29-4

บวรศักดิ์ ขอเวลา 5 ปี ลองใช้รธน. การเมืองนิ่งค่อยแก้ไข กมธ.ยันเบี้ยประชุมปกติ 'ดิเรก'ปธ.รวมแปรญัตติ 'บิ๊กตู่'ฉะ'อดีตรมต.-อจ.'ชี้วิจารณ์ไม่สร้างสรรค์ เตือนไม่ฟังใช้กม.จัดการ

      'บวรศักดิ์'ย้ำปฏิรูปตามธง รธน.ฉบับชั่วคราว ลั่นใช้ไปก่อน 5 ปีค่อยแก้ ซัดนักการเมืองวิจารณ์เพราะเสียประโยชน์ 'ดิเรก'ชี้หากไม่แก้เนื้อหา เชื่อทำประชามติไม่ผ่าน 'มาร์ค'จวกสร้างระบบเผด็จการรัฐสภา 'บิ๊กตู่'ฉะแหลกอดีต รมต.-นักวิชาการวิจารณ์ไม่สร้างสรรค์

มติชนออนไลน์ : ยื่นแก้ 10 ข้อ - นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. พร้อมคณะแถลงข่าวถึงข้อสรุปที่ กมธ.ปฏิรูปการเมืองจะยื่นขอแปรญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ 10 ข้อให้กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 28 เมษายน

@ อจ.ปื๊ดแฉ 10 ปีขัดแย้งตายนับร้อย

     เมื่อเวลา 09.45 น. วันที่ 28 เมษายน ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ บรรยายพิเศษหัวข้อ "รัฐธรรมนูญใหม่กับการกระจายอำนาจ" มีนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทั่วประเทศ ร่วมฟัง ตอนหนึ่งว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เกิดขึ้นในภาวะที่บ้านเมืองมีความวุ่นวายมาตั้งแต่ปี 2549 เป็นระยะเวลาเกือบ 10 ปีแล้ว นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ได้ไปรวบรวมตัวเลขความเสียหายที่เกิดจากความขัดแย้งว่าตลอด 8 ปีที่มีการชุมนุมประเภทค้างแรมในถนนรวมวันแล้ว 2 ปี มีคนตาย 100 กว่าคน บาดเจ็บ 3 พันกว่าคน ความเสียหายทางเศรษฐกิจประมาณ 2 ล้านล้านบาท 

       "ฟังดูแล้วน่าตกใจ แต่ถึงอย่างไรสังคมทุกสังคมต้องผ่านความเจ็บปวดเช่นนี้ ก่อนที่จะมีเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคม ทาง กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) แม้กระทั่งรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็มีการเรียกร้องให้มีการปฏิรูป จึงได้ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปขึ้นมาหนึ่งชุดทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศ แต่ว่าการปฏิรูปยังไม่ทันสำเร็จก็เกิดเหตุการณ์วันที่ 22 พฤษภาคมขึ้นมาก่อน" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

@ ย้ำยึดตามรธน.ฉบับชั่วคราว

      นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ความพยายามเกี่ยวกับการปฏิรูปมีมาก่อนหน้านี้โดยปี 2552 ซึ่งเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้การประชุมเอเปค ต้องล่มสลาย เนื่องจากมีการชุมนุม เผา และยิงกัน ที่บริเวณแยกราชประสงค์ จึงทำให้รัฐบาลของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อจัดทำข้อเสนอปฏิรูปประเทศคือชุดของนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กับชุดของ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส รวมแล้วใช้เงินประมาณ 250 ล้านบาท แต่ว่าสุดท้ายแล้วรัฐบาลก็เอาขึ้นหิ้งไม่ได้ทำอะไรเลย

      "พอยึดอำนาจทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นความสำคัญที่จำเป็นต้องเขียนเรื่องปฏิรูป จึงตั้งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ขึ้นมาและกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 35 ว่า กมธ.ยกร่างฯมีหน้าที่ต้องปฏิรูปบ้านเมืองประมาณ 10 เรื่อง ถามว่ามีธงไว้ไหมตอบว่ามี เพราะถ้าไม่เขียนตามนั้นก็ขัดรัฐธรรมนูญ แต่ยืนยันว่าไม่มีพิมพ์เขียว พิมพ์ชมพูแน่นอน" นายบวรศักดิ์กล่าว

 

@ ชี้วาระ 3 สปช.ต้องโหวต

       นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า ขณะนี้ กมธ.ยกร่างฯได้จัดทำร่างแรกสำเร็จแล้ว แต่เป็นร่างแรกที่ต้องแก้ไขเพิ่มเติม ส่วนร่างสุดท้ายที่แก้ไขไม่ได้คือต้องเสร็จภายในวันที่ 23 กรกฎาคม เสร็จก่อนได้แต่ถ้าเสร็จหลังจากวันนั้นทาง กมธ.ยกร่างฯถูกยุบเลย ดังนั้น วันที่ 23 กรกฎาคม จึงเป็นเส้นตายที่ กมธ.ยกร่างฯต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญ นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ยังเขียนมัดไว้ในมาตรา 36 ว่า สปช.ต้องลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ จะแก้ไขเพิ่มเติมอีกไม่ได้เว้นแต่เป็นการแก้ไขข้อผิดพลาด โดย กมธ.ยกร่างฯต้องเห็นชอบด้วยหรือ กมธ.ยกร่างฯเห็นว่าควรต้องแก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์ 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ถ้าเป็นแบบนี้ถามว่าเราให้เวลา สปช. 15 วันมานั่งอภิปรายกันอีกหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ เพราะประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยนั้นพลิกดูรัฐธรรมนูญปี 2517 2521 2534 2540 2550 เขียนตรงกันทุกฉบับว่าเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเสร็จในวาระ 2 แล้วให้ทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อจะได้ใช้เวลาในการปรึกษากันอย่างรอบคอบก่อนลงมติในวาระ 3 ดังนั้น 15 วันที่กำหนดให้ สปช.นั่งคิดนอนคิดปรึกษาหารือว่าจะเอาหรือไม่เอาร่างนี้ ไม่มีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นหรืออภิปรายกันอีกแล้ว 

 

@ ย้ำไม่รับต้องตายตกตามกัน

นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า การที่สมาชิก สปช.บางคนออกมาระบุผ่านสื่อเป็นความเข้าใจของท่านที่ไม่ได้ดูรัฐธรรมนูญประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อกำหนดให้วันที่ 23 กรกฎาคมร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ 15 วันนับจากนั้นคือวันที่ 6 สิงหาคม สปช.ต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่รับร่างรัฐธรรมนูญก็ตายตกตามกันไป เริ่มต้นกันใหม่ ตั้ง สปช.และ กมธ.ยกร่างฯใหม่ทั้งหมด ส่วน คสช.และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็อยู่ต่อไปอีกหนึ่งปี แต่ถ้า สปช.ลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องนำขึ้นทูลเกล้าฯภายในวันที่ 4 กันยายน หากไม่มีการทำประชามติ การเลือกตั้งก็จะเกิดขึ้นประมาณปลายกุมภาพันธ์หรือต้นมีนาคม 2559

"ถ้าหากมีเสียงเรียกร้องให้จัดทำประชามติ คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องเห็นชอบ และแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 ก่อนวันที่ 6 สิงหาคม ถ้าแก้หลังวันที่ 6 สิงหาคมจะวุ่นวาย เมื่อมีการทำประชามติก็บวกเวลาต่อไปอีก 3 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณเดือนพฤษภาคม 2559 ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โรดแมปของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แต่เป็นโรดแมปของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557" นายบวรศักดิ์กล่าว และว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำประชามติหรือไม่ยังไม่แน่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าต้องทำ และเชื่อว่านายกรัฐมนตรีก็อยากจะทำ

นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า ปี 2540 เรามีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ปี 2550 มีรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ และฉบับนี้เป็นฉบับปฏิรูป จึงไม่แปลกใจที่จะมีการวิจารณ์ โดยเฉพาะนักการเมืองที่ออกมาวิจารณ์ระบบเลือกตั้ง เพราะเขากลัวประเด็นกลุ่มการเมืองว่าคนของเขาจะแยกไปตั้งกลุ่มมาแข่งกับเขา และกลัวระบบบัญชีรายชื่อ ที่เป็นแบบโอเพ่น ลิสต์ให้ประชาชนจัดลำดับได้เอง ส่วนที่บอกว่าทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ที่จริงต้องพูดต่อว่าทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น สิ่งที่นักการเมืองกลัวจริงๆ คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง รวมถึงหมวดปฏิรูปทั้งหมด เพราะเขาต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสิ่งที่เรากำลังปฏิรูปสวนทางกลับที่เขาอยากทำ

 

@ เวลาเหลือให้พรรคแจงต่อ

ต่อมา นายบวรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากที่มีการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแล้ว เป็นการเปิดโอกาสให้ สปช.ยื่นญัตติคำขอแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะมาถึง กมธ.ยกร่างฯในวันที่ 25 พฤษภาคม จากนั้นในวันที่ 1-6 มิถุนายน จะได้เชิญผู้ขอแปรญัตติแก้ไขมาชี้แจงต่อ กมธ.ยกร่างฯ และพิจารณาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 23 มิถุนายน หากมีเวลาก็จะเชิญพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย จึงจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายก่อนเสนอต่อไปยัง สปช.อีกครั้งเพื่อให้ลงมติในวันที่ 6 สิงหาคม

"ยืนยันว่าไม่สามารถขยายเวลาการพิจารณาออกไปตามอย่างที่บางพรรคการเมืองต้องการ จะต้องไปแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ส่วนเรื่องการเสนอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ต้องดูเหตุผลเป็นหลัก ถ้าเหตุผล สปช.ดีกว่าก็พร้อมแก้ไข แต่ถ้าของ กมธ.ยกร่างฯดีกว่าจะชี้แจงให้ทราบ" นายบวรศักดิ์กล่าวและว่า ไม่ต้องการให้คณะ กมธ.ยกร่างฯอยู่ต่อ แต่ให้มีคณะอื่นขึ้นมาสืบทอดงานแทน 

 

@ ลั่นใช้ไปก่อน 5 ปีค่อยแก้

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ ไม่เป็นความจริง ถ้าพรรคการเมืองไทยบริหารภายในความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าพรรคการเมืองยังเป็นของบางคน การตัดสินใจก็จะเป็นของคนไม่กี่กลุ่ม ถ้าตนเป็นนักการเมืองก็คงกลัว แต่การปฏิรูปก็ต้องยอมสละความเคยชินทิ้งไป 

"จึงอยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน อย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไข ถ้าบ้านเมืองเกิดความปรองดองอาจจะกลับมาแก้ให้พรรคการเมืองเข้มแข็งโดยมีเสียงในรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งก็สามารถทำได้ และยังเห็นด้วยที่ให้มีการจัดตั้งกลุ่มการเมือง ซึ่งผมเข้าใจว่าหลายพรรคการเมืองกลัวคนที่มีศักยภาพของพรรคตัวเองจะออกมา แต่อยากให้นึกถึงคนที่ไม่มีเงินตั้งพรรคการเมืองและต้องไปหาสมาชิกอีก 5 พัน จึงเห็นว่าควรมีกลุ่มการเมืองและจดทะเบียน โดยอาจมีเงื่อนไขน้อยกว่าพรรคการเมือง หากต่อไปมีปัญหาสามารถปรับแก้ไขได้ในอนาคต อยากให้นึกถึงคนอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร คนแบบนี้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะยังมีคนลักษณะนี้อีกเยอะ" นายบวรศักดิ์กล่าว 

เมื่อถามว่า กรณีที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เสนอให้ตัดคณะกรรมการปรองดองในร่างรัฐธรรมนูญออก เพราะเกรงว่าจะเป็นต้นเหตุความขัดแย้ง 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่าเป็นความเห็นของท่าน แต่ถ้าตัดเรื่องนี้ออกก็ไม่มีใครทำ ให้รัฐบาลทำก็ไม่น่าเชื่อถือ เพราะถือว่าเป็นคู่ขัดแย้ง จึงควรมีคนกลางมาทำหน้าที่ เมื่อถามว่า กมธ.ยกร่างฯจะทบทวนเรื่องที่มา ส.ว.หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า สามารถทบทวนได้ แต่ยึดหลักว่าเมื่อมีสภาที่สองนั้นต้องไม่ใช่กระจกสะท้อนของสภาที่หนึ่ง และสภาที่สองต้องมีความหลากหลาย ให้กลุ่มวิชาชีพต่างๆ เข้าไปถึง หากไม่เขียนที่มาของ ส.ว.เช่นนี้ คิดว่ากลุ่มเกษตรกรจะเข้าไปเป็น ส.ว.ได้หรือ ขณะที่

สภาล่างต้องมีพื้นที่ โดยต้องเป็นของกลุ่มการเมืองและพรรคการเมือง

 

@ กมธ.ยกร่างฯงดประชุม1เดือน

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา ในการประชุม กมธ.ยกร่างฯ มีนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม มีวาระการพิจารณาภาพรวมการอภิปรายร่างแรกรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ แถลงภายหลังการประชุมว่า หลังจาก สปช.ได้ประชุมอภิปรายและเสนอความเห็นรัฐธรรมนูญร่างแรกเสร็จแล้ว ขั้นตอนจากนี้ จะเปิดให้ สปช.ได้ยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมต่อ กมธ.ยกร่างฯเป็นระยะเวลา 30 วัน จนถึงวันที่ 25 พฤษภาคม โดยระหว่างนี้ทาง กมธ.ยกร่างฯจะงดการประชุมเพื่อให้ กมธ.ยกร่างฯแต่ละคนไปเข้าร่วมประชุมอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญและลงพื้นที่รับฟังความเห็นรวมทั้งเผยแพร่เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ 12 เวทีทั่วประเทศ จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 29-31 พฤษภาคม หลังจากที่ได้รับคำขอแก้ไขเพิ่มรัฐธรรมนูญอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจาก สปช. คสช. และ ครม. จากนั้นในวันที่ 1-5 มิถุนายนจะเชิญ สปช.ที่เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติมมาชี้หลักการและเหตุผลในการขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมต่อ กมธ.ยกร่างฯ 

"วันที่ 6 มิถุนายน จะเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองได้เข้ามาชี้แจงหลักการและเหตุที่ขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเช่นเดียวกัน เบื้องต้นจะเชิญตัวแทนพรรคที่มีเคยมี ส.ส.ในสภาครั้งที่ผ่านมาประมาณ 10 พรรคมาเสนอความเห็น ส่วนพรรคการเมืองที่เหลืออาจจะให้ส่งเป็นหนังสือมาแทน" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว

 

@ ตั้งอนุคลอดกม.ประกอบรธน.

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าทาง กมธ.ได้ทยอยแต่งตั้งอนุ กมธ.ยกร่างกฎหมายลูกควบคู่ไปกับการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชุมได้มีมติแต่งตั้งคณะอนุกรรมาธิการยกร่าง พ.ร.บ.เพิ่มเติมอีก 4 คณะ ประกอบด้วย อนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสภาตรวจสอบภาคพลเมือง มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน อนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยสิทธิชุมชน มีนายบรรเจิด สิงคเนติ เป็นประธาน อนุ กมธ.ยกร่าง พร.บ.ว่าด้วยหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ มีนายสุจิต บุญบงการ และอนุ กมธ.ยกร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ มีนางนรีวรรณ จินตกานนท์ เป็นประธาน

 

@ เสธ.อู้ยันเบี้ยประชุมปกติ 

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวถึงกรณีที่ กมธ.ยกร่างฯได้รับเบี้ยประชุมรวมทั้งสิ้น 21,912,000 บาทว่า เป็นเรื่องปกติ ตนและสมาชิก กมธ.ยกร่างฯได้รับเบี้ยประชุมเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดแต่แรก ไม่ได้มากเกินไปอย่างที่เป็นข่าว และเป็นเรื่องที่ใครๆ รู้อยู่แล้วจึงไม่ได้กังวลใดๆ และเดือนหน้านั้น กมธ.ยกร่างฯไม่มีประชุม

ก็ไม่ได้รับเบี้ยประชุมเป็นเรื่องปกติ 

ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า เรื่องเบี้ยประชุมนั้นเป็นไปตามอัตราที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น ส่วนยอดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดเป็นเท่าไหร่ ไม่สามารถยืนยันได้ คงต้องเช็กกับฝ่ายเลขาฯสภา

รายงานข่าวจาก สปช.แจ้งว่า เบี้ยประชุมของ กมธ.ยกร่างฯ เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เนื่องจากมีจำนวนสูงกว่า กมธ.ชุดอื่นๆ เนื่องจาก กมธ.ชุดทั่วไป ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 1,200 บาท อนุ กมธ.ได้เบี้ยประชุมครั้งละ 800 บาท ซึ่ง สปช.ส่วนใหญ่เห็นว่าเบี้ยประชุมเพียงเท่านี้เหมาะสมแล้ว และไม่ควรสูงถึง 6,000-9,000 บาท เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งควรนำงบประมาณในส่วนดังกล่าวไปใช้อย่างอื่นจะมีประโยชน์กว่า และ กมธ.ยกร่างฯยังมีการประชุมอีกหลายนัด ซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการร่าง รธน. กมธ.แต่ละคนจะได้เงินเฉพาะเบี้ยประชุมนับล้านบาท

 

@ กมธ.การเมืองถกญัตติแก้ไขร่าง

เมื่อเวลา 15.35 น. ที่รัฐสภา นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง แถลงว่า กมธ.ปฏิรูปการเมือง ประชุมวางแนวทางการยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งตั้งคณะอนุกรรมาธิการเตรียมญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมือง เป็นประธาน นอกจากนี้ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ยังได้เข้าร่วมประชุมด้วย โดยจะดำเนินการทำญัตติแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หากเสร็จก่อนจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาญัตติว่ามีประเด็นใดที่ยังไม่สมบูรณ์เพื่อนำมาแก้ไข และหารือกับ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ เพื่อให้การยื่นญัตติมีน้ำหนักมากขึ้น 

"ทั้งนี้ จากการพูดคุยมีหลายประเด็นที่เห็นตรงกัน คือกลุ่มการเมืองที่ทำให้สถาบันพรรคการเมืองอ่อนแอ เหตุผลที่ กมธ.ยกร่างฯให้ไว้มีปัญหามากกว่าเกิดประโยชน์ ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ เปรียบเหมือนหัวใจ อวัยวะอื่นแข็งแรงหมด แต่ถ้าหัวใจอ่อนแอจะอยู่กันอย่างไร ที่มา ส.ว.ยังมีความซับซ้อนมาก หลักการที่ให้มาจากความหลากหลายเป็นเรื่องดี แต่ภายใต้สังคมไทยถือว่ายุ่งยาก จึงเกิดคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่" นายสมบัติกล่าว และว่า ที่มานายกรัฐมนตรี ต้องเป็นหลักการประชาธิปไตย ถ้านายกฯไม่เป็น ส.ส.จะเชื่อมโยงประชาชนได้อย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องหลักการไม่ใช่ความรู้สึก 

 

@ กฤษฎีกาเผย 2 ปท.รับถกรธน. 

นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะทำงานตามคำสั่ง คสช.ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป เปิดเผยว่า สำหรับรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศที่เชิญมา เบื้องต้น จากการประสานโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการตอบรับแล้วจากฝรั่งเศส 2 คน เยอรมัน 1 คน เป็นนักวิชาการ แลกเปลี่ยนประสบการณ์มากกว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป ในส่วนของฝรั่งเศสเป็นระดับปรมาจารย์ในการร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเชิญมาในช่วงเดือนพฤษภาคม 

 

@ ดิเรกชี้ไม่แก้ประชามติไม่ผ่าน 

ที่รัฐสภา นายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเมือง สปช. ให้สัมภาษณ์ถึงภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกว่า ยังมีหลายส่วนที่คณะ กมธ.ยกร่างฯ ควรปรับแก้ โดยเฉพาะองค์กรอิสระที่เกิดขึ้นใหม่ เช่น สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่มีอำนาจตรวจสอบรัฐบาล ตรวจสอบการทำงานของนายกฯได้ ถือว่าเป็นการขัดหลักการ ทำลายระบบถ่วงดุล 3 ขาหลักของประเทศคือ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ

"ส่วนคณะกรรมการจังหวัดที่จะลงไปควบคุมการทำงานของท้องถิ่นก็ไม่น่าจะถูกต้อง ถ้าบุคคลที่จะทำงานถูกแต่งตั้งโดยรัฐบาล จะไม่ได้รับการยอมรับจากประชาชน แต่มีเพียงองค์กรเดียวที่ผมเห็นว่าเหมาะสมที่จะตั้งขึ้นคือคณะกรรมการอิสระเพื่อสร้างความปรองดองแห่งชาติที่มีอำนาจเพียงเสนอแนวทางสร้างความปรองดองทำให้คนในประเทศเข้าใจซึ่งกันและกัน ไม่ได้มีการล้วงลูกหรือมีอำนาจควบคุมรัฐบาล สรุปแล้วองค์กรไหนที่ตั้งมาแล้วมีปัญหา มีอำนาจซ้อนอำนาจควรจะปรับแก้" นายดิเรกกล่าว

นายดิเรกกล่าวว่า ประเด็นที่ สปช.ติติงกันมาก ไม่ว่าจะเป็น นายกฯคนนอก การเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมที่ต้องการให้รัฐบาลอ่อนแอ และที่มาของ ส.ว. ก็ยังไม่ถูกต้อง กมธ.ยกร่างฯต้องไปแก้ไข หากไม่สามารถแก้ได้ทั้งหมด ควรแก้ในประเด็นหลักๆ เพราะถ้ายังปล่อยผ่านไปโดยไม่แก้ไข หากมีการทำประชามติขึ้นจริงเชื่อว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ผ่านแน่

 

@ สปช.วอนนักการเมืองลดอคติ 

นายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองประธาน กมธ.ศึกษาแนวทางสร้างความปรองดอง สปช. แถลงว่า ในรอบ 1 ทศวรรษที่ผ่านมา เกิดเหตุโศกนาฏกรรมนองเลือดหลายครั้ง อันเนื่องมาจากความขัดแย้งแตกแยกแบ่งสีแบ่งฝ่าย ตั้งแต่ระดับบนลงมาถึงระดับครอบครัว ไม่ทราบว่าจะต้องใช้เวลาอีกเท่าไหร่ถึงจะกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้ ซึ่งเหตุทั้งหมดไม่อาจปฏิเสธได้ว่าต้นตอเกิดจากนักการเมืองและกลุ่มการเมืองที่มีความเชื่อมโยง นำประชาชนออกมาเคลื่อนไหวในรูปแบบต่างๆ จึงเห็นว่าเมื่อเป็นเช่นนี้ จึงถึงเวลาแล้วที่พรรคการเมืองทุกพรรคและกลุ่มการเมืองทุกกลุ่มต้องหันหน้าคุยกัน และปรึกษาว่าจะมีแนวทางสร้างความปรองดองอย่างไร เพราะถือเป็นความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง และเพื่อให้เป็นตัวอย่างที่ดีกับประชาชน 

"ผมขอวิงวอนนักการเมืองและแกนนำกลุ่มต่างๆ ให้หันหน้ามาคุยกัน แสวงหาจุดร่วมที่จะนำพาสังคมไทยหลุดพ้นความแตกแยกก้าวสู่ความปรองดองสมานฉันท์ เพื่อให้การพัฒนาประชาธิปไตยเดินต่อไปได้ เพราะขณะนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมากล่าวหาชี้หน้ากันว่าใครผิดใครถูก ผมเห็นว่าทุกฝ่ายมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบด้วยกันทั้งสิ้น เพราะไม่ว่าใครจะผิดหรือถูก แต่บ้านเมืองเกิดความเสียหายไปแล้ว จึงอยากให้ทุกฝ่ายยอมที่จะให้อภัยกัน ลดอคติ ลดมิจฉาทิฐิ พอกันทีสำหรับคำพูดและพฤติกรรมที่มองฝ่ายตรงข้ามเป็นศัตรูทางการเมือง และมาทำให้สถาบันพรรคการเมืองกลับมามีความน่าเชื่อถืออีกครั้ง จะให้ก้มหัวกราบผมก็ยอม" นายบุญเลิศกล่าว

 

@ มาร์คจวกเขียนรธน.เผด็จการ 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงภาพรวมการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกตลอด 7 วัน ว่า ถ้าทาง กมธ.ยกร่างฯจะรับฟังเสียงท้วงติงทั้งในและนอก สปช.จะเป็นเรื่องที่ดี เพราะหลายเรื่องเป็นการท้วงติงที่ไม่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของผู้ที่แสดงความเห็น และไม่มีเหตุผลชัดเจนที่ต้องบัญญัติมาตราที่สร้างปัญหา ทั้งนี้ ตนยืนยันว่าต้องเอามาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนายกรัฐมนตรีเสนอกฎหมายพิเศษ ถ้าไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ถือว่าผ่านความเห็นชอบ และการให้อำนาจนายกฯยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเองได้ โดยที่ฝ่ายค้านจะไม่สามารถดำเนินการได้ในสมัยประชุมนั้น ออกไป เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างเผด็จการรัฐสภาที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

"ส่วนอำนาจของคณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองฯ 15 คนที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ การกำหนดอำนาจหน้าที่ใน (6) ที่ระบุว่า กรรมการสามารถอภัยโทษให้กับผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสำนึกผิดต่อกรรมการและก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.นั้น จะเป็นประเด็นที่นำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงแน่นอน ผมไม่เข้าใจว่าเหตุใด กมธ.ยกร่างฯจึงไม่เรียนรู้จากวิกฤตประเทศที่ผ่านมาว่าประชาชนต่อต้านการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดร้ายแรง แม้แต่มาตรา 182 ที่ให้นายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษได้หนึ่งฉบับต่อหนึ่งสมัยประชุม อาจมีเจตนาเดียวกันคือให้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมได้" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

@ ชี้ไม่ทำประชามติเกิดขัดแย้ง

นายอภิสิทธิ์กล่าวกรณี พล.อ.ประยุทธ์แสดงความหงุดหงิดต่อข้อเสนอของพรรคการเมืองว่าให้เลื่อนการเลือกตั้งเพื่อทำรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยและให้มีการลงประชามติ โดยเห็นว่านักการเมืองไม่มีสิทธิมาต่อรองว่า เบื้องต้น กมธ.ยกร่างฯต้องแก้ไขในส่วนที่เป็นปัญหาก่อน เพราะในการอภิปรายของ สปช. กมธ.ยกร่างฯไม่สามารถชี้แจงได้ในหลายประเด็นสำคัญ แต่ตนยังให้เกียรติเพราะ กมธ.ยกร่างฯบอกว่าจะรับฟัง

และนำไปแก้ไข อย่างไรก็ตาม หากไม่มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและไม่มีการลงประชามติ รัฐธรรมนูญนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาประเทศไทยที่สร้างความขัดแย้งไม่เบาไปกว่าในอดีต และความตั้งใจของ คสช.ในการทำรัฐประหารก็จะสูญเปล่า

"ผมเห็นว่าที่ผ่านมามีคนเร่งเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ว่า พอมีคนเสนอให้เลื่อนเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีก็ว่าอีก ขอให้ดูเจตนาผู้ให้ความเห็นจะดีกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์นักการเมือง แต่เป็นภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญและการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีมีอยู่แล้ว ซึ่งเชื่อว่านายกรัฐมนตรีน่าจะต้องการให้ปัญหาความขัดแย้งยุติมากกว่าที่จะทำให้ยืดเยื้อต่อไปอีกหลายปี เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญเอื้อประโยชน์ให้กับคนที่ไม่เป็นประชาธิปไตย" นายอภิสิทธิ์กล่าว

 

@ บิ๊กตู่ให้กมธ.ยกร่างฯตัดสินใจ

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญว่าคงไม่ต้องรับรายงาน สามารถดูเองได้ เพราะตนอ่านและติดตามทุกเรื่อง ร้อยพันเรื่องต้องดูหมด ทั้งการเมือง การทหาร เศรษฐกิจ เป็นนายกรัฐมนตรีต้องรู้ทุกเรื่อง ถ้าไม่รู้ทุกเรื่อง ก็ไม่ต้องเป็นนายกฯ ดังนั้น ไม่ต้องรอรายงานก็ได้ สามารถนั่งวิเคราะห์เองได้ และหารือในคณะรัฐมนตรีร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องว่า เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งแล้วแต่เขา ที่สามารถคิดได้ ตนจะไปควบคุมความคิดทุกอันคงไม่ได้ พอมีเรื่องมา ก็บอกว่าทำไมไม่จัดการ พอไม่มีเรื่องก็ด่า ตนไม่เข้าใจมนุษย์ 

"ฉะนั้นทั้งหมดเป็นไปตามรัฐธรรมนูญอย่างเดียว เขาเขียนอย่างไร เป็นไปตามนั้น จะดีไม่ดี ไม่รู้ เดี๋ยวทำข้อพิจารณาขึ้นไป โดย ครม.จะสรุปมา ซึ่ง ครม.มีหลายคนจะประชุมร่วมกัน เพื่อหาข้อสรุปเป็นเรื่องๆ ไป กี่หมวด กี่มาตรา ตรงไหนควรจะแก้หรือไม่ ขณะที่ สปช.ก็ทำของเขา ผมก็ทำของผม คสช.ก็ของ คสช. ครม.ก็อีก ทำสามแท่งเข้าไป โดยส่งไปที่ กมธ.ยกร่างฯ เขาจะแก้หรือไม่ เป็นอำนาจของเขา" นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

@ อัดสื่อเขียนไม่สร้างสรรค์

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ตั้งใจจะอารมณ์ดี แต่พอหยิบหนังสือขึ้นมาเปิดอ่าน หนังสืออะไรก็ไม่รู้ พวกอดีตรัฐมนตรีเก่าๆ ทำนองนี้ เขียนหนังสือพิมพ์อยู่ มันได้ยังไง เขียนออกมาไม่สร้างสรรค์สักเรื่อง ไม่เคยรับความผิดความบกพร่องของตัวเองเลย เดี๋ยวคอยดูกันต่อไป ว่ากันไป สอบสวนกระบวนความเกี่ยวข้องกับใครก็ว่าหมด ประเด็นสำคัญคือ ถ้าคิดว่าบ้านเมืองไม่ปกติ อยากให้บ้านเมืองมั่นคงยั่งยืน ไม่มีการใช้ความรุนแรงกันแบบเดิม ไม่มีการทุจริตผิดกฎหมาย ไม่มีการละเมิดสิทธิผู้อื่น น่าจะต้องมีมาตรการอะไรขึ้นมาสักอย่าง และการที่จะทำให้รัฐบาลมาอย่างไร ทำอย่างไรจะให้ได้รัฐบาลที่มีธรรมาภิบาล บอกแล้วให้ไปคิดกันมา จะมีมาตรการอะไรกันบ้างผมไม่รู้ เพราะไม่เคยทำหน้าที่นี้ และไม่เคยคัดสรรใครเข้ามาด้วย ดูแต่ทหาร

"ฉะนั้นท่านต้องไปคิดมาท่านเป็นนักกฎหมาย เป็นกรรมาธิการ ไปร่างไปคิดมา ถ้าคิดว่าอันนี้ดี แล้วคนยอมรับได้ ได้รัฐบาลมาก็เป็นไปตามนั้น ต่อไปเป็นเรื่องควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การตรวจสอบความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะตัดต่อตรงไหนให้ทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างครั้งที่แล้ว" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

 

@ ลั่นไม่นั่งนายกฯคนนอก

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีว่า อย่าไปกังวลว่าตนคือนายกรัฐมนตรีตรงนั้นไม่ใช่ ตรงนี้ไม่ใช่ว่าตนเห็นด้วย ตนไม่เห็นด้วย แต่อย่ามาพูดกันตรงนั้น จากที่ฟังมา เขาบอกว่าถ้าเหตุการณ์ไม่ปกติ จะเอานายกฯมาจากไหน แต่กลายเป็นว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจ มันอะไรกัน ไม่เข้าใจ อ่านหนังสือกันไม่เข้าใจหรืออย่างไร เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่ามาตอนไหน หรือวิเคราะห์วิจารณ์ฝันมโนกันไปเรื่อยทุกวัน อ่านหนังสือภาษาไทยไม่ออก แสดงว่าการศึกษาไทยใช้ไม่ได้ อ่านหนังสือไทยไม่รู้เรื่อง โตๆ กันแล้วจะว่ายังไงก็ว่ามา จะเอาใครมาบังคับบัญชาปกครองบริหารก็ไปหามา

เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ คสช.และ ครม.จะต้องมีความเห็นไปคราวเดียวกัน นายกฯกล่าวว่า คงจะคนละส่วน ครม.มี 36 คน ส่วน คสช.มี 7 คน คงมีความเห็นไม่ตรงกัน แม้ตนจะเป็นหัวหน้าก็จริง คงไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกัน อาจจะเหมือนกันบางข้อ คิดไม่ตรงกันบางข้อก็แล้วแต่ ขณะที่รัฐมนตรีทั้ง 36 คนต้องไปคุยกับข้าราชการ ตนได้ให้นโยบายไปอย่างนั้น ไม่ใช่ 36 คน คิดกันเองหรือ คสช.คิดเอง เขาต้องไปหาข้อมูล ซาวด์เสียงตรงนู้นตรงนี้มาและสรุปรวมมา นั่นแหละคือการคิดทำงานเป็น ไม่ใช่ทำงานคนเดียวหรือสั่งโครมๆๆ สั่งเช้าเอาบ่าย สั่งบ่ายเอาเย็น ไม่ใช่ จะแก้ไขบ้านเมืองไม่ได้เลยทั้งสิ้น และด้วยเวลา ที่มากดดัน มันทำไม่ได้ ยิ่งจะรวนไปกันใหญ่ ต้องให้ทุกอย่างเคลื่อนที่ไปตามกาลเวลาและวันนี้ยังไม่เกินเวลาโรดแมป จะเร่งอะไรกันนักหนา

 

@ จวกอจ.ชูสิทธิเสรีภาพก่อน

เมื่อถามว่า จากการติดตามการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของ สปช. มีประเด็นใดที่คิดว่าต้องมีข้อเสนอแนะปรับแก้บ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีทุกอัน ซึ่งตนจะถามกลับไปว่าอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร จะทำเพื่ออะไร สิ่งสำคัญจะถามไปว่าประเทศไทยต้องเดินหน้าโดยถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนได้ประโยชน์อะไร ประชาชนต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่อย่างไร พูดอย่าให้มันตกหล่น บางคนที่ออกมาวิจารณ์ เห็นว่าบางอย่างต้องให้ความเป็นธรรม ต้องให้เกียรติ กมธ.ยกร่างฯบ้าง ที่พยายามร่าง ทำทุกอย่างให้บ้านเมืองสงบปลอดภัย บางทีก็ถูกมองว่าจะสืบทอดอำนาจ จะได้ผลประโยชน์ ถ้าอย่างนี้ใครก็ร่างไม่ได้เพราะไม่ไว้วางใจ แต่ลืมกันไปว่าเคยเกิดอะไรขึ้นมา แล้วจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอีก 

"มีหลายๆ คนเขียนอะไรมาไม่รู้ แถมยังเป็นครู เป็นอาจารย์ เขียนว่ารัฐธรรมนูญมาตราที่ควรจะขึ้นก่อนคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรเอาหน้าที่เรื่องพลเมืองขึ้นมาก่อน ดูสิมันสอนแบบนี้ หรือประเทศไทยไม่ต้องมีกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเขียนออกมาดีทุกอัน ปัญหาคือจะทำกันหรือไม่ จะบังคับใช้ไหม รัฐบาลที่ได้มาจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมหรือไม่ 

ไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่ ที่ผ่านมาเป็นร้อยๆ เรื่อง ทำไมการสอบสวนไม่จบ เขาให้ความสนใจแค่ไหน รัฐบาลต่อไปต้องเป็นอย่างนั้น จะต้องทำทุกเรื่องให้ปรากฏ จะผิดจะถูกหรือจะข้างใด ไม่รู้ ทำให้ชัดเจนขึ้น ก็จบ จะได้ไม่ทะเลาะกัน แต่นี่ทุกคนทำงานไม่ได้ ข้าราชการทำงานไม่ได้กลัว ขณะที่การตรวจสอบก็กลัวอีก แล้วจะให้อยู่กันอย่างไร ประเทศไทยผมไม่เข้าใจ ขอให้ช่วยกัน สื่อจะช่วยได้เยอะ" นายกรัฐมนตรีกล่าว

 

@ อัดพวกเสียชาติเกิด

"บางครั้งรู้สึกไม่ดี ปัญหาเยอะ ทั้งปัญหาต้องทำงาน ปัญหาความไม่เข้าใจ มนุษย์บางคนคิดว่ามันไม่ใช่คนไทย เสียชาติเกิดนะพวกนี้ ผมต้องแรงกับเขาเพราะเขาแรงกับผม ถ้าไม่ยุ่งกับผม ผมก็ไม่ยุ่งกับเขา กฎหมายก็ว่าไปแค่นั้นเอง แต่ยังไม่เลิกไม่หยุดจะให้ทำอย่างไร ต้องปกป้องคนของผม ปกป้องรัฐบาล ข้าราชการ เขาทำงานกันโครมๆ ทหารทำทั้งจดทะเบียนเรือ ดูแลการจ่ายเงินจำนำข้าวเพราะตามกลไกมีทหารทุกพื้นที่ แต่ไม่มีอำนาจ จึงต้องมีความจำเป็นให้ทหารเข้าไปช่วยทำงาน หากให้พลเรือนทำไม่มีจบ เพราะพลเรือนไม่เหมือนทหาร สั่งไปแล้วก็รอเวลา แต่ทหารไม่ได้ ภารกิจต้องจบภายในเวลาที่กำหนด" นายกฯกล่าว

พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ต้องคิดแบบทหาร เพราะปัญหาเยอะ ตนเคยคิดจะเลือกทำไม่กี่อย่าง แต่พอมาแล้วไปไม่ได้สักอัน ประเทศไทยไม่ได้มีแค่เรื่องการเมืองหรือแค่แก้รัฐธรรมนูญ ทุกวันนี้ตนต้องแก้หมดทุกเรื่อง ทั้งความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความมั่นคง ป่าไม้ แล้วยังมาบอกว่าทำไมไม่จัดระเบียบอะไรก่อนอะไรหลัง มาทำแต่เรื่องปลีกย่อย ทั้งนี้ตนเห็นว่าเรื่องปลีกย่อยนี่แหละที่กลายเป็นปัญหาบานปลายไปสู่ปัญหาใหญ่ๆ ทั้งสิ้น เพราะปล่อยปละละเลย 

 

@ กร้าวเตือนแล้วไม่หยุดจับติดคุก

เมื่อถามว่าอยู่ในตำแหน่งยังถูกจ้องเล่นงาน หากวันหนึ่งที่ต้องลงจากตำแหน่ง ห่วงหรือไม่ว่าจะถูกไล่บี้ พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า ขึ้นหลังเสือแล้วลงหลังเสือลำบากเหรอ ตนจะไปห่วงทำไม ถ้าห่วงก็ไม่เข้ามาทำหรอก ก็รู้อยู่แล้ว