1

ประชามติใช้ม.44 ไม่ได้ ต้อง'ม.46'ชี้เป็นหน้าที่'ครม.-คสช.''พรเพชร-วิษณุ'ออกโรง ชงแก้รธน.ฉบับชั่วคราว รองอธิบดีศาลพบผู้ว่าฯ หลังข่าวให้เรียกท่านหน.

       'บิ๊กตู่'บ่นไปเมืองนอกไม่มีคนรู้จัก ไม่ใช่'นายกฯสวย-หล่อ''ดิเรก'ไม่เชื่อคำพูด'บวรศักดิ์'ขอใช้ รธน. 5 ปี นัด 6 พ.ค.เคาะปมยื่นญัตติแก้ รธน. 'วิษณุ'สวน กมธ.ยกร่างฯไม่มีหน้าที่แนะทำประชามติ 

'พรเพชร'แจงหน้าที่ 'ครม.-คสช.'ใช้ ม.46 แก้ รธน. ปัดข่าว'บิ๊กตู่-ปื๊ด'ขัดแย้งกัน ด้านตัวแทนพีซทีวียื่นหนังสือขอความเป็นธรรมถูกถอนใบอนุญาต 

มติชนออนไลน์ : เข้าคารวะ - นางสะนะเอะ ทะคะอิชิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกิจการภายในและการสื่อสารญี่ปุ่น เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการ กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เมษายน 

 



ร้องบิ๊กตู่ - ทีมผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์พีซทีวี นำโดยนายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี จากกรณี กสทช.มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศ ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 เมษายน

 

วิษณุสวนกมธ.ยกร่างไม่มีหน้าที่ 

      เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่าง (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเสียงส่วนใหญ่ของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญและสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เห็นว่าควรทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญว่า "เป็นเรื่องที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้ตัดสินใจ กมธ.ยกร่างฯไม่จำเป็นต้องเห็นว่าอะไรทั้งนั้น เพราะการทำประชามติหรือไม่ทำประชามติไม่ใช่เรื่องหรือหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯเลย มีหน้าที่ไปทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ งานเริ่มตั้งแต่ร่างจนถึงรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จ แต่ถ้าอยากเสนอมาก็ไม่ว่ากัน แต่ไม่มีน้ำหนักอะไร ส่งมาโดยให้น้ำหนักว่า คิดว่าทำไมควรต้องมีการทำประชามติ มันก็จะมาประกอบการพิจารณา แต่ ครม.และ คสช.คิดเองได้ว่า ควรมีหรือไม่มีการทำประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลาอีกเป็นเดือนเพื่อแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 แล้วมีพิธีทำประชามติยาวอีก 4-5 เดือน ถึงได้กั๊กอยู่นี่ไง เพราะถ้าบอกว่าอยากก็จะหาว่าอยากอยู่ยาว ทั้งที่ส่วนตัวแล้วอยากไปเร็ว"

 

เผย'ครม.-คสช.'ไม่รีบส่งข้อเสนอ 

รองนายกฯกล่าวว่า จะมีการส่งข้อเสนอแนะเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญของ ครม.และ คสช.กลับไปยัง กมธ.ยกร่างฯในเวลา 16.00 น. วันที่ 25 พฤษภาคม ไม่จำเป็นต้องส่งไปตั้งแต่ไก่โห่และไม่ใช่เป็นการกั๊ก แต่เป็นคิดให้รอบคอบเพราะต้องคอยรับฟังจากหลายฝ่ายที่ส่งมา ถ้าเอาของตนเป็นหลักคนเดียว พรุ่งนี้ก็ส่งได้ แต่ในนาม ครม.ต้องรอกระทรวงต่างๆ องค์กรต่างๆ ส่งมาอีก ขณะที่ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บอกว่าจะส่งมาที่รัฐบาล นี่คือเหตุผลที่ต้องกั๊ก

     นอกจากนี้ ที่บอกว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญเรียบๆ ง่ายๆ จะดีกว่าร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนแบบหวือหวานั้น ส่วนตัวมองว่ามันยืดยาวเกินไป ถ้าไม่หวือหวาก็ได้ แต่ถ้าไม่หวือหวาเดี๋ยวจะโดนว่าไม่มีอะไรใหม่บ้างเลย หลายเรื่องก็ดี ชมว่าเขาเข้าใจคิด ผู็สื่อข่าวถามว่า เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญบางมาตราที่นักการเมืองไม่เห็นด้วยจะมีการเปิดโอกาสให้มีการเสนอแนะเข้ามาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ถ้าจะส่งความเห็นมาทางอื่น เช่น ครม.หรือ คสช. ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ส่งต่อไปยัง กมธ.ยกร่างฯอยู่แล้วก็ยินดีรับฟัง วันนี้องค์กรอิสระหลายองค์กรส่งข้อเสนอแนะมาที่รัฐบาลและ คสช. เพราะไม่มีสิทธิส่งไป กมธ.ยกร่างฯ แต่ ครม.ต้องกรองด้วย ไม่ใช่ส่งอะไรมาก็ส่งต่อ

'พรเพชร'แจงใช้ม.46 แก้รธน. 

       นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภากรณีมีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เพื่อให้มีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า พล.อ.ประยุทธ์ไม่สามารถใช้มาตรา 44 แก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ได้เนื่องจากความเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ พล.อ.ประยุทธ์ สิ้นสุดลงนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มีผลบังคับใช้ องค์กรต่างๆ ที่เกิดขึ้นมาตามรัฐธรรมนูญก็ต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย มาตรา 44 เป็นเพียงเครื่องมือสำหรับ คสช. ที่ใช้ประคับประคองให้เป็นไปตามโรดแมป 3 ระยะเท่านั้น ดังนั้น การจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 เพื่อให้มีการทำประชามติ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะต้องใช้มาตรา 46 ที่กำหนดให้ในกรณีที่เห็นจำเป็นว่าจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ครม.และ คสช. ต้องมีมติร่วมกันและเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาเห็นชอบ ซึ่งกรณีนี้ผู้ร่างมีจุดประสงค์เขียนขึ้นมาเพื่อไม่ให้เกิดทางตันในการบริหารหากมีอุปสรรคที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ต้องให้ทหารออกมาเอ็กเซอร์ไซส์อีก

ปัด"บิ๊กตู่-ปื๊ด"ขัดแย้งกัน 

     นายพรเพชร กล่าวว่า "มาตรา 46 มีฤทธิ์เดชมาก เมื่อมีฤทธิ์เดชมาก การแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว จึงต้องเกิดจากความร่วมมือของ ครม. คสช.และ สนช. ที่จะต้องพิจารณาร่วมกัน จากนั้นจึงต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯ องค์กรอื่นนอกเหนือจาก 3 องค์กรนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ดังนั้นการระบุว่าจะให้นายกรัฐมนตรีใช้มาตรา 44 แก้ไขให้มีการทำประชามติ จึงไม่ถูกต้อง สาเหตุที่ต้องมาชี้แจง เนื่องจากมีการนำเสนอว่า พล.อ.ประยุทธ์กับนายบวรศักดิ์ขัดแย้งกัน ซึ่งข้อเท็จจริงแล้วทั้ง 2 คน ไม่ได้มีอะไรขัดแย้งกันเลย" เมื่อถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ให้ กมธ.ยกร่างฯและ สปช.หารือกันว่าจะทำประชามติหรือไม่ นายพรเพชรกล่าวว่า ข้อเสนอการทำประชามติจะเป็นใครเสนอก็ได้ ไม่จำกัดเฉพาะแค่ สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ เพียงฝ่ายเดียว สื่อมวลชน ประชาชน นักการเมือง สามารถเสนอได้ แต่ต้องมีเหตุผลการนำเสนอที่หนักแน่นพอ ส่วนอำนาจการตัดสินใจเป็นของ ครม. คสช.และ สนช. 

      "การทำประชามติไม่ใช่การตัดสินใจขายขนมครก ถ้าเสนอไปแล้ว สนช.คว่ำไม่เอาด้วยก็ไปกันทั้งหมด 3 สาย เรื่องนี้ตัดสินใจคนเดียวไม่ได้ เดี๋ยวขนมครกไหม้หมดจะทำอย่างไร" นายพรเพชรกล่าว 

 

เผยม.46 เปิดทางแก้รธน.ชั่วคราว

     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า รัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ.2557 มาตรา 46 ระบุว่า ในกรณีที่เห็นเป็นการจำเป็นและสมควร คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะมีมติร่วมกันให้แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญนี้ก็ได้ โดยจัดทำเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ความเห็นชอบ วรรคสอง ให้ สนช.พิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ตามวรรคหนึ่งภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม วรรคสาม ในการพิจารณาให้ความเห็นชอบ สนช.จะแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติมนั้นมิได้ เว้นแต่ ครม.และ คสช.จะเห็นชอบด้วย วรรคสี่ มติให้ความเห็นชอบต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิก สนช.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ วรรคห้า เมื่อ สนช.ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายภายใน 15 วันนับแต่วันที่ สนช.มีมติเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ใช้บังคับได้ โดยให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการและให้นำความในมาตรา 37 วรรคสี่ มาใช้บังคับโดยอนุโลม

 

ยกร่างฯแจงอำนาจทำประชามติ 

      นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าวกรณีที่นายกรัฐมนตรีระบุทำนองหากเห็นควรทำประชามติให้ กมธ.เป็นผู้เสนอเรื่องมาว่า อำนาจการตัดสินใจอยู่ที่ ครม.และ คสช. หากเห็นสมควรว่าต้องมีการทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ต้องเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ไปยัง สนช.เพื่อให้ความเห็นชอบ เข้าใจว่าการที่ พล.อ.ประยุทธ์ออกมาระบุเช่นนี้คงหมายความว่าถ้าหาก กมธ.ยกร่างฯและ สปช.มีความเห็นว่าควรทำประชามติสามารถเสนอความเห็นไปได้ ประเด็นนี้คงต้องมีการนำมาหารือกันในที่ประชุม กมธ.ยกร่างฯอีกครั้งว่าจะคิดเห็นกันอย่างไร แต่ขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน 

      "ที่สุดแล้วหากมีการทำประชามติ อำนาจที่แท้จริงก็จะอยู่ที่ ครม.และ คสช. ขณะที่ สนช.มีอำนาจตัดสินใจว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย สำหรับ กมธ.ยกร่างฯมีการพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นการทำประชามติกันบ้าง แต่ไม่ได้เป็นแบบทางการหรือเป็นมติ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯพูดเปิดเผยมาตลอดว่าเห็นสมควรว่าจะต้องมีการทำประชามติ ผมก็เห็นว่าควรทำประชามติเช่นกัน" โฆษก กมธ.ยกร่างฯกล่าว 

 

"ดิเรก"ไม่เชื่อคำพูด"บวรศักดิ์" 

      นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช. ในฐานะรองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง กล่าวถึงการยื่นแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญว่า หลังจากที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองและ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้ประชุมกันเพื่อวางแนวทางการยื่นเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญไปและตั้งคณะอนุกรรมการ 15 คนมาทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหารัฐธรรมนูญที่จะยื่นขอแก้ไข มีตนเป็นประธานคณะอนุกรรมการ ซึ่งจะนัดประชุมกันในวันที่ 6 พฤษภาคม เพื่อวางกรอบประเด็นที่จะยื่นแก้ไขต่อคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะได้ข้อสรุปทั้งหมดภายใน 2 สัปดาห์ โดยจะสรุปเนื้อหาที่แก้ไขใหม่เป็นรายมาตรา เพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯไปเปรียบเทียบกับร่างเดิมว่า มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันอย่างไร ประเด็นที่จะเสนอแก้ไขเบื้องต้นส่วนใหญ่เป็นภาคการเมือง เช่น เรื่องที่มานายกรัฐมนตรี จะขอแก้ไขว่าที่มานายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เช่นเดิม แต่มีการเปิดทางในกรณีวิกฤตให้นำคนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรีได้ โดยใช้เสียงสมาชิกรัฐสภารับรอง 2 ใน 3 แต่ให้นำไปเขียนในบทเฉพาะกาล ส่วนเรื่องระบบ ส.ส.แบบสัดส่วนนั้น จะยืนยันให้มี ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อเหมือนเดิม ไม่ควรมีระบบโอเพ่นลิสต์ รวมทั้งมาตรา 181-182 ที่ให้อำนาจนายกฯเสนอขอความไว้วางใจในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทนราษฎร และการให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเสนอกฎหมายพิเศษได้นั้น ต้องมีการแก้ไขเช่นกัน แต่จะแก้ไขอย่างไร ต้องหารือกันก่อน 

"กรณีที่นายบวรศักดิ์ระบุให้ใช้รัฐธรรมนูญไปก่อน 5 ปีแล้วค่อยแก้ไขนั้น คงไม่มีใครเชื่อแล้ว เพราะคำพูดดังกล่าวถูกใช้มาแล้ว พอถึงเวลาจะมาแก้ไขก็ไม่ง่ายอย่างที่คิด มีคนออกมาขัดขวาง เชื่อว่าพอใช้ไปครบ 5 ปี เมื่อจะแก้ไขก็ต้องมีคนมาคัดค้าน ทะเลาะกันอีก จนเกิดการรัฐประหารอีกครั้ง"นายดิเรกกล่าว 

 

"วัฒนา"แนะหาทางออกรธน. 

     นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวว่า หลังจากได้เขียนบทความเรื่องคำถามจากนักการเมือง แสดงความคิดเห็นและตั้งคำถามไปยัง กมธ.ยกร่างฯแล้ว ตนรอฟังคำตอบจากมหาปราชญ์ทั้ง 36 คน จนบัดนี้ยังไม่ได้รับคำตอบที่ตรงประเด็น คงมีคำตอบแบบขอไปทีจากประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า อยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อนอย่างน้อย 5 ปี แล้วค่อยแก้ไข และถ้าบ้านเมืองเกิดความปรองดองก็อาจจะกลับมาแก้ไขให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง เมื่อได้ฟังแล้วก็สิ้นหวัง นอกจากนี้ยังได้เขียนบทความถึง พล.อ.ประยุทธ์ โดยระบุตอนหนึ่งว่า พล.อ.ประยุทธ์เคยได้ยินเสียงแสดงความชื่นชมรัฐธรรมนูญจากบุคคลทั่วไปหรือไม่ ข้อดีของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าถามก็เห็นจะมีเพียงอย่างเดียวคือทำให้คู่ขัดแย้งคิดเหมือนกันโดยมิได้นัดหมาย คือต่างไม่เอาด้วยกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ถ้าปล่อยให้มหาปราชญ์ทั้งหลายบรรเลงกันไปตามอำเภอใจแบบนี้ ประชาชนจะเข้าใจ พล.อประยุทธ์และ คสช.ผิดอย่างแน่นอน จึงขอเสนอความเห็นประกอบกับสิ่งที่คิดจะให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อทำประชามติ ในอันที่จะทำให้กระบวนการมีความสมบูรณ์ในคราวเดียวโดยไม่ทำให้เปลืองงบประมาณและเสียเวลาของประชาชน และควรถือโอกาสนี้แก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเปิดโอกาสให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนอีกฉบับหนึ่งที่มีความเป็นประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม แล้วนำไปทำประชามติแข่งกับรัฐธรรมนูญฉบับสารพัดฉายาของท่านมหาปราชญ์คณะนี้ คำตัดสินของประชาชนจะเป็นคำตอบ 

 

"มาร์ค"ยันไม่ได้มีอคติ"ปื๊ด" 

       ที่พรรคประชาธิปัตย์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวว่า อยากให้นายบวรศักดิ์ใช้เหตุผลในการแลกเปลี่ยนกับผู้ที่แสดงความเห็น แปลกใจเมื่อนายบวรศักดิ์เจาะจงในการตอบโต้ตน โดยพูดรวมถึงเรื่องอื่นด้วย เพราะสิ่งที่ต้องการมากกว่าคือคำชี้แจงใน 3 มาตรา ที่เป็นอันตรายกับประเทศชาติและไม่เกี่ยวอะไรกับผลประโยชน์นักการเมือง ขอให้นายบวรศักดิ์ตอบถึงเหตุผลความจำเป็นเพื่อช่วยกันทำให้รัฐธรรมนูญดีขึ้น ประเด็นที่ยกมาไม่ใช่ประโยชน์ของนักการเมือง ตรงกันข้ามจะเป็นประโยชน์เฉพาะนักการเมืองโกงและนักการเมืองที่บ้าอำนาจ จะบอกว่าพรรคใหญ่ประสานเสียงกันก็ไม่จริง เพราะไม่ได้ยินพรรคไหนพูดเรื่องอภัยโทษหรือการให้อำนาจพิเศษออกกฎหมายภายใน 48 ชั่วโมง เพราะฉะนั้นกรุณาแยกแยะ เนื่องจากความน่าเชื่อถือที่จะมีต่อรัฐธรรมนูญในที่สุดอยู่ที่เหตุผลของ กมธ.ยกร่างฯ ถ้าเหตุผลไม่ชัดเจนสุดท้ายงานจะสูญเปล่า ตนพูดด้วยความปรารถนาดีต่อบ้านเมือง ไม่ใช่โจมตีหรือมีอคติกับผู้ร่าง แต่มีจุดอ่อนที่เป็นอันตราย เป็นหน้าที่ของตนที่ต้องท้วงติงจึงอยากให้ตอบอย่างสร้างสรรค์ 

      เมื่อถามว่า ในวันที่ 6 มิถุนายนนี้ กมธ.ยกร่างฯจะเชิญตัวแทนจาก 10 พรรคการเมืองมาเสนอความเห็น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เห็นแต่ที่ให้ส่งเอกสารไป หากมีการเชิญมาจริงพร้อมที่จะไปด้วยตัวเองโดยไม่คิดตำหนิใคร เพราะเห็นใจว่าคงเครียด เนื่องจากโดนหลายทาง แต่น่าจะใช้โอกาสนี้ทำให้กระบวนการเปิดกว้างและเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ เพราะถ้าจะชวนคนทะเลาะมีคนพร้อมทะเลาะเยอะไปหมด ซึ่งก็ไม่เป็นผลดีต่อบ้านเมือง 

 

"บิ๊กตู่"โอดคนรู้จักแต่"สวย-หล่อ"

      ที่โรงละครแห่งชาติ ถนนราชินี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานในพิธีเปิดงานรักษ์โลก รักษ์ไทย ในหัวใจสีเขียว เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสมหามงคลทรงเจริญพระชนมายุ 5 รอบ โดยกล่าวเปิดงานตอนหนึ่งว่า "วันนี้ผมบริหารราชการต้องฟังทุกคน วันนี้บริหารประเทศผมคิดเอง อ่านข่าว อ่านหนังสือพิมพ์ ฟังทั้งคนด่า คนชม ฟังมากก็หงุดหงิดมาก แต่ยืนยันว่าเราทำมาเยอะ อย่าไปโทษข้าราชการ เพราะความรับผิดชอบอยู่ที่รัฐบาล บ้านเมืองจะดีหรือไม่ดีก็อยู่ที่รัฐบาล ถึงผมจะไม่ได้เข้ามาด้วยการเลือกตั้ง แต่ทุกวันนี้ยังไม่เคยทำอะไรให้เสียหาย ไปต่างประเทศในช่วงแรกก็ไม่มีใครรู้จักผม รู้จักแต่นายกฯคนสวย นายกฯคนหล่อ คนอื่นมองก็คิดว่าไอ้นี่มันบ้าหรือไง ผมก็ต้องสู้ แสดงความจริงใจในการทำงานและเสนอการทำงานเชิงรุกให้เขาตามเราบ้าง และเรื่องขอให้เราเป็นประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วก็ไม่ถามมาอีก เพราะผมถามกลับไปว่าประชาธิปไตยอย่างรวดเร็วคืออะไร ผมได้ระบุไปว่าการเลือกตั้งของไทยไม่เหมือนใครในโลก มียิงกัน ต่อสู้ และมีระเบิดด้วย ต่อไปจะเกิดขึ้นอีกไหม สถานการณ์ตอนนี้สงบจริงหรือไม่ ผมไม่ได้รังเกียจที่ต้องเป็นประชาธิปไตย แต่จะทำอย่างไรให้ประชาธิปไตยทำให้คนไทยมีความสุข เคารพกฎหมาย และเชิดชูพระมหากษัตริย์ ถ้าไม่ใช้โอกาสนี้ในการปฏิรูปจะทำให้บ้านเมืองถอยหลัง เราต้องทุ่มเทมากกว่านี้ แต่ถ้าทุกคนช่วยกันก็ไปได้ หากเลือกข้างประเทศก็ไปไม่ได้ วันนี้ต้องพัฒนาทุกเรื่องและต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เราก็ต้องมีการเลือกตั้ง วันนี้ผมเริ่มให้ทุกเรื่อง อาจจะดูไม่เกิดผลเพราะคนไทยใจร้อน ชอบพูดมากกว่าฟัง แต่ต้องให้กำลังใจกัน" 

 

"บิ๊กโด่ง"ยันเคารพ"บิ๊กจิ๋ว" 

      พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะเลขาธิการ คสช. กล่าวถึงกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารสั่งไม่ให้ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี ออกอากาศรายการของช่องพีซทีวีว่า เข้าใจว่าเป็นการดำเนินการตามกรอบกฎหมาย เป็นเรื่องที่พิจารณากันแล้วว่าไม่เหมาะสมตามพื้นฐานของข้อมูล แต่จะไม่ไปละเมิดก้าวก่ายใดๆ หากไม่มีความผิด และไม่พบการกระทำที่ไม่ถูกต้อง ทางเจ้าหน้าที่ทหารจะไม่ไปเอาโทษใดๆ ในทางตรงกันข้ามถ้าพบข้อมูลก็จำเป็นมีต้องการตรวจสอบ โดยสถานีโทรทัศน์ช่องต่างๆ ต้องให้ความร่วมมือ เพราะว่ากรอบการดำเนินการเคยตกลงกันแล้วอย่างชัดเจน ดังนั้นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ผิดกติกา ผิดกฎหมาย รวมทั้งการนำเสนอข่าวที่ทำให้เกิดความแตกแยก มีการโจมตีกัน และอะไรต่างๆ เจ้าหน้าที่รัฐคงยอมไม่ได้ ต้องดำเนินการเป็นไปตามนั้น เมื่อถามว่า เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารจะทำความเข้าใจกับ พล.อ.ชวลิตหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า "ก็คงเข้าใจกันอยู่แล้ว ผมฟังการสัมภาษณ์ดังกล่าว คิดว่าตัวท่านเองคงไม่ไปทำอะไร อีกทั้งท่านก็เคยเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาระดับสูงในกองทัพด้วย ทุกคนก็ให้ความเคารพและให้เกียรติ ดังนั้น คงไม่น่าจะมีปัญหาอะไร"

 

"พีซทีวี"ยื่นนายกฯถูกสั่งปิด

     เวลา 11.30 น. ที่ศูนย์บริการประชาชน ทำเนียบรัฐบาล ตัวแทนผู้ดำเนินรายการสถานีโทรทัศน์พีซทีวี นำโดย นายธนาวุฒิ วิชัยดิษฐ เดินทางเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความเป็นธรรม จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ กสท. มีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตออกอากาศ ช่องรายการ Peace TV จากกรณีเนื้อหารายการมองไกลที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 18 เมษายน ว่ามีเนื้อหาส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่น ให้เกิดความขัดแย้ง และสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร ขอถามไปยัง กสท.ว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ หรือว่ามีคำสั่งจากบุคคลใดเป็นพิเศษ นอกจากนี้การเพิกถอนใบอนุญาตนั้นไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อพนักงานกว่า 100 คน แต่จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังครอบครัวและคนอื่นๆ ด้วย ทั้งนี้หากยังไม่มีการยกเลิกการเพิกถอนใบอนุญาตดังกล่าว ก็จะเดินหน้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปยังทุกหน่วยงาน เพื่อให้ประชาคมโลกรับทราบด้วย

ผู้ประกาศขอความเป็นธรรม

     ขณะที่ น.ส.อรุโนทัย ศิริบุตร หัวหน้าผู้ประกาศ กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจที่มีบังคับต่อ กสท. ในเรื่องการดำเนินการเพิกถอนใบอนุญาตให้เป็นไปตามมาตรา 37 ของ กสท. ที่จะดำเนินการเมื่อมีการทำผิดจริง และเป็นไปตามกระบวนการ ที่ผ่านมาการเพิกถอนใบอนุญาตของพีซทีวีที่เคยสั่งปิดชั่วคราวไป 7 วันนั้น ได้มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า แต่การสั่งปิดครั้งนี้ไม่ได้มีการทำหนังสือแจ้งเพื่อให้มีการชี้แจงแต่อย่างใด จึงขอความเป็นธรรม เนื่องจากขณะนี้ประเทศกำลังเข้าสู่การปรองดอง และช่องพีซทีวีถือเป็นช่องทางหนึ่งที่จะแสดงความคิดเห็นของผู้ที่ต่อสู้ด้วยประชาธิปไตยว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับรัฐธรรมนูญ จึงอยากให้ช่องเป็นตัวสะท้อนความคิดเห็นอย่างสร้างสรรค์อีกทางหนึ่ง ไม่เช่นนั้นจะเกิดคำถามและเคลือบแคลงใจจากสังคม และขอให้ใช้มาตรฐานเดียวกันในการลงโทษสื่อให้ทัดเทียมกันทุกแขนง 

กสทช.แจงเหตุผลสั่งปิด 

      นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กรณีที่บอร์ด กสท.มีมติเพิกถอนใบอนุญาตสถานีโทรทัศน์ช่องพีซทีวี ล่าสุดสำนักงาน กสทช.กำลังอยู่ในระหว่างการร่างหนังสือตามมติดังกล่าวเพื่อส่งให้พีซทีวี โดยการร่างหนังสือยอมรับว่าอาจใช้เวลามากกว่าปกติในการรวบรวมรายละเอียด พร้อมชี้แจงอย่างละเอียดถึงเหตุผลในแต่ละประเด็นอย่างชัดเจน เพราะเชื่อว่ามีความเป็นได้สูงว่าพีซทีวีอาจนำจดหมายดังกล่าวไปเป็นหลักฐานในการฟ้องร้อง กสทช.ต่อไป คาดว่าหนังสือจะสามารถส่งไปให้พีซทีวีได้ภายในสัปดาห์หน้า การยุติการออกอากาศจะให้เวลา 7 วันหลังได้รับจดหมาย เพื่อให้พีซทีวีได้มีเวลาเจรจากับลูกค้าผู้ซื้อโฆษณาต่างๆ