดวกผู้ชุมนุม แต่กลายเป็นว่าต้องใช้ดุลพินิจว่าจะให้ชุมนุมได้หรือไม่ หากเจ้าหน้าที่เห็นว่าจะเกิดเหตุขึ้น ก็สามารถสั่งห้ามชุมนุมได้ หากตัดทั้งหมวดนี้ออกกฎหมายนี้จะดีมาก หรือควรจะกำหนดให้ผู้ชุมนุมสามารถแจ้งทีหลังได้ หากยังคงแบบนี้จะกลายเป็น พ.ร.บ.ควบคุมการชุมนุมสาธารณะ 

ทั้งนี้ ภายหลังสมาชิกอภิปรายนานกว่า 4 ชั่วโมง ที่ประชุมลงมติเห็นชอบผ่านวาระ 3 ด้วยคะแนน 158 ต่อ 0 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง เพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

วันที่ 02 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8921 ข่าวสดรายวัน


คุก 1 เดือน ขายหวยเกิน 80 บ.
ปรับด้วย 1 หมื่น ใช้มาตรา 44 อีก โละบอร์ดยกชุด ตั้งกองทุนใหม่ ให้อำนาจทหาร
      คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา44 อีก ออกคำสั่งที่ 11/2558 แก้ปัญหาหวยแพง โละบอร์ดกองสลากทั้งหมด ไม่ให้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาแทนจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง รอหัวหน้าคสช.ตั้งประธานบอร์ดคณะกรรมการชุดใหม่แทน พร้อมตั้งกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาล แก้ปัญหาพนันหวย-ขายสลากเกินราคา ถ้าจับได้ว่าขายเกิน 80 บาทโทษคุก 1 เดือน ปรับ 10,000 บาท ตั้งทหารควบคุมดูแลการขายสลาก
     เมื่อวันที่ 1 พ.ค. ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 11/2558 เรื่อง มาตรการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 จึงมีคำสั่งดังนี้ ในคำสั่งนี้ "กองทุน" หมายความว่า กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม ให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่คำสั่งนี้ใช้บังคับพ้นจากตำแหน่ง และมิให้แต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล จนกว่าหัวหน้าคสช.จะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง หรือคสช.จะสิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ และให้คณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล ประกอบด้วย ผู้ที่หัวหน้าคสช.แต่งตั้งเป็นประธาน มีผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงยุติธรรม ผู้แทนกรมบัญชีกลาง ผู้แทนสำนักงบประมาณ ผู้แทนสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย เป็นกรรมการ และผู้ที่คสช.แต่งตั้งเป็นกรรมการไม่เกิน 3 คน ผอ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นกรรมการและเลขานุการ
       ในกรณีที่เห็นสมควร หัวหน้าคสช.อาจมีคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงองค์ประกอบของคณะกรรมการตามข้อ 3 ได้ตามความเหมาะสม ให้จัดตั้งกองทุนขึ้นในสำนักงาน เรียกว่า "กองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม" เพื่อเป็นทุนใช้จ่ายตามวัตถุประสงค์ ดังนี้ ส่งเสริมการศึกษาและการวิจัยปัญหาเกี่ยวกับการพนัน สาเหตุและผลกระทบจากการพนัน รวมทั้งมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนัน สร้างความรู้และทัศนคติที่ถูกต้องเกี่ยวกับการพนัน เยียวยาผู้ได้รับผล กระทบจากการพนัน และแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล
      คำสั่งระบุอีกว่า กองทุนประกอบด้วยเงินที่ได้รับจัดสรรจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ดอกผลจากเงินกองทุน เมื่อใดที่รัฐมนตรีเห็นว่าเงินกองทุนมีจำนวนสูงเกินความจำเป็น รัฐมนตรีโดยลำพัง หรือโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ อาจสั่งให้ลดจำนวนเงินกองทุนลงให้คงเหลือไว้เท่าที่รัฐมนตรีเห็นสมควร ในกรณีนี้ให้สำนักงานนำส่งเงินที่สูงไปกว่าจำนวนที่รัฐมนตรีกำหนด เป็นรายได้แผ่นดิน
        ให้คณะกรรมการมีหน้าที่ดูแลการบริหารจัดการกองทุนตามวัตถุประสงค์ และพิจารณาอนุมัติการใช้เงินกองทุน ให้ผอ.มีหน้าที่ดำเนินกิจการของกองทุนตามวัตถุประสงค์ของกองทุนและตามที่คณะกรรมการกำหนด และให้ยกเลิกความในมาตรา 22 แห่งพ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล พ.ศ.2517 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 22 เงินที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลได้รับจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้จัดสรรดังนี้ ร้อยละ 60 เป็นเงินรางวัล, ไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 เป็นรายได้แผ่นดิน, ไม่เกินกว่าร้อยละ 17 เป็นค่าใช้จ่ายบริหารงาน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาลด้วย และร้อยละ 3 เป็นเงินกองทุนสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อพัฒนาสังคม"
    คำสั่งระบุด้วยว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 39 ให้ใช้ความต่อไปนี้แทน "มาตรา 39 ผู้ใดเสนอขายหรือขายสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ออกตามพ.ร.บ.นี้ และยังไม่ได้ออกรางวัลเกินราคาที่กำหนดในสลากกินแบ่ง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ"
      ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารที่ผบ.ทบ.หรือแม่ทัพภาคมอบหมาย มีอำนาจป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ทั้งนี้ ไม่กระทบต่อหน้าที่ของพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
       ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา และเป็นพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ระหว่างการปฏิบัติการ หากพบว่ามีการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข สัญญาตัวแทนจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือสัญญาดำเนินการจำหน่ายสลากกินแบ่งรัฐบาล ให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารรายงานให้ผอ.ทราบ เพื่อพิจารณาใช้มาตรการทางกฎหมายโดยเคร่งครัด รวมถึงการส่งเรื่องไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบตามประมวลรัษฎากร หรือตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
       เมื่อคสช.สิ้นสุดลงตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแล้ว ให้แต่งตั้งคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล และเมื่อได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ให้คำสั่งนี้เป็นอันยกเลิก