ดมยา - นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสปช. นั่งดมยาดม ระหว่างนั่งเป็นประธาน

ประชุมอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก ของสปช. เป็นวันที่ 6 ที่อาคารรัฐสภา เมื่อวันที่ 25 เม.ย.

 

ปื๊ดย้อนวิษณุ ให้หันร่างรธน. บิ๊กศธ.หนาวอีก สอบโกงหมื่นล.

วันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2558 ปีที่ 25 ฉบับที่ 8915 ข่าวสดรายวัน

 

     'บวรศักดิ์'ตอก'วิษณุ'ให้โละร่างรธน. 30 มาตรา ลั่นอธิบายได้ทุกมาตราแต่จะให้กมธ.ยกร่างฯ เห็นตรงทุกคนเป็นไปไม่ได้ สปช.ถลกร่างรธน.วันนี้วันสุดท้าย ลุยต่อยื่นแปรญัตติ หนุนขับเคลื่อนปฏิรูปยาวไม่ใช่แค่ 5 ปี ค้านแยกระบบงานสอบสวนจากตร. ชี้ถ้าแยกปัญหาตามมาเพียบ ไร้หลักประกันประสิทธิภาพงานดีขึ้น ผู้ตรวจการแผ่นดินลุยสอบโกง-ปราบมาเฟียในก.ศึกษาฯ อีก ชี้มูลค่าอาจถึงหมื่นล้าน คาด 2-3 เดือนรู้ผล 'บิ๊กตู่'ใช้มาตรา 44 ไม่ตั้งกสทช.แทนตำแหน่งที่ว่าง ให้ทำงานเท่าที่เหลืออยู่ 'บิ๊กโด่ง'ชงคสช.อีก 1 เดือนให้ศปป.เปิดเวทีปรองดองอีก 

 

'บิ๊กตู่'ใช้ม.44 ไม่ตั้งกสทช.เพิ่ม

      ผู้สื่อข่าวรายงาน เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ว่า ราชกิจจานุเบกษา ได้ประกาศคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 8/2558 ประกาศลงราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ว่าด้วยเรื่องไม่แต่งตั้ง กสทช. แทนที่หมดวาระ ให้ทำงานเท่าที่เหลืออยู่ มีรายละเอียด ดังนี้

     ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้แจ้งให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช.ทราบตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกํากับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ว่า สนช.มีมติไม่รับบัญชีรายชื่อผู้สมควรเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ตามที่มีการสรรหาและคัดเลือกมา 4 คน เพื่อให้สนช.เลือกให้เหลือ 1 คน จึงขอให้นายกฯ นําบัญชีรายชื่อดังกล่าวเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและดําเนินการเลือกให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันนั้น 

      ครม.ได้ขอให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอความเห็นในข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้เสนอความเห็นว่า โดยที่สนช.ได้เคยพิจารณาบัญชีรายชื่อดังกล่าวแล้ว และมีมติไม่รับรายชื่อทั้งหมดตามบัญชีนั้น การที่ครม.จะเลือกบุคคลใด ตามบัญชีรายชื่อนั้นต่อไปจึงเป็นการไม่ชอบด้วยเหตุผล ทั้งครม.จะพิจารณาบุคคลอื่นใด นอกเหนือไปจากบุคคลตามบัญชีรายชื่อนั้นมิได้ ครม.จึงมีมติเมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2558 ว่าไม่สมควรที่จะดําเนินการตามที่ประธานสนช.แจ้ง

ให้ทำงานเท่าที่เหลืออยู่

     กรณีนี้ จึงเป็นความจําเป็นเพื่อประโยชน์ในการปฏิรูปราชการแผ่นดินและแก้ไขข้อขัดข้อง ทางกฎหมาย อาศัยอํานาจตามความในมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 หัวหน้าคสช.โดยความเห็นชอบของคสช. จึงมีคําสั่งให้ กสทช.ประกอบด้วยกรรมการเท่าที่เหลืออยู่ในปัจจุบัน โดยไม่ต้อง ดําเนินการสรรหา และคัดเลือกบุคคลใด แทนตําแหน่งที่ว่างตามมาตรา 17 แห่งพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และเมื่อมีเหตุที่จะต้องมีการเลือกกรรมการใน กสทช. แทนตําแหน่งที่ว่างลงในอนาคต ในกรณีเช่นว่านั้น ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องดําเนินการตามกฎหมายโดยอนุโลมต่อไป คําสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อให้สมควรเป็น กสทช.ด้านกฎหมาย 4 คน ได้แก่ พล.ต.สุพิชาติ เสนานุรักษ์ จากมหาวิทยาลัยการจัดการและเทคโนโลยี อีสเทิร์น นายธรกรณ์ พูนภิญโญศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยศรีปทุม นายทวีเดช เส้งแก้ว และนายนิพันธ์ จิตะสมบัติ เพื่อมาแทนนายสุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ที่ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2557 ทำให้ปัจจุบันเหลือกรรมการ กสทช.ปฏิบัติหน้าที่อยู่ 10 คน 

'เอนก'แจง 2 เรื่องใหญ่ในรธน.

      วันเดียวกัน เวลา 08.30 น. ที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จัดโครงการสัมมนาวิชาการเรื่อง ทิศทางการปฏิรูปประเทศไทย กับการปฏิรูประบบบริหารราชการแผ่นดิน โดยมี พ.อ.ชัชช์ มนตรีมุข ประธานนักศึกษาโครงการปริญญาโทสาขาการบริหารจัดการสาธารณะ สำหรับนักบริหาร (รุ่นที่ 25) นายวสันต์ เหลืองประภัสร์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ ฝ่ายบัณฑิตศึกษา นางอรทัย ก๊กผล รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า นายปิยวัฒน์ ศิวรัตน์ ที่ปรึกษาระบบราชการสำนักงานข้าราชการพลเรือน นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)

     นายเอนก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างนี้เห็นว่ามีเรื่องใหญ่ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือ เป็นรัฐธรรมนูญที่เปลี่ยนระบบการเลือกตั้งเป็นแบบระบบสัดส่วนผสม ซึ่งจะนำมาสู่ความไม่สบายใจ ความวิตกกังวลของคนจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมือง พรรคการเมือง เพราะจะเปลี่ยนธรรมชาติของประชาธิปไตยแบบเลือกตัวแทนไปจากเดิมเยอะ เช่น คะแนนที่ให้จะตัดสินจำนวนเก้าอี้ทั้งหมดที่กลุ่มการเมืองหรือพรรคได้รับทั้งหมด จะมีส.ส.ในระบบแบ่งเขต 250 คน ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ 200 คน จะเป็นพรรคการเมืองก็ได้ กลุ่มการเมืองก็ได้ กลุ่มการเมืองก็จดง่าย สะดวก และไม่จำเป็นต้องไปอยู่ใต้เงาของพรรคใหญ่ หรือพรรคขนาดกลางหรือขนาดเล็กที่มีอยู่แล้ว 

เห็นคนจนเลือกคนจนเป็นส.ว.

      นายเอนก กล่าวว่า ข้อดีของระบบแบบนี้คือจะไม่มีพรรคไหนได้คะแนนเสียงเกินจริงหรือน้อยกว่าความจริง และค่อนข้างมั่นใจว่าจะไม่มีพรรคที่ได้คะแนนเสียงเกินกึ่งหนึ่ง แต่จะได้พรรคที่คะแนนเสียง 30-40 เปอร์เซ็นต์ ประมาณ 2 พรรค ที่เหลืออยู่ก็แบ่งกันไป มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมและเกิดรัฐบาลผสมแบบที่ไม่มีพรรคโดดเด่นพรรคเดียวมาคุมพรรคอื่นๆ ได้ และข้อดีอีกอย่างคือว่า ในระบบแบบนี้เราแบ่งการเลือกตั้งออกเป็น 6 เขต จำนวนส.ส.เท่าๆ กัน จะไม่เกิดกรณีที่ว่าภาคใต้เป็นของประชาธิปัตย์หมด

      สมาชิก สปช.กล่าวว่า นอกจากนั้นจะมีระบบส.ว.ซึ่งมีบทบาทมีหน้าที่มากขึ้น ระบบการเลือกตั้งส.ว.จะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนแต่ละจังหวัด อีกส่วนมาจากการเลือกกันเองของข้าราชการพลเรือนและทหาร ตัวแทนสภาวิชาชีพ กลุ่มอาชีพต่างๆ ที่มีกฎหมายรับรองไว้ ที่สำคัญจะมีตัวแทนสหภาพแรงงาน สหกรณ์ กลุ่มเกษตรกรต่างๆ เลือกกันเองขึ้นมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่คนจนจะได้เลือกคนจนเข้าไปเป็นส.ว. ระบบการเลือกตั้งของเราที่ผ่านมาดีหมด แต่เป็นระบบที่ให้คนจนเลือกคนรวยเข้าไปเป็นส.ส.เกือบทั้งนั้น แต่คนจนจะเลือกคนจนเข้าไปเป็นส.ส.หรือส.ว.ในช่วงชีวิตตนยังไม่เคยเห็น 

เป็นห่วงระบบราชการ

    ด้านนายปิยวัฒน์ กล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญมีไฮไลต์ที่สำคัญคือการแต่งตั้งระดับปลัดกระทรวง ตรงนี้เป็นที่ถกเถียงของสังคม แต่ก่อนที่จะมาถึงตรงนี้คิดว่ามันเป็นความหวังของสังคมว่า เราจะวาดเส้นการเมืองอย่างไร เพราะระบบปัจจุบันปลัดที่จะเกษียณเป็น ผู้เสนอชื่อให้กับรัฐมนตรีที่กำกับดูแล มองดูแล้วมีสองมุม อาจเป็นการแทรกแซงหรือเปล่า แต่มองอีกมุมอาจเป็นประชาธิปไตยเพราะมาจากการเลือก ตรงนี้ต้องมาคิดกันว่าทำอย่างไรที่จะทำให้เป็นที่ยอมรับได้

      นางอรทัย กล่าวว่า สิ่งที่น่าเป็นห่วงในระบบการบริหารงานภาครัฐ คือกระแสความท้าทายในโลกอนาคต โดยระบบราชการเดิมไม่ได้ถูกออกแบบมาว่าจะทำได้ ถ้าระบบราชการจะต้องเผชิญกับความขัดแย้ง ในอนาคตเมื่อความขัดแย้งเกิดขึ้นเราไม่มั่นใจว่าระบบราชการที่มีอยู่ทุกวันนี้จะมีส่วนไหนที่ออกแบบมารองรับความขัดแย้งในสังคมได้ 

      นายวสันต์ กล่าวว่า ระบบราชการในบ้านเราไม่สามารถบอกได้เลยว่า กลางทำอะไร ล่างทำอะไร และท้องถิ่นทำอะไร โดยทั้งหมดต้องแบ่งงานกันให้ชัดเจนว่าแต่ละส่วนต้องทำอะไรบ้าง ถ้าเคลียร์เรื่องเหล่านี้ได้ ปัญหาต่างๆ ก็จะแก้ได้ตามมา 

พุทธอิสระชงถอน ม.157 

      เวลา 10.00 น. ที่รัฐสภา พุทธอิสระ เจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย ได้มายื่นหนังสือขอเสนอแก้ไขเพิ่มเติมเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ ผ่านนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยพุทธอิสระกล่าวว่า เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 157 ที่มีสาระสำคัญว่าให้สภายื่นร่างกฎหมายให้พระมหากษัตริย์ ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน หากไม่มีการลง พระปรมาภิไธยให้รัฐสภาหารือกัน หากมีมติยืนยันตามเดิมด้วยเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา ให้นายกฯ นำร่างพ.ร.บ. ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายอีกครั้ง แต่ถ้าหากภาย ใน 30 วันยังไม่มีการลงพระปรมาภิไธย ให้นายกฯ ประกาศใช้กฎหมายดังกล่าวภายใต้พระปรมาภิไธย 

      พุทธอิสระ กล่าวว่า แม้จะมีการอธิบายว่ามาตราดังกล่าวเป็นการยึดโยงกับประชาชน แต่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นผู้ใช้อำนาจแทนประชาชนและพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่อำนาจที่มีมาแต่เดิม เป็นการเปิดช่องให้นักการเมือง ไม่มีอะไรที่จะรับรองได้ว่านักการเมืองจะไม่ใช้อำนาจออกกฎหมายลิดรอนพระราชอำนาจ จึงขอเรียกร้องให้กมธ.ยกร่างฯ ถอนมาตราดังกล่าว นอกจากนี้ ยังเสนอให้มีการปฏิรูปโครงสร้างระบบพระพุทธศาสนา ให้มีการตรวจสอบทรัพย์สินและพฤติกรรมของมหาเถรสมาคม(มส.) พร้อมกำหนดบทลงโทษต่อผู้ที่เข้ามาบวชเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในวงการสงฆ์ให้รุนแรงมากขึ้น และออกกฎหมายจัดตั้งองค์กรคณะสงฆ์ให้มีวาระอายุในการทำหน้าที่เหมือนนักการเมือง ไม่ใช่ตายคาตำแหน่งและกระจุกรวบอำนาจสงฆ์

อ.ปื๊ดสวนหมัดรองฯวิษณุ

     ด้านนายบวรศักดิ์ชี้แจงว่า การเขียนมาตราดังกล่าวไว้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่เขียนมาตั้งแต่ปี 2492 จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2550 และตามพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ 7 ตนยืนยันว่าการใช้พ.ร.บ.เพื่อมาลดพระราชอำนาจไม่สามารถกระทำได้ เพราะพระราชอำนาจบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญชัดเจน หากจะลดพระราชอำนาจต้องแก้รัฐธรรมนูญซึ่งทำได้ยาก เพราะต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสมาชิกรัฐสภา และต้องทำประชามติประชาชนทั้งประเทศ ยืนยันว่ามาตรานี้เป็นการถวายพระราชอำนาจ ให้พระมหากษัตริย์ ยิ่งกว่าระบบของประเทศอังกฤษ ทั้งนี้ จะรับฟังข้อเสนอดังกล่าวไว้พิจารณา 

     นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงกรณีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงความเห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีเนื้อหามากเกินไปควรมีการตัดออกประมาณ 20-30 มาตรา ว่า ในฐานะผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญสามารถอธิบายได้ทุกมาตรา แต่ถ้ามาตราใดใครติดใจสามารถให้เหตุผลมาได้ไม่ว่ากัน เพราะขนาดคนที่เป็นสามีภรรยา พ่อแม่ลูก อยู่บ้านเดียวกัน ยังมีความเห็นไม่ตรงกัน ดังนั้น การจะให้ กมธ.ยกร่างฯ ทั้ง 36 คนเห็นตรงกันเหมือนกับ สปช.ทั้ง 250 คน รวมทั้งนายกฯ และนายวิษณุ คงเป็นไปไม่ได้ หากเห็นว่ามาตราใดมีความจำเป็นเราคงไม่ตัดทิ้ง แต่ถ้าฟังเหตุผลแล้วเห็นว่าควรนำไปใส่ไว้ในกฎหมายลูกเราก็จะปรับแก้ไข 

ต้นมิ.ย.ฟังความเห็นคสช.-ครม.

      ประธาน กมธ.ยกร่างฯ กล่าวว่า ยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ได้มีมากกว่ารัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 ตัวเลขมาตราอาจจะมากกว่า เนื่องจากมีการบัญญัติหมวดว่าด้วยการปฏิรูปและการสร้างความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก ถ้าตัดส่วนนี้ไปสั้นกว่าแน่นอน จึงไม่อยากให้ไปดูว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้สั้นหรือยาว แต่ควรดูที่ความเหมาะสมและความจำเป็นมากกว่า

       "บ้านเราหากเอาไปใส่ไว้ในกฎหมายลูก คำถามว่าจะออกทันเวลาหรือไม่ เพราะกฎหมายลูกในปี 2550 หลายฉบับจนกระทั่งรัฐธรรมนูญถูกฉีกนั้นถูกดองไว้ในสภา กฎหมายลูกแก้ง่าย ดังนั้น ไม่ต้องห่วง หากนายวิษณุอยากจะให้แก้สัก 50 มาตราเราก็พร้อมรับฟัง ทั้งนี้ ช่วงวันที่ 1-6 มิ.ย. กมธ.ยกร่างฯ จะเชิญหน่วยงานที่เสนอขอแก้ไขเพิ่มเติม อาทิ ครม. คสช. มาชี้แจงและอธิบายหลักการที่ขอเสนอปรับแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งจะมีการเชิญฝ่ายการเมืองมาชี้แจงด้วย" นายบวรศักดิ์กล่าว

       ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองเสนอให้เลื่อนการเลือกตั้งออกไปก่อนนั้น นายบวรศักดิ์กล่าวว่า อย่ามาถามตนเลยว่าเหมาะสมหรือไม่ ขอให้ไปถามพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองที่เสนอประเด็นนี้ แต่ขออย่าพูดลอยๆ ถ้าจะให้ขยายการเลือกตั้งก็ต้องแก้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) ถ้ายังไม่มีการแก้ไข ตามโรดแม็ปวันที่ 23 ก.ค. กมธ.ยกร่างฯ ต้องพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ และ สปช.ต้องพิจารณาลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 ส.ค.

อัด'ศรีราชา'ปกป้ององค์กร

        เมื่อถามถึงกรณีที่นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ตั้งฉายาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับฝันเฟื่อง นายบวรศักดิ์กล่าวว่า เข้าใจนายศรีราชา เพราะคงต้องออกมาปกป้องประโยชน์และต่อสู้เพื่อองค์กรของตัวเอง เนื่องจากองค์กรของท่านถูกควบรวมไว้กับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) ท่านปกป้องประโยชน์ของท่านเหมือนกัน ท่านติทุกเรื่องแม้กระทั่งกล่าวหาว่าตนเผด็จการ ยอมรับว่าเข้าใจและเห็นใจนายศรีราชา แต่เราต้องทำการปฏิรูปโดยยึดประชาชนเป็นหลัก 

       นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงการตั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลายองค์กร อาทิ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ สมัชชาพลเมือง สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ สภาตรวจสอบภาคพลเมือง และการสร้างความปรองดอง ว่า มองว่าอาจจะเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ และไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะการที่จะหาบุคคลที่มีคุณสมบัติเป็นคนดี มีคุณธรรม ตรงตามหลักเกณฑ์ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญนั้นคงเป็นไปได้ยาก และอาจมีความซ้ำซ้อนกับองค์กรเดิมที่มีอยู่ เพราะลักษณะงานคล้ายกัน และองค์กรเดิมที่มีอยู่ก็มากอยู่แล้ว ยิ่งเพิ่มองค์กรก็ยิ่งมากปัญหาไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์หรือทำให้การปฏิรูปสำเร็จในระยะเวลาอันสั้นได้ 

สปช.ถลกร่างรธน.-จี้คุ้มครองสื่อ

       เวลา 09.00 น. ที่รัฐสภา น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม สปช.ซึ่งมีวาระพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอ ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 มาตรา 34 วรรคหนึ่ง และ มาตรา 36 วรรคหนึ่ง เป็นวันที่ 6 โดยเข้าสู่การพิจารณาภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง โดยเปิดให้ประธานกรรมาธิการชุดต่างๆ เริ่มอภิปราย

       นายจุมพล รอดคำดี สมาชิก สปช. ในฐานะประธานกมธ.สื่อสารมวลชน อภิปรายในหมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในด้านการปฏิรูปสื่อว่า สนับสนุนให้มีการตั้งองค์กรกลางขึ้นมากำกับดูแลการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน เนื่องจากที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการตรวจสอบกันเองในวิชาชีพสื่อ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาเสรีภาพสื่อถูกแทรกแซงโดยอำนาจรัฐและกลุ่มทุน ปัญหา คือบางหน่วยงานภาครัฐใช้อำนาจเข้าไปกำกับดูแลการทำงานของสื่อภาครัฐ ขณะที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองการทำหน้าที่ ซึ่งควรต้องร่วมกันปกป้องสื่อเพื่อให้เกิด ความเป็นอิสระ ขณะเดียวกันต้องสร้างการเรียนรู้ มีกลไกขั้นพื้นฐานให้สิทธิประชาชนเข้าถึงข่าวสารรู้เท่าทันสื่อ ขณะที่สื่อเองต้องดูแลให้การสื่อสารสร้างสรรค์และมีความปลอดภัยด้วย 

หนุนขับเคลื่อนปฏิรูปยาว

      นายเกริกไกร จีระแพทย์ สมาชิก สปช.ด้านเศรษฐกิจ ในฐานะประธาน กมธ.ปฏิรูปการเกษตรและอุตสาหกรรมอภิปรายว่า หลังจากรัฐธรรมนูญนี้ถูกประกาศใช้จำเป็นต้องมีกลไกเข้ามาขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อ เพราะการปฏิรูปไม่ควรทำแค่ 5 ปี แต่ต้องทำหลังจากนั้นด้วย ซึ่งตนสนับสนุนให้มีสภาขับเคลื่อนปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติที่จะเข้ามาทำงานด้านการปฏิรูปต่อจากสปช. แต่ที่มานั้นควรมาจากการคัดสรร ซึ่งต้องเป็นการคัดสรรใหม่ทั้งหมด เพราะถ้าจะให้สปช.ไปทำหน้าที่ต่อกันเองเกรงว่าจะมีข้อครหาจากสังคม จึงไม่ควรมีใครที่อยู่ต่อ

       ด้านนายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ สมาชิก สปช. ในฐานะประธานกมธ.ปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน อภิปรายภาพรวมว่ามาตรา 277 กำหนดให้ทุกหน่วย ทุกองค์กรต้องจัดให้มีการปฏิรูปและสร้างความปรองดองตามหลักการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ไม่เช่นนั้นเท่ากับกระทำขัดรัฐธรรมนูญ แต่มาตรา 278 ระบุให้สิ้นผลบังคับใช้นับจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ครบ 5 ปี เว้นแต่พลเมืองผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน รัฐสภา หรือ ครม.เสนอให้จัดออกเสียงประชามติให้บทบัญญัติในภาคนี้บังคับใช้อยู่ต่อไป ซึ่งต้องไม่เกิน 5 ปี ทั้งที่การปฏิรูปต้องเป็นกระบวนการต่อเนื่อง แนวทางการปฏิรูป 15 ด้านไม่สามารถทำให้เสร็จทุกเรื่องภายใน 5 ปี บางเรื่อง 10 ปีก็ไม่เสร็จ ดังนั้น บางบทบัญญัติไม่ควรสิ้นผลใน 5 ปีทั้งหมดเพราะอาจมีปัญหาการปฏิรูปต่อไปโดยข้าราชการ ต่อให้ตั้งงบประมาณเพื่อใช้ดำเนินการก็ไม่ได้รับการอนุมัติจากสำนักงบประมาณอย่างแน่นอน

อุดช่องสืบทอดอำนาจ

      นายธีรยุทธ์ กล่าวว่า ในมาตรา 279 ที่กำหนดองค์ประกอบและที่มาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งทั้งสององค์กรมีที่มาเหมือนกัน แต่ตนเห็นว่าไม่ควรมีที่มาเดียวกัน เพราะเป็นคนละองค์กร ควรเขียนแยกเรื่ององค์ประกอบที่มาให้ชัดเจน หรือเห็นว่าควรมีแค่สำนักงานหรือคณะกรรมการบริหารงานปฏิรูปแห่งชาติเพียงองค์กรเดียว เพื่อตัดข้อครหาว่าสมาชิก สปช.และ สนช.จะเข้ามาสืบทอดอำนาจ ขยายอายุของตัวเองหรือตั้งพวกพ้องของตัวเองเข้าไปเป็นสมาชิกสภาขับเคลื่อนฯ นอกจากนี้ การตั้งสภาขับเคลื่อนฯ อีก 120 คนต้องมีการประชุมอีก ซึ่งเราประชุมกันมาเยอะมากแล้ว ควรส่งไม้ต่อให้องค์กรกำกับที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะช่วยประหยัดงบประมาณ ลดการถูกวิพากษ์วิจารณ์ด้วย 

       จากนั้นนายมานิจ สุขสมจิตร รองประธานกมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงด้านการปฏิรูปสื่อมวลชนว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้หลักประกันกับสื่อ โดยการรับรองสิทธิ ส่งเสริมให้สื่อมีเสรีภาพอย่างกว้างขวาง แต่การใช้สิทธิต้องควบคู่ไปกับการความรับผิดชอบต่อจริยธรรมวิชาชีพด้วย ไม่ใช้สิทธิของสื่อในการนำเสนอหรือวิพากษ์วิจารณ์อะไรก็ได้ การนำเสนอต้องอยู่บนข้อมูลพื้นฐานที่ถูกต้อง ต้องมีการตรวจสอบจริยธรรมของสื่อโดยกำหนดกลไกในการทำกฎหมายลูกเพื่อจำกัดสิทธิสื่อในการล่วงล้ำก้ำเกินสิทธิของผู้อื่น เช่น กฎหมายหมิ่นประมาท นอกจากนี้ คนที่เป็นเจ้าของสื่อจะผูกขาดการนำเสนอ หรือปกปิดข้อมูลข่าวสารมิได้ และห้ามผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ เพื่อป้องกันใช้สื่อเพื่อเอื้อประโยชน์ 

ค้านแยกงานสอบสวนพ้นตร.

      ต่อมาเวลา 12.35 น. นายเทียนฉาย กีระนันท์ ประธานสปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยเข้าสู่การอภิปรายหมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม 

     นางกูไซหม๊ะวันซาฟีหน๊ะ มนูญทวี สมาชิก สปช.อภิปรายส่วนที่ 1 สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติว่า ในมาตรา 279 ที่ให้มีสภาขับเคลื่อนฯ อยากให้บรรจุสตรีเข้าไปมีส่วนร่วมในสภาหรือคณะกรรมการดังกล่าว รวมทั้งตัวแทนจากภาคศาสนาเข้ามากำหนดยุทธศาสตร์ของตัวเองตามมาตรา 290 เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมด้านวัฒนธรรมของแต่ละศาสนา

      นายบัญชา ปรมีศณาภรณ์ สมาชิก สปช.อภิปรายส่วนที่ 2 ว่า ต้องขอขอบคุณที่กมธ.จะแก้ไข มาตรา 282 (8) เพราะตนไม่เห็นด้วยที่จะให้แยกงานสอบสวนออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพราะจะก่อให้เกิดความเสียหาย โดยขอให้ตัดมาตรา 282 (8) ออกไป และแก้ไขไว้ในกฎหมายลูกแทน ขอให้พิจารณาปัญหาของพนักงานสอบสวนในฐานะผู้ปฏิบัติ และนำปัญหามาปรับปรุงให้เกิดประสิทธิภาพ ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะหากแยกงานสอบสวนออกจาก ตร.จะเกิดปัญหาตามมา อาทิ จะต้องก่อสร้างสถานที่รองรับการทำงานใหม่กว่า 1,000 หน่วยงาน ต้องจัดซื้อยานพาหนะ เครื่องใช้สำนักงาน รับสมัครพนักงานสอบสวนและลูกจ้างประจำอีกจำนวนมาก หากพนักงานไม่มีความพร้อมปฏิบัติงานก็จะเกิดปัญหาในงานสอบสวน ที่สำคัญไม่มีหลักประกันเลยว่าหากแยกงานสอบสวนออกไปแล้ว ประสิทธิภาพของงานสอบสวนจะมีมากขึ้น

กมธ.ย้ำต้องเป็นอิสระ 

      นายจรัส สุวรรณมาลา กมธ.ยกร่างฯ ชี้แจงว่า สาระสำคัญของเนื้อหาที่อยู่ใน มาตรา 282 (8) มาจากข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ทาง กมธ.ยกร่างฯ ขอย้ำว่าไม่ได้บัญญัติขึ้นเอง ส่วนถ้อยคำที่ปรับใหม่นั้น คือ "การปรับระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ" และตัดข้อความ "แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" ออกไป 

       นายจรัส กล่าวว่า การที่ตัดข้อความดังกล่าวนั้น กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการอภิปรายอย่างกว้างขวาง เนื่องจากในข้อเสนอของ กมธ.ปฏิรูปกฎหมายกระบวนการยุติธรรม ได้เสนอมา 2 ทางเลือก คือ ให้ปรับปรุงระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ แยกออกจากตร. และปรับระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระโดยไม่แยกออกจากตร. ซึ่งกมธ. ยกร่างฯได้พิจารณาดูแล้วว่าการที่ตัดข้อความว่า "แยกออกจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ" เพราะเห็นว่า กมธ.ปฏิรูปกฎหมายฯ มีสองทางเลือกอยู่แล้ว แต่มีหลักการร่วมกัน เพื่อต้องการปรับระบบงานสอบสวนให้มีความเป็นอิสระ ส่วนในทางปฏิบัติจะแยกหรือไม่แยกก็สุดแล้วแต่ 

เตรียมถกแยก-ไม่แยกพ้นตร.

      ด้านนายวันชัย สอนศิริ โฆษกกมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม สปช. แถลงว่า ในวันที่ 28 เม.ย. กมธ.ปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม จะประชุมเรื่องการปฏิรูปโครงสร้างตร. โดยจะพิจารณาถึงความคืบหน้าแนวทางการปฏิรูปกิจการงานของตำรวจว่าจะไปในแนวทางใด และพิจารณาเรื่องอำนาจหน้าที่ภารกิจ อะไรที่ไม่ใช่ภารกิจหลักจะโอนถ่ายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะดูด้วยว่าเป็นหน่วยงานใดบ้าง หรือให้คงภารกิจใดไว้ที่ตร. อีกทั้งจะพิจารณาเกี่ยวกับการป้องกันไม่ให้ฝ่ายการเมืองแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เช่น การแต่งตั้งผบ.ตร. การโยกย้ายในตร. นอกจากนี้จะพิจารณาถึงการกระจายอำนาจการบริหารงานตำรวจสู่ระดับจังหวัด และการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม คาดว่าการพิจารณาเรื่องดังกล่าวจะใช้เวลา 30-60 วัน จากนั้นจะส่งเข้าที่ประชุม สปช.

      นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนเรื่องระบบการสอบสวนตอนนี้แน่ชัดแล้วว่าจะให้เป็นไปอย่างอิสระ แม้จะมีข้อถกเถียงว่าจะให้แยกออกมาจากตร.หรือไม่ อาจมีกมธ.ชุดอื่นเข้ามาร่วมด้วย เช่น กมธ.ปฏิรูปการเมือง กมธ.ปฏิรูปบริหารราชการแผ่นดิน กมธ.ปฏิรูปการปกครองส่วนท้องถิ่น กมธ.ปฏิรูปการปราบปรามทุจริต ดังนั้น เมื่อความเห็นส่วนใหญ่ต้องการให้การสอบสวนเป็นอิสระ ก็ขอให้ ตร.เตรียมตัวตั้งแต่วันนี้ และสนับสนุนอุปกรณ์ งบประมาณ สร้างขวัญกำลังใจให้แก่พนักงานสอบสวน และขอให้อย่าแทรกแซงล้วงลูกการทำหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ไม่เช่นนั้นเมื่อถึงเวลาที่ต้องปรับเปลี่ยนจะได้มีความพร้อมในทันที 

ชี้เพิ่มคนนอกเป็นก.ต.โปร่งใส

       โฆษกกมธ.ปฏิรูปกฎหมาย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีผู้พิพากษา 427 คนคัดค้านมติของกมธ.ยกร่างฯในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม ที่ให้เพิ่มสัดส่วนกรรมการตุลาการ (ก.ต.) คนนอกเข้ามา จำนวนสัดส่วน 1 ใน 3 จากเดิมที่กำหนดให้มีเพียง 2 คน จาก 15 คนว่า มองว่าเป็นเจตนาดีของ กมธ.ยกร่างฯ เพราะจะให้มีคนนอกเข้ามาเป็น ก.ต.ได้แค่ประมาณ 2 คนเห็นว่าน้อยไป แต่ถ้าเพิ่มเป็น 1 ใน 3 เป็นการเปิดโอกาสให้คนภายนอกเข้าไปรับทราบการพิจารณาของ ก.ต.ที่ต้องทำให้โปร่งใสมาก แต่ข้อกังวลที่ศาลยุติธรรมกลัวว่าหากมีการแก้สัดส่วนจะเป็นการเปิดโอกาสให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงได้นั้น ตรงนี้เราสามารถกำหนดกติกาคุณสมบัติผู้ที่จะเข้ามาเป็น ก.ต.สัดส่วนคนนอก ในรูปแบบการออกกฎหมายลูกเพื่อป้องกันการเมืองไม่ให้เข้ามาแทรกแซงตามที่กังวลกันได้

      นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนมติคณะอนุกรรมาธิการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมในชั้นศาลที่กำหนดให้ผู้พิพากษาอาวุโสกลับไปทำหน้าที่นั่งพิจารณาคดีเฉพาะในศาลชั้นต้นเท่านั้น ตนเห็นด้วยกับข้อที่แย้งมาจากผู้พิพากษามากกว่า เพราะผู้พิพากษาอาวุโสที่อายุเกินกว่า 65 ปีแล้วนั้นควรสามารถไปช่วยพิจารณาคดีได้ทั้งสามชั้นศาล ไม่ใช่พิจารณาคดีได้เฉพาะแค่ในศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลล่างได้เพียงอย่างเดียว 

ถลกร่างรธน.จบ-รอแปรญัตติ

      ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังการอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 26 เม.ย. ซึ่งเป็นวันสุดท้าย จะมีการเริ่มนับการยื่นคำขอแปรญัตติของสมาชิกสปช. และในวันเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯจะส่งร่างรัฐธรรมนูญไปยังครม. และคสช. เพื่อให้พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญและทำคำขอแปรญัตติ โดยจะให้ส่งคำแปรญัตติคืนกมธ.ยกร่างฯในวันที่ 25 พ.ค. จากนั้น ช่วงวันที่ 25 พ.ค.-23 ก.ค. กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอมาจากสปช. ครม. และคสช. และระหว่างวันที่ 1-6 มิ.ย. กมธ.ยกร่างฯจะเชิญสปช. ครม. และคสช. มาชี้แจงถึงคำขอแปรญัตติ 

      หลังจากนั้นในวันที่ 23 ก.ค. กมธ.ยกร่างฯจะส่งร่างรัฐธรรมนูญกลับไปยัง สปช.อีกครั้ง เพื่อให้สปช.ประชุมพิจารณาคำขอแปรญัตติดังกล่าว และลงมติว่าเห็นชอบหรือไม่ชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับภายในวันที่ 6 ส.ค. ก่อนจะนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯภายในวันที่ 4 ก.ย.2558 

ผู้ตรวจฯลุยล้างบางมาเฟียศธ.

      เมื่อวันที่ 25 เม.ย. นายศรีราชา วงศารยางกูร ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ผู้ตรวจการแผ่นดินได้เสนอเรื่องไปยังรมว.ศึกษาธิการ และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกี่ยวกับข้าราชการในกระทรวงศึกษาธิการที่เกี่ยวข้องกับความไม่โปร่งใสในกระทรวง ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท และขณะนี้กำลังตรวจสอบความไม่โปร่งใสอีกกรณีหนึ่ง และอาจมีความเกี่ยวโยงกับกรณีแรก แต่กรณีนี้มีมูลค่าสูงไม่ต่ำกว่าหลักพันล้านบาทและอาจถึงหมื่นล้านบาทเลยทีเดียว โดยความไม่โปร่งใสดังกล่าวทำให้เกิดมาเฟียในกระทรวงศึกษาธิการขึ้น และเม็ดเงินดังกล่าวเป็นเงินที่เลี้ยงคนกลุ่มดังกล่าว โดยเป็นเงินที่มาจากสวัสดิการทั้งหลายในกระทรวง 

       "มีข้อมูลว่า มีผู้บริหารบางตำแหน่งได้เงินจากคนกลุ่มดังกล่าวประมาณ 150,000 บาทต่อเดือน โดยไม่ต้องทำอะไรเลย เพียงแค่เซ็นคำสั่งตามที่กลุ่มมาเฟียต้องการ ซึ่งตอนนี้ผมยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้มากนัก เพราะเดี๋ยวจะทำให้ไก่ตื่น และมีการปิดบังข้อมูลได้ แต่ยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้เพื่อกำจัดคนที่ไม่ดีออกจากกระทรวงศึกษาธิการให้หมด เพราะถ้าคนเหล่านี้ยังอยู่การปฏิรูปการศึกษาคงไม่มีทางสำเร็จ คงใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน หลังจากได้ข้อมูลครบถ้วนและสรุปเรื่องได้แล้ว จะเสนอชื่อให้หัวหน้าคสช.พิจารณาใช้มาตรา 44 เพื่อโยกย้ายข้าราชการกลุ่มดังกล่าว และอาจมีการส่งรายชื่อเพิ่มเติมไปอีก" นายศรีราชากล่าว

        นายประยงค์ ปรียาจิตต์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กล่าวถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ส่งรายชื่อข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตกลับมายังศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เพื่อให้ตรวจสอบใหม่ว่า นายวิษณุต้องการให้ศอตช.ตรวจสอบรายละเอียดต่างๆ ว่า ชื่อข้าราชการที่ ศอตช.ส่งมาให้ถูกต้องหรือไม่ มีการเปลี่ยนชื่อหรือเกษียณอายุราชการหรือไม่ ซึ่งทั้งหมดนี้ตนได้ตรวจสอบและส่งกลับไปให้นายกฯ แล้ว 

       นายประยงค์ กล่าวว่า ในส่วนของป.ป.ท. ที่ผ่านมามีคดีที่อยู่ในความรับผิดชอบกว่า 17,000 คดี ขณะนี้ได้ตรวจสอบเสร็จแล้วกว่า 9,000 คดี โดยมีการสั่งไต่สวนแล้วประมาณ 1,300 คดี และมีคดีที่ชี้มูลแล้วกว่า 100 คดี ปัจจุบัน ป.ป.ท.ยังมีคดีที่ยังดำเนินการตรวจสอบไม่แล้วเสร็จอีกประมาณ 8,000 คดี ส่วนคดีที่มีการชี้มูลแล้วนั้น หากเป็นความผิดทางกฎหมายอาญาก็ให้ดำเนินการตามกฎหมาย และจะส่งชื่อข้าราชการที่ทำความผิดให้ต้นสังกัดดำเนินการทางวินัยต่อไป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ป.ป.ท.กำลังเร่งตรวจสอบข้าราชการที่พัวพันการทุจริตอยู่ เพราะบางหน่วยงานยังมีข้าราชการบางคนที่อยู่ในตำแหน่งแล้วยังสร้างปัญหาอยู่ไม่จบ เพื่อส่ง รายชื่อให้รัฐบาลโยกย้ายและดำเนินการทางวินัย

'บิ๊กโด่ง'ชงคสช.เปิดเวทีศปป.อีก

      ที่อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหมและผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขาธิการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงการที่ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) ได้เชิญกลุ่มการเมือง นักวิชาการ นักศึกษา และประชาชน มาร่วมพูดคุยหาแนวทางเรื่องความปรองดองว่า เป็นสิ่งที่ดี และได้รับการตอบรับจากทุกกลุ่ม และทุกคนก็ยินดี อาจจะมีการเชิญกลุ่มอื่นๆเข้าพูดคุย เป็นการเปิดช่องทางไว้เช่นกัน 

       "ที่ผ่านมามีการเปิดไปแล้วกว่า 4,000 เวที มีผู้เสนอความเห็นกว่า 4 แสนคน เพื่อรวบรวมส่งสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) การเปิดรับฟังของศปป.ได้รับการตอบรับดี ซึ่งจะนำเสนอหัวหน้าคสช. ขออนุมัติการเปิดการพบปะกันเป็นระยะ เพื่อฟังข้อคิดเห็น นำไปใช้ประโยชน์ต่อไป อาจจะเว้นระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แล้วจึงเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นอีกครั้ง" พล.อ.อุดมเดชกล่าว