บวรศักดิ์ แจงวุ่น'ม.182' สปช.รุมซัก หวั่นจุดชนวนวิกฤตซ้ำ เปิดช่องรบ.ใหม่ลักไก่กม.นิรโทษ ค้านที่มานายกฯ-สว.ไม่โยงปชช. ดิเรกทำนายไม่แก้เนื้อหาปว.แน่ วิษณุส่งมติศาลให้กมธ.แก้บางข้อ

'วิษณุ'ส่งข้อเสนอศาลเห็นแย้งร่าง รธน.ให้ กมธ.ยกร่างฯแปรญัตติ บางข้อ สปช.ถกร่าง รธน.วันที่สองรุมแย้งที่มา 'ส.ว.-นายกฯคนนอก'อัดไม่เชื่อมโยงประชาชน

@ สปช.ถกรธน.ภาค2ผู้นำการเมือง

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย วันที่ 2 เริ่มเมื่อเวลา 09.10 น. วันที่ 21 เมษายน โดยมี น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มอภิปรายเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญในภาคที่ 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวชี้แจงภาพรวมเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญในภาคที่ 2 ว่า เนื้อหาแบ่งออกเป็น 7 หมวดสำคัญ อาทิ หมวดว่าด้วยผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดีนั้นเป็นการพูดถึงมาตรฐานทางจริยธรรมและคุณธรรมของผู้นำการเมืองและเจ้าหน้าที่รัฐที่จะถูกกำหนดโดยสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 

"หมวดการคลังและการงบประมาณ เป็นการบัญญัติหลักการให้รัฐคำนึงถึงหลักการรักษาระบบวินัยเงินการคลัง มีการนิยามคำว่าเงินแผ่นดินไว้ในรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรก หมวดว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน ได้มีการกำหนดหลักการใหม่ขึ้นคือกำหนดให้มีคณะกรรมการขึ้นมาแต่งตั้งปลัดกระทรวงต่างๆ โดยใช้ระบบคุณธรรม" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว 

@ ย้ำโอเพ่นลิสต์กันรบ.เผด็จการ

พล.อ.เลิศรัตน์ชี้แจงต่อว่า หมวดรัฐสภา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดวิธีการได้มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นแบบระบบสัดส่วนผสม ออกแบบให้การเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อมีความสัมพันธ์ต่อกัน เป็นการให้ความสำคัญต่อทุกคะแนนเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง รวมทั้งเป็นการสะท้อนความนิยมที่แท้จริงของแต่ละพรรคการเมือง ทำให้พรรคขนาดกลาง และพรรคขนาดเล็กมีโอกาสเข้ามาเป็นรัฐบาล ทำให้ได้รัฐบาลแบบผสม ป้องกันรัฐบาลแบบเผด็จการ ขอยืนยันว่าระบบการเลือกตั้งแบบนี้ไม่ได้ทำให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพหรือเกิดความอ่อนแอแต่อย่างใด 

"วันก่อนเจอนายเสนาะ เทียนทอง แกนนำพรรคเพื่อไทย (พท.) ที่งานศพ โดยนายเสนาะมาสะกิดบอกผมว่าไม่เอาระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เพราะการมีพรรคการเมืองหลายพรรคทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ผมชี้แจงไปว่าการออกแบบให้พรรคการเมืองขนาดกลาง ขนาดเล็ก เข้ามาเป็นรัฐบาล ไม่ได้ทำให้รัฐบาลเกิดความอ่อนแอแต่อย่างใด" พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า รัฐบาลจะมีเสถียรภาพหรือไม่นั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับพรรคการเมือง แต่ปัจจัยสำคัญนั้นอยู่ที่คุณภาพของบุคคลที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลมากกว่า 

@ อ้างกลั่นกรองส.ว.เพื่อคุณภาพ 

พล.อ.เลิศรัตน์ชี้แจงถึงการได้มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ออกแบบ ส.ว.ให้มีจำนวน 200 คน มาจาก 3 แนวทาง คือ การเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน การเลือกกันเองจากผู้แทนจากส่วนต่างๆ และการสรรหาจากผู้ที่มีความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อให้ ส.ว.ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็น ส.ว.

ที่มีคุณภาพยึดโยงกับประชาชนโดยตรง 

"การที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดเงื่อนไขให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองผู้สมัคร ส.ว.ก่อนนั้น ไม่ได้เป็นการตัดสิทธิประชาชน แต่เป็นการทำให้ประชาชนได้เลือก ส.ว.จากบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสม เนื่องจากไม่อยากจะเห็น ส.ว.มีฐานที่มาแบบเดียวกันกับ ส.ส." พล.อ.เลิศรัตน์กล่าว และว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพร้อมที่จะปรับปรุงแก้ไข หากได้ฟังเสียงจากทุกกลุ่มทุกฝ่ายที่สะท้อนมาแล้วเห็นว่าเป็นประโยชน์หรือเห็นว่าหนทางใดทำให้การออกแบบโครงสร้างทั้งสองสภานี้นำไปสู่การบริหารประเทศอย่างแท้จริง 

@ พัฒนาพรรคการเมืองเป็นสถาบัน 

นายเจษฎ์ โทณะวณิก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชี้แจงภาพรวมของภาคที่ 2 ว่า หมวดผู้นำการเมืองที่ดีและระบบผู้แทนที่ดี 

เป็นรากฐานที่จะทำให้บ้านเมืองมีความสงบสุข เกิดพัฒนาการด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา และพื้นฐานต่างๆ อีกมากมาย ดังนั้น นักการเมืองที่ดีจำเป็นต้องมีความเป็นพลเมืองที่ดีมากกว่าพลเมืองทั้งหลายในฐานะที่จะเข้ามาเป็นผู้นำแทนประชาชน โจทย์ที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ วางไว้คือต้องการให้นักการเมืองมีหิริโอตตัปปะ มีความละอายใจในการทำสิ่งไม่ดี และเกรงกลัวต่อผลที่จะทำ รัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีสมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ ตรวจสอบจริยธรรมคุณธรรมของผู้นำและนักการเมือง หากว่าผู้นำการเมืองเหล่านั้นไม่ได้เป็นผู้แทนที่ดีตามที่ประชาชนคาดหวังก็มีสิทธิถูกถอดถอนได้ 

"ขณะเดียวกันพรรคการเมืองควรได้รับการพัฒนาให้เป็นสถาบัน เพราะหากมุ่งหวังให้มีระบบการเมืองที่ดีก็ต้องมีพรรคการเมืองที่ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ไม่ได้มุ่งหวังให้พรรคการเมืองเกิดความอ่อนแอ จึงจำเป็นต้องทำให้พรรคการเมืองเป็นสถาบัน ดำเนินการตามอุดมการณ์ของสมาชิกเพื่อเป็นรากฐานของการพัฒนาการเมืองในอนาคตที่มีความเป็นประชาธิปไตย" นายเจษฎ์กล่าว 

@ "สมบัติ"ชี้คนจนลดซื้อเสียงหด

ต่อมาเวลา 10.10 น. เปิดให้ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทั้ง 13 คณะอภิปราย เริ่มจากนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธาน กมธ.ปฏิรูปการเมืองอภิปรายว่า ภาพรวมถือว่ารัฐธรรมนูญมีความโดดเด่นหลายประการ ทั้งการกำหนดให้ประชาชนเป็นใหญ่ โดยเฉพาะการให้อำนาจประชาชนในการตรวจสอบ อาจถือได้ว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับเดียวในโลกที่ให้อำนาจประชาชนมากขนาดนี้ และประเด็นในภาคที่ 4 การปฏิรูปที่ครอบคลุมในมิติต่างๆ ครบถ้วน อย่างไรก็ตาม ตนและ กมธ.ปฏิรูปการเมืองบางส่วนมีความเห็นแตกต่างและขอตั้งเป็นข้อสังเกต คือ การออกแบบระบบการเมืองและปฏิรูปการเมืองควรให้เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย

"ได้แก่ 1.สภาพสังคมไทยในปัจจุบันเป็นประเทศที่กำลังพัฒนามีความเหลื่อมล้ำสูง มีคนรวยน้อยแต่มีคนจนจำนวนมาก 2.คนจนต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากรัฐ จึงกลายเป็นเหยื่อของนักการเมืองโดยง่ายในการใช้นโยบายประชานิยม ทั้งที่นโยบายประชานิยมไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืนได้ แต่กลับสร้างความสูญเสียให้กับชาติในระยะยาว 3.นักการเมืองจำนวนมากเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียงจากประชาชนที่ยากจน สภาพเช่นนี้จะดำรงอยู่ต่อไปในสังคมไทย จนกว่าประเทศไทยจะพัฒนาให้คนส่วนใหญ่เป็นคนชั้นกลาง และคนจนเป็นคนส่วนน้อยของสังคม เมื่อนั้นอิทธิพลการซื้อเสียงจะไม่มีความสำคัญต่อการเลือกตั้ง" นายสมบัติกล่าว

@ ชี้แก้ยากจนไม่ได้แก้ซื้อเสียงยาก

นายสมบัติกล่าวอีกว่า 4.คนยากจนจำนวนมากเป็นเกษตรกรที่ต้องขายผลผลิตตกต่ำ ทำให้ต้องเป็นหนี้ ถ้ารัฐบาลแก้ไขปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำไม่ได้ แก้ไขปัญหาความยากจนไม่ได้ จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาการซื้อสิทธิขายเสียงได้ 5.การที่นักการเมืองเข้าสู่อำนาจด้วยการซื้อเสียง ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นยิ่งแพร่หลาย 6.การที่นักการเมืองนำตำแหน่งที่ให้คุณให้โทษทางราชการมาซื้อขาย ทำให้ข้าราชการประจำที่ได้ตำแหน่งมาด้วยการซื้อ ร่วมสมคบกับนักการเมืองในการทุจริตคอร์รัปชั่น ทำให้การทุจริตคอร์รัปชั่นในสังคมไทยยิ่งรุนแรง การบังคับกฎหมายกับผู้กระทำผิดจึงเป็นอัมพาต เพราะผู้กระทำความผิดได้จ่ายส่วยให้กับเจ้าหน้าที่เรียบร้อยแล้ว 

"7.ระบบคุณธรรมและระบบอุปถัมภ์ ทำให้สังคมไทยยิ่งส่งเสริมการทุจริตคอร์รัปชั่น ทั้งของนักการเมืองและข้าราชการที่มีอำนาจให้ยิ่งระบาดรุนแรงยิ่งขึ้น 8.สังคมไทยปลูกฝังให้คนรู้จักรักษาตัวรอดเป็นยอดดี คนส่วนใหญ่จึงมุ่งประโยชน์ส่วนตนและเอาตัวรอดไว้ก่อน ทำให้การหาหลักฐานเพื่อนำคนผิดมาลงโทษกระทำได้ยาก เพราะไม่มีใครอยากเอาตัวไปเสี่ยงกับความเดือดร้อน และ 9.สภาพสังคมไทยจึงเท่ากับส่งเสริมให้คนที่กล้าทำความชั่วได้ดี ส่วนคนที่ยึดมั่นทำความดีก็ไม่มีที่ยืนในระบบการเมืองหรือข้าราชการประจำ" นายสมบัติกล่าว

@ นายกฯคนนอกไม่ยึดโยงปชช.

นายสมบัติอภิปรายอีกว่า โครงสร้างและความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองเพื่อระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยพระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจทางนิติบัญญัติผ่านสภาผู้แทนฯ ใช้อำนาจบริหารผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) ใช้อำนาจตุลาการผ่านศาล และปัจจุบันมีการใช้อำนาจการตรวจสอบผ่านองค์การตรวจสอบภาครัฐ ซึ่งในส่วนของประชาชนนั้น อำนาจอธิปไตย 3 อำนาจ ในส่วนของอำนาจตุลาการไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง เพราะสภาพสังคมไทยยังไม่เอื้อให้มีฝ่ายการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องกับอำนาจตุลาการ ส่วนอำนาจนิติบัญญัติ ถือว่ามีความเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรง เพราะประชาชนเป็นผู้เลือกผู้แทน ส่วนอำนาจบริหารหากเป็นระบบแบ่งแยกอำนาจ เขาจะให้ฝ่ายนิติบัญญัติและบริหารมาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง 

"สำหรับระบบรัฐสภา เรากำหนดให้ฝ่ายนิติบัญญัติที่มีเสียงข้างมากเป็นผู้จัดตั้งรัฐบาล แต่เป็นระบบรัฐสภาดั้งเดิมแบบอังกฤษ เพื่อให้ฝ่ายบริหารมีความเชื่อมโยงกับประชาชน ผู้ที่จะมาทำหน้าที่บริหารคือนายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. รัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ใช้อำนาจบริหารนั้นมีความเชื่อมโยงกับประชาชน แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะมาจากการเลือกตั้งของ ส.ส.ในสภาก็ตาม แต่ถ้าเมื่อใดก็ตามที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง คือไม่ได้เป็น ส.ส. ความเชื่อมโยงของอำนาจบริหารกับประชาชนจะไม่มีเลย หมายความว่า อำนาจอธิปไตยทั้ง 3 อำนาจจะสัมพันธ์กับประชาชนเพียงอำนาจเดียว คืออำนาจนิติบัญญัติ" นายสมบัติกล่าว

@ อัดม.147ให้อำนาจนายกฯมากไป

นายสมบัติกล่าวว่า การกำหนดโครงสร้างรัฐธรรมนูญควรคำนึงถึงความสมดุลในอำนาจอธิปไตย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตทางการเมือง ซึ่งจุดเสี่ยงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้คือ 1.ขาดความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ปกติระบบรัฐสภาจะมีรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในรัฐสภา เพราะฉะนั้นผู้นำพรรคการเมืองที่มาทำหน้าที่บริหาร จะมีอำนาจควบคุมเสียงข้างมากในสภา ทำให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือสภา แต่การกำหนดไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยิ่งทำให้เห็นชัดว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ

"โดยเฉพาะในมาตรา 147 วรรค 2 ระบุว่า ในกรณีที่ร่าง พ.ร.บ.ที่มีผู้เสนอเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงิน จะเสนอได้เมื่อมีคำรับรองของนายกฯ และหากนายกฯสั่งการว่าให้เสียงข้างมากในสภาต้องยกมือให้ความเห็นชอบ สมาชิกต้องให้ความเห็นชอบ ประเด็นนี้ประธาน กมธ.ยกร่างฯเคยให้ความเห็นเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2557 ว่าการกำหนดให้นายกฯมีอำนาจรับรองกฎหมายการเงิน ถือว่านายกฯมีอำนาจมากกว่าประธานาธิบดีสหรัฐ ขณะนี้ท่านก็ได้นำหลักการนี้มาใช้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้" นายสมบัติกล่าว

@ หวั่นขัดแย้งจี้ทบทวนม.182 

"ส่วนที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ฝ่ายบริหารมีอำนาจเหนือฝ่ายนิติบัญญัติในมาตรา 182 ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯบางคนระบุว่าเป็นกลไกสำคัญในการปกป้องรัฐบาลผสม แต่ถ้าดูเนื้อหาในมาตรานี้ คิดว่าเป็นประเด็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะสาระสำคัญในมาตรานี้กำหนดให้นายกฯแถลงต่อสภาว่า พ.ร.บ.ที่เสนอมีความสำคัญ เป็นนโยบายรัฐบาล หากสภาไม่เสนอญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ถือว่าสภาให้ความเห็นชอบ แต่หากสภายื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐบาลชนะ หมายความว่าฝ่ายค้านที่ยื่นอภิปรายแพ้ ให้ถือว่าสภาให้ความเห็นชอบกฎหมายนั้นๆ" นายสมบัติกล่าว และว่า แม้จะกำหนดว่าการกระทำอย่างนี้ทำได้สมัยประชุมละ 1 ครั้ง แต่ถ้าเป็นร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมแล้วจะเป็นอย่างไร จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประชาชนไม่เห็นด้วย ฝ่ายค้านก็ทำอะไรไม่ได้ จะเป็นการจุดชนวนทำให้ประชาชนออกมาบนท้องถนนอีกหรือไม่ แม้จะสมัยประชุมละ 1 พ.ร.บ. แต่มากพอที่จะก่อให้เกิดวิกฤตทางการเมืองได้ ขอให้ กมธ.ยกร่างฯพิจารณาไตร่ตรองดู 

"จุดเสี่ยงที่ 2 คือการขาดความสมดุลระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ หมายความว่านายกฯมีอำนาจยุบสภา และการยุบสภาของนายกฯสำเร็จทุกครั้ง ขณะที่ให้ฝ่ายค้านมีอำนาจอภิปรายไม่ไว้วางใจ หากรัฐบาลมีเสียงข้างมากจะไม่มีโอกาสสำเร็จเลย แต่อาจจะสำเร็จถ้าเป็นรัฐบาลผสม และพรรคแกนนำไม่มีเสียงข้างมากและตกลงกับพรรคร่วมรัฐบาลไม่ได้ ดังนั้น ที่ผ่านมาการอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงเป็นเครื่องมือตรวจสอบที่อ่อนแอมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับการยุบสภาที่ฝ่ายบริหารทำสำเร็จทุกครั้ง" นายสมบัติกล่าว

@ ย้ำรบ.ผสมมีจุดเสี่ยงปัดมโน

นายสมบัติกล่าวอีกว่า จุดเสี่ยงที่ 3.การออกแบบเลือกตั้งเพื่อให้มีรัฐบาลผสมที่ไม่เข้มแข็ง กมธ.ยกร่างฯจึงเลือกวิธีเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ตนเห็นว่ามีปัญหา เพราะรัฐบาลผสมไม่ใช่เรื่องที่จะไปมโนเอาเองว่าจะเป็นอันตราย จะมีจุดเสี่ยง แต่รัฐบาลผสมที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2540 คิดว่าเป็นภาพความทรงจำที่เลวร้ายของสังคมไทย เป็นรัฐบาลผสมที่ทำให้การเมืองไทยเหมือนตกอยู่ในหลุมดำไม่สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้ 

"ปัญหาอาจเกิดได้ 2 ทาง คือ 1.เป็นรัฐบาลผสมที่มีพรรคแกนนำมีเสียงเกินครึ่งเล็กน้อย ซึ่งจะทำให้พรรคแกนนำมีอำนาจต่อรองสูง ถ้านึกไม่ออกว่าการต่อรองเป็นอย่างไรให้นึกถึงรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะเห็นภาพชัดที่สุดว่า พรรคแกนนำมีอำนาจบงการสภาได้เต็มที่ และ 2.หากผลของการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ส่งผลให้ไม่มีพรรคใดได้เสียงเกินครึ่ง พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กจะมีอำนาจต่อรองมาก เป็นช่องทางให้เกิดการทุจริตอย่างแพร่หลาย" นายสมบัติกล่าว และว่า การจัดตั้งรัฐบาลก็จะกลับไปสู่การแบ่งโควต้า พรรคแกนนำไม่สามารถประกาศนโยบายที่เป็นเอกภาพได้ ซึ่งจะทำให้เป็นอุปสรรคในการปฏิรูปประเทศ ถ้ามีรัฐบาลผสมที่วันๆ ต้องมาดูเรื่องการประนีประนอมผลประโยชน์ร่วมกัน ป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้ง การปฏิรูปจะสำเร็จได้อย่างไร และเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของประเทศ มีโอกาสที่เกิดความขัดแย้งระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลได้ เพราะไม่สามารถตกลงผลประโยชน์กับรัฐบาลได้ และอาจไปเข้าร่วมกับฝ่ายค้านเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจ จนต้องมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล หรือพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะขู่ว่าจะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ถ้าไม่ได้ผลประโยชน์ตามที่ต้องการ ซึ่งเคยเกิดขึ้นจริงมาแล้ว

@ พลเมืองเป็นใหญ่ขัดนายกฯคนนอก

นายสมบัติกล่าวว่า ความสับสนในการแบ่งแยกในระบบประธานาธิบดี มาใช้กับระบบรัฐสภา มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า นายกฯและคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต้องไม่เป็น ส.ส. ซึ่งเดิมต้องการให้ระบบรัฐสภาเชื่อมโยงกับประชาชน คือนายกฯและ ครม.ต้องเป็น ส.ส.ด้วย แต่เมื่อรัฐธรรมนูญกำหนดว่า นายกฯและ ครม.ต้องไม่เป็น ส.ส. ตรงนี้เหมือนกับเอาหลักแบ่งแยกอำนาจมาใช้ ซึ่งหลักการทั้งสองนี้ขัดกัน

"จุดเสี่ยงที่ 4 กลไกการตรวจสอบอ่อนแอ จะเอื้อให้การทุจริตคอร์รัปชั่น แม้จะกำหนดให้มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจแต่สามารถฮั้วกันได้ ส่วนการถอดถอนที่ผ่านมาก็ไม่เคยใช้ได้ผล แม้รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะระบุว่า ต้องใช้เสียงเกินครึ่งในการถอดถอน แต่โดยวิสัยของนักการเมือง ถ้ารู้ว่าจะถูกถอดถอน และทั้ง ส.ส.และ ส.ว.มีจำนวน 650 คน หมายความว่าถ้าเสียงเกิน 325 จะถูกถอดถอน เขาคงตั้งรัฐบาลผสมให้มีเสียงเกิน 325 เหมือนสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่มีเสียง 300 จาก 500 การอภิปรายไม่ไว้วางใจจึงไม่สำเร็จ" นายสมบัติกล่าว

นายสมบัติกล่าวว่า ที่ระบุว่านายกฯที่ไม่ได้เป็น ส.ส.ต้องได้รับเสียงโหวต 2 ใน 3 ตรงนี้จะทำให้คนนอกอาจไม่ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 เพราะถ้าไปดูในมาตรา 173 ซึ่งกรณีที่เลือกคนนอกมาเป็นนายกฯ และ ครม. หมายความว่า ผู้มาใช้อำนาจบริหารไม่มีส่วนใดเชื่อมโยงกับประชาชนโดยตรงเลย ตรงนี้ต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างเพื่อให้ประชาชนเป็นใหญ่ แต่อนุญาตให้คนนอกมาเป็นนายกฯได้ โดยไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ขัดแย้งกันพอสมควร ตนมีทางออกว่าในตัวรัฐธรรมนูญต้องพูดให้ชัดว่า ต้องเลือก ส.ส.เป็นนายกฯ แต่หากมีความจำเป็นให้เขียนไว้ในบทเฉพาะกาล 

@ เสรีชงเลือกส.ส.เขตอย่างเดียว

เวลา 10.52 น. นายเสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม อภิปรายว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 315 มาตรา มีเนื้อหาทั้งเก่าก็มากและเนื้อหาใหม่ก็เยอะ มีข้อเสนอว่า หากมีการนำรัฐธรรมนูญไปใช้เชื่อว่าจะเกิดปัญหามาก เพราะในหลายส่วน ต้องตอบโจทย์ให้ได้เพื่อแก้ปัญหาบ้านเมือง ปัญหาบ้านเมืองที่ว่านั้น คือ การเลือกตั้ง และการเมือง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญ เพราะบ้านเมืองแตกแยกมานาน มีความขัดแย้ง นักการเมืองทุจริต และระบบต่างๆ เหล่านี้ต้องหาทางแก้ไข ตอบโจทย์ให้ได้ แต่ที่ว่ามานี้ยังตอบโจทย์ไม่ได้ 

"อย่างระบบเลือกตั้งมาสองทาง คือ มาจาก ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ซึ่งควรมีเพียง ส.ส.เขตเท่านั้น เพราะเป็นตัวแทนประชาชน 

รู้สุขทุกข์ปัญหาของประชาชน จึงควรให้เขาเป็นตัวแทนเข้ามาแก้ปัญหาในสภา ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมี ส.ส.บัญชีรายชื่ออีกต่อไป รัฐธรรมนูญ 2540 ต้องการให้มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะไม่ต้องให้มีการสมัครแล้วมีการซื้อเสียง ให้คนแรกๆ ได้รับการเลือกตั้ง แต่ที่ยกร่างมานั้น คือ ส.ส.บัญชีรายชื่อ สามารถเลือกคนในบัญชีได้ จึงไม่ต่างอะไรกับ ส.ส.แบบแบ่งเขตและคนที่ต้องการได้คะแนนมากไปซื้อเสียงได้อยู่ดี เพราะฉะนั้น ส.ส.บัญชีรายชื่อที่กำหนดไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร ดังนั้น หากแบ่ง ส.ส.ทั้งหมดให้เลือกแบบแบ่งเขตหมดให้มี ส.ส.เขตละ 2 คน จะตอบโจทย์ได้" นายเสรีกล่าว

@ ค้านเปิดให้กลุ่มการเมืองลงชิง

นายเสรีกล่าวว่า ร่างรัฐธรรมนูญที่ยกร่างมาได้อธิบายการเลือกตั้ง ส.ส.มีหลายพรรคการเมือง จะเป็นรัฐบาลผสม แต่รัฐบาลผสมที่ กมธ.ยกร่างฯพยายามบอกนั้น ขัดกันกับสิ่งที่ กมธ.ยกร่างต้องการคือการเมืองเข้มแข็ง เพราะการมีหลายพรรคจะเข้มแข็งอย่างไร ต้องเอาคนจากพรรคนั้นพรรคนี้มาตั้งรัฐบาลมีระบบโควต้า รัฐบาลจะเข้มแข็งอย่างไรขัดเหตุผลสิ้นเชิง ดังนั้น ต้องบอกให้ได้ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐบาลเข้มแข็ง แต่หากรัฐบาลเข้มแข็งเป็นเรื่องที่ดี และนายกฯต้องเป็นอิสระจากสภา ต้องแยกอำนาจนายกฯออกจากสภาให้ได้ หากไม่กล้าก็แก้ปัญหาไม่ได้ 

"หัวใจสำคัญที่ กมธ.ยกร่างฯจัดทำร่าง คือการมีกลุ่มการเมืองลงสมัครเลือกตั้งได้ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯเห็นปัญหาที่ผ่านมาหรือไม่ ที่ผ่านมากลุ่มการเมืองทำให้เกิดความขัดแย้ง ทำให้ฝ่ายทหารต้องสลายกลุ่มการเมืองไม่ให้เกิดขึ้น แต่ปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติสิ่งเหล่านี้ ซึ่งกลุ่มการเมืองเหล่านี้ คือ กลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กปปส. (คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ชัดเจน หากออกกฎหมายให้กลุ่มเหล่านี้เล่นการเมือง ต่อไปคราวหน้า พรรคการเมืองจะหมดความหมาย พรรคเพื่อไทย ประชาธิปัตย์" นายเสรีกล่าว และว่า ต่อไปเป็นกลุ่มการเมือง กปปส. และ นปช.สร้างความแตกแยกคนในชาติ นี่คือปัญหาใหญ่ หาก กมธ.ยกร่างฯคิดว่าการทำให้มีหลายกลุ่มพรรคการเมือง ต่อไปคนเป็นนายกรัฐมนตรี คงเป็น นายจตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. หากพระสุเทพ ปภากโร หรือนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ยังไม่สึกออกมา 

นายเสรีกล่าวว่า หากเป็นรัฐบาลผสมจริง จะเจอรัฐบาลที่อ่อนแอมีโควต้าระบบทุจริตคอร์รัปชั่นและสุดท้ายถอยหลังเข้าคลอง กลุ่มการเมือง นปช. กปปส. สู้กัน เหมือนที่ผ่านมา และที่พูดมาคือพยายามให้เห็นปัญหา ไม่ได้ติติง เชื่อว่า กมธ.ยกร่างฯหวังดี เอาความรู้ประสบการณ์ของ กมธ.ยกร่างฯมาใช้ แต่มองอีกด้านหรือไม่ 

@ "ยุทธศักดิ์"เชื่อกีฬาสร้างปรองดอง

ด้าน พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา ประธาน กมธ.ปฏิรูปการกีฬา อภิปรายว่า กีฬาถือเป็นรากฐานของการพัฒนาสุขภาพประชาชนให้มีความแข็งแรง โดยประเทศที่พัฒนามักจะพัฒนาการกีฬาควบคู่ไปกับการพัฒนาการเมืองและเศรษฐกิจ แต่ตลอดระยะเวลา 82 ปี ที่ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมากลับไม่เคยมีการบรรจุเรื่องกีฬาไว้ในรัฐธรรมนูญเลย จึงทำให้รัฐบาลบางชุดเพิกเฉยต่อการพัฒนากีฬา ไม่ขับเคลื่อนหรือผลักดันกีฬาให้เข้มแข็ง แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้มีการบัญญัติหลักการที่เกี่ยวกับกีฬาไว้ในภาค 2 หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 95 และภาค 4 หมวด 2 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มาตรา 295 (3) 

พล.อ.ยุทธศักดิ์ระบุต่อว่า หากมีการพัฒนากีฬาให้เป็นเลิศได้นั้นจะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศได้ สร้างจิตสำนึกระเบียบวินัยของคนในชาติ จนเกิดผลประโยชน์ที่เป็นนามธรรมแบบวัดค่าไม่ได้ รวมทั้งเป็นผลดีต่อการพัฒนาความมั่นคงและเป็นพื้นฐานการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ขณะเดียวกัน เชื่อว่ากีฬาจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยขจัดความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำ นำมาสู่การสร้างความรัก ความสามัคคี และความปรองดอง

@ รุมยี้ที่มาส.ว.-นายกฯคนนอก 

เวลา 15.10 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล สปช.ด้านพลังงาน อภิปรายว่า ไม่รังเกียจถ้า ส.ว.จะมาจากการสรรหาทั้งหมด แต่ต้องไม่มีอำนาจมากจนเกินไป มิเช่นนั้นจะมีคำถามว่า คนที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง แล้วมาออกกฎหมาย เท่ากับว่าการออกกฎหมายของ กมธ.ยกร่างฯจะเป็นการตัดขาดตัวแทนของประชาชนกับฝ่ายบริหารหรือไม่ นอกจากนี้การที่พยายามให้ระบบข้าราชการเข้ามามีบทบาท โดยแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อแต่งตั้งและปลดปลัดกระทรวง โดยไม่มีนักการเมืองมาเกี่ยวข้องนั้น คิดว่าสุดโต่งจนเกินไป เพราะอย่างน้อยต้องให้อำนาจนายกฯตัดสินใจ และมีคณะกรรมการเข้ามาตรวจสอบการแต่งตั้งของนายกฯ 

นายดิเรก ถึงฝั่ง สปช.นนทบุรี อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญระบุว่าประชาชนมีอำนาจเป็นหลัก โดยเฉพาะในมาตรา 3 ที่ให้อำนาจประชาชน ดังนั้นประชาชนควรมีอำนาจในการเลือกปกครองของเขาเอง แต่ในมาตรา 172 ที่ให้นายกฯ มาจากคนนอก จะเอาไปเปรียบกับอำนาจอธิปไตยในมาตรา 3 ไม่ได้ การใช้ระบบเลือกตั้งแบบผสม ถามว่าจะแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น ซื้อสิทธิขายเสียงได้หรือไม่ จึงไม่เห็นด้วยจากการที่นายกฯจะมาจากคนนอก 

"ผมเห็นว่า กมธ.ยกร่างฯควรเขียนว่า นายกฯต้องมาจาก ส.ส. หรือการเลือกตั้งโดยตรง และควรเขียนให้ชัดเจนไว้ในบทเฉพาะกาลว่า ถ้ามีวิกฤตขึ้นมาก็ให้รัฐสภาเสนอนายกฯคนนอกได้ จะด้วยสัดส่วนเท่าไรให้กำหนดให้ชัดเจน การเขียนเปิดเช่นนี้ไม่มีใครเชื่อว่าท่านจะแก้วิกฤต แต่จะเป็นการเปิดโอกาสพิเศษมากดดันในที่สุดก็เกิดนายกฯที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน" นายดิเรกกล่าว 

@ "ดิเรก"ทำนายเกิดปฏิวัติอีก

นายดิเรกกล่าวว่า ส่วนระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม เป้าหมายคือไม่ต้องการให้รัฐบาลเข้มแข็ง ถ้าตั้งโจทย์เช่นนี้ก็ผิดแล้ว เพราะถ้ารัฐบาลไม่เข้มแข็งจะพัฒนาประเทศอย่างไร ชัดเจนว่าประเทศต้องล้าหลัง ทั้งที่นายบวรศักดิ์เขียนหลักไว้แล้วว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญต้องสร้างเสถียรภาพให้กับรัฐบาล เพื่อให้รัฐบาลบริหารประเทศได้ ระบบสัดส่วนผสมที่นำมานั้นคิดผิด คนไทยชอบอะไรง่ายๆ ที่เห็นชัดเจน ระบบเลือกตั้งเดิมไม่ได้เสียหายอะไร แต่ควรที่จะมาแก้ปัญหาการซื้อสิทธิ

ขายเสียง และทำความเข้าใจกับประชาชนว่า นักการเมืองเขาลงทุนขนาดนี้เขาต้องไปเอาคืนแน่นอน 

"ที่มา ส.ว.ถ้าเป็นอย่างที่ กมธ.ยกร่างฯเขียนมา เชื่อว่าทะเลาะกันอีก ทั้งที่นายกฯตั้งเป้าว่ารัฐธรรมนูญต้องสร้างความปรองดอง แต่ถ้าออกไปเช่นนี้ เลือกตั้งเสร็จเขาต้องแก้ไขแน่นอน ต้องมีคนออกมาขัดขวาง เกิดการประท้วง ผมทำนายเลยว่า ถ้ารัฐธรรมนูญออกมาอย่างนี้ อีกไม่กี่ปีก็ปฏิวัติรัฐประหารอีก จะวนอยู่อย่างนี้ ดังนั้นทำไมไม่ทำสิ่งที่ถูกต้องเสียที ถ้าจะให้อำนาจ ส.ว. มากมายขนาดนี้ ก็ควรให้ ส.ว.มาจากประชาชน อยากให้ กมธ.ยกร่างฯเดินให้ถูกทาง อย่าคิดอะไรที่นอกกรอบ เพราะประชาธิปไตยไทยไม่เหมือนใคร" นายดิเรกกล่าว

@ หนุนมีส.ส.500-ปชช.เลือกส.ว.

เวลา 17.35 น. นายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช. อภิปรายว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีถ้อยคำที่มีความหมายเกี่ยวกับพลเมืองอยู่หลายคำ เช่น คำว่า บุคคล ปวงชนชาวไทย มนุษย์ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ราษฎร เป็นต้น เมื่อเราให้ความหมายของประชาชนคือพลเมือง และจัดตั้งองค์กรตรวจสอบทั้งสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบพลเมือง อาจจะมีปัญหาได้ เช่น สภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน เป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย จึงเกิดคำถามว่าควรนำคำว่าพลเมืองบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญหรือไม่ นอกจากนี้ การบัญญัติให้กลุ่มการเมืองส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ ส่วนตัวเห็นว่า ที่ผ่านมาพรรคการเมืองมีพัฒนาการมาตามลำดับ นักการเมืองส่งผู้สมัครในนามพรรคและประชาชนเข้าใจอยู่แล้ว แต่หากให้กลุ่มการเมืองลงสมัครรับเลือกตั้งได้ เกรงว่าจะไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการเลือกตั้ง

พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ สปช. อภิปรายว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้ง ส.ส.แบบใหม่ที่มี 450-470 คน แต่ควรมี ส.ส.จำนวน 500 คน แบบเดิม โดยมี ส.ส.เขต 300 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 200 คน ซึ่งการกำหนดให้มี ส.ส.เขตมากกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพราะ ส.ส.เขตจะเข้าถึงประชาชนได้ดีกว่า รู้ว่าในเขตตนเองต้องการอะไรจึงทำงานด้านพัฒนาได้ดีกว่า ส.ส.บัญชีรายชื่อ ส่วนที่มา ส.ว. อยากให้มีการเลือกตั้งโดยตรง

@ ประท้วงเจิมศักดิ์ใช้เวลาเกิน 

ต่อมาเวลา 19.20 น. ที่ประชุมเข้าสู่การพิจารณาภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ นายนครินทน์ เมฆไตรรัตน์ กมธ.ยกร่างฯ กล่าวนำเสนอว่า แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐเป็นมิติใหม่ของประเทศ เพราะคณะ กมธ.ยกร่างฯเห็นว่ามีหลายเรื่องเป็นวิวัฒนาการที่ก้าวหน้าไปเป็นอย่างมาก ขณะเดียวกันยังมีดุลยภาพระหว่างเรื่องที่ความหวังเป็นอุดมคติของประชาชนกับข้อเท็จจริงของสังคมไทย แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไม่ใช่บทบัญญัติที่เป็นภาคบังคับ แต่เป็นเจตนารมณ์ที่เป็นเพียงกรอบไว้ให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสำหรับการออกกฎหมาย หรือการออกนโยบายในการบริหารราชการแผ่นดินด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงหนึ่งในการอภิปรายของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สปช. ได้อภิปรายถึงมาตรา 182 ที่เกี่ยวกับ พ.ร.บ.ที่เป็นการแสดงถึงความไว้วางใจในการบริหารงานของนายกรัฐมนตรี หากสภาผู้แทนราษฎรไม่ยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง ถือว่า พ.ร.บ.นั้นได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมาตรานี้อาจเป็นกลไกพิเศษให้รัฐบาลสามารถผ่านกฎหมายหรือไม่ ด้วยข้อกำหนดจากการลงลายมือชื่อขออภิปรายไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง อาจเป็นอุปสรรคสำหรับรัฐบาลผสมในการหารายชื่อ และถือเป็นการให้อำนาจนายกฯมากกว่าการออก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน 

ทั้งนี้ นายเจิมศักดิ์ได้อภิปรายเกินเวลา 22 นาที ทำให้นายเกรียงไกร ภูมิเหล่าแจ้ง สปช.ลุกขึ้นประท้วง ทำให้ น.ส.ทัศนาซึ่งทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้ตักเตือนและขอให้นายเจิมศักดิ์ไปเขียนเป็นเอกสารส่งให้คณะ กมธ.ยกร่างฯแทน ทางนายเจิมศักดิ์ ยอมยุติการอภิปราย 

@ "บวรศักดิ์"โต้ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

จากนั้นนายบวรศักดิ์ได้กล่าวโต้แย้งนายเจิมศักดิ์ในประเด็นมาตรา 182 ว่า เมื่อรัฐบาลเสนอกฎหมายในสภา เราก็มีมาตรการป้องกันความเสี่ยง กรณีรัฐบาลผสม ได้วาง 7 มาตรการที่กล่าวมาแล้ว เช่นการห้าม ส.ส.ออกจากพรรค กลุ่มการเมืองห้ามควบรวมพรรค ส.ส.ห้ามเป็นรัฐมนตรี รัฐบาลผสมที่เราต้องการให้เกิดมาเพื่อสร้างความปรองดอง การที่รัฐธรรมนูญระบุให้นายกฯสามารถขอความไว้วางใจจากสภาได้ เพื่อเป็นการเรียกสติในกรณีที่สภาเกิดความวุ่นวาย มาตรานี้มีความจำเป็นเพื่อปกป้องรัฐบาลที่อาจเป็นรัฐบาลผสม และมีจุดป้องกัน คือ 1.สมัยประชุมหนึ่งใช้ได้ครั้งเดียว 2.กฎหมายยังต้องผ่านวุฒิสภา 3.ถ้า พ.ร.บ.มีเนื้อหาขัดรัฐธรรมนูญก็ให้ส่งไปศาลรัฐธรรมนูญได้ มาตราดังกล่าวจึงไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดหรือให้อำนาจเด็ดขาดกับรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังนายบวรศักดิ์ชี้แจงแล้ว มี สปช.อภิปรายอีก 3 คน เกี่ยวกับระบบเลือกตั้งและด้านกีฬา

ต่อมา เวลา 22.00 น. น.ส.ทัศนา ทำหน้าที่ประธานที่ประชุมได้สั่งพักการประชุม และนัดประชุมใหม่วันที่ 22 เมษายน เวลา 09.00 น.

@ วิษณุส่งข้อเสนอศาลให้กมธ.

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐบาลรวบรวมข้อแก้ไขของแต่ละกระทรวงในการขอแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะรวบรวมข้อแก้ไขของแต่ละกระทรวง แต่ไม่ใช่ว่ารัฐบาลจะยอมให้ทุกข้อแก้ไขผ่านเพราะบาง