แจงร่าง รธน. - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงภาพรวมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกเป็นวันแรก เมื่อวันที่ 20 เมษายน

มติศาลจี้ปรับร่างรธน. แย้ง 7 ข้อ หวั่นการเมืองแทรกกต. วันแรกสปช.แจกยาหอม แห่ลงชื่ออภิปรายนับร้อย บิ๊กตู่สั่งรมต.ทำการบ้าน อ่านให้ครบ'315 มาตรา'เลื่อนถกฝึกคอบร้าโกลด์

      นายกฯสั่ง ครม.อ่านร่าง รธน.อย่างละเอียด ให้ทุกกระทรวงรวบรวมความคิดเห็น ทำข้อเสนอแนะมาตราต่างๆ ให้'วิษณุ'ก่อนนำเข้าที่ประชุมร่วม ครม.-คสช. 19 พ.ค.นี้ 'บิ๊กตู่'ไม่ขอใช้อำนาจ ม.44 สั่งทำประชามติร่าง รธน.

@ "ประยุทธ์"รอดูสปช.ถกร่างรธน.

     เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 20 เมษายน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงแนวคิดใช้อำนาจของหัวหน้า คสช.ตัดสินว่าจะทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ ว่า ให้ผ่านช่วงเวลา 7 วันที่ สปช.อภิปรายร่างรัฐธรรมนูญไปก่อน ต้องไปดูว่าจำเป็นจะต้องมีขั้นตอนที่ว่าหาก สปช.เสนอให้แก้ไขหรือ ครม.ให้แก้ไข และทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขด้วยหรือไม่ ถ้าไม่แก้แล้วยืนยันจะส่งต่อไปจะมีปัญหาอะไรหรือไม่ ตอนนี้ต้องรับฟังทั้งหมด กำลังอยู่ในขั้นตอนของการรับฟังจาก สปช.ก่อน จากนั้นต้องมาฟังความคิดเห็นจาก ครม.และ คสช. หลังจากวันที่ 19-20 พฤษภาคมนี้ จะมีการเสนอขึ้นไปทั้ง 2 ทางให้รู้ว่าควรต้องทำอย่างไร จึงยังไม่อยากใช้อำนาจอะไรตรงนี้ หลังจากนี้ก็จะส่งความคิดเห็นทั้งหมดไปยัง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญตามเวลาที่กำหนด ส่วนจะแก้หรือไม่อยู่ที่ กมธ. ถ้าไม่แก้แล้วดันต่อไปก็ต้องมาดูว่าจะได้รับการยอมรับหรือไม่ ก็ต้องมาว่ากันอีกที

     ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัจจัยที่ทำให้บ้านเมืองยังไม่เกิดความสงบเรียบร้อยเนื่องจากกลุ่มอำนาจเก่ายังมีกำลังอยู่ จะแก้ไขปัญหาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "คงต้องสวดมนต์มั้ง ทุกวันนี้ผมก็สวดมนต์ทุกวัน ไม่เคยขออะไรให้ตัวเองแต่ขอให้กับประเทศชาติทุกวัน ขอให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย" เมื่อถามย้ำว่าแล้วจะทำอย่างไร ไม่ให้กลุ่มการเมืองเก่ามีอำนาจขึ้นมาอีก นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า "สื่อก็ต้องไปช่วยกันขอร้อง รวมทั้งปรามกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย พวกสื่อเคยเขียนปรามกันบ้างไหม" 

@ ยังไม่ถึงเวลาใช้ไม้แข็งจัดการ 

เมื่อถามว่า แล้วจะมีแนวโน้มที่นายกฯจะใช้อำนาจเด็ดขาดในการจัดการตรงนี้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ยัง ไม่อยากให้มี และไม่อยากให้ต้องใช้ สื่อก็ช่วยกันหามาตรการไปกดดันอีกฝ่ายหนึ่งบ้าง ไม่ใช่มากดดันข้างเดียว สื่อจะต้องทำตัวเหมือนเป็นกรรมการกลาง ตั้งคำถามกับทั้ง 2 ฝ่าย ยืนยันว่าวันนี้เล่นตามกติกา แต่อีกฝ่ายกลับเล่นนอกกติกา มันถึงจำเป็นจะต้องมีวันนี้ เนื่องจากทุกอย่างปนเปเรรวนไปหมด ระบบข้าราชการเสียหายมีการทุจริตไม่โปร่งใส แต่พอตรวจสอบก็ร้องว่าไม่เป็นธรรม กล่าวหาว่าเล่นเพียงข้างเดียว 

"ยืนยันว่าข้างอื่นก็เล่นอยู่ มีการเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบอย่างเช่น ในเรื่องการก่อการร้ายต่างๆ ที่มีการฟ้องร้อง ทางฝ่าย กปปส.เข้ามอบตัวต่อศาลทั้งหมด แล้วถึงประกันตัวออกมา ส่วนอีกข้างไม่มอบตัวถ่วงเวลาจนถึงที่สุดถึงจะเข้ามอบตัวพอเสร็จก็ประกันตัวออกมา แล้วก็มาโวยวายข้างนอกว่าไม่เป็นธรรม ไม่ยุติธรรม เรื่องนี้เห็นชัดว่ามีความแตกต่าง ไม่ใช่ว่าผมเข้าข้างใคร ทุกคนต้องตัดสินให้ได้ว่าอะไรคืออะไร คำว่าเสรีภาพ ความเท่าเทียม หรือสิทธิมนุษยชนอย่างเดียว ประเทศชาติไปไม่ได้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

@ ไม่ห้ามการเมืองวิจารณ์ร่างรธน.

เมื่อถามว่า วันนี้ฝ่ายการเมืองออกมาแสดงความคิดเห็นมากขึ้น เรื่องของร่างรัฐธรรมนูญและการเมือง สามารถที่จะทำได้ใช่หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า สามารถทำได้ แต่อย่าให้นอกกรอบหรือเกิดความวุ่นวาย แต่ถ้าพูดจาตำหนิรัฐบาลบ่อยๆ มันก็ไม่ค่อยดี โดยเฉพาะสิ่งที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง วันนี้สั่งการให้ติดตามความเคลื่อนไหวทั้งโทรทัศน์ วิทยุ เว็บไซต์ โซเชียลเน็ตเวิร์ก ไม่เข้าใจว่าหัวจิตหัวใจทำด้วยอะไร แต่ไม่รู้เป็นพวกไหนจะให้เป็นอยู่แบบนี้และมีความขัดแย้งต่อไปแบบนั้นหรือ โดยใช้คำว่าประชาธิปไตย เลือกตั้ง อย่างเดียวเท่านั้นหรือถึงจะเรียบร้อย อยากถามว่า ถ้าเป็นจริงมันจะเรียบร้อยหรือไม่ อย่างครั้งที่แล้วเลือกตั้งได้หรือไม่ คิดกันหรือไม่ว่า ถ้าเลือกตั้งแล้วจะตั้งรัฐบาลได้หรือไม่ ตนยังไม่รู้เลย

เมื่อถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ว่า จะเชิญตัวแทนพรรคการเมืองมาพูดคุยหรือลงสัตยาบันเพื่อความสงบเรียบร้อย พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "พุทโธ่ กฎหมายยังไม่รับกันเลยจะให้มาลงนามอะไร มันไม่ใช่การทำสงครามในต่างประเทศ มันไม่ได้รบกันถึงขนาดนั้น"

เมื่อถามว่า ตอนนี้มีปัจจัยอะไรที่นายกฯ ถึงคิดว่าเมื่อเลือกตั้งแล้วจะไม่มีรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า "ไม่ได้มีปัจจัยอะไรแต่วิเคราะห์จากสถานการณ์ วันนี้ขนาดยังไม่เลือกตั้งก็มีการทะเลาะกันไปมา เดี๋ยวอาจจะเลือกตั้งก็ได้ การบริหารประเทศต้องมีการวิเคราะห์และวางแผนล่วงหน้าไม่ใช่แค่ตอบสื่อไปวันๆ" 

@ ไม่สามารถบังคับใครยอมรับรธน.

เมื่อถามว่า เมื่อรัฐธรรมนูญออกมาจะทำให้ทุกฝ่ายยอมรับได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า จะไปบังคับให้ใครยอมรับไม่ได้ ขึ้นอยู่ว่าจะยอมรับหรือไม่ เขารักประเทศไทยกันหรือเปล่า ต้องการจะให้ลดความขัดแย้งกันหรือไม่ มันถึงจะนำไปสู่เรื่องอื่นๆ ต่อไปได้ แต่ถ้าคิดว่าจะไปได้ต้องมีการนิรโทษกรรมก่อนมันจะเป็นไปได้อย่างไร วันนี้ยังไม่ยอมรับความผิดกันเลย ก็ขอให้ยอมรับความผิดกันก่อน ใครผิดใครถูกก็ว่ากันมา แล้วถึงจะไปยังขั้นตอนนิรโทษหรือสร้างความปรองดอง ขอให้สงสารชาวบ้านและประชาชนที่ไม่เกี่ยวข้องบ้าง อย่าลืมว่าเดิมปัญหามันมีและมีความขัดแย้งกันในกลุ่มประชาชนนับสิบล้านคน แล้วประชาชนมีประชากรทั้งสิ้น 70 กว่าล้าน แล้วถามกันบ้างหรือไม่ว่า คนตรงกลางเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน และเขาจะเอาอย่างไร

@ "บิ๊กตู่"สั่งรมต.อ่านรธน.ทั้งฉบับ

ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุม ครม.ว่า พล.อ.ประยุทธ์สั่งการในที่ประชุมให้ ครม.ทุกคนดูรายละเอียดร่างรัฐธรรมนูญ ให้แนวทางว่า ครม.ต้องดูรายละเอียดในแต่ละเรื่องว่าสามารถแก้ไขปัญหาการบริหารราชการแผ่นดินที่เกี่ยวข้องกับกระทรวง ทบวง กรมนั้นๆ ได้หรือไม่อย่างไร นอกจากนี้ การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบริหารราชการแต่ละกระทรวงเป็นสิ่งที่ดี แต่การมีส่วนร่วมของประชาชนจะมาช่วงหรือจังหวะใด ขณะเดียวกันแต่ละกระทรวงและจะสามารถทำให้การบริหารราชการเป็นไปได้จริงหรือไม่

พล.ต.สรรเสริญกล่าวว่า เนื่องจากการใช้อำนาจบริหารเป็นสิ่งสำคัญ รัฐบาลจึงเป็นห่วงเรื่องที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมโดยที่ไม่กำหนดรายละเอียดที่ชัดเจน อาจทำให้มีข้อขัดข้อง ประชาชนต้องวางแผนให้ดีก่อนที่จะเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งนี้ ครม.ต้องดูว่าประชาชนจะได้อะไรจากมาตราต่างๆ ของร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม นายกฯสั่งการให้แต่ละกระทรวงรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเข้ามายังคณะทำงาน ที่มีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ภายในวันที่ 14 พฤษภาคม จากนั้นจะจัดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่าง ครม.และ คสช. ในวันที่ 19 พฤษภาคม จะยกเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มาพิจารณา เมื่อเสร็จเรียบร้อยจะจัดทำหนังสือส่งไปที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ดำเนินการแปรญัตติ จากนั้น กมธ.จะเชิญ ครม.และ คสช.ไปชี้แจงว่าต้องการให้ปรับแก้ประเด็นใดด้วยเหตุผลอะไรบ้าง

@ "วิษณุ"แจงม.280เหตุผลแปลก

เมื่อเวลา 17.00 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงร่างรัฐธรรมนูญที่มีการอภิปรายในสภา สปช. โดยเนื้อหาตอนหนึ่งที่ระบุถึงการจัดตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศและคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ และในมาตราที่ 280 ระบุว่าการที่จะร่างกฎหมายเป็น พ.ร.บ.เพื่อใช้ในการปฏิรูปนั้น ให้ส่งร่างกฎหมายจากสภาขับเคลื่อนฯไปที่ ส.ว.เห็นชอบก่อน แล้วจึงส่งให้ ส.ส.ให้ความเห็นชอบ หาก ส.ส.ไม่ให้ความเห็นชอบแล้ว ส.ว.ลงคะแนนให้ความเห็นชอบเกิน 2 ใน 3 ถือว่ากฎหมายนั้นได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา ว่า เฉพาะกฎหมายบางประเภทเท่านั้น ไม่ใช่ทุกฉบับ ส่วนจะถือว่าไม่ให้ความสำคัญต่อ ส.ส.หรือไม่นั้น ก็ไม่เชิง เพราะหลักก็คือสภาผู้แทนราษฎรยังมีอำนาจเป็นสภาเริ่มต้นอยู่ดีสำหรับกฎหมายทั่วไป แต่กฎหมายบางฉบับบางอย่าง เช่น กฎหมายลูกหรือกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เมื่อถือว่าการปฏิรูปเป็นเรื่องใหญ่ แล้วถ้าข้อเสนอของกรรมาธิการถูกตีตก มันก็ต้องใช้อีกทางหนึ่ง

เมื่อถามว่าจะมีทางในการตีตกร่างกฎหมายจากสภาขับเคลื่อนฯหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "ยอมรับว่าเป็นประเด็นที่แปลก ผมยังไม่อยากพูดว่าผมเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ว่าพยายามเข้าใจเหตุผลของ กมธ. แต่ก็ยอมรับว่าเหตุผลมันแปลก"

@ ชี้นายกฯมีสิทธิปฏิเสธคำขอรับรอง

เมื่อถามว่า ในบทบัญญัติมาตรา 280 ที่กล่าวถึงการขอคำรับรองจากนายกรัฐมนตรีนั้น หากนายกฯไม่ให้คำรับรองภายใน 30 วัน ถือว่าให้คำรับรองแล้ว ในกรณีนี้นายกฯมีสิทธิไม่ให้คำรับรองหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า "มีสิทธิ ผมอธิบายถึงเหตุผลว่าหลักทำนองนี้มีใช้ในเรื่องหลายเรื่องที่ระบุไว้ว่าคุณจะตอบรับหรือไม่รับ จะเอาหรือไม่เอาก็บอกมา แต่โดยวิธีปฏิบัติในอดีต หลายครั้งพบว่าจะเอาก็ไม่บอก ไม่เอาก็ไม่บอก เก็บเรื่องเงียบเอาไว้ มันก็ต้องมีอะไรสักอย่าง อย่างเรื่องที่เลขาธิการคณะรัฐมนตรีถามว่า เรื่องที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเอาเรื่องเข้า ครม. ขอความเห็นสัก 5-6 หน่วยงานแล้วให้เวลาไป ผมก็พบว่าในสมัยของผมนั้น บางหน่วยงานไม่ตอบ ไม่กระตือรือร้นที่จะตอบจนเกินกำหนดเวลา ทำให้เรื่องเข้า ครม.ไม่ได้เพราะความเห็นไม่ครบ ภายหลังจึงออกพระราชกฤษฎีกามาว่า เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว คุณจะเอาหรือไม่เอาเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็บอก ถ้าไม่บอกในเวลาที่กำหนดแปลว่าคุณเห็นด้วย ทีหลังอย่ามาค้านนะ ฉะนั้น วิธีนี้กลับมาที่มาตรา 280 ถ้านายกรัฐมนตรีจะไม่รับรองก็ตอบว่าไม่รับรอง ก็หมดเรื่องไป คือจะบอกว่านายกฯต้องรับรองเสมอไปไม่ได้"

@ อย่าเพิ่งด่วนสรุปร่างรัฐธรรมนูญ

นายวิษณุยังกล่าวถึงกรณี สปช.มีข้อกังวลว่าร่างรัฐธรรมนูญอาจไม่เป็นไปตามที่ประชาชนต้องการว่า ข้อที่ว่าจะเป็นหรือไม่เป็นไปตามความเห็นของประชาชนนั้นยังเร็วไปที่จะตัดสิน ขณะนี้เป็นช่วง สปช.แต่ละคนเพียงแค่นำเหตุผลแม่น้ำทั้งห้ามาหักล้างกันเท่านั้น ท้ายที่สุดแล้วมันจะผ่าน สปช.หรือไม่ ตอบยากมาก ต้องอาศัยความเห็นของฝ่ายเสียงข้างมาก ขณะนี้ยังใช้เวลาอีกนาน เพราะในช่วงวันที่ 20-26 เมษายนยังไม่ใช่ช่วงลงมติ เพียงแค่วิพากษ์วิจารณ์ 7 วัน หลังจากนั้นไปขอแปรญัตติ ทาง ครม.ก็ได้เตรียมเรื่องขอแก้ไขไว้แล้วหลายเรื่อง ส่วน สปช.ก็ขอแปรญัตติ เข้าใจว่ามีประมาณ 8-9 ญัตติ ไม่ได้มีถึง 290 ญัตติ พอไปถึงขั้นตอนดังกล่าวก็ขึ้นอยู่กับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญว่าจะแก้ไขหรือไม่ เมื่อแก้ไขแล้วในเดือนสิงหาคมจะนำกลับมาให้ สปช.แก้ไข ถือเป็นขั้นสุดท้ายหรือเรียกว่าขั้นคอขาดบาดตายของรัฐธรรมนูญชุดนี้ หากผ่านก็ดำเนินการต่อ แต่หากไม่ผ่านทุกอย่างก็จบ วันนี้ทุกคนพูดเพื่อขู่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น ทุกอย่างต้องไปดูกันวันที่ สปช.ไปขอแปรญัตติ

@ ไม่ตอบครม.จะแปรญัตติส่วนไหน

เมื่อถามว่า ในส่วน ครม.จะยื่นแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง นายวิษณุกล่าวว่า "ผมยังอ่านโดยละเอียดไม่ครบถ้วน นายกฯได้พูดในที่ประชุม ครม.วันเดียวกัน สั่งการว่าให้รัฐมนตรีไปเร่งแต่ละกระทรวงช่วยกันอ่านรัฐธรรมนูญแล้วส่งข้อแก้ไขมาที่ผมทันที แล้วนำเข้า ครม.เพื่อขอความเห็นชอบต่อไป นายกฯ

ก็ถามมาว่าแปรญัตติต้องทำอย่างไร ผมก็ได้อธิบายไปว่านายกฯต้องเซ็นในนาม ครม.ว่า ครม.ไม่เห็นด้วยกับมาตรานี้จึงควรแก้ไข แต่เราไม่ได้ร่างใหม่ไปให้เพียงแค่บอกว่าไม่เห็นด้วยเท่านั้น ผมก็จะนำทีมกฎหมายไปชี้แจงที่รัฐสภา สุดท้ายหาก ครม.และ คสช.มีความเห็นตรงกันว่าควรจะแก้น้ำหนักในการแก้ไขมาตรานั้นอาจมากขึ้น"

เมื่อถามว่า วางกรอบให้แต่ละกระทรวงเสนอข้อแก้ไขมาหรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ช่วงประมาณกลางเดือนพฤษภาคมนี้ เพราะหมดเขต 25 พฤษภาคมนี้พอดี

@ หวั่นโกลาหลประชามติผ่านม.44

นายวิษณุยังกล่าวถึงฝ่ายการเมืองเสนอให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ออกคำสั่งจัดทำประชามติ ว่า ในทางปฏิบัติทำได้ แต่ว่าคงโกลาหลพิลึกเพราะว่าหากออกคำสั่งตามมาตรา 44 จริงจะยืดยาวมาก คงทำให้หลายฝ่ายไม่พึงพอใจ ไม่ทราบว่าความเห็นนั้นมาจากฝ่ายใดบ้าง เดี๋ยวจะมาว่ากันได้ว่ามาจากความคิดทหารฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตาม ถ้าจะทำประชามติจริงๆ หลายหัวดีกว่าหัวเดียว ดังนั้น โยนเข้าไปในสภา ให้คน 220 คน ร่วมกันคิดพิจารณาจะดีกว่า และเหตุสุดท้ายคือไม่เสียเวลาเพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีกรอบเวลาที่ชัดเจนไม่ล่าช้าเหมือนแต่ก่อน

เมื่อถามว่าห้วงเวลาที่จะตัดสินใจว่าจะทำประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า ตอบไม่ได้เพราะไม่ได้เป็นต้นทางหากทำประชามติ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวเขียนไว้ว่าหากจะแก้รัฐธรรมนูญ ครม. และ คสช.จะต้องคิดร่วมกันแล้วค่อยเสนอไปที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อข้อถามว่าเหมือนว่านายกฯ ไม่อยากให้ทำประชามติ นายวิษณุกล่าวว่า "ผมไม่ทราบ เพราะนายกฯไม่เคยถามเรื่องนี้"

@ มอบ"วุฒิสาร"คัดชื่อผู้เชี่ยวชาญตปท.

นายวิษณุได้กล่าวถึงการเชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมากล่าวถึงประสบการณ์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในประเทศนั้นๆ ภายหลังหัวหน้า คสช.มีคำสั่งที่ 4/2558 ว่า "นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.มอบหมายเรียบร้อยแล้ว ในส่วนของ คสช.มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นตัวแทน ครม.มีผมเป็นตัวแทน 

ส่วนแม่น้ำ 3 สายจะส่งตัวแทนเป็นระดับรองมาเป็นคณะทำงาน จากการพูดคุยกับนายวุฒิสาร ตันไชย เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ทำหน้าที่เลขานุการของคณะทำงานชุดดังกล่าว คาดว่าในส่วนคณะทำงานจะประชุมคณะทำงานได้ภายใน 1-2 วันนี้ โดยนายกฯเร่งรัดให้ดำเนินงานอย่างรวดเร็ว จึงขอให้นายวุฒิสารประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ พิจารณารายชื่อโปรเฟสเซอร์ทั้งหลายว่าผู้เชี่ยวชาญคนใดสามารถเดินทางมาร่วมหารือกับเราได้โดยเร็ว การประสานงานนั้นต้องคำนึงถึงความต้องการของเราเป็นหลัก" 

@ สปช.ร่วมปฏิญาณตนหน้าร.7 

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญนำเสนอต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 กำหนดไว้ในมาตรา 34 วรรคหนึ่ง และมาตรา 36 วรรคหนึ่ง โดยเมื่อเวลา 07.50 น.

ที่รัฐสภา สปช.จำนวน 57 คน นำโดยนายบุญเลิศ คชายุทธเดช สปช.การเมือง เข้าร่วมสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 พร้อมปฏิญาณร่วมกันว่าระหว่างการประชุม สปช. จะปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลัง ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้วยความสุจริตใจ เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมเป็นที่ตั้ง หลังกล่าวคำเสร็จ ต่างร่วมสักการะพระสยามเทวาธิราชเพื่อความเป็นสิริมงคล

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่รัฐสภาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) รักษาความปลอดภัยบริเวณรอบนอกอาคารรัฐสภาและพื้นที่โดยรอบ ส่วนการรักษาความปลอดภัยภายในอาคารรัฐสภา มีเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐสภาจำนวน 100 นาย ทำการตรวจตรารถยนต์ที่เข้าออกอย่างเข้มงวด โดยห้ามรถจักรยานยนต์ผ่านเข้าออกอย่างเด็ดขาด 

@ "เทียนฉาย"แจงขั้นตอนถ่ายสด

เวลา 09.05 น. ที่รัฐสภา มีการประชุม สปช. โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ร่างแรก ตามที่ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพิจารณาเสร็จแล้ว นายเทียนฉายแจ้งต่อที่ประชุมว่า การอภิปรายและเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ได้อนุญาตให้มีการถ่ายทอดสดผ่านสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย กรมประชาสัมพันธ์ สถานีโทรทัศน์รัฐสภาและสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (ช่อง 11) จนเสร็จสิ้นการพิจารณา โดยสถานีโทรทัศน์แห่งประเทศไทยขอสงวนเวลาถ่ายทอดสดไว้ช่วงเวลา 12.00-13.00 น. เพื่อนำเสนอข่าวภาคเที่ยง เวลา 18.00-18.15 น. เพื่อตัดเข้ารายการเดินหน้าประเทศไทย เวลา 20.00-20.15 น. เพื่อนำเสนอข่าวพระราชสำนัก ขณะที่วันศุกร์ที่ 24 เมษายน เวลา 20.15-21.15 น. รวมทั้งช่วงเวลาต่างๆ หากเกิดเหตุการณ์สำคัญ จากนั้นมีการฉายวีดิทัศน์อธิบายภาพรวมการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯตลอดระยะเวลา 4 เดือน ในการจัดทำรัฐธรรมนูญให้ที่ประชุมรับทราบ 

@ "บวรศักดิ์"ลั่นไร้ปกปิด-พิมพ์เขียว

จากนั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ขึ้นชี้แจงภาพรวมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญว่า กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ไม่ได้มีการปกปิด ไม่ได้มีพิมพ์เขียวหรือพิมพ์ชมพูตามที่บางคนกล่าวอ้าง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ทาง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญพยายามดำเนินการตามรอยปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการคิดวิเคราะห์และตัดสินปัญหา ยึดความพอประมาณ ความพอดี ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป ถือความมีเหตุผล คำนึงถึงผลที่จะได้รับอย่างรอบคอบ และมีภูมิคุ้มกันเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ต่างๆ ใช้ความรู้และวิเคราะห์ปัญหาเพื่อหาทางออก มีคุณธรรม ความซื่อสัตย์ อดทน 

"วัฒนธรรมการเมืองไทยที่ไม่เหมือนฝรั่ง ความรู้ประชาธิปไตยแบบฝรั่ง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ความคิดและพฤติกรรมของคนไทยมาแต่ก่อน การเลือกตั้งทุกรูปแบบเอาแบบมาจากฝรั่งทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียวที่เอามาจากอเมริกา หรือระบบปาร์ตี้ลิสต์แบบคู่ขนานก็เป็นของฝรั่งคิด เรานำมาใช้ในรัฐธรรมนูญ 2540 เพื่อทำให้รัฐบาลมีความเข้มแข็งและสร้างภาวะผู้นำให้นายกรัฐมนตรี ผลแห่งการนั้นทำให้เกิดเผด็จการเสียงข้างมากเด็ดขาดของรัฐบาล ที่สยายปีกแทรกแซงองค์กรตรวจสอบและสื่อมวลชน อันเป็นที่มาของความขัดแย้งร้าวลึกจนทุกวันนี้ ที่เป็นเช่นนี้เพราะวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ฝังรากลึกในสังคมไทย" นายบวรศักดิ์กล่าว

@ ทำรธน.ผสมความเป็นไทยกับสากล

นายบวรศักดิ์กล่าวต่อว่า การออกแบบระบบการเมืองใหม่จึงต้องรู้ทั้งหลักสากลและวัฒนธรรมการเมืองไทย ทำให้ผู้ร่างหันมาใช้มาตรฐานสองทางคือ 1.ทำให้รัฐบาลไม่ใช่เสียงข้างมากเด็ดขาด และ 2.ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่ เป็นเจ้าของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงเพื่อคานอำนาจกับนักการเมือง ไม่ให้รัฐบาลได้เสียงข้างมากเกินความจริงดังเช่นอดีตที่ผ่านมา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจึงตัดสินใจใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ระบบนี้พลเมืองนิยมพรรคการเมืองใดเลือกพรรคนั้นได้กี่เปอร์เซ็นต์พรรคนั้นก็จะได้คะแนนตามนั้นเท่ากับความนิยมของพลเมือง จะทำให้ได้พรรคขนาดกลาง เกิดรัฐบาลผสมซึ่งอาจนำมาสู่ความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาล 

นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงได้ใช้หลักภูมิคุ้มกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ลดความเสี่ยงและผลกระทบลงด้วยการกำหนดมาตรการห้ามการควบรวมพรรคการเมืองหลังการเลือกตั้ง เลี่ยงระบบนอมินี และห้าม ส.ส.ลาออกจากพรรคหรือกลุ่มการเมืองที่สังกัดเพื่อแลกกับเงิน และห้าม ส.ส.เป็นรัฐมนตรี เพื่อลดความอหังการของรัฐมนตรี ไม่ให้ออกมาต่อรองกับนายกฯ กำหนดให้นายกฯขอความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อส่งสัญญาณถึง ส.ส.ทุกคนว่าถ้าจำเป็นและก่อความวุ่นวายกับรัฐบาล รัฐบาลจะยุบสภาจริงๆ ไม่ใช่ขู่ 

@ ระบบคุ้มกันรบ.ไม่มีในเยอรมนี

"ยังกำหนดให้รัฐบาลสามารถแถลงว่าร่างกฎหมายที่ ส.ส.กำลังพิจารณานั้นเป็นการไว้วางใจรัฐบาล ถ้า ส.ส.ที่ต้องการต่อรองและบีบรัฐบาลในการพิจารณากฎหมายสำคัญ ไม่ยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง กฎหมายดังกล่าวก็จะผ่าน ส.ส.ไปสู่ ส.ว. หรือถ้ามีการยื่นญัตติไม่ไว้วางใจภายใน 48 ชั่วโมง และรัฐบาลชนะโหวตร่างกฎหมายก็ผ่าน ส.ส.เช่นเดียวกัน มาตรการคุ้มกันนี้เป็นมาตรการของประเทศไทยแท้ไม่มีในเยอรมนี การเมืองเยอรมนีไม่ได้มีวัฒนธรรมเหมือนนักการเมืองไทย ดังนั้น การเรียกระบบเลือกตั้งนี้ว่าระบบเลือกตั้งแบบเยอรมันจึงไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง

นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า ส่วนมาตรการที่ป้องกันความเสี่ยงอันเกิดจากวัฒนธรรมอำนาจนิยมของนักการเมืองไทย การยกระดับราษฎรให้เป็นพลเมืองเป็นกำลังสำคัญของเมือง เห็นการเมืองเป็นเรื่องของตัวเอง มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมือง รักษาสิทธิเสรีภาพของตัวเอง มีความกระตือรือร้นเข้ามาบริหารบ้านเมือง ร่วมตรวจสอบนักการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ร่างรัฐธรรมนูญนี้จึงกำหนดให้พลเมืองเป็นใหญ่ในหลายทาง อาทิ กำหนดให้รัฐจัดการศึกษาการฝึกอบรมความเป็นพลเมืองทุกระดับ เพิ่มสิทธิเสรีภาพให้พลเมือง กำหนดให้สามารถเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ กำหนดให้พลเมืองสามารถจัดลำดับ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อได้ เรียกระบบนี้ว่าบัญชีรายชื่อแบบเปิดหรือโอเพ่นลิสต์ กำหนดให้ประชามติเป็นสิทธิของพลเมืองอย่างแท้จริง ร่างรัฐธรรมนูญนี้ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่อย่างแท้จริง รัฐธรรมนูญเขียนขึ้นเพื่อคน 65 ล้านคน ไม่ใช่นักการเมืองเพียง 5 พันคน 

@ ยันรธน.ใหม่แก้ปัญหาอดีต

นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะเหลียวหลังไปแก้ปัญหาในอดีตให้ได้แล้วจึงจะไปแลหน้าเพื่อสร้างอนาคตให้ลูกหลาน ความขัดแย้งวุ่นวายนับ 10 ปี ต้องสร้างความปรองดองแบบมีระบบไม่ใช่มุ่งแต่นิรโทษกรรม แต่ต้องหาข้อเท็จจริงความขัดแย้ง เจรจากับผู้ขัดแย้งอย่างเป็นระบบ หาผู้ผิดมาดำเนินคดีและกันผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปด้วยการให้อภัยโทษ เยียวยาผู้เสียหาย และปฏิรูประบบยุติธรรม เมื่อเกิดความเป็นธรรม ความขัดแย้งก็จะลดลง ย้ำว่ามาตรฐานของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องไม่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญที่ผ่านมาโดยเฉพาะปี 2540 และ 2550 และแม้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจะพยายามอย่างสุดความสามารถเพียงใด โดยยึดหลักแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อแก้ไขปัญหาในอดีต กมธ.ยังเชื่อว่าร่างนี้ไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซ็นต์ การฟัง สปช.ในการช่วยกันรังสรรค์ข้อมูลเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ออกมาดีที่สุด และการรับฟังความเห็นประชาชนทั้งประเทศ จึงเป็นความปรารถนาแท้จริงของ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงหวังว่าข้อเสนอแนะตลอด 7 วัน จากนี้ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ดีที่สุด 

@ "เอนก"แจงหมวดปรองดอง 

เวลา 11.15 น. นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ชี้แจงในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เพื่อสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นเสื้อแดง เสื้อเหลือง หรือฝ่ายที่สาม ผ่านแนวทางที่รัฐธรรมนูญออกแบบไว้หลายประการ ตั้งแต่การกำหนดเจตนารมณ์ต้องการให้มีรัฐบาลผสม เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2551 ก่อให้เกิดความขัดแย้งจนนองเลือด จึงถอยกลับไปเดินแบบเดิมไม่ได้ เจตนารมณ์นี้จะทำให้เกิดการปรองดองระหว่างพรรค

@ "จ้อน"พร้อมทำให้เป็นฉบับปชช.

เวลา 11.30 น. เข้าสู่วาระการพิจารณาอภิปรายเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สปช. เริ่มจากอภิปรายในบททั่วไป 7 มาตรา นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิก สปช. ในฐานะเลขานุการวิป สปช. เป็นผู้อภิปรายคนแรก กล่าวว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญใน 19 ฉบับที่ผ่านมา เป็นฉบับ 4 ป. ได้แก่ 1.ปฏิรูป 2.ประชาธิปไตย 3.ประชาชนและพลเมือง และ 4.ประชามติ จะเป็นการตอบโจทย์อนาคตของประเทศ ต้องแก้ปัญหาใหญ่โดยการเสริมสร้างความปรองดอง เพราะแม้พิมพ์เขียวจะดีอย่างไร แต่หากประเทศขาดความปรองดองก็ไม่สามารถเดินหน้าได้ รัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเห็นชอบหรือไม่อยู่ที่ความเป็นประชาธิปไตยจะมีมากน้อยเพียงใด เชื่อมั่นว่าประเทศนี้จะเดินหน้าด้วยระบบประชาธิปไตยไม่ใช่เผด็จการ จึงย้อนอดีตไม่ได้ ซึ่งรัฐประหารที่เกิดขึ้นเป็นเพราะบ้านเมืองเกิดวิกฤต

นายอลงกรณ์กล่าวต่อว่า สปช.มีความเชื่อมั่นว่าไม่ใช่ร่างทรงของใคร ไม่มีการครอบงำ ไม่มีการใช้อำนาจใดๆ จากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นของคนไทยทั้งประเทศ ไม่ใช่เพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จะต้องทำให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชามติให้ได้ เพราะการทำประชามติมีความสำคัญ เป็นการสร้างความชอบธรรมและการยอมรับของประชาชน ทำให้ประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของและต้องปกป้อง ถึงเวลาต้องก้าวข้ามความขัดแย้ง ดังนั้น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต้องมีความกล้า ทองแท้ต้องไม่ควรกลัวการพิสูจน์ ต้องกล้าที่จะนำรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไปสู่มือและสู่อ้อมกอดของประชาชนให้ได้ จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของอนาคต เพราะทุกตัวอักษรแฝงไปด้วยอนาคตของประเทศชาติและคนไทยทุกคน

@ กมธ.ปฏิรูปฯเรียงคิวชำแหละ

เวลา 12.00 น. น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 ได้ขึ้นทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม เป็นการเปิดให้ประธาน กมธ.ปฏิรูป จำนวน 6 คณะ ประกอบด้วย กมธ.ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ, กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส, กมธ.ปฏิรูประบบสาธารณสุข, กมธ.ปฏิรูปพลังงาน, กมธ.ปฏิรูปการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ และ กมธ.ปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค ได้อภิปรายภาพรวมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญ 

นายคุรุจิต นาครทรรพ รองประธาน กมธ.ปฏิรูปพลังงาน อภิปรายว่า เป็นห่วงเรื่องการตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัด ตามมาตรา 77 ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดขึ้นใหม่ เกรงว่าจะมีหน้าที่ซ้ำซ้อนกับหน่วยงานเดิมที่มีหน้าที่ตรวจสอบอยู่แล้ว อาทิ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จังหวัด สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จังหวัด จึงไม่มั่นใจว่าการตั้งสภาตรวจสอบภาคพลเมืองประจำจังหวัดจะคุ้มค่าหรือไม่ ควรนำงบประมาณไปเพิ่มประสิทธิภาพให้หน่วยงานเดิมจะดีกว่า ดังนั้นขอให้ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญทบทวนร่างรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะอะไรที่แปลกใหม่ในรัฐธรรมนูญ บางครั้งเป็นการเขียนที่แฝงไปด้วยความกลัวจนเกินพอดีหรือไม่ มิฉะนั้นรัฐธรรมนูญอาจไปไม่ถึงเป้าหมายก็ได้ 

@ "สยุมพร"แนะเขียนกม.ให้ใช้ได้

ต่อมาเวลา 13.30 น. เข้าสู่การพิจารณาในภาค 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน ของสมาชิก สปช. สมาชิกส่วนใหญ่ได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวาง โดยนายสยุมพร ลิ่มไทย สปช.ด้านการปกครองท้องถิ่น ขึ้นอภิปรายว่า สิทธิพลเมืองจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าหน่วยงานภาครัฐไม่ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ถ้าหน่วยงานภาครัฐไม่เขียน ก็เป็นหมัน ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ เช่น มาตรา 64 สิทธิพลเมืองในการมีส่วนร่วมกับรัฐและชุมชนในการได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายอย่างเป็นธรรมนั้น ในมาตรานี้ได้เขียนในรัฐธรรมนูญย้อนหลังทุกฉบับ แต่เมื่อเกิดกรณีที่สะท้อนว่าสิ่งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ในการรับรองสิทธิไม่เกิดผลจริง เพราะไม่มีกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้องออกมา จึงอยากฝาก กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญให้เขียนรัฐธรรมนูญที่ต้องมีผลบังคับใช้อย่างจริงจังด้วย

@ ชำแหละวันแรกไร้เหตุวุ่นวาย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายร่างรัฐธรรมนูญในวันแรก มีสมาชิก สปช.ขึ้นอภิปรายอย่างกว้างขวาง บรรยากาศตลอดการประชุมเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่มีการประท้วง โต้เถียงกัน หรืออภิปรายเสียดสีกันแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งในการพิจารณารัฐธรรมนูญร่างแรก ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน ในหมวด 2 ว่าด้วยประชาชนนั้น มี สปช.แจ้งความประสงค์ขออภิปรายทั้งสิ้น 49 คน มีทั้งฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นที่สมาชิกบางส่วนเห็นต่าง อาทิ ขอให้ปรับบทบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญให้มีลักษณะเกิดผลบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม รวมถึงใช้ถ้อยคำที่สื่อสารเข้าใจได้ง่าย 

โดยมีผู้ขอให้เลือกใช้คำระหว่างคำว่า พลเมืองและประชาชน เพราะหลายมาตราได้ใช้ทั้งสองคำ ทำให้เกิดความสับสน ขณะที่บทบัญญัติให้สิทธิพลเมืองมีส่วนร่วมในกระบวนการทำงานของรัฐและการตรวจสอบที่พบว่ามีทั้งในส่วนสมัชชาพลเมืองและสภาตรวจสอบภาคประชาชน ซึ่งมีสมาชิกเสนอให้ปรับการให้สิทธิประชาชนเพื่อให้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน รวมถึงเพื่อไม่ให้เป็นการตั้งองค์กรใหม่ที่เข้ามามีบทบาทหน้าที่แทนรัฐที่มีหน้าที่อยู่เดิม 

นอกจากนี้ สปช.หลายคนแสดงความเห็นถึงสภาตรวจสอบพลเมืองประจำจังหวัด เนื่องจากกังวลว่า การเขียนอำนาจและหน้าที่อย่างชัดเจนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ อาจทำให้ยากต่อการนำไปเขียนในกฎหมายลูก พร้อมกับเสนอแนะให้พิจารณาถึงบทบาทและหน้าที่ของสภาตรวจสอบ ภาคพลเมืองประจำจังหวัดให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เป็นเวทีของการกลั่นแกล้งระหว่างกัน