014ซัดกันนัว พะจุณณ์บี้ปฏิรูปตร. เสียงแตกสปช.เลื่อนถก 'บิ๊กตู่'ไม่เกี่ยวปิดพีซทีวี แกนเพื่อไทยโดนด้วย คสช.ไม่อนุญาตบินนอก 

วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8918 ข่าวสดรายวัน

 

      สปช.ถกปฏิรูปตำรวจตามข้อเสนอ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ 'พะจุณณ์'อัด'เสรี สุวรรณภานนท์'ใช้คำพูดสร้างความสับสน ยันอนุฯ ไม่มีส่วนได้เสีย'อมร วาณิชวิวัฒน์'ท้าถ้าปฏิรูปตำรวจคว่ำรธน.ได้ ก็อยากลอง กมธ.เสียงแตกแยกงานสอบสวน'บวรศักดิ์'แนะใช้รธน.ไปก่อน 5 ปี ค่อยแก้ ยันไม่เปิดให้มีอภิปรายวาระ 3 กมธ.ปฏิรูปการเมืองจี้ 8 ปม "บิ๊กตู่"รับมีหลายประเด็นเตรียมถาม กมธ.ยกร่างฯ ยัน นายกฯ คนนอกไม่เกี่ยวกับตัวเอง ให้กสทช.ตอบยึดใบอนุญาตพีซทีวี ผู้บริหารยื่นอุทธรณ์ กสทช.ฮึ่มเตรียมปิดเพิ่ม คสช.สั่งแกนนำ เพื่อไทยห้ามออกนอกประเทศ ศปป.จ่อเปิดเวทีปรองดองอีก 

 


จ.ม.ข่าว - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตรวจสอบจดหมายข่าวรัฐบาล ฉบับปฐมฤกษ์ ระหว่างเดินทางกลับจากประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย มาถึงท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง เมื่อวันที่ 28 เม.ย.

นายกฯชี้รธน.ช่วยเฟ้นรัฐบาล

       วันที่ 28 เม.ย. ที่ท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์หลังกลับจากการเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียน ที่ประเทศมาเลเซีย ถึงการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ได้ติดตามอย่างต่อเนื่อง เป็นนายกฯ ต้องรู้ทุกเรื่อง ถ้าไม่รู้ก็ไม่ต้องเป็นนายกฯ ปัญหาบ้านเมืองต้องดูทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง ทหารและเศรษฐกิจ ส่วนตัวจะวิเคราะห์และให้ที่ประชุม ครม.และ คสช.สรุปเป็นรายมาตรา ก่อนเสนอกลับไปยังกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ 

       นายกฯ กล่าวว่า ทั้งหมดเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ สปช.ก็ทำของเขา ตนก็ทำ คสช.ก็ของคสช. ครม.ก็อีก ทำ 3 แท่งส่งไป กมธ.ยกร่างฯ เขาจะแก้หรือไม่เป็นอำนาจของเขา วันนี้ตั้งใจจะอารมณ์ดีแต่พอหยิบหนังสือขึ้นมาเปิดอ่าน หนังสืออะไรก็ไม่รู้ อดีตรัฐมนตรีเก่าๆ ทำนองนี้ เขียนหนังสือพิมพ์อยู่ เขียนออกมาไม่สร้างสรรค์สักเรื่อง ไม่เคยรับความผิดความบกพร่องของตัวเอง เดี๋ยวคอยดูกัน ต่อไป สอบสวนกระบวนความเกี่ยวข้องกับใครก็ว่าหมด 

        นายกฯ กล่าวว่า ประเด็นสำคัญถ้าอยากให้บ้านเมืองมั่นคงยั่งยืน ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่มีทุจริตผิดกฎหมาย ไม่ละเมิดสิทธิผู้อื่น ต้องมีมาตรการ และการจะทำให้ได้รัฐบาลที่มี ธรรมาภิบาลขอให้ไปคิดกันมา เพราะตนไม่เคยทำหน้าที่นี้และไม่เคยคัดสรรใครเข้ามาด้วย ดูแต่ทหาร กมธ.ยกร่างฯ ก็ไปร่าง ไปคิดมา ถ้าคิดว่าดีแล้วคนยอมรับได้แล้วได้รัฐบาลมาก็เป็นไปตามนั้น ต่อไปเป็นเรื่องควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน การตรวจสอบความโปร่งใส การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน จะตัดต่อตรงไหนให้ทำได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอย่างครั้งที่แล้ว 

นายกฯคนนอกไม่เกี่ยวตัวเอง

"ส่วนที่มาของนายกฯ อย่าไปกังวลว่าผมคือนายกฯ ตรงนั้น ไม่ใช่ คนละเรื่องกัน ไม่ใช่ว่าผมเห็นด้วยไม่เห็นด้วย จากที่ฟังเขาบอกว่าถ้าเหตุการณ์ไม่ปกติจะเอานายกฯ มาจากไหน แต่กลายเป็นว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจ อ่านหนังสือกันไม่เข้าใจหรืออย่างไร เขาเขียนไว้หรือเปล่าว่ามาตอนไหน หรือวิเคราะห์วิจารณ์ ฝัน มโนกันไปเรื่อยทุกวัน อ่านภาษาไทย ไม่ออก แสดงว่าการศึกษาไทยใช้ไม่ได้ โตๆ กันแล้ว จะเอาใครมาบังคับบัญชาปกครองบริหารก็ไปหามา ยังไม่ใช่เรื่องของผม" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และว่า หน้าที่ตนตอนนี้คือดูแลความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงปลอดภัย หน้าที่ใครหน้าที่มัน อย่าให้มีเรื่อง อย่าให้ประชาชนเดือดร้อน 

      เมื่อถามว่า จำเป็นหรือไม่ที่ คสช.และ ครม.ต้องเห็นไปในทางเดียวกันหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า คนละส่วน ครม.มี 36 คน คสช.มี 7 คน คงมีความเห็นไม่ตรงกัน แม้ตนจะเป็นหัวหน้าก็จริง คงไม่จำเป็นต้องมีความเห็นเหมือนกัน อาจเหมือนกันบางข้อ 

มีคำถามเรื่องรธน.ทุกประเด็น 

     เมื่อถามว่ามีประเด็นใดที่คิดว่าต้องมีข้อเสนอแนะปรับแก้บ้าง พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า มีทุกอัน ตนจะถามกลับไปว่าอย่างนี้หมายความว่าอย่างไร จะทำเพื่ออะไร สิ่งสำคัญจะถามไปว่าวันนี้ประเทศไทยต้องเดินหน้า ถือประชาชนเป็นศูนย์กลาง ประชาชนได้ประโยชน์ ประชาชนต้องรู้จักสิทธิและหน้าที่ พูดอย่าให้มันตกหล่น บางคนที่วิจารณ์เห็นว่าบางอย่างต้องให้ความเป็นธรรม ต้องให้เกียรติ กมธ. ยกร่างฯ บ้าง ที่ทำทุกอย่างให้บ้านเมืองสงบปลอดภัย บางทีก็ถูกมองว่าเพื่อสืบทอดอำนาจ ได้ผลประโยชน์ ถ้าอย่างนี้ใครก็ร่างไม่ได้เพราะไม่ไว้วางใจ แต่ลืมไปว่าเคยเกิดอะไรขึ้นแล้วจะทำอย่างไรให้ไม่เกิดอีกนี่ประเด็นสำคัญ 

       นายกฯ กล่าวว่า มีหลายคนเขียนอะไรมาไม่รู้ แถมยังเป็นครูเป็นอาจารย์ เขียนว่ารัฐธรรมนูญมาตราที่ควรจะขึ้นก่อนคือเรื่องสิทธิเสรีภาพ ไม่ควรเอาหน้าที่เรื่องพลเมืองขึ้นมาก่อน มันสอนแบบนี้หรือประเทศไทย ไม่ต้องมีกฎหมาย ซึ่งกฎหมายเขียนออกมาดีทุกอัน ปัญหาจะทำกันหรือไม่ รัฐบาลที่ได้มาจะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ไม่เลือกปฏิบัติหรือไม่ รัฐบาลต่อไปต้องทำทุกเรื่องให้ปรากฏ จะผิดถูกหรือจะข้างใดไม่รู้แต่ต้องทำให้ชัดเจนก็จบ จะได้ไม่ทะเลาะกัน ปัญหามันเยอะ มนุษย์บางคนคิดว่าไม่ใช่คนไทย เสียชาติเกิด พวกนี้ต้องแรงกับเขาเพราะเขาแรงกับตน ถ้าไม่ยุ่งกับตนก็ไม่ยุ่งกับเขา กฎหมายก็ว่าไปแต่มันยังไม่เลิก ไม่หยุด 

 

ขู่ใช้กม.แรงถ้าไม่หยุดเคลื่อนไหว 

     เมื่อถามว่านายกฯ อยู่ในตำแหน่งยังถูกจ้องเล่นงาน หากวันหนึ่งต้องลงจากตำแหน่งห่วงหรือไม่ว่าจะถูกไล่บี้เช็กบิล พล.อ.ประยุทธ์ย้อนถามว่า ขึ้นหลังเสือแล้วลงหลังเสือลำบากหรือ ตนจะไปห่วงทำไม ถ้าห่วงก็ไม่เข้ามาทำ ก็รู้อยู่แล้ว 

ระหว่างตอบคำถามนี้นายกฯ ชี้ไปยังกลุ่มข้าราชการและทหารที่ยืนอยู่บริเวณใกล้เคียงพร้อมพูดว่า เสี่ยงหรือไม่ทุกคนที่อยู่ แล้วเขาได้อะไร ตนได้อะไร วันนี้ไม่ได้ห้ามใครจะว่าอะไรก็ว่า ต้องภูมิใจ ไม่มีรัฐบาลที่มาลักษณะนี้แล้วเป็นแบบตน มีที่เดียวในโลกนี้ ที่ไม่แสวงหาผลประโยชน์ ไม่จับกุมคุมขังนักการเมืองแบบร้ายแรง อย่างมากก็พูดคุย 3-4 วันก็ปล่อยกลับ เว้นแต่บ่อยๆ เข้าก็ต้องโดนบ้าง รู้อยู่ว่าผิดยังทำ แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากให้เป็นตัวอย่าง หลายประเทศเขาดูอยู่

เมื่อถามว่าจะมีมาตรการเด็ดขาดอย่างไรกับฝ่ายที่ออกมาเคลื่อนไหวที่ระบุเตือนแล้วไม่หยุด พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ถ้าคุยแล้วยังไม่หยุดก็ต้องใช้กฎหมายที่แรงและหนักขึ้นไป กฎหมายมีแรงอยู่แล้วแต่ตนไม่ได้ใช้เลย จริงๆ ถ้าผิดติดคุกได้ทันที เมื่อถามว่ามีใครอยู่ในสายตาว่าจะต้องโดนกฎหมายแรงหรือยัง นายกฯ กล่าวว่า ไม่รู้ ไม่มี ก็แล้วแต่เขา ถ้าเขาอยากก็ทำไป

 

ให้'กสทช.'ตอบปิดพีซทีวี 

       เมื่อถามกรณีคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติตามที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติ (กสทช.) เสนอถอดใบอนุญาตออกอากาศสถานีโทรทัศน์พีซทีวี พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ก็ไปถาม กสทช. ส่วนจะเกี่ยวข้องกับอดีตนักการเมืองออกมาแสดงความเห็นมากเกินไปนั้น ตนไม่รู้ มอบหมายให้เขาไปดูแล้ว ถามว่าวันนี้เขาดำเนินการขัดแย้งกับ คำสั่งคสช.หรือไม่ ผิดหรือไม่ ซึ่งกสทช.มีกติกาอยู่ และตนมอบหมายไปแล้ว สื่อสิ่งพิมพ์ทั้งหมดให้สมาคมนักข่าวนักหนังสือ พิมพ์แห่งประเทศไทยไปจัดการ ถ้าทำไม่ได้ก็ยุบไป ตนไม่เคยห้ามให้เสนออะไรไม่ได้เลย แต่อะไรที่ขัดแย้งกันแล้วเป็นเรื่องจริงนั้นไม่ว่า แต่หากไม่ใช่เรื่องจริง ต้องสังคายนากัน

เมื่อถามว่าจะปิดถาวรเลยหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่รู้ ปิดไปครั้งหนึ่งแล้ว 7 วัน พอเปิดเขาทำผิดอีก ผมเคยบอกแล้วถ้าไม่ช่วยกันก็ต้องเดือดร้อน ดังนั้นต้องไปโทษเจ้านาย ทั้งบรรณาธิการ เจ้าของโรงพิมพ์ ไปว่ากันเอง ไม่ใช่ผม เพราะไม่ช่วยเราเลยจะมาปฏิรูปผมอย่างเดียวทำไมไม่คิดจะปฏิรูปตัวเองบ้าง"

      ตอนท้ายนายกฯ ถามผู้สื่อข่าวว่าจะพาดหัวข่าววันพรุ่งนี้อย่างไร จะด่ารัฐบาลอีกหรือไม่ เพราะที่ผ่านมามีแต่พาดหัวว่ารัฐบาลโม้ โว ฟุ้ง ปัด เพราะสื่อยึดติดแต่คำพวกนี้เท่านั้น

 

'ณัฐวุฒิ'ลั่นปิดที่นี่ก็พูดที่อื่น 

      วันเดียวกัน นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เลขาธิการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) กล่าวในรายการ "เข้าใจตรงกันนะ" ผ่านพีซทีวี กรณีสั่งปิดช่องพีซทีวีว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มีธงไว้แล้ว ยืนยันว่ารายการไม่ได้สร้างความแตกแยก แต่อยากถามว่าความสามัคคีปรองดองคือการที่คนต้องคิดเหมือนกันทั้งหมดหรือไม่ ต้องให้คนไทยคิดแบบเดียวกับผู้มีอำนาจใช่หรือไม่ หากเป็นแบบนั้น ไม่ใช่ประเทศไทยที่ใครต่อใครต้องการ และไม่ใช่สิ่งที่เกิดได้จริง แต่เป็นประเทศหุ่นยนต์ ประเทศตุ๊กตา การแสดงความเห็นต่างตนมองว่าสำคัญ หากทุกคนพูดเหมือนกันหมดผู้มีอำนาจจะได้ฟังของจริงหรือไม่ เขาไม่ได้เชื่อด้วยความเฟ้อฝัน เขามีหลักการประชาธิปไตย มีข้อเท็จจริงเทียบเคียง หักล้างได้ หากจะเดินหน้าปรองดองต้องเดินแบบนี้ 

       นายณัฐวุฒิ กล่าวว่า ไม่มีใครมายืนหน้าจอเพราะอยากออกทีวี หากปิดที่นี่เราก็หาที่พูดที่อื่นเพราะเราเป็นคนไทย เป็นเจ้าของประเทศเหมือนกัน ไม่ต้องขยายผล ไม่ได้ตั้งเวทีหรือชุมนุมเคลื่อนไหวใดๆ แต่จะเดินตามแนวทางเดินตามวิถีของเรา จะไม่เล่นตามที่ผู้มีอำนาจขีดเส้นให้เล่น แต่จะทำอย่างไรขอให้ติดตามต่อไป ถ้าไม่มีสถานีก็จะเล่าผ่านช่องทางต่างๆ องค์กรระดับนานาชาติจะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราจะประสานอธิบายความให้รับทราบ จะพบหรือส่งเอกสารหรือรูปแบบใดก็ตาม 

"เอาเป็นว่าปิดพีซทีวีคราวนี้รู้กันทั้งโลก เรามีหัวใจ เราจัดรายการก็พูดตรงนี้ตลอด ไม่มีเกมใต้ดินอย่างอื่น คิดอย่างไรก็ดูจากตรงนี้ เขาขอให้ไปเสวนาเราก็ไป ไม่เล่นแง่ไม่เล่นเกมทั้งสิ้น นี่จะปีแล้ว พอแก้ปัญหาไม่ได้ก็หาเรื่องทะเลาะกับเรา" นายณัฐวุฒิกล่าว 

 

พีซทีวี ยื่นขอความเป็นธรรม 

     เวลา 14.00 น. ที่สำนักงาน กสทช. ผู้บริหารช่องรายการพีซทีวี ของบริษัท พีซ เทเลวิชั่น จำกัด นำโดยนายอนันตศักดิ์ คำเก่า พร้อมผู้ดำนินรายการ และนายวิญญัติ ชาติมนตรี นายกิตติ นิลผาย ทนายความ นปช. มาในนามทนายความช่องพีซทีวี ยื่นหนังสือต่อนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ขอความเป็นธรรมหลังบอร์ด กสท. มีมติเมื่อวันที่ 27 เม.ย. เพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์

      นายอนันตศักดิ์ กล่าวว่า ยื่นหนังสือต่อ กสทช.เพื่อให้ทบทวนมติเรื่องการเพิกถอนใบอนุญาตช่องพีซทีวี โดยไม่เปิดให้บริษัทมาชี้แจงตามขั้นตอน หาก กสทช.ยังไม่ทบทวนในเรื่องนี้ จะยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง และท้ายสุดหากไม่ได้รับการทบทวนจะไปยื่นถวายฎีกาต่อไป

      นายฐากร กล่าวหลังรับหนังสือว่า จะนำเรื่องแจ้งต่อพล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เนื่องจาก กสท.มีมติเพิกถอนใบอบนุญาตไปแล้ว ผ่านขั้นตอนตัดสินใจของบอร์ดกสท. ซึ่งเคยตักเตือนช่องพีซทีวีไปแล้ว และมีมติให้ยุติออกอากาศไปแล้ว 7 วัน แต่ครั้งนี้มีการนำเสนอที่เข้าข่ายเป็นภัยต่อความมั่นคงซ้ำอีก จึงมีมติเพิกถอนใบอนุญาต ตามบทลงโทษมาตรา 37 พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ปี 2551 และเป็นไปตามเงื่อนไขของคสช.และข้อตกลงที่ผู้ประกอบกิจการทีวี ทำร่วมกับกสทช.

 

กสทช.ฮึ่มปิดอีก

      นายฐากร กล่าวว่า เหตุผลครั้งนี้เนื่องจากรายการที่ออกอากาศขัดกับเนื้อหาที่เป็นภัยต่อความมั่นคง ปลุกปั่น แตกแยกกับสังคม ขณะนี้ กสทช.อยู่ระหว่างการมอนิเตอร์ทุกช่องทีวีในประเด็นหมิ่นสถาบัน และสร้างความ ขัดแย้งแตกแยกในสังคม ตอนนี้หลายช่องอยู่ระหว่างการพิจารณาของ กสทช. รวมทั้งวิทยุชุมชนที่มีการมอนิเตอร์อย่างใกล้ชิดว่ามีเนื้อหาขัดต่อประกาศคสช.หรือไม่ ซึ่งมีหลายสถานีที่กสทช.อาจมีมาตรการดำเนินการในเร็วๆ นี้ ทั้งเตือน ปรับ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาตต่อไป คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในสัปดาห์หน้า

      นายฐากรกล่าวว่า บอร์ดกสท.พิจารณาในรายละเอียดเนื้อหาที่ออกอากาศแล้ว แต่หากพีซทีวีมายื่นขอความเป็นธรรมก็ถือว่าทำถูกแล้ว และจะรับพิจารณาบรรจุเป็นวาระเข้าที่ประชุมบอร์ดใหญ่ กสทช. 10 คนต่อไป แต่หากจะยืนยันตามมติกสท.ในส่วนของพีซทีวี เมื่อได้รับคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ จากสำนักงานกสทช. ต้องยุติออกอากาศทันที

 

รธน.ไม่มีอภิปรายวาระ 3

       เวลา 09.40 น. ที่ห้องคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ปาฐกถาพิเศษเรื่อง "รัฐธรรมนูญใหม่กับการ กระจายอำนาจ" ให้กับนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) รับฟังว่า ขณะนี้กมธ. ยกร่างฯ จัดทำร่างแรกสำเร็จแล้วแต่ต้องแก้ไขเพิ่มเติมต่อไป ส่วนร่างสุดท้ายที่แก้ไขไม่ได้คือต้องเสร็จภายวันที่ 23 ก.ค. ซึ่งเสร็จก่อนได้แต่ถ้าเสร็จหลังจากวันนั้น กมธ.ยกร่างฯ ถูกยุบเลย ดังนั้น วันที่ 23 ก.ค. จึงเป็นเส้นตายที่กมธ.ยกร่างฯ ต้องเสนอร่างรัฐธรรมนูญ

     นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญยังเขียนมัดไว้ในมาตรา 36 ว่า สปช.ต้องลงมติให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับจะแก้ไขเพิ่มเติมอีกไม่ได้ เว้นแต่แก้ไขข้อผิดพลาดโดยกมธ.ยกร่างฯ ต้องเห็นชอบด้วย หรือเห็นว่าควรต้องแก้ไขให้เกิดความสมบูรณ์ ถ้าเป็นแบบนี้ถามว่าเราให้เวลาสปช. 15 วัน มานั่งอภิปรายกันอีกหรือไม่ คำตอบคือไม่ใช่ ประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตย เมื่อแก้ไขเสร็จในวาระ 2 ให้ทิ้งไว้ 15 วัน เพื่อใช้เวลาปรึกษากันอย่างรอบคอบก่อนลงมติในวาระ 3 ดังนั้น 15 วัน ที่กำหนดให้สปช.นั่งคิดนอนคิดปรึกษาหารือว่าจะเอาหรือไม่เอาร่างนี้ จะไม่มีการประชุมเพื่อรับฟังความเห็นหรืออภิปรายกันอีกแล้ว

 

ยันต้องทำประชามติ 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า 15 วันนับจากนั้นคือวันที่ 6 ส.ค. สปช.ต้องลงมติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ถ้าไม่รับก็ตายตกตามกันไป เริ่มต้นกันใหม่ ตั้งสปช.และกมธ.ยกร่างฯ ใหม่หมด ส่วนคสช.และครม.อยู่ต่อไปอีก 1 ปี แต่ถ้าสปช.ลงมติรับ ก็นำขึ้นทูลเกล้าฯ ภายในวันที่ 4 ก.ย. หากไม่ทำประชามติ การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นปลายก.พ.หรือต้นมี.ค.59

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า หากมีเสียงเรียกร้องให้จัดทำประชามติ คสช. ครม.ต้องเห็นชอบ และแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวก่อนวันที่ 6 ส.ค. ถ้าแก้หลังวันที่ 6 ส.ค.ก็วุ่นวาย เมื่อทำประชามติก็บวกเวลาต่อไปอีก 3 เดือน ดังนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นพ.ค.59 ทั้งหมดนี้ไม่ใช่โรดแม็ปของพล.อ.ประยุทธ์ แต่เป็นโรดแม็ปของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะทำประชามติหรือไม่ยังไม่แน่ แต่ส่วนตัวเห็นว่าต้องทำ และเชื่อว่า นายกฯ ก็อยากทำ 

 

ม่ยุบองค์กรท้องถิ่น 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับปฏิรูป จึงไม่แปลกใจโดยเฉพาะนักการเมืองที่จะวิจารณ์ระบบเลือกตั้ง เพราะเขากลัวประเด็นกลุ่มการเมืองว่าคนของเขาแยกไปตั้งกลุ่มแข่ง และกลัวระบบบัญชีรายชื่อที่เป็นโอเพ่นลิสต์ให้ประชาชนจัดลำดับได้เอง ที่บอกว่าทำให้พรรคอ่อนแอที่จริงต้องพูดต่อว่าทำให้ประชาชนเข้มแข็งขึ้น สิ่งที่นักการเมืองกลัวจริงๆ คือ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การฏิรูปแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง รวมถึงหมวดปฏิรูปทั้งหมด เพราะเขาต้องปฏิบัติตาม ซึ่งสิ่งที่เรากำลังปฏิรูปสวนทางกลับที่เขาอยากทำ

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าจะไม่มีการยุบอบจ. และเทศบาล ส่วนองค์การบริหารส่วนตำบาล (อบต.) ก็ไม่ยุบแต่จะรวมให้มีขนาดเหมาะสม ยกเป็นเทศบาลตำบล ซึ่งประชาชนย่อมมีส่วนร่วมกำหนดรูปแบบได้ด้วย 

 

ขยายเวลาพิจารณาไม่ได้ 

     นายบวรศักดิ์ ยังให้สัมภาษณ์หลังการบรรยายที่เมืองทองธานีด้วยว่า หลังอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จากนี้เปิดให้สมาชิก สปช.ยื่นญัตติคำข้อแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งจะมาถึงกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 25 พ.ค.นี้ จากนั้น วันที่ 1-6 มิ.ย. จะเชิญผู้ขอแปรญัตติแก้ไขมาชี้แจงต่อกมธ.ยกร่างฯ และพิจารณาให้เสร็จภายในวันที่ 23 มิ.ย. หากมีเวลาจะเชิญพรรคการเมืองมาร่วมแสดงความเห็นด้วย จึงจะเป็นร่างรัฐธรรมนูญสุดท้ายก่อนเสนอต่อไปยัง สปช.อีกครั้งเพื่อลงมติวันที่ 6 ส.ค. ยืนยันว่าไม่สามารถขยายเวลาพิจารณาออกไปตามอย่างที่บางพรรคต้องการ ซึ่งต้องไปแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ส่วนการเสนอแปรญัตติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องดูเหตุผล ถ้าเหตุผลสปช.ดีกว่าก็พร้อมแก้ไข แต่ถ้าของ กมธ.ยกร่างฯ ดีกว่าก็จะชี้แจงให้ทราบ ตนไม่ต้องการให้กมธ.ยกร่างฯ อยู่ต่อ แต่ให้มีคณะอื่นขึ้นมาสืบทอดงานแทน 

 

เสนอใช้รธน.ก่อน5ปีค่อยแก้ 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้ทำให้พรรคอ่อนแอ ถ้าพรรคมีการบริหารภายในที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง แต่ถ้าพรรคยังเป็นของบางคนการตัดสินใจจะเป็นของคนไม่กี่กลุ่ม การปฏิรูปต้องยอมสละความเคยชินทิ้งไป ตนจึงอยากเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปก่อน อย่างน้อย 5 ปีแล้วค่อยแก้ไข ถ้าบ้านเมืองเกิดปรองดองก็อาจกลับมาแก้ให้พรรคเข้มแข็ง โดยมีเสียงในรัฐสภาเกินกึ่งหนึ่งก็ทำได้ 

      นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเห็นด้วยที่ให้จัดตั้งกลุ่มการเมือง เข้าใจว่าหลายพรรคกลัวคนที่มีศักยภาพของพรรคจะออกมา แต่อยากให้นึกถึงคนที่ไม่มีเงินตั้งพรรคและต้องไปหาสมาชิกอีก 5 พัน จึงเห็นว่าควรมีกลุ่มการเมืองและจดทะเบียน หากต่อไปมีปัญหาก็แก้ไขได้ในอนาคต วันนี้อยากให้นึกถึงคนอย่างนายอลงกรณ์ พลบุตร คนแบบนี้จะไปอยู่ที่ไหน เพราะยังมีคนลักษณะนี้อีกมาก 

เมื่อถามว่ากมธ.ยกร่างฯ จะทบทวนเรื่องที่มาส.ว.หรือไม่ นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ทบทวนได้ แต่เรายึดหลักว่าเมื่อมีสภาที่สองนั้น ต้องไม่ใช่กระจกสะท้อนของสภาที่หนึ่ง และสภาที่สองต้องหลากหลาย ให้กลุ่มวิชาชีพต่างๆ เข้าถึง หากไม่เขียนที่มาของส.ว.เช่นนี้ คิดว่ากลุ่มเกษตรกรจะเป็นส.ว.ได้หรือ ขณะที่สภาล่างต้องมีพื้นที่ ต้องเป็นของกลุ่มการเมืองและพรรค

 

กมธ.ยกร่างฯพักประชุม 1 เดือน

      ที่รัฐสภา พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยหลังการประชุมว่า วันนี้เป็นการประชุมนัดสุดท้าย ยังไม่มีการหารือว่าจะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกในส่วนใดบ้าง จะกลับมาประชุมอีกครั้งวันที่ 29 พ.ค. เพราะต้องรอคำขอแก้ไขจาก สปช. ครม. คสช. ตลอดจนพรรคการเมือง หากเสียงส่วนใหญ่เห็นพ้องว่าต้องการแก้ไขในประเด็นเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯ ก็พร้อมปฏิบัติตาม ระหว่างนี้ กมธ.ยกร่างฯ จะแยกย้ายไปเผยแพร่และทำความเข้าใจรัฐธรรมนูญแก่ประชาชน แบ่งเป็นของกมธ.ยกร่างฯ 3 เวที ที่ จ.ขอนแก่น จ.นครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ ส่วนของนายประชา เตรัตน์ ประธานกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มี 12 เวที 

      พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า จากนั้นระหว่าง วันที่ 1-5 มิ.ย. จะให้ สปช.ที่เสนอแก้ไขเข้าชี้แจงหลักการและเหตุผลต่อกมธ.ยกร่างฯ วันที่ 6 มิ.ย. จะเชิญตัวแทนพรรคการเมือง ที่มี ส.ส.อยู่ในสภาครั้งที่ผ่านมากว่า 10 พรรค เข้าให้ความเห็น พรรคอื่นนั้นให้ส่งความคิดเห็นเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเชื่อว่าการให้เวลาพรรคการเมืองชี้แจง 1 วัน ถือว่าเพียงพอ ล่าสุด กมธ.ยกร่างฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกมธ.ขึ้นมา 4 ชุด ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่ยกร่างกฎหมายต่างๆ จะเร่งพิจารณากฎหมายลูก 12 ฉบับ กฎหมายที่สำคัญ 14 ฉบับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูป 30 ฉบับ เพื่อเตรียมให้สนช.ผลักดันต่อไป คาดอาจใช้เวลา 7-8 เดือน หากไม่ทันก็ให้รัฐบาลชุดใหม่มา ผลักดันต่อไป ยืนยันว่ากมธ.ยกร่างฯ และสปช.ไม่มีแผนที่จะอยู่ต่อ เพื่อผลักดันกฎหมายเหล่านี้ 

 

กมธ.การเมืองจี้แก้ 8 ข้อ 

      นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. แถลงว่า วันนี้กมธ.ปฏิรูปการเมือง ประชุมวางแนวทางยื่นญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เข้าร่วมประชุมด้วย ที่ประชุมตั้งคณะอนุกมธ.เตรียมญัตติแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายดิเรก ถึงฝั่ง รองประธานกมธ.ปฏิรูปการเมือง เป็นประธาน โดยจะทำญัตติแก้ไขให้เสร็จภายใน 2 สัปดาห์ หากเสร็จก่อนจะนัดประชุมเพื่อพิจารณาญัตติว่ามีประเด็นใดที่ยังไม่สมบูรณ์เพื่อแก้ไข และหารือกับกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ เพื่อให้การยื่นญัตติมีน้ำหนักมากขึ้น 

     นายสมบัติกล่าวว่า จากการพูดคุยมีหลายประเด็นที่เห็นตรงกันคือ 1.กลุ่มการเมือง ที่ทำให้สถาบันพรรคอ่อนแอ มีปัญหามากกว่าเกิดประโยชน์ 2.ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม จะเกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ เปรียบเหมือนหัวใจ อวัยวะอื่นแข็งแรงหมดแต่ถ้าหัวใจอ่อนแอจะอยู่กันอย่างไร 3.ที่มาส.ว.มีความซับซ้อนมาก หลักการที่ให้มาจากความหลากหลายเป็นเรื่องดี แต่ภายใต้สังคมไทยถือว่ายุ่งยาก 

 

ยืนยันนายกฯต้องมาจากส.ส. 

       4.ที่มานายกฯ ต้องเป็นหลักการประชาธิปไตย ถ้านายกฯไม่เป็นส.ส.จะเชื่อมโยงประชาชนได้อย่างไร ส่วนการเปิดช่องหากเกิดวิกฤต กมธ.ยกร่างฯ เขียนไว้แล้วว่าหากนายกฯ ยุบสภา จะส่งผลให้รัฐบาลต้องสิ้นสุดและให้ตั้งปลัดกระทรวงเป็นครม. โดยเลือกมาเป็นนายกฯ 1 คน ก็จะไม่เกิดวิกฤต 5.การอภิปรายไม่ไว้วางใจ เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ หากเป็นรัฐบาลผสมจะเกิดการต่อรองกัน ทำให้การอภิปรายไม่ไว้วางใจไม่ประสบความสำเร็จ มาตรา 181 ให้อำนาจ นายกฯ ขอความไว้วางใจในการบริหารต่อสภา ซึ่งหลักการไม่สมเหตุผล หากรัฐบาลจะขอความไว้วางใจก็ต้องมั่นใจว่าเสียงของตัวเองจะเกินครึ่ง ไม่เช่นนั้นจะเสียหน้า อีกทั้งยังให้รัฐบาลเสนอเรื่องนี้ตัดหน้าฝ่ายค้าน ไม่ให้เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจได้สมัยประชุมนั้น ถือเป็นกลไกที่ไม่เหมาะสม

      นายสมบัติกล่าวว่า ส่วนมาตรา 182 ยิ่ง น่ากลัว เพราะให้อำนาจฝ่ายบริหารขอความไว้วางใจผลักดันกฎหมายได้ทันที หากสภาไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ถือเป็นการให้อำนาจพิเศษรัฐบาลมาก เช่น หากมีรัฐบาลไหนต้องการเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม ก็ทำได้ทันที เพิ่มความเสี่ยงในระบบการเมืองมากขึ้นแล้วจะทำเพื่ออะไร ส่งเสริมให้รัฐบาลมีอำนาจเผด็จการออกกฎหมาย ถือเป็นการรองรับเผด็จการรัฐสภาเต็มร้อย 

 

ยังไม่ยุติทำประชามติหรือไม่ 

      6.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูป ต้องพิจารณาว่าควรมีรูปแบบอย่างไร 7.คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ และ8.การทำประชามติ มีการเสนอในที่ประชุมกมธ.ปฏิรูปการเมืองว่าควรเสนอเรื่องทำประชามติ เพราะมีหลักพิงจากประชาชนแต่ต้องพูดคุยกันจนตกผลึกก่อน และหัวหน้าคสช. ก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะให้ทำหรือไม่ ยังมีเวลาอีก 90 วันพิจารณา แต่หากกมธ.ได้ข้อยุติแล้วพบว่าจำเป็นต้องทำ เราจะเสนอเป็นญัตติให้สปช.พิจารณาต่อไป 

 

สปช.ถกปฏิรูปตำรวจ 

      เวลา 14.30 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. เป็นประธานการประชุม สปช. พิจารณารายงานของ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม วาระเรื่องการปฏิรูปกิจการตำรวจ โดยนายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานกมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ รายงานว่า การบริหารงานของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) มีการสั่งการ แทรกแซงจากฝ่ายการเมืองในทุกด้าน ส่งผลให้สังคมแตกแยกรุนแรง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นและไม่มีความ ไว้วางใจการปฏิบัติงานของตำรวจ 

นายเสรีกล่าวว่า จึงเห็นควรกำหนดแนวทางปฏิรูปตำรวจในเรื่องความเป็นอิสระ ดังนี้ 1.กำหนดมาตรการไม่ให้การเมืองมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยตราพ.ร.บ.ว่าด้วยการปรับปรุงโครงสร้างตำรวจ และพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ และยกร่างพ.ร.บ.สอบสวน โดยบัญญัติให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการตำรวจและการสอบสวน ไม่มีตัวแทนนักการเมืองในทุกระดับชั้นเข้ามาใช้อำนาจโยกย้ายแต่งตั้ง เลื่อนขั้น แทรกแซงคดีโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณีมีนักการเมืองเข้ามาแทรกแซง ให้มีการถอดถอนและดำเนินคดีอาญาแก่นักการเมืองนั้น และ 2.ให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมบริหารกิจการตำรวจ ตั้งแต่ระดับชาติ ระดับภูมิภาคและระดับท้องถิ่น รวมถึงแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตำรวจเพื่อให้เกิดความ เป็นธรรม 

 

ยุบ"บช.น.-บช.ภ."

      นายเสรีกล่าวว่า กมธ.ปฏิรูปฯ เสนอให้ตร.เป็นหน่วยงานอิสระ ไม่ขึ้นกับหน่วยราชการใด มีผบ.ตร.เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด แบ่งส่วนราชการเป็น 3 ระดับ 1.ระดับส่วนกลาง ให้คงหน่วยงานเดิม การแต่งตั้งผบ.ตร.ดำเนินการโดยสภาพลเมือง ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด

      2.ระดับภูมิภาค มีคณะกรรมการบริหารกิจการตำรวจและการสอบสวนจังหวัด ดูแลและตรวจสอบการบริหารงานตำรวจส่วนจังหวัด และ 3.ระดับท้องถิ่น (กทม.) มีคณะกรรมการบริหารฯ ท้องถิ่น ดูแลและตรวจสอบในแต่ละกองบังคับการเขต 1-9 ทั้งนี้ ให้ยุบเลิกกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) และกองบัญชาการตำรวจภูธรภาค ส่วนตำแหน่งผู้บังคับบัญชา ให้ปรับเข้ามาอยู่ในกองบัญชาการประสานราชการที่ตั้งขึ้นใหม่ในสังกัดตร. และให้ผบ.ตร.มีอำนาจมอบหมายภารกิจและควบคุมกำกับดูแล ปกครองบังคับบัญชาหน่วยงานในสังกัดตร.

 

ถ่ายโอนภารกิจ6ด้าน

      ประธานกมธ.ปฏิรูปฯ กล่าวว่า เรื่องการโอนถ่ายภารกิจของตร. เสนอร่างพ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการโอนภารกิจของตำรวจ มีคณะกรรมการควบคุมดูแลการดำเนินการโอนถ่ายภารกิจให้เป็นไปตามแผนและระยะเวลาที่กำหนด จึงเห็นควรเร่งรัดดำเนินการ 1.โอนถ่ายภารกิจด้านงานจราจร จากบช.น.ไปให้กทม. 2.โอนถ่ายภารกิจด้านการป้องกันปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จากกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ไปให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.)

      3.โอนถ่ายภารกิจด้านงานท่องเที่ยว จากกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว ไปให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4.โอนถ่ายภารกิจด้านบริหารจัดการจราจรในพื้นที่ทางหลวง จากกองบังคับการตำรวจทางหลวง ไปให้กระทรวงคมนาคม 5.โอนถ่ายภารกิจด้านงานรถไฟจากกองบังคับการตำรวจรถไฟ ไปให้การรถไฟแห่งประเทศไทย และ 6. โอนถ่ายภารกิจตามประกาศคสช. ฉบับที่ 87/2557 เรื่องการแก้ไขเพิ่มเติมผู้รักษาการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ของ เจ้าพนักงานตำรวจ จากเจ้าพนักงานตำรวจ ไปให้กระทรวงมหาดไทย '

 

แก้กม.อาญาให้อำนาจผู้ว่าฯ

      นายเสรี กล่าวว่า เรื่องการสร้างกลไกตรวจสอบถ่วงดุลการใช้อำนาจของตำรวจ โดยไม่กระทบต่อกระบวนการยุติธรรม ให้พนักงานอัยการ ผู้ว่าฯ นายอำเภอ มีอำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลการสอบสวนได้ กรณีประชาชนร้องขอความเป็นธรรม เรียกหัวหน้าพนักงานสอบสวน นำสำนวนมาชี้แจงและมีส่วนร่วมสอบสวนคดีนั้นได้ จึงเสนอแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เพิ่มเติมมาตรา 18/1 กำหนดหลักการ ถ่วงดุลอำนาจสอบสวนไว้ให้ชัดเจน 

นอกจากนั้น ยังถ่วงดุลการสั่งคดีของพนักงานอัยการในจังหวัดอื่น นอกจากกทม. กรณีพนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจตรวจสอบการสั่งคดีของพนักงานอัยการ โดยมีอำนาจแย้งความเห็นของพนักงานอัยการ ส่งไปให้อัยการสูงสุดชี้ขาด รวมทั้งกรณีพนักงานอัยการไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์ ถอนฎีกา เพื่อให้ผู้ว่าฯ ดูแลความเป็นธรรมประชาชนได้ และสอดคล้องกับศูนย์ดำรงธรรมจังหวัด จึงเสนอยกเลิกมาตรา 21/1 และมาตรา 145/1 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ออกโดยประกาศคสช.

 

ดันตั้งสนง.สอบสวนคดีอาญา 

      นายเสรีกล่าวว่า เรื่องปฏิรูปการสอบสวน พบว่างานสอบสวนคดีอาญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของตร.อยู่ในภาวะวิกฤตอย่างร้ายแรง ประชาชนไม่เชื่อถือพนักงานสอบสวน จึงจำเป็นต้องแยกงานสอบสวนจากตร. โดยเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ บัญญัติถ้อยคำไว้ในรัฐธรรมนูญ และจัดทำร่างพ.ร.บ.จัดตั้งสำนักงานสอบสวนคดีอาญาแห่งชาติ เสนอต่อสนช.พิจารณา และในขั้นตอนการสอบสวนสามารถใช้อุปกรณ์บันทึกเสียงและภาพได้ เพื่อเป็นหลักประกันความเป็นธรรมขั้นพื้นฐานและยกระดับการสอบสวนให้เป็นสากล

     นายเสรี กล่าวว่า การจัดระบบงานด้านนิติวิทยาศาสตร์เป็นแท่งให้ขึ้นตรงกับตร. ให้มีคณะกรรมการบริหารกิจการพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ทำหน้าที่บริหารและกำหนดนโยบาย ให้ผู้บริหารหน่วยงานพิสูจน์หลักฐาน นำไปปฏิบัติให้เกิดความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ ให้แยกงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ให้เป็นวิทยาศาสตร์ และมีสภาวิชาชีพนิติวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นองค์กรกลางประเทศ โดยให้นิติวิทยาศาสตร์มีสถานะเป็นนิติบุคคล

 

พะจุณณ์ซัดปธ.กมธ.กฎหมาย 

       พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป ประธานอนุ กมธ.ปฏิรูปโครงสร้างอำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 24 เม.ย.ที่มีการอภิปรายรัฐธรรมนูญ ประธาน กมธ.ปฏิรูป กฎหมายฯ ใช้คำพูดซึ่งตนคิดว่าสร้างความสับสน ใช้พูดว่า "ใครจะได้ ใครจะเสีย ตำรวจคนใดจะได้ประโยชน์ ตำรวจคนใดจะเจ็บแค้น ผมไม่เกี่ยว ผมเป็นกลาง" ตนเสียใจกับคำพูดนี้แต่จะไม่ขอให้ประธาน กมธ.ขอโทษ จะขอโทษกับคณะทำงานของตน เพราะเป็นผู้รับผิดชอบชีวิตพวกเขาที่เอามาทำงานนี้ คณะทำงานเต็มใจจะทำงานนี้ไม่มีส่วนได้ส่วนเสีย ในฐานะประธานอนุกมธ. และ ไม่สามารถชี้แจงในวันอภิปรายได้ วันนี้จึงกราบขอโทษสมาชิกอนุ กมธ.ของตน

 

อนุท้าลั่น-ปฏิรูปตร.คว่ำรธน.

     นายอมร วาณิชวิวัฒน์ อนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้าง อำนาจหน้าที่และกระบวนการทำงานตำรวจเพื่อประโยชน์ของประชาชน ชี้แจงว่า ที่ผ่านมามีคนพูดแรงมากว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจถูกคว่ำได้ หากการปฏิรูปตำรวจของอนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจฯ ทำสำเร็จ ตนฟังแล้วนึกในใจว่าตำรวจเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ จะมีความสำคัญขนาดคว่ำร่างรัฐธรรมนูญเลยหรือ ตนอยากลองดู โดยเฉพาะประเด็นที่อนุกมธ.ปฏิรูปโครงสร้างตำรวจฯ มีความเห็นให้แยกงานสอบสวนออกจากตร. 

"ผมไม่มีเจตนามุ่งทำลายองค์กรตำรวจ หรือบุคคลใด แต่หากวันนี้เราสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างองค์กรตำรวจหรือปรับปรุงสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ได้ คนดีจะอยู่กับองค์กรตำรวจได้ คนไม่ดีเท่านั้นที่อยู่ไม่ได้ เรื่องการแยกพนักงานสอบสวนออกจากตร. เป็นหัวใจสำคัญของการปฏิรูป เพื่อการบริการประชาชนมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง" นายอมรกล่าว

 

กมธ.เสียงแตกแยกงานสอบสวน 

       พล.ต.ต.วิชัย สังข์ประไพ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. ชี้แจงว่า กทม.พร้อมรับโอนภารกิจจราจรจากตำรวจ เพื่อแก้ไขอย่างเป็นระบบและสอดคล้องกับการแก้ปัญหาทางกายภาพ เพราะปัจจุบัน กทม. เป็นผู้ดูแลระบบต่างๆ อยู่แล้ว ตำรวจมีหน้าที่เพียงโบกรถ-กดไฟ ซึ่งต่อไปเจ้าหน้าที่เทศกิจของ กทม.ก็เข้ามาปฏิบัติหน้าที่เหล่านี้ได้ 

       ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่ กมธ.ชี้แจงรายละเอียดในแต่ละประเด็น ปรากฏว่ากมธ.มีความเห็นไม่ตรงกันและถกเถียงกันเองในเรื่องการแยกอำนาจการสอบสวนออกจากตร. พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาส สมาชิก สปช. จึงเสนอให้กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ ตั้งคณะทำงานศึกษา ให้มีความเห็นเป็นไปในแนวทางเดียวกันก่อน ทำให้นายทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ สมาชิก สปช.ลำพูน เสนอญัตติให้เลื่อนการพิจารณารับทราบรายงานดังกล่าวออกไป โดยที่ประชุมมีมติเห็นควรให้เลื่อนการประชุมออกไปก่อนด้วยคะแนน 125 ต่อ 52 งดออกเสียง 7 และประธานสั่งปิดการประชุมในเวลา 18.00 น.

 

มาร์คหวั่นรธน.ระเบิดเวลา 

        นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภาพรวมการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญว่า ยืนยันต้องเอามาตรา 181 และ 182 ที่ให้อำนาจนายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษ ถ้าไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ถือว่าผ่านความเห็นชอบ และการให้อำนาจนายกฯ ยื่นญัตติเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจตัวเองได้ โดยฝ่ายค้านจะไม่สามารถดำเนินการได้ในสมัยประชุมนั้นออกไป เพราะถือเป็นครั้งแรกที่มีการสร้างเผด็จการรัฐสภาที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ

      นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ส่วนอำนาจของ คณะกรรมการเสริมสร้างความปรองดองฯ 15 คนที่จะเกิดขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญ การกำหนดอำนาจหน้าที่ใน (6) ที่ระบุว่ากรรมการอภัยโทษให้กับผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ หรือสำนึกผิดต่อกรรมการและก่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อ ครม.นั้น จะนำไปสู่ความ ขัดแย้งอย่างรุนแรง ไม่เข้าใจว่าเหตุใด กมธ.ยกร่างฯ จึงไม่เรียนรู้จากวิกฤตที่ผ่านมาว่าประชาชนต่อต้านการนิรโทษกรรมให้กับคนที่ทำผิดร้ายแรง แม้แต่มาตรา 182 ที่ให้นายกฯ เสนอกฎหมายพิเศษได้ 1 ฉบับต่อ 1 สมัยประชุม อาจมีเจตนาเดียวกันคือให้เสนอกฎหมายนิรโทษกรรมได้ ไม่เห็นเหตุผลว่าทำไมต้องเขียนไว้แบบนี้ เช่นเดียวกับเรื่องอำนาจพระราชกฤษฎีกาอภัยโทษ 

 

     นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หาก กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีการปรับปรุงและไม่มีการลงประชามติ รัฐธรรมนูญนี้จะกลายเป็นระเบิดเวลาประเทศไทยที่สร้างความขัดแย้งไม่เบากว่าในอดีต และความตั้งใจของ คสช.ในการทำรัฐประหารก็จะสูญเปล่า ที่ผ่านมามีคนเร่งเลือกตั้ง นายกฯ ก็ว่า พอมีคนเสนอให้เลื่อนเลือกตั้ง นายกฯ ก็ว่าอีก ขอให้ดูเจตนาผู้ให้ความเห็นจะดีกว่า เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่ประโยชน์นักการเมือง แต่เป็นภูมิคุ้มกันให้รัฐธรรมนูญและแก้ปัญหาความขัดแย้ง 

 

เพื่อไทยจวกสกัดบ้าน 111-109 

      นายชูศักดิ์ ศิรินิล หัวหน้าคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ตามที่กมธ.ยกร่างฯ พยายามจำกัดสิทธิอดีตนักการเมืองไม่ให้ลงสมัครส.ส. ส.ว. หรือดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่น โดยเฉพาะมาตรา 111 (15) ระบุว่าเคยถูกถอดถอนหรือถูกตัดสิทธิทางการเมืองหรือตำแหนงอื่น ซึ่งหมายถึงคนที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง ไม่ว่าด้วยเหตุใดๆ ต้องถูกจำกัด ห้ามมิให้ลงสมัครส.ส. ส.ว. และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปตลอดชีวิต ซึ่งอาจรวมถึงสมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 ด้วย การเขียนข้อห้ามดังกล่าวถือเป็นความจงใจ มิใช่เหตุบังเอิญหรือความผิดพลาดใดๆ เพื่อสกัดกั้นมิให้สมาชิกบ้านเลขที่ 109 และ 111 ลงเล่นการเมืองไปตลอดชีวิต

      นายชูศักดิ์ กล่าวว่า นับเป็นแนวคิดที่รุนแรงและสุดโต่งมากๆ รวมถึงการเขียนมาตรา 111 (8) บัญญัติว่าเคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือกระทำการทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือไม่เที่ยงธรรม แม้กมธ.ยกร่างฯ บางคนจะตอบว่าหมายถึงผู้กระทำการโดยตรง ไม่รวมบ้านเลขที่ 109, 111 แต่ถ้อยคำตามที่เขียนไว้ชัดเจนในตัวและไม่มีหลักประกันในการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ 

 

จับตาสนช.ถอดถอนอดีตส.ส.

       นายชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขอให้จับตาการพิจารณาของสนช. ที่จะถอดถอนอดีตส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล 250 คน กรณีการแก้รัฐธรรมนูญให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง ใครจะรับประกันได้ว่าการไม่ถอดถอนอดีตส.ว. จะหมายถึงการไม่ถอดถอนอดีตส.ส. จึงน่าคิดเป็นอย่างมากว่าหากมีการถอดถอนอดีตส.ส.ขึ้นมาจริงๆ เหมือนที่ถอดถอนอดีต นายกฯ กรณีจำนำข้าว อาจสรุปได้ว่ากระบวนการตั้งแต่รัฐประหาร การมีรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จนถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีเป้าหมายสำคัญคือต่อยอดแผนบันได 4 ขั้นเพื่อให้อีกฝ่าย สูญพันธุ์ไปจากการเมือง

 

ม.เที่ยงคืนจัดลงมติร่างรธน.

      นายสมชาย ปรีชาศิลปกุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) และนักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน กล่าวว่า วันที่ 1 พ.ค. มหาวิทยาลัยเที่ยงคืนร่วมกับศูนย์วิจัยและพัฒนากฎหมาย คณะนิติศาสตร์ มช. จัดลงคะแนน "พลเมืองมติ" ร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลเมืองเป็นใหญ่ ครั้งที่ 1 ที่ชั้น 1 อาคารคณะนิติศาสตร์ มช. ตั้งแต่เวลา 12.00-15.00 น. จากนั้นเวลา 16.00 น. จะแถลงผลการลงคะแนนพลเมืองมติ การออกเสียงพลเมืองมติให้กากบาทลงในช่องเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับพลเมืองเป็นใหญ่ แต่หากไม่เห็นชอบมีช่องให้เลือกว่าควรใช้รัฐธรรมนูญฉบับใด มีตัวเลือกปี 2540, 2550 และฉบับอื่นๆ ที่ผู้ลงคะแนนเขียนระบุได้ เสียงที่ออกมาจากการลงคะแนนของพลเมืองมติน่าจะเป็นส่วนหนึ่ง ทำให้มีการถกเถียงเรื่องร่างรัฐธรรมนูญให้กว้างขวางมากขึ้น 

 

ฝรั่งเศส-เยอรมันตอบรับติวรธน. 

      นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะคณะทำงานตามคำสั่งคสช.ว่าด้วยการดำเนินการเพื่อประโยชน์แก่การจัดทำรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป เผยว่า รายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจากต่างประเทศที่เชิญมา เบื้องต้นจากการประสานโดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้รับการตอบรับแล้วจากฝรั่งเศส 2 คน เยอรมัน 1 คน เป็นนักวิชาการมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์มากกว่าเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นแนวทางในการแก้ไขรัฐธรรมนูญและการปฏิรูป เพราะประเทศเหล่านี้ผ่านวิกฤตตรงนี้มาแล้ว เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้กับเรา โดยฝรั่งเศสเป็นระดับปรมาจารย์การร่างกฎหมายรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะเชิญมาช่วงพ.ค.นี้

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ. ยกร่างฯ กล่าวถึงกมธ.ยกร่างฯ ได้รับเบี้ยประชุมรวม 21,912,000 บาท ว่า เป็นเรื่องปกติ ตนและกมธ.ยกร่างฯ ได้รับเบี้ยประชุมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ไม่ได้มากเกินไปอย่างที่เป็นข่าวและเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็รู้อยู่แล้วจึงไม่กังวล และในเดือนพ.ค. กมธ.ยกร่างฯ ไม่มีประชุมก็ไม่ได้รับเบี้ยประชุมเป็นเรื่องปกติ 

     ด้านนายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า เบี้ยประชุมเป็นไปตามอัตราที่ประกาศไว้ตั้งแต่ต้น ส่วนยอดรวมค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นไม่สามารถยืนยันได้ ต้องเช็กกับฝ่ายเลขาธิการสภา

 

คสช.ห้ามแกนนำพท.บินนอก 

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แกนนำพรรคเพื่อไทยที่ออกมาให้สัมภาษณ์ประเด็นการเมือง เศรษฐกิจและความมั่นคงและที่บทบาทในระยะหลัง ถูกคสช.สั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ เช่น นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีตรองนายกฯ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล อดีตรมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน อย่างไรก็ตาม อดีตส.ส.พรรคเพื่อไทยส่วนใหญ่ยังเดินทางไปต่างประเทศได้ มีบางคนเดินทางไปพบพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ขณะนี้อยู่ที่ฮ่องกง ซึ่งพ.ต.ท.ทักษิณยังคงมีท่าทีนิ่งเฉยเช่นเคย ไม่มีการเคลื่อนไหวสั่งการอะไรกับอดีตส.ส.หรือสมาชิกพรรค ระบุเพียงให้รอรัฐธรรมนูญใหม่มีความชัดเจนก่อนค่อยประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง 

 

ศปป.มีเชิญคุยอีก-อย่าตกใจ

      ที่กองการบิน กรมการขนส่งทหารบก พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการคสช. กล่าวถึงกระแสข่าวพล.อ. ประวิตร ทาบทามบุคคลเพื่อตั้งกมธ.ยกร่างฯ สำรองขึ้นมาอีกชุดหนึ่งว่า ตนไม่ได้รับทราบในส่วนนี้เลย มีแต่ให้หน่วยงานราชการดูร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้ข้อคิดเห็น จะพยายามทำให้ดีที่สุดทุกๆ ด้าน เมื่อถามว่ายังเชื่อมั่นรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านไปด้วยดีจนไปสู่การเลือกตั้ง พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า ตนไม่สามารถพูดได้ เป็นความรับผิดชอบภาพรวมของกมธ.ยกร่างฯ และสปช. 

      เมื่อถามกรณีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) เชิญนักวิชาการ นักการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆ มาพูดคุย ขณะนี้ได้ข้อสรุปจากการพูดคุยหรือไม่ พล.อ.อุดมเดชกล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นประโยชน์มาก นายกฯ และรองนายกฯ ทราบเรื่องแล้ว เบื้องต้นฝ่ายต่างๆ ให้ข้อคิดเห็นเป็นประโยชน์ คิดว่าช่องทางนี้จะเป็นช่องทางให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายมีโอกาสแสดงออก และดีกว่าไปแสดงความคิดเห็นที่ไม่สร้างสรรค์ในสถานที่ต่างๆ หรือจัดเวทีของตนเอง หรือออกตามสื่อมวลชนที่ไม่ค่อยสร้างสรรค์ เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ดี ดังนั้นการที่ ศปป.เปิดเวทีดังกล่าวก็เป็นช่องทาง พูดคุย โดยเจ้าหน้าที่จะรวบรวมและจะนำไปประโยชน์ต่อไปได้ 

       พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า จะพยายามจัดให้มีเวทีพูดคุยอย่างนี้ต่อไป อาจจะเว้นระยะหนึ่งแต่ไม่ควรนานเกินไป ขอความร่วมมือล่วงหน้า เปิดเวทีแบบนี้อีกก็อย่าไปตกใจ ครั้งที่แล้วรู้สึกว่าตกใจกันเพราะไม่ได้ชี้แจงล่วงหน้า เนื่องจากให้เจ้าหน้าที่ไปบอกเจ้าตัวที่ถูกเชิญเพราะกลัวการสื่อสารที่ผิดพลาด บางทีเจ้าตัวอาจไม่ได้รับการติดต่อโดยตรงแต่มี เจ้าหน้าที่มารับเรื่อง ทางเราต้องการให้เกิดผลสำเร็จเพื่อมาพูดคุยกัน

 

แจกจม.ข่าวรบ.ฉบับปฐมฤกษ์

      เวลา 09.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล ผู้สื่อข่าวรายงานว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ติดภารกิจเข้าร่วมประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 26 ที่ประเทศมาเลเซีย สำหรับการรักษาความปลอดภัยยังคงเข้มงวด เจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจยืนเฝ้าระวังทุกประตูเข้า-ออกทำเนียบรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรมประชาสัมพันธ์จัดทำแท็บลอยด์ "จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน" ลงวันที่ 28 เม.ย.2558 ปีที่ 1 ฉบับปฐมฤกษ์ รวม 8 หน้า โดยจะตีพิมพ์เป็น รายปักษ์หรือทุก 15 วัน มีเนื้อหาชี้แจงการดำเนินงานตามนโยบายของรัฐบาลในด้านต่างๆ รวมทั้งข้อมูลข่าวสารของทางราชการ ประชาชนที่สนใจขอรับได้ที่หน่วยงานราชการ ศูนย์ราชการแต่ละจังหวัดและสถานีขนส่งมวลชน

        เนื้อหาหน้าแรกมีข้อความของ พล.อ. ประยุทธ์ ในคอลัมน์ "จากใจนายรัฐมนตรี" ระบุว่า นายกฯ แม้จะเผชิญกับแรงกดดันมหาศาล แต่เจตนารมณ์ที่ต้องการเห็นประเทศไทยสงบสุข เจริญรุ่งเรือง และอยู่ในครรลองของความมีคุณธรรมและความยุติธรรมไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมและจะไม่มีวันเปลี่ยนไป ขอให้คำมั่นสัญญาว่ารัฐบาลจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด ซื่อสัตย์ สุจริต และด้วยหัวใจของชายชาติทหารที่พร้อมจะร่วมทุกข์ ร่วมสุข กับประชาชนทุกคน ด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ

 

พิมพ์ล็อตแรก 6 หมื่นเล่ม 

      พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวหลังการประชุม ครม.ถึงการจัดทำแท็บลอยด์ "จดหมายข่าวรัฐบาลเพื่อประชาชน" ว่า เบื้องต้นจัดพิมพ์ 6 หมื่นชุด เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน ถึงโครงการสำคัญต่างๆ ของรัฐบาลที่ดำเนินการไปแล้ว โดยไม่ได้คิดแข่งขันกับหนังสือพิมพ์รายวัน เพราะเราจัดทำเป็นรายปักษ์ ซึ่งเรื่องดังกล่าวจะเกิดประโยชน์หากสื่อช่วยกันขยายผล ส่วนจะดีหรือไม่ ประชาชนสามารถแจ้งข้อมูลผ่านศูนย์ดำรงธรรม หรือสำนักเลขาธิการนายกฯ ได้

       พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงกระแสข่าวการนำรายชื่อข้าราชการระดับสูงกระทรวงมหาดไทยเข้าสู่การพิจารณาของครม.ว่า ยืนยันว่าไม่มีการโยกย้ายใดๆ ทั้งสิ้น หากจะมีต้องดำเนินการตามแนวทางที่ นายกฯ วางไว้ โดยจะโยกย้ายตามฤดูกาล

 

"บิ๊กตู่"ปลื้มผลสำเร็จถก 3 ฝ่าย

      วันที่ 28 เม.ย. ที่ บน.6 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงผลประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนครั้งที่ 26 ที่มาเลเซีย ถึงการประชุมกรอบผู้นำอาเซียนเศรษฐกิจ 3 ฝ่าย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทยว่า ทุกอย่างคืบหน้าหมดทั้งเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ มีผลผูกพันกับ 3 ประเทศ มีอยู่กว่า 90 แผนงาน ขณะนี้เดินไปแล้วกว่า 60 แผนงาน กำลังเริ่มต้นอีก 20 แผนงาน คาดทั้งหมดจะดำเนินการจบในปี 2560 ขึ้นอยู่กับงบประมาณ ส่วนไทยเริ่มทยอยสร้างแล้ว ทุกอย่างจะเสร็จในปี 2559 เช่น ด่านศุลกากรบ้านประกอบ อ.นาทวี จ.สงขลา สะพานข้ามแม่น้ำ เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดน และรับเบอร์ ซิตี้ โครงการเมืองสีเขียว ทางรถไฟ ถนน ท่าเรือพาณิชย์ ตนขอร้อง 10 ประเทศอาเซียน ซึ่งอินโดฯ มาเลย์ และไทยมีความก้าวหน้ามากที่สุด จึงต้องจับกลุ่มคุยกันเพื่อสานต่อในและนอกอาเซียนต่อไป

       ส่วนผลการหารือข้อราชการระหว่างพล.อ.ประยุทธ์กับดะโต๊ะ ซรี นาจิบ ราซัก นายกฯ มาเลเซีย เมื่อวันที่ 27 เม.ย. พล.อ.ประยุทธ์กล่าวขอบคุณมาเลเซียที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานในกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนใต้ พร้อมจะส่งเสริมความร่วมมือด้านยางพารากับมาเลเซียแก้ปัญหาราคายางตกต่ำใน 2 ประเทศ

ผลหารือทวิภาคีกับนายเหวียน เติ๊น สุง นายกฯ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม พล.อ.ประยุทธ์กล่าวเชิญให้มาเยือนไทยอย่างเป็นทางการ และเป็นประธานร่วมการประชุมคณะรัฐมนตรีร่วมไทย-เวียดนามครั้งที่ 3 สองฝ่ายมีข้อเสนอความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว การประมง และด้านการเกษตร