ดมยา - นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ดมยาระหว่างนั่งเป็นประธานการรับฟังการอภิปรายของสมาชิก สปช. ในการประชุม สปช.เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ 6 ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 25 เมษายน

'บวรศักดิ์'นัดครม.-คสช. แจงแก้รธน. กมธ.เคลียร์สกัดบ้าน 111 ปัดยัดไส้ปฎิรูปตำรวจ สปช.ชวนแสดงสปิริต ไม่นั่ง'สภาขับเคลื่อน' อ๋อยโต้มติยืดเลือกตั้ง

 

      กมธ.ยกร่างฯนัด 1-6 มิ.ย. เชิญ สนช.-ครม.สปช.-นักการเมืองถกแก้ รธน. 'บวรศักดิ์'ไม่ค้าน'วิษณุ'ติงยาวไป บอกหั่นทิ้ง 50 มาตราก็ได้ แต่ขอฟังเหตุผลก่อน

@ กมธ.นัดคุยคสช.-สปช.-ครม.    

        เมื่อวันที่ 25 เมษายน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญให้สัมภาษณ์ที่รัฐสภา กรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหามากเกินไป ควรมีการตัดออกประมาณ 30 มาตรา ว่า เข้าใจว่านายวิษณุพูดเป็นภาพรวม ดังนั้น คงต้องรอดูคำขอแก้ไขเพิ่มเติมจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่า จะเสนอแก้ไขประเด็นใดและมาตราใดบ้าง ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะนำข้อมูลเหล่านั้นมาประกอบการพิจารณา ทั้งนี้ ในฐานะผู้ยกร่างฯสามารถอธิบายได้ทุกมาตราและทุกถ้อยคำ แต่ถ้ามาตราใดใครติดใจก็สามารถให้เหตุผลมาได้ไม่ว่ากัน เพราะขนาดคนที่เป็นสามีภรรยา พ่อแม่ลูก อยู่บ้านเดียวกันยังมีความเห็นไม่ตรงกันเลย ดังนั้น การจะให้ กมธ.ยกร่างฯทั้ง 36 คนเห็นตรงเหมือนกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 250 คน รวมทั้งนายกรัฐมนตรีและนายวิษณุ คงเป็นไปไม่ได้ คงต้องฟังเหตุและผลก่อน ถ้าหากเห็นว่ามาตราใดมีความจำเป็นจะไม่ตัดทิ้ง แต่ถ้าฟังเหตุผลแล้วเห็นว่าควรนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก ก็จะปรับแก้ไข ดังนั้น ไม่ต้องห่วง หากนายวิษณุอยากจะให้แก้สัก 50 มาตรา ก็พร้อมที่จะรับฟัง

       "วันที่ 1-6 มิถุนายนนี้ กมธ.ยกร่างฯจะเชิญหน่วยงานที่เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ คสช. ครม. และ สปช. มาชี้แจง และอธิบายหลักการที่ขอเสนอปรับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งจะมีการเชิญฝ่ายการเมืองมาชี้แจงด้วย" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ เล็งแก้ปมบ้านเลขที่ 109-111 

       นายประสพสุข บุญเดช ประธานที่ปรึกษา กมธ. ยกร่างฯ กล่าวว่า กรณีที่นายวิษณุออกมาระบุว่าสมควรตัดเนื้อหามาตราในรัฐธรรมนูญออกประมาณ 30 มาตรานั้น โดยส่วนตัวแล้วเห็นด้วย และคิดว่าน่าจะตัดออกได้มากกว่า 30 มาตรา สำหรับที่มีการระบุว่า กมธ.ยกร่างฯเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อขวางทางนักการเมืองจากบ้านเลขที่ 109 และ 111 ไม่ให้มีคุณสมบัติดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น เป็นการนำเอาบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาใช้ เรื่องนี้จะต้องมีการกลับไปคุยกันอีกครั้งว่า จะหาทางออกอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นห่วงว่า เมื่อมีการเขียนรัฐธรรมนูญลักษณะนี้แล้วประเทศชาติจะสามารถปรองดองกันอย่างไร และท้ายที่สุดรัฐธรรมนูญฉบับนี้อาจไม่เป็นที่ยอมรับก็เป็นได้ 

       "หาก สปช.ตีตกก็ตีตกนะครับ เพราะ สปช.มีอำนาจที่จะรับหรือไม่รับ ถ้าไม่รับก็ได้ไม่เป็นไร ก็ตั้ง กมธ.ขึ้นมาร่างกันใหม่ และไม่ห่วงว่าจะเป็นตราบาปแต่อย่างใด เพราะต่างคนต่างมีความคิดเห็นเป็นของตัวเอง ทุกคนเป็นอิสระ แต่ผมคำนวณดูแล้วเขาไม่ตีตกหรอก เพราะเท่าที่เห็นทุกคนก็เห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ จะตีตกคงยาก เว้นแต่ว่าจำเป็นจริงๆ" นายประสพสุขกล่าว

@ "นคร"ปัดกมธ.สอดไส้ปมตร. 

     พล.ท.นคร สุขประเสริฐ กมธ.ยกร่างฯกล่าวถึงกรณีนายวิษณุที่ออกมาระบุว่าสมควรตัดเนื้อหามาตราในรัฐธรรมนูญออกประมาณ 30 มาตราว่า คงต้องรับมาพิจารณา เพราะว่าถ้าว่ากันจริงๆ แล้วร่างรัฐธรรมนูญที่ กมธ.ยกร่างฯเสนอขึ้นไป ถ้าไปเปรียบเทียบกับฉบับปี 2540 หรือปี 2550 ไม่ได้ยาวกว่า แต่ กมธ.ยกร่างฯไปเพิ่มภาค 4 ว่าด้วยการปฏิรูปและปรองดองเข้าไป ทำให้มีมาตราเพิ่มขึ้น ส่วนประเด็นการปฏิรูปตำรวจ เรื่องการแยกอำนาจสอบสวนนั้นเป็นความคลาดเคลื่อนในการพิมพ์ของเจ้าหน้าที่ ยืนยันว่าไม่ได้มีการสอดไส้ แต่เป็นการพิมพ์ตกหล่นคลาดเคลื่อนไปจากมติของ กมธ.ยกร่างฯ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯจะต้องคุยกันต่อไปถึงคำว่าเป็นอิสระนั้นมีขอบเขตอย่างไร ต้องฟังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกหลายด้าน

      "เมื่อ สปช.อภิปรายเสร็จ เราก็จะให้ ครม.และ คสช. ให้ส่งคำขอแก้ไขมา ฉะนั้น อีกประมาณ 1 เดือน สปช.จะทำคำขอแก้ไขมาเช่นกัน ส่งเป็นเอกสารมา ฉะนั้น จากวันที่ 27 เมษายนจนถึงวันที่ 27 พฤษภาคมโดยประมาณ ในช่วงนี้เราจะศึกษาและอาจจะมีประชุมกัน เพื่อที่ว่าหลังจากได้รับคำขอแก้ไขแล้ว เราจะดำเนินการปรับแก้ให้เสร็จภายใน 60 วัน และทำร่างที่สมบูรณ์เพื่อเสนอต่อไป" พล.ท.นครกล่าว

@ กมธ.ถกโครงสร้างตร.28 เม.ย. 

      นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช.แถลงว่า วันที่ 28 เมษายนนี้ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯจะมีวาระการประชุมเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) โดยจะพิจารณาถึงความคืบหน้าแนวทางการปฏิรูปกิจการงานของตำรวจว่า จะไปในแนวทางใด และจะมีการพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ภารกิจของ ตร. อะไรที่ไม่ใช่ภารกิจหลักจะโอนถ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หรือให้คงภารกิจใดไว้ที่ ตร. อีกทั้งจะพิจารณาเกี่ยวกับการป้องกันเพื่อไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เช่น การแต่งตั้ง ผบ.ตร. รวมถึงการโยกย้ายใน ตร. 

      นายวันชัย กล่าวอีกว่า เรื่องระบบการสอบสวนตอนนี้แน่ชัดแล้วว่า จะให้เป็นไปอย่างอิสระ แม้จะมีข้อถกเถียงว่า จะให้แยกออกมาจาก ตร.หรือไม่ เชื่อว่าที่ประชุมจะเสนอความเห็นอย่างหลากหลาย อาจมี กมธ.ชุดอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปการปราบปรามทุจริต โดย กมธ.ทั้ง 5 คณะ จะช่วยกันพิจารณาให้การปฏิรูป ตร.เป็นไปอย่างรอบคอบ และเมื่อความเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้การสอบสวนเป็นอิสระ ก็ขอให้ ตร.เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ และสนับสนุนอุปกรณ์ งบประมาณ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงานสอบสวน และขอให้อย่าแทรกแซงล้วงลูกการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนจะได้มีความพร้อมในทันที

@ หนุนเพิ่มสัดส่วนก.ต.คนนอก

      นายวันชัย ยังกล่าวถึงกรณีผู้พิพากษา 427 คน คัดค้านมติของ กมธ.ยกร่างฯในหมวดศาล และกระบวนการยุติธรรม ที่ให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการตุลาการ (ก.ต.) คนนอกเข้ามา จำนวนสัดส่วน 1 ใน 3 จากเดิมที่กำหนดให้มีเพียง 2 คน จาก 15 คน ว่า ในเรื่องนี้มองว่าเป็นเจตนาดีของ กมธ.ยกร่างฯ เพราะต้องยอมรับว่า ก.ต.นั้นมาจากสัดส่วนของศาลทั้งนั้น ซึ่งจะมาจากผู้พิพากษาทุกคน จะมีให้คนนอกเข้ามาเป็น ก.ต.ได้แค่ประมาณ 2 คน จึงเห็นว่าน้อยไป แต่ถ้าเพิ่มเป็น 1 ใน 3 จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้าไปรับรู้ รับทราบการพิจารณาของ ก.ต.ที่ต้องทำให้โปร่งใสมาก แต่ข้อกังวลที่ทางศาลยุติธรรมกลัวว่า หากมีการแก้สัดส่วนจะเป็นการเปิดโอกาสให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้นั้น ตรงนี้สามารถกำหนดกติกาคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาเป็น ก.ต.สัดส่วนคนนอก ในรูปแบบการออกกฎหมายลูกเพื่อป้องกันการเมืองไม่ให้เข้ามาแทรกแซงตามที่กังวลได้ 

      "เชื่อว่าทาง กมธ.ยกร่างฯ น่าจะได้รับหนังสือและความเห็นคัดค้านดังกล่าวจาก 427 ผู้พิพากษาแล้วจะมีการพิจารณาข้อเห็นแย้งอย่างละเอียด และเชื่ออีกว่าเร็วๆ นี้ จะมีการเชิญตัวแทนจากศาลยุติธรรมมาประชุมปรึกษาหารือในเรื่องนี้ด้วย ส่วนเรื่องที่จะให้ผู้พิพากษาอาวุโสไปพิจารณาเฉพาะในศาลชั้นต้นอย่างเดียวนั้น ผมเห็นด้วยกับข้อที่แย้งมาจากผู้พิพากษามากกว่า เพราะผู้พิพากษาอาวุโสที่อายุเกินกว่า 65 ปีแล้วนั้น ควรที่จะสามารถไปช่วยพิจารณาคดีได้ทั้ง 3 ชั้นศาล ไม่ใช่จะพิจารณาคดีได้เฉพาะแค่ในศาลชั้นต้น ซึ่งเป็นศาลล่างได้เพียงอย่างเดียว" นายวันชัยกล่าว

@ "อ๋อย"ปัดยอมยืดเวลาโรดแมป 

       นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีข่าวเวทีศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ฝ่ายการเมืองพร้อมให้เลื่อนเลือกตั้งออกไป เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญมีความสมบูรณ์ว่า ข้อสรุปไม่ตรงกับที่พูดกัน ความเห็นที่เห็นตรงกันคือ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหาไม่เป็นประชาธิปไตย ถ้าบังคับใช้จะนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างมากและไม่สิ้นสุด อาจจะนำไปสู่การจบลงด้วยการรัฐประหารอีก ดังนั้น จึงเสนอว่า ควรจะมีการแก้ไขในเนื้อหาสำคัญเสียก่อน แต่ถ้าจะดีควรให้มีการลงประชามติ ซึ่งต้องใช้เวลา และถ้าให้มีการลงประชามติจริง หลายคนในเวทีวันนั้นคาดว่า ร่างรัฐธรรมนูญนี้จะไม่ผ่าน ประชาชนจะไม่เห็นด้วย ก็จะทำให้ต้องร่างใหม่ และถ้าเป็นอย่างนี้ ผู้ที่เข้าร่วมการหารือส่วนใหญ่เห็นว่า ยังดีกว่าปล่อยให้ร่างรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และจะสร้างปัญหาต่อไปนำมาใช้เลย

      นายจาตุรนต์ กล่าวว่า สิ่งที่อยากให้เกิดขึ้นเป็นอันดับแรกเลย คือให้มีการแก้ไขให้เป็นประชาธิปไตย สิ่งที่ต้องการอธิบายคือ ส่วนใหญ่ต้องการให้มีการแก้ไขสาระสำคัญ แต่เชื่อว่าการแก้ไขสาระสำคัญคงไม่เกิดขึ้น แนวโน้ม สปช.คงจะเห็นด้วยกับร่างนี้ ทั้งๆ ที่ไม่มีการแก้ไขเนื้อหาสาระ ที่เป็นอย่างนี้เพราะการไปผูก สปช.กับ กมธ.ยกร่างฯไว้ว่า ถ้าร่างรัฐธรรมนูญถูกคว่ำโดย สปช.ทั้ง 2 องค์กรต้องถูกยกเลิก และเริ่มต้นกันใหม่ ทำให้ สปช.ไม่คิดคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ 

@ แนะ"ประชามติ"ฟังเสียงปชช.

       "ทางที่จะระงับยับยั้งร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นอันตรายนี้ได้ ที่บางคนเรียกว่าเป็นระเบิดเวลา คือการให้ทำประชามติ แต่อาจมีบางคนตั้งคำถามว่าถ้าต้องทำประชามติแล้วไม่ผ่านจะเสียเวลาอีกนาน อันนี้ต้องมาทำความเข้าใจกันว่า ถ้าจะมีการลงประชามติต้องหมายความว่า ผ่านก็ได้ ไม่ผ่านก็ได้แล้วแต่ประชาชน ถ้าไม่ผ่านก็เสียเวลา ถือเป็นเรื่องธรรมดา ถ้าคิดว่าทำประชามติแล้วต้องผ่านอย่างเดียวก็ไม่รู้จะลงประชามติไปทำไม" นายจาตุรนต์กล่าว 

        ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่ามีโอกาสไปปรับแก้ในชั้น ครม.และ คสช.ได้ นายจาตุรนต์กล่าวว่า คนแก้ไขจริงๆ สุดท้ายเป็น กมธ.ยกร่างฯ ซึ่ง คสช.และ ครม.เสนอความคิดเห็นได้ ถ้าจะใช้กำลังภายในจริงๆ ก็จะทำได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ถ้าตัดสินใจให้ลงประชามติ ทุกฝ่ายก็จะปรับตัว กมธ.ยกร่างฯยอมแก้มากขึ้น เพราะเกรงว่าทำประชามติแล้วจะไม่ผ่าน ซึ่งการให้ลงประชามติสามารถทำได้โดยใช้อำนาจตามมาตรา 44 หรือจะแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร 

@ สปช.ถกร่างรัฐธรรมนูญวันที่ 6

        ด้านการประชุม สปช.ที่รัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ 6 เริ่มขึ้นเมื่อเวลา 09.15 น. มี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุม อภิปรายเนื้อหาสาระในภาคที่ 4 การปฏิรูปและการปรองดอง โดยนายจุมพล รอดคำดี สปช.ด้านสื่อสารมวลชน ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชน อภิปรายว่าสื่อมวลชนต้องมีความเป็นอิสระ เพราะปัจจุบันสื่อถูกแทรกแซงจากอำนาจรัฐ นายทุน และการใช้อำนาจทางการเมือง การปฏิรูปสื่อจะต้องมีกลไกในการขับเคลื่อนการทำงานของสื่อให้มีอิสระและมีเสรีภาพ ดังนั้นจึงสนับสนุนหากจะมีการจัดตั้งองค์กรกลางเพื่อเข้ามาตรวจสอบหน้าที่การทำงานของสื่อ เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเพราะสื่อทำการตรวจสอบกันเอง นอกจากนั้นต้องมีกลไกในการให้สิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับรู้ข่าวสารอย่างถูกต้องและทั่วถึง

      นายเกริกไกร จีระแพทย์ สปช.ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรม กล่าวว่า กลไกของการปฏิรูปในทุกด้านจะต้องมีความชัดเจนในการกำหนดกรอบเวลาและการเชื่อมโยงในทางปฏิบัติที่จะต้องสามารถปฏิบัติได้จริง รวมถึงการกำกับนโยบายของรัฐที่จะต้องมีเสถียรภาพในการทำงาน รวมถึงการขับเคลื่อนในการปฏิรูปประเทศต้องเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผล หลังจากที่รัฐธรรมนูญนี้ถูกประกาศใช้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีกลไกเข้ามาขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อ เพราะการปฏิรูปไม่ควรทำแค่ 5 ปี 

@ แนะห้ามสปช.นั่งสภาปฏิรูป

      "สนับสนุนให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติที่จะเข้ามาทำงานด้านการปฏิรูปต่อจาก สปช. แต่ที่มานั้นควรมาจากการคัดสรรใหม่ทั้งหมด เพราะถ้าจะให้พวกเรา สปช.ไปทำหน้าที่ต่อกันเอง เกรงว่าจะมีข้อครหาจากสังคม ดังนั้นจึงไม่ควรจะมีใครที่อยู่ต่อ" นายเกริกไกรกล่าว 

       นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สปช.ด้านบริหารราชการแผ่นดิน ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน กล่าวว่า การกำหนดให้มีการปฏิรูปด้านต่างๆ ให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี มองว่าให้ความสำคัญกับการปฏิรูปน้อยมาก ทั้งที่การปฏิรูปต้องเป็นกระบวนการต่อเนื่อง แนวทางการปฏิรูป 15 ด้าน ไม่สามารถทำให้เสร็จทุกเรื่องภายใน 5 ปี บางเรื่อง 10 ปี ก็ไม่เสร็จ ดังนั้นบางบทบัญญัติไม่ควรสิ้นผลใน 5 ปี และมาตรา 279 ที่กำหนดองค์ประกอบและที่มาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งทั้งสององค์กรมีที่มาเหมือนกันนั้น เห็นว่าไม่ควรมีที่มาเดียวกันเพราะเป็นคนละองค์กร ควรเขียนแยกเรื่ององค์ประกอบที่มาให้ชัดเจน หรือเห็นว่าควรมีแค่สำนักงานหรือคณะกรรมการบริหารงานปฏิรูปแห่งชาติเพียงองค์กรเดียว เพื่อตัดข้อครหาว่า สปช.และ สนช.จะเข้ามาสืบทอดอำนาจ 

@ "มานิจ"ห้ามนักการเมืองฮุบสื่อ 

        ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวชี้แจงด้านการปฏิรูปสื่อมวลชนว่า สื่อต้องมีเสรีภาพเพื่อแสวงหาข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วน รอบด้าน เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคนำข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้าน สามารถตัดสินและวินิจฉัยเรื่องใดเรื่องหนึ่งได้อย่างครบถ้วน ดังนั้น รัฐธรรมนูญฉบับนี้จึงให้หลักประกันกับสื่อ โดยการรับรองสิทธิ ส่งเสริมให้สื่อมีเสรีภาพอย่างกว้างขวาง และยังกำหนดว่าการใช้สิทธิต้องควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อจริยธรรมวิชาชีพด้วย 

      นายมานิจ กล่าวว่า สิทธิเสรีภาพของสื่อคือสิทธิที่ประชาชนต้องได้รับข้อมูลข่าวสารรอบด้าน ไม่ใช่สิทธิของสื่อในการนำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ได้ การนำเสนอต้องอยู่บนข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้อง ต้องมีการตรวจสอบจริยธรรมของสื่อโดยกำหนดกลไกในการทำกฎหมายลูก เพื่อจำกัดสิทธิสื่อในการล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิของผู้อื่น เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท นอกจากนี้คนที่เป็นเจ้าของสื่อจะผูกขาดการนำเสนอ หรือปกปิดข้อมูลข่าวสารมิได้ และห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ เพื่อป้องกันใช้สื่อเพื่อเอื้อประโยชน์

@ ค้านแยกอำนาจการสอบสวน

      นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สปช.ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายถึงการปฏิรูปโครงสร้างตำรวจในมาตรา 282 ว่าไม่เห็นด้วยที่จะแยกอำนาจในการสืบสวนสอบสวนของพนักงานสืบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แล้วไปตั้งองค์กรใหม่ เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหาย แม้ กมธ.ยกร่างฯจะทำการปรับแก้ในมาตรานี้แล้วก็ขอขอบคุณ แต่อยากนำเสนอความคิดเห็นจากรายงานสรุปการสัมมนาของพนักงานสืบสวนสอบสวน ที่ส่วนใหญ่ที่มีความต้องการให้ ตร.สนับสนุนเครื่องมือการทำงานอย่างเพียงพอ และต้องพัฒนาระบบการสืบสวนให้ก้าวหน้า รวมถึงสนับสนุนให้มีนักงานสืบสวนสอบสวนเฉพาะด้านอย่างแท้จริง และอยากให้ กมธ.ยกร่างฯนำเรื่องนี้ไปพิจารณา เพราะเชื่อว่าความต้องการของพนักงานสืบสวนจะสามารถสะท้อนความต้องการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปใน ตร.ให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ได้อย่างแท้จริง

      "ผมขอเสนอให้ตัดมาตรา 282(8) ในการปฏิรูปโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของ ตร. โดยการโอนภารกิจหลักของ ตร.ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการนั้น ให้ตัดออกทั้งหมด และนำไปไว้ในกฎหมายลูก ประชาชนถึงจะได้เห็นผลประโยชน์ที่แท้จริง และจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง" นายบัญชากล่าว 

@ แนะตัดกรรมการคัดส.ว.จังหวัด

       ทั้งนี้ สปช.ได้อภิปรายในประเด็นการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมอย่างกว้างขวาง โดยนายประทวน สุทธิอำนวยเดช สปช.ลพบุรี อภิปรายเกี่ยวกับมาตรา 121 ประเด็นของที่มา ส.ว.ว่า ในฐานะ สปช.จังหวัด ได้คุยกับประชาชนในพื้นที่ ส่วนใหญ่เห็นว่าอยากให้มีการเลือกตั้งทั้ง ส.ส.และ ส.ว. แต่ที่มาของ ส.ว.ตามมาตรา 121 ให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองในส่วนของ ส.ว.จังหวัด ที่ต้องคัดผู้สมัครให้เหลือ 10 คนนั้น ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าจะให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจโดยแท้จริง เหตุใดต้องตั้งคณะกรรมการมากลั่นกรองผู้สมัครอีก ถือเป็นการจำกัดสิทธิประชาชนในการเลือกผู้แทน กมธ.ยกร่างฯควรกำหนดคุณสมบัติรายละเอียดผู้สมัคร ส.ว.ให้ชัดเจน แล้วให้ประชาชนเป็นผู้เลือกโดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการใดๆ มากลั่นกรอง เพราะจะทำให้เกิดความขัดแย้งวุ่นวายจึงขอเสนอให้ตัดมาตรานี้ออกจากรัฐธรรมนูญ

       ด้าน พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษก กมธ.ยกร่างฯ กล่าวชี้แจงว่า เรื่องนี้มีสมาชิกอภิปรายและแสดงความเป็นห่วงอย่างมาก ซึ่งการได้มาของ ส.ว.มีบทบัญญัติในการคัดสรรคุณสมบัติไว้ 5 ประการ โดยองค์กรต่างๆ จะเลือกตัวแทนที่มีคุณสมบัติที่เหมาะสมเข้ามาเอง รวมถึงผู้สมัครด้านท้องถิ่นและ ส.ส.นั้น ใช้บทบัญญัติเดียวกันคือ มาตรา 111 โดยถ้าผู้สมัครยังคงอยู่ในตำแหน่งไม่ว่าจะเป็นกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกท้องถิ่นก็ตามจะไม่สามารถมาสมัครได้ ส่วนประเด็นการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรอง ส.ว.จังหวัดนั้น คณะ กมธ.ยกร่างฯจะนำไปพิจารณาในขั้นขอเสนอคำขอแก้ไขต่อไป

@ เบรกตั้งกรรมการยุทธศาสตร์

        ต่อมาเวลา 21.00 น. นายเฉลิมชัย เฟื่องคอน สปช.อุตรดิตถ์ อภิปรายว่า การบัญญัติให้ สปช. 60 คน เข้าไปทำหน้าที่สภาขับเคลื่อนฯ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ทำให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อน และ กมธ.ยกร่างฯ เป็นต้นแบบของการกระทำในสิ่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 มาตรา 35(6) ว่าด้วยการสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของหลักนิติธรรม คุณธรรม จริยธรรม และธรรมาภิบาลในทุกระดับ และร่างรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปในประเด็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ ดังนั้นจะมีการพิจารณาโทษของ กมธ.ยกร่างฯอย่างไร หรือจะให้องค์กรใดตรวจสอบ โทษฐานที่ใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับตนเอง ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการให้ สปช.ไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ 

       นายเฉลิมชัย กล่าวว่า มาตรา 279 วรรคห้า ที่ว่าด้วยการกำหนดให้ ครม.ดำเนินการตามข้อเสนอแนะในข้อเสนอของสภาขับเคลื่อนฯ และกรรมการยุทธศาสตร์ฯ แต่หาก ครม.ไม่สามารถดำเนินการได้ตามข้อเสนอให้ชี้แจงเหตุผลต่อรัฐสภาและสภาขับเคลื่อนฯ เพื่อทราบ ในกรณีที่สภาขับเคลื่อนฯ เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญให้ใช้การลงมติด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 3 ใน 4 ให้จัดการออกเสียงประชามติว่า ครม.จะดำเนินการเรื่องนั้นหรือไม่ ถือเป็นการให้อำนาจพิเศษแก่สภาขับเคลื่อนฯ ที่เป็นอำนาจเหนืออย่างสูงสุดของรัฐบาล ทั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 กำหนดให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อสภา พร้อมกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการดำเนินนโยบาย ดังนั้นสภาขับเคลื่อนฯ ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่มาจากการสืบทอดอำนาจตามร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 279 วรรคหนึ่ง ถือเป็นการดูถูกพลเมือง ขณะที่การกำหนดอำนาจให้สภาขับเคลื่อนฯ นำเสนอร่าง พ.ร.บ.ต่อวุฒิสภา ถือเป็นการเปิดช่องทางพิเศษ คล้ายกับมอร์เตอร์เวย์ ซึ่งไม่ทราบว่ามีเจตนาใดแอบแฝงหรือไม่และอาจก่อให้เกิดความวุ่นวาย" นายเฉลิมชัยกล่าว

@ หวั่นซุปเปอร์บอร์ดเหนือรัฐบาล 

       "ครม.ถูกควบคุมการบริหารจากรัฐสภา ผ่านการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจและยื่นกระทู้ถาม แต่การให้อำนาจสภาขับเคลื่อนฯ เหนือรัฐบาล ถือว่าเป็นการตั้งซุปเปอร์บอร์ดให้อยู่เหนือการปฏิบัติงานของรัฐบาล ถือเป็นการยกระดับให้เป็น ครม.ชุดพิเศษ และอาจทำให้มีนายกฯ 2 คนคู่ขนานกันไป นอกจากนั้นการกำหนดให้สภาขับเคลื่อนฯ มีหน่วยงานธุรกิจที่เป็นอิสระ เพื่อไม่ต้องรับผิดชอบต่อประชาชน ต่อสภาผู้แทนราษฎร หรือรัฐสภา ไม่ต้องรับผิดชอบทางเศรษฐกิจ หากพบว่าคนในองค์กรนั้น รวมถึงสภาขับเคลื่อนฯ ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำผิดคุณธรรมและจริยธรรม จะมีองค์กรใดตรวจสอบ" นายเฉลิมชัยกล่าว 

       นายเฉลิมชัย อภิปรายด้วยว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่กำหนดให้มีองค์กรอิสระเข้ามาทำหน้าที่ตรวจสอบได้ทุกทาง จะทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้งไม่สามารถตอบสนองข้อเรียกร้องของประชาชนได้ เพราะมีบทบัญญัติของมาตรา 102 ว่าด้วยการกำหนดให้ ครม. หัวหน้าส่วนราชการ ส.ส.หรือ ส.ว.ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขเวลาของการตรา พ.ร.บ. พ.ร.ก. หรือกฎให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกำหนด มัดตราสังแล้วถ่วงลงแม่น้ำเจ้าพระยา และยากที่รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม 4 ปี

@ "คำนูณ"แจงหมวดปฏิรูปปรองดอง 

       ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษก กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญออกแบบมาในลักษณะเป็นสถานการณ์เฉพาะของประเทศไทย เป็นไปตามกรอบของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 35 หาก สปช.เห็นว่ามีความบกพร่อง ไม่เหมาะสม กมธ.ยกร่างฯพร้อมที่จะรับฟังความเห็นที่เสนอเข้ามา แต่ยืนยันว่าบทบัญญัติในภาค 4 เป็นบทบัญญัติที่สำคัญที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญเป็นความหวังของประเทศไทยที่จะได้เกิดการเปลี่ยนแปลง ขอย้ำว่า กมธ.ยกร่างฯได้ทำตามกรอบของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) อย่างครบถ้วน และตระหนักดีว่าการฟังความเห็น สปช.ทุกความเห็นมีคุณค่า หากมาตราใดมีความตรึงเกินไป กมธ.ยกร่างฯยินดีนำกลับไปพิจารณาทบทวนอีกครั้งในช่วง 60 วันสุดท้าย

      กระทั่งเวลา 21.50 น. น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ได้สั่งพักการประชุม และนัดประชุมต่อในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ในวันที่ 26 เมษายน เวลา 09.30 น.